Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

มิลินทปัญหา ตอนที่ 13

มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 13 : เมณฑกปัญหาวรรคที่ ๑ ปัญหาที่ ๑ ว่าด้วยการบูชาพระพุทธเจ้า, ปัญหาที่ ๒ ถามถึงความเป็นพระสัพพัญญูของพระพุทธเจ้า

ตอนที่ ๑๓

เมณฑกปัญหาวรรคที่ ๑

ปัญหาที่ ๑ ว่าด้วยการบูชาพระพุทธเจ้า


ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์จึงทรงดำริว่าพระนาคเสนให้โอกาสแก่เราแล้ว ครั้งทรงดำริดังนี้แล้ว จึงทรงหมอบลงในที่ใกล้เท้าของพระนาคเสน แล้วทรงประนมอัญชลีขึ้นที่พระเศียรแล้วตรัสว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน พวกเดียรถีย์กล่าวว่า ถ้าพระพุทธเจ้ายังทรงยินดีต่อการบูชาอยู่ก็ยังไม่ชื่อว่าปรินิพพาน ยังเกี่ยวข้องอยู่กับโลก ยังติดอยู่ในโลก ยังสาธารณะอยู่กับโลกการบูชาพระพุทธเจ้าก็ไม่เป็นหมัน ยังมีผลอยู่ ถ้าพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับโลกแล้ว หลุดพ้นไปจากภพทั้งปวงแล้ว การบูชาพระพุทธเจ้าก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะผู้ปรินิพพานแล้ว ย่อมไม่รู้จักยินดีต่อสิ่งใด การบูชาพระพุทธเจ้าผู้ไม่รู้จักยินดีก็เป็นหมัน ไม่มีผลอันใด ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ปัญหานี้เป็น อุภโตโกฏิ สองเงื่อนสองแง่ ไม่ใช่วิสัยของผู้มีความคิดสติปัญญาน้อยเลย เป็นวิสัยของผู้มีความคิดสติปัญญามาก ขอพระผู้เป็นเจ้าจงทำลายข่ายคือทิฏฐินี้เสีย พระผู้เป็นเจ้าสามารถทำลายข่าย คือ ทิฏฐินี้ได้โดยแท้ ปัญหานี้ได้มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ขอพระผู้เป็นเจ้าจงให้ดวงตา คือปัญญาแก่พระชินบุตรทั้งหลายในอนาคต เพื่อจะได้ข่มเสียซึ่งถ้อยคำอันเป็นหลักตอในพระพุทธศาสนา พระคุณเจ้า ”

ลำดับนั้น พระนาคเสนเถระจึงตอบว่า “ มหาราชะ ขอถวายพระพร มหาบพิตรพระราชสมภาร สมเด็จพระพิชิตมารปรินิพพานแล้วจริง พระองค์เมื่อยังไม่ปรินิพพาน ก็ไม่ทรงยินดีต่อการบูชา เพราะว่าได้ทรงสละความยินดีเสียที่ภายใต้ไม้ศรีมหาโพธิโน้นแล้ว ไม่ต้องกล่าวถึงพระพุทธเจ้า ผู้เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ข้อนี้สมกับที่ พระสารีบุตร ผู้เป็นพระธรรมเสนาบดีได้กล่าวไว้ว่า “พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้เสมอกับพระพุทธเจ้า ผู้ไม่มีผู้เสมอเหมือน ผู้อันเทพยดา มนุษย์ทั้งหลายสักกการบูชาแล้วนั้น ย่อมไม่ทรงยินดีต่อสักการบูชาเลย อันนี้เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

พระเจ้ามิลินท์ตรัสว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน ธรรมดาบุตรก็ย่อมสรรเสริญบิดา บิดาก็ย่อมสรรเสริญบุตร ข้อนี้ไม่เป็นเหตุให้ข่มขี่ถ้อยคำของผู้อื่นได้ ข้อนี้ยังเชื่อฟังไม่ได้ก่อน ขอพระผู้เป็นเจ้าจงกล่าวถึงเหตุการณ์ทั้งปวง เพื่อให้ถ้อยคำของพระผู้เป็นเจ้ามั่นคงเพื่อทำลายเสียซึ่งข่าย คือ ทิฏฐินี้เถิด ”

อุปมาเหมือนกองไฟใหญ่

“ ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าได้ดับขันธปรินิพพานแล้วจริง พระองค์นั้นย่อมไม่ทรงยินดีต่อการบูชา แต่เทพยดามนุษย์ทั้งหลายกระทำซึ่งพระอัฏฐิธาตุของพระพุทธเจ้า ผู้ไม่รู้จักทรงยินดี ผู้ปรินิพพานแล้วนั้นให้เป็นอารมณ์ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็ย่อมได้สมบัติ ๓ ประการ (คือมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ) เนื้อความข้อนี้ควรทราบได้ด้วยอุปมา จะอุปมาเหมือนอะไร...เปรียบเหมือนกองไฟใหญ่ลุกรุ่งเรืองแล้วดับไป อาตมาขอถามว่ากองไฟใหญ่นั้น ยินดีต่อเชื้อไฟ คือหญ้าและไม้หรือ...มหาบพิตร ? ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า กองไฟใหญ่นั้น ถึงจะยังลุกโพลงอยู่ ก็ไม่ยินดีต่อเชื้อ คือหญ้าและไม้ ไม่ต้องพูดถึงไฟที่ดับไปแล้ว เพราะไฟไม่มีเจตนาจะยินดีอย่างไร ”
“ ขอถวายพระพร เมื่อไฟนั้นดับไปแล้ว โลกมิสูญจากไฟหรือ...พวกมนุษย์ที่ต้องการไฟก็ไม่สมหวังน่ะซิ ? ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะว่าไม้ย่อมเป็นวัตถุที่จะให้เกิดไฟขึ้นได้ พวกที่ต้องการไฟก็เอาไม้มาสีกัน แล้วก็ทำให้เกิดไฟขึ้นได้ ”
“ ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นถ้อยคำของพวกเดียรถีย์ที่ว่า การบูชาพระพุทธเจ้าผู้ไม่รู้จักยินดี เป็นของหมัน ไม่มีผลนั้นก็ผิดไป เพราะว่าพระพุทธเจ้าย่อมรุ่งเรืองอยู่ในหมื่นโลกธาตุด้วยพระพุทธรัศมี เหมือนกับกองไฟใหญ่ฉะนั้น ขอถวายพระพร กองไฟใหญ่รุ่งเรืองแล้วดับไปฉันใด พระพุทธเจ้าก็ทรงรุ่งเรืองด้วยพระพุทธรังสีในหมื่นโลกธาตุ แล้วดับไปด้วยการดับขันธ์ฉันนั้น ไฟที่ดับแล้วย่อมไม่ยินดีต่อเชื้อ คือหญ้าและไม้ฉันใด เทพยดามนุษย์ทั้งหลายนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ไม่รู้จักยินดีแล้ว ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็ได้สมบัติ ๓ ประการฉันนั้น ด้วยเหตุนี้แหละ มหาบพิตร การสักการบูชาพระพุทธเจ้า ผู้ดับขันธปรินิพพานแล้ว ผู้ไม่ทรงยินดีต่อสิ่งใด จึงไม่เป็นหมัน จึงมีผล ”

อุปมาเหมือนลมใหญ่

“ ขอถวายพระพร ขอมหาบพิตรจงทรงสดับเหตุการณ์อี่นอีกให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ถ้ามหาบพิตรยังเคลือบแคลงสงสัยอยู่ ด้วยเหตุที่การบูชาพระพุทธเจ้าผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ไม่ทรงยินดี ว่าไม่เป็นหมัน ยังมีผลอยู่นั้น อาตมภาพจะอุปมาถวาย กล่าวคือ ลมใหญ่พัดมาแล้วหายไป ขอถามว่า ลมที่หายไปแล้วนั้น จะกลับพัดมาอีกหรือไม่ ? ”
“ ไม่กลับพัดมาอีก ผู้เป็นเจ้า เพราะลมนั้นไม่มีความผูกใจ หรือการกระทำไว้ในใจที่จะพัดมาอีกเลย ด้วยเหตุว่า ลมนั้นไม่มีเจตนา ”
“ ขอถวายพระพร ลมที่หายไปแล้วนั้นชื่อว่าขาดหายไปด้วยหรือ ? ”
“ ไม่ขาดหายไป ผู้เป็นเจ้า คือมนุษย์เหล่าใดร้อนขึ้นมาแล้ว มนุษย์เหล่านั้นก็ทำให้ลมเกิดขึ้นด้วยใบตาล หรือด้วยเครื่องพัดอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามเรี่ยวแรงกำลังของตน แล้วกระทำให้ความร้อนนั้นหายไปด้วยลมนั้น ”
“ ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นคำที่พวกเดียรถีย์ว่า การบูขาพระพุทธเจ้าผู้ดับขันธปรินิพพานแล้ว ผู้ไม่รู้จักทรงยินดี เป็นของหมัน ไม่มีผลนั้นก็ผิดไป เพราะพระพุทธเจ้าได้พัดสัตวโลกให้เย็นด้วยลมคือ พระเมตตาพรหมวิหาร อันเกษมศานต์ สุขุมเย็นใจ แผ่ไปทั่วหมื่นโลกธาตุเหมือนกับลมใหญ่พัดให้สัตว์โลกเย็นฉะนั้น ลมใหญ่พัดมาแล้วหายไปฉันใด พระพุทธเจ้าก็พัดสัตวโลกในหมื่นโลกธาตุ ให้เย็นด้วยเมตตาอันสุขุมยิ่ง แล้วก็ดับขันธ์ไปฉันนั้น ลมที่หายไปแล้วกลับพัดขึ้นมาอีก ก็ไม่รู้สึกยินดีฉันใด ความยินดีของพระพุทธเจ้าผู้ทรงเกื้อกูลโลกก็สงบไปแล้วฉันนั้น พวกมนุษย์ที่ร้อน ที่มีอุปมาฉันใด เทพยดามนุษย์ทั้งหลายที่เร่าร้อนด้วยไฟกิเลส ๓ กอง ก็มีอุปมาฉันนั้น ใบตาลและเครื่องพัด ย่อมเป็นเหตุให้ลมเกิดขึ้นฉันใด พระธาตุรัตนะ พระญาณรัตนะของพระพุทธเจ้า ก็เป็นเหตุให้ได้สมบัติ ๓ ประการ ฉันนั้น เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่หรือเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วก็ดี ผู้ใดสักการบูชาด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ผู้นั้นก็ได้ความรื่นเริงบันเทิงใจ พวกที่ปรารถนาสมบัติ ๓ ประการ ก็ได้สำเร็จสมความปรารถนา พวกมนุษย์ที่ร้อนทำให้ลมเกิดขึ้นด้วยใบตาล หรือด้วยเครื่องพัดอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ทำให้ความร้อนนั้นดับไปได้ฉันใด เทพยดามนุษย์ทั้งหลาย บูชาพระธาตุรัตนะ และพระญาณรัตนะ ของพระพุทธเจ้าผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ไม่ทรงยินดี ทำกุศลให้เกิดขึ้นแล้ว ก็ดับความเร่าร้อน ๓ ประการ ด้วยกุศลนั้น ด้วยเหตุนี้แหละ มหาบพิตร จึงเป็นอันว่า การบูชาพระพุทธเจ้าผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ไม่รู้จักทรงยินดี ไม่เป็นหมัน ยังมีผลอยู่ ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวบรรยายมากเกินไป ขอจงกล่าวเฉพาะใจความให้กระทัดรัดเถิด ”

อุปมาเหมือนเสียงกลอง

“ ขอถวายพระพร ขอมหาบพิตรจงทรงสดับเหตุอื่นให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก เพื่อข่มขี่ถ้อยคำของผู้อื่นเสีย คือบุรุษคนหนึ่งตีกลองทำให้เกิดเสียงขึ้น เสียงกลองที่บุรุษนั้นทำให้เกิดขึ้นก็หายไป เสียงกลองที่หายไปแล้วนั้น ยินดีที่จะเกิดมาอีกหรือไม่ ? ”
“ ไม่ยินดี ผู้เป็นเจ้า เพราะว่าเสียงกลองนั้น ไม่มีความผูกใจหรือใส่ใจอันใด เมื่อดังขึ้นแล้วหายไปก็เป็นอันขาดเสียง แต่กลองนั้นยังเป็นของที่จะทำให้เกิดเสียงได้อยู่ เมื่อเหตุปัจจัยมีอยู่บุรุษก็ตีกลองให้เกิดเสียงได้อีก ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระธาตุรัตนะ อันพระองค์ทรงอบรมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ไว้แล้ว ทรงตั้งพระธรรมวินัยให้แทนพระองค์ไว้แล้ว จึงดับขันธปรินิพพานไป ไม่ใช่ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานไปแล้วการได้สมบัติจะขาดไป คือสัตว์ทั้งหลายที่ถูกความทุกข์ในโลกบีบคั้นแล้ว ก็กระทำพระธาตุรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระวินัยรัตนะ ให้เป็นปัจจัยสืบต่อไป แล้วก็ทำให้เกิดสมบัติได้ตามปรารถนา เหมือนกับกลองทำให้เกิดเสียงได้ฉะนั้น ขอถวายพระพร ถ้ากลองที่จะทำให้เกิดเสียงมีอยู่ เมื่อมีผู้ตีกลองก็ทำให้เกิดเสียงได้อีกฉันใด เมื่อพระธาตุรัตนะมีอยู่ ผู้ปรารถนาสมบัติกระทำพระธาตุรัตนะให้เป็นปัจจัยสืบต่อไป ก็ย่อมได้สมบัติฉันนั้น ด้วยเหตุอันนี้จึงชี้ให้เห็นว่า การบูชาพระพุทธเจ้าผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ไม่รู้จักทรงยินดี ยังมีอานิสงส์ ยังมีผลอยู่ ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระศากยมุนีได้ตรัสไว้ว่า “ดูก่อนอานนท์ ต่อไปข้างหน้าจะมีผู้กล่าวว่าศาสนาไม่มีพระศาสดาแล้ว พระศาสดาของพวกท่านก็ต้องไม่มี ดังนี้ แต่ว่าอานนท์ไม่ควรเห็นอย่างนี้ คือธรรมวินัยอันใดที่เราแสดงไว้แล้ว บัญญัติไว้แล้ว ธรรมวินัยอันนั้นแหละ เมื่อเราล่วงไปแล้ว จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย” ดังนี้ เพราะเหตุนี้แหละ มหาบพิตร จึงว่าคำที่พวกเดียรถีย์ว่า การบูชาพระพุทธเจ้าผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ไม่จักทรงยินดี เป็นของหมัน ไม่มีผลนั้น ผิดไป ”

อุปมาเหมือนแผ่นดินใหญ่

“ ขอถวายพระพร ขอจงทรงสดับเหตุอย่างอื่นให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก เพื่อให้ทรงเข้าพระทัยว่าการบูชาพระพุทธเจ้า ผู้ปรินิพพานแล้วนั้น ยังมีอานิสงส์ ยังมีผลอยู่ คือแผ่นดินอันใหญ่นี้ย่อมยินดีว่า พืชทั้งปวงงอกงามขึ้นในตัวเราหรือไม่ ? ”
“ ไม่ยินดีเลย พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร เมื่อแผ่นดินอันใหญ่ไม่ยินดี เหตุใดพืชทั้งปวงนั้นจึงงอกงามขึ้น มีรากมั่นคง มีต้น มีแก่น กิ่งใบ ดอกผลเล่า ? ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถึงแผ่นดินใหญ่จะไม่ยินดีก็ดี ก็เป็นที่ตั้งแห่งพืชเหล่านั้น พืชเหล่านั้นจึงงอกงามขึ้นได้ ”
“ ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นก็เป็นอันว่าได้กำจัดถ้อยคำของพวกเดียรถีย์ให้หมดสิ้นไปแล้ว ด้วยอุปมาข้อนี้ ขอถวายพระพร พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาจรณะผู้เสด็จไปดี ผู้รู้ตลอดโลก เหมือนกับแผ่นดินอันใหญ่ คือแผ่นดินใหญ่ไม่รู้จักยินดีต่อพืชใดๆ ฉันใด พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงยินดีต่ออะไรในโลกฉันนั้น ขอถวายพระพร พืชทั้งปวงนั้น ได้อาศัยแผ่นดินแล้วก็งอกงามขึ้น มีราก มีลำต้น กิ่งใบดอกผลฉันใด เทพยดามนุษย์ทั้งหลาย ได้อาศัยพระญาณรัตนะของพระพุทธเจ้าผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ไม่ทรงยินดีต่อสิ่งใด ก็เกิดรากคือกุศลมั่นคง เกิดแก่นคือสมาธิธรรม มีกิ่งคือศีล มีดอกคือวิมุตติ มีผลคือโลกุตตรผล ฉันนั้น ดัวยเหตุอันนี้จึงชี้ให้เห็นว่า การบูชาพระพุทธเจ้าผู้ดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่เป็นหมันยังมีผลอยู่ ”

อุปมาเหมือนสัตว์เลี้ยง

“ ขอถวายพระพร จงทรงสดับเหตุอื่นให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก คือ อูฐ โค ลา ช้าง กระบือ สัตว์เลี้ยง และมนุษย์ทั้งหลายเหล่านี้ ยินดีต่อหมู่หนอนที่มีอยู่ในท้องของตนหรือไม่ ? ”
“ ไม่ยินดีเลย พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ในเมื่อไม่ยินดี เหตุไรหมู่หนอนเหล่านั้นจึงมีลูก หลาน เหลน เกิดขึ้นมากมายในท้องของสัตว์เหล่านั้น ? ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เพราะเหตุบาปกรรมของสัตว์เหล่านั้น ทำให้เกิดหมู่หนอนในท้องน่ะซิ ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร สักการบูชาที่บุคคลกระทำต่อพระพุทธเจ้า จึงไม่เป็นหมัน ยังมีผลอยู่ เพราะพระธาตุรัตนะ พระญาณรัตนะ ของพระพุทธเจ้านั้น ยังมีกำลังแรงกล้าอยู่ ”

อุปมาเหมือนกับโรคต่างๆ

“ ขอมหาบพิตรจงทรงสดับเหตุอื่นให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก คือมนุษย์ทั้งหลายยินดีให้ฉัพพนวุติโรค คือโรค ๙๖ ประการ เกิดขึ้นในร่างกายของตนหรือไม่ ? ”
“ ไม่ยินดีเลย พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ในเมื่อไม่ยินดี เหตุไรโรคเหล่านั้น จึงเกิดขึ้นในร่างกายของมนุษย์ ? ”
“ เหตุทุจริตที่เขาทำไว้ในปางก่อนน่ะซิ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร ถ้าอกุศลที่เขาทำไว้ในชาติก่อน ทำให้ได้รับผลในชาตินี้ กุศลกรรม อกุศลกรรม ที่เขาทำไว้ในชาติก่อนก็ดี ในชาตินี้ก็ดี ก็ต้องไม่เป็นหมัน ยังมีผลอยู่ ถึงด้วยเหตุอันนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า การบูชาพระพุทธเจ้า ผู้ดับขันธปรินิพพานแล้ว ก็ไม่เป็นหมัน ยังมีผลอยู่”

เรื่องนันทกยักษ์

“ มหาบพิตรได้เคยทรงสดับหรือไม่ว่า นันทกยักษ์ มีจิตคิดร้ายต่อ พระสาลีบุตรเถระ แล้วถูกแผ่นดินสูบ ? ”
“ ไม่เคยสดับ ผู้เป็นเจ้า เพราะเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในโลก”
“ ขอถวายพระพร พระสารีบุตรยินดีให้นันทยักษ์ถูกแผ่นดินสูบหรือไม่? ”
พระเจ้ามิลินท์ตรัสตอบว่า “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถึงมนุษย์โลก เทวโลกเป็นไปอยู่ก็ดี ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จะตกลงมาที่พื้นดินก็ดี พระยาเขาสิเนรุจะแตกกระจัดกระจายก็ดี พระสารีบุตรก็ไม่ยินดีต่อทุกข์ของผู้อื่น เพราะเหตุว่าพระเถรนั้น ได้ตัดมูลเหตุที่ให้เกิดความยินดียินร้ายเสียแล้ว ถึงจะมีผู้ทำลายชีวิตของท่าน ท่านก็ไม่โกรธ ”
พระนาคเสนจึงถามต่อไปว่า “ ขอถวายพระพร ถ้าพระสารีบุตรไม่ยินดีให้แผ่นดินสูบนันทกยักษ์ เหตุใดนันทกยักษ์จึงถูกแผ่นดินสูบจมลงไปใต้พื้นดิน ?”
“ อ๋อ...เพราะเหตุอกุศลกรรมของเขาแรงกล้าน่ะซิ พระผู้เป็นเจ้า”
“ ขอถวายพระพร ถ้านันทกยักษ์จมลงไปในพื้นดิน เพราะอกุศลกรรมของเขาแรงกล้า การบูชาพระพุทธเจ้าผู้ไม่รู้จักทรงยินดี ก็ไม่เป็นหมัน ยังมีอานิสงส์อยู่ เพราะกุศลกรรมเป็นของแรงกล้า ด้วยเหตุอันนี้ก็ดี จึงชี้ให้เห็นว่า การบูชาพระพุทธเจ้าผู้ดับขันธปรินิพพานแล้ว ผู้ไม่รู้จักทรงยินดี ก็ยังมีผลอยู่ ”

ผู้ที่ถูกแผ่นดินสูบมี ๕ คน

“ ขอถวายพระพร พวกมนุษย์ที่ถูกแผ่นดินสูบในครั้งพุทธกาลนี้ มีอยู่สักเท่าไร...มหาบพิตรได้เคยสดับหรือไม่ ? ”
“ เคยสดับ ผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอเชิญมหาบพิตรว่าไป คือใครบ้าง ? ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า คนที่ถูกแผ่นดินสูบนั้น โยมได้สดับมาว่ามีอยู่ ๕ คน คือ นางจิญจมาณวิกา ๑ สุปปพุทธสักยะ ๑ พระเทวทัต ๑ นันทกยักษ์ ๑ นันทมาณพ ๑”
“ ขอถวายพระพร บุคคลเหล่านั้นผิดต่อใคร ? ”
“ ผิดต่อพระพุทธเจ้าก็มี ผิดต่อพระสาวกก็มี พระผู้เป็นเจ้า”
“ ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าทรงยินดีให้บุคคลเหล่านั้นถูกแผ่นดินสูบจมลงไปในแผ่นดินหรือไม่ ?”
“ ไม่ทรงยินดีเลย พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นขอจงเข้าพระทัยเถิดว่า การบูชาพระพุทธเจ้าผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ไม่รู้จักทรงยินดี จึงไม่เป็นหมัน ยังมีผลอยู่ ”
พระเจ้ามิลินท์ตรัสสรรเสริญว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน ปัญหาอันรู้ได้ยาก พระผู้เป็นเจ้าทำให้รู้ได้ง่ายแล้ว ปัญหาอันลึก พระผู้เป็นเจ้าทำให้ตื้นแล้ว พระผู้เป็นเจ้าได้ทำลายข้อลี้ลับแล้ว ทำลายข้อยุ่งยากแล้ว ทำลายถ้อยคำของผู้อื่นแล้ว ความเห็นอันชั่วร้ายของพวกเดียรถีย์สิ้นแล้ว พระผู้เป็นเจ้ามาถึงแล้ว ซึ่งความเป็นผู้ประเสริฐในหมู่ผู้ประเสริฐ”

ปัญหาที่ ๒ ถามถึงความเป็นพระสัพพัญญูของพระพุทธเจ้า

“ ข้าแต่พระนาคเสน พระพุทธเจ้าเป็นพระสัพพัญญู คือรู้ทุกสิ่งจริงหรือ? ”
“ ขอถวายพระพร จริง แต่ว่าความรู้ความเห็นของพระพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่ปรากฏอยู่เป็นนิจ คือเป็นของเนื่องด้วยการนึก พระพุทธเจ้าทรงนึกอยากรู้สิ่งใด ก็รู้สิ่งนั้นสิ้นเท่านั้น”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ไม่ใช่พระสัพพัญญู เพราะถ้าความรู้สิ่งทั้งปวงยังเป็นของต้องแสวงหาอยู่ ”
“ ขอถวายพระพร มีข้าวเปลือกอยู่ ๑๐๐ เกวียน บุคคลตักออกคราวละ ๕ ทะนาน ๔ ทะนาน ๓ ทะนาน ๒ ทะนาน จิตที่เป็นไปในขณะลัดนิ้วมือเดียว อันกำหนดข้าวเปลือกว่ามีเท่านั้นๆ ก็ถึงซึ่งความสิ้นไป”

จิตของผู้ที่ยังไม่ได้อบรม

บุคคลเหล่าใดยังมีราคะ โทสะ โมหะ ตัณหา กิเลสอยู่ ไม่ได้อบรมกาย ไม่ได้อบรมศีล ไม่ได้อบรมจิต ไม่ได้อบรมปัญญา จิตของบุคคลเหล่านั้นก็เกิดช้า เป็นไปช้า เพราะไม่ได้อบรมจิต เหมือนกับบุคคลตัดไม้ไผ่ที่มีแขนง เกี่ยวกระหวัดรัดรึงหุ้มห่อ รกรุงรัง ให้ขาดแล้ว ก็ดึงมาได้ช้าฉันนั้น อันนี้เป็น จิตดวงที่ ๑

จิตของพระโสดาบัน

จิตดวงที่ ๒ นั้นได้แก่จิตของพระโสดาบัน คือพระโสดาบันทั้งหลายผู้พ้นอบายภูมิแล้ว ผู้ถึงความเห็นแล้ว ผู้รู้แจ้งพระพุทธศาสนาแล้วมีอยู่ จิตของพระโสดาบันทั้งหลายนั้น ย่อมเกิดไว เป็นไปไวในที่ทั้ง ๓ (คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส) แต่เกิดช้า เป็นไปช้า ในชั้นสูงขึ้นไป เพราะยังไม่ได้ละกิเลสชั้นสูง ข้อนี้เหมือนกับบุคคลตัดไม้ไผ่แล้ว ลิดข้อลิดปมทั้ง ๓ ข้อ แต่ยังไม่ได้ตัดยอดเบื้องบนให้ขาด ให้หายรุกรัง ก็ดึงมาได้ช้าฉะนั้น

จิตของพระสกิทาคามี

จิตดวงที่ ๓ นั้น ได้แก่จิตของพระสกิทาคามี คือจิตของสกิทาคามี ผู้มีราคะ โทสะ โมหะ น้อยเบาบางลงมากนั้น ย่อมเกิดเร็ว เป็นไปเร็ว ในฐานะทั้ง ๕ แต่เกิดช้า เป็นไปช้า ในชั้นสูงขึ้นไป เปรียบเหมือนกับบุคคลตัดไม้ไผ่ ลิดข้อทั้ง ๕ ให้ขาดแล้ว ก็ดึงมาได้ไวหน่อย แต่ว่าเมื่อข้างปลายยังรกรุงรังอยู่ ก็ยังดึงมาได้ช้าเพราะเบื้องบนยังรุงรัง อันเปรียบเหมือนยังไม่ได้ละกิเลสชั้นสูงฉะนั้น

จิตของพระอนาคามี

จิตดวงที่ ๔ ได้แก่จิตของพระอนาคามีที่ละสังโยชน์ ๕ เบื้องต่ำได้ขาดแล้ว จิตของพระอนาคามีย่อมเกิดเร็ว เป็นไปเร็ว ในฐานะทั้ง ๑๐ แต่เกิดช้า เป็นไปช้าในชั้นสูงขึ้นไป เพราะยังไม่ได้ละกิเลสชั้นสูง เหมือนกับบุคคลตัดไม้ไผ่ ลิดข้อทั้ง ๑๐ ให้เกลี้ยงเกลาดีแล้ว ก็ดึงมาได้เร็วเพียง ๑๐ ปล้องเท่านั้น พ้นจากนั้นยังดึงมาได้ช้าฉะนั้น

จิตของพระอรหันต์

จิตดวงที่ ๕ ได้แก่จิตของพระอรหันต์ คือจิตของพระอรหันต์ผู้สิ้นอาสวกิเลสทั้งหมดแล้ว ย่อมเกิดเร็ว เป็นไปเร็วในวิสัยของสาวก แต่เกิดช้า เป็นไปช้า ในภูมิพระปัจเจกพุทธเจ้าที่สูงกว่า เปรียบเหมือนบุคคลตัดไม้ไผ่ ลิดข้อทั้งปวงให้ตลอดลำแล้ว ก็ดึงมาได้เร็วฉันนั้น

จิตของพระปัจเจกพุทธเจ้า

จิตดวงที่ ๖ ได้แก่จิตของพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้เอง ไม่มีอาจารย์ ก็เกิดได้เร็ว เป็นไปเร็ว ในภูมิของตนเท่านั้น แต่เกิดช้า เป็นไปช้า ในภูมิของพระสัพพัญญูพุทธเจ้า เพราะภูมิของพระสัพพัญญูพุทธเจ้านั้น เป็นของใหญ่ เปรียบเทียบเหมือนบุรุษผู้ไม่กลัวน้ำ ก็ว่ายข้ามแม่น้ำน้อยได้ตามสบาย แต่พอไปถึงน้ำมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ แลไม่เห็นฝั่งก็กลัวก็สะดุ้ง ก็ช้า ก็ไม่อาจข้ามไปได้ฉะนั้น

จิตของพระสัพพัญญูพุทธเจ้า

จิตดวงที่ ๗ ได้แก่จิตของพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ผู้ทรงทศพลญาณ จตุเวสารัชชญาณ ประกอบด้วยพุทธธรรม ๑๘ ชนะไม่มีที่สิ้นสุด มีญาณไม่มีที่สิ้นสุด ย่อมเกิดรวดเร็วเป็นไปรวดเร็วในสิ่งทั้งปวงเพราะจิตบริสุทธิ์ในสิ่งทั้งปวงแล้ว “ ขอถวายพระพร ลูกศรที่ไม่มีข้อมีปมที่เกลี้ยงเกลา ไม่มัวหมอง อันนายธนูยกขึ้นสู่แล่งธนู อันไม่คดโก่ง อันเกลี้ยงสุขุมเป็นอันดีแล้ว ยิงไปที่ผ้าฝ้าย หรือผ้ากัมพลเนื้อละเอียดลูกศรนั้นจะทะลุไปได้ช้า หรือว่าจะข้องอยู่ที่ผ้าประการใด ? ”
“ อ๋อ...ไม่ช้า พระผู้เป็นเจ้า ลูกศรนั้นต้องทะลุไปได้อย่างรวดเร็ว”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ความคิดของพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ก็ทะลุปรุโปร่งไปในสิ่งทั้งปวงได้รวดเร็วฉะนั้น ” ขอถวายพระพร จิตของพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ได้ล่วงเลยจิตทั้ง ๖ ไปแล้ว จึงเป็นจิตบริสุทธิ์ เป็นจิตรวดเร็ว เป็นจิตหาเครื่องเปรียบมิได้ ด้วยคุณอันคณานับมิได้ เพราะเหตุที่จิตของพระพุทธเจ้า เป็นจิตบริสุทธิ์ รวดเร็วนั่นเอง พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ได้ จิตของพระพุทธเจ้าในเวลาทรงทำยมกปาฏิหาริย์นั้นเป็นไปรวดเร็วนัก ไม่มีใครอาจชี้เหตุการณ์ได้ มหาบพิตร ปาฏิหาริย์เหล่านั้น เมื่อเทียบกับจิตของพระสัพพัญญูทั้งหลายแล้ว ยังไม่ได้เสี้ยวหนึ่ง เพราะพระสัพพัญญุตญาณของพระพุทธเจ้า เนื่องด้วยการนึกด้วยจิตนั้นพอนึกก็รู้ได้ตามประสงค์

อุปมาเหมือนผู้ยกสิ่งของ

“ ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่าบุรุษยกของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่วางอยู่ที่มือข้างหนึ่งมาไว้บนมืออีกข้างหนึ่ง หรืออ้าปากพูด กลืนอาหาร ลืมตา หลับตา คู้แขน เหยียดแขน อันนับว่าเร็วอยู่แล้ว แต่ยังช้ากว่าพระสัพพัญญุตญาณ คือพอพระพุทธเจ้าทรงนึกก็รู้ได้ทันที ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะไม่เป็นพระสัพพัญญูด้วยเหตุเพียงนึกเท่านี้”
“ ข้าแต่พระนาคเสน เมื่อยังนึกหาอยู่ก็ยังไม่ชื่อว่าเป็นพระสัพพัญญู ขอนิมนต์ชึ้แจงให้โยมเข้าใจตามเหตุการณ์อีกเถิด ”

อุปมาเหมือนบุรุษผู้มั่งคั่ง

“ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนกับบุรุษผู้หนึ่ง เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีเครื่องกินมาก มีเงินทองมาก มีเครื่องปลื้มใจมาก มีธัญชาติ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ข้าวสาร งา ถั่ว ฟักแฟง แตงเต้า เนยใส น้ำมัน นมข้น นมสด นมส้ม น้ำผึ้ง น้ำอ้อย อยู่มาก เวลามีแขกมาหา ซึ่งเป็นผู้ควรต้อนรับด้วยอาหาร อาหารก็ทำเสร็จแล้ว ยังแต่จะต้องคดข้าวออกจากหม้อเท่านั้น บุรุษนั้นจะเรียกว่า เป็นผู้มีทรัพย์มาก หรือจะเรียกว่าไม่มีทรัพย์มาก ด้วยเหตุเพียงเวลาคดข้าวจากหม้อเท่านั้นหรืออย่างไร ?”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ทำไมจึงว่าอย่างนี้ ถึงในราชมณเฑียรของพระเจ้าจักรพรรดิก็ตาม ถ้านอกเวลาก็ต้องรอเวลาอาหารสุก ไม่ต้องพูดถึงในบ้านเรือนของคฤหบดี ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ พระสัพพัญญุตญาณอันเนื่องด้วยการนึกของพระพุทธเจ้านั้น พอนึกก็รู้ได้ตามประสงค์ ”

อุปมาเหมือนต้นไม้ที่มีผล

“ ขอถวายพระพร ต้นไม้ที่มีผลดกเต็มต้นยังไม่มีผลหล่นลงมาเลย เมื่อรอเวลาผลหล่นลงมา จะเรียกว่าต้นไม้นั้นไม่มีผลได้หรือไม่? ”
“ ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า เพราะต้นไม้นั้นเนื่องด้วยการหล่นแห่งผล พอผลหล่นลงคนก็เก็บเอาได้ตามประสงค์ ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พระสัพพัญญุตญาณก็เนื่องด้วยการนึกของพระพุทธเจ้า พอนึกก็รู้ทันที ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าทรงนึกก็รู้ได้ทันทีอย่างนั้นหรือ? ”
“ อย่างนั้น มหาบพิตร คือพระเจ้าจักรพรรดิพอทรงนึกถึงจักรแก้ว จักรแก้วก็มาปรากฏทันทีฉันใด พระพุทธเจ้าพอนึกก็รู้ทุกสิ่งฉันนั้นขอถวายพระพร”
“ ข้าแต่พระนาคเสน โยมตกลงรับว่าพระพุทธเจ้าเป็นพระสัพพัญญูแน่ละ ”


ขอขอบคุณต้นฉบับ : www.geocities.com/SouthBeach/Terrace/4587/milindl.htm

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น