Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๑๒-๓ หน้า ๙๓ - ๑๓๙

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒-๓ สุตตันตปิฎกที่ ๐๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์



พระสุตตันตปิฎก
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนา
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดเวทนา เหตุเกิดแห่งเวทนา ความดับแห่งเวทนา
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนาอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดย
ประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ใน
ธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องผัสสะ
[๙๘] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดผัสสะ เหตุ
เกิดแห่งผัสสะ ความดับแห่งผัสสะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งผัสสะ เมื่อนั้น
แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ
เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
ผัสสะ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งผัสสะ เป็นอย่างไร ความดับแห่งผัสสะ เป็น
อย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งผัสสะ เป็นอย่างไร
ผัสสะ ๖ ประการนี้ คือ

๑. จักขุสัมผัส (สัมผัสทางตา)
๒. โสตสัมผัส (สัมผัสทางหู)
๓. ฆานสัมผัส (สัมผัสทางจมูก)
๔. ชิวหาสัมผัส (สัมผัสทางลิ้น)
๕. กายสัมผัส (สัมผัสทางกาย)
๖. มโนสัมผัส (สัมผัสทางใจ)

เพราะอายตนะ ๖ เกิด เหตุเกิดแห่งผัสสะจึงมี
เพราะอายตนะ ๖ ดับ ความดับแห่งผัสสะจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งผัสสะ
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดผัสสะ เหตุเกิดแห่งผัสสะ ความดับแห่งผัสสะ และ
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งผัสสะอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดยประการ
ทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวก
ก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระ
สัทธรรมนี้”
เรื่องอายตนะ
[๙๙] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอายตนะ ๖
ประการ เหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖ ประการ ความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการ
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการ เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
อายตนะ ๖ ประการ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖ ประการ
เป็นอย่างไร ความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการ เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการ เป็นอย่างไร
อายตนะ ๖ ประการนี้ คือ
๑. จักขวายตนะ (อายตนะคือตา)
๒. โสตายตนะ (อายตนะคือหู)
๓. ฆานายตนะ (อายตนะคือจมูก)
๔. ชิวหายตนะ (อายตนะคือลิ้น)
๕. กายายตนะ (อายตนะคือกาย)
๖. มนายตนะ (อายตนะคือใจ)
เพราะนามรูปเกิด เหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖ ประการจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
เพราะนามรูปดับ ความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการจึงมี
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการ
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอายตนะ ๖ ประการ เหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖
ประการ ความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่ง
อายตนะ ๖ ประการ อย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดยประการทั้งปวง ฯลฯ
เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ
มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องนามรูป
[๑๐๐] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง
ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดนามรูป
เหตุเกิดแห่งนามรูป ความดับแห่งนามรูป และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งนามรูป
เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง
มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
นามรูป เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งนามรูป เป็นอย่างไร ความดับแห่งนามรูป
เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งนามรูป เป็นอย่างไร
เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ นี้เรียกว่า นาม มหาภูตรูป ๔ (ได้แก่
ดิน น้ำ ลม ไฟ) และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ (อุปาทายรูป ๒๔) นี้เรียกว่า รูป
นามและรูปดังกล่าวนี้ เรียกว่า นามรูป
เพราะวิญญาณเกิด เหตุเกิดแห่งนามรูปจึงมี
เพราะวิญญาณดับ ความดับแห่งนามรูปจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งนามรูป
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดนามรูป เหตุเกิดแห่งนามรูป ความดับแห่งนามรูป
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งนามรูปอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย
โดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องวิญญาณ
[๑๐๑] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง
ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดวิญญาณ
เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่งวิญญาณ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ
เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง
มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
วิญญาณ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งวิญญาณ เป็นอย่างไร ความดับแห่ง
วิญญาณ เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ เป็นอย่างไร
วิญญาณ ๖ ประการนี้ คือ

๑. จักขุวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางตา)
๒. โสตวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางหู)
๓. ฆานวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางจมูก)
๔. ชิวหาวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางลิ้น)
๕. กายวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางกาย)
๖. มโนวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางใจ)

เพราะสังขารเกิด เหตุเกิดแห่งวิญญาณจึงมี
เพราะสังขารดับ ความดับแห่งวิญญาณจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดวิญญาณ เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่ง
วิญญาณ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย
โดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องสังขาร
[๑๐๒] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง
ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดสังขาร เหตุ
เกิดแห่งสังขาร ความดับแห่งสังขาร และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสังขาร เมื่อนั้น
แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ
เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
สังขาร เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งสังขาร เป็นอย่างไร ความดับแห่งสังขาร
เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสังขาร เป็นอย่างไร
สังขาร ๓ ประการนี้ คือ
๑. กายสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งกาย)
๒. วจีสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งวาจา)
๓. จิตตสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งใจ)
เพราะอวิชชาเกิด เหตุเกิดแห่งสังขารจึงมี
เพราะอวิชชาดับ ความดับแห่งสังขารจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสังขาร
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดสังขาร เหตุเกิดแห่งสังขาร ความดับแห่งสังขาร
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสังขารอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย
โดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องอวิชชา
[๑๐๓] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง
ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอวิชชา เหตุ
เกิดแห่งอวิชชา ความดับแห่งอวิชชา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอวิชชา เมื่อนั้น
แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ
เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
อวิชชา เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งอวิชชา เป็นอย่างไร ความดับแห่งอวิชชา
เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอวิชชา เป็นอย่างไร
ความไม่รู้ในทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งทุกข์ นี้เรียกว่า อวิชชา
เพราะอาสวะเกิด เหตุเกิดแห่งอวิชชาจึงมี
เพราะอาสวะดับ ความดับแห่งอวิชชาจึงมี
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอวิชชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอวิชชา เหตุเกิดแห่งอวิชชา ความดับแห่งอวิชชา
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอวิชชาอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย
โดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องอาสวะ
[๑๐๔] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง
ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “อธิบายแม้อย่างอื่นเป็น
เหตุชี้บอกว่า พระอริยสาวกชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใส
อันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอาสวะ๑
เหตุเกิดแห่งอาสวะ ความดับแห่งอาสวะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาสวะ
เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง
มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
อาสวะ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งอาสวะ เป็นอย่างไร ความดับแห่งอาสวะ
เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาสวะ เป็นอย่างไร
อาสวะ ๓ ประการนี้ คือ
๑. กามาสวะ (อาสวะคือกาม)
๒. ภวาสวะ (อาสวะคือภพ)
๓. อวิชชาสวะ (อาสวะคืออวิชชา)
เพราะอวิชชาเกิด เหตุเกิดแห่งอาสวะจึงมี
เพราะอวิชชาดับ ความดับแห่งอาสวะจึงมี

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๔ (สัพพาสวสูตร) หน้า ๑๗ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ___๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา___๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ ___๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ___๘. สัมมาสมาธิ

นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาสวะ
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอาสวะ เหตุเกิดแห่งอาสวะ ความดับแห่งอาสวะ
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาสวะอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย บรรเทา
ปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัยและมานานุสัยที่ว่า ‘เป็นเรา’ โดยประการทั้งปวง
ละอวิชชาได้แล้ว ทำวิชชาให้เกิดขึ้นแล้วเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้เอง
แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ
เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมภาษิต
ของท่านพระสารีบุตร ดังนี้แล
สัมมาทิฏฐิสูตร ที่ ๙ จบ
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ใน ๖ บทที่กล่าวว่า เป็นอย่างไร
คือ ทุกข์ ชราและมรณะ อุปาทาน อายตนะ ๖ นามรูป วิญญาณ
ใน ๔ บทที่กล่าวว่า เป็นอย่างไร
คือ ชาติ ตัณหา เวทนา อวิชชาเป็นที่ ๔
ใน ๕ บท ที่กล่าวว่า เป็นอย่างไร
คือ อาหาร ภพ ผัสสะ สังขาร อาสวะเป็นที่ ๕
๖ ประการ เป็นอย่างไร ข้าพเจ้ากล่าวแล้ว
๔ ประการ เป็นอย่างไร ข้าพเจ้าก็กล่าวแล้ว
๕ ประการ เป็นอย่างไร ข้าพเจ้าก็กล่าวแล้ว
และบทแห่งสังขารทั้งปวงมี ๑๕ บท ดังกล่าวมานี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร๑
ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน สูตรใหญ่
[๑๐๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวกุรุ ชื่อกัมมาสธัมมะ
แคว้นกุรุ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้
ตรัสเรื่องนี้ว่า
อุทเทส
[๑๐๖] “ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเดียว๒ เพื่อความบริสุทธิ์ของ
เหล่าสัตว์ เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม๓
เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ทางนี้ คือ สติปัฏฐาน๔ ๔ ประการ
สติปัฏฐาน ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

เชิงอรรถ :
๑ ดูความพิสดารใน ที.ม. (แปล) ๑๐/๓๗๒-๔๐๕/๓๐๑-๓๔๐
๒ ทางสายเดียว ในที่นี้มีความหมาย ๔ นัย คือ (๑) ทางที่บุคคลผู้ละการเกี่ยวข้องกับหมู่คณะไปประพฤติ
ธรรมอยู่แต่ผู้เดียว (๒) ทางสายเดียวที่พระพุทธเจ้าทรงทำให้เกิดขึ้น เป็นทางของบุคคลผู้เดียว คือ
พระผู้มีพระภาค (๓) ข้อปฏิบัติในศาสนาเดียว คือพระพุทธศาสนา (๔) ทางดำเนินไปสู่จุดหมายเดียว
คือ พระนิพพาน (ที.ม.อ. ๒/๓๗๓/๓๕๙, ม.มู.อ. ๑/๑๐๖/๒๔๔)
๓ ญายธรรม หมายถึงอริยมรรค (ที.ม.อ. ๒/๒๑๔/๑๙๗, ม.มู.อ. ๑/๑๐๖/๒๕๑)
๔ สติปัฏฐาน แปลว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ หรือการปฏิบัติมีสติเป็นประธาน (ที.ม.อ. ๒/๓๗๓/๓๖๘,
ม.มู.อ. ๑/๑๐๖/๒๕๓, อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๓๕๕-๓๘๙/๓๐๖-๓๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
อุทเทส จบ

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
กายานุปัสสนา
(การพิจารณากาย)
หมวดลมหายใจเข้าออก
[๑๐๗] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปอยู่ในป่า ไปอยู่ที่โคนไม้ หรือที่เรือนว่าง๑ นั่งคู้บัลลังก์๒
ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า๓ มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก’

เชิงอรรถ :
๑ เรือนว่าง หมายถึงที่ที่สงัด คือ เสนาสนะ ๗ อย่าง เว้นป่า และโคนไม้ ได้แก่ (๑) ภูเขา (๒) ซอกเขา
(๓)ถ้ำในภูเขา (๔) ป่าช้า (๕) ป่าละเมาะ (๖) ที่โล่งแจ้ง (๗) ลอมฟาง (ที.ม. (แปล) ๑๐/๓๒๐/๒๔๘,
อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๕๐๘/๒๙๔)
๒ นั่งคู้บัลลังก์ หมายถึงนั่งพับขาเข้าหากันทั้ง ๒ ข้าง เรียกว่า นั่งขัดสมาธิ (วิ.อ. ๑/๑๖๕/๔๔๕, วิสุทฺธิ.
๑/๒๙๕)
๓ ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า หมายถึงตั้งสติมุ่งตรงต่อกัมมัฏฐาน (วิ.อ. ๑/๑๖๕/๔๔๕, วิสุทฺธิ. ๑/๒๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร๑ หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจออก’
ภิกษุทั้งหลาย ช่างกลึง หรือลูกมือช่างกลึงผู้มีความชำนาญ
เมื่อชักเชือกยาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราชักเชือกยาว’
เมื่อชักเชือกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราชักเชือกสั้น’ แม้ฉันใด
ภิกษุ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจออก’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายใน๒อยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอก๓อยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณา
เห็นธรรมเป็นเหตุเกิด (แห่งลมหายใจ) ในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับ

เชิงอรรถ :
๑ ระงับกายสังขาร หมายถึงผ่อนคลายลมหายใจหยาบให้ละเอียดขึ้นไปโดยลำดับจนถึงขั้นที่จะต้องพิสูจน์ว่า
มีลมหายใจอยู่หรือไม่ เปรียบเหมือนเสียงเคาะระฆังครั้งแรกจะมีเสียงดังกังวานแล้วแผ่วลงจนถึงเงียบหาย
ไปในที่สุด (วิสุทฺธิ. ๑/๒๙๙-๓๐๒)
๒ กายภายใน ในที่นี้หมายถึงลมหายใจเข้าออกของตน (ที.ม.อ. ๒/๓๗๔/๓๗๙, ม.มู.อ. ๑/๑๐๗/๒๖๕)
๓ กายภายนอก ในที่นี้หมายถึงลมหายใจเข้าออกของผู้อื่น (ที.ม.อ. ๒/๓๗๔/๓๗๙, ม.มู.อ. ๑/๑๐๗/๒๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร
(แห่งลมหายใจ)ในกายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับ
(แห่งลมหายใจ)ในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
หมวดลมหายใจเข้าออก จบ

กายานุปัสสนา
หมวดอิริยาบถ
[๑๐๘] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุ
เมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่า ‘เราเดิน’
เมื่อยืน ก็รู้ชัดว่า ‘เรายืน’
เมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่า ‘เรานั่ง’
เมื่อนอน ก็รู้ชัดว่า ‘เรานอน’
ภิกษุนั้น เมื่อดำรงกายอยู่โดยอาการใด ๆ ก็รู้ชัดกายที่ดำรงอยู่โดยอาการนั้น ๆ
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายใน๑อยู่ ฯลฯ ภิกษุจึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
หมวดอิริยาบถ จบ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

กายานุปัสสนา
หมวดสัมปชัญญะ
[๑๐๙] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุ
ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ
ทำความรู้สึกตัวในการแลดู การเหลียวดู
ทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้า การเหยียดออก
ทำความรู้สึกตัวในการครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร
ทำความรู้สึกตัวในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม
ทำความรู้สึกตัวในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ
ทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การพูด
การนิ่ง
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายใน๑อยู่ ฯลฯ ภิกษุจึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
หมวดสัมปชัญญะ จบ

กายานุปัสสนา
หมวดสิ่งปฏิกูล
[๑๑๐] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้ ตั้งแต่
ฝ่าเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องล่าง มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไป
ด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดชนิดต่าง ๆ ว่า

เชิงอรรถ :
๑ พิจารณาเห็นกายภายใน หมายถึงพิจารณาเห็นอิริยาบถย่อยในกายของตนด้วยสัมปชัญญะ ๔ ประการ
คือ (๑) สาตถกสัมปชัญญะ (รู้ชัดว่ามีประโยชน์) (๒) สัปปายสัมปชัญญะ (รู้ชัดว่าเป็นสัปปายะ) (๓) โคจร-
สัมปชัญญะ(รู้ชัดว่าเป็นโคจร) (๔) อสัมโมหสัมปชัญญะ(รู้ชัดโดยไม่หลง) (ที.ม.อ. ๒/๓๗๖/๓๘๓, ม.มู.อ.
๑/๑๐๙/๒๖๙-๒๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร
‘ในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก
ไต๑ หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า
ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก
ไขข้อ มูตร’
ภิกษุทั้งหลาย ถุงมีปาก ๒ ข้าง เต็มไปด้วยธัญพืชชนิดต่าง ๆ คือ ข้าวสาลี
ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เมล็ดงา ข้าวสาร คนตาดีเปิดถุงยาวนั้นออก
พิจารณาเห็นว่า ‘นี้เป็นข้าวสาลี นี้เป็นข้าวเปลือก นี้เป็นถั่วเขียว นี้เป็นถั่วเหลือง
นี้เป็นเมล็ดงา นี้เป็นข้าวสาร แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาเห็น
กายนี้ตั้งแต่ฝ่าเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องล่าง มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ
เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดชนิดต่าง ๆ ว่า
‘ในกายนี้ มีผม ขน ฯลฯ ไขข้อ มูตร’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่๒ ฯลฯ ภิกษุจึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
หมวดสิ่งปฏิกูล จบ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

กายานุปัสสนา
หมวดธาตุ
[๑๑๑] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้ตามที่ตั้งอยู่
ตามที่ดำรงอยู่โดยความเป็นธาตุว่า ‘ในกายนี้มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมอยู่’
ภิกษุทั้งหลาย คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้มีความชำนาญ ครั้นฆ่าโคแล้ว
แบ่งอวัยวะออกเป็นส่วน ๆ นั่งอยู่ที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น
เหมือนกัน พิจารณาเห็นกายนี้ตามที่ตั้งอยู่ ตามที่ดำรงอยู่โดยความเป็นธาตุว่า
‘ในกายนี้มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมอยู่’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ ฯลฯ ภิกษุจึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
หมวดธาตุ จบ

กายานุปัสสนา
หมวดป่าช้า ๙ หมวด
[๑๑๒] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง
๑. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งตายแล้ว ๑ วัน ตาย
แล้ว ๒ วัน หรือตายแล้ว ๓ วัน เป็นศพขึ้นอืด ศพเขียวคล้ำ
ศพมีน้ำเหลืองเยิ้ม แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบ
ให้เห็นฉันนั้นเหมือนกันว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะ
อย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ ฯลฯ ภิกษุจึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๒. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้าซึ่งถูกกาจิกกิน แร้งทึ้งกิน
นกตะกรุมจิกกิน สุนัขกัดกิน สุนัขจิ้งจอกกัดกิน หรือสัตว์เล็ก ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร
หลายชนิดกัดกินอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบ
ให้เห็นฉันนั้นเหมือนกันว่า ‘ถึงกายนี้ ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะ
อย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ ฯลฯ ภิกษุจึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๓. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูก ยังมีเนื้อ
และเลือด มีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ฯลฯ
๔. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูก ไม่มีเนื้อ
แต่ยังมีเลือดเปื้อนเปรอะ มีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ฯลฯ
๕. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูก ไม่มีเลือด
และเนื้อแต่ยังมีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ฯลฯ
๖. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูก ไม่มีเอ็น
รึงรัด กระจุยกระจายไปในทิศใหญ่ ทิศเฉียง คือ กระดูกมืออยู่
ทางทิศหนึ่ง กระดูกเท้าอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกแข้งอยู่ทางทิศหนึ่ง
กระดูกขาอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกสะเอวอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกหลัง
อยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกซี่โครงอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกหน้าอกอยู่
ทางทิศหนึ่ง กระดูกแขนอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกไหล่อยู่ทางทิศหนึ่ง
กระดูกคออยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกคางอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกฟัน
อยู่ทางทิศหนึ่ง กะโหลกศีรษะอยู่ทางทิศหนึ่ง แม้ฉันใด ภิกษุนั้น
นำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นฉันนั้นเหมือนกันว่า ‘ถึงกายนี้
ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็น
อย่างนั้นไปได้’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ ฯลฯ ภิกษุจึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๗. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นท่อนกระดูกสีขาว
เหมือนสีสังข์ แม้ฉันใด ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร
๘. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นท่อนกระดูกกองอยู่
ด้วยกันเกินกว่า ๑ ปี แม้ฉันใด ฯลฯ
๙. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นกระดูกผุป่นเป็นชิ้น
เล็กชิ้นน้อย แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็น
ฉันนั้นเหมือนกันว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะ
อย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือ
พิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
หมวดป่าช้า ๙ หมวด จบ
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จบ

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
[๑๑๓] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เมื่อเสวยสุขเวทนา(ความรู้สึกสุข) ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนา’
๒. เมื่อเสวยทุกขเวทนา(ความรู้สึกทุกข์) ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนา’
๓. เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา(ความรู้สึกไม่ทุกข์ไม่สุข) ก็รู้ชัดว่า
‘เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร
๔. เมื่อเสวยสุขเวทนาที่มีอามิส๑ ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนาที่มี
อามิส’
๕. เมื่อเสวยสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนาที่ไม่
มีอามิส’
๖. เมื่อเสวยทุกขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนาที่มี
อามิส’
๗. เมื่อเสวยทุกขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนา
ที่ไม่มีอามิส’
๘. เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยอทุกขม-
สุขเวทนาที่มีอามิส’
๙. เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวย
อทุกขมสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายภายใน๒อยู่ พิจารณาเห็น
เวทนาในเวทนาทั้งหลายภายนอก๓อยู่ หรือพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายทั้ง
ภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในเวทนาทั้งหลายอยู่ พิจารณา
เห็นธรรมเป็นเหตุดับในเวทนาทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิด
ทั้งธรรมเป็นเหตุดับในเวทนาทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘เวทนามีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ อย่างนี้แล
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จบ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
[๑๑๔] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. จิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีราคะ’
๒. จิตปราศจากราคะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากราคะ’
๓. จิตมีโทสะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีโทสะ’
๔. จิตปราศจากโทสะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากโทสะ’
๕. จิตมีโมหะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีโมหะ’
๖. จิตปราศจากโมหะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากโมหะ’
๗. จิตหดหู่ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตหดหู่’
๘. จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ชัดว่า ‘จิตฟุ้งซ่าน’
๙. จิตเป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตเป็นมหัคคตะ’
๑๐. จิตไม่เป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่เป็นมหัคคตะ’
๑๑. จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า’
๑๒. จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า’
๑๓. จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตเป็นสมาธิ’
๑๔. จิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่เป็นสมาธิ’
๑๕. จิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ชัดว่า ‘จิตหลุดพ้นแล้ว’
๑๖. จิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่หลุดพ้น’

ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตภายในอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตภายนอก
อยู่ หรือพิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็น
เหตุเกิดในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในจิตอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรม
เป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในจิตอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘จิตมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ อย่างนี้แล
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จบ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หมวดนิวรณ์
[๑๑๕] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ ๕
ประการอยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ ๕ ประการอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เมื่อกามฉันทะภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘กามฉันทะภายในของเรามีอยู่’
หรือเมื่อกามฉันทะภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า ‘กามฉันทะภายในของเรา
ไม่มี’ การเกิดขึ้นแห่งกามฉันทะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น การละกามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
และกามฉันทะที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๒. เมื่อพยาบาทภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘พยาบาทภายในของเรามีอยู่’
หรือเมื่อพยาบาทภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า ‘พยาบาทภายในของเรา
ไม่มี’ การเกิดขึ้นแห่งพยาบาทที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น การละพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น และพยาบาทที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด
ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๓. เมื่อถีนมิทธะภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘ถีนมิทธะภายในของเรามีอยู่’
หรือเมื่อถีนมิทธะภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า ‘ถีนมิทธะภายในของเรา
ไม่มี’ การเกิดขึ้นแห่งถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น การละถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น และถีนมิทธะที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด
ก็รู้ชัดเหตุนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร
๔. เมื่ออุทธัจจกุกกุจจะภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘อุทธัจจกุกกุจจะภายใน
ของเรามีอยู่’ หรือเมื่ออุทธัจจกุกกุจจะภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า ‘อุทธัจจ-
กุกกุจจะภายในของเราไม่มี’ การเกิดขึ้นแห่งอุทธัจจกุกกุจจะที่ยัง
ไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละอุทธัจจกุกกุจจะที่
เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และอุทธัจจกุกกุจจะที่
ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๕. เมื่อวิจิกิจฉาภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘วิจิกิจฉาภายในของเรามีอยู่’
หรือเมื่อวิจิกิจฉาภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า ‘วิจิกิจฉาภายในของเรา
ไม่มี’ การเกิดขึ้นแห่งวิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น การละวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
และวิจิกิจฉาที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้งภายใน
ทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรม
เป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ ๕ ประการอยู่
อย่างนี้แล
หมวดนิวรณ์ จบ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

หมวดขันธ์
[๑๑๖] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการอยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการอยู่
อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์
๕ ประการอยู่ว่า
๑. รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งรูปเป็น
อย่างนี้
๒. เวทนาเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ ความดับ
แห่งเวทนาเป็นอย่างนี้
๓. สัญญาเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ ความดับ
แห่งสัญญาเป็นอย่างนี้
๔. สังขารเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งสังขารเป็นอย่างนี้ ความดับ
แห่งสังขารเป็นอย่างนี้
๕. วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความ
ดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายใน๑อยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอก๒อยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้งภายใน
ทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็น

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมภายใน หมายถึงขันธ์ ๕ ของตน (ที.ม.อ. ๒/๓๘๓/๓๙๘, ม.มู.อ. ๑/๑๑๖/๓๐๓)
๒ ธรรมภายนอก หมายถึงขันธ์ ๕ ของผู้อื่น (ที.ม.อ. ๒/๓๘๓/๓๙๘, ม.มู.อ. ๑/๑๑๖/๓๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร
ธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรม
เป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์
๕ ประการอยู่ อย่างนี้แล
หมวดขันธ์ จบ

หมวดอายตนะ
[๑๑๗] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลาย คือ อายตนะภายใน ๖ ประการ และอายตนะภายนอก ๖ ประการอยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อายตนะภายใน ๖ ประการ
และอายตนะภายนอก ๖ ประการอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. รู้ชัดตา รู้ชัดรูป และสังโยชน์ใดอาศัยตาและรูปทั้ง ๒ นั้นเกิดขึ้น
ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วย
เหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด
ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกมีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๒. รู้ชัดหู รู้ชัดเสียง ฯลฯ
๓. รู้ชัดจมูก รู้ชัดกลิ่น ฯลฯ
๔. รู้ชัดลิ้น รู้ชัดรส ฯลฯ
๕. รู้ชัดกาย รู้ชัดโผฏฐัพพะ ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร
๖. รู้ชัดใจ รู้ชัดธรรมารมณ์ และสังโยชน์ใดอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้ง
๒ นั้นเกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่
เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิดขึ้น
แล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่
เกิดขึ้นต่อไปอีกมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย
ทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่
พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็น
เหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อายตนะภายใน ๖ ประการ
และอายตนะภายนอก ๖ ประการอยู่ อย่างนี้แล
หมวดอายตนะ จบ

หมวดโพชฌงค์
[๑๑๘] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลาย คือ โพชฌงค์ ๗ ประการอยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ โพชฌงค์ ๗ ประการอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เมื่อสติสัมโพชฌงค์๑ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘สติสัมโพชฌงค์ภายใน
ของเรามีอยู่’ หรือเมื่อสติสัมโพชฌงค์ภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า ‘สติ-
สัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มี’ ความเกิดขึ้นแห่งสติสัมโพชฌงค์

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๒๗ (สัพพาสวสูตร) หน้า ๒๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร
ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และความเจริญ
บริบูรณ์แห่งสติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๒. เมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ฯลฯ
๓. เมื่อวิริยสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ฯลฯ
๔. เมื่อปีติสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ฯลฯ
๕. เมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ฯลฯ
๖. เมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ฯลฯ
๗. เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘อุเบกขาสัมโพชฌงค์
ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ภายในไม่มี ก็
รู้ชัดว่า ‘อุเบกขาสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มี’ การเกิดขึ้นแห่ง
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
และความเจริญบริบูรณ์แห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้ง
ภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่
พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็น
เหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ โพชฌงค์ ๗ ประการอยู่
อย่างนี้แล
หมวดโพชฌงค์ จบ
ภาณวารที่ ๑ จบ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

หมวดสัจจะ
[๑๑๙] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์’
๒. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกขสมุทัย’
๓. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกขนิโรธ’
๔. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’
ทุกขสัจจนิทเทส๑
[๑๒๐] ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ชาติเป็นทุกข์ ชราเป็นทุกข์ มรณะเป็นทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
อุปายาสเป็นทุกข์ การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพราก
จากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ ว่าโดยย่อ
อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
[๑๒๑] ชาติ เป็นอย่างไร
คือ ความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งลง ความบังเกิด ความบังเกิดเฉพาะ
ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ
นี้เรียกว่า ชาติ
[๑๒๒] ชรา เป็นอย่างไร
คือ ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมีหนัง
เหี่ยวย่น ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่า
สัตว์นั้น ๆ นี้เรียกว่า ชรา

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๑๙๐-๒๐๕/๑๖๓-๑๗๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร
[๑๒๓] มรณะ เป็นอย่างไร
คือ ความจุติ ความเคลื่อนไป ความทำลายไป ความหายไป ความตาย
กล่าวคือมฤตยู การทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งร่างกาย ความ
ขาดสูญแห่งชีวิตินทรีย์ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ จากหมู่สัตว์นั้น ๆ นี้เรียกว่า มรณะ
[๑๒๔] โสกะ เป็นอย่างไร
คือ ความเศร้าโศก กิริยาที่เศร้าโศก ภาวะที่เศร้าโศก ความแห้งผากภายใน
ความแห้งกรอบภายในของผู้ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ)ผู้ที่ถูก
เหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ นี้เรียกว่า โสกะ
[๑๒๕] ปริเทวะ เป็นอย่างไร
คือ ความร้องไห้ ความคร่ำครวญ กิริยาที่ร้องไห้ กิริยาที่คร่ำครวญ ภาวะ
ที่ร้องไห้ ภาวะที่คร่ำครวญของผู้ที่ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ)
ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ นี้เรียกว่า ปริเทวะ
[๑๒๖] ทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ ความทุกข์ทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์ที่ไม่
สำราญ เป็นทุกข์ อันเกิดแต่กายสัมผัส นี้เรียกว่า ทุกข์
[๑๒๗] โทมนัส เป็นอย่างไร
คือ ความทุกข์ทางใจ ความไม่สำราญทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สำราญ
เป็นทุกข์ อันเกิดแต่มโนสัมผัส นี้เรียกว่า โทมนัส
[๑๒๘] อุปายาส เป็นอย่างไร
คือ ความแค้น ความคับแค้น ภาวะที่แค้น ภาวะที่คับแค้นของผู้ที่ประกอบ
ด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ) ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ
นี้เรียกว่า อุปายาส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร
[๑๒๙] การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ การไปร่วม การมาร่วม การประชุมร่วม การอยู่ร่วมกับอารมณ์อันไม่เป็นที่
ปรารถนา ไม่เป็นที่รักใคร่ ไม่เป็นที่ชอบใจของเขาในโลกนี้ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หรือจากบุคคลผู้ปรารถนาแต่สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ปรารถนา
แต่สิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่ผาสุก ไม่ปรารถนาความเกษมจากโยคะของ
เขา นี้เรียกว่า การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์
[๑๓๐] การพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ การไม่ไปร่วม การไม่มาร่วม การไม่ประชุมร่วม การไม่อยู่ร่วมกับอารมณ์
อันเป็นที่ปรารถนา เป็นที่รักใคร่ เป็นที่ชอบใจของเขาในโลกนี้ เช่น รูป เสียง กลิ่น
รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หรือจากบุคคลผู้ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาความ
เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษมจากโยคะของเขา เช่น มารดา
บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว มิตร อำมาตย์หรือญาติสาโลหิต นี้เรียกว่า
การพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์
[๑๓๑] การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ เหล่าสัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า
‘ไฉนหนอ ขอเราอย่าได้มีความเกิดเป็นธรรมดา หรือขอความเกิดอย่าได้มาถึงเรา
เลย’ ข้อนี้ไม่พึงสำเร็จได้ตามความปรารถนา นี้เรียกว่า การไม่ได้สิ่งที่ต้องการ
เป็นทุกข์
เหล่าสัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า ‘ไฉนหนอ
ขอเราอย่าได้มีความแก่เป็นธรรมดา หรือขอความแก่อย่าได้มาถึงเราเลย’ ข้อนี้
ไม่พึงสำเร็จได้ตามความปรารถนา นี้เรียกว่า การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์
เหล่าสัตว์ผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ... เหล่าสัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ...
เหล่าสัตว์ผู้มีความเศร้าโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์ ความโทมนัส
และความคับแค้นเป็นธรรมดา ต่างก็เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า ‘ไฉนหนอ
ขอเราอย่าได้เป็นผู้มีความเศร้าโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์ ความโทมนัสและ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร
ความคับแค้นเป็นธรรมดาเลย และขอความเศร้าโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์
ความโทมนัสและความคับแค้นอย่าได้มาถึงเราเลย’ ข้อนี้ไม่พึงสำเร็จได้ตามความ
ปรารถนา นี้เรียกว่า การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์
[๑๓๒] ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ๑ ๕ ประการเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ รูปูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์คือรูป) เวทนูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์
คือเวทนา) สัญญูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์คือสัญญา) สังขารูปาทานขันธ์
(อุปาทานขันธ์คือสังขาร) และวิญญาณูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)
เหล่านี้เรียกว่า ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการเป็นทุกข์
นี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ
สมุทยสัจจนิทเทส
[๑๓๓] ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความกำหนัด
มีปกติให้เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
ก็ตัณหานี้แหละเมื่อเกิดขึ้น เกิดที่ไหน เมื่อตั้งอยู่ ตั้งอยู่ที่ไหน
คือ ปิยรูปสาตรูปใดมีอยู่ในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ปิยรูปสาตรูปนี้
เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ปิยรูปสาตรูปนี้
ก็อะไร เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
คือ จักขุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่จักขุนี้ เมื่อตั้งอยู่
ก็ตั้งอยู่ที่จักขุนี้ โสตะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ฆานะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
ชิวหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... กายเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... มโนเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่มโนนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่มโนนี้
รูปเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เสียงเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... กลิ่น
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... โผฏฐัพพะเป็น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๙๑ (สัมมาทิฏฐิสูตร) หน้า ๘๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร
ปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธรรมารมณ์เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิดก็เกิด
ที่ธรรมารมณ์นี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธรรมารมณ์นี้
จักขุวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โสตวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ... ฆานวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ชิวหาวิญญาณเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ... กายวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... มโนวิญญาณ
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่มโนวิญญาณนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้ง
อยู่ที่มโนวิญญาณนี้
จักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
... ฆานสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
กายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... มโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหา
นี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่มโนสัมผัสนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่มโนสัมผัสนี้
เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เวทนาที่เกิดจาก
โสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... เวทนาที่เกิดจากฆานสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ... เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... เวทนาที่เกิดจาก
กายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... เวทนาที่เกิดจากมโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่เวทนาซึ่งเกิดจากมโนสัมผัสนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่
ที่เวทนาซึ่งเกิดจากมโนสัมผัสนี้
รูปสัญญา(ความหมายรู้รูป) เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททสัญญา
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... คันธสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสสัญญา
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... โผฏฐัพพสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธัมมสัญญา
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมสัญญานี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้ง
อยู่ที่ธัมมสัญญานี้
รูปสัญเจตนา(ความจงใจในรูป) เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททสัญเจตนา
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... คันธสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสสัญเจตนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... โผฏฐัพพสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
ธัมมสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมสัญเจตนานี้
เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมมสัญเจตนานี้
รูปตัณหา(ความทะยานอยากในรูป)เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททตัณหา
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... คันธตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสตัณหาเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ... โผฏฐัพพตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธัมมตัณหาเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมตัณหานี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่
ธัมมตัณหานี้
รูปวิตก(ความตรึกถึงรูป)เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททวิตกเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ... คันธวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสวิตกเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ... โผฏฐัพพวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก �... ธัมมวิตกเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมวิตกนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมมวิตกนี้
รูปวิจาร(ความตรองถึงรูป)เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททวิจารเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ... คันธวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสวิจารเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ... โผฏฐัพพวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธัมมวิจารเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมวิจารนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมมวิจารนี้
นี้เรียกว่า ทุกขสมุทยอริยสัจ
นิโรธสัจจนิทเทส
[๑๓๔] ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ความดับตัณหาไม่เหลือด้วยวิราคะ ความสละ ความสละคืน ความพ้น
ความไม่อาลัยในตัณหา
ก็ตัณหานี้เมื่อละ ละที่ไหน เมื่อดับ ดับที่ไหน
คือ ปิยรูปสาตรูปใดมีอยู่ในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่ปิยรูปสาตรูปนี้ เมื่อดับ
ก็ดับที่ปิยรูปสาตรูปนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร
ก็อะไร เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
คือ จักขุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่จักขุนี้ เมื่อดับ
ก็ดับที่จักขุนี้ โสตะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ฆานะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
ชิวหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... กายเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... มโนเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่มโนนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่มโนนี้
รูปเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เสียงเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... กลิ่น
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... โผฏฐัพพะเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ... ธรรมารมณ์เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่
ธรรมารมณ์นี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธรรมารมณ์นี้
จักขุวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โสตวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ... ฆานวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ชิวหาวิญญาณเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ... กายวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... มโนวิญญาณเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่มโนวิญญาณนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่มโนวิญญาณนี้
จักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
... ฆานสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
กายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... มโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหา
นี้เมื่อละ ก็ละที่มโนสัมผัสนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่มโนสัมผัสนี้
เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เวทนาที่เกิดจาก
โสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... เวทนาที่เกิดจากฆานสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ... เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... เวทนาที่เกิดจาก
กายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... เวทนาที่เกิดจากมโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ตัณหานี้ เมื่อละ ก็ละที่เวทนาซึ่งเกิดจากมโนสัมผัสนี้ เมื่อดับ ก็ดับ
ที่เวทนาซึ่งเกิดจากมโนสัมผัสนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร
รูปสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
... คันธสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
โผฏฐัพพสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธัมมสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
ตัณหานี้ เมื่อละ ก็ละที่ธัมมสัญญานี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมมสัญญานี้
รูปสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ... คันธสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ... โผฏฐัพพสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธัมมสัญเจตนาเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้ เมื่อละ ก็ละที่ธัมมสัญเจตนานี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมม-
สัญเจตนานี้
รูปตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
... คันธตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
โผฏฐัพพตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธัมมตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
ตัณหานี้ เมื่อละ ก็ละที่ธัมมตัณหานี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมมตัณหานี้
รูปวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
คันธวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
โผฏฐัพพวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธัมมวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้
เมื่อละ ก็ละที่ธัมมวิตกนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมมวิตกนี้
รูปวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
คันธวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... โผฏฐัพพ-
วิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธัมมวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้
เมื่อละ ก็ละที่ธัมมวิจารนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมมวิจารนี้
นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

มัคคสัจจนิทเทส
[๑๓๕] ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้นั่นแล ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)
๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)
๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ใน
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ
สัมมาสังกัปปะ เป็นอย่างไร
คือ ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริ
ในการไม่เบียดเบียน นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา เป็นอย่างไร
คือ เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด เจตนา
งดเว้นจากการพูดคำหยาบ เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ นี้เรียกว่า สัมมาวาจา
สัมมากัมมันตะ เป็นอย่างไร
คือ เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ เจตนางด
เว้นจากการประพฤติผิดในกาม นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร
สัมมาอาชีวะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ละมิจฉาอาชีวะแล้ว สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วย
สัมมาอาชีวะ นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต
มุ่งมั่นเพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น สร้างฉันทะ พยายาม
ปรารภ ความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว สร้าง
ฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อทำกุศลธรรมที่ยัง
ไม่เกิดให้เกิดขึ้น สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อ
ความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่งกุศลธรรมที่
เกิดขึ้นแล้ว๑ นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ
สัมมาสติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา
และโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ นี้เรียกว่า สัมมาสติ
สัมมาสมาธิ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุ
ทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มี

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.เอกก. (แปล) ๒๐/๓๙๔-๓๙๗/๔๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร
แต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา
มีสติ อยู่เป็นสุข’ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว
บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ นี้เรียกว่า
สัมมาสมาธิ
นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
[๑๓๖] ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณา
เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้ง
ภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรม
เป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่ อย่างนี้แล
หมวดสัจจะ จบ
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน จบ

อานิสงส์แห่งการเจริญสติปัฏฐาน ๔
[๑๓๗] ภิกษุทั้งหลาย
๑. บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ ปี พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน
๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลือ
อยู่ ก็จักเป็นอนาคามี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร
๒. ๗ ปี จงยกไว้๑ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๖ ปี พึง
หวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือ
เมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๓. ๖ ปี จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๕ ปี พึง
หวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๔. ๕ ปี จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๔ ปี พึง
หวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๕. ๔ ปี จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๓ ปี พึง
หวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๖. ๓ ปี จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๒ ปี พึง
หวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๗. ๒ ปี จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๑ ปี พึง
หวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๘. ๑ ปี จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ เดือน พึง
หวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี

เชิงอรรถ :
๑ ๗ ปี จงยกไว้ หมายถึงอย่าว่าแต่จะเจริญสติปัฏฐานใช้ระยะเวลา ๗ ปีเลย แม้เจริญเพียง ๖ ปี ลดลง
มาตามลำดับถึง ๗ วัน ก็สามารถบรรลุอรหัตตผล หรืออนาคามิผลได้ (ที.ม.อ. ๒/๔๐๔/๔๒๒, ม.มู.อ.
๑/๑๓๗/๓๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร
๙. ๗ เดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๖ เดือน
พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๑๐. ๖ เดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๕ เดือน
พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๑๑. ๕ เดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๔ เดือน
พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๑๒. ๔ เดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๓ เดือน
พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๑๓. ๓ เดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๒ เดือน
พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๑๔. ๒ เดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๑ เดือน
พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๑๕. ๑ เดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอดครึ่งเดือน
พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๑๖. ครึ่งเดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ วัน
พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
รวมพระสูตรที่มีในวรรค
[๑๓๘] ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของ
เหล่าสัตว์ เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม
เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ เราอาศัยทางสาย
เดียวนี้แล้วจึงกล่าวคำดังพรรณนามาฉะนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
มหาสติปัฏฐานสูตรที่ ๑๐ จบ
มูลปริยายวรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มูลปริยายสูตร___๒. สัพพาสวสูตร
๓. ธัมมทายาทสูตร___๔. ภยเภรวสูตร
๕. อนังคณสูตร___๖. อากังเขยยสูตร
๗. วัตถูปมสูตร___๘. สัลเลขสูตร
๙. สัมมาทิฏฐิสูตร___๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร
ขอท่านทั้งหลายจงฟังพระสูตรอันมีนัยต่าง ๆ
เป็นธรรมชาติไม่แก่ ไม่ตาย ให้บรรลุอมตธรรม
แสดงไขทั้งมรรคและผล อันบรรเทาทุกข์
มีประโยชน์เกื้อกูล ก่อให้เกิดมหารสหลายพันนัย
อันนำมาซึ่งปีติมากมาย ทำความเร่าร้อนเพราะไฟ ๓ ชนิด
(ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ) ให้ดับสูญ
เหมือนวสุธาราหลั่งชโลมดับร้อนแห่งพื้นพสุธาฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พระสูตรอันประเสริฐสุดท้าย(แห่งวรรค)
ประดุจโอสถอันกำจัดพยาธิคือกิเลส มีรสหวานละมุน
ก่อให้เกิดความยินดีอันใหญ่หลวงแก่เหล่าเทวดาและหมู่มนุษย์
พระอรรถกถาจารย์ประดิษฐานไว้แล้ว
อนึ่ง พระสูตรที่ชื่อเวยยากรณะ
(องค์คุณหนึ่งของนวังคสัตถุศาสน์)
ท่านก็ประดิษฐานไว้ถึง ๒๕๐ สูตร
เพื่อทดสอบเหล่าสมณศากยบุตร
ขอท่านทั้งหลายเหล่าอื่นจากผู้ที่กล่าวแล้วนั้น
จงมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ชมเชยพระสูตร
อันมีความบันเทิงเป็นส่วนสุด
ในวรรคอันแสดงหนทางปฏิบัติต่าง ๆ โดยลำดับเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑. จูฬสีหนาทสูตร

๒. สีหนาทวรรค
หมวดว่าด้วยการบันลือสีหนาท
๑. จูฬสีหนาทสูตร
ว่าด้วยการบันลือสีหนาท สูตรเล็ก
สมณะ ๔ จำพวก
[๑๓๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย สมณะที่ ๑ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ มีอยู่
ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๓ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๔๑ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้
ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจากสมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง เธอทั้งหลายจงบันลือ
สีหนาท๒โดยชอบอย่างนี้แล
[๑๔๐] เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก(เจ้าลัทธิอื่น)ในโลกนี้ จะพึง
กล่าวอย่างนี้ว่า ‘อะไรเล่าเป็นความมั่นใจของพวกท่าน อะไรเป็นพลังใจของพวกท่าน

เชิงอรรถ :
๑ สมณะที่ ๑ หมายถึงพระโสดาบันผู้หมดสิ้นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ประการไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะ
สำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า สมณะที่ ๒ หมายถึงพระสกทาคามี ผู้หมดสิ้นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ประการ
มีราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง กลับมาสู่โลกมนุษย์คราวเดียวแล้วจะตรัสรู้ได้ สมณะที่ ๓ หมายถึงพระ-
อนาคามี ผู้หมดสิ้นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ เกิดในภูมิชั้นสุทธาวาสแล้ว จะนิพพานในภูมินั้น สมณะ
ที่ ๔ หมายถึงพระอรหันต์ ผู้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน (ม.มู.อ. ๑/๑๓๙/๓๒๓-๓๒๔)
๒ บันลือสีหนาท ในที่นี้หมายถึงการประกาศอย่างอาจหาญของภิกษุผู้กล่าวว่า “สมณะเหล่านี้มีในธรรมวินัย
นี้เท่านั้น” ชื่อว่าการบันลือที่ประเสริฐคือการบันลือสีหนาทที่ไม่มีความเกรงกลัว ไม่ติดขัด เพราะเจ้าลัทธิ
อื่นไม่สามารถคัดค้านได้ (ม.มู.อ. ๑/๑๓๙/๓๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑. จูฬสีหนาทสูตร
พวกท่านพิจารณาเห็นอย่างไรในตนจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สมณะที่ ๑ มีอยู่ในธรรมวินัย
นี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๓ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่
๔ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจากสมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวตอบพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนั้น อย่างนี้
ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย มีธรรม ๔ ประการที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้
ทรงเห็น ทรงเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบตรัสไว้แล้ว ซึ่งเรา
ทั้งหลายพิจารณาเห็น(ว่ามี)ในตน จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สมณะที่ ๑ มีอยู่ใน
ธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๓ มีอยู่ใน
ธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๔ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจาก
สมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง’
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเลื่อมใสในศาสดา
๒. ความเลื่อมใสในธรรม
๓. ความเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล
๔. ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตผู้ประพฤติธรรมร่วมกันเป็นที่รักเป็นที่พอใจ
ของเราทั้งหลาย
ธรรม ๔ ประการนี้ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ทรงเห็น ทรงเป็น
พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบตรัสไว้แล้ว ซึ่งเราทั้งหลายพิจารณาเห็น
(ว่ามี)ในตนจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สมณะที่ ๑ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒
มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๓ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๔ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้
ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจากสมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง’
[๑๔๑] เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผู้ใดเป็น
ศาสดาของพวกเรา แม้พวกเราก็มีความเลื่อมใสในศาสดานั้น อะไรเป็นธรรมของ
พวกเรา แม้พวกเราก็มีความเลื่อมใสในธรรมนั้น ข้อใดเป็นศีลของพวกเรา แม้พวก
เราก็เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีลนั้น แม้ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตผู้ประพฤติธรรม
ร่วมกัน ก็เป็นที่รักเป็นที่พอใจของพวกเรา ในข้อนี้มีความแปลกกันอย่างไร มีความ
มุ่งหมายอย่างไร และมีการกระทำต่างกันอย่างไร ระหว่างพวกท่านกับพวกเรา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑. จูฬสีหนาทสูตร
เธอทั้งหลายพึงกล่าวตอบพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนั้น อย่างนี้
ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย จุดมุ่งหมาย๑มีอย่างเดียว หรือมีหลายอย่าง’ พวกอัญเดียรถีย์
ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายมีอย่างเดียวเท่านั้น
ไม่มีหลายอย่าง’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มีราคะ
(ความกำหนัด) หรือผู้ปราศจากราคะ’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่าง
ถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ปราศจากราคะ
มิใช่สำหรับผู้มีราคะ’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มีโทสะ
(ความคิดประทุษร้าย) หรือผู้ปราศจากโทส’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะ
ตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ปราศจาก
โทสะ มิใช่สำหรับผู้มีโทสะ’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มีโมหะ
(ความหลง) หรือผู้ปราศจากโมหะ’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่างถูก
ต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ปราศจากโมหะ
มิใช่สำหรับผู้มีโมหะ’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มีตัณหา
(ความทะยานอยาก) หรือผู้ปราศจากตัณหา’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะ
ตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้
ปราศจากตัณหา มิใช่สำหรับผู้มีตัณหา’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มี
อุปาทาน(ความยึดมั่น) หรือผู้ปราศจากอุปาทาน’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อ
จะตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้
ปราศจากอุปาทาน มิใช่สำหรับผู้มีอุปาทาน’

เชิงอรรถ :
๑ จุดมุ่งหมาย ในที่นี้หมายถึงจุดหมายของความเลื่อมใส ซึ่งแต่ละลัทธิต่างก็มีจุดหมายที่แตกต่างกันไป
และมีเพียงจุดมุ่งหมายเดียวเท่านั้น เช่น พวกพราหมณ์ก็มีพรหมโลกเป็นจุดมุ่งหมาย พวกดาบสก็มี
อาภัสสรพรหมเป็นจุดมุ่งหมาย แต่ในพุทธศาสนานี้มีจุดมุ่งหมายเดียว คืออรหัตตผล (ม.มู.อ. ๑/๑๔๐/๓๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑. จูฬสีหนาทสูตร
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้รู้แจ้ง
หรือผู้ไม่รู้แจ้ง’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า
‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้รู้แจ้ง มิใช่สำหรับผู้ไม่รู้แจ้ง’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้
ยินดียินร้าย หรือผู้ไม่ยินดีไม่ยินร้าย’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่าง
ถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ไม่ยินดีไม่ยินร้าย
มิใช่สำหรับผู้ยินดียินร้าย’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้พอใจ
ในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้ยินดีในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า หรือผู้พอใจ
ในธรรมอันไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้ยินดีในธรรมอันไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า’ พวก
อัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้น
เป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้พอใจในธรรมอันไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้ยินดีในธรรมอัน
ไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า มิใช่สำหรับผู้พอใจในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้ยินดีในธรรม
อันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า’
ทิฏฐิ ๒
[๑๔๒] ภิกษุทั้งหลาย ทิฏฐิ ๒ ประการนี้ คือ (๑) ภวทิฏฐิ๑ (๒) วิภวทิฏฐิ๒
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งยึดติด เข้าถึง เกาะติดภวทิฏฐิ สมณะ
หรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ยินร้ายต่อวิภวทิฏฐิ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งยึดติด เข้าถึง เกาะติดวิภวทิฏฐิ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า
เป็นผู้ยินร้ายต่อภวทิฏฐิ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่รู้ชัดความเกิด
ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดทิฏฐิ ๒ ประการนี้ตามความเป็นจริง

เชิงอรรถ :
๑ ภวทิฏฐิ หมายถึงสัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง (ม.มู.อ. ๑/๑๔๒/๓๓๐)
๒ วิภวทิฏฐิ หมายถึงอุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ (ม.มู.อ. ๑/๑๔๒/๓๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑. จูฬสีหนาทสูตร
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีราคะ มีโทสะ มีโมหะ มีตัณหา
มีอุปาทาน เป็นผู้ไม่รู้แจ้ง เป็นผู้ยินดียินร้าย พอใจในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ยินดีในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า เรากล่าวว่า ‘พวกเขาไม่พ้นจากชาติ(ความเกิด)
ชรา(ความแก่) มรณะ(ความตาย) โสกะ(ความเศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ)
ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ) และอุปายาส(ความคับแค้นใจ) ไม่พ้น
จากทุกข์’ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดความเกิด ความดับ คุณ โทษ
และอุบายเครื่องสลัดทิฏฐิ ๒ ประการนี้ตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์
เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ปราศจาก
ตัณหา ไม่มีอุปาทาน เป็นผู้รู้แจ้ง เป็นผู้ไม่ยินดีไม่ยินร้าย เป็นผู้พอใจในธรรมอัน
ไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ยินดีในธรรมอันไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า เรากล่าวว่า ‘พวกเขา
พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส พ้นจากทุกข์’
อุปาทาน ๔
[๑๔๓] ภิกษุทั้งหลาย อุปาทาน ๔ ประการนี้
อุปาทาน ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม)
๒. ทิฏฐุปาทาน (ความยึดมั่นในทิฏฐิ)
๓. สีลัพพตุปาทาน (ความยึดมั่นในศีลและวัตร)
๔. อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา)

มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง๑ แต่พวกเขา
ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน
ไม่บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้สีลัพพตุปาทาน ไม่บัญญัติ
ความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่รู้

เชิงอรรถ :
๑ ปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง หมายถึงปฏิญญาว่า ‘เราทั้งหมดกล่าวความรอบรู้ คือความ
ข้ามพ้นอุปาทานทั้งสิ้น’ (ม.มู.อ. ๑/๑๔๓/๓๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑. จูฬสีหนาทสูตร
ฐานะ ๓ ประการนี้ตามความเป็นจริง เหตุนั้น พวกเขาจึงปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้
อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขาไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือ
บัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ไม่บัญญัติ
ความรอบรู้สีลัพพตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง แต่พวก
เขาไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือบัญญัติความรอบรู้
กามุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้สีลัพพตุปาทาน
ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสมณพราหมณ์
เหล่านั้นไม่รู้ฐานะ ๒ ประการนี้ตามความเป็นจริง เหตุนั้น พวกเขาจึงปฏิญญา
ลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขาไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่าง
โดยชอบ คือบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ไม่
บัญญัติความรอบรู้สีลัพพตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขา
ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน
บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน บัญญัติความรอบรู้สีลัพพตุปาทาน ไม่บัญญัติ
ความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่รู้
ฐานะ ๑ ประการนี้ตามความเป็นจริง เหตุนั้น พวกเขาจึงปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้
อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขาไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือ
บัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน บัญญัติความรอบรู้
สีลัพพตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน
ภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสใดในศาสดา ความเลื่อมใสใดในธรรม ความ
เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ใดในศีลทั้งหลาย ความเป็นที่รักเป็นที่พอใจใดในหมู่สหธรรมิก ข้อนั้น
ทั้งหมดเราไม่กล่าวว่า ดำเนินไปชอบในธรรมวินัยเห็นปานนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะข้อนั้นเป็นความเลื่อมใสในธรรมวินัยที่ศาสดากล่าวไว้ผิดแล้ว ประกาศไว้ไม่
ถูกต้อง ไม่เป็นเหตุนำสัตว์ออกจากทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ พระสัมมา-
สัมพุทธเจ้ามิได้ประกาศไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑. จูฬสีหนาทสูตร
[๑๔๔] ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิญญาวาทะ
ว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง จึงบัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือ
บัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน๑ ความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ความรอบรู้สีลัพพตุ-
ปาทาน และความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ความเลื่อมใสใดในศาสดา ความเลื่อมใสใด
ในธรรม ความเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ใดในศีลทั้งหลาย ความเป็นที่รักเป็นที่พอใจใด
ในหมู่สหธรรมิก ข้อนั้นทั้งหมดเรากล่าวว่า ดำเนินไปชอบในธรรมวินัยเห็นปานนี้
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะข้อนั้นเป็นความเลื่อมใสในธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ถูกต้องแล้ว
ประกาศไว้ถูกต้องแล้ว เป็นเหตุนำสัตว์ออกจากทุกข์ เป็นไปเพื่อความสงบ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้แล้ว
หลักปฏิจจสมุปบาทเริ่มต้นด้วยอุปาทาน
[๑๔๕] ภิกษุทั้งหลาย อุปาทาน ๔ ประการนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไร
เป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด
อุปาทาน ๔ ประการนี้ มีตัณหาเป็นต้นเหตุ มีตัณหาเป็นเหตุเกิด
มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด
ตัณหาเล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไร
เป็นแดนเกิด
ตัณหา มีเวทนาเป็นต้นเหตุ มีเวทนาเป็นเหตุเกิด มีเวทนาเป็นกำเนิด มีเวทนา
เป็นแดนเกิด
เวทนานี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด
มีอะไรเป็นแดนเกิด
เวทนา มีผัสสะเป็นต้นเหตุ มีผัสสะเป็นเหตุเกิด มีผัสสะเป็นกำเนิด มีผัสสะ
เป็นแดนเกิด

เชิงอรรถ :
๑ บัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน หมายถึงทรงบัญญัติความรอบรู้การละ การล่วงพ้นกามุปาทานด้วย
อรหัตตมรรค บัญญัติความรอบรู้อุปาทาน ๓ นอกนี้ด้วยโสดาปัตติมรรค (ม.มู.อ. ๑/๑๔๔/๓๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๙ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น