Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

อริยบุคคล 7 ประเภท ตามการบรรลุ

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

ในหน้านี้จะเป็นการแบ่งอริยบุคคลออกเป็น 7 ประเภท โดยเป็นการแบ่งตามประเภทหรือวิธีการบรรลุธรรมนะครับ ซึ่งต่างจากเรื่องอริยบุคคล 8 ประเภทและการละกิเลส ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ที่เป็นการแบ่งตามลำดับขั้นของกิเลสที่ละได้ครับ

พระไตรปิฎก : พระอภิธรรมปิฎก เล่ม 3 ธาตุกถา - ปุคคลปัญญัติปกรณ์


(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๕๓ ข้อ : ๒๔)

เอกกนิทเทส

[๔๐] บุคคลชื่อว่าอุภโตภาควิมุต เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกต้องซึ่งวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย (วิโมกข์ ๘ คือสมาบัติ ๘ ได้แก่สมาธิขั้นฌาน ๘ ขั้น คือ รูปฌาน ๔ + อรูปฌาน ๔ ดูเรื่องสมาธิ 40 วิธีและฌานสมาบัติ ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) ประกอบนะครับ - ธัมมโชติ) แล้วสำเร็จอิริยาบถอยู่ ทั้งอาสวะ(กิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน - ธัมมโชติ) ของผู้นั้นก็สิ้นไปแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้เรียกว่า อุภโตภาควิมุต

(อุภโตภาควิมุต = การหลุดพ้นโดยส่วนสอง คือ หลุดพ้นจากความยินดีในรูปด้วยอรูปสมาบัติก่อน (ดูเรื่องสังโยชน์ 10 ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) โดยเฉพาะในหัวข้ออรูปราคะ ประกอบนะครับ) แล้วเจริญวิปัสสนาจนหลุดพ้นจากความยินดีในนามด้วยวิปัสสนาปัญญา ซึ่งทำให้เป็นพระอรหันต์ด้วยวิปัสสนาปัญญานี้นะครับ - ธัมมโชติ)

[๔๑] บุคคลชื่อว่าปัญญาวิมุต เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ มิได้ถูกต้องซึ่งวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย สำเร็จอิริยาบถอยู่ แต่อาสวะของผู้นั้นสิ้นไปแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้ เรียกว่า ปัญญาวิมุต

(คือผู้ที่ไม่ได้ทำสมาธิจนถึงขั้นอรูปฌาน เจริญวิปัสสนาจนกระทั่งบรรลุเป็นพระอรหันต์ จึงหลุดพ้นจากความยินดีทั้งในรูปและนามด้วยวิปัสสนาปัญญานะครับ - ธัมมโชติ)

[๔๒] บุคคลชื่อว่ากายสักขี เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกต้องซึ่งวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย แล้วสำเร็จอิริยาบถอยู่ ทั้งอาสวะบางอย่างของผู้นั้นก็สิ้นไปแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้เรียกว่า กายสักขี

(คล้ายกับอุภโตภาควิมุต ต่างกันที่อุภโตภาควิมุตนั้นเจริญวิปัสสนาจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่กายสักขีเจริญวิปัสสนาจนบรรลุเป็นอริยบุคคลขั้นต่ำกว่าพระอรหันต์ครับ - ธัมมโชติ)

[๔๓] บุคคลชื่อว่าทิฏฐิปัตตะ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ความดับทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อนึ่ง ธรรมทั้งหลายที่พระตถาคตประกาศแล้ว ผู้นั้นเห็นชัดแล้ว ดำเนินไปดีแล้วด้วยปัญญา อนึ่ง อาสวะบางอย่างของผู้นั้นก็สิ้นไปแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้เรียกว่า ทิฏฐิปัตตะ

(คล้ายกับปัญญาวิมุต ต่างกันที่ปัญญาวิมุตนั้นเจริญวิปัสสนาจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ทิฏฐิปัตตะเจริญวิปัสสนาจนบรรลุเป็นอริยบุคคลขั้นต่ำกว่าพระอรหันต์ โดยนับตั้งแต่โสดาปัตติผลบุคคลขึ้นไปครับ ดูเรื่องอริยบุคคล 8 ประเภทและการละกิเลส ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบนะครับ - ธัมมโชติ)

[๔๔] บุคคลชื่อว่าสัทธาวิมุต เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ความดับทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อนึ่ง ธรรมทั้งหลายที่พระตถาคตประกาศแล้ว ผู้นั้นเห็นชัดแล้ว ดำเนินไปดีแล้ว ด้วยปัญญา อนึ่ง อาสวะบางอย่างของผู้นั้นก็สิ้นไปแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา แต่มิใช่เหมือนบุคคลผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ บุคคลนี้เรียกว่าสัทธาวิมุต

(ต่างจากทิฏฐิปัตตะตรงที่ทิฏฐิปัตตะอาศัยปัญญาเป็นหลัก แต่สัทธาวิมุตอาศัยศรัทธาเป็นใหญ่นำปัญญาให้เกิดขึ้นครับ - ธัมมโชติ)

[๔๕] บุคคลชื่อว่าธัมมานุสารี เป็นไฉน
ปัญญินทรีย์ของบุคคลใด ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผลมีประมาณยิ่ง (ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล = โสดาปัตติมรรคบุคคลนะครับ - ธัมมโชติ) บุคคลนั้นย่อมอบรมซึ่งอริยมรรคอันมีปัญญาเป็นเครื่องนำมา มีปัญญาเป็นประธานให้เกิดขึ้น บุคคลนี้เรียกว่า ธัมมานุสารี
บุคคลผู้ปฏิบัติแล้ว เพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ชื่อว่าธัมมานุสารี
บุคคลผู้ตั้งอยู่แล้วในผล ชื่อว่า ทิฏฐิปัตตะ

(คือขณะแห่งโสดาปัตติมรรค เป็นธัมมานุสารี
ขณะแห่งโสดาปัตติผลเป็นต้นไปจนถึงก่อนจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นทิฏฐิปัตตะนะครับ - ธัมมโชติ)

[๔๖] บุคคลชื่อว่าสัทธานุสารี เป็นไฉน
สัทธินทรีย์ของบุคคลใดผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล มีประมาณยิ่ง อบรมอริยมรรคมีสัทธาเป็นเครื่องนำมา มีสัทธาเป็นประธานให้เกิดขึ้น บุคคลนี้เรียกว่า สัทธานุสารีบุคคล
ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ชื่อว่าสัทธานุสารี
ผู้ตั้งอยู่แล้วในผล ชื่อว่าสัทธาวิมุต

(คือขณะแห่งโสดาปัตติมรรค เป็นสัทธานุสารี
ขณะแห่งโสดาปัตติผลเป็นต้นไปจนถึงก่อนจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นสัทธาวิมุตนะครับ - ธัมมโชติ)


ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ

6 ความคิดเห็น :

  1. หมอฉัตร เนติ ฯ19 ธันวาคม 2560 เวลา 10:11

    ขอเรียนถามว่า
    ๑. เคยอ่านเจอว่า บางท่านบรรลุอรหันต์แล้ว กลับไปเกิดในสวรรค์อีก
    หาว่า น่าจะไม่ถูกต้องใช่ไหมครับ
    ๒. พวกเทวดาหรือภพภูมิอื่นนอกจากมนุษย์สามารถบรรลุโสดาบัน หรือบรรลุอรหันต์ได้ไหมครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      ๑. เคยอ่านเจอว่า บางท่านบรรลุอรหันต์แล้ว กลับไปเกิดในสวรรค์อีก
      หาว่า น่าจะไม่ถูกต้องใช่ไหมครับ

      >>> ผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วย่อมไม่เกิดอีกครับ ขอยกพระไตรปิฎกประกอบนะครับ

      พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๔๖๖ ข้อ : ๙๓ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค

      ๔. อัคคิสูตร
      ว่าด้วยไฟกิเลส
      [๙๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
      กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
      “ภิกษุทั้งหลาย ไฟ ๓ กองนี้
      ไฟ ๓ กอง คือ
      ๑. ไฟคือราคะ ๒. ไฟคือโทสะ ๓. ไฟคือโมหะ
      ภิกษุทั้งหลาย ไฟ ๓ กองนี้แล”
      พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
      คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
      ไฟคือราคะ ย่อมเผาผลาญนรชนผู้กำหนัด
      หมกมุ่นอยู่ในกามทั้งหลาย
      ไฟคือโทสะ ย่อมเผาผลาญนรชนผู้มีจิตพยาบาท ชอบฆ่าสัตว์
      ไฟคือโมหะ ย่อมเผาผลาญนรชนผู้ลุ่มหลง
      ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ
      หมู่สัตว์ เมื่อไม่รู้จักไฟทั้ง ๓ กองนี้
      จึงยินดียิ่งในสักกายะ
      ไม่พ้นจากบ่วงแห่งมาร สั่งสมเพื่อเกิดในนรก
      กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน อสุรกาย และแดนเปรต
      ส่วนชนทั้งหลายผู้หมั่นอบรมตนในศาสนธรรม
      ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งกลางวันและกลางคืน
      หมั่นเจริญอสุภสัญญาเป็นนิตย์
      ย่อมทำไฟคือราคะให้ดับลงได้
      ชนทั้งหลายที่มีคุณธรรมสูง
      ย่อมดับไฟคือโทสะลงได้ด้วยเมตตา
      และย่อมดับไฟคือโมหะด้วยปัญญา
      อันเป็นเครื่องทำลายกิเลสได้เด็ดขาด
      ชนผู้มีปัญญารักษาตนเหล่านั้น
      ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน
      ดับไฟทั้ง ๓ กองนั้นได้แล้ว
      ชื่อว่าดับกิเลสได้สิ้นเชิง ล่วงพ้นทุกข์ได้ทั้งสิ้น
      บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นแจ้งอริยสัจ
      จบเวท รู้สิ่งทั้งปวงโดยชอบ (หมายถึงบรรลุเป็นพระอรหันต์นะครับ - ธัมมโชติ)
      ย่อมไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก
      เพราะรู้ยิ่งถึงภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
      แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
      อัคคิสูตรที่ ๔ จบ

      ลบ
    2. ๒. พวกเทวดาหรือภพภูมิอื่นนอกจากมนุษย์สามารถบรรลุโสดาบัน หรือบรรลุอรหันต์ได้ไหมครับ

      >>> ยกเว้นอบายภูมิทั้ง 4 และอสัญญสัตตพรหมแล้ว สามารถบรรลุธรรมได้ทุกภูมิครับ แต่จะมีรายละเอียดพิเศษในบางภูมิคือ

      (อบายภูมิทั้ง 4 จิตไม่ประกอบด้วยปัญญาจึงบรรลุธรรมไม่ได้ ส่วนอสัญญสัตตพรหมมีแต่รูปไม่มีนาม จึงบรรลุธรรมไม่ได้ครับ)

      สุทธาวาสภูมิทั้ง 5 ชั้น ซึ่งเป็นที่เกิดของอนาคามีบุคคล คือผู้ที่บรรลุธรรมเป็นอนาคามีบุคคลในภูมิอื่นแล้วเท่านั้น เมื่อตายจากภูมิเดิมนั้นไปในขณะที่ยังเป็นอนาคามีบุคคลอยู่ (ยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์) จึงจะไปเกิดในภูมินี้ได้ ดังนั้นจึงไม่มีการบรรลุธรรมขั้นโสดาบัน สกทาคามี (สกิทาคามี) และอนาคามีในชั้นสุทธาวาสครับ ทุกชีวิตในภูมินี้จะบรรลุเป็นพระอรหันต์และปรินิพพานในภูมินี้

      อรูปภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่ติดต่อกับผู้อื่นไม่ได้ (มีแต่นามไม่มีรูป) จึงฟังธรรมจากผู้อื่นไม่ได้ (อาฬารดาบส กาลามโคตร และอุททกดาบส รามบุตร เมื่อตายไปได้ไปเกิดในภูมินี้ พระพุทธเจ้าจึงตามไปแสดงธรรมไม่ได้ จึงพลาดโอกาสในการบรรลุธรรมไปครับ) ภูมินี้จึงไม่สามารถบรรลุธรรมขั้นโสดาบันได้ เพราะผู้ที่จะบรรลุธรรมโดยไม่ต้องฟังธรรมจากผู้อื่นก็มีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้น และพระพุทธเจ้าก็จะไม่ไปตรัสรู้ในอรูปภูมิเพราะจะแสดงธรรมโปรดผู้อื่นไม่ได้ครับ จะมีก็แต่ผู้ที่บรรลุธรรมขั้นต้น เช่น โสดาบันในภูมิอื่นแล้ว และได้อรูปฌาน เมื่อตายไปก็จะไปเกิดในอรูปภูมิได้ และสามารถเจริญวิปัสสนาต่อไปจนบรรลุธรรมขั้นสูงขึ้นไปในอรูปภูมิได้ครับ

      ยกตัวอย่างเทวดาที่บรรลุธรรม เช่น ท้าวสักกะเทวราช (พระอินทร์) พร้อมด้วยเทวดาอื่นอีก ๘๐,๐๐๐ องค์ ก็ได้บรรลุธรรมจากการฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตอบปัญหาของท้าวสักกะในสักกปัญหสูตรครับ


      (อ่านรายละเอียดได้ในเรื่อง สักกปัญหสูตร พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๗๓-๓๐๐ ข้อ : ๓๔๔-๓๗๑ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] ว่าด้วยปัญญาของท้าวสักกะ)

      ซึ่งในตอนท้ายสุด (หน้า : ๓๐๐ ข้อ : ๓๗๑) มีข้อความดังนี้ครับ

      [๓๗๑] ...

      ท้าวสักกะจอมเทพได้ธรรมจักษุ

      ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงใช้พระหัตถ์ตบปฐพี ทรงเปล่งอุทาน ๓ ครั้งว่า
      “ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
      ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
      ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”

      อนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีคือกิเลส ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่ท้าวสักกะจอมเทพและแก่เทวดาอื่นอีก ๘๐,๐๐๐ องค์ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” (คือบรรลุธรรมขั้นต้น อาจเป็นได้ตั้งแต่โสดาบันจนถึงอนาคามีบุคคลนะครับ - ธัมมโชติ)

      พระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาที่ท้าวสักกะจอมเทพอัญเชิญมาทูลถามแล้ว ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้น เวยยากรณภาษิตนี้จึงมีชื่อว่า “สักกปัญหา”

      ลบ
  2. หมอฉัตร เนติ8 ธันวาคม 2563 เวลา 08:06

    1. โสดาบันจะกระทำกรรมที่ไม่ดำ (ชั่ว) และไม่ขาว (ดี) หมายความว่าอย่างไร ขอท่านยกตัวอย่าง
    2. โสดาบันไม่เชื่อว่า กรรมเกิดจากผู้อื่นบันดาล หมายถึงอะไร เทวดาบันดาลก็ไม่มีจริง ใช่ไหมครับ
    3. โสดาบันไม่เชื่อว่า กรรมเกิดจากตัวเองบันดาล หมายความว่าอย่างไร ทำไมไม่เชื่อว่า ตัวเองทำดีแล้วได้ดี
    4. แล้วกรรมเกิดจากอะไร

    ตอบลบ
    คำตอบ

    1. ไม่ทราบว่าคำถามที่ถามนี้มีที่มาอย่างไรนะครับ ขออธิบายตามหลักการทั่วไปก็แล้วกันนะครับ รายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงกว่านี้ต้องทราบที่มาของคำถาม และรายละเอียดแวดลัอมข้อความประกอบครับ

      ก่อนอื่นขอยกพระไตรปิฎกมาให้อ่านทำความเข้าใจพื้นฐานเรื่องนี้ก่อนนะครับ

      พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๔๖
      พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์] ๔.กัมมวรรค

      วิตถารสูตร
      ว่าด้วยกรรมและวิบากแห่งกรรมโดยพิสดาร


      [๒๓๓] ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม
      กรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

      ๑. กรรมดำมีวิบากดำ
      ๒. กรรมขาวมีวิบากขาว
      ๓. กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว
      ๔. กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม

      กรรมดำมีวิบากดำ เป็นอย่างไร
      คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียน ปรุงแต่งวจีสังขารที่มีความเบียดเบียน และปรุงแต่งมโนสังขารที่มีความเบียดเบียน เขาครั้นปรุงแต่งแล้วย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียน ผัสสะที่มีความเบียดเบียนย่อมถูกต้องบุคคลผู้เข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนนั้น เขาถูกผัสสะที่มีความเบียดเบียนกระทบเข้าย่อมเสวยเวทนาที่มีความเบียดเบียนเป็นทุกข์โดยส่วนเดียว
      เหมือนพวกสัตว์นรก นี้เรียกว่า กรรมดำมีวิบากดำ

      กรรมขาวมีวิบากขาว เป็นอย่างไร
      คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน ปรุงแต่งวจีสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียนและปรุงแต่งมโนสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน เขาครั้นปรุงแต่งแล้วย่อมเข้าถึงโลกที่ไม่มีความเบียดเบียน ผัสสะที่ไม่มีความเบียดเบียนย่อมถูกต้องบุคคลผู้เข้าถึงโลกที่ไม่มีความเบียดเบียนนั้น เขาถูกผัสสะที่ไม่มีความเบียดเบียนกระทบเข้าย่อมเสวยเวทนาที่ไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุขโดยส่วนเดียว
      เหมือนพวกเทวดาชั้นสุภกิณหะ นี้เรียกว่า กรรมขาวมีวิบากขาว

      กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว เป็นอย่างไร
      คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ปรุงแต่งวจีสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง และปรุงแต่งมโนสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง เขาครั้นปรุงแต่งแล้วย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ผัสสะที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ย่อมถูกต้องบุคคลผู้เข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง เขาถูกผัสสะที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้างกระทบเข้าย่อมเสวยเวทนาที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง มีสุขและทุกข์ระคนกัน
      เหมือนมนุษย์ เทวดาบางพวก (เทวดาบางพวกในที่นี้หมายถึงกามาวจรเทวดา ๖ ชั้น คือ จาตุมหาราช ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี) และวินิปาติกะบางพวก (หมายถึงเวมานิกเปรต ได้แก่ เปรตผู้อยู่ในวิมาน เสวยสุขและทุกข์สลับกันไป บางตนข้างแรมเสวยทุกข์ ข้างขึ้นเสวยสุข บางตนกลางคืนเสวยสุข กลางวันเสวยทุกข์ เวลาเสวยสุขอยู่ในวิมานมีร่างกายเป็นทิพย์สวยงาม แต่เวลาจะเสวยทุกข์ก็ต้องออกจากวิมานไป และร่างกายก็กลายเป็นร่างกายที่น่าเกลียดน่ากลัว) นี้เรียกว่า กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว

      กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม เป็นอย่างไร
      คือ บรรดากรรมเหล่านั้น เจตนา (หมายถึงเจตนาในอริยมรรค ที่เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงวิวัฏฏะคือพระนิพพาน) เพื่อละกรรมดำที่มีวิบากดำ เจตนาเพื่อละกรรมขาวที่มีวิบากขาว และเจตนาเพื่อละกรรมทั้งดำและขาวที่มีวิบากทั้งดำ
      และขาว นี้เรียกว่า กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม

      ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้แลเราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม

      วิตถารสูตรที่ ๒ จบ

      ขออธิบายเรื่อง "กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม" เพิ่มเติมนะครับ กรรมในข้อนี้หมายถึงเจตนา คือกรรมที่เกิดในขณะแห่งอริยมรรคทั้ง 4 คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค (พระพุทธเจ้าตรัสว่าเจตนาคือตัวกรรม หรือกรรมสำคัญที่เจตนานะครับ)

      เช่น โสดาปัตติมรรคก็ทำให้กรรมที่ทำให้เกิดในอบายภูมิสิ้นไป อนาคามิมรรคทำให้กรรมที่นำเกิดในกามาวจรภูมิสิ้นไป และอรหัตตมรรคทำให้การเกิดใหม่ในทุกภพภูมิสิ้นไป เป็นต้น

      ลบ

    2. จากคำถามที่ถามมา

      1. โสดาบันจะกระทำกรรมที่ไม่ดำ (ชั่ว) และไม่ขาว (ดี) หมายความว่าอย่างไร ขอท่านยกตัวอย่าง

      >>> ข้อความนี้จะขัดแย้งกับข้อความในพระไตรปิฎกข้างต้นนะครับ คือจากพระไตรปิฎกโสดาปัตติมรรคบุคคลนั้นทำกรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ตามที่อธิบายแล้วข้างต้นนะครับ

      แต่โสดาบัน (คือโสดาปัตติผลบุคคล) จะไม่เข้าข่ายนี้ครับ โสดาบันยังทำกรรมที่ทำให้เกิดได้ทั้งในกามาวจรสุคติภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิครับ

      2. โสดาบันไม่เชื่อว่า กรรมเกิดจากผู้อื่นบันดาล หมายถึงอะไร เทวดาบันดาลก็ไม่มีจริง ใช่ไหมครับ

      >>> คือกรรมเกิดจากการกระทำของแต่ละบุคคล ไม่ได้เกิดจากอำนาจวิเศษของใครมาเนรมิตรให้เป็นไปครับ การช่วยเหลือของใครก็ตามรวมถึงเทวดาด้วย ก็ช่วยได้เท่าที่กรรมของผู้นั้นมีอยู่ครับ ไม่ใช่การบันดาล (แบบไม่ต้องสนใจว่าผู้นั้นเคยทำกรรมอะไรมาบ้าง)

      เช่น เปรตที่เป็นพระญาติของพระเจ้าพิมพิสารนั้นได้เคยขอส่วนบุญจากผู้อื่นมาหลายครั้งแล้ว ผ่านพระพุทธเจ้ามาหลายพระองค์ แต่ก็ไม่เคยพ้นจากความเป็นเปรตเลย เพราะบาปกรรมยังไม่เบาบางพอ จนมาถึงสมัยพุทธกาลนี้ เมื่อได้รับการอุทิศส่วนกุศลจากพระเจ้าพิมพิสารแล้วจึงพ้นจากความเป็นเปรตได้ เพราะบาปกรรมที่เหลืออยู่เบาบางมากพอแล้วครับ

      ซึ่งจะกล่าวอีกนัยก็คือ เปรตเหล่านั้นพ้นสภาพความเป็นเปรตได้เมื่อบุญกุศลที่จะทำให้เกิดในภพภูมิที่สูงกว่าถึงพร้อมแล้ว และบาปกรรมที่ส่งผลอยู่เบาบางมากพอแล้ว ไม่ใช่เพราะการบันดาลของใครครับ

      การช่วยเหลือของผู้อื่นจะส่งผลไม่ได้ถ้าผู้รับนั้นไม่มีบุญที่มากพอ หรือบาปที่เบาบางพอครับ การช่วยเหลือของผู้อื่นก็เรียกได้ว่าเป็นเพียงการเหนี่ยวนำให้บุญกุศลที่มีอยู่ของผู้รับได้มีโอกาสแสดงผลได้ง่ายขึ้นเท่านั้นครับ ไม่ใช่การเนรมิตรหรือบันดาลให้ (โดยที่ผู้รับไม่จำเป็นต้องมีบุญที่จะได้ในสิ่งนั้น)

      3. โสดาบันไม่เชื่อว่า กรรมเกิดจากตัวเองบันดาล หมายความว่าอย่างไร ทำไมไม่เชื่อว่า ตัวเองทำดีแล้วได้ดี

      >>> คำตอบก็เหมือนข้อ 2. ครับ คือคำว่าบันดาลในที่นี้หมายถึงอำนาจพิเศษที่จะเนรมิตรอะไรก็ได้โดยที่ไม่ต้องสนใจเลยว่าเคยทำบุญกุศลนั้นเอาไว้หรือเปล่า ซึ่งตรงกันข้ามกับเรื่องกฎแห่งกรรมที่สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมนะครับ

      4. แล้วกรรมเกิดจากอะไร

      >>> กรรมเกิดจากเจตนา (กุศลเจตนา อกุศลเจตนา) ในการกระทำสิ่งต่างๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดวิบาก (ผลของกรรม) ที่สอดคล้องกับกรรมนั้นๆ ครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ