Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

รวมคำถามคำตอบหมวดบทวิเคราะห์

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้เป็นการรวมคำถามคำตอบหมวดบทวิเคราะห์ที่มีผู้สนใจถามเข้ามานะครับ



รูป - การเกิดและการละ

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

Subject: ขอรายละเอียดครับ

ที่มาที่ไปของการเกิดรูป(กาย)เป็นมาอย่างไร?
ทำไมสัตว์โลกจึงยึดอย่างเหนียวแน่นหาทางออกอยาก และเป็นทุกข์....?
วิธีการพิจารณาเพื่อละรูป.....และผลการทดสอบ....เป็นอย่างไร?


ตอบ

ขอบคุณมากครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

ผมขอตอบคำถามเป็นข้อๆ ดังนี้นะครับ
1.) ที่มาที่ไปของการเกิดรูป(กาย)เป็นมาอย่างไร?
  • 1.1) ข้อนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าตามคำสอนของพระพุทธศาสนานั้น ชีวิตในวัฏสงสารสามารถเกิดได้ในหลายภพภูมิ ซึ่งแบ่งได้เป็น 31 ภูมิ ใน 31 ภูมินี้ 27 ภูมิจะมีรูป (กาย) อีก 4 ภูมิจะมีเฉพาะนามคือเจตสิก+จิต = เวทนา+สัญญา+สังขาร+วิญญาณ (จิต) โดยไม่มีรูป (กาย) อยู่เลยนะครับ (ขอให้ดูรายละเอียดในเรื่องขันธ์ 5 และเรื่องภพภูมิในพระพุทธศาสนา หมวดธรรมทั่วไป ประกอบนะครับ)
  • 1.2) ในชาติไหนใครจะไปเกิดในภูมิใดนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพจิตตอนใกล้จะตายเป็นสำคัญนะครับ คือถ้าจิตในตอนนั้นมีสภาพเป็นอย่างไร เมื่อตายแล้วก็จะไปเกิดใหม่ในภพภูมิที่มีลักษณะอย่างเดียวกันนั้น สำหรับพระอรหันต์นั้นเนื่องจากไม่มีความยินดีในการเกิดแล้ว เมื่อตายไปแล้วจึงไม่มีเชื้อให้ต้องเกิดอีกครับ (ขอให้ดูรายละเอียดในเรื่องปฏิจจสมุปบาท หมวดธรรมทั่วไป และเรื่องสังโยชน์ 10 หมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบนะครับ)
  • 1.3) นั่นคือ ที่มาที่ไปของการเกิดรูป (กาย) ก็ประกอบด้วย 2 ส่วนนะครับ คือ
    • 1. สภาพจิต (ซึ่งก็คือตัณหาในภพ) ในขณะที่ใกล้จะตายนั้น เขามีความยินดีในการมีรูป (กาย) อยู่ด้วย หรือยินดีในการเห็นรูป ได้กลิ่น ลิ้มรส มีสัมผัสทางกาย ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้กายเกิดขึ้นมาครับ
    • 2. เป็นธรรมชาติของภพภูมิที่เขาไปเกิดนั้นเอง ที่จะต้องมีรูป (กาย) อยู่ด้วย ส่วนเมื่อไปเกิดแล้วจะมีรูปกายอย่างไรนั้น ก็ขึ้นกับธรรมชาติของภพภูมินั้น ประกอบกับกรรมที่เขาได้ทำมานะครับ
2.) ทำไมสัตว์โลกจึงยึดอย่างเหนียวแน่นหาทางออกอยาก
  • ที่เป็นเช่นนั้นเพราะความรู้สึกว่ารูปเป็นเรา หรือเป็นของๆ เรา หรือเป็นตัวเป็นตนของเรา ความยึดมั่นถือมั่นจึงเกิดขึ้นมานะครับ และความรู้สึกนี้มีมานานนับชาติไม่ถ้วนแล้ว จึงฝังแน่นอยู่ในจิตใต้สำนึกไม่อาจทำให้หมดไปได้ง่ายๆ (ขอให้ดูรายละเอียดในเรื่องวิปัสสนา-หลักการพื้นฐาน หัวข้อกิเลสเกิดจากอะไร หมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบนะครับ)
3.) ... และเป็นทุกข์....?
4.) วิธีการพิจารณาเพื่อละรูป
  • ขอให้ดูรายละเอียดในทุกๆ เรื่องในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบนะครับ ที่สำคัญสำหรับเรื่องรูปก็คือ การสังเกต + พิจารณา = ให้เห็นความทุกข์ + โทษ + ความน่าเบื่อหน่ายในการบำรุงรักษา + ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน + ความแปรปรวนไปตลอดเวลา + ความไม่อยู่ในอำนาจ + ไม่เป็นไปตามที่ปรารถนา + ความเป็นที่เกิดของสิ่งสกปรก + ความเป็นรังของโรคร้ายนานาประการ + ฯลฯ ของรูป หรือที่มีสาเหตุมาจากรูป

    อันที่จริงแล้วร่างกายนี้ก็มีเฉพาะผิวหนัง+เส้นผม+คิ้ว เท่านั้นนะครับที่พอจะมีความน่าดูอยู่บ้าง แต่พอลอกผิวหนังออกแล้ว ก็จะเหลือแต่สิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัวน่าขยะแขยง รวมทั้งของเน่าเสียต่างๆ อยู่เท่านั้นนะครับ

    ลองคิดดูนะครับว่าสิ่งที่ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปดังใจปรารถนา แถมเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์นานาประการอย่างนี้ ควรหรือที่จะเรียกว่าเรา หรือของๆ เรา หรือตัวตนของเรา และสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน แปรปรวนไปตลอดเวลาอย่างนี้ ควรหรือที่จะยึดมั่นถือมั่น การยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่อยู่ในอำนาจ แปรปรวนไปอยู่ตลอดเวลา ก็มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่หวังได้ !!!

    แต่ความจริงแล้วผมไม่แนะนำให้ละรูปเพียงอย่างเดียวเท่านั้นนะครับ ที่ถูกแล้วจะต้องดูว่าผู้ปฏิบัติรู้สึกว่าส่วนไหนคือเรา (อาจจะเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือทั้งหมดรวมกันเลยก็ได้นะครับ) แล้วตามดูตามสังเกตส่วนนั้นไปเรื่อยๆ เพื่อให้เห็นธรรมชาติของสิ่งนั้นๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ก็จะคลายความยึดมั่นในสิ่งนั้นไปได้เรื่อยๆ เองครับ และเมื่อละ "เรา" ได้แล้ว "ของๆ เรา" ก็จะไม่มีไปเองครับ

    เมื่อปฏิบัติไปมากขึ้นๆ ความรู้สึกว่าเป็นเราอาจจะย้ายจุดไปได้นะครับ เช่น จากรูป > สังขาร > วิญญาณ เป็นต้น ก็ขอให้ย้ายตำแหน่งการสังเกตตามไปเรื่อยๆ นะครับ

    นอกจากนี้ ขอให้ดูรายละเอียดในเรื่องพระสารีบุตร หมวดตัวอย่างการบรรลุธรรม ประกอบด้วยนะครับ.
5.) .....และผลการทดสอบ....เป็นอย่างไร?
  • 5.1) ผลทั่วไปนั้นเป็นสิ่งที่รู้ได้เฉพาะตนนะครับ ซึ่งสามารถเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานได้ โดยดูที่เรื่องอริยบุคคล 8 ประเภทและการละกิเลส หมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบครับ ที่สำคัญคือดูที่ความยึดมั่นถือมั่นที่เหลืออยู่ และกิเลสต่างๆ ที่มีอยู่นะครับ
  • 5.2) สำหรับเรื่องรูปโดยเฉพาะนั้น ก็ดูที่ความยึดมั่นถือมั่นในรูปหรือความยินดีในรูปหรือการมีรูป หรือความรู้สึกว่ารูปเป็นเรา หรือของๆ เรา หรือเป็นตัวเป็นตนของเรา เป็นสำคัญครับ

หวังว่าจะให้ความกระจ่างได้ตามสมควรนะครับ ถ้ายังไม่กระจ่าง หรืออยากทราบอะไรเพิ่มเติม ก็ขอเชิญถามมาใหม่ได้ตามสบาย ไม่ต้องเกรงใจนะครับ ผมยินดีตอบให้ทุกฉบับ

ธัมมโชติ


เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ

คำถาม

Subject: สวัสดีครับ

ผมเข้าไปอ่านมา ใน web อะครับ แต่ไม่ค่อยเข้าใจ บทความนี้ ครับ (เรื่องพระวักกลิ (อีกรูปหนึ่ง) ในหมวดตัวอย่างการบรรลุธรรม - ธัมมโชติ) ช่วยอธิบายหน่อยครับ

การฆ่าตัวตายชนิดหนึ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตำหนิ คือการฆ่าตัวตายที่ไม่ต้องเกิดใหม่อีก ซึ่งมีภิกษุหลายรูปได้ทำเช่นนี้ โดยที่ส่วนใหญ่จะอาศัยการพิจารณาทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นก่อนตาย เพื่อละความยินดีพอใจในการเกิดใหม่ รวมถึงความยินดีพอใจและความยึดมั่นถือมั่น ในรูปนามทั้งหลายลงไป เพราะเห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากรูปนามนั้น

ผมงงตรงที่ว่า พอพระภิกษุ พิจารณาทุกขเวทนา แล้ว ก็ฆ่าตัวตาย เลยเหรอครับ ที่ไม่บาปเพราะ ก่อนตาย จิตไม่ได้เศร้าเหรอ ครับ

ขอบคุณมากครับ


ตอบ

เรียน คุณ...

ขอบคุณครับที่มีความสนใจในเว็บไซต์ธัมมโชติ
สำหรับคำถามที่ถามมานั้น ผมขอตอบอย่างนี้ครับ

ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจเรื่องบาปกับบุญก่อนนะครับ
  • บุญคือการชำระจิตให้ผ่องใส (จากกิเลส)
  • บาปคือการทำให้จิตเศร้าหมอง (ด้วยกิเลส - ความโลภ ความโกรธ ความหลง - ขอให้ดูรายละเอียดของจิตแต่ละประเภทในเรื่องลำดับขั้นของจิต ในหมวดบทวิเคราะห์ ประกอบนะครับ)

คนทั่วไปก่อนฆ่าตัวตายนั้น จิตจะน้อมไปในทางโทสะ (ความโกรธ เศร้า หดหู่ หมดหวัง กลัว) (ดูเรื่องโทษของการฆ่าตัวตาย ในหมวดบทวิเคราะห์ ประกอบนะครับ) แต่การฆ่าตัวตายของภิกษุในกรณีที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตำหนินั้น ผมเข้าใจว่าท่านคงไม่น้อมใจไปในทางโทสะ แต่น้อมใจไปในความเห็นโทษภัยของรูปนาม หรือร่างกาย/จิตใจ เพื่อที่จะละคลายความยึดมั่นในรูปนามทั้งหลายลงไปนะครับ ซึ่งจิตในลักษณะนี้ไม่ใช่กิเลส แต่เป็นวิปัสสนาปัญญาซึ่งเป็นมหากุศลจิตครับ

และเมื่อทุกขเวทนาอันแรงกล้าก่อนที่ท่านจะสิ้นลมบังเกิดขึ้น ท่านก็ไม่ปล่อยให้โทสะเกิดขึ้น (คือไม่รู้สึกหวาดกลัว หรือทุกข์ทรมานใจใดๆ เลย จะมีก็เพียงทุกข์ทางกายเท่านั้นนะครับ) และยังใช้ประโยชน์จากทุกขเวทนาทางกายนั้น ในการตัดความเยื่อใย ยินดีในรูปนามทั้งหลาย และชีวิตในวัฏสงสารลงไปด้วยครับ ซึ่งจิตของท่านในขณะเหล่านั้นย่อมจะเป็นบุญ เป็นกุศลอย่างยิ่ง ไม่ได้เป็นบาปเลยนะครับ

หวังว่าจะพอทำให้คุณ... หายงงได้บ้างนะครับ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยในเรื่องอื่นๆ อีก ก็เมล์มาถามได้เรื่อยๆ นะครับ ผมยินดีตอบให้ทุกฉบับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ

5 ความคิดเห็น :

  1. ขอเรียนถามว่า
    ๑. เจ้ากรรมนายเวรในทางพระพุทธศาสนามีหรือไม่ ถ้ามีทำไมถึงมาตามติดมาทำร้ายเราได้
    ๒. จุดประสงค์และอานิสงค์ของการเดินจงกรม
    ในสมัยพุทธกาลมีการเดินจงกรมหรือไม่
    การเดินจงกรมที่ถูกวิธีต้องทำอย่างไร มีบางที่พาเดินไปในที่ขรุขระ มีกรวดหินเดินแล้วเจ็บเท้ามากทำให้ไม่มีสมาธิในการเดิน และเดินเร็วมาก ไม่ทราบว่าเป็นการเดินที่ถูกวิธีหรือไม่

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      ๑. เจ้ากรรมนายเวรในทางพระพุทธศาสนามีหรือไม่ ถ้ามีทำไมถึงมาตามติดมาทำร้ายเราได้

      >>> เรื่องเกี่ยวกับเจ้ากรรมนายเวรที่มีกล่าวถึงในพระพุทธศาสนา ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการจองเวรของนางยักษ์ชื่อกาลีและหญิงคนหนึ่ง ซึ่งในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม ๒๕ หน้า ๒๕ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ยมกวรรค มีข้อความดังนี้ครับ

      ๔. กาลียักขินีวัตถุ
      เรื่องนางยักษ์ชื่อกาลี
      (พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางยักษ์ชื่อกาลีและหญิงคนหนึ่ง ดังนี้)
      [๕] เพราะว่าในกาลไหน ๆ เวรทั้งหลายในโลกนี้
      ย่อมไม่สงบระงับด้วยเวร
      แต่เวรทั้งหลายย่อมสงบระงับด้วยการไม่จองเวร
      นี้เป็นธรรมเก่า

      รายละเอียดการจองเวรกันหลายภพหลายชาติของคู่เวรคู่นี้ อ่านได้ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาซึ่งได้ขยายความเรื่องนี้เอาไว้ ตามลิ้งค์นี้ครับ เรื่องความเกิดขึ้นของนางกาลียักษิณี

      สาเหตุที่เจ้ากรรมนายเวรสามารถตามมาทำร้ายเราได้นั้น ก็เทียบเคียงได้กับการอธิษฐานปรารถนาพุทธภูมิของพระโพธิสัตว์ หรือการอธิษฐานปรารถนาเป็นพระสาวกที่เป็นเอตทัคคะครับ คือด้วยแรงอธิษฐานหรือความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่ฝังอยู่ในใจนั้น ทำให้เมื่อเกิดในชาติต่อๆ ไป ความปรารถนาที่ยังฝังอยู่ในใจก็จะส่งผลให้มีจิตที่มุ่งมั่นในสิ่งที่ปรารถนานั้นต่อไปเรื่อยๆ และบำเพ็ญบุญบารมีจนกระทั่งสำเร็จตามที่หวังเอาไว้

      การจองเวรก็เช่นเดียวกันครับ ความแค้นที่ฝังลึกอยู่ในใจก็จะทำหน้าที่เป็นเหมือนแรงอธิษฐานปรารถนาทำลายล้างผู้ที่สร้างความโกรธแค้นเอาไว้ให้เช่นเดียวกัน ดังเช่นตัวอย่างในลิ้งค์ข้างต้น

      ลบ
    2. ๒. จุดประสงค์และอานิสงค์ของการเดินจงกรม
      ในสมัยพุทธกาลมีการเดินจงกรมหรือไม่
      การเดินจงกรมที่ถูกวิธีต้องทำอย่างไร มีบางที่พาเดินไปในที่ขรุขระ มีกรวดหินเดินแล้วเจ็บเท้ามากทำให้ไม่มีสมาธิในการเดิน และเดินเร็วมาก ไม่ทราบว่าเป็นการเดินที่ถูกวิธีหรือไม่

      >>> การเดินจงกรมและการนั่งสมาธิเป็นการปฏิบัติตามปกติของภิกษุในสมัยพุทธกาลครับ แม้แต่พระจักขุบาลเถระภายหลังจากที่ท่านตาบอดสนิททั้ง 2 ข้างแล้ว ท่านก็ยังเดินจงกรมอยู่เสมอครับ

      สำหรับจุดประสงค์ของการเดินจงกรมนั้น ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม ๓๕ หน้า ๓๙๑ พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๓.อัปปมัญญาวิภังค์] ๑.สุตตันตภาชนีย์ กล่าวไว้ดังนี้ครับ

      [๕๑๙] ภิกษุเป็นผู้หมั่นประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ตลอดปฐมยามและปัจฉิมยาม เป็นไฉน
      ภิกษุในธรรมวินัยนี้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดีด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน
      ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี
      สำเร็จสีหไสยาสน์โดยการนอนตะแคงข้างขวา เท้าซ้อนเท้า มีสติสัมปชัญญะ ตั้งใจว่าจะลุกขึ้นตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี
      ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดีด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี
      ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้หมั่นประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ตลอดปฐมยามและปัจฉิมยามด้วยประการฉะนี้

      คำว่า "ธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี" ก็คือนิวรณ์ 5 นั่นเองครับ

      อานิสงส์ของการเดินจงกรม ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม ๒๒ หน้า ๔๑ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ปัญจังคิกวรรค มีดังนี้ครับ

      ๙. จังกมสูตร
      ว่าด้วยการเดินจงกรม

      [๒๙] ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งการเดินจงกรม ๕ ประการนี้
      อานิสงส์แห่งการเดินจงกรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ

      ๑. เป็นผู้มีความอดทนต่อการเดินทางไกล
      ๒. เป็นผู้มีความอดทนต่อการบำเพ็ญเพียร
      ๓. เป็นผู้มีอาพาธน้อย
      ๔. อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อยได้ง่าย
      ๕. สมาธิที่ได้เพราะการเดินจงกรมตั้งอยู่ได้นาน

      ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งการเดินจงกรม ๕ ประการนี้แล

      เนื่องจากการเดินจงกรมนั้นเป็นการทำสมาธิแบบเคลื่อนไหว ดังนั้น สมาธิที่ได้จึงตั้งมั่นได้นานกว่าสมาธิจากการนั่งหลับตาครับ เพราะจะมีความคุ้นชินกับสิ่งเร้าต่างๆ มากกว่า

      สำหรับรายละเอียดวิธีการเดินจงกรมนั้นไม่มีปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎกเลยครับ จึงยากที่จะบอกได้ว่าในสมัยพุทธกาลนั้นเดินอย่างไรกันแน่ แต่จุดประสงค์หลักของการเดินจงกรมก็คือการฝึกสติ สมาธิ และวิปัสสนาปัญญา จุดประสงค์รองก็เช่น แก้ง่วง ดังนั้น ถ้าเดินแล้วไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ก็ควรปรับปรุงแก้ไขวิธีการเดินครับ

      การจะเดินแบบไหนก็ขึ้นกับวัตถุประสงค์และสภาวจิตในขณะนั้นด้วยครับ เช่น

      - ถ้ากำลังฟุ้งซ่าน หรือง่วงนอน การเดินช้าๆ จิตก็จะหลุดได้ง่าย ก็ต้องเดินเร็วขึ้น หรือเดินในที่ๆ ยากลำบาก ต้องการการระมัดระวังที่มากขึ้น เช่น มีอุปสรรคกีดขวาง หรือเดินบนไม้คาน จิตก็จะจดจ่อกับการเดินได้ง่ายขึ้นครับ

      - ถ้าจิตสงบดีแล้ว การเดินช้าๆ ก็จะทำให้ได้สมาธิที่ลึกขึ้นครับ

      การเดินจงกรมในที่ขรุขระ มีกรวดหิน (เดินแล้วเจ็บเท้ามากทำให้ไม่มีสมาธิในการเดิน) และเดินเร็วมาก ตามที่ถามมานั้น อาจมีจุดประสงค์ในการสร้างขันติบารมี และวิริยบารมี รวมถึงการฝึกสติก็เป็นไปได้ครับ

      การปฏิบัติทั้งการเดินจงกรมและการนั่งกรรมฐานนั้นมีหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบก็เหมาะกับผู้ปฏิบัติและสภาวจิตที่แตกต่างกันไป ไม่มีรูปแบบไหนที่เหมาะกับทุกคนทุกสภาวจิตครับ ต้องลองปฏิบัติแล้วปรับปรุงแก้ไข หรือปรับเปลี่ยนให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติแต่ละคนครับ แม้แต่ในคนคนเดียวกันแต่สภาวจิตต่างกันก็ยังอาจต้องใช้รูปแบบที่ต่างกันเลยครับ

      ลบ
  2. มีผู้เคยบอกว่า ถ้าสมาทานถือศีลแปด แล้วทำผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งถือว่าผืดทุกข้อ ศีลขาด แต่ถ้าสมาทานถือศีลห้า ถ้าทำผิดข้อใดข้อหนึ่ง ถือว่าผิดเฉพาะข้อนั้น ถูกต้องไหมครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ความแตกต่างของคำอาราธนาศีล 5 กับศีล 8 คือคำอาราธนาศีล 5 จะมีคำว่า "วิสุง วิสุง" ซึ่งแปลว่าแยก คือแยกส่วนหรือแยกข้ออยู่ด้วยครับ จึงเป็นการอาราธนาศีลแต่ละข้อเป็นส่วนๆ อิสระกัน เมื่อผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งจึงถือว่าไม่เกี่ยวข้องกับศีลข้ออื่นๆ

      ส่วนคำอาราธนาศีล 8 ไม่มีคำว่า "วิสุง วิสุง" จึงเป็นการสมาทานแบบองค์รวม เมื่อผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งจึงทำให้องค์รวมทั้งหมดขาดไปด้วยครับ

      ลบ