Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

รวมคำถามคำตอบหมวดบทวิเคราะห์ (4)

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้เป็นการรวมคำถามคำตอบหมวดบทวิเคราะห์ที่มีผู้สนใจถามเข้ามา เป็นชุดที่ 4 นะครับ



การปฏิบัติธรรมควรเริ่มอย่างไร

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

Subject: การปฏิบัติธรรม

เรียน คุณธัมมโชติ

ขอขอบพระคุณมาก สำหรับคำตอบที่เคยถามไป ผมมีข้อเรียนถามเพิ่มเติมดังนี้

1. การปฏิธรรมควรเริ่มอย่างไรครับ และเราจะรู้ได้อย่างไรว่าวิธีไหนเหมาะกับเรา ทำให้ไปได้เร็ว
2. ควรมีอาจารย์หรือไม่ครับ แล้วจะหาได้ที่ไหนครับ

ขอบพระคุณมากครับ


ตอบ

เรียน คุณ .....

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

ขอตอบคำถามดังนี้นะครับ
  1. การปฏิบัติธรรมควรเริ่มดังนี้ครับ
    1. หาความรู้พื้นฐานให้เข้าใจเสียก่อนครับ ว่ามีหลักการ เหตุผล วิธีการ จุดมุ่งหมายอย่างไรบ้าง

    2. หาคำตอบให้ได้ก่อนว่าเราต้องการอะไรจากการปฏิบัติธรรมนั้น และมีเวลาให้มากแค่ไหน

    3. เลือกวิธีการและสถานที่ที่คิดว่าเหมาะสมกับเรามากที่สุด

    4. ปฏิบัติตามที่เลือกเอาไว้ และประเมินผลเป็นระยะเพื่อปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขต่อไปตามความเหมาะสมนะครับ

    5. ถ้าติดขัดก็ถามผู้รู้ หรือหาความรู้เพิ่มเติม

    • สำหรับเรื่องวิธีที่เหมาะสมกับเรานั้น ผู้ที่จะรู้จริงๆ ก็คือพระพุทธเจ้าเท่านั้นครับ แม้พระสารีบุตรก็ยังปรากฏว่าไม่รู้เลยครับ เพราะฉะนั้นก็คงต้องใช้วิธีทดลองปฏิบัติดูสักระยะหนึ่งก่อน แล้วลองประเมินผลดูว่าเหมาะสมกับเราหรือไม่นะครับ แต่วิธีที่ค่อนข้างใช้ได้ทั่วไปคือ
      • สมาธิใช้อานาปานสติ (กำหนดลมหายใจ) ดูรายละเอียดได้ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) นะครับ
      • คนโกรธง่ายให้แผ่เมตตาบ่อยๆ
      • คนรักสวยรักงามให้พิจารณาอสุภกรรมฐาน (ซากศพต่างๆ ความสกปรกของร่างกาย ความไม่งามต่างๆ ของร่างกาย เช่น ความแก่ เครื่องใน กระดูก)
      • วิปัสสนาใช้สติปัฏฐาน (ดูรายละเอียดได้ในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่เรื่องแรกของหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) นะครับ)

  2. เรื่องอาจารย์นั้นถ้ามีได้ก็ดีครับ (ต้องเป็นอาจารย์ที่รู้จริง ไม่เช่นนั้นแล้วอาจพาหลงทางได้) แต่ถ้าหาไม่ได้ก็ต้องใช้หนังสือเป็นอาจารย์ไปก่อน หนังสือที่น่าอ่านก็ลองดูรายชื่อได้ในเว็บไซต์นี้ ตรงหนังสือน่าอ่านนะครับ

    การถามอาจารย์หรือผู้รู้นั้นก็ต้องพิจารณาคำตอบที่ได้มาให้ดีด้วยนะครับ ว่ามีเหตุผลน่าเชื่อถือหรือไม่ เพราะพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปนานมากแล้ว คำสอนต่างๆ ก็ถูกบิดเบือนไปตามกาลเวลา หาคนรู้จริงยากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

  3. ขอแนะนำเพิ่มเติมว่า ควรอ่านความรู้พื้นฐานเหล่านี้นะครับ ได้แก่
    • จากนั้นก็อ่านเรื่องอื่นๆ ในหมวดต่างๆ ตามความสนใจนะครับ ถ้ามีเวลามากพอก็อ่านพระไตรปิฎกโดยตรงเลยก็จะดีมากเลยครับ

      คิดว่าข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่จะช่วยให้การปฏิบัติง่ายและเร็วขึ้นไม่น้อยเลยครับ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


เป็นคนดีแล้วต้องปฏิบัติธรรมไหม

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้ถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

ถ้าผมพยายามทำตัวให้เป็นคนดี แล้วต้องปฎิบัติธรรมหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ต้องการบรรลุ หรือตัดกิเลสทั้งหมด


ตอบ

ก่อนตอบคำถามนี้ก็คงต้องย้อนถามก่อนนะครับว่า
  1. ทุกวันนี้คุณรู้สึกว่ามีความสุขตามที่ต้องการหรือยังครับ
  2. ถ้ามีความสุขที่ประณีต เบาสบายกว่าความสุขที่คุณสัมผัสอยู่ในปัจจุบันนี้ คุณสนใจที่จะสัมผัสกับความสุขที่ว่านั้นหรือไม่ครับ
ถ้าข้อ 1. คุณตอบว่า "ยัง" หรือข้อ 2. คุณตอบว่า "ต้องการ" หรือ "อยากลองดูบ้าง" การปฏิบัติธรรมก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำครับ เพราะการปฏิบัติธรรมไม่ว่าจะเป็นขั้นศีล สมาธิ หรือวิปัสสนา (ปัญญา) ก็ล้วนทำให้จิตใจประณีต เบาสบายขึ้นทั้งนั้น ถึงแม้จะยังไม่ถึงขั้นบรรลุธรรมหรือตัดกิเลสได้อย่างถาวรก็ตามครับ

ธัมมโชติ


อกุศลกรรมในอดีต

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

สวัสดีครับ

ขอรบกวนคุณธัมมโชติดังนี้ครับ

เรื่องการพิจารณาอกุศลกรรมที่ผ่านไปแล้ว คือคำสอนๆ ให้อยู่กับปัจจุบัน ไม่เศร้าหมองกับสิ่งที่ล่วงไปแล้ว แต่สงสัยครับว่า อาจเป็นการทำให้คนนั้นก่ออกุศลกรรมใหม่อีก หากเขาไม่รู้สึกเศร้าหมองในแง่ที่ว่า สำนึกผิดและละอายต่อบาปที่ได้ทำไป อีกทั้งไม่ได้พิจารณา หรือวิเคราะห์สาเหตุที่พลาดไปเพื่อจะได้นำมาใช้เป็นบทเรียนไม่ให้พลาดไปอีก

มีคำสอนเกี่ยวกับเรื่องการพิจารณาอดีต ในแง่ให้บทเรียนเพื่อการปรับปรุงตน อย่างไร หรือในแง่มุมอื่นใดไหมครับ

ขอบคุณมากครับ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

เรื่องการรักษาจิตให้ได้ผลดีนั้นต้องทำหลายๆ อย่างประกอบกันครับ เพราะแต่ละอย่างที่ทำนั้นก็จะให้ผลในแง่ที่ต่างกันออกไป ถ้าใช้วิธีใดวิธีหนึ่งเพียงอย่างเดียวก็จะให้ผลไม่สมบูรณ์ อย่างที่คุณ ... ได้แสดงความเห็นมา วิธีการที่ควรใช้ประกอบกัน เช่น
  1. การพิจารณาอกุศลกรรมที่ผ่านไปแล้ว คือคำสอนๆ ให้อยู่กับปัจจุบัน ไม่เศร้าหมองกับสิ่งที่ล่วงไปแล้วนั้น เพื่อไม่ให้เรื่องที่ผ่านไปแล้วย้อนกลับมาทำให้เกิดอกุศลจิตในปัจจุบันอีก อันจะเป็นการทำให้บาปกรรมนั้นมีกำลังที่แรงขึ้นโดยไม่จำเป็นครับ แต่ขณะเดียวกันก็ควรใช้วิธีในข้ออื่นๆ ร่วมกันไปด้วยนะครับ ดังจะได้กล่าวถึงในข้อต่อไป

    (เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ในข้อนี้และให้ได้ประโยชน์ที่มากขึ้น แต่อาจจะทำได้ยากสำหรับคนทั่วไปนะครับ ก็คือการพิจารณาสิ่งที่ผ่านมาแล้วด้วยความไม่ยึดมั่น คือคิดว่าสิ่งเหล่านั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว กลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นเราจะไม่ทำจิตให้เศร้าหมองเพราะเรื่องนั้นอีก แต่เราจะใช้เหตุการณ์เหล่านั้นให้เป็นประโยชน์โดยพิจารณาเพื่อให้เกิดข้อคิด เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านั้นเกิดซ้ำขึ้นมาอีก คือใช้อดีตเป็นบทเรียนเพื่ออนาคตที่ดีขึ้นต่อไปนะครับ)

  2. การรักษาศีลที่สมควรแก่ตน เช่น ฆราวาสทั่วไปก็รักษาศีล 5

  3. การสำรวมอินทรีย์ คือ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้อกุศลธรรมเข้าครอบงำได้ (ดูเรื่องอินทรียสังวร ในหมวดศีล ประกอบนะครับ)

  4. มีหิริ และโอตตัปปะ

  5. ทำสมาธิ และวิปัสสนาตามสมควรแก่กำลัง

  6. ฯลฯ ตามกำลัง และศรัทธาที่จะทำได้นะครับ
ถ้าสามารถใช้วิธีการต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมก็จะเป็นผลดีกับผู้ประพฤติปฏิบัติอย่างสมบูรณ์นะครับ ไม่เช่นนั้นก็จะเหมือนกับการอ้างเรื่องไม่ยึดมั่น แล้วไปเที่ยวทำสิ่งไม่ดีต่างๆ ด้วยความไม่ยึดมั่น การใช้ธรรมะอย่างผิดวัตถุประสงค์นั้นก็จะเป็นผลเสียแก่ตัวผู้นั้นเองนะครับ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


ปัญหาสังคมไทย

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้ถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

อยากขอเสนอให้ท่านพิจารณาวิเคราะห์ปัญหาสังคมไทยที่เกิดขึ้นให้ฟังหน่อย ว่าปัจจุบันเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงได้มีปัญหามากมายขนาดนี้ เช่น

-- ประเด็นในเรื่องของการทุจริต คอร์รัปชั่นของคน(นักการเมือง)
-- ประเด็นในเรื่องยาเสพติด การมั่วสุ่มของวัยรุ่นเพื่อทำพฤติกรรมที่ไม่ดี ฯลฯ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

ขอวิเคราะห์ดังนี้ครับ

เนื่องจากเหตุผลต่างๆ เหล่านี้คือ
  1. ความเจริญทางวัตถุนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก

  2. ความสุขที่หาได้จากทางวัตถุนั้นหาได้ง่าย ใช้เวลาน้อย ใช้ความพยายามน้อย ให้ผลทันตาแบบจับต้องได้ คือเพียงแค่มีเงินก็สามารถซื้อหามาได้ โดยไม่ต้องลำบากไปทำ หรือประดิษฐ์ขึ้นมาเอง

  3. สิ่งล่อใจทางวัตถุนั้นมองเห็นได้ชัดเจน มีมากมายมองเห็นได้ทั่วไป มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์กันมาก จึงดึงดูดใจมาก

  4. ความสำเร็จทางวัตถุนั้นเห็นได้ชัดเจน เห็นได้ง่ายว่าใครมีมากมีน้อย สร้างหน้าตาให้กับผู้เป็นเจ้าของได้ง่าย โอ้อวดได้ชัดเจน

  5. มีเงินทุน บุคลากร เทคโนโลยี ที่คอยช่วยกันพัฒนาความก้าวหน้าทางวัตถุอยู่มากมาย

  6. ความสำเร็จทางวัตถุนั้นสามารถสร้างเกียรติยศ ตำแหน่งหน้าที่ ฐานะทางสังคม ความสะดวกสบายให้กับผู้เป็นเจ้าของได้

  7. ความสุขที่ได้รับจากความเจริญทางจิตใจนั้นต้องพยายามด้วยตนเอง คนอื่นทำแทนกันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน รักษาศีล ทำสมาธิ เจริญวิปัสสนา การแผ่เมตตา การปล่อยวาง การรู้สึกว่าพอ (พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่) ฯลฯ

  8. ความสุขที่ได้รับจากความเจริญทางจิตใจนั้นต้องสัมผัสด้วยตนเองถึงจะรู้ได้ ไม่สามารถบอกให้คนอื่นเข้าใจได้ชัดเจน เพราะเป็นความรู้สึกที่ประณีต ละเอียดอ่อน จึงยากในการชักจูงให้คนเห็นความสำคัญจนถึงขั้นมีความเพียรที่จะลองทำดูเองนะครับ

  9. ความเจริญทางจิตใจนั้นถ่ายโอนกันไม่ได้ แต่ละคนต้องเริ่มต้นทำกันเอง การต่อยอดในการพัฒนาจึงแทบเป็นไปไม่ได้ อย่างมากก็เพียงจัดสิ่งแวดล้อมให้ และแนะนำเทคนิคบางอย่างให้เท่านั้น ส่วนที่เหลือต้องปฏิบัติกันเอง การพัฒนาจึงทำได้ช้ากว่าวัตถุมากนะครับ

  10. ความเจริญทางจิตใจนั้นวัดกันได้ยาก มองเห็นไม่ชัดเจน จึงขาดแรงดึงดูดให้คนมาสนใจครับ

  11. จากเหตุผลในข้อ 10. ทำให้ความเจริญทางจิตใจไม่สามารถสร้างหน้าตาให้กับคนในยุคปัจจุบันได้ หรือถ้าได้ก็น้อยเต็มที และไม่ใช่สิ่งจะนำไปโอ้อวดกัน

  12. ทุกวันนี้ความเจริญทางวัตถุมีมากกว่าความเจริญทางจิตใจมาก คนส่วนใหญ่จึงตกไปในกระแสของวัตถุโดยอัตโนมัติอยู่แล้วนะครับ

  13. จากกระแสของโลกทำให้การพัฒนาทางจิตใจนั้นขาดแคลนทั้งบุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือ เงินทุนสนับสนุน อีกทั้งยังมีปัญหาที่บุคลากรด้านนี้บางคนถูกกระแสวัตถุเข้าครอบงำ จนทำตัวให้เสื่อมเสีย ส่งผลให้คนจำนวนมากหันหลังให้กับศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ เป็นการซ้ำเติมพัฒนาการทางจิตใจให้แย่ลงไปอีกครับ

  14. ความสำเร็จทางจิตใจนั้นไม่สามารถสร้างเกียรติยศ ตำแหน่งหน้าที่ ฐานะทางสังคม ความสะดวกสบายให้กับผู้เป็นเจ้าของได้ หรือได้ก็ไม่ชัดเจนเท่าวัตถุนะครับ

  15. ความเจริญทางจิตใจนั้นไม่สามารถใช้แสดงเป็นผลงานของรัฐบาลได้ชัดเจน เหมือนความเจริญทางวัตถุ ดังนั้น รัฐบาลทั้งหลายจึงใส่ใจกับด้านจิตใจน้อยกว่าด้านวัตถุมาก จึงขาดแรงขับดันในการพัฒนาครับ
จากเหตุผลต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ความเจริญทางวัตถุก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ทางด้านจิตใจนั้นกลับถอยหลังไปอย่างรวดเร็วครับ คนจำนวนมากให้ความสำคัญกับวัตถุมาก จนแทบจะเรียกได้ว่าไม่สนใจเรื่องของจิตใจเลย ไม่สนใจเรื่องของศีลธรรมแม้กระทั่งศีลธรรมขั้นพื้นฐาน ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้วัตถุมามากที่สุด แม้ว่าจะทำให้คนอื่นๆ และสังคม รวมถึงประเทศชาติต้องเสียหายอย่างไรก็ตาม (ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญของการทุจริต คอร์รัปชั่นของคนในทุกวงการนะครับ) ปัญหาทางสังคมต่างๆ จึงตามมาอย่างมากมาย และทับถม สับสนปนเปกันจนยากที่จะแก้ไขครับ

แต่เนื่องจากความสุขจากความเจริญทางวัตถุนั้นเป็นความสุขที่ฉาบฉวย มีความสุขเพียงเล็กน้อยเป็นเครื่องล่อ แต่กลับมีความทุกข์ติดตามมาอย่างมากมายนะครับ ไม่ว่าจะเป็นทุกข์จากการแสวงหา การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น การฟาดฟันคู่แข่ง ความกังวลความกลัวการทำร้ายของคู่แข่ง ความไม่มั่นคงของระบบเศรษฐกิจ ความผิดหวัง ความล้มเหลว ฯลฯ นอกจากนี้เมื่อได้ทรัพย์ต่างๆ มาครอบครองแล้ว ยังต้องกังวล เป็นห่วงเป็นใย กลัวว่าจะถูกแย่งชิงไปด้วยกลวิธีต่างๆ อีกด้วย และเมื่อต้องสูญเสียไปจริงๆ ก็ต้องเป็นทุกข์ขึ้นมาอีก

ดังนั้นเมื่อวัตถุเจริญมากขึ้นแทนที่ความสุขจะมากขึ้น กลับเป็นตรงกันข้ามนะครับ แม้ร่างกายจะมีความสุขก็จริง แต่จิตใจนั้นกลับเต็มไปด้วยความทุกข์สารพัดรูปแบบ ทั้งความกลัว กังวล ว้าเหว่เพราะขาดคนที่จะคบด้วยอย่างจริงใจ เหงา ร้อนรุ่มด้วยไฟราคะ โทสะ โมหะ (ความโลภ โกรธ หลง) ฯลฯ

คนทั้งหลายจึงพยายามหาทางแก้ทุกข์กันสารพัดวิธีนะครับ ซึ่งวิธีที่ง่ายและสะดวกสบาย เห็นผลได้รวดเร็ว ก็เช่น การหันหน้าเข้าหาอบายมุขชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหล้า บุหรี่ ยาเสพติดชนิดต่างๆ ฯลฯ น้อยคนนักที่จะหันหน้าเข้าสู่ทางที่จะพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง คือการแก้ที่จิตใจโดยตรงด้วยการปฏิบัติธรรม

จากการที่คนจำนวนมากตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาวัตถุจนไม่มีเวลาให้กับครอบครัว ทำให้ต้องเลี้ยงดูครอบครัวด้วยเงิน แทนที่จะเป็นความรัก ความเข้าใจ ความอบอุ่น กำลังใจ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดังนั้นปัญหาในครอบครัวจึงตามมาครับ ถ้าหนักมากก็ถึงขั้นหย่าร้าง หรือฆ่ากันตายก็มี เบาลงมาหน่อยก็มีปัญหากับลูกๆ นะครับ

เมื่อเด็กขาดความอบอุ่นจากพ่อแม่ จึงต้องหาความอบอุ่นจากที่อื่นมาทดแทน ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นเพื่อนๆ นะครับ และถ้าโชคร้ายคบเพื่อนที่ไม่ดี ก็มักจะชักจูงกันไปหาความสุขที่ฉาบฉวย หาได้ง่าย ก็คือเหล้า บุหรี่ และยาเสพติดต่างๆ นั่นเองครับ

นอกจากนี้ก็ยังมีการหาความสุขอย่างอื่นเช่น การแต่งตัวตามแฟชั่นเพื่ออวดกัน การแข่งรถ ฯลฯ อันเป็นความสุขเล็กๆ ที่พอหาได้ และเมื่อวัยรุ่นมารวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่มากขึ้น ความรู้สึกว่ากลุ่มของตนเขื่องก็ตามมา จึงเป็นสาเหตุของการยกพวกเข้าทำร้ายกัน ดังที่เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ นะครับ

และเนื่องจากการเจริญเติบโตมาอย่างขาดความอบอุ่นของเด็กจำนวนมากนี้เองครับ ทำให้เด็กพยายามหาที่พึ่งทางใจต่างๆ เช่น การมีแฟน การเรียนให้ได้ผลการเรียนดีที่สุดเพื่อให้คนอื่นยอมรับ ฯลฯ และพยายามทุ่มเทให้กับสิ่งที่ตนคิดว่าเป็นที่พึ่งนั้นอย่างหมดตัวหมดหัวใจ เมื่อผิดหวังจึงรู้สึกเหมือนโลกนี้ไม่มีอะไรเหลืออีกแล้ว การฆ่าตัวตายจึงตามมาครับ

และเนื่องจากการชอบแสวงหาความสุขแบบฉาบฉวย ประกอบกับการทุ่มเทให้กับสิ่งที่คิดว่าเป็นที่พึ่งทางใจอย่างหมดตัวหมดหัวใจนี้เอง การมีเพศสัมพันธ์ก่อนเวลาอันควรจึงตามมาครับ ไม่ว่าจะด้วยความยินยอมพร้อมใจ หรือขัดอีกฝ่ายไม่ได้ก็ตาม (รวมทั้งกรณีที่คนที่มีเงินน้อย แต่พยายามแสวงหาความสุขจากวัตถุให้ได้มากๆ จนถึงกับยอมเอาร่างกายแลกกับเงินด้วยนะครับ) ปัญหาการตั้งท้องโดยไม่พร้อม การทำแท้ง การคลอดลูกแล้วทิ้งอันทำให้เกิดปัญหาเด็กเร่ร่อน ปัญหาเรื่องโรคเอดส์ ฯลฯ จึงเกิดขึ้นอย่างมากมายครับ

ปัญหาทางสังคมทั้งหลายจึงเกิดขึ้น พอกพูน ทับถม ซับซ้อน ยากที่จะแก้ไข ด้วยประการฉะนี้

ท่านคิดว่าถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาจิตใจให้มากกว่าที่เป็นอยู่ (อย่างมากๆ) ???

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


ควรอ่านธรรมะมากแค่ไหน

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

ต้องอ่านธรรมะมากแค่ไหนควบคู่ไปกับการปฏิบัติ เพราะดิฉันเพิ่งตาม (พยายาม) อ่านพระไตรปิฎก หลังจากเจอ web ของคุณธัมมโชตินี่แหละค่ะ ก่อนหน้านี้อ่านแบบวิเคราะห์มาตลอด สอบอารมณ์ก็ตอบไม่ได้ทุกที (เรื่องหัวข้อธรรมะที่เป็นชื่อยากๆ นะคะ) เรียกไม่ถูก แต่ก็สนใจอยู่มากค่ะ คาดว่าจะพยายามทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ หากมีโอกาส จะพยายามหาให้ได้ในชาตินี้แหละค่ะ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

การอ่านธรรมะนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ ถ้าอ่านน้อยไปก็อาจปฏิบัติผิดทางได้ แต่ถ้าอ่านมากไปก็จะทำให้ปฏิบัติได้ผลช้า เพราะเวลาปฏิบัติเวลาอาการต่างๆ เกิดขึ้น ก็จะมัวแต่นั่งคิดเทียบเคียงกับทฤษฎีอยู่ การปฏิบัติเลยไปไม่ถึงไหนซักทีครับ

แล้วเผลอๆ เข้าใจผิดว่าปฏิบัติได้ขั้นนั้นขั้นนี้ เพราะเอาสัญญา (ความจำได้หมายรู้) จากการอ่าน มาคิดว่าเป็นปัญญา (ความรู้แจ้ง) จากการปฏิบัติไปเลยก็มีครับ เพราะสัญญากับปัญญานั้นมีความลึกซึ้งต่างกัน แต่เข้าใจผิดได้ง่าย

แต่การอ่านมากก็มีข้อดีอยู่เหมือนกันครับ คือถึงแม้จะปฏิบัติได้ผลช้า แต่ถ้าปฏิบัติได้ผลแล้วก็จะสอนคนอื่นได้มาก เพราะความรู้จะแน่นกว่าครับ

ดังนั้นถ้าจะปฏิบัติให้ได้ผลเร็วแล้ว ก็ควรอ่านให้เพียงพอที่จะสามารถปฏิบัติไปได้อย่างมั่นใจ หลังจากนั้นถ้าติดปัญหาอะไรก็อ่านเพิ่มเติมตามกรณีที่เหมาะสมนะครับ (แต่ถ้ามีอาจารย์ที่เก่งๆ อยู่ใกล้ๆ ท่านก็จะพิจารณาได้ว่าควรให้เราทำอะไรเวลาไหน ก็จะได้ผลเร็วที่สุดครับ)

สรุปว่าการอ่านมากหรือน้อยก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไปนะครับ จะเลือกแบบไหนก็ขึ้นกับความชอบของแต่ละท่านนะครับ แต่ไม่ว่าจะอ่านมากหรือน้อยก็ตาม การอ่านนั้นก็ควรเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัตินะครับ ถ้ายิ่งอ่าน มานะ (ความเย่อหยิ่งถือตัว) ยิ่งสูง กิเลสยิ่งหนา หรือมัวเพลิดเพลินอยู่กับการอ่านจนไม่มีเวลาหรือไม่สนใจการปฏิบัติธรรม อย่างนั้นก็ควรพิจารณาให้ดีนะครับ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น