Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

มิลินทปัญหา ตอนที่ 21

มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 21 : เมณฑกปัญหาวรรคที่ ๒ ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องพ้นจากบ่วงมรณะ, ปัญหาที่ ๕ ถามเรื่องอันตรายแห่งลาภของพระพุทธเจ้า

ตอนที่ ๒๑

ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องพ้นจากบ่วงมรณะ


พระเจ้ามิลินทร์ตรัสถามปัญหาสืบไปว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า สัตว์ทั้งหลายจะเร้นซ่อนตนอยู่ในที่ใดๆ ก็ตาม ที่พ้นความตายไม่มี ที่ความตายจะครอบงำไม่ได้ไม่มีดังนี้ แต่ได้ทรงแสดงพระปริตร คือพระพุทธมนต์อันเป็นเครื่องป้องกันไว้ พระปริตรนั้นได้แก่อะไรบ้างคือ ขันธปริตร ๑ สุวัตถิปริตร ๑ โมรปริตร ๑ ธชัคคปริตร ๑ อาฏานาฏิยปริตร ๑ ถ้าผู้อยู่ในอากาศ หรือในท่ามกลางมหาสมุทร หรืออยู่ในท่ามกลางภูเขา ไม่พ้นจากอำนาจความตายแล้ว พระปริตรนั้นก็ผิดไป ถ้าพ้นจากความตายด้วยพระปริตร คำว่า “ที่ความตายไม่ครอบงำไม่มีนั้น”
ก็ผิดไป ปัญหานี้เป็นอุภโตโกฏิ ยุ่งยากมาก ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแก้ไขให้ง่ายเถิด”

พระนาคเสนจึงตอบว่า “ ขอถวายพระพร สมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสไว้อย่างนั้นจริง และได้ทรงแสดงพระปริตรไว้เป็นอันมากจริง พระปริตรนั้นย่อมป้องกันได้เฉพาะผู้ที่ยังไม่หมดอายุขัย ทั้งไม่มีบุพพกรรมมาตัดรอนเท่านั้น ส่วนผู้ที่หมดอายุขัยแล้ว ไม่สามารถที่กระทำอย่างใดที่จะให้มีอายุสืบต่อไปได้ ขอถวายพระพร ต้นไม้ที่ตายแล้ว แห้งผุแล้ว ไม่มียางแล้ว มีเปลือกกระพี้ร่วงไปหมดแล้ว ถึงจะตักน้ำมารดวันละพันโอ่งก็ตาม ต้นไม้แห้งนั้นก็ไม่กลับสดเขียวขึ้นได้อีกฉันใด ผู้ที่หมดอายุขัยแล้ว จะทำให้มีอายุด้วยยาหรือด้วยพระปริตรก็ไม่ได้ฉันนั้น ยาทั้งสิ้นในแผ่นดินนี้ ไม่มีประโยชน์แก่ผู้ที่หมดอายุขัยแล้ว มีประโยชน์แก่ผู้มีอายุขัยยังเหลืออยู่เท่านั้น พระปริตรทั้งหลายก็รักษาคุ้มครองอยู่แต่ผู้ยังไม่ถึงที่ตาย ผู้ไม่มีบุพพกรรมตามทันเท่านั้น สมเด็จพระทรงธรรม์ได้ทรงแสดงพระปริตรไว้เพื่อผู้มีอายุขัยยังเหลืออยู่ ทั้งไม่มีบุพพกรรมเท่านั้น ชาวนาเมื่อข้าวแก่แล้วก็กั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้าไปในนา ส่วนข้าวกล้าที่ยังไม่แก่ ก็งอกงามขึ้นด้วยน้ำที่มีอยู่ฉันใด ยากับพระปริตรก็มีไว้สำหรับผู้ยังมีอายุขัยเหลืออยู่ฉันนั้น”

“ ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าผู้หมดอายุขัยแล้วย่อมตายไป ผู้ยังไม่หมดอายุขัยก็ยังมีชีวิตอยู่เป็นธรรมดา พระปริตรกับยาก็ไม่มีประโยชน์อันใด ? ”
“ ขอถวายพระพร ผู้ที่หายจากโรคด้วยยา มหาบพิตรเคยเห็นหรือไม่? ”
“ เคยเห็นหลายร้อยราย พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ถ้าอย่างนั้น คำที่มหาบพิตรว่า ยากับพระปริตรไม่มีประโยชน์ก็ผิดไป”
“ ข้าแต่พระนาคเสน โรคย่อมหายไปด้วยการกระทำของหมอทั้งหลายมีปรากฏอยู่”
“ ขอถวายพระพร มหาบพิตรได้เคยทรงสดับเสียงของผู้สวดพระปริตรจนลิ้นแห้งอ่อนใจ คอแหบ แล้วหายจากความเจ็บไข้ทั้งปวง หายจัญไรทั้งปวง และเคยเห็นหรือไม่ว่า ผู้ถูกงูกัดแล้วหายด้วยอำนาจมนต์? ”
“ เคยได้สดับ ผู้เป็นเจ้า เพราะในโลกได้เคยมีอย่างนี้ จนกระทั่งทุกวันนี้ ”
“ ขอถวายพระพร กุศลที่พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญมานั้น เป็นของที่ให้สำเร็จประโยชน์ แต่กุศลนั้นอันมารผู้ใจบาปปิดไว้เสียด้วยกำลังอกุศลจิตอันแรงกล้าของตน ”

“ ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอย่างนั้น ก็จะมีคำกล่าวเข้ามาได้ ๒ ประการ คือประการหนึ่งว่า “อกุศลมีกำลังมากกว่ากุศล” อีกประการหนึ่งว่า “มารมีกำลังมากกว่าพระพุทธเจ้า” ข้างปลายไม้หนักกว่าข้างต้น ผู้ที่ลามกมีกำลังกว่าผู้สมบูรณ์ด้วยความดี จะมีได้เพราะเหตุใด ? ”
“ ขอถวายพระพร ไม่ใช่อกุศลมีกำลังมากกว่ากุศลเลย ไม่ใช่มารมีกำลังมากกว่าพระพุทธเจ้าเลย แต่มีเหตุอยู่อย่างหนึ่งซึ่งเป็นของควรรู้ คือมีบุรุษคนหนึ่ง นำเอาน้ำผึ้ง น้ำอ้อย ข้าว น้ำ อย่างใดอย่างหนึ่งมาถวายพระเจ้าจักรพรรดิ นายประตูบอกว่า ไม่ใช่เวลาเฝ้าพระราชา พวกท่านจงขับคนนี้ออกไปเสียโดยเร็ว อย่าให้พระราชาทรงลงโทษ บุรุษนั้นกลัวพระราชอาญา จึงรีบถือเอาของเหล่านั้นกลับไปโดยเร็ว ขอถามมหาบพิตรว่า จะว่าพระเจ้าจักรพรรดิมีกำลังน้อยกว่านายประตู ด้วยเหตุเพียงไม่ให้นำของเข้าไปถวาย ทั้งไม่ให้ผู้อื่นได้รับของนั้นด้วยหรืออย่างไร? ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่นายประตูนั้นมีกำลังมากกว่า”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ไม่ใช่ว่ามารที่เข้าดลใจพวกพราหมณ์และคฤหบดีที่บ้านปัญจสาลคามด้วยความริษยานั้นจะมีกำลังมากกว่า พวกเทวดาอื่นอีกตั้งหลายแสนกล่าวกันว่าพวกเราจักถือเอาทิพยโอชาอันไม่รู้จักตายเข้าไปโปรยลงในพระกายของพระพุทธเจ้า แล้วก็พากันไปยืนประนมมือเฝ้าอยู่ ”

ปัญหาที่ ๕ ถามเรื่องอันตรายแห่งลาภของพระพุทธเจ้า

พระเจ้ามิลินท์ตรัสต่อไปว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน ข้อนี้จงยกไว้ อันปัจจัย ๔ เป็นของพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดในโลกนี้ได้โดยง่าย พระพุทธเจ้าย่อมได้เสวยพระกระยาหารตามพระพุทธประสงค์ พระพุทธเจ้าผู้ที่เทวดาทั้งหลายทูลอ้อนวอนแล้วย่อมเสวยปัจจัย ๔ แต่ว่าความประสงค์อันใดของมารมีอยู่ ความประสงค์อันนั้นก็สำเร็จด้วยเหตุที่ไม่ให้พระพุทธเจ้าได้อาหารบิณฑบาต เป็นอันว่ามารได้ทำอันตรายแก่โภชนาหารของพระพุทธเจ้า โยมยังสงสัยในข้อนี้มาก เพราะสมเด็จพระบรมโลกนาถผู้ล้ำเลิศในโลก ผู้ได้สะสมบุญกุศลไว้เต็มที่แล้ว ผู้ไม่มีผู้เสมอ ไม่มีผู้เกลียด แต่มารยังทำอันตรายแก่ลาภอันเล็กน้อยได้ ”

อันตรายแห่งลาภ ๔ ประการ

“ ขอถวายพระพร อันตรายแห่งลาภมีอยู่ ๔ ประการ คือ อทิฏฐันตราย ๑ อุทิสกตันตราย ๑ อุปักขตันตราย ๑ ปริโภคันตราย ๑ อทิฏฐันตราย นั้นคืออย่างไร ? คือมีผู้ใดผู้หนึ่งกระทำการขัดขวางซึ่งลาภอันบุคคลตกแต่งไว้โดยเฉพาะเจาะจง และไม่ทันได้เห็นผู้จะรับ ด้วยการกล่าวว่า “ประโยชน์อะไรในการให้แก่ผู้อื่น” ดังนี้ อันนี้ชื่อว่าอทิฏฐันตราย อุทิสกตันตรายนั้นได้แก่อะไร ? ได้แก่การขัดขวางซึ่งโภชนะ อันบุคคลจัดไว้เฉพาะเจาะจงผู้รับ อุปักขตันตรายนั้นได้แก่สิ่งใด ? ได้แก่การขัดขวางซึ่งลาภอันผู้ใดผู้หนึ่งตกแต่งไว้แล้วแต่ผู้รับยังไม่ได้รับ ปริโภคันตรายนั้นเป็นประการใด ? คือการขัดขวางลาภในขณะที่บริโภคอยู่ มหาบพิตร มารผู้ลามกได้เข้าสิงใจพวกพราหมณ์และคฤหบดีในบ้านปัญจสาลคามไม่ให้ใส่บาตพระพุทธเจ้านั้น เป็นการขัดลาภที่บุคคลยังไม่ได้ตกแต่งไว้ และไม่ได้กระทำไว้เฉพาะว่าจะถวาย หรือให้แก่ผู้นั้นผู้นี้ ทั้งยังไม่ได้เห็นผู้รับด้วย ไม่เข้าในลักษณะ ๔ นั้นการที่มารขัดขวางลาภคราวนั้น ไม่ใช่ขัดขวางเฉพาะลาภของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น แม้พวกนิครนถ์ทั้งหลายก็ไม่ได้โภชนาหารเลย ในวันนั้นอาตมภาพไม่เล็งเห็นผู้จะขัดขวางลาภ ๓ ประการ คือลาภที่จะจัดไว้เฉพาะ ๑ จัดตั้งไว้แล้ว ๑ กำลังเสวยอยู่ ๑ ของพระพุทธเจ้าได้ ถ้าผู้ใดขัดขวางลาภ ๓ ประการนี้ของพระพุทธเจ้า ด้วยความริษยาเกลียดชัง ศีรษะของผู้นั้นจะต้องแตกร้อยเสี่ยงพันเสี่ยงเป็นแน่แท้ ”

อนาวรณิยฐาน ๔ ประการ

“ ขอถวายพระพร สมเด็จพระชินวรเจ้ามีของอยู่ ๔ ประการ ที่ไม่มีใครหวงห้ามกั้นกางได้ เรียกว่า อนาวรณิยฐาน ของ ๔ ประการนั้นคืออะไรบ้าง คือลาภที่บุคคลตั้งใจจัดไว้เฉพาะพระพุทธองค์ ๑ พระรัศมีด้านละวาที่ประจำพระองค์ ๑ พระสัพพัญญุตญาณ ๑ พระชนม์ชีพ ๑ ของ ๔ ประการนี้ ไม่มีใครๆ ในโลกจะทำอันตรายได้ ของ ๔ ประการนี้มีรสเป็นอันเดียวกัน คือเป็นของที่แน่นอน คงที่ ไม่มีใครทำให้แปรปรวนเป็นอย่างอื่นได้ การที่มารผู้ลามกเข้าสิงใจของพวกพราหมณ์และคฤหบดี ในปัญจสาลคามคราวนั้น ด้วยการลอบเข้าสิงใจ เหมือนกับหญิงที่มีสามีลอบคบบุรุษอื่นฉะนั้น ขอถวายพระพร ถ้าหญิงคบหาบุรุษต่อหน้าสามี เขาจักได้รับความสวัสดีหรือไม่? ”
“ ไม่ได้รับเลย พระผู้เป็นเจ้า ถ้าสามีได้เห็นก็จะต้องฆ่าตี จองจำ หรือปลดให้เป็นทาสี อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือมารลอบเข้าสิงใจพวกพราหมณ์และคฤหบดีในบ้านปัญจสาลคาม ถ้าได้กระทำอันตรายแก่ลาภของพระพุทธเจ้า ที่เขาทำไว้ด้วยตั้งใจถวายพระพุทธเจ้าแล้ว ยกเข้าไปตั้งไว้แล้ว หรือพระพุทธเจ้ากำลังเสวยอยู่ มารนั้นจะต้องแหลกเป็นผงไปเหมือนขี้เถ้า หรือไม่อย่างนั้นศีรษะของมารนั้นก็จะต้องแตกออกไปร้อยเสี่ยงพันเสี่ยง อีกประการหนึ่ง เหมือนกับพวกโจรลอบทำร้ายคนเดินทางในปลายแดนพระราชอาณาเขต พระราชาได้พบเห็นก็จะต้องให้ผ่าศีรษะของโจรนั้นด้วยขวานให้แตกเป็นร้อยเสี่ยงพันเสี่ยงฉะนั้น ขอถวายพระพร”
“ สาธุ... พระผู้เป็นเจ้า ปัญหานี้ลึกซึ้งยากยิ่งนัก ยากที่บุคคลอื่นจะแก้ไขได้ พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนาให้แจ้งกระจ่างแล้ว โยมจะขอรับเอาไว้ในกาลบัดนี้ ”

พระเจ้ากุสราช (ตอนที่ ๓)


พระราชาเสด็จตามพระมเหสี

ฝ่ายพระเจ้ากุสราชแม้จะได้รับบำรุงบำเรอจากนางสนมทั้งหลาย ก็ไม่อาจคลายความเศร้าโศกอาลัยได้ พระองค์จึงกราบทูลพระราชมารดาไปสาคลนคร เพื่อติดตามหาพระนางประภาวดีเอกอัครมเหสีต่อไป เมื่อพระราชาจะเสด็จออกจากพระนคร พระองค์ทรงเหน็บพระแสงอาวุธ ๕ อย่างและทรงบรรจุกหาปณะพันหนึ่งลงในย่ามพร้อมด้วยภาชนะพระกระยาหาร มือถือพิณทิพย์ไปแต่ลำพังพระองค์ พระโพธิสัตว์ทรงมีพระกำลังเรี่ยวแรงมาก ทรงดำเนินไปสิ้นระยะทาง ๑๐๐ โยชน์ ก็ถึงเมืองสาคละในเวลาเย็น เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปแล้วเท่านั้น ด้วยเดชานุภาพแห่งพระโพธิสัตว์ พระนางประภาวดีจะทรงบรรทมอยู่บนพระที่มิได้ ต้องเสด็จลงมาบรรทมเหนือภาคพื้น

ในขณะที่พระองค์ทรงดำเนินมาตามถนนมีหญิงคนหนึ่งเชื้อเชิญให้ประทับในบ้านของตน พร้อมได้จัดที่บรรทมและพระกระยาหารเสวย ครั้งเสวยเสร็จแล้วได้พระราชทานทรัพย์พันหนึ่ง กับภาชนะทองคำแก่หญิงคนนั้น แล้วฝากพระแสงเบญจาวุธไว้ที่บ้านนั้น พระองค์ทรงถือเอาพิณเสด็จไปยังโรงช้าง ขออนุญาตจากคนเลี้ยงช้างแล้วบรรทมระงับความเหน็ดเหนื่อยแล้ว จึงทรงลุกขึ้นดีดพิณขับร้องประสานเสียง ด้วยทรงมุ่งหวังจะให้ชาวเมืองสาคละได้ยิน พอพระนางประภาวดีได้ทรงสดับเสียงขับร้อง ก็ทรงทราบว่าพระเจ้ากุสราชคงจะเสด็จตามเรามาอย่างแน่นอน

พระโพธิสัตว์ทรงปลอมเป็นนายช่าง

เมื่อพระเจ้ากุสราชทรงเห็นว่าอยู่ที่โรงช้างไม่อาจจะได้เห็นพระนางประภาวดีพระองค์จึงเสด็จกลับไปที่เรือนหญิงนั้นอีก ทรงฝากพิณไว้ แล้วได้เสด็จไปขอเป็นลูกมือช่างปั้นภาชนะต่างๆ ถวายหลวง พระองค์ได้ทรงปั้นภาชนะที่เขาจะทำไปถวายพระนางประภาวดีนั้น ทำให้มีลวดลายต่างๆ เมื่อทรงปั้นและเผาเสร็จแล้ว ให้พวกช่างนำไปถวายพระเจ้ามัทราช พระบาทท้าวเธอทรงแปลกพระหฤทัย จึงตรัสถามจนได้ทราบความจริงแล้ว ได้พระราชทานทรัพย์พันหนึ่งเป็นรางวัล พร้อมกับรับสั่งอีกว่า “ คนๆ นี้ไม่ควรเป็นศิษย์ของเจ้า ที่ถูกต้องเป็นอาจารย์ของเจ้า เจ้าจงศึกษากับเขาเถิด นับตั้งแต่นี้ไปจงให้เขาเป็นคนทำเครื่องปั้น ให้เป็นเครื่องเล่นสำหรับธิดาของเราทุกๆ คน ”

ช่างปั้นนั้นก็รับเอาพระราชทรัพย์กลับมาถวายพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ก็ปั้นเครื่องเล่นต่างๆ ส่งเข้าไปถวายพระราชธิดาทั้ง ๗ พระองค์ของพระเจ้ามัทราช เฉพาะที่จะถวายพระนางประภาวดีนั้น พระองค์ได้ทรงปั้นใหวิจิตรบรรจงยิ่งกว่าองค์อื่นๆ พอพระนางได้ทอดพระเนตรเห็นพระรูปของพระราชสวามี และรูปนางขุชชาอยู่ในเครื่องปั้นก็ทรงทราบว่าเป็นของพระเจ้ากุสราชกระทำ จึงทรงโยนของนั้นทิ้ง ตรัสว่าใครอยากได้ก็จงเอาไป ฝ่ายพระเจ้าน้องทั้งหลายทรงยิ้มแล้วกราบทูลว่า ขอพระพี่นางจงทรงรับไว้เถิด เพราะของพวกนี้พวกนายช่างได้ทำขึ้นเฉพาะพระพี่นางเท่านั้น พระนางประภาวดีก็ทรงนิ่งเสียไม่ตรัสบอกว่าเป็นของพระเจ้ากุสราชทรงกระทำ เพราะไม่ต้องการที่จะให้ใครทราบว่าพระเจ้ากุสราชเสด็จตามมา

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่าเราอยู่ในที่นี้ไม่อาจได้เห็นพระนาง จึงไปขอเป็นลูกมือของนายช่างจักสาน ออกจากนายช่างจักสานไปเป็นลูกมือของนายช่างดอกไม้ ในเวลาที่พระองค์อยู่ในสำนักทั้งสองนี้ได้ทำเครื่องจักสานและดอกไม้ต่างๆ เข้าไปถวาย เหตุการณ์ก็เป็นเช่นเดิม โดยเฉพาะพระนางประภาวดี ได้โยนทิ้งเสียทุกคราว พระเจ้ากุสราชจึงเสด็จไปขอเป็นลูกมืออยู่กับเจ้าหน้าที่ห้องเครื่องต้น ซึ่งเป็นผู้ทำเครื่องเสวยถวายพระเจ้ามัทราช วันหนึ่งพระโพธิสัตว์ได้ปิ้งเนื้อถวายพระเจ้ามัทราช พระองค์เสวยก็ทรงรู้สึกว่ามีโอชารสแปลกกว่าเนื้อปิ้งที่เคยเสวยแล้ว จึงตรัสสั่งให้เป็นพนักงานทำพระกระยาหารถวายพระราชธิดาของพระองค์ นับแต่วันนั้นไปพระโพธิสัตว์ได้ทรงทำเครื่องเสวยเสร็จแล้ว ทรงหาบไปถวายพระราชธิดาเอง พระนางประภาวดีได้ทอดพระเนตรเห็นก็ทรงดำริว่า พระเจ้ากุสราชมาทำงานอย่างทาสกรรมกรไม่สมควรแก่พระองค์เลย ถ้าเราจะปล่อยให้เสด็จมาอย่างนี้ เขาก็จะเข้าใจว่าเรารักเขา จำเราจะด่าเสียให้เจ็บใจ เพื่อไม่ให้มาอีกต่อไป พระนางจึงไปแอบอยู่ที่บานประตูข้างหนึ่งแล้วตรัสว่า “ ท่านต้องมาแบกหามให้ได้รับความลำบาก ทั้งกลางวันและกลางคืนเช่นนี้ ด้วยมีความประสงค์ตัวเรา แต่เราขอบอกว่าเชิญท่านกลับไปบ้านเมืองเสียจะดีกว่า จงไปหานางยักษิณีซึ่งมีหน้าคล้ายขนมเบื้องไปเป็นมเหสีเถิด เราไม่ต้องการที่จะอยู่กับท่านอีกแล้ว ”

พระโพธิสัตว์ได้ทรงสดับอย่างนี้แล้วทรงดีพระทัยจึงตรัสตอบว่า “ เราติดใจในรูปโฉมของเจ้ามาก การที่เราต้องทิ้งบ้านเมืองเพราะอยากเห็นหน้าเจ้า น้องประภาวดี... นอกจากตัวเจ้าแล้วเราไม่ต้องการสิ่งใดอีก”
พระโพธิสัตว์ตรัสอย่างนี้แล้ว พระนางประภาวดีจึงทรงปิดประตูเสีย พระองค์จึงทรงหามเครื่องเสวยไปถวายพระราชธิดาองค์อื่นๆ ตามลำดับ สำหรับเครื่องเสวยของพระนาง ทรงโปรดให้นางขุชชาบริโภค และได้เสวยส่วนของนางขุชชาแทน แล้วได้ทรงซ่อนพระองค์อยู่ภายในห้องบรรทม ไม่ให้พระบรมโพธิสัตว์ได้เห็นพระองค์อีก

ฝ่ายพระเจ้ากุสราชปรารถนาจะทดลองดูว่า พระนางจะมีความรักต่อพระองค์บ้างหรือไม่ จึงทรงหาบเครื่องเสวยเปล่าผ่านประตูพระตำหนักของพระนาง แล้วทรงแกล้งล้มสลบอยู่ตรงนั้น พระนางได้ยินเสียงดังโครมครามจึงเปิดประตู ทรงเห็นพระโพธิสัตว์ล้มลงสลบ ก็ทรงสังเวชพระทัยว่า พระกุสราชนี้ช่างมาลำบากเพราะตัวเราแท้ๆ พระนางจึงรีบเสด็จออกไปก้มลงดูพระพักตร์เพื่อตรวจลมหายใจที่พระนาสิก (จมูก) ของพระเจ้ากุสราช พอได้ทีพระโพธิสัตว์ก็ถ่มพระเขฬ (น้ำลาย) รดพระพักตร์พระนางเจ้า พระนางทรงพิโรธด่าว่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย แล้วเสด็จเข้าสู่พระตำหนักประทับยืนตรัสอยู่ข้างประตูว่า “ ดูก่อนพระเจ้ากุสราช คนใดที่อยากได้คนที่ไม่อยากได้ตัว คนนั้นย่อมไม่มีความเจริญ ก็ฉันไม่รักท่าน ท่านจะให้ฉันรักท่าน มาอยากได้คนที่เขาไม่รักตัวเช่นนี้ ท่านก็ไม่มีความเจริญ ”
พระโพธิสัตว์เจ้าตรัสตอบว่า“ นี่แน่ะประภาวดี คนใดได้คนซึ่งเขาจะรักตัวก็ตาม ไม่รักตัวก็ตาม มาเป็นที่รักสมประสงค์แล้ว ฉันเรียกการได้นั้นว่าเป็นการดี ผิไม่ได้เป็นการไม่ดี ”

ทั้งสองได้ตรัสโต้ตอบกันอีกหลายคำแต่รวบรัดตัดตอนว่าไม่สามารถตกลงกันได้พระนางจึงปิดประตูเข้าตำหนักไป พระโพธิสัตว์จึงทรงยกหาบเครื่องเสวยกลับจากพระตำหนักทันที ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ได้ทรงพบเห็นพระนางอีก เมื่อพระบรมกษัตริย์เจ้าทรงทำหน้าที่พนักงานเครื่องต้นอยู่นั้นทรงลำบากยิ่งนัก พอเสวยเช้าแล้วก็ต้องทรงผ่าฟืน ทรงล้างภาชนะน้อยใหญ่แล้วเสด็จไปตักน้ำ ถึงยามบรรทมก็บรรทมอยู่ข้างรางน้ำ พอตื่นบรรทมขึ้นก็ทรงทำเครื่องเสวยแล้วหาบไปถวายพระราชธิดาทั้งหลาย การที่พระองค์ต้องทรงลำบากอย่างยิ่งนี้ ก็เพราะอาศัยรักใคร่ยินดีในกามารมณ์เป็นต้นเหตุ

นางขุชชารับเป็นแม่สื่อ

อยู่มาวันหนึ่งพระองค์ทอดพระเนตรเห็นนางขุชชามาที่ข้างห้องเครื่อง จึงตรัสขอร้องให้นางค่อมช่วยทำให้พระนางประภาวดีมีความกรุณา อย่างน้อยแค่ให้แลดู หรือยิ้มแย้มแจ่มใสต่อพระองค์บ้าง เมื่อกลับไปกรุงกุสาวดีแล้วจะมอบรางวัลให้อย่างเต็มที่ นางขุชชาก็ทูลรับคำว่าอีกสองสามวันหม่อนฉันจะทำพระนางประภาวดีให้อยู่ในอำนาจของพระองค์ กราบทูลดังนี้แล้วก็กลับเข้าไปในตำหนักพระนาง ทำทีเข้าไปปัดกวาดจัดตั่งเป็นที่ประทับ แล้วกราบทูลว่าจะสางพระเกศาถวาย เมื่อมีโอกาสจึงทูลขึ้นว่า “ พระราชบุตรีนี้ช่างไม่ทรงระลึกถึงครั้งยังอยู่กับพระเจ้ากุสราช บัดนี้พระราชสวามีได้เสด็จมาเป็นคนรับใช้ การที่พระองค์ต้องทรงทนลำบากเช่นนี้ เป็นเพราะทรงอาลัยในพระแม่เจ้าผู้เดียวเท่านั้น แต่พระแม่เจ้าช่างไม่มีเยื่อใย ทำเหมือนอย่างเป็นคนอื่นคนไกล หม่อมฉันเห็นว่าไม่เป็นการสมควรยิ่งนัก ”

ครั้งกราบทูลอย่างนี้แล้วก็หยุดวาจานิ่งฟัง ว่าพระนางเจ้าจะตรัสประการใด พระนางประภาวดีได้ทรงสดับถ้อยคำของพี่เลี้ยงดังนี้แล้วก็ทรงกริ้วว่า พระพี่เลี้ยงแนะนำให้พระนางทรงโน้มพระทัยต่อพระราชสวามีผู้มีพระรูปพระโฉมอันน่าเกลียด พระพี่เลี้ยงก็ทำเป็นโกรธผลักพระนางเข้าไปในห้องแล้วปิดประตูเสีย พระนางขัดพระทัยขึ้นมาจึงด่าออกไป แต่นางขุชชาก็ไม่เปิดประตูถวาย แต่กลับทูลสรรเสริญพระเจ้ากุสราชว่า “ อันความสวยงามของพระแม่เจ้าจะเอาไปทำสิ่งใดได้ อย่าเทียบพระเจ้ากุสราชด้วยพระรูปพระโฉม พระองค์นั้นสมบูรณ์ด้วยพระราชอิสริยยศ พระแม่เจ้าจงทรงรักพระองค์ด้วยพระคุณสมบัติของพระองค์จึงจะเป็นการดี พระเจ้ากุสราชนั้นเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยพระราชทรัพย์ ทรงพระกำลังกายกำลังใจเข้มแข็ง มีพระราชอาณาจักรอันกว้างใหญ่ประเสริฐกว่ากษัตริย์ทั้งหลาย มีพระสุรเสียงก้องกังวานเหมือนกับเสียงราชสีห์ มีพระสุรเสียงไพเราะ เป็นผู้ทรงชำนาญในศิลปศาสตร์ตั้ง ๑๐๐ อย่าง โดยไม่ได้ศึกษามาจากผู้ใด ขอพระแม่ทรงเทียบพระรูปสมบัติของพระแม่เจ้ากับคุณสมบัติของพระเจ้ากุสราชจึงจะถูกต้อง แล้วทรงรักใคร่ในพระเจ้ากุสราชด้วยพระคุณสมบัติจึงจะเป็นการดี”

เมื่อพระนางประภาวดีได้ทรงสดับถ้อยดังนี้แล้ว จึงทรงขู่ตวาดออกมาบ้าง ฝ่ายนางขุชชาก็แกล้งเอ็ดขึ้นว่า จะไปกราบทูลพระราชบิดาให้ทรงทราบเรื่องนี้ให้จงได้ พระนางเกรงว่าจะมีผู้รู้เรื่องเข้าจึงยอมแพ้นางขุชชาตั้งแต่นั้นมาพระบรมโพธิสัตว์ก็ไม่ได้ทรงเห็นพระนางประภาวดีเลย พระองค์ทรงลำบากยากแค้นเรื่องการเสวยและการบรรทมอยู่ถึง ๗ เดือน จนพระบรมโพธิสัตว์หมดอาลัยในพระอัครมเหสี จึงทรงพระดำริที่จะกลับพระนครของพระองค์ ดังนี้


ขอขอบคุณต้นฉบับ : www.geocities.com/SouthBeach/Terrace/4587/milindl.htm

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น