Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

มิลินทปัญหา ตอนที่ 29

มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 29 : เมณฑกปัญหา วรรคที่ ๘ ปัญหาที่ ๑ ถามถึงความตายแห่งยักษ์, ปัญหาที่ ๒ ถามเรื่องไม่ทรงบัญญัติสิกขาบท, ปัญหาที่ ๓ ถามถึงมลทินแห่งดวงอาทิตย์, ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องความร้อนแห่งดวงอาทิตย์, ปัญหาที่ ๕ ถามถึงเรื่องทานของพระเวสสันดร

ตอนที่ ๒๙

วรรคที่ ๘

ปัญหาที่ ๑ ถามถึงความตายแห่งยักษ์


“ ข้าแต่พระนาคเสน ยักษ์มีอยู่ในโลกหรือ ? ”
“ ขอถวายพระพร มี ”
"ยักษ์จุติจากกำเนิดของยักษ์ไหม ? ”
“ ขอถวายพระพร จุติ ”
“ แต่เหตุไร เวลายักษ์ตายจึงไม่เห็นซากศพไม่ได้กลิ่นซากศพ? ”
“ ขอถวายพระพร ซากศพของยักษ์ที่ตายไปแล้วมีอยู่ แต่กลิ่นซากศพถูกลมพัดไปเสีย ด้วยว่าเวลายักษ์ตายแล้วนั้น ปรากฏว่าเป็นตั้กแตนก็มี เป็นหนอนก็มี เป็นมดก็มี เป็นยุงก็มี เป็นงูก็มี เป็นแมงป่องก็มี เป็นตะขาบก็มี เป็นสัตว์เกิดจากฟองไข่ก็มี เป็นเนื้อป่าสัตว์ป่าก็มี”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ผู้อื่นนอกจากผู้มีความรู้อย่างพระผู้เป็นเจ้า ย่อมแก้ปัญหาข้อนี้ไม่ได้ ”

ปัญหาที่ ๒ ถามเรื่องไม่ทรงบัญญัติสิกขาบท

“ ข้าแต่พระนาคเสน พวกอาจารย์ของพวกแพทย์ปางก่อนมีอยู่ เช่น นารทะ ๑ ธัมมันตริกะ ๑ อังคีรสะ ๑ กปิละ ๑ กัณฑรัตติกามะ ๑ อตุละ ๑ บุพพกัจจายตนะ ๑ อาจารย์เหล่านั้นทั้งสิ้น รู้จักความเกิดขึ้นแห่งโรค ต้นเหตุแห่งโรค แดนเกิดแห่งโรค สมุฏฐานแห่งโรค กิริยาอาการแห่งโรค การรักษาโรค รักษาหายและไม่หายได้โดยเร็วพลันว่า ในร่างกายจักมีโรคเกิดขึ้นเท่านี้ รู้ได้อย่างรวดเร็วเหมือนกับจับกลุ่มด้ายแล้วม้วนไปตามลำดับฉะนั้น อาจารย์เหล่านั้นทั้งสิ้นไม่ใช่พระสัพพัญญู ส่วนสมเด็จพระบรมครูเจ้าเป็นพระสัพพัญญูทรงรู้อนาคตได้สิ้นว่า ในเรื่องนั้นจะต้องบัญญัติสิกขาบทเท่านั้น แต่เหตุใดจึงไม่ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ให้สิ้นเชิงทีเดียว ต่อเมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้ว มีพวกมนุษย์ติเตียนแล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ? ”

พระนาคเสนตอบว่า “ ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าทรงทราบแล้วว่า ในสมัยนี้เมื่อมนุษย์เหล่านี้ติเตียนเราจักต้องบัญญัติสิกขาบท ๑๕๐ สิกขาบทกว่าๆ แต่ว่าพระตถาคตเจ้าทรงเล็งเห็นว่าถ้าเราจักบัญญัติสิกขาบทไว้ให้ครบทีเดียวมหาชนก็จักร้อนใจว่า ในศาสนานี้มีสิ่งที่จะต้องรักษาอยู่มาก เป็นการยากที่จะบรรพชาในศาสนาของพระสมณโคดม ถึงพวกอยากบรรพชาก็จักไม่บรรพชา ทั้งจักไม่มีผู้เชื่อฟังถ้อยคำของเรา พวกที่ไม่เชื่อฟังถ้อยคำของเราก็จักไปเกิดในอบาย เมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้ว มีความเสียหายปรากฏขึ้นแล้ว เราจึงบัญญัติสิกขาบท องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นอย่างนี้ จึงไม่ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ล่วงหน้าทีเดียว ขอถวายพระพร ”
“ อย่างนั้น พระนาคเสน เป็นอันพระตถาคตเจ้าทรงเล็งเห็นเรื่องนี้ได้ดีแล้ว ถ้ามีผู้ได้ยินได้ฟังว่า มีสิ่งที่จะต้องรักษาในพระพุทธศาสนาอยู่มาก ก็จักสะดุ้งกลัว จักไม่มีผู้บรรพชาโยมยอมรับว่าถูกต้อง อย่างที่พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนา ”

ปัญหาที่ ๓ ถามถึงมลทินแห่งดวงอาทิตย์

“ ข้าแต่พระนาคเสน ดวงอาทิตย์นี้แผ่รัศมีแรงกล้าอยู่เป็นนิจ หรือว่าบางเวลาก็อ่อนไป ? ”
“ ขอถวายพระพร ดวงอาทิตย์นี้แผ่รัศมีแรงกล้าอยู่ทุกเวลา”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าดวงอาทิตย์นี้แผ่รัศมีแรงกล้าอยู่ทุกเวลา เหตุไรบางเวลาจึงร้อนน้อย บางเวลาจึงร้อนมาก ? ”
“ ขอถวายพระพร เหตุว่าดวงอาทิตย์ถูกโรค ๔ อย่าง ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งบีบคั้นจึงร้อนน้อยไป โรค ๔ อย่างนั้น ได้แก่ หมอก ๑ ควัน ๑ เมฆ ๑ ราหู ๑ ”
“ น่าอัศจรรย์ ! พระนาคเสน ถึงดวงอาทิตย์อันมีเดชกล้าก็ยังมีโรค ไม่ต้องพูดถึงสัตว์เหล่าอื่น การจำแนกปัญหานี้ ผู้อื่นนอกจากผู้มีความรู้ดังพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ไม่อาจจำแนกได้ ”

ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องความร้อนแห่งดวงอาทิตย์

“ ข้าแต่พระนาคเสน เหตุไฉนดวงอาทิตย์จึงต้องแผ่รัศมีแร้งกล้าในฤดูหนาว ส่วนในฤดูร้อนไม่แผ่รัศมีแรงกล้า ? ”
“ ขอถวายพระพร เพราะในฤดูร้อนมีผงธุลีน้อย มีฝุ่นละอองในท้องฟ้าน้อย มีหมอกหนา มีลมแรงกล้า สิ่งเหล่านี้ปิดรัศมีแห่งดวงอาทิตย์ไว้ เพราะฉะนั้น ในฤดูร้อนดวงอาทิตย์จึงแผดแสงน้อยไป ส่วนในฤดูหนาว เบื้องต่ำแผ่นดินเย็นเบื้องบนมีเมฆใหญ่ตั้งขึ้น มีผงธุลีมาก ส่วนละอองสงบนิ่งอยู่ไม่เที่ยวไปในท้องฟ้า ท้องฟ้าปราศจากมลทิน ลมบนอากาศพัดอ่อนๆ เมื่อเป็นอย่างนั้น ดวงอาทิตย์ก็บริสุทธิ์ รัศมีแห่งดวงอาทิตย์ก็แรงกล้า เพราะพ้นจากเครื่องขัดขวาง ส่วนที่ประกอบเครื่องขัดขวางมีเมฆ เป็นต้น ย่อมทำให้รัศมีแห่งดวงอาทิตย์ไม่แรงกล้า ด้วยเหตุนี้แหละดวงอาทิตย์จึงเปล่งรัศมีแรงกล้าในฤดูหนาว ไม่เปล่งรัศมีแรงกล้าในฤดูร้อน ขอถวายพระพร ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน เป็นอันว่า ดวงอาทิตย์พ้นจากเครื่องกีดขวางทั้งหลาย จึงแผ่รัศมีแรงกล้า ถ้าประกอบด้วยเมฆ เป็นต้น ก็ไม่แผ่รัศมีแรงกล้า”

ปัญหาที่ ๕ ถามถึงเรื่องทานของพระเวสสันดร

“ ข้าแต่พระนาคเสน พระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมให้บุตรภรรยาเป็นทานเหมือนกันหมดหรือ หรือให้เฉพาะพระเวสสันดรเท่านั้น ? ”
“ ขอถวายพระพร เหมือนกันหมด ไม่เฉพาะแต่พระเวสสันดร”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ให้ทานบุตรภรรยาเหมือนกันหมด ก็ขอถามว่าให้ด้วยความยินยอมของบุตรภรรยาเหล่านั้นหรือไม่? ”
“ ขอถวายพระพร สำหรับภรรยายินยอมแต่ทว่าบุตรนั้นที่ยังเป็นทารกอยู่ก็ร้องไห้เพราะยังไม่รู้จักอะไร ถ้ารู้จักความดีแล้วก็ยินดีตาม ไม่ร้องไห้รำพันเช่นนั้น ”

คำถามที่กระทำได้อยาก ๗ ข้อ

พระเจ้ามิลินท์ตรัสต่อไปว่า “ ข้าแต่ถพระนาคเสน การที่พระโพธิสัตว์ได้ให้บุตรอันเป็นที่รักของตน เพื่อไปเป็นทาสของพราหมณ์ เป็นของกระทำได้ยากข้อที่ ๑ การที่พระโพธิสัตว์ได้เห็นพราหมณ์ผูกมัดพระเจ้าลูกทั้งสอง ด้วยเครือไม้แล้วเฆี่ยนตีไป แต่ทรงเฉยอยู่ได้นั้น เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากข้อที่ ๒ การที่พระโพธิสัตว์ได้ยกพระเจ้าลูกทั้งสองที่สลัดเครื่องผูกให้หลุดออก แล้ววิ่งกลับไปหาพระองค์อีกนั้น พระองค์ได้ทรงอนุญาตให้พราหมณ์ผูกมัดไปด้วยเครือไม้อีก เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากข้อที่ ๓ การที่พระโพธิสัตว์ทรงได้ยินเสียงพระเจ้าลูกทั้งสองร่ำร้องไห้ว่า “พราหมณ์นี้เป็นยักษ์จะนำหม่อนฉันทั้งสองไปกินเสีย” ก็ทรงเฉยอยู่ไม่ทรงปลอบโยนว่า “อย่ากลัวเลยลูกเอ๋ย!” อันนี้เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากข้อที่ ๔ การที่พระชาลีกุมาร ได้หมอบกราบลงร้องไห้คร่ำครวญอยู่ที่พระบาทว่า “ขอให้พระน้องนางกัณหากลับมาอยู่กับพระองค์เถิด หม่อมฉันผู้เดียวจะไปกับยักษ์ ยักษ์จะกินหรืออย่างไรก็ช่าง” แต่พระเวสสันดรไม่ทรงรับคำอ้อนวอนอันนี้ ข้อนี้เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากข้อที่ ๕ เมื่อพระชาลีกุมารร้องไห้คร่ำครวญว่า “ข้าแต่พระบิดา พระหทัยของพระองค์ช่างแข็งกระด้างดังแผ่นศิลา เมื่อข้าพระองค์ทั้งสองกำลังได้ทุกข์ พระองค์ยังเพิกเฉยอยู่ได้ พระองค์ไม่ทรงห้ามยักษ์ ที่จักนำหม่อนฉันทั้งสองไปในป่าใหญ่ อันไม่มีมนุษย์นี้เลย” ดังนี้ พระเวสสันดรก็ไม่ทรงกรุณา อันนี้เป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก ข้อที่ ๖ เมื่อพระเจ้าลูกทั้งสองร้องไห้ด้วยเสียงอันน่าสยดสยอง จนลับคลองพระเนตรไป แต่พระหฤทัยของพระเวสสันดร ซึ่งควรจะแตกออกเป็นร้อยเสี่ยง พันเสี่ยง ก็ไม่แตกข้อนี้ก็เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากข้อที่ ๗ พระเวสสันดรผู้มุ่งบุญ เหตุใดจึงทำทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ควรที่พระเวสสันดรจะให้ทานตัวเองไม่ใช่หรือ ? ”

พระนาคเสนเฉลยว่า “ ขอถวายพระพร เพราะเหตุที่พระเวสสันดร ได้กระทำสิ่งที่ทำได้ยาก จึงมีเสียงสรรเสริญทั่วหมื่นโลกธาตุ เหล่าเทพยเจ้า อสูร ครุฑ นาค พระอินทร์ ยักษ์ ต่างก็สรรเสริญ อยู่ในที่อยู่ของตนๆ กลองทิพย์ก็บันลือขึ้นเอง จนกระทั่งทุกวันนี้ยังมีผู้คิดกันอยู่ว่าทานของพระเวสสันดรนั้นดีหรือไม่ดี กิตติศัพท์อันนั้นย่อมแสดงให้เห็นคุณ ๑๐ ประการของพระโพธิสัตว์ ผู้มีสติปัญญาละเอียด ผู้รู้แจ้งเห็นแจ้งคุณ ๑๐ ประการนั้น

คุณ ๑๐ ประการของพระโพธิสัตว์

๑. ความไม่ติดอยู่ในของรักของชอบใจ
๒. ความไม่อาลัยเกี่ยวข้อง
๓. ความสละ
๔. ความปล่อย
๕. ความไม่หวนคิดกลับกลอก
๖. ความละเอียด
๗. ความเป็นของใหญ่
๘. ความเป็นของรู้ตามได้ยาก
๙. ความเป็นของได้ยาก
๑๐. ความเป็นของไม่มีใครเสมอ ”

“ ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลเหล่าใด ทำผู้อื่นให้เป็นทุกข์ด้วยการให้ทาน ทานของบุคคลเหล่านั้นจะให้ผลเป็นสุข จะทำให้ไปเกิดในสวรรค์ได้มีอยู่หรือ? ”
“ มีอยู่ มหาบพิตร ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ขอจงแสดงเหตุการณ์เปรียบเทียบ”
“ ขอถวายพระพร ถ้ามีสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีศีลธรรมอันดี เป็นโรคมีร่างกายตายไปแถบหนึ่ง หรือเป็นโรคง่อยเปลี้ยหรือเป็นโรคอย่างใดอย่างหนึ่งเดินไม่ได้ มีผู้อยากได้บุญคนใดคนหนึ่ง ยกสมณพราหมณ์นั้นขึ้นสู่ยานพาหนะ นำไปส่งให้ถึงที่ประสงค์ บุคคลผู้นั้นจะได้ผลเป็นสุข ได้ไปเกิดในสวรรค์หรือไม่ ? ”
“ ได้ไปเกิดทีเดียว พระผู้เป็นเจ้า อย่าว่าแต่ยานทิพย์เลย ถึงผู้นั้นจะเกิดในที่ใด ก็จะได้ยานพาหนะสมควรแก่ที่นั้นๆ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็ได้ยานช้าง ยานม้า ยานรถ ยานทางบก ยานทางน้ำ เมื่อเกิดในสวรรค์ก็ได้ยานทิพย์ ความสุขจักต้องเกิดแก่เขาตามสมควรแก่ชาติกำเนิด ชาติสุดท้ายเขาก็จักได้ขึ้นยานฤทธิ์ ไปถึงเมืองนิพพานเป็นแน่ ”

“ ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นทานที่ให้ด้วยทำให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นก็มีผลเป็นสุข ทำให้เกิดในสวรรค์ได้ พระเวสสันดรทำให้พระเจ้าลูกทั้งสองต้องเป็นทุกข์ ด้วยการถูกผูกมัดด้วยเถาวัลย์ ก็จะได้เสวยสุขเหมือนอย่างนั้น แต่ขอมหาบพิตรจงทรงสดับเหตุให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก เพื่อให้เห็นว่าการให้ทานด้วยการทำทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ก็มีผลเป็นสุข ทำให้เกิดในสวรรค์ได้ คือ พระราชาที่ให้เก็บพลีกรรม (ส่วย) โดยชอบธรรม มาทรงบริจาคทานตามอำนาจนั้นมีอยู่ พระราชานั้นจะได้ความสุข อันเกิดจากการทรงให้ทานนั้นบ้างหรือ ทานนั้นจักทำให้ไปเกิดในสวรรค์ได้หรือไม่ ? ”
“ ได้ พระผู้เป็นเจ้า พระราชานั้นจักต้องได้รับผลแห่งทานนั้นหลายแสนเท่า จักได้เกิดเป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชา จักได้เกิดเป็นเทวดายิ่งกว่าเทวดา เกิดเป็นพรหมยิ่งกว่าพรหม เกิดเป็นพราหมณ์ยิ่งกว่าพราหมณ์ เกิดเป็นพระอรหัตย์ยิ่งกว่าพระอรหันต์เป็นแน่ ”
“ ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นทานที่ให้ด้วยการทำให้ผู้อื่นเป็นทุกข์ ก็ต้องมีผลเป็นสุขต้องให้เกิดในสวรรค์ได้ เพราะพระราชาทรงบีบคั้นประชาชนมาให้ทาน ยังได้เสวยยศและสุขอย่างนั้นได้ ”

อติทาน

พระเจ้ามิลินท์ตรัสต่อไปว่า “ ขัาแต่พระนาคเสน ทานที่พระเวสสันดรทรงกระทำนั้นเป็นอติทาน คือเป็นทานอย่างยิ่งเพราะพระเวสสันดรได้ทรงให้ทานพระอัครมเหสีของพระองค์ เพื่อให้ไปเป็นภรรยาของผู้อื่น ทรงให้ทานพระเจ้าลูกทั้งสอง เพื่อให้ไปเป็นทาสของพราหมณ์ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อันธรรมดาการให้ทานเกินไป ผู้รู้ทั้งหลายในโลกก็ตำหนิติเตียน เปรียบเหมือนเกวียนที่บรรทุกหนักเกินไปเพลาเกวียนก็หัก เรือบรรทุกหนักเกินไปก็จม อาหารที่กินมากเกินไปก็ไม่ย่อย ข้าวในนาเมื่อฝนตกมากเกินไปก็เสีย การให้ทานเกินไปก็สิ้นทรัพย์ แดดร้อนเกินไปในแผ่นดินก็ร้อน รักเกินไปก็บ้า โกรธเกินไปก็มีโทษ หลงเกินไปก็ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ โลภเกินไปก็ทำให้ลักขโมย พูดมากเกินไปก็พลาด น้ำเต็มฝั่งเกินไปก็ล้น ลมแรงเกินไปสายฟ้าก็ตก ไฟร้อนเกินไปน้ำก็ล้น เอาใจใส่ต่อการเรียนเกินไปก็บ้า กล้าเกินไปก็ตายเร็ว ฉะนั้นข้าแต่พระนาคเสน พระเวสสันดรให้ทานเกินไป ก็ไม่มีผล ”

พระนาคเสนถวายวิสัชนาว่า“ขอถวายพระพร อติทาน คือทานอันยิ่งเป็นของผู้รู้ทั้งหลายในโลกสรรเสิญ พวกใดให้ทานเช่นนั้นได้ พวกนั้นย่อมได้รับความสรรเสริญในโลก คนปล้ำย่อมทำให้คนปล้ำอีกฝ่ายหนึ่งล้มลงด้วยกำลังแรงกว่า แผ่นดินย่อมทรงไว้ได้ซึ่งคนและสัตว์ ภูเขา ต้นไม้ทั้งหลาย เพราะแผ่นดินเป็นของใหญ่ยิ่งมหาสมุทรไม่รู้จักเต็ม เพราะมหาสมุทรเป็นของใหญ่ยิ่ง เขาสิเนรุไม่รู้จักหวั่นไหว เพราะเขาสิเนรุเป็นของหนักยิ่ง อากาศไม่มีที่สุดเพราะอากาศเป็นของกว้าวยิ่ง ดวงอาทิตย์กำจัดเมฆหมอกเสียได้ เพราะมีรัศมียิ่ง ราชสีห์ไม่มีความกลัว เพราะมีชาติกำเนิดยิ่ง แก้วมณีให้สำเร็จความปรารถนาทั้งปวง เพราะเป็นของมีคุณยิ่ง พระราชาย่อมเป็นใหญ่เพราะป็นผู้มีบุญยิ่ง ไฟย่อมเผาสิ่งทั้งปวงได้เพราะมีความร้อนยิ่ง เพชรย่อมเจาะแก้วมณี แก้วมุกดา แก้วผลึกได้ เพราะเป็นของแข็งยิ่ง เทพยดา มนุษย์ ยักษ์ อสูรทั้งหลาย ย่อมหมอบกราบภิกษุ เพราะมีศีลยิ่ง พระพุทธเจ้าไม่มีผู้เปรียบเพราะเป็นผู้วิเศษยิ่ง ข้อความเหล่านี้ฉันใด ทานอันยิ่งก็เป็นที่สรรเสริญของผู้รู้ทั้งหลายฉันนั้น ทานอันยิ่งของพระเวสสันดรนั้น มีผู้สรรเสริญทั่วหมื่นโลกธาตุ เพราะทานอันยิ่งนั่นแหละ พระเวสสันดรจึงได้เป็นพระพุทธเจ้าผู้ล้ำเลิศในมนุษย์โลก เทวโลก ขอถวายพระพร ทานที่ไม่ควรให้มีอยู่หรือ ? ”

“ มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า ทานที่ไม่ควรให้นั้นมีอยู่ ๑๐ อย่าง ผู้ใดให้ทานเหล่านี้ ผู้นั้นก็ไปสู่อบาย มีดังนี้ทาน ๑๐ อย่างที่ไม่ควรให้ ๑. หญิงให้เมถุนธรรมเป็นทาน ๒. ปล่อยโคตัวผู้เข้าไปในฝูงแม่โคเพื่อเมถุนธรรม ๓. ให้น้ำเมา คือสุราเมรัยเป็นทาน ๔. ให้รูปเขียน อันประกอบดัวยเมถุนธรรมเป็นทาน ๕. ให้ศาตราวุธเป็นทาน ๖. ให้ยาพิษเป็นทาน ๗. ให้โซ่ตรวน ขื่อคา เป็นทาน ๘. ให้ไก่เพื่อให้เขาไปฆ่า ๙. ให้สุกรเพื่อให้เขาไปฆ่า ๑๐. ให้ทานเครื่องตวง ตาชั่ง ทะนาน เพื่อใช้โกง เหล่านี้ บัณฑิตไม่สรรเสริญ ทำผู้ให้ให้แล้วไปสู่อบายนะ พระผู้เป็นเจ้า ”

“ ขอถวายพระพร อาตมาภาพไม่ได้ถามถึงสิ่งที่ไม่ควรให้ทาน ถามถึงสิ่งที่ควรให้ทานแต่เมื่อทักขิไณยบุคคล (ผู้ควรรับทาน) ยังไม่เกิดก็ยังไม่ควรให้ ว่าทานอย่างนั้นมีอยู่หรือดังนี้ต่างหาก”
“ อ๋อ...ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า เพราะเมื่อจิตเลื่อมใสเกิดขึ้นแล้ว คนบางพวกก็ให้ทานโภชนะแก่ทักขิไณยบุคคล บางพวกก็ให้ทานเครื่องนุ่มห่มก็มี ให้ทานที่นอนก็มี ให้ทานที่อยู่อาศัยก็มี ให้ทานเครื่องปูก็มี ให้ทานเครื่องนุ่งห่มก็มี ให้ทานทาสีและทาสก็มี ให้ทานเรือกสวนไร่นาที่ดินก็มี ให้ทานสัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้าก็มี ให้ทานทรัพย์ตั้งร้อยตั้งพันปี ให้ทานราชสมบัติใหญ่ก็มี ให้ทานชีวิตก็มี ”
“ ขอถวายพระพร ถ้าหากว่าในโลกนี้ผู้อื่นยังให้ทานชีวิตได้ เหตุใดจึงมีผู้ติเตียนพระเวสสันดร ผู้เป็นทานบดีอย่างร้ายแรงเพราะเหตุพระราชทานพระราชโอรส ธิดา อัครมเหสี อีกประการหนึ่ง เมื่อว่าตามปกติโลกแล้วบิดาให้บุตรเป็นค่าใช้หนี้ หรือเป็นค่าเลี้ยงชีพหรือขายไป เพื่อเหตุใดเหตุหนึ่งก็ได้ไม่ใช่หรือ? ”
“ ได้ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ถ้าได้ พระเวสสันดรเมื่อยังไม่สำเร็จพระสัพพัญญุตญาณก็เป็นทุกข์ เพื่อต้องการพระสัพพัญญุตญาณนั้น จึงได้ให้โอรส ธิดา อัครมเหสี เป็นทาน แต่เหตุใดมหาบพิตรจึงทรงติเตียนพระเวสสันดรอย่างร้ายแรงล่ะ?”

“ ข้าแต่พระนาคเสน โยมไม่ได้ติเตียนทานของพระเวสสันดร เป็นแต่ติเตียนการที่พระเวสสันดร ได้ให้ทานโอรสธิดากับอัครมเหสีเท่านั้น เพราะว่าเมื่อว่าตามที่ถูกแล้วเวลายาจกมาทูลขอโอรส ธิดา อัครมเหสี พระเวสสันดรควรพระราชทานตัวของพระองค์เอง จึงจะสมควร ”
“ ขอถวายพระพร ข้อนั้นไม่ใช่การกระทำของสัตบุรุษ คือเมื่อเขาขอบุตรภรรยา จะให้ตัวเองนั้นไม่ถูก เมื่อเขาขอสิ่งใดๆ ก็ควรให้สิ่งนั้นๆ อันนี้เป็นการกระทำของสัตบุรุษทั้งหลาย ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่ามีบุรุษคนหนึ่งมาขอน้ำ ผู้ใดให้ข้าวแก่บุรุษนั้นจะเรียกว่าผู้นั้นเป็นกิจจการี คือผู้กระทำตามหน้าที่แล้วหรือ ? ”
“ ไม่เรียก พระผู้เป็นเจ้า เมื่อเขาขอสิ่งใดก็ให้สิ่งนั้น จึงจะเรียกว่ากระทำถูก ”

“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือเมื่อพราหมณ์ทูลขอโอรส ธิดา อัครมเหสี พระเวสสันดรผู้เป็นทานบดี ก็ไม่พระราชทานของพระองค์เอง ได้พระราชทานโอรสธิดาอัครมเหสีไปแก่พราหมณ์นั้น ถ้าพราหมณ์นั้นขอพระสรีระทั้งสิ้นของพระเวสสันดร พระบาทท้าวเธอต้องไม่ห่วงใยเสียดายพระองค์ ต้องทรงบริจาคพระองค์ไปแล้ว ถ้านักเลงสะกา หรือสุนัขบ้าน สุนัขป่าเข้าไปทูลขอพระวเสสันดรว่า ขอจงให้พระองค์ยอมเป็นทาสของข้าพระองค์ พระเวสสันดรก็จะทรงยินยอมทีเดียว ทั้งจะไม่ทรงเดือดร้อน เสียใจภายหลัง เพราะว่าพระวรกายของพระเวสสันดรเป็นของทั่วไปแก่คนหมู่มาก เหมือนกับต้นไม้มีผล อันเป็นของทั่วไปแก่หมู่นกต่างๆ ฉะนั้น ด้วยพระเวสสันดรทรงเห็นว่า เมื่อเราปฏิบัติอย่างนี้ จึงจะสำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ อีกอย่างหนึ่ง บุรุษผู้ไม่มีทรัพย์ ผู้ต้องการทรัพย์ ผู้เที่ยวแสวงหาทรัพย์ ย่อมเที่ยวหาไปตามทางดงทางเกวียน ทางน้ำ ทางบก เพื่อให้ได้ทรัพย์ฉันใด พระเวสสันดรผู้ไม่มีทรัพย์คือพระสัพพัญญุตญาณ ก็ได้แสวงหาพระสัพพัญญุตญาณ ด้วยการพระราชทานทรัพย์และธัญชาติ ยาน พาหนะ ทาสี ทาสา ทรัพย์ สมบัติ บุตร ภรรยา ตลอดถึงหนัง เลือด เนื้อ หัวใจ ชีวิตของพระองค์ฉันนั้น อีกประการหนึ่ง อำมาตย์ผู้ต้องการความเจริญ ต้องการเป็นใหญ่เป็นโต คือต้องการเป็นพระราชา ย่อมสละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ทั้งสิ้นของตนแก่คนอื่นๆ ฉันใด พระเวสสันดรก็ทรงสละสิ่งของภายนอกตลอดจนถึงชีวิตแก่ผู้อื่น เพื่อให้ได้พระสัมมาสัมโพธิญาณฉันนั้น ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง พระเวสสันดรทานบดีทรงดำริว่า พราหมณ์ขอสิ่งใดเราควรให้สิ่งนั้น จึงจะเรียกว่าเราทำถูก ทรงดำริอย่างนี้ จึงได้พระราชทานโอรส ธิดา อัครมเหสี การที่พระองค์พระราชทานโอรส ธิดา อัครมเหสี ให้แก่พราหมณ์นั้น ไม่ใช่เพราะความเกลียดชัง หรือเห็นว่ามีอยู่มาก หรือเพราะไม่อาจเลี้ยงได้ หรือเพราะรำคาญ ได้พระราชทานไปเพราะทรงมุ่งหวังพระสัพพัญญุตญาณต่างหาก ทรงรักพระสัพพัญญุตญาณมากกว่า ข้อนี้สมกับที่ตรัสไว้ในจริยาปิฏกว่า “ไม่ใช่ว่าลูกทั้งสองเป็นที่เกลียดชังของเรา ไม่ใช่ว่ามัทรีไม่เป็นที่รักของเรา พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา เราจึงได้ให้ทานบุตรธิดาภรรยา อันเป็นที่รักของเรา” ขอถวายพระพร ครั้งพระเวสสันดรพระราชทานโอรสธิดาไปแล้ว ก็ได้เสด็จเข้าไปภายในบรรณศาลา ทรงพระกรรแสงด้วยความรักยิ่ง ดวงหทัยได้ร้อนขึ้น เมื่อพระนาสิกไม่พอหายใจ ก็ได้ปล่อยลมหายใจร้อนๆ ออกมาทางพระโอษฐ์ มีน้ำพระเนตรเจือด้วยพระโลหิต ไหลนองเต็มสองพระเนตร เป็นอันว่าพระเวสสันดรทรงรักพระราชโอรสธิดาอย่างยิ่ง แต่ได้ทรงอดกลั้นความโศกไว้ได้ ด้วยทรงดำริว่า อย่าให้ทานของเราเสียไปเลย

อานิสงส์ ๒ ประการ

ขอถวายพระพร คราวนั้น พระเวสสันดรได้เล็งเห็นอานิสงส์ ๒ ประการ จึงได้ทรงพระราชาทานพระเจ้าลูกทั้งสอง เพื่อให้ไปเป็นทาสของพราหมณ์ อานิสงส์ ๒ ปะการนั้นคือประการใดบ้าง ประการที่ ๑ ว่า อย่าให้ “ทานตบะ” เครื่องเผากิเลส คือทานของเราเสียไปเลย ประการที่ ๒ ว่า ลูกเล็กทั้งสองของเราเป็นทุกข์ ด้วยได้กินแต่ลูกไม้หัวมัน เมื่อเราให้ทานไปพระเจ้าปู่จะได้ทรงรับไปเลี้ยง เพราะพระเวสสันดรทรงทราบดีอยู่ว่า คนอื่นๆ ไม่อาจใช้ลูกของเราให้เป็นทาสทาสีได้ พระเจ้าปู่จะต้องไถ่ลูกทั้งสองของเราไว้ ทั้งจักมารับเราด้วย เป็นอันว่าพระเวสสันดรเล็งเห็นคุณวิเศษคืออานิสงส์ ๒ ประการนี้ จึงได้พระราชทานลูกทั้งสองไป อีกประการหนึ่ง พระเวสสันดรทรงทราบอยู่ว่า พราหมณ์ผู้นี้แก่เฒ่าเต็มทีแล้วใกล้จะตายอยู่แล้ว คงไม่อาจใช้ลูกทั้งสองของเราเป็นทาสได้ บุรุษอาจจับดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากลงมาใส่ไว้ในชะลอมหรือในผอบ หรือทำให้หมดรัศมีได้ ด้วยกำลังปกติหรือไม่ ? ”
“ ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า ”

“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พราหมณ์เฒ่าผู้มีบุญน้อยนั้น ก็ไม่อาจใช้พระเจ้าลูกทั้งสองให้เป็นทาสได้เหมือนกันฉะนั้น อีกประการหนึ่ง ขอจงสดับเหตุให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก คือแก้วมณีโชติของพระเจ้าจักรพรรดิอันมีรัศมีแผ่ไปตลอด ๑๐๐ โยชน์นั้น ไม่มีใครอาจเอาผ้าขี้ริ้วหุ้มห่อปกปิดไว้ได้ อนึ่ง ช้างแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิย่อมไม่มีใครขึ้นขี่ได้ หรืออาจปกปิดไว้ได้ด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งฉันใด พระเจ้าลูกทั้งสองของพระเวสสันดร ก็ไม่มีใครอาจใช้เป็นทาสทาสีได้ฉันนั้น อีกอย่างหนึ่ง มหาสมุทรอันกว้างใหญ่หาประมาณมิได้ ย่อมไม่มีใครอาจปิดให้มีแต่เพียงท่าเดียวได้ พระยานันโทปนันทนาคราชที่สามารถพันรอบเขาสิเนรุราชได้ ๗ รอบนั้นย่อมไม่มีใครสามารถจับมาใส่ชะลอมหรือผอบไปเล่นละครได้ พระยาเขาหิมพานต์อันสูงถึง ๕๐๐ โยชน์กว้างยาวถึง ๓๐๐ โยชน์ มียอดถึง ๘ หมื่น ๔ พันยอด อันเป็นแดนเกิดมหานที ๕๐๐ สาย อันเป็นที่อาศัยของหมูภูตใหญ่ๆ เป็นที่ทรงไว้ซึ่งไม้หอมต่างๆ สล้างสลอนไปด้วยทิพยโอสถตั้งร้อยๆ อย่าง ย่อมแลดูสูงตระหง่านเหมือนกับเมฆอันลอยในท้องฟ้าฉันใด พระเวสสันดรก็สูงด้วยพระเกียรติยศเหมือนกันพระยาเขาหิมพานต์ฉันนั้น ใครเล่าจักอาจใช้พระเจ้าลูกทั้งสองให้เป็นทาสได้ อีกประการหนึ่ง กองเพลิงที่ลุกรุ่งเรืองอยู่บนภูเขา ในเวลากลางคืนมืดๆ ย่อมปรากฏเห็นแต่ไกลฉันใด พระเวสสันดรก็ปรากฏเห็นไกลฉันนั้น อีกอย่างหนึ่ง กลิ่นดอกกากะทิงบนภูเขาหิมพานต์ เมื่อมีลมพัดมาย่อมส่งกลิ่นไปไกลได้ถึง ๑๒ โยชน์ฉันใด กลิ่นความดีของพระเวสสันดรก็หอมฟุ้งไปทั่วแดนอสูร คนธรรมพ์ ยักษ์ รากษส นาค ครุฑ กินนร อินทร์พรหมทั้งหลายทุกชั้นฟ้าฉันนั้น เมื่อเป้นอย่างนั้น ใครเล่าจักอาจใช้พระเจ้าลูกทั้งสองของพระเวสสันดรให้เป็นทาสทาสีได้ ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง พระเวสสันดรได้ทรงกำชับสั่งพระชาลีกุมารไว้ว่า “ลูกเอ๋ย ! พระเจ้าปู่จักต้องไถ่เจ้าทั้งสองด้วยทรัพย์จากพราหมณ์ไป แต่เมื่อจะทรงไถ่นั้นจงให้ไถ่ตัวเจ้าด้วยทองคำพันตำลึง ให้ไถ่น้องกัณหาด้วยทาส ทาสี ช้าง ม้า โค ทองคำอย่างละร้อยๆ ถ้าพระเจ้าปู่จะทรงบังคับเอาเปล่าๆ พวกเจ้าอย่ายอม จงติดตามพราหมณ์ไป” ทรงสอนอย่างนี้แล้ว จึงได้พระราชทานไป ฝ่ายพระชาลีกุมารที่พระเจ้าปู่ตรัสถามว่าจะต้องไถ่เจ้าทั้งสองอย่างไร จึงได้กราบทูลว่า “พระบิดาของหม่อมฉันได้ตีราคาหม่อนฉันไว้พันตำลึงทอง ได้ทรงตีราคาน้องกัญหาไว้ด้วยทรัพย์อย่างละร้อย มีช้าง ๑๐๐ เชือกเป็นต้น พระเจ้าข้า” เรื่องมีมาอย่างนี้แหละมหาพิตร”

“ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้ทำลายข่ายทิฏฐิ ย่ำยีถ้อยคำของผู้อื่นได้แล้วได้แสดงเหตุผลไว้เพียงพอแล้ว ทำให้เข้าใจปัญหาข้อนี้ได้ง่ายแล้ว ”


ขอขอบคุณต้นฉบับ : www.geocities.com/SouthBeach/Terrace/4587/milindl.htm

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น