Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

พระอนุรุทธะ

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้เป็นตัวอย่างการบรรลุธรรมของพระอนุรุทธะนะครับ

พระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓

ทุติยอนุรุทธสูตร


(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๐ หน้า : ๓๘๐ ข้อ : ๑๓๑)

ว่าด้วยพระอนุรุทธะสนทนากับพระสารีบุตร

[๕๗๐] ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร ครั้นเข้าไปถึงแล้ว ก็ชื่นชมกับท่านพระสารีบุตร กล่าวถ้อยคำที่ทำให้เกิดความชื่นบานต่อกัน เป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่งลง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง แล้วกล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า อาวุโสสารีบุตร ข้าพเจ้า (อยู่) ในที่นี้ตรวจดูสหัสสโลก (๑,๐๐๐ โลก) ได้ด้วยจักษุทิพย์อันบริสุทธิ์เกินจักษุมนุษย์สามัญ อนึ่ง ความเพียรข้าพเจ้าก็ทำไม่ท้อถอย สติก็ตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน กายก็รำงับไม่กระสับกระส่าย จิตก็มั่นคงเป็นหนึ่งแน่วแน่ เออก็เหตุไฉน จิตของข้าพเจ้าจึงยังไม่สิ้นอุปาทาน (คือยังไม่หมดความยึดมั่นถือมั่นนะครับ - ธัมมโชติ) หลุดพ้นจากอาสวะ (อาสวะคือกิเลสที่นอนเนื่องในขันธสันดานนะครับ - ธัมมโชติ) ทั้งหลายเล่า. (รวมความแล้วคือยังไม่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์นะครับ - ธัมมโชติ)

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า อาวุโสอนุรุทธะ ข้อที่ท่านว่า ข้าพเจ้าตรวจดูสหัสสโลกได้ ด้วยจักษุทิพย์อันบริสุทธิ์เกินจักษุมนุษย์สามัญ นี้เป็นเพราะมานะ (ความเย่อหยิ่งถือตัวในที่นี้เป็นอติมานะ คือถือตัวว่าเหนือกว่าคนอื่นเขานะครับ - ธัมมโชติ)

ข้อที่ว่า อนึ่ง ความเพียรข้าพเจ้าก็ทำไม่ท้อถอย สติก็ตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายก็รำงับไม่กระสับกระส่าย จิตก็มั่นคงเป็นหนึ่งแน่วแน่ นี้เป็นเพราะอุทธัจจะ (อุทธัจจะคือความฟุ้งซ่าน คือจิตไม่อยู่กับปัจจุบัน ไม่ใส่ใจกับสภาวะที่ปรากฏเฉพาะหน้าในขณะนั้น แต่ซัดส่ายไปถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นคือการบรรลุธรรมนะครับ - ธัมมโชติ)

(โปรดสังเกตว่า ข้อความที่ว่า อนึ่ง ความเพียรข้าพเจ้าก็ทำ ..... (จนถึง) .....จิตก็มั่นคงเป็นหนึ่งแน่วแน่ นั้นคล้ายๆ กับว่าจิตกำลังอยู่กับปัจจุบันนะครับ คือกำลังดูสภาวะของกายและจิตในขณะนั้น แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่าความคิดนั้นมีความรู้สึกว่าเหตุไฉนจึงยังไม่บรรลุธรรมแอบแฝงอยู่ด้วย นั่นคือแท้จริงแล้วจิตกำลังน้อมไปสู่เรื่องการบรรลุธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นนะครับ ดังนั้นจิตจึงไม่อยู่ที่ปัจจุบันอย่างแท้จริงครับ - ธัมมโชติ)

ข้อที่ว่า เออก็เหตุไฉน จิตของข้าพเจ้าจึงยังไม่สิ้นอุปาทาน หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเล่า นี้เป็นเพราะกุกกุจจะ (กุกกุจจะคือความรำคาญใจ ความขัดเคืองใจอย่างอ่อนๆ ซึ่งเป็นโทสะชนิดอ่อนนะครับ - ธัมมโชติ)

ทางที่ดีนะ ท่านอนุรุทธะจงละธรรม ๓ ประการนี้เสีย (คือ มานะ อุทธัจจะ และกุกกุจจะนะครับ - ธัมมโชติ) อย่าใส่ใจถึงธรรม ๓ ประการนี้ แล้วน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุ (ธาตุไม่ตาย คือ พระนิพพาน) เถิด. (คือปล่อยวาง จะได้ไม่เกิดมานะ อุทธัจจะ และกุกกุจจะขึ้นมาในใจ แล้วยินดีในพระนิพพาน คือ ความสิ้นตัณหา ความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงนะครับ - ธัมมโชติ)

ภายหลังท่านอนุรุทธะก็ละธรรม ๓ ประการนี้ ไม่ใส่ใจถึงธรรม ๓ ประการนี้ น้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุ อยู่มาท่านหลีกจากหมู่อยู่คนเดียว ไม่ประมาท ทำความเพียร มีตนอันส่งไปอยู่ ไม่ช้าเลย กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ต้องการเพื่อประโยชน์อันใด ท่านก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันนั้น ซึ่งเป็นคุณที่สุดแห่งพรหมจรรย์อย่างเยี่ยมยอด ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง สำเร็จอยู่ในปัจจุบันนั่น ท่านรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำแล้ว กิจอื่น (ที่จะต้องทำ) เพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มีอีก. ท่านพระอนุรุทธะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในพระอรหันต์ทั้งหลายแล้ว.

จบทุติยอนุรุทธสูตร


ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น