Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๑๘-๘ หน้า ๓๘๖ - ๔๔๐

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘-๘ สุตตันตปิฎกที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค



พระสุตตันตปิฎก
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๗. จิตตสังยุต] ๗. โคทัตตสูตร
มีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่า ในที่ทุกสถาน
ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่
นี้เรียกว่า อัปปมาณาเจโตวิมุตติ
อากิญจัญญาเจโตวิมุตติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
อากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่
นี้เรียกว่า อากิญจัญญาเจโตวิมุตติ
สุญญตาเจโตวิมุตติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าบ้าง ไปสู่โคนไม้บ้าง ไปสู่เรือนว่างบ้าง ย่อม
พิจารณาเห็นวิมุตติว่า ‘สิ่งนี้ว่างจากอัตตา หรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา’
นี้เรียกว่า สุญญตาเจโตวิมุตติ
อนิมิตตาเจโตวิมุตติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรลุอนิมิตตเจโตสมาธิเพราะไม่กำหนดนิมิตทั้งปวงอยู่
นี้เรียกว่า อนิมิตตาเจโตวิมุตติ
ท่านผู้เจริญ เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถต่างกันและมี
พยัญชนะต่างกัน เหตุนั้นเป็นอย่างนี้แล
ท่านผู้เจริญ เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกัน
แต่พยัญชนะเท่านั้น
คือ ราคะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องวัด โทสะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องวัด โมหะชื่อว่า
กิเลสเป็นเครื่องวัด กิเลสเหล่านั้นภิกษุขีณาสพละได้แล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือน
ต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
อัปปมาณาเจโตวิมุตติมีประมาณเท่าไร เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบบัณฑิตกล่าว
ว่า เลิศกว่าอัปปมาณาเจโตวิมุตติเหล่านั้น เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบนั้นว่างจากราคะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๓๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๗. จิตตสังยุต] ๘. นิคัณฐนาฏปุตตสูตร
ว่างจากโทสะ ว่างจากโมหะ ราคะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องกังวล โทสะชื่อว่ากิเลส
เป็นเครื่องกังวล โมหะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องกังวล กิเลสเหล่านั้นภิกษุขีณาสพละได้
แล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่
ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
อากิญจัญญาเจโตวิมุตติมีประมาณเท่าไร เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบบัณฑิตกล่าว
ว่า เลิศกว่าอากิญจัญญาเจโตวิมุตติเหล่านั้น เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบนั้นว่างจาก
ราคะ ว่างจากโทสะ ว่างจากโมหะ ราคะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องกระทำนิมิต โทสะ
ชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องกระทำนิมิต โมหะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องกระทำนิมิต กิเลส
เหล่านั้นภิกษุขีณาสพละได้แล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอน
โคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
อนิมิตตาเจโตวิมุตติมีประมาณเท่าไร เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบบัณฑิตกล่าวว่า
เลิศกว่าอนิมิตตาเจโตวิมุตติเหล่านั้น เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบนั้นว่างจากราคะ ว่าง
จากโทสะ ว่างจากโมหะ ฯลฯ ท่านผู้เจริญ เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึง
มีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะ เหตุนั้นเป็นอย่างนี้แล”
ท่านพระโคทัตตะกล่าวว่า “คหบดี เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้วที่
ปัญญาจักษุของท่านหยั่งลงในพระพุทธพจน์ที่ลึกซึ้ง”
โคทัตตสูตรที่ ๗ จบ

๘. นิคัณฐนาฏปุตตสูตร
ว่าด้วยนิครนถ์ นาฏบุตร
[๓๕๐] สมัยนั้น นิครนถ์ นาฏบุตรไปถึงเมืองมัจฉิกาสัณฑ์ พร้อมด้วย
นิครนถบริษัทจำนวนมาก จิตตคหบดีได้ยินข่าวว่า “นิครนถ์ นาฏบุตรมาถึงเมือง
มัจฉิกาสัณฑ์ พร้อมด้วยนิครนถบริษัทหลายคน”
ครั้งนั้น จิตตคหบดีพร้อมด้วยอุบาสกหลายคนเข้าไปหานิครนถ์ นาฏบุตร
ถึงที่อยู่ แล้วได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๓๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๗. จิตตสังยุต] ๙. อเจลกัสสปสูตร
ที่สมควร นิครนถ์ นาฏบุตรได้ถามจิตตคหบดีดังนี้ว่า “คหบดี ท่านเชื่อหรือว่า
พระสมณโคดมมีสมาธิที่ไม่มีวิตกวิจาร มีความดับวิตกวิจาร”
จิตตคหบดีตอบว่า “ท่านผู้เจริญ ผมไม่เชื่อพระผู้มีพระภาคในข้อนี้ว่า ‘มี
สมาธิที่ไม่มีวิตกวิจาร มีความดับวิตกวิจาร”
เมื่อจิตตคหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิครนถ์ นาฏบุตรแลดูบริษัทของตนแล้วได้
กล่าวว่า “ขอท่านผู้เจริญทั้งหลายจงพิจารณาเรื่องนี้ตราบที่จิตตคหบดีนี้ยังเป็นคน
ตรง ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เขาเข้าใจวิตกวิจารว่าดับได้ ก็เข้าใจว่าใช้ข่ายปิดกั้น
ลมได้ หรือเขาเข้าใจวิตกวิจารว่าดับได้ ก็เข้าใจกระแสแม่น้ำคงคาว่าใช้กำมือของ
ตนปิดกั้นได้”
จิตตคหบดีกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ญาณ
หรือศรัทธา อย่างไหนประณีตกว่ากัน”
“คหบดี ญาณนั่นแลประณีตกว่าศรัทธา”
“ท่านผู้เจริญ ผมสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ตราบเท่าที่ต้องการ เพราะวิตก
วิจารสงบระงับไป ฯลฯ ผมบรรลุทุติยฌานตราบเท่าที่ต้องการ เพราะปีติจาง
คลายไป ฯลฯ ผมบรรลุตติยฌานตราบเท่าที่ต้องการ เพราะละสุขได้ ฯลฯ ผม
บรรลุจตุตถฌานตราบเท่าที่ต้องการ
ท่านผู้เจริญ เมื่อรู้เห็นอย่างนี้ ผมจักไม่เชื่อใครอื่นไม่ว่าสมณะหรือพราหมณ์ว่า
‘มีสมาธิที่ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีความดับวิตกวิจาร”
เมื่อจิตตคหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิครนถ์ นาฏบุตรแลดูบริษัทของตนแล้ว
ได้กล่าวดังนี้ว่า “ขอท่านผู้เจริญทั้งหลายจงพิจารณาความข้อนี้ตราบที่จิตตคหบดีนี้
เป็นคนไม่ตรง โอ้อวด มีมารยา”
จิตตคหบดีกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ ผมทราบคำที่ท่านกล่าวเดี๋ยวนี้เองว่า
‘ขอท่านผู้เจริญทั้งหลายจงพิจารณาเรื่องนี้ตราบที่จิตตคหบดีนี้ยังเป็นคนตรง ไม่โอ้อวด
ไม่มีมารยา และผมก็ทราบคำที่ท่านกล่าวเดี๋ยวนี้เองว่า ‘ขอท่านผู้เจริญทั้งหลาย
จงพิจารณาเรื่องนี้ตราบที่จิตตคหบดีนี้เป็นคนไม่ตรง โอ้อวด มีมารยา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๓๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๗. จิตตสังยุต] ๙. อเจลกัสสปสูตร
ท่านผู้เจริญ ถ้าคำพูดครั้งแรกของท่านถูก คำพูดครั้งหลังของท่านก็ผิด แต่
ถ้าคำพูดครั้งหลังของท่านถูก คำพูดครั้งแรกของท่านก็ผิด ปัญหาที่ประกอบด้วย
เหตุ ๑๐ ข้อนี้มาถึงท่าน เมื่อท่านทราบเนื้อความของปัญหาเหล่านั้น ก็พึงบอก
ผมกับนิครนถบริษัท
ปัญหา ๑๐ ข้อ นี้คือ

๑. ปัญหา ๑ อุทเทส ๑ เวยยากรณ์ ๑
๒. ปัญหา ๒ อุทเทส ๒ เวยยากรณ์ ๒
๓. ปัญหา ๓ อุทเทส ๓ เวยยากรณ์ ๓
๔. ปัญหา ๔ อุทเทส ๔ เวยยากรณ์ ๔
๕. ปัญหา ๕ อุทเทส ๕ เวยยากรณ์ ๕
๖. ปัญหา ๖ อุทเทส ๖ เวยยากรณ์ ๖
๗. ปัญหา ๗ อุทเทส ๗ เวยยากรณ์ ๗
๘. ปัญหา ๘ อุทเทส ๘ เวยยากรณ์ ๘
๙. ปัญหา ๙ อุทเทส ๙ เวยยากรณ์ ๙
๑๐. ปัญหา ๑๐ อุทเทส ๑๐ เวยยากรณ์ ๑๐”

ครั้นจิตตคหบดีถามปัญหาที่ประกอบด้วยเหตุ ๑๐ ข้อนี้กับนิครนถ์ นาฏบุตร
แล้วก็ลุกขึ้นจากอาสนะแล้วจากไป
นิคัณฐนาฏปุตตสูตรที่ ๘ จบ

๙. อเจลกัสสปสูตร
ว่าด้วยอเจลกัสสปะ
[๓๕๑] สมัยนั้น อเจลกัสสปะผู้เคยเป็นสหายเก่าเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ของ
จิตตคหบดีไปถึงเมืองมัจฉิกาสัณฑ์ จิตตคหบดีได้ยินข่าวว่า “อเจลกัสสปะผู้เคย
เป็นสหายเก่าเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ของเรา ได้มาถึงเมืองมัจฉิกาสัณฑ์” จึงเข้าไปหา
อเจลกัสสปะถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน
แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๓๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๗. จิตตสังยุต] ๑๐. คิลานทัสสนสูตร
“กัสสปะผู้เจริญ ท่านบวชนานเท่าไร”
อเจลกัสสปะตอบว่า “ท่านคหบดี เราบวชได้ประมาณ ๓๐ ปีแล้ว”
“ผู้เจริญ ตลอดเวลาประมาณ ๓๐ ปีนี้ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ๑ อัน
วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์๒ เป็นธรรมเครื่องอยู่ผาสุกที่ท่านบรรลุแล้วมีอยู่หรือ”
“คหบดี ตลอดเวลาประมาณ ๓๐ ปีนี้ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ
อันวิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ เป็นธรรมเครื่องอยู่ผาสุกที่เราบรรลุแล้วย่อมไม่มี
นอกจากความเป็นคนเปลือย ความเป็นคนโล้น และการสลัดฝุ่นธุลีด้วยขนหาง
นกยูง”
เมื่ออเจลกัสสปะกล่าวอย่างนี้แล้ว จิตตคหบดีได้กล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ น่า
อัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ที่ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว เพราะในการ
บวชตลอดเวลาประมาณ ๓๐ ปี ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่า
ธรรมของมนุษย์ เป็นธรรมเครื่องอยู่ผาสุก ที่ท่านบรรลุแล้วจักไม่มี นอกจาก
ความเป็นคนเปลือย ความเป็นคนโล้น และการสลัดฝุ่นธุลีด้วยขนหางนกยูง”
“คหบดี ท่านเข้าถึงความเป็นอุบาสกนานเท่าไรแล้ว”
“ท่านผู้เจริญ ผมเข้าถึงความเป็นอุบาสกได้ประมาณ ๓๐ ปีแล้ว”
“คหบดี ตลอดเวลาประมาณ ๓๐ ปีนี้ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอัน
วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ เป็นธรรมเครื่องอยู่ผาสุกที่ท่านบรรลุแล้วมีอยู่หรือ”
“ท่านผู้เจริญ แม้แต่คฤหัสถ์ก็พึงมีธรรมเช่นนั้นได้ เพราะผมสงัดจากกามและ
อกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวก
อยู่ตราบเท่าที่ต้องการ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ผมบรรลุทุติยฌานตราบเท่า
ที่ต้องการ เพราะปีติจางคลายไป ฯลฯ ผมบรรลุตติยฌานตราบเท่าที่ต้องการ
เพราะละสุขได้ ฯลฯ ผมบรรลุจตุตถฌานตราบเท่าที่ต้องการ ถ้าผมพึงพยากรณ์
ก่อนพระผู้มีพระภาค ไม่น่าอัศจรรย์เลย ที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ผมว่า
‘จิตตคหบดีประกอบด้วยสังโยชน์ใดพึงกลับมายังโลกนี้อีก สังโยชน์นั้นไม่มี ๋

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๗. จิตตสังยุต] ๑๐. คิลานทัสสนสูตร
เมื่อจิตตคหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว อเจลกัสสปะได้กล่าวกับจิตตคหบดีดังนี้ว่า
“ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ที่ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว
เพราะในการเข้าถึงความเป็นอุบาสก คฤหัสถ์ผู้นุ่งขาวห่มขาวจักบรรลุญาณทัสสนะ
ที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ เป็นธรรมเครื่องอยู่ผาสุกได้
คหบดี เราพึงได้บรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้”
ต่อมา จิตตคหบดีได้พาอเจลกัสสปะเข้าไปหาภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายถึงที่
อยู่แล้ว ได้เรียนถามภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
อเจลกัสสปะนี้เคยเป็นสหายเก่าเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ของกระผม ขอพระเถระ
ทั้งหลายโปรดบรรพชาอุปสมบทให้อเจลกัสสปะนี้เถิด กระผมจักบำรุงเธอด้วยจีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร”
อเจลกัสสปะได้บรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้แล้ว และท่านพระกัสสปะ
บวชแล้วไม่นาน ก็หลีกออกไปอยู่คนเดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกาย
และใจอยู่ ไม่นานนักได้ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์
ที่เหล่ากุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ
เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”
อนึ่ง ท่านพระกัสสปะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
อเจลกัสสปสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. คิลานทัสสนสูตร
ว่าด้วยการเยี่ยมผู้ป่วย
[๓๕๒] สมัยนั้น จิตตคหบดีเจ็บป่วยได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น
เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ในอาราม เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ในป่า เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้
เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นหญ้าเป็นโอสถและที่ต้นไม้เจ้าป่าจำนวนมากมาประชุมพร้อม
กันแล้ว ได้กล่าวกับจิตตคหบดีดังนี้ว่า
“คหบดี ท่านจงตั้งความปรารถนาว่า ‘ขอเราพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิใน
อนาคตกาลเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๓๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๗. จิตตสังยุต] ๑๐. คิลานทัสสนสูตร
เมื่อพวกเทวดากล่าวอย่างนี้แล้ว จิตตคหบดีจึงกล่าวกับเทวดาเหล่านั้นดังนี้ว่า
“แม้ความปรารถนาเป็นพระเจ้าจักรพรรดินั้นก็ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน บุคคลจำต้องละไป”
เมื่อจิตตคหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว พวกมิตร อำมาตย์ ญาติ สาโลหิตของ
จิตตคหบดีได้กล่าวดังนี้ว่า “ข้าแต่บุตรนาย ท่านจงตั้งสติไว้ อย่าเพ้อไป”
“ข้าพเจ้าพูดอะไรไป ที่ทำให้พวกท่านเตือนข้าพเจ้าว่า ‘ข้าแต่บุตรนาย ท่าน
จงตั้งสติไว้ อย่าเพ้อไป”
“ข้าแต่บุตรนาย ท่านพูดว่า ‘แม้ความปรารถนาเป็นพระเจ้าจักรพรรดินั้นก็
ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน บุคคลจำต้องละไป”
“ก็จริงอย่างนั้น พวกเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ในอาราม เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ในป่า
เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นหญ้าเป็นโอสถและที่ต้นไม้เจ้าป่า
กล่าวกับข้าพเจ้าว่า ‘คหบดี ท่านจงตั้งความปรารถนาว่า ‘ขอเราพึงเป็นพระเจ้า
จักรพรรดิในอนาคตกาลเถิด’ ข้าพเจ้าได้กล่าวกับเทวดาเหล่านั้นว่า ‘แม้ความ
ปรารถนาเป็นพระเจ้าจักรพรรดินั้นก็ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน บุคคลจำต้องละไป”
“ข้าแต่บุตรนาย เทวดาเหล่านั้นเห็นอำนาจประโยชน์อะไรจึงกล่าวว่า ‘คหบดี
ท่านจงตั้งความปรารถนาว่า ‘ขอเราพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในอนาคตกาลเถิด”
“เทวดาเหล่านั้นคิดว่า ‘จิตตคหบดีนี้มีศีล มีธรรมอันงาม ถ้าเธอจักตั้งความ
ปรารถนาว่า ‘ขอเราพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในอนาคตกาล’ การตั้งความปรารถนา
ในใจของเธอผู้มีศีลนี้จักสำเร็จได้เพราะศีลบริสุทธิ์ บุคคลผู้ตั้งอยู่ในธรรมจักตาม
เพิ่มให้กำลัง(แก่)ผู้ประพฤติธรรม เทวดาเหล่านี้เมื่อเห็นอำนาจประโยชน์จึงกล่าวว่า
‘คหบดี ท่านจงตั้งความปรารถนาว่า ‘ขอเราพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในอนาคต-
กาลเถิด’ ข้าพเจ้าได้กล่าวกับเทวดาเหล่านั้นว่า ‘แม้ความปรารถนาเป็นพระเจ้า
จักรพรรดินั้นก็ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน บุคคลจำต้องละไป”
“ข้าแต่บุตรนาย ถ้าเช่นนั้น ขอท่านจงกล่าวสอนพวกข้าพเจ้าบ้าง”
“เพราะฉะนั้นแล พวกท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า
‘พวกเราจักถึงพร้อมด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๓๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๗. จิตตสังยุต] รวมพระสูตรที่มีในสังยุต
โดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่
ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค’
จักถึงพร้อมด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า ‘พระธรรมอัน
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล
ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน’
จักถึงพร้อมด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า ‘พระสงฆ์สาวกของ
พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกทาง ปฏิบัติสมควร ได้แก่
อริยบุคคล ๔ คู่ คือ ๘ บุคคล พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้เป็นผู้ควรแก่
ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก’
อนึ่ง ไทยธรรมทุกอย่างในตระกูล จักเป็นของไม่แบ่งแยกกับท่านผู้มีศีล๑ มี
ธรรมอันงาม พวกท่านพึงศึกษาอย่างนี้”
จิตตคหบดีครั้นชักชวนมิตร อำมาตย์ ญาติ สาโลหิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า
พระธรรม พระสงฆ์ และในการบริจาคทานแล้วก็ตาย
คิลานทัสสนสูตรที่ ๑๐ จบ

รวมพระสูตรที่มีในสังยุตนี้ คือ

๑. สัญโญชนสูตร ๒. ปฐมอิสิทัตตสูตร
๓. ทุติยอิสิทัตตสูตร ๔. มหกปาฏิหาริยสูตร
๕. ปฐมกามภูสูตร ๖. ทุติยกามภูสูตร
๗. โคทัตตสูตร ๘. นิคัณฐนาฏปุตตสูตร
๙. อเจลกัสสปสูตร ๑๐. คิลานทัสสนสูตร

จิตตสังยุต จบบริบูรณ์

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑. จัณฑสูตร

๘. คามณิสังยุต
๑. จัณฑสูตร
ว่าด้วยผู้ใหญ่บ้านชื่อจัณฑะ
[๓๕๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ผู้ใหญ่บ้านชื่อจัณฑะ (ดุร้าย) เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนบางคนในโลกนี้ถึงความนับว่า
‘เป็นคนดุร้าย เป็นคนดุร้าย’ อนึ่ง อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนบางคนในโลกนี้
ถึงความนับว่า ‘เป็นคนสงบเสงี่ยม เป็นคนสงบเสงี่ยม”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ผู้ใหญ่บ้าน คนบางคนในโลกนี้ยังละราคะไม่ได้
เพราะละราคะไม่ได้ คนอื่นจึงยั่วให้โกรธได้ เมื่อคนอื่นยั่วให้โกรธ ย่อมแสดงความ
โกรธให้ปรากฏ เขาจึงถึงความนับว่า ‘เป็นคนดุร้าย’
ละโทสะไม่ได้ เพราะละโทสะไม่ได้ คนอื่นจึงยั่วให้โกรธได้ เมื่อคนอื่นยั่วให้โกรธ
ย่อมแสดงความโกรธให้ปรากฏ เขาจึงถึงความนับว่า ‘เป็นคนดุร้าย’
ละโมหะไม่ได้ เพราะละโมหะไม่ได้ คนอื่นจึงยั่วให้โกรธได้ เมื่อคนอื่นยั่วให้โกรธ
ย่อมแสดงความโกรธให้ปรากฏ เขาจึงถึงความนับว่า ‘เป็นคนดุร้าย’
ผู้ใหญ่บ้าน นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนบางคนในโลกนี้ถึงความนับว่า
‘เป็นคนดุร้าย เป็นคนดุร้าย’
ผู้ใหญ่บ้าน อนึ่ง คนบางคนในโลกนี้ละราคะได้แล้ว เพราะละราคะได้ คนอื่น
จึงยั่วให้โกรธไม่ได้ เมื่อคนอื่นยั่วให้โกรธ ย่อมไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ เขา
จึงถึงความนับว่า ‘เป็นคนสงบเสงี่ยม’
ละโทสะได้แล้ว เพราะละโทสะได้ คนอื่นจึงยั่วให้โกรธไม่ได้ เมื่อคนอื่นยั่วให้
โกรธ ย่อมไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ เขาจึงถึงความนับว่า ‘เป็นคนสงบเสงี่ยม’
ละโมหะได้แล้ว เพราะละโมหะได้ คนอื่นจึงยั่วให้โกรธไม่ได้ เมื่อคนอื่นยั่วให้
โกรธ ย่อมไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ เขาจึงถึงความนับว่า ‘เป็นคนสงบเสงี่ยม’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๓๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๒. ตาลปุตตสูตร
ผู้ใหญ่บ้าน นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนบางคนในโลกนี้ถึงความนับว่า ‘เป็น
คนสงบเสงี่ยม เป็นคนสงบเสงี่ยม”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ผู้ใหญ่บ้านชื่อจัณฑะได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศ
ธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’
ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้น
ไปจนตลอดชีวิต”
จัณฑสูตรที่ ๑ จบ

๒. ตาลปุตตสูตร
ว่าด้วยผู้ใหญ่บ้านชื่อตาลบุตร
[๓๕๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้
เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ผู้ใหญ่บ้านนักฟ้อนรำชื่อตาลบุตรเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถาม
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินคำของพวกนัก
ฟ้อนรำ ผู้เคยเป็นอาจารย์และปาจารย์ก่อน ๆ กล่าวว่า ‘นักฟ้อนรำคนใดทำให้
ประชาชนหัวเราะรื่นเริงด้วยคำจริงบ้าง เท็จบ้าง กลางโรงละคร กลางงานมหรสพ
นักฟ้อนรำคนนั้นหลังจากตายแล้วจะเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทวดาชื่อปหาสะ’
ในข้อนี้พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อย่าเลย ผู้ใหญ่บ้าน จงพักปัญหาข้อนี้ไว้
อย่าถามเราเลย”
แม้ครั้งที่ ๒ ผู้ใหญ่บ้านนักฟ้อนรำชื่อตาลบุตรได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้
ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินคำของพวกนักฟ้อนรำผู้เคยเป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๓๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๒. ตาลปุตตสูตร
อาจารย์และปาจารย์ก่อน ๆ กล่าวว่า ‘นักฟ้อนรำคนใดทำให้ประชาชนหัวเราะรื่นเริง
ด้วยคำจริงบ้าง เท็จบ้าง กลางโรงละคร กลางงานมหรสพ นักฟ้อนรำคนนั้น
หลังจากตายแล้วจะเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทวดาชื่อปหาสะ’ ในข้อนี้พระ
ผู้มีพระภาคตรัสอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อย่าเลย ผู้ใหญ่บ้าน จงพักปัญหาข้อนี้ไว้
อย่าถามเราเลย”
แม้ครั้งที่ ๓ ผู้ใหญ่บ้านนักฟ้อนรำชื่อตาลบุตรได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้
ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินคำของพวกนักฟ้อนรำผู้เคยเป็น
อาจารย์และปาจารย์ก่อน ๆ กล่าวว่า ‘นักฟ้อนรำคนใดทำให้ประชาชนหัวเราะรื่นเริง
ด้วยคำจริงบ้าง เท็จบ้าง กลางโรงละคร กลางงานมหรสพ นักฟ้อนรำคนนั้น
หลังจากตายแล้วจะเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทวดาชื่อปหาสะ’ ในข้อนี้พระ
ผู้มีพระภาคตรัสอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ผู้ใหญ่บ้าน เราได้ห้ามท่านแล้วว่า ‘อย่าเลย
จงพักปัญหาข้อนี้ไว้ อย่าถามเราเลย’ แต่เอาเถิด เราจักตอบแก่ท่าน เมื่อก่อน
สัตว์ทั้งหลายไม่ปราศจากราคะ ถูกเครื่องผูกคือราคะผูกไว้ นักฟ้อนรำย่อมรวบรวม
ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดเข้าไปกลางโรงละคร กลางงานมหรสพแก่สัตว์เหล่า
นั้นโดยประมาณยิ่ง
เมื่อก่อนสัตว์ทั้งหลายไม่ปราศจากโทสะ ถูกเครื่องผูกคือโทสะผูกไว้ นักฟ้อนรำ
ย่อมรวบรวมธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโกรธเข้าไป กลางโรงละคร กลางงานมหรสพ
แก่สัตว์เหล่านั้นโดยประมาณยิ่ง
เมื่อก่อนสัตว์ทั้งหลายไม่ปราศจากโมหะ ถูกเครื่องผูกคือโมหะผูกไว้ นักฟ้อน
รำย่อมรวบรวมธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลงเข้าไปกลางโรงละคร กลางงานมหรสพ
แก่สัตว์เหล่านั้นโดยประมาณยิ่ง
นักฟ้อนรำนั้นตนเองก็มัวเมาประมาททั้งทำให้ผู้อื่นมัวเมาประมาทด้วย หลัง
จากตายแล้วจะไปเกิดในนรกชื่อปหาสะ แต่ถ้าเขามีความเห็นว่า ‘นักฟ้อนรำคนใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๓๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๒. ตาลปุตตสูตร
ทำให้ประชาชนหัวเราะรื่นเริงด้วยคำจริงบ้าง เท็จบ้าง กลางโรงละคร กลางงาน
มหรสพ นักฟ้อนรำคนนั้นหลังจากตายแล้วจะเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่า
เทวดาชื่อปหาสะ ความเห็นของเขาเป็นมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) และผู้เป็นมิจฉา-
ทิฏฐิ เรากล่าวว่ามีคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ผู้ใหญ่บ้านนักฟ้อนรำชื่อตาลบุตรได้
ร้องไห้ น้ำตาไหลพราก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้ใหญ่บ้าน เราได้ห้ามท่าน
แล้วว่า ‘อย่าเลย จงพักปัญหาข้อนี้ไว้ อย่าถามเราเลย”
ผู้ใหญ่บ้านนักฟ้อนรำกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มิได้
ร้องไห้เพราะพระองค์ตรัสอย่างนั้นกับข้าพระองค์ แต่ข้าพระองค์ถูกพวกนักฟ้อนรำผู้
เป็นอาจารย์และปาจารย์ก่อน ๆ หลอกลวงให้หลงมานานว่า ‘นักฟ้อนรำคนใด
ทำให้ประชาชนหัวเราะรื่นเริงด้วยคำจริงบ้าง เท็จบ้าง กลางโรงละคร กลางงาน
มหรสพ นักฟ้อนรำคนนั้นหลังจากตายแล้วจะเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่า
เทวดาชื่อปหาสะ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระ
องค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศ
ธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’
ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค”
ผู้ใหญ่บ้านนักฟ้อนรำชื่อตาลบุตรได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มี-
พระภาค และท่านพระตาลบุตรอุปสมบทได้ไม่นาน ก็หลีกออกไปอยู่คนเดียว
ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ฯลฯ อนึ่ง ท่านพระตาลบุตรได้
เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
ตาลปุตตสูตรที่ ๒ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๓. โยธาชีวสูตร

๓. โยธาชีวสูตร
ว่าด้วยผู้ใหญ่บ้านชื่อโยธาชีวะ
[๓๕๕] ครั้งนั้น ผู้ใหญ่บ้านชื่อโยธาชีวะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ฯลฯ ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยิน
คำของพวกนักรบอาชีพผู้เคยเป็นอาจารย์และปาจารย์ก่อน ๆ กล่าวว่า ‘นักรบ
อาชีพคนใดอุตส่าห์พยายามในการสงคราม นักรบพวกอื่นสังหารนักรบอาชีพผู้
อุตส่าห์พยายามนั้นให้ถึงความตาย เขาหลังจากตายแล้วจะเข้าถึงความเป็นผู้อยู่
ร่วมกับเหล่าเทวดาชื่อสรชิต’ ในข้อนี้พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อย่าเลย ผู้ใหญ่บ้าน จงพักปัญหาข้อนี้ไว้
อย่าถามเราเลย”
แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ ผู้ใหญ่บ้านชื่อโยธาชีวะได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินคำของพวกนักรบอาชีพผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์
ก่อน ๆ กล่าวว่า ‘นักรบอาชีพคนใดอุตส่าห์พยายามในการสงคราม นักรบพวกอื่น
สังหารนักรบอาชีพผู้อุตส่าห์พยายามนั้นให้ถึงความตาย เขาหลังจากตายแล้วจะเข้า
ถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทวดาชื่อสรชิต’ ในข้อนี้พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ผู้ใหญ่บ้าน เราได้ห้ามท่านแล้วว่า ‘อย่าเลย
จงพักปัญหาข้อนี้ไว้ อย่าถามเราเลย’ แต่เอาเถิด เราจักตอบแก่ท่าน นักรบอาชีพ
คนใดอุตส่าห์พยายามในการสงคราม จิตถูกเขายึด ทำไว้ผิด ตั้งไว้ไม่ดีในเบื้องต้นว่า
‘สัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า จงถูกแทง จงขาดสูญ จงพินาศ หรืออย่าได้มี’ นักรบพวก
อื่นสังหารนักรบอาชีพผู้อุตส่าห์พยายามนั้นให้ถึงความตาย เขาหลังจากตายแล้วจะ
ไปเกิดในนรกชื่อสรชิต ก็ถ้าเขามีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘นักรบอาชีพคนใดอุตส่าห์
พยายามในการสงคราม นักรบพวกอื่นสังหารนักรบอาชีพผู้อุตส่าห์พยายามนั้นให้
ถึงความตาย เขาหลังจากตายแล้วจะเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทวดาชื่อ
สรชิต’ ความเห็นของเขาเป็นมิจฉาทิฏฐิ และผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิเรากล่าวว่ามีคติอย่าง
๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๓๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๕. อัสสาโรหสูตร
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ผู้ใหญ่บ้านชื่อโยธาชีวะได้ร้องไห้ น้ำตา
ไหลพราก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้ใหญ่บ้าน เราได้ห้ามท่านแล้วว่า ‘อย่าเลย
ท่านจงพักปัญหาข้อนี้ไว้ อย่าถามเราเลย ๋
ผู้ใหญ่บ้านกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มิได้ร้องไห้เพราะ
พระองค์ตรัสอย่างนั้นกับข้าพระองค์ แต่ข้าพระองค์ถูกพวกนักรบอาชีพผู้เป็น
อาจารย์และปาจารย์ก่อน ๆ หลอกลวงให้หลงมานานว่า ‘นักรบอาชีพคนใด
อุตส่าห์พยายามในการสงคราม นักรบพวกอื่นสังหารเขาผู้อุตส่าห์พยายามนั้นให้
ถึงความตาย เขาหลังจากตายแล้วจะเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทวดาชื่อ
สรชิต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้น
ไปจนตลอดชีวิต”
โยธาชีวสูตรที่ ๓ จบ

๔. หัตถาโรหสูตร
ว่าด้วยผู้ใหญ่บ้านชื่อหัตถาโรหะ
[๓๕๖] ครั้งนั้น ผู้ใหญ่บ้านชื่อหัตถาโรหะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ฯลฯ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
หัตถาโรหสูตรที่ ๔ จบ

๕. อัสสาโรหสูตร
ว่าด้วยผู้ใหญ่บ้านชื่ออัสสาโรหะ
[๓๕๗] ครั้งนั้น ผู้ใหญ่บ้านชื่ออัสสาโรหะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ นั่ง ณ ที่สมควร แล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินคำของพวกนายทหารม้าผู้เคยเป็นอาจารย์และปาจารย์
ก่อน ๆ กล่าวว่า ‘ทหารม้าคนใดอุตส่าห์พยายามในการสงคราม ทหารม้าพวกอื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๓๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๕. อัสสาโรหสูตร
สังหารทหารม้าผู้อุตส่าห์พยายามนั้นให้ถึงความตาย เขาหลังจากตายแล้วจะเข้าถึง
ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทวดาชื่อสรชิต’ ในข้อนี้พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อย่าเลย ผู้ใหญ่บ้าน จงพักปัญหาข้อนี้ไว้
อย่าถามเราเลย”
แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ ผู้ใหญ่บ้านชื่ออัสสาโรหะได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินคำของพวกนายทหารม้าผู้เคยเป็นอาจารย์และ
ปาจารย์ก่อน ๆ กล่าวว่า ‘ทหารม้าคนใดอุตส่าห์พยายามในการสงคราม ทหารม้า
พวกอื่นสังหารทหารม้าผู้อุตส่าห์พยายามนั้นให้ถึงความตาย เขาหลังจากตายแล้ว
จะเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทวดาชื่อสรชิต’ ในข้อนี้พระผู้มีพระภาคตรัส
อย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ผู้ใหญ่บ้าน เราได้ห้ามท่านแล้วว่า ‘อย่าเลย
ผู้ใหญ่บ้าน จงพักปัญหาข้อนี้ไว้ อย่าถามเราเลย’ แต่เอาเถิด เราจักตอบแก่ท่าน
ทหารม้าคนใดอุตส่าห์พยายามในการสงคราม จิตถูกเขายึด ทำไว้ผิด ตั้งไว้ไม่ดีใน
เบื้องต้นว่า ‘ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า จงถูกแทง จงขาดสูญ จงพินาศ หรืออย่าได้มี’
ทหารม้าพวกอื่นสังหารทหารม้าผู้อุตส่าห์พยายามนั้นให้ถึงความตาย เขาหลังจาก
ตายแล้วจะไปเกิดในนรกชื่อว่าสรชิต แต่ถ้าเขามีความเห็นนี้ว่า ‘ทหารม้าคนใด
อุตส่าห์พยายามในการสงคราม ทหารม้าพวกอื่นสังหารทหารม้าผู้อุตส่าห์พยายาม
นั้นให้ถึงความตาย เขาหลังจากตายแล้วจะเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทวดา
ชื่อสรชิต’ ความเห็นของเขาเป็นมิจฉาทิฏฐิ และผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิเรากล่าวว่ามีคติ
เป็นอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ผู้ใหญ่บ้านชื่ออัสสาโรหะได้ร้องไห้ น้ำตา
ไหลพราก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้ใหญ่บ้าน เราได้ห้ามท่านแล้วว่า ‘อย่าเลย
ผู้ใหญ่บ้าน ท่านจงพักปัญหาข้อนี้ไว้ อย่าถามเราเลย”
ผู้ใหญ่บ้านชื่ออัสสาโรหะได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
มิได้ร้องไห้เพราะพระองค์ตรัสกับข้าพระองค์อย่างนั้น แต่ข้าพระองค์ถูกพวก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๖. อสิพันธกปุตตสูตร
นายทหารม้าผู้เคยเป็นอาจารย์และปาจารย์ก่อน ๆ หลอกลวงให้หลงมานานว่า
‘ทหารม้าคนใดอุตส่าห์พยายามในการสงคราม ทหารม้าพวกอื่นสังหารทหารม้าผู้
อุตส่าห์พยายามนั้นให้ถึงความตาย เขาหลังจากตายแล้วจะเข้าถึงความเป็นผู้อยู่
ร่วมกับเหล่าเทวดาชื่อสรชิต’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
อัสสาโรหสูตรที่ ๕ จบ

๖. อสิพันธกปุตตสูตร
ว่าด้วยผู้ใหญ่บ้านชื่ออสิพันธกบุตร
[๓๕๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาวาริกัมพวัน เขต
เมืองนาฬันทา ครั้งนั้น ผู้ใหญ่บ้านชื่ออสิพันธกบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิมีคณโฑน้ำติดตัว ประดับพวง
มาลัยสาหร่าย อาบน้ำทุกเช้าเย็น บำเรอไฟ พราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าทำสัตว์ที่
ตายแล้วให้ฟื้น ให้รู้ชอบ ให้ขึ้นสวรรค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถจะทำสัตว์โลกทั้งหมดหลังจากตายแล้วให้ไปเกิดใน
สุคติโลกสวรรค์ได้หรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ผู้ใหญ่บ้าน ถ้าเช่นนั้น เราจักย้อนถามใน
ปัญหาข้อนี้ ท่านพึงตอบตามสมควร
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์
ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็ง
อยากได้ของเขา มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ หมู่มหาชนพึงมาประชุมแล้วสวด
อ้อนวอน สวดสรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า ‘ขอบุรุษนี้หลังจาก
ตายแล้วจงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์เถิด’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๖. อสิพันธกปุตตสูตร
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นหลังจากตายแล้วพึงไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์เพราะการสวดอ้อนวอน เพราะการสวดสรรเสริญหรือเพราะการประนม
มือเดินเวียนรอบแห่งหมู่มหาชนเป็นเหตุได้หรือ”
“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ผู้ใหญ่บ้าน เปรียบเหมือนบุรุษโยนก้อนหินใหญ่ลงในห้วงน้ำลึก หมู่มหาชน
พึงมาประชุมแล้วสวดอ้อนวอน สวดสรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบก้อนหิน
ใหญ่นั้นว่า ‘โผล่ขึ้นเถิด พ่อก้อนหินใหญ่ ลอยขึ้นเถิด พ่อก้อนหินใหญ่ ขึ้นบกเถิด
พ่อก้อนหินใหญ่’
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ก้อนหินใหญ่นั้นพึงโผล่ขึ้น ลอยขึ้น หรือ
ขึ้นบกเพราะการสวดอ้อนวอน เพราะการสวดสรรเสริญหรือเพราะการประนมมือ
เดินเวียนรอบแห่งหมู่มหาชนเป็นเหตุได้หรือ”
“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ผู้ใหญ่บ้าน อุปมานั้นฉันใด อุปไมยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษใดเป็นผู้ฆ่าสัตว์
ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
เพ่งเล็งอยากได้ของเขา มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ หมู่มหาชนพึงมาประชุม
แล้วสวดอ้อนวอน สวดสรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า ‘ขอบุรุษนี้
หลังจากตายแล้วจงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์เถิด’ ก็จริง ถึงกระนั้น บุรุษนั้นหลัง
จากตายไปแล้วพึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ผู้เว้นจากอกุศลกรรม ๑๐ ย่อมไปเกิดในสุคติ
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษในโลกนี้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ การ
ลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ
และการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา ไม่มีจิตพยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ
หมู่มหาชนพึงมาประชุมแล้วสวดอ้อนวอน สวดสรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบ
บุรุษนั้นว่า ‘ขอบุรุษนี้หลังจากตายแล้วจงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรกเถิด’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๖. อสิพันธกปุตตสูตร
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นหลังจากตายแล้วพึงไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก เพราะการสวดอ้อนวอน เพราะการสวดสรรเสริญหรือเพราะ
การประนมมือเดินเวียนรอบแห่งหมู่มหาชนเป็นเหตุได้หรือ”
“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ผู้ใหญ่บ้าน เปรียบเหมือนบุรุษดำลงในห้วงน้ำลึกแล้วทุบหม้อเนยใสหรือ
หม้อน้ำมัน ก้อนกรวดหรือกระเบื้องหม้อนั้นพึงจมลงในห้วงน้ำนั้น ส่วนเนยใสหรือ
น้ำมันในหม้อนั้นพึงลอยขึ้น หมู่มหาชนพึงมาประชุมแล้วสวดอ้อนวอน สวด
สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบเนยใสหรือน้ำมันนั้นว่า ‘ดำลงเถิด พ่อเนยใส
และน้ำมัน จมลงเถิด พ่อเนยใสและน้ำมัน ดิ่งลงข้างล่างเถิด พ่อเนยใสและน้ำมัน’
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เนยใสและน้ำมันนั้นพึงดำลง จมลง หรือดิ่ง
ลงข้างล่างเพราะการสวดอ้อนวอน เพราะการสวดสรรเสริญหรือเพราะการประนม
มือเดินเวียนรอบแห่งหมู่มหาชนเป็นเหตุได้หรือ”
“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ผู้ใหญ่บ้าน อุปมานั้นฉันใด อุปไมยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษใดเว้นขาด
จากการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด
การพูดคำหยาบ และการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา ไม่มีจิตพยาบาท
เป็นสัมมาทิฏฐิ หมู่มหาชนพึงมาประชุมแล้วสวดอ้อนวอน สวดสรรเสริญ ประนม
มือเดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า ‘ขอบุรุษนี้หลังจากตายแล้วจงไปเกิดในอบาย ทุคติ
วินิบาต นรกเถิด’ ก็จริง ถึงกระนั้น บุรุษนั้นหลังจากตายแล้วพึงไปเกิดใน
สุคติโลกสวรรค์”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ผู้ใหญ่บ้านชื่ออสิพันธกบุตรได้กราบทูล
ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอ
พระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
จนตลอดชีวิต”
อสิพันธกปุตตสูตรที่ ๖ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๗. เขตตูปทสูตร

๗. เขตตูปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยนา
[๓๕๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาวาริกัมพวัน เขต
เมืองนาฬันทา ครั้งนั้น ผู้ใหญ่บ้านชื่ออสิพันธกบุตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงมีความเอ็นดูมุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อ
สรรพสัตว์มิใช่หรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อย่างนั้น ผู้ใหญ่บ้าน ตถาคตมีความเอ็นดูมุ่ง
ประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไรพระผู้มีพระภาคจึงทรง
แสดงธรรมโดยเคารพแก่คนบางพวก ไม่ทรงแสดงธรรมโดยเคารพเช่นนั้นแก่คน
บางพวก”
เปรียบการแสดงธรรมกับการหว่านพืชในนา ๓ ชนิด
“ผู้ใหญ่บ้าน ถ้าเช่นนั้น เราจักย้อนถามท่านในปัญหาข้อนี้ ท่านพึงตอบ
ตามสมควร ผู้ใหญ่บ้าน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คหบดีชาวนาในโลกนี้มี
นาอยู่ ๓ ชนิด คือ ชนิดหนึ่งเป็นนาดี ชนิดหนึ่งเป็นนาปานกลาง ชนิดหนึ่งเป็น
นาเลว มีดินแข็ง มีดินเค็ม พื้นดินเลว
ผู้ใหญ่บ้าน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คหบดีชาวนาประสงค์จะ
หว่านพืช จะหว่านในนาชนิดไหนก่อน คือ นาชนิดดีโน้น ชนิดปานกลางโน้น
หรือชนิดเลวโน้นซึ่งมีดินแข็ง มีดินเค็ม พื้นดินเลว”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คหบดีชาวนาโน้นประสงค์จะหว่านพืช พึงหว่านในนา
ชนิดดีโน้นก่อน แล้วหว่านลงในนาชนิดปานกลางโน้น แล้วหว่านบ้าง ไม่หว่านบ้าง
ในนาชนิดเลวโน้นซึ่งมีดินแข็ง มีดินเค็ม พื้นดินเลว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
โดยที่สุดก็จักเป็นอาหารโค”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๗. เขตตูปทสูตร
“ผู้ใหญ่บ้าน เราแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง
และมีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วนแก่ภิกษุและภิกษุณีทั้งหลายของเรา เปรียบเหมือนคหบดีชาวนา
หว่านพืชในนาชนิดดีโน้นฉะนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุและภิกษุณีเหล่านั้น
มีเราเป็นที่พึ่ง มีเราเป็นที่อาศัย มีเราเป็นที่ต้านทาน มีเราเป็นสรณะอยู่
เราแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงาม
ในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน
แก่อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลายของเรา เปรียบเหมือนคหบดีชาวนาหว่านพืชในนา
ชนิดปานกลางโน้นฉะนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอุบาสกและอุบาสิกาเหล่านั้น
มีเราเป็นที่พึ่ง มีเราเป็นที่อาศัย มีเราเป็นที่ต้านทาน มีเราเป็นสรณะอยู่
และเราแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมี
ความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์
ครบถ้วนแก่อัญเดียรถีย์ สมณะ พราหมณ์ และปริพาชกทั้งหลายของเรา เปรียบ
เหมือนคหบดีชาวนาหว่านพืชในนาชนิดเลวโน้น ซึ่งมีดินแข็ง มีดินเค็ม พื้นดินเลว
ฉะนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอัญเดียรถีย์ สมณะ พราหมณ์ และปริพาชก
เหล่านั้นพึงรู้ธรรมแม้บทเดียว ความรู้นั้นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความ
สุขแก่พวกเขาสิ้นกาลนาน
เปรียบการแสดงธรรมกับการตักน้ำใส่โอ่งน้ำ
ผู้ใหญ่บ้าน เปรียบเหมือนบุรุษมีโอ่งน้ำ ๓ ใบ คือ โอ่งน้ำใบหนึ่งไม่มีรอยร้าว
น้ำซึมไหลออกไม่ได้ ใบหนึ่งไม่มีรอยร้าวแต่น้ำซึมไหลออกได้ ใบหนึ่งมีรอยร้าว
น้ำซึมไหลออกได้ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษโน้นประสงค์จะใส่น้ำ พึง
ใส่ในโอ่งน้ำใบไหนก่อน คือ โอ่งน้ำใบที่ไม่มีรอยร้าวน้ำซึมไหลออกไม่ได้ ใบที่ไม่มี
รอยร้าวแต่น้ำซึมไหลออกได้ หรือใบที่มีรอยร้าวน้ำซึมไหลออกได้”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษโน้นประสงค์จะใส่น้ำ พึงใส่ในโอ่งน้ำใบที่ไม่มี
รอยร้าวน้ำซึมไหลออกไม่ได้ก่อน แล้วใส่ในโอ่งน้ำใบที่ไม่มีรอยร้าวแต่น้ำซึมไหล
ออกได้ แล้วใส่บ้าง ไม่ใส่บ้าง ในโอ่งน้ำใบที่มีรอยร้าวน้ำซึมไหลออกได้ ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะที่สุดก็จักเป็นน้ำใช้ล้างสิ่งของ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๘. สังขธมสูตร
“ผู้ใหญ่บ้าน อุปมานั้นฉันใด อุปไมยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เราแสดงธรรมมี
ความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ประกาศ
พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนแก่ภิกษุและภิกษุณี
ทั้งหลายของเรา เปรียบเหมือนบุรุษใส่น้ำในโอ่งน้ำใบที่ไม่มีรอยร้าว น้ำซึมไหลออก
ไม่ได้ฉะนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุและภิกษุณีเหล่านั้นมีเราเป็นที่พึ่ง มี
เราเป็นที่อาศัย มีเราเป็นที่ต้านทาน มีเราเป็นสรณะอยู่
เราแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงาม
ในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน
แก่อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลายของเรา เปรียบเหมือนบุรุษใส่น้ำในโอ่งน้ำใบที่ไม่มี
รอยร้าว แต่น้ำซึมไหลออกได้ฉะนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอุบาสกและอุบาสิกา
เหล่านั้นมีเราเป็นที่พึ่ง มีเราเป็นที่อาศัย มีเราเป็นที่ต้านทาน มีเราเป็นสรณะอยู่
เราแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงาม
ในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน
แก่อัญเดียรถีย์ สมณะ พราหมณ์ และปริพาชกทั้งหลายของเรา เปรียบเหมือน
บุรุษใส่น้ำในโอ่งน้ำใบที่มีรอยร้าว น้ำซึมไหลออกได้ฉะนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
อัญเดียรถีย์ สมณะ พราหมณ์ และปริพาชกเหล่านั้นพึงรู้ธรรมแม้บทเดียว
ความรู้นั้นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขแก่พวกเขาสิ้นกาลนาน
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ผู้ใหญ่บ้านชื่ออสิพันธกบุตรได้กราบทูล
ว่า“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอ
พระผู้มีพระภาค จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้น
ไปจนตลอดชีวิต”
เขตตูปมสูตรที่ ๗ จบ

๘. สังขธมสูตร
ว่าด้วยคนเป่าสังข์
[๓๖๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาวาริกัมพวัน เขต
เมืองนาฬันทา ครั้งนั้น ผู้ใหญ่บ้านชื่ออสิพันธกบุตรผู้เป็นสาวกของนิครนถ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๘. สังขธมสูตร
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับผู้ใหญ่บ้าน
ชื่ออสิพันธกบุตรดังนี้ว่า “ผู้ใหญ่บ้าน นิครนถ์ นาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวก
อย่างไร”
ผู้ใหญ่บ้านชื่ออสิพันธกบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นิครนถ์
นาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวกอย่างนี้ว่า ‘ผู้ฆ่าสัตว์ทั้งหมดต้องไปอบาย ตกนรก
ผู้ลักทรัพย์ทั้งหมดต้องไปอบาย ตกนรก ผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหมดต้องไปอบาย
ตกนรก ผู้พูดเท็จทั้งหมดต้องไปอบาย ตกนรก กรรมใด ๆ มีอยู่มาก กรรมนั้น ๆ
ย่อมนำบุคคลไป’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นิครนถ์ นาฏบุตรย่อมแสดงธรรมแก่พวก
สาวกอย่างนี้”
“ผู้ใหญ่บ้าน นิครนถ์ นาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวกว่า ‘กรรมใด ๆ มี
อยู่มาก กรรมนั้น ๆ ย่อมนำบุคคลไป’ เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จักไม่มีใคร ๆ ไปอบาย
ตกนรกตามคำของนิครนถ์ นาฏบุตรเลย
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษผู้ฆ่าสัตว์อาศัยเวลาและมิใช่เวลาของ
กลางคืนหรือกลางวัน เวลาที่เขาฆ่าสัตว์หรือเวลาที่เขาไม่ฆ่าสัตว์ เวลาไหนจะมาก
กว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษผู้ฆ่าสัตว์อาศัยเวลาและมิใช่เวลาของกลางคืน
หรือกลางวัน เวลาที่เขาฆ่าสัตว์น้อยกว่า ที่แท้เวลาที่เขาไม่ฆ่าสัตว์มากกว่า”
“ผู้ใหญ่บ้าน นิครนถ์ นาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวกว่า ‘กรรมใด ๆ มี
อยู่มาก กรรมนั้น ๆ ย่อมนำบุคคลไป’ เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จักไม่มีใคร ๆ ไปอบาย ตก
นรกตามคำของนิครนถ์ นาฏบุตรเลย
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษผู้ลักทรัพย์อาศัยเวลาและมิใช่เวลาของ
กลางคืนหรือกลางวัน เวลาที่เขาลักทรัพย์หรือเวลาที่เขาไม่ลักทรัพย์ เวลาไหนจะ
มากกว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษผู้ลักทรัพย์อาศัยเวลาและมิใช่เวลาของกลางคืน
หรือกลางวัน เวลาที่เขาลักทรัพย์น้อยกว่า ที่แท้เวลาที่เขาไม่ลักทรัพย์มากกว่า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๘. สังขธมสูตร
“ผู้ใหญ่บ้าน นิครนถ์ นาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวกว่า ‘กรรมใด ๆ มี
อยู่มาก กรรมนั้น ๆ ย่อมนำบุคคลไป’ เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จักไม่มีใคร ๆ ไปอบาย
ตกนรกตามคำของนิครนถ์ นาฏบุตรเลย
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษผู้ประพฤติผิดในกามอาศัยเวลาและ
มิใช่เวลาของกลางคืนหรือกลางวัน เวลาที่เขาประพฤติผิดในกามหรือเวลาที่เขาไม่
ประพฤติผิดในกาม เวลาไหนจะมากกว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษผู้ประพฤติผิดในกามอาศัยเวลาและมิใช่เวลาของ
กลางคืนหรือกลางวัน เวลาที่เขาประพฤติผิดในกามน้อยกว่า ที่แท้เวลาที่เขาไม่
ประพฤติผิดในกามมากกว่า”
“ผู้ใหญ่บ้าน นิครนถ์ นาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวกว่า ‘กรรมใด ๆ มี
อยู่มาก กรรมนั้น ๆ ย่อมนำบุคคลไป’ เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จักไม่มีใคร ๆ ไปอบาย
ตกนรกตามคำของนิครนถ์ นาฏบุตรเลย
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษผู้พูดเท็จอาศัยเวลาและมิใช่เวลาของ
กลางคืนหรือกลางวัน เวลาที่เขาพูดเท็จหรือเวลาที่เขาไม่พูดเท็จ เวลาไหนจะมาก
กว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษผู้พูดเท็จอาศัยเวลาและมิใช่เวลาของกลางคืน
หรือกลางวัน เวลาที่เขาพูดเท็จน้อยกว่า ที่แท้เวลาที่เขาไม่พูดเท็จมากกว่า”
“ผู้ใหญ่บ้าน นิครนถ์ นาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวกว่า ‘กรรมใด ๆ มี
อยู่มาก กรรมนั้น ๆ ย่อมนำบุคคลไป’ เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จักไม่มีใคร ๆ ไปอบาย
ตกนรกตามคำของนิครนถ์ นาฏบุตรเลย
ศาสดาบางคนในโลกนี้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ผู้ฆ่าสัตว์ทั้งหมดต้อง
ไปอบาย ตกนรก ผู้ลักทรัพย์ทั้งหมดต้องไปอบาย ตกนรก ผู้ประพฤติผิดในกาม
ทั้งหมดต้องไปอบาย ตกนรก ผู้พูดเท็จทั้งหมดต้องไปอบาย ตกนรก
สาวกผู้เลื่อมใสอย่างยิ่งในศาสดาองค์นั้นมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ศาสดาของเรามี
วาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ผู้ฆ่าสัตว์ทั้งหมดต้องไปอบาย ตกนรก’ สาวกของ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๘. สังขธมสูตร
ศาสดานั้นกลับได้ทิฏฐิว่า ‘สัตว์ที่ถูกเราฆ่าก็มีอยู่ แม้เราก็ต้องไปอบาย ตกนรก’
เขาไม่ละคำพูด ไม่ละความคิด ไม่สละทิฏฐินั้น ย่อมตกนรกเหมือนถูกนำมาขังไว้
ฉะนั้น
สาวกของศาสดานั้นมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ศาสดาของเรามีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิ
อย่างนี้ว่า ‘ผู้ลักทรัพย์ทั้งหมดต้องไปอบาย ตกนรก’ สาวกของศาสดานั้นกลับได้
ทิฏฐิว่า ‘ทรัพย์ที่เราเคยลักก็มีอยู่ แม้เราก็ต้องไปอบาย ตกนรก’ เขายังไม่ละคำพูด
ไม่ละความคิด ไม่สละทิฏฐินั้น ย่อมตกนรกเหมือนถูกนำมาขังไว้ฉะนั้น
สาวกของศาสดานั้นมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ศาสดาของเรามีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิ
อย่างนี้ว่า ‘ผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหมดต้องไปอบาย ตกนรก’ สาวกของศาสดา
นั้น กลับได้ทิฏฐิว่า ‘การที่เราประพฤติผิดในกามก็มีอยู่ แม้เราก็ต้องไปอบาย
ตกนรก’ เขายังไม่ละคำพูด ไม่ละความคิด ไม่สละทิฏฐินั้น ย่อมตกนรกเหมือน
ถูกนำมาขังไว้ฉะนั้น
สาวกของศาสดานั้นมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ศาสดาของเรามีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิ
อย่างนี้ว่า ‘ผู้พูดเท็จทั้งหมดต้องไปอบาย ตกนรก’ สาวกของศาสดานั้นกลับได้
ทิฏฐิว่า ‘คำเท็จที่เราพูดแล้วก็มีอยู่ แม้เราก็ต้องไปอบาย ตกนรก’ เขายังไม่ละคำพูด
ไม่ละความคิด ไม่สละทิฏฐินั้น ย่อมตกนรกเหมือนถูกนำมาขังไว้ฉะนั้น
ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เพียบ
พร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค
ตถาคตนั้น ตำหนิติเตียนการฆ่าสัตว์โดยประการต่าง ๆ เป็นอันมาก และกล่าวว่า
‘ท่านทั้งหลายจงงดเว้นจากการฆ่าสัตว์’ ตำหนิติเตียนการลักทรัพย์โดยประการ
ต่าง ๆ เป็นอันมาก และกล่าวว่า ‘ท่านทั้งหลายจงงดเว้นจากการลักทรัพย์’ ตำหนิ
ติเตียนการประพฤติผิดในกามโดยประการต่าง ๆ เป็นอันมาก และกล่าวว่า ‘ท่าน
ทั้งหลายจงงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม’ ตำหนิติเตียนการพูดเท็จโดยประการ
ต่าง ๆ เป็นอันมาก และกล่าวว่า ‘ท่านทั้งหลายจงงดเว้นจากการพูดเท็จ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๘. สังขธมสูตร
สาวกผู้เลื่อมใสอย่างยิ่งในศาสดานั้นพิจารณาเห็นว่า ‘พระผู้มีพระภาคทรง
ตำหนิติเตียนการฆ่าสัตว์โดยประการต่าง ๆ เป็นอันมาก และตรัสว่า ‘ท่านทั้งหลาย
จงงดเว้นจากการฆ่าสัตว์’ อนึ่ง สัตว์ที่ถูกเราฆ่าก็มีอยู่มากมาย การที่เราฆ่าสัตว์
มากมายนั้นไม่เป็นการดีงามเลย เราเท่านั้นพึงเป็นผู้เดือดร้อนเพราะการฆ่าสัตว์นั้น
เป็นปัจจัย เราไม่ได้ทำบาปกรรมนั้นก็หามิได้ เธอพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้วย่อมละ
การฆ่าสัตว์นั้นและเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ต่อไป
เธอละบาปกรรม ก้าวล่วงบาปกรรมนั้นได้ด้วยประการฉะนี้
สาวกนั้นพิจารณาเห็นว่า ‘พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิติเตียนการลักทรัพย์โดย
ประการต่าง ๆ เป็นอันมาก และตรัสว่า ‘ท่านทั้งหลายจงงดเว้นจากการลักทรัพย์’
ทรัพย์ที่เราลักก็มีอยู่มากมาย การที่เราลักทรัพย์มากมายนั้นไม่เป็นการดีงามเลย
เราเท่านั้นพึงเป็นผู้เดือดร้อนเพราะการลักทรัพย์นั้นเป็นปัจจัย เราไม่ได้ทำ
บาปกรรมนั้นก็หามิได้ เธอพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้วย่อมละการลักทรัพย์นั้นและ
เว้นขาดจากการลักทรัพย์ต่อไป
เธอละบาปกรรม ก้าวล่วงบาปกรรมนั้นได้ด้วยประการฉะนี้
สาวกนั้นพิจารณาเห็นว่า ‘พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิติเตียนการประพฤติผิด
ในกามโดยประการต่าง ๆ เป็นอันมาก และตรัสว่า ‘ท่านทั้งหลายจงงดเว้นจาก
การประพฤติผิดในกาม’ การที่เราประพฤติผิดในกามก็มีอยู่มากมาย การที่เรา
ประพฤติผิดในกามมากมายนั้นไม่เป็นการดีงามเลย เราเท่านั้นพึงเป็นผู้เดือดร้อน
เพราะการประพฤติผิดในกามนั้นเป็นปัจจัย เราไม่ได้ทำบาปกรรมนั้นก็หามิได้ เธอ
พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้วย่อมละการประพฤติผิดในกามนั้นและเว้นขาดจากการ
ประพฤติผิดในกามต่อไป
เขาละบาปกรรม ก้าวล่วงบาปกรรมนั้นได้ด้วยประการฉะนี้
สาวกนั้นพิจารณาเห็นว่า ‘พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิติเตียนการพูดเท็จโดย
ประการต่าง ๆ เป็นอันมาก และตรัสว่า ‘ท่านทั้งหลายจงเว้นขาดจากการพูดเท็จ’
การที่เราพูดเท็จก็มีอยู่มากมาย การที่เราพูดเท็จมากมายนั้นไม่เป็นการดีงามเลย
เราเท่านั้นพึงเป็นผู้เดือดร้อนเพราะการพูดเท็จนั้นเป็นปัจจัย เราจักไม่ได้ทำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๘. สังขธมสูตร
บาปกรรมนั้นก็หามิได้ เธอพิจารณาอย่างนี้แล้วย่อมละการพูดเท็จนั้นและเว้นขาด
จากการพูดเท็จต่อไป
เขาละบาปกรรม ก้าวล่วงบาปกรรมนั้นได้ด้วยประการฉะนี้
สาวกนั้นละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ละการลักทรัพย์ เว้นขาด
จากการลักทรัพย์ ละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ ละการพูดคำส่อเสียด เว้นขาดจากการพูด
คำส่อเสียด ละการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ ละการพูดเพ้อเจ้อ
เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ละความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของ
เขา ละความประทุษร้ายที่เกิดจากพยาบาท มีจิตไม่พยาบาท ละมิจฉาทิฏฐิ เป็น
สัมมาทิฏฐิ
อริยสาวกนั้นปราศจากความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา ปราศจากพยาบาทอย่างนี้
ไม่หลง มีสัมปชัญญะ มีสติ มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศ
ที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่ว
ทุกหมู่เหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ผู้ใหญ่บ้าน กรรมที่ทำพอประมาณในเมตตา-
เจโตวิมุตติที่บุคคลอบรมแล้วอย่างนี้จะไม่เหลืออยู่ในรูปาวจรและอรูปาวจรเลย
เปรียบเหมือนคนเป่าสังข์ผู้แข็งแรงพึงให้ได้ยินตลอดทิศทั้ง ๔ ได้โดยไม่ยาก
ผู้ใหญ่บ้าน อริยสาวกนั้นปราศจากความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา ปราศจาก
พยาบาทอย่างนี้ ไม่หลง มีสัมปชัญญะ มีสติ มีกรุณาจิต ฯลฯ
มีมุทิตาจิต ฯลฯ
มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่า ในที่ทุกสถาน
ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน
อยู่ ผู้ใหญ่บ้าน กรรมที่ทำพอประมาณในอุเบกขาเจโตวิมุตติที่บุคคลอบรมแล้ว
ทำให้มากแล้วอย่างนี้จะไม่เหลืออยู่ในรูปาวจรและอรูปาวจรเลย เปรียบเหมือนคน
เป่าสังข์ผู้แข็งแรงพึงให้ได้ยินตลอดทิศทั้ง ๔ ได้โดยไม่ยาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๙. กุลสูตร
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ผู้ใหญ่บ้านชื่ออสิพันธกบุตร สาวกของ
นิครนถ์ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ฯลฯ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
สังขธมสูตรที่ ๘ จบ

๙. กุลสูตร
ว่าด้วยเหตุที่ทำให้ตระกูลคับแค้น
[๓๖๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงเมืองนาฬันทา ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ
ปาวาริกัมพวัน เขตเมืองนาฬันทานั้น
สมัยนั้น เมืองนาฬันทาเกิดข้าวยากหมากแพง ประชาชนมีความเป็นอยู่
แร้นแค้น ใช้สลากปันส่วนซื้ออาหาร ล้มตายกันกระดูกขาวเกลื่อน สมัยนั้น
นิครนถ์ นาฏบุตรอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนาฬันทาพร้อมด้วยนิครนถบริษัทหมู่ใหญ่
ครั้งนั้น ผู้ใหญ่บ้านชื่ออสิพันธกบุตร สาวกของนิครนถ์ เข้าไปหานิครนถ์
นาฏบุตรถึงที่อยู่ ไหว้แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร นิครนถ์ นาฏบุตรได้กล่าวกับผู้ใหญ่บ้าน
ชื่ออสิพันธกบุตรดังนี้ว่า “มาเถิด ผู้ใหญ่บ้าน ท่านจงโต้วาทะกับพระสมณโคดม เมื่อ
เป็นเช่นนี้ กิตติศัพท์อันงามของท่านก็จักฟุ้งขจรไปว่า ‘ผู้ใหญ่บ้านชื่ออสิพันธกบุตร
ได้โต้วาทะกับพระสมณโคดมผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้”
ผู้ใหญ่บ้านถามว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะโต้วาทะกับพระสมณโคดมผู้มีฤทธิ์
มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้อย่างไร”
นิครนถ์ นาฏบุตรกล่าวว่า “มาเถิดผู้ใหญ่บ้าน ท่านจงเข้าไปหาพระสมณโคดม
ถึงที่อยู่ แล้วกล่าวว่า ‘ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคย่อมทรงสรรเสริญความเอ็นดู
ทรงสรรเสริญความรักษา ทรงสรรเสริญความอนุเคราะห์แก่ตระกูลทั้งหลายโดย
ประการเป็นอันมากมิใช่หรือ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๙. กุลสูตร
ถ้าพระสมณโคดมถูกท่านถามอย่างนี้แล้วตอบว่า ‘ถูกละผู้ใหญ่บ้าน ตถาคต
ย่อมสรรเสริญความเอ็นดู สรรเสริญความรักษา สรรเสริญความอนุเคราะห์แก่
ตระกูลทั้งหลายโดยประการเป็นอันมาก’ ท่านพึงกล่าวว่า ‘ท่านผู้เจริญ เมื่อเป็น
เช่นนั้น ทำไม พระผู้มีพระภาคกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จึงเสด็จจาริกไปในเมืองนาฬันทา
ซึ่งเกิดข้าวยากหมากแพง ประชาชนมีความเป็นอยู่แร้นแค้น ใช้สลากปันส่วนซื้อ
อาหาร ล้มตายกันกระดูกขาวเกลื่อนเล่า พระผู้มีพระภาคทรงปฏิบัติเพื่อตัดรอน
ตระกูล ทรงปฏิบัติเพื่อความเสื่อมแห่งตระกูล ทรงปฏิบัติเพื่อความคับแค้นแห่ง
ตระกูล’ ผู้ใหญ่บ้าน พระสมณโคดมถูกท่านถามปัญหา ๒ เงื่อนนี้แล้ว จะกลืนไม่เข้า
คายไม่ออกทีเดียว”
ผู้ใหญ่บ้านชื่ออสิพันธกบุตรรับคำของนิครนถ์ นาฏบุตร ลุกขึ้นจากอาสนะ ไหว้
แล้ว กระทำประทักษิณ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระ
ผู้มีพระภาคย่อมทรงสรรเสริญความเอ็นดู ทรงสรรเสริญความรักษา ทรงสรรเสริญ
ความอนุเคราะห์แก่ตระกูลทั้งหลายโดยประการเป็นอันมากมิใช่หรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ถูกละผู้ใหญ่บ้าน ตถาคตย่อมสรรเสริญความ
เอ็นดู สรรเสริญความรักษา สรรเสริญความอนุเคราะห์แก่ตระกูลทั้งหลายโดย
ประการเป็นอันมาก”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำไม พระผู้มีพระภาคกับภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่จึงเสด็จจาริกไปในเมืองนาฬันทาซึ่งเกิดข้าวยากหมากแพง ประชาชนมี
ความเป็นอยู่แร้นแค้น ใช้สลากปันส่วนซื้ออาหาร ล้มตายกันกระดูกขาวเกลื่อนเล่า
พระผู้มีพระภาคทรงปฏิบัติเพื่อตัดรอนตระกูล ทรงปฏิบัติเพื่อความเสื่อมแห่งตระกูล
ทรงปฏิบัติเพื่อความคับแค้นแห่งตระกูล”
“ผู้ใหญ่บ้าน นับแต่กัป๑นี้ไป ๙๑ กัปที่เราระลึกได้ว่า เราไม่รู้ว่าเคยเบียดเบียน
ตระกูลไหน ๆ ด้วยการถือเอาภิกษาที่หุงต้มแล้ว ที่แท้ตระกูลทั้งหลายที่มั่งคั่ง มี

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๙. กุลสูตร
ทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเงินมีทองมาก มีเครื่องประดับมาก มีทรัพย์และข้าว
เปลือกมาก ทั้งหมดนั้นเกิดเพราะการให้ เกิดเพราะความมีสัจจะ และเกิดเพราะ
ความสำรวม
เหตุปัจจัยที่ทำให้ตระกูลคับแค้น ๘ ประการ คือ
๑. ตระกูลคับแค้นจากพระราชา
๒. ตระกูลคับแค้นจากโจร
๓. ตระกูลคับแค้นจากไฟ
๔. ตระกูลคับแค้นจากน้ำ
๕. ทรัพย์ที่ฝังไว้เคลื่อนที่ไป
๖. การงานที่ประกอบไม่ดี ทำให้ตระกูลวิบัติ
๗. ทรัพย์ในตระกูลกลายเป็นถ่านเพลิง
๘. การที่บุคคลใช้จ่ายโภคทรัพย์สุรุ่ยสุร่าย ฟุ่มเฟือย ทำให้ตระกูล
เปลี่ยนแปลงไป
ผู้ใหญ่บ้าน เหตุปัจจัย ๘ ประการนี้ที่ทำให้ตระกูลคับแค้น เมื่อเหตุปัจจัย ๘
ประการนี้มีอยู่ บุคคลใดพึงกล่าวหาเราว่า ‘พระผู้มีพระภาคทรงปฏิบัติเพื่อตัดรอน
ตระกูล ทรงปฏิบัติเพื่อความเสื่อมแห่งตระกูล ทรงปฏิบัติเพื่อความคับแค้นแห่ง
ตระกูล’ บุคคลนั้นไม่ละคำพูด ไม่ละความคิด ไม่สละทิฏฐินั้น ย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ผู้ใหญ่บ้านชื่ออสิพันธกบุตรได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
กุลสูตรที่ ๙ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๐. มณิจูฬกสูตร

๑๐. มณิจูฬกสูตร
ว่าด้วยผู้ใหญ่บ้านชื่อมณิจูฬกะ
[๓๖๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อ
กระแต เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น พวกข้าราชบริพารนั่งประชุมกันในราชบริษัท
ภายในพระราชวัง ได้สนทนากันขึ้นว่า “ทองและเงินสมควรแก่สมณศากยบุตรหรือ
สมณศากยบุตรยินดีทองและเงินได้หรือ รับทองและเงินได้หรือ”
สมัยนั้น ผู้ใหญ่บ้านชื่อมณิจูฬกะนั่งอยู่ในบริษัทนั้นขณะนั้นได้กล่าวกับบริษัท
นั้นดังนี้ว่า “นายอย่าได้กล่าวอย่างนี้ ทองและเงินไม่สมควรแก่สมณศากยบุตร
สมณศากยบุตรไม่ยินดีทองและเงิน ไม่รับทองและเงิน สมณศากยบุตรห้ามแก้ว
มณีและทอง ปราศจากทองและเงิน”
ผู้ใหญ่บ้านชื่อมณิจูฬกะสามารถให้บริษัทนั้นยินยอมได้
ต่อมา ผู้ใหญ่บ้านชื่อมณิจูฬกะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าราชบริพารนั่งประชุมกันในราชบริษัทภายใน
พระราชวังนี้ได้สนทนากันขึ้นว่า ‘ทองและเงินควรแก่สมณศากยบุตรหรือ สมณ-
ศากยบุตรยินดีทองและเงินได้หรือ รับทองและเงินได้หรือ’ เมื่อบริษัทนั้นกล่าว
อย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกับบริษัทนั้นดังนี้ว่า ‘นายอย่าได้กล่าวอย่างนี้
ทองและเงินไม่สมควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรไม่ยินดีทองและเงิน ไม่
รับทองและเงิน สมณศากยบุตรห้ามแก้วมณีและทอง ปราศจากทองและเงิน’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์สามารถให้บริษัทนั้นยินยอมได้ ข้าพระ
องค์เมื่อตอบอย่างนี้ ชื่อว่าพูดตรงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่
พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จหรือ ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผลหรือ ไม่มีบ้าง
หรือที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำที่กล่าวต่อ ๆ กันมาจะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ผู้ใหญ่บ้าน เมื่อท่านตอบอย่างนี้ ชื่อว่า
พูดตรงตามคำที่เราพูดไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ ชื่อว่ากล่าวแก้อย่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๑. คันธภกสูตร
สมเหตุสมผล ไม่มีที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำที่กล่าวต่อ ๆ กันมาจะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้
เพราะว่าทองและเงินไม่สมควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรไม่ยินดีทองและเงิน
ไม่รับทองและเงิน สมณศากยบุตรห้ามแก้วมณีและทอง ปราศจากทองและเงิน
ผู้ใหญ่บ้าน ทองและเงินควรแก่ผู้ใด กามคุณ ๕ ก็ควรแก่ผู้นั้น กามคุณ ๕
ควรแก่ผู้ใด (ทองและเงินก็ควรแก่ผู้นั้น) ผู้ใหญ่บ้าน เราให้เข้าใจเรื่องนี้โดยส่วน
เดียวว่า ‘ไม่ใช่ธรรมของสมณะ ไม่ใช่ธรรมของศากยบุตร’
อนึ่ง เรากล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผู้ต้องการหญ้าพึงแสวงหาหญ้า ผู้ต้องการไม้พึง
แสวงหาไม้ ผู้ต้องการเกวียนพึงแสวงหาเกวียน ผู้ต้องการบุรุษพึงแสวงหาบุรุษ’
แต่เราไม่กล่าวเลยว่า ‘พึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยประการใด ๆ”
มณิจูฬกสูตรที่ ๑๐ จบ

๑๑. คันธภกสูตร
ว่าด้วยผู้ใหญ่บ้านชื่อคันธภกะ
[๓๖๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อุรุเวลกัปปนิคมของชาว
มัลละ แคว้นมัลละ ครั้งนั้น ผู้ใหญ่บ้านชื่อคันธภกะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรง
แสดงเหตุเกิดและความดับทุกข์แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“ผู้ใหญ่บ้าน เราพึงปรารภอดีตกาล แสดงเหตุเกิดทุกข์และความดับทุกข์แก่
ท่านว่า ‘อดีตกาลได้มีแล้วอย่างนี้’ ความสงสัยความเคลือบแคลงในเรื่องนั้นพึงมี
แก่ท่าน
ถ้าเราพึงปรารภอนาคตกาล แสดงเหตุเกิดทุกข์และความดับทุกข์แก่ท่านว่า
‘อนาคตกาลจักมีอย่างนี้’ ความเคลือบแคลงความสงสัยในเรื่องนั้นพึงมีแก่ท่าน
อนึ่ง เรานั่งอยู่ในที่นี้แล จักแสดงเหตุเกิดและความดับทุกข์แก่ท่านผู้นั่งอยู่ใน
ที่นี้เหมือนกัน ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๑. คันธภกสูตร
ผู้ใหญ่บ้านชื่อคันธภกะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
ดังนี้ว่า
“ผู้ใหญ่บ้าน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร มีอยู่ไหม ที่โสกะ (ความ
เศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ)
และอุปายาส (ความคับแค้นใจ) พึงเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวล-
กัปปนิคมถูกประหาร จองจำ ปรับไหม หรือถูกตำหนิโทษ”
“มีอยู่ พระพุทธเจ้าข้า ที่โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
พึงเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ เพราะหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมถูกประหาร จองจำ
ปรับไหม หรือถูกตำหนิโทษ”
“ผู้ใหญ่บ้าน อนึ่ง มีอยู่ไหม ที่โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
ไม่พึงเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมถูกประหาร จองจำ ปรับ
ไหม หรือถูกตำหนิโทษ”
“มีอยู่ พระพุทธเจ้าข้า ที่โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสไม่พึง
เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ เพราะหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมถูกประหาร จองจำ
ปรับไหม หรือถูกตำหนิโทษ”
“ผู้ใหญ่บ้าน อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ
อุปายาสพึงเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมบางพวกถูกประหาร
จองจำ ปรับไหม หรือถูกตำหนิโทษ
อนึ่ง อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
ไม่พึงเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมบางพวกถูกประหาร
จองจำ ปรับไหม หรือถูกตำหนิโทษ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสพึง
เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ เพราะหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมเหล่าใดถูกประหาร
จองจำ ปรับไหม หรือถูกตำหนิโทษ ก็เพราะข้าพระองค์มีฉันทราคะในหมู่มนุษย์
ชาวอุรุเวลกัปปนิคมเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๑. คันธภกสูตร
แต่โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสไม่พึงเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์
เพราะหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมเหล่าใดถูกประหาร จองจำ ปรับไหม หรือ
ถูกตำหนิโทษ ก็เพราะข้าพระองค์ไม่มีฉันทราคะในหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคม
เหล่านั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ผู้ใหญ่บ้าน ท่านจงนำนัยไปในทุกข์ที่เป็นอดีตและอนาคตด้วยธรรมนี้ที่ท่าน
เห็น ทราบ บรรลุโดยไม่ประกอบด้วยกาล หยั่งลงแล้ว
ทุกข์ที่เป็นอดีตอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมด
มีฉันทะเป็นรากเหง้า มีฉันทะเป็นเหตุ เพราะฉันทะเป็นรากเหง้าแห่งทุกข์
แม้ทุกข์ที่เป็นอนาคตอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อจะเกิด จักเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้ง
หมดมีฉันทะเป็นรากเหง้า มีฉันทะเป็นเหตุ เพราะฉันทะเป็นรากเหง้าแห่งทุกข์”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ เท่าที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสไว้ดีว่า ‘ทุกข์ที่เป็นอดีตอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์นั้น
ทั้งหมดมีฉันทะเป็นรากเหง้า มีฉันทะเป็นเหตุ เพราะฉันทะเป็นรากเหง้าแห่งทุกข์
(ทุกข์ที่เป็นอนาคตอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อจะเกิด จักเกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหมดนั้นมี
ฉันทะเป็นรากเหง้า มีฉันทะเป็นเหตุ เพราะฉันทะเป็นรากเหง้าแห่งทุกข์)’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มีกุมารชื่อจิรวาสี อาศัยอยู่ภายนอกที่พัก
ข้าพระองค์ตื่นแต่เช้าตรู่ ย่อมส่งบุรุษไปด้วยสั่งว่า ‘ไปเถิดนาย เจ้าจงรู้จิรวาสีกุมาร’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตราบใดที่บุรุษนั้นยังไม่มา ตราบนั้นความกระวน-
กระวายใจย่อมมีแก่ข้าพระองค์ว่า ‘ภัยใด ๆ อย่าได้เบียดเบียนจิรวาสีกุมารเลย”
“ผู้ใหญ่บ้าน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาส พึงเกิดขึ้นเพราะจิรวาสีกุมารถูกประหาร จองจำ ปรับไหม หรือถูก
ตำหนิโทษหรือ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้เมื่อจิรวาสีกุมารยังมีชีวิตอยู่ ความกระวนกระวาย
ใจยังมีแก่ข้าพระองค์ ก็ทำไม โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจักไม่
เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ เพราะจิรวาสีกุมารถูกประหาร จองจำ ปรับไหม หรือถูก
ตำหนิโทษเล่า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๒. ราสิยสูตร
“ผู้ใหญ่บ้าน ท่านพึงทราบเนื้อความนั้นโดยเหตุนี้ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง
เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดมีฉันทะเป็นรากเหง้า มีฉันทะเป็นเหตุ
เพราะฉันทะเป็นรากเหง้าแห่งทุกข์
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เมื่อใดท่านไม่ได้เห็นมารดาของจิรวาสีกุมาร
ไม่ได้ฟังเสียง เมื่อนั้นท่านยังมีฉันทราคะหรือความรักในมารดาของจิรวาสีกุมารหรือ”
“ไม่มี พระพุทธเจ้าข้า”
“ผู้ใหญ่บ้าน เพราะอาศัยการเห็นหรือการฟัง ท่านจึงได้มีฉันทราคะหรือ
ความรักในมารดาของจิรวาสีกุมารหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ผู้ใหญ่บ้าน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาสพึงเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะมารดาของจิรวาสีกุมารถูกประหาร จองจำ
ปรับไหม หรือถูกตำหนิโทษหรือ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้เมื่อมารดาของจิรวาสีกุมารยังมีชีวิตอยู่ ความ
กระวนกระวายยังมีแก่ข้าพระองค์ ก็ทำไม โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ
อุปายาสจักไม่เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ เพราะมารดาของจิรวาสีกุมารถูกประหาร
จองจำ ปรับไหม หรือถูกตำหนิโทษเล่า”
“ผู้ใหญ่บ้าน ท่านพึงทราบความข้อนั้นโดยเหตุนี้ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง
เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดมีฉันทะเป็นรากเหง้า มีฉันทะเป็นเหตุ
เพราะฉันทะเป็นรากเหง้าแห่งทุกข์”
คันธภกสูตรที่ ๑๑ จบ

๑๒. ราสิยสูตร
ว่าด้วยผู้ใหญ่บ้านชื่อราสิยะ
[๓๖๔] ครั้งนั้น ผู้ใหญ่บ้านชื่อราสิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาท แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๒. ราสิยสูตร
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินมาว่า ‘พระสมณโคดมทรงตำหนิ
ตบะทุกชนิด ทรงชี้โทษและคัดค้านผู้บำเพ็ญตบะทั้งปวงว่าเป็นอยู่เศร้าหมองโดย
ส่วนเดียว’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมณพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมทรง
ตำหนิตบะทุกชนิด ทรงชี้โทษและคัดค้านผู้บำเพ็ญตบะทั้งปวงว่า เป็นอยู่เศร้าหมอง
โดยส่วนเดียว’ ชื่อว่าพูดตรงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระ
ผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จหรือ ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผลหรือ ไม่มีบ้างหรือที่
คำกล่าวเช่นนั้นและคำที่กล่าวต่อ ๆ กันมาจะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ผู้ใหญ่บ้าน สมณพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า
‘พระสมณโคดมทรงตำหนิตบะทุกชนิด ทรงชี้โทษและคัดค้านผู้บำเพ็ญตบะทั้งปวงว่า
เป็นอยู่เศร้าหมองโดยส่วนเดียว’ ไม่ชื่อว่าพูดตรงตามคำที่เราพูดไว้ และชื่อว่า
กล่าวตู่เราด้วยคำเปล่าคำเท็จ
บรรพชิตไม่พึงเสพที่สุด ๒ อย่าง
ผู้ใหญ่บ้าน ที่สุด ๒ อย่างนี้บรรพชิตไม่พึงเสพ คือ
๑. กามสุขัลลิกานุโยค (การหมกมุ่นอยู่ด้วยสุขในกามทั้งหลาย) เป็นธรรมอัน
ทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่
ประกอบด้วยประโยชน์
๒. อัตตกิลมถานุโยค (การประกอบความลำบากเดือดร้อนแก่ตน) เป็นทุกข์
ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
มัชฌิมาปฏิปทาไม่เอียงเข้าใกล้ที่สุด ๒ อย่างนั้นตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว อันเป็น
ปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ๑ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อ
ความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๒. ราสิยสูตร
มัชฌิมาปฏิปทาที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว อันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อ
ให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
นั้นเป็นอย่างไร
มัชฌิมาปฏิปทานั้น คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้คือมัชฌิมาปฏิปทานั้นที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว อันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ
ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อ
นิพพาน
กามโภคีบุคคล ๓ จำพวก
ผู้ใหญ่บ้าน กามโภคีบุคคล๑ ๓ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
กามโภคีบุคคล ๓ จำพวก ไหนบ้าง คือ
๑. กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรมด้วย
การงานที่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว ไม่เลี้ยงตนให้อิ่มหนำ และไม่แจกจ่าย
ไม่ทำบุญ
กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรมด้วย
การงานที่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ แต่ไม่
แจกจ่าย ไม่ทำบุญ
กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรมด้วย
การงานที่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ และแจกจ่าย
ทำบุญ
๒. กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมและไม่ชอบ
ธรรมด้วยการงานที่ผิดบ้าง ไม่ผิดบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว ไม่เลี้ยงตน
ให้อิ่มหนำสำราญ และไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๒. ราสิยสูตร
กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมและ
ไม่ชอบธรรมด้วยการงานที่ผิดบ้าง ไม่ผิดบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว
เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ แต่ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ
กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมและ
ไม่ชอบธรรมด้วยการงานที่ผิดบ้าง ไม่ผิดบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว
เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ และแจกจ่าย ทำบุญ
๓. กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมด้วยการงาน
ที่ไม่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว ไม่เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ และไม่แจกจ่าย
ไม่ทำบุญ
กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม
ด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ
แต่ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ
กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม
ด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ
และแจกจ่าย ทำบุญ แต่เป็นผู้มัวเมา หมกมุ่น จดจ่อ ไม่เห็นโทษ ไม่มี
ปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้น
กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม
ด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ และ
แจกจ่าย ทำบุญ ทั้งเป็นผู้ไม่มัวเมา ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อ เห็นโทษ มี
ปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้น
กามโภคีบุคคลที่ควรติเตียนและสรรเสริญ
ผู้ใหญ่บ้าน ในบรรดากามโภคีบุคคล ๓ จำพวกนั้น กามโภคีบุคคลที่แสวงหา
โภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรมด้วยการงานที่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว ไม่เลี้ยงตนให้
อิ่มหนำสำราญ ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญนี้ควรติเตียนโดย ๓ สถาน
ควรติเตียนโดย ๓ สถาน อะไรบ้าง คือ
๑. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม
ด้วยการงานที่ผิด’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๒. ราสิยสูตร
๒. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘ไม่เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ’
๓. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๓ นี้ว่า ‘ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ’
กามโภคีบุคคลนี้ควรติเตียนโดย ๓ สถานนี้ (๑)
กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรมด้วยการงานที่ผิด ครั้น
แสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ แต่ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญนี้ควรติเตียน
โดย ๒ สถาน ควรสรรเสริญโดยสถานเดียว คือ
ควรติเตียนโดย ๒ สถาน อะไรบ้าง คือ
๑. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม
ด้วยการงานที่ผิด’
๒. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ’
ควรสรรเสริญโดยสถานเดียว คืออะไร
คือ ควรสรรเสริญโดยสถานเดียวนี้ว่า ‘เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ’
กามโภคีบุคคลนี้ควรติเตียนโดย ๒ สถานนี้ ควรสรรเสริญโดยสถานเดียว
นี้ (๒)
กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรมด้วยการงานที่ผิด ครั้น
แสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ และแจกจ่าย ทำบุญนี้ควรติเตียนโดย
สถานเดียว ควรสรรเสริญโดย ๒ สถาน คือ
ควรติเตียนโดยสถานเดียว คืออะไร
คือ ควรติเตียนโดยสถานเดียวนี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรมด้วย
การงานที่ผิด’
ควรสรรเสริญโดย ๒ สถาน อะไรบ้าง คือ
๑. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ’
๒. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘แจกจ่าย และทำบุญ’
กามโภคีบุคคลนี้ควรติเตียนโดยสถานเดียวนี้ ควรสรรเสริญโดย ๒ สถาน
นี้ (๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๒. ราสิยสูตร
กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมและไม่ชอบธรรมด้วยการงาน
ที่ผิดบ้าง ไม่ผิดบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว ไม่เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ ไม่แจกจ่าย
ไม่ทำบุญนี้ควรสรรเสริญโดยสถานเดียว ควรติเตียนโดย ๓ สถาน คือ
ควรสรรเสริญโดยสถานเดียว คืออะไร
คือ ควรสรรเสริญโดยสถานเดียวนี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมด้วย
การงานที่ไม่ผิด’
ควรติเตียนโดย ๓ สถาน อะไรบ้าง คือ
๑. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม
ด้วยการงานที่ผิด’
๒. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘ไม่เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ’
๓. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๓ นี้ว่า ‘ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ’
กามโภคีบุคคลนี้ควรสรรเสริญโดยสถานเดียวนี้ ควรติเตียนโดย ๓ สถานนี้ (๔)
กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมและไม่ชอบธรรมด้วยการงาน
ที่ผิดบ้าง ไม่ผิดบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ แต่ไม่แจกจ่าย
ไม่ทำบุญนี้ควรสรรเสริญโดย ๒ สถาน ควรติเตียนโดย ๒ สถาน คือ
ควรสรรเสริญโดย ๒ สถาน อะไรบ้าง คือ
๑. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม
ด้วยการงานที่ไม่ผิด’
๒. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ’
ควรติเตียนโดย ๒ สถาน อะไรบ้าง คือ
๑. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม
ด้วยการงานที่ผิด’
๒. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ’
กามโภคีบุคคลนี้ควรสรรเสริญโดย ๒ สถานนี้ ควรติเตียนโดย ๒ สถานนี้ (๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๒. ราสิยสูตร
กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมและไม่ชอบธรรมด้วยการงาน
ที่ผิดบ้าง ไม่ผิดบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ ทั้งแจกจ่าย
และทำบุญ ควรสรรเสริญโดย ๓ สถาน ควรติเตียนโดยสถานเดียว คือ
ควรสรรเสริญโดย ๓ สถาน อะไรบ้าง คือ
๑. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม
ด้วยการงานที่ไม่ผิด’
๒. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ’
๓. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๓ นี้ว่า ‘แจกจ่ายและทำบุญ’
ควรติเตียนโดยสถานเดียว คืออะไร
คือ ควรติเตียนโดยสถานเดียวนี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรมด้วย
การงานที่ผิด’
กามโภคีบุคคลนี้ควรสรรเสริญโดย ๓ สถานนี้ ควรติเตียนโดยสถานเดียวนี้ (๖)
กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้น
แสวงหาได้แล้ว ไม่เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ ควรสรรเสริญ
โดยสถานเดียว ควรติเตียนโดย ๒ สถาน คือ
ควรสรรเสริญโดยสถานเดียว คืออะไร
คือ ควรสรรเสริญโดยสถานเดียวนี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมด้วย
การงานที่ไม่ผิด’
ควรติเตียนโดย ๒ สถาน อะไรบ้าง คือ
๑. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘ไม่เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ’
๒. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ’
กามโภคีบุคคลนี้ควรสรรเสริญโดยสถานเดียวนี้ ควรติเตียนโดย ๒ สถานนี้ (๗)
กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้น
แสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ แต่ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ ควรสรรเสริญ
โดย ๒ สถาน ควรติเตียนโดยสถานเดียว คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๒. ราสิยสูตร
ควรสรรเสริญโดย ๒ สถาน อะไรบ้าง คือ
๑. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม
ด้วยการงานที่ไม่ผิด’
๒. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ’
ควรติเตียนโดยสถานเดียว คืออะไร
คือ ควรติเตียนโดยสถานเดียวนี้ว่า ‘ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ’
กามโภคีบุคคลนี้ควรสรรเสริญโดย ๒ สถานนี้ ควรติเตียนโดยสถานเดียว
นี้ (๘)
กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้น
แสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ แจกจ่าย และทำบุญ แต่เป็นผู้มัวเมา
หมกมุ่น จดจ่อ ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์เหล่า
นั้นอยู่ ควรสรรเสริญโดย ๓ สถาน ควรติเตียนโดยสถานเดียว คือ
ควรสรรเสริญโดย ๓ สถาน อะไรบ้าง คือ
๑. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม
ด้วยการงานที่ไม่ผิด’
๒. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ’
๓. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๓ นี้ว่า ‘แจกจ่าย และทำบุญ’
ควรติเตียนโดยสถานเดียว คืออะไร
คือ ควรติเตียนโดยสถานเดียวนี้ว่า ‘เป็นผู้มัวเมา หมกมุ่น จดจ่อ ไม่เห็นโทษ
ไม่มีปัญญาเครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้นอยู่’
กามโภคีบุคคลนี้ควรสรรเสริญโดย ๓ สถานนี้ ควรติเตียนโดยสถานเดียว
นี้ (๙)
กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้น
แสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ ทั้งแจกจ่ายและทำบุญ แต่ไม่มัวเมา
ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อ เห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้น
อยู่ ควรสรรเสริญโดย ๔ สถาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๒. ราสิยสูตร
ควรสรรเสริญโดย ๔ สถาน อะไรบ้าง คือ
๑. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม
ด้วยการงานที่ไม่ผิด’
๒. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ’
๓. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๓ นี้ว่า ‘แจกจ่ายและทำบุญ’
๔. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๔ นี้ว่า ‘ไม่มัวเมา ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อ
เห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้นอยู่’
กามโภคีบุคคลนี้ควรสรรเสริญโดย ๔ สถานนี้ (๑๐)
ผู้บำเพ็ญตบะเป็นอยู่เศร้าหมอง ๓ จำพวก
ผู้ใหญ่บ้าน บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นอยู่เศร้าหมอง ๓ จำพวกนี้มีปรากฏ
อยู่ในโลก
บุคคลผู้บำเพ็ญตบะเป็นอยู่เศร้าหมอง ๓ จำพวก ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้บำเพ็ญตบะเป็นอยู่เศร้าหมอง มีศรัทธา ออกจาก
เรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘ไฉนหนอเราพึงบรรลุกุศลธรรม ไฉน
หนอเราพึงทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่า
ธรรมของมนุษย์’ เขาทำตนให้เดือดร้อนกระวนกระวาย ไม่บรรลุกุศลธรรม
และไม่ทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่าธรรม
ของมนุษย์ (๑)
๒. อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้บำเพ็ญตบะเป็นอยู่เศร้าหมอง มีศรัทธา ออก
จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘ไฉนหนอเราพึงบรรลุกุศลธรรม
ไฉนหนอเราพึงทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษ
ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์’ เขาทำตนให้เดือดร้อนกระวนกระวาย บรรลุ
กุศลธรรม แต่ไม่ทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษ
ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ (๒)
๓. อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้บำเพ็ญตบะเป็นอยู่เศร้าหมอง มีศรัทธา ออก
จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘ไฉนหนอเราพึงบรรลุกุศลธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๒. ราสิยสูตร
ไฉนหนอเราพึงทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่า
ธรรมของมนุษย์’ เขาทำตนให้เดือดร้อนกระวนกระวาย บรรลุกุศลธรรม
และทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่าธรรม
ของมนุษย์ (๓)
ผู้บำเพ็ญตบะเป็นอยู่เศร้าหมองควรถูกติเตียนและสรรเสริญ
ผู้ใหญ่บ้าน บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนั้น บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นอยู่
เศร้าหมอง ทำตนให้เดือดร้อนกระวนกระวาย ไม่บรรลุกุศลธรรม และไม่ทำให้แจ้ง
ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ควรติเตียนโดย
๓ สถาน
ควรติเตียนโดย ๓ สถาน อะไรบ้าง คือ
๑. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘ทำตนให้เดือดร้อนกระวนกระวาย’
๒. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘ไม่บรรลุกุศลธรรม’
๓. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๓ นี้ว่า ‘ไม่ทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐ
อันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์’
บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นอยู่เศร้าหมองนี้ ควรติเตียนโดย ๓ สถานนี้ (๑)

บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นอยู่เศร้าหมอง ทำตนให้เดือดร้อนกระวนกระวาย
บรรลุกุศลธรรม แต่ไม่ทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่า
ธรรมของมนุษย์ ควรติเตียนโดย ๒ สถาน ควรสรรเสริญโดยสถานเดียว คือ
ควรติเตียนโดย ๒ สถาน อะไรบ้าง คือ
๑. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘ทำตนให้เดือดร้อนกระวนกระวาย’
๒. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘ไม่ทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐ
อันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์’
ควรสรรเสริญโดยสถานเดียว คืออะไร
คือ ควรสรรเสริญโดยสถานเดียวนี้ว่า ‘บรรลุกุศลธรรม’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๒. ราสิยสูตร
บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นอยู่เศร้าหมองนี้ควรติเตียนโดย ๒ สถานนี้ ควร
สรรเสริญโดยสถานเดียวนี้ (๒)
บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นอยู่เศร้าหมอง ทำตนให้เดือดร้อนกระวนกระวาย
บรรลุกุศลธรรม และทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่า
ธรรมของมนุษย์ ควรติเตียนโดยสถานเดียว ควรสรรเสริญโดย ๒ สถาน
ควรติเตียนโดยสถานเดียว คืออะไร
คือ ควรติเตียนโดยสถานเดียวนี้ว่า ‘ทำตนให้เดือดร้อนกระวนกระวาย’
ควรสรรเสริญโดย ๒ สถาน อะไรบ้าง คือ
๑. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘บรรลุกุศลธรรม’
๒. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘ทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐ
อันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์’
บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นอยู่เศร้าหมองนี้ควรติเตียนโดยสถานเดียวนี้ ควร
สรรเสริญโดย ๒ สถานนี้ (๓)
ธรรม ๓ ประการที่ผู้ปฏิบัติพึงเห็นชัดด้วยตนเอง
ผู้ใหญ่บ้าน ธรรม ๓ ประการนี้ที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่คร่ำครึ ไม่
ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้มีราคะย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
เพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง เพราะราคะเป็นเหตุ เมื่อละราคะได้แล้ว
เขาย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง นี้เป็นธรรมที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัด
ด้วยตนเอง ไม่คร่ำครึ ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อม
เข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
๒. บุคคลผู้มีโทสะย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
เพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง เพราะโทสะเป็นเหตุ เมื่อละโทสะได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๓. ปาฏลิยสูตร
เขาย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง นี้เป็นธรรมที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัด
ด้วยตนเอง ไม่คร่ำครึ ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อม
เข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
๓. บุคคลผู้มีโมหะย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
เพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง เพราะโมหะเป็นเหตุ เมื่อละโมหะได้แล้ว
เขาย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง นี้เป็นธรรมที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัด
ด้วยตนเอง ไม่คร่ำครึ ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อม
เข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
ธรรม ๓ ประการนี้ที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่คร่ำครึ ไม่ประกอบ
ด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ผู้ใหญ่บ้านชื่อราสิยะได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ฯลฯ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ราสิยสูตรที่ ๑๒ จบ

๑๓. ปาฏลิยสูตร
ว่าด้วยผู้ใหญ่บ้านชื่อปาฏลิยะ
[๓๖๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่นิคมของชาวโกฬิยะชื่ออุตตระ
ในแคว้นโกฬิยะ ครั้งนั้น ผู้ใหญ่บ้านชื่อปาฏลิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินมาว่า ‘พระสมณโคดมทรงรู้จักมารยา’
สมณพราหมณ์ที่กล่าวว่า ‘พระสมณโคดมทรงรู้จักมารยา’ ชื่อว่าพูดตรงตามที่
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จหรือ ชื่อว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๓. ปาฏลิยสูตร
กล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผลหรือ ไม่มีบ้างหรือที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำที่กล่าวต่อ ๆ
กันมาจะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้ เพราะพวกข้าพระองค์ไม่ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มี
พระภาคเลย”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ผู้ใหญ่บ้าน สมณพราหมณ์ที่กล่าวว่า ‘พระ
สมณโคดมทรงรู้จักมารยา’ ชื่อว่าพูดตรงตามคำที่เราพูดไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วย
คำเท็จ ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผล ไม่มีที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำที่กล่าวต่อ ๆ
กันมาจะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข่าวที่ได้ยินมาจริงทีเดียว ข้าพระองค์ไม่เชื่อสมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นว่า ‘พระสมณโคดมทรงรู้จักมารยา’ แต่ได้ยินว่า ‘พระสมณโคดม
ทรงมีมารยา”
“ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใดกล่าวว่า ‘เรารู้จักมารยา’ ผู้นั้นก็เท่ากับกล่าวว่า ‘เรามี
มารยา”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นเป็นอย่างนั้นทีเดียว ข้าแต่พระสุคต ข้อนั้น
เป็นอย่างนั้นทีเดียว”
“ผู้ใหญ่บ้าน ถ้าเช่นนั้น เราจักย้อนถามท่านในเรื่องนี้ท่านพึงตอบตามสมควร
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ท่านรู้จักพวกทหารผมยาวชาวโกฬิยะหรือ”
“ข้าพระองค์รู้จักพวกทหารผมยาวชาวโกฬิยะ พระพุทธเจ้าข้า”
“ผู้ใหญ่บ้าน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร พวกทหารผมยาวชาวโกฬิยะ
มีไว้เพื่อประโยชน์อะไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกทหารผมยาวชาวโกฬิยะมีไว้เพื่อประโยชน์ คือ
เพื่อป้องกันพวกโจรชาวโกฬิยะและเพื่อการทำหน้าที่เป็นตัวแทนของชาวโกฬิยะ”
“ผู้ใหญ่บ้าน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ท่านรู้จักพวกทหารผมยาวใน
นิคมของชาวโกฬิยะว่ามีศีลหรือทุศีล”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้จักพวกทหารผมยาวชาวโกฬิยะว่า ทุศีล
มีธรรมเลวทราม และพวกทหารผมยาวชาวโกฬิยะเป็นพวกหนึ่งในบรรดาผู้ทุศีล
มีธรรมเลวทรามในโลก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๓. ปาฏลิยสูตร
“ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใดพึงกล่าวว่า ‘ผู้ใหญ่บ้านชื่อปาฏลิยะรู้จักพวกทหารผมยาว
ชาวโกฬิยะว่าทุศีล มีธรรมเลวทราม แม้ผู้ใหญ่บ้านชื่อปาฏลิยะก็ทุศีล มีธรรมเลว
ทราม’ ผู้นั้นเมื่อกล่าว ชื่อว่ากล่าวถูกหรือ”
“กล่าวไม่ถูก พระพุทธเจ้าข้า พวกทหารผมยาวชาวโกฬิยะเป็นพวกหนึ่ง
ข้าพระองค์ก็เป็นอีกพวกหนึ่ง พวกทหารผมยาวชาวโกฬิยะ มีธรรมอย่างหนึ่ง ข้า
พระองค์ก็มีธรรมอีกอย่างหนึ่ง”
“ผู้ใหญ่บ้าน ที่จริงท่านเองจักกล่าวไม่ได้ว่า ‘ผู้ใหญ่บ้านชื่อปาฏลิยะรู้จักพวก
ทหารผมยาวชาวโกฬิยะว่าทุศีล มีธรรมเลวทราม แต่ผู้ใหญ่บ้านชื่อปาฏลิยะไม่ใช่ผู้
ทุศีล มีธรรมเลวทราม’ เพราะฉะนั้นตถาคตก็จักกล่าวไม่ได้ว่า ‘ตถาคตรู้จักมารยา
แต่ตถาคตไม่ใช่ผู้มีมารยา’
เรารู้ชัดมารยา ผลของมารยา และข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุให้บุคคลผู้มีมารยา
หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เรารู้ชัดการฆ่าสัตว์ ผลของการฆ่าสัตว์ และข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุให้บุคคลผู้ฆ่า
สัตว์หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เรารู้ชัดการลักทรัพย์ ผลของการลักทรัพย์ และข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุให้บุคคล
ผู้ลักทรัพย์หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เรารู้ชัดการประพฤติผิดในกาม ผลของการประพฤติผิดในกาม และข้อ
ปฏิบัติที่เป็นเหตุให้บุคคลผู้ประพฤติผิดในกามหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ
วินิบาต นรก
เรารู้ชัดการพูดเท็จ ผลของการพูดเท็จ และข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุให้บุคคลผู้
พูดเท็จหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เรารู้ชัดการพูดคำส่อเสียด ผลของการพูดคำส่อเสียด และข้อปฏิบัติที่เป็น
เหตุให้บุคคลผู้พูดคำส่อเสียดหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เรารู้ชัดการพูดคำหยาบ ผลของการพูดคำหยาบ และข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุให้
บุคคลผู้พูดคำหยาบหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๓. ปาฏลิยสูตร
เรารู้ชัดการพูดเพ้อเจ้อ ผลของการพูดเพ้อเจ้อ และข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุให้บุคคล
ผู้พูดเพ้อเจ้อหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เรารู้ชัดความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา ผลของความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา
และข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุให้บุคคลผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิด
ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เรารู้ชัดความประทุษร้ายที่เกิดจากพยาบาท ผลของความประทุษร้ายที่เกิด
จากพยาบาท และข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุให้บุคคลผู้มีจิตพยาบาทหลังจากตายแล้วจะ
ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เรารู้ชัดมิจฉาทิฏฐิ ผลของมิจฉาทิฏฐิ และข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุให้บุคคลผู้เป็น
มิจฉาทิฏฐิหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
สมณพราหมณ์ผู้พูดเท็จ
ผู้ใหญ่บ้าน มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ผู้
ฆ่าสัตว์ทั้งหมดย่อมเสวยทุกข์โทมนัสในปัจจุบัน ผู้ลักทรัพย์ทั้งหมดย่อมเสวยทุกข์
โทมนัสในปัจจุบัน ผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหมดย่อมเสวยทุกข์โทมนัสในปัจจุบัน ผู้
พูดเท็จทั้งหมดย่อมเสวยทุกข์โทมนัสในปัจจุบัน
แต่ปรากฏว่า คนบางคนในโลกนี้คล้องพวงมาลัย ใส่ตุ้มหู อาบน้ำอย่างดี
ลูบไล้อย่างดี แต่งผมและหนวด บำเรอตนด้วยกามกับสตรี อย่างพระราชา คน
ทั้งหลายพูดถึงผู้นั้นว่า ‘ท่านผู้เจริญ บุรุษนี้ได้ทำอะไร จึงคล้องพวงมาลัย ใส่ตุ้มหู
อาบน้ำอย่างดี ลูบไล้อย่างดี แต่งผมและหนวด บำเรอตนด้วยกามกับสตรี อย่าง
พระราชา’
คนทั้งหลายพูดถึงผู้นั้นอีกว่า ‘ท่านผู้เจริญ บุรุษนี้ข่มข้าศึกของพระราชาแล้ว
ปลิดชีพมันเสีย พระราชาทรงพอพระทัยได้พระราชทานรางวัลแก่เขา ด้วยเหตุนั้น
บุรุษนี้จึงคล้องพวงมาลัย ใส่ตุ้มหู อาบน้ำอย่างดี ลูบไล้อย่างดี แต่งผมและหนวด
บำเรอตนด้วยกามกับสตรี อย่างพระราชา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๓. ปาฏลิยสูตร
ปรากฏว่า คนบางคนในโลกนี้ถูกมัดแขนไพล่หลังอย่างมั่นคงด้วยเชือกที่เหนียว
แล้ว โกนศีรษะ แห่ประจานไปตามถนน ตามตรอก ด้วยบัณเฑาะว์เสียงดังสนั่น
ออกทางประตูด้านทิศใต้ แล้วตัดศีรษะด้านทิศใต้ของเมือง คนทั้งหลายพูดถึง
ผู้นั้นว่า ‘ท่านผู้เจริญ บุรุษนี้ได้ทำอะไรจึงถูกมัดแขนไพล่หลังอย่างมั่นคงด้วยเชือก
ที่เหนียวแล้ว โกนศีรษะ แห่ประจานไปตามถนน ตามตรอก ด้วยบัณเฑาะว์เสียง
ดังสนั่น ออกทางประตูด้านทิศใต้ แล้วตัดศีรษะด้านทิศใต้ของเมือง’
คนทั้งหลายพูดถึงผู้นั้นอีกว่า ‘ท่านผู้เจริญ บุรุษนี้เป็นศัตรูของพระราชา ได้
ปลิดชีพสตรีหรือบุรุษ ด้วยเหตุนั้นพระราชาทั้งหลายจึงรับสั่งให้จับเขาแล้วลงโทษ
เช่นนี้’
ผู้ใหญ่บ้าน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เรื่องเช่นนี้ท่านได้เห็นหรือได้ยิน
มาบ้างไหม”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้เห็น ได้ยิน ทั้งจักได้ยินต่อไป
พระพุทธเจ้าข้า”
“ผู้ใหญ่บ้าน บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้
มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ผู้ฆ่าสัตว์ทั้งหมดย่อมเสวยทุกข์โทมนัสในปัจจุบัน’ พูดจริงหรือ
พูดเท็จ”
“พูดเท็จ พระพุทธเจ้าข้า”
“สมณพราหมณ์พวกที่พูดปดมดเท็จ มีศีลหรือทุศีล”
“ทุศีล พระพุทธเจ้าข้า”
“สมณพราหมณ์พวกที่ทุศีล มีธรรมเลวทราม ปฏิบัติผิด หรือปฏิบัติถูก”
“ปฏิบัติผิด พระพุทธเจ้าข้า”
“สมณพราหมณ์พวกที่ปฏิบัติผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือเป็นสัมมาทิฏฐิ”
“เป็นมิจฉาทิฏฐิ พระพุทธเจ้าข้า”
“ควรหรือที่จะเลื่อมใสในสมณพราหมณ์ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิเหล่านั้น”
“ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” (๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๓. ปาฏลิยสูตร
“ผู้ใหญ่บ้าน แต่ปรากฏว่า คนบางคนในโลกนี้คล้องพวงมาลัย ใส่ตุ้มหู ฯลฯ
บำเรอตนด้วยกามกับสตรี อย่างพระราชา คนทั้งหลายพูดถึงผู้นั้นว่า ‘ท่านผู้เจริญ
บุรุษนี้ได้ทำอะไร จึงคล้องพวงมาลัย ใส่ตุ้มหู ฯลฯ บำเรอตนด้วยกามกับสตรี
อย่างพระราชา’ คนทั้งหลายพูดถึงผู้นั้นอีกว่า ‘ท่านผู้เจริญ บุรุษนี้ได้ข่มขู่ยึดเอา
รัตนะของข้าศึกของพระราชามาได้ พระราชาทรงพอพระทัยได้พระราชทานรางวัล
แก่เขา ด้วยเหตุนั้นบุรุษนี้จึงคล้องพวงมาลัย ใส่ตุ้มหู ฯลฯ บำเรอตนด้วยกาม
กับสตรี อย่างพระราชา’
แต่ปรากฏว่า คนบางคนในโลกนี้ถูกมัดแขนไพล่หลังอย่างมั่นคงด้วยเชือกที่เหนียว
ฯลฯ แล้วตัดศีรษะด้านทิศใต้ของเมือง คนทั้งหลายพูดถึงผู้นั้นว่า ‘ท่านผู้เจริญ
บุรุษนี้ได้ทำอะไรจึงถูกมัดแขนไพล่หลังอย่างมั่นคงด้วยเชือกที่เหนียว ฯลฯ แล้วตัด
ศีรษะด้านทิศใต้ของเมือง’ คนทั้งหลายพูดถึงผู้นั้นอีกว่า ‘ท่านผู้เจริญ บุรุษผู้นี้ลัก
ทรัพย์จากบ้านบ้าง จากป่าบ้าง เพราะเหตุนั้นพระราชาทั้งหลายจึงรับสั่งให้จับเขา
แล้วลงโทษเช่นนี้’
ผู้ใหญ่บ้าน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เรื่องเช่นนี้ท่านได้เห็นหรือได้
ยินมาบ้างไหม”
“ข้าพระองค์ได้เห็น ได้ยิน ทั้งจักได้ยินต่อไป พระพุทธเจ้าข้า”
“ผู้ใหญ่บ้าน บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้
มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ผู้ลักทรัพย์ทั้งหมดย่อมเสวยทุกข์โทมนัสในปัจจุบัน’ พูดจริงหรือ
พูดเท็จ” ฯลฯ
“ควรหรือที่จะเลื่อมใสในสมณพราหมณ์ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิเหล่านั้น”
“ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” (๒)
“ผู้ใหญ่บ้าน แต่ปรากฏว่า คนบางคนในโลกนี้คล้องพวงมาลัย ใส่ตุ้มหู ฯลฯ
บำเรอตนด้วยกามกับสตรี อย่างพระราชา คนทั้งหลายพูดถึงผู้นั้นว่า ‘ท่านผู้เจริญ
บุรุษนี้ได้ทำอะไร จึงคล้องพวงมาลัย ใส่ตุ้มหู ฯลฯ บำเรอตนด้วยกามกับสตรี
อย่างพระราชา’ คนทั้งหลายพูดถึงผู้นั้นอีกว่า ‘ท่านผู้เจริญ บุรุษนี้ประพฤติผิดใน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๓. ปาฏลิยสูตร
ภรรยาของข้าศึกของพระราชา พระราชาทรงพอพระทัย ได้พระราชทานรางวัลแก่
เขา ด้วยเหตุนั้นบุรุษนี้จึงคล้องพวงมาลัย ใส่ตุ้มหู ฯลฯ บำเรอตนด้วยกามกับสตรี
อย่างพระราชา’
ปรากฏว่า คนบางคนในโลกนี้ถูกมัดแขนไพล่หลังอย่างมั่นคงด้วยเชือกที่เหนียว
ฯลฯ แล้วตัดศีรษะด้านทิศใต้ของเมือง คนทั้งหลายพูดถึงผู้นั้นว่า ‘ท่านผู้เจริญ
บุรุษนี้ได้ทำอะไรจึงถูกมัดแขนไพล่หลังอย่างมั่นคงด้วยเชือกที่เหนียว ฯลฯ แล้วตัด
ศีรษะด้านทิศใต้ของเมือง’ คนทั้งหลายพูดถึงผู้นั้นอีกว่า ‘ท่านผู้เจริญ บุรุษนี้ได้
ประพฤติผิดในเหล่ากุลสตรี ในเหล่ากุลกุมารี ด้วยเหตุนั้นพระราชาทั้งหลายจึง
รับสั่งให้จับเขาแล้วลงโทษเช่นนี้’
ผู้ใหญ่บ้าน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เรื่องเช่นนี้ท่านได้เห็นหรือได้
ยินมาบ้างไหม”
“ข้าพระองค์ได้เห็น ได้ยิน ทั้งจักได้ยินต่อไป พระพุทธเจ้าข้า”
“ผู้ใหญ่บ้าน บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้
มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหมดย่อมเสวยทุกข์โทมนัสในปัจจุบัน’
พูดจริงหรือพูดเท็จ” ฯลฯ
“ควรหรือที่จะเลื่อมใสในสมณพราหมณ์ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิเหล่านั้น”
“ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” (๓)
“ผู้ใหญ่บ้าน แต่ปรากฏว่า คนบางคนในโลกนี้คล้องพวงมาลัย ใส่ตุ้มหู
อาบน้ำอย่างดี ลูบไล้อย่างดี แต่งผมและหนวด บำเรอตนด้วยกามกับสตรี อย่าง
พระราชา คนทั้งหลายพูดถึงผู้นั้นว่า ‘ท่านผู้เจริญ บุรุษนี้ได้ทำอะไร จึงคล้องพวง
มาลัย ใส่ตุ้มหู อาบน้ำอย่างดี ลูบไล้อย่างดี แต่งผมและหนวด บำเรอตนด้วย
กามกับสตรี อย่างพระราชา’ คนทั้งหลายพูดถึงผู้นั้นอีกว่า ‘ท่านผู้เจริญ บุรุษนี้ทำ
ให้พระราชาทรงพระสรวลด้วยการพูดเท็จ พระราชาทรงพอพระทัยได้พระราชทาน
รางวัลแก่เขา ด้วยเหตุนั้นบุรุษนี้จึงคล้องพวงมาลัย ใส่ตุ้มหู อาบน้ำอย่างดี ลูบ
ไล้อย่างดี แต่งผมและหนวด บำเรอตนด้วยกามกับสตรี อย่างพระราชา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๓. ปาฏลิยสูตร
ปรากฏว่า คนบางคนในโลกนี้ถูกมัดแขนไพล่หลังอย่างมั่นคงด้วยเชือกที่เหนียว
โกนศีรษะแล้ว แห่ประจานไปตามถนน ตามตรอก ด้วยบัณเฑาะว์เสียงดังสนั่น
ออกทางประตูด้านทิศใต้แล้วตัดศีรษะด้านทิศใต้ของเมือง คนทั้งหลายพูดถึงผู้นั้นว่า
‘ท่านผู้เจริญ บุรุษนี้ได้ทำอะไรจึงถูกมัดแขนไพล่หลังอย่างมั่นคงด้วยเชือกที่เหนียว
โกนศีรษะแล้ว แห่ประจานไปตามถนน ตามตรอก ด้วยบัณเฑาะว์เสียงดังสนั่น
ออกทางประตูด้านทิศใต้แล้วตัดศีรษะด้านทิศใต้ของเมือง’ คนทั้งหลายพูดถึงผู้นั้น
อีกว่า ‘ท่านผู้เจริญ บุรุษนี้ทำลายประโยชน์ของคหบดีบ้าง ของบุตรคหบดีบ้าง
ด้วยการพูดเท็จ ด้วยเหตุนั้นพระราชาทั้งหลายจึงรับสั่งให้จับเขาแล้วลงโทษเช่นนี้’
ผู้ใหญ่บ้าน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เรื่องเช่นนี้ท่านได้เห็นหรือได้
ยินมาบ้างไหม”
“ข้าพระองค์ได้เห็น ได้ยิน ทั้งจักได้ยินต่อไป พระพุทธเจ้าข้า”
“ผู้ใหญ่บ้าน บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้
มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ผู้พูดเท็จทั้งหมดย่อมเสวยทุกข์โทมนัสในปัจจุบัน’ พูดจริงหรือ
พูดเท็จ”
“พูดเท็จ พระพุทธเจ้าข้า”
“สมณพราหมณ์พวกที่พูดปดมดเท็จ มีศีลหรือทุศีล”
“ทุศีล พระพุทธเจ้าข้า”
“สมณพราหมณ์พวกที่ทุศีล มีธรรมเลวทราม ปฏิบัติผิดหรือปฏิบัติถูก”
“ปฏิบัติผิด พระพุทธเจ้าข้า”
“สมณพราหมณ์พวกที่ปฏิบัติผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิหรือเป็นสัมมาทิฏฐิ”
“เป็นมิจฉาทิฏฐิ พระพุทธเจ้าข้า”
“ควรหรือที่จะเลื่อมใสในสมณพราหมณ์ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิเหล่านั้น”
“ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๓. ปาฏลิยสูตร

ทิฏฐิของศาสดาต่าง ๆ
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ข้าพระองค์มีบ้านพัก
อยู่หลังหนึ่ง ในบ้านพักนั้นมีเตียง มีที่นั่ง มีโอ่งน้ำ มีตะเกียงน้ำมัน ผู้ใดไม่ว่าจะ
เป็นสมณะหรือพราหมณ์เข้าพักในบ้านพักนั้น ข้าพระองค์จะแจกแก่ผู้นั้นตามความ
สามารถ ตามกำลัง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ศาสดาทั้ง ๔ ซึ่งมี
ทิฏฐิต่างกัน มีความพอใจต่างกัน มีความชอบใจต่างกัน เข้าพักในบ้านพักนั้น
ศาสดาท่านหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่
บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและชั่วก็ไม่มี โลกนี้
ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ โอปปาติกสัตว์ไม่มี สมณพราหมณ์
ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่น
ให้รู้แจ้งก็ไม่มีในโลก’
ศาสดาท่านหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่
บูชาแล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำไว้ดีและชั่วมี โลกนี้มี
โลกหน้ามี มารดามีคุณ บิดามีคุณ โอปปาติกสัตว์มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดี
ปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง
ก็มีอยู่ในโลก’
ศาสดาท่านหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่น
ทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ทำให้เศร้าโศกเอง
ใช้ให้ผู้อื่นทำให้เศร้าโศก ทำให้ลำบากเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ใช้ให้
ผู้อื่นทำให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ตัดช่องย่องเบา ปล้นสะดม ปล้นในบ้าน
หลังเดียว ดักปล้นที่ทางเปลี่ยว เป็นชู้ พูดเท็จ ผู้ทำ(เช่นนั้น)ก็ไม่จัดว่าทำบาป
แม้หากบุคคลใช้จักรมีคมดุจมีดโกนสังหารเหล่าสัตว์ในปฐพีนี้ให้เป็นลานตาก
เนื้อให้เป็นกองเนื้อเดียวกัน เขาย่อมไม่มีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่มีบาปมาถึงเขา
แม้หากบุคคลไปฝั่งขวาแม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด
เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน เขาย่อมไม่มีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่มีบาป
มาถึงเขา
แม้หากบุคคลไปฝั่งซ้ายแม่น้ำคงคาให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชา
เขาย่อมไม่มีบุญที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่มีบุญมาถึงเขา ไม่มีบุญที่เกิดจากการให้ทาน
จากการฝึกอินทรีย์ จากการสำรวม จากการพูดคำสัตย์ ไม่มีบุญมาถึงเขา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๓. ปาฏลิยสูตร
ศาสดาท่านหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้
อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ทำให้เศร้าโศกเอง
ใช้ให้ผู้อื่นทำให้เศร้าโศก ทำให้ลำบากเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ใช้
ให้ผู้อื่นทำให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ตัดช่องย่องเบา ปล้นสะดม ปล้นในบ้าน
หลังเดียว ดักปล้นที่ทางเปลี่ยว เป็นชู้ พูดเท็จ ผู้ทำ(เช่นนั้น)จัดว่าทำบาป
แม้หากบุคคลใช้จักรมีคมดุจมีดโกนสังหารเหล่าสัตว์ในปฐพีนี้ให้เป็นลานตาก
เนื้อให้เป็นกองเนื้อเดียวกัน เขาย่อมมีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น มีบาปมาถึงเขา
แม้หากบุคคลไปฝั่งขวาแม่น้ำคงคาฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด
เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน เขาย่อมมีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น มีบาปมา
ถึงเขา
แม้หากบุคคลไปฝั่งซ้ายแม่น้ำคงคาให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชา
เขาย่อมมีบุญที่เกิดจากกรรมนั้น มีบุญมาถึงเขา มีบุญที่เกิดจากการให้ทาน จาก
การฝึกอินทรีย์ จากการสำรวม จากการพูดคำสัตย์ มีบุญมาถึงเขา’ ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้มีความเคลือบแคลงสงสัยว่า ‘บรรดาสมณพราหมณ์ผู้เจริญ
เหล่านี้ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ”
“ผู้ใหญ่บ้าน สมควรที่ท่านจะเคลือบแคลงสงสัย และความสงสัยก็เกิดขึ้นแก่
ท่านในฐานะที่ควรเคลือบแคลง”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคว่า ‘พระองค์
สามารถแสดงธรรมให้ข้าพระองค์ละความเคลือบแคลงนี้ได้”
ธรรมสมาธิทำให้หายสงสัย
“ผู้ใหญ่บ้าน ธรรมสมาธิ๑ มีอยู่ ถ้าท่าน (ตั้งอยู่) ในธรรมสมาธินั้น พึง
ได้จิตตสมาธิ๒ เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านพึงละความเคลือบแคลงนี้ได้

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต] ๑๓. ปาฏลิยสูตร
ธรรมสมาธิ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในศาสนานี้ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ละการลัก
ทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการ
ประพฤติผิดในกาม ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ ละการพูดคำส่อเสียด
เว้นขาดจากการพูดคำส่อเสียด ละการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ
ละการพูดเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ละความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา
ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา ละความประทุษร้ายที่เกิดจากพยาบาท มีจิตไม่พยาบาท
ละมิจฉาทิฏฐิ เป็นสัมมาทิฏฐิ
ผู้ใหญ่บ้าน อริยสาวกนั้นปราศจากความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา ปราศจาก
พยาบาทอย่างนี้ไม่หลง มีสัมปชัญญะ มีสติ มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศ
ที่ ๒ ...ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลก
ทั่วทุกหมู่เหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า ‘ศาสดาผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้
ว่า ‘ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบาก
แห่งกรรมที่ทำไว้ดีและชั่วก็ไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่
มีคุณ โอปปาติกสัตว์ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้
และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็ไม่มีในโลก’
ถ้าศาสดาท่านนั้นพูดจริง ข้อที่เราสำรวมกาย วาจา ใจ และข้อที่เราหลังจาก
ตายแล้วจักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ทั้ง ๒ ข้อนี้เป็นการถือเอาชัยชนะในคำสอน
เพราะเราไม่เบียดเบียนใคร ๆ ไม่ว่าผู้สะดุ้งหรือผู้มั่นคง จึงเป็นผู้ปฏิบัติไม่ผิด’
ปราโมทย์ก็เกิดแก่อริยสาวกนั้น เมื่อเกิดปราโมทย์ ปีติก็เกิด เมื่อใจเกิดปีติ
กายก็สงบ เธอผู้มีกายสงบย่อมอยู่สบาย จิตของเธอผู้อยู่สบายย่อมตั้งมั่น
ผู้ใหญ่บ้าน ธรรมสมาธิเป็นอย่างนี้แล ถ้าท่านตั้งอยู่ในธรรมสมาธินั้น พึงได้
จิตตสมาธิ เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านพึงละความเคลือบแคลงนี้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า :๔๔๐ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น