Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๙-๗ หน้า ๓๑๑ - ๓๖๒

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙-๗ สุตตันตปิฎกที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย มหานิทเทส
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
คำว่า พระสมณะตรัสไว้แล้ว ได้แก่ พระสมณะ คือ ผู้มีบาปสงบแล้ว เป็น
พราหมณ์ ผู้ลอยบาปธรรมแล้ว เป็นภิกษุผู้ตัดมูลแห่งกิเลสแล้ว ผู้พ้นแล้วจาก
เครื่องผูกคืออกุศลมูลทุกอย่าง ตรัสไว้แล้ว คือ ทรงพูด บอก แสดง บัญญัติ กำหนด
เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศไว้แล้ว รวมความว่า และธรรมเหล่าใดพระสมณะ
ตรัสไว้แล้ว ด้วยเหตุนั้น พระพุทธเนรมิตจึงทูลถามว่า
ฉันทะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน
และการตัดสินใจมีมาจากไหน
อนึ่ง ความโกรธ ความเป็นคนพูดเท็จ
และความสงสัยมีมาจากอะไร
และธรรมเหล่าใดพระสมณะตรัสไว้แล้ว
ธรรมเหล่านั้นมีมาจากอะไร
[๑๐๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ชนทั้งหลายในโลกพูดถึงสิ่งใดว่า น่าดีใจ น่าเสียใจ
ฉันทะก็จะมีขึ้นเพราะอาศัยสิ่งนั้น
ชนในโลกมองเห็นความเสื่อม
และความเจริญในรูปทั้งหลายแล้ว ย่อมทำการตัดสินใจ
คำว่า น่าดีใจ ในคำว่า ชนทั้งหลายในโลกพูดถึงสิ่งใดว่า น่าดีใจ น่าเสียใจ
ได้แก่ สุขเวทนา และสิ่งที่น่าปรารถนา
คำว่า น่าเสียใจ ได้แก่ ทุกขเวทนา และสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา
คำว่า ชนทั้งหลายในโลกพูดถึงสิ่งใด ได้แก่ พูดถึงสิ่งใด คือ กล่าวถึง
บอกถึง แสดงถึง ชี้แจงถึงสิ่งใด รวมความว่า ชนทั้งหลายในโลกพูดถึงสิ่งใดว่า
น่าดีใจ น่าเสียใจ
คำว่า ฉันทะก็จะมีขึ้นเพราะอาศัยสิ่งนั้น อธิบายว่า ฉันทะ ย่อมมี มีขึ้น คือ
เกิด เกิดขึ้น บังเกิด บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความน่าดีใจและน่าเสียใจ คือ อาศัยสุข
และทุกข์ โสมนัสและโทมนัส สิ่งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา ความยินดีและ
ความยินร้าย รวมความว่า ฉันทะก็จะมีขึ้นเพราะอาศัยสิ่งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๑๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
ว่าด้วยความเกิดแห่งรูป
คำว่า ในรูปทั้งหลาย ในคำว่า มองเห็นความเสื่อมและความเจริญในรูป
ทั้งหลายแล้ว ได้แก่ มหาภูตรูป๑ ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป๒ ๔
ความเจริญแห่งรูปทั้งหลาย เป็นอย่างไร
คือ ความเจริญ ความเกิด ความเกิดขึ้น ความบังเกิด ความบังเกิดขึ้น
ความปรากฏแห่งรูปทั้งหลาย นี้ชื่อว่าความเจริญแห่งรูปทั้งหลาย
ความเสื่อมแห่งรูปทั้งหลาย เป็นอย่างไร
คือ ความสิ้นไป ความเสื่อมไป ความแตกไป ความทำลายไป ความเป็น
ธรรมชาติไม่เที่ยง ความสูญหายไปแห่งรูปทั้งหลาย นี้ชื่อว่า ความเสื่อมแห่งรูปทั้งหลาย
คำว่า มองเห็นความเสื่อมและความเจริญในรูปทั้งหลายแล้ว ได้แก่ เห็นแล้ว
คือ แลเห็นแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว
ซึ่งความเจริญและความเสื่อมในรูปทั้งหลาย รวมความว่า มองเห็นความเสื่อมและ
ความเจริญในรูปทั้งหลายแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ มหาภูตรูป ๔ ดูเชิงอรรถข้อ ๑๐/๕๒
๒ รูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ หรือทับศัพท์บาลีว่า อุปาทายรูป มี ๒๔ คือ
ก. ปสาทรูป ๕ รูปที่เป็นประสาทสำหรับรับอารมณ์ (๑) ตา (๒) หู (๓) จมูก (๔) ลิ้น (๕) กาย
ข. โคจรรูป หรือวิสัยรูป ๕ รูปที่เป็นอารมณ์หรือแดนรับรู้ของอินทรีย์ (๖) รูป (๗) เสียง (๘) กลิ่น
(๙) รส (๐) โผฏฐัพพะ (ข้อนี้ไม่นับเพราะเป็นอันเดียวกับมหาภูตรูป ๓ คือ ปฐวี เตโช วาโย)
ค. ภาวรูป ๒ รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ (๑๐) อิตถิตตะ อิตถินทรีย์ ความเป็นหญิง (๑๑) ปุริสัตตะ ปุริสินทรีย์
ความเป็นชาย
ง. หทัยรูป รูปคือหทัย (๑๒) หทัยวัตถุ ที่ตั้งแห่งใจ หัวใจ
จ. ชีวิตรูป ๑ รูปที่เป็นชีวิต (๑๓) ชีวิตินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิต
ฉ. อาหารรูป ๑ รูปคืออาหาร (๑๔) กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว
ช. ปริจเฉทรูป ๑ รูปที่กำหนดเทศะ (๑๕) อากาสธาตุ สภาวะคือช่องว่าง
ญ. วิญญัติรูป ๒ รูปคือการเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย (๑๖) กายวิญญัติ การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย
ด้วยกาย (๑๗) วจีวิญญัติ การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยวาจา
ฎ. วิการรูป ๕ รูปคืออาการที่ดัดแปลงทำให้แปลกให้พิเศษได้ (๑๘) (รูปัสส) ลหุตา ความเบา (๑๙) (รูปัสส)
มุทุตา ความอ่อนสลวย (๒๐) (รูปัสส) กัมมัญญตา ความควรแก่การงาน ใช้การได้ (และวิญญัติรูป ๒
แต่ท่านไม่นับเพราะซ้ำกับข้อ ญ)
ฏ. ลักขณรูป ๔ รูปคือลักษณะหรืออาการเป็นเครื่องกำหนด (๒๑) (รูปัสส) อุปจย ความก่อตัวหรือเติบโตขึ้น
(๒๒) (รูปัสส) สันตติ ความสืบต่อ (๒๓) (รูปัสส) ชรตา ความทรุดโทรม (๒๔) (รูปัสส) อนิจจตา
ความปรวนแปรแตกสลาย (อภิ.สํ. (แปล) ๓๔/๕๘๔-๙๘๔/๑๖๙-๒๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๑๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
ว่าด้วยการตัดสินใจ
คำว่า ชนในโลก ... ย่อมทำการตัดสินใจ อธิบายว่า
คำว่า การตัดสินใจ ได้แก่ การตัดสินใจ ๒ อย่าง คือ (๑) การตัดสินใจด้วย
อำนาจตัณหา (๒) การตัดสินใจด้วยอำนาจทิฏฐิ
ชนย่อมทำการตัดสินใจด้วยอำนาจตัณหา เป็นอย่างไร
คือ สำหรับคนบางคนในโลกนี้ โภคทรัพย์ที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น และ
โภคทรัพย์ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมถึงความหมดสิ้นไป เขามีความคิดอย่างนี้ว่า “เพราะ
อุบายอะไรหนอ โภคทรัพย์ที่ยังไม่เกิดขึ้นแก่เรา จึงไม่เกิดขึ้น และโภคทรัพย์ที่เกิดขึ้น
แล้ว จึงถึงความสิ้นไป” เขาก็มีความคิดต่อไปอย่างนี้ว่า “เมื่อเรามัวแต่ดื่มน้ำเมาคือ
สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท โภคทรัพย์ที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น และ
โภคทรัพย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถึงความหมดสิ้นไป เมื่อเรามัวแต่เที่ยวกลางคืน... เมื่อเรา
มัวแต่เที่ยวดูมหรสพ... เมื่อเรามัวแต่อยู่ในความประมาทด้วยการเล่นการพนัน...
เมื่อเรามัวแต่คบคนชั่วเป็นมิตร... เมื่อเรามัวแต่เกียจคร้าน โภคทรัพย์ที่ยังไม่เกิดก็
ไม่เกิดขึ้น โภคทรัพย์ที่เกิดขึ้นแล้วก็ถึงความหมดสิ้นไป” ครั้นรู้อย่างนี้แล้ว จึงไม่
ประพฤติสิ่งที่เป็นทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ ๖ ประการ ประพฤติแต่สิ่งที่เป็นทาง
เจริญแห่งโภคทรัพย์๑ ๖ ประการ ชนย่อมทำการตัดสินใจด้วยอำนาจตัณหาเป็น
อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง บุคคลย่อมดำเนินชีวิตด้วยกสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม
(เลี้ยงปศุสัตว์) ศาสตร์แห่งการยิงธนู การรับราชการ หรือด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง
ชนย่อมทำการตัดสินใจด้วยอำนาจตัณหา เป็นอย่างนี้บ้าง
ชนย่อมทำการตัดสินใจด้วยอำนาจทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ เมื่อตาเกิดขึ้น ก็เข้าใจว่า “ตัวของเราเกิดขึ้นแล้ว”

เชิงอรรถ :
๑ ทางเจริญแห่งโภคทรัพย์ ๖ ประการ (๑) ไม่เป็นนักเลงหญิง (๒) ไม่เป็นนักเลงสุรา (๓) ไม่เป็นนักเลง
การพนัน (๔) มีมิตรดี (๕) มีสหายดี (๖) ใฝ่ใจในกัลยาณมิตร (องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๕๕/๒๓๗-๒๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๑๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
เมื่อตาหายไปก็เข้าใจว่า “ตัวของเราหายไปแล้ว ตัวของเราไม่มีเสียแล้ว”
ชนย่อมทำการตัดสินใจด้วยอำนาจทิฏฐิเป็นอย่างนี้บ้าง
เมื่อหู... จมูก... ลิ้น... กาย... รูป... เสียง... กลิ่น... รส... เมื่อโผฏฐัพพะเกิดขึ้น
ก็เข้าใจว่า “ตัวของเราเกิดขึ้นแล้ว”
เมื่อโผฏฐัพพะหายไปก็เข้าใจว่า “ตัวของเราหายไปแล้ว ตัวของเราไม่มีเสียแล้ว”
ชนย่อมทำ คือให้เกิด ให้เกิดขึ้น ให้บังเกิด ให้บังเกิดขึ้นซึ่งการตัดสินใจด้วย
อำนาจทิฏฐิเป็นอย่างนี้บ้าง
คำว่า ชน ได้แก่ สัตว์ นรชน มานพ... มนุษย์
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ... ในอายตนโลก รวมความว่า ชนในโลก
ย่อมทำการตัดสินใจ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
ชนทั้งหลายในโลกพูดถึงสิ่งใดว่า น่าดีใจ น่าเสียใจ
ฉันทะก็จะมีขึ้นเพราะอาศัยสิ่งนั้น
ชนในโลกมองเห็นความเสื่อม
และความเจริญในรูปทั้งหลายแล้ว ย่อมทำการตัดสินใจ
[๑๐๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
ธรรมแม้เหล่านี้ คือ ความโกรธ ความเป็นคนพูดเท็จ
และความสงสัย เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ ก็มี
บุคคลผู้มีความสงสัย พึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ
และธรรมเหล่าใดพระสมณะทรงทราบแล้วตรัสไว้
ธรรมเหล่านั้น เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ ก็มี
คำว่า ความโกรธ ในคำว่า ความโกรธ ความเป็นคนพูดเท็จและความสงสัย
ได้แก่ ใจปองร้าย มุ่งร้าย ... เห็นปานนี้
มุสาวาท ตรัสเรียกว่า ความเป็นคนพูดเท็จ
ความลังเล ตรัสเรียกว่า ความสงสัย
ความโกรธย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่น่าปรารถนาบ้าง เพราะอาศัยสิ่งที่ไม่น่า
ปรารถนาบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๑๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
มุสาวาทย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่น่าปรารถนาบ้าง เพราะอาศัยสิ่งที่ไม่น่า
ปรารถนาบ้าง
ความสงสัยย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่น่าปรารถนาบ้าง เพราะอาศัยสิ่งที่ไม่น่า
ปรารถนาบ้าง
ว่าด้วยเหตุให้เกิดความโกรธ
ความโกรธย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา เป็นอย่างไร
คือ ความโกรธย่อมเกิดเพราะสำคัญว่า “ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา”
ความโกรธย่อมเกิดเพราะสำคัญว่า “ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา” ความ
โกรธย่อมเกิดเพราะสำคัญว่า “ผู้นี้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา” ความโกรธ
ย่อมเกิดเพราะสำคัญว่า “ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
จักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา” ความโกรธย่อมเกิด
เพราะสำคัญว่า “ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ กำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ จักทำสิ่งที่
เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา” ความโกรธย่อมเกิด เพราะอาศัย
สิ่งที่ไม่น่าปรารถนา เป็นอย่างนี้
ความโกรธย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่น่าปรารถนา เป็นอย่างไร
คือ เมื่อบุคคลหวาดระแวงว่าสิ่งที่น่าปรารถนาจะถูกแย่งชิงไป ก็เกิดความโกรธ
เมื่อสิ่งที่น่าปรารถนากำลังถูกแย่งชิงไปก็เกิดความโกรธ เมื่อสิ่งที่น่าปรารถนาถูก
แย่งชิงไปแล้ว ก็เกิดความโกรธ เมื่อบุคคลหวาดระแวงว่า สิ่งที่น่าปรารถนาจะแปรผันไป
ก็เกิดความโกรธ เมื่อสิ่งที่น่าปรารถนากำลังแปรผันไป ก็เกิดความโกรธ เมื่อสิ่งที่น่า
ปรารถนาแปรผันไปแล้ว ก็เกิดความโกรธ ความโกรธย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่น่า
ปรารถนา เป็นอย่างนี้
ว่าด้วยเหตุให้เกิดการกล่าวเท็จ
มุสาวาทย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ ถูกจองจำด้วยเครื่องจองจำคือขื่อคา ก็พูดเท็จทั้งที่รู้
เพื่อให้พ้นการจองจำนั้น ถูกมัดด้วยเครื่องจองจำคือเชือก... ถูกจองจำด้วยเครื่อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๑๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
จองจำคือโซ่ตรวน... ถูกมัดด้วยเครื่องจองจำคือหวาย... ถูกมัดด้วยเครื่องจองจำคือ
เถาวัลย์ ... ถูกจองจำด้วยเครื่องจองจำคือคุก ... ถูกจองจำด้วยเครื่องจองจำคือ
การล้อมรั้ว... ถูกจองจำไว้ภายในบ้าน นิคม เมือง หรือรัฐ... หรือถูกจองจำไว้ภายใน
ชนบท ก็พูดเท็จทั้งที่รู้ เพื่อให้พ้นการจองจำนั้น มุสาวาทย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่ง
ที่ไม่น่าปรารถนา เป็นอย่างนี้
มุสาวาทย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่น่าปรารถนา เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ พูดเท็จทั้งที่รู้ เพราะเหตุแห่งรูปที่น่าพอใจ พูดเท็จทั้งที่รู้
เพราะเหตุแห่งเสียง ... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะที่พอใจ... เพราะเหตุแห่งจีวร...
เพราะเหุตแห่งบิณฑบาต ... เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ พูดเท็จทั้งที่รู้ เพราะเหตุ
แห่งคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร มุสาวาทย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่น่าปรารถนา
เป็นอย่างนี้
ว่าด้วยเหตุให้เกิดความสงสัย
ความสงสัยย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา เป็นอย่างไร
คือ ความสงสัยย่อมเกิดเพราะอาศัยสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ด้วยคิดว่า “เราจัก
พ้นจากโรคตา หรือไม่พ้นจากโรคตาหนอ เราจักพ้นจากโรคหู... จากโรคจมูก... จาก
โรคลิ้น... จากโรคกาย... จากโรคเกี่ยวกับศีรษะ... จากโรคเกี่ยวกับหู... จากโรคเกี่ยว
กับปาก... จากโรคเกี่ยวกับฟัน หรือไม่พ้นจากโรคเกี่ยวกับฟันหนอ” ความสงสัยย่อม
เกิด เพราะอาศัยสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา เป็นอย่างนี้
ความสงสัยย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่น่าปรารถนา เป็นอย่างไร
คือ ความสงสัยย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่น่าปรารถนาด้วยคิดว่า “เราจักได้
รูปที่น่าพอใจ หรือไม่ได้รูปที่น่าพอใจหนอ เราจักได้เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...
ตระกูล... หมู่คณะ... อาวาส... ลาภ... ยศ... สรรเสริญ... สุข... จีวร... บิณฑบาต...
เสนาสนะ...คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร หรือไม่ได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารหนอ” ความ
สงสัยย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่น่าปรารถนา เป็นอย่างนี้ รวมความว่า ความโกรธ
ความเป็นคนพูดเท็จและความสงสัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๑๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
คำว่า ธรรมแม้เหล่านี้... เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ก็มี
อธิบายว่า เมื่อความดีใจและความเสียใจมีอยู่ คือเมื่อความสุขและความทุกข์ โสมนัส
และโทมนัส อารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา ความยินดีและความยินร้าย
มีอยู่ คือ ปรากฏอยู่ อันตนเข้าไปได้อยู่ ธรรมเหล่านี้ก็มีได้ รวมความว่า ธรรมแม้
เหล่านี้... เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ก็มี
คำว่า บุคคลผู้มีความสงสัย พึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ อธิบายว่า ญาณ๑
ชื่อว่า ทางแห่งญาณ อารมณ์แห่งญาณ ชื่อว่าทางแห่งญาณ ธรรมที่เกิดมีพร้อมกับญาณ

เชิงอรรถ :
๑ ญาณ ในที่นี้ หมายถึง ญาณ ๑๖ หรือ โสฬสญาณ ความหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับ ตั้ง
แต่ต้นจนถึงที่สุด
๑. นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณกำหนดรู้นามและรูป
๒. ปัจจยปริคคหญาณ ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป
๓. สัมมสนญาณ ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดยไตรลักษณ์
๔. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ
๕. ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณอันตามเห็นความสลายเห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปหมด
๖. ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องสลายไป
ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น
๗. อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณอันคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ
๘. นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย
๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย เมื่อหน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมปรารถนา
ที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น
๑๐. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออก
๑๑. สังขารุเปกขาญาณ ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร ไม่ยินดียินร้ายในสังขารทั้งหลาย
๑๒. สัจจานุโลมิกญาณ หรืออนุโลมญาณ ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลม ได้แก่ การหยั่งรู้อริยสัจจ์
๑๓. โคตรภูญาณ ญาณหยั่งรู้ที่เป็นหัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชนเข้าสู่ภาวะอริยบุคคล
๑๔. มัคคญาณ ญาณในอริยมรรค ความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น
๑๕. ผลญาณ ญาณในอริยผล ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของพระอริยบุคคลชั้นนั้น ๆ
๑๖. ปัจจเวกขณญาณ ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน สำรวจรู้มรรค ผล กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่
เหลืออยู่ และนิพพาน (ขุ.ป. ๓๑/๑-๖๕/๕-๗๘, วิสุทฺธิ. ๒/๖๖๒-๘๐๔/๒๕๐-๓๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๑๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
ก็ชื่อว่าทางแห่งญาณ เปรียบเหมือนอริยมรรค๑ ชื่อว่าทางแห่งอริยะ เทว-
มรรค๒ ชื่อว่าทางแห่งเทวะ พรหมมรรค๓ ชื่อว่าทางแห่งพรหม ฉันใด ญาณ ชื่อว่า
ทางแห่งญาณ อารมณ์แห่งญาณ ชื่อว่าทางแห่งญาณ ธรรมที่เกิดมีพร้อมกับญาณ
ก็ชื่อว่าทางแห่งญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน
ว่าด้วยสิกขา ๓
คำว่า พึงศึกษา ได้แก่ สิกขา ๓ อย่าง คือ
๑. อธิสีลสิกขา ๒. อธิจิตตสิกขา
๓. อธิปัญญาสิกขา
อธิสีลสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ สมบูรณ์
ด้วยอาจาระและโคจร เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบทอยู่
คือ สีลขันธ์เล็ก สีลขันธ์ใหญ่ ศีลเป็นที่พึ่ง เป็นเบื้องต้น เป็นความประพฤติ เป็น
ความสำรวม เป็นความระวัง เป็นหัวหน้า เป็นประธานเพื่อความถึงพร้อมแห่งธรรม
ที่เป็นกุศล นี้ชื่อว่าอธิสีลสิกขา
อธิจิตตสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม... บรรลุจตุตถฌานอยู่ นี้ชื่อว่าอธิจิตต-
สิกขา

เชิงอรรถ :
๑ มรรคมีองค์ ๘ ดูเชิงอรรถข้อ ๕/๑๘
๒ เทวมรรค คือเทวธรรมนั่นเอง หมายถึงธรรมของเทวดา ได้แก่ (๑) หิริ (๒) โอตตัปปะ (๓) สุกกธรรม
แปลว่าธรรมฝ่ายขาว เป็นชื่อแห่ง หิริ และโอตัปปะ สุกกธรรมได้แก่ สุจริตในไตรทวาร (๑. กายสุจริต ๓
ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ๒. วจีสุจริต ๔ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ
ไม่พูดเพ้อเจ้อ ๓. มโนสุจริต ๓ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น ไม่มีจิตคิดพยาบาท มีความเห็นชอบ) (ม.มู. ๑๒/
๔๔๑/๓๙๐-๓๙๑, องฺ.ทุก. ๒๐/๘-๙/๕๑-๕๒, องฺ.ทสก. ๒๔/๑๗๖/๒๑๖-๒๒๑)
๓ พรหมมรรค คือพรหมจรรย์นั่นเอง พรหมจรรย์คือจริยธรรมที่ประเสริฐ หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ ดูเชิงอรรถ
ข้อ ๕/๑๘ และ ขุ.จู. ๓๐/๑๐/๔๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๑๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
อธิปัญญาสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาอันประเสริฐ
หยั่งถึงความเกิดและความดับ เพิกถอนกิเลส ให้บรรลุถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ ... นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ... เหล่านี้อาสวะ”
เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา” นี้ชื่อว่าอธิปัญญา-
สิกขา
คำว่า บุคคลผู้มีความสงสัย พึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ อธิบายว่า บุคคล
ผู้มีความสงสัย คือ เคลือบแคลง ลังเล มีความเข้าใจ ๒ ทิศ ๒ ทาง ไม่แน่ใจ
พึงศึกษาอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา เพื่อบรรลุถึงญาณ เพื่อถูกต้อง
ญาณ เพื่อทำญาณให้แจ้ง คือ
สิกขา ๓ เหล่านี้ เมื่อบุคคลนึกถึง ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทราบ ชื่อว่าพึงศึกษา
เมื่อเห็น ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อพิจารณา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่ออธิษฐานจิต ชื่อว่าพึง
ศึกษา เมื่อน้อมใจเชื่อด้วยศรัทธา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อประคองความเพียร ชื่อว่าพึง
ศึกษา เมื่อตั้งสติ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อตั้งใจมั่น ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา
ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัดธรรมที่ควรรู้ชัด ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควร
กำหนดรู้ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อละธรรมที่ควรละ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อเจริญธรรมที่ควร
เจริญ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ก็ชื่อว่าพึงศึกษา คือพึง
ประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทานประพฤติ รวมความว่า บุคคล
ผู้มีความสงสัย พึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ
ว่าด้วยธรรมที่พระสมณะทรงทราบ
คำว่า ทรงทราบแล้ว ในคำว่า และธรรมเหล่าใดพระสมณะทรงทราบแล้ว
ตรัสไว้ ได้แก่ รู้แล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้ง
แล้ว ตรัสสอน ตรัสไว้ คือ ทรงบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศไว้แล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง... สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์... ธรรมทั้งปวง
เป็นอนัตตา... เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี... เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ
จึงมี... เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ... เพราะชาติดับ ชรามรณะจึงดับ ... นี้ทุกข์...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๑๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ... เหล่านี้อาสวะ ... นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา... ธรรม
เหล่านี้ควรรู้ยิ่ง... ธรรมเหล่านี้ควรกำหนดรู้... ธรรมเหล่านี้ควรละ... ธรรมเหล่านี้
ควรเจริญ... ธรรมเหล่านี้ควรทำให้แจ้ง เหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัด
ออกแห่งผัสสายตนะ๑ ๖ ... แห่งอุปาทานขันธ์๒ ๕ ... แห่งมหาภูตรูป ๔
รู้แล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว
ตรัสสอน ตรัสไว้ คือ ทรงบอก ทรงแสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่าย ประกาศไว้แล้วว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เราแสดงธรรมเพื่อความ
รู้ยิ่ง มิใช่แสดงเพื่อความไม่รู้ยิ่ง แสดงธรรมมีเหตุผล มิใช่แสดงธรรมไม่มีเหตุผล
แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ มิใช่แสดงธรรมไม่มีปาฏิหาริย์ พวกเธอควรทำตามโอวาท
ทำตามคำสั่งสอนของเรานั้น ผู้แสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่ง มิใช่แสดงเพื่อความไม่รู้ยิ่ง
ผู้แสดงธรรมมีเหตุผล มิใช่แสดงธรรมไม่มีเหตุผล ผู้แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ มิใช่
แสดงธรรมไม่มีปาฏิหาริย์ ก็เป็นการเพียงพอเพื่อความยินดี เพื่อความปราโมทย์
เพื่อโสมนัสว่า “พระผู้มีพระภาคตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เอง พระธรรมอันพระ
องค์ตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว”... ก็แล เมื่อตรัสเวยยากรณภาษิตนี้
ทั้ง ๑๐,๐๐๐ โลกธาตุ ก็ได้สั่นไหวแล้ว๓ รวมความว่า และธรรมเหล่าใดพระสมณะ
ทรงทราบแล้วตรัสไว้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ธรรมแม้เหล่านี้ คือ ความโกรธ ความเป็นคนพูดเท็จ
และความสงสัย เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ ก็มี
บุคคลผู้มีความสงสัย พึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ
และธรรมเหล่าใดพระสมณะทรงทราบแล้วตรัสไว้
ธรรมเหล่านั้น เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ ก็มี

เชิงอรรถ :
๑ ผัสสายตนะ ๖ หมายถึงแดนเกิดผัสสะ ได้แก่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๗๓/๓๙๖)
๒ อุปาทานขันธ์ ๕ คือความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ได้แก่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (สํ.ข. ๑๗/
๔๘/๓๙)
๓ องฺ.ติก. ๒๐/๑๒๖/๒๖๙-๒๗๐, อภิ.ก. ๓๗/๘๐๖/๔๖๕-๔๖๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๒๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
[๑๐๔] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากไหน
เมื่ออะไรไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกเรื่องความไม่มีและความมีว่า
มีต้นเหตุมาจากสิ่งใดแก่ข้าพระองค์
ว่าด้วยต้นเหตุความดีใจและความเสียใจ
คำว่า ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากไหน อธิบายว่า พระพุทธ
เนรมิตทูลถาม ทูลสอบถาม ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศถึงมูล...เหตุเกิด
แห่งความดีใจและความเสียใจว่า ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากไหน
เกิดจากไหน เกิดขึ้นจากไหน บังเกิดจากไหน บังเกิดขึ้นจากไหน ปรากฏขึ้นจากไหน
มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด รวม
ความว่า ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากไหน
คำว่า เมื่ออะไรไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี อธิบายว่า
เมื่ออะไรไม่มี คือ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ความดีใจและความเสียใจจึงไม่มี คือ ไม่มีอยู่
ไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น ไม่บังเกิด ไม่บังเกิดขึ้น รวมความว่า เมื่ออะไรไม่มี ความดีใจและ
ความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี
คำว่า ... เรื่องความไม่มีและความมีว่า มีต้นเหตุมาจากสิ่งใด อธิบายว่า
ความมีแห่งความดีใจและความเสียใจ เป็นอย่างไร
คือ ความมี ความเป็น ความเกิด ความเกิดขึ้น ความบังเกิด ความบังเกิดขึ้น
ความปรากฏแห่งความดีใจและความเสียใจ นี้ชื่อว่าความมีแห่งความดีใจและความ
เสียใจ
ความไม่มีแห่งความดีใจและความเสียใจ เป็นอย่างไร
คือ ความสิ้นไป ความเสื่อมไป ความแตกไป ความทำลายไป ความเป็นของ
ไม่เที่ยง ความอันตรธานไปแห่งความดีใจและความเสียใจ นี้ชื่อว่า ความไม่มีแห่ง
ความดีใจและความเสียใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๒๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
คำว่า เรื่อง ได้แก่ เรื่องสำคัญยิ่ง รวมความว่า เรื่องความไม่มีและความมี
คำว่า นี้ ในคำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก...นี้ว่า มีต้นเหตุมาจากสิ่งใด
แก่ข้าพระองค์ ได้แก่ ข้อที่ข้าพระองค์ทูลถาม ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศ
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก... ว่า มีต้นเหตุมาจากสิ่งใด ได้แก่ สิ่งที่
เป็นต้นเหตุ สิ่งที่เป็นเหตุเกิด สิ่งที่เป็นกำเนิด สิ่งที่เป็นแดนเกิด รวมความว่า
ขอพระองค์โปรดตรัสบอก...ว่ามีต้นเหตุมาจากสิ่งใด แก่ข้าพระองค์ ด้วยเหตุนั้น
พระพุทธเนรมิต จึงทูลถามว่า
ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากไหน
เมื่ออะไรไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกเรื่องความไม่มีและความมีว่า
มีต้นเหตุมาจากสิ่งใดแก่ข้าพระองค์
[๑๐๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากผัสสะ
เมื่อผัสสะไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี
เราขอบอกเรื่องความไม่มีและความมีนี้ว่า
มีต้นเหตุมาจากผัสสะนี้แก่เธอ
คำว่า ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากผัสสะ อธิบายว่า
สุขเวทนา(ความรู้สึกสบาย) เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา
เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นนั่นแหละดับไป สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะ
อาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ที่เสวยอยู่ อันเกิดจากผัสสะนั้น ก็ดับไป คือ
สงบไป
ทุกขเวทนา(ความรู้สึกไม่สบาย) เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่ง
ทุกขเวทนา เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนานั้นนั่นแหละดับไป ทุกขเวทนาที่
เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ที่เสวยอยู่ อันเกิดจากผัสสะนั้น
ก็ดับไป คือ สงบไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๒๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
อทุกขมสุขเวทนา(ความรู้สึกไม่ทุกข์ไม่สุข) เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่
ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นนั่นแหละ
ดับไป อทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา
ที่กำลังเสวยอยู่ อันเกิดจากผัสสะนั้น ก็ดับไป คือ สงบไป
คำว่า ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากผัสสะ อธิบายว่า ความดี
ใจและความเสียใจ มีต้นเหตุมาจากผัสสะ คือ มีผัสสะเป็นเหตุเกิด มีผัสสะเป็นกำเนิด
มีผัสสะเป็นแดนเกิด รวมความว่า ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากผัสสะ
คำว่า เมื่อผัสสะไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี อธิบายว่า
เมื่อผัสสะไม่มี คือ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ความดีใจและความเสียใจ ย่อมไม่มี คือ ไม่มีอยู่
ไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น ไม่บังเกิด ไม่บังเกิดขึ้น ไม่ปรากฏ รวมความว่า เมื่อผัสสะไม่มี
ความดีใจและความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี
คำว่า ...เรื่องความไม่มีและความมี อธิบายว่า ภวทิฏฐิ (ความเห็นว่ามี) ก็ดี
วิภวทิฏฐิ (ความเห็นว่าไม่มี) ก็ดี มีต้นเหตุมาจากผัสสะ
คำว่า เรื่อง ได้แก่ เรื่องสำคัญยิ่ง รวมความว่า เรื่องความไม่มีและความมี
คำว่า นี้ ในคำว่า เราขอบอก ... นี้ว่า มีต้นเหตุมาจากผัสสะนี้แก่เธอ
อธิบายว่า ข้อที่เธอทูลถาม ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ประกาศ
คำว่า เราขอบอก ได้แก่ เราขอบอก คือ ขอกล่าว แสดง บัญญัติ กำหนด
เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า เราขอบอก... นี้แก่เธอ
คำว่า มีต้นเหตุมาจากผัสสะนี้ ได้แก่ มีต้นเหตุมาจากผัสสะนี้ คือ มีผัสสะ
เป็นเหตุเกิด มีผัสสะเป็นกำเนิด มีผัสสะเป็นแดนเกิด รวมความว่า เราขอบอก... นี้ว่า
มีต้นเหตุมาจากผัสสะนี้แก่เธอ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากผัสสะ
เมื่อผัสสะไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี
เราขอบอกเรื่องความไม่มีและความมีนี้ว่า
มีต้นเหตุมาจากผัสสะนี้แก่เธอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๒๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
[๑๐๖] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
ผัสสะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน
และความยึดถือมีมาจากไหน
เมื่ออะไรไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี
เมื่ออะไรไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง
ว่าด้วยต้นเหตุแห่งผัสสะ
คำว่า ผัสสะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน อธิบายว่า พระพุทธเนรมิตทูลถาม
ทูลสอบถาม ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศถึงมูล...เหตุเกิดแห่งผัสสะว่า
ผัสสะมีต้นเหตุมาจากไหน เกิดจากไหน เกิดขึ้นจากไหน บังเกิดจากไหน บังเกิดขึ้น
จากไหน ปรากฏจากไหน มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด
มีอะไรเป็นแดนเกิด รวมความว่า ผัสสะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน
คำว่า และความยึดถือมีมาจากไหน อธิบายว่า พระพุทธเนรมิตทูลถาม
ทูลสอบถาม ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศถึงมูล...เหตุเกิดแห่งความ
ยึดถือว่า ความยึดถือมีมาจากไหน เกิดจากไหน เกิดขึ้นจากไหน บังเกิดจากไหน
บังเกิดขึ้นจากไหน ปรากฏจากไหน มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไร
เป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด รวมความว่า และความยึดถือมีมาจากไหน
คำว่า เมื่ออะไรไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี อธิบายว่า เมื่ออะไร
ไม่มี คือ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ
หาไม่ได้ ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา บุคคลนั้นละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้
สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า
เมื่ออะไรไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี
คำว่า เมื่ออะไรไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง อธิบายว่า เมื่ออะไรไม่มี คือ ไม่เป็น
ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้นแล้ว ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง รวมความว่า เมื่ออะไรไม่มี ผัสสะ
จึงไม่ถูกต้อง ด้วยเหตุนั้น พระพุทธเนรมิตจึงทูลถามว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๒๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
ผัสสะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน
และความยึดถือมีมาจากไหน
เมื่ออะไรไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี
เมื่ออะไรไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง
[๑๐๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เพราะอาศัยนามและรูป ผัสสะจึงเกิด
ความยึดถือมีต้นเหตุมาจากความปรารถนา
เมื่อความปรารถนาไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี
เมื่อรูปไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง
คำว่า เพราะอาศัยนามและรูป ผัสสะจึงเกิด อธิบายว่า
จักขุวิญญาณ เกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูป ประชุมแห่งธรรม ๓ ประการ คือ
(๑) ตา (๒) รูป (๓) จักขุวิญญาณ ผัสสะจึงเกิด ตาและรูปอยู่ในส่วนรูป สัมปยุตธรรม
ทั้งหลายเว้นจักขุสัมผัสอยู่ในส่วนนาม ผัสสะเกิดขึ้นเพราะอาศัยนามและรูป ด้วย
ประการอย่างนี้
โสตวิญญาณ เกิดขึ้นเพราะอาศัยหูและเสียง ประชุมแห่งธรรม ๓ ประการ
คือ (๑) หู (๒) เสียง (๓) โสตวิญญาณ ผัสสะจึงเกิด หูและเสียงอยู่ในส่วนรูป
สัมปยุตธรรมทั้งหลายเว้นโสตสัมผัสอยู่ในส่วนนาม ผัสสะเกิดขึ้นเพราะอาศัยนาม
และรูป ด้วยประการอย่างนี้
ฆานวิญญาณ เกิดขึ้นเพราะอาศัยจมูกและกลิ่น ประชุมแห่งธรรม ๓ ประการ คือ
(๑) จมูก (๒) กลิ่น (๓) ฆานวิญญาณ ผัสสะจึงเกิด จมูกและกลิ่นอยู่ในส่วนรูป
สัมปยุตธรรมทั้งหลายเว้นฆานสัมผัสอยู่ในส่วนนาม ผัสสะเกิดขึ้นเพราะอาศัยนาม
และรูป ด้วยประการอย่างนี้
ชิวหาวิญญาณ เกิดขึ้นเพราะอาศัยลิ้นและรส ประชุมแห่งธรรม ๓ ประการ
คือ (๑) ลิ้น (๒) รส (๓) ชิวหาวิญญาณ ผัสสะจึงเกิด ลิ้นและรสอยู่ในส่วนรูป
สัมปยุตธรรมทั้งหลายเว้นชิวหาสัมผัสอยู่ในส่วนนาม ผัสสะเกิดขึ้นเพราะอาศัยนาม
และรูป ด้วยประการอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๒๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
กายวิญญาณ เกิดขึ้นเพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะ ประชุมแห่งธรรม ๓ ประการ
คือ (๑) กาย (๒) โผฏฐัพพะ (๓) กายวิญญาณ ผัสสะจึงเกิด กายและโผฏฐัพพะอยู่ใน
ส่วนรูป สัมปยุตธรรมทั้งหลายเว้นกายสัมผัสอยู่ในส่วนนาม ผัสสะเกิดขึ้นเพราะ
อาศัยนามและรูป ด้วยประการอย่างนี้
มโนวิญญาณ เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งหลาย ประชุมแห่งธรรม
๓ ประการ คือ (๑) หทัยวัตถุ (๒) ธรรมารมณ์ (๓) มโนวิญญาณ ผัสสะจึงเกิด
หทัยวัตถุและธรรมารมณ์ที่มีรูปทั้งหลายอยู่ในส่วนรูป สัมปยุตธรรมทั้งหลายเว้น
มโนสัมผัสอยู่ในส่วนนาม ผัสสะเกิดขึ้นเพราะอาศัยนามและรูป ด้วยประการอย่างนี้
ว่าด้วยความยึดถือมีต้นเหตุมาจากความปรารถนา
คำว่า ความยึดถือมีต้นเหตุมาจากความปรารถนา อธิบายว่า ตัณหาตรัส
เรียกว่า ความปรารถนา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก... อภิชฌา อกุศลมูล
คือโลภะ๑
คำว่า ความยึดถือ ได้แก่ ความยึดถือ ๒ อย่าง คือ (๑) ความยึดถือด้วย
อำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือด้วยอำนาจทิฏฐิ...นี้ชื่อว่าความยึดถือด้วยอำนาจ
ตัณหา... นี้ชื่อว่าความยึดถือด้วยอำนาจทิฏฐิ๒
คำว่า ความยึดถือมีต้นเหตุมาจากความปรารถนา อธิบายว่า ความยึดถือ
มีต้นเหตุมาจากความปรารถนา คือ มีความปรารถนาเป็นต้นเหตุ มีความปรารถนา
เป็นปัจจัย มีความปรารถนาเป็นสาเหตุ มีความปรารถนาเป็นแดนเกิด รวมความว่า
ความยึดถือมีต้นเหตุมาจากความปรารถนา
คำว่า เมื่อความปรารถนาไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี อธิบายว่า
ตัณหาตรัสเรียกว่า ความปรารถนา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา
อกุศลมูลคือโลภะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๐-๑๑
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๑๒/๕๘-๕๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๒๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา ๒ อย่าง
คือ (๑) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือว่าเป็นของเรา
ด้วยอำนาจทิฏฐิ... นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา... นี้ชื่อว่า
ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ
คำว่า เมื่อความปรารถนาไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี อธิบายว่า
เมื่อความปรารถนาไม่มี คือ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี คือ
ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ได้แก่ ความปรารถนา บุคคลนั้นละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว
ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า
เมื่อความปรารถนาไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี
ว่าด้วยมหาภูตรูป ๔
คำว่า รูป ในคำว่า เมื่อรูปไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ และ
รูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔
คำว่า เมื่อรูปไม่มี ได้แก่ รูปไม่มีเพราะเหตุ ๔ อย่าง คือ
๑. เพราะการรู้ ๒. เพราะการพิจารณา
๓. เพราะการละ ๔. เพราะการก้าวพ้น
รูปไม่มีเพราะการรู้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุรู้รูป คือ รู้จัก มองเห็นว่า “รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง รูปทั้งหมด คือ
มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔” รูปไม่มีเพราะการรู้ เป็นอย่างนี้
รูปไม่มีเพราะการพิจารณา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุทำรูปที่รู้แล้วให้ปรากฏอย่างนี้ พิจารณารูป คือ พิจารณาโดยความ
เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร เป็นของลำบาก เป็น
อาพาธ เป็นอย่างอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นเสนียด เป็นอุปัททวะ เป็นภัย เป็น
อุปสรรค เป็นของหวั่นไหว เป็นของผุพัง เป็นของไม่ยั่งยืน เป็นของไม่มีที่ต้านทาน
เป็นของไม่มีที่ซ่อนเร้น เป็นของไม่มีที่พึ่ง เป็นของว่าง เป็นของเปล่า เป็นของสูญ
เป็นอนัตตา เป็นของมีโทษ เป็นของแปรผันไปเป็นธรรมดา เป็นของไม่มีแก่นสาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๒๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
เป็นเหตุแห่งความลำบาก เป็นดุจเพชฌฆาต เป็นของปราศจากความเจริญ เป็นของมี
อาสวะ เป็นของที่ถูกเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เป็นเหยื่อแห่งมาร มีชาติเป็นธรรมดา
มีชราเป็นธรรมดา มีพยาธิเป็นธรรมดา มีมรณะเป็นธรรมดา มีโสกะ ปริเทวะ ทุกขะ
โทมนัส อุปายาสเป็นธรรมดา มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา เป็นเหตุเกิดทุกข์
ตั้งอยู่ไม่ได้ หาความแช่มชื่นไม่ได้ เป็นโทษ เป็นของที่ต้องสลัดออกไป รูปไม่มีเพราะ
การพิจารณา เป็นอย่างนี้
รูปไม่มีเพราะการละ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุครั้นพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ก็ย่อมละ คือ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความกำหนัดเพราะความพอใจในรูป
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงละความ
กำหนัด เพราะความพอใจในรูป เธอละรูปนั้นได้เด็ดขาดแล้วอย่างนี้ ตัดรากถอน
โคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อ
ไปไม่ได้ รูปไม่มีเพราะการละ เป็นอย่างนี้
รูปไม่มีเพราะการก้าวพ้น เป็นอย่างไร
คือ ผู้ได้อรูปสมาบัติ๑ ๔ คือ ไม่มีรูป คือ ไม่ปรากฏ ก้าวล่วง ก้าวพ้น
ล่วงพ้นแล้ว รูปไม่มีเพราะการก้าวพ้น เป็นอย่างนี้
รูปชื่อว่าไม่มีเพราะเหตุ ๔ อย่างเหล่านี้
คำว่า เมื่อรูปไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง อธิบายว่า เมื่อรูปไม่มี คือ ไม่เป็น
ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้น ผัสสะ ๕ อย่าง คือ
๑. จักขุสัมผัส ๒. โสตสัมผัส
๓. ฆานสัมผัส ๔. ชิวหาสัมผัส
๕. กายสัมผัส ย่อมไม่ถูกต้อง รวมความว่า เมื่อรูปไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า

เชิงอรรถ :
๑ อรูปสมาบัติ ๔ ดูเชิงอรรถข้อ ๖/๒๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๒๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
เพราะอาศัยนามและรูป ผัสสะจึงเกิด
ความยึดถือมีต้นเหตุมาจากความปรารถนา
เมื่อความปรารถนาไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี
เมื่อรูปไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง
[๑๐๘] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
เมื่อบุคคลดำเนินอย่างไร รูปจึงไม่มี
สุขและทุกข์จะไม่มีได้อย่างไร
สุขและทุกข์ย่อมไม่มีโดยวิธีการใด
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกวิธีการนั้นแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์มีความตั้งใจว่า จะรู้วิธีการนั้น
คำว่า ดำเนินอย่างไร ในคำว่า เมื่อบุคคลดำเนินอย่างไร รูปจึงไม่มี อธิบาย
ว่า ดำเนินอย่างไร คือ ปฏิบัติอย่างไร เคลื่อนไหวอย่างไร เป็นไปอย่างไร เลี้ยงชีวิต
อย่างไร ดำเนินไปอย่างไร ยังชีวิตให้ดำเนินไปอย่างไร รูปจึงไม่มี คือ ไม่เป็น ก้าวล่วง
ก้าวพ้น ล่วงพ้น รวมความว่า เมื่อบุคคลดำเนินอย่างไร รูปจึงไม่มี
คำว่า สุขและทุกข์จะไม่มีได้อย่างไร อธิบายว่า สุขและทุกข์จะไม่มี คือ
ไม่เป็น ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้นได้อย่างไร รวมความว่า สุขและทุกข์จะไม่มีได้
อย่างไร
คำว่า วิธีการนั้น ในคำว่า สุขและทุกข์ย่อมไม่มีโดยวิธีการใด ขอพระองค์
โปรดตรัสบอกวิธีการนั้นแก่ข้าพระองค์ ได้แก่ วิธีการที่ข้าพระองค์ทูลถาม ทูลขอ
ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศ รวมความว่า วิธีการนั้น
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก... นั้นแก่ข้าพระองค์ ได้แก่ ขอพระองค์
โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศ รวมความว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก... นั้นแก่ข้าพระองค์
คำว่า สุขและทุกข์ย่อมไม่มีโดยวิธีการใด ได้แก่ สุขและทุกข์ย่อมไม่มี คือ
ไม่เป็น ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้น โดยวิธีการใด รวมความว่า สุขและทุกข์ย่อม
ไม่มีโดยวิธีการใด ขอพระองค์โปรดตรัสบอกวิธีการนั้นแก่ข้าพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๒๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
คำว่า จะรู้วิธีการนั้น ในคำว่า ข้าพระองค์มีความตั้งใจว่า จะรู้วิธีการนั้น
ได้แก่ พวกข้าพระองค์พึงรู้ คือ พึงรู้ทั่วถึง รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ แทงตลอดวิธีการนั้น
รวมความว่า จะรู้วิธีการนั้น
คำว่า ข้าพระองค์มีความตั้งใจว่า ได้แก่ ข้าพระองค์มีความตั้งใจ คือ
ข้าพระองค์มีความคิด ข้าพระองค์มีความดำริ ข้าพระองค์มีความรู้แจ้ง ดังนี้ รวม
ความว่า ข้าพระองค์มีความตั้งใจว่า จะรู้วิธีการนั้น ด้วยเหตุนั้น พระพุทธเนรมิต
จึงทูลถามว่า
เมื่อบุคคลดำเนินอย่างไร รูปจึงไม่มี
สุขและทุกข์จะไม่มีได้อย่างไร
สุขและทุกข์ย่อมไม่มีโดยวิธีการใด
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกวิธีการนั้นแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์มีความตั้งใจว่า จะรู้วิธีการนั้น
[๑๐๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
บุคคลไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาปกติ
ไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาผิดปกติ
เป็นผู้ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ปราศจากสัญญาก็มิใช่
เมื่อบุคคลดำเนินอย่างนี้ รูปจึงไม่มี
เพราะว่าส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้ามีต้นเหตุมาจากสัญญา
คำว่า บุคคลไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาปกติ ไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญา
ผิดปกติ อธิบายว่า คนเหล่าใด ดำรงอยู่ในสัญญาปกติ คนเหล่านั้น ตรัสเรียกว่า
ผู้มีสัญญาโดยสัญญาปกติ บุคคลนั้นมิได้ดำรงอยู่ในสัญญาปกติ
คนเหล่าใด เป็นบ้าและมีจิตฟุ้งซ่าน คนเหล่านั้น ตรัสเรียกว่า ผู้มีสัญญาโดย
สัญญาผิดปกติ บุคคลนั้น มิได้เป็นบ้า มิได้มีจิตฟุ้งซ่าน รวมความว่า บุคคลไม่เป็นผู้
มีสัญญาโดยสัญญาปกติ ไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาผิดปกติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๓๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
คำว่า เป็นผู้ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ปราศจากสัญญาก็มิใช่ อธิบายว่า คนเหล่าใด
เข้านิโรธสมาบัติได้แล้ว และเป็นอสัญญีสัตว์ คนเหล่านั้น ตรัสเรียกว่า ผู้ไม่มีสัญญา
บุคคลนั้นมิใช่ผู้เข้านิโรธสมาบัติได้แล้ว มิได้เป็นอสัญญีสัตว์
คนเหล่าใด ได้อรูปสมาบัติ ๔ คนเหล่านั้น ตรัสเรียกว่า ผู้ปราศจากสัญญา
บุคคลนั้นมิใช่ผู้ได้อรูปสมาบัติ ๔ รวมความว่า เป็นผู้ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ปราศจาก
สัญญาก็มิใช่
คำว่า เมื่อบุคคลดำเนินอย่างนี้ รูปจึงไม่มี อธิบายว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เพราะละสุขได้...บรรลุจตุตถฌานอยู่ เธอเมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส
เพียงดังเนิน ปราศจากอุปกิเลส อ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่น
ไหวอย่างนี้ ย่อมโน้ม น้อมจิตไปเพื่อให้ได้อากาสานัญจายตนสมาบัติ เป็นผู้พร้อม
เพรียงด้วยธรรมเป็นทางแห่งอรูปสมาบัติ เมื่อบุคคลดำเนินอย่างนี้ คือ ปฏิบัติอย่างนี้
เคลื่อนไหวอย่างนี้ เป็นไปอย่างนี้ เลี้ยงชีวิตอย่างนี้ ดำเนินไปอย่างนี้ ยังชีวิตให้
ดำเนินไปอย่างนี้ รูปก็ย่อมไม่มี คือ ไม่เป็น ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้น รวมความว่า
เมื่อบุคคลดำเนินอย่างนี้ รูปจึงไม่มี
ว่าด้วยธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า
คำว่า เพราะว่าส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้ามีต้นเหตุมาจากสัญญา
อธิบายว่า ธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้านั่นเอง คือ ส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้าคือ
ตัณหา ส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้าคือทิฏฐิ ส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้าคือ
มานะ มีต้นเหตุมาจากสัญญา คือ มีสัญญาเป็นเหตุเกิด มีสัญญาเป็นกำเนิด มี
สัญญาเป็นแดนเกิด รวมความว่า เพราะว่าส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้ามีต้นเหตุ
มาจากสัญญา ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
บุคคลไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาปกติ
ไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาผิดปกติ
เป็นผู้ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ปราศจากสัญญาก็มิใช่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๓๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
เมื่อบุคคลดำเนินอย่างนี้ รูปจึงไม่มี
เพราะว่าส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้ามีต้นเหตุมาจากสัญญา
[๑๑๐] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
ข้าพระองค์ได้ทูลถามธรรมใดแล้ว
พระองค์ก็ได้ตรัสตอบธรรมนั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว
ข้าพระองค์ขอทูลถามธรรมอื่นอีก
ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมนั้นด้วยเถิด
สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนว่า เป็นบัณฑิตในโลกนี้
พากันกล่าวความหมดจดของยักษ์ด้วยอรูปสมาบัติ
เท่านั้นหรือหนอว่า เป็นธรรมอันเลิศ
หรือว่า สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวถึงความหมดจด
อย่างอื่นว่า เยี่ยมกว่าอรูปสมาบัตินี้
คำว่า ข้าพระองค์ได้ทูลถามธรรมใดแล้ว พระองค์ก็ได้ตรัสตอบธรรมนั้น
แก่พวกข้าพระองค์แล้ว ได้แก่ ข้าพระองค์ได้ทูลถาม คือ ได้ทูลขอ ได้ทูลอัญเชิญ
ได้ทูลให้ประกาศธรรมใดแล้ว
คำว่า พระองค์ก็ได้ตรัสตอบธรรมนั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว ได้แก่ ได้ตรัส
ตอบ คือ ได้ทรงชี้แจงแล้ว ตรัสบอกแล้ว ทรงแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว กำหนดแล้ว
เปิดเผยแล้ว จำแนกแล้ว ทำให้ง่ายแล้ว ประกาศแล้ว รวมความว่า ข้าพระองค์ได้
ทูลถามธรรมใดแล้ว พระองค์ก็ได้ตรัสตอบธรรมนั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว
คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามธรรมอื่นอีก ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอก
ธรรมนั้นด้วยเถิด ได้แก่ ข้าพระองค์ขอทูลถาม คือ ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้
ประกาศธรรมอื่นอีก ได้แก่ ขอทูลถามพระองค์ถึงธรรมที่ยิ่งขึ้นไป
คำว่า ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมนั้นด้วยเถิด ได้แก่ ขอเชิญ
พระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามธรรมอื่นอีก ขอเชิญพระองค์
โปรดตรัสบอกธรรมนั้นด้วยเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๓๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
ว่าด้วยความหมดจดแห่งอรูปสมาบัติ
คำว่า สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนว่า เป็นบัณฑิตในโลกนี้ พากันกล่าว
ความหมดจดของยักษ์ด้วยอรูปสมาบัติเท่านั้นหรือหนอว่า เป็นธรรมอันเลิศ
อธิบายว่า สมณพราหมณ์บางพวก ย่อมกล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจง
อรูปสมาบัติเหล่านี้ว่า เป็นธรรมอันเลิศ คือ ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด
ประเสริฐสุด
คำว่า ของยักษ์ ได้แก่ ของสัตว์ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด
สัตว์เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์
คำว่า ความหมดจด ได้แก่ ความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์
ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป
คำว่า อ้างตนว่า เป็นบัณฑิตในโลกนี้ ได้แก่ กล่าวอ้างตนว่า เป็นบัณฑิตใน
โลกนี้ คือ อ้างว่าเป็นนักปราชญ์ อ้างว่ามีญาณ อ้างว่ามีเหตุผล อ้างว่ามีคุณลักษณะ
อ้างว่าเหมาะแก่เหตุ อ้างว่าสมฐานะ ตามลัทธิของตน รวมความว่า สมณพราหมณ์
บางพวกอ้างตนว่า เป็นบัณฑิตในโลกนี้ พากันกล่าวความหมดจดของยักษ์ด้วย
อรูปสมาบัติเท่านั้นว่า เป็นธรรมอันเลิศ
คำว่า หรือว่า สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวถึงความหมดจดอย่างอื่นว่า
เยี่ยมกว่าอรูปสมาบัตินี้ อธิบายว่า หรือว่า สมณพราหมณ์บางพวก ก้าวล่วง
ก้าวพ้น ล่วงพ้นอรูปสมาบัติเหล่านี้ ย่อมกล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจง ความ
หมดจด ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป
ของยักษ์อย่างอื่น คือ ยอดเยี่ยมกว่าอรูปสมาบัตินี้ รวมความว่า หรือว่า
สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวถึงความหมดจดอย่างอื่นว่าเยี่ยมกว่าอรูปสมาบัตินี้
ด้วยเหตุนั้น พระพุทธเนรมิตจึงทูลถามว่า
ข้าพระองค์ได้ทูลถามธรรมใดแล้ว
พระองค์ก็ได้ตรัสตอบธรรมนั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว
ข้าพระองค์ขอทูลถามธรรมอื่นอีก
ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมนั้นด้วยเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๓๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนว่า เป็นบัณฑิตในโลกนี้
พากันกล่าวความหมดจดของยักษ์ด้วยอรูปสมาบัติ
เท่านั้นหรือหนอว่า เป็นธรรมอันเลิศ
หรือว่า สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวถึงความหมดจด
อย่างอื่นว่า เยี่ยมกว่าอรูปสมาบัตินี้
[๑๑๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนว่า เป็นบัณฑิตในโลกนี้
พากันกล่าวความหมดจดของยักษ์ด้วยอรูปสมาบัติ
เท่านั้นว่า เป็นธรรมอันเลิศ บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น
สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งก็อ้างตนว่าเป็นผู้ฉลาด
พากันกล่าวความสงบในความไม่มีอะไรเหลือ
คำว่า สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนว่า เป็นบัณฑิตในโลกนี้ พากันกล่าว
ความหมดจดของยักษ์ด้วยอรูปสมาบัติเท่านั้นว่า เป็นธรรมอันเลิศ อธิบายว่า
มีสมณพราหมณ์บางพวก ผู้มีวาทะว่าเที่ยง พากันกล่าว คือ พูด บอก แสดง
ชี้แจงอรูปสมาบัติเหล่านี้ว่า เป็นธรรมอันเลิศ คือ ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด
ประเสริฐสุด
คำว่า ยักษ์ ได้แก่ สัตว์ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด
ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์
คำว่า ความหมดจด ได้แก่ ความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์
ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป
คำว่า อ้างตนว่าเป็นบัณฑิตในโลกนี้ ได้แก่ กล่าวอ้างตนว่าเป็นบัณฑิต
ในโลกนี้ คือ อ้างว่าเป็นนักปราชญ์ อ้างว่ามีญาณ อ้างว่ามีเหตุผล อ้างว่ามี
คุณลักษณะ อ้างว่าเหมาะแก่เหตุ อ้างว่าสมฐานะ ตามลัทธิของตน รวมความว่า
สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนว่าเป็นบัณฑิตในโลกนี้ พากันกล่าวความหมดจดของ
ยักษ์ด้วยอรูปสมาบัติเท่านั้นว่า เป็นธรรมอันเลิศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๓๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
คำว่า บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งก็อ้าง
ตนว่าเป็นผู้ฉลาด พากันกล่าวความสงบในความไม่มีอะไรเหลือ อธิบายว่า
บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งผู้มีวาทะว่าขาดสูญ
ขยาดต่อภพ ชื่นชอบความปราศจากภพ สมณพราหมณ์พวกนั้นกล่าวความสงบ
คือ ความเข้าไปสงบ ความสงบเย็น ความดับ ความสงัดแห่งสัตว์ว่า ท่านผู้เจริญ
หลังจากตายแล้ว อัตตานี้ ย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่มีอยู่ โดยเหตุใด ความไม่มี
อะไรเหลือ ก็มีโดยเหตุเท่านั้น
คำว่า อ้างตนว่าเป็นผู้ฉลาด ได้แก่ กล่าวอ้างตนว่าเป็นผู้ฉลาด คือ อ้างว่า
เป็นบัณฑิต อ้างว่าเป็นนักปราชญ์ อ้างว่ามีญาณ อ้างว่ามีเหตุผล อ้างว่ามี
คุณลักษณะ อ้างว่าเหมาะแก่เหตุ อ้างว่าสมฐานะ ตามลัทธิของตน รวมความว่า
บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งก็อ้างตนว่าเป็นผู้ฉลาด
พากันกล่าวความสงบในความไม่มีอะไรเหลือ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัส
ตอบว่า
สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนว่า เป็นบัณฑิตในโลกนี้
พากันกล่าวความหมดจดของยักษ์ด้วยอรูปสมาบัติ
เท่านั้นว่า เป็นธรรมอันเลิศ บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น
สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งก็อ้างตนว่าเป็นผู้ฉลาด
พากันกล่าวความสงบในความไม่มีอะไรเหลือ
[๑๑๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
มุนีผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณานั้น รู้จักสมณพราหมณ์
ผู้เป็นเจ้าลัทธิเหล่านี้ว่า เป็นผู้เข้าไปอาศัยทิฏฐิ
และรู้จักทิฏฐิเป็นที่อาศัย นักปราชญ์ครั้นรู้จักแล้วก็หลุดพ้น
ไม่ถึงการวิวาท ไม่กลับมาในภพน้อยภพใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๓๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
ว่าด้วยปัญญาเครื่องพิจารณา
คำว่า เหล่านี้ ในคำว่า รู้จักสมณพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าลัทธิเหล่านี้ว่า เป็นผู้
เข้าไปอาศัยทิฏฐิ ได้แก่ ผู้เป็นเจ้าลัทธิ
คำว่า เข้าไปอาศัยทิฏฐิ ได้แก่ รู้จัก คือ ทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณา
แล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “เป็นผู้อาศัยสัสสตทิฏฐิ(ความเห็นว่า
เที่ยง) เป็นผู้อาศัยอุจเฉททิฏฐิ(ความเห็นว่าขาดสูญ) เป็นผู้อาศัยทั้งสัสสตทิฏฐิและ
อุจเฉททิฏฐิ” รวมความว่า รู้จักสมณพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าลัทธิเหล่านี้ว่า เป็นผู้เข้าไป
อาศัยทิฏฐิ
คำว่า มุนี ในคำว่า มุนีผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณานั้น... และรู้จักทิฏฐิเป็น
ที่อาศัย อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ...ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหา
ดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี๑
มุนี รู้จัก คือ ทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว
ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “เป็นผู้อาศัยสัสสตทิฏฐิ เป็นผู้อาศัยอุจเฉททิฏฐิ เป็นผู้อาศัย
ทั้งสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ”
คำว่า ... ผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณานั้น ได้แก่ ผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญา
มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
รวมความว่า มุนีผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณานั้น ... และรู้จักทิฏฐิเป็นที่อาศัย
คำว่า ครั้นรู้จักแล้วก็หลุดพ้นไม่ถึงการวิวาท ได้แก่ ครั้นรู้จักแล้ว คือ ทราบแล้ว
เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว
คำว่า หลุดพ้น ได้แก่ หลุดไปแล้ว พ้นไปแล้ว หลุดพ้นไปแล้ว หลุดพ้นไปด้วย
ดีแล้ว โดยความหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่นโดยส่วนเดียว คือ ครั้นรู้จักแล้ว ทราบแล้ว
เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขาร
ทั้งปวงไม่เที่ยง ... สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์... ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา”...คือ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑๔/๖๘-๗๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๓๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
ครั้นรู้จักแล้ว ทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว
ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมี
ความดับไปเป็นธรรมดา” ก็หลุดไปแล้ว พ้นไปแล้ว หลุดพ้นไปแล้ว หลุดพ้นไปด้วย
ดีแล้ว โดยความหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่นโดยส่วนเดียว รวมความว่า ครั้นรู้จักแล้วก็
หลุดพ้น
คำว่า ไม่ถึงการวิวาท ได้แก่ ไม่ก่อการทะเลาะ ไม่ก่อการบาดหมาง ไม่ก่อการ
แก่งแย่ง ไม่ก่อการวิวาท ไม่ก่อการมุ่งร้าย
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า อัคคิเวสสนะ ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว
อย่างนี้แล ย่อมไม่โต้เถียงกับใคร ไม่วิวาทกับใคร เรื่องใดที่พูดกันในโลก เธอก็ไม่
ยึดมั่น ชี้แจงด้วยเรื่องนั้น๑ รวมความว่า ครั้นรู้จักแล้วก็หลุดพ้น ไม่ถึงการวิวาท
คำว่า ในภพน้อยภพใหญ่ ในคำว่า นักปราชญ์... ไม่กลับมาในภพน้อยภพ
ใหญ่ อธิบายว่า ไม่กลับมา คือ ไม่มาถึง ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ในภพน้อยภพใหญ่
คือ ในกรรมวัฏและวิปากวัฏ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ ในวิปากวัฏเป็น
เครื่องเกิดในกามภพ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่อง
เกิดในรูปภพ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดใน
อรูปภพ ในภพต่อไป ในคติต่อไป ในการถือกำเนิดต่อไป ในปฏิสนธิต่อไป ในอัตภาพ
ต่อไป ในการบังเกิดของอัตภาพต่อไป
คำว่า นักปราชญ์ ได้แก่ นักปราชญ์ คือ บัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้
มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส รวมความว่า นักปราชญ์...
ไม่กลับมาในภพน้อยภพใหญ่ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
มุนีผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณานั้น รู้จักสมณพราหมณ์
ผู้เป็นเจัาลัทธิเหล่านี้ว่า เป็นผู้เข้าไปอาศัยทิฏฐิ
และรู้จักทิฏฐิเป็นที่อาศัย นักปราชญ์ครั้นรู้จักแล้วก็หลุดพ้น
ไม่ถึงการวิวาท ไม่กลับมาในภพน้อยภพใหญ่
กลหวิวาทสุตตนิทเทสที่ ๑๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ม.ม. ๑๓/๒๐๕/๑๘๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๓๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส๑
อธิบายจูฬวิยูหสูตร
ว่าด้วยการวิวาทกันเพราะทิฏฐิสูตรเล็ก
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายจูฬวิยูหสูตร ดังต่อไปนี้
[๑๑๓] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิบางพวก
ยึดถืออยู่เฉพาะทิฏฐิของตน ๆ
ถือแล้วก็อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด พูดกันไปต่าง ๆ ว่า
บุคคลใดรู้อย่างนี้ บุคคลนั้นชื่อว่ารู้ธรรมแล้ว
บุคคลใดคัดค้านธรรมนี้ บุคคลนั้นชื่อว่ายังไม่สำเร็จกิจ
คำว่า ยึดถืออยู่เฉพาะทิฏฐิของตน ๆ อธิบายว่า สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิ
บางพวก สมณพราหมณ์เหล่านั้น ยึด ยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่น ทิฏฐิอย่างใด
อย่างหนึ่ง บรรดาทิฏฐิ๒ ๖๒ แล้ว อยู่ อยู่ร่วม อยู่อาศัย อยู่ครองในทิฏฐิของตน ๆ
เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนก็อยู่ในเรือน หมู่ภิกษุผู้มีอาบัติก็อยู่ในอาบัติ หรือ
พวกปุถุชนผู้มีกิเลสก็อยู่ในกิเลส ฉันใด มีสมณพราหมณ์เจ้าลัทธิบางพวก
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ยึด ยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งบรรดา
ทิฏฐิ ๖๒ แล้ว อยู่ อยู่ร่วม อยู่อาศัย อยู่ครองในทิฏฐิของตน ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน
รวมความว่า ยึดถืออยู่เฉพาะทิฏฐิของตน ๆ
คำว่า ถือแล้ว ในคำว่า ถือแล้วก็อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด พูดกันไปต่าง ๆ
ได้แก่ ยึด ยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่น

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๘๘๕-๙๐๑/๕๐๖-๕๑๐
๒ ดูเชิงอรรถข้อ ๗/๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๓๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า พูดกันไปต่าง ๆ ได้แก่ พูดกันไปต่าง ๆ คือ พูดมากอย่าง พูดอย่างโน้น
อย่างนี้ พูดไปมากมาย คือ ไม่กล่าว ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงเป็นอย่าง
เดียวกัน
คำว่า อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด ได้แก่ อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด คือ อ้างว่าเป็น
บัณฑิต อ้างว่าเป็นนักปราชญ์ อ้างว่ามีความรู้ อ้างว่ามีเหตุผล อ้างว่ามีคุณลักษณะ
อ้างว่าเหมาะแก่เหตุ อ้างว่าสมฐานะ ตามลัทธิของตน รวมความว่า ถือแล้วก็อ้างตัว
ว่าเป็นคนฉลาด พูดกันไปต่าง ๆ
คำว่า บุคคลใดรู้อย่างนี้ บุคคลนั้นก็ชื่อว่า รู้ธรรมแล้ว อธิบายว่า บุคคลใด
รู้ธรรม คือ ทิฏฐิ๑ ปฏิปทา๒ มรรค๓ นี้ บุคคลนั้นชื่อว่ารู้ คือ ได้รู้ ได้เห็น ได้แทง
ตลอดธรรมแล้ว รวมความว่า บุคคลใดรู้อย่างนี้ บุคคลนั้นชื่อว่ารู้ธรรมแล้ว
คำว่า บุคคลใดคัดค้านธรรมนี้ บุคคลนั้นชื่อว่ายังไม่สำเร็จกิจ อธิบายว่า บุคคลใด
คัดค้านธรรม คือ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรค นี้ บุคคลนั้น ชื่อว่ายังไม่สำเร็จกิจ
คือ ไม่สมบูรณ์ ไม่บริบูรณ์ ได้แก่ บุคคลนั้นเป็นคนเลว ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ
หยาบช้า ต่ำต้อย รวมความว่า บุคคลใดคัดค้านธรรมนี้ บุคคลนั้นชื่อว่ายังไม่
สำเร็จกิจ ด้วยเหตุนั้น พระพุทธเนรมิตจึงทูลถามว่า
สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิบางพวก
ยึดถืออยู่เฉพาะทิฏฐิของตน ๆ
ถือแล้วก็อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด พูดกันไปต่าง ๆ ว่า
บุคคลใดรู้อย่างนี้ บุคคลนั้นชื่อว่ารู้ธรรมแล้ว
บุคคลใดคัดค้านธรรมนี้ บุคคลนั้นชื่อว่ายังไม่สำเร็จกิจ

เชิงอรรถ :
๑ ทิฏฐิ ดูเชิงอรรถข้อ ๗/๒๙
๒ ปฏิปทา แนวปฏิบัติที่เป็นทางดำเนินให้ถึงจุดมุ่งหมาย คือความหลุดพ้นหรือสิ้นอาสวะ (องฺ.จตุกฺก. ๒๑/
๑๖๗-๑๖๘/๑๗๖-๑๗๗)
๓ มรรค ดูรายละเอียดข้อ ๑๑๙/๓๔๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๓๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
[๑๑๔] (พระพุทธเนรมิตทูลถามอีกว่า)
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถืออย่างนี้แล้วก็พากันวิวาท
และกล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด
วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้
วาทะไหนเป็นเรื่องจริงกันหนอ
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมด
ต่างก็อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด
ว่าด้วยวิวาทกันเพราะถือทิฏฐิ
คำว่า ถืออย่างนี้แล้วก็พากันวิวาท อธิบายว่า ยึด ยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่น
อย่างนี้แล้วก็พากันวิวาท คือ ก่อการทะเลาะ ก่อการบาดหมาง ก่อการแก่งแย่ง
ก่อการวิวาท ก่อการมุ่งร้ายว่า “ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้... หรือ หากท่านสามารถ
ก็จงแก้ไขเถิด” รวมความว่า ถืออย่างนี้แล้วก็พากันวิวาท
คำว่า และกล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด อธิบายว่า กล่าวอย่างนี้
คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงอย่างนี้ว่า คนอื่น เป็นคนพาล คือ เป็นคนเลว ทราม
ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย ไม่ฉลาด คือ ไม่มีความรู้ ไปตามอวิชชา
ไม่มีญาณ ไม่มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาทึบ รวมความว่า และกล่าวว่า คนอื่นเป็น
คนพาล ไม่ฉลาด
คำว่า วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้ วาทะไหนเป็นเรื่องจริงกันหนอ
อธิบายว่า วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้ วาทะไหนเป็นเรื่องจริง คือ แท้ แน่
เป็นจริง แน่นอน ไม่วิปริต รวมความว่า วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้ วาทะไหน
เป็นเรื่องจริงกันหนอ
คำว่า เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดต่างก็อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด
อธิบายว่า สมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดต่างก็อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด คือ อ้างว่า
เป็นบัณฑิต อ้างว่าเป็นนักปราชญ์ อ้างว่ามีความรู้ อ้างว่ามีเหตุผล อ้างว่ามี
คุณลักษณะ อ้างว่าเหมาะแก่เหตุ อ้างว่าสมฐานะ ตามลัทธิของตน รวมความว่า
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดต่างก็อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด ด้วยเหตุนั้น พระ-
พุทธเนรมิตจึงทูลถามว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๔๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถืออย่างนี้แล้วก็พากันวิวาท
และกล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด
วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้
วาทะไหนเป็นเรื่องจริงกันหนอ
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมด
ต่างก็อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด
[๑๑๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
คนพาลไม่ยอมรับธรรมของผู้อื่นเลย
เป็นคนต่ำทราม มีปัญญาทราม
สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั่นแหละเป็นคนพาล มีปัญญาทราม
สมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดนั่นแหละ ยึดถือทิฏฐิอยู่
คำว่า ไม่ยอมรับธรรมของผู้อื่นเลย อธิบายว่า ไม่ยอมรับ คือ ไม่เห็นตาม
ไม่คล้อยตาม ไม่ยินดีตามธรรม คือ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรค ของผู้อื่น รวมความว่า
ไม่ยอมรับธรรมของผู้อื่นเลย
คำว่า คนพาล... เป็นคนต่ำทราม มีปัญญาทราม อธิบายว่า คนอื่นเป็นพาล
เป็นคนเลว ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย มีปัญญาเลว มีปัญญา
ทราม มีปัญญาต่ำทราม มีปัญญาน่ารังเกียจ มีปัญญาหยาบช้า มีปัญญาต่ำต้อย
รวมความว่า คนพาล... เป็นคนต่ำทราม มีปัญญาทราม
คำว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั่นแหละ เป็นคนพาล มีปัญญาทราม อธิบาย
ว่า สมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดนั่นแหละ เป็นคนพาล คือ เป็นคนเลว ทราม
ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั่นแหละ มีปัญญา
เลว คือ มีปัญญาทราม มีปัญญาต่ำทราม มีปัญญาน่ารังเกียจ มีปัญญาหยาบช้า
มีปัญญาต่ำต้อย รวมความว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั่นแหละ เป็นคนพาล
มีปัญญาทราม
คำว่า สมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดนั่นแหละ ยึดถือทิฏฐิอยู่ อธิบายว่า
สมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดนั่นแหละ เป็นเจ้าลัทธิ สมณพราหมณ์เหล่านั้น ยึด
ยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งบรรดาทิฏฐิ ๖๒ แล้ว อยู่ คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๔๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
อยู่ร่วม อยู่อาศัย อยู่ครองตามทิฏฐิของตน ๆ เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนก็อยู่
ในเรือน หมู่ภิกษุผู้มีอาบัติก็อยู่ในอาบัติ หรือพวกปุถุชนผู้มีกิเลสก็อยู่ในกิเลส ฉันใด
สมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดนั่นแหละ เป็นเจ้าลัทธิ สมณพราหมณ์เหล่านั้น ยึด
ยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่น ทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาทิฏฐิ ๖๒ แล้ว อยู่ คือ
อยู่ร่วม อยู่อาศัย อยู่ครองตามทิฏฐิของตน ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า
สมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดนั่นแหละ ยึดถือทิฏฐิอยู่ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสตอบว่า
คนพาลไม่ยอมรับธรรมของผู้อื่นเลย
เป็นคนต่ำทราม มีปัญญาทราม
สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั่นแหละเป็นคนพาล มีปัญญาทราม
สมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดนั่นแหละ ยึดถือทิฏฐิอยู่
[๑๑๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
ถ้าพวกสมณพราหมณ์ ไม่ผ่องแผ้วเพราะทิฏฐิของตน
เป็นผู้มีปัญญาหมดจดดี ฉลาด มีความรู้แล้วไซร้
บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ก็ไม่มีใครเสื่อมปัญญา
เพราะทิฏฐิของสมณพราหมณ์แม้เหล่านั้น ถือกันมาอย่างนั้น
คำว่า ถ้าพวกสมณพราหมณ์ ไม่ผ่องแผ้วเพราะทิฏฐิของตน อธิบายว่า
พวกสมณพราหมณ์ไม่ผ่องแผ้ว คือ ไม่ผ่องใส ไม่แจ่มใส เศร้าหมอง หม่นหมอง
เพราะทิฏฐิของตน คือ เพราะความถูกใจของตน ความพอใจของตน ลัทธิของตน
รวมความว่า ถ้าพวกสมณพราหมณ์ ไม่ผ่องแผ้วเพราะทิฏฐิของตน
คำว่า เป็นผู้มีปัญญาหมดจดดี ฉลาด มีความรู้แล้วไซร้ อธิบายว่า เป็นผู้มี
ปัญญาหมดจด คือ มีปัญญาสะอาด มีปัญญาบริสุทธิ์ มีปัญญาผ่องใส มีปัญญา
แจ่มใส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๔๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง เป็นผู้มีความเห็นหมดจด มีความเห็นสะอาด มีความเห็นบริสุทธิ์
มีความเห็นผ่องใส มีความเห็นแจ่มใส รวมความว่า เป็นผู้มีปัญญาหมดจดดี
คำว่า ฉลาด ได้แก่ ฉลาด คือ เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้
มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส รวมความว่า เป็นผู้มีปัญญา
หมดจดดี ฉลาด
คำว่า มีความรู้ ได้แก่ มีความรู้ คือ เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่อง
ตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส รวมความว่า เป็น
ผู้มีปัญญาหมดจดดี ฉลาด มีความรู้แล้วไซร้
คำว่า บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ก็ไม่มีใครเสื่อมปัญญา อธิบายว่า
บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ก็ไม่มีใครมีปัญญาเลว มีปัญญาทราม มีปัญญาต่ำ
ทราม มีปัญญาน่ารังเกียจ มีปัญญาหยาบช้า มีปัญญาต่ำต้อย
อีกนัยหนึ่ง สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั่นแหละ เป็นผู้มีปัญญาเลิศ มีปัญญา
ประเสริฐ มีปัญญาวิเศษ มีปัญญานำหน้า มีปัญญาสูงสุด มีปัญญาประเสริฐสุด
รวมความว่า บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ก็ไม่มีใครเสื่อมปัญญา
คำว่า เพราะทิฏฐิของสมณพราหมณ์แม้เหล่านั้น ถือกันมาอย่างนั้น อธิบายว่า
ทิฏฐิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถือกันมา คือ สมาทาน ถือ ยึดมั่น ถือมั่น
ติดใจ น้อมใจเชื่อกันมาอย่างนั้น รวมความว่า เพราะทิฏฐิของสมณพราหมณ์แม้
เหล่านั้น ถือกันมาอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ถ้าพวกสมณพราหมณ์ ไม่ผ่องแผ้วเพราะทิฏฐิของตน
เป็นผู้มีปัญญาหมดจดดี ฉลาด มีความรู้แล้วไซร้
บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ก็ไม่มีใครเสื่อมปัญญา
เพราะทิฏฐิของสมณพราหมณ์แม้เหล่านั้น ถือกันมาอย่างนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๔๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
[๑๑๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
คน ๒ พวกกล่าวทิฏฐิใดกะกันและกันว่า เป็นคนพาล
เราไม่กล่าวทิฏฐินั้นว่าจริง
พวกสมณพราหมณ์พากันประกาศทิฏฐิของตน ๆ ว่าจริง
เพราะฉะนั้น จึงพากันใส่ไฟผู้อื่นว่า เป็นคนพาล
คำว่า ไม่ ในคำว่า เราไม่กล่าวทิฏฐินั้นว่าจริง เป็นคำปฏิเสธ
คำว่า นั้น ได้แก่ ทิฏฐิ ๖๒ อธิบายว่า เราไม่กล่าว คือ ไม่บอก ไม่แสดง
ไม่บัญญัติ ไม่กำหนด ไม่เปิดเผย ไม่จำแนก ไม่ทำให้ง่าย ไม่ประกาศทิฏฐินั้น
ว่าจริง คือ แท้ เป็นจริง แน่นอน ไม่วิปริต รวมความว่า เราไม่กล่าวทิฏฐินั้นว่าจริง
คำว่า คน ๒ พวก ในคำว่า คน ๒ พวกกล่าวทิฏฐิใดกะกันและกันว่า
เป็นคนพาล อธิบายว่า คน ๒ พวก คือ คนก่อการทะเลาะกัน ๒ พวก คนก่อ
การบาดหมางกัน ๒ พวก คนก่อการอื้อฉาวกัน ๒ พวก คนก่อการวิวาทกัน
๒ พวก คนก่ออธิกรณ์กัน ๒ พวก คนว่าร้ายกัน ๒ พวก คนโต้เถียงกัน ๒ พวก
คนเหล่านั้นกล่าวหากันและกันอย่างนี้ คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงอย่างนี้ว่า
“เป็นคนพาล คือ เป็นคนเลว ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย”
รวมความว่า คน ๒ พวกกล่าวทิฏฐิใดกะกันและกันว่า เป็นคนพาล
คำว่า พวกสมณพราหมณ์พากันประกาศทิฏฐิของตน ๆ ว่าจริง อธิบายว่า
พากันประกาศทิฏฐิของตน ๆ ว่า จริงว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็น
โมฆะ... โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” พากันประกาศทิฏฐิ
ของตน ๆ ว่าจริง ว่า “หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีก
ก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” รวมความว่า พวกสมณพราหมณ์พากัน
ประกาศทิฏฐิของตน ๆ ว่าจริง
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น จึงพากันใส่ไฟผู้อื่นว่า เป็น
คนพาล ได้แก่ เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น
เพราะต้นเหตุนั้น จึงพากันใส่ไฟผู้อื่น คือ เห็น มองเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๔๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
ดูว่า “เป็นคนพาล คือ เป็นคนเลว ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย”
รวมความว่า เพราะฉะนั้น จึงพากันใส่ไฟผู้อื่นว่า เป็นคนพาล ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสว่า
คน ๒ พวกกล่าวทิฏฐิใดกะกันและกันว่า เป็นคนพาล
เราไม่กล่าวทิฏฐินั้นว่าจริง
พวกสมณพราหมณ์พากันประกาศทิฏฐิของตน ๆ ว่าจริง
เพราะฉะนั้น จึงพากันใส่ไฟผู้อื่นว่า เป็นคนพาล
[๑๑๘] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่าจริง ว่าแท้
สมณพราหมณ์พวกอื่นก็พากันกล่าวธรรมนั้นว่าเปล่า ว่าเท็จ
สมณพราหมณ์เหล่านั้นต่างพากันถือมั่นแม้อย่างนี้แล้ววิวาทกัน
เพราะเหตุไร พวกสมณพราหมณ์จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน
คำว่า สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่าจริง ว่าแท้ อธิบายว่า
สมณพราหมณ์บางพวก กล่าวอย่างนี้ คือ พูด บอก แสดง ชี้แจง ซึ่งธรรม คือ
ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคใดอย่างนี้ว่า “ธรรมนี้ จริง แท้ เป็นจริง แน่นอน ไม่วิปริต”
รวมความว่า สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่าจริง ว่าแท้
คำว่า สมณพราหมณ์พวกอื่นก็พากันกล่าวธรรมนั้นว่าเปล่า ว่าเท็จ อธิบาย
ว่า สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง ก็พากันกล่าวอย่างนี้ คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงซึ่ง
ธรรม คือ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคนั้นนั่นแหละอย่างนี้ว่า “ธรรมนั่นเปล่า ธรรมนั่นเท็จ
ธรรมนั่นไม่เป็นจริง ธรรมนั่นเหลาะแหละ ธรรมนั่นไม่แน่นอน” รวมความว่า
สมณพราหมณ์พวกอื่นก็พากันกล่าวธรรมนั้นว่าเปล่า ว่าเท็จ
คำว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นต่างพากันถือมั่นแม้อย่างนี้แล้ววิวาทกัน
อธิบายว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นต่างพากันยึด ยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นอย่างนี้
แล้ววิวาทกัน คือ ก่อการทะเลาะ ก่อการบาดหมาง ก่อการแก่งแย่ง ก่อการวิวาท
ก่อการมุ่งร้ายกันว่า “ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้... หรือหากท่านสามารถ ก็จงแก้ไขเถิด”
รวมความว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นต่างพากันถือมั่นแม้อย่างนี้แล้ววิวาทกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๔๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า เพราะเหตุไร ในคำว่า เพราะเหตุไร พวกสมณพราหมณ์ จึงไม่พูด
อย่างเดียวกัน อธิบายว่า เพราะเหตุไร คือ เพราะการณ์ไร เพราะอะไรเป็นเหตุ
เพราะอะไรเป็นปัจจัย เพราะอะไรเป็นต้นเหตุ เพราะอะไรเป็นเหตุเกิด เพราะอะไร
เป็นกำเนิด เพราะอะไรเป็นแดนเกิด สมณพราหมณ์จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน คือ
พูดไปต่าง ๆ หลายอย่าง พูดอย่างโน้นอย่างนี้ คือ กล่าว พูด บอก แสดง ชี้แจง
หลายอย่าง รวมความว่า เพราะเหตุไร พวกสมณพราหมณ์ จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน
ด้วยเหตุนั้น พระพุทธเนรมิตจึงทูลถามว่า
สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่าจริง ว่าแท้
สมณพราหมณ์พวกอื่นก็พากันกล่าวธรรมนั้นว่าเปล่า ว่าเท็จ
สมณพราหมณ์เหล่านั้นต่างพากันถือมั่นแม้อย่างนี้แล้ววิวาทกัน
เพราะเหตุไร พวกสมณพราหมณ์จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน
[๑๑๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
หมู่ชนรู้ชัดสัจจะใดไม่พึงวิวาทกัน
สัจจะนั้นมีอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีอย่างที่ ๒
สมณพราหมณ์เหล่านั้นพากันอวดสัจจะต่าง ๆ กันไปเอง
เพราะฉะนั้น พวกสมณพราหมณ์จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน
ว่าด้วยสัจจะมีอย่างเดียว
คำว่า สัจจะนั้นมีอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีอย่างที่ ๒ อธิบายว่า นิพพาน
คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด
ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับกิเลส ความเย็นสนิท ตรัสเรียกว่า
สัจจะอย่างเดียว
อีกนัยหนึ่ง มรรคสัจจะ เป็นสัจจะที่เป็นเหตุนำสัตว์ออกจากทุกข์ คือ ทุกข-
นิโรธคามินีปฏิปทา ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๔๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส

๑. สัมมาทิฏฐิ(เห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ(ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา(เจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ(กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ(เลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ(พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ(ระลึกชอบ) ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

ตรัสเรียกว่า สัจจะอย่างเดียว รวมความว่า
เพราะสัจจะนั้นมีอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีอย่างที่ ๒
คำว่า ใด ในคำว่า หมู่ชนรู้ชัดสัจจะใดไม่พึงวิวาทกัน ได้แก่ ในสัจจะใด
คำว่า หมู่สัตว์ เป็นชื่อเรียกสัตว์
คำว่า รู้ชัด อธิบายว่า รู้ชัด คือ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ แทงตลอดสัจจะใด
ไม่พึงก่อการทะเลาะ ไม่พึงก่อการบาดหมาง ไม่พึงก่อการแก่งแย่ง ไม่พึงก่อการ
วิวาท ไม่พึงก่อการมุ่งร้าย ได้แก่ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มี
อีกซึ่งการทะเลาะ การบาดหมาง การแก่งแย่ง การวิวาท การมุ่งร้าย รวม
ความว่า หมู่ชนรู้ชัดสัจจะใดไม่พึงวิวาทกัน
คำว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นพากันอวดสัจจะต่าง ๆ กันไปเอง อธิบายว่า
สมณพราหมณ์เหล่านั้น พากันอวด คือ กล่าว พูด บอก แสดง ชี้แจงสัจจะต่าง ๆ
กันไปเองว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ”
สมณพราหมณ์เหล่านั้น พากันอวด คือ กล่าว พูด บอก แสดง ชี้แจงสัจจะ
ต่าง ๆ กันไปเองว่า “โลกไม่เที่ยง ... หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่า
ไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” รวมความว่า สมณพราหมณ์
เหล่านั้นพากันอวดสัจจะต่าง ๆ กันไปเอง
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น พวกสมณพราหมณ์จึงไม่พูด
อย่างเดียวกัน อธิบายว่า เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะ
ปัจจัยนั้น เพราะต้นเหตุนั้น พวกสมณพราหมณ์จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน คือ พูดไป
ต่าง ๆ พูดหลายอย่าง พูดอย่างโน้นอย่างนี้ พูด คือ กล่าว บอก แสดง ชี้แจง
มากมาย รวมความว่า เพราะฉะนั้น พวกสมณพราหมณ์จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๔๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
หมู่ชนรู้ชัดสัจจะใดไม่พึงวิวาทกัน
สัจจะนั้นมีอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีอย่างที่ ๒
สมณพราหมณ์เหล่านั้นพากันอวดสัจจะต่าง ๆ กันไปเอง
เพราะฉะนั้น พวกสมณพราหมณ์จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน
[๑๒๐] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
เพราะเหตุไรหนอ พวกสมณพราหมณ์จึงพูดสัจจะไปต่าง ๆ
อ้างตนว่าเป็นคนฉลาด พูดพร่ำกันไป
สัจจะที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นเล่าเรียนมา
มีหลายอย่างต่าง ๆ กันหรือ
หรือว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้นพากันนึกตรึกเอาเอง
คำว่า เพราะเหตุไร ในคำว่า เพราะเหตุไรหนอ พวกสมณพราหมณ์
จึงพูดสัจจะไปต่าง ๆ อธิบายว่า เพราะเหตุไร คือ เพราะการณ์ไร เพราะอะไร
เป็นเหตุ เพราะอะไรเป็นปัจจัย เพราะอะไรเป็นต้นเหตุ พวกสมณพราหมณ์จึงพูด
สัจจะไปต่าง ๆ คือ พูดหลายอย่าง พูดอย่างโน้นอย่างนี้ พูด คือ กล่าว บอก แสดง
ชี้แจงมากมาย รวมความว่า เพราะเหตุไรหนอ พวกสมณพราหมณ์จึงพูดสัจจะ
ไปต่าง ๆ
คำว่า พูดพร่ำกันไป ในคำว่า อ้างตนว่าเป็นคนฉลาด พูดพร่ำกันไป อธิบาย
ว่า เพราะพูดพร่ำเพ้อไป จึงชื่อว่าพูดพร่ำกันไป
อีกนัยหนึ่ง พวกสมณพราหมณ์พูดพร่ำ คือ กล่าว บอก แสดง ชี้แจงทิฏฐิ
ของตน ๆ ว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” พวกสมณพราหมณ์
พูดพร่ำ คือ กล่าว บอก แสดง ชี้แจงทิฏฐิของตน ๆ ว่า “โลกไม่เที่ยง... หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
เป็นโมฆะ”
คำว่า อ้างตนว่าเป็นคนฉลาด ได้แก่ อ้างตนว่าเป็นคนฉลาด คือ กล่าวอ้างว่า
เป็นบัณฑิต อ้างว่าเป็นนักปราชญ์ อ้างว่ามีความรู้ อ้างว่ามีเหตุผล อ้างว่ามีคุณลักษณะ
อ้างว่าเหมาะแก่เหตุ อ้างว่าสมฐานะ ตามลัทธิของตน รวมความว่า อ้างตนว่าเป็น
คนฉลาด พูดพร่ำกันไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๔๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า สัจจะที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นเล่าเรียนมา มีหลายอย่างต่าง ๆ กัน
หรือ อธิบายว่า สัจจะที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นเล่าเรียนมา มีหลายอย่างต่าง ๆ กัน
คือ มีหลายอย่าง เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ มากมาย รวมความว่า สัจจะที่
สมณพราหมณ์เหล่านั้นเล่าเรียนมา มีหลายอย่างต่าง ๆ กันหรือ
คำว่า หรือว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นพากันนึกตรึกเอาเอง อธิบายว่า
หรือว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ดำเนินไป ออกไป ถูกพาไป ถูกนำไป ด้วยความตรึก
คือ ด้วยความวิตก ความดำริ รวมความว่า หรือว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นพากัน
นึกตรึกเอาเอง อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่านั้นพากันกล่าว พูด บอก แสดง ชี้แจงสัจจะที่
ตนประมวลมาด้วยความตรึก ที่ตนประพฤติตามด้วยการพิจารณาใคร่ครวญ ที่รู้เอง
รวมความว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นพากันนึกตรึกเอาเอง อย่างนี้บ้าง ด้วยเหตุนั้น
พระพุทธเนรมิตจึงทูลถามว่า
เพราะเหตุไรหนอ พวกสมณพราหมณ์จึงพูดสัจจะไปต่าง ๆ
อ้างตนว่าเป็นคนฉลาด พูดพร่ำกันไป
สัจจะที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นเล่าเรียนมา
มีหลายอย่างต่าง ๆ กันหรือ
หรือว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้นพากันนึกตรึกเอาเอง
[๑๒๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
มิได้มีสัจจะหลายอย่างต่าง ๆ กันเลย
เว้นแต่สัจจะที่แน่นอนด้วยสัญญาในโลก
แต่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย
พากันกำหนดความตรึกในทิฏฐิทั้งหลายไปเอง
แล้วกล่าวธรรมเป็น ๒ อย่างว่า
คำของเราจริง คำของท่านเท็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๔๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
ว่าด้วยความจริงไม่ต่างกัน
คำว่า มิได้มีสัจจะหลายอย่างต่าง ๆ กันเลย อธิบายว่า มิได้มีสัจจะ
หลายอย่างต่าง ๆ กัน คือ มิได้มีหลายอย่าง เป็นอย่างโน้นอย่างนี้มากมายเลย
รวมความว่า มิได้มีสัจจะหลายอย่างต่าง ๆ กันเลย
คำว่า เว้นแต่สัจจะที่แน่นอนด้วยสัญญาในโลก อธิบายว่า เว้นแต่สัจจะที่ถือ
ว่าแน่นอนด้วยสัญญา สัจจะอย่างเดียวเท่านั้นที่บัณฑิตกล่าว บอก แสดง ชี้แจงไว้ใน
โลก ได้แก่ นิพพาน คือ ความดับทุกข์ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสลัดทิ้ง
อุปธิทั้งหมด ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับกิเลส ความเย็นสนิท
อีกนัยหนึ่ง มรรคสัจจะ คือ สัจจะที่เป็นเหตุนำสัตว์ออกจากทุกข์ ทุกขนิโรธ-
คามินีปฏิปทา อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ... ๘. สัมมาสมาธิ
ตรัสเรียกว่า สัจจะอย่างเดียว รวมความว่า เว้นแต่สัจจะที่แน่นอนด้วย
สัญญาในโลก
คำว่า แต่สมณพราหมณ์ทั้งหลายพากันกำหนดความตรึกในทิฏฐิทั้งหลาย
ไปเองแล้วกล่าวธรรมเป็น ๒ อย่างว่า คำของเราจริง คำของท่านเท็จ อธิบายว่า
พวกสมณพราหมณ์พากันตรึก ตรอง ดำริ แล้วทำทิฏฐิให้เกิด ให้เกิดขึ้น ให้บังเกิด
ให้บังเกิดขึ้น ครั้นทำทิฏฐิให้เกิด ให้เกิดขึ้น ให้บังเกิด ให้บังเกิดขึ้นแล้วก็กล่าวอย่างนี้
คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงอย่างนี้ว่า “คำของเราจริง คำของท่านเท็จ” รวมความว่า
แต่สมณพราหมณ์ทั้งหลายพากันกำหนดความตรึกในทิฏฐิทั้งหลายไปเอง แล้วกล่าว
ธรรมเป็น ๒ อย่างว่า คำของเราจริง คำของท่านเท็จ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสตอบว่า
มิได้มีสัจจะหลายอย่างต่าง ๆ กันเลย
เว้นแต่สัจจะที่แน่นอนด้วยสัญญาในโลก
แต่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย
พากันกำหนดความตรึกในทิฏฐิทั้งหลายไปเอง
แล้วกล่าวธรรมเป็น ๒ อย่างว่า
คำของเราจริง คำของท่านเท็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๕๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
[๑๒๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
เจ้าลัทธิอาศัยธรรมเหล่านี้ คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
ศีล วัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้แล้ว แสดงอาการดูหมิ่น
และดำรงอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจแล้วก็ร่าเริง
กล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด
เจ้าลัทธิแสดงความดูหมิ่นผู้อื่น
คำว่า เจ้าลัทธิอาศัยธรรมเหล่านี้ คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ศีล วัตร
หรืออารมณ์ที่รับรู้แล้ว แสดงอาการดูหมิ่น อธิบายว่า เจ้าลัทธิอาศัย คือ เข้าไป
อาศัย ถือ ยึดมั่น ถือมั่นรูปที่เห็น หรือความหมดจดเพราะรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
หรือความหมดจดเพราะเสียงที่ได้ยิน ศีล หรือความหมดจดเพราะศีล วัตร หรือ
ความหมดจดเพราะวัตร อารมณ์ที่รับรู้ หรือความหมดจดเพราะอารมณ์ที่รับรู้ รวม
ความว่า เจ้าลัทธิอาศัยธรรมเหล่านี้ คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ศีล วัตร หรือ
อารมณ์ที่รับรู้แล้ว
คำว่า เจ้าลัทธิอาศัยธรรมเหล่านี้... แล้ว แสดงอาการดูหมิ่น อธิบายว่า
เจ้าลัทธิไม่นับถือ จึงชื่อว่าแสดงอาการดูหมิ่นบ้าง อีกนัยหนึ่ง เจ้าลัทธิทำโทมนัส
ให้เกิด ก็ชื่อว่าแสดงอาการดูหมิ่นบ้าง รวมความว่า เจ้าลัทธิอาศัยธรรมเหล่านี้
คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ศีล วัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้แล้ว แสดงอาการดูหมิ่น
คำว่า และดำรงอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจแล้วก็ร่าเริง อธิบายว่า ทิฏฐิ ๖๒
ตรัสเรียกว่า ทิฏฐิที่ตกลงใจแล้ว
เจ้าลัทธิ ดำรงอยู่ คือ ยืนยันอยู่ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจแล้ว
รวมความว่า ดำรงอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจแล้ว
คำว่า ก็ร่าเริง ได้แก่ ยินดี หัวเราะ ร่าเริง ชอบใจ มีความดำริบริบูรณ์แล้ว
อีกนัยหนึ่ง หัวเราะจนมองเห็นฟัน รวมความว่า และดำรงอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจแล้ว
ก็ร่าเริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๕๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า กล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด อธิบายว่า กล่าว คือ พูด บอก
แสดง ชี้แจงอย่างนี้ว่า “คนอื่นเป็นคนพาล คือ เลว ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ
หยาบช้า ต่ำต้อย ไม่ฉลาด ไม่มีความรู้ ตกอยู่ในอวิชชา ไม่มีญาณ ไม่มีปัญญา
แจ่มแจ้ง ไม่มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส มีปัญญาทึบ” รวมความว่า กล่าวว่า
คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เจ้าลัทธิอาศัยธรรมเหล่านี้ คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
ศีล วัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้แล้ว แสดงอาการดูหมิ่น
และดำรงอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจแล้วก็ร่าเริง
กล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด
[๑๒๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เจ้าลัทธิใส่ไฟบุคคลอื่นว่า เป็นคนพาล เพราะเหตุใด
ก็กล่าวถึงตนเองว่า เป็นคนฉลาด เพราะเหตุนั้น
เจ้าลัทธินั้นอวดอ้างตนเองว่าเป็นคนฉลาด
ย่อมดูหมิ่นบุคคลอื่นและกล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน
เจ้าลัทธิเห็นคนอื่นเป็นพาล
คำว่า เจ้าลัทธิใส่ไฟบุคคลอื่นว่า เป็นคนพาล เพราะเหตุใด อธิบายว่า
เจ้าลัทธิใส่ไฟ คือ เห็น มองเห็น แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาดูบุคคลอื่น
โดยความเป็นคนพาล คือ เป็นคนเลว ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย
เพราะเหตุใด คือ เพราะปัจจัยใด เพราะการณ์ใด เพราะแดนเกิดใด รวมความว่า
เจ้าลัทธิใส่ไฟบุคคลอื่นว่า เป็นคนพาล เพราะเหตุใด
คำว่า ก็กล่าวถึงตนเองว่า เป็นคนฉลาด เพราะเหตุนั้น อธิบายว่า ตน
ตรัสเรียกว่า ตนเอง
เจ้าลัทธิแม้นั้นกล่าวถึงตนเองว่า “เราเป็นคนฉลาด คือ เป็นบัณฑิต มีปัญญา
มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๕๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
เพราะเหตุนั้น คือ เพราะปัจจัยนั้น เพราะการณ์นั้น เพราะแดนเกิดนั้น รวมความว่า
ก็กล่าวถึงตนเองว่า เป็นคนฉลาด เพราะเหตุนั้น
คำว่า เจ้าลัทธินั้นอวดอ้างตนเองว่าเป็นคนฉลาด อธิบายว่า เจ้าลัทธินั้น
อวดอ้างตนเองว่า เป็นคนฉลาด คือ กล่าวอ้างว่าเป็นบัณฑิต อ้างว่าเป็นนักปราชญ์
อ้างว่ามีความรู้ อ้างว่ามีเหตุผล อ้างว่ามีคุณลักษณะ อ้างว่าเหมาะแก่เหตุ อ้างว่า
สมฐานะ ตามลัทธิของตน รวมความว่า เจ้าลัทธินั้นอวดอ้างตนเองว่าเป็นคนฉลาด
คำว่า ย่อมดูหมิ่นบุคคลอื่นและกล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน อธิบายว่า เจ้าลัทธิไม่นับถือ
จึงชื่อว่า ดูหมิ่นผู้อื่นบ้าง อีกนัยหนึ่ง เจ้าลัทธิทำโทมนัสให้เกิดจึงชื่อว่า
ดูหมิ่นผู้อื่นบ้าง
คำว่า และกล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน ได้แก่ กล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน คือ
ทิฏฐินั้นว่า “บุคคลนี้ มีความเห็นผิด มีความเห็นวิปริต แม้ด้วยประการอย่างนี้”
รวมความว่า ย่อมดูหมิ่นบุคคลอื่นและกล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี
พระภาคจึงตรัสว่า
เจ้าลัทธิใส่ไฟบุคคลอื่นว่า เป็นคนพาล เพราะเหตุใด
ก็กล่าวถึงตนเองว่า เป็นคนฉลาด เพราะเหตุนั้น
เจ้าลัทธินั้นอวดอ้างตนเองว่าเป็นคนฉลาด
ย่อมดูหมิ่นบุคคลอื่นและกล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน
[๑๒๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เจ้าลัทธินั้นเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยอติสารทิฏฐิ
เมาด้วยความถือตัว มีความถือตัวจัด อภิเษกตนเองด้วยใจ
เพราะทิฏฐินั้นเจ้าลัทธิถือกันมาอย่างนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๕๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
ทิฏฐิ ๖๒ ตรัสเรียกว่าอติสารทิฏฐิ
คำว่า เจ้าลัทธินั้นเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยอติสารทิฏฐิ อธิบายว่า ทิฏฐิ ๖๒
ตรัสเรียกว่า อติสารทิฏฐิ
เพราะเหตุไร ทิฏฐิ ๖๒ จึงตรัสเรียกว่า อติสารทิฏฐิ เพราะทิฏฐิเหล่านั้นทั้งหมด
ก้าวล่วงเหตุ ก้าวล่วงลักษณะ ก้าวล่วงฐานะ เพราะเหตุนั้น ทิฏฐิ ๖๒ จึงตรัสเรียกว่า
อติสารทิฏฐิ เดียรถีย์ทุกจำพวก เป็นผู้มีอติสารทิฏฐิ
เพราะเหตุไร เดียรถีย์ทุกจำพวก จึงชื่อว่าเป็นผู้มีอติสารทิฏฐิ เพราะเดียรถีย์
เหล่านั้น ก้าวล่วง คือ ก้าวพ้น ล่วงพ้นกันและกัน ทำทิฏฐิทั้งหลายให้เกิด ให้เกิดขึ้น
ให้บังเกิด ให้บังเกิดขึ้น เพราะเหตุนั้น เดียรถีย์ทุกจำพวก จึงชื่อว่าเป็นผู้มีอติสารทิฏฐิ
คำว่า เจ้าลัทธินั้นเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยอติสารทิฏฐิ อธิบายว่า เจ้าลัทธิ
เป็นผู้เพียบพร้อม คือ บริบูรณ์ ไม่บกพร่องด้วยอติสารทิฏฐิ รวมความว่า เจ้าลัทธิ
นั้นเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยอติสารทิฏฐิ
คำว่า เมาด้วยความถือตัว มีความถือตัวจัด อธิบายว่า เมา คือ ประมาท
คลั่ง คลั่งไคล้ด้วยทิฏฐิของตน คือ ด้วยความถือตัวเพราะทิฏฐิ รวมความว่า
เมาด้วยความถือตัว
คำว่า มีความถือตัวจัด ได้แก่ มีความถือตัวจัด คือ มีความถือตัวมาก
มีความถือตัวไม่บกพร่อง รวมความว่า เมาด้วยความถือตัว มีความถือตัวจัด
คำว่า อภิเษกตนเองด้วยใจ อธิบายว่า อภิเษกตนเองนั่นแหละด้วยความ
คิดว่า “เราเป็นผู้ฉลาด เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ
มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส” รวมความว่า อภิเษกตนเองด้วยใจ
คำว่า เพราะทิฏฐินั้นเจ้าลัทธิถือกันมาอย่างนั้น อธิบายว่า ทิฏฐินั้นเจ้าลัทธิ
ถือกันมาแล้ว คือ สมาทานแล้ว ถือแล้ว ยึดมั่นแล้ว ถือมั่นแล้ว ติดใจแล้ว
น้อมใจเชื่อแล้วอย่างนั้น รวมความว่า เพราะทิฏฐินั้นเจ้าลัทธิถือกันมาอย่างนั้น
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๕๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
เจ้าลัทธินั้นเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยอติสารทิฏฐิ
เมาด้วยความถือตัว มีความถือตัวจัด อภิเษกตนเองด้วยใจ
เพราะทิฏฐินั้นเจ้าลัทธิถือกันมาอย่างนั้น
[๑๒๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
อนึ่ง หากบุคคลเป็นผู้เลวทรามเพราะวาจาของผู้อื่นไซร้
เขาก็เป็นผู้มีปัญญาทรามพร้อมกับผู้นั้น
และถ้าผู้เรียนจบพระเวท๑เองเป็นนักปราชญ์ได้ไซร้
บรรดาสมณะก็ไม่มีใครเป็นคนพาล
คำว่า อนึ่ง หากบุคคลเป็นผู้เลวทรามเพราะวาจาของผู้อื่นไซร้ อธิบายว่า
หากบุคคลอื่นเป็นคนพาล เลว เลวทราม คือ ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย
เพราะวาจา คือ เพราะถ้อยคำของผู้อื่น เพราะเหตุที่ถูกนินทา เพราะเหตุที่ถูกติเตียน
เพราะเหตุที่ถูกว่าร้ายไซร้ รวมความว่า อนึ่งหากบุคคลเป็นผู้เลวทรามเพราะวาจา
ของผู้อื่นไซร้
คำว่า เขาก็เป็นผู้มีปัญญาทรามพร้อมกับผู้นั้น อธิบายว่า แม้เขาก็เป็นผู้มี
ปัญญาเลว คือ เป็นผู้มีปัญญาทราม มีปัญญาต่ำทราม มีปัญญาน่ารังเกียจ
มีปัญญาหยาบช้า มีปัญญาต่ำต้อย พร้อมกับผู้นั้นนั่นเอง รวมความว่า เขาก็เป็น
ผู้มีปัญญาทรามพร้อมกับผู้นั้น
คำว่า และถ้าผู้เรียนจบพระเวทเองเป็นนักปราชญ์ได้ไซร้ อธิบายว่า และ
ถ้าผู้เรียนจบพระเวทเอง เป็นนักปราชญ์ คือ เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่อง
ตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลสไซร้ รวมความว่า
และถ้าผู้เรียนจบพระเวทเองเป็นนักปราชญ์ได้ไซร้

เชิงอรรถ :
๑ จบพระเวท หมายถึงจบไตรเพท อันเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์ มี ๓ คือ (๑) ฤคเวท
(อิรุเวท) ประมวลบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า (๒) ยชุรเวท บทสวดอ้อนวอนในพิธีบูชายัญต่าง ๆ (๓) สามเวท
ประมวลบทเพลงขับสำหรับสวดหรือร้องเป็นทำนองในพิธีบูชายัญ ต่อมาเพิ่ม (๔) อถรรพเวทหรืออาถรรพณเวท
ว่าด้วยคาถาอาคมทางไสยศาสตร์ (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๕๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า บรรดาสมณะก็ไม่มีใครเป็นคนพาล อธิบายว่า บรรดาสมณะก็ไม่มีใคร
เป็นคนพาล คือ เป็นคนเลว เลวทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อยเลย
ทุกคนก็มีปัญญาเลิศ มีปัญญาประเสริฐ มีปัญญาวิเศษ มีปัญญานำหน้า มีปัญญา
สูงสุด มีปัญญาประเสริฐสุดไปหมด รวมความว่า บรรดาสมณะก็ไม่มีใครเป็นคนพาล
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
อนึ่ง หากบุคคลเป็นผู้เลวทรามเพราะวาจาของผู้อื่นไซร้
เขาก็เป็นผู้มีปัญญาทรามพร้อมกับผู้นั้น
และถ้าผู้เรียนจบพระเวทเองเป็นนักปราชญ์ได้ไซร้
บรรดาสมณะก็ไม่มีใครเป็นคนพาล
[๑๒๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ชนเหล่าใดกล่าวสรรเสริญธรรมอื่นนอกจากธรรมนี้
ชนเหล่านั้นก็พลาดทางแห่งความหมดจด เป็นผู้ไม่บริบูรณ์
เดียรถีย์พากันกล่าวทิฏฐิมากแม้อย่างนี้
เพราะพวกเขาเป็นผู้ยินดียิ่ง ด้วยความยินดีในทิฏฐิของตน
คำว่า ชนเหล่าใดกล่าวสรรเสริญธรรมอื่นนอกจากธรรมนี้ ชนเหล่านั้นก็
พลาดทางแห่งความหมดจด เป็นผู้ไม่บริบูรณ์ อธิบายว่า ชนเหล่าใด กล่าว
สรรเสริญธรรม คือ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรค อื่นนอกจากธรรมนี้ ชนเหล่านั้นก็พลาด
คือ ผิด พลั้ง คลาดทางแห่งความหมดจด คือ ทางแห่งความสะอาด ทางแห่งความ
บริสุทธิ์ ทางแห่งความผุดผ่อง ทางแห่งความผ่องแผ้ว คือ พลาดจากอรหัตตผล
เป็นผู้ไม่บริบูรณ์ คือ ชนเหล่านั้นไม่เพียบพร้อม ไม่บริบูรณ์ ได้แก่ เป็นคนเลว
ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย รวมความว่า ชนเหล่าใดกล่าว
สรรเสริญธรรมอื่นนอกจากธรรมนี้ ชนเหล่านั้นก็พลาดทางแห่งความหมดจด เป็นผู้
ไม่บริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๕๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
ทิฏฐิเรียกว่าติตถะ
คำว่า เดียรถีย์พากันกล่าวทิฏฐิมากแม้อย่างนี้ อธิบายว่า ทิฏฐิ ตรัสเรียกว่า
ติตถะ(ท่า) เจ้าทิฏฐิ ตรัสเรียกว่า เดียรถีย์ พวกเดียรถีย์พากันกล่าว คือ พูด บอก
แสดง ชี้แจง ทิฏฐิมากมาย รวมความว่า เดียรถีย์พากันกล่าวทิฏฐิมากแม้อย่างนี้
คำว่า เพราะพวกเขาเป็นผู้ยินดียิ่ง ด้วยความยินดีในทิฏฐิของตน อธิบาย
ว่า เพราะพวกเขายินดี ยินดียิ่ง ด้วยความยินดีในทิฏฐิของตน รวมความว่า เพราะ
พวกเขาเป็นผู้ยินดียิ่ง ด้วยความยินดีในทิฏฐิของตน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า
ชนเหล่าใดกล่าวสรรเสริญธรรมอื่นนอกจากธรรมนี้
ชนเหล่านั้นก็พลาดทางแห่งความหมดจด เป็นผู้ไม่บริบูรณ์
เดียรถีย์พากันกล่าวทิฏฐิมากแม้อย่างนี้
เพราะพวกเขาเป็นผู้ยินดียิ่ง ด้วยความยินดีในทิฏฐิของตน
[๑๒๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
พวกเดียรถีย์พากันกล่าวความหมดจดว่า
มีอยู่ในธรรมนี้เท่านั้น ไม่กล่าวความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น
พวกเดียรถีย์ตั้งอยู่ในทิฏฐิมากแม้อย่างนี้
ต่างกล่าวยืนยันในธรรมอันเป็นแนวทางของตนนั้น
ว่าด้วยทิฏฐิของพวกเดียรถีย์
คำว่า พวกเดียรถีย์พากันกล่าวความหมดจดว่ามีอยู่ในธรรมนี้เท่านั้น
อธิบายว่า พวกเดียรถีย์พากันกล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ
ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปในธรรมนี้ว่า
“โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ”
พวกเดียรถีย์พากันกล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ ความ
สะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปในธรรมนี้ว่า “โลก
ไม่เที่ยง... หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๕๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” รวมความว่า พวกเดียรถีย์พากันกล่าวความ
หมดจดว่ามีอยู่ในธรรมนี้เท่านั้น
คำว่า ไม่กล่าวความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น อธิบายว่า พวกเดียรถีย์
เหล่านั้น ย่อมทิ้ง ละทิ้ง ทอดทิ้งวาทะอื่นทุกอย่าง นอกจากศาสดา ธรรมที่ศาสดา
กล่าวสอน หมู่คณะ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคของตน กล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจง
อย่างนี้ว่า ศาสดานั้นมิใช่สัพพัญญู ธรรมมิใช่ศาสดากล่าวสอนไว้ดีแล้ว หมู่คณะ
มิใช่ผู้ปฏิบัติดีแล้ว ทิฏฐิมิใช่สิ่งที่เจริญ ปฏิปทามิใช่ศาสดาบัญญัติไว้ดีแล้ว มรรคมิใช่
ทางนำสัตว์ออกจากทุกข์ ในธรรมนั้นไม่มีความหมดจด ความสะอาด ความบริสุทธิ์
ความหลุดไป ความพ้นไป หรือความหลุดพ้นไป คือ ในธรรมนั้น สัตว์ทั้งหลายย่อม
หมดจด สะอาด บริสุทธิ์ หลุดไป พ้นไป หรือหลุดพ้นไปไม่ได้ สัตว์ทั้งหลายเป็น
ผู้เลว คือ ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย รวมความว่า ไม่กล่าว
ความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น
คำว่า พวกเดียรถีย์ตั้งอยู่ในทิฏฐิมากแม้อย่างนี้ อธิบายว่า ทิฏฐิตรัส
เรียกว่า ติตถะ เจ้าทิฏฐิตรัสเรียกว่า เดียรถีย์ พวกเดียรถีย์ตั้งอยู่ คือ ตั้งมั่น ติด
ติดแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่อในทิฏฐิมาก ด้วยทิฏฐิมาก รวมความว่า พวกเดียรถีย์
ตั้งอยู่ในทิฏฐิมากแม้อย่างนี้
คำว่า ต่างกล่าวยืนยันในธรรมอันเป็นแนวทางของตนนั้น อธิบายว่า ธรรม
ชื่อว่าแนวทางของตน ทิฏฐิ ชื่อว่าแนวทางของตน ปฏิปทา ชื่อว่าแนวทางของตน
มรรคก็ชื่อว่าแนวทางของตน พวกเดียรถีย์กล่าวยืนยัน คือ กล่าวมั่นคง กล่าวแข็งขัน
กล่าวหนักแน่นในแนวทางของตน รวมความว่า ต่างกล่าวยืนยันในธรรมอันเป็นแนว
ทางของตนนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
พวกเดียรถีย์พากันกล่าวความหมดจดว่า
มีอยู่ในธรรมนี้เท่านั้น ไม่กล่าวความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น
พวกเดียรถีย์ตั้งอยู่ในทิฏฐิมากแม้อย่างนี้
ต่างกล่าวยืนยันในธรรมอันเป็นแนวทางของตนนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๕๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
[๑๒๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
อนึ่ง เจ้าลัทธิกล่าวยืนยันในแนวทางของตน
ใส่ไฟใครอื่นว่า เป็นคนพาล ในเพราะทิฏฐินี้
เจ้าลัทธินั้นกล่าวถึงผู้อื่นว่า เป็นคนพาล
มีความไม่หมดจดเป็นธรรมดา
พึงนำความมุ่งร้ายมาเองทีเดียว
คำว่า อนึ่ง เจ้าลัทธิกล่าวยืนยันในแนวทางของตน อธิบายว่า ธรรม ชื่อว่า
แนวทางของตน ทิฏฐิ ชื่อว่าแนวทางของตน ปฏิปทา ชื่อว่าแนวทางของตน มรรค
ก็ชื่อว่าแนวทางของตน เจ้าลัทธิ กล่าวยืนยัน คือ กล่าวมั่นคง กล่าวแข็งขัน
กล่าวหนักแน่นในแนวทางของตน รวมความว่า อนึ่ง เจ้าลัทธิกล่าวยืนยันในแนวทาง
ของตน
คำว่า ในเพราะทิฏฐินี้ ในคำว่า ใส่ไฟใครอื่นว่า เป็นคนพาล ในเพราะทิฏฐิ
นี้ อธิบายว่า พึงใส่ไฟ คือ เห็น แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาดูบุคคลอื่น
โดยความเป็นคนพาล คือ เป็นคนเลว ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย
ในเพราะทิฏฐิของตน คือ ความถูกใจของตน ความพอใจของตน ลัทธิของตน
รวมความว่า ใส่ไฟใครอื่นว่า เป็นคนพาล ในเพราะทิฏฐินี้
คำว่า เจ้าลัทธินั้นกล่าวถึงผู้อื่นว่า เป็นคนพาล มีความไม่หมดจดเป็นธรรมดา
พึงนำความมุ่งร้ายมาเองทีเดียว อธิบายว่า เจ้าลัทธินั้น กล่าว คือ พูด บอก แสดง
ชี้แจง อย่างนี้ว่า ผู้อื่น เป็นคนพาล คือ เป็นคนเลว ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า
ต่ำต้อย มีความไม่หมดจดเป็นธรรมดา คือ มีความไม่สะอาดเป็นธรรมดา มีความไม่
บริสุทธิ์เป็นธรรมดา มีความไม่ผ่องแผ้วเป็นธรรมดา พึงนำ คือ นำมาพร้อม ถือมา
ถือมาพร้อม ชักมา ชักมาพร้อม ถือ ยึดมั่น ถือมั่นการทะเลาะ การบาดหมาง
การแก่งแย่ง การวิวาท การมุ่งร้ายมาเองทีเดียว รวมความว่า เจ้าลัทธินั้นกล่าว
ถึงผู้อื่นว่า เป็นคนพาล มีความไม่หมดจดเป็นธรรมดา พึงนำความมุ่งร้ายมาเอง
ทีเดียว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๕๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
อนึ่ง เจ้าลัทธิกล่าวยืนยันในแนวทางของตน
ใส่ไฟใครอื่นว่า เป็นคนพาล ในเพราะทิฏฐินี้
เจ้าลัทธินั้นกล่าวถึงผู้อื่นว่า เป็นคนพาล
มีความไม่หมดจดเป็นธรรมดา
พึงนำความมุ่งร้ายมาเองทีเดียว
[๑๒๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เจ้าลัทธินั้นตั้งอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจและนับถือเองแล้ว
ก็ถึงการวิวาทในกาลข้างหน้าในโลก
คนที่เกิดมาละทิฏฐิที่ตกลงใจทั้งมวลได้
ย่อมไม่ก่อการมุ่งร้ายในโลก
คำว่า เจ้าลัทธินั้นตั้งอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจและนับถือเองแล้ว อธิบายว่า
ทิฏฐิ ๖๒ ตรัสเรียกว่า ทิฏฐิที่ตกลงใจ เจ้าลัทธิตั้งอยู่ คือ ตั้งมั่น ถือ ยึดมั่น
ถือมั่นในทิฏฐิที่ตกลงใจ รวมความว่า เจ้าลัทธินั้นตั้งอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจ
คำว่า นับถือเอง อธิบายว่า นับถือ คือ นอบน้อมเองว่า “ศาสดานี้ เป็น
สัพพัญญู” ได้แก่ นับถือ คือ นอบน้อมเองว่า “ธรรมนี้ศาสดากล่าวสอนไว้ดีแล้ว...
หมู่คณะนี้เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว... ทิฏฐินี้เป็นสิ่งที่เจริญ... ปฏิปทานี้ศาสดาบัญญัติไว้ดีแล้ว...
มรรคนี้เป็นทางนำสัตว์ออกจากทุกข์” รวมความว่า เจ้าลัทธินั้นดำรงอยู่ในทิฏฐิที่
ตกลงใจและนับถือเองแล้ว
คำว่า ก็ถึงการวิวาทในกาลข้างหน้าในโลก อธิบายว่า อนาคต ตรัสเรียกว่า
กาลข้างหน้า เจ้าลัทธินั้นวางวาทะของตนไว้ข้างหน้า ก็ถึง คือ เข้าถึง เข้าไปถึงถือ
ยึดมั่น ถือมั่นการทะเลาะ การบาดหมาง การแก่งแย่ง การวิวาท การมุ่งร้าย
เองทีเดียว รวมความว่า ก็ถึงการวิวาทในกาลข้างหน้าในโลก อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เจ้าลัทธินั้นย่อมก่อการทะเลาะ ก่อการบาดหมาง ก่อการแก่งแย่ง
ก่อการวิวาท ก่อการมุ่งร้ายกับวาทะอื่นข้างหน้าว่า “ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้... หรือ
หากท่านสามารถ ก็จงแก้ไขเถิด” รวมความว่า ก็ถึงการวิวาทในกาลข้างหน้าในโลก
อย่างนี้บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๖๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า ละทิฏฐิที่ตกลงใจทั้งมวลได้ อธิบายว่า ทิฏฐิ ๖๒ ตรัสเรียกว่า
ทิฏฐิที่ตกลงใจ เจ้าลัทธิ ละ คือ สละ สละขาด เว้น ละเว้น บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งทิฏฐิที่ตกลงใจทุกอย่าง จากความตกลงใจด้วยอำนาจทิฏฐิ
รวมความว่า ละทิฏฐิที่ตกลงใจทั้งมวลได้
คำว่า คนที่เกิดมา... ย่อมไม่ก่อการมุ่งร้ายในโลก อธิบายว่า ไม่ก่อการ
ทะเลาะ ไม่ก่อการบาดหมาง ไม่ก่อการแก่งแย่ง ไม่ก่อการวิวาท ไม่ก่อการมุ่งร้าย
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า อัคคิเวสสนะ ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว
อย่างนี้แล ย่อมไม่โต้เถียงกับใคร ไม่วิวาทกับใคร ย่อมชี้แจง ไม่ถือมั่นสิ่งที่กล่าวกัน
ในโลก เรื่องใด ที่พูดกันในโลก เธอก็ไม่ยึดมั่นชี้แจงด้วยเรื่องนั้น๑
คำว่า คนที่เกิดมา ได้แก่สัตว์ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด
สัตว์เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก รวมความว่า คนที่เกิดมา... ย่อมไม่ก่อการมุ่งร้ายในโลก ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เจ้าลัทธินั้นตั้งอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจและนับถือเองแล้ว
ก็ถึงการวิวาทในกาลข้างหน้าในโลก
คนที่เกิดมาละทิฏฐิที่ตกลงใจทั้งมวลได้
ย่อมไม่ก่อการมุ่งร้ายในโลก
จูฬวิยูหสุตตนิทเทสที่ ๑๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ม.ม. ๑๓/๒๐๕/๑๘๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๖๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส๑
อธิบายมหาวิยูหสูตร
ว่าด้วยการวิวาทกันเพราะทิฏฐิสูตรใหญ่
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายมหาวิยูหสูตร ดังต่อไปนี้
[๑๓๐] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งเหล่านี้
ยึดถือทิฏฐิอยู่ พากันกล่าวอ้างว่า นี้เท่านั้นจริง
สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกพวกนั่นแหละจะถูกนินทา
หรือว่า จะได้ความสรรเสริญในเพราะทิฏฐินั้น
คำว่า พวกใดพวกหนึ่ง ในคำว่า สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งเหล่านี้
ยึดถือทิฏฐิอยู่ ได้แก่ ทุกพวกโดยอาการทั้งหมด ทุกพวกไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือ
โดยประการทั้งปวง คำว่า พวกใดพวกหนึ่ง นี้ เป็นคำกล่าวรวมไว้ทั้งหมด
คำว่า ยึดถือทิฏฐิอยู่ อธิบายว่า สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิบางพวก สมณ-
พราหมณ์เหล่านั้น ยึด ยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งบรรดา
ทิฏฐิ ๖๒ แล้ว อยู่ อยู่ร่วม อยู่อาศัย อยู่ครองในทิฏฐิของตน ๆ เหมือนพวก
คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนก็อยู่ในเรือน หมู่ภิกษุผู้มีอาบัติก็อยู่ในอาบัติ หรือพวกปุถุชนผู้มี
กิเลสก็อยู่ในกิเลส ฉันใด สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิบางพวก สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิ
เหล่านั้น ยึด ยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งบรรดาทิฏฐิ๒ ๖๒ แล้ว
อยู่ อยู่ร่วม อยู่อาศัย อยู่ครองในทิฏฐิของตน ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า
สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งเหล่านี้ ยึดถือทิฏฐิอยู่
คำว่า พากันกล่าวอ้างว่า นี้เท่านั้นจริง อธิบายว่า กล่าว คือ พูด บอก แสดง
ชี้แจงว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ”

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๙๐๒-๙๒๑/๕๑๐-๕๑๔
๒ ทิฏฐิ ๖๒ ดูเชิงอรรถข้อ ๑๒/๕๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๖๒ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น