ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่
ในส่วนนี้เป็นการรวมพุทธพจน์ และคำสอนของพระสาวกสำคัญอื่นๆ จากพระไตรปิฎกเพื่อใช้เป็นข้อเตือนใจนักบวช และผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายนะครับ
อภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตร (พระไตรปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต - ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๔ หน้า : ๑๐๔ ข้อ : ๔๘)
ธรรมที่บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ 10 ประการ
- เราเป็นผู้มีเพศต่างจากคฤหัสถ์
- การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น
- อากัปกิริยาอย่างอื่น อันเราควรทำมีอยู่
- เราย่อมติเตียนตนเองได้โดยศีล หรือไม่
- เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชนพิจารณาแล้ว ติเตียนเราได้โดยศีล หรือไม่
- เราจะต้องพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
- เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน ...... เราจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
- วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้ เราทำอะไรอยู่
- เราย่อมยินดีในเรือนว่างเปล่า หรือไม่
- ญาณทัสสนะวิเศษ อันสามารถกำจัดกิเลส เป็นอริยะ คืออุตตริมนุสสธรรมอันเราได้บรรลุแล้ว มีอยู่หรือหนอ.
@ ก้อนเหล็กอันร้อนประหนึ่งเปลวไฟ ภิกษุบริโภคยังดีกว่า
ภิกษุผู้ทุศีล ไม่สำรวม บริโภคก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นจะประเสริฐอะไร.
@ หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือนั่นเอง ฉันใด
คุณเครื่องเป็นสมณะที่บุคคลลูบคลำไม่ดี
(หมายถึงนักบวชที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม - ธัมมโชติ)
ย่อมคร่าเขาไปนรก ฉันนั้น.
นีตเถรคาถา (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา - ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๖ หน้า : ๓๓๔ ข้อ : ๘๔)
@ คนโง่เขลา มัวแต่นอนหลับตลอดทั้งคืน
และคลุกคลีอยู่ในหมู่ชน ตลอดวันยังค่ำ
เมื่อไรจักทำที่สุดแห่งทุกข์ (พระนิพพาน - ธัมมโชติ) ได้เล่า.
ยโสชเถรคาถา (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา - ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๖ หน้า : ๓๗๘ ข้อ : ๒๔๕)
ภิกษุอยู่รูปเดียวย่อมเป็นเหมือนพรหม
อยู่สองรูปเหมือนเทวดา
อยู่สามรูปเหมือนชาวบ้าน
อยู่ด้วยกันมากกว่านั้น ย่อมมีความโกลาหลมากขึ้น.....
อรรถกถา ที่ 3 (ธัมมัฏฐวรรค ที่ 19 ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท - ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๑๓ ข้อ : ๒๕๙)
@ ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เรียกผู้เรียนมากหรือพูดมาก ว่า"เป็นผู้ทรงธรรม"
ส่วนผู้ใด เรียนคาถาแม้คาถาเดียว แล้วแทงตลอดสัจจะทั้งหลาย (บรรลุมรรคผล - ธัมมโชติ)
ผู้นั้นชื่อว่าผู้ทรงธรรม.
บัณฑิตวรรค ที่ 6 (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท - ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๑ ข้อ : ๗๖)
@ บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญาใด ซึ่งเป็นผู้กล่าวนิคคหะชี้โทษ
ว่าเป็นเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ให้ พึงคบผู้มีปัญญาเช่นนั้น ซึ่งเป็นบัณฑิต
เพราะว่าเมื่อคบท่านผู้เช่นนั้น มีแต่คุณอย่างประเสริฐ ไม่มีโทษที่ลามก.
อรรถกถาที่ 8 (มลวรรค ที่ 20 ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท - ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๔๒ เรื่อง : ๓. มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร)
@ ความเพียรเครื่องเผากิเลสควรทำในวันนี้ ทีเดียว
ใครพึงรู้ว่าความตายจะมีในวันพรุ่งนี้
เพราะว่าความผัดเพี้ยนด้วยความตาย ซึ่งมีเสนาใหญ่นั้น ไม่มีเลย
มุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปกติอยู่อย่างนั้น
มีความเพียร ไม่เกียจคร้าน ตลอดกลางวันและกลางคืน
นั้นแล ว่าผู้มีราตรีเดียวเจริญ.
สัพพกามเถรคาถา (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา - ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๑๖ ข้อ : ๔๕๓)
@ เบญจกามคุณอันน่ารื่นรมย์ใจเหล่านี้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ
ที่มีปรากฏอยู่ในรูปร่างหญิง ย่อมล่อลวงปุถุชนให้ลำบาก
เหมือนพรานเนื้อแอบดักเนื้อด้วยเครื่องดัก
พรานเบ็ดจับปลาด้วยเบ็ด
บุคคลจับวานรด้วยตัง ฉะนั้น.
ตัณหาวรรค ที่ 24 (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท - ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๓๗ ข้อ : ๓๓๔ และหน้า : ๑๓๙ ข้อ : ๓๔๒)
@ ตัณหาดุจเถาย่านทราย ย่อมเจริญแก่คนผู้มีปกติประมาท
เขาย่อมเร่ร่อนไปสู่ภพน้อยภพใหญ่ ดังวานรปรารถนาผลไม้ เร่ร่อนไปในป่า ฉะนั้น.
@ หมู่สัตว์อันตัณหาผู้ทำความดิ้นรนล้อมไว้แล้ว
ย่อมกระเสือกกระสน เหมือนกระต่ายที่นายพรานดักได้แล้ว ฉะนั้น.
สุขวรรค ที่ 15 (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท - ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๕ หน้า : ๙๕ ข้อ : ๒๐๒)
@ ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี โทษเสมอด้วยโทสะย่อมไม่มี
ทุกข์ทั้งหลายเสมอด้วยขันธ์ย่อมไม่มี สุขอื่นจากความสงบย่อมไม่มี.
อรรถกถาที่ 8 (นาควรรค ที่ 23 ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท - ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๑๕ หน้า : ๒๐๐ ข้อ : ๑๕๖)
@ บรรพต พึงเป็นของล้วนด้วยทองคำที่สุกปลั่ง
แม้ความที่บรรพตนั้น (ทวีขึ้น) เป็นสองเท่า
ก็ยังไม่เพียงพอแก่ (ความต้องการของ) บุคคล (เพียง) คนหนึ่ง
บุคคลทราบดังนี้แล้ว พึงประพฤติแต่พอสม.
ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ
ธัมมโชติ
1.พระสงฆ์ปฏิเสธไม่รับบาตรจะได้ในกรณีไหนบ้าง
ตอบลบ2.เราใส่บาตรอาหารและน้ำ พระรับเฉพาะอาหารและปฏิเสธรับน้ำ โดยให้เหตุผลว่าท่านพึ่งผ่าตัดตามา ่หมอห้ามยกของหนัก ถ้าเช่นนี้จะอาบัติไหม แต่เราก็เข้าใจว่าพระท่านมีเหตุผลที่จะปฏิเสธ
3.พระนำเงินมาเลี้ยงก๋วยเตี๋ยวให้คนที่มาช่วยหล่อพระพุทธรูปที่วัด ซึ่งเป็นเจตนาดีมาก ี๋ผมอนุโมทนาบุญด้วย แต่คนทำก๋วยเตี๋ยวทำก๋วยเตี๋ยวแล้วนำไปถวายพระฉันเพลด้วย โดยที่พระไม่ได้สั่งให้ทำเช่นนั้น กรณีเช่นนี้ไม่แน่ใจว่าพระจะอาบัติหรือไม่ ไม่ทราบว่ามีวินัยสงฆ์ห้ามพระจ่ายเงินซื้ออาหารฉันเองหรือไม่ แต่กรณีนี้พระไม่มีเจตนา แต่การที่แม่ครัวนำก๋วยเตี๋ยวกลับไปประเคน กลัวจะทำให้พระอาบัติ
ลบสวัสดีครับ
จากคำถาม
1.พระสงฆ์ปฏิเสธไม่รับบาตรจะได้ในกรณีไหนบ้าง
>>> โดยทั่วไปพระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามการปฏิเสธการรับบาตรนะครับ โดยความเป็นจริงแล้วพระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้จักประมาณในการรับ คือไม่รับมากเกินพอดี
ที่ใกล้เคียงกับการห้ามการปฏิเสธการรับบาตร ก็คือธุดงควัตรข้อ "ถือการบิณฑบาตตามลำดับบ้านเป็นวัตร" คือจะรับบิณฑบาตโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เลือกว่าเป็นบ้านคนรวยคนจน ไม่เลือกว่าอาหารดีไม่ดี มีใครใส่บาตรก็รับไปตามลำดับ ไม่ข้ามบ้านที่ไม่ถูกใจไปนะครับ ซึ่งธุดงควัตรนั้นไม่ได้บังคับใช้กับภิกษุทั่วไป ภิกษุรูปใดจะสมาทานข้อไหนในช่วงเวลาใด หรือจะไม่สมาทานเลยก็ได้ ไม่บังคับครับ
ส่วนตัวอย่างการปฏิเสธการรับบิณฑบาตก็เช่น พระมหากัสสปะท่านมีข้อปฏิบัติของท่านเองว่าจะรับบิณฑบาตเฉพาะจากคนยากจนเท่านั้น คือท่านปฏิเสธการรับบิณฑบาตจากคนฐานะดีทุกคนครับ
อีกตัวอย่างคือพระสารีบุตร มีครั้งหนึ่งมีคนถวายอาหารท่าน พอรับไปได้ครึ่งหนึ่งท่านก็เอามือปิดบาตรเอาไว้ ปฏิเสธการรับเพิ่มอีก ชายคนนั้นจึงกล่าวกับท่านทำนองว่า ท่านอย่าได้สงเคราะห์กระผมในชาตินี้เลย (คืออาหารครึ่งที่เหลือนั้น ถ้าพระสารีบุตรไม่รับ ก็ทำให้ชายคนนั้นมีอาหารกินได้อีก 1 มื้อเท่านั้น ซึ่งเป็นการสงเคราะห์ชายคนนั้นเพียงมื้อเดียวในชาตินี้ แต่ถ้าพระสารีบุตรรับอาหารส่วนนี้ไป บุญที่ชายคนนั้นได้รับจะส่งผลได้มากกว่า)
ทั้ง 2 ตัวอย่างนี้ไม่ได้รับการตำหนิจากพระพุทธเจ้าแต่อย่างใดเลยครับ
2.เราใส่บาตรอาหารและน้ำ พระรับเฉพาะอาหารและปฏิเสธรับน้ำ โดยให้เหตุผลว่าท่านพึ่งผ่าตัดตามา ่หมอห้ามยกของหนัก ถ้าเช่นนี้จะอาบัติไหม แต่เราก็เข้าใจว่าพระท่านมีเหตุผลที่จะปฏิเสธ
>>> ไม่เป็นอาบัติครับ ตามเหตุผลในข้อ 1.
3.พระนำเงินมาเลี้ยงก๋วยเตี๋ยวให้คนที่มาช่วยหล่อพระพุทธรูปที่วัด ซึ่งเป็นเจตนาดีมาก ี๋ผมอนุโมทนาบุญด้วย แต่คนทำก๋วยเตี๋ยวทำก๋วยเตี๋ยวแล้วนำไปถวายพระฉันเพลด้วย โดยที่พระไม่ได้สั่งให้ทำเช่นนั้น กรณีเช่นนี้ไม่แน่ใจว่าพระจะอาบัติหรือไม่ ไม่ทราบว่ามีวินัยสงฆ์ห้ามพระจ่ายเงินซื้ออาหารฉันเองหรือไม่ แต่กรณีนี้พระไม่มีเจตนา แต่การที่แม่ครัวนำก๋วยเตี๋ยวกลับไปประเคน กลัวจะทำให้พระอาบัติ
>>> ถ้ากล่าวตามวินัยแล้ว ภิกษุครอบครองเงินทองไม่ได้ครับ การที่ภิกษุครอบครองเงินทอง หรือแม้แต่การยินดีในเงินทองที่คนอื่นเก็บไว้เพื่อตน (คือภิกษุนั้น) โดยแม้ยังไม่ได้นำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนอะไรก็เป็นอาบัติแล้วครับ
แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ก็อยู่ที่วิจารณญาณของแต่ละท่านนะครับว่าจะปรับตัวอย่างไร หรือใครจะยอมรับเรื่องไหนได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้ชีวิตเป็นไปได้โดยกิเลสไม่งอกเงยขึ้นมา
จากคำถามที่ว่า "ไม่ทราบว่ามีวินัยสงฆ์ห้ามพระจ่ายเงินซื้ออาหารฉันเองหรือไม่" ถ้ายึดตามวินัยแล้ว ไม่ว่าจะจ่ายเงินเพื่อฉันเองหรือให้ผู้อื่น ก็ผิดวินัยทั้งนั้นครับ ผิดตั้งแต่ครอบครองเงินแล้วครับ ส่วนข้อพิจารณาแวดล้อมก็อย่างที่กล่าวไปแล้วนะครับ ว่าทำยังไงให้ชีวิตเป็นไปได้โดยกิเลสไม่งอกเงยขึ้นมา ก็พิจารณาเอานะครับ
ธัมมโชติ