Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

บุพกรรมของพระพุทธเจ้า

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้เป็นพระสูตรในพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าทรงเล่าถึงกรรมที่พระองค์เคยกระทำในอดีตทั้งกรรมดี กรรมไม่ดีและผลที่ทรงได้รับจากกรรมเหล่านั้นนะครับ

พระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ อัมพฏผลวรรคที่ ๓๙

พุทธาปทานชื่อปุพพกรรมปิโลติที่ ๑๐


(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๗๔ ข้อ : ๖๔)

ว่าด้วยบุพจริยาของพระองค์เอง

[๓๙๒] พระผู้มีพระภาคผู้เป็นนายกของโลก แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก ประทับนั่งอยู่ที่พื้นหินอันเป็นรัมณียสถาน โชติช่วงด้วยแก้วต่างๆ ในละแวกป่าอันมีกลิ่นหอมต่างๆ ใกล้สระอโนดาต ตรัสชี้แจงบุรพกรรมทั้งหลายของพระองค์ ณ ที่นั้นว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังกรรมที่เราทำแล้วของเรา เราเห็นภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรรูปหนึ่งแล้วได้ถวายผ้าเก่า (คงเพราะมีแต่ผ้าเก่า คงไม่ใช่มีผ้าใหม่แต่ถวายผ้าเก่านะครับ - ธัมมโชติ) เราปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า ในกาลนั้น ผลแห่งกรรม คือ การถวายผ้าเก่า ย่อมอำนวยผลให้เป็นพระพุทธเจ้า

ในกาลก่อน เราเป็นนายโคบาล ต้อนโคไปเลี้ยง เห็นแม่โคกำลังดื่มน้ำขุ่นมัว จึงห้ามมัน ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น ในภพหลังสุดนี้ (แม้) เราจะกระหายน้ำ ก็ไม่ได้ดื่มน้ำตามความปรารถนา (ในคราวที่พระอานนท์คิดว่าน้ำในแม่น้ำยังขุ่นอยู่ เลยยังไม่ไปตักถวายนะครับ - ธัมมโชติ)

ในชาติอื่นในกาลก่อน เราเป็นนักเลงชื่อปุนาลิ ได้กล่าวตู่พระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่าสุรภี ผู้ไม่ประทุษร้าย (ตอบ) ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น เราท่องเที่ยวอยู่ในนรกเป็นเวลานาน ได้เสวยทุกขเวทนาแสนสาหัส หลายพันปีเป็นอันมาก ด้วยผลกรรมอันเหลือนั้น ในภพหลังสุดนี้ เราจึงได้คำกล่าวตู่เพราะเหตุแห่งนางสุนทริกา

เพราะการกล่าวตู่พระเถระนามว่านันทะ สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ครอบงำอันตรายทั้งปวง เราจึงท่องเที่ยวอยู่ในนรกสิ้นกาลนาน เราท่องเที่ยวอยู่ในนรกเป็นเวลานานถึงหมื่นปี ได้ความเป็นมนุษย์แล้ว ได้การกล่าวตู่เป็นอันมาก ด้วยผลกรรมที่เหลือนั้น นางจิญจมานวิกามากับหมู่ชน ได้กล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่เป็นจริง

เมื่อก่อน เราเป็นพราหมณ์ชื่อสุตวา อันชนทั้งหลายสักการะบูชา สอนมนต์ให้กับมาณพประมาณ ๕๐๐ คนในป่าใหญ่ ก็เราได้เห็นฤาษีผู้น่ากลัว ได้อภิญญา ๕ มีฤทธิ์มาก มาในสำนักของเรา เราจึงกล่าวตู่ฤาษีผู้ไม่ประทุษร้าย โดยได้บอกกะพวกศิษย์ของเราว่า ฤาษีพวกนี้มักบริโภคกาม แม้เมื่อเราบอก (เท่านั้น) พวกมาณพก็เชื่อฟัง ครั้งนั้น มาณพทั้งปวงเที่ยวไปภิกษาในสกุลๆ พากันบอกแก่มหาชนว่า ฤาษีพวกนี้มักบริโภคกาม ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น ภิกษุ ๕๐๐ เหล่านี้ ได้คำกล่าวตู่ทั้งหมด เพราะเหตุแห่งนางสุนทริกา

ในกาลก่อน เราได้ฆ่าพี่น้องชายต่างมารดา เพราะเหตุแห่งทรัพย์ จับใส่ลงในซอกเขา และบด (ทับ) ด้วยหิน ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น พระเทวทัตจึงผลักก้อนหิน ก้อนหินกลิ้งลงมากระทบนิ้วแม่เท้าของเราจนห้อเลือด

ในกาลก่อน เราเป็นเด็กเล่นอยู่ที่หนทางใหญ่ เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ใส่ไฟเผา (ดัก) ไว้ทั่วหนทาง ด้วยวิบากกรรมนั้น ในภพหลังสุดนี้ พระเทวทัตจึงชักชวนนายขมังธนู ผู้ฆ่าคนตายมาก เพื่อให้ฆ่าเรา

ในกาลก่อน เราเป็นนายควาญช้าง ได้ไสช้างให้จับมัดพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้อุดมมุนี แม้กำลังเที่ยวบิณฑบาต ด้วยวิบากกรรมนั้น ช้างนาฬาคิรีอันดุร้าย วิ่งแล่นเข้าไปในคอก (ท้อง) เขา (วงกต) เบื้องหน้าผู้ประเสริฐ

ในกาลก่อน เราเป็นนายทหารราบ (เป็นแม่ทัพ) ฆ่าบุรุษเป็นอันมากด้วยหอก ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น เราถูกไฟไหม้อย่างเผ็ดร้อนอยู่ในนรก ด้วยผลอันเหลือแห่งกรรมนั้น บัดนี้ ไฟนั้นยังมาไหม้ผิวหนังที่เท้าของเราทั้งสิ้น (อีก) เพราะว่ากรรมยังไม่พินาศไป

ในกาลก่อน เราเป็นเด็ก (ลูก) ของชาวประมง อยู่ในบ้านเกวัฏฏคาม เห็นคนทั้งหลายฆ่าปลาแล้ว เกิดความโสมนัส ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น ความทุกข์ที่ศีรษะ (ปวดศีรษะ) ได้มีแล้วแก่เราในเมื่อเจ้าศากยะทั้งหลายถูกเบียดเบียน พระเจ้าวิฏฏุภะฆ่าแล้ว (โปรดสังเกตว่า เพียงแค่มีความยินดีในการทำบาปของผู้อื่น ก็เป็นบาปกรรมแล้วนะครับ - ธัมมโชติ)

เราได้บริภาษพระสาวกทั้งหลาย ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่าผุสสะ ว่าท่านทั้งหลายจงเคี้ยว จงกินแต่ข้าวแดง แต่อย่ากินข้าวสาลีเลย ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น เราอันพราหมณ์นิมนต์แล้ว อยู่ในเมืองเวรัญชา บริโภคข้าวแดงตลอด ๓ เดือน

ในกาลนั้น เมื่อนักมวยกำลังชกกัน เราได้ห้ามบุตรนักมวยปล้ำ (ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย ใช้คำว่า "เราได้เบียดเบียนบุตรนักมวยปล้ำ" นะครับ - ธัมมโชติ) ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น ความทุกข์ที่หลัง (ปวดหลัง) ได้มีแล้วแก่เรา

เมื่อก่อนเราเป็นหมอรักษาโรค ได้ถ่ายยาให้เศรษฐีบุตร (ตาย) ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น โรคปักขันทิกาพาธ (โรคท้องร่วง - พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)) จึงมีแก่เรา

เราชื่อว่าโชติปาละ ได้กล่าวกะพระสุคตเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ในกาลนั้นว่า จักมีโพธิมณฑลแต่ที่ไหน โพธิญาณท่านได้ยากอย่างยิ่ง (คือกล่าวตู่พระกัสสปพุทธเจ้าว่า ไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าจริงๆ นะครับ - ธัมมโชติ) ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น เราได้ประพฤติกรรมที่ทำได้ยากมาก (ทุกกรกิริยา) ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมตลอด ๖ ปี แต่นั้นจึงได้บรรลุโพธิญาณ แต่เราก็มิได้บรรลุโพธิญาณอันสูงสุดด้วยหนทางนี้ (คือไม่ได้บรรลุโพธิญาณด้วยทุกกรกิริยาอันยากลำบากนั้นนะครับ - ธัมมโชติ) เราอันบุรพกรรมตักเตือนแล้ว จึงแสวงหาโพธิญาณโดยทางที่ผิด

(บัดนี้) เราเป็นผู้สิ้นบาปและบุญ (คือไม่ทำกรรมใหม่ใดๆ แล้ว ทั้งบาปและบุญ เป็นสักแต่ว่าทำสิ่งที่ควรทำไปเท่านั้น แต่ก็ยังไม่พ้นจากผลของกรรมเก่าจนกว่าจะปรินิพพานไปแล้วนะครับ - ธัมมโชติ) เว้นจากความเร่าร้อนทั้งปวง ไม่มีความเศร้าโศก ไม่คับแค้น เป็นผู้ไม่มีอาสวะ (อาสวะคือกิเลสที่นอนเนื่องในขันธสันดานนะครับ - ธัมมโชติ) จักนิพพาน

พระชินเจ้าทรงบรรลุกำลังแห่งอภิญญาทั้งปวงแล้ว ทรงพยากรณ์โดยทรงหวังประโยชน์แก่ภิกษุสงฆ์ ที่สระใหญ่อโนดาต ด้วยประการฉะนี้แล.


ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ

6 ความคิดเห็น :

  1. หมอฉัตร เนติฯ3 สิงหาคม 2560 เวลา 16:18

    การเป็นทหารปกป้องชาติ ต้องฆ่าข้าศึก
    บางครั้งต้องมีเจตนาฆ่า เพราะข้าศึกมีอาวุธร้ายแรง แต่ต้องตกนรก
    ถามว่า ต้องปล่อยให้ข้าศึกรุกรานหรือครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ http://tripitaka-online.blogspot.com

      เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนนะครับ

      ก่อนอื่นต้องยอมรับความจริงก่อนว่า จุดมุ่งหมายสูงสุดของทางธรรมกับทางโลกนั้นต่างกัน ถึงขั้นตรงกันข้ามกันเลยก็ว่าได้ จุดมุ่งหมายสูงสุดของทางธรรมนั้นคือการทำลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงลงไป ไม่เว้นแม้แต่ความยึดมั่นถือมั่นในรูปนามภายใน หรือร่างกายและจิตใจที่ชาวโลกทั้งหลายยึดถือว่าเป็นเราหรือของของเรา ดังนั้น ก็คงไม่ต้องกล่าวถึงสิ่งต่างๆ ภายนอกนะครับ ไม่ว่าจะเป็นญาติมิตร ทรัพย์สมบัติ บ้าน ที่ดิน ตลอดไปถึงระดับใหญ่ขึ้นไป เช่น ประเทศชาติ หรือโลกทั้งโลก ก็ล้วนต้องพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นด้วยกันทั้งสิ้น (การไม่ยึดมั่นไม่ได้แปลว่าไม่ต้องใช้นะครับ เพราะเมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องกินต้องใช้เพื่อให้ชีวิตดำเนินไปได้อยู่แล้ว แต่เป็นการใช้ตามความจำเป็นเพื่อแก้ทุกข์ไปวันๆ เท่านั้น ไม่ใช่การสะสมแบบทางโลก)

      ในขณะที่ความเจริญในทางโลกนั้นหมายถึงการสั่งสมทรัพย์สมบัติต่างๆ เอาไว้ให้มากๆ ยิ่งสะสมสิ่งต่างๆ เอาไว้ได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้ชื่อว่ามีความเจริญ ความสำเร็จในชีวิตมากขึ้นเท่านั้น

      ดังนั้น ความเจริญในทางธรรมจึงได้ชื่อว่าการเดินสวนกระแสโลก ด้วยเหตุนี้การจะทำอะไรที่จะให้ประโยชน์สูงสุดทั้งในทางโลกและทางธรรมจึงเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยนะครับ อยู่ที่ว่าจะปรับสมดุลของประโยชน์แต่ละทางได้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้น ซึ่งก็คือการยอมลดประโยชน์ทางหนึ่งลงไปเพื่อให้ได้ประโยชน์อีกทางหนึ่งเพิ่มขึ้นมา เช่น การยอมสละทรัพย์สมบัติส่วนหนึ่ง (สูญเสียทางโลก) เพื่อเอาไปทำบุญ (เพิ่มประโยชน์ทางธรรม) เป็นต้น

      จากประเด็นข้อสงสัยที่ว่า การเป็นทหารปกป้องชาติ ต้องฆ่าข้าศึก บางครั้งต้องมีเจตนาฆ่า เพราะข้าศึกมีอาวุธร้ายแรง (อันนี้คือประโยชน์ในทางโลกนะครับ) แต่ต้องตกนรก (อันนี้คือผลเสียที่ตามมาจากการที่เลือกประโยชน์ทางโลกครับ) ถามว่า ต้องปล่อยให้ข้าศึกรุกรานหรือ (อันนี้คือผลเสียทางโลกที่ตามมาจากการเลือกประโยชน์ทางธรรมครับ)

      ประเด็นนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าการจะทำอะไรที่จะให้ประโยชน์สูงสุดทั้งในทางโลกและทางธรรมนั้นเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยนะครับ

      คราวนี้เราจะปรับสมดุลได้อย่างไร
      มีทางเลือกมากมายให้เราพิจารณาได้นะครับ เช่น

      1. การรบโดยไม่ต้องรบ เช่น การมีกำลังรบและระบบป้องกันประเทศที่ทำให้ศัตรูรู้สึกว่าไม่คุ้มค่าที่จะมารบกับเรา
      2. การอยู่ร่วมกันกับประเทศอื่นอย่างได้ประโยชน์ร่วมกัน มีความสุข ความเจริญก้าวหน้าร่วมกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบเบียดเบียนกัน จนไม่มีประเทศไหนรู้สึกว่าเราเป็นศัตรูที่ควรรุกราน
      3. การรบโดยธรรม คือการทำให้ทุกประเทศได้รับประโยชน์และเห็นคุณค่าของความเจริญทางธรรมร่วมกัน เพื่อลดความเบียดเบียนกันในทางโลก
      4. ถ้าหลีกเลี่ยงสงครามไม่ได้จริงๆ การวางใจในการสู้รบที่ต่างกันก็ทำให้เกิดบาปกรรมต่างกันนะครับ เช่น ถ้ารบด้วยความโกรธแค้น หรือรบเพราะความโลภอยากขยายดินแดนยึดครองออกไปมากๆ หรือรบเพื่อทำลายล้าง ก็ย่อมจะมีโทษในทางธรรมมากกว่าการรบเพื่อป้องกันตัว หรือการรบโดยตั้งจิตไว้ที่ความเสียสละเพื่อความสุขของคนในชาตินะครับ

      ทางเลือกอื่นๆ ก็ยังมีอีกมากมาย อยู่ที่ว่าจะเลือกที่จะให้ประโยชน์ในทางโลกหรือทางธรรมมากกว่ากันนะครับ

      ลบ
  2. หมอฉัตร เนติฯ3 สิงหาคม 2560 เวลา 16:32

    ที่พระพุทธเจ้าถ่ายยาให้เศรษฐีบุตรตายที่เป็นบาปกรรม เป็นกรณีใดครับ คือจากการให้ยาผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ หรือเป็นผลข้างเคียงของยา หรือเป็นด้วยสาเหตุใด

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      รายละเอียดของเรื่องนี้ที่แสดงเอาไว้ในพรรณนาพุทธาปทาน
      ในคัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย อปทาน
      (มีอยู่ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ชุด 91 เล่ม ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย
      พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้าที่ 235) มีอธิบายไว้ดังนี้ครับ

      ปัญหาข้อที่ ๑๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

      การถ่ายด้วยการลงพระโลหิต ชื่อว่า อติสาระ โรคบิด.
      ได้ยินว่าในอดีตกาล พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลคหบดี เลี้ยงชีพด้วยเวชกรรม พระโพธิสัตว์นั้น เมื่อจะเยียวยาบุตรของเศรษฐีคนหนึ่งผู้ถูกโรคครอบงำ จึงปรุงยาแล้วเยียวยา อาศัยความประมาทในการให้ไทยธรรมของบุตรเศรษฐีนั้น จึงให้โอสถอีกขนานหนึ่ง ได้กระทำการถ่ายโดยการสำรอกออก เศรษฐีได้ให้ทรัพย์เป็นอันมาก.

      ด้วยวิบากของกรรมนั้น พระโพธิสัตว์จึงได้ถูกอาพาธด้วยโรคลงโลหิตครอบงำในภพที่เกิดแล้วๆ ในอัตภาพหลังสุดแม้นี้ ในปรินิพพานสมัย จึงได้มีการถ่ายด้วยการลงพระโลหิต ในขณะที่เสวยสูกรมัททวะที่นายจุนทะกัมมารบุตรปรุงถวาย พร้อมกับพระกระยาหารอันมีทิพโอชะที่เทวดาในจักรวาลทั้งสิ้นใส่ลงไว้

      ขยายความได้ดังนี้ครับ
      ตอนแรกพระโพธิสัตว์ได้ให้ยารักษาโรคแก่บุตรเศรษฐีนั้นตามที่ควรจะเป็นแล้ว (ซึ่งก็น่าจะรักษาจนหายดีแล้วนะครับ) แต่บุตรเศรษฐีนั้นกลับไม่ยอมจ่ายค่ารักษา หรือจ่ายน้อยเกินไป พระโพธิสัตว์ไม่พอใจจึงได้ให้ยาถ่ายแก่บุตรเศรษฐีนั้น เศรษฐีผู้บิดาจึงยอมจ่ายค่ารักษาให้พระโพธิสัตว์เป็นจำนวนมาก

      สรุปคือเป็นการวางยาโดยเจตนานะครับ

      ลบ
  3. หมอฉัตร เนติฯ4 สิงหาคม 2560 เวลา 05:36

    “สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ”
    “การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”
    กราบขอบพระคุณท่านครับที่ให้ความกระจ่างในหลายคำถาม
    ซึ่งกระผมจะได้ศึกษาและน้อมนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. อนุโมทนาในกุศลเจตนาครับ
      ขอให้มีความสุขความเจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไปนะครับ

      ขอบคุณที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ http://tripitaka-online.blogspot.com ครับ

      ลบ