Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

อายตนะ 12

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้จะเป็นการอธิบายเรื่องอายตนะ 12 ทั้งในแง่ความหมายว่าอายตนะคืออะไร และกระบวนการขั้นตอนในการทำงานของอายตนะต่างๆ อย่างละเอียดนะครับ

อายตนะ ตามศัพท์แปลว่าเขต หรือแดนนะครับ คำว่าอายตนะในที่นี้หมายถึงเป็นที่ต่อ ที่บรรจบ ที่ประชุมกัน ทำให้เกิดการรับรู้ในสิ่งต่างๆ แบ่งเป็น 6 คู่ หรือ 12 ชนิด นะครับ คือ

คู่ที่ 1 จักขายตนะ (ประสาทตา) กับ รูปายตนะ (แสง สี ที่มากระทบตาให้เห็นเป็นภาพต่างๆ)
คู่ที่ 2 โสตายตนะ (ประสาทหู) กับ สัททายตนะ (เสียงต่างๆ)
คู่ที่ 3 ฆานายตนะ (ประสาทรับกลิ่น) กับ คันธายตนะ (กลิ่นต่างๆ)
คู่ที่ 4 ชิวหายตนะ (ประสาทรับรส) กับ รสายตนะ (รสต่างๆ)
คู่ที่ 5 กายายตนะ (ประสาทตามผิวกาย) กับ โผฏฐัพพายตนะ (ความเย็น ร้อน อ่อน แข็งต่างๆ ที่กระทบกาย)
คู่ที่ 6 มนายตนะ (จิตหรือใจ ซึ่งเป็นผู้สัมผัสกับความคิด) กับ ธัมมายตนะ (ความคิด ความรู้สึกต่างๆ และสิ่งต่างๆ ที่รับรู้ได้ทางใจ)

*** คำว่าประสาทตา ... จนถึง ... ประสาทตามผิวกาย ในที่นี้หมายถึงระบบของเส้นประสาท ซึ่งเป็นส่วนของร่างกายจริงๆ นะครับ ไม่ใช่ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ณ จุดของประสาทส่วนนั้นๆ ซึ่งเป็นส่วนของจิตใจ

*** อธิบายโดยละเอียดตามหลักอภิธรรมแล้วธัมมายตนะ หรือธัมมธาตุ นั้นประกอบด้วยเวทนาขันธ์ (ความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ), สัญญาขันธ์ (ความจำ), สังขารขันธ์ (ความคิดปรุงแต่งจิต - ดูเรื่องขันธ์ 5 ประกอบนะครับ), รูปที่เห็นไม่ได้และกระทบไม่ได้ซึ่งนับเนื่องในธัมมายตนะ (คือรูปที่เกิดขึ้นทางใจ หรือรูปละเอียด เช่น สภาวะความเป็นหญิง ชาย เป็นต้น) และธาตุที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง คือนิพพานครับ

*** รูปที่เห็นได้กระทบได้ก็คือรูปายตนะ คือแสง สีที่มากระทบประสาทตาหรือจักขายตนะนั่นเองครับ ส่วนรูปที่เห็นไม่ได้กระทบไม่ได้นั้นจะเป็นรูปที่เกิดขึ้นที่ใจโดยตรง คือรูปที่เกิดจากการประมวลผลของใจซึ่งจะอยู่ในส่วนของธัมมายตนะครับ

โดยที่ จักขายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ มนายตนะ รวมเรียกว่าอายตนะภายใน 6

ส่วนที่เหลือคือ รูปายตนะ สัททายตนะ คันธายตนะ รสายตนะ โผฏฐัพพายตนะ ธัมมายตนะ รวมเรียกว่าอายตนะภายนอก 6

การรับรู้ต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ เมื่ออายตนะภายนอกมากระทบกับอายตนะภายในที่เหมาะสมกันเป็นคู่ๆ ทำให้เกิดการรับรู้ทางทวาร หรืออวัยวะนั้นๆ ขึ้นครับ เช่น เมื่อรูปายตนะ คือ แสง สีต่างๆ ซึ่งสะท้อนมาจากผิวของวัตถุใดๆ มากระทบกับจักขายตนะ คือประสาทตา ซึ่งอยู่ที่เรตินา (จอรับภาพในกระบอกตา) ก็จะเกิดจักขุวิญญาณ (จิตที่ทำหน้าที่ในการเห็นภาพของวัตถุนั้นนะครับ) ขึ้นที่จักขายตนะนั้น การเห็นภาพของวัตถุนั้นก็เกิดขึ้น โดยที่จักขุวิญญาณนั้นเป็นผู้เห็นนะครับ จากนั้นธัมมายตนะ คือความคิดต่างๆ (เกี่ยวกับวัตถุที่เห็นนั้น) ก็เกิดตามมาโดยมีมนายตนะ คือจิตหรือใจเป็นผู้คิดหรือรับรู้ความคิดนั้นๆ ครับ

การเกิดขึ้นของจิตตลอดกระบวนการที่กล่าวมานี้ มีเพียงจักขุวิญญาณเท่านั้นนะครับที่เกิดขึ้นที่จักขุประสาท ส่วนจิตอื่นนอกนั้นจะเกิดขึ้นที่หทยวัตถุ คือบริเวณที่ความรู้สึกนึกคิดเกิดขึ้น ซึ่งปรกติก็จะเป็นที่สมองนะครับ (ส่วนจะเป็นที่ใดได้บ้างนั้น ผู้ที่ทำกรรมฐาน โดยเฉพาะวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อปฏิบัติไปถึงขั้นหนึ่งแล้วจะรู้ได้เองครับ)

ปรากฏการณ์ทำนองนี้จะเกิดขึ้นหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามทวาร หรืออวัยวะที่ทำหน้าที่ในการรับรู้ ต่างๆ ตลอดเวลาไม่หยุดหย่อนนะครับ โดยมีจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ เกิดขึ้นที่จักขายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะตามลำดับ ทำให้เกิดการมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สัมผัสทางกาย อันเป็นผลให้เกิดความคิดที่เป็นกุศล อกุศล หรือเป็นกลางๆ ต่างๆ (ธัมมายตนะ) ตามมาครับ โดยมีมนายตนะ คือจิตหรือใจหรือวิญญาณ (เรียกได้หลายอย่างนะครับ) เป็นผู้คิดหรือรับรู้ความคิดนั้นๆ โดยมีฐานปฏิบัติการอยู่ที่หทยวัตถุ ตามที่กล่าวไปแล้วนะครับ (นอกจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ และกายวิญญาณแล้ว จิตอื่นทั้งหมดจะเกิดที่หทยวัตถุทั้งสิ้นครับ)

ธัมมโชติ

1 ความคิดเห็น :