Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๑๒-๙ หน้า ๓๗๑ - ๔๑๖

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒-๙ สุตตันตปิฎกที่ ๐๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์



พระสุตตันตปิฎก
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร

ทรงรับรองทรรศนะของพระเถระทั้งหมด
[๓๓๙] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกับท่านเหล่านั้นว่า “ท่านทั้งหลาย
พวกเราทั้งหมดตอบตามปฏิภาณของตน พวกเราไปกันเถิด พวกเราจักเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วจักกราบทูลเนื้อความนี้แด่พระองค์ พระผู้มี-
พระภาคจักทรงตอบแก่เราทั้งหลายอย่างใด พวกเราก็จักทรงจำข้อความนั้นไว้อย่างนั้น”
ท่านเหล่านั้น รับคำแล้ว จากนั้น ท่านเหล่านั้นก็เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ท่านเรวตะ ท่านอานนท์ เข้าไป
หาข้าพระองค์ถึงที่อยู่เพื่อฟังธรรม ข้าพระองค์ได้เห็นท่านเรวตะและท่านอานนท์
กำลังเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้กล่าวกับท่านอานนท์ว่า ‘ท่านอานนท์ จงมาเถิด
ท่านอานนท์ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค ผู้อยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค ได้มาดี
แล้ว ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบาน
สะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านอานนท์ ป่าโคสิงคสาลวันจะ
พึงงามด้วยภิกษุเช่นไร’ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านอานนท์ได้ตอบ
ข้าพระองค์ว่า ‘ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงสุตะ ฯลฯ
เพื่อถอนอนุสัย ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร อานนท์เมื่อจะตอบอย่างถูก
ต้องก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่าอานนท์เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟัง
มากซึ่งธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด
พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน
ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ อานนท์นั้นแสดงธรรมแก่บริษัท
๔ ด้วยบทและพยัญชนะที่เรียบง่ายและต่อเนื่องไม่ขาดสาย เพื่อถอนอนุสัย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร
[๓๔๐] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลต่อไปว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่าน
อานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกับท่านเรวตะว่า ‘ท่านเรวตะ ท่าน
อานนท์ตอบตามปฏิภาณของตน ผมขอถามท่านเรวตะในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงค-
สาลวันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น
กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านเรวตะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร’
เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านเรวตะได้ตอบข้าพระองค์ว่า ‘ท่านสารีบุตร
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความหลีกเร้น
หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วย
วิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร เรวตะเมื่อจะตอบอย่างถูกต้อง
ก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า เรวตะเป็นผู้มีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วใน
ความหลีกเร้น หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน
ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง”
[๓๔๑] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่านเรวตะ
กล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกับท่านอนุรุทธะว่า ‘ท่านอนุรุทธะ ท่าน
เรวตะตอบตามปฏิภาณของตน ฯลฯ ท่านอนุรุทธะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วย
ภิกษุเช่นไร’ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านอนุรุทธะได้ตอบข้าพระองค์ว่า
‘ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ย่อมตรวจดูโลกธาตุ ๑,๐๐๐ โลกธาตุ ด้วย
ตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ บุรุษผู้มีตาดีขึ้นปราสาทอันโออ่าชั้นบน จะพึงมองดู
วงกลมแห่งกงล้อจำนวน ๑,๐๐๐ ได้ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมตรวจ
ดูโลกธาตุ ๑,๐๐๐ โลกธาตุ ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ท่านสารีบุตร
ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร อนุรุทธะเมื่อจะตอบอย่าง
ถูกต้องก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า อนุรุทธะย่อมตรวจดูโลกธาตุ ๑,๐๐๐ โลกธาตุ
ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร
[๓๔๒] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่านอนุรุทธะ
กล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกับท่านมหากัสสปะว่า ‘ท่านกัสสปะ ท่าน
อนุรุทธะตอบตามปฏิภาณของตน เราขอถามท่านมหากัสสปะในข้อนั้นว่า ‘ฯลฯ
ท่านกัสสปะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร’ เมื่อข้าพระองค์กล่าว
อย่างนี้แล้ว ท่านมหากัสสปะได้ตอบข้าพระองค์ว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระ
ธรรมวินัยนี้ตนเองอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็น
วัตร ตนเองเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ฯลฯ ตนเองถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ฯลฯ
ตนเองถือไตรจีวรเป็นวัตร ฯลฯ ตนเองเป็นผู้มักน้อย ฯลฯ ตนเองเป็นผู้สันโดษ
ฯลฯ ตนเองเป็นผู้สงัด ฯลฯ ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี ฯลฯ ตนเองเป็นผู้ปรารภ
ความเพียร ฯลฯ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ฯลฯ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ
ฯลฯ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา ฯลฯ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ ฯลฯ
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็น
ผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุ
เช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร กัสสปะเมื่อจะตอบอย่างถูกต้อง
ก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า กัสสปะนั้น ตนเองอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญ
คุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ตนเองเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าว
สรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ตนเองถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ตนเองถือไตรจีวรเป็น
วัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือไตรจีวรเป็นวัตร ตนเองเป็นผู้มักน้อย
และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้มักน้อย ตนเองเป็นผู้สันโดษ และกล่าว
สรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สันโดษ ตนเองเป็นผู้สงัด และกล่าวสรรเสริญคุณแห่ง
ความเป็นผู้สงัด ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ไม่
คลุกคลี ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้
ปรารภความเพียร ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร
เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่ง
ความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา และกล่าวสรรเสริญ
คุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ และกล่าว
สรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ-
ญาณทัสสนะ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ”
[๓๔๓] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่านมหากัสสปะ
กล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกับท่านมหาโมคคัลลานะว่า ‘ท่านโมคคัลลานะ
ท่านมหากัสสปะตอบตามปฏิภาณของตน เราขอถามท่านโมคคัลลานะในข้อนั้นว่า
‘ฯลฯ ท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร’ เมื่อข้าพระ
องค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านมหาโมคคัลลานะได้ตอบข้าพระองค์ว่า ‘ท่านสารีบุตร
ภิกษุ ๒ รูปในพระธรรมวินัยนี้กล่าวอภิธรรมกถา เธอทั้ง ๒ รูปนั้นถามปัญหากัน
และกัน แล้วย่อมแก้กันเองไม่หยุดพัก และธรรมีกถาของเธอทั้ง ๒ นั้นก็ดำเนินต่อไป
ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร โมคคัลลานะเมื่อจะตอบอย่าง
ถูกต้องก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า โมคคัลลานะเป็นธรรมกถึก”
[๓๔๔] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนั้นแล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะ
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หลังจากนั้น ข้าพระองค์ได้
กล่าวกับท่านสารีบุตรว่า ‘ท่านสารีบุตร พวกเราทั้งหมดตอบตามปฏิภาณของตน
บัดนี้ ผมขอถามท่านสารีบุตรในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์
ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่าน
สารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร’ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้
แล้ว ท่านสารีบุตรได้ตอบข้าพระองค์ว่า ‘ท่านโมคคัลลานะ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
ทำจิตให้อยู่ในอำนาจ(ของตน)และไม่ยอมอยู่ในอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่
ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเช้า หวังจะอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร
ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเที่ยง หวังจะ
อยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเย็น หีบผ้า
ของพระราชาหรือราชมหาอำมาตย์ซึ่งเต็มด้วยผ้าที่ย้อมเป็นสีต่าง ๆ พระราชาหรือ
ราชมหาอำมาตย์นั้น หวังจะห่มผ้าคู่ใดในเวลาเช้า ก็ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเช้า หวังจะ
ห่มผ้าคู่ใดในเวลาเที่ยง ก็ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเที่ยง หวังจะห่มผ้าคู่ใดในเวลาเย็น ก็
ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเย็น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำจิตให้อยู่ใน
อำนาจ(ของตน)และไม่ยอมอยู่ในอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใด
ในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเช้า หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดใน
เวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเที่ยง หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใด
ในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเย็น ท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงค-
สาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ โมคคัลลานะ สารีบุตรเมื่อตอบอย่าง
ถูกต้องก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า สารีบุตรทำจิตให้อยู่ในอำนาจ(ของตน)และไม่
ยอมอยู่ในอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วย
วิหารสมาบัตินั้นในเวลาเช้า หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วย
วิหารสมาบัตินั้นในเวลาเที่ยง หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วย
วิหารสมาบัตินั้นในเวลาเย็น”
ป่างามด้วยความเพียร
[๓๔๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “คำของใครหนอเป็นสุภาษิต พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร คำของเธอทั้งหมดเป็นสุภาษิตโดยเหตุ
นั้น ๆ แต่เธอทั้งหลายจงฟังคำของเรา หากมีคำถามว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวันจะพึง
งามด้วยภิกษุเช่นไร’ เราจักตอบว่า ‘สารีบุตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้กลับจากบิณฑบาต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๓. มหาโคปาลสูตร
ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์๑ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า๒ ว่า
‘จิตของเรายังไม่หมดความถือมั่น (และ)ไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพียงใด
เราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้เพียงนั้น’ สารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
มหาโคสิงคสูตรที่ ๒ จบ

๓. มหาโคปาลสูตร
ว่าด้วยคนเลี้ยงโค สูตรใหญ่
เหตุแห่งความไม่เจริญ๓
[๓๔๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระ
ผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการ เป็นผู้ไม่
สามารถเลี้ยงฝูงโคให้เจริญ ให้เพิ่มขึ้นได้
องค์ ๑๑ ประการ อะไรบ้าง
คือ นายโคบาลในโลกนี้
๑. ไม่รู้รูปโค ๒. ไม่ฉลาดในลักษณะโค
๓. ไม่กำจัดไข่ขาง ๔. ไม่ปกปิดแผล

เชิงอรรถ :
๑-๒ ดูเชิงอรรถที่ ๒-๓ ข้อ ๑๐๗ (มหาสติปัฏฐานสูตร) หน้า ๑๐๒ ในเล่มนี้
๓ ดูเทียบ องฺ.เอกาทสก. (แปล) ๒๔/๑๗/๔๓๒-๔๓๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๓. มหาโคปาลสูตร
๕. ไม่สุมไฟ ๖. ไม่รู้ท่าน้ำ
๗. ไม่รู้ว่าโคดื่มน้ำแล้ว ๘. ไม่รู้ทาง
๙. ไม่ฉลาดในที่หากิน ๑๐. รีดนมไม่ให้เหลือ
๑๑. ไม่บูชาโคผู้๑ทั้งหลายที่เป็นพ่อโค เป็นจ่าฝูง ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง

นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่สามารถจะเลี้ยง
ฝูงโคให้เจริญ ให้เพิ่มขึ้นได้ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เป็นผู้ไม่สามารถถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ได้
ธรรม ๑๑ ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. ไม่รู้รูป ๒. ไม่ฉลาดในลักษณะ
๓. ไม่กำจัดไข่ขาง ๔. ไม่ปกปิดแผล
๕. ไม่สุมไฟ ๖. ไม่รู้ท่าน้ำ
๗. ไม่รู้ธรรมที่ดื่มแล้ว ๘. ไม่รู้ทาง
๙. ไม่ฉลาดในโคจร ๑๐. รีดนมไม่ให้เหลือ
๑๑. ไม่บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน
เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง

[๓๔๗] ภิกษุไม่รู้รูป เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้ชัดรูปอย่างใดอย่างหนึ่งตามความเป็นจริงว่า ‘มหา-
ภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔’ ภิกษุเป็นผู้ไม่รู้รูป เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ไม่บูชาโคผู้ หมายถึงไม่ให้อาหารอย่างดี ไม่ประดับด้วยของหอม ไม่คล้องพวงมาลัย ไม่สวมปลอกเงิน
ปลอกทองที่เขาของโคจ่าฝูง และในเวลากลางคืน ก็ไม่ติดไฟแล้วให้นอนใต้เพดานผ้า โคจ่าฝูงเมื่อไม่ได้รับ
การเอาใจใส่เช่นนั้น จึงไม่รักษา ไม่ป้องกันอันตรายให้แก่ฝูงโค (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๗/๓๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๓. มหาโคปาลสูตร
ภิกษุไม่ฉลาดในลักษณะ๑ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘คนพาลมีกรรมเป็น
ลักษณะ บัณฑิตมีกรรมเป็นลักษณะ’ ภิกษุไม่ฉลาดในลักษณะ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่กำจัดไข่ขาง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รับกามวิตกที่เกิดขึ้น ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นสุด
ไม่ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป รับพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ... รับวิหิงสาวิตก
ที่เกิดขึ้น ... รับบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้
สิ้นสุด ไม่ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ภิกษุไม่กำจัดไข่ขาง เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่ปกปิดแผล เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้วรวบถือ๒ แยกถือ๓ ไม่ปฏิบัติเพื่อ
สำรวมในจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา
และโทมนัสครอบงำได้ ไม่รักษาจักขุนทรีย์ ไม่ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียง
ทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ... รู้แจ้ง
ธรรมารมณ์ทางใจแล้วรวบถือ แยกถือ ไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมในมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่
สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ไม่รักษา
มนินทรีย์ ไม่ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุไม่ปกปิดแผล เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ฉลาดในลักษณะ หมายถึงคนพาลและบัณฑิตมีกรรมเป็นเครื่องหมายเหมือนกัน แต่ต่างกันที่คนพาลมี
อกุศลกรรมเป็นเครื่องหมาย บัณฑิตมีกุศลกรรมเป็นเครื่องหมาย (ม.มู.อ. ๒/๓๔๗/๑๖๙)
๒ รวบถือ หมายถึงมองภาพด้านเดียว คือมองภาพรวมโดยเห็นเป็นหญิงหรือชาย เห็นว่ารูปสวย เสียง
ไพเราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสที่อ่อนนุ่ม เป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนา ด้วยอำนาจฉันทราคะ (อภิ.สงฺ.อ.
๑๓๕๒/๔๕๖-๔๕๗)
๓ แยกถือ หมายถึงมองภาพ ๒ ด้าน คือมองแยกแยะเป็นส่วน ๆ ไปด้วยอำนาจกิเลส เช่น เห็นมือเท้า
ว่าสวยหรือไม่สวย เห็นอาการยิ้มแย้ม หัวเราะ การพูด การเหลียวซ้ายแลขวาว่าน่ารักหรือไม่น่ารัก ถ้า
เห็นว่าสวยน่ารักก็เกิดอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา) ถ้าเห็นว่าไม่สวย ไม่น่ารัก ก็เกิดอนิฏฐารมณ์
(อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) (อภิ.สงฺ.อ. ๑๓๕๒/๔๕๖-๔๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๓. มหาโคปาลสูตร
ภิกษุไม่สุมไฟ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่แสดงธรรมตามที่ฟังมาแล้ว ตามที่เล่าเรียนมาแล้ว
แก่คนอื่น ๆ โดยพิสดาร ภิกษุไม่สุมไฟ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่รู้ท่าน้ำ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปหาภิกษุผู้เป็นพหูสูต ผู้เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรม
ทรงวินัย ทรงมาติกาตามเวลาสมควร ไม่สอบสวนไต่ถามว่า “พุทธพจน์นี้เป็น
อย่างไร เนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร” ท่านผู้คงแก่เรียนเหล่านั้นไม่เปิด
เผยธรรมที่ยังไม่ได้เปิดเผย ไม่ทำให้ง่ายซึ่งธรรมที่ยังไม่ทำให้ง่าย และไม่บรรเทา
ความสงสัยในธรรมที่น่าสงสัยหลายอย่างแก่ภิกษุนั้น ภิกษุไม่รู้ท่าน้ำ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่รู้ธรรมที่ดื่มแล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่ได้ความปลาบปลื้มอิงอรรถ ไม่ได้ความปลาบปลื้ม
อิงธรรม ไม่ได้ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรมในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วซึ่ง
ผู้อื่นแสดงอยู่ ภิกษุไม่รู้ธรรมที่ดื่มแล้ว เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่รู้ทาง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้อริยมรรคมีองค์ ๘ ตามความเป็นจริง ภิกษุไม่
รู้ทาง เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่ฉลาดในโคจร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้ชัดสติปัฏฐาน ๔ ประการตามความเป็นจริง๑ ภิกษุ
ไม่ฉลาดในโคจร เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ไม่รู้สติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ในที่นี้หมายถึงไม่รู้ว่า ‘สติปัฏฐานอย่างไหนเป็นโลกิยะ อย่างไหน
เป็นโลกุตตระ’ เมื่อไม่รู้ก็จะน้อมญาณของตนเข้าไปในฐานที่ละเอียด แล้วปักใจอยู่ในสติปัฏฐานที่เป็น
โลกิยะเท่านั้น จึงไม่สามารถให้สติปัฏฐานส่วนที่เป็นโลกุตตระเกิดขึ้นได้ (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๗/๓๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๓. มหาโคปาลสูตร
ภิกษุรีดนมไม่ให้เหลือ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้จักประมาณเพื่อจะรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่พวกคหบดีผู้มีศรัทธาปวารณานำไปถวายเฉพาะ ภิกษุ
รีดนมไม่ให้เหลือ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน เป็น
สังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่เข้าไปตั้งเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตา-
มโนกรรมทั้งต่อหน้าและลับหลังในเหล่าภิกษุผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน
เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ภิกษุไม่บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู
เป็นผู้บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เป็น
อย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่
สามารถถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ได้
[๓๔๘] นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการ เป็นผู้สามารถจะเลี้ยง
ฝูงโคให้เจริญ ให้เพิ่มขึ้นได้
องค์ ๑๑ ประการ อะไรบ้าง
คือ นายโคบาลในโลกนี้

๑. รู้รูปโค ๒. ฉลาดในลักษณะโค
๓. กำจัดไข่ขาง ๔. ปกปิดแผล
๕. สุมไฟ ๖. รู้ท่าน้ำ
๗. รู้ว่าโคดื่มน้ำแล้ว ๘. รู้ทาง
๙. ฉลาดในที่หากิน ๑๐. รีดนมให้เหลือ
๑๑. บูชาโคผู้ทั้งหลายที่เป็นพ่อโค เป็นจ่าฝูง ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง

นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการนี้แล จึงเป็นผู้สามารถจะเลี้ยง
ฝูงโคให้เจริญ ให้เพิ่มขึ้นได้ ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๓. มหาโคปาลสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เป็นผู้สามารถถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ได้
ธรรม ๑๑ ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. รู้รูปโค ๒. ฉลาดในลักษณะ
๓. กำจัดไข่ขาง ๔. ปกปิดแผล
๕. สุมไฟ ๖. รู้ท่าน้ำ
๗. รู้ว่ธรรมที่ดื่มแล้ว ๘. รู้ทาง
๙. ฉลาดในโคจร ๑๐. รีดนมให้เหลือ
๑๑. บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน เป็น
สังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง

[๓๔๙] ภิกษุรู้รูป เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ชัดรูปอย่างใดอย่างหนึ่งตามความเป็นจริงว่า
‘มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔’ ภิกษุรู้รูป เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุฉลาดในลักษณะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘คนพาลมีกรรมเป็นลักษณะ
บัณฑิตมีกรรมเป็นลักษณะ’ ภิกษุฉลาดในลักษณะ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุกำจัดไข่ขาง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รับกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด
ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ไม่รับพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ... ไม่รับวิหิงสาวิตก
ที่เกิดขึ้น ... ไม่รับบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา ทำให้
สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ภิกษุกำจัดไข่ขาง เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๓. มหาโคปาลสูตร
ภิกษุปกปิดแผล เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ปฏิบัติเพื่อ
สำรวมในจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา
และโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียง
ทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ...
รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ปฏิบัติเพื่อสำรวมในมนินทรีย์
ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุปกปิดแผลเป็นอย่างนี้แล
ภิกษุสุมไฟ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้แสดงธรรมที่ฟังมาแล้ว ตามที่เล่าเรียนมาแล้วแก่คน
อื่น ๆ โดยพิสดาร ภิกษุสุมไฟ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุรู้ท่าน้ำ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปหาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูต ผู้เรียนจบคัมภีร์
ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกาตามเวลาสมควร สอบสวนไต่ถามว่า “พุทธพจน์
นี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร” ท่านผู้คงแก่เรียนเหล่านั้น
ย่อมเปิดเผยธรรมที่ยังไม่ได้เปิดเผย ทำให้ง่ายซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้ง่าย และ
บรรเทาความสงสัยในธรรมที่น่าสงสัยหลายอย่างแก่ภิกษุนั้น ภิกษุรู้ท่าน้ำ เป็น
อย่างนี้แล
ภิกษุรู้ธรรมที่ดื่มแล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้ความปลาบปลื้มอิงอรรถ ได้ความปลาบปลื้ม
อิงธรรม ได้ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรมในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วซึ่งผู้
อื่นแสดงอยู่ ภิกษุรู้ธรรมที่ดื่มแล้ว เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๓. มหาโคปาลสูตร
ภิกษุรู้ทาง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้อริยมรรคมีองค์ ๘ ตามความเป็นจริง ภิกษุรู้ทาง
เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุฉลาดในโคจร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ชัดสติปัฏฐาน ๔ ประการ ตามความเป็นจริง
ภิกษุฉลาดในโคจร เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุรีดนมให้เหลือ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้จักประมาณเพื่อจะรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่พวกคหบดีผู้มีศรัทธาปวารณานำไปถวายเฉพาะ ภิกษุ
รีดนมให้เหลือ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน
เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปตั้งเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตา-
มโนกรรมทั้งต่อหน้าและลับหลังในเหล่าภิกษุผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน
เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ภิกษุบูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู
เป็นผู้บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เป็น
อย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการนี้แล เป็นผู้สามารถ
ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชม
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
มหาโคปาลสูตรที่ ๓ จบ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๔. จูฬโคปาลสูตร

๔. จูฬโคปาลสูตร
ว่าด้วยคนเลี้ยงโค สูตรเล็ก
นายโคบาลผู้ไม่ฉลาด
[๓๕๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา เมืองอุกกเจลา
แคว้นวัชชี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว นายโคบาลชาวแคว้นมคธ เป็นคนโง่มา
แต่กำเนิด ในสารทสมัยซึ่งเป็นเดือนท้ายแห่งฤดูฝน มิได้พิจารณาฝั่งนี้และฝั่งโน้น
แห่งแม่น้ำคงคา ต้อนฝูงโคให้ข้ามไปสู่ฝั่งเหนือของชาวแคว้นวิเทหะ ณ สถานที่
ที่มิใช่ท่า ครั้งนั้น ฝูงโคว่ายเข้าไปในวังน้ำวนกลางแม่น้ำคงคา ถึงความพินาศใน
แม่น้ำนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะนายโคบาลชาวแคว้นมคธนั้น เป็นคนโง่มาแต่
กำเนิด ในสารทสมัยซึ่งเป็นเดือนท้ายแห่งฤดูฝน มิได้พิจารณาฝั่งนี้และฝั่งโน้นแห่ง
แม่น้ำคงคา ต้อนฝูงโคให้ข้ามไปสู่ฝั่งเหนือของชาวแคว้นวิเทหะ ณ สถานที่ที่มิใช่ท่า
แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ฉลาด
ในโลกนี้ ไม่ฉลาดในโลกหน้า ไม่ฉลาดในธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมาร๑ ไม่ฉลาด

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมาร หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (ม.มู.อ. ๒/๓๕๐/๑๗๔) อีกนัยหนึ่ง หมายถึง
มาร ๕ จำพวก คือ (๑) กิเลสมาร (๒) ขันธมาร (๓) อภิสังขารมาร (๔) เทวปุตตมาร (๕) มัจจุมาร (ม.มู.ฏีกา
๒/๓๕๐/๒๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๔. จูฬโคปาลสูตร
ในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมาร๑ ไม่ฉลาดในธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมัจจุ ไม่ฉลาด
ในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมัจจุ ชนเหล่าใดเข้าใจถ้อยคำของสมณะหรือพราหมณ์
เหล่านั้นว่าเป็นถ้อยคำที่ตนควรฟัง ควรเชื่อ ความเข้าใจของชนเหล่านั้นจักเป็นไป
เพื่อสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน
นายโคบาลผู้ฉลาด
[๓๕๑] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว นายโคบาลชาวแคว้นมคธ เป็น
คนฉลาดมาแต่กำเนิด ในสารทสมัยซึ่งเป็นเดือนท้ายแห่งฤดูฝน พิจารณาฝั่งนี้
และฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำคงคา ต้อนฝูงโคให้ข้ามไปสู่ฝั่งเหนือของชาวแคว้นวิเทหะ ณ
สถานที่ที่เป็นท่า นายโคบาลนั้นต้อนเหล่าโคที่เป็นจ่าฝูงซึ่งเป็นผู้นำฝูงให้ข้ามไปก่อน
โคเหล่านั้นว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี จากนั้นจึงต้อนเหล่า
โคที่มีกำลังและโคที่ฝึกไว้ให้ข้ามไป โคเหล่านั้นว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึง
ฝั่งได้โดยสวัสดี จากนั้นจึงต้อนเหล่าโคหนุ่มสาวให้ข้ามไป โคเหล่านั้นว่ายตัด
กระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี จากนั้นจึงต้อนเหล่าลูกโคที่มีกำลังน้อย
ให้ข้ามไป โคเหล่านั้นก็ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ลูกโคเล็กที่เกิดในวันนั้นลอยไปตามเสียงโค
ที่เป็นแม่ แม้ลูกโคนั้นก็ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะนายโคบาลชาวแคว้นมคธนั้นเป็นคนฉลาดมาแต่กำเนิด ในสารท-
สมัยซึ่งเป็นเดือนท้ายแห่งฤดูฝน พิจารณาฝั่งนี้และฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำคงคา ต้อนฝูงโค
ให้ข้ามไปสู่ฝั่งเหนือของชาวแคว้นวิเทหะ ณ สถานที่ที่ใช่ท่า ฉันใด สมณะหรือ
พราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฉลาดในโลกนี้ ฉลาดในโลกหน้า

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมาร หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ [คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑] (ม.มู.อ.
๒/๓๕๐/๑๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๔. จูฬโคปาลสูตร
ฉลาดในเตภูมิกธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมาร ฉลาดในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมาร
ฉลาดในเตภูมิกธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมัจจุ ฉลาดในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมัจจุ
ชนเหล่าใดเข้าใจถ้อยคำของสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นว่าเป็นถ้อยคำที่ตนควรฟัง
ควรเชื่อ ความเข้าใจของชนเหล่านั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอดกาลนาน
ฝูงโคข้ามถึงฝั่งโดยสวัสดี
[๓๕๒] ภิกษุทั้งหลาย เหล่าโคผู้ที่เป็นจ่าฝูง เป็นผู้นำฝูงว่ายตัดกระแสแม่น้ำ
คงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายที่เป็นอรหันตขีณาสพก็ฉันนั้น
เหมือนกัน อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๑ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว๒ ปลงภาระได้แล้ว
บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว๓ หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ก็
ชื่อว่า ว่ายตัดกระแสมารข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
เหล่าโคที่มีกำลังและโคที่ฝึกไว้ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายที่เป็นโอปปาติกะ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะโอรัมภาคิย-
สังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไปจึงปรินิพพานในพรหมโลกนั้น ไม่ต้องกลับมาจากโลก
นั้นอีก ก็ชื่อว่า ว่ายตัดกระแสมารข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
เหล่าโคหนุ่มและโคสาวว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายที่เป็นสกทาคามี ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะสังโยชน์ ๓
ประการสิ้นไป (และ) เพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง จึงกลับมาสู่โลกนี้อีก
ครั้งเดียว ก็จะทำให้ดีที่สุดแห่งทุกข์ได้ ก็ชื่อว่า ว่ายตัดกระแสมารข้ามไปถึงฝั่งได้โดย
สวัสดี

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๘ (มูลปริยายสูตร) หน้า ๑๑ ในเล่มนี้
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๕๔ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๓ ในเล่มนี้
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๘ (มูลปริยายสูตร) หน้า ๑๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๔. จูฬโคปาลสูตร
เหล่าลูกโคที่มีกำลังน้อยว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายที่เป็นโสดาบัน๑ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะสังโยชน์๒ ๓
ประการสิ้นไป จึงไม่มีทางตกต่ำ๓มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ๔ ในวันข้างหน้า
ก็ชื่อว่า ว่ายตัดกระแสมารข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
ลูกโคเล็กที่เกิดในวันนั้นลอยไปตามเสียงโคที่เป็นแม่ ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคา
ข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่เป็น
ธัมมานุสารี๕ และที่เป็นสัทธานุสารี๖ ก็ชื่อว่า จักว่ายตัดกระแสมารข้ามไปถึงฝั่งได้
โดยสวัสดี
ภิกษุทั้งหลาย เราแลเป็นผู้ฉลาดในโลกนี้ ฉลาดในโลกหน้า ฉลาดใน
เตภูมิกธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมาร ฉลาดในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมาร ฉลาดใน
เตภูมิกธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมัจจุ ฉลาดในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมัจจุ ชนเหล่าใด
จักเข้าใจถ้อยคำของเรานั้นว่าเป็นถ้อยคำที่ตนควรฟัง ควรเชื่อ ความเข้าใจของชน
เหล่านั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอดกาลนาน”
พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

เชิงอรรถ :
๑-๔ ดูเชิงอรรถที่ ๒-๓,๑-๒ ข้อ ๖๗ (วัตถูปมสูตร) หน้า ๕๘-๕๙ ในเล่มนี้
๕ ธัมมานุสารี หมายถึงผู้แล่นไปตามธรรม ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล มีปัญญาแก่กล้า บรรลุผล
แล้วกลายเป็นทิฏฐิปัตตะ(ผู้บรรลุธรรมด้วยความเห็นถูกต้อง) (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๙/๕๕, องฺ.สตฺตก.อ.
๓/๑๔/๑๖๒, ม.มู.อ. ๒/๓๕๒/๑๗๕)
๖ สัทธานุสารี คือ ผู้แล่นไปตามศรัทธาท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผลมีสัทธาแก่กล้า บรรลุผลแล้ว
กลายเป็นสัทธาวิมุต(ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา) เรียกว่า มัคคสมังคีบุคคลชั้นต้น (ปฐมมัคคสมังคี) หรือ
ผู้พรั่งพร้อมด้วยโสดาปัตติมรรค (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๙/๕๕, องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๒, ม.มู.อ. ๒/๓๕๒/๑๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร
“โลกนี้และโลกหน้าตถาคตผู้รู้ได้ประกาศไว้ดีแล้ว
ตถาคตผู้ตรัสรู้เอง ทราบชัดโลกทั้งปวงทั้งที่มารไปถึงได้
และที่มัจจุราชไปถึงไม่ได้ ด้วยความรู้ยิ่ง
จึงได้เปิดประตูแห่งอมตะ๑
เพื่อให้ถึงนิพพานอันเป็นแดนเกษม
กระแสแห่งมารผู้มีใจบาปตถาคตตัดได้แล้ว
กำจัดได้แล้ว กำราบได้แล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มากด้วยความปราโมทย์
ปรารถนาธรรมอันเป็นแดนเกษม๒เถิด”
จูฬโคปาลสูตรที่ ๔ จบ

๕. จูฬสัจจกสูตร
ว่าด้วยสัจจกะ นิครนถบุตร สูตรเล็ก
อนุสาสนีของพระพุทธเจ้า
[๓๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี
ในสมัยนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรอาศัยอยู่ในกรุงเวสาลี เป็นนักโต้วาทะ พูดยกตน
ว่าเป็นบัณฑิต ชนจำนวนมากยกย่องว่าเป็นผู้มีลัทธิดี เขากล่าวปราศรัยในที่ชุมชน
ในกรุงเวสาลีอย่างนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ประตูแห่งอมตะ หมายถึงอริยมรรค (ม.มู.อ. ๒/๓๕๒/๑๗๕)
๒ ธรรมอันเป็นแดนเกษม หมายถึงอรหัตตผล (ม.มู.อ. ๒/๓๕๒/๑๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร
“สมณะหรือพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ ผู้ปฏิญญาตน
ว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อโต้ตอบวาทะกับเรา แล้วจะไม่พึงประหม่า
ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้ เราไม่เห็นเลยแม้แต่คนเดียว
หากเราโต้ตอบวาทะกับต้นเสาที่ไม่มีจิตใจ แม้ต้นเสานั้นโต้ตอบวาทะกับเรา ก็ต้อง
ประหม่า สะทกสะท้าน หวั่นไหว ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงมนุษย์เลย”
ครั้นในเวลาเช้า ท่านพระอัสสชิครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงเวสาลี สัจจกะ นิครนถบุตรเดินเที่ยวเล่นอยู่ในกรุงเวสาลีได้เห็น
ท่านพระอัสสชิเดินอยู่แต่ไกล จึงเข้าไปหา ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้ถามว่า “ท่านพระอัสสชิ พระ
สมณโคดมแนะนำพวกสาวกอย่างไร และคำสั่งสอนของพระสมณโคดมที่เป็นไปใน
พวกสาวกโดยส่วนมากเป็นอย่างไร”
ท่านพระอัสสชิตอบว่า “อัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำสาวก
ทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคที่เป็นไปในสาวกทั้งหลายโดย
ส่วนมากเป็นอย่างนี้ว่า ‘รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลาย
ไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่อัตตา เวทนาไม่ใช่อัตตา สัญญาไม่ใช่อัตตา
สังขารทั้งหลายไม่ใช่อัตตา วิญญาณไม่ใช่อัตตา สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่อัตตา
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่อัตตา’ พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้
และคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคที่เป็นไปในสาวกทั้งหลาย โดยส่วนมากเป็นอย่างนี้”
สัจจกะ นิครนถบุตรกล่าวว่า “ท่านพระอัสสชิ ข้าพเจ้าได้ฟังว่าพระสมณโคดม
มีวาทะอย่างนี้ ชื่อว่าฟังเรื่องที่ผิด ทำอย่างไร ข้าพเจ้าจึงจะพบพระสมณโคดมนั้น
และสนทนากันสักครั้ง ทำอย่างไร ข้าพเจ้าจึงจะปลดเปลื้องพระสมณโคดมจาก
ทิฏฐิชั่วนั้นได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

สัจจกะ นิครนถบุตรชวนเจ้าลิจฉวีไปฟังการโต้วาทะ
[๓๕๔] สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ พระองค์ ทรงประชุมกันอยู่ใน
หอประชุมด้วยกรณียกิจบางอย่าง ครั้งนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรเข้าไปหาเจ้าลิจฉวี
เหล่านั้น แล้วได้กล่าวกับเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นอย่างนี้ว่า
“ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน วันนี้
ข้าพเจ้าจักสนทนากับพระสมณโคดม ถ้าพระสมณโคดมจักยืนยันตามคำที่
พระอัสสชิซึ่งเป็นพระสาวกรูปหนึ่งที่มีชื่อเสียงยืนยันแล้วแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักฉุด
กระชากลากพระสมณโคดมไปมาด้วยคำต่อคำ ให้เป็นเหมือนบุรุษผู้มีกำลังจับแกะ
มีขนยาวที่ขนแล้วฉุดกระชากลากไปมาฉะนั้น หรือให้เป็นเหมือนคนงานในโรงสุรา
ซึ่งกำลังวางเสื่อลำแพนสำหรับรองแป้งสุราผืนใหญ่ในห้วงน้ำลึกแล้วจับที่มุมลาก
ฟาดไปฟาดมาฉะนั้น ข้าพเจ้าจักสลัดฟัดฟาดพระสมณโคดมด้วยคำต่อคำ ให้เป็น
เหมือนบุรุษผู้มีกำลังซึ่งเป็นนักเลงจับถ้วยที่หูแล้วสลัดฟัดฟาดไปมาฉะนั้น ข้าพเจ้า
จักเล่นงานพระสมณโคดมเหมือนนักกีฬาเล่นกีฬาซักป่าน ให้เป็นเหมือนช้างที่มีวัย
ล่วง ๖๐ ปี ลงสู่สระโบกขรณีที่มีน้ำลึกแล้วเล่นกีฬาซักป่านฉะนั้น ขอเจ้าลิจฉวี
ทั้งหลายจงไปด้วยกัน ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน วันนี้ ข้าพเจ้าจักสนทนา
กับพระสมณโคดม”
บรรดาเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า “พระสมณโคดมจักกล่าว
แย้งถ้อยคำของท่านสัจจกะได้อย่างไร ที่แท้ ท่านสัจจกะกลับจะกล่าวแย้งถ้อยคำของ
พระสมณโคดม”
บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านสัจจกะเป็นอะไร จึงกล่าวแย้งพระดำรัสของ
พระผู้มีพระภาคได้ ที่แท้ พระผู้มีพระภาคกลับจะทรงกล่าวแย้งถ้อยคำของท่านสัจจกะ”
ครั้งนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรมีเจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ พระองค์ห้อมล้อม
ได้เข้าไปยังกูฏาคารศาลาป่ามหาวัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร
[๓๕๕] สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากกำลังจงกรมอยู่ ณ ที่กลางแจ้ง ครั้งนั้น
สัจจกะ นิครนถบุตรเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่จงกรมแล้วถามว่า “ท่านผู้เจริญ
บัดนี้ พระสมณโคดมอยู่ ณ ที่ไหน พวกข้าพเจ้าปรารถนาจะพบพระสมณโคดม
พระองค์นั้น”
ภิกษุเหล่านั้นจึงตอบว่า “อัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสด็จเข้าไป
สู่ป่ามหาวันประทับพักกลางวันที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง”
ลำดับนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรพร้อมด้วยเจ้าลิจฉวีจำนวนมากเข้าไปสู่ป่ามหาวัน
ถึงที่ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วทูลสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่
ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร แม้เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น บางพวกถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร บางพวกทูลปราศรัยแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประนมมือ
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประกาศชื่อและโคตรของตน ในสำนักของพระผู้มี
พระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็นั่งนิ่งอยู่ ณ ที่สมควร
ปัญหาของสัจจกะ นิครนถบุตร
[๓๕๖] สัจจกะ นิครนถบุตรครั้นนั่งแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าพเจ้าขอถามท่านพระโคดมสักหน่อยหนึ่ง ถ้าท่านพระโคดมจะเปิดโอกาสที่จะ
ตอบปัญหาแก่ข้าพเจ้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อัคคิเวสสนะ ท่านประสงค์จะถามปัญหาใด
ก็ถามเถิด”
“ท่านพระโคดมแนะนำพวกสาวกอย่างไร คำสั่งสอนของท่านพระโคดมที่เป็น
ไปในพระสาวกทั้งหลาย โดยส่วนมากเป็นอย่างไร”
“เราแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของเราที่เป็นไปในสาวก
ทั้งหลายโดยส่วนมากเป็นอย่างนี้ว่า ‘รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่อัตตา เวทนาไม่ใช่อัตตา
สัญญาไม่ใช่อัตตา สังขารทั้งหลายไม่ใช่อัตตา วิญญาณไม่ใช่อัตตา สังขารทั้งหลาย
ทั้งปวงไม่ใช่อัตตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่อัตตา’ เราแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้
และคำสั่งสอนของเราที่เป็นไปในสาวกทั้งหลายโดยส่วนมากเป็นอย่างนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร
“ท่านพระโคดม ขอให้ข้าพเจ้าแสดงอุปมาถวาย”
“ขอเชิญท่านแสดงอุปมาเถิด”
“ท่านพระโคดม พืชพันธุ์ไม้เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์
พืชพันธุ์ไม้เหล่านั้นทั้งหมดต้องอาศัยแผ่นดิน อยู่ในแผ่นดิน จึงถึงความเจริญ
งอกงามไพบูลย์ได้ หรือการงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่บุคคลต้องทำด้วยกำลัง การ
งานเหล่านั้นทั้งหมดบุคคลต้องอาศัยแผ่นดิน ต้องอยู่บนแผ่นดินจึงทำได้ แม้ฉันใด
บุรุษบุคคลนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีรูปเป็นอัตตา มีเวทนาเป็นอัตตา มีสัญญาเป็น
อัตตา มีสังขารเป็นอัตตา มีวิญญาณเป็นอัตตา ต้องดำรงอยู่ในรูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ จึงจะประสบบุญหรือบาปได้”
“อัคคิเวสสนะ ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘รูปเป็นอัตตาของเรา เวทนาเป็นอัตตา
ของเรา สัญญาเป็นอัตตาของเรา สังขารทั้งหลายเป็นอัตตาของเรา วิญญาณเป็น
อัตตาของเรามิใช่หรือ”
“ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนั้นจริง และหมู่ชนเป็นอันมากก็กล่าว
อย่างนั้นว่า ‘รูปเป็นอัตตาของเรา เวทนาเป็นอัตตาของเรา สัญญาเป็นอัตตา
ของเรา สังขารทั้งหลายเป็นอัตตาของเรา วิญญาณเป็นอัตตาของเรามิใช่หรือ”
“อัคคิเวสสนะ หมู่ชนเป็นอันมากจักช่วยอะไรท่านได้ เชิญท่านยืนยันคำของ
ท่านเถิด”
“ท่านพระโคดม เป็นความจริง ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนี้ว่า ‘รูปเป็นอัตตาของเรา
เวทนาเป็นอัตตาของเรา สัญญาเป็นอัตตาของเรา สังขารทั้งหลายเป็นอัตตาของเรา
วิญญาณเป็นอัตตาของเรา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

ทรงย้อนถามสัจจกะ นิครนถบุตรด้วยอุปมา
[๓๕๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ ถ้าอย่างนั้น เราจักสอบ
ถามท่านในข้อนี้แล ท่านเห็นควรอย่างไร ท่านควรตอบอย่างนั้น ท่านเข้าใจความ
ข้อนั้นว่าอย่างไร พระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษก๑แล้ว เช่นพระเจ้าปเสนทิ-
โกศล หรือพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตรแห่งแคว้นมคธ มีอำนาจที่จะฆ่าคนที่ควรฆ่า
ริบสมบัติคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ ในพระราชอาณาเขตของพระองค์
มิใช่หรือ”
สัจจกะ นิครนถบุตรกราบทูลว่า “ท่านพระโคดม พระราชามหากษัตริย์ผู้ได้
รับมูรธาภิเษกแล้ว เช่นพระเจ้าปเสนทิโกศลหรือพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตรแห่ง
แคว้นมคธ มีอำนาจที่จะฆ่าคนที่ควรฆ่า ริบสมบัติคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควร
เนรเทศ ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ แม้แต่คณะผู้ปกครองเหล่านี้ คือ เจ้าวัชชี
เจ้ามัลละก็มีอำนาจที่จะฆ่าคนที่ควรฆ่า ริบสมบัติคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ
ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ ทำไมพระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว
เช่นพระเจ้าปเสนทิโกศลหรือพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตรแห่งแคว้นมคธจะไม่มี
อำนาจเล่า พระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วนั้น ต้องมีอำนาจแน่ และ
ควรจะมีอำนาจ”
“อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า
‘รูปเป็นอัตตาของเรา’ นั้น ท่านมีอำนาจในรูปนั้นว่า ‘รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด
อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรก็นิ่งเสีย
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับสัจจกะ นิครนถบุตรเป็นครั้งที่ ๒ ว่า “อัคคิเวสสนะ
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่ท่านกล่าวว่า ‘รูปเป็นอัตตาของเรา’ นั้น
ท่านมีอำนาจในรูปนั้นว่า ‘รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลย’ หรือ”

เชิงอรรถ :
๑ มูรธาภิเษก ในที่นี้หมายถึงพิธีหลั่งน้ำรดพระเศียรในการพระราชพิธีราชาภิเษก (พจนานุกรม
ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ หน้า ๖๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรก็นิ่งเป็นครั้งที่ ๒
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับสัจจกะ นิครนถบุตรว่า “อัคคิเวสสนะ บัดนี้
ท่านจงตอบ ไม่ใช่เวลาที่ท่านจะนิ่ง ผู้ใดถูกตถาคตถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุถึง ๓
ครั้งแล้วไม่ตอบ ศีรษะของผู้นั้นจะแตกเป็น ๗ เสี่ยงในที่นั้นนั่นเอง”
ขณะนั้น ยักษ์วชิรปาณี๑ถือกระบองเพชรมีไฟลุกโชติช่วงยืนอยู่ในอากาศ
เบื้องบนสัจจกะ นิครนถบุตรคิดว่า
“หากสัจจกะ นิครนถบุตรนี้ถูกพระผู้มีพระภาคตรัสถามปัญหาอันชอบธรรม
ถึง ๓ ครั้งแต่ไม่ยอมตอบ เราจะทุบศีรษะของเขาให้แตกเป็น ๗ เสี่ยง ณ ที่นี้แล”
พระผู้มีพระภาคกับสัจจกะ นิครนถบุตรเท่านั้นที่มองเห็นยักษ์วชิรปาณีนั้น
ในทันใดนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรตกใจกลัวจนขนพองสยองเกล้า แสวงหาพระผู้มี
พระภาคเป็นที่ต้านทาน เป็นที่ป้องกัน เป็นที่พึ่ง ได้กราบทูลว่า “พระโคดมผู้เจริญ
ขอจงทรงถามเถิด ข้าพเจ้าจะตอบ ณ บัดนี้”
หลักไตรลักษณ์
[๓๕๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้น
ว่าอย่างไร ข้อที่ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘รูปเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในรูปนั้นว่า
‘รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ”
สัจจกะ นิครนถบุตรทูลตอบว่า “ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านจงมนสิการ๒เถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน
หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่
ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เวทนาเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในเวทนานั้นว่า
‘เวทนาของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ”

เชิงอรรถ :
๑ ยักษ์วชิรปาณี ในที่นี้หมายถึงท้าวสักกเทวราช (ม.มู.อ. ๒/๓๕๗/๑๘๕)
๒ มนสิการ ในที่นี้หมายถึงการพิจารณาไตร่ตรองแล้วทรงจำไว้ในใจ (ม.มู.อ. ๒/๓๕๘/๑๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร
“ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านจงมนสิการเถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน
หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่
ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สัญญาเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในสัญญานั้นว่า
‘สัญญาของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ”
“ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านจงมนสิการเถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน
หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่
ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สังขารทั้งหลายเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในสังขาร
ทั้งหลายเหล่านั้นว่า ‘สังขารทั้งหลายของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่าง
นี้เลยหรือ”
“ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านจงมนสิการเถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน
หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่
ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘วิญญาณเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในวิญญาณนั้นว่า
‘วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ”
“ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านจงมนสิการเถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน
หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูป
เที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระโคดมผู้เจริญ”
“สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระโคดมผู้เจริญ”
“สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ
พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขารทั้งหลาย
ฯลฯ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร วิญญาณ เที่ยง หรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระโคดมผู้เจริญ”
“สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระโคดมผู้เจริญ”
“สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ
พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ผู้ใดติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์แล้ว กล้ำกลืน
ทุกข์แล้ว ยังพิจารณาเห็นทุกข์ว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’
ผู้นั้นกำหนดรู้ทุกข์ได้เอง หรือจะทำทุกข์ให้สิ้นไปแล้วจึงอยู่ มีบ้างหรือ”
“จะพึงมีได้อย่างไร ข้อนี้มีไม่ได้เลย พระโคดมผู้เจริญ”
“อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านติดทุกข์
เข้าถึงทุกข์แล้ว กล้ำกลืนทุกข์แล้ว ยังพิจารณาเห็นทุกข์ว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น
นั่นเป็นอัตตาของเรามิใช่หรือ”
“จะไม่มีอย่างไรได้ ข้อนี้ต้องเป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”
สัจจกะ นิครนถบุตรยอมจำนน
[๓๕๙] “อัคคิเวสสนะ บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้
ถือเอาผึ่งที่คมเข้าไปสู่ป่า เขาเห็นต้นกล้วยใหญ่ต้นหนึ่งในป่า มีต้นตรง กำลังรุ่น
ยังไม่ออกปลี เขาจึงตัดต้นกล้วยนั้นที่โคนต้น แล้วตัดยอด ลิดใบออก เขาไม่พบ
แม้แต่กระพี้ แล้วจะพบแก่นได้จากที่ไหน แม้ฉันใด ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถูกเรา
ซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนในถ้อยคำของตนเอง ก็เปล่า ว่าง แพ้ไปเอง ท่านได้กล่าว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร
ปราศรัยนี้ในที่ชุมชนในกรุงเวสาลีว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ
เป็นคณาจารย์ ที่ปฏิญญาตนว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โต้ตอบวาทะกับ
เราแล้วจะไม่พึงประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้
เราไม่เห็นเลยแม้แต่คนเดียว หากเราโต้ตอบวาทะกับต้นเสาที่ไม่มีจิตใจ แม้เสานั้น
โต้ตอบวาทะกับเรา ก็ต้องประหม่า สะทกสะท้าน หวั่นไหว ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง
มนุษย์เลย’
อัคคิเวสสนะ หยาดเหงื่อของท่านบางหยาด หยดจากหน้าผากลงไปยัง
ผ้าห่มแล้วตกลงที่พื้น ส่วนหยาดเหงื่อในกายของเราในบัดนี้ไม่มีเลย”
ดังนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงเปิดพระวรกายอันมีพระฉวีวรรณดุจทองคำในที่
ชุมชนนั้น
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรถึงกับนั่งนิ่ง เก้อเขิน
คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ
[๓๖๐] ครั้งนั้น เจ้าลิจฉวีนามว่าทุมมุขะเห็นว่า สัจจกะ นิครนถบุตรนั่งนิ่ง
เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ท่านพระโคดม ขอให้ข้าพเจ้าแสดงอุปมาถวาย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ทุมมุขะ ขอเชิญท่านแสดงอุปมาเถิด”
เจ้าลิจฉวีนั้นกราบทูลว่า “ในที่ใกล้บ้านหรือนิคม มีสระโบกขรณีอยู่สระหนึ่ง
ในสระนั้นมีปูอยู่ตัวหนึ่ง พวกเด็กชายหญิงเป็นจำนวนมากออกจากบ้านหรือนิคมนั้น
ไปถึงสระโบกขรณีนั้นแล้วก็ลงไปจับปูขึ้นจากน้ำ วางไว้บนบก ปูนั้นส่ายก้ามไปทางใด
เด็กเหล่านั้นก็คอยต่อย ตี ทุบก้ามปูนั้นด้วยไม้บ้าง ด้วยกระเบื้องบ้าง เมื่อปูนั้น
ก้ามหักหมดแล้ว ก็ไม่อาจลงสู่สระโบกขรณีนั้นเหมือนก่อนได้ แม้ฉันใด ทิฏฐิที่เป็น
เสี้ยนหนาม ที่เข้าใจผิด และที่กวัดแกว่งบางอย่างของสัจจกะ นิครนถบุตร ถูกพระองค์
หัก โค่น ลบ ล้างเสียแล้ว บัดนี้ สัจจกะ นิครนถบุตรก็จะไม่มาใกล้พระองค์เพื่อ
โต้วาทะอีก ฉันนั้นเหมือนกัน”
เมื่อเจ้าลิจฉวีนามว่าทุมมุขะกล่าวอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรจึงพูดว่า
“เจ้าทุมมุขะ ท่านหยุดเถิด หยุดเถิด ท่านพูดมากนัก ข้าพเจ้าไม่ได้พูดกับท่าน
ข้าพเจ้าพูดกับท่านพระโคดมต่างหาก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

พระสาวกผู้ปฏิบัติตามคำสอน
[๓๖๑] (สัจจกะ นิครนถบุตร) ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วก็กราบทูลว่า “ข้าแต่
พระโคดมผู้เจริญ คำพูดนี้เป็นของข้าพเจ้าและของพวกสมณพราหมณ์เหล่าอื่น
หยุดไว้ก่อน ถ้อยคำนั้นอาจเป็นแต่คำเพ้อเจ้อ พูดเพ้อกันไป
ด้วยเหตุเพียงเท่าไร สาวกของท่านพระโคดมจึงชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสอน
ทำถูกตามโอวาท หมดความสงสัย ไม่มีคำถามใด ๆ มีความแกล้วกล้า ไม่ต้อง
เชื่อใครอีกในคำสอนของศาสดา(ของตน)”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เห็นเบญจขันธ์
นั้นทั้งหมด คือ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน
หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ตามความ
เป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา
ของเรา’ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สังขารอย่างใด
อย่างหนึ่ง ...
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน
หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ตามความ
เป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา
ของเรา’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล สาวกของเราจึงชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอน ทำถูก
ตามโอวาท หมดความสงสัย ไม่มีคำถามใด ๆ มีความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใคร
อีกในคำสอนของศาสดา(ของตน)”
“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าเป็นพระอรหันตขีณาสพ
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์
ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ”
“อัคคิเวสสนะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นเบญจขันธ์นั้นทั้งหมด คือ รูปอย่าง
ใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือ
ละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอัน
ชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ เห็นเวทนา
อย่างใดอย่างหนึ่ง ... เห็นสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... เห็นสังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร
... เห็นวิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน
หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ตามความ
เป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา
ของเรา’ จึงหลุดพ้นแล้วเพราะไม่ถือมั่น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็น
อรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว
บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ
ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้แล ประกอบด้วยคุณอันยอดเยี่ยม ๓ ประการ คือ
๑. ความเห็นอันยอดเยี่ยม
๒. ข้อปฏิบัติอันยอดเยี่ยม
๓. ความหลุดพ้นอันยอดเยี่ยม
เมื่อมีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคตว่า
‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้แล้ว๑ ทรงแสดงธรรมเพื่อให้ตรัสรู้ พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้นทรงฝึกพระองค์แล้ว๒ ทรงแสดงธรรมเพื่อฝึกตน พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้นทรงสงบแล้ว๓ ทรงแสดงธรรมเพื่อความสงบ พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นทรงข้ามพ้นแล้ว๔ ทรงแสดงธรรมเพื่อให้ข้ามพ้น พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นปรินิพพานแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อปรินิพพาน”
สัจจกะ นิครนถบุตรถวายภัตตาหาร
[๓๖๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรได้กราบ
ทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นคนคอยกำจัดคุณผู้อื่น เป็นคนคะนอง
วาจา ได้เข้าใจพระดำรัสของท่านพระโคดมว่า ‘ตนสามารถรุกรานได้ด้วยถ้อยคำ
ของตน’ บุรุษมาปะทะช้างซับมันเข้าก็ดี พบกองไฟที่กำลังลุกโชนก็ดี พบงูพิษที่มี
พิษร้ายก็ดี ยังพอเอาตัวรอดได้บ้าง แต่พอมาพบท่านพระโคดมเข้าแล้ว ไม่มีใคร
เอาตัวรอดได้เลย ข้าพเจ้าเป็นคนคอยกำจัดคุณผู้อื่น เป็นคนคะนองวาจา ได้เข้าใจ

เชิงอรรถ :
๑ ตรัสรู้ หมายถึงตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการ (ม.มู.อ. ๒/๓๖๑/๑๘๙)
๒ ฝึกพระองค์ หมายถึงปราศจากกิเลส (ม.มู.อ. ๒/๓๖๑/๑๘๙, ม.มู.ฏีกา ๒/๓๖๑/๒๕๕)
๓ สงบ หมายถึงสงบระงับกิเลสทั้งปวงได้ (ม.มู.อ. ๒/๓๖๑/๑๘๙)
๔ ข้ามพ้น หมายถึงข้ามพ้นโอฆะ ๔ (ม.มู.อ. ๒/๓๖๑/๑๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร
พระดำรัสของท่านพระโคดมว่า ‘ตนสามารถรุกรานได้ด้วยถ้อยคำของตน’ ขอท่าน
พระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงรับนิมนต์เพื่อฉันในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
[๓๖๓] ลำดับนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรง
รับนิมนต์แล้ว จึงบอกพวกเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นว่า “เจ้าลิจฉวีทั้งหลายโปรดฟังข้าพเจ้า
ข้าพเจ้านิมนต์ท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไว้แล้วเพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น พวกท่าน
จะนำอาหารใดมาเพื่อข้าพเจ้า จงเลือกอาหารที่ควรแก่ท่านพระโคดมเถิด”
เมื่อล่วงราตรีแล้ว เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นได้นำภัตตาหารประมาณ ๕๐๐ สำรับ
ไปให้แก่สัจจกะ นิครนถบุตร เขาจึงให้จัดของเคี้ยวของฉันอันประณีต ในอาราม
ของตนเสร็จแล้วจึงให้ทูลบอกเวลาแด่พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
เวลานี้เป็นเวลาอันควร ภัตตาหารจัดเตรียมสำเร็จแล้ว”
ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทรงครองอันตรวาสกถือ
บาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังอารามของสัจจกะ นิครนถบุตร แล้วประทับนั่งบน
พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว จากนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรได้นำของขบฉันอันประณีต
ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขให้อิ่มหนำด้วยมือตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาค
เสวยเสร็จ ทรงวางพระหัตถ์จากบาตรแล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรจึงเลือกนั่ง ณ ที่
สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่าแล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ขอบุญและ
ผลบุญในทานครั้งนี้ จงมีเพื่อความสุขแก่ทายกทั้งหลายเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ บุญและผลบุญในทานนี้อาศัย
ทักขิไณยบุคคลที่ยังไม่สิ้นราคะ โทสะ โมหะเช่นกับท่าน จักมีแก่ทายกทั้งหลาย
บุญและผลบุญในทานนี้อาศัยทักขิไณยบุคคลที่สิ้นราคะ โทสะ โมหะเช่นกับเรา
จักมีแก่ท่าน”
จูฬสัจจกสูตรที่ ๕ จบ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

๖. มหาสัจจกสูตร
ว่าด้วยสัจจกะ นิครนถบุตร สูตรใหญ่
[๓๖๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขตกรุง
เวสาลี ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร
และจีวร มีพระพุทธประสงค์จะเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงเวสาลี ขณะนั้น
สัจจกะ นิครนถบุตร เดินเที่ยวเล่นอยู่ ได้เข้าไปที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน
ท่านพระอานนท์ได้เห็นสัจจกะ นิครนถบุตรเดินมาแต่ไกล จึงกราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัจจกะ นิครนถบุตรนี้เป็นนักโต้วาทะ พูดยกตน
ว่าเป็นบัณฑิต ชนจำนวนมากยอมยกว่าเป็นผู้มีลัทธิดี เขาปรารถนาจะติเตียน
พระพุทธเจ้า ปรารถนาจะติเตียนพระธรรม และปรารถนาจะติเตียนพระสงฆ์ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคประทับนั่งสักครู่หนึ่งเถิด”
พระผู้มีพระภาคจึงประทับอยู่บนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว
ขณะนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรเข้าไปถึงที่ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้ว
ทูลสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ปัญหาของสัจจกะ นิครนถบุตร
[๓๖๕] “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งหมั่นประกอบ
กายภาวนา๑อยู่ แต่หาได้หมั่นประกอบจิตตภาวนา๒ไม่ สมณพราหมณ์พวกนั้น

เชิงอรรถ :
๑ กายภาวนา หมายถึงวิปัสสนาภาวนา (ภาวนาข้อที่ ๒ ในภาวนา ๒) คือการฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความ
รู้แจ้งตามความเป็นจริง แต่สัจจกะ นิครนถบุตรกล่าวหมายเอาอัตตกิลมถานุโยคของพวกนิครนถ์ (ม.มู.อ.
๒/๓๖๕/๑๙๒)
๒ จิตตภาวนา หมายถึงสมถภาวนา (ภาวนาข้อที่ ๑ ในภาวนา ๒) คือการฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ
(ฝึกสมาธิ) (ม.มู.อ. ๒/๓๖๕/๑๙๒) และดู ที.ปา. ๑๑/๓๕๒/๒๔๒, องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๓๒/๗๖, องฺ.ปญฺจก.
(แปล) ๒๒/๗๙/๑๔๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร
ย่อมประสบทุกขเวทนาทางกาย เรื่องเคยมีมาแล้ว เมื่อบุคคลถูกทุกขเวทนาทาง
กายกระทบเข้าแล้ว ความขัดยอกขาจักมีบ้าง หทัยจักแตกบ้าง เลือดอุ่นจักพลุ่ง
ออกจากปากบ้าง จักถึงความมีจิตฟุ้งซ่านจนเป็นบ้าบ้าง จิตอันหมุนไปตามกายของ
ผู้นั้น ก็เป็นไปตามอำนาจกาย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่ได้อบรมจิต มีสมณ-
พราหมณ์พวกหนึ่ง หมั่นประกอบจิตตภาวนาอยู่ แต่หาได้หมั่นประกอบกายภาวนาไม่
สมณพราหมณ์พวกนั้นย่อมประสบทุกขเวทนาทางจิต เรื่องเคยมีมาแล้ว เมื่อ
บุคคลถูกทุกขเวทนาทางจิตกระทบเข้าแล้ว ความขัดยอกขาจักมีบ้าง หทัยจักแตก
บ้าง เลือดอุ่นจักพลุ่งออกจากปากบ้าง จักถึงความมีจิตฟุ้งซ่านจนเป็นบ้าบ้าง
กายที่หมุนไปตามจิตของผู้นั้น ก็เป็นไปตามอำนาจจิต ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
ไม่ได้อบรมกาย
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีความคิดว่า ‘หมู่สาวกของท่านพระโคดม
หมั่นประกอบจิตตภาวนาอยู่โดยแท้ แต่หาหมั่นประกอบกายภาวนาอยู่ไม่”
[๓๖๖] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัคคิเวสสนะ ท่านได้ฟังกายภาวนา
มาอย่างไร”
สัจจกะ นิครนถบุตรทูลตอบว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ท่านนันทะ
วัจฉโคตร ท่านกิสะ สังกิจจโคตร ท่านมักขลิ โคสาล ก็ท่านเหล่านี้เป็นอเจลก
(ประพฤติเปลือยกาย) เป็นคนไม่มีมารยาท เลียมือ เขาเชิญให้ไปรับอาหารก็ไม่ไป
เขาเชิญให้หยุดรับอาหารก็ไม่หยุด ไม่รับอาหารที่เขาแบ่งไว้ ไม่รับอาหารที่เขาทำ
เจาะจง ไม่ยินดีอาหารที่เขาเชิญ ไม่รับอาหารจากปากหม้อ ไม่รับอาหารจากปาก
ภาชนะ ไม่รับอาหารคร่อมธรณีประตู ไม่รับอาหารคร่อมท่อนไม้ ไม่รับอาหาร
คร่อมสาก ไม่รับอาหารของคน ๒ คนที่กำลังบริโภค ไม่รับอาหารของหญิงมีครรภ์
ไม่รับอาหารของหญิงผู้กำลังให้บุตรดื่มนม ไม่รับอาหารของหญิงที่คลอเคลียชาย
ไม่รับอาหารที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับอาหารในที่เลี้ยงสุนัข ไม่รับอาหารในที่มี
แมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ๆ ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่ม
ยาดอง เขารับอาหารในเรือนหลังเดียว ยังชีพด้วยข้าวคำเดียว รับอาหารในเรือน ๒
หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๒ คำ ฯลฯ รับอาหารในเรือน ๗ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๗
คำ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๑ ใบ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๒ ใบ ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร
ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๗ ใบ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๑ วัน กินอาหาร
ที่เก็บไว้ค้างคืน ๒ วัน ฯลฯ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๗ วัน ถือการบริโภค
ภัตตาหารตามวาระ ๑๕ วันต่อมื้อ๑เช่นนี้อยู่ ด้วยประการอย่างนี้บ้าง”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัคคิเวสสนะ บุคคลเหล่านั้นเลี้ยงตนด้วยภัต
เพียงเท่านั้นอย่างเดียวหรือ”
สัจจกะ นิครนถบุตรทูลตอบว่า “ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ
บางทีท่านเหล่านั้นเคี้ยวของควรเคี้ยวอย่างดี บริโภคโภชนะอย่างดี ลิ้มของลิ้มอย่างดี
ดื่มน้ำอย่างดี ให้ร่างกายนี้มีกำลัง เจริญ อ้วนพีขึ้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ บุคคลเหล่านั้นละทุกกรกิริยาที่
ประพฤติมาก่อนแล้วบำรุงกายนี้ในภายหลัง เมื่อเป็นอย่างนั้น กายนี้ก็มีความ
เจริญและความเสื่อมไป”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามอีกว่า “อัคคิเวสสนะ ท่านได้ฟังจิตตภาวนามาอย่างไร”
สัจจกะ นิครนถบุตรถูกพระผู้มีพระภาคตรัสถามในจิตตภาวนา ไม่อาจทูล
ตอบได้
กายภาวนาและจิตตภาวนา
[๓๖๗] ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับสัจจกะ นิครนถบุตรว่า “อัคคิ-
เวสสนะ กายภาวนาที่ประพฤติมาก่อนซึ่งท่านอบรมแล้วนั้นไม่ใช่กายภาวนาที่ถูก
ต้องในอริยวินัย ท่านยังไม่รู้จักแม้กายภาวนา จะรู้จักจิตตภาวนาได้อย่างไร
บุคคลผู้มิได้อบรมกาย มิได้อบรมจิต และบุคคลผู้ได้อบรมกาย ผู้ได้อบรมจิต
มีได้ด้วยวิธีใด ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าววิธีนั้น”

เชิงอรรถ :
๑ ดูข้อ ๑๕๕ (มหาสีหนาทสูตร) หน้า ๑๕๘ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร
สัจจกะ นิครนถบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
[๓๖๘] “บุคคลผู้มิได้อบรมกาย มิได้อบรมจิต เป็นอย่างไร
คือ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ มีสุขเวทนาเกิดขึ้น ถูกสุขเวทนากระทบแล้ว
มีความยินดียิ่งนักในสุขเวทนา และถึงความเป็นผู้ยินดียิ่งนักในสุขเวทนา สุขเวทนา
นั้นของเขาย่อมดับไป เพราะสุขเวทนาดับไป ทุกขเวทนาจึงเกิดขึ้น เขาถูกทุกข-
เวทนากระทบเข้าแล้ว ก็เศร้าโศก เสียใจ รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงใหล
สุขเวทนานั้นแม้ที่เกิดขึ้นแก่เขาแล้ว ก็ครอบงำจิตอยู่ เพราะเหตุที่มิได้อบรมกาย
ทุกขเวทนาแม้ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ครอบงำจิตอยู่ เพราะเหตุที่มิได้อบรมจิต สุขเวทนา
และทุกขเวทนาทั้ง ๒ ฝ่ายที่เกิดขึ้นแก่ปุถุชนคนใดคนหนึ่งอย่างนี้ ก็ครอบงำจิตอยู่
เพราะเหตุที่มิได้อบรมกาย เพราะเหตุที่มิได้อบรมจิต
อัคคิเวสสนะ บุคคลผู้มิได้อบรมกาย มิได้อบรมจิต เป็นอย่างนี้
[๓๖๙] บุคคลผู้ได้อบรมกาย ได้อบรมจิต เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ผู้ได้สดับแล้ว มีสุขเวทนาเกิดขึ้น ถูกสุขเวทนา
กระทบเข้าแล้ว ไม่มีความยินดียิ่งนักในสุขเวทนาและไม่ถึงความเป็นผู้ยินดียิ่งนักใน
สุขเวทนา สุขเวทนานั้นของเขาย่อมดับไป เพราะสุขเวทนาดับไป ทุกขเวทนาจึง
เกิดขึ้น เขาถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ก็ไม่เศร้าโศก ไม่เสียใจ ไม่รำพัน ไม่ตีอก
คร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหล สุขเวทนานั้นแม้ที่เกิดขึ้นแก่อริยสาวกแล้ว ก็ไม่
ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ได้อบรมกาย ทุกขเวทนาแม้ที่เกิดขึ้นแล้วก็ครอบงำ
จิตอยู่ไม่ได้ เพราะเหตุที่ได้อบรมจิต สุขเวทนาและทุกขเวทนาทั้ง ๒ ฝ่ายที่เกิด
ขึ้นแก่อริยสาวกผู้ใดผู้หนึ่งอย่างนี้ ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ได้อบรมกาย
เพราะเหตุที่ได้อบรมจิต
อัคคิเวสสนะ บุคคลผู้ได้อบรมกาย ได้อบรมจิต เป็นอย่างนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร
[๓๗๐] สัจจกะ นิครนถบุตรกราบทูลว่า “เมื่อเป็นอย่างนี้ ข้าพเจ้าเลื่อมใส
ท่านพระสมณโคดม เพราะท่านพระสมณโคดมได้อบรมกายแล้ว ได้อบรมจิตแล้ว”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ ท่านนำวาจานี้มาพูดกระทบกระ
เทียบกับเราโดยแท้ แต่เราจะบอกแก่ท่าน เมื่อใดเราโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้า
กาสาวพัสตร์ ออกจากวังผนวชเป็นบรรพชิต เมื่อนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จิตของเรา
นั้นจะถูกสุขเวทนาที่เกิดขึ้นครอบงำอยู่ หรือจะถูกทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นครอบงำอยู่”
สัจจกะ นิครนถบุตรกราบทูลว่า “สุขเวทนาที่เกิดขึ้นซึ่งพอจะครอบงำจิตตั้ง
อยู่ หรือทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นซึ่งพอจะครอบงำจิตตั้งอยู่ ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่พระสมณ-
โคดมผู้เจริญโดยแท้”
[๓๗๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ ทำไมเวทนาทั้ง ๒ นั้นจะ
ไม่พึงมีแก่เรา เราจะเล่าให้ฟัง ก่อนการตรัสรู้ เมื่อเราเป็นโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้
ได้มีความคิดว่า ‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด๑ เป็นทางแห่งธุลี๒ การบวช
เป็นทางปลอดโปร่ง๓ การที่ผู้อยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์
ให้บริบูรณ์ครบถ้วน ดุจสังข์ขัด มิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรโกนผมและหนวด
นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิตเถิด’

เชิงอรรถ :
๑ การอยู่ครองเรือนชื่อว่าเป็นเรื่องอึดอัด เพราะไม่มีเวลาว่างเพื่อจะทำกุศลกรรม แม้เรือนจะมีเนื้อที่
กว้างขวางถึง ๖๐ ศอก มีบริเวณภายในบ้านตั้ง ๑๐๐ โยชน์ มีคนอยู่อาศัยเพียง ๒ คน คือ สามี
ภรรยา ก็ยังถือว่าอึดอัด เพราะมีความห่วงกังวลกันและกัน (ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓)
๒ ชื่อว่าเป็นทางแห่งธุลี เพราะเป็นที่เกิดและเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสอันทำจิตให้เศร้าหมอง เช่น ราคะ เป็นต้น
(ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓)
๓ นักบวชแม้จะอยู่ในเรือนยอด ปราสาทแก้วและเทพวิมาน ซึ่งมีประตูหน้าต่างมิดชิด ก็ยังถือว่าปลอดโปร่ง
เพราะนักบวชไม่มีความยึดติดในสิ่งใด ๆ เลย (ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

พุทธประวัติตอนบำเพ็ญสมาบัติ
ในสำนักอาฬารดาบส
อัคคิเวสสนะ ในกาลต่อมา เรายังหนุ่มแน่น แข็งแรง มีเกศาดำสนิท
อยู่ในปฐมวัย เมื่อพระราชมารดาและพระราชบิดาไม่ทรงปรารถนาจะให้ผนวช มี
พระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตรทรงกันแสงอยู่ จึงโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้า
กาสาวพัสตร์ ออกจากวังผนวชเป็นบรรพชิต เมื่อผนวชแล้วก็แสวงหาว่าอะไรเป็น
กุศล ขณะที่แสวงหาทางอันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ได้เข้าไปหา
อาฬารดาบส กาลามโคตร แล้วกล่าวว่า
‘ท่านกาลามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้’
เมื่อเรากล่าวอย่างนี้ อาฬารดาบส กาลามโคตรจึงกล่าวกับเราว่า ‘เชิญท่าน
อยู่ก่อน ธรรมนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับธรรมที่วิญญูชนจะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง
เอง ตามแบบอาจารย์ของตนเข้าถึงอยู่ได้ในเวลาไม่นาน’ จากนั้นไม่นาน เราก็เรียนรู้
ธรรมนั้นได้อย่างรวดเร็ว ชั่วขณะปิดปากจบเจรจาปราศรัยเท่านั้น ก็กล่าวญาณ-
วาทะ๑และเถรวาทะ๒ได้ ทั้งเราและผู้อื่นก็ทราบชัดว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ เราจึงคิดว่า
‘อาฬารดาบส กาลามโคตรประกาศธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงความเชื่ออย่างเดียวว่า ‘เรา
ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ก็หามิได้ แต่อาฬารดาบส กาลามโคตร
ยังรู้ยังเห็นธรรมนี้ด้วยอย่างแน่นอน’
จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วถามว่า ‘ท่านกาลามะ
ท่านประกาศธรรมนี้ว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุ
เพียงเท่าไร’
เมื่อเราถามอย่างนี้ อาฬารดาบส กาลามโคตรจึงประกาศอากิญจัญญายตน-
สมาบัติแก่เรา เราจึงคิดว่า ‘มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีศรัทธา

เชิงอรรถ :
๑-๒ ดูเชิงอรรถที่ ๒-๓ ข้อ ๒๗๗ (ปาสราสิสูตร) หน้า ๓๐๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร
แม้เราก็มีศรัทธา มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีวิริยะ แม้เราก็มีวิริยะ
มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีสติ แม้เราก็มีสติ มิใช่แต่อาฬาร-
ดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีสมาธิ แม้เราก็มีสมาธิ มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตร
เท่านั้นที่มีปัญญา แม้เราก็มีปัญญา ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญเพียร เพื่อทำให้แจ้ง
ธรรมที่อาฬารดาบส กาลามโคตรประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง
เองเข้าถึงอยู่’ จากนั้นไม่นาน เราก็ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญายิ่งเองเข้าถึงอยู่
จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วถามว่า ‘ท่านกาลามะ
ท่านประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วย
เหตุเพียงเท่านี้หรือ’
อาฬารดาบส กาลามโคตรตอบว่า ‘ท่านผู้มีอายุ เราประกาศว่า ‘ข้าพเจ้า
ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล’
(เราจึงกล่าวว่า) ‘ท่านกาลามะ แม้ข้าพเจ้าก็ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญายิ่ง
เองเข้าถึงอยู่ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้’
(อาฬารดาบส กาลามโคตรกล่าวว่า) ‘ท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของพวกข้าพเจ้า
พวกข้าพเจ้าได้ดีแล้วที่ได้พบเพื่อนพรหมจารีเช่นท่าน เพราะข้าพเจ้าประกาศว่า
‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ท่านก็ทำให้แจ้งธรรมนั้น
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ท่านทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
ข้าพเจ้าก็ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเข้าถึงอยู่’
ข้าพเจ้าทราบธรรมใด ท่านก็ทราบธรรมนั้น ท่านทราบธรรมใด ข้าพเจ้าก็ทราบ
ธรรมนั้น เป็นอันว่าข้าพเจ้าเป็นเช่นใด ท่านก็เป็นเช่นนั้น ท่านเป็นเช่นใด
ข้าพเจ้าก็เป็นเช่นนั้น มาเถิด บัดนี้ เราทั้ง ๒ จะอยู่ร่วมกันบริหารคณะนี้’
อัคคิเวสสนะ อาฬารดาบส กาลามโคตร ทั้งที่เป็นอาจารย์ของเรา ก็ยกย่อง
เราผู้เป็นศิษย์ให้เสมอกับตน และบูชาเราด้วยการบูชาอย่างดี ด้วยประการอย่างนี้
แต่เราคิดว่า ‘ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ
เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงเพื่อเข้าถึง
อากิญจัญญายตนสมาบัติเท่านั้น’ เราไม่พอใจ เบื่อหน่ายธรรมนั้น จึงลาจากไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

ในสำนักอุทกดาบส
[๓๗๒] อัคคิเวสสนะ เรานั้นแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหาทาง
อันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ได้เข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตร
แล้วกล่าวว่า ‘ท่านรามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้’
เมื่อเรากล่าวอย่างนี้ อุทกดาบส รามบุตรจึงกล่าวกับเราว่า ‘เชิญท่านอยู่ก่อน
ธรรมนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับธรรมที่วิญญูชนจะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ตาม
แบบอาจารย์ของตนเข้าถึงอยู่ได้ในเวลาไม่นาน’ จากนั้นไม่นาน เราก็เรียนรู้ธรรมนั้น
ได้อย่างรวดเร็ว ชั่วขณะปิดปากจบเจรจาปราศรัยเท่านั้น ก็กล่าวญาณวาทะและ
เถรวาทะได้ ทั้งเราและผู้อื่นก็ทราบชัดว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ เราจึงคิดว่า ‘อุทกดาบส
รามบุตรประกาศธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงความเชื่ออย่างเดียวว่า ‘เราทำให้แจ้งด้วยปัญญา
อันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ก็หามิได้ แต่อุทกดาบส รามบุตรยังรู้ยังเห็นธรรมนี้ด้วยอย่าง
แน่นอน’
จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตรแล้วถามว่า ‘ท่านรามะ ท่าน
ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร’
เมื่อเราถามอย่างนี้ อุทกดาบส รามบุตรจึงประกาศเนวสัญญานาสัญญายตน-
สมาบัติแก่เรา เราจึงคิดว่า ‘มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีศรัทธา แม้
เราก็มีศรัทธา มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีวิริยะ แม้เราก็มีวิริยะ มิใช่
แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีสติ แม้เราก็มีสติ มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตร
เท่านั้นที่มีสมาธิ แม้เราก็มีสมาธิ มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีปัญญา
แม้เราก็มีปัญญา ทางที่ดี เราควรเริ่มบำเพ็ญเพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมที่อุทกดาบส
รามบุตรประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ จากนั้นไม่นาน
เราก็ได้ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตรแล้วถามว่า ‘ท่านรามะ ท่าน
ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียง
เท่านี้หรือ’
อุทกดาบส รามบุตรตอบว่า ‘ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าประกาศว่า ‘ข้าพเจ้า
ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร
(เราจึงกล่าวว่า) ‘แม้ข้าพเจ้าก็ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้’
(อุทกดาบส รามบุตรกล่าวว่า) ‘ท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของพวกข้าพเจ้า
พวกข้าพเจ้าได้ดีแล้วที่ได้พบเพื่อนพรหมจารีเช่นท่าน เพราะ(ข้าพเจ้า)รามะประกาศว่า
‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ท่านก็ทำให้แจ้งธรรมนั้น
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ท่านทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
รามะก็ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ รามะ
ทราบธรรมใด ท่านก็ทราบธรรมนั้น ท่านทราบธรรมใด รามะก็ทราบธรรมนั้น
เป็นอันว่ารามะเป็นเช่นใด ท่านก็เป็นเช่นนั้น ท่านเป็นเช่นใด รามะก็เป็นเช่นนั้น
มาเถิด บัดนี้ ท่านจงบริหารคณะนี้’
อัคคิเวสสนะ อุทกดาบส รามบุตรทั้งที่เป็นเพื่อนพรหมจารีของเรา ก็ยังยกย่อง
เราไว้ในฐานะอาจารย์ และบูชาเราด้วยการบูชาอย่างดีด้วยประการอย่างนี้ แต่เรา
คิดว่า ‘ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อ
สงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงเพื่อเข้าถึงเนวสัญญา-
นาสัญญายตนสมาบัติเท่านั้น’ เราไม่พอใจ เบื่อหน่ายธรรมนั้น จึงลาจากไป
ตรัสรู้สัจธรรม
[๓๗๓] อัคคิเวสสนะ เรานั้นแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหาทาง
อันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า เมื่อเที่ยวจาริกไปในแคว้นมคธโดย
ลำดับ ได้ไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้เห็นภูมิประเทศที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่า
น่าเพลิดเพลินใจ มีแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจร-
คามอยู่โดยรอบ เราจึงคิดว่า ‘ภูมิประเทศเป็นที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่าน่าเพลิดเพลินใจ
มีแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจรคามอยู่โดยรอบ
เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ปรารถนาจะบำเพ็ญเพียร’ เราจึงนั่ง ณ ที่
นั้นด้วยคิดว่า ‘ที่นี้เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

อุปมา ๓ ข้อ
[๓๗๔] อัคคิเวสสนะ ครั้งนั้น อุปมา ๓ ข้อ อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งเรา
ยังไม่เคยได้ยินมาก่อน ได้ปรากฏแก่เรา คือ
เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่แช่อยู่ในน้ำ บุรุษนำไม้นั้นมาทำไม้สีไฟด้วยหวังว่า
‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’
อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นนำไม้สดที่มียางซึ่งแช่
อยู่ในน้ำมาทำไม้สีไฟแล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม”
“ไม่ได้ พระโคดมผู้เจริญ”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“พระโคดมผู้เจริญ เพราะไม้สดนั้นมียาง ทั้งยังแช่อยู่ในน้ำ บุรุษนั้นก็มีแต่
ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า”
“อัคคิเวสสนะ อย่างนั้นเหมือนกัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งมี
กายและจิตยังไม่หลีกออกจากกาม ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง
ความกระหาย และความกระวนกระวายในกามทั้งหลาย ยังมิได้ละและมิได้ระงับ
อย่างเด็ดขาดในภายใน สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นแม้เสวยทุกขเวทนาที่
กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้
การเห็น และการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม แม้ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ
เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น และการ
ตรัสรู้อันยอดเยี่ยม
นี้เป็นอุปมาข้อที่ ๑ อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งเรายังไม่เคยได้ยินมาก่อน ได้
ปรากฏแก่เรา
[๓๗๕] เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่วางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนำไม้นั้นมา
ทำไม้สีไฟด้วยหวังว่า ‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’
อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นนำไม้สดที่มียางซึ่งวาง
อยู่บนบกห่างจากน้ำมาทำเป็นไม้สีไฟแล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม”
“ไม่ได้ พระโคดมผู้เจริญ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“พระโคดมผู้เจริญ เพราะไม้ยังสดและมียาง แม้จะวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ
บุรุษนั้นก็มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า”
“อัคคิเวสสนะ อย่างนั้นเหมือนกัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
แม้มีกายและจิตหลีกออกจากกามแล้ว แต่ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง
ความกระหาย และความกระวนกระวายในกามทั้งหลาย ยังมิได้ละและมิได้ระงับ
อย่างเด็ดขาดในภายใน สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นแม้เสวยทุกขเวทนาที่
กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้
การเห็น และการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม แม้ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ
เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น และการ
ตรัสรู้อันยอดเยี่ยม
นี้เป็นอุปมาข้อที่ ๒ อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งเรายังไม่เคยได้ยินมาก่อน ได้
ปรากฏแก่เรา
[๓๗๖] เปรียบเหมือนไม้ที่แห้งสนิทซึ่งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนำมา
ทำเป็นไม้สีไฟด้วยหวังว่า ‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’
อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นนำไม้ที่แห้งสนิทซึ่ง
วางอยู่บนบกห่างจากน้ำมาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม”
“ได้ พระโคดมผู้เจริญ”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“พระโคดมผู้เจริญ เพราะไม้แห้งสนิท ทั้งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ”
“อัคคิเวสสนะ อย่างนั้นเหมือนกัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มี
กายและจิตหลีกออกจากกามแล้ว ทั้งละและระงับความพอใจ ความรักใคร่
ความหลง ความกระหาย และความกระวนกระวายในกามทั้งหลายได้อย่างเด็ดขาด
ในภายในแล้ว สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น แม้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง
หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ควรแก่การรู้ การเห็น และการ
ตรัสรู้อันยอดเยี่ยม แม้ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิด
ขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ควรแก่การรู้ การเห็น และการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร
นี้เป็นอุปมาข้อที่ ๓ อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งเรายังไม่เคยได้ยินมาก่อน ได้
ปรากฏแก่เรา
อัคคิเวสสนะ นี้คืออุปมา ๓ ข้ออันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งเรายังไม่เคยได้ยิน
มาก่อน ได้ปรากฏแก่เรา
การบำเพ็ญทุกกรกิริยา
[๓๗๗] อัคคิเวสสนะ เรานั้นมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรกดฟันด้วยฟัน
ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน’ เรานั้นก็กดฟันด้วยฟัน
ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน เมื่อเราทำดังนั้น เหงื่อก็
ไหลออกจากรักแร้ทั้ง ๒ ข้าง คนที่แข็งแรงจับคนที่อ่อนแอกว่าที่ศีรษะหรือที่คอแล้ว
บีบคั้นรัดไว้ให้แน่น แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อกดฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้นดัน
เพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน เหงื่อก็ไหลออกจากรักแร้ทั้ง ๒ ข้าง
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
[๓๗๘] อัคคิเวสสนะ เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌาน
อันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปากและทางจมูก
เมื่อเรากลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปากและทางจมูก ลมก็ออกทาง
หูทั้ง ๒ ข้าง มีเสียงดังอู้ ๆ ลมที่ช่างทองสูบอยู่มีเสียงดังอู้ ๆ แม้ฉันใด เมื่อเรา
กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปากและทางจมูก ลมก็ออกทางหูทั้ง ๒
ข้าง มีเสียงดังอู้ ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราตั้งอยู่ไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร
เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็
กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู เมื่อเรากลั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ลมอันแรงกล้า
ก็เสียดแทงศีรษะ คนที่แข็งแรงใช้เหล็กที่แหลมคมแทงศีรษะ แม้ฉันใด เมื่อเรากลั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูกและทางช่องหู ลมอันแรงกล้า
ก็เสียดแทงศีรษะ ฉันนั้นเหมือนกัน
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็กลั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู เมื่อเรากลั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ก็มีทุกขเวทนา
ในศีรษะอย่างแรงกล้า คนที่แข็งแรงใช้เชือกหนังที่เหนียวขันศีรษะ แม้ฉันใด เมื่อเรา
กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหูก็มีทุกขเวทนา
ในศีรษะอย่างแรงกล้า ฉันนั้นเหมือนกัน
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็กลั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู เมื่อเรากลั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ลมอันแรงกล้า
ก็บาดในช่องท้อง คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ชำนาญพึงใช้มีดแล่เนื้อที่คมกรีดท้อง
แม้ฉันใด เมื่อเรากลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทาง
ช่องหู ก็มีลมอันแรงกล้าบาดในช่องท้อง ฉันนั้นเหมือนกัน
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร
เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็
กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู เมื่อเรา
กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ก็มีความ
กระวนกระวายในร่างกายอย่างแรงกล้า คนที่แข็งแรง ๒ คนจับแขนคนที่อ่อนแอ
กว่าคนละข้างย่างให้ร้อนบนหลุมถ่านเพลิง แม้ฉันใด๑ เมื่อเรากลั้นลมหายใจเข้า
และลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ก็มีความกระวนกระวายใน
ร่างกายอย่างแรงกล้า ฉันนั้นเหมือนกัน
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
เทวดาทั้งหลายเห็นเราแล้วก็พากันกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมสิ้นพระชนม์
แล้ว’ บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมยังมิได้สิ้นพระชนม์ แต่กำลังจะสิ้น
พระชนม์’ บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมยังไม่สิ้นพระชนม์ ทั้งจะไม่สิ้น
พระชนม์ พระสมณโคดมจะเป็นพระอรหันต์ การอยู่เช่นนี้นั้นเป็นวิหารธรรม๒ ของ
ท่านผู้เป็นพระอรหันต์’
[๓๗๙] อัคคิเวสสนะ เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรปฏิบัติด้วย
การอดอาหารทุกอย่าง’ ขณะนั้น เทวดาทั้งหลายเข้ามาหาเราแล้วกล่าวว่า ‘ข้าแต่
ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านอย่าได้ปฏิบัติด้วยการอดอาหารทุกอย่าง ถ้าท่านจักปฏิบัติด้วย
การอดอาหารทุกอย่าง ข้าพเจ้าทั้งหลายจะแทรกโอชาอันเป็นทิพย์เข้าทางขุมขนของท่าน
ท่านจะได้ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยโอชานั้น’ เราจึงมีความดำริว่า ‘เราปฏิญญาว่า
จะต้องอดอาหารทุกอย่าง แต่เทวดาเหล่านี้จะแทรกโอชาอันเป็นทิพย์เข้าทางขุมขน
ของเรา เราจะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยโอชานั้น การปฏิญญานั้นก็จะพึงเป็นมุสาแก่เรา’
เราจึงกล่าวห้ามเทวดาเหล่านั้นว่า ‘อย่าเลย’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๘๗/๘๑
๒ วิหารธรรม ในที่นี้หมายถึงสมาบัติ ๘ กล่าวคือ รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ อันเป็นโลกิยะ (ดูประกอบ
ใน องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๔๑/๓๖๐-๓๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร
[๓๘๐] อัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรกินอาหารให้
น้อยลง ๆ เพียงครั้งละ ๑ ฟายมือบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อใน
เมล็ดถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง’ เราจึงกินอาหาร
น้อยลง ๆ เพียงครั้งละ ๑ ฟายมือบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อใน
เมล็ดถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง เมื่อเรากินอาหาร
ให้น้อยลง ๆ เพียงครั้งละ ๑ ฟายมือบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อ
ในเมล็ดถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง’ กายก็ซูบผอมมาก
อวัยวะน้อยใหญ่ของเราจึงเป็นเหมือนเถาวัลย์ที่มีข้อมากหรือเถาวัลย์ที่มีข้อดำ เนื้อ
สะโพกก็ลีบเหมือนกีบเท้าอูฐ กระดูกสันหลังก็ผุดเป็นหนามเหมือนเถาวัลย์ ซี่โครง
ทั้ง ๒ ข้างขึ้นสะพรั่ง เหมือนกลอนศาลาเก่า ดวงตาทั้ง ๒ ข้างก็ลึกเข้าไปในเบ้าตา
เหมือนดวงดาวปรากฏอยู่ในบ่อน้ำลึก หนังบนศีรษะก็เหี่ยวหดเหมือนลูกน้ำเต้าที่
เขาตัดมาขณะยังดิบต้องลมและแดดเข้าก็เหี่ยวหดไป เพราะเป็นผู้มีอาหารน้อยนั้น
เราคิดว่า ‘จะลูบพื้นท้อง’ ก็จับถึงกระดูกสันหลัง คิดว่า ‘จะลูบกระดูกสันหลัง’ ก็จับ
ถึงพื้นท้อง เพราะพื้นท้องของเราแนบติดจนถึงกระดูกสันหลัง เราคิดว่า ‘จะถ่าย
อุจจาระหรือถ่ายปัสสาวะ’ ก็ซวนเซล้มลง ณ ที่นั้น เมื่อจะให้กายสบายบ้าง จึงใช้
ฝ่ามือลูบตัว ขนทั้งหลายที่มีรากเน่าก็หลุดร่วงจากกาย เพราะเป็นผู้มีอาหารน้อย
มนุษย์ทั้งหลายเห็นเราแล้ว ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมดำไป’ บางพวกก็
กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมไม่ดำเพียงแต่คล้ำไป’ บางพวกก็กล่าวว่า ‘ไม่ดำ
ไม่คล้ำ เพียงแต่พร้อยไป’ เรามีผิวพรรณบริสุทธิ์ เปล่งปลั่ง เพียงแต่เสียผิวไป
เพราะเป็นผู้มีอาหารน้อยเท่านั้น
[๓๘๑] อัคคิเวสสนะ เรานั้นมีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งในอดีตเสวยทุกขเวทนากล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ที่เกิดขึ้นเพราะความ
เพียร ทุกขเวทนานั้นอย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ไม่เกินกว่านี้ไป สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่ง ในอนาคตเสวยทุกขเวทนากล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ที่เกิดขึ้นเพราะ
ความเพียร ทุกขเวทนานั้นอย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ไม่เกินกว่านี้ไป สมณะหรือพราหมณ์
เหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบันเสวยทุกขเวทนากล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ที่เกิดขึ้น
เพราะความเพียร ทุกขเวทนานั้นอย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ไม่เกินกว่านี้ไป แต่เราก็ยัง
มิได้บรรลุญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วย
ทุกกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนี้ จะพึงมีทางอื่นที่จะตรัสรู้บ้างไหม’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร
เราจึงมีความดำริว่า ‘เราจำได้อยู่ เมื่อคราวงานของท้าวสักกาธิบดีซึ่งเป็น
พระราชบิดา เรานั่งอยู่ใต้ต้นหว้าอันร่มเย็น ได้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ทางนั้นพึงเป็นทางแห่ง
การตรัสรู้หรือหนอ’ เรามีความรู้แจ้งที่ตามระลึกด้วยสติว่า ‘ทางนั้นเป็นทางแห่งการ
ตรัสรู้’ เราจึงมีความดำริว่า ‘เรากลัวความสุขที่เว้นจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย
หรือ’ เราก็ดำริว่า ‘เราไม่กลัวความสุขที่เว้นจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายเลย’
[๓๘๒] อัคคิเวสสนะ เราจึงมีความดำริต่อไปว่า ‘เราผู้มีกายซูบผอมมาก
อย่างนี้ จะบรรลุความสุขนั้นไม่ใช่ทำได้ง่ายเลย ทางที่ดี เราควรกินอาหารหยาบ
คือข้าวสุกและขนมกุมมาส’ เราก็กินอาหารหยาบคือข้าวสุกและขนมกุมมาส ครั้งนั้น
ภิกษุปัญจวัคคีย์ที่เฝ้าบำรุงเราด้วยหวังว่า ‘พระสมณโคดมบรรลุธรรมใด จักบอก
ธรรมนั้นแก่เราทั้งหลาย’ เมื่อใด เรากินอาหารหยาบ คือข้าวสุกและขนมกุมมาส
เมื่อนั้น ภิกษุปัญจวัคคีย์นั้น ก็เบื่อหน่ายจากไปด้วยเข้าใจว่า ‘พระสมณโคดมมักมาก
คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเสียแล้ว’
ฌาน ๔ และวิชชา ๓
[๓๘๓] อัคคิเวสสนะ เรากินอาหารหยาบให้ร่างกายมีกำลัง สงัดจากกาม
และอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิด
จากวิเวกอยู่ แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป เราบรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มี
ภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่
แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
เพราะปีติจางคลายไป เรามีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะเสวยสุขด้วยนามกาย
บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’
แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้นก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว เราบรรลุ
จตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ แม้สุขเวทนาที่เกิด
ขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๖ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น