Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

มิลินทปัญหา ตอนที่ 14

มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 14 : เมณฑกปัญหาวรรคที่ ๑ ปัญหาที่ ๓ ถามเรื่องโปรดให้พระเทวทัตบรรพชา, ปัญหาที่ ๔ ถามถึงเหตุให้แผ่นดินไหว

ตอนที่ ๑๔

ปัญหาที่ ๓ ถามเรื่องโปรดให้พระเทวทัตบรรพชา


“ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่าพระตถาคตเจ้าเป็นผู้มีพระมหากรุณา เป็นผู้แสวงหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นผู้อนุเคราะห์สัตว์ทั้งหลายอย่างนั้นหรือ ? ”
“ อย่างนั้น มหาบพิตร ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระเทวทัตใครบวชให้ ขอจงว่าไปตามจริง ? ”
“ ขอถวายพระพร สมเด็จพระชินวรเจ้าทรงบวชให้พร้อมกับ พระภัททิยะ พระอนุรุทธ พระอานนท์ พระภัคคุ พระกิมพิละ พระอุบาลี ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน พระเทวทัตบวชแล้วจึงทำสังฆเภทได้ เพราะคฤหัสถ์ หรือ ภิกษุณี นางสิกขมานา สามเณร สามเณรี ทำสังฆเภทไม่ได้ ทำได้แต่เฉพาะภิกษุ ผู้ยังเป็นภิกษุอยู่ตามปกติ ยังร่วมกับสงฆ์ได้อยู่ อยู่ในเสมาอันเดียวกันกับสงฆ์เท่านั้น ”
“ ถูกอย่างนั้น มหาบพิตร พระเทวทัตบวชแล้วจึงทำสังฆเภทได้ ”

พระพุทธองค์ทรงทราบเหตุการณ์ล่วงหน้า

“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทำสังฆเภทได้รับกรรมอย่างไร ? ”
“ ขอถวายพระพร ผู้ทำสังฆเภทต้องตกนรกอยู่ตลอด ๑ กัป ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระตถาคตเจ้าทรงทราบหรือไม่ว่า พระเทวทัตบวชแล้วจักทำสังฆเภท แล้วจักไปตกนรกอยู่ตลอดกัป ? ”
“ ขอถวายพระพร ทรงทราบ ”
พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสต่อไปว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าทรงทราบ คำที่ว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้มีพระมหากรุณาแสวงหาประโยชน์ โปรดสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นก็ผิดไป ถ้าไม่ทรงทราบ พระพุทธเจ้าก็ไม่ใช่พระสัพพัญญู ปัญหานี้เป็นอุภโตโกฏิ มีสองแง่ ได้มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแก้ไขให้สิ้นสงสัย พระภิกษุมีความรู้ดังพระผู้เป็นเจ้า ในภายหน้าโน้นจักหาได้ยาก ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแสดงกำลังปัญญาของพระผู้เป็นเจ้าไว้ ”

ทรงใช้วิธีผ่อนหนักเป็นเบา

“ ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าเป็นผู้มีพระมหากรุณาจริง เป็นพระสัพพัญญูจริงเป็นพระสัพพทัสสาวี คือเห็นทุกสิ่งจริง เมื่อพระตถาคตเจ้าทรงเล็งดูคติของพระเทวทัตด้วยพระสัพพัญญุตญาณ อันประกอบด้วยพระมหากรุณา ก็ได้ทรงเห็นว่า พระเทวทัตถ้าเป็นคฤหัสถ์ ก็จักทำบาปกรรมอันจักให้ไปตกนรก เกิดเป็นเปรต อสุรกาย เดรัจฉาน หลายกัป และทรงทราบว่า กรรมของพระเทวทัตจักไม่มีที่สิ้นสุด แต่เมื่อพระเทวทัตได้บรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็จักมีสิ้นสุดได้ เมื่อบรรพชาแล้ว ก็จักทำกรรมเพียงให้ตกนรกอยู่ ๑ กัปเท่านั้น ทรงเห็นอย่างนี้ จึงได้โปรดให้พระเทวทัตบรรพชา ด้วยอำนาจพระมหากรุณา”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอย่างนั้น ก็เป็นอันว่า พระตถาคตเจ้าทุบตีพระเทวทัตแล้วทาน้ำมันให้ ผลักให้ล้มแล้ว ดึงแขนให้ลุกขึ้น ฆ่าแล้วชุบชีวิตให้ เพราะให้ทุกข์ก่อนแล้วจึงให้สุขต่อภายหลัง ”

อุปมามารดาบิดาลงโทษบุตร

“ ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าทรงทำอย่างนั้นจริง ข้อนี้ควรทราบด้วยอุปมา เหมือนมารดาบิดาเฆี่ยนตีบุตรแล้ว ให้ประโยชน์ทีหลังฉันใด พระตถาคตเจ้าก็ทรงทำฉันนั้น พระเทวทัตถ้าจักไม่ได้บรรพชา ยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ ก็จักทำบาปกรรม อันจักให้ไปตกนรกอยู่หลายแสนกัป เมื่อพระตถาคตเจ้าทรงทราบอย่างนี้ จึงได้ทรงพระกรุณาให้บรรพชา ได้ทรงทำทุกข์หนักให้เป็นทุกข์เบา ด้วยทรงเล็งเห็นว่า เมื่อพระเทวทัตได้บรรพชาในศาสนาของเราแล้ว ทุกข์ก็จักมีที่สิ้นสุด ”

อุปมาบุรุษผู้มีอำนาจ

“ มหาราชเจ้า เปรียบประดุจบุรุษผู้มีกำลัง ทรัพย์ ยศ ศักดิ์ ญาติวงศ์ รู้ว่าญาติหรือมิตรจะต้องได้รับพระราชอาญาหนัก ก็ช่วยให้เบาตามความสามารถของตนฉันใด สมเด็จพระจอมไตรทรงทราบว่า พระเทวทัตจะได้รับทุกข์อยู่หลายแสนกัป จึงให้บรรพชาช่วยให้หนักเป็นเบา ด้วยอำนาจศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณฉันนั้น ”

อุปมาเหมือนหมอผ่าตัด

“ อีกอย่างหนึ่ง หมอผ่าตัดย่อมตัดโรคที่หนักๆ ออกเสียทำให้เบาลง ด้วยอำนาจยาอันแรงกล้าฉันใด พระพุทธเจ้าผู้ทรงเห็นว่า พระเทวทัตจะได้รับทุกข์อยู่หลายแสนกัป จึงโปรดให้บรรพชาทำทุกข์หนักให้เป็นทุกข์เบาด้วยกำลังยา คือพระธรรม อันประกอบด้วยพระมหากรุณาฉันนั้น ขอถวายพระพร เมื่อพระตถาคตเจ้าทรงทำพระเทวทัตผู้จะได้รับทุกข์มาก ให้ได้รับทุกข์น้อย จะได้บาปอย่างใดอย่างหนึ่งหรือ ? ”
“ ไม่ได้บาปอย่างใดเลย พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร เหตุการณ์ข้อนี้ มหาบพิตรจงรับไว้ตามความจริงว่า พระพุทธเจ้าได้โปรดให้พระเทวทัตบรรพชา เพราะทรงพระมหากรุณาแท้ๆ ”

อุปมาเหมือนผู้จับโจร

“ อีกประการหนึ่ง เมื่อมีผู้จับโจรมาถวายพระราชาให้ลงพระราชอาญา พระราชาก็ตรัสสั่งให้นำไปตัดศีรษะ แต่มีผู้ที่ได้รับพรจากพระราชาทูลขอชีวิตไว้ ให้ตัดเพียงมือและเท้าเท่านั้นผู้ที่ขอชีวิตไว้นั้น จะได้บาปอย่างไรหรือ ? ”
“ ไม่ได้บาปอย่างไรเลย พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือพระพุทธเจ้าทรงพระกรุณาให้พระเทวทัตบรรพชาด้วยทรงพิจารณาเห็นว่า เมื่อพระเทวทัตได้บรรพชาแล้ว กรรมของพระเทวทัตก็จักมีที่สิ้นสุด ในเวลาที่พระเทวทัตจะถึงมรณะ ก็ได้เปล่งวาจานับถือพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งด้วยคำว่า “ข้าพเจ้าขอนับถือพระพุทธเจ้า ผู้เป็นบุคคลอันล้ำเลิศ ผู้เป็นวิสุทธิเทพยิ่งกว่าเทพยดาทั้งหลาย ผู้ฝึกฝนบุคคลที่ควรฝึกฝน ผู้มีพระจักษุรอบพระองค์ ผู้มีลักษณะแห่งบุญอันคูณด้วย ๑๐๐ ด้วยกระดูกของข้าพเจ้า ที่ยังมีลมหายใจอยู่อีก” ดังนี้ ”

ด้วยอานิสงส์เพียงเท่านี้

“ ขอถวายพระพร กัปที่ยังเหลืออยู่นี้ แบ่งออกเป็น ๖ ส่วน พระเทวทัตได้ทำสังฆเภทให้ส่วนแรก จักไปตกนรกอยู่ตลอด ๕ ส่วน พ้นจากนรกแล้ว จักได้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า “อัฏฐิสสระ” ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าผู้ทรงทำอย่างนี้ ได้ชื่อว่าทรงทำสิ่งที่ควรทำต่อพระเทวทัตแล้วหรือ ? ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน พระตถาคตเจ้าผู้ทรงทำอย่างนี้ ชื่อว่าทรงประทานสิ่งทั้งปวงแก่พระเทวทัตแล้ว ข้อที่พระตถาคตเจ้าได้ทรงทำให้พระเทวทัต ได้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านี้ชื่อว่าได้ทรงทำสิ่งทั้งปวงให้พระเทวทัตแล้ว ไม่มีอะไรที่จะได้ชื่อว่า ไม่ได้ทรงกระทำ ”
“ ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าจะได้บาป เพราะเหตุที่พระเทวทัตทำสัฆเภทแล้วไปทนทุกข์อยู่ในนรกบ้างหรือ ? ”
“ เปล่าเลย พระผู้เป็นเจ้า เพราะพระเทวทัตไปตกนรกด้วยกรรมของพระเทวทัตเอง พระพุทธเจ้าจะได้บาปมาแต่ไหน ”
“ ขอถวายพระพร แม้เหตุการณ์ดังนี้ ก็ขอมหาบพิตรจงทรงรับเถิดว่า พระพุทธเจ้าได้ให้พระเทวทัตบรรพชาด้วยพระมหากรุณาแท้ ”

อุปมามารดาบิดาผู้ให้กำเนิด

“ ขอมหาบพิตร จงทรงสดับเหตุการณ์ให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก คือมารดาบิดาทำให้บุตรเกิดขึ้นมาแล้ว ก็กำจัดปัดเป่าสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เสีย มีแต่ทำให้เป็นประโยชน์ ทำให้บุตรเติบโตขึ้น แต่เมื่อบุตรเติบโตขึ้นแล้ว บุตรก็ได้ทำบาปกรรมไว้ มารดาบิดาจะพลอยได้รับบาปกรรม ที่บุตรกระทำนั้นหรือไม่ ? ”
“ ไม่ได้รับเลย พระผู้เป็นเจ้า มารดาบิดาผู้เลี้ยงบุตรให้เติบโตขึ้นนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีอุปการคุณมากแท้ แต่บุตรจักได้รับโทษแห่งบาปกรรมที่เขาทำด้วยตนเองต่างหาก ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พระพุทธเจ้าก็เสมอกับมารดาบิดา ที่ได้ให้พระเทวทัตบรรพชา ก็เพราะทรงพระมหากรุณา เหตุอันนี้ขอจงทรงรับเถิดว่า พระพุทธเจ้าให้พระเทวทัตบรรพชาด้วยพระมหากรุณาแท้ ”

อุปมาหมอรักษาแผล

“ ขอมหาบพิตร จงทรงสดับเหตุการณ์ให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก คือเหมือนอย่างว่าหมอผ่าตัดจะรักษาแผล อันเต็มด้วยบุพโลหิต มีรูอยู่ข้างใน มีลูกศรฝังอยู่ อันเป็นที่ไหลออกแห่งของเปื่อยเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้ง ต้องชำระล้างปากแผลด้วยยาอันกล้าแข็งเผ็ดร้อน ทำให้ปากแผลอ่อนดีแล้ว จึงตัดด้วยมีดแล้วจี้ด้วยซี่เหล็กแดง แล้วราดด้วยน้ำด่างอันแสบเค็ม แล้วทายา แล้วเนื้อที่แผลก็งอกขึ้น แผลก็หายเป็นลำดับไป จึงขอถามมหาบพิตรว่า จะว่าแพทย์ผ่าตัดนั้น ไม่มีจิตเมตตาหรืออย่างไร ?”
“ ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า แพทย์ผ่าตัดนั้น เป็นผู้มีจิตเมตตาแท้ทีเดียว ”
“ ขอถวายพระพร ทุกขเวทนาอันเกิดแก่ผู้บาดเจ็บนั้น ด้วยการรักษาของหมอมีอยู่ หมอนั้นจะได้บาปอย่างไรหรือไม่ ? ”
“ ไม่ได้บาปอย่างใดเลย ผู้เป็นเจ้า มีแต่จะได้บุญไปสวรรค์ ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือพระพุทธเจ้าได้โปรดให้พระเทวทัตบรรพชา ด้วยทรงพระมหากรุณา เพื่อจะปลดเปลื้องพระเทวทัตให้พ้นทุกข์ จึงไม่ได้บาปอะไร ”

อุปมาผู้ถูกหนามตำที่เท้า

“ ขอมหาบพิตร จงทรงสดับเหตุการณ์ให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก คือเปรียบประดุจบุรุษคนหนึ่งถูกหนามปักเข้าไปที่เท้า หรือโดนหลักตอ มีบุรุษอีกคนหนึ่งมุ่งจะให้บุรุษนั้นสุขสบาย จึงบ่งด้วยหนามอันแหลม หรือด้วยมีดแหลมๆ แล้วชักหนามหรือตอนั้นออก ทั้งที่มีโลหิตไหลอยู่ จะว่าบุรุษผู้ชักหนามหรือตอออกนั้น ไม่มีจิตเมตตาหรือ ? ”
“ ว่าไม่ได้เลย พระผู้เป็นเจ้า เพราะบุรุษนั้นมุ่งให้มีความสวัสดีแท้ๆ ถ้าเขาไม่ช่วยนำหนามหรือตอนั้นออก บุรุษนั้นก็จะต้องถึงซึ่งความตาย หรือถึงซึ่งทุกข์แทบประดาตาย ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือถ้าพระพุทธเจ้าไม่โปรดให้พระเทวทัตบรรพชา พระเทวทัตก็จะต้องไปไหม้อยู่ในนรกหลายแสนกัป ”
พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงช่วยพระเทวทัต ผู้ไหลไปตามกระแสน้ำ ให้ไหลทวนขึ้นมาเหนือน้ำ ผู้ถึงซึ่งความวิบัติให้ถึงซึ่งความเจริญ ผู้ตกไปในเหว ให้ขึ้นจากเหว ผู้เดินทางผิด ให้มาเดินทางถูก ข้าแต่พระนาคเสน เหตุการณ์เหล่านี้ไม่มีบรรพชิตอื่นจะชี้บอกให้เห็นได้ นอกจากผู้มีความรู้ดี ดังพระผู้เป็นเจ้านี้เท่านั้น ”

ฎีกามิลินท์

ข้อที่ว่า “ พระเทวทัตจักไปตกนรกอยู่หลายแสนกัปนั้น ” คือถ้าพระเทวทัตไม่ได้บรรพชาในพระพุทธศาสนา ก็จักเป็นมิจฉาทิฎฐิอันมีโทษหนักยิ่งกว่าสังฆเภท เพราะมิจฉาทิฎฐินั้น ต้องตกนรกอยู่หลายแสนกัป ยิ่งเป็นอัจจันตมิจฉาทิฎฐิ คือเป็นมิจฉาทิฎฐิอย่างหนักด้วยแล้ว ก็ยิ่งไม่มีกำหนดว่าจะพ้นจากนรกเมื่อใด จักเป็นหลักตออยู่ในนรกหากำหนดมิได้

คำว่า “พระเทวทัตทำสังฆเภทแล้วไปตกนรกอยู่ตลอด ๑ กัปนั้น” หมายถึง อันตรกัป คือกัปในระหว่างกัปใหญ่เท่านั้น ไม่ใช่หมายเอาตลอดกัปใหญ่ (กัปหนึ่งๆ แบ่งเป็น ๖๔ อันตรกัป)

เมื่อพระนาคเสนเถระแก้ปัญหาข้อนี้เสร็จสิ้นลงไปแล้ว ก็มีเทวดาตั้งแต่ภุมเทวดาขึ้นไปจนถึงชั้นอกนิฎฐพรหมโลก (พรหมชั้น ๑๖) เปล่งเสียงสาธุการ ดอกไม้ทิพย์ในสวรรค์ก็ตกลงมาบูชา พระเจ้ามิลินท์กับข้าราชบริพารทั้งหลายพร้อมกันประนมมือสาธุการ สรรเสริญว่ายกพระสารีบุตรเถระเสียแล้ว ไม่มีผู้อื่นจะมีปัญญาเสมอเหมือนพระนาคเสน

เมื่อพระนาคเสนกลับไปแล้ว พระเจ้ามิลินท์ก็สร้างวัดถวาย ชื่อว่า “มิลินทรวิหาร” แล้วถวายปัจจัย ๔ แก่พระภิกษุทั้งหลายทุกวันไป

ปัญหาที่ ๔ ถามถึงเหตุให้แผ่นดินไหว

พระเจ้ามิลินท์ได้ตรัสถามว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เป็นคำขาดว่า “ เหตุปัจจัยที่จะทำให้แผ่นดินไหวใหญ่นั้นมีอยู่ ๘ ประการเท่านั้น ไม่มีถึง ๙ ถ้าคำนั้นจริงแล้ว คำที่ว่า “แผ่นดินไหวถึง ๗ ครั้ง ด้วยมหาทานของ พระเวสสันดร” นั้นก็ผิด ถ้าว่าคำที่ว่า “แผ่นดินไหวถึง ๗ ครั้ง ด้วยมหาทานของพระเวสสันดร” นั้นถูก คำที่ว่า “เหตุให้แผ่นดินไหวใหญ่มีเพียง ๘ อย่างเท่านั้น” ก็ผิด เพราะว่าการให้ทานไม่นับเข้าในเหตุอย่างหนึ่ง ในเหตุ ๘ อย่างที่แผ่นดินไหวนั้น เพราะฉะนั้น ปัญหาข้อนี้จึงเป็นอุภโตโกฏิมีสองง่ามสองแง่ เป็นปัญหาละเอียด เป็นปัญหาใหญ่ เป็นปัญหาชี้ให้เห็นได้ว่า เป็นปัญหาที่ให้เกิดความมืด แต่ปัญหานี้ได้มาถึงพระผู้เป็นเจ้า ผู้มีจักษุญาณแล้ว ผู้อื่นนอกจากพระผู้เป็นเจ้า ไม่อาจแก้ปัญหานี้ได้ ”

พระนาคเสนจึงตอบว่า “ ขอถวายพระพร คำทั้งสองนี้จริงทั้งนั้นคือคำที่ว่า “เหตุให้แผ่นดินไหวใหญ่มีอยู่ ๘” ก็เป็นของจริง คำที่ว่า “แผ่นดินใหญ่ได้ไหวถึง ๗ ครั้ง เพราะมหาทานของ พระเวสสันดร” ก็เป็นของจริง ไม่ใช่ของเหลาะแหละ ”

อุปมาเมฆนอกฤดูกาล

“ ขอถวายพระพร ในโลกนี้มีเมฆอยู่เพียง ๓ ฤดู คือ ฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อนเท่านั้น ถ้าเมฆอื่นนอกจาก ๓ ฤดูนั้น จะทำให้ฝนตกลงมา เมฆนั้นก็ไม่นับเข้ากับเมฆที่คนทั้งหลายรู้กัน เรียกว่า “อกาลเมฆ” ฉันใด การที่แผ่นดินใหญ่ไหวถึง ๗ ครั้ง ด้วยอำนาจมหาทานของพระเวสสันดร ก็เป็น “อกาลกัมปนัง” คือแผ่นดินไหวนอกจากเหตุ ๘ ประการ ฉันนั้น ”

อุปมาด้วยแม่น้ำ

“ นที ๕ สายย่อมไหลมาจากภูเขาหิมพานต์อีก ๑๐ นที คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหิ สินธุ สตธู วิชา ปิปาสิ จันทภาคี ก็นับรวมเข้าในคำว่า “ นที ” นทีนอกนั้นไม่นับเข้าในนที เพราะไม่มีน้ำประจำอยู่เป็นนิจฉันใด การที่แผ่นดินใหญ่ไหวถึง ๗ ครั้ง ด้วยอำนาจมหาทานของพระเวสสันดรนั้น ก็ไม่นับเข้าในเหตุ ๘ อย่าง เพราะว่าไม่ใช่เหตุที่จะให้แผ่นดินไหวเสมอไปฉันนั้น ”

อุปมาหมู่เสนาอำมาตย์

“ ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่าอำมาตย์ของพระราชามีอยู่ ๑๐๐ หรือ ๒๐๐ ก็ดี ก็นับเข้าในหมู่อำมาตย์เพียง ๖ คน เท่านั้น อำมาตย์ ๖ คนนั้น คือ เสนาบดี ๑ ปุโรหิต ๑ ผู้ตัดสินถ้อยความ ๑ ผู้รักษาพระราชทรัพย์ ๑ ผู้กั้นเศวตฉัตร ๑ ผู้ถือพระขรรค์ ๑ เท่านั้น นอกจาก ๖ คนนี้ไม่นับเข้าว่าเป็นอำมาตย์ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด การที่แผ่นดินไหวถึง ๗ ครั้ง ด้วยมหาทานของพระเวสสันดรนั้นก็ไม่นับเข้าในเหตุ ๘ อย่างฉันนั้น ”

ผู้ได้รับผลบุญเห็นทันตา ๗ คน

“ ขอถวายพระพร มหาบพิตรได้เคยทรงสดับหรือไม่ว่า ผู้ที่ทำบุญในพระพุทธศาสนานี้แล้ว ได้รับผลบุญเห็นทันตา มีกิตติศัพท์ลือชาและยศศักดิ์ ปรากฏไปในเทพยดาและมนุษย์ ? ”
“ เคยได้ฟัง พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร บุคคลเหล่านั้นมีอยู่กี่คน ? ”
“ มีอยู่ ๗ คน พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร คือใครบ้าง ? ”
“ คือ นายสุมนมาลาการ ๑ พราหมณ์เอกสาฏก ๑ ลูกจ้างชื่อว่า นายปุณณะ ๑ พระนางมัลลิกาเทวี ๑ พระนางโคปาลมาตาเทวี ๑ นางสุปิยาอุบาสิกา ๑ นางปุณณทาสี ๑ รวมเป็น ๗ คนเท่านี้แหละ พระผู้เป็นเจ้า ”

ผู้ที่ได้ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น ๔ คน

“ ขอถวายพระพร มหาบพิตรได้เคยทรงสดับมาหรือไม่ว่า ผู้ที่ได้ทำความดีไว้ในพระพุทธศาสนาก่อนๆ โน้น ได้ไปสวรรค์ทั้งเป็นไปด้วยรูปร่างมนุษย์มีอยู่หรือไม่ ? ”
“ มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ได้แก่ใคร...มหาพิตร ? ”
“ ได้แก่ โคตติลคันธัพพราชา ๑ สาธินราชา ๑ เนมิราชา ๑ มันธาตุราชา ๑ ทั้ง ๔ คนนี้ ได้ขึ้นไปดาวดึงส์สวรรค์ทั้งเป็น เพราะคนเหล่านั้น ได้ทำความดีไว้นานแล้ว ”

ทานของผู้อื่นไม่เป็นเหตุให้แผ่นดินไหว

“ ขอถวายพระพร มหาบพิตรได้เคยทรงสดับหรือไม่ว่า ผู้มีชื่ออย่างนี้ๆ ให้ทานอยู่ในอดีตกาล หรือในปัจจุบันกาล ทำให้แผ่นดินใหญ่นี้ไหวครั้งหนึ่ง หรือสองสามครั้ง ? ”
“ ไม่เคยได้ยินได้ฟังเลย พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร อาตมาภาพผู้มีอาคมคือพระปริยัติธรรม และอธิคม คือมรรคผลกับการสดับฟังพระปริยัติ การเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า การฟังดี การไต่ถาม การอยู่ร่วมกับอาจารย์ การปฏิบัติอาจารย์ ก็ไม่เคยได้ยินได้ฟังว่า เมื่อผู้อื่นให้ทานได้เกิดแผ่นดินไหวเพียงครั้งเดียว หรือ ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง นอกจากการให้ทานของพระเวสสันดรเท่านั้น ”

อุปมาด้วยเกวียน

“ ขอถวายพระพร ในระหว่างพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ คือพระศากยมุนีพุทธเจ้า กับ พระกัสสปพุทธเจ้านั้น ล่วงมาแล้วหลายโกฏิปีในระหว่างนั้นก็ไม่เคยได้ยินได้ฟังเลย ถึงเลือกค้นดูก็ไม่เห็นว่าผู้อื่นให้ทานทำให้แผ่นดินไหว แผ่นดินอันใหญ่นี้ไม่ไหวด้วยความความเพียรเท่านั้น ด้วยความบากบั่นเพียงเท่านั้น แผ่นดินอันใหญ่หนักด้วยของหนัก คือคุณความดีของบุคคล จนไม่อาจรับไว้ได้ จึงสะเทือนสะท้านหวั่นไหว เกวียนที่บรรทุกหนักเกินไป จนดุมเกวียนกำเกวียน กงเกวียนทนไม่ไหว เพลาเกวียนก็หักฉันใด แผ่นดินอันใหญ่อันหนักด้วยคุณความดีของบุคคล จนไม่อาจรับไว้ได้จึงไหวฉันนั้น ”

อุปมาด้วยท้องฟ้า

“ อีกประการหนึ่ง ท้องฟ้าอันปกคลุมด้วยก้อนเมฆ หนักด้วยก้อนเมฆ มีลมพัดแรงเกินไป ก็มีเสียงดังกึกก้องฉันใด แผ่นดินใหญ่เมื่อไม่อาจทรงของหนัก คือความไพบูลย์แห่งกำลังทานของพระเวสสันดรจึงไหวฉันนั้น เพราะว่าพระหฤทัยของพระเวสสันดรนั้น ไม่ได้เป็นไปด้วยอำนาจราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ความโกรธ ความริษยา อย่างใดเลย เป็นไปมากด้วยอำนาจแห่งทานอย่างเดียวเท่านั้น คือพระเวสสันดรคิดอยู่ว่า พวกยาจกที่ยังไม่มาก็ขอให้มา ที่มาแล้วก็ขอให้ได้ตามประสงค์ ได้แล้วขอให้มาอีก ”

คุณธรรมของพระเวสสันดร

“ พระเวสสันดรนั้น มีพระหฤทัยมั่นอยู่ในธรรม ๑๐ ประการ คือ ความฝึกใจ ๑ ความสำรวม ๑ ความอดทน ๑ ความระวัง ๑ ความแน่นอน ๑ ความไม่โกรธ ๑ ความไม่เบียดเบียน ๑ ความจริง ๑ ความสะอาดใจ ๑ ความเมตตา ๑ พระเวสสันดรนั้น ได้ละการแสวงหากามารมณ์เสียแล้ว ระงับการแสวงหาภพเสียแล้ว มุ่งแต่การแสวงหาพรหมจรรย์เท่านั้น พระเวสสันดรนั้น สละการรักษาตัวเสียแล้ว มุ่งแต่รักษาผู้อื่นทุกเวลาว่า ทำอย่างไรหนอ สัตว์บุคคลทั้งสิ้นจึงจะพร้อมเพรียงกัน จึงจักไม่มีโรค จึงจักมีทรัพย์ จึงจักมีอายุยืน พระเวสสันดรนั้น ไม่ได้ทรงให้ทานเพราะปรารถนาภพ หรือทรัพย์ หรือการตอบแทน การสรรเสริญ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ยศ บุตร ชีวิต แต่อย่างใดเลย พระองค์ทรงมุ่งแต่ “พระสัพพัญญุตญาณ” เท่านั้น ข้อนี้สมกับที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า “เมื่อเราให้ทานบุตรธิดา คือ ชาลีกัณหาและเทวี คือพระนางมัทรี เราไม่ได้คิดอย่างอื่นเลย เรามุ่งต่อพระโพธิญาณอย่างเดียวเท่านั้น” ดังนี้ พระเวสสันดรนั้น ชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ ชนะคนไม่ดีด้วยความดี ชนะคนตระหนี่ด้วยการให้ ชนะคนเหลาะแหละด้วยความจริง ชนะอกุศลทั้งปวงด้วยกุศล ”

เหตุอัศจรรย์เพราะมหาทาน

“ เมื่อพระเวสสันดรให้ทานอยู่อย่างนั้นลมใหญ่ภายใต้ก็ไหว เมื่อลมใหญ่ภายใต้ไหวน้ำที่อยู่บนลมก็ไหว เมื่อน้ำไหว หินที่อยู่บนน้ำก็ไหว เมื่อหินที่อยู่บนน้ำไหว แผ่นดินใหญ่นี้ก็ไหว ครั้งนั้น พวกอสูร ครุฑ นาค ยักษ์ทั้งหลาย ที่มีฤทธิ์มีเดชน้อย ก็สะดุ้งตกใจกลัวว่า แผ่นดินไหวใหญ่เพราะอะไร ไม่ทราบว่าเป็นเพราะการให้ทานของพระเวสสันดร ต่อเมื่อได้ยินเสียงป่าวร้องสาธุการของเทพยดาทั้งหลายจึงรู้   เป็นอันว่าแผ่นดินใหญ่นี้ตั้งอยู่บนหิน หินตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่บนลม เมื่อลมข้างล่างไหว ก็ไหวเป็นลำดับขึ้นมาจนถึงแผ่นดินใหญ่ ดังนี้ ”

อุปมาเหมือนแก้วต่างๆ

“ ขอถวายพระพร แก้วต่างๆ ย่อมมีอยู่ที่พื้นดินเป็นอันมาก คือ แก้วอินทนิล แก้วมหานิล แก้วโชติรส แก้วไพฑูรย์ แก้วอุมมารบุปผา แก้วมโนห์รา แก้วสุริยกันต์ แก้วจันทกันต์ แก้ววิเชียร แก้วกโชปักมกะ แก้วบุษราคัม แก้วแดง แก้วลาย แก้วมณีของพระเจ้าจักรพรรดิย่อมแผ่รัศมีไปข้างละ ๑ โยชน์โดยรอบฉันใด ทานที่มีอยู่ทั้งสิ้น มี อสทิสทาน เป็นอย่างเยี่ยม ก็สู้มหาทานของพระเวสสันดรไม่ได้ฉันนั้น เมื่อพระเวสสันดรทรงบำเพ็ญมหาทานอยู่ แผ่นดินใหญ่ได้ไหวถึง ๗ ครั้ง ขอมหาบพิตรจงทรงพระสวนาการฟังให้เข้าพระทัยในกาลบัดนี้ ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ปัญหาที่ลี้ลับลึกซึ้ง พระผู้เป็นเจ้าก็ได้คลี่คลายขยายออกแล้ว ได้ทำให้ตื้นแล้ว ได้ทำลายข้อที่ฟั่นเฝือได้สิ้นแล้ว ”

บทผนวก

การสนทนาได้ยุติลงเพียงแค่นี้ เรื่องแผ่นดินไหวนี้ พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายไว้ใน พรหมชาลสูตร ผู้เรียบเรียบขอนำให้ทราบได้ดังนี้ “ ...พึงทราบแผ่นดินไหวด้วยเหตุ ๘ ประการ คือ ๑. ธาตุกำเริบ (ไหวตามธรรมชาติ) ๒. อานุภาพของผู้มีฤทธิ์ ๓. พระโพธิสัตว์ก้าวลงสู่พระครรภ์ ๔. เสด็จออกจากครรภ์พระมารดา ๕. บรรลุพระสัมโพธิญาณ ๖. ทรงแสดงพระธรรมจักร ๗. ทรงปลงอายุสังขาร ๘. เสด็จดับขันธปรินิพพาน ”

ข้าพเจ้า (พระพุทธโฆษาจารย์) จักกล่าวในคราววรรณนาพระบาลี ที่มาใน มหาปรินิพพานสูตร อย่างนี้ว่า “ ดูก่อนอานนท์ เหตุปัจจัย ๘ เหล่านี้แลที่ให้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ดังนี้เทียว แผ่นดินใหญ่นี้ได้ไหวในฐานะ ๘ แม้อื่น คือ ๑. คราวเสด็จมหาภิเนษกรมณ์ ๒. คราวเสด็จเข้าสู่โพธิมัณฑสถาน ๓. คราวรับผ้าบังสุกุล ๔. คราวซักผ้าบังสุกุล ๕. คราวแสดงกาลามสูตร ๖. คราวแสดงโคตมกสูตร ๗. คราวแสดงเวสสันดรชาดก ๘. คราวแสดงพรหมชาลสูตรนี้ ใน ๘ คราวนั้น คราวเสด็จมหาภิเนษกรมณ์ และคราวเสด็จเข้าสู่โพธิมัณฑสถาน แผ่นดินได้ไหวด้วยกำลังแห่งพระวิริยะ คราวรับผ้าบังสุกุล แผ่นดินถูกกำลังความอัศจรรย์กระทบแล้วว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละมหาทวีป ๔ อันมีทวีป ๒ พันเป็นบริวารออกผนวช ไปสู่ป่าช้าถือเอาผ้าบังสุกุล ได้ทรงกระทำกรรมที่ทำได้ยาก ดังนี้ ได้ไหวแล้ว คราวซักผ้าบังสุกุล และคราวแสดงเวสสันดรชาดก แผ่นดินได้ไหวด้วยคราวไหวมิใช่กาล คราวแสดงกาลามสูตร และคราวแสดงโคตมกสูตร แผ่นดินได้ไหวด้วยความเป็นสักขีว่า “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าขอเป็นสักขี ”

แต่คราวแสดงพรหมชาลสูตรนี้ เมื่อทรงแสดงสะสางคลี่คลายทิฏฐิ ๖๒ ประการอยู่พึงทราบว่า ได้ไหวด้วยอำนาจถวายสาธุการ

เหตุแผ่นดินไหวหลังพุทธปรินิพพาน

อนึ่ง มิใช่แต่ในฐานะเหล่านี้อย่างเดียวเท่านั้นที่แผ่นดินไหว ที่จริงแผ่นดินไหวแล้วแม้ในคราวสังคายนาทั้ง ๓ ครั้ง แม้ในวันที่พระมหินทเถระมาสู่ทวีปนี้ (มาลังกาหลังสังคายนาครั้งที่ ๓) นั่งแสดงธรรมในชาติวัน และเมื่อพระบิณฑาปาติยเถระกวาดลานพระเจดีย์ในกัลยาณีวิหาร แล้วนั่งที่ลานพระเจดีย์นั้นแหละ ยึดปีติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ เริ่มสวดพระสูตรนี้ (พรหมชาลสูตร) แผ่นดินได้ไหวไปถึงน้ำรองแผ่นดินเป็นที่สุด มีสถานที่ชื่อ “อัมพลัฏฐิกะ” อยู่ด้านทิศตะวันออกของโลหปราสาท พระเถระผู้กล่าวคัมภีร์ทีฆนิกาย นั่งอยู่ในสถานที่นั้น เริ่มสวดพรหมชาลสูตร แม้ในเวลาที่พระเถระเหล่านั้นสวดจบ แผ่นดินก็ได้ไหวไปถึงน้ำรองแผ่นดินเป็นที่สุดเหมือนกันดังนี้แล...”

(เหตุให้แผ่นดินไหวในคราวสังคายนา ๓ ครั้งนั้นเกิดที่ประเทศอินเดีย นอกจากนั้นเป็นเหตุเกิดที่ประเทศศรีลังกาทั้งสิ้น)


ขอขอบคุณต้นฉบับ : www.geocities.com/SouthBeach/Terrace/4587/milindl.htm

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น