Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

มิลินทปัญหา ตอนที่ 25

มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 25 : เมณฑกปัญหา วรรคที่ ๔ ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องความเป็นสัพพัญญูของพระพุทธเจ้า, ปัญหาที่ ๕ ถามเรื่องไม่มีที่อยู่ประจำและไม่มีอาลัย, ปัญหาที่ ๖ ถามเรื่องสำรวมท้อง, ปัญหาที่ ๗ ถามเรื่องปกปิดพระธรรมวินัย, ปัญหาที่ ๘ ถามเรื่องความหนักเบาแห่งมุสาวาท, ปัญหาที่ ๙ ถามถึงเรื่องผู้ควรแก่การขอ, วรรคที่ ๕ ปัญหาที่ ๑ ถามถึงอำนาจฤทธิ์และกรรม, ปัญหาที่ ๒ ถามถึงธรรมดาของพระโพธิสัตว์, ปัญหาที่ ๓ ถามถึงเรื่องฆ่าตัวเอง, ปัญหาที่ ๔ ถามเกี่ยวกับอานิสงส์เมตตา

ตอนที่ ๒๕

ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องความเป็นสัพพัญญูของพระพุทธเจ้า


พระเจ้ามิลินท์บรมกษัตริย์ตรัสถามว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า พระพุทธเจ้าเป็นพระสัพพัญญู แต่กล่าวไว้อีกว่า เมื่อพระตถาคตเจ้าทรงขับไล่พระภิกษุสงฆ์ มีพระโมคคัลลาน์พระสารีบุตรเป็นหัวหน้าไม่ให้เข้ามาเฝ้า แล้วพวกกษัตริย์ศากยราชกับท้าวสหัมบดีพรหมได้พร้อมกันเข้าไปเฝ้าทูลขอโทษต่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคำอุปมากับพืชและลูกโค ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อุปมาทั้งสองข้อที่ทำให้สมเด็จพระบรมศาสดาทรงอดโทษนั้น พระตถาคตเจ้าไม่ทรงทราบหรือ ถ้าไม่ทรงทราบจะว่าพระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญูได้อย่างไร ถ้าทรงทราบแต่ทรงพระประสงค์จะทดลองใจของภิกษุเหล่านั้นว่าจะคิดอย่างไรจึงได้ทรงขับไล่ ก็เป็นอันว่า พระตถาคตเจ้าไม่มีพระกรุณา ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ ได้มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ”

พระนาคเสนตอบว่า “ ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าเป็นพระสัพพัญญูจริง แต่ว่าทรงอดโทษด้วยอุปมาทั้งสองข้อนั้น คือเทพยดามนุษย์ทั้งหลายย่อมทำให้พระตถาคตเจ้าผู้เป็นเจ้าของแห่งธรรม ทรงเลื่อมใสได้ด้วยธรรมที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้แล้ว ขอถวายพระพร ภรรยาย่อมให้สามีดีใจด้วยทรัพย์ของสามีที่หามาได้เอง คือเมื่อได้เห็นภรรยานำทรัพย์ที่ตนหามาได้นั้นออกมาให้ดูก็ดีใจฉันใด พวกกษัตริย์ศากยราช กับท้าวสหัมบดีพรหม ก็ได้ทำให้พระตถาคตเจ้าทรงชื่มชมยินดี ด้วยธรรมของพระองค์เองฉันนั้น อีกประการหนึ่ง ช่างกัลบกผู้ตกแต่งพระเกศของพระราชาก็ทำให้พระราชาทรงพอพระทัยด้วยเครื่องประดับของพระราชาเอง ถึงกับได้รับพระราชทานรางวัลฉันใด พวกนั้นก็ได้ทำให้พระตถาคตเจ้าทรงโปรดปรานด้วยธรรมของพระองค์เอง พระตถาคตเจ้าก็ได้ทรงแสดงความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ให้พวกนั้นฟังฉันนั้น อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนสัทธิวิหาริก (ศิษย์) ได้ทำให้อุปัชฌาย์ดีใจด้วยอาหารที่อุปัชฌาย์บิณฑบาตมาได้เอง คือเมื่ออุปัชฌาย์บิณฑบาตได้อาหารมาไว้แล้ว สัทธิวิหาริกก็จัดน้อมเข้าไปถวาย อุปัชฌาย์ก็ดีใจฉะนั้น ขอถวายพระพร ”
“ สาธุ...พระนาคเสน โยมรับว่าถูกต้องดีแล้ว ”

ปัญหาที่ ๕ ถามเรื่องไม่มีที่อยู่ประจำและไม่มีอาลัย

“ ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า “การไม่มีที่อยู่ประจำ ไม่มีความอาลัยในสิ่งใดเป็นความเห็นของมุนี” ดังนี้ แล้วตรัสอีกว่า “บุคคลควรสร้างวิหารให้น่ายินดี ควรให้ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูตรมาอยู่ในวิหารนั้น”
ดังนี้ ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิควรแก้ไขให้สิ้นสงสัย ”

พระนาคเสนตอบว่า “ ขอถวายพระพร สมเด็จพระชินวรเจ้าได้ตรัสคำทั้งสองนั้น ไว้อย่างนั้นจริงๆ คำที่ตรัสว่า “การไม่มีที่อยู่ประจำ ไม่มีความอาลัยในสิ่งใด เป็นความเห็นของมุนีนั้น ” เป็นคำที่ตรัสออกไปด้วยทรงเห็นว่า สิ่งทั้งสองนั้นสมควรแก่สมณะ เพราะสมณะไม่ควรมีที่อยู่ประจำ ไม่ควรอาลัยในสิ่งใด ควรทำตนเหมือนกับเนื้อในป่าฉะนั้น ข้อที่ตรัสไว้ว่า “บุคคลควรสร้างวิหารให้น่ายินดี แล้วให้ภิกษุผู้เป็นพหูสูตรทรงพระไตรปิฎกมาอยู่นั้น ตรัสด้วยทรงเล็งเห็นประโยชน์ ๒ ประการ คือ ประการที่ ๑ ทรงเล็งเห็นว่าวิหารทาน การให้ที่อยู่ที่อาศัยเป็นทานเป็นของที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรรเสริญว่าดี พวกสร้างวิหารให้เป็นทานอาจสำเร็จแก่พระนิพพาน พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย อันนี้เป็นอานิสงส์ในการสร้างวิหารทานเป็นข้อแรก ประการที่ ๒ เมื่อมีวิหารอยู่ ก็จักมีพระภิกษุผู้มีความรู้มาอาศัยอยู่เป็นอันมากใครอยากพบเห็นก็จะพบเห็นได้ง่าย อันนี้เป็นอานิสงส์ในวิหารข้อที่สอง แต่พระภิกษุไม่ควรมีความอาลัยเกี่ยวข้องในที่อยู่ จึงทรงสอน อย่างนั้น ขอถวายพระพร ”
“ ถูกแล้ว พระนาคเสน ”

ปัญหาที่ ๖ ถามเรื่องสำรวมท้อง

“ ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ภิกษุไม่ควรประมาทในอาหารที่ลุกขึ้นยืนรับ ควรเป็นผู้สำรวมท้อง” ดังนี้ แล้วตรัสอีกว่า “ดูก่อนอุทายี บางคราวเราตถาคตได้ฉันอาหารเต็มเสมอขอบปากบาตร บางคราวก็ยิ่งกว่านั้น”
ดังนี้ ถ้าทรงสอนให้สำรวมท้อง คำที่ตรัสว่า “บางคราวเสวยอาหารเต็มเสมอขอบปากบาตรและยิ่งกว่าก็มีนั้น” ก็ผิดไป ถ้าไม่ผิดคำว่า “ควรสำรวมท้อง” ก็ผิดไป ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ ควรแก้ไขให้สิ้นสงสัยเช่นกัน ”

พระนาคเสนตอบว่า “ ขอถวายพระพร คำที่ตรัสไว้ทั้งสองอย่างนั้น เป็นจริงทั้งนั้น ส่วนคำที่ตรัสว่า “ไม่ควรประมาทในอาหารที่ลุกขึ้นยืนรับ ควรเป็นผู้สำรวมท้องนั้น”
เป็นถ้อยคำที่ปรากฏทั่วไปของพระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสัพพัญญูเจ้าทั้งหลาย เพราะเหตุว่าผู้ไม่สำรวมท้องย่อมทำบาปต่างๆ ได้ คือทำปาณาติบาตก็มี ทำอทินนาทานก็มี ทำกาเมสุมิจฉาจารก็มี กล่าวมุสาวาทก็มี ดื่มน้ำเมาก็มี ฆ่ามารดาบิดาก็มี ฆ่าพระอรหันต์ก็มี ทำสงฆ์ให้แตกกันก็มี ทำโลหิตุปบาทก็มี พระเทวทัต ทำสงฆให้แตกกันไม่ใช่เพราะไม่สำรวมท้องหรือ... สมเด็จพระบรมศาสดาทรงเห็นเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ จึงได้ทรงสอนให้สำรวมท้อง ผู้สำรวมท้องย่อมล่วงรู้อริจสัจ ๔ สำเร็จสามัญผล ๔ มีความชำนาญในปฏิสัมภิทา ๔ สมาบัติ ๔ อภิญญา ๖ ทรงไว้ซึ่งสมณธรรมทั้งสิ้น ลูกนกแขกเต้าเป็นผู้สำรวมท้องจึงได้ทำให้สวรรค์ชั้นดาวดึงส์หวั่นไหว ทำให้พระอินทร์เสด็จลงมาหาใช่หรือไม่ สมเด็จพระจอมไตรทรงเห็นอานิสงส์ต่างๆ อย่างนี้ จึงได้ทรงสอนให้สำรวมท้อง ส่วนข้อที่ตรัสว่า “บางคราวได้เสวยอาหารเสมอขอบปากบาตรก็มี ยิ่งกว่าก็มีนั้น” เป็นคำที่พระตถาคตเจ้าผู้สำเร็จกิจทั้งปวงแล้วได้ตรัสไว้ ด้วยมุ่งหมายพระองค์เองเท่านั้น ผู้เป็นโรคเมื่อต้องการหายจากโรค ควรงดเว้นของแสลงฉันใด ผู้ยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่เห็นของจริง ก็ควรสำรวมท้องฉันนั้น อีกอย่างหนึ่ง แก้วมณีที่บริสุทธิ์ผ่องใสอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องขัดสีฉันใด พระพุทธเจ้าผู้สำเร็จพุทธวิสัยแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องห้ามในพุทธจริยาทั้งหลายฉันนั้น ขอถวายพระพร ”
“ ถูกดีแล้ว พระนาคเสน ”

ปัญหาที่ ๗ ถามเรื่องปกปิดพระธรรมวินัย

“ ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จมหามุนีได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า “ธรรมวินัยอันพระตถาคตเจ้าประกาศไว้แล้ว มีผู้เปิดเผยจึงสว่างไสว เมื่อปิดก็ไมีสว่างไสว” แล้วตรัสไว้อีกว่า “พระปาฏิโมกข์และพระวินัยทั้งสิ้น เป็นของอันภิกษุทั้งหลายปกปิดแล้ว” ดังนี้ ถ้าบุคคลได้ความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนา เปิดพระวินัยบัญญัติไว้ จะทำให้งามดี การศึกษา การสำรวมในพระวินัยบัญญัติและศีลคุณ อาจารบัญญัติ อรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส จะปรากฏรุ่งเรืองขึ้น ถ้าคำว่า “เปิดพระธรรมวินัยไว้ จะรุ่งเรืองดี” เป็นคำถูก คำว่า “ให้ปกปิดพระวินัยไว้” เป็นของถูก คำว่า “ให้เปิดพระธรรมวินัยจึงจะรุ่งเรืองดี” ก็เป็นของผิด ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ ควรแก้ไข ”

พระนาคเสนตอบว่า “ ขอถวายพระพร คำทั้งสองนั้น ถูกต้องทั้งนั้น ก็แต่กว่าการปิดนั้น ไม่ได้ปิดทั่วไป ปิดมีเขตแดนต่างหาก คือสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปิดพระปาฏิโมกข์อันมีสีมาเป็นเขตแดน ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ ๑. ปิดตามวงค์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน ๒. ปิดด้วยความเคารพพระธรรม ๓. ปิดด้วยความเคารพภูมิของภิกษุ ๑. ปิดตามวงค์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน คืออย่างไร... คือพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ทรงแสดงพระปาฏิโมกข์ ในท่ามกลางภิกษุทั้งหลาย ปิดเฉพาะพวกนอกจากภิกษุเท่านั้น เหมือนกับขัตติยมายา คือประเพณีของกษัตริย์ทั้งหลาย ย่อมรู้เฉพาะในวงศ์กษัตริย์เท่านั้น ปกปิดพวกอื่นไม่ให้รู้ ๒. ปิดเพราะเคารพพระธรรมนั้น คืออย่างไร...คือพระธรรมเป็นของควรเคารพเป็นของหนัก ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในพระธรรมจึงจะสำเร็จธรรมได้ ถ้าไม่ปกปิดไว้ ผู้ไม่ปฏิบัติชอบในระบอบธรรมวินัย คือพวกคฤหัสถ์ก็จะติเตียนได้ จึงทรงโปรดให้ปกปิดพระปาฏิโมกข์ไว้ ด้วยเคารพพระธรรมว่าอย่าให้พระธรรมอันเป็นแก่นอันประเสริฐนี้ เป็นที่ดูหมิ่นดูแคลนดูถูกติเตียน ของพวกที่ไม่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเลย เปรียบเหมือนจันทร์แดง อันมีแก่นประเสริฐ สมควรแก่ขัตติยกัญญาเท่านั้น ฉะนั้น ๓. ปิดเพราะความเคารพภูมิของภิกษุนั้น คืออย่างไร...คือความเป็นภิกษุเป็นของมีคุณ ชั่งไม่ได้ ประมาณไม่ได้ ตีราคาไม่ได้ ไม่มีสิ่งใดเสมอ เปรียบเหมือนทรัพย์อันประเสริฐอย่างใดอย่างหนึ่ง คือเครื่องนุ่งห่ม เครื่องปู ม้า ช้าง รถ ทอง เงิน ที่ช่างทองตกแต่งดีแล้ว ย่อมสมควรแก่พระราชาทั้งหลายฉันใด คุณธรรม คือการศึกษาเล่าเรียน การสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ย่อมสมควรแก่ภิกษุสงฆ์ฉันนั้น ขอถวายพระพร ”
“ ถูกดีแล้ว พระนาคเสน ”

ปัญหาที่ ๘ ถามเรื่องความหนักเบาแห่งมุสาวาท

“ ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “เป็นปาราชิกเพราะแกล้งกล่าวเท็จ” แต่ตรัสอีกว่า “แกล้งกล่าวเท็จเป็นอาบัติเบา แสดงในสำนักภิกษุองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้” ความ ๒ ข้อนี้ต่างกันอย่างไร เหตุไรข้อหนึ่งจึงเป็นอเตกิจฉา คือแก้ไขไม่ได้ อีกข้อหนึ่งเป็น สเตกิจฉาคือแก้ไขได้ ถ้าที่ตรัสว่า “แกล้งกล่าวเท็จเป็นปาราชิก” ถูกแล้ว คำที่ตรัสว่า “แกล้งกล่าวเท็จเป็นอาบัติเบา” ก็ผิดไป ถ้าที่ตรัสว่า “แกล้งกล่าวเท็จเป็นอาบัติเบา” นั้นถูก ที่ตรัสว่า “แกล้งกล่าวเท็จเป็นปาราชิก” นั้นก็ผิดไป ปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิ ควรแก้ไข ”

พระนาคเสนตอบว่า “ ขอถวายพระพร ข้อที่ตรัสว่า “แกล้งกล่าวเท็จเป็นปาราชิก”
นั้นก็ถูก ที่ตรัสว่า “แกล้งกล่าวเท็จเป็นอาบัติเบา” นั้นก็ถูก เพราะว่าการแกล้งกล่าวเท็จนั้น เป็นของหนักและเบาตามวัตถุ มหาบพิตรจะเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างไร ถ้ามีบุรุษคนหนึ่งตบตีบุรุษอีกคนหนึ่งด้วยมือ พระองค์จะทรงลงโทษแก่ผู้ตบนั้นอย่างไร ? ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าบุรุษนั้นไม่ขอโทษก็จะต้องไหมเขา เป็นเงิน ๑ กหาปณะเป็นอย่างมาก ”
“ ขอถวายพระพร ถ้าบุรุษคนเดียวกันนั้นเอง ตีมหาบพิตรด้วยฝ่ามือ บุรุษนั้นจะได้รับโทษอย่างไร ? ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ต้องให้ตัดมือบุรุษนั้นจนกระทั่งถึงตัดศีรษะ ริบบ้านเรือน ให้ฆ่าเสียถึง ๗ ชั่วตระกูล ”
“ ขอถวายพระพร การตบตีด้วยมืออย่างเดียวกัน เหตุไฉนจึงมีโทษหนักเบากว่ากันล่ะ ? ”
“ อ๋อ...เพราะเป็นเหตุด้วยวัตถุ ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร การแกล้งกล่าวเท็จ ก็มีโทษหนักเบาตามวัตถุขอถวายพระพร ”
“ ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน ”

ปัญหาที่ ๙ ถามถึงเรื่องผู้ควรแก่การขอ

“ ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ได้ตรัสประทานไว้ว่า “เราเป็นพราหมณ์ผู้ควรแก่การขอ ผู้มีมืออันล้างไว้เนืองๆ ผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายสุดท้าย ผู้เยี่ยม” แล้วตรัสอีกว่า “พระพากุละเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นสาวกของเรา ในทางมีอาพาธน้อย” ดังนี้ อาพาธได้เกิดในพระวรกายของพระพุทธเจ้าหลายครั้ง ถ้าพระตถาคตเจ้าเป็นผู้เยี่ยมจริง คำที่ว่า “พระพากุละเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสาวกของเรา ในทางมีอาพาธน้อย” ก็ผิดไป ถ้าพระพากุละเป็นผู้มีอาพาธน้อยจริงคำที่ว่า “พระตถาคตเจ้าเป็นผู้เยี่ยม” ก็ผิดไป ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ สมควรแก้ไขอีก ”

พระนาคเสนตอบว่า “ขอถวายพระพร ข้อที่ตรัสไว้ทั้งสองนั้นถูกทั้งนั้น ข้อที่ตรัสไว้นั้นเป็นความดีภายนอกต่างหาก คือพระสาวกทั้งหลายที่ไม่นอนเลยได้แต่ยืนกับเดินเท่านั้นตลอดวันก็มี ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้ามีทั้งทรงยืน เดิน นั่ง นอน สาวกเหล่านั้น จึงมีการยืนกับการเดินนั้นเป็นคุณพิเศษ พวกสาวกที่นั่งฉันในอาสนะเดียว ถึงจะเสียชีวิตก็ไม่ยอมนั่งฉันในอาสนะที่สองก็มี ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเสวยในอาสนะที่สองก็ได้ พวกนั้นจึงมีการนั่งฉันในอาสนะเดียวนั้นเป็นคุณวิเศษ ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ว่าเป็นผู้เยี่ยมนั้น คือเยี่ยมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ทศพลญาณ เวสารัชชญาณ พุทธธรรม ๑๘ ที่ว่าเป็นผู้เยี่ยมทรงหมายพุทธวิสัยทั้งสิ้น ในหมู่มนุษย์ ผู้หนึ่งมีชาติตระกูลสูง ผู้หนึ่งมีทรัพย์ ผู้หนึ่งมีวิชา ผู้หนึ่งมีศิลปะ ผู้หนึ่งแกล้วกล้า ผู้หนึ่งเฉียบแหลม มีคุณวิเศษต่างๆ กัน แต่พระราชาย่อมสูงสุดกว่าบุรุษเหล่านั้นฉันใด สมเด็จพระจอมไตรก็เป็นผู้ล้ำเสิศประเสริฐสุดกว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายฉันนั้น พระพากุละผู้มีอาพาธน้อย จึงเลิศกว่าผู้อื่นในทางอาพาธน้อยเท่านั้น ไม่ใช่เลิศกว่าผู้อื่นในสิ่งทั้งปวง ขอถวายพระพร ”
“ ถูกแล้วพระนาคเสน โยมรับรองว่าถูกต้องดี ”

อธิบาย

บุพพกรรมที่ทำให้พระพากุละเป็นผู้มีอาพาธน้อยก็เพราะเหตุว่าท่านได้เคยรักษาโรคลมให้แก่พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า ชาติต่อมาท่านก็ได้รักษาโรคไข้ป่าให้แก่พระวิปัสสีทศพล กับช่วยพยาบาลพระภิกษุทั้งหลาย ด้วยอานิสงส์ในการหายามารักษาโรคดังกล่าวแล้วนี้ ท่านจึงได้รับการยกย่องจากพระศาสดาว่าเป็นผู้เลิศในทางมีอาพาธน้อย ตามประวัติของท่านกล่าวว่า ท่านได้ออกบวชเมื่ออายุ ๘๐ ปี แล้วได้สำเร็จพระอรหันต์ในวันที่ ๘ ท่านอยู่จนถึงอายุ ๑๖๐ ปี ในระหว่างนั้นท่านได้ประพฤติธุดงค์ในข้ออยู่ป่าเป็นวัตร และถืออิริยาบทนั่งเป็นวัตร ตั้งแต่บวชไม่เคยจำพรรษาในบ้านเลย ปรากฏว่าท่านไม่มีโรคเบียดเบียนเลย ไม่ต้องทำการรักษาพยาบาลด้วยเภสัช โดยที่สุดผลสมอสักชิ้นเดียวท่านก็ไม่เคยฉัน ดังนี้

จบวรรคที่ ๔

วรรคที่ ๕

ปัญหาที่ ๑ ถามถึงอำนาจฤทธิ์และกรรม


“ ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า “บรรดาภิกษุผู้เป็นสาวกของเรา มหาโมคคัลลาน์เป็นผู้เลิศในทางฤทธิ์” แล้วมีปรากฏว่าพระมหาโมคคัลลาน์นั้นถูกพวกโจรทุบตีจนศีรษะแตก กระดูก เส้นเอ็น สมอง แหลกละเอียด เหมือนกับเมล็ดข้าวสาร แล้วพระมหาโมคคัลลาน์ก็ปรินิพพานด้วยเหตุนั้น ดังนี้ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าพระโมคคัลลาน์เป็นผู้เลิศในทางฤทธิ์จริง ข้อที่ว่า “พวกโจรทุบตีแหลกละเอียดจนปรินิพพาน” นั้นก็ผิด ถ้าข้อที่ว่า “ถูกพวกโจรทุบตีแหลกละเอียดจนปรินิพพาน” นั้นถูก ข้อที่ว่า “พระมหาโมคคัลลาน์เป็นผู้เลิศในทางฤทธิ์” นั้นก็ผิด พระมหาโมคคัลลาน์ไม่สามารถกำจัดพวกโจรอันจักมีแก่ตนด้วยฤทธิ์ได้หรือ...ไม่อาจเป็นที่พึ่งของมนุษย์โลกเทวโลกได้หรือ...ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ ควรแก้ไขให้สิ้นสงสัยเช่นกัน ”

พระนาคเสนชี้แจงว่า “ ขอถวายพระพร ข้อที่ตรัสว่า “พระมหาโมคคัลลาน์เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีฤทธิ์” นั้นก็ถูก ข้อที่ว่า “พระมหาโมคคัลลาน์ถูกโจรทุบตีถึงปรินิพพาน” นั้นก็ถูก แต่ข้อนั้นเป็นด้วยกรรมเข้ายึดถือ ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน สิ่งทั้งสอง คือ วิสัยของผู้มีฤทธิ์ ๑ ผลของกรรม ๑ เป็นอจินไตยใครๆ ไม่ควรคิดไม่ใช่หรือ ? ”
“ ขอถวายพระพร สิ่งที่ไม่ควรคิดทั้งสองอย่างนี้ อย่างหนึ่งมีกำลังมากกว่า ข้อนี้เปรียบเหมือนพระราชากับประชาชน พระราชาองค์เดียวย่อมมีอำนาจครอบประชาชนฉันใด ผลของกรรมอันมีกำลังยิ่งกว่าก็ครอบสิ่งทั้งปวงฉันนั้น กิริยาอย่างอื่นของผู้ที่กรรมเข้ายึดถือแล้วย่อมไม่ได้โอกาส มีบุรุษคนหนึ่งกระทำผิดพระราชอาชญาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมไม่มีใครช่วยได้ มารดาบิดา พี่หญิงพี่ชาย มิตรสหาย ก็ช่วยไม่ได้ พระราชาต้องทรงลงโทษแก่ผู้นั้น ตามความผิดของเขาฉันใด ผลของกรรมก็มีกำลังแรงกว่าฤทธิ์ ย่อมครอบงำฤทธิ์ได้ฉันนั้น อีกประการหนึ่ง เมื่อไฟไหม้ป่าลุกลามมาใหญ่ ถึงจะตักน้ำไปดับตั้งพันโอ่ง ก็ไม่อาจดับได้ สู้ไฟป่านั้นไม่ได้ เพราะไฟป่ามีกำลังมากกว่าฉันใด ผลของกรรมก็มีกำลังมากกว่าฤทธิ์ ครอบงำฤทธิ์ได้ฉันนั้น เพราะฉะนั้นแหละ มหาบพิตร พระมหาโมคคัลลาน์ผู้ที่กรรมเข้ายึดถือแล้ว จึงถูกพวกโจรทุบตี ไม่สามารถต้านทานได้ด้วยฤทธิ์ ”
“ สาธุ...พระนาคเสน โยมรับว่าถูกต้องดีแล้ว ”

ปัญหาที่ ๒ ถามถึงธรรมดาของพระโพธิสัตว์

“ ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสไว้ในธัมมตาปริยายว่า “มารดาบิดาของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในปางก่อนย่อมเป็นนิตตะ คือแน่นอน การตรัสรู้ก็แน่นอน อัครสาวกทั้งสองก็แน่นอน พระโอรสก็แน่นอน อุปัฏฐากก็แน่นอน” ดังนี้ แต่มีกล่าวอีกว่า พระโพธิสัตว์ผู้ยังประทับอยู่ในดุสิตสวรรค์ได้เล็งดูมหาวิโลกนะ ๘ คือเล็งดูกาลเวลา ๑ เล็งดูทวีป ๑ เล็งดูประเทศ ๑ เล็งดูพระชนนี ๑ ตระกูล ๑ อายุ ๑ เดือน ๑ การเสด็จออกบรรพชา ๑ ดังนี้ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เมื่อญาณยังไม่แก่กล้าการตรัสรู้ย่อมไม่มี เมื่อญาณแก่กล้าแล้ว ไม่อาจรอเวลาพิจารณาได้ เหตุไรพระโพธิสัตว์จึงเล็งดูเวลาว่า เป็นเวลาที่เราสมควรจะลงไปเกิดในมนุษย์หรือไม่... ข้าแต่พระนาคเสน ถ้ามารดาบิดาของพระโพธิสัตว์แน่นอนแล้ว ข้อที่ว่า “เล็งดูตระกูลบิดามารดานั้น” ก็ผิด ถ้าข้อที่ว่า “เล็งดูตระกูลบิดามารดานั้น” ถูก ข้อที่ว่า “มารดาบิดาของพระโพธิสัตว์แน่นอนนั้น” ก็ผิด ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าควรแก้ไข ”

พระนาคเสนวิสัชนาว่า “ ขอถวายพระพร มารดาบิดาของพระโพธิสัตว์เป็นของแน่นอนนั้นก็จริง พระโพธิสัตว์เล็งดูตระกูลมารดาบิดานั้นก็จริง การเล็งดูตระกูลของมารดาบิดานั้นเล็งดูอย่างไร...คือเล็งดูว่ามารดาบิดาของเราเป็นกษัตริย์หรือพราหมณ์ ผู้ที่เล็งดูมี ๘ จำพวก สิ่งที่เป็นอนาคตแต่ควรเล็งดูก่อนนั้นมีอยู่ ๘ อย่าง คือ ๑. พ่อค้า ต้องเล็งดูสินค้าก่อน ๒. ช้าง ต้องคลำหนทางด้วยงวงก่อน ๓. พ่อค้าเกวียน ต้องพิจารณาดูท่าข้ามก่อน ๔. ต้นหน คือนายท้ายสำเภา ต้องพิจารณาดูฝั่งเสียก่อน ๕. แพทย์ ต้องตรวจดูอายุก่อน จึงเข้าใกล้คนไข้ ๖. ผู้จะข้ามสะพาน ต้องดูว่าสะพานมั่นคงหรือไม่เสียก่อน ๗. พระภิกษุ ต้องพิจารณาเสียก่อนจึงฉัน ๘. พระโพธิสัตว์ชาติสุดท้าย ต้องพิจารณาดูตระกูลเสียก่อน ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
“ สาธุ...พระนาคเสน โยมรับว่าถูกต้อง ”

ปัญหาที่ ๓ ถามถึงเรื่องฆ่าตัวเอง

“ ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเสจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ภิกษุไม่ควรทำตนให้ตกไป (คือไม่ควรทำลายชีวิตตนเอง) ภิกษุใดทำตนให้ตกไป ต้องปรับอาบัติภิกษุนั้น ตามสมควรแก่เหตุการณ์” แต่พระผู้เป็นเจ้าได้กล่าวไว้อีกว่า เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายไม่ว่าในที่ใดๆ ย่อมทรงแสดงเพื่อตัดการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้ขาดไป ผู้ใดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตายได้ ก็ทรงสรรเสริญผู้นั้นด้วยวาจาสรรเสริญอย่างเยี่ยม ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามไม่ให้ภิกษุทำลายตนเองนั้นถูก ข้อที่ได้ทรงแสดงธรรมเพื่อให้ตัดขาดซึ่งเกิดแก่ เจ็บ ตาย ก็ผิด ถ้าการทรงแสดงธรรม เพื่อตัดการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้ขาดนั้นเป็นของถูก ข้อที่ห้ามไม่ให้ทำลายตัวเองก็ผิด ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ ควรแก้ไขให้สิ้นสงสัยต่อไป ”

พระนาคเสนตอบว่า “ ขอถวายพระพร ข้อที่ตรัสห้ามไม่ให้ภิกษุทำลายตัวเองนั้นก็ถูก ข้อที่ทรงแสดงธรรมเพื่อให้ตัดการเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้นให้ขาดก็ถูก แต่ในข้อนั้น ย่อมมีเหตุการณ์ที่ให้ทรงห้ามและทรงชักนำ ขอถวายพระพร ผู้มีศีล ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมเป็นผู้ทำกิเลสให้พินาศ เหมือนกับยาดับพิษงู ย่อมดับพิษร้าย คือกิเลสของสัตว์ทั้งหลายเหมือนกับยาทั่วไป ย่อมกำจัดเหงื่อไคล คือกิเลสของสัตว์ทั้งหลายเหมือนกับน้ำ ย่อมให้ได้สมบัติอันประเสริฐทั้งปวงเหมือนกับแก้วมณีโชติ ย่อมทำให้ข้ามแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๔ เหมือนกับเรือ ย่อมพาข้ามที่กันดาร คือการเกิดเหมือนกับนายเกวียน ย่อมดับไฟ ๓ กองของสัตว์ทั้งหลายเหมือนกับลม ย่อมทำให้ความปรารถนาของสัตว์ทั้งหลายเต็มบริบูรณ์เหมือนกับฝนห่าใหญ่ที่ตกลงมา ย่อมให้สัตว์ทั้งหลายศึกษาสิ่งที่เป็นกุศลเหมือนอาจารย์ ย่อมบอกทางปลอดภัยให้แก่สัตว์ทั้งหลายเหมือนกับผู้บอกทิศบอกทาง สมเด็จพระพิชิตมารผู้มีพระคุณมาก มีพระคุณเป็นเอนก มีพระคุณหาประมาณมิได้ เต็มไปด้วยกองพระคุณ เป็นผู้ทำความเจริญให้แก่สัตว์ทั้งหลายอย่างนี้ จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามไม่ให้ทำลายตัวเอง ด้วยทรงพระมหากรุณาว่าอย่าให้ผู้มีศีลพินาศไป พระกุมารกัสสปเถระผู้แสดงธรรมได้อย่างวิจิตร เมื่อจะแสดงโลกหน้าถวายแก่พระเจ้าปายาสิ ได้กล่าวไว้ว่า “สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีศีลธรรมอันงาม อยู่ในโลกนี้ตลอดกาลนาน ด้วยอาการใดๆ ก็ตาม ก็มีแต่ปฏิบัติเพื่อให้เป็นประโยชน์สุขแก่สัตวโลกทั้งหลาย ด้วยอาการนั้นๆ” แต่เพราะเหตุไร สมเด็จพระจอมไตรจึงทรงแสดงว่า “ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย โศกเศร้ารำพัน ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ คับแค้นใจเป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การตายของมารดาบิดา พี่น้อง บุตร ธิดา ญาติ ก็เป็นทุกข์ ความเสื่อมญาติ ความเกิดโรค ความเสียทรัพย์ ความเสียศีล ความเสียทิฏฐิ ราชภัย โจรภัย เวรภัย ทุพภิกขภัย อัคคีภัย อุทกภัย อุมมิภัยคือลูกคลื่น กุมภิรภัยคือจระเข้ อาวัฏฏภัยคือน้ำวน สุสุกาภัย ปลาร้าย อัตตานุวาทภัย ติเตียนตนเอง ปรานุวาทภัย ถูกผู้อื่นติเตียน อสิโลกภัย เสื่อมลาภ ปริสารัชชภัย ครั่นคร้ามในที่ประชุม ทัณฑภัย ถูกราชทัณฑ์ ทุคคติภัย ทุคติ อาชีวิตภัย หาเลี้ยงชีพ มรณภัย ถึงซึ่งความตาย เหล่านี้ทั้งสิ้น เป็นทุกข์ทั้งนั้น การถูกตัดมือ ตัดเท้า ตัดหู ตัดจมูก ตัดปาก การถูกถลกหนังศีรษะ แล้วเอาก้อนเหล็กแดงวางลงไป การถลกหนังทั้งตัวแล้วขัดด้วยหินหยาบๆ ให้ขาวเหมือนสังข์ การทำปากราหู คือเอาขอเหล็กงัดปากขึ้นแล้วจุดประทีปทิ้งเข้าไปในปากให้ไฟลุกโพลงอยู่ในปาก การทำเปลวไฟให้สว่าง คือผ้าขี้ริ้วชุบน้ำมัน พันตลอดตัวแล้วจุดไฟ การจุดนิ้วมือต่างประทีป คือเอาผ้าชุบน้ำมันพันนิ้วมือ แล้วจุดให้เหมือนประทีป การให้นุ่งผ้าแกะ คือถลกหนังตั้งแต่คอลงไปจนถึงข้อเท้า แล้วไล่ให้วิ่ง ให้วิ่งเหยียบหนังของตัวเองไป การใหนุ้งผ้าเปลือกปอ คือถลกหนังตั้งแต่ศีรษะลงไปพักไว้ที่สะเอวตอนหนึ่งถลกจากสะเอวไปถึงข้อเท้าตอนหนึ่ง ทำให้เป็นเหมือนท่อนล่างนุ่งผ้าเปลือกปอ การทำให้ยืนแบบแพะ คือให้คุกเข่าคุกศอกลงบนหลาวเหล็ก แล้วเสียบปักไว้กับพื้นดิน การตกเบ็ด คือเอาเบ็ดเกี่ยวเนื้อตัวดึงให้หนัง เนื้อ เอ็น ขาดออกไปทีละชิ้นๆ การทำให้เป็นรูปเงิน คือเอามีดคมๆ เชือดเนื้อออกไปทีละก้อนๆ เท่ากับรูปเงินกลมๆ การรดด้วยน้ำแสบ คือฟันแทงให้ทั่วตัวแล้วเอาน้ำแสบน้ำเค็มรดราดลงไป จนกระทั่งหนัง เนื้อ เอ็น หลุดออกไปเหลือแต่กระดูก การตอกลิ่ม คือให้นอนตะแคงลง แล้วเอาหลาวเหล็กแทงช่องหูข้างบน ให้ทะลุลงไปปักแน่นอยู่กับพื้นดินข้างล่าง แล้วจับเท้าหมุนเวียนไปรอบๆ การทำให้เหมือนมัดฟาง คือเชือดผิวหนังออกจนหมด ทุบกระดูกให้แตกด้วยก้อนหินแล้วจับที่ผมดึงขึ้น ผูกผมไว้ให้เหมือนกับมัดฟาง การเอาน้ำมันเดือดๆ เทรดตัว การให้สุนัขกัดกิน การปักไว้บนหลาว เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นทุกข์ใหญ่ทั้งนั้น สัตวโลกทั้งหลายย่อมได้รับทุกข์ต่างๆ อย่างที่ว่ามานี้ เมื่อฝนตกลงที่ภูเขาหิมพานต์ ก็มีน้ำไหลหลั่งไปสู่แม่น้ำ พัดเอาหิน กรวด ไม้แห้ง กิ่งไม้ รากไม้ น้อยใหญ่ในป่า ให้ไหลไปฉันใด ทุกข์ต่างๆ เป็นอันมากอย่างที่กล่าวมานี้ ก็ไหลไปตามกระแสน้ำ คือสงสารฉันนั้น การเวียนตายเวียนเกิดเป็นทุกข์ การไม่เวียนตายเวียนเกิดเป็นสุข เมื่อสมเด็จพระบรมสุคตจะทรงแสดงคุณการไม่เวียนตายเวียนเกิดและทรงแสดงโทษแห่งการเวียนตายเวียนเกิดจึงได้ทรงแสดงทุกข์ต่างๆ ไว้เป็นอันมากเพื่อให้สำเร็จการไม่เวียนตายเวียนเกิด เพื่อให้พ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตายไป อันนี้แหละ เป็นเหตุการณ์ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงทุกข์ไว้ต่างๆ ขอถวายพระพร ”
“ สาธุ...พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้แก้ปัญหาข้อนี้ถูกต้องดีแล้ว ”

ปัญหาที่ ๔ ถามเกี่ยวกับอานิสงส์เมตตา

“ ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “เมตตาเจโตวิมุตติ”
คือความหลุดพ้นแห่งจิตด้วยเมตตา อันบุคคลอบรมแล้ว ทำให้มีแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เหมือนยานพาหนะแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ตั้งไว้เนืองๆ แล้ว สะสมไว้ดีแล้ว อบรมไว้แก่กล้าแล้ว ย่อมหวังได้อานิสงส์ ๑๑ ประการคือ ๑. นอนหลับสบาย ๒. เวลาตื่นก็สบาย ๓. ไม่ฝันลามก ๔. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย ๕. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย ๖. เทวดาทั้งหลายรักษา ๗. ไฟไม่ไหม้ ไม่ถูกพิษและอาวุธ ๘. หน้าตาเบิกบาน ใจมั่นคง ๙. สีหน้าผ่องใส ๑๐. ไม่หลงใหลในเวลาตาย ๑๑. เมื่อยังไม่สำเร็จอรหันต์ ก็ได้เกิดในพรหมโลก แล้วมีเรื่องกล่าวไว้อีกว่าสุวรรณสาม ผู้อยู่ในเมตตา ผู้มีหมู่เนื้อเป็นบริวารอยู่ในป่าใหญ่ ถูกพระยาปิลยักษ์ยิงด้วยลูกศรอันอาบด้วยยาพิษ ล้มสลบอยู่ในที่นั้นทันที ดังนี้ ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอานิสงส์เมตตามีอยู่อย่างนั้นจริง เรื่องที่ว่าสุวรรณสามถูกลูกศรพระยาปิลยักษ์นั้นก็ผิด ถ้าเรื่องที่ว่าสุวรรณสามถูกศรพระยาปิลยักษ์นั้นถูก ข้อที่ว่าถึงอานิสงส์เมตตานั้นก็ผิด ปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิ เป็นปัญหาละเอียดลึกซึ้ง ขอได้โปรดแก้ให้สิ้นสงสัยแก่บุคคลในภายหน้าด้วย ”

พระนาคเสนแก้ไขว่า “ ขอถวายพระพร ข้อที่ว่า ด้วยอานิสงส์เมตตานั้นก็ถูก ที่ว่าสุวรรณสามถูกลูกศรพระยาปิลยักษ์นั้นก็ถูก แต่ว่าในข้อนั้นมีเหตุการณ์อยู่ เหตุการณ์นั้นคืออะไร...คือคุณอานิสงส์เหล่านั้นไม่ใช่คุณอานิสงส์ของบุคคล เป็นคุณอานิสงส์แห่งเมตตาภาวนาต่างหาก เมื่อสุวรรณสามยกหม้อน้ำขึ้นบ่านั้น เผลอไปไม่ได้เจริญเมตตา คือในขณะใดบุคคลเจริญเมตตาอยู่ ในขณะนั้นไฟก็ไม่ไหม้ ยาพิษก็ไม่ถูก อาวุธก็แคล้วคลาด ผู้มุ่งทำร้ายก็ไม่ได้โอกาส จึงว่าคุณเหล่านั้น เป็นคุณแห่งเมตตาภาวนา ไม่ใช่คุณแห่งบุคคล ขอจงทรงทราบด้วยอุปมาดังนี้ เปรียบประดุจบุรุษผู้แกล้วกล้า สวมเกราะแน่นหนาดีแล้วย่อมเข้าสู่สงคราม เมื่อบุรุษย่างเข้าสู่สงคราม ลูกศรที่ข้าศึกยิงมาถึงถูกก็ไม่เข้า การที่ลูกศรถูกไม่เข้านั้น ไม่ใช่คุณความดีของผู้แกล้วกล้าในสงคราม เป็นคุณความดีของเกราะต่างหาก ข้อนี้มีอุปมาฉันใด อานิสงส์ ๑๑ อย่างนั้นก็ไม่ใช่คุณความดีของบุคคล เป็นคุณความดีของเมตตาภาวนาต่างหากฉันนั้น อีกประการหนึ่ง เหมือนกับบุรุษมีรากยาทิพย์หายตัวยังอยู่ในมือตราบใด ก็ไม่มีใครเห็นตราบนั้น การไม่มีผู้เห็นนั้นไม่ใช่เป็นความดีของบุรุษนั้น เป็นความดีของรากยานั้นต่างหาก ”
“ น่าอัศจรรย์ ! พระนาคเสน เป็นอันว่าเมตตาภาวนาป้องกันสิ่งชั่วร้ายทั้งปวงได้ ”
“ ขอถวายพระพร เมตตาภาวนาย่อมนำคุณความดีทั้งสิ้นมาให้แก่บุคคลทั้งหลาย ผู้ที่ต้องการอานิสงส์เมตตา ควรเจริญเมตตา ขอถวายพระพร ”


ขอขอบคุณต้นฉบับ : www.geocities.com/SouthBeach/Terrace/4587/milindl.htm

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น