Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

ศีล 5 อย่างละเอียด

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

ในศีล 5 แต่ละข้อนั้น มีรายละเอียดหรือกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาการกระทำแต่ละอย่าง ว่าผิดศีลหรือไม่ แตกต่างกันออกไปนะครับ ซึ่งหลักเกณฑ์โดยทั่วไปมีดังนี้คือ

การผิดศีลข้อที่ 1 ปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์)

การกระทำที่ถือว่าผิดศีลข้อนี้อย่างสมบูรณ์ จะต้องประกอบด้วยส่วนประกอบดังนี้ครับ
  1. สัตว์นั้นมีชีวิต (คำว่าสัตว์นั้นรวมถึงคนด้วย กรณีที่ผู้ถูกฆ่าเป็นคน แต่ไม่รวมถึงพืชนะครับ)
  2. รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต (กรณีที่ไม่แน่ใจว่าสัตว์นั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ความผิดก็น้อยลงไปครับ)
  3. มีจิตคิดจะฆ่า คือมีเจตนาที่จะฆ่าสัตว์นั้น
  4. ทำความเพียรเพื่อให้สัตว์นั้นตาย คือลงมือฆ่านั่นเองครับ
  5. สัตว์นั้นตายลงด้วยความเพียรนั้น (ถ้าสัตว์นั้นไม่ถึงตาย หรือตายไปด้วยสาเหตุอื่น ความผิดก็น้อยลงไปครับ)
บาปกรรมที่เกิดขึ้นจะมากน้อยเพียงใดนั้น นอกจากจะขึ้นกับความสมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์ 5 ข้อ นี้แล้ว ยังขึ้นกับคุณสมบัติของผู้ที่ถูกฆ่า และความพยายามที่ใช้ด้วยดังนี้คือ
  • ในการฆ่านั้น ถ้าต้องใช้ความพยายามมาก หรือใช้เวลาวางแผนและเตรียมการเป็นเวลานาน ก็จะยิ่งเป็นบาปมากครับ เพราะจิตจะต้องมีกำลังมาก และต้องเสพอารมณ์นั้นเป็นเวลานาน ดังนั้น การฆ่าสัตว์ใหญ่จึงเป็นบาปมากกว่าการฆ่าสัตว์เล็ก เพราะต้องใช้ความพยายามมากกว่า
  • ถ้าผู้ที่ถูกฆ่านั้นยิ่งมีศีลธรรมมาก ก็จะยิ่งเป็นบาปมากครับ
  • ถ้าผู้ที่ถูกฆ่านั้นมีบุญคุณต่อผู้ที่ฆ่ามาก ก็ยิ่งเป็นบาปมาก
  • การฆ่าที่เป็นบาปมากเป็นพิเศษ คือการฆ่าบิดา มารดาของตน และการฆ่าพระอรหันต์

การผิดศีลข้อที่ 2 อทินนาทาน (การลักทรัพย์)

การกระทำที่ถือว่าผิดศีลข้อนี้อย่างสมบูรณ์ จะต้องประกอบด้วยส่วนประกอบดังนี้ครับ
  1. วัตถุนั้นมีเจ้าของ
  2. รู้ว่าวัตถุนั้นมีเจ้าของ
  3. มีจิตคิดจะลักขโมยวัตถุนั้น
  4. ทำความเพียรเพื่อลัก คือลงมือขโมยนั่นเองครับ
  5. ได้วัตถุนั้นมาด้วยความเพียรนั้น
ศีลข้อนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการลักขโมยโดยตรงเท่านั้น การลักขโมยโดยอ้อม การฉ้อโกง ก็จัดว่าผิดศีลข้อนี้เช่นกันครับ เช่น การทำให้เขาเสียประโยชน์ที่เขาพึงได้ อย่างเช่น เขาซื้อสินค้าจากเรา 1 กิโลกรัม แต่เราตักให้เขาเพียง 0.9 กิโลกรัม ก็หมายความว่า เราได้ขโมยสินค้านั้นจากลูกค้ามา 0.1 กิโลกรัม นั่นเองครับ

หรือมีคนว่าจ้างให้เราทำงานให้เขา 8 ชั่วโมง แต่เราทำให้เขาเพียง 7 ชั่วโมง ก็หมายความว่าเราขโมยเงินจากเขาเท่ากับค่าจ้าง 1 ชั่วโมง เป็นต้น นอกจากนี้ การเลี่ยงภาษีอากรต่างๆ ที่เราจะต้องจ่ายให้รัฐ ก็เป็นเหมือนการที่เราขโมยเงินส่วนนั้นจากรัฐเช่นกัน ทำให้รัฐขาดเงินในส่วนนั้นไปครับ

ข้อยกเว้นสำหรับศีลข้อ 2

การกระทำที่คล้ายกับการลักทรัพย์ แต่ไม่ใช่การลักทรัพย์ก็คือการถือวิสาสะ คือการถือเอาด้วยความสนิทสนม คุ้นเคยกันครับ

การถือวิสาสะที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุกระทำได้ คือการถือวิสาสะที่ประกอบด้วยองค์ 5 คือ
  1. (เรากับเจ้าของวัตถุนั้นเป็นผู้) เคยเห็นกันมา
  2. (เรากับเจ้าของวัตถุนั้นเป็นผู้) เคยคบกันมา
  3. เคยบอกอนุญาตกันไว้ (ว่าให้เอาวัตถุนั้นไปได้)
  4. (เจ้าของวัตถุนั้น) เขายังมีชีวิตอยู่ (เพราะถ้าเจ้าของทรัพย์นั้นเสียชีวิตแล้ว วัตถุนั้นย่อมตกเป็นของทายาท เราจึงต้องไปพิจารณาถึงองค์ 5 ในการถือวิสาสะนี้ กับทายาทนั้นต่อไปครับ)
  5. รู้ว่าเมื่อเราถือเอาวัตถุนั้นแล้ว เจ้าของวัตถุนั้นเขาจักพอใจ

การผิดศีลข้อที่ 3 กาเมสุมิจฉาจาร (การประพฤติผิดทางกาม)

การกระทำที่ถือว่าผิดศีลข้อนี้อย่างสมบูรณ์ จะต้องประกอบด้วยส่วนประกอบดังนี้ครับ
  1. บุคคลที่ไม่ควรเกี่ยวข้อง (ทางกาม)
  2. มีจิตคิดจะเสพ (กาม) ในบุคคลนั้น คือมีเจตนาจะเสพนั่นเองครับ
  3. มีความพยายามเสพ คือกระทำการเสพกามกับบุคคลนั้น
  4. มีความยินดี พอใจในการเสพกามนั้น (ไม่ใช่ถูกบังคับ ขืนใจ)
บาปกรรมที่เกิดขึ้นจะมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างนะครับ เช่น การล่วงเกินผู้ที่ไม่ยินยอมพร้อมใจด้วย ย่อมมีโทษมากกว่าการล่วงละเมิดผู้ที่มีความยินยอม หรือยินดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย การล่วงเกินผู้ที่มีศีลธรรมมาก เช่น พระอรหันต์ ย่อมมีโทษมากกว่าการล่วงละเมิดผู้ไม่มีศีลธรรม

บุคคลที่ไม่ควรเกี่ยวข้องนั้น พิจารณาง่ายๆ ก็คือผู้ที่มีเจ้าของ หรือผู้ปกครองหวงอยู่ คือไม่อนุญาตให้ล่วงเกิน หรืออนุญาตโดยไม่เต็มใจ ซึ่งการล่วงเกินนั้นจะทำให้คนเหล่านั้นไม่พอใจ ทั้งนี้รวมถึงผู้ที่มีระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ หรือจารีตประเพณี ห้ามเอาไว้ด้วยนะครับ เช่น ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี แม่ชี เป็นต้น

ซึ่งนอกจากจะพิจารณาที่ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดแล้ว ยังต้องพิจารณาที่ผู้กระทำการล่วงละเมิดเองด้วย เช่น ผู้ชายที่มีภรรยาอยู่ ถ้าภรรยาเขาไม่อนุญาตให้ไปมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น ถ้าชายคนนั้นไปเสพกามกับใคร (นอกจากกับภรรยาของเขา) ชายผู้นั้นก็ย่อมจะผิดศีลข้อนี้อย่างแน่นอนครับ ถึงแม้ว่าอีกฝ่ายจะไม่ใช่บุคคลที่ไม่ควรเกี่ยวข้องก็ตาม และหญิงใดที่ล่วงละเมิดกับชายผู้นี้ ผู้หญิงคนนั้นก็ย่อมจะเป็นผู้ที่ผิดศีลข้อนี้ด้วยเช่นกันครับ

หญิงที่ชายไม่ควรเกี่ยวข้อง มี 20 จำพวก คือ

  1. หญิงที่มีมารดาปกครอง
  2. หญิงที่มีบิดาปกครอง
  3. หญิงที่มีทั้งมารดาและบิดาปกครอง
  4. หญิงที่มีพี่สาวปกครอง หรือมีน้องสาวดูแลรักษาหรือหวงอยู่
  5. หญิงที่มีพี่ชายปกครอง หรือมีน้องชายดูแลรักษาหรือหวงอยู่
  6. หญิงที่มีญาติปกครอง
  7. หญิงที่มีตระกูลเดียวกัน หรือเชื้อชาติเดียวกันเป็นผู้ปกครอง
  8. หญิงที่มีผู้ประพฤติ ปฏิบัติศีลธรรมด้วยกันเป็นผู้ปกครอง เช่น แม่ชีมีหัวหน้าชีปกครอง เป็นต้น
  9. หญิงที่กษัตริย์ หรือผู้มีอำนาจได้จองตัวเอาไว้
  10. หญิงที่มีคู่มั่น
  11. หญิงที่ถูกผู้อื่นซื้อตัวมา
  12. หญิงที่สมัครใจไปอยู่กับชาย (คนอื่นแล้ว) คือหญิงที่มีสามีแล้ว
  13. หญิงที่ยอมเป็นภรรยาของชาย (คนอื่นแล้ว) โดยหวังในทรัพย์สินเงินทอง คือหญิงที่มีสามีแล้วอีกประเภทหนึ่ง
    (ข้อ 12 ถึง 20 คือหญิงที่มีสามีแล้วประเภทต่างๆ )
  14. หญิงที่ยอมเป็นภรรยาของชาย (คนอื่นแล้ว) โดยหวังในเครื่องนุ่งห่ม
  15. หญิงที่มีสามีแล้วโดยการทำพิธีแต่งงาน
  16. หญิงที่เป็นภรรยาของชายคนอื่น โดยชายคนนั้นเป็นผู้ช่วยให้พ้นจากการแบกของขาย คือช่วยให้พ้นจากความยากลำบากนั่นเองครับ
  17. หญิงที่มีสามีแล้ว โดยเมื่อก่อนเป็นเชลย แล้วภายหลังตกมาเป็นภรรยาของนายเชลยนั้น
  18. หญิงที่มีสามีแล้ว โดยเมื่อก่อนเป็นลูกจ้าง แล้วภายหลังตกมาเป็นภรรยาของนายจ้างนั้น
  19. หญิงที่มีสามีแล้ว โดยเมื่อก่อนเป็นทาส แล้วภายหลังตกมาเป็นภรรยาของนายทาสนั้น
  20. หญิงที่เป็นภรรยาของชายชั่วครั้งชั่วคราว แล้วถูกล่วงละเมิดในขณะที่ทำหน้าที่เป็นภรรยาของชายคนอื่นอยู่ เช่น หญิงขายบริการที่อยู่ในช่วงสัญญากับชายคนหนึ่งอยู่ แต่กลับไปมีสัมพันธ์กับชายอีกคนหนึ่ง เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เป็นการระบุรวบรวมเอาไว้ตั้งแต่สมัยโบราณ บางข้อจึงดูแปลกๆ อยู่บ้างนะครับ เพราะประเพณีที่แตกต่างกันออกไป ที่แสดงเอาไว้ก็เพื่อให้ครบถ้วนตามตำรา และเอาไว้ใช้ในการเทียบเคียงกับยุคปัจจุบันครับ

สำหรับผู้ที่ไม่เข้าข่ายต้องห้ามก็เช่น ชายหญิงที่เป็นสามีภรรยากัน หญิงขายบริการที่บิดา มารดา และผู้ปกครองทั้งหลายยินยอมพร้อมใจให้ทำอาชีพนั้น ทั้งนี้ต้องไม่อยู่ในช่วงสัญญากับคนอื่นด้วยนะครับ หญิงที่ไม่มีผู้ใดปกครองดูแลและไม่มีเจ้าของหวงอยู่ (คือหญิงที่มีอิสระในตัวเองอย่างแท้จริง) หญิงที่ได้รับความยินยอมจากใจจริงของผู้ปกครองและผู้ที่เป็นเจ้าของ (เช่น บิดา มารดา สำหรับหญิงที่มีสามีแล้วต้องได้รับอนุญาตจากสามีก่อน) โดยทุกกรณีถ้าฝ่ายชายมีภรรยาแล้ว ต้องได้รับอนุญาตจากภรรยาก่อนด้วยนะครับ

โดยสรุปก็คือ จะต้องไม่ทำให้ใคร (ผู้ที่มีสิทธิ์โดยชอบธรรมในตัวหญิงและชายนั้น) ไม่พอใจ หรือรู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจนั่นเองครับ

การผิดศีลข้อที่ 4 มุสาวาท (การพูดปด พูดเท็จ โกหก หลอกลวง)

การกระทำที่ถือว่าผิดศีลข้อนี้อย่างสมบูรณ์ จะต้องประกอบด้วยส่วนประกอบดังนี้ครับ
  1. เรื่องราวนั้นไม่เป็นความจริง
  2. มีจิตคิดจะมุสา คือมีเจตนาที่จะโกหก หลอกลวง
  3. พยายามด้วยกาย หรือด้วยวาจา หรือวิธีการใดๆ เพื่อจะให้ผู้อื่นเชื่อตามเรื่องราวนั้น คือดำเนินการโกหก หลอกลวงนั่นเองครับ
  4. ผู้อื่นเชื่อตามเรื่องราวนั้น
ข้อแตกต่างระหว่างมุสาวาท ปิสุณวาจา (พูดส่อเสียด) ผรุสวาจา (พูดคำหยาบ) สัมผัปปลาปะ (พูดเพ้อเจ้อ)
  • มุสาวาท คือการพูด หรือการกระทำใดๆ โดยมีเจตนาให้ผู้อื่นเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง โดยหวังจะให้เขาได้รับความเดือดร้อน เสียหาย หรือเสียประโยชน์อันพึงมีพึงได้ จากความเชื่อนั้น
  • ปิสุณวาจา (พูดส่อเสียด) คือการพูด หรือการกระทำใดๆ ในสิ่งที่เป็นความจริง หรือไม่เป็นความจริงก็ตาม โดยมีเจตนาจะยุยงให้เขาแตกแยกกัน ไม่สามัคคีกัน
  • ผรุสวาจา (พูดคำหยาบ) คือการพูด หรือการกระทำใดๆ ในสิ่งที่เป็นความจริง หรือไม่เป็นความจริงก็ตาม ด้วยคำที่สุภาพ หรือไม่สุภาพก็ตาม โดยมีเจตนาจะให้เขาเจ็บใจ ไม่สบายใจ หรือร้อนใจ (ไม่ได้มีเจตนาให้เขาเชื่อตามนั้นเป็นหลักใหญ่) เช่น การด่าว่าเขาเป็นสัตว์บางชนิด เป็นต้น โดยรู้อยู่แล้วว่าเขาจะไม่เชื่อ แต่จะต้องเจ็บใจ หรือการพูดถึงปมด้อยของเขาที่เป็นจริง การประชดประชันด้วยคำที่สุภาพ ฯลฯ
  • สัมผัปปลาปะ (พูดเพ้อเจ้อ) คือการพูด หรือการกระทำใดๆ ในสิ่งที่เป็นความจริง หรือไม่เป็นความจริงก็ตาม โดยเจตนาเพียงเพื่อความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ไร้สาระ ไม่มีใครได้ประโยชน์จากการพูด หรือการกระทำนั้นครับ
สำหรับมุสาวาทนั้น เป็นทั้งการผิดศีล 5 และเป็นอกุศลกรรม คือเป็นวจีทุจริต ในอกุศลกรรมบถ 10

ส่วนปิสุณวาจา ผรุสวาจา และสัมผัปปลาปะ นั้นไม่ถือเป็นการผิดศีล 5 แต่เป็นอกุศลกรรม คือเป็นวจีทุจริต ในอกุศลกรรมบถ 10 ครับ

การผิดศีลข้อที่ 5 สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน (การเสพสุรา เมรัย และของมึนเมาทั้งหลายอันทำให้ประมาท หรือขาดสติ)

แยกรายละเอียดได้ดังนี้คือ
  1. สุรา คือ น้ำเมาที่กลั่นแล้ว ได้แก่ เหล้าชนิดต่างๆ นั่นเองครับ
  2. เมรัย คือ น้ำเมาที่ไม่ได้กลั่น, น้ำเมาที่เกิดจากการหมักหรือแช่ เช่น ไวน์ชนิดต่างๆ
  3. มัชชะ คือ สิ่งที่เสพแล้วทำให้มึนเมา หรือขาดสติทั้งหลาย เช่น บุหรี่ ยาเสพติดทุกชนิด รวมทั้งเหล้า เบียร์ และสุรา เมรัยทุกชนิดด้วยครับ
การผิดศีลข้อที่ 5 นี้ จัดว่าเป็นอันตรายมาก เพราะทำให้ขาดสติ เมื่อขาดสติแล้วการทำผิดทุกชนิดก็จะตามมาได้โดยง่าย นอกจากนี้ยังจะทำให้ต้องเสียทรัพย์ไปโดยไม่จำเป็น ทั้งยังเสี่ยงต่ออุบัติเหตุเภทภัยทั้งหลาย ความทะเลาะเบาะแว้ง ทำให้ครอบครัวขาดความอบอุ่น หรืออาจถึงขั้นทำให้ครอบครัวแตกแยกเลยก็ได้นะครับ และยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ขาดการพักผ่อน ซึ่งอาจส่งผลไปถึงหน้าที่การงานอีกด้วยครับ

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ

40 ความคิดเห็น :

  1. หมอฉัตร เนติฯ13 สิงหาคม 2560 เวลา 17:00

    ขอถามดังนี้ครับ
    ๑. กรรมวิบากจากการผิดศีลแต่ละข้อ สงสัยว่ามีเหตุปัจจัยทำให้เกิดกรรมวิบากนั้น ๆ ได้อย่างไร (คิดว่าไม่มีใครเป็นผู้กำหนดให้เกิดกรรมวิบากนั้น ๆ น่าจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือว่ามีเหตุผลอื่น!) เคยอ่านเจอเช่น ผู้ที่ละเมิดศีล ๔ อาจเจอกรรมวิบากมีกลิ่นปากเหม็นจัด ผู้ที่ละเมิดศีล ๒ หากเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมเป็นผู้มีทรัพย์สมบัติพังพินาศเสียหาย
    ๒. การที่มีผู้ทำเศษเหรียญบาทตกอยู่บนถนน แล้วเราเก็บโดยไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ ก็เป็นการครบองค์แห่งการลักทรัพย์ ผิดศีลข้อ ๒ แล้วใช่ไหมครับ
    และถ้าเราเก็บโดยไม่ตั้งใจลักขโมย แต่ตั้งใจเอาเหรียญนั้นไปทำบุญเพื่อให้เกิดประโยชน์ ไม่ถือว่าผิดศีลหรือทำให้ศีล ๒ เศร้าหมองใช่ไหมครับ
    ๓. การที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปฉีดพ่นยาฆ่ายุงเพื่อป้องกันไข้เลือดออก ก็ยังผิดศีล ๑ ใช่ไหมครับ
    สูติแพทย์มีข้อบ่งชี้ในการทำแท้งทารกในครรภ์ที่เป็นโรค Down's syndrome ถ้าทำแท้งเพราะเหตุนี้ ก็ผิดศีล ๑ ใช่ไหมครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      ๑. กรรมวิบากจากการผิดศีลแต่ละข้อ สงสัยว่ามีเหตุปัจจัยทำให้เกิดกรรมวิบากนั้น ๆ ได้อย่างไร (คิดว่าไม่มีใครเป็นผู้กำหนดให้เกิดกรรมวิบากนั้น ๆ น่าจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือว่ามีเหตุผลอื่น!) เคยอ่านเจอเช่น ผู้ที่ละเมิดศีล ๔ อาจเจอกรรมวิบากมีกลิ่นปากเหม็นจัด ผู้ที่ละเมิดศีล ๒ หากเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมเป็นผู้มีทรัพย์สมบัติพังพินาศเสียหาย

      >>> กรรมวิสัย คือวิสัยแห่งกรรมและผลของกรรม (วิบาก) นั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นอจินไตยครับ คือเป็นสิ่งที่ไม่ควรคิด มันเป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้นเอง คิดไปก็เป็นเหตุแห่งความฟุ้งซ่านเปล่าๆ

      จะพยายามอธิบายเท่าที่จะทำได้นะครับ

      สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำกรรมก็คือเจตนา เจตนาจะเป็นตัวชี้นำจิตให้มีสภาวะเป็นไปตามเจตนานั้น เมื่อทำกรรมใดลงไปแล้วจิตที่เกิดหลังจิตดวงที่ทำกรรมนั้นก็ย่อมจะสืบทอดสภาวะจิตขณะทำกรรมนั้นต่อไปด้วย เพราะเมื่อจิตดวงที่เกิดก่อนนั้นดับไปแล้วจิตดวงที่เพิ่งดับไปนั้นจะเป็นปัจจัยให้จิตดวงถัดไปเกิดขึ้น (ยกเว้นปรินิพพาน) จิตดวงถัดไปซึ่งเป็นผลของจิตดวงก่อนก็ย่อมจะสืบทอดสภาวะของจิตที่เป็นผู้ให้กำเนิดเป็นธรรมดา และเมื่อจิตดวงนี้ดับไปก็จะสืบทอดสภาวะนี้ต่อไปเรื่อยๆ ในทำนองเดียวกัน

      จึงกล่าวได้ว่ากระบวนการนี้คือการสืบทอดของกรรม (สภาวจิตขณะทำกรรม) ให้ติดตามไปเรื่อยๆ จนกว่ากรรมนั้นจะหมดแรงไปนั่นเองครับ

      เนื่องจากสภาวจิตจะมีผลต่อร่างกาย เช่น ความโกรธก็ทำให้เป็นโรคหัวใจ สภาวจิตของคนที่พูดปดก็ย่อมจะมีความเครียดประกอบอยู่ด้วย และความเครียดก็ย่อมจะเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนี่งของการมีกลิ่นปากนะครับ

      อีกอย่าง สภาวจิตของคนๆ หนึ่งนั้นไม่ได้มีผลเฉพาะกับตัวคนนั้นเองเท่านั้น แต่ยังมีผลถึงคนรอบข้างด้วยครับ เช่น เมื่ออยู่ใกล้คนอารมณ์ดีก็จะทำให้รู้สึกอารมณ์ดีตามไปด้วย เวลาอยู่ใกล้คนโกรธก็จะทำให้รู้สึกฉุนเฉียวตามไปด้วยได้เช่นกัน

      จิตที่ประกอบด้วยความโลภในขณะลักทรัพย์นั้น เชื้อแห่งความโลภที่ติดตัวมาก็ย่อมจะมีผลกับคนรอบข้างได้อย่างเดียวกัน คือจะทำให้คนรอบข้างมีความโลภตามไปด้วยได้ จึงเป็นผลให้คนคนนั้นมีโอกาสถูกโกง ถูกลักทรัพย์ได้ง่ายขึ้นนั่นเองครับ เพราะจะถูกแวดล้อมไปด้วยคนโลภ

      อย่างที่กล่าวในตอนแรกนะครับ ว่าเรื่องนี้เป็นอจินไตย แค่พยายามอธิบายเท่าที่จะทำได้เท่านั้นครับ

      ๒.๑ การที่มีผู้ทำเศษเหรียญบาทตกอยู่บนถนน แล้วเราเก็บโดยไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ ก็เป็นการครบองค์แห่งการลักทรัพย์ ผิดศีลข้อ ๒ แล้วใช่ไหมครับ

      >>> เรื่องนี้สำคัญที่มีไถยจิต (จิตคิดจะลัก) หรือเปล่านะครับ ถ้าเราเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจจริงๆ ว่าเจ้าของจะไม่กลับมาเอาเงินนั้นแน่ๆ เช่น เงินจำนวนเล็กน้อยตกอยู่ในที่พลุกพล่าน ถ้าเป็นเราก็คงคิดว่าทิ้งไปดีกว่า อย่างนี้ก็ไม่ครบองค์ประกอบของการผิดศีลครับ แต่ถ้ามีไถยจิตด้วยก็ผิดศีลข้อ 2 ครับ ถึงแม้จะแค่สงสัยแล้วขืนทำก็ผิดแล้วครับ

      ๒.๒ และถ้าเราเก็บโดยไม่ตั้งใจลักขโมย แต่ตั้งใจเอาเหรียญนั้นไปทำบุญเพื่อให้เกิดประโยชน์ ไม่ถือว่าผิดศีลหรือทำให้ศีล ๒ เศร้าหมองใช่ไหมครับ

      >>> ถ้าเรามีความเคลือบแคลงใจอยู่ว่าเจ้าของจะกลับมาเอาเงินนั้น ไม่แน่ใจว่าเจ้าของยังมีความหวงแหนเงินนั้นอยู่หรือไม่ แล้วเราหยิบเงินนั้นไปโดยไม่ได้คิดว่าเจ้าของจะยินดีในการกระทำของเรา ถึงจะเอาเงินนั้นไปทำบุญก็ผิดศีลครับ

      ๓. การที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปฉีดพ่นยาฆ่ายุงเพื่อป้องกันไข้เลือดออก ก็ยังผิดศีล ๑ ใช่ไหมครับ
      สูติแพทย์มีข้อบ่งชี้ในการทำแท้งทารกในครรภ์ที่เป็นโรค Down's syndrome ถ้าทำแท้งเพราะเหตุนี้ ก็ผิดศีล ๑ ใช่ไหมครับ

      >>> ถ้ามีเจตนาฆ่าหรือเจตนาทำให้ตายก็ผิดศีลครับ แต่กรรมก็ไม่หนักเหมือนการฆ่าด้วยความโกรธแค้น คือกรณีนี้จะมีทั้งกุศลและอกุศลจิตเกิดสลับกันเป็นระยะ ในขณะที่คิดว่าจะฆ่าก็เป็นอกุศล ในขณะที่คิดว่าจะช่วยเหลือผู้อื่นไม่ให้เป็นไข้เลือดออก หรือช่วยให้พ่อแม่และเด็กที่จะเกิดมาไม่ต้องพบกับความยากลำบาก เป็นจิตที่ประกอบด้วยความเมตตากรุณาต่อผู้อื่นก็เป็นกุศลครับ บาปก็จะส่งผลให้เกิดอกุศลวิบาก บุญก็จะส่งผลให้เกิดกุศลวิบาก

      ลบ
    2. ขออธิบายเพิ่มเติมข้อ ๒.๒ นะครับ

      สภาวจิตในการทำบุญ (ให้ทาน) กับสภาวจิตในการหยิบเงินที่ตกอยู่นั้นต่างกันนะครับ
      สภาวจิตในขณะให้ทาน รวมถึงในขณะที่คิดว่าจะให้ทานนั้นจะเป็นสภาวะที่สละออก เป็นมหากุศลจิต
      แต่สภาวจิตในขณะหยิบเงินที่ตกอยู่นั้น รวมถึงในขณะที่คิดว่าจะหยิบ (ในกรณีที่ไม่มั่นใจว่าเจ้าของจะกลับมาเอาเงินนั้นหรือไม่ คือสงสัยแล้วขืนทำ) เป็นสภาวะของการพรากของที่เจ้าของหวงอยู่ไปจากเจ้าของเงินนั้น ซึ่งเป็นสภาวะที่ยื้อแย่งฉุดดึง ยึดเอาเข้ามา (ถึงแม้จะหยิบเพื่อเอาไปทำบุญก็ตามครับ) ซึ่งเป็นอกุศลจิต และเข้าข่ายเป็นไถยจิตด้วยครับ

      ซึ่งกรณีนี้กุศลกับอกุศลก็จะเกิดสลับกันเป็นช่วงๆ เช่นเดียวกับข้อ 3 ครับ

      ลบ
  2. หมอฉัตร เนติ ฯ26 ตุลาคม 2560 เวลา 07:19

    ขอเรียนถามดังนี้
    ๑. ศีลข้อห้าครอบคลุมถึงไหนครับ
    ข้าวหมากผิดศีลห้าไหมครับ
    มีพระบางรูปบอกใส่บาตรด้วยข้าวหมากได้ ไม่ทราบว่าได้จริงไหมครับ และพระที่ฉันข้าวหมากอาบัติไหม
    ๒. บุหรี่ผิดศีลข้อห้าอย่างไรครับ
    และพระที่สูบบุหรี่อาบัติไหม

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      ๑. ศีลข้อห้าครอบคลุมถึงไหนครับ
      ข้าวหมากผิดศีลห้าไหมครับ
      มีพระบางรูปบอกใส่บาตรด้วยข้าวหมากได้ ไม่ทราบว่าได้จริงไหมครับ และพระที่ฉันข้าวหมากอาบัติไหม

      >>> ข้าวหมากก็เป็นเมรัยครับ คือเป็นน้ำเมาที่ไม่ได้กลั่น มีแอลกอฮอล์อยู่ด้วยถึงแม้ดีกรีจะไม่สูงก็ตาม เพียงแต่มีเนื้อข้าวรวมอยู่ด้วย และเป็นมัชชะ คือ สิ่งที่ทำให้มึนเมาเช่นกัน ศีลข้อนี้ไม่ได้บอกว่าถ้าบริโภคเพียงเล็กน้อย ไม่มึนเมาแล้วจะไม่ผิดศีลนะครับ ถึงแม้บริโภคเพียงเล็กน้อยแม้แต่เพื่อเป็นยาก็ผิดศีลเช่นกันครับ ถ้าจำเป็นต้องใช้เหล้าในการปรุงยา (ใช้แอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลายเพื่อสกัดตัวยา) พระพุทธเจ้าให้นำไปหุงแบบไม่มีกลิ่นและรสของเหล้า คือใส่ได้เพียงเล็กน้อย หรือหุงจนแอลกอฮอล์ระเหยไปจนหมดกลิ่นแล้วจึงใช้บริโภคได้ครับ ถ้ายังมีกลิ่นแอลกอฮอล์อยู่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ใช้ทาได้เท่านั้นครับ

      (อ้างอิงจาก : พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา/พระปิลินทวัจฉะอาพาธเป็นโรคลม/เรื่องน้ำมันหุง พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๕๕)

      พระที่ฉันข้าวหมากนั้นจึงเข้ากับพระวินัยที่ว่า "ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะดื่มสุราและเมรัย" ครับ

      ๒. บุหรี่ผิดศีลข้อห้าอย่างไรครับ
      และพระที่สูบบุหรี่อาบัติไหม

      >>> บุหรี่เป็นของที่ทำให้มึนเมา จึงเป็นมัชชะครับ อยู่ในศีลข้อ 5 เช่นกัน

      สำหรับภิกษุไม่มีข้อห้ามที่เจาะจงบุหรี่โดยตรงแบบศีลข้อ 5 ครับ เพราะพระวินัยบัญญัติเอาไว้ว่า "ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะดื่มสุราและเมรัย" ไม่มีมัชชะระบุเอาไว้ด้วย

      แต่ในต้นเรื่องของวินัยข้อนี้มีข้อความตอนหนึ่งว่า

      พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “น้ำที่ดื่มเข้าไปแล้วทำให้ความจำได้หมายรู้
      วิปริตไปนั้น ควรจะดื่มหรือ”

      ดังนั้น ถ้าจะเอามูลเหตุของพระวินัยข้อนี้เป็นเกณฑ์ คือความมึนเมา ก็สามารถอนุโลมการสูบบุหรี่เข้ากับพระวินัยข้อนี้ได้เช่นกันครับ โดยใช้หลักของมหาปเทส 4 ข้อที่ว่า "สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งเป็นอกัปปิยะ ขัดต่อสิ่งเป็นกัปปิยะ สิ่งนั้นไม่ควร"

      และอีกแง่หนึ่งคือ เนื่องจากการสูบบุหรี่ผิดศีลข้อ 5 ดังนั้น การที่ภิกษุสูบบุหรี่จึงเป็นโลกวัชชะ คือเป็นสิ่งที่ชาวโลกติเตียน การทำในสิ่งที่เป็นโลกวัชชะถึงแม้สิ่งนั้นไม่ขัดพระวินัยก็เป็นอาบัติขั้นทุกกฏอยู่แล้วครับ


      ลบ
  3. หมอฉัตร เนติ ฯ6 พฤศจิกายน 2560 เวลา 11:09

    ด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า แต่มีเรื่องสงสัย ขอเรียนถามว่า
    ๑. ในมงคลสูตรที่ว่า มัชชะปานา จะ สัญญะโม แปลว่า สำรวมจากมัชชะ เช่น สุรา
    สงสัยว่า พระพุทธเจ้าอนุญาติให้ดื่มน้ำเมาหรือมัชชะต่าง ๆ ได้ แต่ต้องสำรวมหรือพอประมาณหรือครับ แล้วไม่ผิดศีลห้าหรือครับ
    ๒. ศีลห้าต้นตอมาจากไหนครับ ทราบมาว่าไม่ใช่พระพุทธเจ้าบัญญัติ ไม่ทราบถูกต้องหรือเปล่า
    ๓. ในบทมงคลสูตร เทวดาเถียงกันว่าสิ่งใดเป็นมงคลสูงสุด แต่พระพุทธเจ้าบอกสิ่งที่เป็นมงคลถึง 38 ประการ แปลว่า ทั้ง 38 ประการเป็นมงคลเท่ากันหมดใช่ไหมครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      ๑. ในมงคลสูตรที่ว่า มัชชะปานา จะ สัญญะโม แปลว่า สำรวมจากมัชชะ เช่น สุรา
      สงสัยว่า พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ดื่มน้ำเมาหรือมัชชะต่าง ๆ ได้ แต่ต้องสำรวมหรือพอประมาณหรือครับ แล้วไม่ผิดศีลห้าหรือครับ

      >>> อาจจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการแปลภาษาที่ไม่มีคำศัพท์ที่มีความหมายตรงกันอย่างสมบูรณ์ หรือเพื่อความสละสลวยของประโยคนะครับ

      คำว่า "สัญญะโม" ไม่ได้มีความหมายว่าพอประมาณนะครับ

      จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) หรือ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) อธิบายความหมายของคำว่า "สัญญมะ" เอาไว้ดังนี้ครับ

      สัญญมะ = การยับยั้ง, การงดเว้น (จากบาป หรือจากการเบียดเบียน), การบังคับควบคุมตน; ท่านมักอธิบายว่าสัญญมะ ได้แก่ ศีล, บางทีแปลว่าสำรวม เหมือนอย่าง “สังวร”; เพื่อความเข้าใจชัดเจนในเบื้องต้น พึงเทียบความหมายระหว่าง ข้อธรรม ๓ อย่าง คือ สังวร เน้นความระวังในการรับเข้า คือปิดกั้นสิ่งเสียหายที่จะเข้ามาจากภายนอก สัญญมะ ความคุมตนในการแสดงออก มิให้เป็นไปเพื่อการเบียดเบียน เป็น ทมะ ฝึกฝนแก้ไขปรับปรุงตน ข่มกำจัดส่วนร้ายและเสริมส่วนที่ดีงามให้ยิ่งขึ้นไป; สังยมะ ก็เขียน

      จากคำจำกัดความนี้ คำว่า "มัชชะปานา จะ สัญญะโม" จึงหมายถึงการควบคุมตนเองไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับน้ำเมานะครับ ไม่ใช่ดื่มได้แบบพอประมาณ

      พระพุทธเจ้าตรัสถึงโทษของน้ำเมาเอาไว้หลายที่ มีทั้งในพระวินัยปิฏกและพระสุตตันตปิฎก ทรงห้ามภิกษุแม้จะฉันเพื่อเป็นยา คือทรงอนุญาตให้ฉันได้เฉพาะยาที่ไม่มีกลิ่นและรสของสุราเท่านั้น เป็นไปไม่ได้ที่พระองค์จะทรงอนุญาตให้ฉันเพื่อการอื่นนะครับ

      ๒. ศีลห้าต้นตอมาจากไหนครับ ทราบมาว่าไม่ใช่พระพุทธเจ้าบัญญัติ ไม่ทราบถูกต้องหรือเปล่า

      >>> ในพระไตรปิฎกไม่มีตรงไหนเลยที่บอกว่าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลห้าครับ และมีกล่าวถึงศีลห้าเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น เช่น ตอนที่พระสารีบุตรให้ศีลห้าแก่ชาวประมง และแก่นายพราน เป็นต้น รวมถึงในชาดกที่พระพุทธเจ้าตรัสประกอบกับเรื่องนี้

      ส่วนศีลห้ามีต้นตอมาจากไหน หรือพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้บัญญัติศีลห้าหรือไม่นั้น ผมไม่เคยเห็นหลักฐานอ้างอิงเลยครับ

      ๓. ในบทมงคลสูตร เทวดาเถียงกันว่าสิ่งใดเป็นมงคลสูงสุด แต่พระพุทธเจ้าบอกสิ่งที่เป็นมงคลถึง 38 ประการ แปลว่า ทั้ง 38 ประการเป็นมงคลเท่ากันหมดใช่ไหมครับ

      >>> จะบอกว่าเป็นมงคลเท่ากันหรือไม่เท่ากันก็ได้ครับ เหมือนคนจะเรียนจบปริญญาเอกก็ต้องเรียนชั้นอนุบาล ประถม มัธยม ปริญญาตรี ปริญญาโทก่อน ถึงจะไปเรียนปริญญาเอกจนจบได้ จะบอกว่าปริญญาเอกสำคัญที่สุดก็ได้เพราะเป็นชั้นสูงสุด หรือจะบอกว่าสำคัญเท่ากันทุกชั้นก็ได้ครับ เพราะถ้าขาดชั้นอื่นไปก็ไม่สามารถจบปริญญาเอกได้

      ในมงคล 38 ประการนั้น เริ่มจากพื้นฐานเริ่มต้นของการพัฒนาจิตใจสำหรับบุคคลทั่วๆ ไปก่อนครับ คือการไม่คบคนพาลเพื่อตัดเหตุจูงใจทางลบออกไปก่อน จากนั้นก็ให้คบบัณฑิตเพื่อสร้างเหตุจูงใจทางบวก ไล่ตามลำดับขั้นของพัฒนาการไปเรื่อยๆ จากขั้นของคฤหัสถ์ ก็เข้าสู่ขั้นการประพฤติพรหมจรรย์ จนถึงขั้นเห็นอริยสัจ และการกระทำนิพพานให้แจ้ง ซึ่งเป็นขั้นของโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผลเป็นต้นไป ไล่ตามลำดับไปจนถึงขั้นสุดท้ายซึ่งเปรียบเสมือนปริญญาเอกของพระพุทธศาสนาคือมีจิตอันเกษมจากโยคะ คือพ้นจากกิเลสทั้งปวงครับ ซึ่งจะบอกว่าเป็นมงคลเท่ากันหรือไม่เท่ากันก็ได้ แล้วแต่มุมมองครับ

      ลบ
    2. ขออนุญาตขยายความคำตอบข้อ ๒ เพิ่มเติมนะครับ

      ๒. ศีลห้าต้นตอมาจากไหนครับ ทราบมาว่าไม่ใช่พระพุทธเจ้าบัญญัติ ไม่ทราบถูกต้องหรือเปล่า

      >>> ในพระไตรปิฎกไม่มีตรงไหนเลยที่บอกว่าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลห้าครับ และมีกล่าวถึงศีลห้าเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น เช่น ตอนที่พระสารีบุตรให้ศีลห้าแก่ชาวประมง และแก่นายพราน เป็นต้น*** รวมถึงในชาดกที่พระพุทธเจ้าตรัสประกอบกับเรื่องนี้

      ส่วนศีลห้ามีต้นตอมาจากไหน หรือพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้บัญญัติศีลห้าหรือไม่นั้น ผมไม่เคยเห็นหลักฐานอ้างอิงเลยครับ

      *** เพิ่มเติม :

      เรื่องที่พระสารีบุตรให้ศีลห้าแก่ชาวประมง และแก่นายพรานนั้นหมายถึงใน "การันทิยชาดก" นะครับ ซึ่งจริงๆ แล้วในตัวชาดกส่วนที่เป็นพระบาลีคือตัวพระไตรปิฎกจริงๆ นั้นไม่ได้กล่าวถึงศีลด้วยซ้ำ แต่ใช้คำว่า "ท่านก็เหมือนกัน จักนำมนุษย์เหล่านี้ ซึ่งมีความเห็นต่าง ๆ กันมาสู่อำนาจของตนไม่ได้"

      ส่วนในอรรถกถาของชาดกเรื่องนี้ ก็ใช้เพียงคำว่า "ศีล" ไม่ได้ใช้คำว่า "ศีลห้า" ดังนี้ครับ
      "ได้ยินว่า พระเถระให้ศีลแก่คนทุศีลทั้งหลาย มีพรานเนื้อและคนจับปลาเป็นต้น"

      (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๑. มณิกุณฑลวรรค ๖. การันทิยชาดก)
      (ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๐๕)


      ลบ
  4. หมอฉัตร เนติ ฯ8 พฤศจิกายน 2560 เวลา 08:34

    กราบพระคุณท่านครับที่ให้ความกระจ่าง
    เพราะผมอ่านคำแปล แทบทุกที่แม้แต่วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมีชื่อ ก็ยังแปลว่า การสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ทำให้เข้าใจผิดว่า อนุญาติให้ดื่มได้ แต่ต้องสำรวม
    กราบขอบพระคุณครับ

    ตอบลบ
  5. หมอฉัตร เนติ ฯ20 พฤศจิกายน 2560 เวลา 16:16

    ขอเรียนถามว่า
    ๑. พระพุทธเจ้าห้ามประกอบอาชีพฆ่าสัตว์เพื่อมาให้คนอื่นกิน แต่ทำไมท่านไม่ห้ามกินเนื้อสัตว์ ถึงแม้คนกินเนื้อสัตว์ถ้าพิจารณาแล้วกินเพื่อยังชีพก็จะไม่บาป แต่การกินเนื้อสัตว์ก็เป็นการสนับสนุนการฆ่าสัตว์
    ผมกินเจเท่าที่มีโอกาส เพราะผมคิดว่าจะไม่สนับสนุนการฆ่าสัตว์ครับ
    ๒. ผมมีลิงค์เทศนาธรรมของหลวงตาสุปฏิปัณโณท่านหนึ่ง ท่านเทศน์ว่า ที่พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตตามเทวทัตที่ทูลขอห้ามสงฆ์ฉันเนื้อ เพราะพระพุทธเจ้ามีญาณเห็นว่า สัตว์ที่ตายไปจะได้แสดงเจตจำนงว่าจะอุทิศเนื้อหนังที่ตัวเองให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น อันจะทำให้เขาได้บุญ ไม่เกิดเป็นเดรัจฉานอีก ... จริงหรือครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      ๑. พระพุทธเจ้าห้ามประกอบอาชีพฆ่าสัตว์เพื่อมาให้คนอื่นกิน แต่ทำไมท่านไม่ห้ามกินเนื้อสัตว์ ถึงแม้คนกินเนื้อสัตว์ถ้าพิจารณาแล้วกินเพื่อยังชีพก็จะไม่บาป แต่การกินเนื้อสัตว์ก็เป็นการสนับสนุนการฆ่าสัตว์
      ผมกินเจเท่าที่มีโอกาส เพราะผมคิดว่าจะไม่สนับสนุนการฆ่าสัตว์ครับ

      >>> เนื่องจากเรื่องนี้มีผู้สนใจเคยสอบถามมาแล้วครับ (คุณ Theerapat Supawarodom ขออนุญาตแสดงชื่อเพื่อความสะดวกในการค้นหานะครับ) ซึ่งผมได้ตอบคำถามเอาไว้อย่างละเอียดแล้ว ที่ส่วนล่างของเรื่อง "รวมคำถามคำตอบเรื่องศีล (3)" เนื่องจากค่อนข้างยาว ขออนุญาตไม่นำมาลงซ้ำที่เรื่องนี้นะครับ

      ๒. ผมมีลิงค์เทศนาธรรมของหลวงตาสุปฏิปัณโณท่านหนึ่ง ท่านเทศน์ว่า ที่พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตตามเทวทัตที่ทูลขอห้ามสงฆ์ฉันเนื้อ เพราะพระพุทธเจ้ามีญาณเห็นว่า สัตว์ที่ตายไปจะได้แสดงเจตจำนงว่าจะอุทิศเนื้อหนังที่ตัวเองให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น อันจะทำให้เขาได้บุญ ไม่เกิดเป็นเดรัจฉานอีก ... จริงหรือครับ

      >>> เรื่องนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของท่าน ขออนุญาตไม่ก้าวล่วงนะครับ

      รายละเอียดของเรื่องนี้ที่มีในพระไตรปิฎก สามารถอ่านได้ที่

      พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๔๑ ข้อ : ๔๐๙

      พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์] ๑๐. สังฆเภทสิกขาบท นิทานวัตถุ

      ๑๐. สังฆเภทสิกขาบท
      ว่าด้วยการทำสงฆ์ให้แตกกัน
      เรื่องพระเทวทัต

      ถ้าสนใจก็อ่านเพิ่มเติมได้นะครับ

      ลบ
  6. หมอฉัตร เนติ ฯ20 พฤศจิกายน 2560 เวลา 16:24

    แล้วจริง ๆ แล้ว มีหลักฐานไหมครับว่าพระพุทธเจ้าฉันเนื้อสัตว์
    เพราะผมคิดว่า ชาวอินเดียโบราณส่วนใหญ่เป็นมังสวิรัติ กินแต่ถั่ว

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      ในพระไตรปิฎกไม่มีตรงไหนที่แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นมังสวิรัตินะครับ แต่ในพระวินัยปิฎกมีข้อความดังนี้ครับ

      พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๒

      พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๕.จีวรปฏิคคหณสิกขาบท นิทานวัตถุ

      ๑.จีวรวรรค

      ๕.จีวรปฏิคคหณสิกขาบท
      ว่าด้วยการรับจีวร

      เรื่องภิกษุณีอุบลวรรณา

      [๕๐๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่
      ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ภิกษุณีอุบลวรรณาพักอยู่ ณ กรุงสาวัตถี
      เวลาเช้า ภิกษุณีอุบลวรรณาครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร๑ เข้าไปบิณฑบาต
      ในกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันเสร็จแล้ว เข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อ
      พักผ่อนกลางวัน นั่งที่โคนไม้ต้นหนึ่ง

      สมัยนั้น พวกโจรขโมยแม่โคมาฆ่าแล้วถือเอาเนื้อเข้าป่าอันธวัน หัวหน้าโจร
      มองเห็นภิกษุณีอุบลวรรณานั่งพักกลางวัน ครั้นเห็นแล้วจึงคิดว่า “หากพวกลูกน้อง
      เราพบเข้า จะประทุษร้ายนาง” จึงเลี่ยงเดินไปทางอื่น เมื่อปิ้งเนื้อสุก หัวหน้าโจร
      เลือกเนื้อดี ๆ เอาใบไม้ห่อแขวนไว้ที่ต้นไม้ใกล้ภิกษุณีแล้วกล่าวว่า “เนื้อห่อนี้เรา
      ให้แล้ว สมณะหรือพราหมณ์เห็นแล้วจงถือเอาไปเถิด”

      ภิกษุณีออกจากสมาธิ ได้ยินคำที่หัวหน้าโจรพูด จึงถือเอาเนื้อไปที่พัก ครั้น
      ราตรีผ่านไป นางจัดเนื้อชิ้นนั้นให้เรียบร้อยแล้วใช้อุตตราสงค์ห่อเหาะไปยังพระเวฬุวัน
      วิหาร

      เชิงอรรถ :
      ๑ คำว่า “ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร” นี้ มิใช่ว่า ก่อนหน้านี้ภิกษุณีมิได้นุ่งอันตรวาสก มิใช่ว่า ท่านถือบาตรและจีวรไปโดยเปลือยกายส่วนบน คำว่า “ครองอันตรวาสก” หมายถึงท่านผลัดเปลี่ยนสบง หรือขยับสบงที่นุ่งอยู่ให้กระชับ คำว่า “ถือบาตรและจีวร” คือ ถือบาตรด้วยมือ ถือจีวรด้วยกาย หมายความว่า “ห่มจีวรอุ้มบาตร” นั่นเอง

      เช้าวันนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน เหลือท่านพระอุทายี
      อยู่เฝ้าพระวิหาร ภิกษุณีอุบลวรรณาเข้าไปหาแล้วถามว่า “ท่านผู้เจริญ พระผู้มี
      พระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ไหน”
      ท่านพระอุทายีตอบว่า “พระผู้มีพระภาคเสด็จไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน”
      ภิกษุณีกล่าวว่า “โปรดถวายเนื้อชิ้นนี้แด่พระผู้มีพระภาค”
      ท่านพระอุทายีกล่าวว่า “น้องหญิง พระผู้มีพระภาคจะทรงอิ่มหนำด้วยเนื้อที่ถวาย ถ้าเธอถวายอันตรวาสกแก่อาตมา อาตมาก็จะอิ่มหนำด้วยอันตรวาสกเช่นกัน”
      ภิกษุณีกล่าวว่า “พระคุณเจ้า ความจริง ดิฉันเป็นมาตุคามหาลาภได้ยาก
      ทั้งผ้าผืนนี้ก็เป็นจีวรผืนสุดท้ายที่จะครบ ๕ ผืน๑ ดิฉันถวายไม่ได้”
      ท่านพระอุทายีกล่าวว่า “น้องหญิง เปรียบเหมือนบุรุษให้ช้างแล้วก็ควรสละ
      สัปคับสำหรับช้างด้วย เธอก็เหมือนกัน ถวายชิ้นเนื้อแด่พระผู้มีพระภาคแล้วก็จงสละ
      อันตรวาสกแก่อาตมาเถิด”

      ลบ
    2. ครั้นถูกท่านพระอุทายีพูดรบเร้า นางจึงถวายอันตรวาสกแล้วกลับที่พัก
      พวกภิกษุณีผู้คอยรับบาตรและจีวรถามนางว่า “อันตรวาสกของคุณแม่อยู่ที่
      ไหน”
      นางจึงบอกเรื่องนั้นให้ทราบ
      ภิกษุณีทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่านพระอุทายีจึงรับ
      จีวรจากมือภิกษุณีเล่า มาตุคามมีลาภน้อย” แล้วบอกเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
      บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่านพระอุทายีจึงรับจีวรจากมือภิกษุณีเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิท่านพระอุทายี
      โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

      เชิงอรรถ :
      ๑ ภิกษุณีใช้ผ้ากาสายะ ๕ ผืน คือ (๑) สังฆาฏิ ผ้าห่มซ้อนนอก (๒) อุตตราสงค์ ผ้าห่ม (๓) อันตรวาสก ผ้านุ่ง
      (๔) อุทกสาฏิกา ผ้าอาบน้ำ (๕) สังกัจจิกา ผ้ารัดถัน (กงฺขา.อ. ๓๗๕)

      ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท

      ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบถามท่านพระอุทายีว่า “อุทายี ทราบว่า เธอรับจีวรจากมือภิกษุณี จริงหรือ”
      ท่านพระอุทายีทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้า”
      พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “อุทายี นางเป็นญาติของเธอหรือไม่ใช่ญาติ”
      พระอุทายีทูลรับว่า “ไม่ใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า”
      พระพุทธองค์ตรัสว่า “โมฆบุรุษ บุรุษผู้ไม่ใช่ญาติย่อมไม่รู้ความเหมาะสมหรือไม่
      เหมาะสม ของที่มีอยู่หรือไม่มีของสตรีผู้ไม่ใช่ญาติ เธอนั้นรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้
      ไม่ใช่ญาติ โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำ
      คนที่เลื่อมใส อยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยก
      สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้์

      พระบัญญัติ

      [๕๐๙] ก็ ภิกษุใดรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้ไม่ใช่ญาติ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
      สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

      เรื่องภิกษุณีอุบลวรรณา จบ

      >>> ถึงแม้เรื่องนี้จะไม่ระบุอย่างชัดเจนนะครับว่าพระพุทธเจ้าฉันเนื้อสัตว์หรือไม่ แต่ก็มีข้อสังเกตคือ

      1. ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ แล้วภิกษุณีอุบลวรรณาซึ่งเป็นถึงอัครสาวิกาเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้าจะไม่ทราบเลยหรือ ถึงได้นำเนื้อวัวปิ้งไปถวายพระองค์

      2. ท่านพระอุทายีก็นับได้ว่าเป็นผู้ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าเช่นกัน ก็ไม่ทราบเช่นกันหรือ

      ก็ลองพิจารณาดูนะครับว่าพระไตรปิฎกมีระบุเอาไว้อย่างนี้ แล้วคิดว่าพระพุทธเจ้าฉันเนื้อสัตว์หรือไม่

      ถ้าใครมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือกว่านี้ ถ้าจะเอามาแสดงก็จักเป็นพระคุณอย่างยิ่งครับ

      ในสมัยพุทธกาลนั้นมีทั้งชาวประมง และนายพรานล่าสัตว์ รวมถึงเขียงเนื้อที่ตลาดครับ มีกล่าวถึงในพระไตรปิฎก

      *** ที่แสดงมาทั้งหมดนี้ไม่ได้มีเจตนาสนับสนุนการกินเนื้อสัตว์ รวมถึงไม่ได้ต้องการแก้ตัวแทนผู้ที่กินเนื้อสัตว์นะครับ เพียงแต่แสดงข้อเท็จจริงที่มีอยู่อย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น

      *** รายละเอียดที่เกี่ยวกับการกินเนื้อสัตว์นั้น ผมได้ตอบคำถามของคุณ Theerapat Supawarodom เอาไว้อย่างละเอียดแล้ว ที่ส่วนล่างของเรื่อง "รวมคำถามคำตอบเรื่องศีล (3)" เนื่องจากค่อนข้างยาว ขออนุญาตไม่นำมาลงซ้ำที่เรื่องนี้นะครับ

      ลบ
  7. หมอฉัตร เนติ ฯ22 พฤศจิกายน 2560 เวลา 14:37

    ๑. ด้วยความเคารพต่อพระอรหันต์ภิกษุณีอุบลวรรณาที่เดินเหินเหาะได้ แต่เนื่องด้วยผมมีความสงสัยว่า ท่านอรหันต์น่าจะทราบจากญาณว่า เนื้อนี้ได้ขโมยมาถวาย ทำไมถึงยังรับอาหารอยู่ ไม่อาบัติหรือครับที่รับของขโมยมา ทำไมไม่คว่ำบาตรปฏิเสธไม่รับอาหาร
    ๒. เหตุใดประเทศไทยไม่เปิดโอกาสให้บวชภิกษุณี

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      ๑. ด้วยความเคารพต่อพระอรหันต์ภิกษุณีอุบลวรรณาที่เดินเหินเหาะได้ แต่เนื่องด้วยผมมีความสงสัยว่า ท่านอรหันต์น่าจะทราบจากญาณว่า เนื้อนี้ได้ขโมยมาถวาย ทำไมถึงยังรับอาหารอยู่ ไม่อาบัติหรือครับที่รับของขโมยมา ทำไมไม่คว่ำบาตรปฏิเสธไม่รับอาหาร

      >>> ในแง่ของการรับของนั้นมีได้หลายกรณีนะครับ คือรับเพราะอยากได้ก็มี รับเพราะจำเป็นต้องใช้ก็มี รับเพื่ออนุเคราะห์ผู้ให้ก็มี อย่างในกรณีนี้ท่านอาจพิจารณาว่าโจรนั้นทำบาปมามาก จึงรับเพื่อให้โจรนั้นมีโอกาสได้ทำบุญบ้างก็เป็นได้ครับ เห็นได้จากที่ท่านไม่ได้ฉันเนื้อนั้นเอง แต่เอาไปถวายพระพุทธเจ้า ถ้าท่านรับเพราะอยากได้ก็คงฉันเองไปแล้ว ถ้าจะว่าท่านอยากได้เพื่อเอาไปทำบุญจึงนำไปถวายพระพุทธเจ้าก็ไม่น่าจะใช่ เพราะพระอรหันต์จบกิจแห่งพรหมจรรย์แล้ว ย่อมจะไม่ปรารถนาการทำบุญอีก ทำอะไรไปตามความเหมาะสมเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อสะสมบุญ

      ในแง่อาบัตินั้น เนื่องจากท่านไม่ได้มีส่วนในการขโมยนั้น เหตุการณ์นี้มาเกี่ยวข้องกับท่านหลังการขโมยเสร็จสิ้นไปแล้ว และยิ่งถ้าท่านไม่ได้รู้สึกยินดีในการขโมยนั้นด้วย ท่านย่อมไม่ต้องอาบัติเพราะการลักทรัพย์นั้นครับ

      ถ้าพิจารณาเทียบการลักทรัพย์กับการฆ่าสัตว์ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้รับเนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วนสาม คือไม่ได้เห็นว่าเขาฆ่าสัตว์นั้นเพื่อตน ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่าสัตว์นั้นเพื่อตน และไม่ได้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่าเขาฆ่าสัตว์นั้นเพื่อตน คือคิดว่าสัตว์นั้นไม่ได้ตายเพราะตนเป็นเหตุก็ถือว่าเป็นเนื้อที่บริสุทธิ์สมควรรับได้ครับ

      กรณีนี้โจรนั้นไม่ได้มีเจตนาขโมยเพื่อภิกษุณีอุบลวรรณา จึงน่าจะพิจารณาเทียบเคียงกันได้กับกรณีการฆ่าสัตว์นะครับ ว่าท่านสามารถรับได้โดยไม่เป็นอาบัติ เพราะไม่ว่าท่านจะรับเนื้อนั้นหรือไม่ โจรก็ขโมยแม่โคนั้นมาฆ่าอยู่แล้ว

      และถ้าเป็นการผิดวินัยหรือไม่สมควร ในเมื่อเรื่องนี้รู้ถึงพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ปรากฎว่าพระองค์ทรงตำหนิในการรับนั้นนะครับ ถ้าไม่สมควรรับพระองค์น่าจะทรงตำหนิไปแล้ว

      ส่วนที่ว่าทำไมไม่คว่ำบาตรปฏิเสธไม่รับอาหารนั้น ถ้าเทียบกับการฆ่าสัตว์แล้ว เนื้อสัตว์ส่วนมากที่บริโภคกันก็ล้วนมาจากการฆ่าทั้งนั้น ซึ่งก็เป็นการผิดศีลเหมือนกันนะครับ มีเพียงส่วนน้อยที่สัตว์นั้นตายเอง ถ้าใช้มาตรฐานเดียวกันก็คงต้องคว่ำบาตรไม่รับเนื้อสัตว์ทั่วๆ ไปด้วย แต่เพื่อให้ภิกษุภิกษุณีทั้งหลายเลี้ยงชีพได้โดยไม่ลำบากจนเกินไป พระองค์จึงทรงอนุโลมตามกระแสโลก เพื่อให้ศาสนาดำรงอยู่ได้ครับ

      ลบ
    2. ๒. เหตุใดประเทศไทยไม่เปิดโอกาสให้บวชภิกษุณี

      >>> เรื่องนี้เป็นเรื่องของพระวินัยครับ ไม่ใช่เรื่องการกีดกัน เหยียดเพศ หรือเรื่องการเมือง

      คือพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้การบวชภิกษุณีสมบูรณ์ได้เมื่อผ่านสงฆ์ 2 ฝ่าย คือภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์แล้วเท่านั้น ซึ่งจำนวนภิกษุ/ภิกษุณีขั้นต่ำสุดในท้องถิ่นที่หาภิกษุ/ภิกษุณีได้ยากคือ 5 รูปครับ ดังนั้น ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้ง 2 ฝ่ายมีไม่ครบ 5 รูป การบวชย่อมทำไม่ได้ครับ

      และมีข้อบัญญัติอีกข้อที่เกี่ยวเนื่องกันคือ ภิกษุ (รวมถึงภิกษุณี) ที่เป็นนานาสังวาส (สังวาสไม่เสมอกัน) คือมีศีลไม่เสมอกัน และ/หรือมีทิฏฐิไม่เสมอกัน (ไม่เท่าเทียมกัน คือแตกต่างกัน) ทำสังฆกรรมร่วมกันไม่ได้ครับ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสาเหตุที่ภิกษุหลายรูปถูกตัดคอในสมัยพระเจ้าอโศกแห่งอินเดีย เพราะทหารบังคับให้ภิกษุทั้งหมดลงอุโบสถร่วมกัน ภิกษุที่มีทิฏฐิแบบเถรวาทแท้ๆ จึงไม่ยอมลงอุโบสถร่วมกับภิกษุที่มีทิฏฐิแบบอื่น จนถึงขั้นยอมให้ตัดคอแทนที่จะลงอุโบสถครับ

      ดังนั้น ถ้าภิกษุณีในสายเถรวาทมีไม่ถึง 5 รูปเมื่อไหร่ ภิกษุณีเถรวาทก็บวชเพิ่มอีกไม่ได้เมื่อนั้นครับ เมื่อภิกษุณีรูปสุดท้ายมรณภาพก็เป็นอันขาดวงศ์ของภิกษุณีเถรวาทไปครับ

      นอกจากสามารถพิสูจน์ได้ว่าภิกษุณีเถรวาทยังมีบวชสืบทอดกันไม่ต่ำกว่า 5 รูป ไม่ขาดช่วงตลอดมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลเท่านั้น ถึงจะสามารถบวชเพิ่มได้อีกครับ

      ถ้าจะใช้วิธีไปบวชจากภิกษุณีมหายาน ภิกษุณีที่บวชใหม่นั้นก็ย่อมจะต้องเป็นมหายานนะครับ ซึ่งก็จะติดเรื่องเป็นนานาสังวาส ไม่สามารถทำสังฆกรรมร่วมกับเถรวาทได้ครับ (มูลเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดการแยกนิกายก็คือเรื่องทิฏฐิกับเรื่องศีลที่แตกต่างกัน ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าเป็นนานาสังวาสตั้งแต่เริ่มแยกนิกายแล้วครับ)

      ดังนั้น ถ้าจะทำให้มีการบวชภิกษุณีในคณะสงฆ์ไทยซึ่งเป็นเถรวาทได้ก็มี 2 ทางครับ คือ

      1. พิสูจน์ให้ได้ว่าภิกษุณีเถรวาทยังมีไม่ต่ำกว่า 5 รูป สืบทอดตลอดมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล

      2. แก้ไขพระวินัยของพระพุทธเจ้า แล้วบัญญัติวินัยขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สามารถบวชภิกษุณีได้ โดยอาศัยช่องทางที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ก่อนปรินิพพานว่า อาบัติเล็กน้อยถ้าสงฆ์เห็นควรแก้ก็ให้สงฆ์แก้ได้ ซึ่งในการทำสังคายนาครั้งแรกของฝ่ายเถรวาทนั้น สงฆ์พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ทราบพุทธประสงค์ที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าว่าอาบัติขั้นไหนที่เรียกว่าเล็กน้อย จึงลงมติว่าจะไม่มีการแก้ไขพุทธบัญญัติข้อใดเลยครับ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อว่าเถรวาท คือยึดตามวาทะ คือมติของพระเถระที่ทำสังคายนาในครั้งแรกนั้นว่าจะไม่แก้ไขอะไรที่เป็นพุทธบัญญัติ

      เรื่องนี้ละเอียดอ่อนมากๆ ครับ ผมไม่กล้าเขียนอะไรมากไปกว่านี้ เกรงว่าจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี

      ลบ
  8. ไม่ระบุชื่อ14 มีนาคม 2561 เวลา 07:49

    มีคนบอกว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ต้องมีเจ้าของฉนั้นผู้ชายที่มีครอบครัวแล้วคิดมีเมียน้อยจึงไม่ผิดศีลข้อ3และไม่บาปไช่รึไม่คะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ http://tripitaka-online.blogspot.com

      ผู้ชายที่มีครอบครัวแล้ว ภรรยาของชายคนดังกล่าวนั้นย่อมมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะหวงแหนชายผู้เป็นสามีนั้นนะครับ ดังนั้น หากชายคนนั้นคิดมีเมียน้อยถึงแม้ยังไม่ได้กระทำ (ทางกาย) ลงไปจริงๆ แต่รู้ได้ด้วยสามัญสำนึกอยู่แล้วว่าภรรยาของเขาย่อมรู้สึกไม่พอใจหรือเจ็บช้ำน้ำใจจากการคิดมีเมียน้อยของเขา ในขั้นนี้ก็เป็นบาปอกุศลแล้วครับ แต่ยังไม่ถึงขั้นผิดศีลข้อ 3 เพราะยังไม่มีการล่วงละเมิดทางกายหรือทางวาจา

      แต่ถ้าถึงขั้นที่มีเมียน้อยแล้วจริงๆ โดยที่ภรรยาของเขาไม่ได้ยินยอมโดยสมัครใจ ก็ย่อมเป็นการผิดศีลข้อ 3 แล้วอย่างสมบูรณ์ และเป็นบาปอกุศลมากกว่าเพียงแค่คิดด้วยครับ

      ลบ
  9. ไม่ระบุชื่อ8 กันยายน 2561 เวลา 15:34

    ขออนุญาตสอบถามด้วยนะคะ กรณีชายหญิงเป็นแฟนกัน กอด จูบกันแต่ไม่ได้มีอะไรกัน ถือว่าผิดศีลข้อ 3 ไหมคะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เนื่องจากระบบไม่แจ้งเตือนข้อความใหม่มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 เลยพึ่งเห็นข้อความนี้ครับ พอดีท่านผู้สอบถามได้ส่งคำถามมาทางเฟสบุ๊คด้วย จึงได้ตอบไปทางเฟสบุ๊คแล้ว

      ขออนุญาตนำคำตอบจากเฟสบุ๊คมาลงไว้ที่นี่ด้วยเพื่อประโยชน์ของผู้สนใจท่านอื่นๆ นะครับ

      สำหรับศีลข้อ 3 นั้น มีวิธีพิจารณาง่ายๆ คือ ถ้าผู้มีสิทธิ์หวงแหนชายหญิงผู้นั้นโดยชอบธรรม (เช่น พ่อ แม่ สามี ภรรยา กรณีนี้คือพ่อ แม่ ถ้าชายหญิงคู่นั้นยังโสดทั้งคู่นะครับ) รู้ถึงการกระทำที่เกิดขึ้น แล้วจะรู้สึกไม่พอใจ/เป็นทุกข์ใจหรือไม่ ถ้าไม่พอใจ/เป็นทุกข์ใจก็คือผิดศีลครับ เพราะเป็นการล่วงละเมิดของรักของหวงของผู้อื่น แต่ถ้ามั่นใจว่าเมื่อรู้แล้วจะยินดีพอใจ หรือรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ก็ไม่ผิดศีลครับ

      เนื่องจากขนบธรรมเนียม ประเพณี ค่านิยม บรรทัดฐานทางสังคมของแต่ละที่ แต่ละยุคสมัย แตกต่างกันออกไป ดังนั้น การกระทำที่ผิดศีลข้อ 3 ในที่หนึ่ง อาจไม่ผิดในอีกที่หนึ่งก็ได้ครับ

      เช่น บางครอบครัว (อย่างชาวมุสลิม) มีภรรยาหลายคน แต่ภรรยาทุกคนยอมรับในเรื่องนั้น และยินดีพอใจที่จะอยู่ร่วมกัน อย่างนี้ก็ไม่ถือว่าผิดศีลข้อ 3 ครับ แต่ถ้าภรรยาคนที่มาก่อนไม่ยินดีให้สามีมีภรรยาเพิ่ม อย่างนี้ก็ผิดชัดเจนครับ

      อย่างกรณีที่ถามมาก็ต้องประเมินเอานะครับว่า ถ้าพ่อแม่รู้เรื่องแล้วจะรู้สึกอย่างไร เพราะแต่ละคนคิดไม่เหมือนกันครับ บางคนเคร่งครัดกับประเพณีมาก แต่บางคนก็ปรับตัวปรับใจกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีใครรู้ดีเท่าคนในครอบครัวเดียวกันหรอกครับ แต่ถ้าไม่แน่ใจก็ควรสำรวมระวังเอาไว้จะปลอดภัยที่สุดครับ การพลาดพลั้งทำให้พ่อแม่เป็นทุกข์ใจย่อมไม่ดีแน่นอนครับ

      ลบ
  10. ไม่ระบุชื่อ7 มกราคม 2562 เวลา 17:27

    สวัสดีครับ ผมมีคำถามครับในเรื่องที่พูดเพ้อเจ้อในข้ออกุศล 10 ครับ อย่างการเล่าเรื่องตลกเพื่อมอบความบันเทิงอย่างการแสดงท็อกโชว์ในรายการต่าง ๆ หรือแม้แต่การเล่าเรื่องตลกในหมู่เพื่อนถือว่าผิดหรือไม่ครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ http://tripitaka-online.blogspot.com

      ในทางธรรมนั้น การพูดที่ไม่เป็นประโยชน์ในการทำลายกิเลสของผู้ฟังนั้นล้วนเข้าข่ายพูดเพ้อเจ้อทั้งนั้นครับ คือในทางธรรมนั้นถือว่าถ้าพูดสิ่งใดแล้วไม่ทำให้กุศลธรรมเจริญขึ้น อกุศลธรรมเสื่อมลง แต่กลับทำให้อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง การพูดเช่นนั้นไม่พูดเสียเลยจะดีกว่า

      การเล่าเรื่องตลกโดยมีเจตนาทำให้ผู้ฟังเพลิดเพลินอยู่กับเรื่องทางโลก จึงเป็นเหตุให้ผู้ฟังมีความประมาทในทางธรรม คือไม่เร่งรีบทำความเพียรเพื่อทำลายกิเลส จึงถือเป็นการพูดเพ้อเจ้อครับ

      แต่ถ้าการพูดตลกเพื่อจูงใจให้ผู้ที่ยังมีอินทรีย์อ่อนอยู่ (คือผู้ที่มีกำลังในทางธรรมไม่มาก) ให้มาสนใจฟังการพูดนั้น แล้วแทรกธรรมะลงไปในจังหวะที่เหมาะสม เพราะคิดว่าถ้าพูดธรรมะล้วนๆ แล้วคนกลุ่มนี้คงไม่มาฟังแน่ๆ โดยที่ผู้พูดมีกุศลเจตนาต่อผู้ฟังจริงๆ ก็นับเป็นสิ่งที่ดีนะครับ เพราะจุดสำคัญคือความพยายามในการแสดงธรรมครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ
  11. ไม่ระบุชื่อ29 มีนาคม 2562 เวลา 23:35

    สวัสดีค่ะ มีคำถาม การที่เราตั้งใจจะรักษาศีล แต่ว่าเราอยู่ในสถานที่ที่ไม่พบเจอผู้คน หรือวัตถุต้องห้ามที่เราสมาทานไว้ แบบนี้ถือว่าเป็นศีลหรือเปล่าคะ เช่น เราสมาทานศีลข้อ๑ไว้ แต่ก็ไม่มีสัตว์ใดๆผ่านมาให้เราพบเจอ กับการที่ยุงบินมากัด แล้วเรายั้งตัวเองทัน ไม่ตบ ตามที่เข้าใจกรณีหลังที่ไม่ตบยุง น่าจะรักษาศีลได้ ส่วนกรณีแรกที่เราไม่เจอสัตว์ใดๆเลยยังถือว่าเป็นศีลไหมคะ ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ http://tripitaka-online.blogspot.com

      ตราบใดที่เราไม่มีการล่วงละเมิดศีลที่เราตั้งใจรักษา ตราบนั้นย่อมถือได้ว่าศีลของเราสะอาด บริสุทธิ์ หมดจด ไม่ด่างพร้อยครับ ถึงแม้จะไม่มีสิ่งใดมายั่วให้เราทำผิดศีลก็ตาม

      ตามที่ถามมาทั้ง 2 กรณี ถือว่าเรายังเป็นผู้มีศีลครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ
  12. ไม่ระบุชื่อ31 มีนาคม 2562 เวลา 08:03

    ขอบคุณมากค่ะ

    รบกวนสอบถามเพิ่มค่ะ
    ตามที่อธิบายมาด้านบน สำหรับคนที่อยู่นอกพุทธศาสนา เค้าเป็นคนดี ไม่ผิดศีล แต่ว่าไม่ได้สมาทานเหมือนพุทธศาสนิกชน แบบนี้จะต่างจากเราที่สมาทานอย่างไรคะ?

    ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ

    1. สวัสดีครับ

      การสมาทานศีลคือการแสดงกุศลเจตนาที่จะไม่ทำผิดศีล เป็นการตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะไม่เบียดเบียนผู้อื่น ซึ่งในขณะที่สมาทานศีล และทุกขณะที่ระลึกถึงการรักษาศีลนั้น (ถึงแม้ขณะนั้นจะไม่มีสิ่งกระตุ้นให้ทำผิดศีลก็ตาม) ทุกขณะเหล่านั้นจิตจะเป็นกุศลนะครับ

      ส่วนคนที่ไม่ได้สมาทานศีล จิตของเขาก็จะอยู่ในสภาวะตามปกติของเขาตามเหตุปัจจัยที่กระทำในขณะนั้น ซึ่งอาจจะเป็นกุศลหรือไม่ก็ได้ โดยไม่ได้รับประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการสมาทานศีล คือการสมาทานศีลจะเป็นการเพิ่มโอกาสของการเกิดกุศลจิตขึ้นมานั่นเองครับ เป็นข้อดีที่เพิ่มขึ้นมา (การสมาทานศีลนี้หมายรวมถึงการตั้งใจด้วยตนเองที่จะไม่ทำผิดในสิ่งนั้นๆ ด้วยนะครับ เช่น ตั้งใจเอาเองว่าจะไม่ฆ่าสัตว์ ถึงแม้จะไม่รู้เรื่องศีลใดๆ เลยก็ตาม)

      สำหรับในขณะที่เกิดเหตุเฉพาะหน้าขึ้นมาให้ต้องห้ามใจไม่ให้กระทำในสิ่งที่ผิดศีลนั้น เช่น ขณะที่ถูกยุงกัด แล้วหักห้ามใจไม่ให้ฆ่ายุงได้ สภาวะจิตในขณะนั้นย่อมเป็นการสมาทานศีลโดยอัตโนมัติอยู่แล้วนะครับ (สำหรับกรณีตัวอย่างนี้คือความตั้งใจไม่ฆ่าสัตว์) ไม่ว่าจะรู้เรื่องศีลหรือไม่ก็ตาม

      อ่านเรื่อง ประโยชน์ของศีล 5 ประกอบเพื่อความเข้าใจเรื่องศีลให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นนะครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ
  13. ศีล 5 ในพระไตรปิฎก
    http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=20&A=5952&Z=6056&pagebreak=1

    พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒
    อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

    คันธสูตร
    [๕๑๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
    ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว
    ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กลิ่นหอม ๓ อย่างนี้ ฟุ้งไป
    แต่ตามลมอย่างเดียว ฟุ้งทวนลมไปไม่ได้ กลิ่นหอม ๓ อย่างนั้นเป็นไฉน คือ
    กลิ่นที่ราก ๑ กลิ่นที่แก่น ๑ กลิ่นที่ดอก ๑ กลิ่นหอม ๓ อย่างนี้แลฟุ้งไปแต่ตาม
    ลมอย่างเดียว ฟุ้งทวนลมไปไม่ได้ พระเจ้าข้า กลิ่นหอมชนิดที่ฟุ้งไปตามลมก็
    ได้ ฟุ้งทวนลมไปก็ได้ ฟุ้งไปทั้งตามลมและทวนลมก็ได้ ยังจะมีอยู่หรือ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ กลิ่นหอมที่ฟุ้งไปตามลมก็ได้ ฟุ้งไปทวนลม
    ก็ได้ ฟุ้งทั้งไปตามลมและทวนลมก็ได้ มีอยู่ ฯ
    อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กลิ่นหอมที่ฟุ้งไปตามลมก็ได้ ฟุ้งไปทวนลม
    ก็ได้ ฟุ้งไปทั้งตามลมและทวนลมก็ได้ เป็นไฉน ฯ
    พ. ดูกรอานนท์ สตรีหรือบุรุษในบ้านหรือนิคมใดในโลกนี้
    ถึงพระ-พุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ

    เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
    เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

    เป็นคนมีศีล มีกัลยาณธรรม มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็น
    มลทิน มีไทยธรรมเครื่องบริจาคอันปล่อยแล้ว มีมืออันชุ่ม ยินดีในการเสียสละ
    ควรแก่การขอ ยินดีในทานและการแจกจ่ายทาน อยู่ครองเรือน สมณพราหมณ์
    ทุกทิศย่อมกล่าวสรรเสริญคุณของเขาว่า สตรีหรือบุรุษในบ้านหรือนิคมแห่งโน้น ถึง
    พระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นขาดจาก
    การฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาด
    จากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความ
    ประมาท เป็นคนมีศีล มีกัลยาณธรรม มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน
    มีไทยธรรมเครื่องบริจาคอันปล่อยแล้ว มีมืออันชุ่ม ยินดีในการเสียสละ ควรแก่
    การขอ ยินดีในทานและการแจกจ่ายทาน อยู่ครองเรือน แม้เทวดาทั้งหลายก็กล่าว
    สรรเสริญคุณของเขาว่า สตรีหรือบุรุษในบ้านหรือนิคมแห่งโน้น ถึงพระพุทธเจ้าเป็น
    สรณะ ฯลฯ ควรแก่การขอ ยินดีในทานและการแจกจ่ายทาน อยู่ครองเรือน ดูกรอานนท์
    กลิ่นหอมนี้นั้นแล ฟุ้งไปตามลมก็ได้ ฟุ้งไปทวนลมก็ได้ ฟุ้งไปทั้งตามลมและทวนลม
    ก็ได้ ฯ
    กลิ่นดอกไม้ฟุ้งทวนลมไปไม่ได้ กลิ่นจันทน์ กลิ่นกฤษณา
    หรือกลิ่นกระลำพัก ก็ฟุ้งทวนลมไปไม่ได้ ส่วนกลิ่นสัตบุรุษ
    ฟุ้งทวนลมไปได้ เพราะสัตบุรุษฟุ้งไปทุกทิศ ฯ

    ตอบลบ
  14. ขออนุญาต​ อยากสอบถามมากเลยครับ​ คาใจมานานครับ​ คำว่าผิดศีลข้อ3​ การดูคลิปถือว่าผิดมั้ยครับ​ แล้วในเพศที่3หละครับ​ เพราะว่าจากที่ได้อ่านมามีแต่กรณีชายหญิงอะครับจึงสงสัย​ หากใช้คำที่เป็นการล่วงเกินก็ขออภัยอโหสิกรรม​ ณ​ ที่นี้ด้วยครัย

    ตอบลบ
    คำตอบ

    1. สวัสดีครับ

      ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ http://tripitaka-online.blogspot.com

      ศีลข้อ 3 ในศีล 5 นั้น จะเน้นที่การไม่ไปละเมิดของรักของหวงของใคร (ที่มีสิทธิ์ในตัวผู้ถูกล่วงรวมถึงผู้ล่วงโดยชอบธรรม) นะครับ ไม่ได้ถึงขั้นให้ประพฤติพรหมจรรย์ (ศีลข้อ 3 ในศีล 8 ถึงจะถึงขั้นประพฤติพรหมจรรย์ คือเว้นจากกามทั้งหลาย)

      ดังนั้น การดูคลิป โดยไม่ได้ไปล่วงละเมิดใคร จึงไม่ผิดศีลข้อ 3 ในศีล 5 ครับ

      แต่ถ้าการดูคลิปนั้นเป็นการล่วงละเมิด เช่น สามี หรือภรรยา หรือคู่ของผู้ที่ดูคลิปนั้น (กรณีเพศเดียวกัน) ที่มีสิทธิ์หวงแหนในตัวผู้ที่ดูนั้นโดยชอบธรรม ไม่ยินดีพอใจให้ดู เช่น อาจรู้สึกหึงหวง อย่างนี้ก็ย่อมเข้าข่ายการผิดศีลข้อ 3 ได้นะครับ เพราะเป็นการละเมิดคู่ของตน (คือทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ) เพียงแต่ความผิดนั้นยังไม่ครบองค์ประกอบของศีล คือเป็นการผิดแบบไม่สมบูรณ์ โทษย่อมน้อยกว่าความผิดที่สมบูรณ์ครับ

      หรือกรณีดูคลิปแอบถ่าย โดยคนในคลิปหรือผู้ที่มีสิทธิ์หวงแหนคนในคลิปนั้นโดยชอบธรรม (เช่น สามี ภรรยา พ่อ แม่ ผู้ปกครอง) ไม่ยินดีให้ดู อย่างนี้ย่อมเป็นการละเมิดคนในคลิปได้เช่นกันนะครับ แต่ก็เป็นการผิดศีลข้อ 3 ที่ไม่ครบองค์ประกอบ เช่นเดียวกับกรณีที่แล้ว

      กรณีเพศที่ 3 ก็พิจารณาแบบเดียวกันครับ คือถ้ามีการล่วงละเมิดไม่ว่าเป็นเพศไหน ถ้าทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่มีสิทธิ์หวงแหนโดยชอบธรรม เจ็บช้ำน้ำใจ ก็ย่อมเข้าข่ายศีลข้อ 3 เช่นเดียวกัน ในองค์ประกอบทั้ง 4 ข้อ ของศีลข้อ 3 ไม่มีข้อไหนระบุเพศเอาไว้เลยนะครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ
  15. เป็นการอรรถาอธิบายที่ดีมาก ถือเป็นธรรมทานอย่างดี อนุโมทนา

    ตอบลบ
  16. ไม่ระบุชื่อ29 ธันวาคม 2563 เวลา 23:55

    ขอถามค่ะ ในกรณีของศีลข้อสาม หากผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงต้องห้ามกรณียังมีพ่อแม่ดูแล ผู้หญิงผิดศีลด้วยมั้ยคะ

    ตอบลบ
    คำตอบ

    1. สวัสดีครับ

      ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ https://tripitaka-online.blogspot.com

      จากคำถามที่ถามมา ถ้าพิจารณาเฉพาะเรื่องที่ผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงต้องห้ามกรณียังมีพ่อแม่ดูแลเพียงประเด็นเดียว กรณีนี้ฝ่ายชายผิดศีลข้อ 3 แต่ฝ่ายหญิงไม่ผิดศีลข้อ 3 ครับ ซึ่งถ้าการกระทำนี้ทำให้พ่อแม่ของฝ่ายหญิงไม่สบายใจ ฝ่ายหญิงก็จะผิดในประเด็นที่ทำให้พ่อแม่ไม่สบายใจ (ไม่ใช่ผิดศีลข้อ 3 ครับ)

      กรณีนี้ฝ่ายหญิงจะผิดศีลข้อ 3 ถ้ามีเงื่อนไขอื่นประกอบด้วย (ผิดตามเงื่อนไขอื่นนั้น) เช่น ฝ่ายหญิงมีสามี หรือคู่มั่นอยู่แล้ว (ซึ่งไม่ใช่ชายที่กล่าวถึงนี้) และสามี หรือคู่มั่นนั้นไม่ยินยอม ฝ่ายชายมีภรรยา หรือคู่มั่นอยู่แล้ว และภรรยา หรือคู่มั่นนั้นไม่ยินยอม ฝ่ายชายบวชอยู่ ฯลฯ

      ขอให้มีความสุขความเจริญในธรรมนะครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ
    2. นมัสการครับ พระอาจารย์
      กระผมอยากทราบประวัติการทำสังคายนาตั้งแต่ครั้งที่ 1 จนถึงครั้งล่าสุดที่ทำในประเทศไทยแต่หาเท่าไหร่ก็หาไม่
      พบจึงกราบเรียนมายังท่านพระอาจารย์เพื่อขอความเมตตาชี้แนะให้กับกระผมด้วยครับ
      กราบนมัสการครับท่านพระอาจารย์

      ลบ

    3. สวัสดีครับ

      ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ https://tripitaka-online.blogspot.com

      ผมไม่มีข้อมูลเรื่องการทำสังคายนาในประเทศไทยเลยครับ ส่วนการทำสังคายนาครั้งที่ 1 ถึง 5 ดูได้จากลิ้งค์นี้นะครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ
  17. ขออนุญาตสอบถามค่ะ
    1.ศีล 5 ข้อ บัญญัติอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มไหนหรือคะ กรณีจะอ้างอิงไปใช้ทางวิชาการค่ะ
    2.การใช้อุปกรณ์ทางเพศ Sex toy ผู้ใช้ผิดศีลข้อ 3 หรือไม่คะ หรือผิดหลักธรรมเรื่องอื่นๆหรือไม่คะ
    3.การดูสื่อลามก กรณีที่ไม่ผิดศีลข้อ 3 จะผิดหลักธรรมอื่นๆด้วยมั้ยคะ
    4.การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองหรือการหลั่งน้ำกาม ถือว่าผิดศีล ข้อ 3 หรือหลักธรรมข้ออื่นหรือไม่คะ
    ขอบพระคุณท่านอย่างสูงค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ

    1. สวัสดีครับ

      ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ https://tripitaka-online.blogspot.com

      จากคำถาม ขอตอบเป็นข้อๆ ดังนี้ตรับ

      1.ศีล 5 ข้อ บัญญัติอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มไหนหรือคะ กรณีจะอ้างอิงไปใช้ทางวิชาการค่ะ

      >>> ในพระไตรปิฎกไม่มีตรงไหนที่ระบุว่าพระพุทธเจ้าหรือใครเป็นผู้บัญญัติศีล 5 ขึ้นมานะครับ มีแต่การยกศีล 5 ขึ้นมาแสดงเลย เช่น

      ๙. คันธชาตสูตร ว่าด้วยกลิ่นหอม
      พระสุตตัตนตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อานันทวรรค
      พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๓๐๓

      [๘๐] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

      ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กลิ่นหอม ๓ อย่าง ลอยไปตามลมเท่านั้น ลอยไปทวนลมไม่ได้ กลิ่นหอม ๓ อย่าง อะไรบ้าง คือ ๑. กลิ่นที่เกิดจากราก ๒. กลิ่นที่เกิดจากแก่น ๓. กลิ่นที่เกิดจากดอก กลิ่นหอม ๓ อย่างนี้แล ลอยไปตามลมเท่านั้น ลอยไปทวนลมไม่ได้

      ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กลิ่นหอมที่ลอยไปตามลมก็ได้ ลอยไปทวนลมก็ได้ ลอยไปตามลมและทวนลมก็ได้ มีอยู่หรือ

      พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อานนท์ กลิ่นหอมที่ลอยไปตามลมก็ได้ ลอยไปทวนลมก็ได้ ลอยไปทั้งตามลมและทวนลมก็ได้ มีอยู่

      ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กลิ่นหอมที่ลอยไปตามลมก็ได้ ลอยไปทวนลมก็ได้ ลอยไปทั้งตามลมและทวนลมก็ได้ เป็นอย่างไร

      พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อานนท์ ในโลกนี้สตรีหรือบุรุษในบ้านหรือในตำบลใด ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะอันสละแล้ว มีฝ่ามือชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการให้ทานและการจำแนกทาน อยู่ครองเรือน

      สมณพราหมณ์ในทิศทั้งหลายต่างกล่าวสรรเสริญคุณของเขาว่า “สตรีหรือบุรุษในบ้านหรือในตำบลโน้น ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะอันสละแล้ว มีฝ่ามือชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการให้ทานและการจำแนกทาน อยู่ครองเรือน”

      แม้พวกเทวดาก็กล่าวสรรเสริญคุณของเขาว่า “สตรีหรือบุรุษในบ้านหรือในตำบลโน้น ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ฯลฯ ควรแก่การขอ ยินดีในการให้ทานและการจำแนกทาน อยู่ครองเรือน”

      อานนท์ กลิ่นหอมนี้แล ลอยไปตามลมก็ได้ ลอยไปทวนลมก็ได้ ลอยไปทั้งตามลมและทวนลมก็ได้
      กลิ่นดอกไม้ลอยไปทวนลมไม่ได้ กลิ่นจันทน์ กลิ่นกฤษณา หรือกลิ่นกะลำพัก ลอยไปทวนลมไม่ได้
      ส่วนกลิ่นของสัตบุรุษลอยไปทวนลมได้ เพราะสัตบุรุษขจรไปทั่วทุกทิศ (ด้วยกลิ่นแห่งคุณมีศีลเป็นต้น)

      คันธชาตสูตรที่ ๙ จบ

      2.การใช้อุปกรณ์ทางเพศ Sex toy ผู้ใช้ผิดศีลข้อ 3 หรือไม่คะ หรือผิดหลักธรรมเรื่องอื่นๆหรือไม่คะ

      >>> การใช้อุปกรณ์ทางเพศ Sex toy ผู้ใช้ไม่ผิดศีลข้อ 3 ในศีล 5 ครับ เพราะไม่ได้เป็นการละเมิดของรักของหวงของใคร

      ศีล 5 ไม่ได้ห้ามเรื่องทางเพศที่ไม่ได้สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้ใครครับ จะผิดศีลข้อ 3 ของศีล 5 เมื่อไปละเมิดของรักของหวงของผู้อื่นที่มีสิทธิ์โดยชอบธรรมในตัวผู้นั้นครับ เช่น สามี ภรรยา พ่อ แม่

      แต่จะเป็นการผิดศีลข้อ 3 ของศีล 8 เพราะต้องละเว้นอพรัหมจริยา จึงต้องประพฤติพรหมจรรย์ คือเว้นจากกามทั้งหลาย

      รวมถึงผิดศีลของภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี ด้วยครับ

      3.การดูสื่อลามก กรณีที่ไม่ผิดศีลข้อ 3 จะผิดหลักธรรมอื่นๆด้วยมั้ยคะ

      >>> ก็จะผิดศีลข้อ 3 และข้อ 7 ของศีล 8 ครับ เพราะเป็นการดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์

      รวมถึงผิดศีลของภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี ด้วยครับ

      4.การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองหรือการหลั่งน้ำกาม ถือว่าผิดศีล ข้อ 3 หรือหลักธรรมข้ออื่นหรือไม่คะ

      >>> ไม่ผิดศีล 5 แต่ผิดศีล 8 เช่นเดียวกับการใช้อุปกรณ์ทางเพศ Sex toy ครับ

      รวมถึงผิดศีลของภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี ด้วยครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ
  18. ไม่ระบุชื่อ16 ตุลาคม 2566 เวลา 09:58

    ทำไมการพูดคำหยาบ ส่อเสียด เพ้อเจ้อ ถึงไม่อยู่ในศีล 5 ครับ เพราะมีพระหลายๆรูปท่านบอกว่า มันรวมอยู่ ไม่ทราบว่าใครเข้าใจผิดกันแน่ครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ

    1. สวัสดีครับ

      ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ https://tripitaka-online.blogspot.com

      คำสมาทานศีล 5 นั้น​มี​ว่า

      ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ,
      อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ,
      กาเมสุ มิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ,
      มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ,
      สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

      จะเห็นว่า​ข้อ 4 นั้น​มีเฉพาะ​ "มุสาวาทา เวระมะณี" คือเจตนางดเว้นจากมุสาวาท เท่านั้น​นะ​ครับ
      ไม่มีปิสุณวาจา (พูดส่อเสียด), ผรุสวาจา (พูดคำหยาบ), สัมผัปปลาปะ (พูดเพ้อเจ้อ) อยู่​ด้วย​เลย

      ซึ่ง​ต่าง​จาก​ในอกุศลกรรมบถ 10 ที่กล่าวถึง​ มุสาวาท, ปิสุณวาจา, ผรุสวาจา, สัมผัปปลาปะ เอาไว้อย่าง​ชัดเจน

      การที่บางท่าน​เพิ่ม​ ปิสุณวาจา (พูดส่อเสียด), ผรุสวาจา (พูดคำหยาบ), สัมผัปปลาปะ (พูดเพ้อเจ้อ) เข้าไปในศีลข้อ 4 ด้วยนั้น น่าจะเกิด​จาก​ความ​หวังดี แต่ในคำสมาทานศีล 5 นั้นมีเพียง​เท่านี้​จริงๆ​ ครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ