Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

มิลินทปัญหา ตอนที่ 16

มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 16 : เมณฑกปัญหาวรรคที่ ๑ ปัญหาที่ ๕ ตาทิพย์ของพระเจ้าสีวิราช, ปัญหาที่ ๖ ถามเรื่องการตั้งครรภ์

ตอนที่ ๑๖

ปัญหาที่ ๕ ตาทิพย์ของพระเจ้าสีวิราช


สำหรับในฉบับนี้จะขอนำ “ประวัติพระเจ้าสีวิราช” ซึ่งมีอยู่ในพระสุตตันตปิฏกมาให้อ่านกัน เพื่อท่านจะได้ทราบว่าพระโพธิสัตว์กว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น จะต้องบำเพ็ญบารมีด้วยความยากลำบากเพียงใด เมื่อท่านได้อ่านเรื่องนี้แล้ว อาจจะถึงกับสะอื้นก็ได้ เพราะความตื้นตันใจในน้ำพระทัยของพระองค์ พระเจ้าสีวิราชบรมโพธิสัตว์ในอดีตกาลล่วงมาแล้ว ครั้งพระเจ้าสีวิมหาราชได้เสวยราชสมบัติอยู่ในอริฏฐบุรี แว่นแคว้นสีวี หรือประเทศสีพีนั้น พระมหาสัตว์เจ้าได้บังเกิดเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสีวิมหาราช มีนามว่า “สีวิกุมาร”

เมื่อสีวิกุมารนั้นเติบโตขึ้นแล้ว ก็ได้ไปศึกษาศิลปศาสตร์ที่เมืองตักสิลา เวลากลับบ้านเมืองแล้วก็ได้เป็นอุปราช ในเวลาต่อมาเมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้วก็ได้เป็นพระราชาได้ทรงมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรม พระองค์ได้ทรงสร้างโรงทานไว้ ๖ แห่งคือที่ประตูพระนครทั้ง ๔ แห่ง ท่ามกลางพระนคร กับที่ประตูพระราชวัง แล้วทรงบริจาคมหาทานสิ้นพระราชทรัพย์วันละ ๖ แสน กับทรงรักษาอุโบสถศีลทุกวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำตลอดมา อยู่มาวันหนึ่งพระราชาได้ประทับอยู่ที่ราชบัลลังก์ภายในเศวตฉัตร ในวันปุณณมีดีถีเพ็ญเวลาเช้า ทรงนึกถึงทานที่พระองค์ทรงบริจาค ก็ไม่ทรงเห็นสิ่งของภายนอกซึ่งพระองค์ยังไม่เคยได้ทรงบริจาค จึงทรงดำริว่า ของนอกกายที่เรายังไม่ได้ให้ทานนั้นไม่มี การให้ทานของนอกกายไม่ทำให้เราดีใจได้ เราใคร่จะให้ทานของในกาย ในเวลาเราไปที่โรงทานขออย่าให้มียาจกคนใดคนหนึ่งขอทานของนอกกาย ขอให้เขาขอของในกาย ถ้ามีใครจักขอเนื้อในกายของเรา เราก็จักเชือดออกให้ ถ้ามีใครของโลหิตของเรา เราก็จักเจาะออกให้ มีใครมาขอเราไปเป็นทาส เราก็จักยอมไป มีใครมาขอจักษุของเรา เราก็จะควักออกให้

พระอินทร์จำแลงมาทดลอง

เมื่อพระเจ้าสีวิราชทรงดำริอยู่ดังนี้ท้าวโกสีย์ในดาวดึงส์สวรรค์ก็ทรงทราบ จึงทรงดำริว่า วันนี้พระเจ้าสีวิราชคิดว่า จักควักจักษุออกให้เป็นทานแก่ยาจกที่ไปทูลขอ ดังนี้พระเจ้าสีวิราชจักทำได้จริงหรือไม่ เราจักไปทดลองดูท้าวสักกะทรงดำริดังนี้แล้ว ก็ทรงจำแลงเป็นพราหมณ์ชราตาบอด ไปที่โรงทานในเวลาที่พระราชาเสด็จไปที่โรงทาน แล้วประนมมือขึ้นร้องถวายชัยมงคล พระเจ้าสีวิราชได้ทอดพระเนตรเห็น จึงทรงไสช้างพระที่นั่งบ่ายหน้าไปตรัสถามว่า “ พราหมณ์....ต้องการสิ่งใด ? ”

พราหมณ์แปลงก็ทูลตอบว่า “ ข้าแต่มหาราชเจ้า โลกสันนิวาสทั้งสิ้นได้ถูกเสียงสรรเสริญอันแผ่ไป ด้วยอาศัยพระองค์มีพระหฤทัยยินดีในการให้ทานถูกต้องอยู่เป็นนิจ ข้าพระองค์เป็นคนตาบอดทั้งสองข้าง ส่วนพระองค์เป็นผู้มีพระจักษุดีทั้งสองข้าง ขอพระองค์จงโปรดประทานจักษุสักข้างหนึ่งให้แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด พระเจ้าข้า ”

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้าก็ทรงยินดีว่าเป็นลาภอันใหญ่ของเราแล้ว วันนี้ความประสงค์ของเราจักสำเร็จแล้ว เราจักได้ให้ทานที่เรายังไม่เคยให้ ครั้งทรงดำริดังนี้แล้วจึงได้ตรัสขึ้นว่า “ นี่แน่ะวณิพก ใครแนะนำให้เจ้ามาขอจักษุต่อเรา ซึ่งเป็นของที่นำออกให้ทานได้ยาก แต่ว่าเราจักให้แก่พราหมณ์ตามประสงค์ ”

ตรัสดังนี้แล้วก็ทรงดำริว่า การที่เราจะควักจักษุทั้งสองออกให้เป็นทานในที่นี้ เป็นการไม่สมควร จึงได้ทรงนำพราหมณ์นั้นกลับเข้าไปพระราชวัง ประทับนั่งบนราชอาสน์แล้วจึงตรัสสั่งให้แพทย์สีวิกะเข้าเฝ้า รับสั่งว่า“ เจ้าจงทำจักษุทั้งสองของเราให้บริสุทธิ์ในบัดนี้ ”

ในคราวนั้น ก็มีเสียงระบือไปตลอดพระนครว่า พระราชาจะควักพระเนตรทั้งสองออกให้เป็นทานแก่พราหมณ์ พวกราชวัลลภมีเสนาบดีเป็นต้น และชาวพระนครสนมกำนัลในทั้งปวง ก็ได้พร้อมกันเข้าเฝ้ากราบทูลคัดค้านว่า “ ขอเทวราชเจ้าอย่าได้พระราชทานจักษุเลย ขอพระองค์อย่าได้ทรงสละข้าพระบาททั้งปวง ให้เป็นทานของพระราชาองค์อื่นเลย ขอพระองค์จงพระราชทานแต่ทรัพย์สิน เงิน ทอง ช้างม้า รถอลงกรณ์เถิด พระเจ้าข้า ”

พระเจ้าสีวีราชจึงตรัสว่า“ ผู้ใดกล่าวว่าจักให้แล้วไม่ให้ ผู้นั้นชื่อว่าเอาบ่วงมาสวมคอของตน ผู้ใดกล่าวว่าจักให้แล้วไม่ให้ ผู้นั้นชื่อว่าเลวกว่าคนเลว ผู้นั้นจะต้องถึงที่ลงอาญาของพระยายม มีผู้ขอสิ่งใดควรให้สิ่งนั้น สิ่งใดเขาไม่ขอไม่ควรให้สิ่งนั้น พราหมณ์นี้ได้ขอสิ่งใดต่อเรา เราจักให้สิ่งนั้น ”

ทรงให้ทานเพื่อพระสัพพัญญุตญาณ

ลำดับนั้น พวกอำมาตย์จึงกราบทูลถามว่า “ พระองค์ปรารถนาสิ่งใด ปรารถนาอายุหรือวรรณะ สุขะ พละ ประการใด จึงจักพระราชทานจักษุให้แก่พราหมณ์ในบัดนี้พระเจ้าข้า ? ”
พระเจ้าสีวิราชตรัสตอบว่า “ เราไม่ได้ให้ทานเพราะเห็นแก่ทรัพย์ ยศ หรือบุตรภรรยา แว่นแคว้นบ้านเมืองอันใด เราเห็นว่าการให้ทาน เป็นธรรมเนียมของสัตบุรุษทั้งหลายแต่โบราณ เราจึงได้ยินดีในการให้ทาน สัตบุรุษทั้งหลายแต่เก่าก่อน เมื่อยังไม่ได้บำเพ็ญบารมีให้เต็มที่แล้ว ก็ไม่สามารถจะเป็นพระสัพพัญญูได้ เราจักบำเพ็ญบารมีให้เต็มที่ เพื่อจะได้เป็นพระสัพพัญญู ”

เมื่ออำมาตย์ทั้งหลายได้ฟังพระราชดำรัสตอบดังนี้แล้ว ก็หมดหนทางที่จะทูลทัดทานจำต้องนิ่งเฉยอยู่ ฝ่ายพระเจ้าสีวิราชก็ได้ตรัสสั่งนายแพทย์สีวิกะว่า “ นี่แน่ะสีวิกะ เธอเป็นมิตรสหายของเรา เธอได้ศึกษาวิชาแพทย์มาเป็นอันดีแล้ว เธอจงทำตามถ้อยคำของเราให้ดี เมื่อเราลืมตาขึ้นมองดู เธอจงควักตาของเราให้หลุดออกเหมือนกับควักจาวตาล แล้ววางไว้ที่มือของคนขอทาน คือพราหมณ์คนนี้ ในบัดนี้เถิด ”

พระโพธิสัตว์ได้รับทุกขเวทนาหนัก

ลำดับนั้น นายแพทย์สีวิกะกราบทูลว่า “ ข้าแต่มหาราชเจ้า การให้จักษุเป็นทานนี้เป็นของสำคัญมาก ขอพระองค์จงใคร่ครวญให้ดีเถิด ”
พระเจ้าสีวิราชตรัสตอบว่า “ เราใคร่ครวญดีแล้ว เธอจงอย่าชักช้าอย่าพูดมากกับเรา”
นายแพทย์สีวิกะจึงคิดว่า การที่แพทย์ผู้ได้ศึกษามาดีเช่นเรานี้ จะเอาศาตราคว้านพระเนตรของพระราชา ย่อมไม่สมควร เขาคิดดังนี้แล้ว จึงผสมยาแล้วอบด้วยดอกบัวเขียว แล้วป้ายพระเนตรข้างขวาของพระราชา พระเนตรข้างขวานั้นก็พลิกกลับทันทีทุกขเวทนาก็ได้เกิดขึ้นแก่พระราชา เขาจึงกราบทูลว่า “ ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงกำหนดพระทัยดูเถิด การทำพระเนตรให้เป็นปกตินั้น เป็นหน้าที่ของข้าพระองค์”
ตรัสตอบว่า “ เธออย่าได้ชักช้า ”

แล้วนายแพทย์นั้นก็ได้ทายาซ้ำอีก พระเนตรก็ได้หลุดจากหลุมพระเนตรในทันทีทุกขเวทนาอันเหลือประมาณก็ได้เกิดขึ้นแก่พระราชา นายแพทย์นี้กราบทูลว่า“ ขอพระองค์จงทรงกำหนดพระทัยดูเถิด ข้าพระองค์อาจทำให้เป็นปกติได้”
จึงตรัสว่า “ หลีกไปอย่าได้ชักช้า ”
นายแพทย์ก็ประกอบยาให้แรงขึ้นกว่าเดิม แล้วน้อมเข้าไปถวาย พระเนตรนั้นก็ได้หมุนหลุดออกมาจากเบ้าพระเนตรด้วยกำลังยา แล้วตกออกมาห้อยอยู่ด้วยอำนาจเส้นเกี่ยวไว้แล้วนายแพทย์ก็กราบทูลอีกว่า “ ข้าพระองค์อาจทำให้เป็นปกติได้ ”
ตรัสตอบว่า “ เจ้าอย่าได้ชักช้า ”

ทุกขเวทนาอันเหลือที่จะประมาณก็ได้เกิดขึ้นแก่ท้าวเธอ พระโลหิตก็ได้ไหลออกมาจนเปียกพระภูษาที่ทรงนุ่ง พวกนางสนมกำนัลใน อำมาตย์ข้าราชบริพารทั้งหลาย ก็ได้พากันหมอบร้องไห้ว่า “ ขอพระองค์อย่าได้ทรงบริจาคพระเนตรเลย พระเจ้าข้า”
พระราชาทรงอดกลั้นทุกขเวทนาไว้แล้วจึงตรัสสั่งว่า “อย่าได้ชักช้า ”
นายแพทย์จึงรับพระเนตรไว้ด้วยมือข้างซ้าย ถือศาตราด้วยมือข้างขวา ตัดเส้นที่เกี่ยวดวงพระเนตรให้ขาด แล้วรับเอาดวงพระเนตรไปวางลงที่ฝ่าพระหัตถ์ของพระเจ้าสีวิราช พระบาทท้าวเธอได้ทอดพระเนตรพระจักษุข้างขวา ด้วยพระจักษุข้างซ้าย แล้วตรัสเรียกพราหมณ์เข้าไปใกล้ ตรัสสั่งว่า “ พระสัพพัญญุตญาณ คือการรู้แจ้งสิ่งทั้งปวง ได้เป็นที่รักยิ่งกว่าจักษุนี้ตั้งร้อยเท่าพันเท่าแสนท่า การให้จักษุเป็นทานนี้ จงเป็นปัจจัยแก่พระสัพพัญญุตญาณนั้นเถิด ”

ตรัสดังนี้แล้ว ก็ได้พระราชาทานพระเนตรข้างขวานั้นแก่พราหมณ์ พราหมณ์ก็รับไปใส่ลงในจักษุของตน แล้วบันดาลให้จักษุนั้นตั้งติดอยู่เป็นอันดี เหมือนกับดอกบัวสีเขียวอันแย้มบานฉะนั้น พระมหาสัตว์เจ้าได้ทรงทอดพระเนตรจักษุของพราหมณ์นั้น แล้วทรงพระดำริว่าการให้จักษุเป็นทานนี้ เป็นการดีแล้ว แล้วก็เกิดปีติทั่วพระวรกาย ได้พระราชทานซึ่งพระเนตรอีกข้างหนึ่งแก่พราหมณ์นั้น พราหมณ์ผู้เป็นพระอินทร์นั้นก็รับพระเนตรข้างนั้นใส่ในจักษุของตน แล้วก็ออกจากพระราชวังเหาะขึ้นสู่สวรรค์ในทันใด

พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาความว่า “ หมอสีวิกะที่พระเจ้าสีวิราชทรงเตือนแล้ว ได้กระทำตามพระราชดำรัส ควักดวงพระเนตรทั้งสองของพระราชาออกแล้ว ทรงพระราชทานแก่พราหมณ์ พราหมณ์นั้นก็ได้เป็นคนตาดี พระราชาก็เข้าถึงความเป็นคนตาบอด”

แต่ในไม่ช้า พระเนตรก็ได้เกิดขึ้นแก่พระราชาอีก พระเนตรที่เกิดขึ้นนั้นไม่เป็นหลุม ได้เต็มขึ้นด้วยก้อนเนื้อเหมือนกับปมผ้ากัมพลและเหมือนกับภาพนัยน์ตาแห่งรูปปั้นฉะนั้น ทุกขเวทนาก็เสื่อมหายขาดไปสิ้น

ทรงสละราชสมบัติ

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้าได้ประทับอยู่ที่ปราสาทสัก ๒ - ๓ วัน แล้วทรงพระดำริว่า ไม่มีประโยชน์อันใดกับราชสมบัติแก่คนตาบอด เราจักมอบราชสมบัติให้แก่พวกอำมาตย์ จักไปบรรพชาอยู่ที่อุทยาน จักทำสมณธรรมจึงจะเป็นการดี แล้วทรงโปรดให้ประชุมพวกอำมาตย์ ทรงแจ้งพระราชประสงค์ให้ทราบแล้วตรัสว่า “ เราต้องการเพียงคนใช้สอยคนเดียวสำหรับทำกิจการต่างๆ มีน้ำล้างหน้า เป็นต้นเท่านั้น ท่านทั้งหลายจงผูกเชือกให้เป็นราวสำหรับเราจักสาวไปในเวลาที่ทำสรีรกิจ”

ตรัสสั่งดังนี้แล้ว ก็ตรัสสั่งนายสารถีให้เทียมรถ พวกอำมาตย์ไม่ยอมให้ท้าวเธอเสด็จไปด้วยรถ ได้อัญเชิญท้าวเธอขึ้นประทับที่สุวรรณสีวีกาแล้วหามไป ให้ประทับนั่งที่ริมสระโบกขรณี จัดการพิทักษ์รักษาเป็นอันดีแล้วจึงกลับมา

ท้าวสักกะทรงประทานพร

เมื่อพระราชาประทับนั่งอยู่ที่บัลลังก์ทรงนึกถึงทานของพระองค์ด้วยทรงปีติยินดี ในขณะนั้นอาสนะของท้าวสักกเทวราชก็ร้อนขึ้น เมื่อพระองค์ทรงเล็งดูก็ทรงรู้เหตุนั้นจึงทรงดำริว่า เราจักให้พรแก่มหาราช แล้วจักทำจักษุให้เป็นปกติ จึงได้เสด็จมาเดินจงกรมอยู่ในที่ใกล้ของพระมหาสัตว์เจ้า พระมหาสัตว์เจ้าได้ทรงสดับเสียงฝีเท้าจึงตรัสถามว่า “ นั่นเป็นใคร ? ”
“ ข้าพเจ้าเป็นท้าวสักกะ ผู้เป็นจอมของเทวดา ได้มาหาท่านแล้ว ขอท่านจงเลือกพรตามพระประสงค์ ”
องค์พระมหาสัตว์จึงตรัสว่า “ ข้าแต่ท้าวสักกะ ทรัพย์ของข้าพเจ้าก็มีอยู่มากแล้ว กำลังก็มีอยู่มากแล้ว บัดนี้ข้าพเจ้าเป็นคนตาบอด พอใจแต่ความตายเท่านั้น ขอพระองค์จงประทานความตายแก่ข้าพเจ้าเถิด”
“ นี่แน่ะพระเจ้าสีวิราช เหตุไรพระองค์จึงอยากสิ้นพระชนม์ หรืออยากสิ้นพระชนม์เพราะความเป็นคนตาบอด ? ”
“ ข้าพเจ้าอยากสิ้นพระชนม์เพระความเป็นคนตาบอด ”
“ นี่แน่ะมหาราช อันธรรมดาการให้ทานย่อมไม่ให้ผลแต่ในภายหน้าเท่านั้น แม้ในปัจจุบันนี้ก็ให้ผล เขาขอพระเนตรของพระองค์เพียงข้างเดียว พระองค์ก็ได้พระราชทานทั้งสองข้าง เพราะฉะนั้น ขอพระองค์จงตั้งสัจจกิริยาเถิด เมื่อพระองค์ตั้งสัจจกิริยาพระเนตรก็จักเกิดขึ้นแก่พระองค์อีก”
“ ข้าแต่ท้าวสักกะ ถ้าพระองค์ประสงค์จะประทานจักษุให้แก่ข้าพเจ้า ก็ขออย่าได้ทำอุบายอย่างอื่น ด้วยใช้คำว่า จักษุจงเกิดขึ้นด้วยผลแห่งทานของเรา? ”
“ ข้าพเจ้าเป็นท้าวสักกเทวราช ผู้เป็นใหญ่กว่าเทพยเจ้าทั้งหลายก็จริง แต่ไม่อาจจะให้จักษุแก่ผู้อื่นได้ จักษุจะเกิดขึ้นด้วยกำลังแห่งทานที่พระองค์ได้พระราชทานแล้ว ”
“ ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าก็เป็นอันได้ให้ทานดีแล้ว ”

พระเนตรเกิดขึ้นเพราะสัจจกิริยา

เมื่อจะทรงทำสัจจกิริยา จึงได้ตรัสขึ้นว่า “ วณิพกผู้มีนามและโคตรเหล่าใดได้มาหาเราเพื่อจะขอสิ่งของ วณิพกเหล่านั้นก็ได้เป็นที่พอใจของเรา เมื่อผู้ใดขอจักษุต่อเราจักษุนั้นก็เป็นที่รักของเรา ด้วยคำสัจจะอันนี้จักษุจงเกิดขึ้นแก่เรา ”

พอขาดคำนี้ลง พระเนตรข้างที่หนึ่งก็เกิดขึ้นแก่พระเจ้าสีวิราช ในลำดับนั้นพระองค์จึงได้ตรัสต่อไป เพื่อให้เกิดพระเนตรข้างที่สองขึ้นว่า “ พราหมณ์ผู้นั้นได้มาขอจักษุต่อเราว่าขอพระองค์จงพระราชทานจักษุแก่ข้าพระองค์เถิด เราก็ได้ให้จักษุทั้งสองแก่พราหมณ์นั้น แล้วเราก็ได้มีปีติโสมนัสอย่างยิ่ง ด้วยคำสัจจะอันนี้ จักษุข้างที่สองจงเกิดมีแก่เรา ”

พอตรัสเท่านี้แล้ว พระเนตรข้างที่สองก็ได้เกิดขึ้นอีก

พระเนตรทิพย์

แต่พระเนตรทั้งสองนั้น จะว่าเป็นพระเนตรตามปกติก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นพระเนตรทิพย์ก็ไม่ใช่ เพราะพระเนตรที่พระเจ้าสีวีราชได้พระราชทานแก่พราหมณ์แล้วนั้น ใครๆ ไม่อาจทำให้เป็นปกติได้ ส่วนพระเนตรทิพย์ก็ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่วัตถุที่ถูกกระทบแล้ว (ประสาทตาพิการแล้ว) แต่พระเนตรเหล่านั้นท่านเรียกว่า “จักษุบารมี” เพราะสำเร็จด้วย “สัจจบารมี”

ในขณะนั้น ท้าวสักกเทวราชก็ได้ทรงบันดาลให้ราชบุรุษทั้งปวงมาประชุมพร้อมกัน เมื่อท้าวสักกะจะทรงสรรเสริญพระเจ้าสีวิราชในท่ามกลางมหาชน จึงได้ตรัสขึ้นว่า “ ข้าแต่มหาราชเจ้า ผู้ทรงบำรุงแว่นแค้นให้เจริญ พระดำรัสที่พระองค์ทรงทำสัจจกิริยานั้น เป็นพระดำรัสที่ชอบธรรม พระเนตรทั้งสองของพระองค์นี้ จักปรากฏเหมือนกับพระเนตรทิพย์ พระเนตรทั้งสองของพระองค์นี้ จักแลเห็นทั้งนอกฝา นอกกำแพงและภูเขา จักแลเห็นไกลได้ ๑๐๐ โยชน์ โดยไม่มีสิ่งใดขัดขวาง ”

เป็นอันว่า ท้าวสักกเทวราชได้ตรัสอย่างนี้ในท่ามกลางมหาชน แล้วตรัสเตือนว่า ขอพระองค์อย่าทรงประมาท ตรัสแล้วก็เสด็จกลับสู่เทวโลก

ตาทิพย์เป็นเหตุให้คนบริจาคทาน

ฝ่ายพระมหาสัตว์เจ้า พร้อมด้วยเหล่าข้าราชบริพาร จึงเสด็จเข้าพระนครด้วยกระบวนพยุหยาตราอันใหญ่หลวง เสด็จขึ้นประทับที่สุจันทกปราสาท การที่พระเจ้าสีวิราชได้มีพระเนตรขึ้นอีกนั้น ก็ได้ปรากฏไปตลอดแว่นแคว้นสีพี ชาวแว่นแคว้นสีพีก็ได้พร้อมกันนำเครื่องบรรณาการเป็นอันมากมาถวาย เพื่อจะได้เชยชมซึ่งพระเนตรของท้าวเธอ พระบาทท้าวเธอทรงพระดำริว่า จักพรรณนาทานของเราให้มหาชนฟัง จึงได้ตรัสสั่งให้สร้างปะรำใหญ่ขึ้นที่ประตูพระราชวังทั่วพระนคร ให้บรรดาผู้คนมาประชุมพร้อมกัน แล้วตรัสว่า “ ดูก่อนท่านทั้งหลายที่อยู่ในแว่นแคว้นสีพี ขอท่านทั้งหลายจงดูตาทิพย์ทั้งสองของเรา จำเดิมแต่นี้ไป เมื่อท่านทั้งหลายยังไม่ได้ให้ทานจงอย่าบริโภค ”

ตรัสดังนี้แล้ว จึงตรัสต่อไปอีกว่า “ ไม่ว่าใครๆ เวลามีผู้มาขอทาน ก็ย่อมไม่อยากให้ของที่พึงใจของตน ไม่อยากให้ของดีของรักของตน ของรักของดีของตนนั้นเราก็ได้ให้แล้ว เราขอเตือนท่านทั้งหลายที่อยู่ในแว่นแคว้นสีพีทั้งสิ้น ที่ได้มาประชุมกันแล้วในที่นี้ จงแลดูตาทิพย์ของเราในวันนี้เถิด ตาทิพย์ของเรานี้แลเห็นไปได้ตลอดนอกฝา นอกกำแพงและภูเขา แลเห็นไปได้รอบตัวข้างละ ๑๐๐ โยชน์ ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดจะประเสริฐเท่าการให้ทาน เราได้ให้ทานจักษุของมนุษย์ แต่เราก็ได้จักษุอันไม่ใช่ของมนุษย์ ท่านทั้งหลายที่อยู่ในแว่นแคว้นสีพี ได้เห็นจักษุทิพย์ที่เราได้แล้วนี้ จงพากันให้ทานเสียก่อน แล้วจึงบริโภคภายหลัง บุคคลที่ได้ให้ทาน และได้บริโภคตามกำลังของตนแล้ว ย่อมไม่มีผู้ใดติเตียนได้ ย่อมได้ไปสู่สุคติ ”

พระเจ้าสีวิราชบรมโพธิสัตว์ได้ทรงสั่งสอนประชาชนด้วยประการดังนี้ จำเดิมแต่นั้นมาพอถึงวันอุโบสถที่ ๑๕ ค่ำ ทุกกึ่งเดือนไป พระองค์ได้โปรดให้ประชาชนประชุมพร้อมกันแล้วทรงสั่งสอนอย่างที่ว่ามาแล้วนี้ทุกครั้งไป ประชาชนก็ได้พากันบำเพ็ญบุญกุศล มีทาน เป็นต้น เวลาสิ้นอายุแล้วก็ได้ไปเกิดในสวรรค์เป็นอันมาก ครั้นต่อมาภายหลังพระเจ้าสีวิราชก็ได้มาเกิดเป็นพระพุทธองค์ นายแพทย์สีวิกะนั้นก็ได้มาเกิดเป็นพระอานนท์ ท้าวสักกะนั้นก็ได้เกิดมาเป็นพระอนุรุทธ ส่วนประชาชนในคราวนั้นก็ได้มาเกิดเป็นพุทธบริษัทในบัดนี้

(เป็นอันว่า การเล่าเรื่องบุพจริยาของพระองค์เอง ได้มาสิ้นสุดเพียงเท่านี้ ไม่มีอะไรเป็นที่สงสัย แต่ทว่าพระเจ้ามิลินท์ยังมีปัญหาที่น่าสงสัยต่อไป นั่นก็คือ... )

ปัญหาที่ ๖ ถามเรื่องการตั้งครรภ์

ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า การตั้งครรภ์ย่อมมีด้วยประชุม ๓ คือ มารดาบิดาร่วมกัน ๑ มารดามีระดู ๑ มีสัตว์มาเกิด ๑ ดังนี้ ถ้าไม่พร้อมด้วยองค์ ๓ ย่อมเกิดไม่ได้ข้อนี้ทำให้โยมสงสัย เพราะเพียงทุกุลดาบส ถูกต้องสะดือของนางปาริกาตาปสินีในเวลามีระดูด้วยปลายนิ้วมือข้างขวาเพียงหนเดียวเท่านั้น ก็เกิดสุวรรณสามกุมารขึ้นได้ มาตังคฤาษีถูกต้องท้องของนางพราหมณีด้วยปลายเล็บข้างขวาในเวลามีระดูเพียงหนเดียวเท่านั้นก็เกิดมัณฆพยมาณพขึ้นได้ อิสิสิงคฤาษีเกิดขึ้นด้วยนางมฤคี (เนื้อ) ดื่มกินน้ำปัสสาวะของฤาษี สังกิจจฤาษีเกิดขึ้นได้ด้วยกิริยาอย่างเดียวกัน พระกุมารกัสสปเกิดขึ้นด้วยการกลืนกินซึ่งสัมภวะ (น้ำอสุจิ) ของบุรุษ ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าการตั้งครรภ์มีขึ้นด้วยการประชุม ๓ จริงแล้ว คำที่ว่าบุคคลเหล่านั้นเกิดด้วยอาการอย่างนั้นก็ผิดไป ปัญหานี้เป็นอุภโตโกฏิ ลึกละเอียดมากขอพระผู้เป็นเจ้าจงตัดความสงสัยของโยมด้วยเถิด

ผู้ที่เกิดขึ้นด้วยการประชุม ๒

พระนาคเสนถวายพระพรว่า “ มหาบพิตรได้ทรงสดับมาว่า สุวรรณสาม อิสิสิงคดาบส พระกุมารกัสสป เกิดขึ้นด้วยเหตุอย่างนี้ๆ หรือ ?”
พระเจ้ามิลินท์ตรัสตอบว่า “ ถูกแล้วพระผู้เป็นเจ้า โยมได้สดับมาว่ามีแม่เนื้อ ๒ ตัว ไปสู่ที่ถ่ายปัสสาวะของดาบส ๒ องค์ในเวลามีระดู ได้ดื่มกินน้ำปัสสาวะอันเจือด้วยสัมภวะของฤาษี จึงเกิดอิสิสิงคฤาษี และสังกิจจฤาษีเมื่อ พระอุทายีไปในที่พักของภิกษุณีก็นึกรักนางภิกษุณี จึงได้เพ่งดูนางภิกษุณีนั้น เมื่อเพ่งดูสัภวะก็ไหลออกมา เวลานั้นนางภิกษุณีกำลังมีระดู จึงอ้าปากรับสัมภวะนั้นแล้วก็ตั้งครรภ์ อยู่มาก็เกิดเป็น พระกุมารกัสสป ”
พระนาคเสนจึงถามต่อไปว่า “ คำที่ว่านี้ มหาบพิตรทรงเชื่อหรือ ? ”
“ โยมเชื่อ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ เชื่ออย่างไร ? ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พืชที่หว่านลงไปในดินที่ทำไว้ดีแล้ว ย่อมงอกขึ้นได้ไวฉันใด การตั้งครรภ์ของนางภิกษุณีนั้นก็ฉันนั้น”
“ เป็นอันมหาบพิตรทรงรับว่า การตั้งครรภ์ของพระกุมารกัสสป มีอย่างนั้นจริงหรือ ? ”
“ โยมเชื่อว่ามีอย่างนั้นจริง ”
“ ขอถวายพระพร ดีแล้ว ถ้าอย่างนั้นก็เป็นอันว่า มหาบพิตรทรงเชื่อแล้วว่า แม่เนื้อนั้นดื่มน้ำปัสสาวะแล้วตั้งครรภ์ ”
“ เชื่อแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าสิ่งใดๆ ที่บุคคลดื่มแล้ว กินแล้ว เคี้ยวแล้ว ลิ้มเลียแล้ว ตกลงไปในดินที่ดี ก็ย่อมงอกขึ้นได้ การตั้งครรภ์ด้วยการดื่มกินน้ำปัสสาวะก็มีขึ้นได้ฉันนั้น ”
“ เป็นอันว่า มหาบพิตรทรงแน่พระทัยแล้วหรือว่า อิสิสิงคดาบส พระกุมารกัสสป เกิดขึ้นด้วยการประชุม ๒ ”
“ แน่ใจแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”

ผู้ที่เกิดขึ้นด้วยการประชุม ๓

“ ขอถวายพระพร สุวรรณสามก็ดี มัณฑพยมาณพก็ดี ได้เกิดขึ้นด้วยการประชุมทั้ง ๓ นั้น คือ ทุกุลดาบส และนางปาริกาตาปสินี ทั้งสองนี้ได้ยินดีต่อวิเวกอยู่ในป่า มุ่งแสวงหาทางไปเกิดในพรหมโลก ไม่นึกเกี่ยวข้องกับทางโลกเลย แต่คราวนั้น พระอินทร์ทรงเล็งเห็นว่าต่อไปข้างหน้าคนทั้งสองนั้นจักเสียจักษุ จึงได้กล่าวขึ้นว่า “ขอท่านทั้งสองจงกระทำตามถ้อยคำของข้าพเจ้าสักอย่างหนึ่งเถิด คือขอให้ท่านทั้งสองจงทำให้เกิดบุตรสักคนหนึ่ง บุตรจักได้ปรนนิบัติท่านทั้งสอง” ดาบสและดาบสินีทั้งสองนั้นก็ตอบว่า “อย่าเลยมหาบพิตร อย่าตรัสอย่างนี้เลย” พระอินทร์ก็ได้อ้อนวอนขึ้นอีกเป็นครั้งที่ ๒ และที่ ๓ ดาบสดาบสีนีทั้งสองจึงกล่าวขึ้นว่า “ถึงแผ่นดินนี้จะถล่มลงไป ท้องฟ้าจักตกลงมา พระยาเขาจักโค่น ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์จักตกลงมาก็ตาม เราทั้งสองก็จักไม่ยินดีในโลกธรรม ขอมหาบพิตรอย่ามาหาเราทั้งสองอีก เพราะความคุ้นเคยของมหาบพิตรจะทำให้เราทั้งสองเสีย” เมื่อพระอินทร์ทรงขออย่างนั้นไม่ได้ จึงตรัสขึ้นว่า “เมื่อใดดาบสินีมีระดู เมื่อนั้นขอให้ท่านดาบสเอาปลายนิ้วก้อยข้างขวา แตะต้องสะดือของดาบสินี ก็จะเกิดตั้งครรภ์ขึ้น ท่านดาบสจะทำเพียงเท่านี้ได้หรือไม่ ?” ท่านดาบสตอบว่า “ เพียงเท่านี้พอทำได้ เพราะจะไม่ทำให้เสียศีลเสียธรรมของเรา” เมื่อดาบสรับอย่างนี้แล้ว พระอินทร์จึงกลับขึ้นสู่สวรรค์ ได้เสด็จไปอ้อนวอนเทพบุตรองค์หนึ่งซึ่งจวนจะจุติ ให้ลงมาถือกำเนิดในครรภ์ของนางดาบสินี เทพบุตรนั้นก็ไม่ยอมรับ ต่อเมื่อพระอินทร์ทรงอ้อนวอนถึง ๓ ครั้ง จึงยอมรับ พออยู่มาไม่ช้านางดาบสินีก็มีระดู ดาบสจึงแตะต้องสะดือด้วยปลายนิ้วก้อยข้างขวาตามคำสั่งของพระอินทร์ ก็พอดีเทพบุตรนั้นจุติลงมาถือกำเนิด เป็นอันว่าเทพบุตรนั้นเกิดขึ้นด้วยการประชุม ๓ คือนางดาบสินีเกิดราคะตัณหาในเวลาที่ดาบสเอาปลายนิ้วก้อยแตะต้องสะดือ ๑ มีระดู ๑ วิญญาณของเทพบุตรมาถือกำเนิด ๑

เหตุตั้งครรภ์อีก ๔ ประการ

อีกอย่างหนึ่ง สัตว์ทั้งหลายย่อมตั้งครรภ์ด้วยเหตุ ๔ คือ ด้วยกรรม ๑ กำเนิด ๑ ตระกูล ๑ การอ้อนวอน ๑ ที่เกิดด้วยกรรมนั้น คืออย่างไร... คือพวกที่ได้สะสมกุศลมูลมาแล้ว ย่อมได้เกิดในตระกูลกษัตริย์มหาศาล หรือพราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาล หรือเกิดเป็นเทพเจ้า หรือเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามประสงค์เปรียบเหมือนผู้มั่งมี จะซื้อสิ่งใดก็ซื้อได้ตามประสงค์ฉะนั้น ที่เกิดด้วยกำเนิดนั้น คืออย่างไร... คือพวกไก่ป่าย่อมตั้งท้องด้วยถูกลมพัด ฝูงนกยางย่อมตั้งท้องด้วยได้ยินเสียงฟ้าร้อง ส่วนเทพยดาทั้งหลายนั้นไม่ได้เกิดในครรภ์ เป็นอันว่าการตั้งครรภ์ของสัตว์ทั้งหลายย่อมมีต่างๆ กัน เหมือนกับกิริยาของมนุษย์ทั้งหลาย ที่ต่างๆ กันด้วยการนุ่งห่มการแต่งตัวเป็นต้นฉะนั้น ที่เกิดด้วยอำนาจตระกูลนั้น คืออย่างไร...คือตระกูลที่มีอยู่ ๔ อันได้แก่ ตระกูลเกิดในฟองไข่ ๑ ตระกูลเกิดในท้อง ๑ ตระกูลเกิดในเหงื่อไคล ๑ ตระกูลเกิดเอง ๑ สัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดในตระกูลทั้ง ๔ นี้ที่เกิดด้วยอำนาจการขอนั้น คือตระกูลที่ไม่มีบุตร แต่มีทรัพย์สมบัติมาก มีศรัทธา มีศีลธรรมอันดี แล้วอ้อนวอนขอให้มีบุตรก็มี พระอินทร์ช่วยอ้อนวอนเทพบุตรองค์ใดองค์หนึ่ง ให้ลงมาเกิดในตระกูลนั้น ขอถวายพระพร สุวรรณสามได้ลงมาเกิดในครรภ์ของนางปาริกาตาปสินีตามคำอ้อนวอนของพระอินทร์ สุวรรณสามนั้นเป็นผู้ทำบุญไว้แล้ว ส่วนมารดาบิดาก็เป็นผู้มีศีลธรรมอันดีพอเหมาะกัน เปรียบเหมือนกับพืชที่หว่านลงในที่ดินที่ดี ก็งอกงามขึ้นได้ฉันนั้น

สุวรรณสามเกิดด้วยเนรมิต ๓

“ มหาบพิตรได้เคยทรงสดับว่า มีบ้านเมืองพินาศไปด้วยความข่มใจแห่งฤาษีทั้งหลายบ้างหรือ? ”
“ เคยได้ยิน พระผู้เป็นเจ้า คือบ้านเมืองของ พระราชาทัณฑกะ พระราชาเมชฌะ พระราชากาลิงคะ พระราชามาตังคะ ได้ถึงความพินาศไปด้วยความขุ่นแค้นของฤาษีทั้งหลาย”
“ ขอถวายพระพร พวกที่ได้ความสุขเพราะใจผ่องใสของฤาษีทั้งหลายมีอยู่หรือ? ”
“ มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นขอจงทรงจำไว้เถิดว่า สุวรรณสามเกิดด้วยใจผ่องใสของสิ่งทั้ง ๓ ที่มีกำลังแรงกล้า คือ ฤาษีเนรมิต ๑ เทวดาเนรมิต ๑ บุญเนรมิต ๑ อีกประการหนึ่ง เทพบุตรทั้ง ๔ องค์ก็ได้ลงมาเกิดด้วยพระอินทร์ทรงอ้อนวอนเทพบุตรทั้ง ๔ องค์นั้น คือ สุวรรณสาม ๑ พระเจ้ากุสราช ๑ พระเจ้ามหาปนาท ๑ พระเวสสันดร ๑ ขอถวายพระพร ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์นี้ พระผู้เป็นเจ้าได้แก้ไขถูกต้องดีแล้วโยมรับว่าเป็นจริงทุกประการ”


ขอขอบคุณต้นฉบับ : www.geocities.com/SouthBeach/Terrace/4587/milindl.htm

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น