Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

พุทธวิธีพัฒนาจิต

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

*** ก่อนที่ท่านจะอ่านเรื่องนี้แนะนำให้ท่านอ่านเรื่องลำดับขั้นของจิต ในหมวดบทวิเคราะห์ ให้จบเสียก่อนนะครับ จะทำให้มองเห็นภาพรวมได้ชัดเจนขึ้นครับ ***

การพัฒนาจิตใจหรือการปรับสภาพจิตให้ประณีตขึ้นตามแนวทางของพระพุทธศาสนานั้นมีหลายลำดับขั้นนะครับ ตั้งแต่วิธีง่ายๆ ใช้เวลาและความเพียรพยายามน้อยไปจนถึงขั้นที่ต้องใช้เวลาและความเพียรมาก ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะของแต่ละบุคคล ซึ่งแต่ละขั้นแต่ละวิธีก็ให้ผลที่แตกต่างกันไปนะครับ สรุปเป็นขั้น ได้ดังนี้
  1. การให้ทาน
  2. การรักษาศีล
  3. การทำสมาธิ รวมทั้งการแผ่เมตตา
  4. การเจริญวิปัสสนา

การให้ทาน

การให้ทานนั้นนับว่าเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการปรับสภาพจิตนะครับ ใช้เวลาและความพยายามน้อย ส่งผลให้จิตใจประณีต ผ่องใส เบาสบายได้ในระดับหนึ่ง (ระดับมหากุศลจิต ขั้นพื้นฐาน)

การให้ทานที่แท้จริงนั้นคือการให้ด้วยความปรารถนาดีแก่ผู้รับอย่างจริงใจโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ เลยนะครับ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งจากตัวผู้รับเองและจากผู้อื่น การให้ที่บริสุทธิ์มากเท่าใดก็จะให้ผลที่มากขึ้นเท่านั้น (ดูเรื่องทำบุญอย่างไรได้บุญมาก ในหมวดทานประกอบนะครับ)

การให้ทานเป็นการลดความยึดมั่นถือมั่นและลดความตระหนี่ในของที่ให้เป็นทานนั้นลงไปนะครับ และเนื่องจากความยึดมั่นถือมั่นนี้เองที่เป็นต้นเหตุของกิเลสตัวอื่นๆ (ดูเรื่องวิปัสสนา-หลักการพื้นฐานหัวข้อกิเลสเกิดจากอะไร ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบนะครับ) ดังนั้นการให้ทานจึงส่งผลให้เกิดการขัดเกลากิเลสตัวอื่นๆ ไปในตัวด้วยเช่นกันครับ

การให้ทานจึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในการพัฒนาจิตใจนะครับ เริ่มต้นจากการให้เล็กๆ น้อยๆ ก่อน เช่น สิ่งของเหลือใช้ เงินไม่กี่สตางค์ การให้ความรู้ ให้ความช่วยเหลือด้วยแรงงาน หรือแม้แต่การให้อภัย เมื่อจิตประณีตขึ้นเรื่อยๆ แล้วการให้ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นก็จะตามมาเองครับ อันจะทำให้จิตใจประณีต ผ่องใส เบาสบายขึ้นตามลำดับ ชีวิตก็จะมีความสุขที่เบาสบายมากขึ้นเรื่อยๆ

การรักษาศีล

การรักษาศีลนั้นสามารถทำได้โดยไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเลยนะครับ เพียงแต่คอยระวังไม่ให้เกิดการล่วงละเมิดทางกายหรือทางวาจาเท่านั้นเอง และเนื่องจากการรักษาศีลนั้นต้องทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้ต้องใช้ความพยายามมากกว่าการให้ทาน ผลที่ได้จึงสูงกว่าด้วยครับ (ถึงแม้จะทำให้จิตอยู่ในระดับมหากุศลขั้นพื้นฐานเหมือนกันก็ตาม แต่ก็มีกำลังมากกว่าเพราะต้องทำอยู่ตลอดเวลา จึงขัดเกลาจิตใจได้ดีกว่านะครับ)

การถือศีลแต่ละข้อนั้นจะส่งผลให้เกิดการขัดเกลา การปรับปรุงพัฒนาจิตในทิศทางที่แตกต่างกันไป ดังที่แสดงรายละเอียดเอาไว้ในเรื่องประโยชน์ของศีล 5 ในหมวดศีลนะครับ

สาเหตุที่การรักษาศีลสามารถทำให้จิตประณีตละเอียดอ่อนขึ้นได้ก็เพราะศีลส่วนใหญ่โดยเฉพาะศีล 5 นั้นถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อควบคุมไม่ให้มีการแสดงออกทางกาย หรือทางวาจาไปในทางที่ตอบสนองอำนาจของกิเลสนะครับ ดังนั้นการทำผิดศีลแต่ละครั้งจึงทำให้จิตหยาบกระด้างขึ้นตามลักษณะของกิเลสที่ครอบงำจิตอยู่นั้นครับ ถ้ายิ่งทำผิดศีลมากครั้งและบ่อยครั้งมากขึ้นเท่าไหร่จิตก็จะยิ่งหยาบกระด้างขึ้นไปเรื่อยๆ จึงสามารถทำผิดได้รุนแรงมากขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งก็จะส่งผลให้จิตหยาบกระด้างหนักขึ้นไปอีก เป็นวังวนพอกพูนไม่รู้จบสิ้นนะครับ

ครั้นพอมารักษาศีลกิเลสเหล่านั้นจึงครอบงำจิตใจได้น้อยลง กิเลสจึงมีกำลังอ่อนลงเรื่อยๆ ส่งผลให้จิตประณีต ละเอียดอ่อนขึ้นไปเรื่อยๆ ครับ


การทำสมาธิ

การที่จะทำสมาธิรวมทั้งการจะเจริญวิปัสสนาให้ได้ผลดีหรือสามารถทำได้โดยง่ายนั้น ควรที่จะมีการเตรียมความพร้อมโดยการปรับสภาพของจิตใจให้ประณีต ละเอียดอ่อนขึ้นมาก่อนด้วยการให้ทานและการรักษาศีลนะครับ เพราะถ้าจิตใจไม่ประณีตพอจะทำสมาธิและเจริญวิปัสสนาได้ยาก

จิตที่มีกิเลสนั้นก็เหมือนน้ำที่มีเศษฝุ่นเศษดินเจือปนอยู่ ครั้นพอน้ำนั้นกระเพื่อมไหว เศษตะกอนต่างๆ ก็ย่อมจะฟุ้งขึ้นมา น้ำก็จะอยู่ในลักษณะที่ขุ่นข้นนะครับ

จิตที่มีกิเลสก็เช่นกันครับ เมื่อซัดส่ายไปมาก็ย่อมจะขุ่นข้นไปด้วยกิเลส จิตจึงหยาบกระด้าง ไม่ประณีตละเอียดอ่อน ทำให้ไม่มีความสุขอย่างที่ควรจะเป็น

จิตในสภาวะปรกติของคนทั่วๆ ไปนั้นจะซัดส่ายอยู่ตลอดเวลา การทำสมาธิหรือสมถกรรมฐานก็คือการรวมจิตให้เป็นหนึ่ง เพ่งไปยังจุดยึดจิตเพียงจุดเดียวเพื่อไม่ให้จิตซัดส่ายไปมา เหมือนการทำน้ำที่กระเพื่อมอยู่ให้นิ่งนะครับ เมื่อน้ำนิ่งแล้วไม่นานนักย่อมตกตะกอน ทำให้น้ำใสขึ้นฉันใด เมื่อจิตนิ่ง ไม่ซัดส่าย กิเลสก็ย่อมจะตกตะกอนฉันนั้นครับ เพราะจิตไม่ไปเกาะเกี่ยวอะไรให้กิเลสแสดงตัวออกมา จิตจึงประณีต ผ่องใส เบิกบาน สงบ เย็นสบาย

จิตที่มีสมาธิจะอยู่ในสภาพที่ประณีต ละเอียดอ่อนกว่าจิตขั้นมหากุศลขั้นพื้นฐาน จึงทำให้มีความสุขที่มากกว่าการให้ทาน และการรักษาศีลนะครับ

การแผ่เมตตานั้นก็จัดเป็นการทำสมาธิชนิดหนึ่งเช่นกันนะครับ เป็นการทำสมาธิโดยมีสรรพสัตว์ทั้งหลาย (เป็นความรู้สึกที่ไม่เฉพาะเจาะจงถึงใครโดยเฉพาะ เรียกว่าเป็นการแผ่เมตตาแบบอัปปมัญญา คือแผ่ไปโดยไม่มีประมาณนะครับ) เป็นจุดยึดเหนี่ยวจิตใจ หรือจะแผ่เมตตาแบบเฉพาะเจาะจงบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ได้ครับ แต่จะมีอานิสงส์น้อยกว่าแบบอัปปมัญญาเพราะใจไม่เปิดกว้างเท่า

การแผ่เมตตานั้นนอกจากเป็นการทำสมาธิแล้ว ยังมีผลในการขัดเกลากิเลสประเภทโทสะ (ความโกรธ) โดยตรงอีกด้วยครับ เพราะเมตตากับโทสะนั้นเป็นสภาพจิตที่ตรงข้ามกัน เหมือนน้ำแข็งกับไฟเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นคนที่โกรธง่ายจึงสมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะแผ่เมตตาเป็นประจำเพื่อทำใจให้เย็นลงนะครับ


การเจริญวิปัสสนา

วิปัสสนานั้นไม่ใช่การทำสมาธินะครับ แต่ก็สามารถทำควบคู่กันไปได้ และทั้งสองอย่างนี้ก็มีผลเกื้อหนุนซึ่งกันและกันครับ คือคนที่มีสมาธิก็จะเจริญวิปัสสนาได้ง่ายขึ้นเพราะจิตใจประณีต ไม่ขาดสติ และจิตใจไม่วอกแวกซัดส่ายไปมา ทำให้สังเกตสิ่งต่างๆ ได้โดยง่าย ละเอียด และชัดเจน ในขณะที่ผลของการเจริญวิปัสสนา คือความคลายความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงลงไปนั้นก็จะทำให้จิตไม่ไปเกาะเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ จึงไม่มีอะไรมาคอยดึงจิตให้ซัดส่ายไปมา การทำสมาธิจึงกลายเป็นเรื่องง่ายไปในตัวครับ

การเจริญวิปัสสนาก็คือการตามสังเกตธรรมชาติของสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะร่างกายและจิตใจเพื่อให้เห็นความจริงที่ว่า สิ่งทั้งปวงล้วนไม่ควรค่าแก่การยึดมั่นถือมั่น เพราะความที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามความต้องการของใครนั่นเองนะครับ ซึ่งผลที่ต้องการขั้นสูงสุดก็คือการคลายความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงลงไป อันจะเป็นผลให้กิเลสทั้งหลายถูกทำลายลงไปอย่างสิ้นเชิง คือการบรรลุมรรค ผล นิพพานนั่นเองนะครับ

สำหรับรายละเอียดในเรื่องการเจริญวิปัสสนานั้น ขอให้ดูในเรื่องต่างๆ ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ซึ่งได้อธิบายไว้อย่างละเอียด ตามลำดับขั้นตอนแล้วนะครับ

การเจริญวิปัสสนานั้นให้ผลสูงกว่าการทำสมาธิเพราะเมื่อเปรียบเทียบจิตที่มีกิเลสเหมือนน้ำที่มีฝุ่นมีเศษดินเจือปนแล้ว การทำสมาธิเหมือนการทำให้น้ำนั้นใสขึ้นด้วยการปล่อยให้ตกตะกอน ทำให้น้ำส่วนบน หรือจิตสำนึกใสขึ้นมาได้ แต่ว่าตะกอนหรือกิเลสเหล่านั้นก็ไม่ได้หายไปไหนนะครับ ยังคงนอนก้นอยู่ในจิตใต้สำนึก (อนุสัยกิเลส) อยู่นั่นเองครับ รอวันที่จะแผลงฤทธิ์ออกมาได้อีกในอนาคต (เมื่อมีโอกาส คือมีเหตุปัจจัย/สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม)

แต่การเจริญวิปัสสนานั้นเมื่อบรรลุมรรคผลแต่ละขั้นก็เหมือนเป็นการกรองน้ำนั้น ด้วยไส้กรองที่ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เศษฝุ่นเศษดินหรือกิเลสในน้ำหรือในจิตนั้นถูกกำจัดออกไปอย่างถาวรนะครับ จึงไม่มีโอกาสที่จะกลับมาแผลงฤทธิ์ได้อีกเลย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม เหมือนน้ำที่ปราศจากสิ่งเจือปน จะเขย่า จะแกว่ง จะกวนให้กระเพื่อมอย่างไรน้ำนั้นก็ยังคงใสสะอาดอยู่นั่นเองครับ

การเจริญวิปัสสนาจึงเป็นการทำความสะอาดจิตใจให้หมดจดผ่องใสอย่างแท้จริงทั้งในส่วนของจิตสำนึกและจิตใต้สำนึกนะครับ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาและเป็นขั้นสูงสุดของพุทธวิธีพัฒนาจิตครับ


ธัมมโชติ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น