Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๑๙-๑ หน้า ๑ - ๕๕

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙-๑ สุตตันตปิฎกที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค



พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๑. อวิชชาวรรค ๑. อวิชชาสูตร

พระสุตตันตปิฎก
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. มัคคสังยุต
๑. อวิชชาวรรค
หมวดว่าด้วยอวิชชา
๑. อวิชชาสูตร
ว่าด้วยอวิชชา
[๑] ข้าพเจ้า๑ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย อวิชชา (ความไม่รู้แจ้ง) เป็นประธานแห่งการเข้าถึงอกุศลธรรม
ทั้งหลาย อหิริกะ (ความไม่ละอายบาป) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวบาป) ก็มี
ตามมาด้วย

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๑. อวิชชาวรรค ๒. อุปัฑฒสูตร
๑. ผู้มีอวิชชาไม่เห็นแจ้งย่อมมีมิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิด)
๒. ผู้มีมิจฉาทิฏฐิย่อมมีมิจฉาสังกัปปะ (ดำริผิด)
๓. ผู้มีมิจฉาสังกัปปะย่อมมีมิจฉาวาจา (เจรจาผิด)
๔. ผู้มีมิจฉาวาจาย่อมมีมิจฉากัมมันตะ (กระทำผิด)
๕. ผู้มีมิจฉากัมมันตะย่อมมีมิจฉาอาชีวะ (เลี้ยงชีพผิด)
๖. ผู้มีมิจฉาอาชีวะย่อมมีมิจฉาวายามะ (พยายามผิด)
๗. ผู้มีมิจฉาวายามะย่อมมีมิจฉาสติ (ระลึกผิด)
๘. ผู้มีมิจฉาสติย่อมมีมิจฉาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นผิด)

ภิกษุทั้งหลาย วิชชา๑ (ความรู้แจ้ง) เป็นประธานแห่งการเข้าถึงกุศลธรรมทั้งหลาย
หิริ (ความละอายบาป) และโอตตัปปะ (ความเกรงกลัวบาป) ก็มีตามมาด้วย

๑. ผู้มีวิชชาเห็นแจ้งย่อมมีสัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)
๒. ผู้มีสัมมาทิฏฐิย่อมมีสัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. ผู้มีสัมมาสังกัปปะย่อมมีสัมมาวาจา (เจรจาชอบ)
๔. ผู้มีสัมมาวาจาย่อมมีสัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. ผู้มีสัมมากัมมันตะย่อมมีสัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
๖. ผู้มีสัมมาอาชีวะย่อมมีสัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. ผู้มีสัมมาวายามะย่อมมีสัมมาสติ (ระลึกชอบ)
๘. ผู้มีสัมมาสติย่อมมีสัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)”๒
อวิชชาสูตรที่ ๑ จบ
๒. อุปัฑฒสูตร
ว่าด้วยความเป็นผู้มีมิตรดีเป็นพรหมจรรย์กึ่งหนึ่ง
[๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของเจ้าศากยะ ชื่อว่าสักกระ
แคว้นสักกะ ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๑. อวิชชาวรรค ๒. อุปัฑฒสูตร
ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดี๑ มีสหายดี๒ มีเพื่อนดี๓ เป็นพรหมจรรย์๔กึ่งหนึ่ง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่ากล่าวอย่างนั้น อานนท์ อย่ากล่าวอย่างนั้น
อานนท์ ที่จริง ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งหมด
ทีเดียว อานนท์ ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดีพึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญ
อริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค
มีองค์ ๘ ให้มาก อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก (ความสงัด) อาศัยวิราคะ (ความคลาย
กำหนัด) อาศัยนิโรธ (ความดับ) น้อมไปในโวสสัคคะ (ความสละ)
๒. เจริญสัมมาสังกัปปะอันอาศัยวิเวก ...
๓. เจริญสัมมาวาจา ...
๔. เจริญสัมมากัมมันตะ ...
๕. เจริญสัมมาอาชีวะ ...
๖. เจริญสัมมาวายามะ ...
๗. เจริญสัมมาสติ ...
๘. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อม
ไปในโวสสัคคะ

ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค
มีองค์ ๘ ให้มาก อย่างนี้แล

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๑. อวิชชาวรรค ๓. สารีปุตตสูตร
อนึ่ง ข้อที่ว่าความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งหมด
ทีเดียวนั้นพึงทราบโดยปริยายนี้ ด้วยว่าเพราะอาศัยเราผู้เป็นมิตรดี เหล่าสัตว์ผู้มี
ชาติ (ความเกิด) เป็นธรรมดาย่อมพ้นจากชาติ ผู้มีชรา (ความแก่) เป็นธรรมดาย่อม
พ้นจากชรา ผู้มีมรณะ (ความตาย) เป็นธรรมดาย่อมพ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ (ความ
เศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ)
และอุปายาส (ความคับแค้นใจ) เป็นธรรมดาย่อมพ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาส

อานนท์ ข้อที่ว่าความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์
ทั้งหมดทีเดียวนั้นพึงทราบโดยปริยายนี้แล”
อุปัฑฒสูตรที่ ๒ จบ

๓. สารีปุตตสูตร
ว่าด้วยพระสารีบุตร
[๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งหมดทีเดียว”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ ถูกละ สารีบุตร ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี
มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งหมด สารีบุตร ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี
พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค
มีองค์ ๘ ให้มาก อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อม
ไปในโวสสัคคะ
ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๔ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๑. อวิชชาวรรค ๔. ชาณุสโสณิพราหมณสูตร
๘. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อม
ไปในโวสสัคคะ
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค
มีองค์ ๘ ให้มาก อย่างนี้แล

สารีบุตร อนึ่ง ข้อที่ว่าความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์
ทั้งหมดนั้น พึงทราบโดยปริยายนี้ ด้วยว่าเพราะอาศัยเราผู้เป็นมิตรดี เหล่าสัตว์ผู้
มีชาติเป็นธรรมดาย่อมพ้นจากชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดาย่อมพ้นจากชรา ผู้มีมรณะ
เป็นธรรมดาย่อมพ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
เป็นธรรมดาย่อมพ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
สารีบุตร ข้อที่ว่าความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์
ทั้งหมดนั้น พึงทราบโดยปริยายนี้แล”
สารีปุตตสูตรที่ ๓ จบ

๔. ชาณุสโสณิพราหมณสูตร
ว่าด้วยชาณุสโสณิพราหมณ์
[๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้นในเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร๑เข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ได้เห็นพราหมณ์ชื่อชาณุสโสณิออกจากกรุงสาวัตถีด้วยรถ
เทียมด้วยม้าขาวล้วน นัยว่า ม้าที่เทียมเป็นม้าขาว เครื่องประดับขาว ตัวรถขาว

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๑. อวิชชาวรรค ๔. ชาณุสโสณิพราหมณสูตร
ประทุนขาว เชือกขาว ด้ามประตักขาว ร่มขาว ผ้าโพกขาว ผ้านุ่งขาว รองเท้าขาว
และพัดวาลวีชนี (พัดหรือแส้ขนจามรี) ก็ขาว ชนทั้งหลายเห็นท่านแล้วพากันพูด
อย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ยานประเสริฐหนอ รูปของยานก็ประเสริฐหนอ”
ต่อมา ท่านพระอานนท์เที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาต
ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ในเวลาเช้า ข้าพระองค์ครองอันตรวาสก ถือบาตร
และจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ได้เห็นชาณุสโสณิพราหมณ์ออกจากกรุง
สาวัตถีด้วยรถเทียมด้วยม้าขาวล้วน นัยว่า ม้าที่เทียมเป็นม้าขาว เครื่องประดับขาว
ตัวรถขาว ประทุนขาว เชือกขาว ด้ามประตักขาว ร่มขาว ผ้าโพกขาว ผ้านุ่งขาว
รองเท้าขาว และพัดวาลวีชนีก็ขาว ชนทั้งหลายเห็นท่านแล้วพากันพูดว่า ‘ท่าน
ผู้เจริญ ยานประเสริฐหนอ รูปของยานก็ประเสริฐหนอ’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระองค์อาจทรงบัญญัติยานอันประเสริฐในพระธรรมวินัยนี้ได้หรือหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ อาจบัญญัติได้ คำว่า ‘ยานอันประเสริฐ’
นั้นเป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เอง เรียกว่า พรหมยานบ้าง ธรรมยานบ้าง
รถพิชัยสงครามอันยอดเยี่ยมบ้าง

สัมมาทิฏฐิที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว เป็นธรรมมีการกำจัดราคะ โทสะ
และโมหะเป็นที่สุด
สัมมาสังกัปปะที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว เป็นธรรมมีการกำจัดราคะ โทสะ
และโมหะเป็นที่สุด
สัมมาวาจาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว เป็นธรรมมีการกำจัดราคะ โทสะ
และโมหะเป็นที่สุด
สัมมากัมมันตะที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว เป็นธรรมมีการกำจัดราคะ โทสะ
และโมหะเป็นที่สุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๖ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๑. อวิชชาวรรค ๔. ชาณุสโสณิพราหมณสูตร
สัมมาอาชีวะที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว เป็นธรรมมีการกำจัดราคะ โทสะ
และโมหะเป็นที่สุด
สัมมาวายามะที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว เป็นธรรมมีการกำจัดราคะ โทสะ
และโมหะเป็นที่สุด
สัมมาสติที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว เป็นธรรมมีการกำจัดราคะ โทสะ
และโมหะเป็นที่สุด
สัมมาสมาธิที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว เป็นธรรมมีการกำจัดราคะ โทสะ
และโมหะเป็นที่สุด

คำว่า ‘ยานอันประเสริฐ’ นั้นเป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เอง เรียกว่า
พรหมยานบ้าง ธรรมยานบ้าง รถพิชัยสงครามอันยอดเยี่ยมบ้างนั้น พึงทราบโดย
ปริยายนี้แล”

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา-
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า

“รถ๑ใดมีธรรมคือศรัทธาและปัญญาเป็นแอกทุกเมื่อ
มีหิริเป็นงอน มีใจเป็นเชือก
มีสติเป็นนายสารถีผู้คอยควบคุม
รถนี้มีศีล๒เป็นเครื่องประดับ
มีฌาน๓เป็นเพลา มีความเพียรเป็นล้อ
มีอุเบกขาเป็นทูบ๔ มีความไม่อยากได้เป็นประทุน

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๑. อวิชชาวรรค ๕. กิมัตถิยสูตร
กุลบุตรใดมีความไม่พยาบาท
มีความไม่เบียดเบียนและมีวิเวก๑เป็นอาวุธ
มีความอดทนเป็นเกราะหนัง
กุลบุตรนั้นย่อมประพฤติเพื่อความเกษมจากโยคะ
พรหมยานอันยอดเยี่ยมนี้
เกิดแล้วในตนของบุคคลเหล่าใด
บุคคลเหล่านั้นเป็นนักปราชญ์ มีชัยชนะ
ย่อมออกไปจากโลกโดยแท้”
ชาณุสโสณิพราหมณสูตรที่ ๔ จบ

๕. กิมัตถิยสูตร
ว่าด้วยคำถามเกี่ยวกับประโยชน์ของการประพฤติพรหมจรรย์
[๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอประทานวโรกาส พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกถามข้าพระองค์ทั้งหลายอย่างนี้ว่า
‘ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเพื่อประโยชน์
อะไร’ ข้าพระองค์ทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว จึงตอบอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
อย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกเราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค
เพื่อกำหนดรู้ทุกข์’ ข้าพระองค์ทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว ตอบอย่างนี้ ชื่อว่า
พูดตรงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จหรือ
ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผลหรือ ไม่มีบ้างหรือที่คำเช่นนั้นและคำที่กล่าวต่อ ๆ
กันมาจะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้”

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๑. อวิชชาวรรค ๖. ปฐมอัญญตรภิกขุสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เอาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายถูกถาม
อย่างนั้นแล้ว ตอบอย่างนั้น ชื่อว่าพูดตรงตามคำที่เรากล่าวไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่เรา
ด้วยคำเท็จ ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผล ไม่มีคำเช่นนั้นและคำที่กล่าวต่อ ๆ
กันมาที่จะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้ เพราะเธอทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในเรา
เพื่อกำหนดรู้ทุกข์ ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอัญเดียรถีย์ปริพาชกพึงถามเธอทั้งหลายว่า
‘ผู้มีอายุทั้งหลาย มีมรรค มีปฏิปทาเพื่อกำหนดรู้ทุกข์นั้นอยู่หรือ’ เธอทั้งหลาย
ถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงตอบอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย
มีมรรค มีปฏิปทาเพื่อกำหนดรู้ทุกข์นั้นอยู่’
มรรค เป็นอย่างไร ปฏิปทาเพื่อกำหนดรู้ทุกข์นั้น เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้คือมรรค นี้คือปฏิปทาเพื่อกำหนดรู้ทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงตอบอัญเดียรถีย์ปริพาชก
เหล่านั้นอย่างนี้”
กิมัตถิยสูตรที่ ๕ จบ

๖. ปฐมอัญญตรภิกขุสูตร
ว่าด้วยภิกษุรูปหนึ่งทูลถามปัญหา สูตรที่ ๑
[๖] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระองค์ตรัสว่า ‘พรหมจรรย์ พรหมจรรย์’ พรหมจรรย์เป็นอย่างไร ที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์เป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แลเป็นพรหมจรรย์
ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
ธรรมเป็นที่สิ้นราคะ โทสะ และโมหะ นี้เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์”
ปฐมอัญญตรภิกขุสูตรที่ ๖ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๑. อวิชชาวรรค ๘. วิภังคสูตร

๗. ทุติยอัญญตรภิกขุสูตร
ว่าด้วยภิกษุรูปหนึ่งทูลถามปัญหา สูตรที่ ๒
[๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์
ตรัสว่า ‘ธรรมเป็นที่กำจัดราคะ โทสะ และโมหะ’ คำว่า ‘ธรรมเป็นที่กำจัดราคะ
โทสะ และโมหะ’ นี้เป็นชื่อของอะไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ คำว่า ‘ธรรมเป็นที่กำจัดราคะ โทสะ และ
โมหะ’ นี้เป็นชื่อของนิพพานธาตุ๑ เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่า ธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคต่อไป
ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า ‘อมตะ อมตะ’ อมตะเป็นอย่างไร
ทางที่ให้ถึงอมตะเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ ธรรมเป็นที่สิ้นราคะ โทสะ และโมหะ
นี้เรียกว่า อมตะ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แลเป็นทางที่ให้ถึงอมตะ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
ทุติยอัญญตรภิกขุสูตรที่ ๗ จบ

๘. วิภังคสูตร
ว่าด้วยการจำแนกอริยมรรค
[๘] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง จักจำแนกอริยมรรคมี
องค์ ๘ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๑. อวิชชาวรรค ๘. วิภังคสูตร
“ภิกษุทั้งหลาย อริยมรรคมีองค์ ๘ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย (เหตุเกิดทุกข์) ความรู้ในทุกขนิโรธ
(ความดับทุกข์) ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับทุกข์)
นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ
สัมมาสังกัปปะ เป็นอย่างไร
คือ ความดำริในเนกขัมมะ (การออกจากกาม) ความดำริในอพยาบาท (ความ
ไม่พยาบาท) ความดำริในอวิหิงสา (การไม่เบียดเบียน)
นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา เป็นอย่างไร
คือ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากมุสาวาท (พูดเท็จ) เจตนาเป็นเหตุเว้นจากปิสุณา-
วาจา (พูดส่อเสียด) เจตนาเป็นเหตุเว้นจากผรุสวาจา (พูดคำหยาบ) เจตนาเป็น
เหตุเว้นจากสัมผัปปลาปะ (พูดเพ้อเจ้อ)
นี้เรียกว่า สัมมาวาจา
สัมมากัมมันตะ เป็นอย่างไร
คือ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์) เจตนาเป็นเหตุเว้นจาก
อทินนาทาน (การลักทรัพย์) เจตนาเป็นเหตุเว้นจากอพรหมจรรย์ (พฤติกรรมอัน
เป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์)
นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ
สัมมาอาชีวะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ละมิจฉาอาชีวะ สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยสัมมา-
อาชีวะ
นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๑. อวิชชาวรรค ๘. วิภังคสูตร
สัมมาวายามะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น๑
เพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น
๒. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
๔. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญ
เต็มที่แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ
สัมมาสติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด
อภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต] ๑. อวิชชาวรรค ๙. สูกสูตร
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย๑อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
นี้เรียกว่า สัมมาสติ
สัมมาสมาธิ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก
วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่
๒. เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสในภายใน
มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่
ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่
๓. เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวย
สุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า
‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’
๔. เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน บรรลุ
จตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ”
วิภังคสูตรที่ ๘ จบ

๙. สูกสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยเดือย
[๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้เลยที่เดือยข้าวสาลีหรือ
เดือยข้าวเหนียวที่บุคคลตั้งไว้ไม่ตรงจักตำมือหรือเท้าที่ไปกระทบเข้าหรือทำให้เลือดออก

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๑. อวิชชาวรรค ๑๐. นันทิยสูตร
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตั้งเดือยข้าวไว้ไม่ตรง แม้ฉันใด เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุ
รูปนั้นมีทิฏฐิที่ตั้งไว้ผิด มีมรรคภาวนาที่ตั้งไว้ผิด จักทำลายอวิชชา ให้วิชชาเกิดขึ้น
ทำนิพพานให้แจ้ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตั้งทิฏฐิไว้ผิด ฉันนั้นเหมือนกัน
ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปได้ที่เดือยข้าวสาลีหรือเดือยข้าวเหนียวที่บุคคลตั้งไว้ตรง
จักตำมือหรือเท้าที่ไปกระทบเข้าหรือทำให้เลือดออก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตั้ง
เดือยข้าวไว้ตรง แม้ฉันใด เป็นไปได้ที่ภิกษุรูปนั้นมีทิฏฐิที่ตั้งไว้ถูก มีมรรคภาวนาที่
ตั้งไว้ถูก จักทำลายอวิชชา ให้วิชชาเกิดขึ้น ทำนิพพานให้แจ้ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะตั้งทิฏฐิไว้ถูก ฉันนั้นเหมือนกัน๑
ภิกษุมีทิฏฐิที่ตั้งไว้ถูก มีมรรคภาวนาที่ตั้งไว้ถูก ย่อมทำลายอวิชชา ให้
วิชชาเกิดขึ้น ทำนิพพานให้แจ้ง อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป
ในโวสสัคคะ
ฯลฯ
๘. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป
ในโวสสัคคะ

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีทิฏฐิที่ตั้งไว้ถูก มีมรรคภาวนาที่ตั้งไว้ถูก ย่อมทำลาย
อวิชชา ให้วิชชาเกิดขึ้น ทำนิพพานให้แจ้ง เป็นอย่างนี้แล”
สูกสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. นันทิยสูตร
ว่าด้วยนันทิยปริพาชก
[๑๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้นแล นันทิยปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถาม
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญ ทำ
ให้มากแล้ว ย่อมให้ถึงนิพพาน มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด”

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๑. อวิชชาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “นันทิยะ ธรรม ๘ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ
ทำให้มากแล้ว ย่อมให้ถึงนิพพาน มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ

นันทิยะ ธรรม ๘ ประการนี้แลที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมให้ถึงนิพพาน
มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นันทิยปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระ
โคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของ
ที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด๑ ด้วยตั้งใจว่า
‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดมพร้อมทั้งพระธรรมและ
พระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
นันทิยสูตรที่ ๑๐ จบ
อวิชชาวรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อวิชชาสูตร ๒. อุปัฑฒสูตร
๓. สารีปุตตสูตร ๔. ชาณุสโสณิพราหมณสูตร
๕. กิมัตถิยสูตร ๖. ปฐมอัญญตรภิกขุสูตร
๗. ทุติยอัญญตรภิกขุสูตร ๘. วิภังคสูตร
๙. สูกสูตร ๑๐. นันทิยสูตร

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๒. วิหารวรรค ๑. ปฐมวิหารสูตร

๒. วิหารวรรค
หมวดว่าด้วยวิหารธรรม
๑. ปฐมวิหารสูตร
ว่าด้วยวิหารธรรม สูตรที่ ๑
[๑๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกเร้นสักครึ่งเดือน
ใคร ๆ อย่าเข้าไปหาเรา ยกเว้นภิกษุผู้นำอาหารบิณฑบาตเข้าไปให้รูปเดียว”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ในครึ่งเดือนนี้จึงไม่มีใครเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคเลย ยกเว้นภิกษุผู้นำอาหารบิณฑบาตไปทูลถวายรูปเดียว
ครั้นครึ่งเดือนนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นแล้ว รับสั่ง
เรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นแรกตรัสรู้ ได้อยู่ด้วยส่วนแห่ง
วิหารธรรม (ธรรมเป็นเครื่องอยู่) รู้ชัดอย่างนี้ว่า
‘เพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี
เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี
ฯลฯ
เพราะมิจฉาสมาธิเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี
เพราะสัมมาสมาธิเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี
เพราะฉันทะเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี
เพราะวิตกเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี
เพราะสัญญาเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี
เพราะฉันทะ วิตก และสัญญาเป็นธรรมไม่สงบเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี
เพราะฉันทะ วิตก และสัญญาเป็นธรรมสงบเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี
ความพยายามเพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ๑มีอยู่ แต่เพราะเมื่อยังไม่ได้บรรลุ
ฐานะ๒นั้นเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี”
ปฐมวิหารสูตรที่ ๑ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๒. วิหารวรรค ๒. ทุติยวิหารสูตร

๒. ทุติยวิหารสูตร
ว่าด้วยวิหารธรรม สูตรที่ ๒
[๑๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกเร้นตลอด ๓ เดือน ใคร ๆ อย่าเข้าไป
หาเรา ยกเว้นภิกษุผู้นำอาหารบิณฑบาตเข้าไปให้รูปเดียว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว ใน ๓ เดือนนี้จึงไม่มีใครเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเลย ยก
เว้นภิกษุผู้นำอาหารบิณฑบาตเข้าไปทูลถวายรูปเดียว
ครั้น ๓ เดือนนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นแล้ว รับสั่ง
เรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นแรกตรัสรู้ ได้อยู่ด้วยส่วนแห่ง
วิหารธรรม รู้ชัดอย่างนี้ว่า
‘เพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี
เพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นธรรมสงบเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี
เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี
เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นธรรมสงบเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี
ฯลฯ
เพราะมิจฉาสมาธิเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี
เพราะมิจฉาสมาธิเป็นธรรมสงบเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี
เพราะสัมมาสมาธิเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี
เพราะสัมมาสมาธิเป็นธรรมสงบเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี
เพราะฉันทะเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี
เพราะฉันทะเป็นธรรมสงบเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี
เพราะวิตกเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี
เพราะวิตกเป็นธรรมสงบเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี
เพราะสัญญาเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี
เพราะสัญญาเป็นธรรมสงบเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๒. วิหารวรรค ๔. ปฐมอุปปาทสูตร
เพราะฉันทะ วิตก และสัญญาเป็นธรรมไม่สงบเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี
เพราะฉันทะ วิตก และสัญญาเป็นธรรมสงบเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี
ความพยายามเพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ มีอยู่ แต่เพราะเมื่อยังไม่ได้บรรลุ
ฐานะนั้นเป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์จึงมี”
ทุติยวิหารสูตรที่ ๒ จบ

๓. เสกขสูตร
ว่าด้วยองค์คุณของพระเสขะ
[๑๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ นั่ง ณ
ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า
‘พระเสขะ พระเสขะ’ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นพระเสขะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุในธรรมวินัยนี้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิอัน
เป็นของพระเสขะ๑ ฯลฯ ประกอบด้วยสัมมาสมาธิอันเป็นของพระเสขะ ด้วยเหตุ
เพียงเท่านี้แล ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นพระเสขะ”
เสกขสูตรที่ ๓ จบ

๔. ปฐมอุปปาทสูตร
ว่าด้วยความเกิดขึ้นแห่งธรรม สูตรที่ ๑
[๑๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ที่ยังไม่
เกิดย่อมเกิดขึ้น เว้นความอุบัติขึ้นของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมไม่
เกิดขึ้น

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๒. วิหารวรรค ๕. ทุติยอุปปาทสูตร
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ที่ยังไม่เกิด
ย่อมเกิดขึ้น เว้นความอุบัติขึ้นของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมไม่
เกิดขึ้น”
ปฐมอุปปาทสูตรที่ ๔ จบ

๕. ทุติยอุปปาทสูตร
ว่าด้วยความเกิดขึ้นแห่งธรรม สูตรที่ ๒
[๑๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ที่ยังไม่
เกิดย่อมเกิดขึ้น เว้นวินัยของพระสุคต๑ ย่อมไม่เกิดขึ้น
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้ ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ที่ยังไม่
เกิดย่อมเกิดขึ้น เว้นวินัยของพระสุคต ย่อมไม่เกิดขึ้น”
ทุติยอุปปาทสูตรที่ ๕ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๒. วิหารวรรค ๗. ทุติยปริสุทธสูตร

๖. ปฐมปริสุทธสูตร
ว่าด้วยธรรมอันบริสุทธิ์ สูตรที่ ๑
[๑๖] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน๑
ปราศจากความเศร้าหมอง ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น เว้นความอุบัติขึ้นของพระ
ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมไม่เกิดขึ้น
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ

ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้แลบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ปราศจากความเศร้าหมอง ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น เว้นความอุบัติขึ้นของพระ
ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมไม่เกิดขึ้น”
ปฐมปริสุทธสูตรที่ ๖ จบ

๗. ทุติยปริสุทธสูตร
ว่าด้วยธรรมอันบริสุทธิ์ สูตรที่ ๒
[๑๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ปราศจากความเศร้าหมอง ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น เว้นวินัยของพระสุคต ย่อมไม่
เกิดขึ้น
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๒. วิหารวรรค ๘. ปฐมกุกกุฏารามสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้แลบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ปราศจากความเศร้าหมอง ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น เว้นวินัยของพระสุคต ย่อมไม่
เกิดขึ้น”
ทุติยปริสุทธสูตรที่ ๗ จบ

๘. ปฐมกุกกุฏารามสูตร
ว่าด้วยการสนทนาธรรมในกุกกุฏาราม สูตรที่ ๑
[๑๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์กับท่านพระภัททะอยู่ที่กุกกุฏาราม เขตเมือง
ปาฏลีบุตร ครั้นในเวลาเย็น ท่านพระภัททะออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปหาท่าน
พระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร ได้เรียนถามท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า
“ท่านอานนท์ ที่เรียกกันว่า ‘อพรหมจรรย์ อพรหมจรรย์’ อพรหมจรรย์
เป็นอย่างไร”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “ดีละ ดีละ ท่านภัททะ ปัญญาใฝ่รู้๑ของท่าน
ดีนัก ปฏิภาณดีนัก สอบถามเข้าที ก็ท่านถามว่า ‘ที่เรียกกันว่า ‘อพรหมจรรย์
อพรหมจรรย์’ อพรหมจรรย์เป็นอย่างไร’ อย่างนั้นหรือ”
“อย่างนั้น ผู้มีอายุ”
“ผู้มีอายุ มิจฉามรรค (ทางผิด) มีองค์ ๘ นี้แลเป็นอพรหมจรรย์ ได้แก่

๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. มิจฉาสมาธิ
ปฐมกุกกุฏารามสูตรที่ ๘ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๒. วิหารวรรค ๑๐. ตติยกุกกุฏารามสูตร

๙. ทุติยกุกกุฏารามสูตร
ว่าด้วยการสนทนาธรรมในกุกกุฏาราม สูตรที่ ๒
[๑๙] เรื่องเกิดขึ้นที่เมืองปาฏลีบุตร
ท่านพระภัททะได้เรียนถามท่านพระอานนท์ว่า “ท่านอานนท์ ที่เรียกกันว่า
‘พรหมจรรย์ พรหมจรรย์’ พรหมจรรย์เป็นอย่างไร ที่สุดแห่งพรหมจรรย์เป็นอย่างไร”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “ดีละ ดีละ ท่านภัททะ ปัญญาใฝ่รู้ของท่านดีนัก
ปฏิภาณดีนัก สอบถามเข้าที ก็ท่านถามว่า ‘ที่เรียกกันว่า ‘พรหมจรรย์ พรหมจรรย์’
พรหมจรรย์เป็นอย่างไร ที่สุดแห่งพรหมจรรย์เป็นอย่างไร’ อย่างนั้นหรือ”
“อย่างนั้น ผู้มีอายุ”
“ผู้มีอายุ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แลเป็นพรหมจรรย์ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ

ธรรมเป็นที่สิ้นราคะ โทสะ และโมหะ นี้เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์”
ทุติยกุกกุฏารามสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ตติยกุกกุฏารามสูตร
ว่าด้วยการสนทนาธรรมในกุกกุฏาราม สูตรที่ ๓
[๒๐] เรื่องเกิดขึ้นที่เมืองปาฏลีบุตร
ท่านพระภัททะได้เรียนถามท่านพระอานนท์ว่า “ท่านอานนท์ ที่เรียกกันว่า
‘พรหมจรรย์ พรหมจรรย์’ พรหมจรรย์เป็นอย่างไร พรหมจารีเป็นอย่างไร ที่สุด
แห่งพรหมจรรย์เป็นอย่างไร”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “ดีละ ดีละ ท่านภัททะ ปัญญาใฝ่รู้ของท่านดีนัก
ปฏิภาณดีนัก สอบถามเข้าที ก็ท่านถามว่า ‘ที่เรียกกันว่า ‘พรหมจรรย์ พรหมจรรย์’
พรหมจรรย์เป็นอย่างไร พรหมจารีเป็นอย่างไร ที่สุดแห่งพรหมจรรย์เป็นอย่างไร’
อย่างนั้นหรือ”
“อย่างนั้น ผู้มีอายุ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๒. วิหารวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
“ผู้มีอายุ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แลเป็นพรหมจรรย์ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
บุคคลผู้ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เรียกว่า พรหมจารี
ธรรมเป็นที่สิ้นราคะ โทสะ และโมหะ นี้เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์”

พระสูตร ๓ สูตร มีเหตุเกิดอย่างเดียวกัน
ตติยกุกกุฏารามสูตรที่ ๑๐ จบ
วิหารวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมวิหารสูตร ๒. ทุติยวิหารสูตร
๓. เสกขสูตร ๔. ปฐมอุปปาทสูตร
๕. ทุติยอุปปาทสูตร ๖. ปฐมปริสุทธสูตร
๗. ทุติยปริสุทธสูตร ๘. ปฐมกุกกุฏารามสูตร
๙. ทุติยกุกกุฏารามสูตร ๑๐. ตติยกุกกุฏารามสูตร

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๓. มิจฉัตตวรรค ๒. อกุสลธัมมสูตร

๓. มิจฉัตตวรรค
หมวดว่าด้วยมิจฉัตตธรรม
๑. มิจฉัตตสูตร
ว่าด้วยมิจฉัตตธรรม
[๒๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงมิจฉัตตธรรม (ธรรมที่ผิด)
และสัมมัตตธรรม (ธรรมที่ชอบ) แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง

มิจฉัตตธรรม อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. มิจฉาสมาธิ
นี้เรียกว่า มิจฉัตตธรรม

สัมมัตตธรรม อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้เรียกว่า สัมมัตตธรรม”
มิจฉัตตสูตรที่ ๑ จบ

๒. อกุสลธัมมสูตร
ว่าด้วยอกุศลธรรม
[๒๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอกุศลธรรมและกุศลธรรมแก่เธอทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายจงฟัง

อกุศลธรรม อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. มิจฉาสมาธิ
นี้เรียกว่า อกุศลธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๓. มิจฉัตตวรรค ๔. ทุติยปฏิปทาสูตร
กุศลธรรม อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้เรียกว่า กุศลธรรม”
อกุสลธัมมสูตรที่ ๒ จบ

๓. ปฐมปฏิปทาสูตร
ว่าด้วยปฏิปทา สูตรที่ ๑
[๒๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงมิจฉาปฏิปทา (ข้อปฏิบัติผิด) และสัมมาปฏิปทา
(ข้อปฏิบัติชอบ) แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง

มิจฉาปฏิปทา อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. มิจฉาสมาธิ
นี้เรียกว่า มิจฉาปฏิปทา

สัมมาปฏิปทา อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้เรียกว่า สัมมาปฏิปทา”
ปฐมปฏิปทาสูตรที่ ๓ จบ

๔. ทุติยปฏิปทาสูตร
ว่าด้วยปฏิปทา สูตรที่ ๒
[๒๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญมิจฉาปฏิปทาของคฤหัสถ์หรือบรรพชิต คฤหัสถ์
หรือบรรพชิตผู้ปฏิบัติผิดย่อมทำญายธรรม๑ที่เป็นกุศลให้สำเร็จไม่ได้ เพราะเหตุแห่ง
การปฏิบัติผิด

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๓. มิจฉัตตวรรค ๕. ปฐมอสัปปุริสสูตร
มิจฉาปฏิปทา อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. มิจฉาสมาธิ
นี้เรียกว่า มิจฉาปฏิปทา
เราไม่สรรเสริญมิจฉาปฏิปทาของคฤหัสถ์หรือบรรพชิต คฤหัสถ์หรือบรรพชิต
ผู้ปฏิบัติผิดย่อมทำญายธรรมที่เป็นกุศลให้สำเร็จไม่ได้ เพราะเหตุแห่งการปฏิบัติผิด
ภิกษุทั้งหลาย แต่เราสรรเสริญสัมมาปฏิปทาของคฤหัสถ์หรือบรรพชิต คฤหัสถ์
หรือบรรพชิตผู้ปฏิบัติชอบย่อมทำญายธรรมที่เป็นกุศลให้สำเร็จได้ เพราะเหตุแห่ง
การปฏิบัติชอบ

สัมมาปฏิปทา อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้เรียกว่า สัมมาปฏิปทา
เราสรรเสริญสัมมาปฏิปทาของคฤหัสถ์หรือบรรพชิต คฤหัสถ์หรือบรรพชิตผู้
ปฏิบัติชอบย่อมทำญายธรรมที่เป็นกุศลให้สำเร็จได้ เพราะเหตุแห่งการปฏิบัติชอบ”
ทุติยปฏิปทาสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปฐมอสัปปุริสสูตร
ว่าด้วยอสัตบุรุษ สูตรที่ ๑
[๒๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอสัตบุรุษและสัตบุรุษแก่เธอทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายจงฟัง
อสัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ มีมิจฉาสังกัปปะ มีมิจฉาวาจา
มีมิจฉากัมมันตะ มีมิจฉาอาชีวะ มีมิจฉาวายามะ มีมิจฉาสติ มีมิจฉาสมาธิ
บุคคลนี้เรียกว่า อสัตบุรุษ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๓. มิจฉัตตวรรค ๖. ทุติยอสัปปุริสสูตร
สัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ มีสัมมาสังกัปปะ มีสัมมาวาจา
มีสัมมากัมมันตะ มีสัมมาอาชีวะ มีสัมมาวายามะ มีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ
บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษ”
ปฐมอสัปปุริสสูตรที่ ๕ จบ

๖. ทุติยอสัปปุริสสูตร
ว่าด้วยอสัตบุรุษ สูตรที่ ๒
[๒๖] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอสัตบุรุษและอสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ และ
จักแสดงสัตบุรุษและสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าสัตบุรุษแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง

อสัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ มีมิจฉาสมาธิ
บุคคลนี้เรียกว่า อสัตบุรุษ
อสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ มีมิจฉาสมาธิ มีมิจฉา-
ญาณะ (รู้ผิด) มีมิจฉาวิมุตติ (หลุดพ้นผิด)
บุคคลนี้เรียกว่า อสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ

สัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ มีสัมมาสมาธิ
บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษ
สัตบุรุษที่ยิ่งกว่าสัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ มีสัมมาสมาธิ มีสัมมา-
ญาณะ (รู้ชอบ) มีสัมมาวิมุตติ (หลุดพ้นชอบ)
บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษที่ยิ่งกว่าสัตบุรุษ”
ทุติยอสัปปุริสสูตรที่ ๖ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๓. มิจฉัตตวรรค ๘. สมาธิสูตร

๗. กุมภสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยหม้อ
[๒๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย หม้อที่ไม่มีเครื่องรองรับ กลิ้งไปได้ง่าย ที่มีเครื่องรองรับ
กลิ้งไปได้ยาก แม้ฉันใด จิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่ไม่มีธรรมเครื่องรองรับ กลับกลอก
ได้ง่าย ที่มีธรรมเครื่องรองรับ กลับกลอกได้ยาก
อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องรองรับจิต
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้เป็นธรรมเครื่องรองรับจิต
หม้อที่ไม่มีเครื่องรองรับ กลิ้งไปได้ง่าย ที่มีเครื่องรองรับ กลิ้งไปได้ยาก
แม้ฉันใด จิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่ไม่มีธรรมเครื่องรองรับ กลับกลอกได้ง่าย ที่มีธรรม
เครื่องรองรับ กลับกลอกได้ยาก”
กุมภสูตรที่ ๗ จบ

๘. สมาธิสูตร
ว่าด้วยสมาธิ
[๒๘] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอริยสัมมาสมาธิที่มีอุปนิสะ๑บ้าง ที่มีบริขาร๒บ้าง
แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง
อริยสัมมาสมาธิที่มีอุปนิสะ ที่มีบริขาร อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๓. มิจฉัตตวรรค ๑๐. อุตติยสูตร
สภาวะที่จิตมีอารมณ์เดียว ซึ่งมีองค์ ๗ ประการนี้แวดล้อม เรียกว่า ‘อริย-
สัมมาสมาธิที่มีอุปนิสะ’ บ้าง ว่า ‘อริยสัมมาสมาธิที่มีบริขาร’ บ้าง”
สมาธิสูตรที่ ๘ จบ

๙. เวทนาสูตร
ว่าด้วยเวทนา
[๒๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ ประการนี้
เวทนา ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สุขเวทนา (ความรู้สึกสุข)
๒. ทุกขเวทนา (ความรู้สึกทุกข์)
๓. อทุกขมสุขเวทนา (ความรู้สึกที่มิใช่สุขมิใช่ทุกข์)
เวทนา ๓ ประการนี้

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลพึงเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อกำหนดรู้เวทนา ๓ ประการนี้
อริยมรรคมีองค์ ๘ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลพึงเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อกำหนดรู้เวทนา ๓
ประการนี้แล”
เวทนาสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. อุตติยสูตร
ว่าด้วยพระอุตติยะ
[๓๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้นแล ท่านพระอุตติยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ นั่ง ณ
ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๓. มิจฉัตตวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
วโรกาส ข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิดความคิดคำนึงขึ้นมาว่า ‘กามคุณ ๕
ประการ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้แล้ว’ กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง ที่พระผู้
มีพระภาคได้ตรัสไว้แล้ว”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ดีละ ดีละ อุตติยะ กามคุณ ๕ ประการนี้
เราได้กล่าวไว้แล้ว

กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปที่พึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
๒. เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู ...
๓. กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก ...
๔. รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น ...
๕. โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
กามคุณ ๕ ประการนี้ เราได้กล่าวไว้แล้ว

อุตติยะ บุคคลพึงเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อละกามคุณ ๕ ประการนี้
อริยมรรคมีองค์ ๘ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
อุตติยะ บุคคลพึงเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อละกามคุณ ๕ ประการนี้”
อุตติยสูตรที่ ๑๐ จบ
มิจฉัตตวรรคที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มิจฉัตตสูตร ๒. อกุสลธัมมสูตร
๓. ปฐมปฏิปทาสูตร ๔. ทุติยปฏิปทาสูตร
๕. ปฐมอสัปปุริสสูตร ๖. ทุติยอสัปปุริสสูตร
๗. กุมภสูตร ๘. สมาธิสูตร
๙. เวทนาสูตร ๑๐. อุตติยสูตร

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๔. ปฏิปัตติวรรค ๒. ทุติยปฏิปัตติสูตร

๔. ปฏิปัตติวรรค
หมวดว่าด้วยการปฏิบัติ
๑. ปฐมปฏิปัตติสูตร
ว่าด้วยการปฏิบัติ สูตรที่ ๑
[๓๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงมิจฉาปฏิบัติ (การปฏิบัติผิด)
และสัมมาปฏิบัติ (การปฏิบัติชอบ) แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง
มิจฉาปฏิบัติ อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. มิจฉาสมาธิ
นี้เรียกว่า มิจฉาปฏิบัติ
สัมมาปฏิบัติ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้เรียกว่า สัมมาปฏิบัติ”
ปฐมปฏิปัตติสูตรที่ ๑ จบ

๒. ทุติยปฏิปัตติสูตร
ว่าด้วยการปฏิบัติ สูตรที่ ๒
[๓๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงบุคคลผู้ปฏิบัติผิดและบุคคลผู้ปฏิบัติชอบแก่เธอ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง
บุคคลผู้ปฏิบัติผิด เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ มีมิจฉาสมาธิ
บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ปฏิบัติผิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๔. ปฏิปัตติวรรค ๓. วิรัทธสูตร
บุคคลผู้ปฏิบัติชอบ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ มีสัมมาสมาธิ
บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ปฏิบัติชอบ”
ทุติยปฏิปัตติสูตรที่ ๒ จบ

๓. วิรัทธสูตร
ว่าด้วยธรรมที่บุคคลพลาด
[๓๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย อริยมรรคมีองค์ ๘ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งพลาด๑แล้ว
อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ก็ชื่อว่าเป็นอันบุคคลเหล่านั้น
พลาดแล้ว
อริยมรรคมีองค์ ๘ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งปรารภ๒แล้ว อริยมรรคมี
องค์ ๘ ที่ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ก็ชื่อว่าเป็นอันบุคคลเหล่านั้นปรารภแล้ว
อริยมรรคมีองค์ ๘ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
อริยมรรคมีองค์ ๘ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งพลาดแล้ว อริยมรรคมีองค์ ๘
ที่ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ก็ชื่อว่าเป็นอันบุคคลเหล่านั้นพลาดแล้ว
อริยมรรคมีองค์ ๘ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งปรารภแล้ว อริยมรรคมีองค์ ๘
ที่ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ก็ชื่อว่าเป็นอันบุคคลเหล่านั้นปรารภแล้ว”
วิรัทธสูตรที่ ๓ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๔. ปฏิปัตติวรรค ๔. ปารังคมสูตร

๔. ปารังคมสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ให้ถึงฝั่ง
[๓๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้วย่อมเป็น
ไปเพื่อถึงฝั่งโน้น๑ จากฝั่งนี้๒
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
ธรรม ๘ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อถึงฝั่งโน้น
จากฝั่งนี้”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา-
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“ในหมู่มนุษย์ เหล่าชนผู้ไปถึงฝั่งโน้นมีจำนวนน้อย
ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้เลาะไปตามฝั่งนี้ทั้งนั้น
ส่วนชนเหล่าใดประพฤติตามธรรม
ในธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยชอบ๓
ชนเหล่านั้นจักข้ามพ้นวัฏฏะ๔
อันเป็นบ่วงมารที่ข้ามได้แสนยาก จักถึงฝั่งโน้น

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๔. ปฏิปัตติวรรค ๕. ปฐมสามัญญสูตร
บัณฑิตละธรรมดำ๑แล้วพึงเจริญธรรมขาว๒
ออกจากที่มีน้ำ มาสู่ที่ไม่มีน้ำ๓
ละกามทั้งหลายแล้วเป็นผู้หมดความกังวล
พึงปรารถนาความยินดียิ่งในวิเวก๔ที่ยินดีได้ยากยิ่ง
บัณฑิตพึงชำระตนให้ผ่องแผ้ว
จากเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตทั้งหลาย
บัณฑิตเหล่าใดอบรมจิตโดยชอบ
ในองค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ทั้งหลาย
ไม่ถือมั่น ยินดีในนิพพานเป็นที่สละความถือมั่น
บัณฑิตเหล่านั้นสิ้นอาสวะแล้ว
มีความรุ่งเรือง ดับสนิทแล้วในโลก”๕
ปารังคมสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปฐมสามัญญสูตร
ว่าด้วยความเป็นสมณะ สูตรที่ ๑
[๓๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสามัญญะ (ความเป็นสมณะ) และสามัญญผล (ผล
แห่งความเป็นสมณะ) แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๔. ปฏิปัตติวรรค ๖. ทุติยสามัญญสูตร
สามัญญะ เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้เรียกว่า สามัญญะ
สามัญญผล เป็นอย่างไร
คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล
เหล่านี้เรียกว่า สามัญญผล”
ปฐมสามัญญสูตรที่ ๕ จบ

๖. ทุติยสามัญญสูตร
ว่าด้วยความเป็นสมณะ สูตรที่ ๒
[๓๖] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสามัญญะและประโยชน์แห่งสามัญญะ๑แก่เธอ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง
สามัญญะ เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้เรียกว่า สามัญญะ
ประโยชน์แห่งสามัญญะ เป็นอย่างไร
คือ ธรรมเป็นที่สิ้นราคะ โทสะ และโมหะ
นี้เรียกว่า ประโยชน์แห่งสามัญญะ”
ทุติยสามัญญสูตรที่ ๖ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๔. ปฏิปัตติวรรค ๘. ทุติยพรหมัญญสูตร

๗. ปฐมพรหมัญญสูตร
ว่าด้วยความเป็นพรหม สูตรที่ ๑
[๓๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงพรหมัญญะ (ความเป็นพรหม) และพรหมัญญ-
ผล๑ (ผลแห่งความเป็นพรหม) แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง
พรหมัญญะ เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้เรียกว่า พรหมัญญะ
พรหมัญญผล เป็นอย่างไร
คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล
เหล่านี้เรียกว่า พรหมัญญผล”
ปฐมพรหมัญญสูตรที่ ๗ จบ

๘. ทุติยพรหมัญญสูตร
ว่าด้วยความเป็นพรหม สูตรที่ ๒
[๓๘] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงพรหมัญญะและประโยชน์แห่งพรหมัญญะแก่เธอ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง
พรหมัญญะ เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้เรียกว่า พรหมัญญะ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๔. ปฏิปัตติวรรค ๑๐. ทุติยพรหมจริยสูตร
ประโยชน์แห่งพรหมัญญะ เป็นอย่างไร
คือ ธรรมเป็นที่สิ้นราคะ โทสะ และโมหะ
นี้เรียกว่า ประโยชน์แห่งพรหมัญญะ”
ทุติยพรหมัญญสูตรที่ ๘ จบ

๙. ปฐมพรหมจริยสูตร
ว่าด้วยพรหมจรรย์ สูตรที่ ๑
[๓๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงพรหมจรรย์และผลแห่งพรหมจรรย์แก่เธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงฟัง
พรหมจรรย์ เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้เรียกว่า พรหมจรรย์
ผลแห่งพรหมจรรย์ เป็นอย่างไร
คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล
เหล่านี้เรียกว่า ผลแห่งพรหมจรรย์”
ปฐมพรหมจริยสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ทุติยพรหมจริยสูตร
ว่าด้วยพรหมจรรย์ สูตรที่ ๒
[๔๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงพรหมจรรย์และประโยชน์แห่งพรหมจรรย์แก่เธอ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๔. ปฏิปัตติวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พรหมจรรย์ เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้เรียกว่า พรหมจรรย์
ประโยชน์แห่งพรหมจรรย์ เป็นอย่างไร
คือ ธรรมเป็นที่สิ้นราคะ โทสะ และโมหะ
นี้เรียกว่า ประโยชน์แห่งพรหมจรรย์”
ทุติยพรหมจริยสูตรที่ ๑๐ จบ
ปฏิปัตติวรรคที่ ๔ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมปฏิปัตติสูตร ๒. ทุติยปฏิปัตติสูตร
๓. วิรัทธสูตร ๔. ปารังคมสูตร
๕. ปฐมสามัญญสูตร ๖. ทุติยสามัญญสูตร
๗. ปฐมพรหมัญญสูตร ๘. ทุติยพรหมัญญสูตร
๙. ปฐมพรหมจริยสูตร ๑๐. ทุติยพรหมจริยสูตร

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๕. อัญญติตถิยเปยยาลวรรค ๑. ราควิราคสูตร

๕. อัญญติตถิยเปยยาลวรรค
หมวดว่าด้วยอัญญติตถิยเปยยาล
๑. ราควิราคสูตร
ว่าด้วยมรรคและปฏิปทาเพื่อสำรอกราคะ
[๔๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญเดียรถีย์๑ปริพาชกพึงถาม
เธอทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ใน
พระสมณโคดมเพื่อต้องการอะไร’ เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้ พึงตอบอัญเดียรถีย์-
ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย เราทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ใน
พระผู้มีพระภาคเพื่อสำรอกราคะ’
อนึ่ง ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก พึงถามเธอทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย มีมรรค มีปฏิปทาเพื่อสำรอกราคะอยู่หรือ’ เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้
พึงตอบอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย มีมรรค มีปฏิปทา
เพื่อสำรอกราคะอยู่’
มรรค เป็นอย่างไร ปฏิปทาเพื่อสำรอกราคะ เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้คือมรรค นี้คือปฏิปทาเพื่อสำรอกราคะ
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้ พึงตอบอัญเดียรถีย์ปริพาชก
เหล่านั้นอย่างนี้”
ราควิราคสูตรที่ ๑ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๕. อัญญติตถิยเปยยาลวรรค ๒-๗. สังโยชนัปปหานาทิสุตตฉักกะ

๒-๗. สังโยชนัปปหานาทิสุตตฉักกะ
ว่าด้วยพระสูตร ๖ สูตร มีสังโยชนปหานสูตรเป็นต้น
[๔๒-๔๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกพึงถามเธอทั้งหลายอย่างนี้ว่า
‘ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเพื่อ
ต้องการอะไร’ เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้ พึงตอบอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
อย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย เราทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค
เพื่อละสังโยชน์๑ ฯลฯ
‘ท่านทั้งหลาย เราทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อ
ถอนอนุสัย๒ ฯลฯ
‘ท่านทั้งหลาย เราทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อ
กำหนด รู้อัทธานะ (ทางไกล) ฯลฯ
‘ท่านทั้งหลาย เราทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อ
ความสิ้นอาสวะ๓ ฯลฯ
‘ท่านทั้งหลาย เราทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อทำ
ให้แจ้งผลแห่งวิชชาและวิมุตติ๔ ฯลฯ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๕. อัญญติตถิยเปยยาลวรรค ๘. อนุปาทาปรินิพพานสูตร
‘ท่านทั้งหลาย เราทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อ
ญาณทัสสนะ๑ ฯลฯ
สังโยชนัปปหานาทิสุตตฉักกะที่ ๒-๗ จบ

๘. อนุปาทาปรินิพพานสูตร
ว่าด้วยมรรคและปฏิปทาเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน
[๔๘] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกพึงถาม
เธอทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ใน
พระสมณโคดมเพื่อต้องการอะไร’ เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้พึงตอบอัญเดียรถีย์-
ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย เราทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ใน
พระผู้มีพระภาคเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน (ความดับไม่มีเชื้อ)’
อนึ่ง ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก พึงถามเธอทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย มีมรรค มีปฏิปทาเพื่ออนุปาทาปรินิพพานอยู่หรือ’
เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้ พึงตอบว่า ‘ท่านทั้งหลาย มีมรรค มีปฏิปทา
เพื่ออนุปาทาปรินิพพานอยู่’
มรรค เป็นอย่างไร ปฏิปทาเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้คือมรรค นี้คือปฏิปทาเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๕. อัญญติตถิยเปยยาลวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้ พึงตอบอัญเดียรถีย์ปริพาชก
เหล่านั้นอย่างนี้”
อนุปาทาปรินิพพานสูตรที่ ๘ จบ
อัญญติตถิยเปยยาลวรรคที่ ๕ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ราควิราคสูตร ๒-๗. สังโยชนัปปหานาทิสุตตฉักกะ
๘. อนุปาทาปรินิพพานสูตร

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๖. สุริยเปยยาลวรรค ๑. กัลยาณมิตตสูตร

๖. สุริยเปยยาลวรรค
หมวดว่าด้วยสุริยเปยยาล
๑. กัลยาณมิตตสูตร
ว่าด้วยกัลยาณมิตร
[๔๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์กำลังจะอุทัย ย่อมมี
แสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด กัลยาณมิตตตา (ความเป็นผู้มีมิตรดี) ก็
เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตเพื่อความเกิดขึ้นแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ฉันนั้น
ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร (มิตรดี) พึงหวังข้อนี้ได้ว่า ‘จักเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘
ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก’

ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตรเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก
อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป
ในโวสสัคคะ
ฯลฯ
๘. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป
ในโวสสัคคะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตรเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค
มีองค์ ๘ ให้มาก อย่างนี้แล”
กัลยาณมิตตสูตรที่ ๑ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๖. สุริยเปยยาลวรรค ๗. โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตร

๒-๖. สีลสัมปทาทิสุตตปัญจกะ
ว่าด้วยพระสูตร ๕ สูตร มีสีลสัมปทาสูตรเป็นต้น
[๕๐-๕๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์กำลังจะอุทัย ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็น
บุพนิมิต ฉันใด สีลสัมปทา๑ ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตเพื่อความเกิดขึ้นแห่งอริยมรรค
มีองค์ ๘ ฉันนั้น
ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีลพึงหวังข้อนี้ได้ว่า ฯลฯ
ฉันทสัมปทา๒ ฯลฯ
อัตตสัมปทา๓ ฯลฯ
ทิฏฐิสัมปทา๔ ฯลฯ
อัปปมาทสัมปทา๕ ฯลฯ
สีลสัมปทาทิสุตตปัญจกะที่ ๒-๖ จบ

๗. โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตร
ว่าด้วยโยนิโสมนสิการสัมปทา
[๕๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์กำลังจะอุทัย ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็น
บุพนิมิต ฉันใด โยนิโสมนสิการสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการมนสิการโดยแยบคาย)
ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตเพื่อความเกิดขึ้นแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ฉันนั้น

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๖. สุริยเปยยาลวรรค ๘. กัลยาณมิตตสูตร
ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการพึงหวังข้อนี้ได้ว่า ‘จักเจริญอริยมรรคมีองค์
๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก’
ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค
มีองค์ ๘ ให้มาก อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป
ในโวสสัคคะ
ฯลฯ
๘. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป
ในโวสสัคคะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำ
อริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก อย่างนี้แล”
โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตรที่ ๗ จบ

๘. กัลยาณมิตตสูตร
ว่าด้วยกัลยาณมิตร
[๕๖] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์กำลังจะอุทัย ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็น
บุพนิมิต ฉันใด กัลยาณมิตตตาก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตเพื่อความเกิดขึ้นแห่ง
อริยมรรคมีองค์ ๘ ฉันนั้น
ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตรพึงหวังข้อนี้ได้ว่า ‘จักเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริย-
มรรคมีองค์ ๘ ให้มาก’
ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตรเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก
อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๖. สุริยเปยยาลวรรค ๑๔. โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตร
๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันเป็นธรรมมีการกำจัดราคะ โทสะ และโมหะ
เป็นที่สุด
ฯลฯ
๘. เจริญสัมมาสมาธิอันเป็นธรรมมีการกำจัดราคะ โทสะ และโมหะ
เป็นที่สุด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตรเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค
มีองค์ ๘ ให้มาก อย่างนี้แล”
กัลยาณมิตตสูตรที่ ๘ จบ

๙-๑๓. สีลสัมปทาทิสุตตปัญจกะ
ว่าด้วยพระสูตร ๕ สูตร มีสีลสัมปทาสูตรเป็นต้น
[๕๗-๖๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์กำลังจะอุทัย ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็น
บุพนิมิต ฉันใด สีลสัมปทาก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตเพื่อความเกิดขึ้นแห่งอริยมรรค
มีองค์ ๘ ฉันนั้น ฯลฯ
ฉันทสัมปทา ฯลฯ
อัตตสัมปทา ฯลฯ
ทิฏฐิสัมปทา ฯลฯ
อัปปมาทสัมปทา ฯลฯ”
สีลสัมปทาทิสุตตปัญจกะที่ ๙-๑๓ จบ

๑๔. โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตร
ว่าด้วยโยนิโสมนสิการสัมปทา
[๖๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“... โยนิโสมนสิการสัมปทา ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๖. สุริยเปยยาลวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการพึงหวังข้อนี้ได้ว่า ‘จักเจริญอริยมรรคมีองค์
๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก’
ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค
มีองค์ ๘ ให้มาก อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันเป็นธรรมมีการกำจัดราคะ โทสะ และโมหะ
เป็นที่สุด
ฯลฯ
๘. เจริญสัมมาสมาธิอันเป็นธรรมมีการกำจัดราคะ โทสะ และโมหะ
เป็นที่สุด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำ
อริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก อย่างนี้แล”
โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตรที่ ๑๔ จบ
สุริยเปยยาลวรรคที่ ๖ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กัลยาณมิตตสูตร ๒-๖. สีลสัมปทาทิสุตตปัญจกะ
๗. โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตร ๘. กัลยาณมิตตสูตร
๙-๑๓. สีลสัมปทาทิสุตตปัญจกะ ๑๔. โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตร

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๗. เอกธัมมเปยยาลวรรค ๑. กัลยาณมิตตสูตร

๗. เอกธัมมเปยยาลวรรค
หมวดว่าด้วยเอกธัมมเปยยาล
๑. กัลยาณมิตตสูตร
ว่าด้วยกัลยาณมิตร
[๖๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเป็นเอก๑ มีอุปการะมาก
เพื่อความเกิดขึ้นแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘
ธรรมอันเป็นเอก คืออะไร
คือ กัลยาณมิตตตา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตรพึงหวังข้อนี้ได้ว่า ‘จักเจริญอริยมรรคมี
องค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก’
ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตรเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก
อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป
ในโวสสัคคะ
ฯลฯ
๘. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป
ในโวสสัคคะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตรเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค
มีองค์ ๘ ให้มาก อย่างนี้แล”
กัลยาณมิตตสูตรที่ ๑ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๗. เอกธัมมเปยยาลวรรค ๗. โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตร

๒-๖. สีลสัมปทาทิสุตตปัญจกะ
ว่าด้วยพระสูตร ๕ สูตร มีสีลสัมปทาสูตรเป็นต้น
[๖๔-๖๘] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเป็นเอก มีอุปการะมากเพื่อความเกิดขึ้นแห่งอริย-
มรรคมีองค์ ๘
ธรรมอันเป็นเอก คืออะไร
คือ สีลสัมปทา ฯลฯ
คือ ฉันทสัมปทา ฯลฯ
คือ อัตตสัมปทา ฯลฯ
คือ ทิฏฐิสัมปทา ฯลฯ
คือ อัปปมาทสัมปทา ฯลฯ
สีลสัมปทาทิสุตตปัญจกะที่ ๒-๖ จบ

๗. โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตร
ว่าด้วยโยนิโสมนสิการสัมปทา
[๖๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ ... คือ โยนิโสมนสิการสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการมนสิการโดย
แยบคาย)
ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการพึงหวังข้อนี้ได้ว่า ‘จักเจริญอริยมรรค
มีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก’
ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค
มีองค์ ๘ ให้มาก อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป
ในโวสสัคคะ
ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๗. เอกธัมมเปยยาลวรรค ๘. กัลยาณมิตตสูตร
๘. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป
ในโวสสัคคะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำ
อริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก อย่างนี้แล”
โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตรที่ ๗ จบ

๘. กัลยาณมิตตสูตร
ว่าด้วยกัลยาณมิตร
[๗๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเป็นเอก มีอุปการะมากเพื่อความเกิดขึ้นแห่งอริยมรรค
มีองค์ ๘
ธรรมอันเป็นเอก คืออะไร
คือ กัลยาณมิตตตา
ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตรพึงหวังข้อนี้ได้ว่า ‘จักเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริย-
มรรคมีองค์ ๘ ให้มาก’
ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตรเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก
อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันเป็นธรรมมีการกำจัดราคะ โทสะ และโมหะ
เป็นที่สุด
ฯลฯ
๘. เจริญสัมมาสมาธิอันเป็นธรรมมีการกำจัดราคะ โทสะ และโมหะ
เป็นที่สุด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตรเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค
มีองค์ ๘ ให้มาก อย่างนี้แล”
กัลยาณมิตตสูตรที่ ๘ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๗. เอกธัมมเปยยาลวรรค ๑๔. โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตร

๙-๑๓. สีลสัมปทาทิสุตตปัญจกะ
ว่าด้วยพระสูตร ๕ สูตร มีสีลสัมปทาสูตรเป็นต้น
[๗๑-๗๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเป็นเอก มีอุปการะมากเพื่อความเกิดขึ้นแห่งอริยมรรค
มีองค์ ๘
ธรรมอันเป็นเอก คืออะไร
คือ สีลสัมปทา ฯลฯ
คือ ฉันทสัมปทา ฯลฯ
คือ อัตตสัมปทา ฯลฯ
คือ ทิฏฐิสัมปทา ฯลฯ
คือ อัปปมาทสัมปทา ฯลฯ
สีลสัมปทาทิสุตตปัญจกะที่ ๙-๑๓ จบ

๑๔. โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตร
ว่าด้วยโยนิโสมนสิการสัมปทา
[๗๖] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“... คือ โยนิโสมนสิการสัมปทา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการพึงหวังข้อนี้ได้ว่า ‘จักเจริญ
อริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก’
ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค
มีองค์ ๘ ให้มาก อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เจริญสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ
๘. เจริญสัมมาสมาธิอันเป็นธรรมมีการกำจัดราคะ โทสะ และโมหะ
เป็นที่สุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๗. เอกธัมมเปยยาลวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘
ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก อย่างนี้แล”
โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตรที่ ๑๔ จบ
เอกธัมมเปยยาลวรรคที่ ๗ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กัลยาณมิตตสูตร ๒-๖. สีลสัมปทาทิสุตตปัญจกะ
๗. โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตร ๘. กัลยาณมิตตสูตร
๙-๑๓. สีลสัมปทาทิสุตตปัญจกะ ๑๔. โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตร

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๘. ทุติยเอกธัมมเปยยาลวรรค ๑. กัลยาณมิตตสูตร

๘. ทุติยเอกธัมมเปยยาลวรรค
หมวดว่าด้วยเอกธัมมเปยยาลที่ ๒
๑. กัลยาณมิตตสูตร
ว่าด้วยกัลยาณมิตร
[๗๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่พิจารณาเห็นธรรมอื่นแม้
อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น หรือเป็นเหตุให้
อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่เกิดขึ้นแล้วถึงความเจริญเต็มที่ เหมือนกัลยาณมิตตตา
(ความเป็นผู้มีมิตรดี) นี้
ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตรพึงหวังข้อนี้ได้ว่า ‘จักเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริย-
มรรคมีองค์ ๘ ให้มาก’
ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตรเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก
อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก ฯลฯ
๘. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป
ในโวสสัคคะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตรเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมี
องค์ ๘ ให้มาก อย่างนี้แล”
กัลยาณมิตตสูตรที่ ๑ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๘. ทุติยเอกธัมมเปยยาลวรรค ๗. โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตร

๒-๖. สีลสัมปทาทิสุตตปัญจกะ
ว่าด้วยพระสูตร ๕ สูตร มีสีลสัมปทาสูตรเป็นต้น
[๗๘-๘๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่พิจารณาเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้อริย-
มรรคมีองค์ ๘ ที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น หรือเป็นเหตุให้อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่เกิดขึ้น
แล้วถึงความเจริญเต็มที่ เหมือนสีลสัมปทานี้ ฯลฯ
เหมือนฉันทสัมปทานี้ ฯลฯ
เหมือนอัตตสัมปทานี้ ฯลฯ
เหมือนทิฏฐิสัมปทานี้ ฯลฯ
เหมือนอัปปมาทสัมปทานี้ ฯลฯ”
สีลสัมปทาทิสุตตปัญจกะที่ ๒-๖ จบ

๗. โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตร
ว่าด้วยโยนิโสมนสิการสัมปทา
[๘๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“... เหมือนโยนิโสมนสิการสัมปทานี้
ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการพึงหวังข้อนี้ได้ว่า ‘จักเจริญอริยมรรคมีองค์
๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก’
ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค
มีองค์ ๘ ให้มาก อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก ฯลฯ
๘. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป
ในโวสสัคคะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]
๘. ทุติยเอกธัมมเปยยาลวรรค ๘. กัลยาณมิตตสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘
ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก อย่างนี้แล”
โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตรที่ ๗ จบ

๘. กัลยาณมิตตสูตร
ว่าด้วยกัลยาณมิตร
[๘๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่พิจารณาเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้อริยมรรค
มีองค์ ๘ ที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น หรือเป็นเหตุให้อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่เกิดขึ้นแล้วถึง
ความเจริญเต็มที่ เหมือนกัลยาณมิตตตานี้
ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตรพึงหวังข้อนี้ได้ว่า ‘จักเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริย-
มรรคมีองค์ ๘ ให้มาก’
ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตรเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก
อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันเป็นธรรมมีการกำจัดราคะ โทสะ และโมหะ
เป็นที่สุด
ฯลฯ
๘. เจริญสัมมาสมาธิอันเป็นธรรมมีการกำจัดราคะ โทสะ และโมหะ
เป็นที่สุด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตรเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมี
องค์ ๘ ให้มาก อย่างนี้แล”
กัลยาณมิตตสูตรที่ ๘ จบ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น