Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

มิลินทปัญหา ตอนที่ 35

มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 35 : อุปมาปัญหา จักกวัตติวรรคที่ ๓ องค์ ๕ แห่งอากาศ จนถึง องค์ ๔ แห่งพระเจ้าจักรพรรดิ, กุญชรวรรคที่ ๔ องค์ ๑ แห่งปลวก จนถึง องค์ ๕ แห่งช้าง, สีหวรรคที่ ๕ องค์ ๗ แห่งราชสีห์ จนถึง องค์ ๑ แห่งงูเหลือม

ตอนที่ ๓๕

องค์ ๕ แห่งอากาศ


“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๕ แห่งอากาศได้แก่สิ่งใด? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา อากาศ ไม่มีใครจับถือเอาได้ฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรให้กิเลสยึดถือฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งอากาศ

ธรรมดาอากาศ ย่อมเป็นที่เที่ยวไปแห่ง ฤาษี ดาบส ภูต สัตว์มีปีก ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรให้ใจสัญจรไปในสังขารทั้งหลายว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งอากาศ

ธรรมดาอากาศ ย่อมเป็นที่เกิดแห่งความสะดุ้งกลัวฉันใด พระโยคาวจรก็ควรทำให้ใจสะดุ้งกลัวต่อการเกิดในภพทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งอากาศ

ธรรมดาอากาศ ย่อมไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นผู้มีสีลาจาวัตร ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีปริมาณฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งอากาศ

ธรรมดาอากาศ ย่อมไม่ติด ไม่ข้อง ไม่ตั้ง ไม่พัวพันอยู่ในสิ่งใดฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรข้อง ไม่ควรติด ไม่ควรตั้งอยู่ ไม่ควรผูกพันอยู่ในตระกูล หมู่คณะ ลาภ อาวาส เครื่องกังวล ปัจจัย และกิเลสทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งอากาศข้อนี้สมกับที่ทรงสอน พระราหุล ไว้ว่า “ดูก่อนราหุล อากาศย่อมไม่ตั้งอยู่ในที่ใดได้ฉันใด เธอจงอบรมจิตใจให้เสมอกับอากาศฉันนั้น เพราะเมื่อเธออบรมจิตใจให้เสมอกับอากาศได้แล้ว อารมณ์ที่มากระทบอันเป็นที่พอใจและไม่พอใจ ย่อมไม่ครอบงำจิตใจได้” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

องค์ ๕ แห่งดวงจันทร์

“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๕ แห่งดวงจันทร์ได้แก่อะไร? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ดวงจันทร์ ย่อมขึ้นในเวลาข้างขึ้น แล้วเจริญยิ่งๆ ขึ้นฉันใด พระโยคาวจรก็ควรให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นในอาจารคุณ ศีลคุณ ข้อวัตรปฏิบัติ อาคม (พระปริยัติธรรม) อธิคม (มรรคผล) ความสงัด ความสำรวมอินทรีย์ ความรู้จักประมาณในโภชนะ ความเพียรฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งพระจันทร์

ธรรมดาพระจันทร์ ย่อมเป็นอธิบดียิ่งอย่างหนึ่งฉันใด พระโยคาวจรก็ควรมีฉันทาธิบดีอันยิ่งฉันนั้น อันนี้จัดเป็นองค์ที่ ๒ แห่งพระจันทร์

ธรรมดาพระจันทร์ ย่อมเที่ยวไปในกลางคืนฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเที่ยวไปด้วยวิเวกฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่  ๓ แห่งพระจันทร์

ธรรมดาพระจันทร์ ย่อมมีวิมานเป็นธงชัยฉันใด พระโยคาวจรก็ควรมีศีลเป็นธงชัยฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งพระจันทร์

ธรรมดาพระจันทร์ ย่อมมีผู้อยากให้ตั้งขึ้นมาฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเข้าไปสู่ตระกูล ด้วยมีผู้นิมนต์ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งพระจันทร์ ข้อนี้สมกับประพันธ์พุทธภาษิตใน สังยุตตนิกาย ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเข้าไปสู่ตระกูล ด้วยอาการเหมือนดวงจันทร์ อย่าทำกายใจให้คดงอในตระกูล อย่าคะนองกายใจในตระกูล” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

องค์ ๗ แห่งดวงอาทิตย์

“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๗ แห่งดวงอาทิตย์ได้แก่อะไร? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ดวงอาทิตย์ ย่อมทำพืชทั้งปวงให้เหี่ยวแห้งฉันใด พระโยคาวจรก็ควรทำกิเลสทั้งปวงให้แห้งฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งดวงอาทิตย์

ธรรมดาดวงอาทิตย์ ย่อมกำจัดมืดฉันใด พระโยคาวจรก็ควรกำจัดความมืดทั้งปวง คือราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งดวงอาทิตย์

ธรรมดาดวงอาทิตย์ ย่อมเที่ยวไปเนืองๆ ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรกระทำโยนิโสมนสิการเนืองๆ ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งดวงอาทิตย์

ธรรมดาดวงอาทิตย์ ย่อมมีรัศมีเป็นมาลา (ระเบียบ) ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรมีรัศมีคืออารมณ์เป็นมาลาฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งดวงอาทิตย์

ธรรมดาดวงอาทิตย์ ย่อมทำให้หมู่มหาชนร้อนฉันใด พระโยคาวจรก็ควรทำให้โลกนี้กับทั้งเทวโลกร้อนด้วยอาจารคุณ ศีลคุณ ข้อวัตรปฏิบัติ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งดวงอาทิตย์

ธรรมดาดวงอาทิตย์ ย่อมกลัวภัย คือราหูฉันใด พระโยคาวจรได้เห็นบุคคลทั้งหลายที่รกรุงรังไปด้วยทุจริต และทุคติ สวมด้วยเครื่องขนานคือทิฏฐิ เดินไปผิดทาง ก็ควรทำให้ใจสลดด้วยความกลัวสังเวช อันนี้เป็นองค์ที่ ๖ แห่งดวงอาทิตย์

ธรรมดาดวงอาทิตย์ ย่อมทำให้เห็นของดีของเลวฉันใด พระโยคาวจรก็ควรทำตนให้เห็น โลกิยธรรม โลกุตตรธรรม ด้วยอินทรีย์ พละ โพชฌงค์ สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๗ แห่งดวงอาทิตย์ ข้อนี้สมกับคำของ พระวังคีสเถระ ว่า “เมื่อดวงอาทิตย์ตั้งขึ้น ย่อมทำให้เห็นสิ่งต่างๆ ทั้งสะอาดไม่สะอาด ดีเลว ฉันใด พระภิกษุผู้ทรงธรรม ก็ทำให้หมู่ชนอันถูกอวิชชาปกปิดไว้ ให้ได้เห็นทางธรรมต่างๆ เหมือนกับดวงอาทิตย์ที่ตั้งขึ้นมาฉันนั้น” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

องค์ ๓ แห่งท้าวสักกะ

“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๓ แห่งท้าวสักกะได้แก่อะไร? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ท้าวสักกะ ย่อมเพียบพร้อมด้วยสุขอย่างเดียวฉันใด พระโยคาวจรก็ควรยินดีในสุข อันเกิดจากวิเวกอย่างเยี่ยมฝ่ายเดียวกันฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งท้าวสักกะ

ธรรมดาท้าวสักกะ ผู้เป็นจอมเทพทั้งหลาย ได้เห็นเทพยเจ้าทั้งหลายแล้วก็ทำให้เกิดความร่าเริงฉันใด พระโยคาวจรก็ควรทำใจให้เกิดความร่าเริงไม่หดหู่ ไม่เกียจคร้านในกุศลธรรมทั้งหลายฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งท้าวสักกะ

ธรรมดาท้าวสักกะ ย่อมไม่เกิดความเบื่อหน่าย ไม่เกิดความรำคาญฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรให้เกิดความเบื่อหน่ายในสิ่งที่สงัดฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งท้าวสักกะ ข้อนี้สมกับคำของ พระสุภูติเถระ ว่า “ข้าแต่มหาวีรเจ้า นับแต่ข้าพระองค์ได้บรรพชาในศาสนาของพระองค์ ย่อมไม่รู้สึกว่า มีสัญญาสักอย่างเดียว อันเกี่ยวกับกามารมณ์เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์เลย” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

องค์ ๔ แห่งพระเจ้าจักรพรรดิ

“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๔ แห่งพระเจ้าจักรพรรดิได้แก่อะไร? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา พระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมทรงสงเคราะห์ประชาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔ ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรสงเคราะห์ ควรประคอง ควรอนุเคราะห์ ควรทำให้ร่าเริงแก่บริษัท ๔ ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งพระเจ้าจักรพรรดิ

ธรรมดาในแว่นแคว้นพระเจ้าจักรพรรดิย่อมไม่มีโจรผู้ร้ายฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรให้มีโจรผู้ร้าย คือกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ฉันนั้น ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ว่า “ผู้ใดยินดีในการระงับวิตก อบรมอสุภะ มีสติทุกเมื่อ ผู้นั้นจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ จะตัดเครื่องผูกแห่งมารได้” ดังนี้

ธรรมดาพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมเสด็จเลียบโลก เพื่อทรงพิจารณาดูคนดีคนเลวทุกวันฉันใด พระโยคาวจรก็ควรพิจารณา กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ทุกวันแล้วทำให้บริสุทธิ์ ด้วยคิดว่าวันคืนของเราผู้ไม่ข้องอยู่ด้วยฐานะทั้ง ๓ นี้ ได้ล่วงเลยไปแล้วอย่างไร อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ ของพระเจ้าจักรพรรดิ ข้อนี้ สมกับพระพุทธพจน์ในคัมภีร์ อังคุตตรนิกาย ว่า “บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่าวันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่” ดังนี้

ธรรมดาพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมทรงจัดการรักษาให้ดี ทั้งภายในภายนอกฉันใด พระโยคาวจรก็ควรตั้งนายประตู คือสติ ให้รักษากิเลสทั้งภายในภายนอกฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งพระเจ้าจักรพรรดิ ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีนายประตู คือสติ ย่อมละอกุศล อบรมกุศล ละสิ่งที่มีโทษ อบรมสิ่งที่ไม่มีโทษ รักษาตนให้บริสุทธิ์” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

จบจักกวัตติวรรคที่ ๓

กุญชรวรรคที่ ๔

องค์ ๑ แห่งปลวก


“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งปลวกได้แก่อะไร ? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ปลวก ย่อมทำหลังคาปิดตัวเองแล้วอาศัยอยู่ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรทำหลังคา คือศีลสังวรปิดใจของตนอยู่ฉันนั้น เพราะเมื่อปิดใจของตนด้วยศีลสังวรแล้ว ย่อมล่วงพ้นภัยทั้งปวงได้ อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งปลวก ข้อนี้สมกับคำของ พระอุปเสนเถระ ว่า “พระโยคีกระทำเครื่องมุงใจ คือศีลสังวรแล้ว ไม่ติดอยู่ในอะไร ย่อมพ้นจากภัยได้” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

องค์ ๒ แห่งแมว

“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๒ แห่งแมวได้แก่อะไร ? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา แมว เวลาไปที่ถ่ำหรือที่ซอก ที่รู ที่โพรง ที่ระหว่างถ้ำก็ดีก็แสวงหาแต่หนูฉันใด พระโยคาวจรผู้ไปอยู่ที่บ้าน ที่ป่า หรือที่โค่นต้นไม้ ที่แจ้ง ที่ว่าง บ้านเรือน ก็ไม่ควรประมาท ควรแสวงหาโภชนะ คือกายคตาสติ ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งแมว

ธรรมดาแมว ย่อมแสวงหาอาหารในที่ใกล้ๆ ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรพิจารณาขันธ์ ๕ ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีความตั้งขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ว่า “ไม่ต้องกล่าวไปให้ไกลแต่นี้นัก ภวัคคพรหม (พรหมชั้นสูงสุด) จักทำอะไรได้ ควรเบื่อหน่ายเฉพาะในกายของตน อันมีอยู่ในปัจจุบันนี้แหละ” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

องค์ ๑ แห่งหนู

“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งหนูได้แก่อะไร ? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา หนู ย่อมเที่ยวหาอาหารข้างโน้นข้างนี้ฉันใด พระโยคาวจรเมื่อเที่ยวไปข้างโน้นข้างนี้ ก็ควรแสวงหาโยนิโสมนสิการฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งหนู ข้อนี้สมกับคำของ พระอุปเสนเถระ ว่า “ผู้แสวงหาธรรม ผู้เห็นธรรมต่างๆ ผู้ไม่ย่อท้อ ผู้สงบ ย่อมมีสติอยู่อยู่ทุกเมื่อ” ดังนี้ ขอถวายพระพร”

องค์ ๑ แห่งแมงป่อง

“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งแมงป่อง ได้แก่อะไร? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา แมงป่อง ย่อมมีหางเป็นอาวุธ ย่อมชูหางของตนเที่ยวไปฉันใด พระโยคาวจรก็ควรมีญาณเป็นอาวุธ ควรชูญาณฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งแมงป่อง ข้อนี้สมกับคำของ พระอุปเสนเถระ ว่า “ภิกษุผู้ถือเอาพระขรรค์ คือญาณ ผู้เห็นธรรมด้วยอาการต่างๆ ย่อมพ้นจากภัยทั้งปวง ภิกษุนั้นย่อมอดทนสิ่งที่ทนได้ยากในโลก” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

องค์ ๑ แห่งพังพอน

“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งพังพอนนี้ได้แก่อะไร? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา พังพอน เมื่อจะไปสู้กับงู ย่อมมอมตัวด้วยยาเสียก่อนจึงเข้าไปใกล้งู เพื่อจะสู้กับงูฉันใด พระโยคาวจรเมื่อจะเข้าไปใกล้โลก อันมากไปด้วยความบาดหมาง ความทะเลาะวิวาท ก็ทาอวัยวะด้วยยา คือ เมตตาเสียก่อน จึงจะให้โลกทั้งปวงดับความเร่าร้อนได้ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งพังพอน ข้อนี้สมกับคำของ พระสารีบุตรเถระ ว่า “พระภิกษุควรมีเมตตาแก่ตนและผู้อื่น ควรแผ่จิตเมตตาไป อันนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

องค์ ๒ แห่งสุนัขจิ้งจอก

“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๒ แห่งสุนัขจิ้งจอกได้แก่อะไร? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา สุนัขจิ้งจอก ได้โภชนะแล้วย่อมไม่เกลียดชัง ย่อมกินพอความประสงค์ฉันใด พระโยคาจรได้โภชนะแล้ว ก็ไม่ควรเกลียดชัง ไม่ว่าชนิดไหนควรฉันพอให้ร่างกายเป็นไปได้ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งสุนัขจิ้งจอก ข้อนี้สมกับคำของ พระมหากัสสปเถระ ว่า “เวลาเราออกจากเสนาสนะเข้าไปบิณฑบาต ถึงบุรุษโรคเรื้อนที่กำลังกินข้าวอยู่กำเอาคำข้าวด้วยมือเป็นโรคเรื้อนมาใส่บาตรให้เรา เราก็นำไปฉัน ไม่เกลียดชังอย่างไร” ดังนี้

ธรรมดาสุนัขจิ้งจอกได้โภชนะแล้ว ย่อมไม่เลือกว่าเลวดีอย่างไรฉันใด พระโยคาวจรได้โภชนะแล้ว ก็ไม่เลือกว่าเลวดี ยินดีตามที่ได้ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งสุนัขจิ้งจอก ข้อนี้สมกับคำของ พระอุปเสนเถระ ว่า “บุคคลควรยินดีแม้ด้วยของเลว ไม่ควรปรารถนาอย่างอื่น ใจของผู้ข้องอยู่ในรสทั้งหลาย ย่อมไม่ยินดีในฌาน ความสันโดษตามมีตามได้ ย่อมทำให้เป็นสมณะบริบูรณ์” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

องค์ ๓ แห่งเนื้อในป่า

“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๓ แห่งเนื้อในป่าได้แก่อะไร? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา เนื้อในป่า ย่อมเที่ยวไปในป่า ในเวลากลางคืน ในที่แจ้งฉันใด พระโยคาวจรก็ควรอยู่ในป่าในเวลากลางวัน ส่วนในเวลากลางคืนควรอยู่ในที่แจ้งอันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งเนื้อในป่า ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ว่า “ดูก่อนสารีบุตร เราย่อมอยู่ในที่แจ้งเวลากลางคืนหน้าหนาว ส่วนกลางวันอยู่ในป่า สำหรับเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อน เวลากลางวันเราอยู่ในที่แจ้ง เวลากลางคืนเราอยู่ในป่า”

ธรรมดาเนื้อในป่า ย่อมรู้จักหลบหลีกลูกศรฉันใด พระโยคาวจรก็ควรรู้จักหลบหลีกกิเลสฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งเนื้อในป่า

ธรรมดาเนื้อในป่า ได้เห็นมนุษย์แล้วย่อมวิ่งหนี ด้วยคิดว่าอย่าให้มนุษย์ได้เห็นเราฉันใด พระโยคาวจรได้เห็นพวกทุศีล พวกเกียจคร้าน พวกยินดีในหมู่คณะ ก็ควรหนีไปด้วยคิดว่า อย่าให้พวกนี้ได้เห็นเรา อย่าให้เราได้เห็นพวกนี้ อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งเนื้อในป่า ข้อนี้สมกับคำอัน พระสารีบุตรเถระ กล่าวไว้ว่า “เรานึกว่าคนมีความต้องการในทางลามก คนเกียจคร้าน คนท้อถอย คนสดับน้อย คนประพฤติไม่ดี คนไม่สงบ อย่าได้พบเห็นเราเลย” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

องค์ ๔ แห่งโค

“ ข้อแต่พระนาคเสน องค์ ๔ แห่งโคได้แก่อะไร ? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา โค ย่อมไม่ทิ้งคอกของตนฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรทิ้งโอกาสของตนฉันนั้น คือไม่ควรทิ้งซึ่งการนึกว่า กายนี้มีการขัดสีอบรมอยู่เป็นนิจมีการแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งโค

ธรรมดาโคย่อมถือเอาแอก ย่อมนำแอกไปด้วยความสุขและความทุกข์ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต ด้วยการสู้สุขสู้ทุกข์ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งโค

ธรรมดาโคย่อมเต็มใจดื่มน้ำฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเต็มใจฟังคำสั่งสอนของพระอุปัชฌาย์ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งโค

ธรรมดาโคเมื่อเจ้าของฝึกหัดให้ทำอย่างไรย่อมทำตามทุกอย่างฉันใด พระโยคาวจรก็ควรยินดีรับคำสอนของภิกษุด้วยกัน หรือของอุบาสกชาวบ้านฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งโค ข้อนี้สมกับคำของ พระสารีบุตรเถระ ว่า “ถึงผู้บวชในวันนั้นมีอายุเพียง ๗ ขวบสอนเราก็ตาม เราก็ยินดีรับคำสอน เราได้เห็นผู้นั้น ก็ปลูกความพอใจ ความรักอย่างแรงกล้า ยินดีนอบน้อมว่าเป็นอาจารย์แล้วแสดงความเคารพเนืองๆ” ดังนี้ ”

องค์ ๒ แห่งสุกร

“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๒ แห่งสุกรได้แก่อะไร ? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา สุกร ย่อมชอบนอนแช่น้ำในฤดูร้อนฉันใด พระโยคาวจรก็ควรอบรมเมตตาภาวนาอันเย็นดี ในเวลาจิตเร่าร้อนตื่นเต้นฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งสุกร

ธรรมดาสุกรย่อมขุดดินด้วยจมูกของตน ทำให้เป็นรางน้ำในที่มีน้ำ แล้วนอนแช่อยู่ในรางฉันใด พระโยคาวจรก็ควรพิจารณากายไว้แล้วฝังอารมณ์ให้นอนอยู่ภายในใจฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งสุกร ข้อนี้สมกับคำของ พระปิณโฑลภารทวาชเถระ ว่า “ภิกษุผู้เล็งเห็นสภาพแห่งกายแล้ว ควรหลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว แล้วนอนอยู่ในภายในอารมณ์” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

องค์ ๕ แห่งช้าง

“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๕ แห่งช้างได้แก่อะไร ? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ช้าง เมื่อเที่ยวไป ย่อมเอาเท้ากระชุ่นดินฉันใด พระโยคาวจรผู้พิจารณากาย ก็ควรทำลายกิเลสทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งช้าง

ธรรมดาช้าง ย่อมแลไปตรงๆ ไม่แลดูทิศโน้นทิศนี้ฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรเหลียวดูทิศโน้นทิศนี้ ไม่ควรแหงนดูก้มดูควรดูเพียงชั่วระยะแอกฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งช้าง

ธรรมดาช้าง ย่อมไม่นอนประจำอยู่ในที่แห่งเดียว เที่ยวหากินในที่ใด ไม่พักนอนในที่นั้นฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรนอนประจำคือไม่ควรห่วงใยในที่เที่ยวบิณฑบาต ถ้าได้เห็นที่ชอบใจ คือปะรำ หรือโคนต้นไม้ หรือถ้ำ หรือเงื้อมเขา ก็ควรเข้าพักอยู่ในที่นั้น แล้วไม่ควรห่วงใยในที่นั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งช้าง

ธรรมดาช้าง เวลาลงน้ำย่อมเล่นน้ำตามสบายฉันใด พระโยคาวจรเวลาลงสู่สระโบกขรณี คือมหาสติปัฏฐาน อันเต็มเปี่ยมด้วยน้ำอันประเสริฐ คือพระธรรมอันเย็นใสอันดาษไปด้วยดอกไม้ คือวิมุตติ ก็ควรเล่นอยู่ด้วยการพิจารณาสังขาร อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งช้าง

ธรรมดาช้าง ย่อมมีสติทุกเวลายกเท้าขึ้นวางเท้าลงฉันใด พระโยคาวจรก็ควรมีสติสัมปชัญญะทุกเวลายกเท้าขึ้นวางเท้าลง ทุกเวลาเดินไปมา คู้เหยียด แลเหลียว ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งช้าง ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ในคัมภีร์ สังยุตตนิกาย ว่า “การสำรวมกาย วาจา ใจ เป็นของดี การระวังในสิ่งทั้งปวงเป็นของดี ผู้ระวังในสิ่งทั้งปวง ผู้มีความละอาย เรียกว่า ผู้รักษากาย วาจา ใจ ดีแล้ว” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

จบกุญชรวรรคที่ ๔

สีหวรรคที่ ๕

องค์ ๗ แห่งราชสีห์


“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๗ แห่งราชสีห์ได้แก่อะไร? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ราชสีห์ ย่อมมีกายขาวบริสุทธิ์ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรให้มีจิตขาวบริสุทธิ์ ปราศจากความรำคาญฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งราชสีห์

ธรรมดาราชสีห์ ย่อมเที่ยวไปด้วยเท้าทั้ง ๔ มีการเที่ยวไปงดงามฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเที่ยวไปด้วยอิทธิบาท ๔ ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งราชสีห์

ธรรมดาราชสีห์ ย่อมมีไกรสรคือสร้อยคอสีสวยงามยิ่งฉันใด พระโยคาวจรก็ควรมีไกรสรคือศีลอันสวยงามยิ่งฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งราชสีห์

ธรรมดาราชสีห์ถึงจะตาย ก็ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อใครฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรอ่อนน้อมต่อใคร เพราะเห็นแก่ปัจจัย ๔ ถึงจะสิ้นชีวิตก็ช่าง อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งราชสีห์

ธรรมดาราชสีห์ ย่อมเที่ยวหาอาหารไปตามลำดับ ได้อาหารในที่ใดก็กินให้อิ่มในที่นั้น ไม่เลือกกินเฉพาะเนื้อที่ดีๆ ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตระกูล ไม่ควรเลือกตระกูลและอาหารฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งราชสีห์

ธรรมดาราชสีห์ย่อมไม่สะสมอาหาร กินคราวหนึ่งแล้วไม่เก็บไว้กินอีกฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรสะสมอาหารฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๖ แห่งราชสีห์

ธรรมดาราชสีห์เวลาหาอาหารไม่ได้ ก็ไม่ทุกข์ร้อน ได้แล้วก็ไม่ติดฉันใด พระโยคาวจรเวลาหาอาหารไม่ได้ ก็ไม่ควรทุกข์ร้อน เวลาได้ก็ไม่ควรติดใจรสอาหาร ควรฉันด้วยการพิจารณา เพื่อจะออกจากโลก อันนี้เป็นองค์ที่ ๗ แห่งราชสีห์ ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ในคัมภีร์ สังยุตตนิกาย ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระกัสสปนี้ย่อมยินดีด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ สรรเสริญความยินดีในบิณฑบาตตามมีตามได้ ไม่แสวงหาบิณฑบาตในทางไม่ชอบ เมื่อไม่ได้ก็ไม่ควรทุกข์ร้อน เวลาได้ก็ไม่ติดในรสอาหาร รู้จักพิจารณาโทษแห่งอาหาร” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

องค์ ๓ แห่งนกจากพราก

“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๓ แห่งนกจากพรากได้แก่อะไร? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา นกจากพราก ย่อมไม่ทิ้งเมียจนตลอดชีวิตฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรทิ้งโยนิโสมนสิการจนตลอดชีวิตฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งนกจากพราก

ธรรมดานกจากพราก ย่อมกินหอย สาหร่าย จอกแหน เป็นอาหารด้วยความยินดี จึงไม่เสื่อมจากกำลัง และสีกายด้วยความยินดีนั้นฉันใด พระโยคาวจรก็ควรยินดีตามมีตามได้ฉันนั้น เพราะผู้ยินดีตามมีตามได้ย่อมไม่เสื่อมจากศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ และกุศลธรรมทั้งปวง อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งนกจากพราก

ธรรมดานกจากพราก ย่อมไม่เบียดเบียนสัตว์ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรทิ้งท่อนไม้และอาวุธ ควรมีความละลาย มีใจอ่อน นึกสงเคราะห์สัตว์ทั้งหลายด้วยเมตตาฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งนกจากพราก ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ใน จักกวากชาดก ว่า “ผู้ใดไม่ฆ่าเอง ไม่ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ชนะเอง ไม่ให้ผู้อื่นชนะ ผู้นั้นชื่อว่ามีเมตตาในสัตว์ทั้งหลาย เวรย่อมไม่มีแก่ผู้นั้นด้วยเหตุใดๆ” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

องค์ ๒ แห่งนางนกเงือก

“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๒ แห่งนางนกเงือกได้แก่อะไร? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา นางนกเงือก ย่อมให้ผัวอยู่เลี้ยงลูกในโพรงด้วยความหึงฉันใด พระโยคาวจรเมื่อกิเลสเกิดขึ้นในใจของตนก็ควรเอาใจของตนใส่ลงในโพรง คือการสำรวมโดยชอบ เพื่อความกั้นกางกิเลส แล้วอบรมกายคตาสติไว้ด้วยมโนทวาร อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งนางนกเงือก

ธรรมดานางนกเงือก เวลากลางวันไปเที่ยวหากินในป่า พอถึงเวลาเย็นก็บินไปหาเพื่อนฝูง เพื่อรักษาตัวฉันใด พระโยคาวจรก็ควรหาที่สงัดโดยลำพังผู้เดียว เพื่อให้หลุดพ้นจากสังโยชน์ เมื่อได้ความยินดีในความสงัดนั้น ก็ควรไปอยู่กับหมู่สงฆ์ เพื่อป้องกันภัย คือการว่ากล่าวติเตียนฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งนางนกเงือก ข้อนี้สมกับคำที่ ท้าวสหัมบดีพรหม ได้กล่าวขึ้นในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าว่า “พระภิกษุควรอยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด เพื่อปลดเปลื้องจากสังโยชน์ ถ้าไม่ได้ความยินดีในที่สงัดนั้น ก็ควรไปอยู่ในหมู่สงฆ์ ควรมีสติรักษาตนให้ดี” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

องค์ ๑ แห่งนกกระจอก

“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งนกกระจอกได้แก่อะไร? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา นกกระจอก ย่อมอาศัยอยู่ในเรือนคน แต่ไม่เพ่งอยากได้ขอสิ่งใดสิ่งหนึ่งของคน มีใจเป็นกลางเฉยอยู่ มากไปด้วยความจำฉันใด พระโยคาวจรเข้าไปถึงตระกูลอื่นแล้ว ก็ไม่ควรถือเอานิมิตในเตียง ตั่ง ที่นั่ง ที่นอน เครื่องประดับประดา เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ เครื่องกิน ภาชนะใช้สอยต่างๆ ของสตรีหรือบุรุษในตระกูลนั้น ควรมีใจเป็นกลาง ควรใส่ใจไว้แต่ในสมณสัญญาฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งนกกระจอก ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ใน จูฬนารทชาดก ว่า “ภิกษุเข้าไปสู่ตระกูลอื่นแล้ว ควรขบฉันข้าวน้ำตามที่เขาน้อมถวาย แต่ไม่ควรหลงไหลไปในรูปต่างๆ” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

องค์ ๒ แห่งนกเค้า

“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๒ แห่งนกเค้าได้แก่อะไร ?”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา นกเค้า ย่อมเป็นศัตรูกันกับกา พอถึงเวลากลางคืนก็ไปตีฝูงกา ฆ่าตายเป็นอันมากฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นข้าศึกกับอวิชชา ควรนั่งอยู่ในที่สงัดแต่ผู้เดียว ควรตัดอวิชชาทิ้งเสียพร้อมทั้งรากฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งนกเค้า

ธรรมดานกเค้าย่อมซ่อนตัวอยู่ดีฉันใด พระโยคาวจรก็ควรซ่อนตัวไว้ดี ด้วยการยินดีในที่สงัดฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งนกเค้า ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ในคัมภีร์ สังยุตตนิกาย ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอควรอยู่ในที่สงัด เพราะผู้อยู่ในที่สงัด ผู้ยินดีในที่สงัดย่อมพิจารณาเห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

องค์ ๑ แห่งตะขาบ

“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งตะขาบได้แก่อะไร ?”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ตะขาบ ย่อมร้องบอกความปลอดภัย และความมีภัยแก่ผู้อื่นฉันใด พระโยคาวจรก็ควรแสดงธรรมบอกนรก สวรรค์ นิพพาน แก่ผู้อื่นฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งตะขาบ ข้อนี้สมกับคำที่ พระปิณโฑลภารทวาชเถระ กล่าวไว้ว่า “พระโยคาวจรควรแสดงสิ่งที่น่าสะดุ้งกลัวในนรก และความสุขอันไพบูลย์ในนิพพานให้ผู้อื่นฟัง” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

องค์ ๒ แห่งค้างคาว

“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๒ แห่งค้างคาวได้แก่อะไร? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ค้างคาว บินเข้าไปในเรือนแล้ว บินวนไปวนมาแล้วก็บินออกไป ไม่กังวลอยู่ในเรือนฉันใด พระโยคาวจรเข้าไปบิณฑาตในบ้าน เที่ยวไปตามลำดับแล้วได้หรือไม่ได้ก็ตาม ก็ควรกลับออกไปโดยเร็วพลันฉันนั้น ไม่ควรกังวลอยู่ในบ้าน อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งค้างค้าว

ธรรมดาค้างคาว เมื่ออาศัยอยู่ในเรือนคนก็ไม่ทำความเสียหายให้แก่คนฉันใด พระโยคาวจรเข้าไปถึงตระกูลแล้ว ก็ไม่ควรทำความเดือดร้อนเสียใจให้คนทั้งหลายด้วยการขอสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือด้วยการทำไม่ดีทางกาย หรือด้วยการพูดมากเกินไป หรือด้วยการทำตนให้เป็นผู้มีสุขทุกข์เท่ากับคนในตระกูลนั้น ไม่ควรทำให้เสียบุญกุศลของเขา ควรทำแต่ความเจริญให้เขาฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งค้างคาว ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ใน ลักขณสังยุต ในคัมภีร์ทีฆนิกายว่า “ภิกษุไม่ควรทำให้ชาวบ้านเสื่อมศรัทธา ศีล สุตะ พุทธิ จาคะ ธรรมะ ทรัพย์สมบัติ ไร่นา เรือกสวน บุตร ภรรยา สัตว์ ๔ เท้า ญาติมิตร พวกพ้อง กำลัง ผิวพรรณ ความสุขสบายแต่อย่างใด พระโยคาวจรย่อมมุ่งแต่ความมั่งคั่งให้แก่ชาวบ้าน” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

องค์ ๑ แห่งปลิง

“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งปลิง ได้แก่สิ่งใด ? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ปลิง เกาะในที่ใดก็ตาม ต้องเกาะให้แน่นในที่นั้นแล้วจึงดูดกินเลือดฉันใด พระโยคาวจรมีจิตเกาะในอารมณ์ใด ควรเกาะอารมณ์นั้นให้แน่น ด้วยสี สัณฐาน ทิศ โอกาส กำหนด เพศ นิมิต แล้วดื่มวิมุตติรสอันบริสุทธิ์ด้วยอารมณ์นั้น อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งปลิง ข้อนี้สมกับคำของ พระอนุรุทธเถระ ว่า “พระภิกษุควรมีจิตบริสุทธิ์ ตั้งอยู่ในอารมณ์แล้ว ควรดื่มวิมุตติรสอันบริสุทธิ์ด้วยจิตนั้น” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

องค์ ๓ แห่งงู

“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๓ แห่งงูได้แก่อะไร ? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา งู ย่อมไปด้วยอกฉันใด พระโยคาวจรก็ควรไปด้วยปัญญาฉันนั้น เพราะจิตของพระโยคาวจรผู้ไปด้วยปัญญา ย่อมเที่ยวไปในธรรมที่ควรรู้ ย่อมละเว้นสิ่งที่ไม่ควรกำหนดจดจำ อบรมไว้แต่สิ่งที่ควรกำหนดจดจำฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งงู

ธรรมดางูเมื่อเที่ยวไป ย่อมหลีกเว้นยาแก้พิษของตนฉันใด พระโยคาวจรก็ควรหลีกเว้นทุจริตฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งงู

ธรรมดางูเห็นมนุษย์แล้ว ย่อมทุกข์โศกฉันใด พระโยคาวจรเมื่อนึกถึงวิตกที่ไม่ดีแล้วก็ควรทุกข์โศกเสียใจว่า วันของเราได้ล่วงไปด้วยความประมาทเสียแล้ว วันที่ล่วงไปแล้วนั้นเราไม่อาจได้คืนมาอีก อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งงู ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ใน กินนรชาดก ว่า “ดูก่อนนายพราน เราพลัดกันเพียงคืนเดียว ก็นึกเสียใจไม่รู้จักหาย นึกเสียใจว่าคืนที่เราพลัดกันนั้น เราไม่ได้คืนมาอีก” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

องค์ ๑ แห่งงูเหลือม

“ ขอถวายพระพร องค์ ๑ แห่งงูเหลือมได้แก่อะไร ? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา งูเหลือม ย่อมมีร่างกายใหญ่ มีท้องพร่องอยู่หลายวัน ไม่ได้อาหารพอเต็มท้อง ได้พอยังร่างกายให้เป็นไปได้เท่านั้นฉันใด พระโยคาวจรผู้เที่ยวไปบิณฑบาต ก็มุ่งอาหารที่ผู้อื่นให้ งดเว้นจากการถือเอาด้วยตนเอง ได้อาหารพอเต็มท้องได้ยาก แต่ผู้อยู่ในอำนาจเหตุผลถึงได้ฉันอาหารยังไม่อิ่ม ต้องมีอีก ๔ หรือ ๕ คำจึงจักอิ่มก็ควรเติมน้ำลงไปให้เต็ม อันนี้เป็นองค์ ๑ ข้อนี้สมกับคำของ พระสารีบุตรเถระ ว่า “ภิกษุผู้ฉันอาหาร ทั้งสดและแห้ง ก็ไม่ควรฉันให้อิ่มนัก ควรให้มีท้องพร่อง รู้จักประมาณในอาหาร ควรมีสติละเว้น ไม่ควรฉันอาหารให้อิ่มเกินไปเมื่อรู้ว่ายังอีก ๔ - ๕ คำก็จักอิ่ม ก็ควรหยุดดื่มน้ำเสีย เพราะเท่านี้ก็พออยู่สบาย สำหรับภิกษุผู้กระทำความเพียร” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

จบสีหวรรคที่ ๕


ขอขอบคุณต้นฉบับ : www.geocities.com/SouthBeach/Terrace/4587/milindl.htm

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น