Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

มิลินทปัญหา ตอนที่ 31

มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 31 : เมณฑกปัญหา วรรคที่ ๙ ปัญหาที่ ๑ ถามถึงกาลมรณะ อกาลมรณะ, ปัญหาที่ ๒ ถามถึงปาฏิหาริย์ในเจดีย์ของพระอรหันต์, ปัญหาที่ ๓ ถามถึงการสำเร็จธรรมของบุคคล, ปัญหาที่ ๔ ถามถึงความไม่เจือทุกข์แห่งพระนิพพาน, ปัญหาที่ ๕ ถามเรื่องนิพพานโดยรูปพรรณสัณฐาน, ปัญหาที่ ๖ ถามเรื่องการกระทำให้แจ้งนิพพาน

ตอนที่ ๓๑

วรรคที่ ๙

ปัญหาที่ ๑ ถามถึงกาลมรณะ อกาลมรณะ


“ ข้าแต่พระนาคเสน อันว่ามนุษย์ทั้งหลายตายในเวลาที่ควรตายเท่านั้น หรือว่าตายในเวลาที่ยังไม่ควรตายก็มี ? ”
“ ขอถวายพระพร ตายในเวลาควรตายอันเรียกว่ากาลมรณะก็มี ตายในเวลายังไม่ควรตายอันเรียกว่าอกาลมรณะก็มี ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พวกไหนเวลาตายในเวลาควรตาย พวกไหนตายในเวลาไม่ควรตาย ? ”
“ ขอถวายพระพร ต้นมะม่วงหรือต้นไม้อื่นที่มีผลหล่นไปตั้งแต่กำลังตั้งช่อก็มี หล่นไปในเวลามีขั้วแล้วก็มี หล่นไปในเวลาโตเท่าหัวแมลงวันก็มี หล่นไปในเวลาดิบก็มี หล่นไปในเวลาสุกก็มี มหาบพิตรเคยเห็นบ้างไหม? ”
“ อ๋อ...เคยเห็นซิ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร ผลไม้ที่หล่นไปในเวลาสุก เรียกว่า “หล่นไปในเวลาที่ควรหล่น” ส่วนอื่นนอกนั้นคือหล่นไปด้วยหนอนเจาะก็มี นกจิกก็มี ลมพัดก็มี เน่าก็มี เรียกว่า “หล่นไปในเวลาที่ยังไม่ควรหล่นทั้งนั้น” ฉันใด พวกที่ตายในเวลาชรา เรียกว่า “ตายในเวลาควรตายทั้งนั้น” นอกนั้นเรียกว่า “ตายในเวลายังไม่ควรตาย” คือบางพวกก็ตายด้วยกรรมแทรก บางพวกก็ตายด้วยคติ คือคติอันหนักชักไป บางพวกก็ตายด้วยกิริยา”

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามอีกว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน เป็นอันว่าพวกตายด้วยกรรมชักไปก็ดี ตายด้วยคติชักไปก็ดี ตายด้วยกิริยาชักไปก็ดี ตายด้วยชราครอบงำก็ดี โยมเห็นว่า ตายในเวลาควรตายทั้งนั้น ก็ผู้ที่ตายในท้องก่อนที่จะคลอด หรือพอออกจากท้องมารดาก็ตาย หรือตายในเวลามีอายุ ๕ - ๖ เดือน หรือตายในเวลามีอายุ ๑๐ เดือน หรือตายในเวลามีอายุ ๗ ปี โยมก็เห็นว่าตายในเวลาควรตายทั้งนั้น ถ้าความเห็นนี้ถูก อกาลมรณะคือการตายในเวลายังไม่ควรตายก็ไม่มี เรียกว่า “ตายในเวลาที่ควรตาย” ด้วยกันทั้งนั้น ”

ผู้ที่ตายก่อนอายุขัยมี ๗ จำพวก

“ ขอถวายพระพร ผู้ที่ตายในเวลายังไม่สิ้นอายุขัย มีอยู่ ๗ จำพวก คือ พวกหิวจัดตายก็มี กระหายน้ำจัดตายก็มี ถูกงูกัดตายก็มี ถูกยาพิษตายก็มี ถูกไฟไหม้ตายก็มี ตกน้ำตายก็มี ถูกอาวุธตายก็มี พวกนี้เรียกว่า “ตายในเวลายังไม่ควรตาย”
ทั้งนั้น

ตายด้วยเหตุ ๘ ประการ

อันความตายของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีด้วยเหตุ ๘ ประการ คือ ลมกำเริบ ดีกำเริบ เสมหะกำเริบ สิ่งทั้ง ๓ นี้กำเริบ ฤดูแปรปรวน บริหารร่างกายไม่ดี ถูกผู้อื่นกระทำ กรรมให้ผล รวมเป็น ๘ ประการด้วยกัน ตายด้วยกรรมให้ผล เรียกว่า “ตายสมควรแก่กรรมของตน” นอกนั้นเรียกว่า “ตายไม่สมควรแก่กรรม”

คือบุคคลบางพวกตายด้วยกรรมที่ทำไว้ในชาติปางก่อน ผู้ใดทำให้ผู้อื่นอดตายไว้ในชาติก่อน ผู้นั้นต้องตายด้วยความอดอยากหลายพันปี บางทีตายด้วยความอดอยากในเวลาเป็นเด็กก็มี ในเวลากลางคนก็มี ในเวลากลางอายุก็มี ในเวลาแก่ก็มีผู้ใดทำให้ผู้อื่นอดน้ำตายไว้ในชาติก่อน ผู้นั้นต้องอดน้ำตายอยู่หลายพันปี คืออดน้ำตายในเวลาเป็นเด็กก็มี กลางคนก็มี แก่ก็มี ผู้ใดทำให้ผู้อื่นด้วยให้งูกัดสัตว์ต่อย ผู้นั้นก็ต้องตายด้วยงูกัดสัตว์ต่อยอยู่หลายพันชาติ ตายในเวลายังเป็นเด็กก็มี กลางคนก็มี แก่ก็มี ผู้ใดทำให้ผู้อื่นตายด้วยยาพิษ ผู้นั้นก็ต้องตายด้วยยาพิษหลายพันชาติ ตายในเวลายังเป็นเด็กก็มี เป็นผู้ใหญ่ก็มี แก่ก็มี ผู้ใดทำให้ผู้อื่นตายด้วยไฟ ผู้นั้นก็ต้องตายด้วยไฟหลายแสนชาติ ผู้ใดทำให้ผู้อื่นตายด้วยน้ำ ผู้นั้นก็ต้องตายด้วยน้ำหลายแสนชาติ คือตกน้ำตาย จมน้ำตาย ผู้ใดทำให้ผู้อื่นตายด้วยอาวุธ ผู้นั้นก็ต้องตายด้วยอาวุธหลายแสนชาติ การตายของพวกเหล่านี้ เรียกว่า “ตายสมควรแก่กรรมทั้งนั้น”

“ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าเห็นว่าตายในเวลาไม่ควรตายอันเรียกว่า อกาลมรณะ มีอยู่ ขอนิมนต์แสดงอกาลมรณะให้โยมฟัง ”
“ ขอถวายพระพร กองไฟใหญ่ที่ไหม้หญ้า ไหม้ไม้ กิ่งไม้ หมดแล้วก็ดับไป กองไฟใหญ่นั้นชื่อว่าดับในเวลาควรดับหรือ? ”
“ อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ผู้ที่มีชีวิตอยู่นานจึงตาย เรียกว่า “ตายในเวลาควรตาย” อีกประการหนึ่ง กองไฟใหญ่ที่ยังไหม้เชื้อไม่หมด แต่มีฝนห่าใหญ่ตกลงมาทำให้ดับ กองไฟใหญ่นั้นจะชื่อว่าดับในเวลาควรดับหรือไม่? ”
“ เรียกไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ เพราะอะไร มหาบพิตร กองไฟอย่างหลังจึงไม่มีคติเสมอกับกองไฟอย่างก่อน? ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เพราะกองไฟอย่างหลัง ถูกน้ำที่มาใหม่เบียดเบียน จึงได้ดับไป ”

“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ผู้ที่ตายด้วยโรคอันมีลม หรือดี หรือเสมหะ เป็นสมุฎฐาน หรือสิ่งทั้ง ๓ กำเริบ หรือฤดูแปรปรวน การรักษาร่างกายไม่ดี หรือผู้อื่นกระทำ หิว กระหาย ถูกงูกัด ถูกไฟไหม้ จมน้ำ ถูกอาวุธตาย เหล่านี้ เรียกว่า “ตายในเวลายังไม่ควรตายทั้งนั้น” เหตุที่ให้ตายในเวลายังไม่ควรตาย ได้แก่โรคเป็นต้น อย่างที่ว่ามานี้แหละ ขอถวายพระพรอีกอย่างหนึ่ง เมฆตั้งขึ้นในท้องฟ้าเมื่อจะทำที่ลุ่มที่ดอนให็เต็มก็เป็นฝนตกลงมา เมฆนั้นไม่มีสิ่งใดกีดขวาง ก็ตกลงมาได้ไม่ใช่หรือ ? ”
“ อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือผู้มีชีวิตอยู่นานก็ตายไปเอง อีกประการหนึ่งเมฆตั้งขึ้นในท้องฟ้า แล้วมีลมพัดไป จะเป็นฝนตกลงมาได้ไหม ? ”
“ ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ เพราะเหตุไร มหาบพิตร เมฆอย่างหลังกับอย่างก่อนจึงไม่มีคติเสมอกัน ? ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เพราะเมฆอย่างหลังถูกลมพัดไปเสีย จึงเป็นฝนตกลงมาไม่ได้ ”

“ ข้อที่ตายในเวลาไม่ควรตาย ก็มีอุปมาฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ขอถวายพระพร อนึ่ง สรพิษที่มีฤทธิ์แรงกล้า ได้โกรธกัดบุคคลคนหนึ่งให้ถึงซึ่งความตาย ไม่มียาแก้ได้ พิษของงูนั้นเรียกว่าถึงซึ่งที่สุดฉันใด ผู้ที่มีอายุอยู่นานสิ้นอายุขัยแล้ว ก็ตายไปฉันนั้น อีกอย่างหนึ่ง ผู้ที่ถูกงูกัดแต่มียาฆ่าพิษนั้นเสีย พิษนั้นเรียกว่าหมดไปในเวลาที่ควรหมดหรือไม่ ? ”
“ ไม่เรียก พระผู้เป็นเจ้า ”
“ เพราะเหตุไร มหาบพิตร พิษงูอย่างก่อนกับอย่างหลัง จึงไม่เหมือนกัน ? ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พิษงูอย่างก่อนถูกยากำจัดเสีย จึงหมดไปในเวลายังไม่ควรหมด ”

“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ผู้ที่ตายในเวลายังไม่หมดอายุขัย ก็เรียกว่า “ตายในเวลาไม่ควรทั้งนั้น” ขอถวายพระพร อีกสิ่งหนึ่ง นายขมังธนูยิงลูกธนูไป ลูกธนูนั้นจะต้องไปจนสุดกำลังในเมื่อไม่มีสิ่งใดกีดขวางฉันใด ผู้ที่มีชีวิตอยู่นานก็ต้องตายด้วยสิ้นอายุขัยฉันนั้น ลูกธนูที่มีสิ่งขัดขวางก็ไปไม่ถึงที่สุดฉันใด พวกมีสิ่งขัดขวางก็ตายในเวลายังไม่ถึงที่สุดแห่งอายุขัยฉันนั้น อีกเรื่องหนึ่ง เสียงภาชนะทองเหลืองที่มีผู้ตีจะต้องดังไปจนสุดเสียงในเมื่อไม่มีสิ่งขัดขวางฉันใด บุคคลก็จักต้องตายในเวลาแก่เวลาสิ้นอายุขัยในเมื่อไม่มีอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งฉันนั้น เสียงภาชนะทองเหลืองถ้ามีขัดขวางก็ดังไปไม่ถึงที่สุดฉันใด สัตว์ทั้งหลายถ้ามีสิ่งขัดขวางก็ตายในเวลายังไม่สิ้นอายุขัยฉันนั้น อีกอย่างหนึ่ง พืชที่บุคคลหว่านลงในที่นาดี ถ้าฝนตกดี และไม่มีสิ่งเบียดเบียนก็จักงอกงามดีฉันใด สัตว์ทั้งหลายถ้าไม่มีอันตรายมาแทรกแทรง ก็จะอยู่ไปจนกระทั่งสิ้นอายุขัยฉันนั้น พืชที่เขาปลูกหว่านไว้ ถ้าขาดน้ำก็ตายเรียกว่ามีสิ่งขัดขวางฉันใด สัตว์ทั้งหลายถ้ามีอันตราย ก็ตายก่อนสิ้นอายุขัยฉันนั้น ขอถวายพระพร มหาบพิตรได้เคยทรงสดับหรือไม่ว่า มีหนอนเกิดในต้นข้าวอ่อนๆ กัดกินกระทั่งราก? ”

“ เคยได้สดับ ทั้งได้เคยเห็นด้วย พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร ข้าวนั้นเรียกว่า เสียไปในเวลาควรเสียหรือไม่? ”
“ ไม่เรียก พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ผู้ที่ตายด้วยอันตรายต่างๆ ในระหว่างอายุขัยก็เรียกว่า “ตายในเวลาไม่ควรตาย” ขอถวายพระพร มหาบพิตรได้เคยทรงสดับหรือไม่ว่า เมื่อข้าวกำลังออกรวงมีฝนห่าใหญ่ตกลงมาทำให้ข้าวร่วงไปหมด? ”
“ เคยได้สดับ ทั้งเคยได้เห็นด้วย พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้าวกล้าที่เสียไปด้วยฝนนั้น เรียกว่าเสียไปในเวลาไม่ควรเสียฉันใด ผู้ที่ตายด้วยโรคภัยต่างๆ ในระหว่างอายุขัยก็เรียกว่า “ตายในเวลาไม่ควรตาย” ฉันนั้น ขอถวายพระพร ”
“ น่าอัศจรรย์ ! พระนาคเสน ปัญหาข้อนี้พระผู้เป็นเจ้าแก้ไขแจ่มแจ้งดีแล้ว”

ปัญหาที่ ๒ ถามถึงปาฏิหาริย์ในเจดีย์ของพระอรหันต์

“ ข้าแต่พระนาคเสน ปาฏิหาริย์ ย่อมมีที่เจดีย์หรือที่เชิงตะกอนของพระอรหันต์ที่ปรินิพานแล้วทั้งสิ้น หรือว่าบางพวกมีบางพวกไม่มี ? ”
“ ขอถวายพระพร บางพวกมี บางพวกไม่มี ”
“ พวกไหนมี พวกไหนไม่มี ผู้เป็นเจ้า ? ”
“ บุคคล ๓ จำพวกมี คือจำพวกหนึ่ง อธิษฐานไว้ ด้วยความอนุเคราะห์เทพยดามนุษย์ว่า จงให้เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นที่เชิงตะกอนของเรา อีกพวกหนึ่งเทวดาบันดาล ให้เห็นความอัศจรรย์ของพระอรหันต์ เพื่อให้คนทั้งหลายเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา อีกพวกหนึ่งมีสตรีหรือบุรุษผู้มีความเลื่อมใสศรัทธา ถือเอาของหอมหรือดอกไม้หรือผ้า หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว อธิษฐานให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วโยนสิ่งเหล่านั้นเข้าไปในที่เผาศพพระอรหันต์ ถ้าไม่มีการอธิษฐานก็ไม่มีปาฏิหาริย์ ถึงไม่มีปาฏิหาริย์ผู้เป็นบัณฑิตก็รู้ได้ดีว่าท่านผู้นี้ปรินิพพานแล้ว”
“ ถูกอย่างพระผู้เป็นเจ้าแก้ไขมาแล้ว ”

ปัญหาที่ ๓ ถามถึงการสำเร็จธรรมของบุคคล

“ ข้าแต่พระนาคเสน พวกที่ปฏิบัติชอบได้ธรรมาภิสมัยเหมือนกันทั้งนั้นหรือ? ”
“ ขอถวายพระพร บางพวกก็ได้ บางพวกก็ไม่ได้ ”
“ ใครได้ ใครไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า ? ”
“ ขอถวายพระพร พวกที่ไม่ได้นั้นมีอยู่หลายจำพวกด้วยกัน คือเดรัจฉาน ๑ เปรต ๑ มิจฉาทิฏฐิ ๑ ผู้ลวงโลก ๑ ผู้ฆ่ามารดา ๑ ผู้ฆ่าบิดา ๑ ผู้ฆ่าพระอรหันต์ ๑ ผู้ทำสังฆเภท ๑ (ทำสงฆ์ให้แตกกัน) ผู้ทำโลหิตุปบาท ๑ (ทำพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต) ผู้เป็นไถยสังวาส ๑ ผู้ไปเข้ารีตเดียรถีย์ ๑ ผู้ประทุษร้ายนางภิกษุณี ๑ ผู้มีอาบัติสังฆาทิเสสติดตัว ๑ บัณเฑาก์ ๑ (กระเทย) อุภโตพยัญชนก ๑ (คนสองเพศ) เด็กอายุต่ำกว่า ๗ ขวบ ๑ พวกเหล่านี้ถึงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอย่างไรก็ตามก็ไม่ได้ธรรมาภิสมัย”

พระเจ้ามิลินท์ตรัสแย้งว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน บุคคล ๑๕ จำพวกเบื้องต้น เป็นพวกทำผิด จะได้ธรรมาภิสมัยหรือไม่ก็ช่างเถอะ แต่จำพวกที่ ๑๖ คือเด็กอายุต่ำกว่า ๗ ขวบนี้แหละเป็นปัญหาเพราะเด็กอายุต่ำกว่า ๗ ขวบ ยังไม่มีราคะ โทสะ โมหะ มานะ มิจฉาทิฏฐิ อรติ กามวิตกอย่างใดอย่างหนึ่ง ธรรมดาผู้ที่ห่างไกลจากิเลส สมควรจะรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งอริยสัจ ๔ ไม่ใช่หรือ ? ”
พระนาคเสนอธิบายว่า “ ขอถวายพระพร ข้อนี้ขอจงทรงฟังเหตุผล คือถ้าเด็กอายุต่ำกว่า ๗ ขวบ รู้จักเกิดราคะ โทสะ โมหะ รู้จักมัวเมาในสิ่งที่ควรมัวเมา รู้จักยินดี ไม่ยินดี รู้จักนึกถึงกุศลอกุศล ก็จักมีธรรมาภิสมัยได้ แต่เด็กอายุต่ำกว่า ๗ ขวบนั้น จิตมีกำลังน้อย ส่วนพระนิพพานเป็นของใหญ่ ของหนัก จึงไม่อาจรู้แจ้งแทงตลอดนิพพานได้ เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังน้อย ไม่อาจยกภูเขาสิเนรุราชได้ฉันนั้น หรือเปรียบเหมือนหยาดน้ำอันเล็กน้อยไม่อาจซึมไปทั่วแผ่นดินใหญ่ได้ หรือเปรียบเหมือนเปลวไฟเล็กน้อยไม่อาจทำให้สว่างทั่วโลกได้ หรือเปรียบเหมือนตัวหนอนไม่อาจกลืนช้างได้ฉะนั้น ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ตามที่พระผู้เป็นเจ้าแก้มานี้ โยมเข้าใจดีแล้ว”

ปัญหาที่ ๔ ถามถึงความไม่เจือทุกข์แห่งพระนิพพาน

“ ข้าแต่พระนาคเสน นิพพานมีสุขอย่างเดียว หรือมีทุกข์เจือปน? ”
“ ขอถวายพระพร นิพพานมีสุขอย่างเดียวไม่มีทุกข์เจือปนเลย”
พระเจ้ามิลินท์ตรัสแย้งว่า“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมไม่เชื่อว่านิพพานมีสุขอย่างเดียว โยมเชื่อว่า นิพพานเจือทุกข์ ที่ว่านิพพานเจือทุกข์เพราะมีเหตุอยู่ คือพวกแสวงหานิพพานย่อมเดือดร้อนกายใจมีการกำหนดซึ่งการยืน การเดิน การนั่ง การนอน และอาหาร อดหลับอดนอน มีการบีบคั้นอายตนะ มีการสละทรัพย์ ญาติมิตรสหายที่รัก ส่วนพวกที่หาความสุขในทางโลกย่อมได้รื่นเริงบันเทิงใจด้วยกามคุณ ๕ คือตาก็ได้เห็นรูปที่สวยงาม หูก็ได้ฟังเสียงเพราะๆ จมูกก็ได้สูดดมกลิ่นหอมๆ ลิ้นก็ได้รับรสอร่อย กายก็ได้ถูกต้องสัมผัสที่ให้เกิดความสุข ใจก็นึกถึงแต่อารมณ์ที่ให้เกิดความสุข ผู้ละสิ่งที่ชอบอย่างไรก็ตาม จะให้เกิดความสุขทางตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ เสียแล้ว ย่อมได้รับแต่ความทุกข์ทางกายทางใจ มาคันทิยปริพาชกได้ติเตียนสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “พระสมณโคดม เป็นผู้กำจัดความเจริญ” ดังนี้ไม่ใช่หรือ เหตุอันนี้แหละ โยมจึงกล่าวว่า นิพพานเจือทุกข์ ”

พระนาคเสนถวายพระพรว่า “ ดูก่อนมหาบพิตร นิพพานไม่เจือทุกข์เลย นิพพานเป็นสุขอย่างเดียว ข้อที่พระองค์ตรัสว่านิพพานเป็นทุกข์นั้น ไม่ใช่ทุกข์ของนิพพาน เป็นทุกข์ของการจะทำให้สำเร็จนิพพานต่างหาก คือการทำให้สำเร็จนิพพานในเบื้องต้นนั้นเป็นทุกข์ ส่วนนิพพานเป็นสุขอย่างเดียว ขอถามมหาบพิตรว่า ความสุขในราชสมบัติของพระราชาทั้งหลายมีอยู่หรือ? ”
“ มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร ราชสุขนั้นเจือด้วยทุกข์ไม่ใช่หรือ ?”
“ ไม่ใช่ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ก็พระราชาทั้งหลาย เมื่อปลายแดนพระราชอาณาเขตเกิดกำเริบขึ้น ต้องห้อมล้อมด้วยหมู่อำมาตย์ ข้าราชการ พลทหาร เสด็จไปปราบ ต้องลำบากด้วยเหลือบ ยุง ลม แดด ลำบากด้วยการเดินทาง ต้องสู้รบกัน ต้องหยั่งลงสู่ความสงสัยในชีวิต เหตุใดจึงว่าราชสุขไม่เจือทุกข์? ”
พระเจ้ามิลินท์ตรัสตอบว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน นั่นไม่ใช่ราชสุข เป็นส่วนเบื้อนต้นแห่งการที่จะได้ราชสุขต่างหาก พระราชาทั้งหลายย่อมได้ราชสุขด้วยความทุกข์เวลาได้แล้วก็ได้เสวยราชสุข อันราชสุขไม่เจือทุกข์ ราชสุขอย่างหนึ่ง ทุกข์ก็อย่างหนึ่ง ไม่ใช่อย่างเดียวกัน ”

พระนาคเสนจึงกล่าวต่อไปว่า “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร นิพพานเป็นสุขอย่างเดียว ไม่เจือทุกข์เลย ส่วนพวกแสวงหานิพพาน ย่อมทำให้กายใจเร่าร้อนลำบากด้วยการยืน เดิน นั่ง นอน อาหาร ตัดความสุขทางอายตนะเสีย ทำให้กายใจลำบาก แต่เมื่อได้นิพพานแล้ว ก็ได้เสวยสุขอย่างเดียวเหมือนพระราชาทั้งหลาย เมื่อกำจัดข้าศึกศัตรูได้สิ้นแล้ว ก็ได้เสวยราชสุขอย่างเดียวฉะนั้น เป็นอันว่า นิพพานเป็นสุขอย่างเดียวไม่เจือทุกข์เลย นิพพานก็อย่างหนึ่ง ทุกข์ก็อย่างหนึ่ง ไม่ใช่อย่างเดียวกัน ขอได้ทรงสดับเหตุอย่างอื่นให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก คือพวกอาจารย์ที่มีศิลปะ ย่อมมีความสุขในศิลปะไม่ใช่หรือ? ”
“ ใช่ พระผู้เป็นเจ้า ”

“ สุขในศิลปะนั้น เจือทุกข์บ้างไหม ? ”
“ ไม่เจือเลย พระผู้เป็นเจ้า ”
“ เหตุใดพวกเรียนศิลปะจึงต้องเอาใจใส่ต่ออาจารย์ ด้วยการกราบไหว้ การลุกรับ การตักน้ำ การปัดกวาด การให้ไม้สีฟันและน้ำบ้วนปาก การกินเดนอาจารย์ การนวดฟั้นขัดสีให้อาจารย์ การปฏิบัติเอาใจอาจารย์ นอนก็ไม่เป็นสุข กินก็ไม่เป็นสุข ทำให้กายใจเดือดร้อน ? ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ข้อนั้นไม่ใช่สุขในศิลปะ เป็นส่วนเบื้องต้นแห่งการแสวงหาศิลปะต่างหาก พวกอาจารย์แสวงหาศิลปะได้ด้วยความทุกข์ แต่ล้วนก็ได้เสวยสุขในศิลปะ สุขในศิลปะไม่เจือทุกข์เลย ทุกข์อย่างหนึ่ง สุขในศิลปะก็อีกอย่างหนึ่ง ”
“ เรื่องนิพพานก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ”
“ เอาละ พระผู้เป็นเจ้า เป็นอันโยมรับว่าเป็นจริงอย่างนั้น”

ปัญหาที่ ๕ ถามเรื่องนิพพานโดยรูปพรรณสัณฐาน

“ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่านิพพาน แต่พระผู้เป็นเจ้าอาจชี้รูปหรือสัณฐาน วัย ประมาณ แห่งนิพพานนั้นได้ด้วยอุปมา หรือเหตุ หรือปัจจัย หรือนัยอย่างใดอย่างหนึ่งได้หรือไม่ ? ”
“ ไม่ได้ มหาบพิตร เพราะนิพพานไม่มีของเปรียบ ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ข้อนี้โยมยังไม่ปลงใจ ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอ้างเหตุให้โยมเข้าใจก่อน”
“ ขอถวายพระพร ได้...อาตมภาพขอถามว่ามหาสมุทรมีอยู่หรือไม่? ”
“ มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ถ้ามีอยู่ ถามมหาบพิตรว่าน้ำในมหาสมุทรมีเท่าไร สัตว์ในมหาสมุทรมีเท่าไร มหาบพิตรจะตอบเขาว่ากระไร ?”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้ามีผู้ถามโยมอย่างนี้โยมก็จะตอบเขาว่า ถามสิ่งที่ไม่ควรถาม ปัญหานี้เป็นของควรพักไว้ไม่ใช่ควรจำแนก ใครๆ ไม่ควรถาม ”
“ เพราะเหตุไร มหาบพิตร จึงต้องทรงตอบเขาอย่างนี้ ตามที่ถูกมหาบพิตรควรตอบเขาว่า น้ำในมหาสมุทรมีอยู่เท่านั้น สัตว์ในมหาสมุทรมีอยู่เท่านี้ไม่ใช่หรือ ? ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ไม่อาจตอบอย่างนั้นได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาเหลือวิสัย โยมจะทำอย่างไร ? ”

“ เรื่องนิพพานก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร แต่ว่าผู้มีฤทธิ์ มีอำนาจทางจิต อาจคำนวณได้ว่าน้ำและสัตว์ในมหาสมุทรมีอยู่เท่านั้น แต่ไม่อาจชี้รูป หรือสัณฐาน วัย ประมาณ แห่งนิพพานได้ด้วยอุปมา หรือด้วยเหตุ หรือด้วยปัจจัย หรือด้วยนัย ขอได้โปรดทรงสดับเหตุอื่นให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก คือเทพเจ้าชื่อว่าอรูปกายิกา(อรูปพรหม) ในจำพวกเทพมีอยู่หรือ ? ”
“ มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ มหาบพิตรอาจชี้รูป หรือสัณฐาน วัย หรือประมาณ แห่งพวกเทพจำพวกอรูปกายิกาเหล่านั้น โดยอุปมา หรือด้วยเหตุ ด้วยปัจจัย ด้วยนัย ได้หรือไม่? ”
“ ไม่อาจ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นพวกเทพอรูปกายิกาที่ไม่มีรูปร่างปรากฏ ก็ไม่มีน่ะซิ ? ”
“ มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า แต่ว่าไม่มิใครอาจชี้รูป หรือสัณฐาน วัย หรือประมาณ แห่งเทพเจ้าเหล่านั้นได้ด้วยอุปมา เหตุ ปัจจัยหรือนัยได้ ”
“ ขอถวายพระพร เรื่องนิพพานก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร”

แสดงคุณแห่งนิพพาน

“ ข้าแต่พระนาคเสน ข้อที่ว่านิพพานเป็นสุขอย่างเดียวก็จงพักไว้ แต่ว่าไม่มีใครอาจชี้รูป สัณฐาน วัย หรือประมาณแห่งนิพพานได้ด้วยอุปมา เหตุ ปัจจัย หรือนัย ก็คุณของนิพพานพอจะเทียบกับสิ่งอื่นได้ เพียงแต่จะชี้ให้เห็นได้สักเล็กน้อยด้วยอุปมามีอยู่หรือ? ”
“ เมื่อว่าโดยย่อก็มีอยู่ มหาบพิตร ”
“ ดีแล้ว พระคุณเจ้าข้า โยมขอฟังการแสดงเพียงบางส่วนแห่งคุณของนิพพาน ขอได้โปรดแสดงให้โยมดับความร้อนใจอยากจะฟัง เหมือนกับการดับความร้อนด้วยน้ำเย็นหรือด้วยลมอ่อนๆ ฉะนั้นเถิด ”

“ ขอถวายพระพร ดอกปทุมมีคุณ ๑ น้ำมีคุณ ๒ ยาดับพิษงูมีคุณ ๓ มหาสมุทรมีคุณ ๔ โภชนะมีคุณ ๕ อากาศมีคุณ ๑๐ แก้วมณีมีคุณ ๓ จันทน์แดงมีคุณ ๓ เนยใสมีคุณ ๓ ยอดคีรีมีคุณ ๕ คุณแห่งสิ่งเหล่านี้พอเปรียบเทียบกับคุณแห่งนิพพานได้”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ข้อนี้คืออย่างไร ? ”
“ ขอถวายพระพร คือ ดอกปทุมที่ว่ามีคุณ ๑ นั้น ได้แก่น้ำไม่ติดค้างอยู่ได้ เหมือนกับนิพพานไม่แปดเปื้อนด้วยกิเลส ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน น้ำมีคุณ ๒ เป็นอย่างไร ? ”
“ ขอถวายพระพร น้ำมีคุณ ๒ คือความเย็น ๑ การดับความร้อน ๑ ทั้งสองประการนี้ พอเปรียบเทียบกับนิพพานอันเป็นของเย็น เป็นของดับความร้อนคือกิเลสได้ อนึ่ง น้ำอันเย็นนั้น ยังกำจัดความเศร้าหมองในร่างกาย และความกระหายความเร่าร้อนได้ เหมือนกับนิพพานอันกำจัดความกระหาย คือตัณหาทั้ง ๓ ได้ ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ที่ว่า คุณแห่งยาดับพิษงูมี ๓ นั้น คืออย่างไร ? ”
“ ขอถวายพระพร คือยาดับพิษงู ย่อมเป็นเครื่องดับพิษ เป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายเหมือนกับนิพพานอันดับพิษคือกิเลส และยาดับพิษงูทำให้หมดโรค เหมือนกับนิพพานทำให้สิ้นทุกข์ทั้งปวง ยาดับพิษงูเป็นของไม่ตายเหมือนกับนิพพานอันเป็นของไม่ตายฉะนั้น”

“ ข้าแต่พระนาคเสน คุณแห่งมหาสมุทร ๔ ที่พอจะเปรียบกับนิพพานได้นั้น คืออย่างไร ? ”
“ ขอถวายพระพร คือ มหาสมุทรเป็นของบริสุทธิ์ ว่างเปล่าจากซากศพทั้งหลาย ก็เปรียบเหมือนกับนิพพานอันว่างเปล่าจากกิเลสทั้งหลาย ๑ มหาสมุทรใหญ่แลไม่เห็นฝั่ง ไม่รู้จักเต็มด้วยน้ำที่ไหลมาจากที่ทั้งปวง เหมือนกับนิพพานอันเป็นของใหญ่แลไม่เห็นฝั่ง ไม่รู้จักเต็มด้วยสรรพสัตว์ฉะนั้น ๑ มหาสมุทรอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ใหญ่ๆ เหมือนกับนิพพานอันเป็นที่อยู่ของผู้มีคุณใหญ่คือผู้สิ้นกิเลสแล้วฉะนั้น ๑ มหาสมุทรย่อมเจือไปด้วยดอกไม้ คือลูกคลื่นหาประมาณมิได้ เหมือนกับนิพพานอันเต็มไปด้วยดอกไม้ คือวิชชา วิมุตติ อันบริสุทธิ์หาประมาณมิได้ฉะนั้น ๑ ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ที่ว่า โภชนะที่คุณ ๕ พอจะเทียบกับคุณแห่งนิพพานได้นั้น คืออย่างไร ? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดาโภชนะย่อมทรงไว้ซึ่งอายุ ทำให้เจริญกำลัง ทำให้เกิดวรรณะ ระงับความกระวนกระวาย กำจัดความหิวของสรรพสัตว์ทั้งหลายเหมือนกับนิพพานอันทรงไว้ซึ่งอายุ ด้วยการกำจัดชรามรณะเสีย ทำให้เจริญกำลังคือฤทธิ์ ให้เกิดวรรณะคือศีล ระงับความกระวนกระวายคือกิเลสทั้งปวง กำจัดซึ่งความหิวคือทุกข์ทั้งปวงฉะนั้น ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ที่ว่า อากาศมีคุณ ๑๐ พอจะเทียบกับนิพพานได้นั้น คืออย่างไร ? ”

“ ขอถวายพระพร คืออากาศไม่รู้จักเกิด ไม่รู้จักตาย ไม่รู้จักเคลื่อน ไม่รู้จักปรากฏ กดขี่ไม่ได้ โจรขโมยไม่ได้ ไม่อิงอาศัยอะไร เป็นที่ไปแห่งนก ไม่มีเครื่องกั้งกาง ไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนกับนิพพานฉะนั้น ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ข้อที่ว่า แก้วมณีมีคุณ ๓ ซึ่งพอจะเปรียบเทียบกันกับคุณแห่งนิพพานได้นั้น คืออย่างไร ? ”
“ ขอถวายพระพร คือแก้วมณี ให้สำเร็จความปรารถนา ๑ ทำให้ร่าเริงใจ ๑ ทำให้สว่าง ๑ ฉันใด นิพพานก็ให้สำเร็จความปรารถนา ทำให้ร่าเริงใจ ทำให้สว่างฉันนั้น ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ข้อที่ว่า จันทน์แดงมีคุณ ๓ พอจะเทียบกับนิพพานได้นั้น คืออย่างไร ? ”

“ ขอถวายพระพร คือธรรมดาจันทน์แดงย่อมเป็นของหาได้ยาก ๑ มีกลิ่นหอม ไม่มีกลิ่นอื่นเสมอ ๑ และเป็นที่สรรเสริญแห่งคนทั้งหลาย ๑ ฉันใด นิพพานก็เป็นของหาได้ยาก มีกลิ่นหอม ไม่มีกลิ่นอื่นเสมอ เป็นที่สรรเสริญแห่งพระอริยเจ้าทั้งหลายฉันนั้น ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ที่ว่า เนยใสมีคุณ ๓ พอจะเทียบกับคุณแห่งนิพพานได้นั้น คืออย่างไร ? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดาเนยใส ย่อมมีสีดี มีรสดี มีกลิ่นดี ฉันใด นิพพานก็มีสี คือคุณดี มีรสคือไม่รู้จักตาย มีกลิ่นคือศีลฉันนั้น ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าา ที่ว่า ยอดคีรีมีคุณ ๕ พอจะเทียบกับคุณแห่งนิพพานได้นั้น คืออย่างไร ? ”
“ขอถวายพระพร คือยอดคีรีเป็นของสูง เป็นของไม่หวั่นไหว ขึ้นได้ยาก ไม่เป็นที่งอกงามแห่งพืชทั้งปวง พ้นจากการยินดียินร้าย เหมือนกับนิพพานฉันนั้น ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า การที่แก้มาแล้วนี้เป็นการถูกต้องดีทั้งนั้น”

ปัญหาที่ ๖ ถามเรื่องการกระทำให้แจ้งนิพพาน

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามต่อไปว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า นิพพานไม่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ไม่ใช่เกิดแล้ว ไม่ใช่ยังไม่เกิด ไม่ใช่ว่าจักเกิด ก็ผู้ที่ปฏิบัติชอบย่อมได้สำเร็จนิพพานมีอยู่ ผู้นั้นสำเร็จนิพพานที่เกิดแล้ว หรือว่าทำให้นิพพานเกิดแล้วจึงสำเร็จ ? ”

พระนาคเสนตอบว่า “ ขอถวายพระพร ไม่ใช่ว่าสำเร็จนิพพานที่เกิดแล้ว ไม่ใช่ว่าทำให้นิพพานเกิดแล้วจึงสำเร็จ เป็นแต่ว่านิพพานธาตุนั้นมีอยู่ ผู้ปฏิบัติชอบก็สำเร็จนิพพานธาตุนั้น”
พระเจ้ามิลินท์ตรัสว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน ขอพระผู้เป็นเจ้าอย่าทำปัญหานี้ให้ปกปิดเลย จงแสดงออกให้แจ่มแจ้งเถิด สิ่งใดที่ผู้มีฉันทะอุตสาหะ ได้ศึกษาแล้วในเรื่องนิพพาน ขอจงบอกสิ่งนั้นทั้งสิ้น เพราะในเรื่องนิพพานนั้น ประชุมชนสงสัยกันอยู่มาก ขอจงทำลายความสงสัยอันเป็นเหมือนลูกศรที่ฝังอยู่ในดวงใจของคนทั้งหลายเถิด พระผู้เป็นเจ้า ”

สภาวะแดนนิพพาน

“ ขอถวายพระพร นิพพานธาตุ ธาตุคือนิพพานอันสงบ อันเป็นสุข อันประณีตนั้นมีอยู่ ผู้ปฏิบัติชอบเมื่อพิจารณาสังขารตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็กระทำให้แจ้งนิพพานธาตุด้วยปัญญา เหมือนกับศิษย์กระทำให้แจ้งวิชาตามคำสอนของอาจารย์ด้วยปัญญาฉะนั้น อันนิพพานนั้นบุคคลควรเห็นอย่างไร...ควรเห็นว่าเป็นของไม่มีเสนียดจัญไร ไม่มีอุปัทวะ เป็นของสงบ ไม่มีภัย ปลอดภัย สุขสบาย น่ายินดี เป็นของประณีต เป็นของสะอาด เป็นของเย็น ขอถวายพระพร เรื่องนี้เป็นเปรียบเหมือนอะไร...เปรียบเหมือนบุรุษที่ถูกล้อมด้วยกองไฟใหญ่เบียดเบียน ก็พยายามหนีจากกองไฟใหญ่ไปอยู่ในที่ไม่มีภัย แล้วเขาก็ได้สุขยิ่งฉันใด ผู้ปฏิบัติชอบ เร่าร้อนด้วยไฟ ๓ กองก็หนีจากไฟ ๓ กอง ด้วยโยนิโสมนสิการ (ทำจิตไว้ด้วยอุบายอันชอบธรรม) เข้าไปอยู่ในที่ไม่มีไฟ ๓ กอง แล้วเขาก็กระทำให้แจ้งนิพพาน อันเป็นเอกันตบรมสุขฉันนั้น ควรเห็นไฟ ๓ กองเหมือนกับกองไฟใหญ่ ควรเห็นผู้ปฏิบัติชอบ เหมือนกับผู้หนีกองไฟใหญ่ ควรเห็นนิพพานเหมือนที่ไม่มีกองไฟใหญ่ฉะนั้น อีกประการหนึ่ง บุรุษผู้มีซากศพงู หรือซากสุนัข หรือซากมนุษย์ ผูกติดคอ แล้วพยายามสลัดซากศพนั้น ไปสู่ที่ไม่มีซากศพ แล้วเขาก็ได้ความสุขอย่างยิ่งฉันใด ผู้ปฏิบัติชอบก็กระทำให้แจ้งนิพพาน อันเป็นบรมสุขอันไม่มีซากศพคือกิเลส ด้วยโยนิโสมนสิการฉันนั้น ควรเห็นกามคุณ ๕ เหมือนซากศพควรเห็นผู้ปฏิบัติชอบ เหมือนผู้พยายามหนีซากศพ ควรเห็นนิพพานเหมือนที่ไม่มีซากศพฉะนั้น อีกอย่างหนึ่ง บุรุษผู้กลัวภัยย่อมพยายามหนีจากที่มีภัยไปสู่ที่ไม่มีภัย แล้วเขาก็ได้ความสุขอย่างยิ่งฉันใด ผู้ปฏิบัติชอบก็กระทำให้แจ้งนิพพานอันเป็นบรมสุข อันไม่มีภัย ไม่มีความสะดุ้ง ด้วยโยนิโสมนสิการนั้น ควรเห็นภัยอันมีเรื่อยไปเพราะอาศัยความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกับภัย ควรเห็นผู้ปฏิบัติชอบเหมือนกับผู้กลัวภัย ควรเห็นนิพพานเหมือนที่ไม่มีภัยฉะนั้น อนึ่ง บุรุษผู้ตกเลนตกหล่มย่อมพยายามหนีจากเลนจากหล่มไปสู่ที่ไม่มีเลนไม่มีหล่ม แล้วเขาก็ได้ความสุขยิ่งฉันใด ผู้ปฏิบัติชอบก็ได้สำเร็จนิพพานอันเป็นสุขยิ่ง อันไม่มีเลนไม่มีหล่มคือกิเลส ด้วยโยนิโสมนสิการฉันนั้น ควรเห็นลาภสักการะสรรเสริญ เหมือนเลนเหมือนหล่ม ผู้ปฏิบัติชอบเหมือนผู้พยายามหนีเลนหนีหล่ม นิพพานเหมือนที่ไม่มีเลนมีหล่มฉะนั้น ”

วิธีกระทำให้แจ้งนิพพาน

“ ข้าแต่พระนาคเสน นิพพานนั้น บุคคลกระทำให้แจ้งว่าอย่างไร? ”
“ ขอถวายพระพร ผู้ใดปฏิบัติชอบ ผู้นั้นย่อมเห็นความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย ผู้เห็นความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย ย่อมเห็นความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในสังขารแล้วก็ไม่เห็นสิ่งใดๆ ในสังขารว่าเป็นสุข ทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ไม่เห็นอะไรในร่างกายที่จะควรยึดถือไว้ เหมือนกับบุรุษที่ไม่เห็นสิ่งใดในเหล็กแดงที่ตนควรจะจับ ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดฉะนั้น เมื่อเห็นสังขารอันเป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดถือ ความไม่ยินดีก็เกิดขึ้นในจิต ความเร่าร้อนก็ย่างลงในกาย ผู้นั้นเมื่อเห็นว่า ไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่หลบหลีก ก็เบื่อหน่ายในภพทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษเข้าไปสู่กองไฟใหญ่เห็นว่าไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัยก็เบื่อหน่ายกองไฟฉะนั้น ผู้ที่เห็นว่าน่ากลัวในสังขาร ก็คิดขึ้นได้ว่าสังขารที่เป็นไปนี้เป็นของเร่าร้อน แล้วก็เห็นความทุกข์มาก ความคับแค้นมากในภพทั้งหลาย เห็นความดับสังขารทั้งปวง ความสละกิเลสทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความคลายตัณหา ความดับตัณหา นิพพานคือความไม่มีตัณหาว่าเป็นความสงบอย่างยิ่ง เมื่อเป็นอย่างนั้น จิตของผู้นั้นก็แล่นไปในความไม่เป็นไปแห่งสังขาร แล้วจิตใจก็ผ่องใสร่าเริง ยินดีเราได้ที่พึ่งแล้ว เปรียบเหมือนบุรุษที่หลงทาง ไปพบทางเกวียนที่พาตนไปถึงที่ประสงค์ จิตก็แล่นไปในทางนั้น แล้วก็สบายใจว่า เราได้ทางแล้วฉะนั้น ผู้เล็งเห็นความไม่เป็นไปแห่งสังขารว่าเป็นของหมดทุกข์ทั้งสิ้น แล้วก็อบรมความรู้ความเห็นนั้นให้แรงกล้าเต็มที่ แล้วก็ตั้งสติ วิริยะ ปีติ ไว้ในความไม่เป็นไปแห่งสังขาร จิตของผู้นั้นก็ล่วงเลยความเป็นไปแห่งสังขาร ไปถึงความไม่เป็นไปแห่งสังขาร ผู้ไปถึงความไม่เป็นไปแห่งสังขารแล้วเรียกว่าผู้ปฏิบัติชอบกระทำให้แจ้งนิพพาน ดังนี้แหละ ขอถวายพระพร ”
“ ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน ”


ขอขอบคุณต้นฉบับ : www.geocities.com/SouthBeach/Terrace/4587/milindl.htm

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น