Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

มิลินทปัญหา ตอนที่ 24

มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 24 : เมณฑกปัญหา วรรคที่ ๓ ปัญหาที่ ๖ ถามเรื่องสะเก็ดศิลาถูกพระบาท, ปัญหาที่ ๗ ถามเรื่องการถวายโภชนาหาร, ปัญหาที่ ๘ ถามเรื่องทรงขวนขวายน้อยในการแสดงธรรม, ปัญหาที่ ๙ ถามถึงความมีอาจารย์และไม่มีอาจารย์ของพระพุทธเจ้า, ปัญหาที่ ๑๐ ถามถึงสมณะที่เลิศและไม่เลิศ, วรรคที่ ๔ ปัญหาที่ ๑ ถามเกี่ยวกับเรื่องสรรเสริญ, ปัญหาที่ ๒ ถามเรื่องไม่เบียดเบียนและไม่ข่มเหง, ปัญหาที่ ๓ ถามเรื่องทรงขับไล่ภิกษุ

ตอนที่ ๒๔

ปัญหาที่ ๖ ถามเรื่องสะเก็ดศิลาถูกพระบาท


" ข้าแต่พระนาคเสน มีคำกล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เสด็จดำเนินไปบนพื้นปฐพีในเวลาใด พื้นปฐพีอันไม่มีจิตวิญญาณก็ทำอาการเหมือนมีจิตวิญญาณ คือที่ต่ำก็สูงขึ้นที่สูงก็ต่ำลง แต่มีกล่าวไว้อีกว่าสะเก็ดศิลาได้กระเด็นมาถูกพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า เหตุใดสะเก็ดศิลาที่กระเด็นมานั้นจึงไม่กระเด็นกลับไปให้เหมือนของที่มีจิตวิณณาณ ถ้าคำว่า "เมี่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปบนแผ่นดินในที่ใด แผ่นดินในที่นั้นที่ต่ำก็สูง ที่สูงเป็นต่ำ เหมือนมีจิตวิญญาณจริงแล้ว ข้อที่ว่า "สะเก็ดศิลากระเด็นมาถูกพระบาท" ก็ผิดไป ถ้าข้อว่า " สะเก็ดศิลากระเด็นมาถูกพระบาท" นั้นถูก ข้อว่า "แผ่นดินอันไม่มีจิตวิญญาณ ก็แสดงอาการสูงต่ำเหมือนมีจิตวิญญาณ" ก็ผิด ปัญหานี้เป็นอุภโตโกฏิ เป็นปัญหาลึก หยั่งรู้ได้ยาก มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว "

พระนาคเสนเถระตอบว่า "ขอถวายพระพร จริงทั้งสองอย่างนั่นแหละ แต่สะเก็ดศิลานั้น ไม่ได้กระเด็นมาตามธรรมชาติของมัน ตกลงมาด้วยการกระทำของพระเทวทัต ต่างหาก พระเทวทัตได้อาฆาตต่อสมเด็จพระบรมโลกนาถมาหลายแสนชาติแล้วพระเทวทัตคิดว่าจักให้ก้อนศิลาตกลงมาทับพระพุทธเจ้า จึงได้กลิ้งก้อนศิลาใหญ่โตเท่าเรือนยอด ลงมาด้วยกำลังเครื่องยนต์ ขณะนั้นมีก้อนศิลา ๒ ก้อน ได้ผุดขึ้นจากพื้นดินมารับก้อนศิลานั้นไว้ ก้อนศิลานั้นถูกกระทบ ก้อนศิลา ๒ ก้อนนั้นก็แตกกระจายไป สะเก็ดศิลาก้อนหนึ่งจึงได้ตกไปถูกพระบาทของพระพุทธเจ้า"

" ข้าแต่พระนาคเสน ก้อนศิลา ๒ ก้อนนั้น ได้รับก้อนศิลานั้นไว้แล้ว ก็ควรจะรับสะเก็ดศิลาไว้ด้วย"
" รับไว้แล้วมหาบพิตร แต่ว่าสะเก็ดศิลามีมาก บางสะเก็ดก็รับไว้ไม่หมดจึงได้ตกกระเด็นไป เปรียบเหมือนกับนมสด หรือน้ำมันเปรียง น้ำอ้อย น้ำผึ้ง เนยใส น้ำมัน เนื้อหมี เนื้อสัตว์ต่างๆ ที่บุคคลกำไว้ในกำมือ เล็ดลอดไหลออกไปตามช่องนิ้วมือก็มีฉันใด สะเก็ดศิลาที่เล็ดลอดไปจากการรับไว้แห่งศิลา ๒ ก้อนนั้น ก็มีได้เช่นกันฉันนั้น ก้อนที่เล็ดลอดไป ก็ได้ไปตกที่พระบาทของพระพุทธเจ้า ข้อนี้เปรียบได้อีกอย่างหนึ่ง คือเหมือนกับทรายละเอียดที่บุคคลกำไว้ แล้วเล็ดลอดออกตามช่องนิ้วมือฉะนั้น หรืออีกอย่างหนึ่งเปรียบเหมือนกับคำข้าวที่บุคคลรับไว้ด้วยปากตกร่วงออกจากปากก็มิได้ฉันนั้น"

"ข้าแต่พระนาคเสน ก้อนศิลา ๒ ก้อนนั้นได้รับก้อนศิลาไว้แล้ว สะเก็ดศิลานั้นก็ควรจะเคารพพระพุทธเจ้า เหมือนแผ่นดินใหญ่แสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้าเช่นกันไม่ใช่หรือ ?"

ผู้ที่เคารพผู้อื่นไม่ได้ ๑๒ จำพวก

" ขอถวายพระพร ผู้ที่เคารพผู้อื่นไม่ได้มีอยู่ ๑๒ จำพวกคือ ๑. ผู้กำหนัดยินดี ๒. ผู้โกรธ ๓. ผู้หลง ๔. ผู้กำเริบ ๕. ผู้เนรคุณ ๖. ผู้มีใจกระด้างเกินไป ๗. ผู้ชั่วช้า ๘. ผู้จักลงโทษ ๙. ผู้ไม่สละ ๑๐. ผู้กำลังทุกข์ ๑๑. ผู้โลภครอบงำ ๑๒. ผู้วุ่นอยู่กับการงาน มหาราชะ ถ้าสะเก็ดศิลานั้นไม่แตกไปจากก้อนศิลา ก้อนศิลาใหญ่ทั้งสองที่ผุดขึ้นรับนั้น ก็จะได้รับสะเก็ดศิลานั้นไว้ได้ สะเก็ดศิลานั้นได้ตั้งอยู่ที่อากาศ ได้แตกกระเด็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีทิศที่หมาย ตกไปตามแต่จะได้ จึงไปตกถูกพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า อีกอย่างหนึ่ง ใบไม้แห้งที่ถูกลมหัวด้วนพัดขึ้นไป ก็ไม่มีทิศที่หมาย ย่อมตกไปตามแต่จะได้ฉันใด สะเก็ดนั้นก็ไม่มีทิศที่หมายตกไปตามแต่จะได้ฉันนั้น อนึ่ง สะเก็ดศิลานั้นได้ตกไปถูกพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อจะให้พระเทวทัตผู้อกตัญญู ผู้กระด้าง ได้เสวยทุกข์ในนรก ขอถวายพระพร "
" ดีแล้วพระนาคเสน โยมรับว่าถูกต้อง "

อธิบาย ข้อที่ว่า ผู้กำเริบ หมายถึงผู้นั้นถูกคนยกย่องสรรเสริญ จึงมีมานะไม่ยอมเคารพใคร ข้อว่า ผู้จักลงโทษ คือถือตัวว่าเป็นใหญ่ ข้อว่า ผู้ไม่สละ คือมีความตระหนี่

ปัญหาที่ ๗ ถามเรื่องการถวายโภชนาหาร

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า "โภชนะอันได้ด้วยการกล่าวคาถา ไม่สมควรที่เราจะบริโภค ดูก่อนพราหมณ์ข้อนี้เป็นธรรมดาของผู้รู้แจ้งเห็นจริงทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมกำจัดเสียซึ่งการกล่าวคาถา ดูก่อนพราหมณ์ ความประพฤติข้อนี้อยู่ในธรรม" ดังนี้ แต่ต่อมาเมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาจะทรงแสดงธรรม ก็ทรงแสดงไปตามลำดับคือทรงแสดง ทานกถา ก่อนแล้วจึงทรงแสดงสีลกถาในภายหลัง เทพยดามนุษย์ทั้งหลายได้ฟังถ้อยคำของพระพุทธเจ้าผู้เป็นใหญ่ในโลกจึงได้ชวนกันถวายทาน พระสาวกทั้งหลายก็ได้บริโภคทานอันนั้นถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงกำจัดการกล่าวคาถาจริงแล้ว ข้อที่ว่า ทรงแสดงทานกถาก่อนก็ผิดไป ถ้าข้อว่าทรงแสดงทานกถาก่อนนั้นถูก ข้อที่ว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมกำจัดการกล่าวคาถานั้นก็ผิด ข้อนั้นเพราะเหตุไร....เพราะเหตุว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ควรแก่การถวายทานนั้น ได้ทรงแสดงผลแห่งการถวายบิณฑบาตให้คฤหัสถ์ทั้งหลายฟัง คฤหัสถ์ทั้งหลายฟังแล้วมีใจเลื่อมใสได้ถวายทานเรื่อยๆ ไป พวกที่ได้บริโภคทานนั้นก็ชื่อว่าบริโภคสิ่งที่ได้ด้วยการกล่าวคาถา ปัญหานี้เป็นอุภโตโกฏิ โปรดแก้ไขให้สิ้นสงสัยด้วยเถิด "

พระนาคเสนตอบว่า " ขอถวายพระพร ข้อที่กล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า โภชนะอันได้ด้วยการกล่าวคาถา ไม่สมควรที่เราจะฉัน แล้วทรงแสดงทานกถาก่อน อันกิริยานั้น เป็นกิริยาของพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย คือพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงทำให้สาธุชนยินดียิ่งด้วยทานกถาก่อน แล้วจึงทรงชักนำในเรื่องศีลต่อภายหลังเปรียบเหมือนคนทั้งหลายที่ให้ของเล่นแก่เด็กๆ ซึ่งกำลังเล่นฝุ่นเล่นทราย มีไถและค้อนเล็กๆ หม้อข้าวเล็กๆ ตุ๊กตาเล็กๆ ภาชนะเล็กๆ รถเล็กๆ ธนูเล็กๆ เสียก่อนจึงแนะนำให้เรื่องการงานต่อภายหลังฉะนั้น อีกอย่างหนึ่ง เหมือนกับแพทย์ที่ให้คนไข้หนักดื่มน้ำมันสัก ๔ วัน หรือ ๕ วันก่อน พอมีกำลังดีจึงให้กินยาถ่ายภายหลังฉะนั้นกล่าวคือ เมื่อจิตของผู้ถวายทานทั้งหลายอ่อนแล้ว ก็เป็นสะพานเป็นเรือช่วยให้ข้ามฝั่งสาคร คือสงสารได้ เพราะฉะนั้น สมเด็จพระทรงธรรม์จึงทรงสอนตามสมควรแก่ภูมิเสียก่อน คำสอนของพระองค์นั้นไม่แสดงการขอด้วยกาย หรือแสดงการขอด้วยวาจา"

การขอ

" ข้าแต่พระนาคเสน คำว่า การขอ นั้นมีอยู่เท่าใด? "
" ขอถวายพระพร มีอยู่ ๒ ประการ คือการขอทางกาย ๑ การขอทางวาจา ๑ การขอทั้งสองนี้ แยกออกไปอย่างละ ๒ คือ มีโทษ ๑ ไม่มีโทษ ๑ การขอทางกายที่มีโทษ นั้นได้แก่สิ่งใด....ได้แก่การที่ภิกษุบางรูปเข้าไปถึงตระกูลแล้วยืนอยู่ในที่ไม่สมควร ไม่ละที่นั้นไป พระอริยะทั้งหลายย่อมไม่เลี้ยงชีวิตด้วยการขอทางกายนั้น ส่วนบุคคลนั้นเป็นผู้ที่พระอริยเจ้าดูหมิ่นติเตียน ครอบงำ ไม่ยำเกรง ดูแคลน นินทา ถึงซึ่งอันนับว่าเป็นผู้เสียอาชีวะ ยังมีอีกข้อหนึ่งมหาบพิตร ภิกษุบางรูปเข้าไปถึงตระกูล แล้วยืนอยู่ในที่ไม่สมควร ยื่นคอเล็งดูประหนึ่งว่านกยูง ด้วยเข้าใจว่าคนจักไม่เห็นเรา แล้วคนก็เห็นภิกษุนั้น อันนี้ก็เป็นการขอทางกายที่มีโทษพะอริยเจ้าทั้งหลายไม่เลี้ยงชีพด้วยการขอทางกายนี้ ภิกษุนั้นย่อมเป็นที่ดูหมิ่นติเตียนของพระอริยะทั้งหลาย ย่อมถึงซึ่งความนับว่าเลี้ยงชีพในทางที่ไม่สมควร การขอทางกายที่ไม่มีโทษ นั้นได้แก่สิ่งใด...ได้แก่การที่ภิกษุบางรูปเข้าไปถึงตระกูลมีสติสัมปชัญญะ ไปยืนอยู่ในที่สมควร ด้วยคิดว่า ผู้ประสงค์จะให้ก็ต้องมา ผู้ไม่ประสงค์จะให้ก็ต้องหลีกไป พระอริยะเจ้าทั้งหลายเลี้ยงชีพด้วยการขออย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อมเป็นที่สรรเสริญเชยชมของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมถึงซึ่งความนับว่ามีความประพฤติขัดเกลากิเลส มีอาชีวะบริสุทธิ์ ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระบรมสุคต ผู้เป็นวิสุทธิเทพยิ่งกว่าเทพยดาตรัสไว้ว่า "ผู้มีปัญญาทั้งหลายย่อมไม่ขอ ผู้มีความคิดดีทั้งหลายย่อมติเตียนการขอ พระอริยะทั้งหลายได้แต่ยืนเฉพาะ การยืนเฉพาะเป็นการขอของพระอริยะทั้งหลาย" ดังนี้ การขอด้วยกายอย่างนี้ เป็นของไม่มีโทษ การขอทางวาจาที่มีโทษนั้นคืออย่างไร คือภิกษุบางรูปย่อมขอสิ่งต่างๆ ด้วยวาจาคือขอจีวร บิณฑบาต ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ที่เก็บเภสัช พระอริยะทั้งหลายย่อมไม่เลี้ยงชีวิตด้วยการขออย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อมเป็นที่ดูแคลน เป็นที่ติเตียนในธรรมเนียมของพระอริยะทั้งหลาย ย่อมถึงซึ่งอันนับว่าผู้เสียอาชีวะ ยังอีกข้อหนึ่งมหาบพิตร คือภิกษุบางรูปเมื่อจะให้ผู้อื่นได้ยินเสียงก็กล่าวว่า เราต้องการของสิ่งนี้ เมื่อคนเหล่านั้นถูกขอด้วยวาจาอย่างนั้น เขาก็ต้องให้ การพูดขออย่างนี้ก็เป็นของมีโทษ ยังอีกข้อหนึ่ง คือภิกษุบางรูปย่อมเปล่งวาจาให้คนอื่นได้ยินว่า ควรถวายแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ๆ พวกที่ได้ยินก็จักถวาย อันนี้ก็เป็นวจีที่มีโทษ ขอถวายพระพร พระสารีบุตรเถระเป็นไข้ในเวลากลางคืน เมื่อพระมหาโมคคัลลาน์ถามถึงยา ก็ได้เปล่งวาจาออกมาแล้วก็ได้ยาครั้งนั้น พระสารีบุตรเถระก็ได้ทิ้งยานั้นเสีย ไม่ฉันยานั้นด้วยกลัวเสียอาชีวะว่า ยานี้ได้เกิดแก่เราเพราะการเปล่งวาจา อย่าให้อาชีวะของเราเสียไปเลย พระอริยะทั้งหลายย่อมไม่ฉันของที่ขอด้วยวาจาอย่างนั้น การขอทางวาจาที่ไม่มีโทษนั้นคืออะไร คือเมื่อความจำเป็นมีขึ้น ภิกษุก็ขอยาต่อพวกญาติหรือผู้ที่ปวารณาไว้ การขออย่างนั้นเป็นของไม่มีโทษ ผู้นั้นก็เป็นที่สรรเสริญของพระอริยะทั้งหลายนับว่าเป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ "

" ข้าแต่พระนาคเสน เมื่อพระตถาคตเจ้าจะเสวย เทวดาทั้งหลายได้โปรยทิพยโอชาลงไปทุกคราวหรือ...หรือเฉพาะในบิณฑบาตทั้งสองคราวนั้น คือ เนื้อสุกรอ่อนของนายจุนท์ กับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาเท่านั้น? "
" ขอถวายพระพร ทุกคราวที่สมเด็จพระชินวรเจ้าเสวย เหมือนกับเมื่อพระราชากำลังเสวย พวกพนักงานเครื่องเสวยก็ได้หยิบเอากับข้าวใส่ลงไปในคำข้าวฉะนั้น ครั้งหนึ่ง เมื่อพระตถาคตเจ้าเสวยข้าวสำหรับเลี้ยงม้าที่พวกพ่อค้านำไปถวาย เทวดาทั้งหลายก็ทำให้ข้าวนั้นอ่อนด้วยผงทิพย์แล้วน้อมเข้าไปถวาย ทำให้เกิดความสบายพระกายแก่พระตถาคตเจ้า "
" ข้าแต่พระนาคเสน เป็นลาภอันดีของพวกเทวดา ที่คอยปฏิบัติพระพุทธเจ้าอยู่เสมอไป เป็นอันว่า ปัญหาข้อนี้พระผู้เป็นเจ้าแก้ไขถูกต้องดีแล้ว"

ปัญหาที่ ๘ ถามเรื่องทรงขวนขวายน้อยในการแสดงธรรม

" ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้กล่าวไว้ว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดถึง ๔ อสงไขยกับอีกแสนกัป เพื่อจะช่วยชนหมู่ใหญ่ แต่กล่าวอีกว่า เมื่อสำเร็จพระสัพพัญญุตญาณแล้ว จิตขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ก็น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่น้อมเพื่อทรงแสดงธรรม ดังนี้ โยมเห็นว่าข้อที่พระพุทธองค์ทรงย่อท้อในการแสดงธรรมนั้น เหมือนกับนายขมังธนูหรือศิษย์ของนายขมังธนู ที่ฝึกหัดธนูไว้เป็นอันมากแล้ว พอสงครามเกิดขึ้นก็ย่อท้อฉะนั้น หรือไม่อย่างนั้นก็เปรียบเหมือนกับนักมวย หรือศิษย์ของนักมวยที่ฝึกหัดไว้มากแล้ว เมื่อจะเกิดต่อยกันขึ้นก็ท้อใจฉะนั้น ข้าแต่พระนาคเสน พระตถาคตเจ้าทรงย่อท้อพระทัยเพราะความกลัว หรือเพราะความขวนขวายน้อย หรือเพราะไม่มีกำลังพอหรือเพราะไม่รู้ทุกสิ่ง ขอจงแก้ไข ถ้าพระตถาคตเจ้าผู้สร้างบารมีมาตลอดถึง ๔ อสงไขย กำไรแสนกัป เพื่อโปรดเทพยดามนุษย์เป็นอันมากจริงแล้ว ข้อที่ว่าเมื่อสำเร็จพระสัพพัญญุตญาณแล้ว พระหฤทัยได้น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อจะทรงแสดงธรรมนั้นก็ผิดไป ถ้าข้อนี้ถูก ข้อที่ว่าได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาเพื่อจะทรงเทศนาโปรดเทพยดามนุษย์เป็นอันมากนั้นก็ผิดไป ปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิ โปรดวิสัชนาให้สิ้นสงสัยเถิด"

พระนาคเสนถวายพระพรว่า " มหาบพิตรพระราชสมภาร ข้อที่ว่า ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาเพื่อจะทรงเทศนาโปรดเทพยดามนุษย์เป็นอันมาก เวลาได้สำเร็จพระสัพพัญญุตญาณแล้ว พระหฤทัยของพระองค์ได้น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อทรงแสดงธรรมนั้น เป็นเพราะเหตุว่า ๑. ธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้น เป็นของลึกซึ้ง รู้ตามได้ยาก เป็นของละเอียด เป็นของหยั่งรู้ได้ยาก ๒. สัตวโลกทั้งหลายก็มีความอาลัยอยู่ในโลกเป็นอันมาก เพราะมากไปด้วยสักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวตนเราเขา ดังนี้

อุปมาอุปมัย

เปรียบเหมือนแพทย์ที่จะรักษาคนไข้ซึ่งมีโรคมากอย่าง ก็คิดว่าโรคทั้งปวงของบุรุษนี้จะหายไปด้วยการกระทำชนิดใด หรือด้วยยาชนิดใด ข้อนี้มีอุปมาฉันใด สมเด็จพระจอมไตรก็ได้ทรงเห็นหมู่สัตว์ที่เป็นโรคกิเลสทั้งสิ้น และทรงเห็นธรรมอันเป็นของเห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก ก็มีพระหฤทัยน้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อทรงแสดงธรรมฉันนั้น อีกประการหนึ่ง พระราชาผู้ได้เสวยราชย์แล้ว ได้ทรงพิจารณาเห็นประชาราษฏร์ที่พึ่งพระองค์ มีนายประตู แม่ทัพนายกอง ราชบริพาร ข้าราชการ ชาวนิคม อำมาตย์ ราชกัญญาทั้งหลายแล้ว ก็ทรงรำพึงว่า เราจะสงเคราะห์คนเหล่านี้อย่างไร ข้อนี้ฉันใด พระตถาคตเจ้าทรงเล็งเห็นธรรมอันเป็นของลึก เป็นของละเอียด เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก และทรงเล็งเห็นจิตของสัตว์ทั้งหลายผู้ยินดีในกามารณ์ มากไปด้วยความเห็นว่าเป็นตัวตนเราเขา ก็มีพระหฤทัยน้อมไปในความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อทรงแสดงธรรมฉันนั้น อีกอย่างหนึ่ง ข้อที่มีพระหฤทัยน้อมไปในความขวนขวายน้อยนั้น เป็นธรรมดาของพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ผู้ที่ท้าวมหาพรหมทูลอาราธนาแล้วจึงทรงแสดงธรรม เพราะเหตุว่าในคราวนั้น ดาบส ปริพาชก สมณพราหมณ์ เทพยดา มนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้นับถือพระพรหมทั้งนั้น เมื่อพรหมได้อาราธนาแล้วจึงจักแสดงธรรม ข้อนี้เปรียบเหมือนพระราชา หรือมหาอำมาตย์ แสดงความเคารพต่อผู้ใด คนทั้งหลายก็จะเคารพผู้นั้นยิ่งขึ้นฉันนั้น เพราะฉะนั้นท้าวมหาพรหมจึงได้ทูลอาราธนาพระตถาคตเจ้าทั้งปวงเพื่อให้ทรงแสดงธรรม พระตถาคตเจ้าทั้งปวงที่มหาพรหมทูลอาราธนาแล้ว จึงได้ทรงแสดงธรรม ดังนี้ขอถวายพระพร "
" ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน "

ปัญหาที่ ๙ ถามถึงความมีอาจารย์และไม่มีอาจารย์ของพระพุทธเจ้า

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า "อาจารย์ของเราไม่มี ผู้เสมอเราไม่มี ผู้เปรียบกับเราในมนุษย์โลกหรือเทวโลกไม่มี" ดังนี้ แต่ตรัสไว้อีกแห่งหนึ่งว่า "อาฬาระ กาลามะ ผู้เป็นอาจารย์ของเราได้ยกย่องเราผู้เป็นศิษย์ว่า มีความรู้เสมอกับตน ได้บูชาเราด้วยการบูชาอย่างเยี่ยม" ดังนี้ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าพระตถาคตเจ้าไม่มีอาจารย์ ข้อที่ว่า "อาฬาระ กาลามะ ผู้เป็นอาจารย์ของเราได้ยกย่องเรา" ก็ผิดไป ถ้าข้อที่ว่า "อาฬาระ กาลามะ ผู้เป็นอาจารย์ของเราได้ยกย่องเรา" นั้นถูก ข้อที่ว่า "เราไม่มีอาจารย์" นั้นก็ผิด ปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิ ขอได้โปรดวิสัชนาให้สิ้นสงสัยเถิด"

พระนาคเสนตอบว่า " ขอถวายพระพร ข้อที่ตรัสไว้ทั้งสองนั้นถูกทั้งนั้น แต่ข้อที่ตรัสว่า "อาฬาระ กาลามะ ผู้เป็นอาจารย์ของเราได้ยกย่องเรานั้น" ตรัสหมายถึงพระองค์ยังไม่ได้ตรัสรู้ คือในเวลานั้นมีอาจารย์สั่งสอนอยู่ถึง ๕ จำพวกคือ ๑. พราหมณ์ทั้ง ๘ ที่เป็นผู้ทำนายพระลักษณะ ได้ถวายสวัสดิมงคล กระทำการรักษาซึ่งนับว่าเป็นอาจารย์จำพวกแรก ๒. สัพพมิตตพราหมณ์ที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงมอบให้สอนศิลปวิทยา ๓. เทวดาที่ทำให้สลดพระทัยแล้วเสด็จออกบรรพชา ๔. อาฬารดาบสกาลามโคตร ๕. อุทกดาบสรามบุตรอาจารย์ทั้ง ๕ จำพวกนี้ เป็นอาจารย์ในทางโลกิยธรรม ของพระโพธิสัตว์ผู้ยังไม่ได้ตรัสรู้ต่างหาก ส่วนในทางโลกุตรธรรมนั้น ไม่มีอาจารย์สั่งสอน พระองค์ทรงสำเร็จได้ด้วยพระบารมีของพระองค์เอง จึงตรัสว่าพระองค์ไม่มีอาจารย์ ขอถวายพระพร "
" ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน "

ปัญหาที่ ๑๐ ถามถึงสมณะที่เลิศและไม่เลิศ

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า "ชื่อว่าเป็นสมณะเพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย" แล้วตรัสไว้อีกว่า "เราเรียกผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ว่าเป็นสมณะ" ธรรม ๔ ประการนั้น คือ ขันติ ความอดทน ๑ อัปปาหารตา ความเป็นผู้บริโภคอาหารน้อย ๑ รติวิปปหานัง การละความยินดี ๑ อากิญจัญญัง ความไม่มีอะไรเหลือ ๑ ธรรมทั้ง ๔ นี้ ย่อมมีแก่ผู้ยังไม่สิ้นอาสวะ ผู้ยังมีกิเลส ถ้าชื่อว่าเป็นสมณะเพราะความสิ้นอาสวะทั้งหลาย เป็นของถูกแล้ว ข้อที่ว่าผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้เป็นสมณะก็ผิดไป ถ้าผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้เป็นสมณะ ข้อที่ว่า เป็นสมณะเพราะสิ้นอาสวะนั้นก็ผิดไป ปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิ โปรดแก้ให้สิ้นสงสัยเถิด "

พระนาคเสนตอบว่า " ขอถวายพระพร ข้อที่ตรัสไว้ทั้งสองประการนั้นถูกทั้งนั้น ส่วนข้อที่ตรัสไว้ว่า "ผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ชื่อว่าสมณะนั้น" ตรัสไว้ด้วยทรงถือ คุณวิเศษ เป็นสำคัญ ส่วนข้อที่ตรัสว่า "ชื่อว่าเป็นสมณะเพราะสิ้นอาสวะนั้น" เป็นคำที่ตรัสไว้อย่างไม่เหลือ อนึ่ง ผู้สิ้นอาสวะแล้วชื่อว่าเป็นสมณะยิ่งกว่าผู้ปฏิบัติเพื่อให้สิ้นกิเลสทั้งสิ้น ดอกไม้ที่เกิดบนบกทั้งหลายมีดอกมะลิเป็นอย่างเลิศ ดอกไม้ที่ร้อยแล้วดีกว่าดอกไม้ที่ไม่ได้ร้อยฉันใด ข้าวสาลีดีกว่าข้าวทั้งปวงฉันใด ผู้สิ้นอาสวะแล้ว ก็เป็นสมณะดีกว่าสมณะทั้งหลายฉันนั้น ขอถวายพระพร "
" ถูกต้องแล้ว พระนาคเสน "

จบวรรคที่ ๓

วรรคที่ ๔

ปัญหาที่ ๑ ถามเกี่ยวกับเรื่องสรรเสริญ


" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีผู้สรรเสริญเรา หรือสรรเสริญธรรม สรรเสริญสงฆ์ พวกเธอไม่ควรทำความร่าเริง ความดีใจ ความมีใจแปรปรวน อย่างใดอย่างหนึ่ง" แล้วตรัสไว้อีกว่า "เมื่อเสลพราหมณ์สรรเสริญตามความเป็นจริง พระตถาคตก็ทรงดีพระทัย" แล้วได้แสดงพระคุณของพระองค์ยิ่งขึ้นไปว่า "ดูก่อนเสลพราหมณ์ เราเป็นพระธรรมราชาผู้เยี่ยม ได้ยังธรรมจักรอันไม่มีผู้ปฏิบัติได้ให้เป็นไปโดยชอบธรรม" ดังนี้ ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าพระตถาคตเจ้าได้ตรัสว่า "เวลามีผู้สรรเสริญเราหรือสรรเสริญธรรม สรรเสริญสงฆ์ พวกเธอไม่ควรร่าเริง ไม่ควรดีใจ ไม่ควรมีใจตื่นเต้น" ดังนี้ถูกแล้ว คำที่ตรัสว่า "เมื่อเสลพราหมณ์สรรเสริญตามเป็นจริง เราตถาคตก็ร่าเริงดีใจ แล้วได้แสดงคุณของเราตถาคตให้ยิ่งขึ้นไป" ดังนี้ก็ผิด ถ้าคำว่า "เมื่อเสลพราหมณ์สรรเสริญเราตามจริง เราก็ร่าเริงดีใจ ได้แสดงคุณของเราให้ยิ่งขึ้นไป" ดังนี้ถูกแล้ว คำที่ตรัสว่า "เวลามีผู้อื่นสรรเสริญมา หรือธรรม หรือสงฆ์ พวกเธอไม่ควรร่าเริงดีใจ มีใจตื่นเต้น" ดังนี้ก็ผิดปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิ โปรดวิสัชนาให้สิ้นสงสัยเถิด "

พระนาคเสนตอบว่า " ขอถวายพระพร คำทั้งสองนั้นจริงทั้งนั้น เมื่อสมเด็จพระภควันต์จะทรงแสดงลักษณะแห่งสภาวธรรมตามความเป็นจริง ก็ได้ตรัสห้ามภิกษุทั้งหลายไว้อย่างนั้น เมื่อเสลพราหมณ์สรรเสริญพระองค์ตามความเป็นจริง ก็ได้ทรงแสดงคุณของพระองคให้ยิ่งขึ้นไปดังที่ว่าแล้วนั้น แต่การที่ทรงแสดงคุณของพระองค์ให้ยิ่งขึ้นไปนั้น ไม่ใช่เพราะเห็นแก่ลาภยศ พรรคพวกบริวารอย่างไร เป็นเพราะทรงพระเมตตากรุณาแก่ผู้ฟังทั้งหลายว่า ความรู้แจ้งธรรมจักมีแก่พราหมณ์นั้น พร้อมกับมาณพ ๓๐๐ คน จึงได้ทรงแสดงคุณของพระองค์ให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ขอถวายพระพร "
" ดีแล้วพระนาคเสน โยมรับว่าถูกต้องดี "

ปัญหาที่ ๒ ถามเรื่องไม่เบียดเบียนและไม่ข่มเหง

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า "จงอย่าเบียดเบียนผู้อื่นในโลก จงถือว่าผู้อื่นจงเป็นที่รักของเรา จงเป็นพวกของเรา" ดังนี้ แล้วตรัสอีกว่า "ควรข่มขี่ ผู้ที่ควรข่มขี่ ควรยกย่องผู้ที่ควรยกย่อง" ดังนี้ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า การตัดมือ ตัดเท้า การฆ่า การจองจำ การทำให้ตาย การทำให้สิ้นเครื่องสืบต่อชีวิต ชื่อว่าการข่มขี่ คำว่า "ข่มขี่" นี้ ไม่สมควรแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ไม่ควรจะตรัสคำนี้ ถ้าตรัสว่า "อย่าเบียดเบียนผู้อื่นในโลก จงรักผู้อื่น ถือว่าผู้อื่นเป็นพวกของเรา" ดังนี้ถูกแล้ว คำที่ว่า "ควรข่มขี่ผู้ที่ควรข่มขี่ ควรยกยอ่งผู้ที่ควรยกย่อง" ก็ผิดไป ถ้าคำว่า "ควรข่มขี่ผู้ที่ควรข่มขี่ ควรยกย่องผู้ที่ควรยกย่อง" ดังนี้ถูกแล้ว คำที่ว่า "อย่าเบียดเบียนผู้อื่นในโลก จงทำผู้อื่นให้เป็นที่รักของตัว จงนึกว่าเป็นพวกของตัว" ดังนี้ก็ผิด ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ ควรแก้ไขให้สิ้นสงสัยด้วยเถิด"

พระนาคเสนตอบว่า" ขอถวายพระพร คำทั้งสองนั้นถูกทั้งนั้น คำว่า "อย่าเบียนเบียดผู้อื่นในโลก" เป็นคำอนุมัติเป็นคำพร่ำสอน เป็นคำแสดงธรรมของพระตถาคตเจ้าทั้งปวง เพราะว่าธรรมมีความไม่เบียดเบียนเป็นลักษณะ การที่ตรัสอย่างนั้นตรัสตามสภาพ คือความเป็นจริง คำที่ตรัสว่า "ควรข่มขี่ผู้ที่ควรข่มขี่ ควรยกย่องผู้ที่ควรยกย่อง" เป็นการมุ่งการปฏิบัติธรรม คือจิตที่ฟุ้งซ่านควรข่ม จิตที่หดหู่ควรประคองขึ้น จิตที่เป็นอกุศลควรข่มขี่เสีย จิตที่เป็นกุศลควรประคองไว้ การนึกผิดทางควรข่มขี่เสีย การนึกถูกทางควรประคองไว้ การปฏิบัติผิดควรข่มขี่เสีย การปฏิบัติถูกควรประคองไว้ ผู้ไม่ใช่อริยะควรข่มขี่เสีย ผู้เป็นอริยควรประคองไว้ ผู้เป็นโจรควรข่มขี่เสีย ผู้ไม่ใช่โจรควรประคองไว้ ขอถวายพระพร "
" เอาละ พระนาคเสน คราวนี้พระผู้เป็นเจ้าหวนกลับมาสู่วิสัยของโยมแล้ว โยมถามถึงข้อความอันใด ข้อความอันนั้นได้เข้ามาถึงโยมแล้ว โยมจึงขอถามว่า ผู้ที่เป็นโจร เราจะควรข่มขี่อย่างไร? "
" ขอถวายพระพร โจรที่ควรด่าว่าก็ต้องด่าว่า ที่ควรปรับไหมก็ต้องปรับไหม ที่ควรขับไล่ก็ต้องขับไล่ ที่ควรจองจำก็ต้องจองจำ ที่ควรฆ่าก็ต้องฆ่า ควรข่มขี่โจรอย่างนี้ "
" ข้าแต่พระนาคเสน การฆ่าโจรเป็นพระอนุมัติของพระตถาคตเจ้าทั้งหลายหรือ ? "
" ไม่เป็น มหาราชะ "
" ถ้าไม่เป็น เพราะเหตุไรจึงกล่าวว่า โจรนั้นเป็นผู้ควรสั่งสอนตามพระอนุมัติของพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย? "
" ขอถวายพระพร การฆ่าโจรนั้น คนทั้งหลายไม่ได้ฆ่าตามพระอนุมัติของพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย โจรนั้นถูกฆ่าด้วยความผิดที่เขากระทำเอง ก็แต่ว่าโจรนั้นบุคคลควรสั่งสอนตามเหตุผล บุคคลอาจจับบุรุษผู้ไม่มีความผิดจูงตระเวนไปตามถนน แล้วฆ่าเสียตามมติได้หรือ ? "
" ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า "
" เพราะเหตุไรล่ะ ? "
" เพราะเขาไม่ได้ทำความผิด "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร โจรไม่ได้ถูกฆ่าด้วยพระอนุมัติของพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ถูกฆ่าด้วยการกระทำของเขาเองต่างหาก ผู้ที่สั่งสอนโจรจะได้รับโทษอย่างไรบ้างหรือ? "
" ไม่ได้รับโทษอย่างไรเลย ผู้เป็นเจ้า "
" ถ้าอย่างนั้น คำสอนของพระตถาคตเจ้าก็เป็นคำสอนที่ถูกต้องดีแล้ว ขอถวายพระพร "
" พระผู้เป็นเจ้าแก้ปัญหาข้อนี้ดีแล้ว "

ปัญหาที่ ๓ ถามเรื่องทรงขับไล่ภิกษุ

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า "เราเป็นผู้ไม่โกรธ เป็นผู้ไม่มีตะปู คือความโกรธแล้ว" แต่ภายหลังได้ทรงประณามขับไล่ พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร พร้อมทั้งบริวาร ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงขับไล่เพราะความโกรธ หรือเพราะความดีพระทัย ขอได้โปรดแก้ไขให้โยมเข้าใจ ถ้าทรงขับไล่ด้วยความโกรธ ก็เป็นอันว่าพระตถาคตเจ้า ยังไม่ทรงละความโกรธ ถ้าทรงขับไล่ด้วยยินดี ก็เป็นอันว่าไม่รู้ แต่ทรงกระทำให้เมื่อยังไม่มีเหตุสมควร ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ ควรแก้ให้สิ้นสงสัยนะพระคุณเจ้าข้า "

พระนาคเสนชี้แจงว่า " ขอถวายพระพร ข้อที่สมเด็จพระชินวรเจ้าตรัสว่า เราเป็นผู้ไม่มีความโกรธ เป็นผู้ที่ไม่มีตะปู คือความโกรธแล้ว แต่ได้ทรงขับไล่พระโมคัลลาน์พระสารีบุตร พร้อมทั้งบริวาร การทรงขับไล่นั้น ไม่ใช่ทรงขับไล่ด้วยความโกรธ มหาราชะ เหมือนอย่างบุรุษผู้หนึ่งพลาดล้มลงที่พื้นดิน หรือล้มลงที่แผ่นหิน ถูกก้อนกรวด หลักตอ ที่ไม่สม่ำเสมอ ที่มีตมมีโคลนย่อมมีอยู่ อาตมภาพขอถามว่า แผ่นดินโกรธหรือ จึงทำให้ผู้นั้นพลาดล้ม ? "
" แผ่นดินไม่ได้โกรธเลย ผู้เป็นเจ้า ความโกรธหรือความเลื่อมใสไม่มีแก่แผ่นดิน แผ่นดินไม่มีความยินดียินร้าย เขาพลาดล้มของเขาเอง"
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร สมเด็จพระพิชิตมารไม่มีความโกรธ ความยินดียินร้ายอันใด แต่พระอัครสาวกทั้งสองนั้นถูกขับไล่เพราะการกระทำผิดของตนต่างหาก อาตมภาพขอถามว่า ธรรมดามหาสมุทรย่อมไม่อยู่ร่วมกับซากศพ หรือจอกแหนสาหร่ายแต่อย่างใด มีแต่พัดเอาจอกแหนสาหร่ายขึ้นไปบนฝั่งเสียโดยเร็ว มหาสมุทรนั้นโกรธหรือ จึงได้ทำอย่างนั้น ? "
" ไม่โกรธ ผู้เป็นเจ้า เพราะมหาสมุทรไม่รู้สึกยินดียินร้ายอะไร"
" ข้อนี้มีอุปมาฉันใด สมเด็จพระจอมไตรก็ไม่ทรงยินดียินร้ายแต่อย่างใด พระอัครสาวกทั้งสองนั้น ถูกขับไล่เพราะความผิดพลาดของตนต่างหาก สมเด็จพระผู้มีพระภาคมีแต่ทรงมุ่งประโยชน์สุข ได้ทรงขับไล่ด้วยทรงเห็นว่าภิกษุเหล่านี้จักพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยอาการอย่างนี้ ขอถวายพระพร "
" สาธุ...พระนาคเสน โยมขอรับว่า ถูกอย่างพระผู้เป็นเจ้ากล่าวแล้วทุกประการ"


ขอขอบคุณต้นฉบับ : www.geocities.com/SouthBeach/Terrace/4587/milindl.htm

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น