Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

มิลินทปัญหา ตอนที่ 5

มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 5 : วรรคที่ ๑ ปัญหาที่ ๑๐ ถามลักษณะศรัทธา, ปัญหาที่ ๑๑ ถามลักษณะวิริยะ, ปัญหาที่ ๑๒ ถามลักษณะสติ, ปัญหาที่ ๑๓ ถามลักษณะสมาธิ, ปัญหาที่ ๑๔ ถามลักษณะปัญญา, ปัญหาที่ ๑๕ ถามหน้าที่แห่งธรรมต่างๆ กัน

ตอนที่ ๕

ปัญหาที่ ๑๐ ถามลักษณะศรัทธา


“ ข้าแต่พระนาคเสน ศรัทธา เป็นลักษณะอย่างไร ? ”
“มหาราชะ ศรัทธามีความผ่องใสเป็นลักษณะ และมีการแล่นไปเป็นลักษณะ ขอถวายพระพร”

ศรัทธามีความผ่องใส

“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ที่ว่าศรัทธามีความผ่องใสเป็นลักษณะนั้น เป็นประการใด ? ”
“ มหาราชะ ศรัทธาเมื่อเกิดขึ้นก็ข่มนิวรณ์ไว้ ทำจิตให้ปราศจากนิวรณ์ ทำจิตให้ผ่องใสไม่ขุ่นมัว อย่างนี้แหละ เรียกว่ามีความผ่องใสเป็นลักษณะ ขอถวายพระพร ”
“ ขอนิมนต์อุปมาด้วย พระผู้เป็นเจ้า ”

อุปมาพระเจ้าจักรพรรดิ

“ มหาราชะ พระเจ้าจักรพรรดิเสด็จพระราชดำเนินทางไกล พร้อมด้วยจตุรงคเสนาต้องข้ามแม่น้ำน้อยไป น้ำในแม่น้ำน้อยนั้น ย่อมขุ่นไปด้วยช้าง ม้า รถ พลเดินเท้า เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิเสด็จข้ามไปแล้ว ได้ตรัสสั่งพวกอำมาตย์ว่า “ จงนำน้ำดื่มมาเราจะดื่มน้ำ ” แก้วมณีสำหรับทำน้ำให้ใส ของพระเจ้าจักรพรรดินั้นมีอยู่ พวกอำมาตย์รับพระราชโองการแล้ว ก็นำแก้วมณีนั้นไปกดลงในน้ำ พอวางแก้วมณีนั้นลงไปในน้ำ สาหร่าย จอก แหนทั้งหลายก็หายไป โคลนตมก็จมลงไป น้ำก็ใสไม่ขุ่นมัว พวกอำมาตย์ก็ตักน้ำนั้นไปถวายพระเจ้าจักรพรรดิกราบทูลว่า “ เชิญเสวยเถิด พระเจ้าข้า ” น้ำที่ไม่ขุ่นมัวฉันใด ก็ควรเห็นจิตฉันนั้น พวกอำมาตย์ฉันใด ก็ควรเห็นพระโยคาวจรฉันนั้น สาหร่าย จอก แหน โคลนตมนั้นฉันใด ก็ควรเห็นกิเลสฉันนั้น แก้วมณีอันทำน้ำให้ใสฉันใด ก็ควรเห็นศรัทธาฉันนั้นฉะนั้น พอวางแก้วมณีอันทำน้ำให้ใสลงไปในน้ำ สาหร่ายจอกแหนก็หายไป โคลนตมก็จมลงไป น้ำก็ใสไม่ขุ่นมัวฉันใด เมื่อศรัทธาเกิดขึ้นก็ข่มนิวรณ์ไว้ ทำให้จิตผ่องใส ไม่ขุ่นมัวจากความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ การไม่ชอบใจ ฟุ้งซ่าน ง่วงและสงสัยฉันนั้น อย่างนี้แหละเรียกว่า ศรัทธามีความผ่องใส เป็นลักษณะ ขอถวายพระพร”

ศรัทธามีการแล่นไป

“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้อว่า ศรัทธามีการแล่นไป เป็นลักษณะนั้น คืออย่างไร ? ”
“ ขอถวายพระพร พระโยคาวจรเลื่อมใสในปฏิปทาของพระอริยเจ้าแล้ว จิตของพระโยคาวจรเหล่านั้นก็แล่นไปในโสดาปัตติผล สกิทาคามีผล อนาคามีผล อรหัตผล เป็นลำดับไปแล้ว พระโยคาวจรนั้นก็กระทำความเพียรเพื่อให้ถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อให้บรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้กระทำให้แจ้ง อย่างนี้แหละมหาบพิตร เรียกว่าศรัทธามีการแล่นไปเป็นลักษณะ ”
“ นิมนต์อุปมาให้แจ้งด้วย ”

อุปมาบุรุษผู้ข้ามแม่น้ำ

“ มหาราชะ เมฆใหญ่ตกลงบนภูเขาแล้วก็มีน้ำไหลลงไปสู่ที่ต่ำ ทำซอกเขาระแหงห้วยให้เต็มแล้ว ก็ล้นไหลไปสู่แม่น้ำเซาะฝั่งทั้งสองไป เมื่อฝูงคนมาถึงไม่รู้ที่ตื้นที่ลึกแห่งแม่น้ำนั้นก็กลัว จึงยืนอยู่ริมฝั้งอันกว้างลำดับนั้น ก็มีบุรุษคนหนึ่งมาถึง เขาเป็นผู้มีกำลังเรี่ยวแรงมาก ได้เหน็บชายผ้านุ่งให้แน่น แล้วกระโดดลงไปในน้ำ ว่ายข้ามน้ำไป มหาชนได้เห็นบุรุษนั้นข้ามน้ำไปได้ ก็พากันว่ายข้ามตามฉันใด ” พระโยคาวจรได้เห็นปฏิปทาของพระอริยะเหล่าอื่นแล้ว ก็มีจิตแล่นไปในโสดาปัตติผล สกิทาคามีผล อนาคามีผล อรหัตผล แล้วก็กระทำความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ไม่ยังถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้งฉันนั้น อย่างนี้แหละเรียกว่า ศรัทธามีการแล่นไป เป็นลักษณะข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระชินสีห์ตรัสไว้ว่า “บุคคลย่อมข้ามห้วงน้ำได้ด้วยศรัทธา ย่อมข้ามมหาสมุทรได้ด้วยความไม่ประมาท ย่อมล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา” ดังนี้ ขอถวายพระพร
“ ชอบแล้ว พระนาคเสน ”

อธิบาย บุคคลมีศรัทธาต่อสิ่งใด เมื่อระลึกถึงสิ่งนั้น หรือบุคคลนั้น จิตใจย่อมผ่องใส และจิตใจของเขาย่อมแล่นไปยังสิ่งนั้น หรือบุคคลนั้นเสมอๆ ผู้ศรัทธาในพระนิพพาน หรือผู้ถึงนิพพานแล้ว จิตย่อมแล่นไปในนิพพานเนืองๆ มีนิพพานเป็นอารมณ์อยู่เสมอ ย่อมทำความเพียรเพื่อบรรลุพระนิพพานนั้น

ปัญหาที่ ๑๑ ถามลักษณะวิริยะ

“ ข้าแต่พระนาคเสน วิริยะ คือความเพียร มีลักษณะอย่างไร? ”
“ มหาราชะ ความเพียรมีการค้ำจุนไว้เป็นลักษณะ กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งสิ้นอันความเพียรค้ำจุนไว้แล้วย่อมไม่เสื่อม”
“ ขอนิมนต์อุปมาก่อน ”

อุปมาเรือนที่จะล้ม

“ ขอถวายพระพร เมื่อเรือนจะล้มบุคคลค้ำไว้ด้วยไม้อื่น เรือนที่ถูกค้ำไว้นั้นก็ไม่ล้มฉันใด ความเพียรก็มีการค้ำจุนไว้เป็นลักษณะ กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งสิ้นก็ไม่เสื่อมฉันนั้น ”
“ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก ”

อุปมาพวกเสนา

“ มหาราชะ พวกเสนาจำนวนน้อย ต้องพ่ายแพ้แก่เสนาหมู่มาก หากพระราชาทรงกำชับไปให้ดี ทั้งเพิ่มกองหนุนส่งไปให้ เสนาจำนวนน้อยกับกองหนุนนั้นต้องชนะเสนาหมู่มากได้ฉันใด ความเพียรก็มีการค้ำจุนไว้เป็นลักษณะ กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งสิ้นอันความเพียรอุดหนุนแล้วก็ไม่เสื่อมฉันนั้น ” ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระทรงธรรม์ตรัสไว้ว่า “ อริยสาวกผู้มีความเพียรเป็นกำลัง ย่อมละอกุศล เจริญกุศลได้ ละสิ่งที่มีโทษ เจริญสิ่งที่ไม่มีโทษได้ ย่อมไม่เสื่อมจากพระสัทธรรม” ดังนี้ ขอถวายพระพร"
“ พระผู้เป็นเจ้ากล่าวแก้ถูกต้องดีแล้ว ”

อธิบาย การทำความเพียรนั้น คือไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป ถ้าหย่อนเกินไป ก็จะเอียงไปทางเกียจคร้าน ถ้าตึงเกินไปก็จะฟุ้งซ่านจึงควรทำความเพียรแต่พอดี

ปัญหาที่ ๑๒ ถามลักษณะสติ

“ ข้าแต่พระนาคเสน สติ มีลักษณะอย่างไร ? ”
“ มหาราชะ สติ มีลักษณะ ๒ ประการคือ ๑. มีการเตือนเป็นลักษณะ ๒. มีการถือไว้ เป็นลักษณะ ขอถวายพระพร ”

สติมีการเตือน

“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้อว่าสติมีการเตือนเป็นลักษณะนั้น คืออย่างไร ? ”
“ ขอถวายพระพร สติเมื่อเกิดขึ้นก็เตือนให้รู้จักสิ่งที่เป็นกุศล อกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เลวดี ดำขาว ว่าเหล่านี้เป็นสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้เป็นสัมมัปปธาน ๔ เหล่านี้เป็นอิทธิบาท ๔ เหล่านี้เป็นอินทรีย์ ๕ เหล่านี้เป็นพละ ๕ เหล่านี้เป็นโพชฌงค์ ๗ เหล่านี้เป็นอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อันนี้เป็นสมถะ อันนี้เป็นวิปัสสนา อันนี้เป็นวิชชา อันนี้เป็นวิมุตติ เหล่านี้เป็นเจตสิกธรรม ดังนี้ ลำดับนั้นพระโยคาวจรก็เกี่ยวข้องธรรมที่ควรเกี่ยวข้อง ไม่เกี่ยวข้องธรรมที่ไม่ควรเกี่ยวข้อง คบหาธรรมที่ควรคบหา ไม่คบหาธรรมที่ไม่ควรคบหา อย่างนี้แหละมหาบพิตร เรียกว่า สติมีการเตือน เป็นลักษณะ”
“ ขอได้โปรดอุปมาด้วย ”

อุปมานายคลังของพระราชา

“ มหาราชะ นายคลังของพระราชา ย่อมทูลเตือนพระเจ้าจักรพรรดิ ให้ทรงระลึกถึงราชสมบัติในเวลาเช้าเย็นว่า “ ข้าแต่สมมุติเทพ ช้างของพระองค์มีเท่านี้ ม้ามีเท่านี้ รถมีเท่านี้ พลเดินเท้ามีเท่านี้ เงินมีเท่านี้ ทองมีเท่านี้ สิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เจ้าของมีเท่านี้ ขอพระองค์จงทรงระลึกเถิด พระเจ้าข้า ” ข้อนี้มีอุปมาฉันใด สติเมื่อเกิดขึ้น ก็เตือนให้ระลึกถึงธรรมที่เป็นกุศล อกุศล มีโทษไม่มีโทษ เลวดี ดำขาว ว่าเหล่านี้เป็นสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้เป็นสัมมัปปธาน ๔ ฯลฯ ลำดับนั้น พระโยคาวจรก็เกี่ยวข้องกับธรรมที่ควรเกี่ยวข้อง ไม่เกี่ยวข้องกับธรรมที่ไม่ควรเกี่ยวข้อง คบกับธรรมที่ควรคบ ไม่คบกับธรรมที่ไม่ควรคบ อย่างนี้แหละมหาบพิตร ชื่อว่า สติมีการเตือน เป็นลักษณะ ”
“ ชอบแล้ว พระนาคเสน ”

สติมีการถือไว้

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามต่อไปว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน ข้อว่า สติมีการถือไว้ เป็นลักษณะนั้น เป็นประการใด ? ”
“ มหาราชะ สติเมื่อเกิดขึ้น ก็ชักชวนให้ถือเอาซึ่งคติแห่งธรรมทั้งหลายว่า ธรรมเหล่านี้มีประโยชน์ ธรรมเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ ธรรมเหล่านี้มีอุปการะ ธรรมเหล่านี้ไม่มีอุปการะลำดับนั้น พระโยคาวจรก็ละธรรมอันไม่มีประโยชน์เสีย ถือเอาธรรมที่มีประโยชน์ละธรรมที่ไม่มีอุปการะเสีย ถือเอาแต่ธรรมที่มีอุปการะ อย่างนี้แหละ มหาบพิตร ชื่อว่าสติมีการถือเอาไว้เป็นลักษณะ ”
“ ขอนิมนต์อุปมาให้ทราบด้วย ”

อุปมานายประตูของพระราชา

“มหาราชะ นายประตูของพระราชาย่อมต้องรู้จักผู้ที่มีประโยชน์ และไม่มีประโยชน์แก่พระราชา ผู้ที่มีอุปการะ หรือไม่มีอุปการะแก่พระราชา เป็นต้นลำดับนั้น นายประตูก็กำจัดพวกที่ไม่มีประโยชน์เสีย รับให้เข้าไปเฉพาะพวกที่มีประโยชน์ กำจัดพวกที่ไม่มีอุปการะเสีย ให้เข้าไปแต่พวกที่มีอุปการะฉันใดสติเมื่อเกิดขึ้น ก็ชักชวนให้ถือเอาคติแห่งธรรมทั้งหลายฉันนั้นว่า ธรรมเหล่านี้มีประโยชน์ ธรรมเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ ธรรมเหล่านี้มีอุปการะ ธรรมเหล่านี้ไม่มีอุปการะลำดับนั้น พระโยคาวจรก็กำจัดธรรมอันไม่มีประโยชน์เสีย ถือเอาแต่ธรรมที่มีประโยชน์ ละธรรมอันไม่มีอุปการะเสีย ถือเอาแต่ธรรมอันมีอุปการะ อย่างนี้แหละ มหาบพิตร ชื่อว่าสติมีการถือไว้เป็นลักษณะ ข้อนี้สมกับที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า “สติ จะ โข อะหัง ภิกขเว สัพพัตถิกัง วทามิ… ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าสติประกอบด้วยประโยชน์ทั้งปวง” ดังนี้ ขอถวายพระพร"

ฏีกามิลินท์ (คัมภีร์ขยายความมิลินทปัญหา)

อธิบายคำว่าซึ่งคติแห่งธรรมทั้งหลาย ได้แก่ถึงซึ่งความสำเร็จผลที่ต้องการ และไม่ต้องการแห่งธรรมทั้งหลาย อันเป็นกุศลและอกุศล ส่วนคำว่า “ ดำขาว
มีความหมายว่า ดำนั้นได้แก่สิ่งที่ไม่ดี ส่วนขาวนั้นได้แก่สิ่งที่ดี

ปัญหาที่ ๑๓ ถามลักษณะสมาธิ

“ ข้าแต่พระนาคเสน สมาธิ มีลักษณะอย่างไร ? ”
“ มหาราชะ สมาธิมีการเป็นหัวหน้าเป็นลักษณะ กุศลธรรมทั้งหลาย มีสมาธิเป็นหัวหน้าน้อมไปในสมาธิ โน้มไปในสมาธิ เงื้อมไปในสมาธิ ขอถวายพระพร ”
“ ขอนิมนต์อุปมา พระผู้เป็นเจ้า ”

อุปมากลอนแห่งเรือนยอด

“ ขอถวายพระพร เช่นเดียวกับกลอนแห่งเรือนยอดทั้งหลายย่อมไปรวมอยู่ที่ยอด น้อมไปที่ยอด โน้มไปที่ยอด เงื้อมไปที่ยอด ฉันใด กุศลธรรมทั้งหลายก็มีสมาธิเป็นหัวหน้า น้อมไปในสมาธิ โน้มไปในสมาธิ เงื้อมไปในสมาธิฉันนั้น ”
“ นิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก ”

อุปมาพระราชา

“ มหาราชะ เวลาพระราชาเสด็จออกสงครามพร้อมด้วยจตุรงคเสนานั้น เสนาทั้งหลาย เสนาบดีทั้งหลาย ช้าง ม้า รถ พลเดินเท้าทั้งหลาย ก็มีพระราชาเป็นหัวหน้า น้อมไปในพระราชา โน้มไปในพระราชา เงื้อมไปในพระราชา ห้อมล้อมพระราชาฉันใด กุศลธรรมทั้งหลาย ก็มีสมาธิเป็นหัวหน้า น้อมไปในสมาธิ โน้มไปในสมาธิ เงื้อมไปในสมาธิฉันนั้น อย่างนี้แหละ มหาบพิตร ชื่อว่าสมาธิมีความเป็นหัวหน้าเป็นลักษณะ ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระมหามุนีตรัสไว้ว่า “ สมาธิ ภิกขเว ภาเวถะ สมาธิโก ภิกขุ ยถาภูตัง ปชานาติ… ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอบรมสมาธิ ภิกษุผู้ได้สมาธิย่อมรู้ตามความเป็นจริง ” ดังนี้ ขอถวายพระพร”
“ ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน ”

ปัญหาที่ ๑๔ ถามลักษณะปัญญา

“ ข้าแต่พระนาคเสน ปัญญามีลักษณะอย่างไร ? ”
“ มหาราชะ ปัญญามีการตัดเป็นลักษณะ ตามที่อาตมภาพได้ถวายวิสัชนาไว้แล้ว อีกประการหนึ่ง ปัญญามีการทำให้สว่างเป็นลักษณะ ขอถวายพระพร ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ปัญญามีการทำให้สว่าง เป็นลักษณะอย่างไร? ”
“ มหาราชะ ปัญญาเมื่อเกิดขึ้นก็กำจัดเครื่องทำให้มืดคืออวิชชา ทำให้เกิดความสว่างคือวิชชา ทำให้เกิดความแจ่มแจ้งคือญาณ ทำให้อริยสัจปรากฏ ลำดับนั้นพระโยคาวจรก็เห็นด้วยปัญญาอันชอบว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขอถวายพระพร ”
“ ขอพระคุณเจ้าได้โปรดอุปมา ”

อุปมาผู้ส่องประทีป

“ มหาราชะ เปรียบปานบุรุษส่องประทีปเข้าไปในเรือนที่มืด แสงประทีปย่อมกำจัดความมืด ทำให้เกิดแสงสว่าง ทำให้รูปทั้งหลายปรากฏฉันใด ปัญญาเมื่อเกิดขึ้นก็กำจัดความมืดคืออวิชชา ทำให้เกิดแสงสว่างคือวิชชา ทำให้เกิดความแจ่มแจ้งคือ ญาณ ทำให้อริยสัจทั้งหลายปรากฏ ลำดับนั้นพระโยคาวจรก็เห็นด้วยปัญญาอันชอบว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฉันนั้น อย่างนี้แหละมหาบพิตร ชื่อว่าปัญญามีการ ทำให้สว่างเป็นลักษณะ ขอถวายพระพร”
“ ถูกแล้ว พระนาคเสน ”

ฏีกามิลินท์

อธิบายคำว่า “ ปัญญาอันชอบ ” ได้แก่ปัญญาอันเกิดจากวิปัสสนาญาณ

ปัญหาที่ ๑๕ ถามหน้าที่แห่งธรรมต่างๆ กัน

“ ข้าแต่พระนาคเสน ธรรมเหล่านี้มีอยู่ต่างๆ กัน แต่ให้สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวกันหรือ? ”
“ อย่างนั้น มหาบพิตร ธรรมเหล่านี้มีอยู่ต่างๆ กัน แต่ให้สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวกัน คือฆ่ากิเลสเหมือนกัน ขอถวายพระพร ”
“ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”

อุปมาเสนาต่างๆ

“ มหาราชะ เสนามีหน้าที่ต่างๆ กันคือ เสนาช้าง เสนาม้า เสนารถ เสนาพลเดินเท้า เสนาเหล่านั้นย่อมให้สำเร็จสงครามอย่างเดียวกัน ย่อมชนะเสนาฝ่ายอื่นในสงครามอย่างเดียวกันฉันใด ธรรมเหล่านี้ถึงมีอยู่ต่างๆ กัน ก็ให้สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวกัน คือฆ่ากิเลสอย่างเดียวกัน ขอถวายพระพร”
“ พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนาสมควรแล้ว ”

จบวรรคที่ ๑

สรุปความ

คำว่า “ ธรรมเหล่านี้ ” หมายถึงธรรมที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ มนสิการมีลักษณะ ถือไว้ กุศลธรรมอื่นๆ ได้แก่ ศีล และ อินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา มีลักษณะดังนี้ ศีล มีลักษณะเป็นที่ตั้ง ศรัทธา มีลักษณะผ่องใส และแล่นไป วิริยะ มีลักษณะค้ำจุนไว้ สติ มีลักษณะเตือนและถือไว้ สมาธิ มีลักษณะเป็นหัวหน้า ปัญญา มีลักษณะตัดและทำให้สว่าง

ธรรมเหล่านี้จึงมีหน้าที่ต่างๆ กัน แต่มุ่งประโยชน์อย่างเดียวกัน คือฆ่ากิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน ตามที่ท่านได้อุปมาไว้ฉันใด เสนาช้าง ม้า รถ พลเดินเท้า เสนาเหล่านั้น ย่อมช่วยกันทำสงคราม เพื่อที่จะมีชัยชนะต่อข้าศึกศัตรู ก็มีอุปมาฉันนั้น รวมความว่า ปัญหาทั้งหมดที่ผ่านมานี้เป็นปัญหาที่พระเจ้ามิลินท์ถามพระนาคเสนถึงวิธีปฏิบัติที่จะไม่เกิดอีก ว่าจะต้องประกอบด้วยธรรมอะไรบ้าง หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะเข้าใจ ตามที่ได้สรุปความมาให้ทราบนี้.


ขอขอบคุณต้นฉบับ : www.geocities.com/SouthBeach/Terrace/4587/milindl.htm

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น