Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

ภพภูมิในพระพุทธศาสนา

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้จะแสดงภพภูมิต่างๆ ตามหลักของพระพุทธศาสนาซึ่งมีทั้งสิ้น 31 ภูมิตามลำดับชั้นนะครับ และตอนท้ายจะเป็นเรื่องนรกที่มีในพระไตรปิฎกครับ

ในทางพระพุทธศาสนานั้นแบ่งภพภูมิที่สิ่งมีชีวิตต่างๆ ในวัฏสงสารจะสามารถไปเกิดได้ตามผลกรรมของตนไว้ทั้งสิ้น 31 ภูมิใหญ่ๆ เรียงจากภูมิสูงไปหาภูมิต่ำได้ดังนี้นะครับ (ดูจากล่างขึ้นบน จะเข้าใจได้ง่ายกว่านะครับ)


อรูปภูมิ
4
ชั้น
เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ
อากิญจัญญายตนภูมิ
วิญญาณัญจายตนภูมิ
อากาสานัญจายตนภูมิ
รูปภูมิ
16
ชั้น
จตุตถฌานภูมิ
7
ชั้น
สุทธาวาสภูมิ
5
ชั้น
อกนิฏฐาภูมิ
สุทัสสีภูมิ
สุทัสสาภูมิ
อตัปปาภูมิ
อวิหาภูมิ
เวหัปผลาภูมิ
อสัญญสัตตภูมิ
ตติยฌานภูมิ
3 ชั้น
สุภกิณหกา
อัปปมาณสุภา
ปริตตสุภา
ทุติยฌานภูมิ
3 ชั้น
อาภัสสรา
อัปปมาณาภา
ปริตตาภา
ปฐมฌานภูมิ
3 ชั้น
มหาพรหมาภูมิ
พรหมปุโรหิตาภูมิ
พรหมปาริสัชชาภูมิ
กามภูมิ
11
ชั้น
กามสุคติภูมิ
7
ชั้น
สวรรค์
6
ชั้น
ปรนิมมิตวสวัตตี
นิมมานรตี
ดุสิต
ยามา
ดาวดึงส์
จาตุมหาราชิกา
มนุษยภูมิ
อบายภูมิ
4
ชั้น
สัตว์เดรัจฉาน
อสุรกาย
เปรต
นรกภูมิ

ลักษณะพิเศษในบางภพภูมิ

  • อริยบุคคลทุกประเภทจะไม่ไปเกิดในอบายภูมินะครับ
  • สิ่งมีชีวิตในอบายภูมิจะบรรลุมรรคผลนิพพานไม่ได้
  • เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกามีทั้งที่อยู่ระดับพื้นดิน ที่เรียกว่าภุมมัฏฐเทวดา เช่น รุกขเทวดา เป็นต้น และที่อยู่ในอากาศ ซึ่งเรียกว่า อากาสเทวดา นะครับ
  • สวรรค์ชั้นดุสิตเป็นที่รวมของนักปราชญ์และผู้มีปัญญา รวมถึงพระโพธิสัตว์ที่รอมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าด้วยครับ
  • รูปภูมิเป็นที่เกิดของผู้ที่ทำสมาธิจนถึงขั้นรูปฌานนะครับ (ดูเรื่องสมาธิ 40 วิธีและฌานสมาบัติ ประกอบนะครับ)
  • ในชั้นรูปภูมิและอรูปภูมิจะไม่มีเพศชายเพศหญิงนะครับ เพราะผู้ที่ไปเกิดในชั้นเหล่านี้เป็นผู้ที่ทำสมาธิจนได้ฌานจึงไม่มีนิวรณ์ทั้ง 5 เกิดขึ้นในใจนะครับ คือถ้านิวรณ์เกิดขึ้นเมื่อใดฌานก็เสื่อมเมื่อนั้นนะครับ ซึ่งหนึ่งในนิวรณ์ 5 นั้นก็คือกามฉันทนิวรณ์นะครับ (ดูเรื่องนิวรณ์ 5 และวิธีแก้ไข ประกอบนะครับ) เมื่อไม่มีความยินดีในกามจึงไม่มีเพศครับ ทุกชีวิตในภูมินี้จะมีลักษณะเหมือนเพศชายนะครับ แต่เนื่องจากเป็นเพศแบบเดียวกันทั้งหมดจึงไม่มีการเรียกว่าเป็นเพศอะไรครับ ส่วนอรูปภูมินั้นมีแต่นามขันธ์ 4 ไม่มีรูปขันธ์จึงไม่มีร่างกายให้แสดงเพศอยู่แล้วครับ
  • ผู้ที่เกิดในอสัญญสัตตภูมิจะมีเฉพาะรูปขันธ์เท่านั้นนะครับ ไม่มีนามขันธ์อยู่เลย คือจะมีเฉพาะร่างกายไม่มีความรู้สึกใดๆ เลยครับ เกิดในอิริยาบทใดก็จะอยู่อย่างนั้นตลอดชีวิต ไม่มีการเคลื่อนไหว เพราะก่อนตายในชาติก่อนได้จตุตถฌานแต่ไม่ยินดีในการมีความรู้สึกครับ ที่เรียกว่าผู้มีขันธ์ขันธ์เดียว นั่นเองครับ
  • สุทธาวาสภูมิเป็นที่เกิดของอนาคามีบุคคลเท่านั้นนะครับ (ปุถุชนและอริยบุคคลชั้นต่ำกว่านี้จะไปเกิดที่นี่ไม่ได้) ในชั้นนี้จึงมีเฉพาะอนาคามีบุคคลและพระอรหันต์เท่านั้นครับ พระอรหันต์ในที่นี้คือตอนเกิดตอนแรกเป็นอนาคามีบุคคลแล้วถึงบรรลุเป็นพระอรหันต์ในชั้นนี้นะครับ
  • อรูปภูมิเป็นที่เกิดของผู้ที่ทำสมาธิจนถึงขั้นอรูปฌาน (ดูเรื่องสมาธิ 40 วิธีและฌานสมาบัติ ประกอบนะครับ)
  • ผู้ที่เกิดในอรูปภูมิจะมีเฉพาะนามขันธ์ 4 คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณขันธ์เท่านั้นนะครับ ไม่มีรูปขันธ์ คือไม่มีร่างกายอยู่เลย เพราะจิตไม่มีความยินดีในรูปทั้งหลายครับ ที่เรียกว่าผู้มีขันธ์ 4 ขันธ์ นั่นเองครับ

เรื่องนรกที่มีในพระไตรปิฎก


พระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก เล่ม 20 ขุททกนิกาย ชาดก หมวดสัฏฐินิบาตชาดก

สังกิจจชาดก


สังกิจจฤาษีแสดงธรรมและอธรรมแก่พระเจ้าพรหมทัตต์


(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๕ ข้อ : ๖๙)

[๙๐] ลำดับนั้น คนเฝ้าสวนเห็นพระเจ้าพรหมทัตต์จอมทัพประทับนั่งอยู่ ได้กราบทูลแด่ท้าวเธอว่า สังกิจจฤาษีที่พระองค์ทรงพระกรุณา ซึ่งยกย่องกันว่าได้ดีแล้วในหมู่ฤาษีทั้งหลายมาถึงแล้ว เชิญพระองค์รีบเสด็จออกไปพบท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่โดยเร็วเถิด

ก็ลำดับนั้น พระราชาผู้จอมทัพอันมิตรและอำมาตย์ล้อมแล้ว เสด็จขึ้นรถอันเทียมด้วยม้าอาชาไนย รีบเสด็จไป พระราชาผู้ทรงบำรุงแคว้นของชาวกาสีให้เจริญ ทรงเปลื้องราชกกุธภัณฑ์ ๕ อย่าง คือ พัดวาลวิชนี อุณหิส พระขรรค์ เศวตฉัตรและฉลองพระบาทวางไว้แล้ว เสด็จลงจากรถ ทรงดำเนินเข้าไปหาสังกิจจฤาษี ผู้นั่งอยู่ในพระราชอุทยานอันมีนามว่าทายปัสสะ ครั้นเสด็จเข้าไปหาแล้วก็ทรงบันเทิงอยู่กับฤาษี ครั้นทรงสนทนาปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นประทับนั่งแล้ว ลำดับนั้นได้ทรงสำคัญกาลอยู่ แต่นั้นทรงปฏิบัติเพื่อจะตรัสถามกรรมอันเป็นบาป จึงตรัสว่า ข้าพเจ้าขอถามท่านสังกิจจฤาษี ผู้ได้รับยกย่องว่าได้ดีแล้วในหมู่ฤาษีทั้งหลาย อันหมู่ฤาษีทั้งหลายห้อมล้อม นั่งอยู่ในทายปัสสะอุทยานว่า นรชนผู้ประพฤติล่วงธรรม (เหมือน) ข้าพเจ้าประพฤติล่วงธรรมแล้วไปสู่คติอะไรในปรโลก ข้าพเจ้าถามแล้ว ได้โปรดบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้า.

[๙๑] สังกิจจฤาษี ได้กล่าวตอบพระราชาผู้บำรุงแคว้นของชาวกาสีให้เจริญ ประทับนั่งอยู่ในทายปัสสะอุทยานว่า ขอถวายพระพร ขอมหาบพิตรทรงฟังอาตมภาพ ถ้าเมื่อบุคคลเว้นทางผิด ทำตามคำของบุคคลผู้บอกทางถูก โจรผู้เป็นเสี้ยนหนามก็ไม่พึงพบหน้าของบุคคลนั้น เมื่อบุคคลปฏิบัติอธรรม แต่ถ้ากระทำตามคำของบุคคลผู้พร่ำสอนธรรม บุคคลนั้นไม่พึงไปสู่ทุคติ.

[๙๒] ขอถวายพระพร ธรรมเป็นทางถูก ส่วนอธรรมเป็นทางผิด อธรรมย่อมนำไปสู่นรก ธรรมย่อมให้ถึงสุคติ นรชนผู้ประพฤติอธรรม มีความเป็นอยู่ไม่สม่ำเสมอ ละโลกนี้แล้วย่อมไปสู่คติใด อาตมภาพจะกล่าวคติ คือ นรกเหล่านั้น ขอพระองค์ทรงสดับอาตมภาพเถิด

นรก ๘ ขุมนี้ คือ สัญชีวนรก ๑ กาฬสุตตนรก ๑ สังฆาตนรก ๑ โรรุวนรก ๑ มหาโรรุวนรก ๑ ต่อมาถึงมหาอเวจีนรก ๑ ตาปนนรก ๑ ปตาปนนรก ๑ อันบัณฑิตทั้งหลายกล่าวไว้แล้ว ก้าวล่วงได้ยาก เกลื่อนกล่นไปด้วยเหล่าสัตว์ผู้มีกรรมหยาบช้า

เฉพาะขุมหนึ่งๆ มี อุสสทนรก ๑๖ ขุม เป็นที่ทำบุคคลผู้กระด้างให้เร่าร้อน น่ากลัว มีเปลวเพลิงรุ่งโรจน์ มีภัยใหญ่ขนลุกขนพอง น่าสพึงกลัว มีภัยรอบข้าง เป็นทุกข์ มี ๔ มุม ๔ ประตู จัดแบ่งไว้เป็นส่วนๆ มีกำแพงเหล็กกั้นโดยรอบ มีฝาเหล็กครอบ ภาคพื้นของนรกเหล่านั้นล้วนแต่เหล็กแดงลุกโพลง ประกอบด้วยเปลวไฟ แผ่ไปตลอด ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ ตั้งอยู่ทุกเมื่อ สัตว์ทั้งหลายมีเท้าในเบื้องบน มีศีรษะในเบื้องต่ำ ตกลงไปในนรกนั้น

สัตว์เหล่าใดกล่าวล่วงเกินฤาษีทั้งหลายผู้สำรวมแล้ว ผู้มีตบะ สัตว์เหล่านั้นผู้มีความเจริญอันขจัดแล้ว ย่อมหมกไหม้อยู่ในนรก เหมือนปลาที่ถูกเฉือนให้เป็นส่วนๆ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายผู้มีปรกติกระทำกรรมอันหยาบช้า มีตัวถูกไฟไหม้ทั้งข้างในข้างนอกเป็นนิจ แสวงหาประตูออกจากนรก ก็ไม่พบประตูที่จะออกตลอดปีนับไม่ถ้วน สัตว์เหล่านั้นวิ่งไปทางประตูด้านหน้า จากประตูด้านหน้า วิ่งกลับมาข้างหลัง วิ่งไปทางประตูด้านซ้าย จากประตูด้านซ้ายวิ่งกลับมาทางประตูด้านขวา วิ่งไปถึงประตูใดๆ ประตูนั้นๆ ก็ปิดเสีย สัตว์ทั้งหลายผู้ไปสู่นรก ย่อมประคองแขนคร่ำครวญเสวยทุกข์มิใช่น้อย นับได้แสนปีเป็นอันมาก

เพราะเหตุนั้น บุคคลไม่ควรรุกรานท่านที่เป็นคนดี ผู้สำรวม มีตบะธรรม ซึ่งเป็นดังอสรพิษมีเดช กำเริบร้ายล่วงได้ยาก ฉะนั้นพระเจ้าอัชชุนะ ผู้เป็นใหญ่ในแคว้นเกตกะ มีพระกายกำยำ เป็นนายขมังธนู มีพระหัตถ์ตั้งพัน มีมูลอันขาดแล้ว เพราะประทุษร้ายพระฤาษีโคตมโคตร พระเจ้าทัณฑกีได้เอาธุลีโปรยรดกีสวัจฉะฤาษี ผู้หาธุลีมิได้ พระราชานั้นถึงแล้วซึ่งความพินาศ ดุจต้นตาลขาดแล้วจากรากฉะนั้น พระเจ้าเมชฌะคิดประทุษร้ายในมาตังคะฤาษีผู้เรืองยศ รัฐมณฑลของพระเจ้าเมชฌะ พร้อมด้วยบริษัทก็สูญสิ้นไปในครั้งนั้น ชาวเมืองอันธกวินทัย ประทุษร้ายกัณหทีปายนฤาษี ช่วยกันเอาไม้พลองรุมตีจนตาย ก็ไปเกิดในยมสาธนนรก ส่วนพระเจ้าเจติยราชนี้ ได้ประทุษร้ายกปิลดาบส แต่ก่อนเคยเหาะเหินเดินอากาศได้ ภายหลังเสื่อมฤทธิ์ ถูกแผ่นดินสูบถึงมรณกาล

เพราะเหตุนั้นแล บัณฑิตทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญการลุอำนาจแห่งฉันทาคติเป็นต้น บุคคลไม่ควรเป็นผู้มีจิตประทุษร้าย พึงกล่าววาจาอันประกอบด้วยสัจจะ ถ้าว่านรชนผู้ใดมีใจประทุษร้าย เพ่งเล็งท่านผู้รู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ นรชนผู้นั้นก็ไปสู่นรกเบื้องต่ำ ชนเหล่าใดพยายามกล่าววาจาหยาบคาย บริภาษบุคคลผู้เจริญทั้งหลาย ชนเหล่านั้นไม่ใช่เหล่ากอไม่ใช่ทายาท เป็นเหมือนต้นตาลมีรากอันขาดแล้ว

อนึ่ง ผู้ใดฆ่าบรรพชิตผู้ทำกิจเสร็จแล้ว ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้นั้นจะต้องหมกไหม้อยู่ในกาฬสุตตนรกตลอดกาลนาน

อนึ่ง พระราชาพระองค์ใดตั้งอยู่ในอธรรม กำจัดชาวแว่นแคว้น ทำชาวชนบทให้เดือดร้อน สิ้นพระชนม์ไปแล้ว จะต้องหมกไหม้อยู่ในตาปนนรกในโลกหน้า และพระราชาพระองค์นั้นจะต้องหมกไหม้อยู่ตลอดแสนปีทิพย์ อันกองเพลิงห้อมล้อมเสวยทุกขเวทนา เปลวไฟมีรัศมีซ่านออกจากกายของสัตว์นั้น สรรพางค์กายพร้อมทั้งปลายขนและเล็บ ของสัตว์ผู้มีไฟเป็นภักษา มีเปลวไฟเป็นอันเดียวกัน สัตว์นรกมีตัวถูกไฟไหม้ทั้งข้างใน ข้างนอกอยู่เป็นนิตย์ เป็นผู้อันทุกข์เบียดเบียนร้องไห้คร่ำครวญอยู่ เหมือนช้างถูกนายหัตถาจารย์แทงด้วยขอ ฉะนั้น

ผู้ใดเป็นคนต่ำช้า ฆ่าบิดาเพราะความโลภหรือเพราะความโกรธ ผู้นั้นต้องหมกไหม้อยู่ในกาฬสุตตนรกสิ้นกาลนาน บุคคลผู้ฆ่าบิดาเช่นนั้น ต้องหมกไหม้อยู่ในโลหกุมภีนรก นายนิริยบาลทั้งหลายเอาหอกแทงสัตว์นรกนั้น ผู้ถูกไฟไหม้อยู่จนไม่มีหนัง ทำให้ตาบอดให้กินมูตรกินคูถ กดสัตว์นรกเช่นนั้นให้จมลงในน้ำแสบ นายนิริยบาลทั้งหลาย ให้สัตว์นรกกินก้อนคูถที่ร้อนจัด และก้อนเหล็กแดงอันลุกโพลง ให้ถือผานทั้งยาวทั้งร้อนสิ้นกาลนาน งัดปากให้อ้าแล้วเอาเชือกผูกไว้ ยัดก้อนเหล็กแดงเข้าไปในปาก ฝูงสุนัขแดง ฝูงสุนัขด่าง ฝูงแร้ง ฝูงกา และฝูงนกตระกรุม ล้วนมีปากเป็นเหล็ก มากลุ้มรุมจิกกัดลิ้นให้ขาดแล้วกินลิ้นอันมีเลือดไหล เหมือนกินของอันเป็นเดนเต็มไปด้วยเลือดฉะนั้น นายนิริยบาลเที่ยวเดินทุบตีสัตว์นรกผู้ฆ่าบิดานั้น ซึ่งมีร่างกายอันแตกไปทั่ว เหมือนผลตาลที่ถูกไฟไหม้

จริงอยู่ ความยินดีของนายนิริยบาลเหล่านั้น เป็นการเล่นสนุก แต่สัตว์นรกต้องได้รับทุกข์ คนผู้ฆ่าบิดาเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้ ต้องอยู่ในนรกเช่นนั้น

ก็บุตรฆ่ามารดา จากโลกนี้แล้วต้องไปสู่ที่อยู่แห่งพระยายม ย่อมเข้าถึงความทุกข์อย่างยิ่งด้วยผลแห่งกรรมของตน พวกนายนิริยบาลที่ร้ายกาจย่อมบีบคั้นสัตว์ผู้ฆ่ามารดา ด้วยผาลเหล็กแดงบ่อยๆ ให้สัตว์นรกดื่มกินโลหิตที่เกิดแต่ตน อันไหลออกจากกายของตน ร้อนดังหนึ่งทองแดงที่ละลายคว้างบนแผ่นดิน สัตว์นรกนั้นลงไปสู่ห้วงน้ำเช่นกับหนองและเลือด น่าเกลียดดังซากศพเน่า มีกลิ่นเหม็นดุจก้อนคูถ หมู่หนอนในห้วงน้ำนั้นมีกายใหญ่ มีปากเป็นเหล็กแหลม ทำลายผิวหนัง ชอนไชไปในเนื้อและเลือด กัดกินสัตว์นรกนั้น ก็สัตว์นั้นถึงนรกนั้น แล้วจมลงไปประมาณชั่วร้อยบุรุษ ศพเน่าเหม็นฟุ้งไปตลอดร้อยโยชน์โดยรอบ

จริงอยู่ แม้จักษุของตนผู้มีจักษุย่อมคร่ำคร่าเพราะกลิ่นนั้น ดูกรพระเจ้าพรหมทัตต์ บุคคลผู้ฆ่ามารดาย่อมได้รับทุกข์เห็นปานนี้

พวกหญิงรีดลูกย่อมก้าวล่วงลำธารนรกอันขรุขระ ที่ก้าวล่วงได้แสนยากดุจคมมีดโกน แล้วตกไปสู่แม่น้ำเวตรณีที่ไปได้ยาก ต้นงิ้วทั้งหลายล้วนแต่เป็นเหล็กมีหนาม ๑๖ คุลี มีกิ่งห้อยย้อยปกคลุมแม่น้ำเวตรณีที่ไปได้ยากทั้งสองฟาก สัตว์นรกเหล่านั้นมีตัวสูงโยชน์หนึ่ง ถูกไฟที่เกิดเองแผดเผา มีเปลวรุ่งเรืองยืนอยู่ดุจกองไฟตั้งอยู่ที่ไกล ฉะนั้น

หญิงผู้ประพฤตินอกใจสามีก็ดี ชายที่คบหาภรรยาผู้อื่นก็ดี ต้องตกอยู่ในนรกอันเร่าร้อน มีหนามคม สัตว์นรกเหล่านั้นถูกนายนิริยบาลทิ่มแทงด้วยอาวุธ กลับเอาศีรษะลงตกลงมานอนอยู่ ถูกทิ่มแทงด้วยหลาวเป็นอันมากตื่นอยู่ตลอดกาลทุกเมื่อ ครั้นพอรุ่งสว่าง นายนิริยบาลให้สัตว์นรกนั้นเข้าไปสู่โลหกุมภีอันใหญ่เปรียบดังภูเขา มีน้ำเสมอด้วยไฟอันร้อน

บุคคลผู้ทุศีล ถูกโมหะครอบงำ ย่อมเสวยกรรมของตน ที่ตนกระทำไว้ชั่วปางก่อน ตลอดวันตลอดคืนด้วย ประการฉะนี้

อนึ่ง ภริยาใดที่เขาช่วยมาด้วยทรัพย์ย่อมดูหมิ่นสามี แม่ผัว พ่อผัว หรือพี่น้องผัว นายนิริยบาลเอาเบ็ดมีสายเกี่ยวปลายลิ้นของหญิงนั้นคร่ามา สัตว์นรกนั้นเห็นลิ้นของตนยาวประมาณ ๑ วา เต็มไปด้วยหมู่หนอน ไม่อาจอ้อนวอนนายนิริยบาล ตายไปหมกไหม้ในตาปนนรก

พวกคนฆ่าแกะ ฆ่าสุกร ฆ่าปลา ดักเนื้อ พวกโจร คนฆ่าโค พวกพราน พวกคนผู้กระทำคุณในเหตุมิใช่คุณ (คนส่อเสียด) ถูกนายนิริยบาลเบียดเบียนด้วยหอกเหล็ก ฆ้อนเหล็ก ดาบและลูกศร มีหัวลง ตกลงสู่แม่น้ำแสบ

คนทำคดีโกง ถูกนายนิริยบาลทุบตีด้วยฆ้อนเหล็ก ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า แต่นั้นย่อมกินอาเจียนของสัตว์นรกเหล่าอื่นผู้ได้รับความทุกข์ทุกเมื่อ ฝูงกาบ้าน ฝูงสุนัข ฝูงแร้ง ฝูงนกป่าล้วนมีปากเหล็ก รุมกัดกินสัตว์นรก ผู้กระทำกรรมหยาบช้าดิ้นรนอยู่

ชนเหล่าใดเป็นอสัตบุรุษ อันธุลีปกปิด ให้เนื้อชนกันตายก็ดี ให้นกตีกันตายก็ดี ชนเหล่านั้นต้องไปตกอุสสทนรก.

[๙๓] สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไปสู่เบื้องบน เพราะกรรมที่ตนประพฤติดีแล้วในโลกนี้ ขอเชิญพระองค์ทอดพระเนตรผลของกรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว เทพเจ้าทั้งหลาย พร้อมทั้งพระอินทร์ พระพรหมมีอยู่ ดูกรมหาบพิตรผู้เป็นอธิบดีแห่งรัฐ เพราะเหตุนั้น อาตมภาพขอทูลมหาบพิตร ขอมหาบพิตรจงทรงประพฤติธรรม ดูกรพระราชา เชิญพระองค์ทรงประพฤติธรรม เหมือนอย่างธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ไม่เดือดร้อนในภายหลัง ฉะนั้น.

จบสังกิจจชาดก

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ

8 ความคิดเห็น :

  1. หมอฉัตร เนติฯ5 กันยายน 2560 เวลา 19:19

    ขอเรียนถามครับ
    ๑. กรรมใดที่ทำให้เกิดเป็นเปรต อสูรกาย สัตว์เดรัจฉาน
    ๒. เคยอ่านหนังสือว่า อสูรกายได้แก่ ผีต่าง ๆ ผีบรรพบุรุษ สัมภเวสี ถูกต้องไหมครับ
    ๓. อสุรกายอนุโมทนาบุญไม่ได้ใช่ไหมครับ
    ดังนั้น สัมภเวสีก็อนุโมทนาบุญไม่ได้
    ๔. คนที่ตายไปเพราะถูกโจรฆ่าที่ไม่บอกโจรว่าซ่อนสมบัติใต้ต้นมะม่วง ตายไปแล้วเป็นเปรตเฝ้าต้นมะม่วง ไม่รู้ว่าทำไมต้องเป็นเปรต คิดว่าเขาไม่ได้ทำอะไรผิด

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      ๑. กรรมใดที่ทำให้เกิดเป็นเปรต อสูรกาย สัตว์เดรัจฉาน

      >>> เรื่องนี้ขอแยกตอบเป็น 2 แนวทางนะครับ

      1. ตามคำสอนในชั้นเรียนอภิธรรมในปัจจุบันสอนว่า ความโลภ (โลภะ) ทำให้เกิดเป็นเปรต/อสุรกาย ความโกรธ (โทสะ) ทำให้เกิดเป็นสัตว์นรก ความหลง (โมหะ) ทำให้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

      2. ในพระไตรปิฎกไม่มีกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้โดยตรงครับ ว่ากรรมใดทำให้เกิดเป็นเปรต อสุรกาย หรือสัตว์เดรัจฉานแบบเฉพาะเจาะจง มีที่เป็นแนวทางได้ก็คือในส่วนของพระสุตตันตปิฎก (พระสูตร) ที่กล่าวถึงผลของการทำกรรมหนักๆ ซึ่งแต่ละเรื่องก็ทำกรรมแตกต่างกันไป หลากหลายแง่มุม เช่น ประพฤติผิดในกามอย่างหนัก ฆ่ามารดาบิดา ฯลฯ แต่เมื่อพูดถึงผลของกรรมก็จะกล่าวทำนองเดียวกันว่า เมื่อตายไป ด้วยผลของกรรมหนักนั้นก็ทำให้ไปเกิดในนรก เมื่อพ้นจากนรกแล้วด้วยเศษของกรรมที่เหลือทำให้ไปเกิดเป็นเปรต/อสุรกาย เมื่อพ้นจากภพภูมินั้นแล้วด้วยเศษของกรรมที่เหลือทำให้ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เมื่อพ้นจากกำเนิดเดรัจฉานแล้วด้วยเศษของกรรมที่เหลือเมื่อเกิดเป็นมนุษย์ก็จะได้รับผลของกรรมแตกต่างกันไป เช่น ฆ่าสัตว์ก็ทำให้อายุสั้น เบียดเบียน/ทรมานสัตว์ก็ทำให้มีโรคมาก กล่าวตู่พระอรหันต์/พระพุทธเจ้าก็ทำให้ถูกใส่ร้าย ฯลฯ

      คือไม่ว่าจะทำบาปกรรมอะไร ถ้ากรรมนั้นมีกำลังมากก็จะไปเกิดในนรกก่อนแล้วถึงไล่ตามภพภูมิขึ้นมาเรื่อยๆ ถ้ากรรมนั้นไม่หนักมากก็จะไปเกิดเป็นเปรต/อสุรกาย หรือสัตว์เดรัจฉานตามกำลังของกรรมครับ ไม่ได้แยกตามประเภทของกรรม

      ๒. เคยอ่านหนังสือว่า อสูรกายได้แก่ ผีต่าง ๆ ผีบรรพบุรุษ สัมภเวสี ถูกต้องไหมครับ

      >>> อสุรกายนั้นเป็นภูมิที่ใกล้เคียงกับเปรตครับ ข้อแตกต่างระหว่างเปรตกับอสุรกายคือ
      เปรต จะมีชีวิตอยู่กับความอดอยากหิวโหย ซึ่งมีทั้งจำพวกที่อยู่ใกล้กับมนุษย์จึงสามารถอนุโมทนารับส่วนบุญจากมนุษย์ได้ และจำพวกที่อยู่ห่างไกลออกไป

      อสุรกาย จะมีชีวิตอยู่กับความหวาดกลัว ความมืด ความหนาวเย็น เช่น อยู่ตามหน้าผาสูงชัน (ตามศัพท์ : สุระ = กล้าหาญ อสุระ = ไม่กล้า, ขลาดกลัว อสุรกาย = ผู้ที่อยู่อย่างหวาดกลัว)

      ผีต่าง ๆ ผีบรรพบุรุษ นั้นโดยทั่วไปเป็นคำกล่าวรวมๆ ถึงภพภูมิที่คนทั่วไปมองไม่เห็นนะครับ เพราะมองไม่เห็นจึงกลัวเอาไว้ก่อน เพราะไม่รู้ว่าเป็นยังไงแน่ ซึ่งอาจจะเป็น เปรต อสุรกาย หรือแม้แต่เทวดาก็ได้

      สัมภเวสี มาจากคำว่าสมภวะ หรือสมภพ = เสมอด้วยภพ = การเกิด
      สัมภเวสีหมายถึงผู้ที่แสวงหาการเกิด คือ ทุกชีวิตในทุกภพภูมิที่ไม่ใช่พระอรหันต์ครับ ทั้งสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา พรหม ที่ยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์จึงเป็นผู้แสวงหาภพหรือการเกิดอยู่

      ๓. อสุรกายอนุโมทนาบุญไม่ได้ใช่ไหมครับ
      ดังนั้น สัมภเวสีก็อนุโมทนาบุญไม่ได้

      >>> จาก "ปัญหาที่ ๘ ว่าด้วยการทำบุญให้ผู้ตาย" ในลิ้งค์นี้ มิลินทปัญหา ตอนที่ 30 กล่าวไว้ดังนี้ครับ

      ปัญหาที่ ๘ ว่าด้วยการทำบุญให้ผู้ตาย
      " ข้าแต่พระนาคเสน พวกทายกให้ทานแล้ว อุทิศให้แก่ผู้ที่ตายไปก่อนแล้วว่า ขอทานนี้จงมีแก่พวกนั้น ดังนี้ ขอถามว่า พวกนั้นได้รับผลจากทานนั้นบ้างหรือไม่ ? "
      " ขอถวายพระพร บางพวกก็ได้รับ บางพวกก็ไม่ได้รับ "
      " พวกไหนได้รับ พวกไหนไม่ได้รับ พระผู้เป็นเจ้า ? "
      " ขอถวายพระพร พวกเกิดในนรก สวรรค์ เดรัจฉาน ทั้ง ๓ จำพวกนี้ไม่ได้รับ และอีก ๓ จำพวก คือ จำพวกอสุรกาย จำพวกเปรตอดข้าวอดน้ำ จำพวกเปรตเพลิงไหม้อยู่เป็นนิจก็ไม่ได้รับ ได้รับแต่จำพวกปรทัตตูปชีวีเปรต คืออาศัยผู้อื่นอุทิศให้จำพวกเดียวเท่านั้น "

      สำหรับเรื่องสัมภเวสี ถ้าว่าตามหลักแล้วก็อย่างที่กล่าวในข้อ ๒. นะครับ ว่าครอบคลุมทุกภพภูมิ

      ๔. คนที่ตายไปเพราะถูกโจรฆ่าที่ไม่บอกโจรว่าซ่อนสมบัติใต้ต้นมะม่วง ตายไปแล้วเป็นเปรตเฝ้าต้นมะม่วง ไม่รู้ว่าทำไมต้องเป็นเปรต คิดว่าเขาไม่ได้ทำอะไรผิด

      >>> เรื่องนี้ตามหลักการก็เป็นไปได้ครับ

      คือถ้าคนคนนั้นมีจิตผูกพันกับสมบัตินั้นมาก จนขณะใกล้ตายก็นึกถึงสมบัตินั้นด้วยความยึดมั่นหวงแหน เมื่อตายแล้วก็ย่อมมีโอกาสสูงมากที่จะไปเกิดบริเวณที่ซ่อนสมบัตินั้นเอาไว้เพราะความผูกพันนั้น และเนื่องจากขณะใกล้ตายนั้นจิตประกอบด้วยความโลภ คือความยึดมั่นในสมบัตินั้นซึ่งเป็นอกุศลจิต ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จะเกิดเป็นเปรตได้ครับ

      ลบ
  2. หมอฉัตร เนติฯ6 กันยายน 2560 เวลา 14:12

    งงแล้วครับท่านอาจารย์
    ทำไมเวลากรวดน้ำ เขาสอนให้เรากรวดอุทิศให้เทวดา 16 ชั้นฟ้า 15 ชั้นดิน แต่มิลินทปัญหาว่าเทวดาบนสวรรค์รับทานเราไม่ได้
    แปลว่า ท่านได้แต่อนุโมทนาแค่นั้นใช่ไหมครับ
    ดังนั้น ในมิลินทปัญหา พวกที่รับทานเราไม่ได้ แต่เทวดาบนสวรรค์กับสัตว์นรกอนุโมทนากับเราได้ไหมครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      ที่กล่าวว่าผู้ที่ได้รับผลจากทานที่ผู้อื่นอุทิศให้มีเฉพาะพวกปรทัตตูปชีวีเปรต คือเปรตที่อาศัยผู้อื่นอุทิศให้จำพวกเดียวเท่านั้น หมายถึงกรณีที่เมื่อผู้รับอนุโมทนาบุญแล้วจะได้รับผลเป็นอาหารโดยตรงนะครับ

      ส่วนภพภูมิอื่นนอกจากนี้ รวมถึงมนุษย์และเทวดาทั้งหลายด้วย จะมีอาหารตามแบบของภพภูมิของตน ซึ่งไม่ใช่อาหารจากการอนุโมทนาบุญที่มีผู้อุทิศให้ ดังนั้น เมื่ออนุโมทนาบุญแล้วจึงไม่ได้รับผลบุญในรูปแบบของอาหารครับ แต่จะได้รับเป็นกุศลจิตคือความผ่องใสเบิกบานใจแทน ซึ่งก็คือได้รับเป็นบุญ (บุญคือสิ่งที่ทำให้จิตผ่องใส ไม่เศร้าหมองด้วยกิเลส) ไม่ใช่เป็นอาหารโดยตรงแบบพวกปรทัตตูปชีวีเปรต เมื่อจิตเป็นบุญเป็นกุศลแล้วสิ่งดีๆ ต่างๆ ก็จะตามมาเองครับ

      เรื่องที่พระนาคเสนตอบปัญหาของพระเจ้ามิลินท์ในมิลินทปัญหานั้น มีเนื้อความสอดคล้องกับที่พระพุทธเจ้าตอบคำถามของชาณุสโสณิพราหมณ์ ในชาณุสโสณิสูตร พระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ซึ่งจะมีเนื้อหาละเอียดกว่าในมิลินทปัญหามากครับ อ่านรายละเอียดได้ตามลิ้งค์นี้ครับ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔-๗ หน้า ๓๐๐ - ๓๔๙ เริ่มอ่านตั้งแต่หัวข้อ "๑๑. ชาณุสโสณิสูตร" หน้า ๓๒๕ เป็นต้นไปนะครับ

      สำหรับตัวอย่างการอนุโมทนาบุญของภพภูมิอื่น ดูเรื่องการอนุโมทนาบุญของเทวดาได้ที่ อรรถกถามัจฉทานชาดก ว่าด้วยบุญที่ให้ทานแก่ปลา ตามลิ้งค์นี้นะครับ อรรถกถามัจฉทานชาดก ซึ่งกล่าวเอาไว้ว่า

      "พระโพธิสัตว์ได้ให้อาหารที่เหลือแก่ปลาทั้งหลายในแม่น้ำคงคา แล้วให้ส่วนบุญแก่เทวดาประจำแม่น้ำ. เทวดาพออนุโมทนาส่วนบุญเท่านั้น ก็เจริญพอกพูนด้วยยศอันเป็นทิพย์ จึงรำพึงถึงความเจริญยศของตนก็ได้รู้ถึงเหตุนั้น."

      จากที่ถามว่า "พวกที่รับทานเราไม่ได้ แต่เทวดาบนสวรรค์กับสัตว์นรกอนุโมทนากับเราได้ไหมครับ"

      >>> ถ้าผู้นั้นรับรู้การทำบุญของเราได้ ก็ย่อมจะอนุโมทนาได้ครับ ปัญหาอยู่ที่ว่าจะทำให้รับรู้ได้หรือเปล่า และเมื่อรู้แล้วจะอนุโมทนา (มีจิตยินดีในการทำบุญของผู้ที่อุทิศให้) หรือเปล่า

      ลบ
  3. นรกในพระไตรปิฎกแบบละเอียดที่นำไปอ้างอิงได้

    ตอบลบ
  4. อาจารย์ให้ผม ทำรายงานเรื่อง นรก สวรรค์ ในพระไตรปิฏก ผมควรเริ่มเอาข้อมูลจากตรงไหนดีครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ

    1. สวัสดีครับ

      ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ https://tripitaka-online.blogspot.com

      เรื่องนรกดูรายละเอียดที่เรื่อง "เรื่องนรกที่มีในพระไตรปิฎก" พระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก เล่ม 20 ขุททกนิกาย ชาดก หมวดสัฏฐินิบาตชาดก สังกิจจชาดก ที่อยู่ด้านบนของคำถามนี้ได้เลยนะครับ (ที่หน้า ภพภูมิในพระพุทธศาสนา)

      ส่วนเรื่องสวรรค์ ดูรายชื่อสวรรค์ 6 ชั้น ในตาราง 31 ภูมิ ในหน้าเดียวกันนี้เป็นแนวทางคร่าวๆ ก่อนนะครับ

      แล้วดูประมาณอายุของเทวดาชั้นต่างๆ ได้ที่หน้า ๒๘๘ - ๒๘๙ ใน พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐

      จากนั้นใช้เครื่องมือค้นหาของเว็บ 84000.org เพื่อค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมของสวรรค์ชั้นต่างๆ อีกทีนะครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ