Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

รวมคำถามคำตอบเรื่องศีล (3)

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้เป็นการรวมคำถามและคำตอบเรื่องเกี่ยวกับศีลที่ผู้สนใจสอบถามเข้ามาเป็นตอนที่ 3 นะครับ


ศีลข้อ 3 และข้อ 5


ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

ได้อ่านเรื่องศีลจากหลายแหล่งแล้ว ยังมีข้อสงสัยดังนี้ครับ
  1. กรณีซึ่งพบได้มากในสังคมยุคนี้ คือคน ๒ คน บรรลุนิติภาวะ ทำงานการ และแยกมาจากบิดามารดาแล้ว มามีสัมพันธ์กัน อาจเป็นแบบครั้งคราว หรืออยู่ ด้วยกันโดยญาติไม่รู้ (ถ้ารู้ก็ไม่ได้) นับว่าเป็นการผิดศีล ๓ เพราะญาติไม่ได้รับรู้ เห็นชอบ เป็นการละเมิดบุคคลที่มีญาติหวงห่วง ทำให้ผู้อื่นเจ็บช้ำน้ำใจ ใช่ไหมครับ

  2. กรณีศีลข้อสุรา บางคนอ้างว่าดื่มพอรู้รส เข้าสังคม ไม่ได้ดื่มจนเมามาย ขาดสติ จึงไม่นับว่าผิดศีล ใช่หรือครับ
และกรณีการสูบบุหรี่ หรือเคี้ยวหมาก ก็จัดเป็นกิจที่สงฆ์ไม่ควรกระทำ ใช่ไหมครับ

ขอบคุณมากครับ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

ขอตอบคำถามดังนี้ครับ
  1. ใช่แล้วครับ เพราะการบรรลุนิติภาวะแล้ว ก็คือการเป็นผู้ใหญ่แล้วตามกฎหมาย แต่ในเรื่องของความสัมพันธ์ทางจิตใจระหว่างพ่อแม่ลูกนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องแยกกันพิจารณา

  2. เรื่องการดื่มสุรานั้น ผู้ที่ดื่มจะรู้ดีที่สุดว่าเขามีเจตนาอย่างไร ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ และไม่ขาดสติก็มีโทษน้อยหน่อย แต่ก็ไม่ใช่จะไม่มีโทษเสียเลย เพราะการกระทำที่เริ่มต้นเพียงเล็กน้อยนั้น นานเข้าก็ย่อมจะลุกลามใหญ่โตได้ คือดื่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตนั่นเอง สู้ไม่เริ่มเสียเลยจะดีกว่านะครับ

    และการอ้างเรื่องสังคมนั้น ถ้าเราพูดไปอย่างเด็ดขาดเลยว่าไม่ดื่ม ก็ไม่เห็นจะทำให้เข้าสังคมไม่ได้ตรงไหน และถ้าเรายืนยันชัดเจนก็จะไม่มีใครมารบเร้าเราเรื่องนี้อีก แต่ถ้ายังมีคนอย่างนั้นจริงๆ ก็คงต้องพิจารณาแล้วล่ะครับ ว่าเราควรจะคบคนที่ชักจูงเราไปในทางที่ผิดศีลเช่นนั้นหรือเปล่า
การสูบบุหรี่ หรือเคี้ยวหมากนั้นเป็นการผิดศีลข้อ 5 อยู่แล้ว เพราะเป็นของมึนเมา คงไม่ต้องพูดถึงศีล 227 นะครับ ถ้าภิกษุยังทำเป็นตัวอย่างอย่างนี้ แล้วสังคมจะเป็นยังไงล่ะครับ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


ขายอุปกรณ์ฆ่าสัตว์


ผู้สนใจท่านหนึ่งได้ถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

ในศีลข้อห้ามฆ่าสัตว์ ถึงเราจะไม่ได้เป็นคนฆ่าโดยตรง แต่เราขายอุปกรณ์ที่นำไปฆ่า ถือว่าผิดและบาปไหมค่ะ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

ในศีลข้อปาณาติบาตนั้นเน้นที่เจตนา และความพยายามในการฆ่า ซึ่งทั้งเจตนาและความพยายามนี้ มีความหมายรวมทั้งกรณีฆ่าด้วยตนเอง และใช้ให้คนอื่นฆ่าด้วยครับ คือพยายามสื่อความให้คนอื่นฆ่าก็ผิดศีลข้อนี้เช่นเดียวกัน

สำหรับกรณีที่ถามมานั้น ขอแยกตอบเป็นกรณีดังนี้ครับ
  1. ถ้าขายอุปกรณ์สำหรับฆ่าสัตว์ พร้อมด้วยความรู้สึก หรือเจตนาว่าต้องการให้มีการฆ่าสัตว์เกิดขึ้น หรือรู้สึกยินดีทำนองว่าสัตว์จะถูกฆ่าเพราะเครื่องมือนั้น อย่างนี้ก็ผิดศีลข้อนี้เต็มๆ ครับ และเป็นมิจฉาอาชีวะด้วยครับ

  2. ถ้าขายโดยไม่มีความรู้สึก หรือเจตนาอย่างในข้อ 1. แต่ขายด้วยความรู้สึกเพียงว่าเป็นการหาเลี้ยงชีพ ก็ไม่ผิดศีลข้อปาณาติบาตโดยตรง แต่จัดได้ว่าเป็นมิจฉาอาชีวะ (ถึงไม่ผิดทางโลก แต่ก็ผิดทางธรรมครับ)

    มิจฉาอาชีวะ มีหลายอย่าง เช่น ขายสุรา ขายอาวุธ ขายยาพิษ ขายมนุษย์ เลี้ยงสัตว์เพื่อฆ่าเอง หรือเพื่อให้เขาเอาไปฆ่า กรณีนี้ก็เป็นการขายอาวุธครับ
ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผิดทางธรรม และเป็นบาปกรรมทั้ง 2 กรณีครับ แต่กรณีที่ 1 หนักกว่ากรณีที่ 2

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


ฉีดยาเกินขนาดจนคนไข้ตาย


ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

สวัสดีครับ

มีปัญหารบกวนเรียนถาม ดังนี้ครับ

เพื่อนซึ่งเป็นแพทย์ดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ปรึกษาว่า ในกรณีที่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ได้รับความทุกข์ทรมานเจ็บปวดเป็นที่สุด จำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดมอร์ฟีนฉีดเป็นจำนวนมาก และบ่อยๆ (ซึ่งยานี้มีผลกดการหายใจ) เมื่อให้ไปแล้วแต่ผู้ป่วยยังทรมานอยู่ ร้องครวญคราง ก็จำเป็นต้องให้ต่อไปอีกเพื่อให้ผู้ป่วยสงบ มีผลทำให้เสียชีวิตจากยาตามมา เช่นนี้ จะถือว่าเป็นบาปหรือไม่

โดยส่วนตัวได้แสดงความเห็นว่า ดูเจตนาเป็นหลัก การให้ยานั้น ให้เพื่อรักษา เพื่อลดความเจ็บปวดทรมาน ไม่ได้ตั้งใจให้เพื่อให้หยุดหายใจ แต่เมื่อจำเป็นต้องใช้ยาเป็นจำนวนมากเพื่อการรักษา แล้วเกิดผลข้างเคียง และเราไม่กู้ชีวิตผู้ป่วย (หมายถึงการใส่ท่อช่วยหายใจ ให้ยาช่วยต่อชีวิต ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องการ) จนผู้ป่วยตาย ไม่คิดว่าเป็นบาป

เรียนถามความเห็นจากคุณธัมมโชติด้วยครับ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

ขอแยกเป็น 3 ช่วงเวลา ดังนี้ครับ
  1. จะเห็นได้อย่างชัดเจนนะครับว่า ตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงการให้ยาครั้งสุดท้ายนั้น ทำไปด้วยเจตนาที่ต้องการช่วยเหลือคนไข้ตลอด ไม่ได้มีจิตคิดจะให้คนไข้ตายเลย ดังนั้น จิตจึงเป็นกุศลคือเป็นบุญนะครับ ไม่ได้เป็นบาปเลย และเมื่อไม่มีเจตนาจะให้ตายจึงไม่เป็นการผิดศีลอีกเช่นกันนะครับ

  2. เมื่อทราบว่าผู้ป่วยนั้นตายแล้ว ขอแยกเป็นกรณี ดังนี้ครับ
    • ตรงจุดนี้ ถ้าวางใจให้เป็นอุเบกขาได้ (เช่น โดยการพิจารณาเห็นตามข้อ 1.) ก็ไม่เป็นบุญหรือบาปครับ

    • ถ้าใช้พิจารณาให้เห็นตามความจริงว่า ชีวิตมีความตายเป็นธรรมดา คนโดยทั่วไปไม่มีใครรู้ว่าความตายจะมาถึงเมื่อไหร่ เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ประมาท อย่างนี้ก็เป็นบุญเป็นกุศลครับ (เป็นบุญตรงที่พิจารณา และไม่ประมาทนะครับ ไม่ใช่เป็นบุญที่คนไข้ตาย)

    • แต่ถ้ารู้สึกเสียใจ เป็นทุกข์ ซึ่งจัดเป็นโทสะอ่อนๆ หรืออาจถึงขั้นโกรธตัวเอง อย่างนี้จิตเป็นอกุศล เป็นบาป (ทำจิตให้เศร้าหมอง) ครับ ถึงแม้จะเป็นบาปขั้นเล็กน้อยก็ไม่ควรจะให้เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นนะครับ

  3. ส่วนการที่ไม่กู้ชีวิตผู้ป่วยนั้น ก็ต้องดูที่เจตนาประกอบด้วยนะครับ
    • คือถ้าคิดว่ายังไงก็กู้ไม่สำเร็จอยู่แล้ว หรือทำไม่ทันเพราะข้อติดขัดทางเทคนิค หรือทางฝ่ายผู้ป่วยเองไม่ต้องการ อย่างนี้ก็ไม่เป็นบาปครับ

    • แต่ถ้าไม่กู้เพราะความตระหนี่ คือกลัวว่าจะสิ้นเปลือง หรือเพราะคิดว่าถ้าทำอย่างนั้นจะเป็นการฟ้องว่าให้ยาผิดพลาด กลัวตนเองจะเดือดร้อน อย่างนี้จิตก็เป็นอกุศล เป็นบาปนะครับ แต่ไม่ถึงขั้นผิดศีล และไม่ล่วงกรรมบถ (อกุศลกรรมบถ 10 - ดูเรื่องอกุศลกรรมบถ กิเลสและอุปกิเลส ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบนะครับ)

    • แต่ถ้าไม่ช่วยเพราะมีความไม่พอใจผู้ป่วยนั้นอยู่ เลยปล่อยให้ตาย อย่างนี้ก็ล่วงอกุศลกรรมบถ ข้อพยาบาท แต่ไม่ผิดศีลเพราะไม่ได้มีเจตนาฆ่า เพียงแต่ไม่ช่วยเหลือเท่านั้นครับ
ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ

7 ความคิดเห็น :

  1. กินเนื้อสัตว์

    การกินเนื้อสัตว์เป็นการสนับสนุนโรงฆ่าสัตว์ อย่างงี้บาปไหมครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เข้าใจว่าเป็นคำถามจากผู้สนใจท่านเดียวกัน ขออนุญาตตอบรวมกันในคำถามถัดไปนะครับ

      ลบ
  2. การกินเนื้อสัตว์

    การกินเนื้อสัตว์เป็นการสนับสนุนมิจฉาอาชิวะ (โรงฆ่าสัตว์) แบบนี้ทำไมถึงไม่บาปครับ ถ้าไม่มีคนกินเนื้อสัตว์ก็จะไม่มีโรงฆ่าสัตว์

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ http://tripitaka-online.blogspot.com

      การกินเนื้อสัตว์จะเป็นบาปหรือไม่นั้นขึ้นกับสภาวจิตของผู้กินเป็นสำคัญครับ ถ้ากินเนื้อสัตว์พร้อมด้วยอกุศลจิตก็ย่อมจะเป็นบาปครับ เช่น

      - กินด้วยความยินดีในการตายของสัตว์นั้น
      - กินเพื่อสนับสนุนโรงฆ่าสัตว์/การฆ่าสัตว์
      - เป็นผู้สั่งให้ฆ่าสัตว์นั้นเพื่อเป็นอาหารของตน
      - ฯลฯ

      ขอยกตัวอย่างกรณีสำหรับภิกษุประกอบนะครับ

      พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ภิกษุเป็นผู้ยังชีพเนื่องด้วยผู้อื่น พึงทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย

      คือภิกษุต้องอาศัยอาหารจากการรับบิณฑบาตจากชาวบ้านเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิตนะครับ ดังนั้น เมื่อชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นกินอะไรเป็นอาหาร ภิกษุก็ย่อมต้องบริโภคสิ่งนั้นเช่นกัน (ถ้าไม่เป็นของต้องห้าม) ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว จะมีสักกี่คนที่จะเตรียมอาหารแบบพิเศษมาใส่บาตร แล้วภิกษุจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ศาสนาจะสืบทอดไปได้อย่างไรครับ

      การที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงห้ามภิกษุบริโภคเนื้อสัตว์นั้น ก็ด้วยสมมติฐานว่าชาวบ้านบริโภคเนื้อสัตว์กันเป็นปกติ ดังนั้น การที่บางคนจะบริโภคหรือไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ก็ไม่ทำให้โรงฆ่าสัตว์ฆ่าสัตว์มากขึ้นหรือน้อยลงครับ โดยเนื้อสัตว์ที่ภิกษุบริโภคนั้นต้องมีความบริสุทธิ์โดยส่วน 3 คือ

      1. ไม่ได้เห็นว่าเขาฆ่าสัตว์นั้นเพื่อตน คือไม่ได้ฆ่าโดยเจาะจงว่าสำหรับทำอาหารเพื่อภิกษุนั้น
      2. ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่าสัตว์นั้นเพื่อตน
      3. ไม่ได้รังเกียจ คือไม่ได้เกิดความสงสัยว่าเขาฆ่าสัตว์นั้นเพื่อตนหรือเปล่า

      สรุปง่ายๆ คือ ภิกษุนั้นต้องมั่นใจว่าเป็นเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่าทั่วๆ ไปอยู่แล้ว ไม่ใช่ฆ่าเพื่อเป็นอาหารของภิกษุรูปนั้น ไม่ว่าภิกษุนั้นจะบริโภคเนื้อสัตว์นั้นหรือไม่ก็ตาม สัตว์นั้นก็ได้ตายไปแล้วอยู่ดีครับ

      และในขณะที่บริโภคนั้น ภิกษุต้องพิจารณาว่าบริโภคเพียงเพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้ เพื่อบำบัดความหิว ไม่ใช่เพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน โดยมองเนื้อสัตว์นั้นโดยความเป็นธาตุ ไม่ใช่ถือนิมิตในความเป็นเนื้อสัตว์ครับ

      สำหรับคนทั่วๆ ไป (ไม่ใช่นักบวชที่ต้องอาศัยอาหารที่ชาวบ้านทำบุญให้มา ซึ่งชาวบ้านให้อะไรมาก็ต้องรับอย่างนั้นครับ ยกเว้นนักบวชที่มีบารมีมากๆ ที่สามารถกะเกณฑ์ได้ว่าจะรับเฉพาะอาหารเจ หรือมังสวิรัติได้นะครับ) ที่สามารถเลือกได้ว่าจะกินอะไร ถ้าจะเลือกอาหารเจหรือมังสวิรัติ เพื่อบริโภคเองรวมถึงทำบุญใส่บาตรก็อนุโมทนาด้วยครับ

      แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่าในช่วงเวลาปกติ (ไม่ใช่ช่วงเทศกาลเจ) การหาอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ประกอบไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ เลย นอกจากจะทำอาหารกินเองนะครับ

      ลบ
  3. ขอบคุณสำหรับคำตอบครับ ในส่วนกรณีของภิกษุนั้นผมกระจ่างแล้ว แต่ในกรณีของคนธรรมดาผมยังไม่ค่อยเข้าใจอยู่ดีครับ ศีลห้ามฆ่าสัตว์ แต่การบริโภคเนื้อสัตว์นั้นเป็นเหตุซึ่งนำไปสู่การฆ่าสัตว์ไม่ใช่เหรอครับ ถ้าบริโภคเนื้อสัตว์ที่ตายเองนั้นคงไม่ผิด แต่เนื้อสัตว์ที่เราบริโภคอยู่นั้นมาจากเจตนาการฆ่าเพื่อนำมาบริโภค ถ้าคนไม่บริโภคเนื้อสัตว์มากมายขนาดนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีการฆ่าสัตว์มากมายขนาดนี้ไม่ใช่เหรอครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      ก็ถูกต้องตามนั้นครับ ถ้าสามารถทำให้คนเลิกกินเนื้อสัตว์จนโลกนี้ไม่ต้องมีการฆ่าสัตว์เลยย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่จากสภาพความเป็นจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคงไม่ง่ายอย่างนั้น

      ถ้าพิจารณาโดยอ้างอิงกับสภาพในปัจจุบัน ในฐานะของคนที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ และไม่มองว่าทุกอย่างมีเพียงขาวกับดำเท่านั้น แต่มองเห็นความแตกต่างเป็นขั้นๆ ลดหลั่นกันไปตามลำดับ การบริโภคอาหารก็มีตั้งแต่ที่เป็นบาปที่สุดจนถึงที่เป็นบุญกุศลเช่นกันครับ ไม่ใช่ว่าจะเป็นบาปหรือเป็นบุญในระดับเดียวกันทุกกรณี ก็อยู่ที่แต่ละท่านจะเลือกเดินในทางไหน ตามข้อจำกัด/โอกาส/ทางเลือกในสถานการณ์ที่ต่างกันไป

      ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพประกอบตามลำดับ จากบาปหนักไปจนถึงเป็นบุญกุศลนะครับ

      ที่เป็นบาปถึงขั้นอนันตริยกรรม (เป็นตัวอย่างเพื่อให้เห็นด้านที่สุดโต่ง หวังว่าจะไม่เกิดขึ้นนะครับ) เช่น ฆ่าพระอรหันต์/ฆ่ามารดา/ฆ่าบิดาแล้วเอาเนื้อมากิน

      ที่บาปน้อยกว่านั้น ไปจนถึงขั้นที่ไม่บาป และขั้นที่เป็นบุญกุศล เช่น
      - จับสัตว์ไปย่างไฟทั้งเป็นเพื่อกินเป็นอาหาร
      - ฆ่าสัตว์ด้วยตัวเองเพื่อทำอาหาร
      - เป็นผู้สั่งให้ฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหารของตน
      - กินอาหารจากเนื้อสัตว์ที่วางขายทั่วๆ ไป ไม่เฉพาะเจาะจงผู้ซื้อ ทั้งๆ ที่มีอาหารมังสวิรัติให้เลือก
      - กินเนื้อสัตว์ด้วยความจำเป็น เพราะไม่มีอาหารอย่างอื่นให้เลือก
      - กินเนื้อสัตว์ที่ตายอยู่แล้วตามธรรมชาติ เช่น แก่ตาย หรือเกิดอุบัติเหตุตาย
      - กินอาหารมังสวิรัติ

      ที่เป็นบุญกุศลมากๆ เช่น เพราะความเมตตาต่อสัตว์ทั้งหลายจึงไม่กินเนื้อสัตว์ และยังพยายามไถ่ชีวิตสัตว์ที่จะถูกฆ่าให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งรณรงค์ให้คนเลิกกินเนื้อสัตว์ และทำอาหาร/วัตถุดิบที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ออกมาแจกจ่าย/จำหน่ายในราคาถูกเพื่อให้คนทั้งหลายมีอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์กินได้โดยง่าย

      ลบ
  4. เข้าใจแล้วครับ ขอบคุณครับ

    ตอบลบ