Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ อาราธนาธรรม-โอสารณา

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) หรือ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ออนไลน์

อาราธนาธรรม กล่าวคำเชิญหรือขอร้องพระให้แสดงธรรม (ให้เทศน์) ว่าดังนี้:
พฺรหฺมา จ โลกาธิปตี สหมฺปติ
กตฺอญฺชลี อนฺธิวรํ อยาจถ
สนฺตีธ สตฺตาปฺปรชกฺขชาติกา
เทเสตุ ธมฺมํ อนุกมฺปิมํ ปชํ ฯ

พึงสังเกตว่า กตฺอญฺชลี อนฺธิวรํ คำปกติเป็น กตญฺชลี (กตอญฺชลี) อนธิวรํ
(ในพระไตรปิฎก ๓๓/๑๘๐/๔๐๓ ก็ใช้รูปปกติตามไวยากรณ์อย่างนั้น)
แต่ที่มีรูปแปลกไปอย่างนี้ เนื่องจากท่านทำตามฉันทลักษณ์ ที่บังคับครุ-ลหุ เมื่อจะอ่านหรือนำไปสวดเป็นทำนอง จะได้ไม่ขัด

(หมายเหตุ คำอาราธนาธรรมนี้ ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ฯ และในหนังสือมนต์พิธี ของพระครูอรุณธรรมรังษี [เอี่ยม สิริวณฺโณ] มีข้อความตรงกัน เพียงแต่พจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ ใช้เป็นภาษาบาลีอักษรไทย ในขณะที่หนังสือมนต์พิธีเป็นคำอ่านภาษาบาลีแต่เขียนแบบภาษาไทย ดังนี้
พรัหมา จะ โลกาธิปะตี สะหัมปะติ
กัตอัญชะลี อันธิวะรัง อะยาจะถะ
สันตีธะ สัตตาปปะระชักขะชาติกา
เทเสตุ ธัมมัง อะนุกัมปิมัง ปะชัง


แต่ในพระไตรปิฎก 3 ฉบับ มีบางคำที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. พระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย ฉบับสยามรัฐ
ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๓๓/๔๐๓/๑, ปาฬิ (สยามรัฐ)
พฺรหฺมา จ โลกาธิปตี สหมฺปติ
กตญฺชลี อนธิวรํ อยาจถ
สนฺตีธ สตฺตา อปฺปรชกฺขชาติกา
เทเสหิ ธมฺมํ อนุกมฺปิมํ ปชนฺติ

2. พระไตรปิฏก ฉบับฉัฏฐสังคายนา (ของประเทศพม่า/เมียนม่า)
ซึ่งทำขึ้นเนื่องในโอกาสฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
Mahāsaṅgīti Tipiṭaka Buddhavasse 2500 :
Based on the digital edition of the Chaṭṭha Saṅgāyana,
published by the Vipassana Research Institute,
with corrections and proofreading by the Dhamma Society.

Ratana­caṅka­ma­na­kaṇḍa
Namo tassa Bhagavato Arahato Sammā­sambud­dhassa.
Brahmā ca lokādhipatī sahampatī,
Katañjalī anadhivaraṃ ayācatha;
“Santīdha sattāp­pa­rajak­kha­jātikā,
Desehi dhammaṃ anukampimaṃ pajaṃ”.

ที่มา : suttacentral.net

3. พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับศรีลังกา
electronic version by : Sri Lanka Tipitaka Project SLTP
รายละเอียดโครงการ : Pali/SLTP
Suttantapiṭake khuddakanikāye
Buddhavaṃsapāḷi

Namo tassa bhagavato arahato sammāsambuddhassa
Ratanacaṅkamanakaṇḍo
Brahmā ca lokādhipatī sahampati
Katañjalī anadhivaraṃ ayāvatha
Santīdha sattā apparajakkhajātikā
Desehi dhammaṃ anukampimaṃ pajaṃ.

ที่มา : Pali/Bv

สรุป : พระไตรปิฎกทั้ง 3 ฉบับ ล้วนมีจุดที่แตกต่างกัน

ขอขอบคุณคำแนะนำจาก : ChYasiri Bhikku

ธัมมโชติ)

อาราธนาพระปริตรกล่าวคำเชิญหรือขอร้องให้พระสวดพระปริตร ว่าดังนี้:
วิปตฺติปฏิพาหาย
สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา
สพฺพทุกฺข วินาสาย
ปริตฺตํ พฺรูถ มงฺคลํ
(ว่า ๓ ครั้ง แต่ครั้งที่ ๒ เปลี่ยน ทุกฺข เป็น ภย; ครั้งที่ ๓ เปลี่ยนเป็น โรค)

อาราธนาศีล กล่าวคำเชิญหรือขอร้องพระให้ให้ศีล, สำหรับศีล ๕ ว่าดังนี้: มยํ ภนฺเต, (วิสุง วิสุง รกฺขณตฺถาย), ติสรเณน สห, ปญฺจ สีลานิ ยาจาม; ทุติยมฺปี มยํ....., ตติยมฺปิ มยํ...... (คำในวงเล็บจะไม่ใช้ก็ได้) คำอาราธนาศีล ๘ ก็เหมือนกันเปลี่ยนแต่ ปญฺจ เป็น อฏฺฐ

อาราธนาศีลอุโบสถ กล่าวคำเชิญพระให้ให้อุโบสถศีล ว่าพร้อมกันทุกคนดังนี้ : มยํ ภนฺเต, ติสรเณน สห, อฏฺฐงฺคสม นฺนาคตํ, อุโบสถํ ยาจาม (ว่า ๓ จบ)

อาราม วัด, ที่เป็นที่มายินดี, สวนเป็นที่รื่นรมย์, ความยินดี, ความรื่นรมย์, ความเพลิดเพลิน; ในทางพระวินัยเกี่ยวกับของสงฆ์ หมายถึง ของปลูกสร้างในอารามตลอดจนต้นไม้

อารามวัตถุ ที่ดินวัด, ที่ดินพื้นวัด

อารามิก คนทำงานวัด, คนวัด

อารามิกเปสกะ ภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือ แต่งตั้งจากสงฆ์ให้มีหน้าที่เป็นผู้ใช้คนทำงานวัด

อาลกมันทา ราชธานีซึ่งเป็นทิพยนครของพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา

อาลปนะ คำร้องเรียก

อาลยสมุคฺฆาโต ความถอนขึ้นด้วยดีซึ่งอาลัย, การถอนอาลัยคือตัณหาได้เด็ดขาด (เป็นไวพจน์แห่งวิราคะ)

อาลัย 1. ที่อยู่, ที่อาศัย, แหล่ง 2. ความมีใจผูกพัน, ความเยื่อใย, ความติดใจปรารถนา, ความพัวพัน มักหมายถึงตัณหา; ในภาษาไทยใช้ว่าห่วงใย หวนคิดถึง

อาโลก แสงสว่าง

อาโลกกสิณ กสิณคือแสดงสว่าง, การเจริญสมถกรรมฐานตั้งใจเพ่งแสงสว่างเป็นอารมณ์ (ข้อ ๙ ในกสิณ ๑๐)

อาโลกเลณสถาน ชื่อถ้ำแห่งหนึ่งในมลัยชนบท เกาะลังกา เป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๕ จารึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน

อาโลกสัญญา ความสำคัญในแสงสว่าง, กำหนดหมายแสงสว่างคือ ตั้งความกำหนดหมายว่ากลางวันไว้ในใจ ให้เหมือนกันทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน เป็นวิธีแก้ง่วงอย่างหนึ่ง

อาวรณ์ เครื่องกั้น, เครื่องกำบัง; ไทยมักใช้ในความหมายว่า ห่วงใย, อาลัย, คิดกังวลถึง

อาวัชนาการ ความรำพึง, การรำลึก, นึกถึง

อาวาส ที่อยู่,โดยปรกติหมายถึงที่อยู่ของพระสงฆ์ คือ วัด

อาวาสปลิโพธ ความกังวลในอาวาส คือภิกษุยังอยู่ในอาวาสนั้น หรือหลีกไปแต่ยังผูกใจอยู่ว่าจะกลับมา (เป็นเหตุ อย่างหนึ่งที่ทำให้กฐินยังไม่เดาะ); ในการเจริญกรรมฐาน หมายถึงความห่วงใยกังวลเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เช่นห่วงงานก่อสร้างในวัด มีสิ่งของที่สะสมเอาไว้มาก เป็นต้น เมื่อจะเจริญกรรมฐานพึงตัดปลิโพธนี้ให้ได้ ดู ปลิโพธ

อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่ ได้แก่หวงแหน ไม่พอใจให้ใครๆ เข้ามาอยู่แทรกแซง หรือกีดกันผู้อื่นที่มิใช่พวกของตนไม่ให้เข้าอยู่ (ข้อ ๑ ในมัจฉริยะ ๕)

อาวาหะ การแต่งงาน, การสมรส, การพาหญิงมาบ้านตัว

อาวาหวิวาหมังคลาภิเษก พิธีรดน้ำอันเป็นมงคลในการแต่งงาน, พิธีรดน้ำในงานมงคลสมรส

อาวุโส “ผู้มีอายุ” เป็นคำเรียก หรือทักทาย ที่ภิกษุผู้แก่พรรษาใช้ร้องเรียกภิกษุผู้อ่อนพรรษากว่า (ภิกษุผู้ใหญ่ร้องเรียกภิกษุผู้น้อย) หรือภิกษุร้องเรียกคฤหัสถ์ คู่กับคำ ภนฺเต ซึ่งภิกษุผู้อ่อนกว่าใช้ร้องเรียกภิกษุผู้แก่กว่า หรือคฤหัสถ์ร้องเรียกภิกษุ; ในภาษาไทย มักใช้เพี้ยนไปในทางตรงกันข้าม หมายถึง เก่ากว่า หรือแก่กว่าในวงงาน กิจการ หรือความเป็นสมาชิก

อาศรม ที่อยู่ของนักพรต; ตามลัทธิของพราหมณ์ ในยุคที่กลายเป็นฮินดูแล้วได้วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของชาวฮินดูวรรณะสูง โดยเฉพาะวรรณะพราหมณ์ โดยแบ่งเป็นขั้นหรือช่วงระยะ ๔ ขั้น หรือ ๔ ช่วง เรียกว่า อาศรม ๔ กำหนดว่าชาวฮินดูวรรณะพราหมณ์ทุกคนจะต้องครองชีวิตให้ครบทั้ง ๔ อาศรมตามลำดับ (แต่ในทางปฏิบัติน้อยคนนักได้ปฏิบัติเช่นนั้น โดยเฉพาะปัจจุบันไม่ได้ถือกันแล้ว) คือ ๑. พรหมจารี เป็นนักเรียนศึกษาพระเวท ถือพรหมจรรย์ ๒. คฤหัสถ์ เป็นผู้ครองเรือน มีภรรยาและมีบุตร ๓. วานปรัสถ์ ออกอยู่ป่าเมื่อเห็นบุตรของบุตร ๔. สันยาสี (เขียนเต็มเป็นสันนยาสี) เป็นผู้สละโลก มีผ้านุ่งผืนเดียว ถือภาชนะขออาหารและหม้อน้ำเป็นสมบัติ จาริกภิกขาจารเรื่อยไปไม่ยุ่งเกี่ยวกับชาวโลก (ปราชญ์บางท่านว่าพราหมณ์ได้ความคิดจากพระพุทธศาสนาไปปรับปรุงจัดวางระบบของตนขึ้น เช่น สันยาสี ตรงกับภิกษุ แต่หาเหมือนกันจริงไม่)

อาสนะ ที่นั่ง, หรือที่สำหรับนั่ง

อาสภิวาจา วาจาแสดงความเป็นผู้องอาจ, วาจาองอาจ คือคำประกาศพระองค์ว่าเป็นเอกในโลก ตามเรื่องว่าพระมหาบุรุษเมื่อประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา ย่างพระบาทไป ๗ ก้าวแล้วหยุดยืนตรัสอาสภิวาจาว่า “อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส” ดังนี้เป็นต้น แปลว่า เราเป็นอัครบุคคลของโลก ฯลฯ

อาสวะ กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ไหลซึมซ่านไปย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์ต่าง ๆ มี ๓ อย่าง คือ ๑. กามาสวะ อาสวะคือกาม ๒. ภวาสวะ อาสวะคือภพ ๓. อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา; อีกหมวดหนึ่งมี ๔ คือ ๑. กามาสวะ ๒. ภวาสวะ ๓. ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิ ๔. อวิชชาสวะ; ในทางพระวินัยและความหมายสามัญหมายถึงเมรัย เช่น ปุปฺผาสโว น้ำดองดอกไม้, ผลาสโว น้ำดองผลไม้

อาสวักขยญาณ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ, ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย, ความตรัสรู้ (เป็นความรู้ที่พระพุทธเจ้าได้ในยามสุดท้ายแห่งราตรี วันตรัสรู้) (ข้อ ๓ ในวิชชา ๓, ข้อ ๖ ในอภิญญา ๖, ข้อ ๘ ในวิชชา ๘, ข้อ ๑๐ ในทศพลญาณ)

อาสัญ ไม่มีสัญญา, หมดสัญญา; เป็นคำใช้ในภาษาไทย หมายความว่า ความตาย, ตาย

อาสัตย์ ไม่มีสัตย์, ไม่ซื่อตรง, กลับกลอก

อาสันทิ ม้านั่งสี่เหลี่ยมจัตุรัส นั่งได้คนเดียว (ศัพท์เดิมเรียก อาสันทิก, ส่วนอาสันทิเป็นเตียงหรือเก้าอี้นอน)

อาสันนกรรม กรรมจวนเจียน, กรรมใกล้ตาย หมายถึงกรรมที่เป็นกุศลก็ดี อกุศลก็ดี ที่ทำเมื่อจวนตายยังจับใจอยู่ใหม่ๆ ถ้าไม่มีครุกกรรม และพหุลกรรม ย่อมให้ผลก่อนกรรมอื่นๆ เหมือนโคที่ยัดเยียดกันอยู่ในคอกเมื่อคนเลี้ยงเปิดคอกออก ตัวใดอยู่ใกล้ประตู ตัวนั้นย่อมออกก่อน แม้จะเป็นโคแก่ (ข้อ ๑๑ ในกรรม ๑๒)

อาสา ความหวัง, ความต้องการ; ไทยว่า รับทำโดยเต็มใจ, สมัคร, แสดงตัวขอรับทำการนั้นๆ

อาสาฬหะ เดือน ๘ ทางจันทรคติ

อาสาฬหบูชา การบูชาในเดือน ๘ หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๘ เพื่อรำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย เป็นการพิเศษ เนื่องในวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ทำให้เกิดมีปฐมสาวก คือพระอัญญาโกณฑัญญะ และเกิดสังฆรัตนะคำรบครบพระรัตนตรัย

อาสาฬหปุรณมี วันเพ็ญเดือน ๘, วันกลางเดือน ๘, วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘

อาสาฬหมาส ดู อาสาฬหะ

อาหัจจบาท เตียงที่เขาทำเอาเท้าเสียบเข้าไปในแม่แคร่ ไม่ได้ตรึงสลัก

อาหาร ปัจจัยอันนำมาซึ่งผล, เครื่องค้ำจุนชีวิต, เครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตมี ๔ คือ ๑. กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว ๒. ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ ๓. มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือมโนสัญเจตนา ๔. วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ

อาหารปริเยฏฐิทุกข์ ทุกข์เกี่ยวกับการแสวงอาหาร, ทุกข์ในการหากินได้แก่ อาชีวทุกข์ คือ ทุกข์เนื่องด้วยการเลี้ยงชีวิต

อาหาเรปฏิกูลสัญญา กำหนดหมายความเป็นปฏิกูลในอาหาร, ความสำคัญหมายในอาหารว่าเป็นของปฏิกูล พิจารณาให้เห็นว่าเป็นของน่าเกลียดโดยอาการต่างๆ เช่น ปฏิกูล โดยบริโภค, โดยประเทศที่อยู่ของอาหาร, โดยสั่งสมอยู่นาน เป็นต้น (ข้อ ๓๕ ในกรรมฐาน ๔๐)

อาหุดี การเซ่นสรวง

อาหุเนยฺโย พระสงฆ์เป็นผู้ควรได้ของคำนับ คือ เครื่องสักการะที่เขานำมาถวายในโอกาสต่างๆ (ข้อ ๕ ในสังฆคุณ ๙)

อาฬกะ ชื่อแคว้นหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ลุ่มน้ำโคธาวรี ตรงข้ามกับแคว้นอัสสกะ

อาฬารดาบส อาจารย์ผู้สอนสมาบัติที่พระมหาบุรุษเสด็จไปศึกษาอยู่ด้วยคราวหนึ่ง ก่อนที่จะทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา, ท่านผู้นี้ได้สมาบัติถึงชั้นอากิญจัญญายตนฌาน, เรียกเต็มว่าอาฬารดาบส กาลามโคตร

อำมาตย์ ดู อมาตย์

อิจฉา ความปรารถนา, ความอยากได้; ไทยมักใช้ในความหมายว่าริษยา

อิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าปรารถนา, สิ่งที่คนอยากได้อยากพบ แสดงในแง่ กามคุณ ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ น่าชอบใจ แสดงในแง่โลกธรรม ได้แก่ ลาภยศ สรรเสริญ และความสุข เทียบ อนิฏฐารมณ์

อิตถีภาวะ ความเป็นหญิง, สภาวะที่ทำให้ปรากฏลักษณะอาการต่างๆ อันแสดงถึงความเป็นเพศหญิง เป็นภาวรูปอย่างหนึ่ง คู่กับ ปุริสภาวะ ดู อุปาทายรูป

อิทธาภิสังขาร การปรุงแต่งฤทธิ์ขึ้นทันใด, การบันดาลด้วยฤทธิ์

อิทธิ ความสำเร็จ, ความรุ่งเรืองงอกงาม, อำนาจที่จะทำอะไรได้อย่างวิเศษ; อิทธิ ๒ ดู ฤทธิ์ ๒

อิทธิบาท คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ, คุณเครื่องสำเร็จสมประสงค์, ทางแห่งความสำเร็จมี ๔ คือ ๑. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น ๒. วิริยะ ความพยายามทำสิ่งนั้น ๓. จิตตะ ความเอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น ๔. วิมังสา ความพิจารณาใคร่ครวญหาเหตุผลในสิ่งนั้น, จำง่าย ๆ ว่า มีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวน

อิทธิบาทภาวนา การเจริญอิทธิบาท, การฝึกฝนปฏิบัติให้อิทธิบาทเกิดมีขึ้น

อิทธิปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือฤทธิ์, แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ เช่น ล่องหน ดำดิน เหาะได้ เป็นต้น (ข้อ ๑ ในปาฏิหาริย์ ๓)

อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ เช่น นิรมิตกายคนเดียวเป็นหลายคน หลายคนเป็นคนเดียว ล่องหน ดำดิน เดินน้ำ เป็นต้น (ข้อ ๑ ในอภิญญา ๖, ข้อ ๓ ในวิชชา ๘)

อิทัปปัจจยตา “ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย”, ความเป็นไปตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย, กระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัย, กฎที่ว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี, เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น; เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี, เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ”, เป็นอีกชื่อหนึ่งของหลัก ปฏิจจสมุปบาท หรือ ปัจจยาการ

อินเดีย ชื่อประเทศ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย ถัดจากประเทศพม่าออกไป มีเมืองหลวงชื่อนิวเดลี (New Delhi) อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๓,๑๐๐ กิโลเมตร อินเดียมีเนื้อที่ทั้งหมด ๓,๒๘๗,๕๙๐ ตาราง กิโลเมตร มีพลเมืองใน พ.ศ. ๒๕๒๔ ประมาณ ๖๘๓ ล้านคน ครั้งโบราณเรียกชมพูทวีป เป็นประเทศที่เกิดพระพุทธศาสนา พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๒,๐๐๐ กิโลเมตร

อินทปัตถ์ ชื่อนครหลวงของแคว้นกุรุ แคว้นกุรุอยู่ ณ บริเวณลุ่มน้ำยมุนาตอนบน ราวมณฑลปัญจาบลงมา เมืองอินทปัตถ์อยู่ ณ บริเวณเมืองเดลี นครหลวงของอินเดียปัจจุบัน

อินทร์ ผู้เป็นใหญ่,ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และจาตุมหาราช; ในบาลี นิยมเรียกว่า ท้าวสักกะ; ดู วัตรบท ๗

อินทริยปโรปริยัตตญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความหย่อนและยิ่งแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย คือรู้ว่า สัตว์พวกไหนมีอินทรีย์ คือสัทธาเป็นต้นอ่อน พวกไหนมีอินทรีย์แก่กล้า พวกไหนมีจริตมีอัธยาศัย เป็นต้น อย่างไรๆ พวกไหนสอนยาก พวกไหนสอนง่าย ดังนี้เป็นต้น (ข้อ ๖ ในทศพลญาณ)

อินทรีย์ ความเป็นใหญ่, สภาพที่เป็นใหญ่ในกิจของตน, ธรรมที่เป็นเจ้าการในการทำหน้าที่อย่างหนึ่ง ๆ เช่น ตาเป็นใหญ่หรือเป็นเจ้าในการเห็น หูเป็นใหญ่ในการได้ยิน ศรัทธาเป็นเจ้าการในการครอบงำเสียซึ่งความไร้ศรัทธาเป็นต้น 1. อินทรีย์ ๖ ได้แก่ อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 2. อินทรีย์ ๕ ตรงกับ พละ ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ธรรม ๕ อย่างชุดเดียวกันนี้ เรียกชื่อต่างกันไป ๒ อย่าง ตามหน้าที่ที่ทำ คือ เรียกชื่อว่า พละ โดยความหมายว่า เป็นกำลังทำให้เกิดความเข้มแข็งมั่นคง ซึ่งธรรมที่ตรงข้ามแต่ละอย่างจะเข้าครอบงำไม่ได้เรียกชื่อว่า อินทรีย์ โดยความหมายว่าเป็นเจ้าการในการครอบงำเสียซึ่งธรรมที่ตรงข้ามแต่ละอย่างคือความไร้ศรัทธา ความเกียจคร้าน ความประมาท ความฟุ้งซ่าน และความหลงงมงาย ตามลำดับ

อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ, ระวังไม่ให้กิเลสครอบงำใจในเวลารับรู้อารมณ์ทางอินทรีย์ทั้ง ๖ (ข้อ ๑ ใน อปัณณกปฏิปทา ๓, ข้อ ๒ ในปาริสุทธิศีล ๔, ข้อ ๒ ในองค์แห่งภิกษุใหม่ ๕

อิริยาบถ การเคลื่อนไหวของร่างกาย, อิริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน

อิรุพเพท คำบาลีคัมภีร์หนึ่งในไตรเภท ตรงกับที่เรียกอย่างสันสกฤตว่า ฤคเวท, ดู ไตรเพท

อิศวร พระเป็นเจ้าของศาสนาพราหมณ์ ตามปกติหมายถึงพระศิวะ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการทำลาย

อิสระ ผู้เป็นใหญ่, เป็นใหญ่, เป็นใหญ่ในตัวเอง, เป็นไทแก่ตัว ไม่ขึ้นแก่ใคร

อิสรภาพ ความเป็นอิสระ

อิสราธิบดี ผู้เป็นเจ้าใหญ่เหนือกว่าผู้เป็นใหญ่ทั่วไป, ราชา, พระเจ้าแผ่นดิน

อิสริยยศ ยศคือความเป็นใหญ่, คู่กับเกียรติยศ (ยศ คือ เกียรติ หรือ กิตติคุณ)

อิสสา ความริษยา, ความรู้สึกไม่พอใจเมื่อเห็นเขาได้ดี, เห็นเขาได้ดีทนอยู่ไม่ได้, ไม่อยากให้ใครดีกว่าตน, ความคิด ตัดรอนผู้ที่ดีกว่าตน, ความหึงหวง (ข้อ ๓ ในมละ ๙, ข้อ ๗ ในอุปกิเลส ๑๖)

อิสิ, อิสี ผู้แสวงหาคุณความดี, ผู้ถือบวช, ฤษี

อิสิคิลิบรรพต ภูเขาชื่ออิสิคิลิ เป็นภูเขาลูกหนึ่งในห้าลูก ที่เรียกเบญจคีรี ล้อมรอบพระนครราชคฤห์

อิสิปตนมฤคทายวัน ป่าเป็นที่ให้อภัยแก่เนื้อ ชื่อ อิสิปตนะ อยู่ใกล้เมืองพาราณสี เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปวัตตนสูตร โปรดพระปัญจวัคคีย์ บัดนี้ เรียก สารนาถ

อุกกลชนบท ชื่อชนบทที่พ่อค้า ๒ คน คือตปุสสะ กับ ภัลลิกะ เดินทางจากมาแล้ว ได้พบพระพุทธเจ้าขณะที่ประทับอยู่ภายใต้ต้นราชายตนะ ภายหลังตรัสรู้ใหม่ๆ

อุกโกฏนะ การรื้อฟื้น, การฟื้นเรื่อง, ฟื้นคดี

อุกฺขิตฺตโก ผู้อันสงฆ์ยกแล้ว หมายถึงภิกษุผู้ถูกสงฆ์ทำอุกเขปนียกรรมตัดสิทธิแห่งภิกษุชั่วคราว (จนกว่าสงฆ์จะยอมระงับกรรมนั้น)

อุกเขปนียกรรม กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงยกเสีย หมายถึงวิธีการลงโทษที่สงฆ์กระทำแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่ยอมรับว่าเป็นอาบัติหรือไม่ยอมทำคืนอาบัติ หรือมีความเห็นชั่วร้าย (ทิฏฐิบาป) ไม่ยอมสละซึ่งเป็นทางเสียสีลสามัญญตา หรือทิฏฐิสามัญญตา โดยยกเธอเสียจากการสมโภคกับสงฆ์ คือ ไม่ให้ฉันร่วม ไม่ให้อยู่ร่วม ไม่ให้มีสิทธิเสมอกับภิกษุทั้งหลาย พูดง่าย ๆ ว่า ถูกตัดสิทธิแห่งภิกษุชั่วคราว

อุคคหนิมิต นิมิตติดตา หมายถึงนิมิต (อารมณ์กรรมฐาน) ที่นึกกำหนดจนแม่นใจ หรือที่เพ่งดู จนติดตาติดใจ แม้หลับตาก็เห็น (ข้อ ๒ ในนิมิต ๓)

อุคฆฏิตัญญู ผู้อาจรู้ได้ฉับพลัน แต่พอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง คือ มีปัญญาเฉียบแหลม พูดให้ฟังเพียงหัวข้อก็เข้าใจ (ข้อ ๑ ในบุคคล ๔)

อุจจารธาตุ ในคำว่าโรคอุจจารธาตุ หมายถึงโรคท้องเสีย ท้องเดิน หรือท้องร่วง

อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ เช่นเห็นว่าคนและสัตว์จุติจากอัตภาพนี้แล้วขาดสูญ (ข้อ ๒ ในทิฏฐิ ๒)

อุชเชนี ชื่อนครหลวงของแคว้นอวันตี บัดนี้เรียกว่า อุชเชน ดู อวันตี

อุชุปฏิปนฺโน พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติตรง คือไม่ลวงโลก ไม่มีมายาสาไถย ไม่อำพราง หรือดำเนินทางตรง คือ มัชฌิมาปฏิปทา (ข้อ ๒ ในสังฆคุณ ๙)

อุฏฐานสัญญามนสิการ ทำในพระทัยถึงความสำคัญในอันที่จะลุกขึ้น, ตั้งใจว่าจะลุกขึ้นอีก

อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ ขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพที่สุจริต ในการศึกษาเล่าเรียน และในการทำธุระหน้าที่การงาน รู้จักใช้ปัญญาสอดส่อง หาวิธีจัดการดำเนินการให้ได้ผลดี (ข้อ ๑ ในทิฏฐธัมมิกัตถฯ)

อุณหะ ร้อน, อุ่น

อุณหิส กรอบหน้า, มงกุฎ

อุดรทวาร ประตูด้านเหนือ

อุดรทิศ ทิศเบื้องซ้าย, ทิศเหนือ ดู อุตตรทิส

อุตกฤษฎ์ อย่างสูง, สูงสุด (พจนานุกรม เขียน อุกฤษฏ์)

อุตตระ ดูที่ โสณะ

อุตตรทิส ทิศเบื้องซ้าย หมายถึงมิตร; ดู ทิศหก

อุตตรนิกาย ดู อุตรนิกาย

อุตตรนิคม ชื่อนิคมหนึ่งในโกลิยชนบท

อุตตราวัฏฏ์ เวียนซ้าย, เวียนรอบโดยหันข้างซ้ายให้ คือ เวียนเลี้ยวทางซ้ายย้อนเข็มนาฬิกา (พจนานุกรมเขียน อุตราวัฏฏ์)

อุตตราสงค์ ผ้าห่ม, เป็นผ้าผืนหนึ่งในจำนวน ๓ ผืน ของไตรจีวร ได้แก่ ผืนที่เรียกกันสามัญว่า จีวร (พจนานุกรมเขียน อุตราสงค์)

อุตตริมนุสสธรรม ธรรมยวดยิ่งของมนุษย์, ธรรมของมนุษย์ผู้ยอดยิ่ง, ธรรมล้ำมนุษย์ ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ มรรคผล, บางทีเรียกให้ง่ายว่า ธรรมวิเศษ บ้าง คุณวิเศษ หรือ คุณพิเศษ บ้าง (พจนานุกรม เขียน อุตริมนุสธรรม)

อุตรนิกาย นิกายฝ่ายเหนือ หมายถึงพระพุทธศาสนาอย่างที่นับถือกันแพร่หลายในประเทศฝ่ายเหนือ มี จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น ที่เรียกตัวเองว่า มหายานใช้ภาษาสันสกฤต

อุตสาหะ ความบากบั่น, ความพยายาม, ความขยัน, ความอดทน

อุตุกาล ชั่วฤดูกาล, ชั่วคราว

อุตุปริณามชา อาพาธา ความเจ็บไข้เกิดแต่ฤดูแปรปรวน, เจ็บป่วยเพราะดินฟ้าอากาศผันแปร

อุทก น้ำ

อุทกสาฏิกา ผ้าอาบ, เป็นจีวรอย่างหนึ่งในจีวร ๕ อย่างของภิกษุณี ดู สังกัจฉิกะ ด้วย

อุทกุกเขป เขตสามัคคีชั่ววักน้ำสาดแห่งคนมีอายุและกำลังปานกลาง หมายถึง เขตชุมนุมทำสังฆกรรมที่กำหนดลงในแม่น้ำ หรือ ทะเล ชาตสระ (ที่ขังน้ำเกิดเองตามธรรมชาติ เช่น บึงหนอง ทะเลสาป) โดยพระภิกษุประชุมกันบนเรือ หรือบนแพ ซึ่งผูกกับหลักในน้ำ หรือทอดสมออยู่ห่างจากตลิ่งกว่าชั่ววิดน้ำสาด (ห้ามผูกโยงเรือหรือแพนั้น กับหลัก หรือต้นไม้บนตลิ่ง และห้ามทำในเรือหรือแพที่กำลังลอยหรือเดิน); อุทกุกเขปนี้จัดเป็น อพัทธสีมาอย่างหนึ่ง

อุททกดาบส อาจารย์ผู้สอนสมาบัติที่พระมหาบุรุษเสด็จไปศึกษาอยู่ด้วยคราวหนึ่ง ก่อนที่จะทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา, ท่านผู้นี้ได้สมาบัติ ถึงขั้นเนวสัญญานาสัญญยตนะ; เรียกเต็มว่า อุททกดาบส รามบุตร

อุทเทศาจารย์ อาจารย์ผู้บอกธรรม, อาจารย์สอนธรรม (ข้อ ๔ ในอาจารย์ ๔); คู่กับ ธรรมมันเตวาสิก

อุทเทส ดู อุเทศ

อุทเทสภัต อาหารอุทิศสงฆ์หรือภัตที่ทายกถวายตามที่สงฆ์แสดงให้ หมายถึงของที่เขาถวายสงฆ์แต่ไม่พอแจกทั่วกัน ท่านให้แจกไปตามลำดับ เริ่มตั้งแต่พระสังฆเถระลงมา ของหมดแค่ลำดับไหน กำหนดไว้ เมื่อของมีมาอีกจึงแจกต่อไปตั้งแต่ลำดับที่ค้างอยู่ อย่างนี้เรื่อยไปจนทั่วกัน แล้วจึงเวียนขึ้นต้นใหม่อีก เทียบ สังฆภัต

อุทเทสวิภังคสูตร ชื่อสูตรที่ ๓๘ แห่งมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฎก พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องวิญญาณไว้โดยย่อ ภิกษุทั้งหลายอยากฟังโดยพิสดาร จึงขอให้พระมหากัจจายนะอธิบายความ พระมหากัจจายนะแสดงได้เนื้อความถูกต้องชัดเจนดีมาก จนได้รับคำยกย่องชมเชยจากพระพุทธเจ้า

อุทเทสิกเจดีย์ เจดีย์สร้างอุทิศพระพุทธเจ้า, เจดีย์ที่สร้างเป็นเครื่องเตือนจิตให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ได้แก่พระพุทธรูป (ข้อ ๔ ในเจดีย์ ๔)

อุทธรณ์ การยกขึ้น, การรื้อฟื้น, การขอร้องให้รื้อฟื้นขึ้น, ขอให้พิจารณาใหม่

อุทธโลมิ เครื่องลาดที่มีขนตั้ง

อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี พระอนาคามีผู้จะปรินิพพาน ต่อเมื่อเลื่อนขึ้นไปเกิดในชั้นสูงขึ้นไปจนถึงชั้นอกนิฏฐะ (ข้อ ๕ ในอนาคามี ๕)

อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน, จิตส่าย, ใจวอกแวก (พจนานุกรมเขียน อุทธัจ)

อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและรำคาญ, ความฟุ้งซ่านและความเดือดร้อนใจ (ข้อ ๔ ในนิวรณ์ ๕)

อุทธัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องสูงได้แก่ กิเลสผู้ใจสัตว์อย่างละเอียด มี ๕ คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา พระอรหันต์จึงละได้; ดู สังโยชน์

อุทยมาณพ ศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คนของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์

อุทยัพพยญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความเกิดและความดับแห่งสังขาร; ดู อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ

อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นความเกิดและความดับแห่งสังขาร, ญาณที่มองเห็นนามรูปเกิดดับ (ข้อ ๑ ในวิปัสสนาญาณ ๙)

อุทยาน สวน

อุทร ท้อง

อุทริยะ อาหารใหม่, อาหารที่รับประทานเข้าไปแล้วอยู่ในท้อง ในลำไส้กำลังผ่านกระบวนการย่อย แต่ยังไม่กลายเป็นอุจจาระ

อุทัย การขึ้น, การโผล่ขึ้น, พระอาทิตย์แรกขึ้น

อุทาน วาจาที่เปล่งขึ้นโดยความเบิกบานใจ มักเป็นข้อความยาว ๑ หรือ ๒ คาถา; ในภาษาไทย หมายถึงเสียงหรือคำที่เปล่งออกมาเวลาดีใจ หรือตกใจ

อุทาหรณ์ ตัวอย่าง, การอ้างอิง, การยกขึ้นให้เห็น

อุทิศ เฉพาะ, เจาะจง, เพ่งเล็งถึง, ทำเพื่อ; แผ่ส่วนบุญให้แก่ผู้ตายตามประเพณี

อุทิสสมังสะ เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่าเจาะจงเพื่อถวายภิกษุ ท่านมิให้ภิกษุฉัน, หากภิกษุฉันทั้งได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อถวายตน ต้องอาบัติทุกกฎ

อุเทน พระเจ้าแผ่นดินแคว้นวังสะ ครั้งพุทธกาล ครองราชสมบัติอยู่ที่กรุงโกสัมพี

อุเทนเจดีย์ เจดียสถานแห่งหนึ่ง อยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเวสาลี นครหลวงของแคว้นวัชชี เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเคยทรงทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์

อุเทศ การยกขึ้นแสดง, การยกขึ้นชี้แจง, ข้อที่ยกขึ้นแสดง, หัวข้อ, การเรียนการสอน, การสวดปาฏิโมกข์, ปาฏิโมกข์ที่ยกขึ้นสวด, หมวดหนึ่งๆ แห่งปาฏิโมกข์ที่จัดไว้สำหรับสวด, ในคำว่า สงฆ์มีอุเทศเดียวกัน หมายความว่าร่วมฟังสวดปาฏิโมกข์ด้วยกัน; อุเทศในปาฏิโมกข์จัดโดยย่อมี ๕ คือ ๑. นิทานุทเทส ๒. ปาราชิกุทเทส ๓. สังฆาทิเสสุทเทส ๔. อนิยตุทเทส ๕. วิตถารุทเทส, อุทเทสที่ ๕ นั้น รวมเอา นิสสัคคิยุทเทส ปาจิตติยุทเทส ปาฏิเสนียุทเทส เสขิยุทเทส และสมถุทเทส เข้าไว้ด้วยกัน ถ้าแยกออกนับโดยพิสดารก็จะเป็น ๙ อุทเทส การรู้จักอุเทศหรืออุเทสเหล่านี้เป็นประโยชน์สำหรับการตัดตอนสวดปาฏิโมกข์ย่อได้ในคราวจกเป็น ดู ปาฏิโมกข์ย่อ

อุบล บัว, ดอกบัว

อุบลวรรณา พระมหาสาวิกาองค์หนึ่งเป็นธิดาเศรษฐีในพระนครสาวัตถี ได้ชื่อว่าอุบลวรรณาเพราะมีผิวพรรณดังดอกนิลุบล (อุบลเขียว) มีความงามมาก จึงเป็นที่ปรารถนาของพระราชาในชมพูทวีป หลายพระองค์ต่างส่งคนมาติดต่อ ท่านเศรษฐีเกิดความลำบากใจ จึงคิดจะให้ธิดาบวชพอเป็นอุบายแต่นางเองพอใจในบรรพชาอยู่แล้วจึงบวชเป็นภิกษุณี ด้วยศรัทธาอย่างจริงจัง คราวหนึ่งอยู่เวรจุดประทีปในพระอุโบสถ นางเพ่งดูเปลวประทีปถือเอาเป็นนิมิตเจริญฌานมีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางแสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ และเป็นอัครสาวิกา ฝ่ายซ้าย

อุบัติ เกิดขึ้น, กำเนิด, เหตุให้เกิด

อุบาย วิธีสำหรับประกอบ, หนทาง, วิธีการ, กลวิธี, ไทยใช้หมายถึง เล่ห์เหลี่ยมด้วย

อุบาลี พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เดิมเป็นกัลบกของเจ้าศากยะ ได้ออกบวชที่อนุปิยอัมพวัน พร้อมกับพระอานนท์และพระอนุรุทธะ เป็นต้น มีอุปัชฌาย์ชื่อพระกัปปิตก ครั้นบวชแล้ว เรียนกรรมฐาน จะไปอยู่ป่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต ท่านเล่าเรียนและเจริญวิปัสสนาไม่ช้าก็สำเร็จพระอรหัตเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจเชี่ยวชาญในพระวินัยมาก จนพระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้ทรงพระวินัย (วินัยธร) พระอุบาลี เป็นกำลังสำคัญ ในคราวทำปฐมสังคายนา คือ เป็นผู้วิสัชนาพระวินัย

อุบาสก ชายผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย, คนใกล้ชิดพระศาสนา, คฤหัสถ์ผู้ชายที่แสดงตนเป็นคนนับถือพระพุทธศาสนา โดยประกาศถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ปฐมอุบาสกผู้ถึงสรณะ ๒ ได้แก่ตปุสสะและภัลลิกะ ปฐมอุบาสกผู้ถึงไตรสรณะ คือบิดาของพระยสะ

อุบาสกธรรม ดู สมบัติของอุบาสก

อุบาสิกา หญิงผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย, คนใกล้ชิดพระศาสนาที่เป็นหญิง, คฤหัสถ์ผู้หญิงที่แสดงตนเป็นคนนับถือพระพุทธศาสนา โดยประกาศถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ปฐมอุบาสิกา ได้แก่ มารดา (นางสุชาดา) และภรรยาเก่าของพระยสะ

อุเบกขา 1. ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยชอบหรือชัง, ความวางใจเฉยได้ ไม่ยินดียินร้าย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุ และรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม หรือตามควรแก่เหตุนั้น, ความรู้จักวางใจเฉยดู เมื่อเห็นเขารับผิดชอบตนเองได้ หรือในเมื่อเขาควรต้องได้รับผลอันสมควรแก่ความรับผิดชอบของเขาเอง, ความวางทีเฉยคอยดูอยู่ในเมื่อคนนั้น ๆ สิ่งนั้น ๆ ดำรงอยู่หรือดำเนินไปตามควรของเขาตามควรของมัน ไม่เข้าข้างไม่ตกเป็นฝักฝ่าย ไม่สอดแส่ ไม่รู้จี้สาระแน ไม่ก้าวก่ายแทรกแซง (ข้อ ๔ ในพรหมวิหาร ๔, ข้อ ๗ ในโพชฌงค์ ๗, ข้อ ๑๐ ในบารมี ๑๐, ข้อ ๙ ในวิปัสสนูปกิเลส ๑๐) 2. ความรู้สึกเฉย ๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ เรียกเต็มว่าอุเบกขาเวทนา (= อทุกขมสุข)

อุโบสถ 1. การสวดปาฏิโมกข์ของพระสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เป็นเครื่องซักซ้อมตรวจสอบความบริสุทธิ์ทางวินัยของภิกษุทั้งหลาย และทั้งเป็นเครื่องแสดงความพร้อมเพรียงของสงฆ์ด้วย อุโบสถมีชื่อเรียกย่อยออกไปหลายอย่าง การทำอุโบสถจะมีการสวดปาฏิโมกข์ได้ต่อเมื่อมีภิกษุครบองค์สงฆ์จตุรวรรคคือ ๔ รูปขึ้นไป ถ้าสงฆ์ครบองค์กำหนดเช่นนี้ทำอุโบสถ เรียกว่า สังฆอุโบสถ แต่ถ้ามีภิกษุอยู่เพียง ๒ หรือ ๓ รูป เป็นเพียงคณะท่านให้บอกความบริสุทธิ์แก่กันและกันแทนการสวดปาฏิโมกข์ เรียกอุโบสถนี้ว่า คณอุโบสถ หรือ ปาริสุทธิอุโบสถ ถ้ามีภิกษุอยู่ในวัดรูปเดียว ท่านให้ทำเพียงอธิษฐานคือตั้งใจกำหนดจิตว่าวันนี้เป็นอุโบสถของเรา (อชฺช เม อุโปสโถ) อุโบสถที่ทำอย่างนี้ เรียกว่า ปุคคลอุโบสถ หรือ อธิษฐานอุโบสถ; อุโบสถที่ทำในวันแรม ๑๔ ค่ำ เรียกว่า จาตุทสิก ทำในวันขึ้นหรือแรม ๑๕ ค่ำ เรียกว่า ปัณณรสิก ทำในวันสามัคคี เรียกว่า สามัคคีอุโบสถ 2. การอยู่จำ, การรักษาศีล ๘ และบำเพ็ญข้อปฏิบัติอย่างอื่นที่สมควรมีฟังพระธรรมเทศนาเป็นต้นของคฤหัสถ์ ในวันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ วันจันทร์เพ็ญและวันจันทร์ดับ 3. วันอุโบสถสำหรับพระสงฆ์ คือวันจันทร์เพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) และวันจันทร์ดับ (แรม ๑๕ ค่ำ หรือ ๑๔ ค่ำ เมื่อเดือนขาด), สำหรับคฤหัสถ์ คือวันพระ ได้แก่ วันขึ้นและแรม ๘ ค่ำวันจันทร์เพ็ญ และวันจันทร์ดับ 4. สถานที่สงฆ์ทำสังฆกรรม เรียกตามศัพท์ว่า อุโปสถาคารหรืออุโปสถัคคะ, ไทยมักตัดเรียกว่าโบสถ์

อุโบสถ (ขยายเฉพาะความหมายที่ 2.) อุโบสถ คือ การอยู่จำรักษาองค์ ๘ ที่โดยทั่วไปเรียกกันว่าศีล ๘ ของอุบาสก อุบาสิกา นั้น จำแนกได้เป็น ๓ ประเภท คือ ๑. ปกติอุโบสถ อุโบสถที่รักษาตามปกติชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ปัจจุบันนิยมรักษากันเฉพาะในวันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ วันจันทร์เพ็ญ คือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ และวันจันทร์ดับคือแรม ๑๕ หรือ ๑๔ ค่ำ (ปกติอุโบสถอย่างเต็ม มี ๘ วัน คือ วัน ๕ ค่ำ ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ ของทุกปักษ์ ถ้าเดือนขาดรักษาในวันแรม ๑๓ ค่ำด้วย) ๒. ปฏิชาครอุโบสถ อุโบสถของผู้ตื่นอยู่ (คือผู้กระตือรือร้นขวนขวายในกุศล ไม่หลับใหลด้วยความประมาท) ได้แก่ อุโบสถที่รักษาครั้งหนึ่ง ๆ ถึง ๓ วัน คือ รักษาในวันอุโบสถตามปกติ พร้อมทั้งวันหน้าและวันหลังของวันนั้น ซึ่งเรียกว่า วันรับและวันส่งด้วย เช่น อุโบสถที่รักษาในวัน ๘ ค่ำ มีวัน ๗ ค่ำ เป็นวันรับ วัน ๙ ค่ำ เป็นวันส่ง (เดือนหนึ่งๆ จะมีวันรับและวันส่งรวม ๑๑ วัน, วันที่มิใช่วันอุโบสถ ในเดือนขาดมี ๑๐ วัน เดือนเต็ม ๑๑ วัน) ๓. ปาฏิหาริยอุโบสถ อุโบสถที่พึงนำไปคือให้เป็นไปตรงตามกำหนดเป็นประจำในแต่ละปี หมายความว่าในแต่ละปีมีช่วงเวลาที่กำหนดไว้เฉพาะที่จะรักษาอุโบสถประเภทนี้ อย่างสามัญ ได้แก่อุโบสถที่รักษาเป็นประจำตลอด ๓ เดือน ในพรรษา (อย่างเต็มได้แก่รักษาตลอด ๔ เดือน แห่งฤดูฝน คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒, ถ้าไม่สามารถรักษาตลอด ๔ เดือน หรือ ๓ เดือน จะรักษาเพียง ๑ เดือน ระหว่างวันปวารณาทั้งสองคือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ก็ได้, อย่างต่ำสุดพึงรักษากึ่งเดือนต่อจากวันปวารณาแรกไปคือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑); อย่างไรก็ตาม มติในส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับอุโบสถ ๒ ประเภทหลังนี้ คัมภีร์ต่างๆ ยังแสดงไว้แตกต่างไม่ลงกันบ้าง ท่านว่าพอใจอย่างใด ก็พึงถือเอาอย่างนั้น เพราะแท้จริงแล้ว จะรักษาอุโบสถในวันใดๆ ก็ใช้ได้ เป็นประโยชน์ทั้งนั้น แต่ถ้ารักษาได้ในวันตามนิยมก็ย่อมควร

อุโบสถกรรม การทำ อุโบสถ 1.

อุโบสถศีล ศีลที่รักษาเป็นอุโบสถ หรือศีลที่รักษาในวันอุโบสถ ได้แก่ ศีล ๘ ที่อุบาสกอุบาสิกาสมาทานรักษาเป็นการจำศีลในวันพระ คือขึ้นและแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ (แรม ๑๔ ค่ำในเดือนขาด)

อุปกะ ชื่ออาชีวกผู้หนึ่ง ซึ่งพบกับพระพุทธเจ้าในระหว่างทาง ขณะที่พระองค์เสด็จจากพระศรีมหาโพธิ์ไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เพื่อโปรดพระปัญจวัคคีย์

อุปการะ ความเกื้อหนุน, ความอุดหนุน, การช่วยเหลือ

อุปกิเลส โทษเครื่องเศร้าหมอง, สิ่งที่ทำจิตใจให้เศร้าหมองขุ่นมัว รับคุณธรรมได้ยาก มี ๑๖ อย่าง คือ ๑. อภิชฌาวิสม- โลภะ ละโมบ จ้องจะเอาไม่เลือก ควรไม่ควร ๒. โทสะ คิดประทุษร้าย ๓. โกธะ โกรธ ๔. อุปนาหะ ผูกโกรธไว้ ๕. มักขะ ลบหลู่คุณท่าน ๖. ปลาสะ ตีเสมอ ๗. อิสสา ริษยา ๘. มัจฉริยะ ตระหนี่ ๙. มายา เจ้าเล่ห์ ๑๐. สาเถยยะ โอ้อวด ๑๑. ถัมภะ หัวดื้อ ๑๒. สารัมภะ แข่งดี ๑๓. มานะ ถือตัว ๑๔. อติมานะ ดูหมิ่นท่าน ๑๕. มทะ มัวเมา ๑๖. ปมาทะ เลินเล่อหรือละเลย

อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา ดู วิปัสสนูปกิเลส

อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน ได้แก่กรรมที่เป็นกุศลก็ดี ที่เป็นอกุศลก็ดี ซึ่งมีกำลังแรก เข้าตัดรอนการให้ผลของชนกกรรม หรืออุปัตถัมภกกรรมที่ตรงข้ามกับตนเสีย แล้วให้ผลแทนที่ (ข้อ ๘ ในกรรม ๑๒)

อุปจาร เฉียด, จวนเจียน, ที่ใกล้ชิด, ระยะใกล้เคียง, ชาน, บริเวณรอบ ๆ; ดังตัวอย่างคำว่า อุปจารเรือน อุปจารบ้าน แสดงตามที่ท่านอธิบายในอรรถกถาพระวินัยดังนี้ อาคารที่ปลูกขึ้นร่วมในแค่ระยะน้ำตกที่ชายคาเป็น เรือน, บริเวณรอบๆ เรือนซึ่งกำหนดเอาที่แม่บ้านยืนอยู่ที่ประตูเรือนสาดน้ำล้างภาชนะออกไป หรือแม่บ้านยืนอยู่ภายในเรือนโยนกระดัง หรือไม้กวาดออกไปภายนอกตกที่ใด ระยะรอบๆ กำหนดนั้นเป็นอุปจารเรือน บุรุษวัยกลางคนมีกำลังดี ยืนอยู่ที่เขตอุปจารเรือน ขว้างก้อนดินไป ก้อนดินที่ขว้างนั้นตกลงที่ใด ที่นั้นจากรอบๆ บริเวณอุปจารเรือน เป็นกำหนดเขตบ้าน, บุรุษวัยกลางคนมีกำลังดีนั้นแหละ ยืนอยู่ที่เขตบ้านนั้นโยนก้อนดินไปเต็มกำลัง ก้อนดินตกเป็นเขตอุปจารบ้าน; สีมาที่สมมติเป็นติจีวราวิปปวาสนั้น จะต้องเว้นบ้านและอุปจารบ้านดังกล่าวนี้เสียจึงจะสมมติขึ้น คือ ใช้เป็นติจีวราวิปปวาสสีมาได้; ดู ติจีวราวิปปวาสสีมา ด้วย

อุปจารภาวนา ภาวนาขั้นจวนเจียน คือเจริญกรรมฐานถึงขั้นเกิดอุปจารสมาธิ (ข้อ ๒ ในภาวนา ๓)

อุปจารสมาธิ สมาธิจวนจะแน่วแน่, สมาธิที่ยังไม่ดิ่งถึงที่สุด เป็นขั้นทำให้กิเลส มีนิวรณ์เป็นต้นระงับ ก่อนจะเป็นอัปปนา คือถึงฌาน (ข้อ ๑ ในสมาธิ ๒, ข้อ ๒ ในสมาธิ ๓)

อุปจารแห่งสงฆ์ บริเวณรอบ ๆ เขตสงฆ์ชุมนุมกัน

อุปฐาก ดู ปัฏฐาก

อุปติสสะ ดู สารีบุตร

อุปติสสปริพาชก คำเรียกพระสารีบุตรเมื่อบวชเป็นปริพาชกอยู่ในสำนักของสญชัญ

อุปถัมภ์ การค้ำจุน, เครื่องค้ำจุน, อุดหนุน, ช่วยเหลือ, หล่อเลี้ยง

อุปธิ สิ่งนุงนัง, สภาวะกลั้วกิเลส, สิ่งที่ยังระคนด้วยกิเลส 1. ร่างกาย 2. สภาวะอันเป็นที่ตั้งที่ทรงไว้แห่งทุกข์ได้แก่ กาม กิเลส เบญจขันธ์ และอภิสังขาร

อุปนาหะ ผูกโกรธไว้, ผูกใจเจ็บ (ข้อ ๔ ในอุปกิเลส ๑๖)

อุปนิสัย ความประพฤติที่เคยชินเป็นพื้นมาในสันดาน, ความดีที่เป็นทุนหรือเป็นพื้นอยู่ในจิต, ธรรมที่เป็นเครื่องอุดหนุน

อุปนิสินนกถา “ถ้อยคำของผู้เข้าไปนั่งใกล้”, การนั่งคุยหรือสนทนาอย่างกันเองหรือไม่เป็นแบบแผนพิธี เพื่อตอบคำซักถาม แนะนำชี้แจง ให้คำปรึกษา เป็นต้น

อุปบารมี บารมีขั้นรอง, บารมีขั้นจวนสูงสุด คือ บารมีที่บำเพ็ญยิ่งกว่าบารมีตามปกติ แต่ยังไม่ถึงที่สุดที่จะเป็นปรมัตถบารมี สละทรัพย์ภายนอกเป็นทานบารมี สละอวัยวะเป็นทานอุปบารมี สละชีวิตเป็นทานปรมัตถบารมี; ดู บารมี

อุปปถกิริยา การทำนอกรีตนอกรอยของสมณะ, ความประพฤตินอกแบบแผนของภิกษุสามเณร ท่านจัดรวมไว้เป็น ๓ ประเภท คือ ๑. อนาจาร ประพฤติไม่ดีไม่งาม และเล่นไม่เหมาะสมต่าง ๆ ๒. ปาปสมาจาร ความประพฤติเลวทราม คือ คบหาคฤหัสถ์ในทางที่ไม่สมควร ทำตนเป็นกุลทูสก ๓. อเนสนา หาเลี้ยงชีพในทางที่ไม่สมควร เช่น เป็นหมอ เสกเป่าให้หวย เป็นต้น

อุปปลวัณณา ดู อุบลวรรณา

อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือ ในภพถัดไป (ข้อ ๒ ในกรรม ๑๒)

อุปปัตติเทพ เทวดาโดยกำเนิด ได้แก่พวกเทวดาในกามาพจรสวรรค์และพระพรหมทั้งหลาย (ข้อ ๒ ในเทพ ๓)

อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น ได้แก่ กรรมที่เป็นกุศลก็ดี อกุศลก็ดี ซึ่งบีบคั้นการให้ผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรม ที่ตรงข้ามกับตน ให้แปรเปลี่ยนไป เช่น ถ้าเป็นกรรมดีก็บีบคั้นให้อ่อนลง ไม่ให้รับผลเต็มที่ ถ้าเป็นกรรมชั่วก็เกียดกันให้ทุเลา (ข้อ ๗ ในกรรม ๑๒)

อุปมา ข้อความที่นำมาเปรียบเทียบ, การอ้างเอามาเปรียบเทียบ, ข้อเปรียบเทียบ

อุปมา ๓ ข้อ ข้อเปรียบเทียบ ๓ ประการ ที่ปรากฏแก่พระโพธิสัตว์ เมื่อจะทรงบำเพ็ญเพียร ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม คือ ๑.ไม้สดชุ่มด้วยยาง ทั้งตั้งอยู่ในน้ำ จะเอามาสีให้เกิดไฟ ก็มีแต่จะเหนื่อยเปล่า ฉันใด สมณพราหมณ์ ที่มีกายยังไม่หลีกออกจากกาม ยังมีความพอใจหลงใหลกระหายกาม ละไม่ได้ ถึงจะได้เสวยทุกขเวทนาที่เผ็ดร้อนแรงกล้า อันเกิดจากความเพียรก็ตาม ไม่ได้เสวยก็ตาม ก็ไม่ควรที่จะตรัสรู้ ฉันนั้น ๒. ไม้สดชุ่มด้วยยาง ตั้งอยู่บนบกไกลจากน้ำ จะเอามาสีให้เกิดไฟ ก็มีแต่จะเหนื่อยเปล่า ฉันใด สมณพราหมณ์ที่มีกายหลีกออกแล้วจากกาม แต่ยังมีความพอใจหลงใหลกระหายกาม ละไม่ได้ ถึงจะได้เสวยทุกขเวทนาที่เผ็ดร้อน แรงกล้า อันเกิดจากความเพียรก็ตาม ไม่ได้เสวยก็ตาม ก็ไม่ควรที่จะตรัสรู้ ฉันนั้น ๓. ไม้แห้งเกราะ ทั้งตั้งอยู่บนบกไกลจากน้ำ จะเอามาสีให้เกิดไฟย่อมทำไฟให้ปรากฏได้ ฉันใด สมณพราหมณ์ที่มีกายหลีกออกแล้วจากกาม ไม่มีความพอใจหลงใหลกระหายกาม ละกามได้แล้ว ถึงจะได้เสวยทุกขเวทนาที่เผ็ดร้อน แรงกล้า อันเกิดจากความเพียร ก็ตาม ไม่ได้เสวยก็ตาม ก็ควรที่จะตรัสรู้ ฉันนั้น เมื่อได้ทรงพระดำริดังนี้แล้ว พระโพธิสัตว์ จึงได้ทรงเริ่มบำเพ็ญทุกรกิริยา ดังเรื่องที่มาในพระสูตรเป็นอันมาก มีโพธิราชกุมารสูตร เป็นต้น แต่มักเข้าใจกันผิดไปว่า อุปมา ๓ ข้อ นี้ปรากฏแก่พระโพธิสัตว์หลังจากทรงเลิกละการ บำเพ็ญทุกรกิริยา

อุปไมย ข้อความที่ควรจะนำสิ่งอื่นมาเปรียบเทียบ, สิ่งที่ควรจะหาสิ่งอื่นมาเปรียบเทียบ, สิ่งที่ถูกเปรียบเทียบ

อุปริมทิส ทิศเบื้องบน หมายถึงสมณพราหมณ์ ดู ทิศหก

อุปวาณะ พระมหาสาวกองค์หนึ่งเกิดในตระกูลพราหมณ์ผู้มั่งคั่งในนครสาวัตถี ได้เห็นพระพุทธองค์ในพิธีถวายวัด พระเชตวัน เกิดความเลื่อมใส จึงได้มาบวชในพระศาสนาและได้บรรลุอรหัตตผล ท่านเคยเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธองค์ แม้ในวันปรินิพพาน พระอุปวาณะก็ถวายงานพัดอยู่เฉพาะพระพักตร์ เรื่องราวเกี่ยวกับท่านปรากฏในพระไตรปิฎก ๔-๕ แห่ง เช่น เรื่องที่ท่านสนทนากับพระสารีบุตรเกี่ยวกับโพชฌงค์ ๗ ประการ เป็นต้น

อุปสมะ ความสงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ, การทำใจให้สงบ, สภาวะอันเป็นที่สงบ คือ นิพพาน (ข้อ ๔ ในอธิษฐานธรรม ๔)

อุปสมบท การให้กุลบุตรบวชเป็นภิกษุหรือให้กุลธิดาบวชเป็นภิกษุณี, การบวชเป็นภิกษุ หรือภิกษุณี ดู อุปสัมปทา

อุปสมานุสติ ระลึกถึงคุณพระนิพพานซึ่งเป็นที่ระงับกิเลสและกองทุกข์ (ข้อ ๑๐ ในอนุสติ ๑๐)

อุปสรรค ความขัดข้อง, สิ่งที่เข้าไปขัดข้อง, เครื่องกีดกั้น, สิ่งขัดขวาง

อุปสัมบัน ผู้ได้รับอุปสมบทเป็นภิกษุหรือภิกษุณีแล้ว, ผู้อุปสมบทแล้ว ได้แก่ภิกษุและภิกษุณี เทียบ อนุปสัมบัน

อุปสัมปทา การบวช, การบวชเป็นภิกษุหรือภิกษุณี; วิธีอุปสมบทมีทั้งหมด ๘ อย่าง แต่เฉพาะที่ใช้เป็นหลักมี ๓ อย่าง คือ ๑. เอหิภิกขุอุปสัมปทา การอุปสมบทด้วยพระวาจาว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด” เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง ๒. ติสรณคมนูปสัมปทา หรือสรณคมนูปสัมปทา การอุปสมบทด้วยถึงไตรสรณะ เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตให้พระสาวก ทำในยุคต้นพุทธกาล เมื่อคณะสงฆ์ยังไม่ใหญ่นัก เมื่อทรงอนุญาต วิธีที่ ๓ แล้ว วิธีที่ ๒ นี้ก็เปลี่ยนใช้สำหรับบรรพชาสามเณร ๓. ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา การอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตให้สงฆ์ทำ ในเมื่อคณะสงฆ์เป็นหมู่ใหญ่ขึ้นแล้ว และเป็นวิธีที่ใช้สืบมาจนทุกวันนี้; วิธีอุปสมบทอีก ๕ อย่างที่เหลือเป็นวิธีที่ทรงประทานเป็นการพิเศษจำเพาะบุคคลบ้าง ขาดตอนหมดไปแล้วบ้าง ได้แก่ (จัดเรียงลำดับใหม่ เอาข้อ ๓. เป็น ข้อ ๘. ท้ายสุด) ๓. โอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา การอุปสมบทด้วยการรับโอวาท เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตแก่พระมหากัสสปะ ๔. ปัญหาพยากรณูปสัมปทา การอุปสมบทด้วยการตอบปัญหาของพระพุทธองค์ เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตแก่โสปากสามเณร ๕. ครุธรรมปฏิคคหณูปสัมปทา (หรือ อัฏฐครุธรรม ปฏิคคหณูปสัมปทา) การอุปสมบทด้วยการรับครุธรรม ๘ ประการ เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี ๖. ทูเตนะ อุปสัมปทา การอุปสมบทด้วยทูต เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตแก่นางคณิกา (หญิงโสเภณี) ชื่ออัฑฒกาสี ๗. อัฏฐวาจิกาอุปสัมปทา การอุปสมบทมีวาจา ๘ คือ ทำด้วยญัตติจุตตถกรรม ๒ ครั้งจากสงฆ์ทั้งสองฝ่ายคือจากภิกษุณีสงฆ์ครั้งหนึ่ง จากภิกษุสงฆ์ครั้งหนึ่ง ได้แก่การอุปสมบทของภิกษุณี ๘. ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา (ข้อ ๓. เดิม)

อุปสัมปทาเปกขะ บุคคลผู้เพ่งอุปสมบท คือผู้มุ่งจะบวชเป็นภิกษุ, ผู้ขอบวช, นาค

อุปสัมปทาเปกขา หญิงผู้เพ่งอุปสัมปทาคือผู้ขอบวชเป็นภิกษุณี

อุปสีวมาณพ ศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คน ของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์

อุปเสน วังคันตบุตร พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ชื่อ วังคันตะ มารดาชื่อนางสารี เป็นน้องชายของพระสารีบุตร เกิดที่หมู่บ้านนาลกะ เติบโตขึ้น เรียนไตรเพทจบแล้วต่อมาได้ฟังธรรม มีความเลื่อมใส จึงบวชในพระพุทธศาสนา หลังจากบวชได้ ๒ พรรษา จึงได้สำเร็จพระอรหัต ท่านออกบวชจากตระกูลใหญ่ มีคนรู้จักมากและทั้งเป็นนักเทศก์ที่สามารถ จึงมีกุลบุตรเลื่อมใสมาขอบวชด้วยเป็นจำนวนมาก ตัวท่านเองเป็นผู้ถือธุดงค์ และสอนให้สัทธิวิหาริกถือธุดงค์ด้วย ปรากฏว่าทั้งตัวท่านและบริษัทของท่านเป็นที่เลื่อมใสของคนทั่วไปหมด จึงได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางทำให้เกิดความเลื่อมใสทั่วทุกด้าน (คือไม่เฉพาะตนเองน่าเลื่อมใส แม้คณะศิษย์ก็น่าเลื่อมใสไปหมด)

อุปหัจจปรินิพพายี พระอนาคามีผู้จะปรินิพพานต่อเมื่ออายุพ้นกึ่งแล้ว คือจะปรินิพพาน เมื่อใกล้จะสิ้นอายุ (ข้อ ๒ ใน อนาคามี ๕)

อุปัชฌาย์, อุปัชฌายะ “ผู้เพ่งโทษน้อยใหญ่” หมายถึงผู้รับรองกุลบุตรเข้ารับการอุปสมบทในท่ามกลางภิกษุสงฆ์, เป็นทั้งผู้นำเข้าหมู่ และเป็นผู้ปกครองคอยดูแลผิดและชอบ ทำหน้าที่ฝึกสอนอบรมให้การศึกษาต่อไป; อุปัชฌาย์ในฝ่ายภิกษุณี เรียกว่า ปวัตตินี อุปัชฌายมัตต์ ภิกษุผู้พอจะเป็นอุปัชฌาย์ได้ คือมีพรรษาครบ ๑๐, พระปูนอุปัชฌาย์

อุปัชฌายวัตร ธรรมเนียมหรือข้อปฏิบัติที่สัทธิวิหาริกพึงกระทำต่ออุปัชฌาย์ของตน, หน้าที่ต่ออุปัชฌาย์โดยย่อคือ เอาใจใส่ปรนนิบัติรับใช้ คอยศึกษาเล่าเรียนจากท่าน ขวนขวายป้องกันหรือระงับความเสื่อมเสีย เช่นความคิดจะสึก ความเห็นผิด เป็นต้น รักษาน้ำใจของท่าน มีความเคารพจะไปไหนบอกลาไม่เที่ยวตามอำเภอใจ และเอาใจใส่พยาบาลเมื่อท่านอาพาธ เทียบ สัทธิวิหาริกวัตร

อุปัชฌายาจารย์ อุปัชฌาย์และอาจารย์

อุปัฏฐาก ผู้บำรุง, ผู้รับใช้, ผู้ดูแลความเป็นอยู่, ผู้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุ สามเณร; อุปฐาก ก็เขียน

อุปัฏฐายิกา อุปัฏฐากที่เป็นหญิง

อุปัตติเหตุ เหตุที่เกิดขึ้น, เหตุการณ์ที่เกิด เช่น ควรเทศนาให้เหมาะแก่อุปัตติเหตุ คือ แสดงธรรมให้เข้ากับเรื่องที่เกิดขึ้น; บัดนี้เขียน อุบัติเหตุและใช้ในความหมายที่ต่างออกไป

อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน ได้แก่ กรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลที่เข้าช่วยสนับสนุนซ้ำเติมจากชนกกรรม เหมือนแม่นมเลี้ยงทารกที่เกิดจากผู้อื่น ถ้ากรรมดีก็สนับสนุนให้ดีขึ้น ถ้ากรรมชั่วก็สนับสนุนให้เลวลงไปอีก (ข้อ ๖ ในกรรม ๑๒)

อุปัสสยะของภิกษุณี ส่วนที่อยู่ของภิกษุณีตั้งอยู่ในอาวาสที่มีภิกษุอยู่ด้วย แต่อยู่โดยเอกเทศ ไม่ปะปนกับภิกษุ; เรียกตามศัพท์ว่า ภิกขุนูปัสสยะ

อุปาทาน ความยึดมั่น, ความถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส มี ๔ คือ ๑. กามุปาทาน ความถือมั่นในกาม ๒. ทิฏฐุปาทาน ความถือมั่นในทิฏฐิ ๓. สีลัพพตุปาทาน ความถือมั่นในศีลและพรต ๔. อัตตวาทุปาทาน ความถือมั่นวาทะว่าตน

อุปาทานขันธ์ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน, ขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทานได้แก่ เบญจขันธ์ คือ รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณที่ประกอบด้วยอาสวะ

อุปาทายรูป รูปอาศัย, รูปที่เกิดสืบเนื่องจากมหาภูตรูป, อาการของมหาภูตรูปตามหลักฝ่ายอภิธรรมว่ามี ๒๔ คือ ก. ประสาท หรือ ปสาทรูป ๕ ได้แก่ จักขุ ตา, โสต หู, ฆาน จมูก, ชิวหา ลิ้น, กาย, มโน ใจ ข. โคจรรูป หรือ วิสัยรูป (รูปที่เป็นอารมณ์) ๕. ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (โผฏฐัพพะ ไม่นับเข้าจำนวน เพราะตรงกับปฐวี เตโช วาโย ซึ่งเป็นมหาภูตรูป) ค. ภาวรูป ๒ ได้แก่ อิตถีภาวะ ความเป็นหญิง และปุริสภาวะ ความเป็นชาย ง. หทัยรูป ๑ คือ หทัยวัตถุ หัวใจ จ. ชีวิตรูป ๑ คือ ชีวิตินทรีย์ ภาวะที่รักษารูปให้เป็นอยู่ ฉ. อาหารรูป ๑ คือ กวฬิงการาหาร อาหารที่กินเกิดเป็นโอชา ช. ปริจเฉทรูป ๑ คือ อากาศธาตุ ช่องว่าง ญ. วิญญัติรูป ๒ คือ กายวิญญัติ ไหวกายให้รู้ความ วจีวิญญัติ ไหววาจาให้รู้ความ คือพูดได้ ฎ. วิการรูป ๕ อาการดัดแปลงต่างๆ ได้แก่ลหุตา ความเบา, มุทุตา ความอ่อน, กัมมัญญตา ความควรแก่งาน, (อีก ๒ คือ วิญญัติรูป ๒ นั่นเอง ไม่นับอีก) ฏ. ลักขณรูป ๔ ได้แก่ อุปจยะ ความเติบขึ้นได้, สันตติ สืบต่อไปได้, ชรตา ทรุดโทรมได้, อนิจจตา ความสลายไม่ยั่งยืน (นับโคจรรูปเพียง ๔ วิการรูปเพียง ๓ จึงได้ ๒๔); ดู มหาภูติ ด้วย

อุปาทิ 1. สภาพที่ถูกกรรมกิเลสถือครอง, สภาพที่ถูกอุปาทานยึดไว้มั่น, เบญจขันธ์ 2. กิเลสเป็นเหตุถือมั่น, ความยึดติดถือมั่น, อุปาทาน

อุปาทินนกสังขาร สังขารที่กรรมครอบครอง พูดเข้าใจกันอย่างง่ายๆ ว่า สังขารที่มีใจครอง เช่น คน สัตว์ เทวดา (ข้อ ๑ ในสังขาร ๒)

อุปายโกศล ดู โกศล ๓

อุปายาส ความคับแค้นใจ, ความสิ้นหวัง

อุปาลิปัญจกะ ชื่อตอนหนึ่งในคัมภีร์บริวาร พระวินัยปิฎก

อุปาลิวงศ์ ชื่อนิกายพระสงฆ์ลังกาที่บวชจากพระสงฆ์สยาม (พระอุบาลีเป็นหัวหน้า นำคณะสงฆ์ไทยไปอุปสมบทกุลบุตรในประเทศลังกา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๖ ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ สมัยอยุธยาตอนปลาย)

อุปาสกัตตเทสนา การแสดงความเป็นอุบาสก คือ ประกาศตนเป็นอุบาสก โดยถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

อุปาหนา ดู รองเท้า

อุโปสถขันธกะ ชื่อขันธกะที่ ๒ แห่งคัมภีร์มหาวรรค พระวินัยปิฎกว่าด้วยการทำอุโบสถ คือ สวดปาฏิโมกข์และเรื่องสีมา

อุโปสถิกะ, อุโปสถิกภัต อาหารที่เขาถวายในวันอุโบสถ คือ วันพระ ในเดือนหนึ่งสี่วัน, เป็นของจำพวกสังฆภัตหรืออุทเทสภัตนั่นเอง แต่มีกำหนดวันเฉพาะคือ ถวายเฉพาะในวันอุโบสถ

อุพพาหิกา กิริยาที่ถอนนำไป, การเลือกแยกออกไป, หมายถึงวิธีระงับวิวาทาธิกรณ์ ในกรณีที่ที่ประชุมสงฆ์มีความไม่สะดวก ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งสงฆ์จึงเลือกภิกษุบางรูปในที่ประชุมนั้น ตั้งเป็นคณะ แล้วมอบเรื่องให้นำเอาไปวินิจฉัย (เป็นทำนองตั้งคณะกรรมการพิเศษ)

อุพภตกสัณฐาคาร ท้องพระโรงชื่ออุพภตก เป็นท้องพระโรง หรือหอประชุมที่สร้างขึ้นใหม่ของมัลลกษัตริย์แห่งเมืองปาวา มัลลกษัตริย์ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าไปประทับพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เพื่อเป็นสิริมงคลก่อนจะเปิดใช้งาน ณ ที่นี้ พระสารีบุตรได้แสดงสังคีติสูตร อันเป็นต้นแบบของการสังคายนา

อุภโตพยัญชนก คนมีทั้ง ๒ เพศ

อุภโตภาควิมุต “ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน” คือ พระอรหันต์ผู้บำเพ็ญสมถะมาเป็นอย่างมากจนได้สมาบัติ ๘ แล้ว จึงใช้สมถะนั้นเป็นฐานบำเพ็ญวิปัสสนาต่อไปจนบรรลุอรหัตตผล; หลุดพ้นทั้งสองส่วน (และสองวาระ) คือหลุดพ้นจากรูปกายด้วยอรูปสมาบัติ (เป็นวิกขัมภนะ) หนหนึ่งแล้ว จึงหลุดพ้นจากนามกายด้วยอริยมรรค (เป็นสมุจเฉท) อีกหนหนึ่ง เทียบ ปัญญาวิมุต

อุภโตสุชาต เกิดดีแล้วทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายมารดาทั้งฝ่ายบิดา หมายความว่า มีสกุลสูง เป็นเชื้อสายวรรณะนั้นต่อเนื่องกันมาโดยตลอด ทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา, เป็นคุณสมบัติที่พวกพราหมณ์และกษัตริย์บางวงศ์ถือเป็นสำคัญมาก

อุภยัตถะ ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย, ประโยชน์ร่วมกัน, สิ่งที่เกื้อกูลแก่ส่วนรวมเป็นคุณแก่ชีวิตทั้งของตนเองและของผู้อื่น ช่วยให้เป็นอยู่กันด้วยดีพากันประสบทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะและปรมัตถะยิ่งขึ้นไป; ดู อัตถะ

อุรุเวลกัสสป พระมหาสาวกองค์หนึ่งเคยเป็นนักบวชประเภทชฎิล นับถือลัทธิบูชาไฟ ถือตัวว่าเป็นพระอรหันต์สร้างอาศรมสั่งสอนลัทธิของตนอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเพราะเหตุที่เป็นชาวกัสสปโคตร และอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลา จึงได้ชื่อว่า อุรุเวลกัสสป ท่านผู้นี้เป็นคณาจารย์ใหญ่ที่ชาวราชคฤห์นับถือมาก มีน้องชายสองคน คนหนึ่งชื่อนทีกัสสป อีกคนหนึ่งชื่อคยากัสสป ล้วนเป็นหัวหน้าชฎิลตั้งอาศรมอยู่ถัดกันไปบนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ไม่ห่างไกลจากอาศรมของพี่ชายใหญ่ ต่อมาพระพุทธเจ้าได้เสด็จมา ทรงทรมานอุรุเวลกัสสปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ จนท่านชฎิลใหญ่คลายพยศ ยอมมอบตัวเป็นพุทธสาวกขอบรรพชา ทำให้ชฎิลผู้น้องทั้งสองพร้อมด้วยบริวารออกบวชตามด้วยทั้งหมด ครั้นบวชแล้วได้ฟังเทศนาอาทิตตปริยายสูตร จากพระพุทธเจ้า ก็ได้สำเร็จพระอรหัตทั้งสามพี่น้องพร้อมด้วยบริวารทั้งหมดรวมหนึ่งพันองค์ พระอุรุเวลกัสสปได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีบริษัทใหญ่ คือมีบริวารมาก

อุรุเวลา ชื่อตำบลใหญ่แห่งหนึ่งในแคว้นมคธ ตั้งอยู่ ณ ลุ่มแม่น้ำเนรัญชรา เป็นภูมิสถานที่สงบน่ารื่นรมย์ พระมหาบุรุษทรงเลือกเป็นที่บำเพ็ญเพียร ได้ประทับอยู่ ณ ที่นี้นานถึง ๖ ปี ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา และเปลี่ยนมาทรงดำเนินในมัชฌิมาปฏิปทา จนได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ภายใต้ร่วมพระศรีมหาโพธิ์ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในตำบลนี้

อุสสาวนันติกา กัปปิยภูมิที่ทำด้วยการประกาศ ได้แก่ กุฎีที่ภิกษุทั้งหลายตกลงกันแต่ต้นว่าจะทำเป็นกัปปิยกุฎีในเวลาที่ทำ พอช่วยกันยกเสาหรือตั้งฝาทีแรก ก็ร้องประกาศให้รู้กันว่า “กปฺปิยกุฎึ กโรม” ๓ หน (แปลว่าเราทั้งหลายทำกัปปิยกุฎี); ดู กัปปิยภูมิ

อุสีรธชะ ภูเขาที่กั้นอาณาเขตของมัชฌิมชนบทด้านเหนือ

อูเน คเณ จรณํ การประพฤติ (วัตร) ในคณะอันพร่อง คือ ประพฤติในถิ่น เช่น อาวาส ที่มีปกตัตตภิกษุไม่ครบองค์สงฆ์ คือไม่ถึง ๔ รูป แต่ที่นิยมปฏิบัติกันมาไม่ต่ำกว่า ๕ รูป; เป็นเหตุอย่างหนึ่งของรัตติเฉทแห่งมานัตต์ ดู รัตติเฉท

อูรุ ขาอ่อน, โคนขา

เอกฉันท์ มีความพอใจอย่างเดียวกัน, เห็นเป็นอย่างเดียวกันหมด

เอกเทศ ภาคหนึ่ง, ส่วนหนึ่ง, เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก

เอกพีชี ผู้มีพืชคืออัตภาพอันเดียว หมายถึง พระโสดาบันซึ่งจะเกิดอีกครั้งเดียวก็จะบรรลุพระอรหัตตผลในภพที่เกิดขึ้น (ข้อ ๑ ในโสดาบัน ๓, บางแห่งท่านจัดกลับเป็นข้อ ๓)

เอกภัณฑะ ทรัพย์สิ่งเดียวซึ่งมีราคาเพียงพอที่จะเป็นวัตถุแห่งปาราชิก

เอกวจนะ คำกล่าวถึงสิ่งของสิ่งเดียว

เอกสิทธิ สิทธิพิเศษ, สิทธิโดยเฉพาะ

เอกเสสนัย อาการกำหนดด้วยเหลือศัพท์เดียว, เป็นวิธีการอย่างหนึ่งในไวยากรณ์บาลี กล่าวคือ บุคคล วัตถุ หรือภาวะบางอย่าง เป็นของควบคู่กันมาด้วยกันเสมอ เมื่อเห็นอย่างหนึ่งก็เป็นอันรู้ถึงอีกอย่างหนึ่งด้วย หรือเป็นของชุดเดียงกัน จำพวกเดียวกัน เมื่อเรียกชื่ออย่างหนึ่ง จะหมายถึงอย่างหนึ่งอย่างใดในชุดหรือในจำพวกนั้นก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ บางทีท่านกล่าวถึงหรือออกชื่อไว้อย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอันเดียวให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังหมายรู้อีกอย่างหนึ่งด้วย หรือให้เข้าใจเอาเองจากข้อความแวดล้อมว่า ในที่นั้น หมายถึงอย่างไหนข้อใดในชุดหรือในจำพวกนั้น จึงเรียกว่า เหลือไว้อย่างเดียว หรือเหลือไว้ศัพท์เดียว เช่น พูดอย่างคำบาลีว่า พระสารีบุตรทั้งหลาย ก็หมายถึงพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะหรือในหลักปฏิจจสมุปบาท คำว่านามรูป เป็นเอกเสสหมายถึง นามหรือรูป หรือทั้งนามและรูป คำว่า สฬายตนะ ก็เป็นเอกเสส หมายถึงอายตนะที่ ๖ ก็ได้ อายตนะทั้ง ๖ ก็ได้ ดังนั้น เมื่อพูดว่านามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ ถ้าหมายถึงอรูปภพก็ต้องแปลความว่า นามเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะที่ ๖ (คือมโน) อนึ่ง เมื่อสิ่งอื่นในชุดเดียวกัน มีคำเฉพาะระบุชัดอยู่แล้ว คำที่เป็นชื่อรวม ๆ ของชุด ก็ย่อมหมายถึงสิ่งที่ยังไม่ถูกระบุด้วยคำอื่น เช่น ในคำว่า สุคติ (และ) โลกสวรรค์ สวรรค์ก็เป็นสุคติ แต่มีคำเฉพาะระบุไว้แล้ว ดังนั้น คำว่าสุคติในกรณีนี้จึงหมายถึงโลกมนุษย์ ซึ่งเป็นสุคติอย่างเดียวที่เหลือนอกจากสวรรค์

เอกอุ เลิศ, สูงสุด (ตัดมาจากคำว่าเอกอุดม)

เอกัคคตา ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว คือ ความมีจิตแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว ได้แก่สมาธิ (พจนานุกรม เขียน เอกัคตา) ดู ฌาน

เอกันตโลมิ เครื่องลาดที่มีขนตกไปข้างเดียวกัน

เอกายนมรรค ทางอันเอก คือ ข้อปฏิบัติอันประเสริฐที่จะนำผู้ปฏิบัติไปสู่ความบริสุทธิ์หมดจด หมดความทุกข์ และบรรลุนิพพาน ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔; อย่างกว้าง เช่น ในมหานิทเทส หมายถึง โพธิปักขิยธรรมด้วย

เอกาสนิกังคะ องค์แห่งผู้ถือนั่งฉันที่อาสนะเดียวเป็นวัตร คือ ฉันวันละมื้อเดียว ลุกจากที่แล้วไม่ฉันอีกในวันนั้น (ข้อ ๕ ในธุดงค์ ๑๓)

เอตทัคคะ พระสาวกที่ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยมในทางใดทางหนึ่ง เช่น เป็นเอตทัคคะในทางธรรมกถึก หมายความว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยมในทางแสดงธรรม เป็นต้น; ดู อสีติมหาสาวก

เอตทัคคฐาน ตำแหน่งเอตทัคคะ, ตำแหน่งที่ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเลิศในคุณนั้นๆ

เอหิปสฺสิโก พระธรรมควรเรียกให้มาดู คือ เชิญชวนให้มาชมเหมือนของวิเศษที่ควรป่าวร้องให้มาดู หรือท้าทายต่อการพิสูจน์ เพราะเป็นของจริงและดีจริง (ข้อ ๔ ในธรรมคุณ ๖)

เอหิภิกขุ เป็นคำเรียกภิกษุที่ได้รับอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรงด้วยวิธีบวชที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา; พระ อัญญาโกณฑัญญะ เป็นเอหิภิกขุองค์แรก

เอหิภิกขุอุปสัมปทา วิธีอุปสมบทที่พระพุทธเจ้าประทานด้วยพระองค์เองด้วยการเปล่งพระวาจาว่า “ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” วิธีนี้ ทรงประทานแก่พระ อัญญาโกณฑัญญะเป็นบุคคลแรก ดู อุปสัมปทา

เอหิภิกษุ ดู เอหิภิกขุ

โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นระลอก, ความอิ่มใจเป็นพักๆ เมื่อเกิดขึ้นทำให้รู้สึกซู่ซ่าเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง (ข้อ ๓ ในปีติ ๕)

โอกกากราช กษัตริย์ผู้เป็นต้นสกุลของศากยวงศ์

โอกาส ช่อง, ที่ว่าง, ทาง, เวลาที่เหมาะ, จังหวะ; ในวิธีระงับอนุวาทาธิกรณ์ มีระเบียบว่า ก่อนจะกล่าวคำโจทนาคือคำฟ้องขึ้นต่อหน้าสงฆ์ โจทก์พึงขอโอกาสต่อจำเลย คำขอโอกาสว่า “กโรตุ เม อายสฺมา โอกาสํ, อหนฺตํ วตฺตุกาโม” แปลว่า “ขอท่านจงทำโอกาสแก่ข้าพเจ้า ๆ ใคร่จะกล่าวกะท่าน” ถ้าโจทโดยไม่ขอโอกาสต้องอาบัติทุกกฎ คำให้โอกาสท่านไม่ได้แสดงไว้ อาจใช้ว่า “กโรมิ อายสฺมโต โอกาสํ” แปลว่า “ข้าพเจ้าทำโอกาสแก่ท่าน”; ภิกษุพร้อมด้วยองค์ ๕ แม้จะขอให้ทำโอกาสก็ไม่ควรทำ (คือไม่ควรให้โอกาส) กล่าวคือ เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้เขลา ถูกซักเข้าไม่อาจให้คำตอบข้อที่ซัก, องค์ ๕ อีกหมวดหนึ่งว่า เป็นอลัชชีเป็นพาลมิใช่ปกตัตตะ กล่าวด้วยปรารถนาจะกำจัด มิใช่เป็นผู้มีความปรารถนาในอันให้ออกจากอาบัติ

โอกาสโลก โลกอันกำหนดด้วยโอกาส, โลกอันมีในอวกาศ, โลกซึ่งเป็นโอกาสแก่สัตว์ทั้งหลายที่จะอยู่อาศัย, โลกคือแผ่นดินอันเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย, จักรวาฬ (ข้อ ๓ ในโลก ๓)

โอฆะ ห้วงน้ำคือสงสาร, ห้วงน้ำคือการเวียนว่ายตายเกิด, กิเลสอันเป็นดุจกระแสน้ำหลากท่วมใจสัตว์มี ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา

โอตตัปปะ ความกลัวบาป, ความเกรงกลัวต่อทุจริต, ความเกรงกลัวความชั่วเหมือนกลัวอสรพิษ ไม่อยากเข้าใกล้ พยายามหลีกให้ห่างไกล (ข้อ ๒ ในธรรมคุ้มครองโลก ๒, ข้อ ๔ ในอริยทรัพย์ ๗, ข้อ ๓ ในสัทธรรม ๗)

โอธานสโมธาน ชื่อปริวาสประเภทสโมธานปริวาสอย่างหนึ่ง ใช้สำหรับอาบัติสังฆาทิเสสที่ต้องหลายคราว แต่มีจำนวนวันที่ปิดไว้เท่ากัน เช่น ต้องอาบัติ ๒ คราว ปิดไว้คราวละ ๕ วัน ให้ขอปริวาสรวมอาบัติและราตรีเข้าด้วยกัน เพื่ออยู่เพียง ๕ วันเท่านั้น, (แต่ตามนัยอรรถกถาท่านแก้ว่า . สำหรับอันตราบัติมีวันปิดที่ประมวลเข้ากับอาบัติเดิม) ดู สโมธานปริวาส

โอปนยิโก พระธรรมควรน้อมเข้ามาไว้ในใจ หรือน้อมใจเข้าไปให้ถึงด้วยการปฏิบัติให้เกิดมีขึ้นในใจ หรือให้ใจบรรลุถึงอย่างนั้น (ข้อ ๕ ในธรรมคุณ ๖)

โอปปาติกะ สัตว์เกิดผุดขึ้น คือ เกิดผุดขึ้นมาและโตเต็มตัวในทันใด ตายก็ไม่ต้องมีเชื้อหรือซากปรากฏ เช่นเทวดาและสัตว์นรก เป็นต้น (ข้อ ๔ ในโยนิ ๔); บาลีว่า รวมทั้งมนุษย์บางพวก

โอปกฺกมิกา อาพาธา ความเจ็บไข้เกิดจากความพยายามหรือจากคนทำให้เจ็บป่วย เพราะการกระทำของคนคือตนเอง เพียรเกินกำลัง หรือถูกเขากระทำ เช่น ถูกจองจำ ใส่ขื่อคา เป็นต้น

โอภาส 1. แสงสว่าง, แสงสุกใสผุดผ่อง (ข้อ ๑ ในวิปัสสนูปกิเลส ๑๐) 2. การพูดหรือแสดงออกที่เป็นเชิงเปิดช่องทางหรือให้โอกาส เช่นที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำโอภาส ณ ที่ต่างๆ หลายแห่ง ซึ่งถ้าพระอานนท์เข้าใจ ก็จะทูลขอให้ทรงดำรงพระชนม์อยู่ตลอด (อายุ) กัป

โอมสวาท คำพูดเสียดแทงให้เจ็บใจหรือให้ได้ความอัปยศ ได้แก่ การพูดแดกหรือประชดก็ตาม ด่าก็ตามกระทบถึง อักโกสวัตถุ ๑๐ ประการ มีชาติกำเนิด ชื่อ ตระกูล เป็นต้น ภิกษุกล่าวว่าโอมสวาทแก่ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ แก่อนุปสัมบันต้องอาบัติทุกกฎตามสิกขาบทที่ ๒ แห่งมุสาวาทวรรคปาจิตติยกัณฑ์

โอรส “ผู้เกิดแต่อก” ลูกชาย

โอรัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องต่ำ,กิเลสผูกใจสัตว์อย่างหยาบ มี ๕ อย่าง คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ; ดู สังโยชน์

โอวาท คำกล่าวสอน, คำแนะนำ, คำตักเตือน; โอวาทของพระพุทธเจ้า ๓ คือ ๑. เว้นจากทุจริต คือประพฤติชั่วด้วยกายวาจาใจ (= ไม่ทำความชั่วทั้งปวง) ๒.ประกอบสุจริต คือประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจ (= ทำแต่ความดี) ๓. ทำใจของตนให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น (= ทำจิตของตนให้สะอาดบริสุทธิ์) โอวาท ๓ นี้ รวมอยู่ใน โอวาทปาฏิโมกข์

โอวาทปาฏิโมกข์ หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุวนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่าวันมาฆบูชา (ถรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นี้ แก่ที่ประชุมสงฆ์ตลอดมา เป็นเวลา ๒๐ พรรษา ก่อนที่จะโปรดให้สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนต่อมา),
คาถาโอวาทปาฏิโมกข์ มีดังนี้ (โอวาทปาติโมกข์ ก็เขียน)

สพฺพปาปสฺส อกรณํ
กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ
เอตํ พุทธาน สาสนํฯ
ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ
อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ

แปล : การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑ การบำเพ็ญแต่ความดี ๑ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง, พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพานเป็นบรมธรรม, ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต,ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ
การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในปาฏิโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑ ที่นั่งนอนอันสงัด ๑ ความเพียรในอธิจิต ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส

โอวาทวรรค ตอนที่ว่าด้วยเรื่องให้โอวาทแก่นางภิกษุณี เป็นต้น, เป็นชื่อวรรคที่ ๓ แห่งปาจิตติยกัณฑ์ ในมหาวิภังค์ พระวินัยปิฎก

โอวาทานุสาสนี คำกล่าวสอนและพร่ำสอน, คำตักเตือนและแนะนำพร่ำสอน

โอษฐ์ ปาก, ริมฝีปาก

โอสารณา การเรียกเข้าหมู่, เป็นชื่อสังฆกรรมจำพวกหนึ่ง มีทั้งที่เป็นอปโลกนกรรม (เช่น การรับสามเณรผู้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งถูกนาสนะไปแล้วและเธอกลับตัวได้) เป็นญัตติกรรม (เช่น เรียกอุปสัมปทาเปกขะที่สอนซ้อมอันตรายิกธรรมแล้วเข้าไปในสงฆ์) เป็นญัตติทุติยกรรม (เช่น หงายบาตรแก่คฤหัสถ์ที่กลับตัวประพฤติดี) เป็นญัตติจตุตถกรรม (เช่นระงับนิคหกรรมที่ได้ทำแก่ภิกษุ)

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น