ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่
เพื่อเป็นพื้นฐานให้เข้าใจธรรมะต่างๆ ได้ง่ายขึ้น มาทำความรู้จักขันธ์ 5 ก่อนนะครับ หน้านี้จะอธิบายเรื่องขันธ์ 5 อย่างละเอียดว่าขันธ์ 5 คืออะไร ขันธ์ 5 ประกอบด้วยอะไรบ้าง ขันธ์แปลว่าอะไร และขันธ์ 5 แต่ละขันธ์หมายถึงอะไร รวมถึงความหมายของนิพพานด้วยครับ
![]() |
ผังแสดงขันธ์ 5 |
สรรพสิ่งทั้งหลายในอนันตจักรวาลนั้น แยกประเภทได้เป็น 3 ส่วน (ดูแผนผังประกอบนะครับ) คือ
-
ส่วนที่เป็นวัตถุทั้งหลาย ได้แก่ สสารทั้งหลาย
แสง สีทั้งหลาย เสียง กลิ่น รส ความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง ความหย่อน
ความตึง อาการเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ ช่องว่างต่างๆ อากาศ ดิน น้ำ ไฟ ลม
สภาพแห่งความเป็นหญิง เป็นชาย เนื้อสมองและระบบของเส้นประสาททั้งหลาย อันเป็นฐานให้จิตเกิด
รวมทั้งอาการแห่งความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมไป ดับไปของวัตถุทั้งหลายด้วยนะครับ
รวมเรียกว่ารูปขันธ์ (ขันธ์ แปลว่า กอง หมวด หมู่)
- ส่วนที่เป็นความรู้สึกนึกคิด และความคิดทั้งหลาย
รวมเรียกว่านามขันธ์ แยกได้ 4
ชนิดนะครับ คือ
- เวทนาขันธ์ คือความรู้สึกเป็นสุขทางกาย
ทุกข์ทางกาย โสมนัส(สุขทางใจ) โทมนัส(ทุกข์ทางใจ) อุเบกขาหรืออทุกขมสุขเวทนา
(เป็นกลางๆ ไม่สุขไม่ทุกข์)
- สัญญาขันธ์ คือความจำได้หมายรู้ในสิ่งต่างๆ
คือส่วนที่ทำหน้าที่ในการจำนั่นเองครับ (ไม่ใช่เนื้อสมองนะครับ แต่เป็นส่วนของความรู้สึกนึกคิด
เนื้อสมองนั้นจัดเป็นรูปขันธ์ เนื้อสมองเป็นเหมือนสำนักงาน ส่วนนามขันธ์ทั้งหลายเหมือนผู้ที่ทำงานในสำนักงานนั้นครับ)
- สังขารขันธ์ คือส่วนที่ปรุงแต่งจิต คือสภาพที่ปรากฎของจิตนั่นเองครับเช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ทาน (สภาพของจิตที่สละสิ่งต่างๆ ออกไป เป็นความรู้สึกที่ตรงข้ามกับความโลภ)
ความเมตตา กรุณา มุทิตา สมาธิ ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่ท้อถอย ความง่วง
ความละอาย ความเกรงกลัว ความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัว เจตนาในการทำสิ่งต่างๆ
ความลังเลสงสัย ความมั่นใจ ความเย่อหยิ่งถือตัว ความเพียร ปิติ ความยินดีพอใจ
ความอิจฉา ความตระหนี่ ศรัทธา สติ ปัญญา การคิด การตรึกตรอง
- วิญญาณขันธ์ หรือจิต
คือผู้ที่รับรู้สิ่งทั้งปวง คือรับรู้ความรู้สึกต่างๆ
ตั้งแต่ ข้อ 2.1 จนถึงข้อ 2.3 นะครับ (รับรู้เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์) และเป็นผู้รับรู้ถึงส่วนที่เป็นรูปขันธ์ทั้งหลายด้วยครับ ได้แก่เป็นผู้รับรู้สิ่งทั้งหลายที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นั่นเองครับ รวมถึงเป็นผู้รับรู้ในสภาวะแห่งนิพพานด้วย
- เวทนาขันธ์ คือความรู้สึกเป็นสุขทางกาย
ทุกข์ทางกาย โสมนัส(สุขทางใจ) โทมนัส(ทุกข์ทางใจ) อุเบกขาหรืออทุกขมสุขเวทนา
(เป็นกลางๆ ไม่สุขไม่ทุกข์)
- นิพพาน คือสภาวะที่พ้นจากรูปขันธ์และนามขันธ์ทั้งปวง
หรือสภาวะจิตที่พ้นจากความยึดมั่นผูกพันธ์ในสิ่งทั้งปวง รวมถึงไม่ยึดมั่นในนิพพานด้วยครับ
นิพพาน = นิ + วาน (ในภาษาบาลีนั้น ว. กับ พ. ใช้แทนกันได้ วาน จึงเท่ากับ พาน นะครับ)
นิ = พ้น
วาน = สิ่งที่เกี่ยวโยงไว้ ได้แก่ ตัณหาคือความทะยานอยาก และอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นนั่นเองครับ
นิวาน หรือนิพพาน แปลตามตัวจึงหมายถึงความพ้นจากเครื่องเกี่ยวโยง (ตัณหาและอุปาทาน) นั่นเองครับ
![]() |
ผังแสดงขันธ์ 5 |
สรุปแล้วขันธ์ 5 ประกอบด้วย
-
รูปขันธ์
- เวทนาขันธ์
- สัญญาขันธ์
- สังขารขันธ์
- วิญญาณขันธ์
ธัมมโชติ
ขอบพระคุณมากค่ะ อนุโมทนาบุญที่ด้วยนะคะ
ตอบลบอนุโมทนาครับ
ตอบลบสาธุๆ
ตอบลบอ่านพบ พระพุทธองค์ตรัสว่า ที่ว่าจิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง ดวงหนึ่งเกิดขึ้นดวงหนึ่งดับไปตลอดวันตลอดคืน รบกวนถามท่านอาจารย์ธัมมโชติครับ ว่า จิต มโน วิญญาน นี่ทั้งหมดคือสิ่งเดียวกันใช่ไหมครับ บางท่านบอกว่าคนล่ะสิ่งกัน บางท่านบอกเหมือนกัน บางท่านบอกจิตเกิดขึ้นแล้วดับไป วิญญานคงอยู่เป็นผู้รู้ บางท่านบอกว่า จิตยังคงอยู่ วิญญานต่างหากเกิดขึ้นแล้วดับไป หรือจิตและวิญญานมีหลายแบบหลายชื่อครับ ขอบพระคุณในคำตอบดีๆในธรรมะที่ตอบให้กระจ่างทุกครั้งครับ
ตอบลบ
ลบสวัสดีครับ
จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มโน มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ เป็นชื่อของสิ่งเดียวกันครับ เพียงแต่มีที่มาจากความหมายที่ต่างกันในแง่มุมต่างๆ ของจิต จึงใช้ในบริบทที่ต่างกัน
ในพระไตรปิฎกมีอธิบายเอาไว้หลายที่ครับ ตัวอย่างเช่น
พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหามกุฏฯ
เล่มที่ 75 หน้าที่ 356 ข้อที่ 21
[๒๑] จิต มีในสมัยนั้น เป็นไฉน ?
จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ* มโน มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุที่สมกัน ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า จิตมีในสมัยนั้น.
* ธรรมชาติที่ผ่องใส
พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหามกุฏฯ
เล่มที่ 75 หน้าที่ 397 ข้อที่ 74
วิญญาณขันธ์ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน ?
จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มโน มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุที่สมกัน ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า วิญญาณขันธ์ มีในสมัยนั้น
พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหามกุฏฯ
เล่มที่ 66 หน้าที่ 597 ข้อที่ 946
คำว่าใจมีชื่อต่าง ๆ
[๙๔๖] คำว่า เมื่อใด ในคำว่า เมื่อใด ภิกษุพึงรู้ความขุ่นใจ ความว่า ในกาลใด. คำว่า ใจ คือ จิต ใจ มานัส หทัย บัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุอันสมกันกับผัสสะเป็นต้นนั้น
พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหามกุฏฯ
เล่มที่ 75 หน้าที่ 375 ข้อที่ 72
ชื่อว่า จิต เพราะความที่จิตเป็นธรรมชาติวิจิตร
ชื่อว่า มโน เพราะกำหนดรู้อารมณ์.
พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหามกุฏฯ
เล่มที่ 77 หน้าที่ 451 ข้อที่ 273
ชื่อว่า วิญญาณ เพราะอรรถว่า ย่อมรู้แจ้ง.
สรุปว่า จิต มโน วิญญาน ตามพระไตรปิฎกแล้วทั้งหมดคือสิ่งเดียวกันครับ
แต่ที่เห็นมีการเอาคำบางคำไปอธิบายให้ต่างกันไป ก็เพื่อให้เข้ากับทิฏฐิของตน เนื่องจากคำสอนของอาจารย์ต่างๆ ในปัจจุบัน มีหลากหลายแนวทางที่ต่างกันครับ มีทั้งสายที่สอนว่าเที่ยง (คือสอนว่ามีธรรมชาติบางอย่างที่เที่ยง ไม่ดับไป) มีทั้งสายที่สอนว่าขาดสูญ (คือตายแล้วสูญ) และสายที่สอนตามแนวพระไตรปิฎก ซึ่งจะสอนตามแนวของปฏิจจสมุปบาท คือ เมื่อมีเหตุให้เกิดก็เกิด เมื่อหมดเหตุให้เกิดก็ไม่เกิด ไม่มีสิ่งใดเที่ยง ไม่มีสิ่งใดขาดสูญ (คำว่าขาดสูญคือ มีสิ่งที่เคยเหมือนเที่ยงมาก่อน (อัตตา) แล้วถึงวันหนึ่งสิ่งนั้นก็ดับสูญไป) มีแต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ตามเหตุปัจจัย เมื่อยังมีเหตุให้เกิดก็เกิดขึ้นแล้วดับไปอีก สืบทอดไปเรื่อยๆ แต่เมื่อหมดเหตุให้เกิดเมื่อไหร่ ก็ไม่เกิดอีกครับ
ดังความในพระไตรปิฎกว่า
ลบพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหามกุฏฯ
เล่มที่ 45 หน้าที่ 330 ข้อที่ 227
๑๒. ทิฏฐิสูตร
ว่าด้วยเรื่องทิฏฐิพัวพันพาไป
[๒๒๗] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายอันทิฏฐิ ๒ อย่าง พัวพันแล้ว บางพวกย่อมติดอยู่ บางพวกย่อมแล่นเลยไป ส่วนพวกที่มีจักษุย่อมเห็น.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์บางพวกย่อมติดอยู่อย่างไรเล่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายมีภพเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในภพ เพลิดเพลินด้วยดีในภพ เมื่อพระตถาคตแสดงธรรมเพื่อความดับภพ จิตของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นย่อมไม่แล่นไป ย่อมไม่เลื่อมใส ย่อมไม่ดำรงอยู่ด้วยดี ย่อมไม่น้อมไป ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์บางพวกย่อมติดอยู่อย่างนี้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์บางพวกย่อมแล่นเลยไปอย่างไรเล่า ก็เทวดาและมนุษย์บางพวกอึดอัด ระอา เกลียดชังอยู่ด้วยภพนั่นแล ย่อมเพลิดเพลินความขาดสูญว่า แน่ะท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า เมื่อใดคนนี้เมื่อตายไป ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ เบื้องหน้าแต่ตายย่อมไม่เกิดอีก นี้ละเอียด นี้ประณีต นี้ถ่องแท้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์บางพวก ย่อมแล่นเลยไปอย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนพวกที่มีจักษุย่อมเห็นอย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเห็นขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้วโดยความเป็น (ขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้ว) จริง ครั้นเห็นขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้วโดยความเป็นจริง ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนพวกที่มีจักษุย่อมเห็นอย่างนี้แล.
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
อริยสาวกใดเห็นขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้ว และธรรมเป็นเครื่องก้าวล่วงขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้วโดยความเป็นจริง ย่อมน้อมไปในนิพพานตามความเป็นจริง เพราะภวตัณหาหมดสิ้นไป ถ้าว่าอริยสาวกนั้นกำหนดรู้ขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้ว ปราศจากตัณหาในภพน้อยและภพใหญ่แล้วไซร้ ภิกษุทั้งหลายย่อมไม่มาสู่ภพใหม่ เพราะความไม่เกิด แห่งอัตภาพที่เกิดแล้ว.
เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้า
ได้สดับมาแล้ว ฉะนั้นแล.
จบทิฏฐิสูตรที่ ๑๒
ทิฏฐิ 2 อย่าง คือ สัสสตทิฏฐิ (เห็นว่าเที่ยง) คือพวกที่ติดอยู่ตามพระสูตรนี้
และ อุจเฉททิฏฐิ (เห็นว่าขาดสูญ) คือพวกที่แล่นเลยไป
ในขณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงทางสายกลาง ซึ่งอยู่ระหว่าง 2 ทิฏฐินี้ครับ
ขอให้เจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไปนะครับ
ธัมมโชติ
ขอบพระคุณครับ
ตอบลบ