Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๙-๒ หน้า ๕๓ - ๑๐๔

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙-๒ สุตตันตปิฎกที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย มหานิทเทส
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
กันของสภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย กิเลสเครื่องประกอบ(ตัณหา)มีกำลังน้อย
สภาวธรรมเหล่านี้แต่ละอย่างมีกำลังน้อยตลอดเวลา สภาวธรรมเหล่านี้แต่ละอย่าง
ไม่มั่นคง สภาวธรรมเหล่านี้ต่างก็ทำให้สภาวธรรมอื่นตกล่วงลงไป เพราะสภาวธรรม
เหล่านี้ต่างก็ไม่มีความต้านทาน สภาวธรรมเหล่านี้ต่างก็ไม่ดำรงกันและกันอยู่ได้
แม้สภาวธรรมที่ทำให้ธรรมเหล่านี้เกิดก็ไม่มี
อนึ่ง ธรรมไรๆ ก็มิได้เสื่อมไปเพราะธรรมไรๆ
เพราะขันธ์เหล่านี้ พึงถึงความแตกดับไปโดยประการทั้งปวง
ขันธ์เหล่านี้ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยก่อน
แม้เหตุปัจจัยที่เกิดก่อนก็แตกดับไปแล้วในกาลก่อน
ในกาลไหนๆ ขันธ์ที่เกิดก่อนและที่เกิดในภายหลัง
จึงไม่ได้เห็นกันและกัน
ชีวิตชื่อว่าเป็นของน้อย เพราะมีคุณค่าเพียงเล็กน้อย เป็นอย่างนี้
อนึ่ง เพราะเทียบกับชีวิตของเทวดาชั้นจาตุมหาราช ชีวิตของมนุษย์จึงน้อย
คือ เล็กน้อย นิดหน่อย ชั่วขณะ เร็วพลัน ประเดี๋ยวเดียว ตั้งอยู่ไม่นาน ดำรงอยู่
ไม่นาน เพราะเทียบกับชีวิตของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ... เทวดาชั้นยามา ... เทวดาชั้น
ดุสิต ... เทวดาชั้นนิมมานรดี ... เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ... เพราะเทียบเคียงกับ
ชีวิตของเทวดาชั้นพรหมกายิกา ชีวิตของมนุษย์จึงน้อย คือ เล็กน้อย นิดหน่อย
ชั่วขณะ เร็วพลัน ประเดี๋ยวเดียว ตั้งอยู่ไม่นาน ดำรงอยู่ไม่นาน สมจริงดังที่พระผู้มี
พระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย อายุของมนุษย์น้อย จำต้องไปสู่ปรโลก ต้อง
ประสบกับความตายที่เข้าใจกันอยู่ ควรทำกุศล ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ที่เกิดมาแล้ว
ไม่ตายไม่มี ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดมีชีวิตยืนนาน ผู้นั้นก็อยู่ได้เพียง ๑๐๐ ปี หรืออยู่ได้
เกินกว่านั้นก็มีน้อย”
(พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
มนุษย์มีอายุน้อย บุคคลผู้ฉลาดพึงดูหมิ่นชีวิตที่น้อยนั้น
พึงเร่งประพฤติธรรมเหมือนคนถูกไฟไหม้ศีรษะ ฉะนั้น
เพราะความตายจะไม่มาถึงไม่มี๑
วันคืนล่วงเลยไป ชีวิตก็ใกล้หมดสิ้นไป
อายุของสัตว์ทั้งหลายก็หมดสิ้นไป
เหมือนน้ำในแม่น้ำน้อยจะแห้งไป ฉะนั้น๒
ว่าด้วยปัญญาที่เรียกว่า ธี
คำว่า นักปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อย อธิบายว่า ชื่อว่านักปราชญ์
เพราะมีปัญญา ชื่อว่านักปราชญ์เพราะมีปัญญาเครื่องทรงจำ ชื่อว่านักปราชญ์เพราะ
สมบูรณ์ด้วยปัญญาเครื่องทรงจำ ชื่อว่านักปราชญ์เพราะติเตียนบาป
ปัญญาตรัสเรียกว่า ธี ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความ
เลือกเฟ้น ความสอดส่องธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความ
เข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้อย่างแจ่มแจ้ง
ความคิดค้น ความใคร่ครวญ ปัญญาดุจแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญา
เครื่องนำทาง ปัญญาเครื่องเห็นแจ้ง ความรู้ดี ปัญญาดุจปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์
ปัญญาพละ ปัญญาดุจศัสตรา ปัญญาดุจปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่าง
คือปัญญา ปัญญาดุจดวงประทีป ปัญญาดุจดวงแก้ว ความไม่หลงงมงาย ความ
เลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ชื่อว่านักปราชญ์ เพราะประกอบด้วยปัญญานั้น
อีกนัยหนึ่ง เป็นปราชญ์ในขันธ์ ปราชญ์ในธาตุ ปราชญ์ในอายตนะ ปราชญ์ใน
ปฏิจจสมุปบาท ปราชญ์ในสติปัฏฐาน ปราชญ์ในสัมมัปปธาน ปราชญ์ในอิทธิบาท
ปราชญ์ในอินทรีย์ ปราชญ์ในพละ ปราชญ์ในโพชฌงค์ ปราชญ์ในมรรค ปราชญ์ในผล
ปราชญ์ในนิพพาน นักปราชญ์เหล่านั้น กล่าว คือ พูด แสดง ชี้แจง อย่างนี้ว่า
ชีวิตของมนุษย์จึงน้อย เล็กน้อย นิดหน่อย ชั่วขณะ เร็วพลัน ประเดี๋ยวเดียว ตั้งอยู่
ไม่นาน ดำรงอยู่ไม่นาน รวมความว่า นักปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อย ด้วย
เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ส. ๑๕/๑๔๕/๑๓๐
๒ สํ.ส. ๑๕/๑๔๖/๑๓๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงศึกษาในที่นี้
พึงรู้จักกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกว่า เป็นกรรมที่ผิด
ไม่พึงประพฤติผิด เพราะเหตุแห่งกรรมที่ผิดนั้น
นักปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อย
[๑๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เราเห็นหมู่สัตว์นี้ ผู้ตกไปในอำนาจตัณหาในภพทั้งหลาย
กำลังดิ้นรนอยู่ในโลก
นรชนที่เลว ผู้ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่
ร่ำไรอยู่ใกล้ปากมัจจุราช
ว่าด้วยหมู่สัตว์ดิ้นรนอยู่ในโลกเพราะตัณหา
คำว่า เราเห็น ในคำว่า เราเห็น ... กำลังดิ้นรนอยู่ในโลก ได้แก่ เราเห็น
แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาดู ด้วยมังสจักขุบ้าง ด้วยทิพพจักขุบ้าง
ด้วยปัญญาจักขุบ้าง ด้วยพุทธจักขุบ้าง ด้วยสมันตจักขุบ้าง
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก
คำว่า กำลังดิ้นรนอยู่ อธิบายว่า เราเห็น แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ
พิจารณาดูหมู่สัตว์นี้ ผู้กำลังดิ้นรน กระเสือกกระสน ทุรนทุราย หวั่นไหว สั่นเทา
กระสับกระส่าย ด้วยความดิ้นรนเพราะตัณหา ดิ้นรนเพราะทิฏฐิ ดิ้นรนเพราะกิเลส
ดิ้นรนเพราะการประกอบ ดิ้นรนเพราะวิบาก ดิ้นรนเพราะทุจริต คือ
ผู้กำหนัดก็ดิ้นรนตามอำนาจราคะ
ผู้ขัดเคืองก็ดิ้นรนตามอำนาจโทสะ
ผู้หลงก็ดิ้นรนตามอำนาจโมหะ
ผู้ยึดติดก็ดิ้นรนตามอำนาจมานะ
ผู้ยึดถือก็ดิ้นรนตามอำนาจทิฏฐิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ผู้ฟุ้งซ่านก็ดิ้นรนตามอำนาจอุทธัจจะ
ผู้ลังเลก็ดิ้นรนตามอำนาจวิจิกิจฉา
ผู้ตกอยู่ในพลังกิเลสก็ดิ้นรนตามอำนาจอนุสัย
ดิ้นรนเพราะลาภ เพราะเสื่อมลาภ เพราะยศ เพราะเสื่อมยศ เพราะสรรเสริญ
เพราะนินทา เพราะสุข เพราะทุกข์
ดิ้นรนเพราะชาติ เพราะชรา เพราะพยาธิ เพราะมรณะ เพราะโสกะ(ความ
เศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกขะ(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ)
และอุปายาส(ความคับแค้นใจ)
ดิ้นรนเพราะทุกข์เนื่องจากการเกิดในนรก เพราะทุกข์เนื่องจากการเกิดใน
กำเนิดเดรัจฉาน เพราะทุกข์เนื่องจากการเกิดในเปตวิสัย เพราะทุกข์เนื่องจากการ
เกิดในโลกมนุษย์ เพราะทุกข์เนื่องจากการถือกำเนิดในครรภ์ เพราะทุกข์เนื่องจาก
การอยู่ในครรภ์ เพราะทุกข์เนื่องจากการคลอดจากครรภ์ เพราะทุกข์ที่สืบเนื่องจาก
ผู้เกิด เพราะทุกข์ของผู้เกิดที่เนื่องมาจากผู้อื่น เพราะทุกข์ที่เกิดจากความพยายาม
ของตนเอง เพราะทุกข์ที่เกิดจากความพยายามของผู้อื่น เพราะทุกข์ที่เกิดจากความ
ทุกข์กายทุกข์ใจ เพราะทุกข์ที่เกิดจากสังขาร เพราะทุกข์ที่เกิดจากความแปรผัน
ดิ้นรนเพราะทุกข์ที่เกิดจากโรคทางตา เพราะทุกข์ที่เกิดจากโรคทางหู เพราะ
ทุกข์ที่เกิดจากโรคทางจมูก เพราะทุกข์ที่เกิดจากโรคทางลิ้น เพราะทุกข์ที่เกิดจาก
โรคทางกาย เพราะทุกข์ที่เกิดจากโรคศีรษะ ... โรคหู ... โรคปาก ... โรคฟัน ... โรคไอ
... โรคหืด ... ไข้หวัด ... ไข้พิษ ... ไข้เชื่อมซึม ... โรคท้อง ... เป็นลมสลบ ... ลงแดง ...
จุกเสียด ... อหิวาตกโรค ... โรคเรื้อน ... ฝี ... กลาก ... มองคร่อ ... ลมบ้าหมู ...
หิดเปื่อย ... หิดด้าน ... หิด ... หูด ... โรคละลอก ... โรคดีซ่าน ... โรคเบาหวาน ...
โรคเริม ... โรคพุพอง ... โรคริดสีดวงทวาร ... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากดี ... ความ
เจ็บป่วยที่เกิดจากเสมหะ ... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากลม ... ไข้สันนิบาต ... ความ
เจ็บป่วยที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดูกาล .... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการผลัดเปลี่ยน
อิริยาบถไม่ได้ส่วนกัน ... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความพากเพียรเกินกำลัง ....
ความเจ็บป่วยที่เกิดจากผลกรรม ... ความหนาว ... ความร้อน ... ความหิว ...
ความกระหาย ... ปวดอุจจาระ ... ปวดปัสสาวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ดิ้นรนเพราะทุกข์ที่เกิดจากสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน
ทุกข์เพราะมารดาตาย ...ทุกข์เพราะบิดาตาย ... ทุกข์เพราะพี่ชายน้องชายตาย ...
ทุกข์เพราะพี่สาวน้องสาวตาย ... ทุกข์เพราะบุตรตาย ... ทุกข์เพราะธิดาตาย ...
ความพินาศของญาติ ... โภคทรัพย์พินาศ ... ความเสียหายที่เกิดจากโรค ... สีลวิบัติ
... ทิฏฐิวิบัติ รวมความว่า เราเห็น ... กำลังดิ้นรนอยู่ในโลก
คำว่า หมู่สัตว์ ในคำว่า หมู่สัตว์นี้ ผู้ตกไปในอำนาจตัณหาในภพทั้งหลาย
เป็นชื่อเรียกสัตว์
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา
โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า ผู้ตกไปในอำนาจตัณหา อธิบายว่า ผู้ตกไปในอำนาจตัณหา คือ
ไปตามอำนาจตัณหา ซ่านไปตามตัณหา จมลงในตัณหา ถูกตัณหาผลักให้ตกไป ถูก
ตัณหาครอบงำ มีจิตถูกตัณหายึดครอง
คำว่า ในภพทั้งหลาย ได้แก่ ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ รวมความว่า หมู่
สัตว์นี้ผู้ตกไปในอำนาจตัณหาในภพทั้งหลาย
คำว่า นรชนที่เลว ในคำว่า นรชนที่เลว ... ร่ำไรอยู่ใกล้ปากมัจจุราช
อธิบายว่า นรชน ที่เลว คือ ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย เพราะ
ประกอบด้วยกายกรรม ... วจีกรรม ... มโนกรรมที่เลว ... ปาณาติบาต ... อทินนาทาน
... กาเมสุมิจฉาจาร ... มุสาวาท ... ปิสุณาวาจา ... ผรุสวาจา ... สัมผัปปลาปะ ...
อภิชฌา ... พยาบาท ... มิจฉาทิฏฐิ ... สังขารทั้งหลาย .. กามคุณ ๕ ... นิวรณ์ ๕ ...
เจตนา ... ความปรารถนา ... ที่เลว คือ ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า
ต่ำต้อย เพราะประกอบด้วยความตั้งใจที่เลว รวมความว่า นรชนที่เลว
คำว่า ใกล้ปากมัจจุราช ในคำว่า ร่ำไรอยู่ใกล้ปากมัจจุราช อธิบายว่า
นรชนผู้ถึงมัจจุราช ประจวบกับมัจจุราช เข้าถึงมัจจุราช ถึงมาร ประจวบกับมาร
เข้าถึงมาร ถึงมรณะ ประจวบกับมรณะ เข้าถึงมรณะ ร่ำไร คือ รำพัน เศร้าโศก
ลำบากใจ คร่ำครวญ ตีอกพร่ำเพ้อ ถึงความหลงใหล ใกล้ปากมาร ใกล้ปากมรณะ
รวมความว่า นรชนที่เลว... ร่ำไรอยู่ใกล้ปากมัจจุราช

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า ผู้ยังไม่คลายจากตัณหาในภพน้อยภพใหญ่ อธิบายว่า
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา ... ธัมมตัณหา
คำว่า ในภพน้อยภพใหญ่ อธิบายว่า ในภพน้อยภพใหญ่ คือ ในกรรมวัฏ
และวิปากวัฏ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดใน
กามภพ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ใน
กรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในภพต่อไป
ในคติต่อไป ในการถือกำเนิดต่อไป ในปฏิสนธิต่อไป ในการบังเกิดของอัตภาพต่อไป
คำว่า ผู้ยังไม่คลายตัณหา ได้แก่ ผู้ยังไม่คลายตัณหา คือ ไม่ปราศจาก
ตัณหา ไม่สละตัณหา ไม่คายตัณหา ไม่เปลื้องตัณหา ไม่ละตัณหา ไม่สลัดทิ้งตัณหา
รวมความว่า ผู้ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า
เราเห็นหมู่สัตว์นี้ ผู้ตกไปในอำนาจตัณหาในภพทั้งหลาย
กำลังดิ้นรนอยู่ในโลก
นรชนที่เลว ผู้ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่
ร่ำไรอยู่ใกล้ปากมัจจุราช
[๑๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
พวกเธอจงดูหมู่สัตว์ผู้กำลังดิ้นรนอยู่
เพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
เหมือนฝูงปลาในน้ำน้อยสิ้นกระแสแล้ว
นรชนเห็นโทษนี้แล้วก็อย่าก่อตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในภพทั้งหลาย
พึงประพฤติไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา
ว่าด้วยความยึดถือ ๒ อย่าง
คำว่า พวกเธอจงดูหมู่สัตว์ผู้กำลังดิ้นรนอยู่ เพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็น
ของเรา อธิบายว่า
คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา ๒ อย่าง
คือ (๑) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือว่าเป็นของเรา
ด้วยอำนาจทิฏฐิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา เป็นอย่างไร
คือ วัตถุที่ทำให้เป็นเขต เป็นแดน เป็นส่วน เป็นแผนก กำหนดถือเอา ยึดถือ
ว่าเป็นของเรา ด้วยส่วนแห่งตัณหามีประมาณเท่าใด ย่อมยึดถือว่าเป็นของเราซึ่ง
วัตถุมีประมาณเท่านี้ว่า นี้ของเรา นั่นของเรา เท่านี้ของเรา ของเรามีปริมาณเท่านี้
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เครื่องปูลาด เครื่องนุ่งห่ม ทาสหญิงชาย แพะ แกะ
ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ที่นา ที่สวน เงิน ทอง บ้าน นิคม ราชธานี แคว้น
ชนบท กองพลรบ คลังหลวง แม้มหาปฐพีทั้งสิ้นย่อมยึดถือว่าเป็นของเราด้วย
อำนาจตัณหา ซึ่งจำแนกได้ ๑๐๘ นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจ
ตัณหา
ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ สักกายทิฏฐิมีวัตถุ๑ ๒๐ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ๒ ๑๐ อันตคาหิกทิฏฐิมีวัตถุ๓ ๑๐
ทิฏฐิ การตกอยู่ในทิฏฐิ ความรกชัฏคือทิฏฐิ ความกันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนามคือ
ทิฏฐิ ความดิ้นรนคือทิฏฐิ เครื่องผูกพันคือทิฏฐิ ความถือ ความถือมั่น ความยึดมั่น
ความยึดมั่นถือมั่น ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเดียรถีย์ ความถือขัดแย้ง ความ
ถือวิปริต ความถือวิปลาส ความถือผิด ความถือในสิ่งที่ไม่เป็นความจริงว่าเป็นจริง
เห็นปานนี้จนถึงทิฏฐิ ๖๒ นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ

เชิงอรรถ :
๑ สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ คือปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ -
(๑) ย่อมตามเห็นรูปเป็นอัตตา (๒) เห็นอัตตามีรูป (๓) เห็นรูปในอัตตา (๔) เห็นอัตตาในรูป (๕) ย่อมตาม
เห็นเวทนาเป็นอัตตา (๖) เห็นอัตตามีเวทนา (๗) เห็นเวทนาในอัตตา (๘) เห็นอัตตาในเวทนา (๙) ย่อม
ตามเห็นสัญญาเป็นอัตตา (๑๐) เห็นอัตตามีสัญญา (๑๑) เห็นสัญญาในอัตตา (๑๒) เห็นอัตตาในสัญญา
(๑๓) ย่อมตามเห็นสังขารเป็นอัตตา (๑๔) เห็นอัตตามีสังขาร (๑๕) เห็นสังขารในอัตตา (๑๖) เห็นอัตตาใน
สังขาร (๑๗) ย่อมตามเห็นวิญญาณเป็นอัตตา (๑๘) เห็นอัตตามีวิญญาณ (๑๙) เห็นวิญญาณในอัตตา
(๒๐) เห็นอัตตาในวิญญาณ (สํ.ข. ๑๗/๑๕๕/๑๔๙, ขุ.ม.อ. ๑๒/๑๕๘)
๒ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ คือ (๑) ทานที่ให้แล้วไม่มีผล (๒) การบูชาไม่มีผล (๓) การบวงสรวงไม่มีผล
(๔) กรรมที่ทำไว้ดีและทำไว้ไม่ดีไม่มีผล (๕) โลกนี้ไม่มี (๖) โลกหน้าไม่มี (๗) มารดาไม่มี (๘) บิดาไม่มี
(๙) สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะไม่มี (๑๐) สมณพราหมณ์ที่ดำเนินตนชอบ ปฏิบัติชอบ ผู้ทำให้แจ้งในโลกนี้และ
โลกหน้าด้วยตนเอง แล้วประกาศให้(ผู้อื่น)ทราบ ไม่มี (ขุ.จู. ๓๐/๑๔๓/๒๘๘)
๓ อันตคาหิกทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ หมายถึงความเห็นผิดแล่นไปสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง มี ๑๐ ประการ คือเห็นว่า
(๑) โลกเที่ยง (๒) โลกไม่เที่ยง (๓) โลกมีที่สุด (๔) โลกไม่มีที่สุด (๕) ชีวะกับสรีระ เป็นอย่างเดียวกัน (๖)
ชีวะกับสรีระ เป็นคนละอย่าง (๗) หลังจากตายไปตถาคตเกิดอีก (๘) หลังจากตายไปตถาคตไม่เกิดอีก (๙)
หลังจากตายไปตถาคตเกิดอีกก็ใช่ ไม่เกิดอีกก็ใช่ (๑๐) หลังจากตายไป ตถาคตเกิดอีกก็มิใช่ ไม่เกิดอีก
ก็มิใช่ (องฺ.ทสก. ๒๔/๙๓/๑๔๙-๑๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า พวกเธอจงดูหมู่สัตว์ผู้กำลังดิ้นรนอยู่ เพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็น
ของเรา อธิบายว่า หมู่สัตว์ผู้หวาดระแวงว่าจะมีผู้แย่งชิงวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
ย่อมดิ้นรนบ้าง เมื่อวัตถุนั้นกำลังถูกแย่งชิงไป ย่อมดิ้นรนบ้าง เมื่อวัตถุนั้นถูก
แย่งชิงไปแล้ว ย่อมดิ้นรนบ้าง หมู่สัตว์ผู้หวาดระแวงว่า จะมีความแปรผันไปแห่ง
วัตถุที่ตนยึดถือว่าเป็นของเรา ย่อมดิ้นรนบ้าง เมื่อวัตถุนั้นกำลังแปรผันไป ย่อมดิ้นรน
บ้าง เมื่อวัตถุนั้นแปรผันไปแล้ว ย่อมดิ้นรนบ้าง คือ กระวนกระวาย กระเสือกกระสน
ทุรนทุราย หวั่นไหว สั่นเทา กระสับกระส่ายอยู่ พวกเธอจงดู คือ แลดู มองดู
เพ่งพินิจ พิจารณาดูหมู่สัตว์ ผู้กำลังดิ้นรนอยู่ คือ กระวนกระวาย กระเสือกกระสน
ทุรนทุราย หวั่นไหว สั่นเทา กระสับกระส่ายอยู่อย่างนี้ รวมความว่า พวกเธอจงดู
หมู่สัตว์ผู้กำลังดิ้นรนอยู่ เพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
คำว่า เหมือนฝูงปลาในน้ำน้อยสิ้นกระแสแล้ว อธิบายว่า หมู่สัตว์ผู้หวาด
ระแวงว่าจะมีผู้แย่งชิงวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา ย่อมดิ้นรนบ้าง เมื่อวัตถุนั้นกำลัง
ถูกแย่งชิงไป ย่อมดิ้นรนบ้าง เมื่อวัตถุนั้นถูกแย่งชิงไปแล้ว ย่อมดิ้นรนบ้าง
หมู่สัตว์ผู้หวาดระแวงว่าจะมีความแปรผันไปแห่งวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
ย่อมดิ้นรนบ้าง เมื่อวัตถุนั้นกำลังแปรผันไป ย่อมดิ้นรนบ้าง เมื่อวัตถุนั้นแปรผันไป
แล้ว ย่อมดิ้นรนบ้าง คือกระวนกระวาย กระเสือกกระสน ทุรนทุราย หวั่นไหว
สั่นเทา กระสับกระส่ายอยู่ เหมือนฝูงปลาในน้ำน้อย คือ น้ำนิดหน่อย น้ำแห้ง
ไป ถูกกา เหยี่ยว หรือนกยางโฉบลากขึ้นมาแทะกินก็ดิ้นรน กระวนกระวาย
กระเสือกกระสน ทุรนทุราย หวั่นไหว สั่นเทา กระสับกระส่ายอยู่ ฉะนั้น รวม
ความว่า เหมือนฝูงปลาในน้ำน้อยสิ้นกระแสแล้ว
คำว่า นรชนเห็นโทษนี้แล้ว ... พึงประพฤติไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา อธิบาย
ว่า นรชนเห็นแล้ว คือ แลเห็นแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว
ทำให้แจ่มแจ้งแล้วซึ่งโทษนี้เพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา รวมความว่า นรชนเห็น
โทษนี้แล้ว
คำว่า พึงประพฤติไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา อธิบายว่า
คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา ๒ อย่าง
คือ (๑) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือว่าเป็นของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่า
ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ
นรชนละความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความยึด
ถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว ไม่ยึดถือตาว่าเป็นของเรา ไม่ยึดถือหูว่าเป็น
ของเรา ไม่ยึดถือจมูกว่าเป็นของเรา ไม่ยึดถือลิ้นว่าเป็นของเรา ไม่ยึดถือกายว่าเป็น
ของเรา ไม่ยึดถือใจว่าเป็นของเรา ไม่ยึดถือ ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น รูป ... เสียง ...
กลิ่น ... รส ... โผฏฐัพพะ ... ธรรมารมณ์ ... ตระกูล ... หมู่คณะ ... อาวาส ... ลาภ ...
ยศ ... สรรเสริญ ... สุข ... จีวร ... บิณฑบาต ... เสนาสนะ ... คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
... กามธาตุ ... รูปธาตุ ... อรูปธาตุ ... กามภพ ... รูปภพ ... อรูปภพ ... สัญญาภพ
... อสัญญาภพ ... เนวสัญญานาสัญญาภพ ... เอกโวการภพ๑ ... จตุโวการภพ๒ ...
ปัญจโวการภพ๓ ... อดีต ... อนาคต ... ปัจจุบัน ... รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น
รส โผฏฐัพพะที่รับรู้ และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งว่าเป็นของเรา พึงประพฤติ คือ
อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า นรชน
เห็นโทษนี้แล้ว ... พึงประพฤติไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา
คำว่า ในภพทั้งหลาย ในคำว่า อย่าก่อตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในภพ
ทั้งหลาย ได้แก่ ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ตัณหาตรัสเรียกว่า เครื่องเกี่ยวข้อง
คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๔
คำว่า อย่าก่อตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในภพทั้งหลาย อธิบายว่า อย่าก่อ
ตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในภพทั้งหลาย คือ อย่าก่อ อย่าให้เกิด อย่าให้เกิดขึ้น
อย่าให้บังเกิด อย่าให้บังเกิดขึ้นซึ่งความพอใจ ความรัก ความใคร่ ความชอบใจ
รวมความว่า อย่าก่อตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในภพทั้งหลาย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี

เชิงอรรถ :-
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๒
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๒
๓ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๒
๔ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๐-๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
พวกเธอจงดูหมู่สัตว์ผู้กำลังดิ้นรนอยู่
เพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
เหมือนฝูงปลาในน้ำน้อยสิ้นกระแสแล้ว
นรชนเห็นโทษนี้แล้ว ก็อย่าก่อตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในภพทั้งหลาย
พึงประพฤติไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา
[๑๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
นักปราชญ์ พึงกำจัดความพอใจในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน
กำหนดรู้ผัสสะแล้ว ก็ไม่ติดใจ
ติเตียนกรรมใดด้วยตน ก็ไม่ทำกรรมนั้น
ไม่ติดในสิ่งที่ได้เห็นและได้ยินแล้ว
คำว่า พึงกำจัดความพอใจในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน อธิบายว่า
คำว่า ส่วนสุด ได้แก่ ผัสสะ เป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง เหตุเกิดแห่งผัสสะเป็นส่วน
สุดอีกด้านหนึ่ง อดีตเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง อนาคตเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง สุขเวทนา
เป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง ทุกขเวทนาเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง นามเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง
รูปเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง อายตนะภายใน ๖ เป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง อายตนะภายนอก
๖ เป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง ความถือตัวเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง เหตุเกิดแห่งความถือ
ตัวเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง
คำว่า ความพอใจ ได้แก่ ความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ ความกำหนัด
ด้วยอำนาจความใคร่ ความเพลิดเพลินด้วยอำนาจความใคร่ ความทะยานอยาก
ด้วยอำนาจความใคร่ ความเยื่อใยด้วยอำนาจความใคร่ ความเร่าร้อนด้วยอำนาจ
ความใคร่ ความสยบด้วยอำนาจความใคร่ ความติดใจด้วยอำนาจความใคร่ ห้วงน้ำ
คือความใคร่ กิเลสเครื่องประกอบคือความใคร่ ความยึดถือด้วยอำนาจความใคร่
กิเลสเครื่องกั้นจิตคือความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ในกามทั้งหลาย
คำว่า พึงกำจัดความพอใจในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน ได้แก่ พึงกำจัด คือ ขจัด
ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความพอใจในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน
รวมความว่า พึงกำจัดความพอใจในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยผัสสะต่าง ๆ
คำว่า กำหนดรู้ผัสสะแล้ว ก็ไม่ติดใจ อธิบายว่า
คำว่า ผัสสะ๑ ได้แก่ จักขุสัมผัส(สัมผัสทางตา) โสตสัมผัส(สัมผัสทางหู)
ฆานสัมผัส(สัมผัสทางจมูก) ชิวหาสัมผัส(สัมผัสทางลิ้น) กายสัมผัส(สัมผัสทางกาย)
มโนสัมผัส(สัมผัสทางใจ) อธิวจนสัมผัส(สัมผัสที่เกิดทางมโนทวาร) ปฏิฆสัมผัส
(สัมผัสแห่งการกระทบใจ) สุขเวทนียผัสสะ(ผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา) ทุกข-
เวทนียผัสสะ(ผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา) อทุกขมสุขเวทนียผัสสะ(ผัสสะเป็นที่ตั้ง
แห่งอทุกขมสุขเวทนา) ผัสสะที่เป็นกุศล ผัสสะที่เป็นอกุศล ผัสสะที่เป็นอัพยากฤต
ผัสสะที่เป็นกามาวจร ผัสสะที่เป็นรูปาวจร ผัสสะที่เป็นอรูปาวจร สุญญตผัสสะ
อนิมิตตผัสสะ อัปปณิหิตผัสสะ ผัสสะที่เป็นโลกิยะ ผัสสะที่เป็นโลกุตตระ ผัสสะที่
เป็นอดีต ผัสสะที่เป็นอนาคต ผัสสะที่เป็นปัจจุบัน ผัสสะ ความถูกต้อง กิริยาที่
ถูกต้อง ภาวะที่ถูกต้องเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ผัสสะ
ว่าด้วยปริญญา ๓
คำว่า กำหนดรู้ผัสสะแล้ว อธิบายว่า กำหนดรู้ผัสสะด้วยปริญญา ๓ คือ
(๑) ญาตปริญญา(การกำหนดรู้ขั้นรู้จัก) (๒) ตีรณปริญญา(การกำหนดรู้ขั้นพิจารณา)
(๓) ปหานปริญญา(การกำหนดรู้ขั้นละ)
ญาตปริญญา เป็นอย่างไร
คือ นักปราชญ์รู้จักผัสสะ คือ รู้ เห็นว่า “นี้จักขุสัมผัส นี้โสตสัมผัส นี้ฆานสัมผัส
นี้ชิวหาสัมผัส นี้กายสัมผัส นี้มโนสัมผัส นี้อธิวจนสัมผัส นี้ปฏิฆสัมผัส นี้ผัสสะเป็น
ที่ตั้งแห่งสุขเวทนา นี้ผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา นี้ผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุข-
เวทนา นี้ผัสสะที่เป็นกุศล นี้ผัสสะที่เป็นอกุศล นี้ผัสสะที่เป็นอัพยากฤต นี้ผัสสะที่

เชิงอรรถ :
๑ ผัสสะ หมายถึงความสัมผัสอารมณ์ที่มากระทบ เช่น ตากระทบกับรูป หรือตาเห็นรูป เรียกว่า จักขุสัมผัส
เป็นต้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
เป็นกามาวจร นี้ผัสสะที่เป็นรูปาวจร นี้ผัสสะที่เป็นอรูปาวจร นี้สุญญตผัสสะ
นี้อนิมิตตผัสสะ นี้อัปปณิหิตผัสสะ นี้ผัสสะที่เป็นโลกิยะ นี้ผัสสะที่เป็นโลกุตตระ
นี้ผัสสะที่เป็นอดีต นี้ผัสสะที่เป็นอนาคต นี้ผัสสะที่เป็นปัจจุบัน” นี้ชื่อว่าญาตปริญญา
ตีรณปริญญา เป็นอย่างไร
คือ นักปราชญ์ทำสิ่งที่รู้แล้วให้ปรากฏอย่างนี้แล้ว พิจารณาผัสสะ คือ
พิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร
เป็นของลำบาก เป็นอาพาธ เป็นอย่างอื่น(บังคับไม่ได้) เป็นของทรุดโทรม เป็นเสนียด
เป็นอุปัททวะ เป็นภัย เป็นอุปสรรค เป็นของหวั่นไหว เป็นของผุพัง เป็นของไม่ยั่งยืน
เป็นของไม่มีที่ต้านทาน เป็นของไม่มีที่ซ่อนเร้น เป็นของไม่มีที่พึ่ง เป็นของว่าง
เป็นของเปล่า เป็นของสูญ เป็นอนัตตา เป็นของมีโทษ เป็นของแปรผันไปเป็น
ธรรมดา เป็นของไม่มีแก่นสาร เป็นเหตุแห่งความลำบาก เป็นดุจเพชฌฆาต เป็น
ของปราศจากความเจริญ เป็นของมีอาสวะ เป็นของที่ถูกเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เป็น
เหยื่อแห่งมาร มีชาติ(ความเกิด)เป็นธรรมดา มีชรา(ความแก่)เป็นธรรมดา
มีพยาธิ(ความเจ็บป่วย)เป็นธรรมดา มีมรณะเป็นธรรมดา มีโสกะ(ความเศร้าโศก)
ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกขะ(ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) อุปายาส
(ความคับแค้นใจ)เป็นธรรมดา มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา เป็นเหตุเกิดทุกข์
ตั้งอยู่ไม่ได้ หาความแช่มชื่นไม่ได้ เป็นโทษ เป็นของที่ต้องสลัดออกไป นี้ชื่อว่า
ตีรณปริญญา
ปหานปริญญา เป็นอย่างไร
คือ นักปราชญ์ครั้นพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ย่อมละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในผัสสะ สมจริงดังที่พระ
ผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละความกำหนัดด้วยอำนาจ
ความพอใจในผัสสะทั้งหลายเสีย ผัสสะนั้น เธอทั้งหลายละได้เด็ดขาดแล้วอย่างนี้
ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้
ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้” นี้ชื่อว่าปหานปริญญา
คำว่า กำหนดรู้ผัสสะแล้ว ได้แก่ กำหนดรู้ผัสสะด้วยปริญญา ๓ อย่าง
เหล่านี้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่ติดใจ อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความติดใจ ได้แก่ ความ
กำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๑
ความติดใจนี้ ผู้ใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นเรียกว่า ผู้ไม่ติดใจ ผู้นั้นไม่ติดใจ
คือ ไม่ยินดี ไม่สยบ ไม่หมกมุ่นในรูป...เสียง ... กลิ่น ... รส ... โผฏฐัพพะ ... ตระกูล ...
หมู่คณะ ... อาวาส ... ลาภ ... ยศ ... สรรเสริญ ... สุข ... จีวร ... บิณฑบาต ... เสนาสนะ
... คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ... กามธาตุ ... รูปธาตุ ... อรูปธาตุ ... กามภพ ... รูปภพ
... อรูปภพ ... สัญญาภพ ... อสัญญาภพ ... เนวสัญญานาสัญญาภพ ... เอกโวการภพ
... จตุโวการภพ ... ปัญจโวการภพ ...อดีต ... อนาคต ... ปัจจุบัน ... รูปที่ได้เห็น
เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รับรู้ และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง ได้แก่ เป็นผู้
คลายความติดใจแล้ว ปราศจากความติดใจแล้ว สละความติดใจแล้ว คายความติดใจ
แล้ว ปล่อยความติดใจแล้ว ละความติดใจแล้ว สลัดทิ้งความติดใจแล้ว คือเป็นผู้
คลายความกำหนัดแล้ว ปราศจากราคะแล้ว สละราคะแล้ว คายราคะแล้ว ปล่อย
ราคะแล้ว ละราคะแล้ว สลัดทิ้งราคะแล้ว เป็นผู้หมดความอยากแล้ว ดับแล้ว
เย็นแล้ว มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ รวมความว่า กำหนดรู้ผัสสะแล้วก็ไม่ติดใจ
คำว่า ใด ในคำว่า ติเตียนกรรมใดด้วยตนก็ไม่ทำกรรมนั้น ได้แก่ กรรมใด
คำว่า ติเตียน (กรรม)ใดด้วยตน อธิบายว่า นักปราชญ์ติเตียนตนเพราะเหตุ
๒ อย่าง คือ (๑) เพราะทำ (๒) เพราะไม่ทำ
นักปราชญ์ติเตียนตนเพราะทำและเพราะไม่ทำ เป็นอย่างไร
คือ นักปราชญ์ย่อมติเตียนตนว่า เราทำกายทุจริต ไม่ทำกายสุจริต เราทำวจี
ทุจริต ไม่ทำวจีสุจริต เราทำมโนทุจริต ไม่ทำมโนสุจริต คือ นักปราชญ์ย่อมติเตียน
ตนว่า เราทำปาณาติบาต(การฆ่าสัตว์) ไม่ทำความงดเว้นจากปาณาติบาต เราทำ
อทินนาทาน (การลักทรัพย์) ไม่ทำความงดเว้นจากอทินนาทาน เราทำกาเมสุมิจฉา-
จาร(ประพฤติผิดในกาม) ไม่ทำความงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร เราทำมุสาวาท


เชิงอรรถ :
๑ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๐-๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
(การพูดเท็จ) ไม่ทำความงดเว้นจากมุสาวาท เราทำปิสุณาวาจา(การพูดส่อเสียด)
ไม่ทำความงดเว้น จากปิสุณาวาจา เราทำผรุสวาจา (การพูดหยาบคาย) ไม่ทำ
ความงดเว้นจากผรุสวาจา เราทำสัมผัปปลาปะ(การพูดเพ้อเจ้อ) ไม่ทำความงดเว้น
จากสัมผัปปลาปะ เราทำอภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา) ไม่ทำอนภิชฌา เรา
ทำพยาบาท(ความคิดปองร้าย) ไม่ทำอัพยาบาท เราทำมิจฉาทิฏฐิ(ความเห็นผิด)
ไม่ทำสัมมาทิฏฐิ นักปราชญ์ชื่อว่าติเตียนตนเพราะทำและเพราะไม่ทำ เป็นอย่างนี้
อีกนัยหนึ่ง นักปราชญ์ย่อมติเตียนตนว่า เราไม่รักษาศีลให้บริบูรณ์ ไม่สำรวม
ในอินทรีย์ทั้ง ๖ ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ไม่ประกอบความเพียรเครื่อง
ตื่นอยู่เสมอ ไม่หมั่นประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่เจริญสติปัฏฐาน ๔ ไม่เจริญ
สัมมัปปธาน ๔ ไม่เจริญอิทธิบาท ๔ ไม่เจริญอินทรีย์ ๕ ไม่เจริญพละ ๕ ไม่เจริญ
โพชฌงค์ ๗ ไม่เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่กำหนดรู้ทุกข์ ไม่ละสมุทัย ไม่เจริญ
มรรค ไม่ทำให้แจ้งนิโรธ นักปราชญ์ชื่อว่าติเตียนตนเพราะทำและเพราะไม่ทำ เป็นอย่างนี้
นักปราชญ์ไม่ทำ คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้นซึ่ง
กรรมที่ติเตียนตน ด้วยอาการอย่างนี้ รวมความว่า นักปราชญ์ติเตียนกรรมใดด้วย
ตนก็ไม่ทำกรรมนั้น
คำว่า นักปราชญ์ ... ไม่ติดในสิ่งที่ได้เห็นและได้ยินแล้ว อธิบายว่า
คำว่า ความติด ได้แก่ ความติด ๒ อย่าง คือ (๑) ความติดด้วยอำนาจตัณหา
(๒) ความติดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความติดด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าความ
ติดด้วยอำนาจทิฏฐิ๑
คำว่า นักปราชญ์ ได้แก่ นักปราชญ์ คือ ผู้เป็นบัณฑิต ผู้มีปัญญา ผู้มีปัญญา
เครื่องตรัสรู้ ผู้มีญาณ ผู้มีปัญญาแจ่มแจ้ง ผู้มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
นักปราชญ์ละความติดด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความติดด้วยอำนาจทิฏฐิ
ได้แล้ว ไม่ติด คือ ไม่ติดพัน ไม่เข้าไปติดในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส
โผฏฐัพพะที่รับรู้และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง คือ เป็นผู้ไม่ติดแล้ว ไม่ติดพันแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ เทียบกับความในข้อ ๑๒/๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ไม่เข้าไปติดแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้ว มีใจเป็น
อิสระ(จากความติด)อยู่ รวมความว่า นักปราชญ์ ... ไม่ติดในสิ่งที่ได้เห็นและ
ได้ยินแล้ว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
นักปราชญ์ พึงกำจัดความพอใจในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน
กำหนดรู้ผัสสะแล้ว ก็ไม่ติดใจ
ติเตียนกรรมใดด้วยตน ก็ไม่ทำกรรมนั้น
ไม่ติดในสิ่งที่ได้เห็นและได้ยินแล้ว
[๑๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
มุนีกำหนดรู้สัญญาแล้ว ไม่เข้าไปติดในความยึดถือทั้งหลาย
พึงข้ามโอฆะได้ ถอนลูกศรได้แล้ว ไม่ประมาท
ประพฤติอยู่ ย่อมไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า
คำว่า กำหนดรู้สัญญาแล้ว ... พึงข้ามโอฆะได้ อธิบายว่า
คำว่า สัญญา ได้แก่ กามสัญญา พยาบาทสัญญา วิหิงสาสัญญา เนกขัมม-
สัญญา อัพยาบาทสัญญา อวิหิงสาสัญญา รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา
รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธัมมสัญญา ความจำได้ กิริยาที่จำได้ ภาวะที่จำได้
เห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่าสัญญา
คำว่า กำหนดรู้สัญญาแล้ว ได้แก่ กำหนดรู้สัญญา ด้วยปริญญา ๓ อย่าง
คือ (๑) ญาตปริญญา (๒) ตีรณปริญญา (๓) ปหานปริญญา
ญาตปริญญา เป็นอย่างไร
คือ มุนีรู้จักสัญญา คือรู้ เห็นว่า “นี้กามสัญญา นี้พยาบาทสัญญา นี้วิหิงสา-
สัญญา นี้เนกขัมมสัญญา นี้อัพยาบาทสัญญา นี้อวิหิงสาสัญญา นี้รูปสัญญา
นี้สัททสัญญา นี้คันธสัญญา นี้รสสัญญา นี้โผฏฐัพพสัญญา นี้ธัมมสัญญา”
นี้ชื่อว่าญาตปริญญา
ตีรณปริญญา เป็นอย่างไร
คือ มุนีทำสิ่งที่รู้แล้วให้ปรากฏอย่างนี้แล้ว พิจารณาสัญญา คือ พิจารณาโดย
ความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร เป็นของลำบาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
เป็นอาพาธ เป็นอย่างอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นเสนียด เป็นอุปัททวะ เป็นภัย
เป็นอุปสรรค เป็นของหวั่นไหว เป็นของผุพัง ... เป็นเหตุเกิดทุกข์ ตั้งอยู่ไม่ได้ หาความ
แช่มชื่นไม่ได้ เป็นโทษ เป็นของที่ต้องสลัดออกไป นี้ชื่อว่าตีรณปริญญา
ปหานปริญญา เป็นอย่างไร
คือ มุนีครั้นพิจารณาเห็นอย่างนี้ ก็ย่อมละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึง
ความไม่มีอีก ซึ่งความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในสัญญา สมจริงดังที่พระ
ผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละความกำหนัดด้วยอำนาจ
ความพอใจในสัญญา สัญญานั้น เธอทั้งหลายละได้เด็ดขาดแล้วอย่างนี้ ตัดราก
ถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ นี้ชื่อว่าปหานปริญญา
คำว่า กำหนดรู้สัญญาแล้ว ได้แก่ กำหนดรู้สัญญาด้วยปริญญา ๓ อย่าง
เหล่านี้แล้ว
คำว่า พึงข้ามโอฆะได้ อธิบายว่า พึงข้าม คือ ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง
ล่วงเลย กาโมฆะ(ห้วงน้ำคือกาม) ภโวฆะ(ห้วงน้ำคือภพ) ทิฏโฐฆะ(ห้วงน้ำคือทิฏฐิ)
อวิชโชฆะ(ห้วงน้ำคืออวิชชา) รวมความว่า กำหนดรู้สัญญาแล้ว ... พึงข้ามโอฆะได้
คำว่า มุนี ... ไม่เข้าไปติดในความยึดถือทั้งหลาย อธิบายว่า
คำว่า ความยึดถือ ได้แก่ ความยึดถือ ๒ อย่าง คือ (๑) ความยึดถือด้วย
อำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความยึดถือด้วยอำนาจ
ตัณหา ... นี้ชื่อว่าความยึดถือด้วยอำนาจทิฏฐิ๑
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ...
ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ผู้ที่ประกอบด้วยญาณนั้น
ชื่อว่า มุนี คือ ผู้บรรลุโมนญาณแล้ว โมเนยยธรรม (ธรรมที่ทำให้เป็นมุนี) ๓ ประการ
คือ (๑) โมเนยยธรรมทางกาย (๒) โมเนยยธรรมทางวาจา (๓) โมเนยยธรรมทางใจ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบกับความในข้อ ๑๒/๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
โมเนยยธรรมทางกาย เป็นอย่างไร
คือ การละกายทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย กายสุจริต ๓ อย่าง
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย ญาณมีกายเป็นอารมณ์ ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย
กายปริญญา(การกำหนดรู้กาย) ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย มรรคที่สหรคตด้วย
ปริญญา ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย การละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ
ในกาย ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย ความดับแห่งกายสังขาร การบรรลุจตุตถฌาน
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย นี้ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย
โมเนยยธรรมทางวาจา เป็นอย่างไร
คือ การละวจีทุจริต ๔ อย่าง ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา วจีสุจริต ๔ อย่าง
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา ญาณมีวาจาเป็นอารมณ์ ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา
วาจาปริญญา(การกำหนดรู้วาจา) ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา มรรคที่สหรคตด้วย
ปริญญา ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา การละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจใน
วาจา ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา ความดับแห่งวจีสังขาร การบรรลุทุติยฌาน
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา นี้ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา
โมเนยยธรรมทางใจ เป็นอย่างไร
คือ การละมโนทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ มโนสุจริต ๓ อย่าง
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ ญาณมีใจเป็นอารมณ์ ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ จิตต-
ปริญญา(การกำหนดรู้จิต) ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ มรรคที่สหรคตด้วยปริญญา
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ การละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในจิต ชื่อว่า
โมเนยยธรรมทางใจ ความดับแห่งจิตตสังขาร การบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ ชื่อว่า
โมเนยยธรรมทางใจ นี้ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
บัณฑิตทั้งหลาย เรียกบุคคลผู้เป็นมุนีทางกาย
เป็นมุนีทางวาจา เป็นมุนีทางใจ ผู้ไม่มีอาสวะ
ว่าเป็นมุนีผู้สมบูรณ์ด้วยโมเนยยธรรม ละกิเลสทั้งปวงได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
บัณฑิตทั้งหลาย เรียกบุคคลผู้เป็นมุนีทางกาย
เป็นมุนีทางวาจา เป็นมุนีทางใจ ผู้ไม่มีอาสวะ
ว่าเป็นมุนีผู้สมบูรณ์ด้วยโมเนยยธรรม ล้างบาป๑ ได้แล้ว๒
มุนีผู้ประกอบด้วยโมเนยยธรรม ๓ ประการเหล่านี้ มี ๖ จำพวก คือ (๑) อาคาร
มุนี (๒) อนาคารมุนี (๓) เสขมุนี (๔) อเสขมุนี (๕) ปัจเจกมุนี (๖) มุนิมุนี๓
อาคารมุนี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลผู้ครองเรือน เห็นทาง(นิพพาน)แล้ว รู้แจ้งหลักคำสอนแล้ว เหล่านี้
ชื่อว่าอาคารมุนี
อนาคารมุนี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลผู้เป็นบรรพชิต เห็นทาง(นิพพาน)แล้ว รู้แจ้งหลักคำสอนแล้ว
เหล่านี้ชื่อว่าอนาคารมุนี
พระเสขะ ๗ จำพวก ชื่อว่าเสขมุนี
พระอรหันต์ทั้งหลาย ชื่อว่าอเสขมุนี
พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าปัจเจกมุนี

เชิงอรรถ :
๑ ล้างบาป หมายถึงล้างบาปด้วยมัคคญาณ (ขุ.ม.อ. ๑๔/๑๗๓)
๒ ขุ.อิติ. ๒๕/๖๗/๒๘๒, ขุ.จู. ๓๐/๒๑/๗๗
๓ มุนิมุนี พระอรรถกถาจารย์แก้ว่า มุนิมุนโย วุจฺจนฺติ ตถาคตาติ พระตถาคตท่านเรียกว่า มุนิมุนี
เพราะมีความหมาย ๘ อย่าง คือ
(๑) พระผู้เสด็จมาแล้วอย่างนั้น คือเสด็จมาทรงบำเพ็ญพุทธจริยา
(๒) พระผู้เสด็จไปแล้วอย่างนั้น คือทรงทำลายอวิชชา สละปวงกิเลสเสด็จไปเหมือนอย่างพระพุทธเจ้าองค์
ก่อน ๆ
(๓) พระผู้เสด็จมาถึงตถลักษณะ คือทรงมีญาณหยั่งรู้เข้าถึงลักษณะที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย
(๔) พระผู้ตรัสรู้ตถธรรมตามที่มันเป็น คือ ตรัสรู้อริยสัจ ๔ หรือปฏิจจสมุปบาท
(๕) พระผู้ทรงเห็นอย่างนั้น คือทรงรู้เท่าทันสรรพอารมณ์ที่ปรากฏแก่หมู่สัตว์ทั้งเทพและมนุษย์ ทั้งสัตว์โลก
เทพและพรหมได้ประสบและพากันแสวงหา
(๖) พระผู้ตรัสอย่างนั้น หรือมีพระวาจาแท้จริงถูกต้องไม่เป็นอย่างอื่น
(๗) พระผู้ทำอย่างนั้น คือตรัสอย่างใด ทำอย่างนั้น ทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น
(๘) พระผู้เป็นยิ่ง คือทรงเป็นผู้ใหญ่ยิ่งเหนือกว่าสรรพสัตว์ตลอดถึงพระพรหมที่สูงสูด เป็นผู้เห็นถ่องแท้
ทรงอำนาจเป็นราชาที่พระราชาทรงบูชา เป็นเทพแห่งเทพ เป็นอินทร์เหนือพระอินทร์ เป็นพรหมเหนือ
พรหม ไม่มีใครอาจจะวัดหรือจะทัดเทียมพระองค์ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ
(ขุ.ม.อ. ๑๔/๑๗๓-๑๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๗๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสเรียกว่ามุนิมุนี
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
บุคคลโง่เขลาไม่รู้อะไร เพียงแต่นั่งนิ่ง ๆ หาชื่อว่าเป็นมุนีไม่
ส่วนบุคคลผู้ฉลาด เลือกชั่งเอาแต่สิ่งที่ดี ละทิ้งสิ่งที่ชั่ว
เหมือนบุคคลชั่งสิ่งของ จึงจะชื่อว่าเป็นมุนีแท้
ผู้ที่รู้โลกทั้ง ๒ ก็เรียกว่า เป็นมุนี (เช่นกัน)๑
ผู้รู้ธรรมทั้งของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ
ทั้งภายในและภายนอก ในโลกทั้งปวง
เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้อง๒
และตัณหาดุจตาข่าย๓ได้แล้ว ชื่อว่ามุนี๔
คำว่า ความติด ได้แก่ ความติด ๒ อย่าง คือ (๑) ความติดด้วยอำนาจตัณหา
(๒) ความติดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความติดด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าความ
ติดด้วยอำนาจทิฏฐิ
มุนีละความติดด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความติดด้วยอำนาจทิฏฐิ
ได้แล้ว ไม่ติด คือ ไม่ติดพัน ไม่เข้าไปติดในความยึดถือทั้งหลาย คือ เป็นผู้ไม่ติดแล้ว
ไม่ติดพันแล้ว ไม่เข้าไปติดแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้อง
แล้ว มีใจเป็นอิสระ(จากความติด)อยู่ รวมความว่า มุนีไม่เข้าไปติดในความยึดถือ
ทั้งหลาย
คำว่า ถอนลูกศรได้แล้ว ไม่ประมาท ประพฤติอยู่ อธิบายว่า

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ธ. ๒๕/๒๖๘-๒๖๙/๖๓, ขุ.จู. ๓๐/๒๑/๗๘
๒ เครื่องข้อง ๗ อย่าง คือโลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส และทุจริต
๓ ตาข่าย มี ๒ อย่างคือตัณหาและทิฏฐิ
๔ ขุ.สุ. ๒๕/๕๓๓/๔๓๘, ขุ.จู. ๓๐/๒๑/๗๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๗๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า ลูกศร ได้แก่ ลูกศร ๗ ชนิด คือ (๑) ลูกศรคือราคะ (๒) ลูกศรคือโทสะ
(๓) ลูกศรคือโมหะ (๔) ลูกศรคือมานะ (๕) ลูกศรคือทิฏฐิ (๖) ลูกศรคือโสกะ
(๗) ลูกศรคือความสงสัย
ลูกศรเหล่านั้นผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า
ผู้ถอนลูกศรได้แล้ว คือ ถอนลูกศรออกแล้ว ดึงลูกศรขึ้นแล้ว ดึงลูกศรออกแล้ว
ฉุดลูกศรออกแล้ว กระชากลูกศรออกแล้ว สละลูกศรแล้ว คายลูกศรแล้ว ปล่อย
ลูกศรแล้ว ละลูกศรแล้ว สลัดทิ้งลูกศรแล้ว เป็นผู้หมดความอยาก ดับแล้ว เย็นแล้ว
มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ รวมความว่า ถอนลูกศรได้แล้ว
คำว่า ประพฤติอยู่ ได้แก่ ประพฤติอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป
ว่าด้วยความไม่ประมาท
คำว่า ไม่ประมาท อธิบายว่า ผู้ทำด้วยความเอื้อเฟื้อ ทำติดต่อ ทำไม่หยุด
ประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ละความพอใจ ไม่ทอดธุระ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรม
ทั้งหลาย
คือ ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขยัน ความไม่
ถอยกลับ สติสัมปชัญญะ ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส ความเพียรแรงกล้า ความ
ตั้งใจ ความประกอบเนือง ๆ ด้วยคิดว่า “เราพึงทำสีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์
โดยอุบายอย่างไร หรือพึงใช้ปัญญาตามรักษาสีลขันธ์ที่บริบูรณ์ในข้อนั้น ๆ โดย
อุบายอย่างไร” ดังนี้ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย ... ว่าเราพึงทำสมาธิขันธ์
ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์โดยอุบายอย่างไร หรือพึงใช้ปัญญาตามรักษาสมาธิขันธ์ที่
บริบูรณ์ในข้อนั้นๆ โดยอุบายอย่างไรดังนี้ ... ว่าเราพึงทำปัญญาขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์
ให้บริบูรณ์โดยอุบายอย่างไร หรือพึงใช้ปัญญาตามรักษาปัญญาขันธ์ที่บริบูรณ์ในข้อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๗๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
นั้น ๆ โดยอุบายอย่างไร ดังนี้ ... ว่าเราพึงทำวิมุตติขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์
โดยอุบายอย่างไร หรือพึงใช้ปัญญาตามรักษาวิมุตติขันธ์ในข้อนั้น ๆ โดยอุบาย
อย่างไร ดังนี้ ... คือ ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขยัน
ความไม่ถอยกลับ สติสัมปชัญญะ ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส ความเพียร
แรงกล้า ความตั้งใจ ความประกอบเนือง ๆ ด้วยคิดว่า เราพึงทำวิมุตติญาณทัสสน-
ขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ ให้บริบูรณ์โดยอุบายอย่างไร หรือพึงใช้ปัญญาตามรักษาวิมุตติ-
ญาณทัสสนขันธ์ที่บริบูรณ์ในข้อนั้น ๆ โดยอุบายอย่างไร ดังนี้ ชื่อว่าไม่ประมาทใน
กุศลธรรมทั้งหลาย คือ ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขยัน
ความไม่ถอยกลับ สติสัมปชัญญะ ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส ความเพียร
แรงกล้า ความตั้งใจ ความประกอบเนือง ๆ ด้วยคิดว่า “เราพึงกำหนดรู้ทุกข์ที่ยังมิได้
กำหนดรู้ พึงละกิเลสที่ยังมิได้ละ พึงเจริญมรรคที่ยังมิได้เจริญ หรือพึงทำให้แจ้ง
นิโรธที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง โดยอุบายอย่างไร”ดังนี้ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรม
ทั้งหลาย รวมความว่า ถอนลูกศรได้แล้ว ไม่ประมาท ประพฤติอยู่
คำว่า ย่อมไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า อธิบายว่า ไม่หวังโลกนี้ คืออัตภาพ
ของตน ไม่หวังโลกหน้า คืออัตภาพของผู้อื่น ไม่หวังโลกนี้ คือรูป เวทนา สัญญา
สังขาร และวิญญาณของตน ไม่หวังโลกหน้า คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร และ
วิญญาณของผู้อื่น ไม่หวังโลกนี้ คืออายตนะภายใน ๖ ไม่หวังโลกหน้า คืออายตนะ
ภายนอก ๖ ไม่หวังโลกนี้ คือมนุษยโลก ไม่หวังโลกหน้า คือเทวโลก ไม่หวังโลกนี้
คือ กามธาตุ ไม่หวังโลกหน้า คือรูปธาตุ อรูปธาตุ ไม่หวังโลกนี้ คือกามธาตุ
รูปธาตุ ไม่หวังโลกหน้า คืออรูปธาตุ ไม่หวัง คือ ไม่ต้องการ ไม่ยินดี ไม่ปรารถนา
ไม่มุ่งหมาย ไม่มุ่งหวังคติ การถือกำเนิด ปฏิสนธิ ภพ สงสาร หรือ วัฏฏะต่อไป
รวมความว่า ย่อมไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
มุนีกำหนดรู้สัญญาแล้ว ไม่เข้าไปติดในความยึดถือทั้งหลาย
พึงข้ามโอฆะได้ ถอนลูกศรได้แล้ว ไม่ประมาท
ประพฤติอยู่ ย่อมไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า
คุหัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๗๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส๑
อธิบายทุฏฐัฏฐกสูตร
ว่าด้วยเดียรถีย์ประทุษร้ายมุนี
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายทุฏฐัฏฐกสูตร ดังต่อไปนี้
[๑๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เดียรถีย์บางพวกมีใจชั่วกล่าวร้าย
บุคคลเหล่าอื่นเข้าใจว่าจริง ก็กล่าวร้ายด้วย
แต่มุนีไม่ใส่ใจคำกล่าวร้ายที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น มุนีจึงไม่มีกิเลสเครื่องตรึงจิตในที่ไหนๆ
คำว่า เดียรถีย์บางพวกมีใจชั่วกล่าวร้าย อธิบายว่า เดียรถีย์เหล่านั้น
มีใจชั่ว คือมีใจร้าย มีใจเห็นผิด มีใจหลงผิด มีใจขุ่น มีใจขุ่นเคือง มีใจอาฆาต
มีใจอาฆาตแค้น กล่าวร้าย คือ กล่าวติเตียนพระผู้มีพระภาค และภิกษุสงฆ์ด้วย
เรื่องไม่จริง รวมความว่า เดียรถีย์บางพวกมีใจชั่วกล่าวร้าย
คำว่า บุคคลเหล่าอื่นเข้าใจว่าจริง ก็กล่าวร้ายด้วย อธิบายว่า พวกคนที่
เชื่อถือเดียรถีย์เหล่านั้น กำหนด น้อมใจเชื่อ เข้าใจว่าจริง สำคัญว่าจริง เข้าใจว่า
เป็นจริง สำคัญว่าเป็นจริง เข้าใจว่าเป็นเช่นนั้น สำคัญว่าเป็นเช่นนั้น เข้าใจว่า
จริงแท้ สำคัญว่าจริงแท้ เข้าใจว่าไม่ผิด สำคัญว่าไม่ผิด จึงกล่าวร้าย คือ กล่าว
ติเตียนพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ด้วยเรื่องไม่จริง รวมความว่า บุคคลเหล่าอื่น
เข้าใจว่าจริง ก็กล่าวร้ายด้วย
คำว่า แต่มุนีไม่ใส่ใจคำกล่าวร้ายที่เกิดขึ้น อธิบายว่า คำกล่าวร้ายนั้น
เกิดแล้ว คือ เกิดขึ้นแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดขึ้นแล้ว ปรากฏแล้ว ได้แก่ เสียง
ประกาศจากบุคคลอื่น คำด่า คำติเตียนพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ด้วยเรื่อง
ไม่จริง รวมความว่า คำกล่าวร้ายที่เกิดขึ้น

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๗๘๗-๗๙๔/๔๘๘-๔๙๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๗๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า มุนี ในคำว่า มุนีไม่ใส่ใจ อธิบายว่า ญาณท่านเรียกว่า โมนะ คือ
ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ... ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ
ผู้ที่ประกอบด้วยญาณนั้น ชื่อว่ามุนี คือ ผู้บรรลุโมนญาณ ... ก้าวล่วงกิเลสเครื่อง
ข้องและตัณหาดุจตาข่ายแล้ว ผู้นั้นชื่อว่ามุนี๑ ผู้ใดใส่ใจคำกล่าวร้าย ผู้นั้นก็ใส่ใจคำ
กล่าวร้าย ด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ
๑. ผู้กล่าวร้าย ย่อมใส่ใจคำกล่าวร้าย เพราะตนเองเป็นผู้กล่าวร้าย
๒. ผู้ถูกเขากล่าวร้าย ถูกเขากล่าวติเตียน ย่อมโกรธ พยาบาท ตอบโต้
ทำความโกรธ ความเคือง ความชิงชังให้ปรากฏว่า เราไม่ใช่ผู้พูด ผู้ใด
ใส่ใจคำกล่าวร้าย ผู้นั้นก็ย่อมใส่ใจคำกล่าวร้าย ด้วยเหตุ ๒ อย่างเหล่านี้
มุนีไม่ใส่ใจคำกล่าวร้าย ด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ
๑. มุนีผู้ไม่กล่าวร้าย ย่อมไม่ใส่ใจคำกล่าวร้าย เพราะตนเองมิใช่เป็นผู้กล่าว
ร้าย
๒. มุนีผู้ถูกเขากล่าวร้าย ถูกเขาติเตียน ก็ย่อมไม่โกรธ ไม่พยาบาท
ไม่ตอบโต้ ไม่ทำความโกรธ ความเคือง ความชิงชังให้ปรากฏว่า เราไม่
ใช่ผู้พูด มุนีไม่ใส่ใจ คือ ไม่สนใจ ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นคำกล่าวร้าย
ด้วยเหตุ ๒ อย่างเหล่านี้
รวมความว่า แต่มุนีไม่ใส่ใจคำกล่าวร้ายที่เกิดขึ้น
ว่าด้วยกิเลสเครื่องตรึงจิต ๓ ประการ
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น มุนีจึงไม่มีกิเลสเครื่องตรึงจิตใน
ที่ไหน ๆ ได้แก่ เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น
เพราะต้นเหตุนั้น ภาวะที่มีจิตถูกโทสะกระทบก็ดี มีกิเลสเครื่องตรึงจิตเกิดขึ้นก็ดี
ไม่มีแก่มุนี กิเลสเครื่องตรึงจิต ๕ อย่างก็ดี กิเลสเครื่องตรึงจิต ๓ อย่าง คือ (๑) ราคะ
(๒) โทสะ (๓) โมหะ ก็ดี จึงไม่มี ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ คือ กิเลสเครื่อง
ตรึงจิตนั้น มุนีละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้น
ไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ มุนี ดูรายละเอียดข้อ ๑๔/๖๘-๗๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๗๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า ในที่ไหน ๆ ได้แก่ ในที่ไหน คือ ที่ไหน ๆ ที่ไร ๆ ภายใน ภายนอก
หรือทั้งภายในและภายนอก รวมความว่า เพราะฉะนั้น มุนีจึงไม่มีกิเลสเครื่องตรึงจิต
ในที่ไหน ๆ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีภาคจึงตรัสว่า
เดียรถีย์บางจำพวกมีใจชั่วกล่าวร้าย
บุคคลเหล่าอื่นเข้าใจว่าจริง ก็กล่าวร้ายด้วย
แต่มุนีไม่ใส่ใจคำกล่าวร้ายที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น มุนีจึงไม่มีกิเลสเครื่องตรึงจิตในที่ไหน ๆ
[๑๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ผู้ไปตามความพอใจ ตั้งอยู่ในความชอบใจ
พึงก้าวล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า
แต่เมื่อทำตนให้เพียบพร้อม รู้อย่างไรก็พึงพูดอย่างนั้น
ว่าด้วยทิฏฐิ
คำว่า พึงก้าวล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า อธิบายว่า เดียรถีย์ มีทิฏฐิ
อย่างนี้ มีความพอใจ มีความชอบใจ มีลัทธิ มีอัธยาศัย มีความประสงค์อย่างนี้ว่า
“พวกเราฆ่านางสุนทรีปริพาชิกาแล้ว ประกาศโทษพวกสมณศากยบุตร ก็จักเอา
ลาภ ยศ สักการะและสัมมานะกลับคืนมาได้ด้วยวิธีการอย่างนี้” พวกเดียรถีย์
เหล่านั้นไม่สามารถก้าวล่วงทิฏฐิ ความถูกใจ ความพอใจ ลัทธิ อัธยาศัย ความ
ประสงค์ของตนได้ โดยที่แท้ความเสื่อมยศนั้นนั่นแหละก็กลับย้อนมาถึงเดียรถีย์
เหล่านั้น รวมความว่า พึงก้าวล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ผู้ที่มีวาทะอย่างนี้ว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ”
พึงล่วง ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้นทิฏฐิ ความถูกใจ ความพอใจ ลัทธิ อัธยาศัย
ความประสงค์ของตนได้อย่างไร ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะเขาสมาทาน ถือ ยึดมั่น
ถือมั่น ติดใจ น้อมใจเชื่อทิฏฐินั้น ให้เพียบพร้อมอย่างนั้น รวมความว่า พึงก้าวล่วง
ทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า อย่างนี้บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๗๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ว่า “โลกไม่เที่ยง ... โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ...
ชีวะ๑กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน ... ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน ... หลังจากตาย
แล้วตถาคต๒เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก ... หลังจากตายแล้ว
ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่จะว่าไม่
เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ”๓ พึงล่วง ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้น
ทิฏฐิ ความถูกใจ ความพอใจ ลัทธิ อัธยาศัย ความประสงค์ของตนได้อย่างไรเล่า
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาสมาทาน ถือ ยึดมั่น ถือมั่น ติดใจ น้อมใจเชื่อทิฏฐินั้น
ให้เพียบพร้อมอย่างนั้น รวมความว่า พึงก้าวล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า
อย่างนี้บ้าง
คำว่า ผู้ไปตามความพอใจ ในคำว่า ผู้ไปตามความพอใจ ตั้งอยู่ในความ
ชอบใจ อธิบายว่า ผู้นั้นย่อมไป ออกไป ถูกพาไป ถูกนำไป ด้วยทิฏฐิของตน ความ
ถูกใจของตน ความพอใจของตน ลัทธิของตน ได้แก่ ผู้นั้นย่อมไป ออกไป ถูกพาไป
ถูกนำไปด้วยทิฏฐิของตน ความถูกใจของตน ความพอใจของตน ลัทธิของตน
เหมือนมนุษย์ย่อมไป ออกไป ถูกพาไป ถูกนำไป ด้วยยานพาหนะ คือ ช้าง รถ ม้า
โค แพะ แกะ อูฐ หรือลา ฉะนั้น รวมความว่า ผู้ไปตามความพอใจ
คำว่า ตั้งอยู่ในความชอบใจ ได้แก่ ตั้งอยู่ คือ ตั้งมั่น ติด ติดแน่น ติดใจ
น้อมใจเชื่อในทิฏฐิของตน ความถูกใจของตน ความพอใจของตน ลัทธิของตน
รวมความว่า ผู้ไปตามความพอใจ ตั้งอยู่ในความชอบใจ
คำว่า เมื่อทำตนให้เพียบพร้อม ได้แก่ ทำตนให้เพียบพร้อม คือ ทำให้บริบูรณ์
ไม่ให้พร่อง ให้เลิศ ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด ประเสริฐสุด อธิบายว่า
ทำตนให้เพียบพร้อม บริบูรณ์ ไม่ให้พร่อง ให้เลิศ ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด
ประเสริฐสุด คือ ทำทัศนะนั้นให้เกิด ให้เกิดขึ้น ให้บังเกิด ให้บังเกิดขึ้นว่า
พระศาสดาพระองค์นี้เป็นสัพพัญญู พระธรรมนี้พระผู้มีพระภาคตรัสสอนไว้ดีแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ชีวะ ในที่นี้หมายถึงวิญญาณอมตะหรืออาตมัน (The Soul) (ตามนัย อภิ. ปญฺจ.อ. ๑/๑/๑๒๙)
๒ ตถาคต ในที่นี้ เป็นคำที่ลัทธิอื่น ๆ ใช้กันมาก่อนพุทธกาล หมายถึง อัตตา ไม่ได้หมายถึงพระพุทธเจ้า
อนึ่ง อรรถกถาหมายถึง สัตตะ (Being) (ที.สี.อ. ๖๕/๑๐๘, ขุ.ม.อ. ๑๖/๑๙๐)
๓ ดูรายละเอียดจาก ที.สี. (แปล) ๙/๔๒๐/๑๘๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๗๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
หมู่คณะ(สงฆ์)นี้ปฏิบัติดีแล้ว ทิฏฐินี้เป็นสิ่งที่เจริญ ปฏิปทานี้ทรงบัญญัติไว้ดีแล้ว มรรค
นี้เป็นทางนำออกจากทุกข์ รวมความว่า เมื่อทำตนให้เพียบพร้อม
คำว่า รู้อย่างไรก็พึงพูดอย่างนั้น อธิบายว่า รู้อย่างไรก็พึงพูด คือ กล่าว
บอก แสดง ชี้แจงอย่างนั้นว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ ... โลกไม่
เที่ยง” ... รู้อย่างไรก็พึงพูด คือ กล่าว บอก แสดง ชี้แจงอย่างนั้นว่า “หลังจากตาย
แล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
เป็นโมฆะ” รวมความว่า รู้อย่างไรก็พึงพูดอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า
ผู้ไปตามความพอใจ ตั้งอยู่ในความชอบใจ
พึงก้าวล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า
แต่เมื่อทำตนให้เพียบพร้อม รู้อย่างไรก็พึงพูดอย่างนั้น
[๑๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
สัตว์เกิดใดไม่มีใครถาม
ก็บอกศีลวัตรของตนแก่บุคคลเหล่าอื่น
สัตว์เกิดใดกล่าวถึงตัวเองเท่านั้น
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกสัตว์เกิดนั้นว่า ผู้ไม่มีอริยธรรม
คำว่า ใด ในคำว่า สัตว์เกิดใด ... ศีลวัตรของตน ได้แก่ ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด
ผู้ขวนขวายอย่างใด ผู้ตั้งใจอย่างใด ผู้มีประการอย่างใด ผู้ถึงฐานะใด ผู้ประกอบด้วย
ธรรมใด จะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือ
มนุษย์ก็ตาม
ว่าด้วยศีลและวัตร
คำว่า ศีลวัตร ได้แก่ ศีลและวัตรก็มี วัตรไม่ใช่ศีลก็มี
ศีลและวัตร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์
เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน
สิกขาบททั้งหลาย ความสำรวม ความสังวร การไม่ล่วงละเมิดในสิกขาบทเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๗๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
ชื่อว่าศีล การสมาทาน ชื่อว่าวัตร ชื่อว่าศีลเพราะมีความหมายว่า สังวร ชื่อว่าวัตร
เพราะมีความหมายว่าสมาทาน นี้ตรัสเรียกว่าศีลและวัตร
วัตร ไม่ใช่ศีล เป็นอย่างไร
คือ ธุดงค์ ๘ ข้อ ได้แก่
๑. อารัญญิกังคธุดงค์(สมาทานการอยู่ป่าเป็นวัตร)
๒. ปิณฑปาติกังคธุดงค์(สมาทานการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร)
๓. ปังสุกูลิกังคธุดงค์(สมาทานการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร)
๔. เตจีวริกังคธุดงค์(สมาทานการทรงไตรจีวรเป็นวัตร)
๕. สปทานจาริกังคธุดงค์(สมาทานการเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็น
วัตร)
๖. ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์(สมาทานการงดฉันอาหารมื้อหลังเป็นวัตร)
๗. เนสัชชิกังคธุดงค์(สมาทานการนั่งเป็นวัตร)
๘. ยถาสันถติกังคธุดงค์(สมาทานการอยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร)
นี้เรียกว่าวัตร ไม่ใช่ศีล แม้การสมาทานความเพียรก็เรียกว่า วัตร ไม่ใช่ศีล
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า เนื้อและเลือดในร่างกายจงเหือดแห้งไป จะเหลือ
อยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามทีเถิด ผลใดพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ
ด้วยกำลังของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษ (ถ้า)ไม่
บรรลุผลนั้นแล้วก็จักไม่หยุดความเพียร แม้การสมาทานความเพียรอย่างนี้ก็เรียกว่า
วัตร ไม่ใช่ศีล
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า
เมื่อเรายังถอนลูกศรคือตัณหาขึ้นไม่ได้
เราจะไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่ออกไปจากวิหาร
ทั้งจะไม่เอนกายนอน๑
การสมาทานความเพียรอย่างนี้ก็เรียกว่า วัตร ไม่ใช่ศีล

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.เถร.(แปล) ๒๖/๒๒๓/๓๗๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๗๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า ตราบใดที่จิตของเรายังไม่หลุดพ้นจากอาสวะ ทั้งหลาย
เพราะไม่ยึดมั่น ตราบนั้นเราก็จักไม่ทำลายบัลลังก์นี้เลย แม้การสมาทานความเพียร
อย่างนี้ก็เรียกว่า วัตร ไม่ใช่ศีล
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า ตราบใดที่จิตของเรายังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย
เพราะไม่ยึดมั่น ตราบนั้นเราก็จักไม่ลุกจากที่นั่งนี้ ไม่ลงจากลานจงกรม ไม่ออกจาก
วิหาร ไม่ออกจากเรือนหลังคาด้านเดียว ไม่ออกจากปราสาท ไม่ออกจากเรือนโล้น
ไม่ออกจากถ้ำ ไม่ออกจากที่หลีกเร้น ไม่ออกจากกุฎี ไม่ออกจากเรือนยอด ไม่ออก
จากป้อม ไม่ออกจากโรงกลม ไม่ออกจากเรือนที่มีเครื่องกั้น ไม่ออกจากศาลาที่บำรุง
ไม่ออกจากมณฑป ไม่ออกจากโคนไม้เลย แม้การสมาทานความเพียรอย่างนี้ก็
เรียกว่า วัตร ไม่ใช่ศีล
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า เราจักนำมา นำมาด้วยดี บรรลุ สัมผัส ทำให้แจ้ง
ซึ่งอริยธรรมเช้าวันนี้เอง แม้การสมาทานความเพียรอย่างนี้ก็เรียกว่า วัตร ไม่ใช่ศีล
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า เราจักนำมา นำมาด้วยดี บรรลุ สัมผัส ทำให้แจ้งซึ่ง
อริยธรรม ในเที่ยงนี้ ... เย็นนี้ ... ก่อนภัต ... หลังภัต ... ปฐมยาม... มัชฌิมยาม ...
ปัจฉิมยาม ... ข้างแรม ... ข้างขึ้น ... ฤดูฝน ... ฤดูหนาว ... ฤดูร้อน ... ปฐมวัย ...
มัชฌิมวัย ... ปัจฉิมวัย แม้การสมาทานความเพียรอย่างนี้ก็เรียกว่า วัตร ไม่ใช่ศีล
คำว่า สัตว์เกิด ได้แก่ สัตว์ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด
สัตว์เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์ รวมความว่า สัตว์เกิดใด ... ศีลวัตรของตน
คำว่า แก่บุคคลเหล่าอื่น ในคำว่า ไม่มีใครถาม ก็บอก ... แก่บุคคลเหล่าอื่น
ได้แก่ บุคคลเหล่าอื่น คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต
เทวดา มนุษย์
คำว่า ไม่มีใครถาม ได้แก่ ไม่มีใครถาม คือ ไม่มีใครไต่ถาม ไม่มีใครขอร้อง
ไม่มีใครเชื้อเชิญ ไม่มีใครเลื่อมใส
คำว่า บอก ได้แก่ บอก ศีล วัตร หรือศีลวัตรของตน อธิบายว่า ย่อมบอก คือ
พูด กล่าว แสดง ชี้แจง ศีล วัตร หรือศีลวัตรของตนว่า เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลบ้าง
สมบูรณ์ด้วยวัตรบ้าง สมบูรณ์ด้วยศีลวัตรบ้าง สมบูรณ์ด้วยชาติบ้าง สมบูรณ์ด้วย
โคตรบ้าง สมบูรณ์ด้วยความเป็นบุตรของผู้มีตระกูลบ้าง สมบูรณ์ด้วยความเป็นผู้มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๘๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
รูปงามบ้าง สมบูรณ์ด้วยทรัพย์บ้าง สมบูรณ์ด้วยการศึกษาบ้าง สมบูรณ์ด้วยหน้าที่
การงานบ้าง สมบูรณ์ด้วยหลักแห่งศิลปวิทยาบ้าง สมบูรณ์ด้วยวิทยฐานะบ้าง
สมบูรณ์ด้วยความคงแก่เรียนบ้าง สมบูรณ์ด้วยปฏิภาณบ้าง สมบูรณ์ด้วยสิ่งอื่น
นอกจากที่กล่าวแล้วบ้าง ออกบวชจากตระกูลสูงบ้าง ออกบวชจากตระกูลใหญ่บ้าง
ออกบวชจากตระกูลมีทรัพย์มากบ้าง ออกบวชจากตระกูลมีโภคะมากบ้าง เป็น
ผู้มีชื่อเสียงมียศกว่าคฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลายบ้าง เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารบ้าง เป็นผู้ทรงจำพระสูตรบ้าง เป็นผู้ทรงจำ
พระวินัยบ้าง เป็นพระธรรมกถึกบ้าง เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือบิณฑบาต
เป็นวัตรบ้าง เป็นผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตรบ้าง เป็น
ผู้เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้งดอาหารมื้อหลังเป็นวัตรบ้าง
เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือการอยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตรบ้าง
เป็นผู้ได้ปฐมฌานบ้าง เป็นผู้ได้ทุติยฌานบ้าง เป็นผู้ได้ตติยฌานบ้าง เป็นผู้ได้
จตุตถฌานบ้าง เป็นผู้ได้อากาสานัญจายตนสมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้วิญญาณัญจายตน-
สมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้อากิญจัญญายตนสมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้เนวสัญญานา-
สัญญายตนสมาบัติบ้าง รวมความว่า ไม่มีใครถาม ก็บอก ... แก่บุคคลเหล่าอื่น
คำว่า ผู้ฉลาดทั้งหลาย ในคำว่า ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกสัตว์เกิดนั้นว่า ผู้ไม่มี
อริยธรรม อธิบายว่า ผู้ฉลาดในขันธ์๑ ผู้ฉลาดในธาตุ๒ ผู้ฉลาดในอายตนะ๓
ผู้ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท๔ ผู้ฉลาดในสติปัฏฐาน๕ ผู้ฉลาดในสัมมัปปธาน๖ ผู้ฉลาด

เชิงอรรถ :
๑ ขันธ์ หมายถึงขันธ์ ๕ คือ (๑) รูปขันธ์ (๒) เวทนาขันธ์ (๓) สัญญาขันธ์ (๔) สังขารขันธ์ (๕) วิญญาณขันธ์
(ขุ.ม.อ. ๑๗/๑๙๖)
๒ ธาตุ หมายถึงธาตุ ๔ คือ (๑) ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) (๒) อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) (๓) เตโชธาตุ (ธาตุไฟ)
(๔) วาโยธาตุ (ธาตุลม) (ขุ.ม.อ. ๑๗/๑๙๖)
๓ อายตนะ หมายถึงอายตนะ ๑๒ ดูเชิงอรรถข้อ ๗/๓๖
๔ ปฏิจจสมุปบาท ดูรายละเอียดข้อ ๒๗/๑๑๓
๕ สติปัฏฐาน หมายถึงสติปัฏฐาน ๔ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๒ และ ที.ม. ๑๐/๒๘๙/๑๘๕-๑๘๖
๖ สัมมัปปธาน หมายถึงสัมมัปปธาน ๔ คือ (๑) สังวรปธาน เพียรระวังบาปอกุศลธรรมไม่ให้เกิดขึ้น
(๒) ปหานปธาน เพียรกำจัดบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว (๓) ภาวนาปธาน เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่
เกิดให้เกิดขึ้น (๔) อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่น และเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป (ที.ปา.
๑๑/๓๐๖/๑๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๘๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
ในอิทธิบาท๑ ผู้ฉลาดในอินทรีย์๒ ผู้ฉลาดในพละ๓ ผู้ฉลาดในโพชฌงค์๔ ผู้ฉลาด
ในมรรค๕ ผู้ฉลาดในผล๖ ผู้ฉลาดในนิพพาน๗ ผู้ฉลาดเหล่านั้นเรียกอย่างนี้ คือ พูด
บอก แสดง ชี้แจงอย่างนี้ว่า นี้เป็นธรรมของผู้มิใช่อริยะ นี้มิใช่ธรรมของผู้เป็นอริยะ
นี้เป็นธรรมของพวกคนพาล นี้มิใช่ธรรมของบัณฑิต นี้เป็นธรรมของอสัตบุรุษ นี้มิใช่
ธรรมของสัตบุรุษ รวมความว่า ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกสัตว์เกิดนั้นว่า ผู้ไม่มีอริยธรรม
คำว่า สัตว์เกิดใดกล่าวถึงตัวเองเท่านั้น อธิบายว่า ตนเอง ตรัสเรียกว่า
ตัวเอง
คำว่า กล่าวถึงตัวเองเท่านั้น อธิบายว่า ย่อมกล่าวถึง คือ พูด บอก แสดง
ชี้แจงถึงตนเองเท่านั้นว่า เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลบ้าง สมบูรณ์ด้วยวัตรบ้าง
สมบูรณ์ด้วยศีลวัตรบ้าง สมบูรณ์ด้วยชาติบ้าง สมบูรณ์ด้วยโคตรบ้าง สมบูรณ์ด้วย
ความเป็นบุตรของผู้มีตระกูลบ้าง สมบูรณ์ด้วยความเป็นผู้มีรูปงามบ้าง สมบูรณ์ด้วย
ทรัพย์บ้าง สมบูรณ์ด้วยการศึกษาบ้าง สมบูรณ์ด้วยหน้าที่การงานบ้าง สมบูรณ์ด้วย
หลักแห่งศิลปวิทยาบ้าง สมบูรณ์ด้วยวิทยฐานะบ้าง สมบูรณ์ด้วยความคงแก่เรียนบ้าง

เชิงอรรถ :
๑ อิทธิบาท หมายถึงอิทธิบาท ๔ คือ (๑) ฉันทะ (๒) วิริยะ (๓) จิตตะ (๔) วิมังสา (ที.ปา. ๑๑/๓๐๖/๑๙๘)
๒ อินทรีย์ หมายถึงอินทรีย์ ๕ คือ (๑) สัทธินทรีย์ อินทรีย์คือความเชื่อ (๒) วิริยินทรีย์ อินทรีย์คือความเพียร
(๓) สตินทรีย์ อินทรีย์คือความระลึกได้ (๔) สมาธินทรีย์ อินทรีย์คือความตั้งจิตมั่น (๕) ปัญญินทรีย์
อินทรีย์คือความรู้ทั่วชัด (ที.ปา. ๑๑/๓๒๐/๒๑๒)
๓ พละ หมายถึงพละ ๕ (ธรรมอันเป็นกำลัง) คือ (๑) สัทธา (๒) วิริยะ (๓) สติ (๔) สมาธิ (๕) ปัญญา
(องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๓/๙)
๔ โพชฌงค์ หมายถึงโพชฌงค์ ๗ (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้) คือ (๑) สติ ความระลึกได้ (๒) ธัมมวิจยะ
ความเลือกเฟ้น (๓) วิริยะ ความเพียร (๔) ปีติ ความอิ่มใจ (๕) ปัสสัทธิ ความสงบกายสงบใจ (๖) สมาธิ
ความตั้งจิตมั่น (๗) อุเบกขา ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง (ที.ปา. ๑๑/๓๓๐/๒๒๑)
๕ มรรค หมายถึงมรรค ๔ (ทางเข้าถึงความเป็นอริยบุคคล) คือ (๑) โสตาปัตติมรรค (๒) สกทาคามิมรรค
(๓) อนาคามิมรรค (๔) อรหัตตมรรค (อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๘๐๗/๕๑๙)
๖ ผล หมายถึงผล ๔ (ผลที่เกิดสืบเนื่องจากการละกิเลสได้ด้วยมรรค) คือ (๑) โสตาปัตติผล (๒) สกทาคามิ-
ผล (๓) อนาคามิผล (๔) อรหัตตผล (อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๘๐๗/๕๑๙)
๗ นิพพาน หมายถึงสภาวะที่ดับกิเลสและกองทุกข์แล้ว ดูเทียบนิพพานในข้อ ๑๙/๘๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๘๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
สมบูรณ์ด้วยปฏิภาณบ้าง สมบูรณ์ด้วยสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วบ้าง ออกบวชจาก
ตระกูลสูงบ้าง ออกบวชจากตระกูลใหญ่บ้าง ออกบวชจากตระกูลมีทรัพย์มากบ้าง
ออกบวชจากตระกูลมีโภคะมากบ้าง เป็นผู้มีชื่อเสียงมียศกว่าคฤหัสถ์และบรรพชิต
ทั้งหลายบ้าง เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารบ้าง
เป็นผู้ทรงจำพระสูตรบ้าง เป็นผู้ทรงจำพระวินัยบ้าง เป็นพระธรรมกถึกบ้าง เป็นผู้
อยู่ป่าเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
บ้าง เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร
บ้าง เป็นผู้งดอาหารมื้อหลังเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือการ
อยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ได้ปฐมฌานบ้าง เป็นผู้ได้ทุติยฌาน
บ้าง เป็นผู้ได้ตติยฌานบ้าง เป็นผู้ได้จตุตถฌานบ้าง เป็นผู้ได้อากาสานัญจายตน-
สมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้วิญญาณัญจายตนสมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้อากิญจัญญายตน-
สมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติบ้าง รวมความว่า สัตว์เกิดใด
กล่าวถึงตัวเองเท่านั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
สัตว์เกิดใดไม่มีใครถาม
ก็บอกศีลวัตรของตนแก่บุคคลเหล่าอื่น
สัตว์เกิดใดกล่าวถึงตัวเองเท่านั้น
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า ผู้ไม่มีอริยธรรม
[๑๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ส่วนภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสแล้ว
ไม่โอ้อวดในศีลทั้งหลายว่า เราเป็นดังนี้
อนึ่ง ภิกษุใดไม่มีกิเลสเครื่องฟูในที่ไหน ๆ ในโลก
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกภิกษุนั้นว่า ผู้มีอริยธรรม
ว่าด้วยผู้ได้ชื่อว่าภิกษุ
คำว่า ผู้สงบ ในคำว่า ส่วนภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสแล้ว อธิบายว่า ชื่อว่าผู้สงบ
เพราะสงบราคะ ชื่อว่าผู้สงบ เพราะสงบโทสะ ชื่อว่าผู้สงบ เพราะสงบโมหะ คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๘๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
ชื่อว่าผู้สงบ สงบเย็น ดับ ระงับได้แล้ว เพราะสงบ ระงับ สงบเย็น เผา ดับ
ปราศจาก สงบระงับโกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ...
มายา ... สาเถยยะ ... ถัมภะ ... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ ...
กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อน
ทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุกประการ ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท รวมความว่า
ผู้สงบ
คำว่า ภิกษุ อธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะทำลายธรรม ๗ ประการได้แล้ว คือ
๑. ทำลายสักกายทิฏฐิ(ความเห็นว่าเป็นตัวของตน)ได้แล้ว
๒. ทำลายวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย)ได้แล้ว
๓. ทำลายสีลัพพตปรามาส(ความยึดมั่นในศีลพรต)ได้แล้ว
๔. ทำลายราคะ(ความกำหนัด)ได้แล้ว
๕. ทำลายโทสะ(ความคิดประทุษร้าย)ได้แล้ว
๖. ทำลายโมหะ(ความลุ่มหลง)ได้แล้ว
๗. ทำลายมานะ(ความถือตัว)ได้แล้ว
ภิกษุนั้นทำลายบาปอกุศลธรรม ซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่
มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะ ต่อไปได้แล้ว
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สภิยะ)
ผู้ใดควรแก่คำชมเชยว่า เป็นผู้ถึงนิพพานด้วยทางที่ตนทำแล้ว
ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ละความเสื่อมและความเจริญแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์ สิ้นภพใหม่แล้ว ผู้นั้นชื่อว่า ภิกษุ๑
คำว่า ส่วนภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสแล้ว อธิบายว่า
ชื่อว่าดับกิเลสแล้ว เพราะทำให้ราคะดับแล้ว
ชื่อว่าดับกิเลสแล้ว เพราะทำให้โทสะดับแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๕๒๐/๔๓๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๘๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
ชื่อว่าดับกิเลสแล้ว เพราะทำให้โมหะดับแล้ว
ชื่อว่าดับกิเลสแล้ว เพราะทำให้โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ... อิสสา
... มัจฉริยะ ... มายา ... สาเถยยะ ... ถัมภะ ... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ
... ปมาทะ ... กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ...
ความเร่าร้อนทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุกประการ ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท
ดับแล้ว รวมความว่า ส่วนภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสแล้ว
คำว่า เราเป็นดังนี้ ในคำว่า ไม่โอ้อวดในศีลทั้งหลายว่า เราเป็นดังนี้
เป็นบทสนธิ เป็นคำเชื่อมบท เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์ เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร
เป็นความสละสลวยแห่งพยัญชนะ คำว่า เราเป็นดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับ
บทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ไม่โอ้อวดในศีลทั้งหลาย อธิบายว่า ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็น
ผู้อวด เป็นผู้โอ้อวด คือ ย่อมอวด ย่อมโอ้อวดว่า เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลบ้าง
สมบูรณ์ด้วยวัตรบ้าง สมบูรณ์ด้วยศีลวัตรบ้าง สมบูรณ์ด้วยชาติบ้าง สมบูรณ์ด้วย
โคตรบ้าง สมบูรณ์ด้วยความเป็นบุตรของผู้มีตระกูลบ้าง สมบูรณ์ด้วยความเป็นผู้มี
รูปงามบ้าง ... เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติบ้าง ภิกษุนี้ย่อมไม่อวด ไม่
โอ้อวด คือ เป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้ว
กับความโอ้อวด มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า ไม่โอ้อวดในศีลทั้งหลายว่า
เราเป็นดังนี้
ว่าด้วยผู้มีอริยธรรม
คำว่า ผู้ฉลาดทั้งหลาย ในคำว่า ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกภิกษุนั้นว่า ผู้มี
อริยธรรม อธิบายว่า ผู้ฉลาดในขันธ์ ฉลาดในธาตุ ฉลาดในอายตนะ ฉลาดใน
ปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในสติปัฏฐาน ฉลาดในสัมมัปปธาน ฉลาดในอิทธิบาท ฉลาด
ในอินทรีย์ ฉลาดในพละ ฉลาดในโพชฌงค์ ฉลาดในมรรค ฉลาดในผล ฉลาดใน
นิพพาน ผู้ฉลาดเหล่านั้น ย่อมเรียก คือ กล่าว บอก แสดง ชี้แจง อย่างนี้ว่า
“นี้เป็นธรรมของอริยชน นี้มิใช่ธรรมของอนริยชน นี้เป็นธรรมของบัณฑิต นี้มิใช่
ธรรมของคนพาล นี้เป็นธรรมของสัตบุรุษ นี้มิใช่ธรรมของอสัตบุรุษ” รวมความว่า
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกภิกษุนั้นว่า ผู้มีอริยธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๘๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า ภิกษุใด ในคำว่า อนึ่งภิกษุใดไม่มีกิเลสเครื่องฟูในที่ไหนๆ ในโลก
ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า กิเลสเครื่องฟู อธิบายว่า กิเลสเครื่องฟู ๗ อย่าง คือ

๑. กิเลสเครื่องฟูคือราคะ ๒. กิเลสเครื่องฟูคือโทสะ
๓. กิเลสเครื่องฟูคือโมหะ ๔. กิเลสเครื่องฟูคือมานะ
๕. กิเลสเครื่องฟูคือทิฏฐิ ๖. กิเลสเครื่องฟูคือกิเลส
๗. กิเลสเครื่องฟูคือกรรม

ภิกษุใดไม่มีกิเลสเครื่องฟู คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ คือ กิเลสเครื่องฟู
ภิกษุนั้นละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก
เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว
คำว่า ในที่ไหนๆ ได้แก่ ในที่ไหน คือ ที่ไหน ๆ ที่ไร ๆ ภายใน ภายนอก หรือ
ทั้งภายในและภายนอก
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก รวมความว่า อนึ่งภิกษุใดไม่มีกิเลสเครื่องฟูในที่ไหน ๆ ในโลก ด้วย
เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ส่วนภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสแล้ว
ไม่โอ้อวดในศีลทั้งหลายว่า เราเป็นดังนี้
อนึ่ง ภิกษุใดไม่มีกิเลสเครื่องฟูในที่ไหน ๆ ในโลก
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกภิกษุนั้นว่า ผู้มีอริยธรรม
[๑๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เจ้าลัทธิใด มีธรรมที่กำหนดไว้ อันปัจจัยปรุงแต่ง เชิดชูไว้
(แต่)ไม่ขาวสะอาด เจ้าลัทธินั้นเห็นอานิสงส์ใดในตน
อาศัยอานิสงส์นั้น และสันติที่กำเริบซึ่งอาศัยกันเกิดขึ้น
คำว่า เจ้าลัทธิใด มีธรรมที่กำหนดไว้ อันปัจจัยปรุงแต่ง อธิบายว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๘๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า กำหนด ได้แก่ การกำหนด ๒ อย่าง คือ (๑) การกำหนดด้วยอำนาจ
ตัณหา (๒) การกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา ...
นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ๑
คำว่า อันปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ อันปัจจัยปรุงแต่ง คือ ปรุงแต่งขึ้น ปรุงแต่ง
เฉพาะ ตั้งไว้ดีแล้ว รวมความว่า อันปัจจัยปรุงแต่ง
อีกนัยหนึ่ง ธรรมทั้งหลาย ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น
มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา
มีความดับไปเป็นธรรมดา รวมความว่า อันปัจจัยปรุงแต่ง
คำว่า เจ้าลัทธิใด ได้แก่ เจ้าลัทธิผู้เป็นเจ้าของทิฏฐิ ทิฏฐิ ๖๒ ตรัสเรียกว่า
ธรรม รวมความว่า เจ้าลัทธิใด มีธรรมที่กำหนดไว้ อันปัจจัยปรุงแต่ง
ว่าด้วยการเชิดชู ๒ อย่าง
คำว่า เชิดชูไว้ ในคำว่า มี ... เชิดชูไว้ (แต่) ไม่ขาวสะอาด ได้แก่ การเชิดชู
๒ อย่าง คือ (๑) การเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา (๒) การเชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่า
การเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าการเชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ
เจ้าลัทธินั้นยังไม่ละการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา ยังไม่สลัดทิ้งการเชิดชูด้วย
อำนาจทิฏฐิ เพราะเป็นผู้ยังไม่สลัดทิ้งการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา ยังไม่สลัดทิ้งการ
เชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ เจ้าลัทธินั้นเที่ยวเชิดชูตัณหาหรือทิฏฐิไว้ คือ มีตัณหาเป็น
ธงชัย มีตัณหาเป็นยอดธง มีตัณหาเป็นใหญ่ มีทิฏฐิเป็นธงชัย มีทิฏฐิเป็นยอดธง
มีทิฏฐิเป็นใหญ่ คือ ถูกตัณหาหรือทิฏฐิครอบงำเที่ยวไป รวมความว่า เชิดชูไว้
คำว่า มี ได้แก่ มี คือ ปรากฏ หาได้
คำว่า ไม่ขาวสะอาด ได้แก่ ไม่ขาวสะอาด คือ ไม่ขาว ไม่บริสุทธิ์ เศร้าหมอง
แปดเปื้อน รวมความว่า มี ... เชิดชูไว้(แต่)ไม่ขาวสะอาด

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบความในข้อ ๑๒/๕๘-๕๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๘๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า (อานิสงส์) ใดในตน ในคำว่า เห็นอานิสงส์ใดในตน ได้แก่ อานิสงส์ใด
ในตน ทิฏฐิ ตรัสเรียกว่า ตน เจ้าลัทธินั้นเห็นอานิสงส์ ๒ อย่างแห่งทิฏฐิของตน
คือ (๑) อานิสงส์ที่มีในชาตินี้ (๒) อานิสงส์ที่มีในชาติหน้า
อานิสงส์แห่งทิฏฐิที่มีในชาตินี้ เป็นอย่างไร
คือ ศาสดามีทิฏฐิอย่างใด สาวกก็มีทิฏฐิอย่างนั้น คือ สาวก ย่อมสักการะ
เคารพ นับถือ บูชา ทำความยำเกรงศาสดาผู้มีทิฏฐิอย่างนั้น และได้จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขารซึ่งมีศาสดานั้นเป็นต้นเหตุ นี้ชื่อว่าอานิสงส์แห่ง
ทิฏฐิที่มีในชาตินี้
อานิสงส์แห่งทิฏฐิที่มีในชาติหน้า เป็นอย่างไร
คือ บุคคลย่อมหวังผลต่อไปว่า ทิฏฐินี้ ควรเพื่อความเป็นนาค เป็นครุฑ
เป็นยักษ์ เป็นอสูร เป็นคนธรรพ์ เป็นท้าวมหาราช เป็นพระอินทร์ เป็นพระพรหม
หรือเป็นเทวดา ทิฏฐินี้ ควรเพื่อความหมดจด ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความ
หลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป สัตว์ทั้งหลายย่อมหมดจด สะอาด บริสุทธิ์
หลุดไป พ้นไป หลุดพ้นไปด้วยทิฏฐินี้ เราจักหมดจด สะอาด บริสุทธิ์ หลุดไป
พ้นไป หลุดพ้นไปด้วยทิฏฐินี้ นี้ชื่อว่าอานิสงส์แห่งทิฏฐิที่มีในชาติหน้า เจ้าลัทธิ
นั้นเห็น คือ แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาดูอานิสงส์ ๒ อย่างนี้แห่งทิฏฐิ
ของตน รวมความว่า เห็นอานิสงส์ใดในตน
ว่าด้วยสันติ ๓ อย่าง
คำว่า อาศัยอานิสงส์นั้น และสันติที่กำเริบซึ่งอาศัยกันเกิดขึ้น อธิบายว่า
สันติ ๓ อย่าง คือ (๑) อัจจันตสันติ(ความสงบโดยส่วนเดียว) (๒) ตทังคสันติ(ความ
สงบด้วยองค์นั้น ๆ) (๓) สมมติสันติ(ความสงบโดยสมมติ)
อัจจันตสันติ เป็นอย่างไร
คือ อมตนิพพาน เรียกว่า อัจจันตสันติ คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง
เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็น
ที่เย็นสนิท นี้ชื่อว่าอัจจันตสันติ
ตทังคสันติ เป็นอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๘๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
คือ ผู้บรรลุปฐมฌานก็มีนิวรณ์สงบไป ผู้บรรลุทุติยฌานก็มีวิตกวิจารสงบไป
ผู้บรรลุตติยฌานก็มีปีติสงบไป ผู้บรรลุจตุตถฌานก็มีสุขและทุกข์สงบไป ผู้บรรลุ
อากาสานัญจายตนสมาบัติก็มีรูปสัญญา๑ ปฏิฆสัญญา๒ นานัตตสัญญา๓สงบไป
ผู้บรรลุวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ก็มีอากาสานัญจายตนสัญญาสงบไป ผู้บรรลุ
อากิญจัญญายตนสมาบัติ ก็มีวิญญาณัญจายตนสัญญาสงบไป ผู้บรรลุเนวสัญญานา-
สัญญายตนสมาบัติ ก็มีอากิญจัญญายตนสัญญาสงบไป นี้ชื่อว่าตทังคสันติ
สมมติสันติ เป็นอย่างไร
คือ ความสงบแห่งทิฏฐิ ๖๒ เรียกว่า สมมติสันติ อนึ่ง สมมติสันติพระผู้มี-
พระภาคทรงประสงค์ว่า สันติ ในคาถานี้
คำว่า อาศัยอานิสงส์นั้น และสันติที่กำเริบซึ่งอาศัยกันเกิดขึ้น อธิบายว่า
อาศัย คือ อิงอาศัย ติด ติดแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่อสันติที่กำเริบ คือ สันติที่
กำเริบทั่ว สะเทือน สั่นไหว หวั่นไหว กระทบกระทั่ง กำหนดแล้ว กำหนดทั่วแล้ว
ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อม
ไปเป็นธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา รวมความว่า
อาศัยอานิสงส์นั้น และสันติที่กำเริบซึ่งอาศัยกันเกิดขึ้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า
เจ้าลัทธิใด มีธรรมที่กำหนดไว้ อันปัจจัยปรุงแต่ง เชิดชูไว้
(แต่)ไม่ขาวสะอาด เจ้าลัทธินั้นเห็นอานิสงส์ใดในตน
อาศัยอานิสงส์นั้น และสันติที่กำเริบซึ่งอาศัยกันเกิดขึ้น
[๒๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ มิใช่ก้าวล่วงได้ง่าย ๆ
การปลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น
ก็มิใช่ก้าวล่วงได้ง่าย เพราะฉะนั้น ในความถือมั่นเหล่านั้น
นรชนย่อมสลัดทิ้งธรรมบ้าง ยึดถือธรรมไว้บ้าง

เชิงอรรถ :
๑ รูปสัญญา ดูเชิงอรรถข้อ ๗/๓๒
๒ ปฏิฆสัญญา ดูเชิงอรรถข้อ ๗/๓๒
๓ นานัตตสัญญา ดูเชิงอรรถข้อ ๗/๓๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๘๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยความถือมั่น
คำว่า ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ ในคำว่า ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ
มิใช่ก้าวล่วงได้ง่าย ๆ อธิบายว่า ความยึดมั่นถือมั่นว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นเป็นโมฆะ” ชื่อว่าความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ ความยึดมั่นถือมั่นว่า
“โลกไม่เที่ยง ... โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน ... ชีวะ
กับสรีระ เป็นคนละอย่างกัน ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก ... หลังจากตายแล้ว
ตถาคตไม่เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก และไม่เกิดอีก ... หลังจากตาย
แล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็น
โมฆะ๑” ชื่อว่าความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ
คำว่า ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ มิใช่ก้าวล่วงได้ง่าย ๆ อธิบายว่า
ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ ไม่ใช่ก้าวล่วงได้โดยง่าย คือ ก้าวล่วงได้โดยยาก
ข้ามได้ยาก ข้ามพ้นได้ยาก ก้าวล่วงพ้นได้ยาก กลับตัวหลีกได้ยาก รวมความว่า
ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ มิใช่ก้าวล่วงได้ง่าย ๆ
คำว่า ในธรรมทั้งหลาย ในคำว่า การปลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น
ได้แก่ ในทิฏฐิ ๖๒
คำว่า ปลงใจแล้ว ได้แก่ ตกลงใจแล้ว วินิจฉัยแล้ว ตัดสินแล้ว ชี้ขาดแล้ว
เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว
คำว่า ถือมั่น ได้แก่ จับมั่น ยึดมั่น ถือมั่น รวบถือ รวมถือ รวบรวมถือ
ในความยึดมั่นทั้งหลาย คือความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น ความติดใจ ความ
น้อมใจเชื่อว่า ข้อนี้จริง แท้ แน่ แท้จริง ตามเป็นจริง ไม่วิปริต รวมความว่า
การปลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น ในความถือมั่นเหล่านั้น
นรชน ได้แก่ เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น
เพราะต้นเหตุนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถข้อ ๑๖/๗๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๙๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า นรชน ได้แก่ สัตว์ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด
สัตว์เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์
คำว่า ในความถือมั่นเหล่านั้น ได้แก่ ในความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิเหล่านั้น
รวมความว่า เพราะฉะนั้น ในความถือมั่นเหล่านั้น นรชน
ว่าด้วยการสลัดทิ้ง ๒ อย่าง
คำว่า ย่อมสลัดทิ้ง ในคำว่า ย่อมสลัดทิ้งธรรมบ้าง ยึดถือธรรมไว้บ้าง
ได้แก่ ย่อมสลัดทิ้ง เพราะเหตุ ๒ อย่าง คือ (๑) สลัดทิ้งด้วยการตัดสินของผู้อื่น
(๒) เมื่อไม่สำเร็จประโยชน์เองก็สลัดทิ้งเสีย
นรชนสลัดทิ้งด้วยการตัดสินของผู้อื่น เป็นอย่างไร
คือ ผู้อื่นตัดสินว่า ศาสดานั้น ไม่ใช่สัพพัญญู ธรรมมิใช่ธรรมที่ศาสดากล่าว
สอนไว้ดีแล้ว หมู่คณะมิใช่ผู้ปฏิบัติดีแล้ว ทิฏฐิมิใช่สิ่งที่เจริญ ปฏิปทามิใช่ศาสดา
บัญญัติไว้ดีแล้ว มรรคมิใช่ทางนำออกไปจากทุกข์ ความหมดจด ความสะอาด
ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป ในทิฏฐินี้ไม่มี ในทิฏฐินี้
สัตว์ทั้งหลายย่อมหมดจด สะอาด บริสุทธิ์ หลุดไป พ้นไป หรือหลุดพ้นไป ไม่มี
ทิฏฐินี้ เลว ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า เล็กน้อย ผู้อื่นย่อมตัดสินอย่างนี้
นรชนที่ถูกตัดสินอย่างนี้ ก็สลัดทิ้งศาสดา สลัดทิ้งธรรมที่ศาสดากล่าวสอน สลัด
ทิ้งหมู่คณะ สลัดทิ้งทิฏฐิ สลัดทิ้งปฏิปทา สลัดทิ้งมรรค นรชนชื่อว่าสลัดทิ้งด้วย
การตัดสินของผู้อื่นเป็นอย่างนี้
นรชนเมื่อไม่สำเร็จประโยชน์เองก็สลัดทิ้ง เป็นอย่างไร
คือ นรชนเมื่อไม่ทำศีลให้สำเร็จประโยชน์ก็สลัดทิ้งศีล เมื่อไม่ทำวัตรให้สำเร็จ
ประโยชน์ก็สลัดทิ้งวัตร เมื่อไม่ทำศีลวัตรให้สำเร็จประโยชน์ก็สลัดทิ้งศีลวัตร นรชน
ชื่อว่า เมื่อไม่สำเร็จประโยชน์เองก็สลัดทิ้ง เป็นอย่างนี้
คำว่า ยึดถือธรรมไว้บ้าง อธิบายว่า นรชนถือ ยึดมั่น ถือมั่น
ศาสดา ธรรมที่ศาสดากล่าวสอน หมู่คณะ ทิฏฐิ ปฏิปทา และมรรคไว้บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๙๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
รวมความว่า นรชนย่อมสลัดทิ้งธรรมบ้าง ยึดถือธรรมไว้บ้าง ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ มิใช่ก้าวล่วงได้ง่ายๆ
การปลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น
ก็มิใช่ก้าวล่วงได้ง่าย เพราะฉะนั้น ในความถือมั่นเหล่านั้น
นรชนย่อมสลัดทิ้งธรรมบ้าง ยึดถือธรรมไว้บ้าง
[๒๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ทิฏฐิที่กำหนด(เพื่อเกิด)ในภพน้อยภพใหญ่
ของผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ไม่มีในที่ไหน ๆ ในโลก
เพราะผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดนั้น ละความหลอกลวง
และความถือตัวได้แล้ว ไม่มีความถือมั่น
จะพึงไปด้วยเหตุอะไรเล่า
ว่าด้วยปัญญาเครื่องกำจัด
คำว่า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ในคำว่า ทิฏฐิที่กำหนด(เพื่อเกิด)ในภพน้อย
ภพใหญ่ ของผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ไม่มีในที่ไหน ๆ ในโลก อธิบายว่า ปัญญา
ตรัสเรียกว่า เครื่องกำจัด คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกเฟ้น
ความสอดส่องธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนด
เฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้อย่างแจ่มแจ้ง ความค้นคิด
ความใคร่ครวญ ปัญญาดุจแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง
ปัญญาเครื่องเห็นแจ้ง ความรู้ดี ปัญญาดุจปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ
ปัญญาดุจศัสตรา ปัญญาดุจปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญา
ปัญญาดุจดวงประทีป ปัญญาดุจดวงแก้ว ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม
สัมมาทิฏฐิ
เพราะเหตุไร ปัญญาจึงตรัสเรียกว่า เครื่องกำจัด เพราะปัญญานั้นเป็นเครื่อง
กำจัด ชำระ ล้าง และซักฟอกกายทุจริต ... วจีทุจริต ... มโนทุจริต ... เพราะ
ปัญญานั้นเป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้างและซักฟอกราคะ ... โทสะ ... โมหะ ... โกธะ ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๙๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ... มายา ... สาเถยยะ ... ถัมภะ
... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ ... กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง
... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อนทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุก
ประการ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท เพราะเหตุนั้น ปัญญาจึงตรัสเรียกว่า
เครื่องกำจัด
อีกนัยหนึ่ง สัมมาทิฏฐิเป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้าง และซักฟอกมิจฉาทิฏฐิได้
สัมมาสังกัปปะเป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้าง และซักฟอกมิจฉาสังกัปปะได้ สัมมาวาจา
เป็นเครื่องกำจัด... มิจฉาวาจาได้ สัมมากัมมันตะเป็นเครื่องกำจัด... มิจฉากัมมันตะ
ได้ สัมมาอาชีวะ เป็นเครื่องกำจัด... มิจฉาอาชีวะได้ สัมมาวายามะ เป็นเครื่องกำจัด...
มิจฉาวายามะได้ สัมมาสติเป็นเครื่องกำจัด... มิจฉาสติได้ สัมมาสมาธิ เป็นเครื่อง
กำจัด... มิจฉาสมาธิได้ สัมมาญาณเป็นเครื่องกำจัด... มิจฉาญาณได้ สัมมาวิมุตติ
เป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้าง และซักฟอกมิจฉาวิมุตติได้
อีกนัยหนึ่ง อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้าง และซักฟอกกิเลส
ทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อนทุกสถาน
... ความเดือดร้อนทุกประการ อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้าง และ
ซักฟอกอกุสลาภิสังขารทุกประเภท
พระอรหันต์ ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็น
ไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยธรรมเป็นเครื่องชำระล้างเหล่านี้ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์
จึงชื่อว่า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด พระอรหันต์นั้น เป็นผู้กำจัดความกำหนัดได้แล้ว
กำจัดบาปได้แล้ว กำจัดกิเลสได้แล้ว กำจัดความเร่าร้อนได้แล้ว รวมความว่า ผู้มี
ปัญญาเครื่องกำจัด
คำว่า ในที่ไหน ๆ ได้แก่ ในที่ไหน คือ ที่ไหน ๆ ที่ไร ๆ ภายใน ภายนอก
หรือทั้งภายในและภายนอก
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ... อายตนโลก๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๙๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า ที่กำหนด ได้แก่ การกำหนด ๒ อย่าง คือ (๑) การกำหนดด้วย
อำนาจตัณหา (๒) การกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจ
ตัณหา... นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ๑
คำว่า ในภพน้อยภพใหญ่ อธิบายว่า ในภพน้อยภพใหญ่ คือในกรรมวัฏและ
วิปากวัฏ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ
ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในกรรมวัฏ
เป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในภพต่อไป ในคติ
ต่อไป ในการถือกำเนิดต่อไป ในปฏิสนธิต่อไป ในการบังเกิดของอัตภาพต่อไป
คำว่า ทิฏฐิที่กำหนด(เพื่อเกิด)ในภพน้อยภพใหญ่ ของผู้มีปัญญาเครื่อง
กำจัด ไม่มีในที่ไหน ๆ ในโลก อธิบายว่า ทิฏฐิที่กำหนด คือ กำหนดทั่ว ปรุงแต่ง
เฉพาะ ตั้งมั่นไว้ดีแล้ว(เพื่อเกิด)ในภพน้อยภพใหญ่ของผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ไม่มี
คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ในที่ไหน ๆ ในโลก ได้แก่ ทิฏฐิที่กำหนดนั้นผู้มี
ปัญญาเครื่องกำจัดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้
เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า ทิฏฐิที่กำหนด(เพื่อเกิด)ในภพ
น้อยภพใหญ่ ของผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ไม่มีในที่ไหน ๆ ในโลก
ว่าด้วยความหลอกลวงและความถือตัว
คำว่า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ละความหลอกลวงและความถือตัวได้แล้ว
อธิบายว่า ความประพฤติหลอกลวง ตรัสเรียกว่า ความหลอกลวง คนบางคนใน
โลกนี้ ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ แล้วตั้งความปรารถนาชั่วทราม เพราะ
การปกปิดทุจริตนั้นเป็นเหตุ คือปรารถนาว่า “ใครอย่ารู้ทันเราเลย” ดำริว่า “ใคร
อย่ารู้ทันเราเลย” กล่าววาจาด้วยคิดว่า “ใครอย่ารู้ทันเราเลย” พยายามทางกาย
ด้วยคิดว่า “ใครอย่ารู้ทันเราเลย”

เชิงอรรถ :
๑ เทียบกับความในข้อ ๑๒/๕๘-๕๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๙๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
ความหลอกลวง ความเป็นผู้มีความหลอกลวง ความเสแสร้ง ความล่อลวง
การปิดบัง การหลบเลี่ยง การหลีกเลี่ยง การซ่อน การซ่อนเร้น การปิด การปกปิด
การไม่เปิดเผย การไม่ทำให้แจ่มแจ้ง การปิดสนิท การทำความชั่วเห็นปานนี้ นี้ตรัส
เรียกว่า ความหลอกลวง
คำว่า ความถือตัว อธิบายว่า ความถือตัวนัยเดียว คือ ความที่จิตใฝ่สูง
ความถือตัว ๒ นัย คือ
๑. การยกตน ๒. การข่มผู้อื่น
ความถือตัว ๓ นัย คือ
๑. ความถือตัวว่าเราเลิศกว่าเขา ๒. ความถือตัวว่าเราเสมอเขา
๓. ความถือตัวว่าเราด้อยกว่าเขา
ความถือตัว ๔ นัย คือ
๑. เกิดความถือตัวเพราะลาภ
๒. เกิดความถือตัวเพราะยศ
๓. เกิดความถือตัวเพราะความสรรเสริญ
๔. เกิดความถือตัวเพราะความสุข
ความถือตัว ๕ นัย คือ
๑. เกิดความถือตัวว่าเราได้รูปที่ถูกใจ
๒. เกิดความถือตัวว่าเราได้เสียงที่ถูกใจ
๓. เกิดความถือตัวว่าเราได้กลิ่นที่ถูกใจ
๔. เกิดความถือตัวว่าเราได้รสที่ถูกใจ
๕. เกิดความถือตัวว่าเราได้โผฏฐัพพะที่ถูกใจ
ความถือตัว ๖ นัย คือ
๑. เกิดความถือตัวเพราะมีตาสมบูรณ์
๒. เกิดความถือตัวเพราะมีหูสมบูรณ์
๓. เกิดความถือตัวเพราะมีจมูกสมบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๙๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
๔. เกิดความถือตัวเพราะมีลิ้นสมบูรณ์
๕. เกิดความถือตัวเพราะมีกายสมบูรณ์
๖. เกิดความถือตัวเพราะมีใจสมบูรณ์
ความถือตัว ๗ นัย คือ
๑. ความถือตัว
๒. ความดูหมิ่น
๓. ความดูหมิ่นด้วยอำนาจความถือตัว
๔. ความถือตัวว่าด้อยกว่าเขา
๕. ความถือตัวว่าเลิศกว่าเขา
๖. ความถือเราถือเขา
๗. ความถือตัวผิด ๆ
ความถือตัว ๘ นัย คือ
๑. เกิดความถือตัวเพราะได้ลาภ
๒. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะเสื่อมลาภ
๓. เกิดความถือตัวเพราะมียศ
๔. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะเสื่อมยศ
๕. เกิดความถือตัวเพราะความสรรเสริญ
๖. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะถูกนินทา
๗. เกิดความถือตัวเพราะความสุข
๘. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะความทุกข์
ความถือตัว ๙ นัย คือ
๑. เป็นผู้เลิศกว่าเขาถือตัวว่าเลิศกว่าเขา
๒. เป็นผู้เลิศกว่าเขาถือตัวว่าเสมอเขา
๓. เป็นผู้เลิศกว่าเขาถือตัวว่าด้อยกว่าเขา
๔. เป็นผู้เสมอเขาถือตัวว่าเลิศกว่าเขา
๕. เป็นผู้เสมอเขาถือตัวว่าเสมอเขา
๖. เป็นผู้เสมอเขาถือตัวว่าด้อยกว่าเขา
๗. เป็นผู้ด้อยกว่าเขาถือตัวว่าเลิศกว่าเขา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๙๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
๘. เป็นผู้ด้อยกว่าเขาถือตัวว่าเสมอเขา
๙. เป็นผู้ด้อยกว่าเขาถือตัวว่าด้อยกว่าเขา
ความถือตัว ๑๐ นัย คือ คนบางคนในโลกนี้
๑. เกิดความถือตัวเพราะชาติ
๒. เกิดความถือตัวเพราะโคตร
๓. เกิดความถือตัวเพราะเป็นบุตรของผู้มีตระกูล
๔. เกิดความถือตัวเพราะเป็นผู้มีรูปงาม
๕. เกิดความถือตัวเพราะมีทรัพย์
๖. เกิดความถือตัวเพราะการศึกษา
๗. เกิดความถือตัวเพราะหน้าที่การงาน
๘. เกิดความถือตัวเพราะมีหลักแห่งศิลปวิทยา
๙. เกิดความถือตัวเพราะวิทยฐานะ
๑๐. เกิดความถือตัวเพราะความคงแก่เรียน เกิดความถือตัวเพราะปฏิภาณ
หรือเกิดความถือตัว เพราะสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้ว
ความถือตัว กริยาที่ถือตัว ภาวะที่ถือตัว ความลำพองตน ความทะนงตน
ความเชิดชูตนเป็นดุจธง ความเห่อเหิม ความที่จิตต้องการเชิดชูตนเป็นดุจธงเห็น
ปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความถือตัว
คำว่า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ละความหลอกลวงและความถือตัวได้แล้ว
อธิบายว่า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ละ คือ ละทิ้ง บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึง
ความไม่มีอีกซึ่งความหลอกลวงและความถือตัว รวมความว่า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด
ละความหลอกลวงและความถือตัวได้แล้ว
ว่าด้วยความถือมั่น ๒ อย่าง
คำว่า ความถือมั่น ในคำว่า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดนั้น ... ไม่มีความถือมั่น
จะพึงไปด้วยเหตุอะไรเล่า ได้แก่ ความถือมั่น ๒ อย่าง คือ (๑) ความถือมั่นด้วย
อำนาจตัณหา (๒) ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความถือมั่นด้วยอำนาจ
ตัณหา ... นี้ชื่อว่าความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๙๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดนั้นละความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้ง
ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดนั้น ชื่อว่าผู้ไม่มีความ
ถือมั่น เพราะเป็นผู้ละความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งความถือมั่นด้วย
อำนาจทิฏฐิได้แล้ว จะพึงไปด้วยอำนาจราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ
วิจิกิจฉา อนุสัย อะไรเล่าว่า “เป็นผู้กำหนัด ขัดเคือง หลง ยึดติด ยึดถือ ฟุ้งซ่าน
ลังเล หรือตกอยู่ในพลังกิเลส”
ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดนั้นละอภิสังขารได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละอภิสังขารได้แล้ว
จะพึงไปสู่คติด้วยเหตุอะไรเล่าว่า “เป็นผู้เกิดในนรก เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน เกิดใน
เปตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นผู้มีรูป เป็นผู้ไม่มีรูป เป็นผู้มีสัญญา เป็นผู้ไม่มี
สัญญา หรือเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่” ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดนั้นจะพึง
ไปด้วยเหตุ ปัจจัยและการณ์ใด เหตุ ปัจจัยและการณ์นั้นไม่มี รวมความว่า ผู้มี
ปัญญาเครื่องกำจัดนั้น ... ไม่มีความถือมั่น จะพึงไปด้วยเหตุอะไรเล่า ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ทิฏฐิที่กำหนด(เพื่อเกิด)ในภพน้อยภพใหญ่
ของผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ไม่มีในที่ไหน ๆ ในโลก
เพราะผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดนั้น ละความหลอกลวง
และความถือตัวได้แล้ว ไม่มีความถือมั่น
จะพึงไปด้วยเหตุอะไรเล่า
[๒๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เพราะว่าผู้มีความถือมั่นย่อมเข้าถึงวาทะในธรรมทั้งหลาย
จะพึงกล่าวคำติเตียนผู้ไม่มีความถือมั่นด้วยเหตุอะไรเล่า
เพราะความเห็นว่ามีตน ความเห็นว่าไม่มีตน
ไม่มีแก่ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น
ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น สลัดแล้วซึ่งทิฏฐิทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละ
คำว่า ผู้มีความถือมั่น ในคำว่า เพราะว่าผู้มีความถือมั่นย่อมเข้าถึงวาทะ
ในธรรมทั้งหลาย ได้แก่ ความถือมั่น ๒ อย่าง คือ (๑) ความถือมั่นด้วย
อำนาจตัณหา (๒) ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความถือมั่นด้วยอำนาจ
ตัณหา ... นี้ชื่อว่าความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๙๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
ผู้มีความถือมั่นนั้น ยังละความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหาไม่ได้ ยังสลัดทิ้งความ
ถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิไม่ได้ เพราะเป็นผู้ละความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้ง
ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิไม่ได้ ผู้มีความถือมั่นจึงเข้าถึงวาทะในธรรมทั้งหลายว่า
“เป็นผู้กำหนัด ขัดเคือง หลง ยึดติด ยึดถือ ฟุ้งซ่าน ลังเล หรือตกอยู่ในพลังกิเลส”
ผู้มีความถือมั่นยังละอภิสังขารเหล่านั้นไม่ได้ เพราะยังเป็นผู้ละอภิสังขาร
ทั้งหลายไม่ได้ ย่อมเข้าถึง คือ เข้าไปถึง ถือ ยึดมั่น ถือมั่นวาทะด้วยคติว่า “เป็น
ผู้เกิดในนรก เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน เกิดในเปตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็น
ผู้มีรูป เป็นผู้ไม่มีรูป เป็นผู้มีสัญญา เป็นผู้ไม่มีสัญญา หรือเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่
ไม่มีสัญญาก็มิใช่” รวมความว่า เพราะว่าผู้มีความถือมั่นย่อมเข้าถึงวาทะในธรรม
ทั้งหลาย
คำว่า จะพึงกล่าวคำติเตียนผู้ไม่มีความถือมั่นด้วยเหตุอะไรเล่า อธิบายว่า
คำว่า ความถือมั่น ได้แก่ ความถือมั่น ๒ อย่าง คือ (๑) ความถือมั่น
ด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความถือมั่นด้วย
อำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ
ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น ละความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความ
ถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้ง
ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว จะพึงกล่าวคำติเตียนผู้ไม่มีความถือมั่น ด้วย
อำนาจราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัย อะไรเล่าว่า “เป็น
ผู้กำหนัด ขัดเคือง หลง ยึดติด ยึดมั่น ฟุ้งซ่าน ลังเล หรือตกอยู่ในพลังกิเลส”
ผู้ไม่มีความถือมั่นละอภิสังขารเหล่านั้นได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละอภิสังขาร
ทั้งหลายได้แล้ว จะพึงกล่าวถึงคติด้วยเหตุอะไรเล่าว่า “เป็นผู้เกิดในนรก ... เป็นผู้มี
สัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่” ผู้มีความถือมั่นนั้นจะพึงกล่าว คือ พูด บอก
แสดง ชี้แจงด้วยเหตุ ปัจจัยและการณ์ใด เหตุ ปัจจัย และการณ์นั้นไม่มี รวมความว่า
จะพึงกล่าวคำติเตียนผู้ไม่มีความถือมั่นด้วยเหตุอะไรเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๙๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยความเห็นว่ามีตนและไม่มีตน
คำว่า ความเห็นว่ามีตน ในคำว่า เพราะความเห็นว่ามีตน ความเห็นว่า
ไม่มีตน ไม่มีแก่ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น ได้แก่ ความตามเห็นว่ามีตัวตน ไม่มี
คำว่า ความเห็นว่าไม่มีตน ได้แก่ ความเห็นว่าขาดสูญ ไม่มี
คำว่า ความเห็นว่ามีตน ได้แก่ สิ่งที่ถือไม่มี
คำว่า ความเห็นว่าไม่มีตน อธิบายว่า สิ่งที่ควรปล่อย ไม่มี ผู้ใดมีสิ่งที่ถือไว้
ผู้นั้นก็มีสิ่งที่ควรปล่อย ผู้ใดมีสิ่งที่ควรปล่อย ผู้นั้นก็มีสิ่งที่ถือไว้ พระอรหันต์ก้าวพ้น
การถือ และการปล่อย ล่วงพ้นความเจริญและความเสื่อมได้แล้ว พระอรหันต์นั้นอยู่
ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว ผ่านทางไกลได้แล้ว ถึงทิศ(นิพพาน)แล้ว
ไม่มีการเวียนเกิด เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก รวมความว่า เพราะความเห็นว่ามีตน
ความเห็นว่าไม่มีตน ไม่มีแก่ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น
คำว่า ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น สลัดแล้วซึ่งทิฏฐิทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละ
อธิบายว่า ทิฏฐิ ๖๒ ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้นละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบ
ได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้ไม่มีความถือ
มั่นนั้นชื่อว่า สลัด คือ กำจัด ขจัด ขจัดออก ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึง
ความไม่มีอีกซึ่งทิฏฐิทั้งปวงในอัตภาพนี้ รวมความว่า ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น สลัด
แล้วซึ่งทิฏฐิทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เพราะว่าผู้มีความถือมั่นย่อมเข้าถึงวาทะในธรรมทั้งหลาย
จะพึงกล่าวคำติเตียนผู้ไม่มีความถือมั่น ด้วยเหตุอะไรเล่า
เพราะความเห็นว่ามีตน ความเห็นว่าไม่มีตน
ไม่มีแก่ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น
ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น สลัดแล้วซึ่งทิฏฐิทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละ
ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๐๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส๑
อธิบายสุทธัฏฐกสูตร
ว่าด้วยผู้พิจารณาเห็นความหมดจด
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายสุทธัฏฐกสูตร ดังต่อไปนี้
[๒๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เราเห็นนรชนผู้หมดจดว่า เป็นผู้ไม่มีโรคอย่างยิ่ง
ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น
บุคคลเมื่อรู้จริงอย่างนี้ ก็รู้แล้วว่าความเห็นนี้ยอดเยี่ยม
จึงเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นความหมดจด
เพราะฉะนั้น ย่อมเชื่อว่าความเห็นนั้นเป็นญาณ
คำว่า เราเห็นนรชนผู้หมดจด ในคำว่า เราเห็นนรชนผู้หมดจดว่า เป็นผู้
ไม่มีโรคอย่างยิ่ง อธิบายว่า เราเห็น คือ แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาดู
นรชนผู้หมดจด
คำว่า เป็นผู้ไม่มีโรคอย่างยิ่ง ได้แก่ ถึงความปลอดโรค ถึงธรรมอันเกษม
ถึงธรรมเครื่องป้องกัน ถึงธรรมเป็นที่ปกป้อง ถึงธรรมเป็นที่พึ่ง ถึงธรรมเป็นที่ไปใน
เบื้องหน้า ถึงความปลอดภัย ถึงธรรมที่ไม่จุติ ถึงธรรมที่ไม่ตาย ถึงธรรมเป็นที่ดับ
เย็นอันยอดเยี่ยม รวมความว่า เราเห็นนรชนผู้หมดจดว่า เป็นผู้ไม่มีโรคอย่างยิ่ง
คำว่า ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น อธิบายว่า ความ
หมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป
ย่อมมีแก่นรชนเพราะการเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ นรชนย่อมหมดจด คือ สะอาด
บริสุทธิ์ หลุดไป พ้นไป หลุดพ้นไป เพราะการเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ รวมความว่า
ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๗๙๕-๘๐๒/๔๙๐-๔๙๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๐๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า เมื่อรู้จริงอย่างนี้ ก็รู้แล้วว่าความเห็นนี้ยอดเยี่ยม อธิบายว่า เมื่อ
รู้จริง คือ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ แทงตลอดอย่างนี้ ก็รู้แล้ว คือ ทราบแล้ว เทียบ
เคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “ความเห็นนี้ เยี่ยม
คือ ยอด ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด ประเสริฐสุด” รวมความว่า เมื่อรู้จริงอย่างนี้
ก็รู้แล้วว่า ความเห็นนี้ยอดเยี่ยม
คำว่า จึงเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นความหมดจด เพราะฉะนั้น ย่อมเชื่อว่า
ความเห็นนั้นเป็นญาณ อธิบายว่า ผู้ใดเห็นนรชนผู้หมดจด ผู้นั้น ชื่อว่าเป็นผู้ตาม
พิจารณาเห็นความหมดจด
คำว่า ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็นญาณ อธิบายว่า ย่อมเชื่อการเห็นรูปด้วย
จักขุวิญญาณว่า เป็นญาณ เป็นมรรค เป็นทาง เป็นทางนำออกจากทุกข์ รวมความว่า
จึงเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นความหมดจด เพราะฉะนั้น ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็น
ญาณ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เราเห็นนรชนผู้หมดจดว่า เป็นผู้ไม่มีโรคอย่างยิ่ง
ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น
บุคคลเมื่อรู้จริงอย่างนี้ ก็รู้แล้วว่าความเห็นนี้ยอดเยี่ยม
จึงเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นความหมดจด
เพราะฉะนั้น ย่อมเชื่อว่าความเห็นนั้นเป็นญาณ
[๒๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ถ้าความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น
หรือถ้านรชนนั้นละทุกข์ได้เพราะญาณ
นรชนผู้ยังมีอุปธินั้น ย่อมหมดจดเพราะมรรคอื่น(ก็ได้)
เพราะว่าทิฏฐิย่อมบ่งบอกถึงนรชนนั้นผู้พูดอย่างนั้น
ว่าด้วยความหมดจดเป็นต้น
คำว่า ถ้าความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น อธิบายว่า ถ้า
ความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความ
หลุดพ้นไป ย่อมมีแก่นรชนเพราะการเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ นรชนย่อมหมดจด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๐๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
คือ สะอาด บริสุทธิ์ หลุดไป พ้นไป หลุดพ้นไปเพราะการเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ
รวมความว่า ถ้าความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น
คำว่า หรือถ้านรชนนั้นละทุกข์ได้เพราะญาณ อธิบายว่า ถ้านรชนนั้น
ละชาติทุกข์(ทุกข์เพราะความเกิด) ชราทุกข์(ทุกข์เพราะความแก่) พยาธิทุกข์(ทุกข์
เพราะความเจ็บป่วย) มรณทุกข์(ทุกข์เพราะความตาย) ทุกข์คือโสกะ(ความเศร้าโศก)
ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกขะ(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ) อุปายาส
(ความคับแค้นใจ) เพราะการเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ รวมความว่า หรือถ้านรชน
นั้นละทุกข์ได้เพราะญาณ
คำว่า นรชนผู้ยังมีอุปธินั้น ย่อมหมดจดเพราะมรรคอื่น(ก็ได้) อธิบายว่า
นรชนย่อมหมดจด คือ สะอาด บริสุทธิ์ หลุดไป พ้นไป หลุดพ้นไปเพราะมรรคอื่น
คือมรรคที่ไม่หมดจด ปฏิปทาที่ผิด ทางที่มิใช่นำออกจากทุกข์ นอกจากสติปัฏฐาน
สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ อริยมรรคมีองค์ ๘
คำว่า ผู้ยังมีอุปธิ ได้แก่ ผู้ยังมีราคะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ ยังมีมานะ ยังมี
ตัณหา ยังมีทิฏฐิ ยังมีกิเลส ยังมีอุปาทาน รวมความว่า นรชนผู้ยังมีอุปธินั้น ย่อม
หมดจดเพราะมรรคอื่น(ก็ได้)
คำว่า เพราะว่าทิฏฐิย่อมบ่งบอกถึงนรชนนั้นผู้พูดอย่างนั้น อธิบายว่า
ทิฏฐินั้นแหละบ่งบอกถึงบุคคลนั้นว่า บุคคลนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริตด้วย
ประการอย่างนี้
คำว่า ผู้พูดอย่างนั้น ได้แก่ ผู้พูด คือ กล่าว บอก แสดง ชี้แจงอย่างนั้นว่า
“โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” ... ผู้พูด คือ กล่าว บอก แสดง
ชี้แจงอย่างนั้นว่า “โลกไม่เที่ยง ... โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีวะ๑กับสรีระเป็น
อย่างเดียวกัน ... ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน ... หลังจากตายแล้วตถาคต๒
เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก
และไม่เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” รวมความว่า เพราะว่าทิฏฐิย่อมบ่งบอกถึงนรชนนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ชีวะ ดูเชิงอรรถข้อ ๑๖/๗๗
๒ ตถาคต ดูเชิงอรรถข้อ ๑๖/๗๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๐๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
ผู้พูดอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ถ้าความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น
หรือถ้านรชนนั้นละทุกข์ได้เพราะญาณ
นรชนผู้ยังมีอุปธินั้น ย่อมหมดจดเพราะมรรคอื่น(ก็ได้)
เพราะว่าทิฏฐิย่อมบ่งบอกถึงนรชนนั้นผู้พูดอย่างนั้น
[๒๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจดในรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน ศีลวัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้โดยมรรคอื่น
พราหมณ์นั้นผู้ไม่เข้าไปติดในบุญและบาป ละตนได้
เรียกว่า ผู้ไม่ทำเพิ่มเติมในโลกนี้
คำว่า ไม่ ในคำว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจดในรูปที่เห็น เสียงที่
ได้ยิน ศีล วัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้โดยมรรคอื่น เป็นคำปฏิเสธ
คำว่า พราหมณ์ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะลอยธรรม ๗ ประการ
ได้แล้ว คือ
๑. ลอยสักกายทิฏฐิได้แล้ว
๒. ลอยวิจิกิจฉาได้แล้ว
๓. ลอยสีลัพพตปรามาสได้แล้ว
๔. ลอยราคะได้แล้ว
๕. ลอยโทสะได้แล้ว
๖. ลอยโมหะได้แล้ว
๗. ลอยมานะได้แล้ว
คือ พราหมณ์ลอยบาปอกุศลธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่
มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะ ต่อไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๐๔ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น