Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

รวมคำถามคำตอบหมวดบทวิเคราะห์ (5)

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้เป็นการรวมคำถามคำตอบหมวดบทวิเคราะห์ ที่มีผู้สนใจถามเข้ามาเป็นชุดที่ 5 นะครับ



เจ้ากรรมนายเวร

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

สวัสดีครับ

เรียนถามเรื่อง เจ้ากรรม นายเวรครับ เข้าใจว่าเป็นคติที่เกิดในภายหลัง

รวมทั้งเรื่องการขอขมา อโหสิ

ขอบคุณมากครับ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

ผมไม่ค่อยเข้าใจคำถามนะครับว่าถามในแง่ไหน ขอตอบดังนี้ครับ

เรื่องการจองเวรนั้นเป็นธรรมดาของปุถุชนในทุกภพภูมิครับ ในโลกมนุษย์นี้ก็มีให้เห็นกันโดยทั่วไป ในพระไตรปิฎกที่กล่าวถึงเรื่องนี้ที่จำได้ก็มีในส่วนอรรถกถาของธรรมบทครับ (ในเนื้อพระไตรปิฎกเองพระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้เป็นภาษิตสอนใจสั้นๆ นะครับ แล้วอาจารย์รุ่นหลังก็ได้ขยายความ อธิบายที่มาและรายละเอียดของธรรมบท บทนั้นอีกทีหนึ่งครับ เรียกว่าอรรถกถาของธรรมบท) ที่มีการจองเวรกันหลายภพหลายชาติ จนกระทั่งได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าถึงได้เลิกจองเวร แล้วหันมาช่วยเหลือเกื้อกูลกันครับ (อ่านรายละเอียดได้ใน อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑ เรื่องความเกิดขึ้นของนางกาลียักษิณี ซึ่งเป็นธรรมบทที่ 4 ของวรรคนี้ครับ)

ผมขออธิบายตามความเข้าใจของผมดังนี้นะครับ

มนุษย์รวมทั้งสัตว์ทั้งหลายที่ยังหนาแน่นไปด้วยกิเลสนั้น เมื่อถูกใครทำให้ไม่พอใจอย่างรุนแรงก็จะเป็นไปได้ที่จะผูกโกรธเอาไว้จนกลายเป็นความอาฆาตพยาบาทอย่างรุนแรงฝังอยู่ในใจ เมื่อตายไปแล้วไม่ว่าจะไปเกิดใหม่ในภพภูมิใด ความอาฆาตในใจนั้นก็จะทำหน้าที่เหมือนเป็นแรงอธิษฐานนะครับ

(ผู้ที่อธิษฐานสิ่งใดเอาไว้ด้วยจิตที่มีกำลังแรง เมื่อเกิดในชาติต่อๆ ไป คำอธิษฐานนั้นก็ยังสามารถส่งผลต่อไปได้นะครับ เช่น ผู้ที่อธิษฐานเป็นพระพุทธเจ้าด้วยจิตที่แน่วแน่ มีกำลังแรง เมื่อเกิดชาติต่อๆ ไป ก็จะยังคงสร้างบารมีเพื่อให้ได้เป็นพระพุทธเจ้าต่อไปเรื่อยๆ ถึงแม้จะระลึกชาติไม่ได้ หรือจำไม่ได้ว่าเคยอธิษฐานเอาไว้ก็ตามนะครับ และเมื่อพยายามเจริญวิปัสสนาเพื่อให้บรรลุมรรคผลในชั้นสาวกภูมิ แรงอธิษฐานนั้นก็จะมาขัดขวางมรรคผลเอาไว้ นอกจากจะอธิษฐานจิตเลิกคำอธิษฐานเดิมเสียก่อนครับ)

เรื่องแรงอาฆาตนั้นก็น่าจะส่งผลในลักษณะเดียวกันนะครับ คือจะส่งผลให้คอยจองเวรไปไม่รู้จบสิ้นจนกว่าจะเลิกรากันไปเอง ถึงแม้ในบางกรณีจะระลึกชาติไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อเจอกันแล้วก็จะรู้สึกไม่ชอบใจขึ้นมาได้โดยอัตโนมัติครับ

เรื่องการขอขมา อโหสินั้น จะสัมฤทธิ์ผลได้ก็เมื่อเจ้ากรรมนายเวรนั้นรับรู้ และยอมเลิกจองเวรด้วยใจจริงครับ ซึ่งถ้าเป็นคนด้วยกันก็คุยกันง่ายหน่อย มีปัญหาอะไรก็คุยกันอย่างเปิดเผย จริงใจ เรื่องก็จบลงได้ง่าย แต่ถ้าอยู่กันคนละภพภูมิก็คงลำบากหน่อยครับ นอกจากจะมีความสามารถพิเศษสามารถติดต่อพูดคุยกันได้

โดยทั่วไปแล้วเท่าที่ทำได้ก็คือ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ การแผ่เมตตาให้ เพื่อลดความเร่าร้อนในใจของทั้งสองฝ่ายลง แล้วอธิษฐานจิตทำความเข้าใจกัน และขอขมา ขออโหสิกันไป ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าอีกฝ่ายจะเลิกจองเวรครับ

และถ้าเรารู้สึกสำนึกผิดในสิ่งที่ทำไปแล้ว อย่างจริงใจ ทั้งสิ่งที่ตั้งใจ ไม่ตั้งใจ รู้ตัว ไม่รู้ตัว โอกาสที่อีกฝ่ายจะให้อภัยก็มากขึ้นครับ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


การลดการผูกโกรธ - บุพเพสันนิวาส

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

Subject: ผูกโกรธ บุพเพฯ

อยากเรียนถามว่า การลดการผูกโกรธ แรงอาฆาตพยาบาท ไม่ยอมให้อภัยจริงๆ แต่ก็ไม่ถึงกับตั้งใจจะเอาคืน ทำอย่างไรได้ผลดี เร็ว แผ่เมตตาแล้วใจก็ยังไม่ค่อยอยากให้อภัยง่ายๆ เหมือนอาบน้ำแล้วแต่ก็ไม่รู้สึกว่าสะอาด จะเหม็นก็ไม่เชิง จะสบายตัวก็ไม่ใช่

ไม่อยากมีอะไรตกตะกอนอยู่ในใจค่ะ กลัวว่าจะเป็นเชื้อกรรมให้มาใช้คืนกันอีกไม่รู้จบ เป็นฝ่ายกระทำก็ไม่อยากเป็นอยู่ดี

บุพเพสันนิวาสคืออะไร หลบเลี่ยงได้ไหมคะ?

สองคำถามค่ะ ขอบคุณค่ะ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ
  1. เรื่องการลดการผูกโกรธ แรงอาฆาตพยาบาท อย่างกรณีที่ถามมานี้ ก็คงต้องใช้การพิจารณาประกอบด้วยครับ คือพิจารณาโทษของการผูกโกรธและคุณของการปล่อยวาง

    โทษของการผูกโกรธ เช่น จิตใจของเราเองก็จะเป็นทุกข์เร่าร้อน หยาบกระด้าง ไม่เป็นอิสระ ไม่ประณีตเบาสบาย สุขภาพกายและใจก็แย่ หน้าตาก็ไม่ผ่องใส

    แต่ถ้าปล่อยวางได้ก็จะเป็นตรงกันข้าม คือ จิตใจประณีต เบาสบาย มีความสุขกายสบายใจ เป็นอิสระ หน้าตาผ่องใส ฯลฯ

    คิดพิจารณาว่าการผูกโกรธเอาไว้นั้นไม่มีประโยชน์อะไรเลยนะครับ มีแต่โทษอย่างเดียว และผู้ที่ได้รับผลจากความรู้สึกเช่นนั้นอย่างเต็มที่ แท้จริงก็คือตัวเรานั่นเองครับ เหมือนกับว่าไม่พอใจคนอื่นแต่กลับมาทำร้ายตัวเอง จริงๆ นะครับ คิดดูให้ดี

    ควรจะคิดว่าปล่อยให้เป็นไปตามกรรมดีกว่านะครับ ใครทำกรรมอะไรเอาไว้ก็จะได้รับผลกรรมอันนั้นเอง ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะไปส่งผลกรรมนั้นให้กับเขา

    และก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะคอยติดตามดูว่าเขาได้รับผลกรรมอันนั้นหรือยังด้วยครับ เพราะถ้าทำอย่างนั้นก็จะส่งผลเช่นเดียวกับการผูกโกรธเอาไว้นั่นเองครับ อย่างน้อยก็ทำให้ใจเราไม่เป็นอิสระ

    นอกจากนี้ก็ควรพิจารณาเรื่องเหตุปัจจัยประกอบไปด้วยนะครับ คือคิดดูว่าตัวเราเองยังไม่สามารถกำหนดชีวิตของเราเองได้ทุกอย่างเลย ดังนั้นการที่เขาทำให้เราไม่พอใจนั้น ก็คงเป็นเพราะถูกเหตุปัจจัยต่างๆ บีบบังคับมาเช่นกันนะครับ รวมถึงอาจเกิดจากความเข้าใจผิด หรือความไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ได้ครับ แม้ตัวเราเองก็ยังเป็นเช่นนั้นได้ ก็ควรจะให้อภัยในความผิดพลาดของคนอื่นด้วยเช่นกันนะครับ

    แต่ถ้าพิจารณาแล้วยังไม่หายก็คงต้องรอให้ปัญญาเกิดขึ้นก่อนแล้วหละครับ คือต้องให้ทนทุกข์จากการผูกโกรธเอาไว้จนกระทั่งเห็นโทษภัยและความไร้สาระด้วยปัญญาของเราเองอย่างแท้จริง แล้วจิตก็จะวางลงได้เองโดยอัตโนมัติครับ

    หรือเมื่อเห็นความจริงของชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ก็จะพ้นจากความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงลงไปได้เองครับ

  2. บุพเพสันนิวาส คือการที่เคยอยู่ร่วมกันมาในชาติปางก่อนครับ (บุพพ = ก่อน, นิวาส = ที่อยู่อาศัย) คืออาจจะเคยเป็นพ่อ แม่ ลูก หลาน สามี ภรรยา เพื่อน ฯลฯ กันในชาติก่อนๆ เมื่อเจอกันในชาตินี้จึงทำให้รู้สึกคุ้นเคยกัน ได้ง่ายกว่าคนทั่วๆ ไปครับ

    เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว (ในชาติก่อนๆ ) จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความคุ้นเคยที่ยังฝังอยู่ในใจได้ครับ จะหลีกเลี่ยงได้ก็เฉพาะการกระทำในปัจจุบันนี้เท่านั้น คือเราสามารถเลือกได้ (ตามเหตุปัจจัย) ว่าเราจะทำอย่างไร หรือจะสร้างเหตุปัจจัยใหม่อย่างไรนะครับ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


เจ้ากรรมนายเวรและการแผ่เมตตา

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

หากการที่ไม่ได้เป็นเจ้ากรรมนายเวรกันมาก่อน มีโอกาสจะสร้างของใหม่ เบียดเบียนกันให้ได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจได้ไหมคะ ถ้าอย่างนี้เราเอง ก็ต้องมีของที่ต้องชดใช้อยู่สิคะ ถึงจะไม่ใช้กับเจ้านี้ก็ตาม

กรณีแบบนี้แผ่เมตตาให้เขาจะลดความรุนแรง หรือความเป็นอุปสรรคใดๆ ลงได้บ้างไหมคะ หรือถ้าเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันมาแต่เก่าก่อน ทำอย่างไร จะลดลงได้บ้าง แผ่เมตตาก็แล้ว นั่งสมาธิก็แล้ว อธิฐานจิตขอผ่อนปรนออกไปบ้างก็แล้ว ก็ยังหนักอยู่ เป็นอุปสรรคทางการเรียนและการงานล้วนๆ มีอะไรต่อเนื่องตลอด


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ
  1. เรื่องเจ้ากรรมนายเวรนั้นก็สามารถเกิดขึ้นมาใหม่ได้เรื่อยๆ หละครับ ตราบใดที่ยังมีกิเลสกันอยู่ เจ้ากรรมนายเวรเก่าๆ นั้นก็เริ่มจากที่ไม่เคยมีเวรกันมาก่อนทั้งนั้น เพราะแรกสุดเลยเมื่อชีวิตอุบัติขึ้นมาใหม่ๆ ก็ไม่มีใครเคยมีเวรกับใครมาก่อนทั้งนั้นนะครับ (ตามหลักความจริงนะครับ) แล้วความกระทบกระทั่งก็ค่อยๆ เริ่มขึ้นทีละน้อย จนใหญ่โตในที่สุด

    การแผ่เมตตานั้นช่วยได้แน่นอนครับ ถ้าเมตตามีกำลังไม่มากพออย่างน้อยก็ทำให้จิตเราเย็นขึ้นบ้าง แต่ถ้าเมตตาจิตนั้นมีกำลังมากๆ แม้แต่สัตว์เดรัจฉานที่ดุร้ายยังอ่อนให้เลยครับ

  2. เรื่องอุปสรรคต่างๆ นั้นเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตครับ คิดดูว่าอย่างพระพุทธเจ้าซึ่งทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นมาตลอดยังเจออุปสรรคเลยครับ ถูกลอบปลงพระชนม์ก็หลายครั้ง แต่ด้วยพระบารมีเลยปลอดภัยทุกครั้ง

    โลกธรรม 8 อย่างนี้เป็นของคู่โลกครับ คือ ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ ได้รับการสรรเสริญ ถูกนินทา เป็นสุข เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นเมื่อมีชีวิตอยู่ก็ต้องยอมรับสภาพความจริงอันนี้ รักษาจิตไว้ให้มั่นคงที่สุด จะได้เป็นทุกข์น้อยที่สุด แล้วก็ค่อยๆ แก้ปัญหากันไปตามสภาพนะครับ

  3. แต่ละคนก็มีปัญหาแตกต่างกันไป จะว่าใหญ่หรือเล็กก็ขึ้นกับมุมมองของแต่ละคนนะครับ และที่สำคัญก็ขึ้นกับกำลังใจของคนที่เผชิญปัญหานั้นด้วย เพราะฉะนั้นก็คงยากที่จะตัดสินว่าปัญหาของใครใหญ่หรือเล็กกว่ากันนะครับ

    แต่ถ้าทำใจรับสภาพความจริงของโลกได้ ก็คงไม่มีปัญหาอะไรที่จะเรียกว่าใหญ่จนเกินไปนะครับ อย่างมากก็แค่ตายเท่านั้นเอง (ไม่ได้มีเจตนาจะไม่สุภาพ และไม่ได้หมายถึงว่าให้ไปฆ่าตัวตายนะครับ แต่หมายถึงว่าไม่มีปัญหาอะไรใหญ่โต มากมายอย่างที่เราวิตกกังวลกันไป) ซึ่งทุกคนก็หนีไม่พ้นความตายอยู่แล้วนะครับ

    ใครที่รักษาจิตได้ดีอย่างสม่ำเสมอ ก็คงไม่ต้องกลัวความตายหรอกนะครับ เพราะโอกาสจะตกไปสู่ที่ต่ำนั้นก็จะน้อยลงไปตามขั้น

    ปัญหาที่กำลังเจออยู่คงไม่หนักถึงขั้นนั้นใช่มั้ยครับ เพราะฉะนั้นก็สบายใจได้ :) ใจเย็นๆ ค่อยๆ แก้ไปนะครับ กลางคืนผ่านไปกลางวันก็เข้ามาแทนที่ ฝนตกหนักไม่นานฟ้าก็ใส ปัญหาต่างๆ ก็มีวันสิ้นสุดเช่นกันครับ

ธัมมโชติ


การแก้กรรม

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

เรื่องการแก้กรรม คือ บางท่านมีความเชื่อว่า กรรมเก่าสามารถชดใช้ หักล้างได้ และต้องแก้ด้วยกรรมประเภทนั้น เช่น ฆ่าชีวิต ก็ให้ทำทานชีวิต ปล่อยปลา เป็นต้น

บางท่านว่า ใช้การนั่งกรรมฐาน (และทำทาน) แก้กรรม

เรียนขอความเห็นครับ

ขอบคุณครับ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

สำหรับเรื่องกรรมตามความเข้าใจของผมนั้น ขอแยกเป็นกรณีดังนี้ครับ

ตามแนวพระสูตรแล้วผลของกรรมจะสิ้นสุดได้อย่างแท้จริงก็เมื่อปรินิพพานไปแล้วนะครับ (ผลของกรรมนั้นอาจจะยังเหลืออยู่ แต่หมดโอกาสส่งผลได้อีก) หรือไม่ก็กรรมนั้นส่งผลจนหมดกำลังแล้วเท่านั้นนะครับ (ผลของกรรมนั้นหมดสิ้นไปแล้ว จึงไม่ส่งผลอีกต่อไป) แม้แต่พระพุทธเจ้าเองเมื่อยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ก็ยังถูกกรรมเก่าตามให้ผลหลายครั้งนะครับ

แต่ถ้าเป็นคำสอนในแนวอภิธรรมนั้นจะมีการกล่าวถึงอโหสิกรรม คือการที่กรรมไม่สามารถส่งผลได้อยู่ด้วย (ในชาติปรกติ) แต่ผมมองเรื่องนี้ว่าเป็นการวิเคราะห์อย่างเฝือเกินไป (โดยอาจารย์รุ่นหลังๆ นะครับ) เพราะมีการแบ่งการทำกรรมออกเป็นขณะจิตในชวนจิต (ทั้งๆ ที่เป็นการกระทำเพียงครั้งเดียว แต่ช่วงที่ทำกรรมนั้นจิตเกิดดับติดต่อกันอย่างรวดเร็วหลายวิถีจิต)

คือมองว่าในการทำกรรมครั้งเดียวนั้นมีวิถีจิตเกิดขึ้นหลายวิถีจิต และในแต่ละวิถีจิตก็มีชวนจิตเกิดได้เต็มที่ 7 ดวง หรือ 7 ขณะ แล้วก็วิเคราะห์ต่อว่าจิตดวงไหน (ดวงที่ 1 ถึง 7 ของชวนจิตในแต่ละวิถีนั้นนะครับ) น่าจะมีกำลังแรงที่สุด ปานกลาง น้อยที่สุด จากนั้นก็วิเคราะห์ว่าจิตที่มีกำลังขนาดไหนควรจะส่งผลในชาติไหน (ชาติปัจจุบัน, เป็นกรรมนำเกิดในชาติต่อไป, ส่งผลในชาติที่ 2-3, ส่งผลหลังจากนั้นไปอีก) (ซึ่งการวิเคราะห์นี้ ก็มีความเห็นที่ไม่ค่อยจะตรงกันในแต่ละอาจารย์ รวมถึงไม่มีพุทธพจน์รับรองด้วยครับ)

จึงสรุปออกมาว่าการทำกรรมในขณะของชวนจิตดวงไหนจะส่งผลในชาติไหน เมื่อวิเคราะห์ถึงขั้นนี้แล้วจึงมองว่ากรรมที่เกิดในชวนจิตดวงที่คิดว่าจะต้องส่งผลในชาติใดนั้น เมื่อยังไม่ส่งผลแต่ตายพ้นจากชาตินั้นไปก่อนจึงหมดโอกาสส่งผล จึงกลายเป็นอโหสิกรรมไปครับ เหลือแต่กรรมที่เกิดในขณะจิตอื่นๆ ของชวนจิตที่จะรอส่งผลต่อไป (ซึ่งเป็นกรรมที่ทำในครั้งเดียวกันนั้น)

ซึ่งจะต่างจากแนวพระสูตรที่จะมองการทำกรรมรวมเป็นกรรมนั้นๆ ทั้งก้อน ไม่แตกย่อยเป็นขณะจิตครับ ดังนั้นถ้ากรรมในก้อนนั้น (คือในการกระทำครั้งนั้นๆ ไม่ว่าในขณะจิตใด) ยังส่งผลได้อีก ก็จะถือว่ายังไม่เป็นอโหสิกรรม ดังนั้นการส่งผลของกรรมจะสิ้นสุดได้ก็ต่อเมื่อกรรมนั้นส่งผลจนหมดกำลังไปแล้ว หรือเมื่อปรินิพพานไปแล้วเท่านั้นครับ

ซึ่งการวิเคราะห์ตามแนวพระสูตรนี้จะพบได้ทั่วไปในพระไตรปิฎก ดังนั้นผมจึงยึดตามแนวพระสูตรเป็นหลักครับ

ในประเด็นที่ถามมาถึงการแก้กรรมเก่านั้น (คงจะหมายถึงการทำให้กรรมเก่าหมดไป คือส่งผลไม่ได้อีกโดยการทำกรรมดีแก้กันนะครับ) ขอแยกตอบเป็น 2 ประเด็นนะครับ
  1. กรณีการจองเวรของเจ้ากรรมนายเวร คือการทำให้เขาเลิกจองเวรนั้นก็คงมีอยู่หลายวิธีนะครับ เช่น เขาทำให้เราเดือดร้อนจนพอใจแล้วจึงเลิกจองเวร, จองเวรจนเบื่อแล้วเลยเลิกไปเอง, เราสำนึกผิดได้อย่างจริงใจแล้วเขาเลยพอใจเลิกจองเวร, เราทำความดีแล้วอุทิศส่วนกุศลให้เขาจนเขาพอใจเลยเลิกจองเวร, เขาเข้าถึงธรรม หรือเห็นโทษของการจองเวรแล้วเลยเลิกจองเวร ฯลฯ

    การเลิกจองเวรนั้นเป็นส่วนของเวรเท่านั้นนะครับ ไม่ได้หมายถึงว่าเลิกจองเวรแล้วผลของกรรมนั้นจะสิ้นสุดไปด้วยนะครับ

  2. กรณีมองที่ตัวกรรมโดยตรงนั้น กรรมจะเลิกส่งผลได้อย่างแท้จริง ก็คงต้องเป็นอย่างที่อธิบายไปแล้วข้างต้นนะครับ

    แต่การทำบุญทดแทนนั้นก็น่าจะส่งผลได้หลายกรณีครับ เช่น บุญนั้นขวางกรรมเก่าเอาไว้ก่อน ทำให้กรรมเก่าไม่สามารถส่งผลได้ในขณะนั้น ต้องรอส่งผลในโอกาสต่อๆ ไป, กรรมเก่าและกรรมใหม่ (บุญที่ทำทดแทนนั้น) ส่งผลพร้อมๆ กัน ทำให้ไม่เดือดร้อนเพราะกรรมเก่ามากนัก เหมือนกรรมเก่าทำให้ต้องทนร้อนอยู่กลางแดด แต่กรรมใหม่ทำให้ได้ดื่มน้ำเย็นๆ ช่วยคลายร้อนไปได้บางส่วน หรือกรรมเก่าทำให้อายุสั้น แต่กรรมใหม่ทำให้อายุยืน ผลจึงทำให้อายุไม่สั้นแต่ก็ไม่ยืนยาวมากนัก เป็นต้น (ผมตอบตามแนวพระสูตรนะครับ)

    และถ้าบุญที่ทำนั้นส่งผลในทางตรงข้ามกับบาปกรรมเก่าโดยตรง ก็น่าจะเป็นการแก้ที่ตรงจุดดีนะครับ ส่วนการทำกรรมฐานนั้น เนื่องจากว่าเป็นบุญที่มีผลมาก (ดูเรื่องเวลามสูตร : เปรียบเทียบผลบุญชนิดต่างๆ ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบนะครับ) ดังนั้นถึงแม้ว่าอาจจะเป็นการแก้ที่ไม่ตรงจุดนัก แต่ก็น่าจะช่วยได้เช่นเดียวกันนะครับ

    สรุปง่ายๆ ว่า สิ่งใดเป็นบุญก็ทำๆ ไปเถอะครับ ไม่มีอะไรเสียหายอยู่แล้ว

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


ฆ่าตัวตาย-ถูกฆ่าตาย

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

คนที่ฆ่าตัวตายในชาติก่อน เช่น ยิงตัวตาย ต้องไปรับกรรมที่ไหนบ้าง (เพราะเคยอ่านเจอว่าเป็นกรรมหนักหนึ่งในห้าอย่าง) การกลับมาเกิดเป็นคนใหม่ในชาติภพต่อมาเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

และเคยอ่านว่า คนที่ฆ่าตัวตายมีแนวโน้มของจิตที่จะโน้มไปสู่การฆ่าตัวตายได้อีกในชาติต่อๆ มา มีวิธีการช่วยเหลือคนเหล่านี้อย่างไรบ้างคะ ที่ช่วยไม่ให้จิตโน้มไปแบบนั้นอีก (ถ้าเป็นไปได้ ต่อๆ ไปชาติถัดๆ ที่เหลือด้วยก็ดี)

และเป็นไปได้หรือไม่ว่ามีโอกาสมาเกิดเป็นคนได้เร็วๆ เข่นตายไป สี่ห้าปีก็มาเกิดอีกเป็นคน และเป็นคนที่มีคุณสมบัติค่อนข้างดี (ไม่น่าเชื่อว่าเป็นจิตเก่าของคนที่ฆ่าตัวตายมาก่อน) และเกิดใหม่ได้เร็วขนาดนั้น ไม่ต้องรับกรรมก่อนเหรอคะ

อีกนัย หากถูกฆ่าตายแบบไม่รู้ตัว เช่น ถูกลอบวางแผนฆ่า อย่างนี้จิตจะตามอาฆาตหรือเปล่าคะ เพราะตอนตายไม่รู้ตัวว่าโดนฆ่าตายนี่คะ และหากเป็นเช่นนั้น ตัดกรรมกันอย่างไร เพราะตอนตายก็ไม่ได้อาฆาตมาดร้าย (เพราะไม่รู้) แต่ผู้ที่ฆ่า ตามหลักกรรมก็ต้องถูกเหนี่ยวมาชดใช้กันอยู่ดี ซึ่งก็เป็นวงจรที่ไม่จบ คำถามคือ ทำไงให้จบ หรือสั้นที่สุด

ขอบคุณค่ะ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

เรื่องการฆ่าตัวตายนั้นไม่จัดอยู่ในอนันตริยกรรม 5 นะครับ อนันตริยกรรม 5 มี 5 อย่าง คือ

1. มาตุฆาต - ฆ่ามารดา
2. ปิตุฆาต - ฆ่าบิดา
3. อรหันตฆาต - ฆ่าพระอรหันต์
4. โลหิตุปบาท - ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อเลือด
5. สังฆเภท - ยุสงฆ์ให้แตกแยกจนไม่ลงโบสถ์ทำสังฆกรรมร่วมกัน

เรื่องบาปกรรมของการฆ่าตัวตายนั้น ลองดูเรื่องโทษของการฆ่าตัวตาย ในหมวดบทวิเคราะห์ ประกอบนะครับ

โอกาสการได้กลับเป็นคนนั้น ก็ขึ้นกับพื้นฐานจิตใจของคนนั้นด้วยนะครับ ถ้าเป็นคนที่ปรกติพื้นฐานจิตใจดี ทำบุญอย่างสม่ำเสมอ แล้วมาถูกเหตุปัจจัยบีบคั้นอย่างรุนแรงจนตั้งตัวไม่ติดแล้วพลาดพลั้งฆ่าตัวตายนั้น โอกาสได้กลับมาเกิดเป็นคนก็เร็วหน่อยนะครับ คือเมื่อใดเขานึกถึงบุญเก่าได้ จิตใจก็จะประณีต ผ่องใสขึ้น ถ้าจิตประณีตเพียงพอแก่การเกิดเป็นคน ก็พร้อมจะเกิดเป็นคนได้ทันทีถ้าขณะนั้นเป็นโอปปาติกะอยู่ แต่ถ้าอยู่ในภูมิอื่น เช่น เป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ต้องรอให้พ้นจากภพภูมินั้นก่อนครับ (รอจนกว่าจะตาย) เพราะจะไม่สามารถเปลี่ยนภพภูมิได้รวดเร็วเหมือนโอปปาติกะ

แต่ถ้าเป็นคนที่พื้นฐานจิตใจแย่ก็คงต้องรอนานหน่อยนะครับ เพราะโอกาสที่จะนึกถึงบุญกุศลก็ย่อมจะน้อยลงไปตามขั้น

เรื่องที่คนที่ฆ่าตัวตายมีแนวโน้มของจิตที่จะโน้มไปสู่การฆ่าตัวตายได้อีกในชาติต่อๆ มานั้นก็เป็นไปได้ครับ เพราะธรรมดาคนที่คิดฆ่าตัวตายนั้นมักจะมีสภาพจิตใจที่ไม่ปรกติเท่าไหร่ เช่น ไม่มีความพยายามในการแก้ปัญหา คิดสั้น ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เก็บกด ซึมเศร้า ฯลฯ เมื่อตายไปแล้วสภาพจิตเช่นนี้ก็ย่อมจะตามไปด้วยนะครับ จนกว่าจะมีเหตุปัจจัยอื่นๆ มาลดกำลังของสภาพจิตเช่นนี้ลงไป

ทางแก้ก็คือถ้าสังเกตเห็นว่าใครมีสภาพจิตที่มีแนวโน้มไปเช่นนี้ ก็พยายามสร้างเหตุปัจจัยที่ดีให้แก่เขานะครับ เพื่อให้เขาพ้นจากสภาพจิตเดิมๆ เช่น ทำให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง มีความมุ่งมั่น บากบั่น เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อให้ชีวิตประสบความสำเร็จ ให้เขายอมรับความจริงว่าชีวิตก็มีขึ้นมีลง มีความสำเร็จและความล้มเหลวสลับกันบ้างเป็นธรรมดา ให้ยอมรับในโลกธรรม 8 ให้เขาคิดยาวๆ คิดถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมาจากการตัดสินใจของเขา ทั้งผลกระทบต่อตนเอง และบุคคลอื่น ให้เขากล้าพูดเพื่อระบายความรู้สึกในใจให้คนที่ไว้ใจได้และมีความหวังดีฟัง ให้เขารู้จักหาความรื่นรมย์ให้กับชีวิต เช่น ทำสมาธิ เข้าวัดฟังธรรม ไปพักผ่อนตากอากาศ ให้เขารู้ว่ายังมีคนที่รักและหวังดีกับเขาอยู่ ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวในโลก ให้เขารู้จักปล่อยวาง ฯลฯ

ที่ว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่ามีโอกาสมาเกิดเป็นคนได้เร็วๆ นั้น ก็ขึ้นกับพื้นฐานจิตใจของเขา อย่างที่กล่าวไปแล้วนะครับ

สำหรับกรณีถูกฆ่าตายแบบไม่รู้ตัวแล้วจิตจะตามอาฆาตหรือเปล่านั้น ก็ขึ้นกับแต่ละคนนะครับ เพราะตอนแรกไม่รู้ตัว แต่พอตายไปแล้วก็สามารถรู้ตัวได้ (ขึ้นกับภพภูมิที่ไปเกิดใหม่ด้วยนะครับ) และเมื่อรู้ตัวแล้วจะอาฆาตหรือเปล่านั้นก็ขึ้นกับพื้นฐานจิตใจของแต่ละคนนะครับว่าจะให้อภัยกันหรือเปล่า

การจะตัดกรรมกันนั้น ขอแยกเป็น การตัดเวร และการตัดกรรม นะครับ

การตัดกรรมได้ก็เมื่อกรรมที่ทำไว้นั้นส่งผลจนอ่อนกำลังไปแล้ว หรือผู้นั้นเป็นพระอรหันต์และปรินิพพานไปแล้วกรรมจึงส่งผลต่อไปอีกไม่ได้ เช่น พระอหิงสกะ (องคุลิมาล) ดูคำถามคำตอบเรื่องการแก้กรรมที่ด้านบนประกอบนะครับ

ส่วนการตัดเวรนั้นจะเป็นไปได้ก็เมื่อทั้งสองฝ่ายเลิกจองเวรกันนะครับ มีหลายกรณี เช่น จองเวรกันจนพอใจแล้ว จิตใจสูงขึ้นเลยเลิกจองเวร ฝ่ายหนึ่งเลิกจองเวรแล้วพยายามทำความดีชดเชยจนอีกฝ่ายพอใจ เช่น ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ สำนึกผิดอย่างแท้จริง ฯลฯ ฝ่ายหนึ่งปรินิพพานไปแล้วอีกฝ่ายเลยตามจองเวรไม่ได้อีก

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


การจองเวร (พระเทวทัต-พระพุทธเจ้า)

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

มีคำถามเรื่องการผูกเวร อย่างกรณีของพระเทวทัตกับพระพุทธเจ้า (พระพุทธโคดม) อ่านในเรื่องที่เขียนเล่ากันมา ไม่แน่ใจว่าไปอ่านจากที่ไหนนะคะ สองจิตนี่ผูกเวรผูกกรรมกันมานานเป็นหลายกัปหลายกัลป์ ใครผูกใคร เพราะในชาติภพหลังๆ ที่จิตดวงที่เป็นของพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้อาฆาตจองเวร และได้บำเพ็ญเพียรทำแต่ความดีมาตลอด ทำไมยังสามารถถูกจิตของมารตามรังควานได้ตลอดมาหล่ะคะ

สงสัยว่า ถึงแม้ไม่ใช่ผู้กระทำ แถมเป็นผู้ถูกกระทำอีกต่างหาก ขนาดอโหสิกรรมต่อกันด้วยจิตที่บริสุทธิ์ ทำไมยังหนีกันไม่พ้น แถมในบางกรณีที่ถูกรังควานหนักๆ ก็ได้รับทุกขเวทนาไปในรูปแบบต่างๆ กัน (ถึงแม้ในที่สุดจะรอดก็ตาม)

ตามหลักของเวรกรรม พระพุทธองค์ไม่ควรที่จะได้รับทุกขเวทนา (เลย) เพราะพระองค์ไม่ได้ทำเลวทำชั่วต้องมาชดใช้ขนาดนั้นนี่คะ

ขอบคุณค่ะ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

เรื่องพระเทวทัตกับพระพุทธเจ้านั้น เท่าที่ผมสังเกตดูจากเรื่องที่เกิดขึ้นในชาติต่างๆ นั้น คิดว่าไม่ใช่ลักษณะของการจองเวรเท่าไหร่นะครับ คิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเป็นลักษณะจิตโดยปรกติของพระเทวทัตเอง คือพื้นฐานจิตใจของพระเทวทัตเป็นเช่นนั้น คือมีความมักใหญ่ใฝ่สูง เจ้าเล่ห์เพทุบาย ขี้โกง เอาเปรียบ ไม่ซื่อสัตย์ ฯลฯ เมื่อใครเข้าใกล้หรือไปเกี่ยวข้องด้วย ก็ย่อมจะต้องเดือดร้อน ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ เหมือนไฟที่ใครเข้าใกล้ก็ย่อมจะต้องรู้สึกร้อนเป็นธรรมดานะครับ

สังเกตได้จากที่หลายชาติพระเทวทัตไม่ได้เป็นภัยเฉพาะกับพระโพธิสัตว์เท่านั้น หรือไม่ได้ตั้งใจเจาะจงพระโพธิสัตว์นะครับ แต่พระโพธิสัตว์ไปทำให้พระเทวทัตไม่พอใจหรือเสียประโยชน์ไปก็เลยถูกปองร้าย

แม้ในสมัยพุทธกาลเองการปองร้ายก็เริ่มต้นจากการที่พระเทวทัตติดในลาภสักการะ แล้วจึงเกิดความมักใหญ่ใฝ่สูง จนถึงขั้นคิดอยากจะเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง ในที่สุดจึงถึงขั้นปองร้ายพระพุทธเจ้า คือไม่ใช่ปองร้ายตั้งแต่แรกนะครับ

และอีกอย่างก็คือวัฏสงสารอันยืดยาวนับชาติไม่ถ้วนนี้ ที่มีกล่าวเอาไว้ในคัมภีร์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องพระเทวทัตกับพระโพธิสัตว์นั้นก็มีอยู่ไม่กี่เรื่องเท่านั้นนะครับ (อาจจะดูมากแต่ก็น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนชาติที่ไม่เจอกัน) คือไม่ใช่ตามจองเวรไปทุกภพทุกชาติ

เรื่องที่พระพุทธเจ้าได้รับความเดือดร้อนเพราะพระเทวทัตนั้น ก็เป็นเพราะกรรมเก่าของพระองค์เองด้วยนะครับ อย่างเช่นที่ถูกกลิ้งหินเข้าใส่จนห้อเลือดขึ้นมานั้น พระองค์ก็ตรัสว่าเป็นผลของกรรมเก่าของพระองค์เอง มีกล่าวถึงในพระไตรปิฎกด้วยครับ (ดูเรื่องบุพกรรมของพระพุทธเจ้า ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบนะครับ)

กฎแห่งกรรมเป็นกฎที่เป็นธรรมที่สุดอยู่แล้วครับ ถ้าเราไม่เคยทำกรรมที่ไม่ดีเอาไว้ ก็ไม่มีใครทำร้ายเราได้ แต่วัฏฏะอันยืดยาวนี้ก็ย่อมจะต้องเคยผิดพลาดกันมาบ้างไม่มากก็น้อยอยู่แล้วนะครับ ก็เลยต้องใช้กรรมกันต่อไป

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น