Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

มิลินทปัญหา ตอนที่ 30

มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 30 : เมณฑกปัญหา วรรคที่ ๘ ปัญหาที่ ๖ ว่าด้วยการทรงทำทุกกรกิริยา, ปัญหาที่ ๗ ว่าด้วยกำลังแห่งกุศลอกุศล, ปัญหาที่ ๘ ว่าด้วยการทำบุญให้ผู้ตาย, ปัญหาที่ ๙ ว่าด้วยความใหญ่และไม่ใหญ่แห่งกุศลอกุศล

ตอนที่ ๓๐

ปัญหาที่ ๖ ว่าด้วยการทรงทำทุกกรกิริยา


" ข้าแต่พระนาคเสน พระโพธิสัตว์ทำทุกกรกิริยาเหมือนกันทั้งหมด หรือว่าทำเฉพาะพระโคดมบรมโพธิสัตว์เท่านั้น ? "
" ไม่เหมือนกันหมด มหาบพิตร ทำเฉพาะพระโคดมบรมโพธิสัตว์เท่านั้น "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้น ก็ไม่ถูกกับความต่างกันของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย "
" ขอถวายพระพร พระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมต่างกัน ๔ อย่างคือ ต่างกันด้วยตระกูล ๑ เวลาสร้างบารมี ๑ พระชนมายุ ๑ ประมาณพระสรีรกาย ๑ " แต่เมื่อไรตรัสรู้แล้วพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ไม่ต่างกันด้วยพระรูปลักษณะ ๑ ตบะ ๑ ศีล ๑ สมาธิ ๑ ปัญญา ๑ วิมุตติ ๑ วิมุตติญาณทัสสนะ ๑ เวสารัชชธรรม ๔ ทศพลญาณ ๑๐ พุทธญาณ ๑๔ พุทธธรรม ๑๘ เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายเสมอกันด้วย " พุทธธรรม "

" ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเสมอกันด้วยพุทธธรรม คือธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว เหตุใดจึงทำทุกกรกิริยาเฉพาะพระโคดมบรมโพธิสัตว์เท่านั้น ? "
" ขอถวายพระพร เพราะพระโคดมบรมโพธิสัตว์ ได้เสด็จออกทรงบรรพชาในเวลาที่พระโพธิญาณยังไม่แก่กล้า จึงต้องทรงทำทุกกิริรยา เพื่อรอความแก่กล้าแห่งพระโพธิญาณ "
" ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอย่างนั้น พระโคดมบรมโพธิสัตว์ก็ควรจะเสด็จออกบรรพชาในเวลาที่พระโพธิญาณแก่กล้า จึงจะสมควร "
" ถูกแล้ว มหาบพิตร แต่ว่าพระโคดมบรมโพธิสัตว์ได้ทรงเห็นความวิปริตของพวกนางสนม จึงทรงเบื่อหน่าย เทวดาจำพวกมารจึงคิดว่า เวลานี้เป็นเวลาที่จะกำจัดความเบื่อหน่าย จึงได้ปรากฏตัวที่อากาศ เปล่งวาจาขึ้นว่า "ขอท่านอย่าวุ่นวายเลยอีก ๗ วันนับจากนี้ไป จักรแก้วอันเป็นทิพย์ ก็จะปรากฏขึ้นแก่ท่าน จักรแก้วนั้นมีกำพันหนึ่ง พร้อมทั้งกงดุม เพลา พร้อมเสร็จ ท่านจักได้ทรงจักรแล้วไปได้ทั่วโลก จักมีอำนาจแผ่ไปทั่วโลกจักมีพระราชโอรสตั้งพัน ล้วนแต่เป็นผู้แกล้วกล้าสามารถย่ำยีข้าศึกทั้งปวง ท่านจักสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ จักได้เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔" พอพระโคดมบรมโพธิสัตว์ไดฟังคำของมารอย่างนี้ก็ยิ่งสลดใจมากขึ้น ร้อนพระทัยมากขึ้น เปรียบเหมือนบุรุษถูกแทงด้วยเหล็กแดงฉะนั้น หรือเปรียบเหมือนผู้ถูกไฟร้อน อีกอย่างหนึ่ง แผ่นดินใหญ่นี้ย่อมชุ่มอยู่ด้วยน้ำตามปกติ เวลาฝนห่าใหญ่ตกลงมาก็ยิ่งชุ่มหนักขึ้นฉันใด พระโพธิสัตว์เจ้าเบื่อหน่ายโลกอยู่ตามปกติแล้ว เมื่อได้ฟังถ้อยคำของมารนั้นก็ยิ่งทรงเบื่อหน่ายมหาขึ้นฉันนั้น "

" ข้าแต่พระนาคเสน จักรแก้วจักเกิดขึ้นแก่พระโพธิสัตว์เจ้าในวันที่ ๗ ไม่ใช่หรือเหตุใดพระโพธิสัตว์จึงไม่กลับพระทัย รอจนให้จักรแก้วเกิดขึ้น ? "
" ขอถวายพระพร ไม่ใช่ว่าจักรแก้วจะเกิดแก่พระโพธิสัตว์เจ้าในวันที่ ๗ นั้นจริง เป็นแต่มารกล่าวเท็จเพื่อเล้าโลมพระโพธิสัตว์เจ้าเท่านั้น ถึงจักรแก้วจะเกิดแก่พระโพธิสัตว์เจ้าจริง พระโพธิสัตว์เจ้าก็ไม่ยอมกลับพระทัย ทั้งนี้ เพราะอะไร...เพราะพระโพธิสัตว์เจ้ายึดมั่นแล้วว่าสิ่งทั้งปวงเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปลงพระทัยลงสู่ความสิ้นอุปาทานแล้ว น้ำที่ไหลไปจากสระอโนดาต ย่อมไหลไปสู่คงคานที แล้วน้ำในคงคานทีก็ไหลเข้าไปสู่มหาสมุทร น้ำในมหาสมุทรก็ไหลเข้าไปสู่ปากบาดาล น้ำที่ปากบาดาลจะไหลกลับมาสู่มหาสมุทร น้ำในมหาสมุทรจะไหลกลับไปสู่คงคานที น้ำในคงคานทีจะไหลกลับคืนไปสู่สระอโนดาตหรือไม่ ? "
" ไม่ พระผู้เป็นเจ้า "

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พระโพธิสัตว์เจ้าได้สร้างพระบารมีมาตลอด ๔ อสงไขยกับแสนกัปแล้ว ถึงชาติสุดท้ายแล้ว จะกลับพระทัยเพราะเห็นแก่สมบัติอย่างนั้นจนให้พระโพธิญาณแก่กล้าตลอดถึง ๖ ปี จึงจะเสด็จออกบรรพชา เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้านั้นไม่ได้ฉันนั้น อาตมภาพขอถามว่า พระโพธิสัตว์เจ้าจะกลับพระทัย เพราะเหตุแห่งจักรแก้วได้หรือ ? "
" ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า "
" ถึงพื้นปฐพีใหญ่จะล่มจมไป หรือภูเขาต่างๆ ทั้งสิ้นจะโค่น แม่น้ำใหญ่ทั้งปวงจะแห้ง พระโพธิสัตว์เจ้ายังไม่สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นอันไม่กลับพระทัยเป็นอันขาด ถึงมหาสมุทรอันเป็นที่ขังน้ำเค็มหาประมาณมิได้จะแห้งขอดลงไปเหมือนกับน้ำในรอยโคก็ตาม ถึงน้ำในมหาคงคาจะไหลทวนกระแสขึ้นไปเบื้องบนก็ตาม พระยาเขาสิเนรุจะแตกออกไปตั้งร้อยเสี่ยงพันเสี่ยงก็ตาม อากาศจะม้วนกลมเหมือนเสื่อลำแพนก็ตาม ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทั้งดวงดาว จะตกลงมาที่พื้นดินเหมือนก้อนดินก็ตาม พระโพธิสัตว์ยังไม่สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นอันไม่กลับพระทัยเป็นอันขาด เพราะอะไร...เพราะพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ได้ทำลายเครื่องผูกทั้งปวงแล้ว "

" ข้าแต่พระนาคเสน เครื่องผูกในโลกมีอยู่เท่าใด ? "
" ขอถวายพระพร มีอยู่ ๑๐ ประการ "
" คืออะไรบ้าง ? "
" เครื่องผูกในโลก ๑๐ ประการ ได้แก่ มารดาบิดา ภรรยา บุตร ญาติ มิตร ทรัพย์ ลาภ สักการะ อิสริยยศ และกามคุณ ๕ สัตว์ทั้งหลายออกไปจากโลกไม่ได้ เพราะเครื่องผูก ๑๐ ประการนี้แหละ เครื่องผูก ๑๐ ประการนี้ พระโพธิสัตว์เจ้าได้ทำลายเสียสิ้นแล้ว เพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าจึงไม่กลับพระทัย "

" ข้าแต่พระนาคเสน เมื่อจิตเบื่อหน่ายเกิดขึ้น เมื่อญาณยังไม่แก่กล้า ถ้าพระโพธิสัตว์เจ้าเสด็จออกบรรพชา ตามคำของเทวดาที่เป็นมารนั้นแล้ว จะมีประโยชน์อันใด ด้วยการที่พระโพธิสัตว์เจ้าจะทรงทำทุกกรกิริยา พระโพธิสัตว์เจ้าควรรอให้พระญาณแก่กล้าควรหักสิ่งทั้งปวงไม่ใช่หรือ ? "
" ขอถวายพระพร มีบุคคลอยู่ ๑๐ จำพวก ที่มีผู้ดูหมิ่นดูแคลนเกลียดชังติเตียนครอบงำไม่ยำเกรง บุคคล ๑๐ จำพวกนั้น คือ หญิงหม้าย ๑ ผู้ทุพพลภาพ ๑ ผู้ไม่มีมิตรมีญาติ ๑ ผู้กินจุ ๑ ผู้อยู่ในตระกลูอันไม่น่าเคารพ ๑ ผู้มีมิตรเลวทราม ๑ ผู้เสื่อมทรัพย์ ๑ ผู้เสียศีล ๑ ผู้เสียการงาน ๑ ผู้เสียการประกอบ ๑ เมื่อพระโพธิสัตวืเจ้าระลึกถึงบุคคลทั้ง ๑๐ จำพวกนี้ ก็ทรงนึกว่า เราไม่ควรเป็นผู้เสียการงาน เสียการประกอบ ให้เป็นที่ติเตียนของเทพยดามนุษย์ทั้งหลาย เราควรเป็นเจ้าของการงาน ควรเคารพการกระทำ ควรมีการกระทำเป็นใหญ่ มีการกระทำเป็นปกติ ทรงไว้ซึ่งการกระทำ อาศัยการกระทำ ไม่ปล่อยเครื่องผูกคือการกระทำ ควรเป็นผู้ไม่ประมาท ด้วยเหตุนี้ พระโพธิสัตว์เจ้าจึงได้ทรงทำทุกกรกิริยา เพื่อรอความแก่กล้าแห่งญาณ"

พระเจ้ามิลินท์ตรัสอีกว่า " ข้าแต่พระนาคเสน พระโพธิสัตว์ผู้ทำทุกกรกิริยาได้กล่าวไว้ว่า เราไม่ได้สำเร็จความรู้ความเห็นวิเศษอันเป็นของอริยะ อันยิ่งกว่าธรรมดาของมนุษย์ได้ด้วยทุกกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนี้ ทางอื่นที่จะให้ตรัสรู้ได้จักต้องมี ก็ในคราวนั้น ความเผลอสติได้มีแก่พระโพธิสัตว์เจ้า เพราะแรงปรารภทางบ้างหรือไม่ ? " พระนาคเสนชี้แจงว่า " ขอถวายพระพร สิ่งที่จะทำให้จิตเสียกำลังใจ ไม่ทำให้จิตตั้งมั่นดี เพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย มีอยู่ ๒๕ ประการ คือ

สิ่งที่ทำให้เสียกำลังใจ

๑. ความโกรธ
๒. ความผูกโกรธ
๓. ความลบหลู่บุญคุณของผู้อื่น
๔. ความตีเสมอกับผู้อื่น
๕. ความริษยาไม่ยินดีต่อความดีของผู้อื่น
๖. ความตะหนี่เหนียวแน่น
๗. ความมีเล่ห์เหลี่ยมหลอกลวง
๘. ความโอ้อวด
๙. ความดื้อดึง
๑๐. ความแข่งดี
๑๑. ความถือตัว
๑๒. ความดูหมิ่นผู้อื่น
๑๓. ความมัวเมา
๑๔. ความเมาใหญ่
๑๕. ความง่วงเหงา
๑๖. ความเพลิดเพลิน
๑๗. ความเกียจกคร้าน
๑๘. ความคบมิตรลามก
๑๙. รูปของคนและสัตว์สิ่งของ
๒๐. เสียงของคนสัตว์สิ่งของ
๒๑. กลิ่นของคนสัตว์สิ่งของ
๒๒. รสของคนสัตว์สิ่งของ
๒๓. สิ่งที่ถูกต้องทางกาย
๒๔. ความหิวกระหาย
๒๕. ความไม่ยินดีในทางดี

พระโพธิสัตว์เจ้าได้ครอบงำกายด้วยความหิวกระหาย คือปล่อยให้ความหิวกระหายครอบงำกาย เมื่อความหิวกระหายครอบงำกายแล้ว จิตก็ไม่ตั้งมั่นดีเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย พระโพธิสัตว์เจ้าได้แสวงหาการสำเร็จอริยสัจ ๔ อยู่ตลอด ๔ อสงไขยกับอีกแสนกัปแล้ว ในภพสุดท้ายจักมีความเผลอสติเพราะปรารภทางได้อย่างไร เป็นแต่พระโพธิสัตว์นึกขึ้นมาว่า ทางตรัสรู้ทางอื่นจะมีหรืออย่างไร เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติแล้วได้ ๑ เดือนได้ทรงนั่งสมาธิอยู่ ณ ที่บรรทมภายใต้ต้นหว้าอันมีเงาร่มเย็นนั้น ในเวลาที่พระราชบิดาทรงแรกนาขวัญ ก็ยังได้สำเร็จฌาณ ๔ ขอถวายพระพร "
" ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน โยมรับว่าเมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าจะทรงรอให้ญาณแก่กล้าจึงได้ทำทุกกรกิริยา "

ปัญหาที่ ๗ ว่าด้วยกำลังแห่งกุศลอกุศล

" ข้าแต่พระนาคเสน กุศลกับอกุศลอย่างไรยิ่งกว่ากัน มีกำลังกว่ากัน ? "
" ขอถวายพระพร กุศลยิ่งกว่า มีกำลังแรงกว่า "
พระเจ้ามิลินท์ตรัสต่อไปว่า " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมไม่เชื่อว่ากุศลยิ่งกว่า มีกำลังแรงกว่า เพราะเห็นอยู่ทั่วกันว่าผู้ทำปาณาติบาต ฆ่ามนุษย์ ผู้ทำอทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปล้นชาวบ้าน ปล้นคนเดินทาง ฉ้อโกง หลอกลวง ทั้งสิ้นนี้ย่อมถูกลงโทษต่างๆ คือ ถูกตัดมือก็มี ตัดเท้าก็มี ตัดหู ตัดจมูกก็มี เอาหม้อข้าวครอบหัวก็มี ถลกหนังแล้วขัดด้วยหินหยาบให้ขาวเหมือนสังข์ก็มี ทำปากราหูคือจุดไฟยัดเข้าปากก็มี ทำตัวเป็นดอกไม้เพลิงคือเอาผ้าชุบน้ำมันพันตัวแล้วจุดไฟก็มี จุดนิ้วมือต่างประทีป คือผ้าขี้ริ้วชุบน้ำมันพันนิ้วมือแล้วจุดไฟก็มี ทำหนังแกะ คือลอกหนังตั้งแต่คอลงไปถึงข้อเท้า แล้วให้เดินเหยียบหนังตัวเองไปก็มี ทำผ้าผูกคอ คือถลกหนังตั้งแต่คอลงไปพักไว้ที่บั้นเอวเสียตอนหนึ่ง ถลกหนังจากใต้บั้นเอวลงไปถึงข้อเท้า ให้เหมือนนุ่งผ้าเปลือกปอก็มี ตอกข้อเท้าทั้งสองเข่าทั้งสองขึงไว้กับพื้นดินก็มี เอาเบ็ดเกี่ยวเนื้อออกเป็นชิ้นๆ ก็มี เชือดเนื้อออกทีละก้อนๆ เท่าเงินกหาปณะก็มี ฟันแทงให้ทั่วตัว แล้วเอาน้ำแสบน้ำเค็มเทราดก็มี ให้นอนตะแคงเอาหลาวแทงช่องหู ปักลงไปกับพื้นดินให้แน่น แล้วจับเท้าหมุนก็มี ทำดั่งฟาง คือเชือดเอาผิวหนังออกแล้วทุบกระดูกให้แตกด้วยก้อนหิน จับผมดึงถลกหนังขึ้น ทำให้เหมือนมัดฟางก็มี เสียบหลาวไว้ทั้งเป็นก็มี ตัดศีรษะด้วยดาบก็มี พวกทำบาปในกลางคืนได้รับผลบาปในกลางคืนก็มี พวกทำบาปกลางคืนได้รับผลบาปกลางวันก็มี พวกทำบาปกลางวันได้รับผลบาปกลางวันก็มี บางพวกที่ได้รับกลางคืน บางพวกล่วงไป ๒ - ๓ วันจึงได้รับ เป็นอันว่าพวกทำบาปทั้งสิ้น ได้รับผลในทันตาเห็น ส่วนผู้ให้ทานแก่สมณพราหมณ์องค์เดียวหรือ ๒ องค์ ๓ องค์ ๔ องค์ ๕ องค์ ๑๐ องค์ ๑๐๐ องค์ พันองค์ แสนองค์ จึงได้รับผลคือทรัพย์ ยศ หรือสุข ในปัจจุบันก็มี บางคนก็ได้เสวยสมบัติด้วยศีล ๕ ก็มี ด้วยศีล ๘ ก็มี "

พระนาคเสนตอบว่า " ขอถวายพระพร บริษัททั้ง ๔ นี้ให้ทานรักษาศีล รักษาอุโบสถ แล้วไปสวรรค์ทั้งเป็นก็มีอยู่ "
" คือใครบ้างล่ะ พระผู้เป็นเจ้า ? "
" ขอถวายพระพร คือ พระเจ้ามันธาตุราช ๑ พระเจ้าเนมิราช ๑ พระเจ้าสาธินราช ๑ โคตติลพราหมณ์ ๑ "
" ข้าแต่พระนาคเสน เรื่องบุคคลทั้ง ๔ นั้น เป็นเรื่องนานหลายพันชาติมาแล้ว ถ้าพระผู้เป็นเจ้าสามารถ จงบอกเรื่องที่มีอยู่ในครั้งพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ว่า ผู้ที่ทำบุญแล้ว ได้ผลทันตาเห็นนั้นคือใครบ้าง ? "

บุคคลตัวอย่าง

ขอถวายพระพร คือ นายปุณณกะ ผู้เป็นทาสของเศรษฐี (เมณฑกเศรษฐี) ซึ่งได้ใส่บาตรพระสารีบุตรเถระ แล้วได้เป็นเศรษฐีในวันนั้น พระนางโคปาลมาตาเทวีตัดมวยผมออกขายได้เงิน ๘ กหาปณะ แล้วซื้ออาหารถวายแก่พระ ๘ องค์ มีพระมหากัจจายนเถระเป็นประธาน แล้วได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าอุเทนในวันนั้น (ในพระสูตรว่าเป็นพระเจ้าจัณฑปัชโชติ) นางสุปิยาอุบาสิกาเชือดเนื้อขาออกปิ้งถวายพระอาพาธองค์หนึ่ง แล้วรุ่งขึ้นก็มีเนื้องอกขึ้นเต็มเป็นปกติ พระนางมัลลิกาได้เอาขนมถั่วใส่บาตรพระพุทธเจ้า แล้วได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าโกศลในวันนั้น นายสุมนมาลาการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกมะลิ ๘ กำมือ แล้วได้รับพระราชทานรางวัลจากพระราชาสิ่งละ ๘ ในวันนั้น เป็นอันว่าบุคคลทั้งสิ้นนี้ ได้ทรัพย์ ยศ ในชาติปัจจุบันนี้ขอถวายพระพร "

" ข้าแต่พระนาคเสน ท่านพิจารณาเห็นเพียง ๖ คนเท่านี้หรือ ? "
" เพียง ๖ คนเท่านี้แหละ มหาบพิตร "
พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสอีกว่า " ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอย่างนั้น อกุศลก็มีกำลังยิ่งนัก เพราะว่าคราวหนึ่งโยมได้เห็นบุรุษคราวละ ๑๐ คน ๒๐ คน ๓๐ คน ๔๐ คน ๑๐๐ คน ๑,๐๐๐ คน ถูกเสียบหลาวทั้งเป็นด้วยผลบาปของเขา บุตรของเสนาบดีแห่งพระเจ้าจันทคุตต์ชื่อว่า "ภัททบาล" ได้เกิดทำสงครามกับพระเจ้าจันทคุตต์ ในการทำสงครามกลางเมืองคราวนั้นพลนิกายทั้สองฝ่าย ต่างก็มีมือถือดาบอันคมกล้า ฆ่าฟันกันล้มตายเป็นอันมาก การที่พวกนั้นถึงความพินาศอย่างนั้นก็เพราะผลของบาปกรรม เหตุอันนี้แหละโยมจึงว่าอกุศลมีกำลังยิ่งกว่า โยมได้ฟังมาว่า พระเจ้าโกสลได้ถวายอสทิสทานในครั้งพระพุทธองค์ยังทรงดำรงอยู่ จริงไหม ? "

พระนาคเสนยอมรับว่า " จริง มหาบพิตร "
" ข้าแต่พระนาคเสน พระเจ้าโกศลถวายอสทิสทานนั้นแล้วได้ทรัพย์ ยศ หรือสุขอย่างใดอย่างหนึ่งในปัจจุบันหรือไม่ ? "
" ไม่ได้ มหาบพิตร "
" ถ้าไม่ได้ ก็เป็นอันว่า อกุศลมีกำลังยิ่งกว่า "
" ขอถวายพระพร อกุศลย่อมให้ผลเร็วเพราะเป็นของเล็กน้อย ส่วนกุศลย่อมให้ผลช้าเพราะเป็นของใหญ่ ความข้อนี้ควรทราบด้วยอุปมา ดังนี้ ในอปรันตชนบทมีธัญชาติ คือข้างเปลือกชนิดหนึ่งชื่อว่า "กุมุทธภัณฑิกา" อันจัดเป็นข้าวเบา หว่านลงในนาเดือนเดียวก็ได้ผล ส่วนข้างสาลีต้อง ๕ - ๖ เดือนจึงจักได้ผล ข้อนี้มหาบพิตรว่าเป็นเพราะอะไร ? "
" โยมว่าเป้นเพราะข้าวกุมุทธภัณฑิกาเป็นของเล็กน้อย ส่วนข้าวสาลีเป็นของใหญ่เพราะเป็นข้าวเสวยของพระราชา ส่วนข้าวกุมุทธกัณฑิกา เป็นข้าวของพวกทาสกรรมกร "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เพราะอกุศลเป็นของเล็กน้อย จึงให้ผลเร็ว ส่วนกุศลเป็นของใหญ่ จึงให้ผลช้า "

พระเจ้ามิลินท์ตรัสต่อไปว่า " ข้าแต่พระนาคเสน สิ่งใดให้ผลเร็ว สิ่งนั้นชื่อว่ามีกำลังยิ่งกว่า เพราะฉะนั้น อกุศลจึงมีกำลังยิ่งกว่า เหมือนกับพลรบที่เข้าสู่สนามรบผู้ใดจับศัตรูมาได้เร็ว ผู้นั้นชื่อว่าผู้แกล้วกล้าสามารถ หมอผ่าตัดคนใดถอนลูกศรออกได้เร็วหมอผ่าตัดคนนั้นชื่อว่าหมอฉลาด คนนับคนใดนับได้เร็ว คนนับคนนั้นก็ชื่อว่าเก่ง คนปล้ำคนใดจับคู่ปล้ำด้วยกันฟาดลงได้ทั้งยืน คนปล้ำคนนั้นก็ชื่อว่าแกล้วกล้าสามารถ ข้อเปรียบเหล่านี้มีอุปมาฉันใด กุศลหรืออกุศลใดสามารถให้ผลเร็ว กุศลหรืออกุศลนั้นก็ชื่อว่ามีกำลังยิ่งกว่าฉันนั้น "

พระนาคเสนอธิบายว่า " ขอถวายพระพร กรรมทั้งสองนี้เป็นกรรมให้ผลในชาติที่ ๒ รองจากชาตินี้ลงไป อีกอย่างหนึ่ง อกุศลที่ให้ผลในปัจจุบันนั้น เป็นเพราะมีโทษมาก กษัตริย์องค์ก่อนๆ ทรงกำหนดโทษไว้ว่า ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ขโมยของผู้อื่น เป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น กล่าวเท็จ ปล้นบ้านเมือง แย่งชิงคนเดินทาง ทำของปลอม ทำการหลอกลวง ผู้นั้นต้องได้รับโทษอาญาคือฆ่าหรือตัดอวัยวะหรือเฆี่ยนตี อย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ แล้วพระราชาเหล่านั้นก็ลงโทษตามที่ทรงกำหนดไว้ ส่วนผลของทานศีล มีผู้กำหนดไว้หรือไม่ว่า ผู้ใดให้ทาน รักษาศีล รักษาอุโบสถ พระราชาต้องพระราชทานทรัพย์ ยศ แก่ผู้นั้นเหมือนกับการลงโทษผู้กระทำผิดกฏหมาย ? "
" ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า "
" ขอถวายพระพร ถ้ามี กุศลก็ต้องให้ผลทันตาเห็นแก่ผู้ให้ทานทั้งนั้น แต่เพราะไม่มีพระราชกำหนดกฏหมายไว้ กุศลจึงไม่ได้ผลทันตาเห็นเสมอไป ส่วนในภพต่อๆ ไป เขาก็ได้ผล มีกำลังยิ่งกว่า สำหรับอกุศลไม่ใช่อย่างนั้น "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ปัญหานี้ท่านได้แก้ไขถูกต้องดีแล้ว "

ปัญหาที่ ๘ ว่าด้วยการทำบุญให้ผู้ตาย

" ข้าแต่พระนาคเสน พวกทายกให้ทานแล้ว อุทิศให้แก่ผู้ที่ตายไปก่อนแล้วว่า ขอทานนี้จงมีแก่พวกนั้น ดังนี้ ขอถามว่า พวกนั้นได้รับผลจากทานนั้นบ้างหรือไม่ ? "
" ขอถวายพระพร บางพวกก็ได้รับ บางพวกก็ไม่ได้รับ "
" พวกไหนได้รับ พวกไหนไม่ได้รับ พระผู้เป็นเจ้า ? "
" ขอถวายพระพร พวกเกิดในนรก สวรรค์ เดรัจฉาน ทั้ง ๓ จำพวกนี้ไม่ได้รับ และอีก ๓ จำพวก คือ จำพวกอสุรกาย จำพวกเปรตอดข้าวอดน้ำ จำพวกเปรตเพลิงไหม้อยู่เป็นนิจก็ไม่ได้รับ ได้รับแต่จำพวกปรทัตตูปชีวีเปรต คืออาศัยผู้อื่นอุทิศให้จำพวกเดียวเท่านั้น "

" ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอย่างนั้น ทานที่พวกทายกให้ ก็เป็นทานเสียเปล่า ไม่มีผลเพราะพวกที่ตายไปแล้วไม่ได้รับ ? "
" ขอถวายพระพร จะไม่มีผลหามิได้เพราะพวกทายกยังไดรับผลแห่งทานนั้นอยู่ "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้น ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอ้างเหตุให้โยมเข้าใจ "
" ขอถวายพระพร เหมือนอย่างมีคนพวกหนึ่ง จัดปลา เนื้อ สุรา อาหาร ส่งไปให้แก่พวกญาติ ถ้าพวกญาติไม่รับไว้ ข้าวน้ำที่ส่งไปทั้งหลายนั้นจะเสียเปล่าหรืออย่างไร ? "
" ไม่เสียเปล่า พระผู้เป็นเจ้า ของนั้นเขาต้องส่งกลับมาให้เจ้าของอีก "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ถึงพวกที่ล่วงลับไปแลัวไม่ได้รับผลทานนั้น พวกทายกก็ยังได้รับ อีกอย่างหนึ่ง อาตมภาพขอถามว่า เมื่อบุรุษเข้าไปในห้อง ไม่มีประตูทะลุออกไป เขาจะออกทางไหน ? "
" เขาต้องออกทางที่เข้าไปซิ พระผู้เป็นเจ้า "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พวกทายกก็ยังได้รับผลทานนั้นอยู่ "
" อย่างนั้นพระนาคเสน โยมรับว่า พวกทายกยังได้รับผลทานของเขาอยู่ เพราะฉะนั้นโยมไม่ซักถีงเหตุผลอีกละ "

ปัญหาที่ ๙ ว่าด้วยความใหญ่และไม่ใหญ่แห่งกุศลอกุศล

" ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าทานที่พวกทายกให้ไปถึงผู้ที่ตายไปแล้ว พวกที่ตายไปแล้วได้รับผลทานนั้น ผู้ใดฆ่าสัตว์ ฆ่ามนุษย์ มีมือเปื้อนด้วยโลหิต มีใจคิดร้าย ทำกรรมหยาบช้าแล้วอุทิศผลให้แก่พวกที่ตายไปแล้วว่า ผลแห่งกรรมของเรานี้จงไปถึงพวกที่ตายไปแล้ว ดังนี้ ผลแห่งกรรมนั้นจะถึงพวกที่ตายไปแล้วหรือไม่ ? "
พระนาคเสนตอบว่า " ไม่ถึง มหาบพิตร "
" เหตุไร พระผู้เป็นเจ้า อกุศลนั้นจึงไม่ไปถึง ? "
" ขอถวายพระพร ธรรมดาอกุศลย่อมไม่มีใครต้องการ ไม่มีใครอาจทำโลกทั้งสิ้นให้มีรสชาติอันเดียวกัน ขอมหาบพิตรอย่าถามอาตมภาพอย่างนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ควรถาม เช่นจะถามว่า เหตุใดฝักข้าวโพดจึงตั้ง ลูกฟักเขียวฟักทองจึงห้อย น้ำในคงคาจึงไม่ไหลขึ้นข้างบน มนุษย์กับสัตว์มีปีกจึงมี ๒ เท้า สัตว์ป่าเป็นต้นมี ๔ เท้า ดังนี้ เป็นของไม่ควรถามทั้งนั้น "

" ข้าแต่พระนาคเสน โยมไม่ได้ถามด้วยมุ่งจะทำให้พระผู้เป็นเจ้าลำบากใจ โยมถามด้วยมุ่งให้หมดความสงสัยเท่านั้น พวกมนุษย์เป็นอันมากที่ทำบาป ที่ไม่รู้จักอะไร ย่อมไม่ได้โอกาสที่จะถามพระผู้เป็นเจ้า เพราะฉะนั้นโยมจึงถามพระผู้เป็นเจ้าอย่างนี้ "
" ขอถวายพระพร อาตมภาพไม่อาจจำแนกบาปกรรมให้หมดรวดเดียวได้ด้วยอนุมานอันนี้ เหมือนอย่างว่า พวกมนุษย์กระทำให้น้ำไหลไปไกลได้ด้วยรางได้ แต่ว่าอาจให้น้ำไหลขึ้นไปสู่ภูเขา ที่เป็นโพรงด้วยรางน้ำได้หรือไม่ ? "
" ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร อาตมาอาจแบ่งผลกุศลได้ แต่ไม่อาจแบ่งผลอกุศลได้ อีกอย่างหนึ่ง ประทีปย่อมลุกโพลงด้วยน้ำมัน แต่มหาบพิตรอาจทำให้ประทีปปลุกโพลงด้วยน้ำได้หรือไม่ ? "
" ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร อาตมาก็อาจแบ่งผลกุศลได้ แต่ไม่อาจแบ่งผลอกุศลได้ อีกประการหนึ่ง พวกชาวนาย่อมไขน้ำจากเหมืองมาสู่นาทำให้ข้าวงามได้ แต่ว่าอาจไขน้ำมหาสมุทรเข้ามาสู่นา ทำให้ข้าวงามได้หรือไม่ ? "
" ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร อาตมาก็อาจแบ่งผลกุศลได้ แต่ไม่อาจแบ่งผลอกุศลได้ "

" ข้าแต่พระนาคเสน เหตุใดจึงว่าอาจแบ่งผลกุศลได้ ไม่อาจแบ่งผลอกุศลได้ ขอจงอ้างเหตุให้โยมเข้าใจ โยมไม่ใช่คนตาบอด ไม่ใช่ผู้ไม่มีเครื่องกำหนด โยมได้ฟังแล้วจักเข้าใจได้ "
" ขอถวายพระพร บาปมีผลน้อย บุญมีผลมาก อกุศลย่อมให้มีผลเฉพาะผู้กระทำเท่านั้น แผ่ผลไปถึงผู้อื่นไม่ได้ ส่วนกุศลย่อมแผ่ผลไปทั่วโลกได้ "


ขอขอบคุณต้นฉบับ : www.geocities.com/SouthBeach/Terrace/4587/milindl.htm

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น