Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

อกุศลกรรมบถ กิเลสและอุปกิเลส

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้จะเป็นการอธิบายความหมายและรายละเอียดเรื่องของอกุศลกรรมบถ 10 กิเลส 3 อุปกิเลส 16 และพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบเรื่องโรคทางกายกับโรคทางใจนะครับ

อกุศลกรรมบถ 10

อกุศลกรรมบถ แปลตามตัวได้ว่าทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศล คือ การกระทำอันเป็นทางนำไปสู่ทุคตินะครับ มี 10 อย่าง แยกได้เป็น 3 หมวด คือ

กายกรรม 3 ได้แก่

  1. ปาณาติบาต - การฆ่าสัตว์
  2. อทินนาทาน - การลักทรัพย์
  3. กาเมสุมิจฉาจาร - การประพฤติผิดในกาม
ทั้ง 3 ข้อนี้ ดูรายละเอียดปลีกย่อยได้ที่หมวดศีล เรื่องศีล 5 อย่างละเอียด นะครับ

วจีกรรม 4 ได้แก่

  1. มุสาวาท - การพูดปด พูดเท็จ โกหก หลอกลวง
  2. ปิสุณวาจา - พูดส่อเสียด คือพูดยุยงให้เขาแตกแยกกัน
  3. ผรุสวาจา - พูดคำหยาบ
  4. สัมผัปปลาปะ - พูดเพ้อเจ้อ
ทั้ง 4 ข้อนี้ ดูรายละเอียดปลีกย่อยได้ที่หมวดศีล เรื่องศีล 5 อย่างละเอียด นะครับ

มโนกรรม 3 ได้แก่

  1. อภิชฌา - ละโมบ เพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่นมาเป็นของตน อย่างไม่ถูกทำนองคลองธรรม เป็นโลภะ (ความโลภ) ขั้นรุนแรงนะครับ
  2. พยาบาท - คิดร้าย ปองร้าย มุ่งร้ายต่อผู้อื่น มีความปรารถนาที่จะทำลายประโยชน์ และความสุขของผู้อื่นให้เสียหายไป เป็นโทสะ (ความโกรธ) ขั้นรุนแรง
  3. มิจฉาทิฏฐิ - เห็นผิดจากคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี มารดาบิดาไม่มีบุญคุณ ไม่เชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม ไม่เชื่อเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ ฯลฯ เป็นโมหะ (ความหลง = ไม่รู้สิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง) ขั้นรุนแรง
ทั้ง 3 ข้อนี้เป็นกรรมที่เกิดขึ้นในใจ คือในทางความคิดนะครับ ถ้าเมื่อใดมีกำลังที่มากพอหรือมีโอกาสที่เหมาะสม ก็จะส่งผลให้เกิดการกระทำทางกายหรือทางวาจาออกมา ซึ่งการกระทำเหล่านั้นก็อาจจะเข้าข่ายกายกรรม 3 ที่เป็นทุจริต หรือ วจีกรรม 4 ที่เป็นทุจริต ข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อก็ได้ครับ

กิเลส 3

กิเลส คือเครื่องเศร้าหมองของจิตนะครับ หมายถึงสิ่งที่ทำให้จิตไม่ผ่องใส่ ทำให้จิตใจขุ่นมัวไม่บริสุทธิ์ มีตัวหลักอยู่ 3 ตัวนะครับ คือ
  • โลภะ คือ ความโลภ ความอยากได้ ความเพลิดเพลินยินดี ความยึดเหนี่ยวทางใจ
  • โทสะ คือ ความโกรธ ความขัดเคืองใจ ความเศร้า ความเสียใจ ความกลัว ความทุกข์ทางใจทั้งหลาย
  • โมหะ คือ ความหลง ความไม่รู้ธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง อวิชชา

กิเลส 3 ตัวนี้เป็นเหตุที่ทำให้เกิดอกุศลทั้งมวล เปรียบเสมือนมารดาให้กำเนิดบุตรนะครับ (เรียกว่าเป็นอกุศลเหตุ หรืออกุศลมูล) และได้แตกลูกแตกหลานออกมาอีก เรียกว่าเป็น อุปกิเลส 16 ดังนี้คือ

พระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก เล่ม 4 มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

วัตถูปมสูตร


อุปกิเลส ๑๖


(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๑๒ หน้า : ๖๓ ข้อ : ๗๑)

[๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมเหล่าไหนเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต [คือ]
  • อภิชฌาวิสมโลภะ [ละโมบไม่สม่ำเสมอ คือความเพ่งเล็ง] (คืออยากได้ของๆ ผู้อื่นมาเป็นของตน โดยไม่ถูกทำนองคลองธรรมนะครับ - ธัมมโชติ)
  • พยาบาท [ปองร้ายเขา]
  • โกธะ [โกรธ]
  • อุปนาหะ [ผูกโกรธไว้]
  • มักขะ [ลบหลู่คุณท่าน]
  • ปลาสะ [ยกตนเทียบเท่า] (คือการตีเสมอผู้อื่น คิดว่าเราก็แน่เหมือนกัน - ธัมมโชติ)
  • อิสสา [ริษยา]
  • มัจฉริยะ [ตระหนี่]
  • มายา [มารยา]
  • สาเฐยยะ [โอ้อวด] (คือการพูดยกตนด้วยสิ่งที่ไม่เป็นจริง - ธัมมโชติ)
  • ถัมภะ [หัวดื้อ]
  • สารัมภะ [แข่งดี]
  • มานะ [ถือตัว]
  • อติมานะ [ดูหมิ่นท่าน]
  • มทะ [มัวเมา]
  • ปมาทะ [เลินเล่อ] (ความประมาท ความเผลอ ความขาดสติ - ธัมมโชติ)

เหล่านี้เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิต.


โรคทางกายกับโรคทางใจ


พระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒

โรคสูตร


ว่าด้วยโรค ๒ อย่าง


(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๑๗ ข้อ : ๑๕๗)

[๑๕๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โรค ๒ อย่างนี้ โรค ๒ อย่างเป็นไฉน คือ โรคกาย ๑ โรคใจ ๑ ปรากฏอยู่ว่าสัตว์ทั้งหลายผู้ยืนยันว่าไม่มีโรคทางกายตลอดเวลา ๑ ปีก็มี ยืนยันว่าไม่มีโรคทางกายตลอดเวลา ๒ ปีก็มี ๓ ปีก็มี ๔ ปีก็มี ๕ ปีก็มี ๑๐ ปีก็มี ๒๐ ปีก็มี ๓๐ ปีก็มี ๔๐ ปีก็มี ๕๐ ปีก็มี ๑๐๐ ปีก็มี ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปีก็มี แต่ว่าผู้ที่จะยืนยันว่าไม่มีโรคทางใจแม้เพียงเวลาครู่เดียวนั้น หาได้ยากในโลก เว้นแต่พระขีณาสพ (พระอรหันต์ - ธัมมโชติ)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โรคของบรรพชิต ๔ อย่างนี้ โรคของบรรพชิต ๔ อย่างเป็นไฉน คือ
  1. ภิกษุเป็นผู้มักมาก มีความร้อนใจอยู่เสมอ ไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย - ธัมมโชติ) คิลานปัจจัย (ยารักษาโรค - ธัมมโชติ) ตามมีตามได้

  2. ภิกษุนั้นเมื่อเป็นผู้มักมาก มีความร้อนใจอยู่เสมอ ไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยตามมีตามได้แล้ว ย่อมตั้งความปรารถนาลามก เพื่อจะได้ความยกย่อง เพื่อจะได้ลาภสักการะและความสรรเสริญ

  3. ภิกษุนั้นวิ่งเต้น ขวนขวาย พยายาม เพื่อจะได้ความยกย่อง เพื่อจะได้ลาภสักการะและความสรรเสริญ

  4. ภิกษุนั้นเข้าสู่ตระกูล (หมายถึงเข้าไปหาครอบครัวต่างๆ นะครับ - ธัมมโชติ) เพื่อให้เขานับถือ นั่งอยู่ (ในตระกูล) เพื่อให้เขานับถือ กล่าวธรรม (ในตระกูล) เพื่อให้เขานับถือ กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะอยู่ (ในตระกูล) ก็เพื่อให้เขานับถือ
ภิกษุทั้งหลาย นี้แล โรคของบรรพชิต ๔ อย่าง.

เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า
  • เราทั้งหลายจักไม่เป็นผู้มักมาก มีความร้อนใจ ไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยตามมีตามได้
  • จักไม่ตั้งความปรารถนาลามกเพื่อจะได้ความยกย่อง เพื่อจะได้ลาภสักการะและความสรรเสริญ
  • จักไม่วิ่งเต้น ขวนขวาย พยายาม เพื่อให้ได้ความยกย่อง เพื่อให้ได้ลาภสักการะและความสรรเสริญ
  • จักเป็นผู้อดทนต่อหนาว ร้อน หิว ระหาย ต่อสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลานทั้งหลาย ต่อถ้อยคำอันหยาบคายร้ายแรงต่าง ๆ
  • เป็นผู้อดกลั้นต่อเวทนาที่เกิดในกาย อันเป็นทุกข์กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ขมขึ้น ไม่เจริญใจ พอจะปล้นชีวิตเสียได้
ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล.

จบโรคสูตร

วิเคราะห์เพิ่มเติม

ในพระสูตรนี้กล่าวถึงโรคทางใจอันมีความโลภเป็นมูลเป็นหลักนะครับ แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่ากิเลสทุกตัวและอุปกิเลสทั้ง 16 ก็ล้วนเป็นโรคทางใจทั้งสิ้นนะครับ ทั้งนี้เพราะทำให้จิตใจมีความผิดปรกติ แปรปรวนไป

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ

12 ความคิดเห็น :

  1. หมอฉัตร เนติฯ6 สิงหาคม 2560 เวลา 08:35

    ในบทสวดพาหุง พระพุทธเจ้าให้ปุตเตนะ เถระไปใช้วิธีไหนจัดการกับนันโทปนันทนาคราชครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      คำว่าพุทธบุตรหมายถึงอริยบุคคลนะครับ คือหลายครั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกอริยบุคคลว่าบุตรเรา คือเป็นบุตรที่เกิดขึ้นในอริยวงศ์ด้วยพระธรรม ซึ่งในบทสวดพาหุงนี้พระเถระอันเป็นพุทธบุตรที่กล่าวถึงก็คือพระโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้านั่นเองครับ

      สำหรับรายละเอียดการปราบนันโทปนันทนาคราชของพระโมคคัลลานะนั้น มีแสดงในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา (คัมภีร์ที่ขยายความพระไตรปิฎก) คือ อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา สัฏฐิกนิบาต เรื่อง มหาโมคคัลลานเถรคาถา สามารถอ่านได้ที่ลิ้งค์ด้านล่างนี้ครับ

      การทรมานนันโทปนันทนาคราช

      ลบ
  2. หมอฉัตร เนติฯ6 สิงหาคม 2560 เวลา 22:55

    ด้วยความเคารพต่อพระพุทธเจ้า
    แต่ผมมีความสงสัยว่า
    ๑.เหตุใดจึงเลือกใช้วิธีทรมานนันโทปนันทนาคราช ซึ่งเป็นการเบียดเบียน เป็นอกุศลกรรม ในบทสวดพาหุงอีก ๗ บทก็ใช้วิธีที่ไม่เบียดเบียน หรือไม่มีทางอื่นที่จะลดฐิตินันโทปนันทนาคราชแล้ว
    ๒. ไม่ทราบว่าอ่านแล้วเข้าใจผิดหรือไม่ ผมเข้าใจว่า ภายหลังพระโมคคลานะก็ได้รับผลกรรมจากการเบียดเบียนครั้งนี้ก่อนนิพพาน
    หมายเหตุ ถ้าท่านคิดว่าข้อความไม่เหมาะสม ขอความกรุณาท่านตอบที่อีเมลส่วนตัวครับ ผมอยากรู้จริง ๆ ครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      ขอตอบเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ

      ๑.เหตุใดจึงเลือกใช้วิธีทรมานนันโทปนันทนาคราช ซึ่งเป็นการเบียดเบียน เป็นอกุศลกรรม ในบทสวดพาหุงอีก ๗ บทก็ใช้วิธีที่ไม่เบียดเบียน หรือไม่มีทางอื่นที่จะลดฐิตินันโทปนันทนาคราชแล้ว

      >>> จากข้อความในอรรถกถาในลิ้งค์ในคำตอบที่แล้วที่ว่า

      "เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุในเวลาใกล้รุ่ง พญานาคนามว่านันโทปนันทะ มาสู่คลองในหน้าแห่งพระญาณ. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรำพึงว่า นาคราชนี้มาสู่คลองในหน้าพระญาณของเรา อะไรหนอจักเกิดมี ก็ได้ทรง เห็นอุปนิสัยแห่งสรณคมน์ จึงทรงรำพึง (ต่อไปอีก) ว่า นาคราชนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ใครหนอจะพึงปลดเปลื้องนาคราชนี้จากมิจฉาทิฏฐิได้ ก็ได้ทรงเห็นพระโมคคัลลานะ"

      จะเห็นได้นะครับว่าการทรมานนันโทปนันทนาคราชนี้ เป็นเพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้า ที่ต้องการโปรดนันโทปนันทนาคราชให้พ้นจากมิจฉาทิฏฐิ ไม่ได้ทำไปเพราะอำนาจของอกุศลกรรมไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ หรือโมหะแต่อย่างใด

      ส่วนประเด็นว่าทำไมถึงเลือกใช้วิธีนี้นั้น ถ้าดูเหตุการณ์อื่นๆ ที่เป็นการปราบพยศพญานาคที่มีในพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะกระทำโดยพระพุทธเจ้าเอง หรือภิกษุ สามเณร ก็ล้วนใช้เตโชกสิณคือกสิณไฟเป็นหลักนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการบังหวนควัน หรือพ่นไฟก็ตาม ซึ่งก็น่าจะเป็นไปได้มากว่าไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้

      เพราะธรรมดาผู้ที่มีฤทธิ์มาก โทสะแรง ย่อมจะทะนงตนว่าเหนือกว่าผู้อื่น ย่อมจะไม่ยอมฟังใครง่ายๆ อยู่แล้ว คงจะยากที่อยู่ๆ จะเข้าไปเทศน์สอนได้เลยทันทีครับ เพราะอติมานะ (ความรู้สึกว่าตนเหนือกว่า) ย่อมจะขวางกั้นเอาไว้ ไม่สามารถซึมซาบพระธรรมเทศนานั้นได้ ดังนั้น จึงต้องใช้ฤทธิ์สู้กันเพื่อให้พญานาคนั้นเห็นว่าตนมีฤทธิ์น้อยกว่า จึงสามารถครอบงำอติมานะนั้นได้ เมื่อรู้สึกว่าตนด้อยกว่าแล้ว ถึงจะยอมฟังธรรมเทศนาโดยความเคารพด้วยใจจริงๆ ครับ

      แม้ในเรื่องนี้เองก็จะเห็นได้นะครับว่า นันโทปนันทนาคราชนั้นคิดว่าตนเหนือกว่าพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย จึงได้เอาขนดวงรอบเขาสิเนรุ ๗ รอบแล้วแผ่พังพานข้างบน เอาพังพานคว่ำลงงำเอาภพดาวดึงส์ไว้ ทำให้มองไม่เห็น

      และจากข้อความในตอนหลังที่ว่า

      "ท่านทรมานนาคราชทำให้หมดพยศแล้วได้พาไปยังสำนักของพระศาสดา. นาคราชถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระองค์เป็นสรณะ"

      ก็จะเห็นนะครับว่าผลจากการกระทำนี้ ทำให้นันโทปนันทนาคราชหันมาสมาทานสัมมาทิฏฐิได้จริงๆ ซึ่งก็เป็นประโยชน์กับนันโทปนันทนาคราชนั้นนั่นเอง

      การสู้ด้วยความหวังดีว่าต้องการให้อีกฝ่ายพ้นจากมิจฉาทิฏฐิ กับการสู้ด้วยความโกรธต้องการเอาชนะนั้นมีสภาวจิตที่ต่างกันนะครับ พระอรหันต์ท่านละกิเลสได้หมดแล้วไม่มีโทสะเข้ามาแทรกในจิตท่านหรอกครับ ถ้าเป็นปุถุชนก็ไม่แน่ อาจมีโทสะแทรกได้บ้างเป็นระยะๆ ครับ

      ---------------------------------------------------------------

      ๒. ไม่ทราบว่าอ่านแล้วเข้าใจผิดหรือไม่ ผมเข้าใจว่า ภายหลังพระโมคคลานะก็ได้รับผลกรรมจากการเบียดเบียนครั้งนี้ก่อนนิพพาน

      >>> สำหรับข้อความตอนท้ายของอรรถกถาฯ นี้ที่กล่าวว่า

      "เราอาศัยมิตรชั่ว ตกอยู่ในอำนาจของกามราคะ มีใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว ได้ฆ่ามารดาและบิดา. เราเข้าถึงกำเนิดใดๆ จะเป็นนรกหรือมนุษย์ก็ตาม เพราะความเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยกรรมอันลามก ต้องเป็นผู้มีศีรษะแตกตาย นี้เป็นผลกรรมครั้งสุดท้ายของเรา ภพสุดท้ายย่อมดำเนินไป ผลกรรมเช่นนี้จักมีแก่เราในเวลาใกล้จะตายแม้ในที่นี้"

      ตรงส่วนนี้หมายถึงกรรมที่ท่านพระโมคคัลลานะเคยทำเอาไว้ในอดีตชาติ ที่ท่านเชื่อคำยุยงของภรรยา จนลวงมารดาและบิดาไปฆ่าในป่าครับ ซึ่งกรรมนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โมคคัลลานะกระทำกรรมมีประมาณเท่านี้ ไหม้อยู่ในนรกหลายแสนปี ด้วยผลวิบากที่เหลือเพียงนั้น จึงเป็นผู้แหลกละเอียดเพราะทุบอย่างนั้นแหละ แล้วถึงความตายสิ้นร้อยอัตภาพ โมคคัลลานะได้ความตายอันสมควรแก่กรรมของตนอย่างนี้ทีเดียว"

      คือลิ้งค์เรื่อง "การทรมานนันโทปนันทนาคราช" ในคำตอบที่แล้วนั้น เป็นอรรถกถาของ "มหาโมคคัลลานเถรคาถา" ซึ่งเป็นการรวบรวมถ้อยคำ/คำสอนของพระโมคคัลลานะหลายครั้งเข้าด้วยกันครับ จึงมีหลายเหตุการณ์รวมกันอยู่ จึงอาจทำให้สับสนได้ครับ

      สามารถอ่านรายละเอียดเรื่องกรรมที่ทำให้พระโมคคัลลานะถูกทุบได้ที่ลิ้งค์ข้างล่างนี้ครับ

      บุรพกรรมของพระเถระ

      ลบ
  3. หมอฉัตร เนติฯ10 สิงหาคม 2560 เวลา 06:14

    การที่พระพุทธเจ้าไม่ให้นาคบวชเป็นเพราะเหตุผลใด หรือเป็นเพราะนาคมีฐิติมาก ไม่สามารถอบรมได้ครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      การที่พระพุทธเจ้าไม่ให้นาคบวชนั้น เป็นเพราะนาคไม่มีความงอกงามในพระธรรมวินัยนี้ครับ เพราะนาคนั้นถึงจะมีฤทธิ์มากก็ตาม แต่ก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน ปฏิสนธิด้วยอเหตุกจิต (อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิต) เป็นอเหตุกบุคคล ไม่ประกอบด้วยปัญญา ทำสมาธิก็ไม่ได้ถึงขั้นฌาน ทำวิปัสสนาก็ไม่ได้มรรคผล ดังนั้น บวชไปก็ไม่ได้ประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น สู้อยู่เป็นคฤหัสถ์แล้วให้ทาน รักษาศีลไม่ได้

      คือภิกษุนั้นจะทำได้มากซึ่งศีล สมาธิ วิปัสสนา เนื่องจากเป็นผู้ยังชีพด้วยการรับทานจากผู้อื่น จึงยากที่จะเป็นผู้ให้ทานครับเพราะขาดปัจจัย ส่วนคฤหัสถ์นั้นเป็นผู้ครองทรัพย์จึงสะดวกในการให้ทานมากกว่าภิกษุ สำหรับศีลแล้วไม่ว่าสถานะไหนก็รักษาได้ตามสภาวะของตนอยู่แล้ว ยิ่งมีสิ่งแวดล้อมที่ล่อกิเลสมากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้จิตมีกำลังกล้าแข็งในการรักษาศีลมากขึ้นเท่านั้น (ถ้าไม่พ่ายแพ้กิเลสไปก่อน) เหมือนนักกีฬาที่ฝึกซ้อมมากย่อมจะแข็งแรงกว่าคนทั่วไปนะครับ คฤหัสถ์จะมีความลำบากกว่าภิกษุในแง่สมาธิและวิปัสสนา เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยและเวลาที่มีให้กับการปฏิบัติหาได้ยากกว่า เพราะต้องหาเลี้ยงชีพ

      เนื่องจากเดรัจฉานไม่มีความเจริญในสมาธิและวิปัสสนาอยู่แล้ว ดังนั้น การเป็นคฤหัสถ์ย่อมจะพัฒนาจิตได้ดีกว่าเป็นภิกษุนะครับ เพราะได้เปรียบในแง่การให้ทาน

      สามารถอ่านเหตุการณ์ที่เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ที่ลิ้งค์ข้างล่างนี้นะครับ

      ติรัจฉานคตวัตถุ ว่าด้วยสัตว์ดิรัจฉานบรรพชา 1/2

      เริ่มจากด้านล่างของหน้าสุดท้ายของลิ้งค์บน แล้วต่อที่หน้าแรกของลิ้งค์ล่างนะครับ เป็นช่วงต่อเล่มพอดี

      ติรัจฉานคตวัตถุ ว่าด้วยสัตว์ดิรัจฉานบรรพชา 2/2

      ลบ
  4. เรียน ท่านอาจารย์ธัมมโชติ
    ผมสังเกตว่าอกุศลกรรมบถ 10 ไม่กล่าวถึงศีลข้อ 5 คือห้ามดื่มสุรา จึงอยากทราบเหตุผลว่าทำไมจึงไม่ถือว่าการทำผิดศีลข้อ 5 เป็นอกุศลกรรมครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      ข้อแตกต่างระหว่างศีลกับอกุศลกรรมบถคือ

      ศีล จะเน้นเพื่อประโยชน์ 2 ด้านใหญ่ๆ คือ เพื่อความสงบสุขของสังคม และเพื่อพัฒนาจิตใจของผู้ที่ถือศีลนั้นเอง
      อกุศลกรรมบถ คือการกระทำอันเป็นทางนำไปสู่ทุคติ คือจะเป็นอกุศลกรรมที่มีกำลังแรงถึงขั้นทำให้เกิดในทุคติได้โดยตรง

      ลองสังเกตศีลข้อ 1-4 เทียบกับศีลข้อ 5 ดูนะครับ จะเห็นได้ว่ามูลเหตุของการกระทำผิดศีลข้อ 1-4 นั้น คืออกุศลจิตที่มีกำลังแรงโดยตรง เช่น มีความโกรธมากพอจนทำให้สามารถทำลายชีวิตผู้อื่นได้ มีความโลภมากพอจนสามารถลักทรัพย์ผู้อื่นได้ มีความโลภ ความไม่เห็นใจ ความใจร้ายไม่สงสารผู้อื่นมากพอจึงสามารถประพฤติผิดในของรักของหวงของผู้อื่นได้ มีความโลภหรือความโกรธผู้อื่นมากพอจึงพูดโกหกหลอกลวงให้ผู้อื่นเสียหายได้

      คือ อกุศลจิตที่เป็นเหตุของการผิดศีลข้อ 1-4 นั้น เป็นเหตุขั้นปฐมภูมิที่ทำให้เกิดโทษของศีลข้อนั้นๆ โดยตรงนะครับ และเหตุขั้นปฐมภูมิที่ว่านั้นก็มีกำลังแรงพอที่จะส่งผลให้ผู้ที่กระทำนั้นไปเกิดในทุคติหรืออบายภูมิได้โดยตรง ดังนั้น การกระทำเหล่านั้นจึงทั้งผิดศีล และเป็นอกุศลกรรมบถครับ

      ส่วนศีลข้อ 5 นั้น กำลังของจิตที่ทำให้ดื่มสุรานั้น ถึงแม้จะเป็นอกุศลจิตก็จริง แต่ไม่ได้เป็นอกุศลที่มีกำลังแรงถึงขั้นทำให้เกิดในทุคติ (หมายถึงเหตุขั้นปฐมภูมิ คือเหตุที่ทำให้เกิดการดื่มนะครับ ส่วนขั้นทุติยภูมิจะกล่าวต่อไป)

      ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบนะครับ เช่น คนที่ยินดีในการรับประทานอาหารที่อร่อยๆ ฟังเพลงเพราะๆ ความยินดีนั้นเป็นอกุศลคือเป็นโลภะก็จริงอยู่ แต่ก็เป็นโลภะที่มีกำลังอ่อนเพียงแค่ระดับความเพลิดเพลินยินดีเท่านั้น ไม่ได้ถึงขั้นอภิชฌา - ละโมบ เพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่นมาเป็นของตน อย่างไม่ถูกทำนองคลองธรรม (หมายถึงกรณีที่ทำตามสิทธิอันชอบธรรมของตนนะครับ ไม่ได้ไปละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น) โทษก็คือทำให้ติดอยู่ในกามภูมิ ซึ่งอาจจะเป็นกามสุคติภูมิหรือกามทุคติภูมิก็อยู่ที่กรรมอื่นๆ ประกอบด้วยครับ

      เหตุที่ทำให้ดื่มสุราก็ไม่ได้มีกำลังแรงกว่าการยินดีในอาหารอร่อยๆ เพลงเพราะๆ มากนัก คือเป็นระดับของความยินดีในความเพลิดเพลินใจ ไม่ถึงขั้นอภิชฌาเหมือนกันครับ

      แต่ผลต่อเนื่องของการดื่มสุราอันเป็นโทษร้ายแรงนั้นเป็นขั้นทุติยภูมิ คือผลที่เกิดขึ้นหลังจากมึนเมา ขาดสติแล้วต่างหาก ดังนั้น การดื่มสุราจึงเป็นข้อห้ามหนึ่งในศีลเพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งของคนในสังคมครับ

      แต่เนื่องจากกระบวนการในการดื่มสุราอันเป็นปฐมภูมิ คือเริ่มตั้งแต่ความยินดีในความเพลิดเพลินจนถึงขั้นการเริ่มดื่มสุรานั้น ยังเป็นอกุศลจิตที่มีกำลังไม่มากพอที่จะส่งผลให้เกิดในทุคติภูมิ จึงไม่จัดอยู่ในอกุศลกรรมบถครับ (คือจิตที่ทำให้ดื่มสุรานั้นไม่ใช่อกุศลที่มีกำลังแรงถึงขั้นทำให้เกิดในทุคติ) แต่ผลที่ตามมาคือตั้งแต่ขั้นตอนที่เมาจนขาดสติไปแล้วนั้นสามารถทำให้ไปเกิดในทุคติได้ การดื่มสุราจึงจัดเป็นหนึ่งในอบายมุข คือเป็นปากทางแห่งอบาย (ตรงปากทาง หรือตรงประตูยังไม่ลงอบายนะครับ แต่ถ้าผ่านเข้าไปถึงขั้นขาดสติแล้วจึงจะลงอบาย)

      ต่างจากศีลข้ออื่นนะครับ เช่น สำเร็จการฆ่าสัตว์คือสัตว์นั้นตายก็มีโทษถึงอบายแล้ว เป็นอกุศลกรรมบถแล้ว แต่สำเร็จการดื่มสุรา (แค่จิบครั้งแรก ยังไม่ขาดสติ ก็ถือว่าสำเร็จการดื่มสุราแล้ว) ยังไม่มีโทษถึงอบาย (แค่ปากทางสู่อบายเท่านั้น) แต่ถ้าต่อเนื่องไปถึงขั้นขาดสติ จนทำให้เกิดอกุศลกรรมบถข้อต่างๆ ขึ้น ก็จะเป็นอกุศลกรรมบถในข้อนั้นๆ ครับ ซึ่งความจริงแค่ความขาดสติเองก็เป็นโทษมากแล้วนะครับ ถึงแม้จะยังไม่ถึงขั้นไปทำผิดด้านอื่นๆ ก็ตาม

      คือเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนทั้งในแง่การทำความเข้าใจ และในแง่ที่สุ่มเสี่ยงที่จะมีคนใช้เป็นข้ออ้างในการดื่มสุรานะครับ หากทำความเข้าใจไม่ดีก็จะกลายเป็นการส่งเสริมการดื่มสุราไปเสียอีก ทั้งที่ก็มีแสดงเอาไว้แล้วว่าเป็นอบายมุข คือปากทางสู่อบาย และผิดศีล เป็นต้นเหตุหนึ่งของปัญหาในสังคมครับ

      ลบ
  5. ขอบคุณมากครับอาจารย์
    ถ้าจะมองในแง่นี้จะได้ไหมครับว่า ศีลข้อ 1-4 ผู้กระทำมีอกุศลจิตที่มุ่งสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น จึงผิดทั้งศิลและอดุศลจิต แต่การทำผิดศิลข้อ 5 ผู้กระทำมุ่งที่ความสำราญของตน จึงไม่มีอกุศลจิต ผิดแต่ศีล

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขออนุญาตติงนิดนึงนะครับ

      คือความสำราญของตนในที่นี้เป็นความเพลิดเพลินยินดีในกามนะครับ (คำว่ากามในทางธรรมจริงๆ แล้วหมายถึงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย รวมถึงความคิดอันเกี่ยวเนื่องด้วยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกายนั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่อง sex เท่านั้น) จัดเป็นกามราคะ ซึ่งเป็นโลภะชนิดหนึ่ง ถึงจะไม่มุ่งสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น แต่ก็จัดเป็นอกุศลจิตเช่นกันครับ แต่กำลังของอกุศลจิตในศีลข้อ 5 นี้จะอ่อนกว่าศีลข้ออื่น

      สำหรับคนที่ดื่มสุราโดยทั่วไปนั้น ไม่ได้มุ่งสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น อันนี้เห็นด้วยครับ (ยกเว้นผู้ที่ดื่มสุราโดยมีเจตนาเพื่อเพิ่มความกล้าในการทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องนะครับ)

      ลบ
    2. *** คำว่า "อกุศลจิต" มีความหมายกว้างกว่า "อกุศลกรรมบถ" นะครับ

      ลบ