Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เรื่องของการเกิดใหม่

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้เป็นพระสูตรจากพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องของการเกิดใหม่แก่ภิกษุที่มีความเห็นผิดนะครับ

เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการปฏิเสธเรื่องการเกิดใหม่ในชาติต่อๆ ไปนะครับ แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่าการเกิดใหม่ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้น มีความแตกต่างจากความเข้าใจของคนทั่วไปอย่างไร ดังนั้น ขอให้อ่านและทำความเข้าใจให้ดีนะครับ มิเช่นนั้นจะเข้าใจไขว้เขวได้ครับ

พระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก เล่ม 4 มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

มหาตัณหาสังขยสูตร


ว่าด้วยสาติภิกษุมีทิฏฐิลามก


(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๒๗ ข้อ : ๓๙๖)

[๔๔๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุชื่อสาติ ผู้ เกวัฏฏบุตร (บุตรชาวประมง) มีทิฏฐิอันลามกเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น. .....

[๔๔๒] ครั้งนั้น .....

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรสาติ ได้ยินว่าเธอมีทิฏฐิอันลามก เห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น ดังนี้ จริงหรือ?

สาติภิกษุทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้แหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น ดังนี้ จริง.

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรสาติ วิญญาณนั้นเป็นอย่างไร?

สาติภิกษุทูลว่า สภาวะที่พูดได้ รับรู้ได้ ย่อมเสวยวิบากของกรรมทั้งหลาย ทั้งส่วนดี ทั้งส่วนชั่ว ในที่นั้นๆ นั่นเป็นวิญญาณ.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโมฆบุรุษ เธอรู้ธรรมอย่างนี้ที่เราแสดงแก่ใครเล่า ดูกรโมฆบุรุษ วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น เรากล่าวแล้วโดยปริยายเป็นอเนกมิใช่หรือ ความเกิดแห่งวิญญาณเว้นจากปัจจัย มิได้มี ดูกรโมฆบุรุษ ก็เมื่อเป็นดังนั้น เธอกล่าวตู่เราด้วย ขุดตนเสียด้วย จะประสพบาปมิใช่บุญมากด้วย เพราะทิฏฐิที่ตนถือชั่วแล้ว ดูกรโมฆบุรุษ ก็ความเห็นนั้นของเธอ จักเป็นไปเพื่อโทษไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน.

ตรัสสอบถามเรื่องสาติภิกษุผู้มีความเห็นผิดนั้น

[๔๔๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความนั้นเป็นไฉน สาติภิกษุ ผู้ เกวัฏฏบุตรนี้ จะเป็นผู้ทำความเจริญในพระธรรมวินัยนี้บ้าง หรือไม่?

ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ข้อนี้จะมีได้อย่างไร ข้อนี้มีไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า.

เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลอย่างนี้แล้ว สาติภิกษุ ผู้ เกวัฏฏบุตร นั่งนิ่ง กระดาก คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ. .....

ปัจจัยเป็นเหตุเกิดแห่งวิญญาณ

[๔๔๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณอาศัยปัจจัยใดๆ เกิดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยปัจจัยนั้นๆ วิญญาณอาศัยจักษุและรูปทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า จักษุวิญญาณ วิญญาณอาศัยโสตและเสียงทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า โสตวิญญาณ วิญญาณอาศัยฆานะและกลิ่นทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ฆานวิญญาณ วิญญาณอาศัยชิวหาและรสทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ชิวหาวิญญาณ วิญญาณอาศัยกายและโผฏฐัพพะทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า กายวิญญาณ วิญญาณอาศัยมนะและธรรมารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า มโนวิญญาณ

เปรียบเหมือนไฟอาศัยเชื้อใดๆ ติดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยเชื้อนั้นๆ ไฟอาศัยไม้ติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟไม้ ไฟอาศัยป่าติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟป่า ไฟอาศัยหญ้าติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟหญ้า ไฟอาศัยโคมัยติดขึ้น ก็ถึงความนับว่าไฟโคมัย ไฟอาศัยแกลบติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟแกลบ ไฟอาศัยหยากเยื่อติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟหยากเยื่อ ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล วิญญาณอาศัยปัจจัยใดๆ เกิดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยปัจจัยนั้นๆ วิญญาณอาศัยจักษุและรูปทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า จักษุวิญญาณ ... โสตวิญญาณ ... ฆานวิญญาณ ... ชิวหาวิญญาณ ... กายวิญญาณ วิญญาณอาศัยมนะและธรรมารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า มโนวิญญาณ.

อธิบายเพิ่มเติม

ความเห็นของสาติภิกษุที่ว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น นั้นหมายความว่า จิต หรือวิญญาณตั้งแต่อดีตชาติ นับชาติไม่ถ้วน เป็นต้นมา จนถึงชาติปัจจุบัน และที่จะเกิดใหม่อีกในชาติต่อๆ ไปของแต่ละบุคคลนั้น เป็นจิต หรือวิญญาณดวงเดียวกัน ซึ่งมีความเที่ยงแท้แน่นอน ไม่ดับทำลายไปจนกว่าจะไม่ต้องเกิดอีกนะครับ เมื่อคนหรือสัตว์ตายลงวิญญาณดวงนี้ก็จะออกจากร่างเก่าไปหาร่างใหม่อยู่ต่อไป ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับอัตตาหรืออาตมันตามคำสอนของฮินดูหรือพราหมณ์อันเป็นสัสสตทิฏฐิคือความเห็นว่าเที่ยงนะครับ ซึ่งความเห็นนี้ขัดกับหลักของพระพุทธศาสนานะครับ

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า จิตหรือวิญญาณนั้นไม่เที่ยง เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะแล้วก็ดับไป แล้วเป็นปัจจัยให้จิตหรือวิญญาณดวงใหม่เกิดขึ้นแล้วดับไป ต่อเนื่องกันอย่างไม่ขาดสาย จนกว่าจะหมดเหตุปัจจัยให้เกิดอีก ก็จะไม่มีการเกิดสืบทอดอีกต่อไป (ปรินิพพาน) คือจิตหรือวิญญาณในวินาทีที่แล้ว กับจิตหรือวิญญาณในวินาทีนี้เป็นคนละดวงกันนะครับ ความจริงแล้วเวลาเพียงชั่วลัดนิ้วมือเดียว (เวลาที่ใช้ดีดนิ้วมือเพียงครั้งเดียว) มีจิตหรือวิญญาณเกิดขึ้นแล้วดับไปนับครั้งไม่ถ้วน (คำว่าจิตหรือวิญญาณเป็นชื่อของสิ่งๆ เดียวกัน) โดยแต่ละขณะจะมีวิญญาณอยู่เพียงดวงเดียวเท่านั้นนะครับ สำหรับแต่ละบุคคล

เนื่องจากวิญญาณมีการเกิดดับต่อเนื่องอย่างรวดเร็วจนไม่รู้สึกถึงรอยต่อระหว่างวิญญาณแต่ละดวง จึงทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าเป็นวิญญาณดวงเดิมอยู่ตลอดเวลานะครับ นอกจากนั้นยังทำให้รู้สึกเหมือนกับว่า สามารถรับรู้ความรู้สึกทางทวารต่างๆ (ตา หู จมูก ฯลฯ) ได้ในเวลาเดียวกันอีกด้วยครับ ทั้งที่วิญญาณแต่ละดวงจะรับรู้สิ่งต่างๆ ได้เพียงทวารเดียวเท่านั้น แต่เนื่องจากวิญญาณเกิดดับในทวารต่างๆ สลับกันอย่างรวดเร็วมาก จนเหมือนรับรู้ได้พร้อมๆ กันทั้งหมดทุกทวารนะครับ

วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น คือเมื่อมีเหตุหรือปัจจัยให้วิญญาณเกิด วิญญาณจึงเกิดขึ้นนะครับ ปัจจัยที่ทำให้วิญญาณเกิดขึ้นนั้นมีได้หลายอย่าง เช่น ตัณหา (ความทะยานอยาก) ผัสสะต่างๆ (เช่น จักษุกระทบกับรูป โสตกระทบกับเสียง ฯลฯ) ความดับไปของวิญญาณดวงก่อน (เมื่อยังไม่ถึงเวลาตาย) ก็เป็นปัจจัยให้วิญญาณดวงใหม่เกิดขึ้นอีกเช่นกันครับ (วิญญาณดวงไหนจะอาศัยวัตถุใดเป็นที่เกิดนั้น ดูรายละเอียดได้ที่เรื่องอายตนะ 12 ในหมวดธรรมทั่วไปประกอบนะครับ)

และเมื่อความตายมาถึง ถ้ายังมีความยินดีในการเกิด (ตัณหาในภพ) อยู่ ตัณหานั้นก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้วิญญาณในภพใหม่เกิดขึ้นต่อไปนะครับ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นคนละดวงกับภพเก่า แต่ก็มีวิญญาณในภพเก่าเป็นปัจจัยให้เกิด (ดูรายละเอียดได้จากเรื่องปฏิจจสมุปบาท ในหมวดธรรมทั่วไปประกอบนะครับ)

และเนื่องจากการที่วิญญาณดวงใหม่เกิดขึ้นโดยมีวิญญาณดวงเก่าเป็นปัจจัยนี่เอง วิญญาณดวงใหม่ (ทั้งที่อยู่ในชาติเดียวกัน และที่เกิดในชาติใหม่) จึงสืบทอดสภาวะและลักษณะต่างๆ ที่มีในวิญญาณดวงเก่ามาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นะครับ จนกว่าจะมีเหตุปัจจัยอื่นไปทำให้สภาวะ หรือลักษณะเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไปครับ


ธัมมโชติ

13 ความคิดเห็น :

  1. ไม่ระบุชื่อ2 สิงหาคม 2560 เวลา 18:54

    วิญญาณเกิดดับตลอดเวลา ถามว่า ทีนี้วิญญาณที่ไปเกิดในนรก ก็อาจไม่ใช่วิญญาณที่ทำชั่วนั้น เพราะอาจจะดับไปแล้ว สงสัยว่า วิญญาณที่ประพฤติชั่วนั้นก็ไม่ถูกลงทัณฑ์ซีครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ http://tripitaka-online.blogspot.com

      วิญญาณที่ไปเกิดในนรกเป็นวิญญาณคนละดวงกับวิญญาณในขณะที่ทำชั่วในโลกมนุษย์นี้ครับ แต่วิญญาณที่ไปเกิดในนรกนั้นมีวิญญาณที่ทำชั่วในโลกมนุษย์นี้เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น ซึ่งถ้าวิญญาณในขณะที่อยู่ในโลกมนุษย์นั้นไม่ได้ทำชั่วอันเป็นเหตุให้ต้องไปเกิดในนรก แต่กลับทำบุญทำกุศลอันเป็นเหตุให้ไปเกิดในสวรรค์แทน และเมื่อบุญนั้นส่งผลก็จะทำให้วิญญาณกระแสนั้นไปเกิดในสวรรค์ แทนที่จะเกิดในนรกนะครับ

      ที่กล่าวว่า "วิญญาณกระแสนั้น" หมายถึงการที่วิญญาณดวงเก่าดับไปและวิญญาณที่ดับไปนั้นก็เป็นปัจจัยให้วิญญาณดวงใหม่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และเป็นปัจจัยให้วิญญาณดวงใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันไปเช่นนี้ จนเรียกได้ว่าเป็นกระแสของวิญญาณนะครับ ซึ่งถ้าว่าโดยความรู้สึกของปุถุชนก็จะรู้สึกว่าวิญญาณแต่ละกระแสก็คือคนแต่ละคน หรือสัตว์แต่ละตัวนั่นเอง ทั้งที่วิญญาณดวงเก่ากับดวงใหม่ในกระแสวิญญาณนั้นเป็นคนละดวงกัน แต่ความสืบทอดต่อเนื่องกันก็ทำให้ปุถุชนรู้สึกและเข้าใจว่าวิญญาณทั้งกระแสนั้นเป็นวิญญาณดวงเดียวกัน เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา

      วิญญาณที่เกิดในลำดับหลังๆ นั้นมีวิญญาณที่เกิดก่อนหน้าเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น ดังนั้นจึงได้รับการถ่ายทอดคุณสมบัติต่างๆ จากวิญญาณที่เกิดก่อนหน้ามาด้วยตามควรแก่เหตุปัจจัย เช่น สัญญา (ความจำได้หมายรู้) รวมถึงวิบากของกรรมดีกรรมชั่วต่างๆ ที่วิญญาณดวงก่อนหน้านั้นทำไว้ด้วยครับ

      ถ้ากล่าวโดยปรมัตถ์แล้ววิญญาณที่ทำชั่วเป็นคนละดวงกับวิญญาณที่ไปเกิดในนรกก็จริงครับ แต่มีสิ่งที่ควรพิจารณาประกอบดังนี้

      1. วิญญาณในขณะที่ทำชั่ว คือวิญญาณดวงที่ทำชั่วนั้นเองก็ได้รับผลของความชั่วในขณะที่ทำนั้นอยู่แล้วครับ เพราะในขณะที่ทำชั่วนั้นจิตหรือวิญญาณนั้นย่อมประกอบด้วยอกุศล อันเป็นเหตุให้ต้องเร่าร้อนใจ ดังในอาทิตตปริยายสูตร (พระไตรปิฎก พระวินัยปิฎก เล่ม 4 มหาวรรค ภาค 1) ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ร้อนเพราะอะไร? เรากล่าวว่าร้อน เพราะไฟคือราคะ เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ ... "

      2. วิญญาณที่ไปเกิดในนรกนั้นเป็นผลต่อเนื่องหรือเป็นแรงเฉื่อยของการทำชั่วอีกที ซึ่งทำให้ต้องได้รับทุกข์ต่อเนื่องยาวนานออกไปจากความทุกข์ที่เกิดขึ้นในข้อ 1.

      3. ถึงแม้โดยปรมัตถ์แล้ววิญญาณที่ทำชั่วในโลกมนุษย์จะเป็นคนละดวงกับวิญญาณที่ไปเกิดในนรก แต่ในความรู้สึกของปุถุชนก็เหมือนเป็นวิญญาณดวงเดียวกันนะครับ

      4. อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วนะครับว่า ถ้าวิญญาณในขณะที่อยู่ในโลกมนุษย์นั้นไม่ได้ทำชั่วอันเป็นเหตุให้ต้องไปเกิดในนรก แต่กลับทำบุญทำกุศลอันเป็นเหตุให้ไปเกิดในสวรรค์แทน และเมื่อบุญนั้นส่งผลก็จะทำให้วิญญาณกระแสนั้นไปเกิดในสวรรค์ แทนที่จะเกิดในนรก ซึ่งก็น่าจะเป็นหนทางให้เลือกเดินที่ดีกว่าไม่ใช่เหรอครับ

      ลบ
    2. ไม่ระบุชื่อ2 สิงหาคม 2560 เวลา 22:11

      ขอบคุณครับ
      จากคำอธิบาย ผมเข้าใจว่าวิญญาณที่ดับไป ถ้าไม่นิพพาน ต้องไปเกิดใหม่ ไม่ดับหายไป ทีนี้การไปเกิดภพภูมิใดก็เป็นตามอัตโนมัติตามบุญกรรมที่สร้างมา ไม่ต้องมียมทูตมานำไปใช่ไหมครับ แล้วต้องให้ยมบาลตัดสินว่าสมควรไปสวรรค์หรือนรกอีกทีไหม

      มีคำถามต่อมาว่า วิญญาณที่เกิดใหม่ เกิดใหม่ได้เองโดยการ induce จากเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดวิญญาณ หรือเป็นวิญญาณที่มีอยู่แล้ว แล้วมาเกิดใหม่ในรูปขันธ์นั้นครับ
      ถ้าเป็นกรณีเกิดใหม่ได้เอง จำนวนวิญญาณทั้งหมดก็เพิ่มขึ้นได้เรื่อย ๆ ไม่มีสิ้นสุด ใช่ไหมครับ

      ลบ
    3. ขอแยกตอบดังนี้นะครับ

      จากคำอธิบาย ผมเข้าใจว่าวิญญาณที่ดับไป ถ้าไม่นิพพาน ต้องไปเกิดใหม่ ไม่ดับหายไป

      >>> ใช่ครับ จะเกิดดับสืบทอดกันไปจนกว่าจะ(ปริ)นิพพานครับ

      ทีนี้การไปเกิดภพภูมิใดก็เป็นตามอัตโนมัติตามบุญกรรมที่สร้างมา ไม่ต้องมียมทูตมานำไปใช่ไหมครับ

      >>> คือพอจุติจิต (จิต/วิญญาณดวงสุดท้ายของภพนั้น) ของภพเก่าดับไป ปฏิสนธิจิต (จิต/วิญญาณดวงแรกของภพ) ของภพใหม่ก็เกิดขึ้นทันทีโดยไม่มีจิต/วิญญาณใดมาขั้นเลยครับ พูดง่ายๆ ก็คือ พอตายปุ๊บก็เกิดใหม่ในภพภูมิใหม่ทันทีเลยครับ ซึ่งภพภูมิใหม่จะเป็นภูมิอะไรก็ขึ้นกับกรรมที่ทำมากรรมไหนจะส่งผลครับ

      แล้วต้องให้ยมบาลตัดสินว่าสมควรไปสวรรค์หรือนรกอีกทีไหม

      >>> เรื่องยมบาล หรือนายนิรยบาลนี้ ที่อ่านในพระไตรปิฎกเข้าใจว่าหน้าที่หลักคือทำโทษสัตว์นรกนะครับ คือถ้าใครเกิดในนรกก็จะโดนนายนิรยบาลลงโทษ ถ้าจะมีการตัดสินจริงๆ ก็คงเป็นการตัดสินว่าจะลงโทษแบบไหนมากกว่า ไม่ใช่ตัดสินว่าจะให้ไปเกิดในภูมิไหน หรือถ้านายนิรยบาลมีเมตตาก็อาจจะถามปัญหาเพื่อให้ระลึกถึงบุญที่เคยทำเอาไว้ได้ เพื่อกระตุ้นให้บุญนั้นส่งผลให้จิตผ่องใสขึ้นมา (เมื่อนึกถึงบุญที่เคยทำแล้วจิตก็จะผ่องใส เบิกบาน) ซึ่งถ้าความผ่องใสของจิตนั้นมีกำลังมากพอก็จะทำให้ไปเกิดใหม่ในภพภูมิที่สูงขึ้นได้ครับ

      >>> เรื่องที่เล่ากันว่ามีนายนิรยบาลมาพาตัวไปนั้น ก็อาจจะเป็นว่าพอตายแล้วเกิดใหม่ในภพภูมินรกแต่ตอนแรกนั้นยังอยู่ใกล้ๆ ร่างเดิม นายนิรยบาลเลยมาพาตัวไปก็ได้ครับ คือเกิดเป็นสัตว์นรกแล้วนายนิรยบาลถึงพาตัวไป ไม่ใช่นายนิรยบาลตัดสินทำให้เป็นสัตว์นรก

      >>> บางคนทำบุญไว้มาก พอใกล้ตายเทวดาจากสวรรค์ชั้นต่างๆ มารอรับ เชิญชวนให้ไปเกิดในภูมิเดียวกับตนก็มีครับ ก็อยู่ที่ผู้นั้นจะน้อมใจไปในภูมิไหน ถ้าสมควรแก่สภาวจิตของตนก็จะไปเกิดในภูมินั้นได้ครับ

      มีคำถามต่อมาว่า วิญญาณที่เกิดใหม่ เกิดใหม่ได้เองโดยการ induce จากเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดวิญญาณ หรือเป็นวิญญาณที่มีอยู่แล้ว แล้วมาเกิดใหม่ในรูปขันธ์นั้นครับ

      >>> เรื่องการเกิดขึ้นครั้งแรกของวิญญาณ (คือไม่ใช่วิญญาณที่เกิดสืบทอดมาจากวิญญาณเดิมที่ดับไปนะครับ) ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์นะครับ ด้วยเหตุผลว่าคนทั่วๆ ไปไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจริงหรือเปล่า อยู่ที่จะเชื่อใครเท่านั้น พูดไปก็จะเป็นเพียงหัวข้อให้คนได้โต้เถียงกันเพิ่มขึ้นมาอีกหัวข้อหนึ่งเท่านั้น ไม่เป็นเหตุให้พ้นจากทุกข์ไปได้ พระพุทธเจ้าจะสอนเฉพาะเรื่องที่ทำให้พ้นทุกข์เท่านั้นครับ

      >>> คำถามนี้จึงตอบได้ว่า ที่แน่ๆ คือมีวิญญาณที่มีอยู่แล้วดับไป แล้วเป็นปัจจัยให้วิญญาณใหม่เกิดขึ้นสืบทอดต่อมา และได้เกิดใหม่ในรูปขันธ์นั้นครับ แต่เนื่องจากเหตุผลที่กล่าวไปแล้วว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์เรื่องการเกิดขึ้นครั้งแรกของวิญญาณ จึงไม่ทราบว่าวิญญาณใหม่ๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร จึงตอบไม่ได้ว่าปัจจุบันนี้มีวิญญาณใหม่ๆ เกิดเพิ่มขึ้นหรือไม่ครับ

      ถ้าเป็นกรณีเกิดใหม่ได้เอง จำนวนวิญญาณทั้งหมดก็เพิ่มขึ้นได้เรื่อย ๆ ไม่มีสิ้นสุด ใช่ไหมครับ

      >>> ถ้าเหตุปัจจัยที่ทำให้วิญญาณใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ยังมีอยู่ (ซึ่งไม่ทราบว่ายังมีอยู่หรือไม่ ตามที่ได้อธิบายไปแล้ว) ก็ย่อมจะมีวิญญาณใหม่ๆ เพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ ครับ

      ลบ
  2. หมอฉัตร เนติฯ3 สิงหาคม 2560 เวลา 21:55

    ผมเคยรู้มาว่า หลวงพ่อที่มีคนนับถือมากหลายองค์เคยสอนเสมอว่า จิตตอนสุดท้ายก่อนตายถ้าคิดถึงเรื่องอะไรก็จะไปเกิดที่นั่น เช่น ถ้าตอนตายคิดถึงพระพุทธ พระอริยสงฆ์ ก็จะไปเกิดที่สวรรค์
    ถ้าตอนตายคิดถึงเรื่องกาม ก็จะไปเกิดชั้นกามาวจร (อาจเป็นคน หมา เทวดาที่มีการเสพกาม เป็นต้น) ส่วนผลบุญบาปที่สั่งสมมาตลอดชีวิต ก็จะตามไปชดใช้กันตามกันไป
    แต่ผมว่ามันขัด ๆ กับหลักของพระพุทธเจ้ายังไงก็ไม่รู้
    เพราะผมคิดว่าวิญญาณนั้นต้องไปเกิดตามผลกรรมที่ทำมาโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่ไปตามความคิดตอนจะตาย

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      วิถีจิตตอนใกล้ตายที่ทางอภิธรรมเรียกว่ามรณาสันนวิถีนั้น จะเป็นจิตที่มีผลต่อภพที่จะไปเกิดใหม่มากครับ เพราะถ้าสภาวจิตตอนใกล้ตายเป็นยังไง ก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดจิตในภพใหม่ที่มีสภาวะใกล้เคียงกันนั้น หรือพูดอีกอย่างก็คือจิตตอนใกล้ตายจะเป็นจิตที่สร้างหรือเหนี่ยวนำให้เกิดจิตในภพใหม่ขึ้นมา จิตในภพใหม่ซึ่งเป็นผลจึงมีความใกล้เคียงกับเหตุคือจิตตอนใกล้ตายที่เป็นผู้สร้างมันขึ้นมา

      สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "จิตเต อสังกิลิฎเฐ สุคติปาฏิกังขา" เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง (ด้วยกิเลส) สุคติเป็นที่หวัง "จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคติปาฏิกังขา" เมื่อจิตเศร้าหมอง (ด้วยกิเลส) ทุคติเป็นที่หวัง

      มาพิจารณาเหตุผลประกอบนะครับ

      1. ตอนใกล้ตายนั้นจิตและสติจะมีกำลังอ่อนมาก จนไม่สามารถนึกคิดอะไรตามที่ต้องการได้ นอกจากนี้การรับรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว รวมถึงเสียงพูดเสียงเตือนของคนอื่นก็เป็นไปได้ยากเช่นกัน ความรู้สึกตอนใกล้ตายนั้นจึงเป็นเหมือนกำลังเคลิ้มๆ ฝันๆ คือเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่สามารถควบคุมได้เหมือนตอนมีสติตื่นรู้อย่างปกติ

      2. ดังนั้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นตอนใกล้ตาย จึงเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากความเคยชินของจิตที่สะสมมาเป็นเวลานาน ไม่ใช่ไปลักไก่นึกเอาได้ตอนจะตายนะครับ ไม่มีสติมากพอจะทำได้ครับ เช่น คนที่ทำบุญตักบาตรเป็นประจำก็มีโอกาสที่จะนึกถึงการทำบุญตักบาตรมาก คนที่มักโกรธก็มีโอกาสที่จะนึกถึงความโกรธมาก คนที่ทำบุญมาตลอดชีวิตก็มีโอกาสนึกถึงบุญมาก คนที่ทำบาปมาตลอดชีวิตก็มีโอกาสนึกถึงบาปมาก นอกจากคนที่เคยทำอนันตริยกรรมเอาไว้ พอใกล้ตายก็จะนึกถึงอนันตริยกรรมนั้น เพราะอนันตริยกรรมเป็นกรรมที่หนักมาก หนักจนเรียกได้ว่าจะคอยตามหลอนความรู้สึกของผู้ทำนั้นไปตลอดชีวิตเลย แน่นอนว่าตอนใกล้ตายด้วยเช่นกันครับ

      3. ตามคำบอกเล่าของคนที่ตายแล้วฟื้น ตอนใกล้ตายนั้นบางคนจะเห็นภาพที่เคยทำกรรมต่างๆ เอาไว้ตลอดชีวิต มาแสดงให้ดู เหมือนดูหนังที่ฉายประวัติของตนเองตลอดชีวิตอย่างรวดเร็วเลยครับ ดังนั้น กรรมใดที่ทำบ่อยๆ หรือมีกำลังมาก ก็ย่อมมีโอกาสส่งผลต่อจิตในขณะใกล้ตายมากเช่นกันนะครับ เพราะทุกอย่างมาฉายสรุปให้ดูให้ทบทวนแล้ว

      4. พระพุทธเจ้าตรัสว่าในขณะใกล้ตายนั้นจะมี 1 ใน 3 อย่างนี้ปรากฎให้รับรู้คือ 1. กรรมนิมิต 2. คตินิมิต 3. กรรมอารมณ์
      กรรมนิมิต คือภาพของกรรมที่เคยทำเอาไว้ในอดีตมาปรากฎให้เห็น เช่น เห็นภาพตอนทำบุญตักบาตร ภาพตอนฆ่าสัตว์ ฯลฯ
      คตินิมิต คือภาพของภพภูมิที่จะไปเกิดใหม่มาปรากฎให้เห็น เช่น เห็นหน้าผาสูงชันน่ากลัวมืดสลัว (ที่เกิดของเปรต อสุรกาย) เห็นวิมาน ปราสาทราชวัง เป็นต้น
      กรรมอารมณ์ คือรู้สึกถึงความรู้สึกแบบเดียวกับตอนที่กำลังทำกรรมในอดีต เช่น รู้สึกเอิบอิ่มใจเหมือนตอนทำบุญ รู้สึกเร่าร้อนใจเหมือนตอนกำลังทำบาป

      จากเหตุผล 4 ข้อข้างต้นนี้ เมื่อพิจารณา 2 ประเด็นต่อไปนี้คือ

      1. หลวงพ่อที่มีคนนับถือมากหลายองค์เคยสอนเสมอว่า จิตตอนสุดท้ายก่อนตายถ้าคิดถึงเรื่องอะไรก็จะไปเกิดที่นั่น เช่น ถ้าตอนตายคิดถึงพระพุทธ พระอริยสงฆ์ ก็จะไปเกิดที่สวรรค์ ถ้าตอนตายคิดถึงเรื่องกาม ก็จะไปเกิดชั้นกามาวจร (อาจเป็นคน หมา เทวดาที่มีการเสพกาม เป็นต้น) ส่วนผลบุญบาปที่สั่งสมมาตลอดชีวิต ก็จะตามไปชดใช้กันตามกันไป

      2.วิญญาณนั้นต้องไปเกิดตามผลกรรมที่ทำมาโดยอัตโนมัติ

      จะเห็นว่าทั้ง 2 ประเด็นนี้มีเหตุผล และความหมายที่สอดคล้องไปในทางเดียวกันนะครับ ไม่ได้ขัดแย้งกัน และไม่ได้ขัดกับหลักของพระพุทธเจ้าแต่อย่างใด เพราะวิถีจิตขณะใกล้ตายนั้นเรียกได้ว่าเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติจากผลกรรมที่ทำมาในอดีต ตามเหตุผล 4 ข้อที่กล่าวไปแล้ว ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าภพใหม่ที่เกิดจากวิถีจิตขณะใกล้ตายนั้นเกิดตามผลกรรมที่ทำมาโดยอัตโนมัติ (วิญญาณในภพเก่าดับไป แล้วเหนี่ยวนำให้วิญญาณในภพใหม่เกิดขึ้นมา)

      ลบ
  3. หมอฉัตร เนติ10 ธันวาคม 2563 เวลา 15:52

    ตามที่ท่านได้ตอบคำถามในวันที่ 2 ส.ค. 2560 ด้านบนนี้ ที่ตอบว่า วิญญาณที่ไปเกิดใหม่ในภพใหม่เป็นวิญญาณดวงสุดท้ายไปเหนี่ยวนำให้เกิดวิญญาณในภพใหม่
    แต่ผมไปฟังคลิปตามเวป www.facebook.com/Myselfinmyself/videos/3031223933626119/
    หลวงพ่อท่านบอกว่า วิญญาณไม่ได้ไปเกิดในภพใหม่ สิ่งที่ไปเกิดในภพใหม่คืตัวสัตว์ (สัตตานัง) นั่นเอง
    ตอนนี้ผมเลยสับสนว่า อะไรที่ไปเกิดในภพใหม่กันแน่ ขอความกรุณาอธิบายให้กระจ่างครับ
    และสัตตานังหมายถึงอะไร

    ตอบลบ
    คำตอบ

    1. ก่อนอื่นขออธิบายให้ชัดเจนอีกครั้งนะครับ ว่าวิญญาณในภพเก่ากับวิญญาณในภพใหม่นั้นเป็นวิญญาณคนละดวงกัน ไม่ใช่วิญญาณในภพเก่าไปเกิดในภพใหม่ แต่วิญญาณในภพเก่าเป็นปัจจัยให้วิญญาณในภพใหม่เกิดขึ้น

      และโดยปรมัตถ์แล้ว ไม่มีอะไรเลยที่ออกจากร่างในภพเก่าแล้วไปเกิดในร่างใหม่ในภพใหม่ มีเพียงกระบวนการที่วิญญาณในภพเก่าที่ยังมีตัณหาอยู่ เหนี่ยวนำให้วิญญาณในภพใหม่เกิดขึ้นเท่านั้นครับ

      การที่พระพุทธเจ้าตรัสคำว่าสัตว์ (สัตตานัง) หรือคำว่าบุคคลนั้น เป็นการกล่าวโดยสมมุติบัญญัติ เพื่อใช้สื่อสารเท่านั้นครับ ถ้ากล่าวโดยปรมัตถ์แล้วพระพุทธเจ้าปฏิเสธการมีอยู่ของสัตว์ บุคคล ตัวตน อัตตา อาตมัน

      โดยปรมัตถ์แล้วพระพุทธเจ้าตรัสการมีอยู่ของขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมทั้งนิพพานซึ่งเป็นสภาวะที่เมื่อสิ้นตัณหาแล้ว (เป็นพระอรหันต์แล้ว) เมื่อสิ้นชีวิตในภพเก่าแล้ว ขันธ์ทั้ง 5 ก็ดับสิ้นไป โดยไม่เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณในภพใหม่เกิดขึ้นอีกเลย (ปรินิพพาน)

      ลบ

    2. อ่านเรื่องนี้ประกอบนะครับ

      พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙
      สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค

      ๓. ยมกสูตร
      ว่าด้วยพระขีณาสพตายแล้วสูญหรือไม่


      [๑๙๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตร อยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ก็โดยสมัยนั้นแล ยมกภิกษุเกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพ (พระอรหันต์ - ธัมมโชติ) เมื่อตายไปแล้วย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก.

      ภิกษุหลายรูป ได้ฟังแล้วว่า ได้ยินว่า ยมกภิกษุเกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก.

      ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้น จึงพากันเข้าไปหาท่านยมกภิกษุถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยกับท่านยมกภิกษุ ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยชวนให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว จึงถามท่านยมกภิกษุว่า ดูกรท่านยมกะ ทราบว่า ท่านเกิดทิฏฐิอันชั่วช้า เห็นปานนี้ว่า เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก จริงหรือ?

      ท่านยมกะกล่าวว่า อย่างนั้น อาวุโส.

      ภิ. ดูกรอาวุโสยมกะ ท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น อย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค เพราะการกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคไม่พึงตรัสอย่างนี้ว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก.

      ท่านยมกะ เมื่อถูกภิกษุเหล่านั้นกล่าวแม้อย่างนี้ ยังขืนกล่าวถือทิฏฐิอันชั่วช้านั้น อย่างหนักแน่นอย่างนั้นว่า เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก.

      ภิกษุเหล่านั้น ย่อมไม่อาจเพื่อจะยังท่านยมกะ ให้ถอนทิฏฐิอันชั่วช้านั้นได้ จึงลุกจากอาสนะ เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรจนถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว จึงกล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า ข้าแต่ท่านสารีบุตร ยมกภิกษุเกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก ขอโอกาสนิมนต์ท่านพระสารีบุตรไปหายมกภิกษุถึงที่อยู่ เพื่ออนุเคราะห์เถิด. ท่านพระสารีบุตรรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ.

      ลบ

    3. [๑๙๙] ครั้งนั้น เวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่พักผ่อนแล้วเข้าไปหาท่านยมกะถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยกับท่านยมกะ ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ถามท่านยมกะว่า ดูกรอาวุโสยมกะ ทราบว่า ท่านเกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก ดังนี้ จริงหรือ?

      ท่านยมกะตอบว่า อย่างนั้นแล ท่านสารีบุตร.

      สา. ดูกรท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
      ย. ไม่เที่ยง ท่าน ฯลฯ
      สา. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
      ย. ไม่เที่ยง ท่าน ฯลฯ
      สา. เพราะเหตุนี้นั้นแล ยมกะ พระอริยสาวกผู้ใดสดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก.

      [๒๐๐] สา. ดูกรท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็นรูปว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นเวทนาว่าสัตว์เป็นบุคคลหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นสัญญาว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นสังขารว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นวิญญาณว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

      [๒๐๑] สา. ดูกรท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในรูปหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลอื่นจากรูปหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในเวทนาหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลอื่นจากเวทนาหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในสัญญาหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในสังขารหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลอื่นจากสังขารหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในวิญญาณหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลอื่นจากวิญญาณหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

      [๒๐๒] สา. ดูกรยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นสัตว์บุคคลหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

      ลบ

    4. [๒๐๓] สา. ดูกรท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็นว่า สัตว์บุคคลนี้นั้นไม่มีรูป ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณ หรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ดูกรท่านยมกะ ก็โดยที่จริง โดยที่แท้ ท่านจะค้นหาสัตว์บุคคลในขันธ์ ๕ เหล่านี้ในปัจจุบันไม่ได้เลย ควรแลหรือที่ท่านจะยืนยันว่า เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก.
      ย. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร เมื่อก่อนผมไม่รู้อย่างนี้ จึงได้เกิดทิฏฐิอันชั่วช้าอย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้ ผมละทิฏฐิอันชั่วช้านั้นได้แล้ว และผมก็ได้บรรลุธรรมแล้วเพราะฟังธรรมเทศนานี้ ของท่านพระสารีบุตร.

      [๒๐๔] สา. ดูกรท่านยมกะ ถ้าชนทั้งหลาย พึงถามท่านอย่างนี้ว่า ท่านยมกะ ภิกษุผู้ที่เป็นพระอรหันตขีณาสพ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเป็นอะไร ท่านถูกถามอย่างนั้น จะพึงกล่าวแก้ว่าอย่างไร?
      ย. ข้าแต่ท่านสารีบุตร ถ้าเขาถามอย่างนั้น ผมพึงกล่าวแก้อย่างนี้ว่ารูปแลไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไปแล้ว ถึงแล้วซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไปแล้ว ถึงแล้วซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้ ข้าแต่ท่านสารีบุตร ผมถูกเขาถามอย่างนั้น พึงกล่าวแก้อย่างนี้.

      [๒๐๕] สา. ดีละๆ ยมกะ ถ้าอย่างนั้น เราจักอุปมาให้ท่านฟัง เพื่อหยั่งรู้ความข้อนั้นให้ยิ่งๆ ขึ้น. ดูกรท่านยมกะ เปรียบเหมือนคฤหบดี หรือบุตรของคฤหบดีผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเขารักษาตัวกวดขัน เกิดมีบุรุษคนหนึ่งประสงค์ความพินาศ ประสงค์ความไม่เป็นประโยชน์ ประสงค์ความไม่ปลอดภัย อยากจะปลงชีวิตเขาเสีย เขาพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า คฤหบดีและบุตรคฤหบดีนี้ เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเขามีการรักษาอย่างกวดขัน การที่จะอุกอาจปลงชีวิตนี้ ไม่ใช่เป็นการทำได้ง่ายเลย อย่ากระนั้นเลย เราพึงใช้อุบายปลงชีวิต.

      บุรุษนั้น พึงเข้าไปหาคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ผมขอเป็นคนรับใช้ท่าน. คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น พึงรับบุรุษนั้นไว้ใช้ เขาพึงรับใช้เรียบร้อยดีทุกประการคือ มีปรกติตื่นก่อน นอนภายหลัง คอยฟังคำสั่ง ประพฤติให้เป็นที่พอใจ กล่าวแต่วาจาเป็นที่รักใคร่ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น เชื่อเขาโดยความเป็นมิตร โดยความเป็นสหาย และถึงความไว้วางใจในเขา.

      เมื่อใด บุรุษนั้นพึงคิดว่า คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีไว้ใจเราดีแล้ว เมื่อนั้น บุรุษนั้นรู้ว่า คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีอยู่ในที่ลับ พึงปลงชีวิตเสียด้วยศาตราอันคม.

      ท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในกาลใด บุรุษนั้นเข้าไปหาคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีโน้นแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ผมขอรับใช้ท่านแม้ในกาลนั้น เขาก็ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่าอยู่แล้ว ก็แต่คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น หารู้จักบุรุษผู้ฆ่าว่า เป็นผู้ฆ่าเราไม่.

      ในกาลใด บุรุษนั้นตื่นก่อน นอนภายหลัง คอยฟังคำสั่ง ประพฤติให้เป็นที่พอใจ กล่าวแต่วาจาเป็นที่รักใคร่ แม้ในกาลนั้น เขาก็ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่าอยู่แล้ว ก็แต่คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น หารู้จักบุรุษผู้ฆ่านั้นว่า เป็นผู้ฆ่าเราไม่.

      และในกาลใด บุรุษนั้นรู้ว่า คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นอยู่ในที่ลับ จึงปลงชีวิตเสียด้วยศาตราอันคม แม้ในกาลนั้น เขาเป็นผู้ฆ่านั่นเอง ก็แต่คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น หารู้จักบุรุษนั้นว่าเป็นผู้ฆ่าเราไม่.

      ย. อย่างนั้น ท่าน.

      [๒๐๖] สา. ดูกรท่านยมกะ ข้ออุปมานี้ฉันใด ปุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในอริยธรรม ไม่ได้รับแนะนำในอริยธรรม ไม่ได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในสัปปุริสธรรม ไม่ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเห็นรูป โดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีรูป ย่อมเห็นรูปในตน หรือย่อมเห็นตนในรูป

      ย่อมเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมเห็นสัญญา โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมเห็นสังขาร โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ย่อมเห็นวิญญาณในตน หรือย่อมเห็นตนในวิญญาณ.

      เขาย่อมไม่รู้ชัด ตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยงว่า ไม่เที่ยง ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์ว่า เป็นทุกข์ ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอนัตตาว่า เป็นอนัตตา ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่งว่า อันปัจจัยแต่ง ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นผู้ฆ่า ว่าเป็นผู้ฆ่า.

      เขาย่อมเข้าไปถือมั่น ยึดมั่น ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นตัวตนของเรา. อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ อันปุถุชนนั้นเข้าไปถือมั่น ยึดมั่นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน.

      ลบ

    5. [๒๐๗] ดูกรท่านยมกะ ส่วนพระอริยสาวกผู้สดับแล้ว ได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดในอริยธรรม ได้รับแนะนำในอริยธรรมดีแล้ว ได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ฉลาดในสัปปุริสธรรม ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรมดีแล้ว ย่อมไม่เห็นรูป โดยความเป็นตน ย่อมไม่เห็นตนมีรูป ย่อมไม่เห็นรูปในตน หรือย่อมไม่เห็นตนในรูป

      ย่อมไม่เห็นเวทนา โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่เห็นสัญญา โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่เห็นสังขาร โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่เห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ย่อมไม่เห็นตนมีวิญญาณ ย่อมไม่เห็นวิญญาณในตน หรือย่อมไม่เห็นตนในวิญญาณ.

      เขาย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง. ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์. ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอนัตตาว่าเป็นอนัตตา. ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่ง ว่าปัจจัยปรุงแต่ง. ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นผู้ฆ่า ว่าเป็นผู้ฆ่า.

      เขาย่อมไม่เข้าไปถือมั่น ยึดมั่น ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นตัวตนของเรา. อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ อันอริยสาวกนั้น ไม่เข้าไปถือมั่น ยึดมั่นแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน.

      ย. ข้าแต่ท่านสารีบุตร ข้อที่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ของท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้เช่นนั้น เป็นผู้อนุเคราะห์ ใคร่ประโยชน์ เป็นผู้ว่ากล่าวพร่ำสอน ย่อมเป็นอย่างนั้นแท้ ก็แลจิตของผมหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่น เพราะได้ฟังธรรมเทศนานี้ของท่านสารีบุตร.

      จบ สูตรที่ ๓.

      ลบ

    6. เนื่องจากการกล่าวโดยปรมัตถ์นั้น (การพูดถึงแต่ขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นิพพาน) ถ้าผู้ฟังไม่มีความรู้ปรมัตถ์มากพอ ก็ยากที่จะคุยกันรู้เรื่องได้ครับ ดังนั้น หลายๆ กรณีพระพุทธเจ้าก็ตรัสโดยสมมุติบัญญัติ (สัตว์หรือสัตตานัง บุคคล ตัวตน เรา เขา อัตตา ฯลฯ ตามที่ชาวโลกใช้กัน) เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจได้

      ถ้าเอาทั้งปรมัตถ์และสมมุติบัญญัติมาพูดรวมกัน โดยไม่แยกแยะให้ดี ก็จะทำให้เข้าใจสับสนได้ครับ ต้องพิจารณาให้ดี

      อ่านยมกสูตร และมหาตัณหาสังขยสูตร ว่าด้วยสาติภิกษุมีทิฏฐิลามก (พระสูตรที่เป็นหัวข้อหลักในบทความนี้) ให้ดี แล้วจะเข้าใจเรื่องที่ถามได้ชัดเจนครับ

      ทั้ง 2 พระสูตรนี้ เป็นการปฏิเสธความสุดโต่งทั้ง 2 ด้าน คือ สัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง) และ อุจเฉททิฏฐิ (ความเห็นว่าขาดสูญ)

      คือปฏิเสธการมีอยู่ของสิ่งที่เที่ยงแท้ เป็นอมตะ (สัตว์ บุคคล ตัวตน อัตตา อาตมัน วิญญาณที่เป็นอมตะ ฯลฯ) ที่ออกจากร่างนี้ไปเข้าร่างโน้น เวียนว่ายไปในภพภูมิต่างๆ (สัสสตทิฏฐิ) และปฏิเสธการขาดสูญของสิ่งที่เคยเที่ยงแท้ เป็นอมตะนั้น (สัตว์ บุคคล ตัวตน อัตตา อาตมัน วิญญาณที่เป็นอมตะ ฯลฯ) (อุจเฉททิฏฐิ)

      แต่สอนว่าขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือเรียกรวมๆ ว่า รูปนาม) นั้นไม่เที่ยง เกืดขึ้น ตั้งอยู่เพียงชั่วขณะ แล้วดับไป ถ้ายังมีปัจจัยให้เกิดอีก ปัจจัยเหล่านั้นก็จะเหนี่ยวนำให้รูปนามใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่องไป จนกว่าจะหมดปัจจัยให้เกิดอีก (ปรินิพพาน) ก็จะไม่มีรูปนามใหม่เกิดขึ้นอีกต่อไป เหมือนไฟที่หมดเชื้อเพลิงแล้วดับไปฉันนั้น

      ดังนั้น ทิฏฐิของยมกภิกษุที่ว่า พระขีณาสพ (พระอรหันต์) เมื่อตายไปแล้วย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก จึงเป็นทิฏฐิอันชั่วช้า คือเป็นมิจฉาทิฏฐิ ประเภทอุจเฉททิฏฐินะครับ เพราะท่านเข้าใจว่ามีสัตว์หรือบุคคลอยู่จริงโดยปรมัตถ์ และเมื่อสัตว์บุคคลนั้นบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว เมื่อตายไปแล้วย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก

      เมื่อพระสารีบุตรมาโปรดท่าน ท่านจึงเข้าถึงธรรม และกล่าวว่า รูปแลไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไปแล้ว ถึงแล้วซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไปแล้ว ถึงแล้วซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้ ข้าแต่ท่านสารีบุตร ผมถูกเขาถามอย่างนั้น พึงกล่าวแก้อย่างนี้.

      ธัมมโชติ

      ลบ