Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

วิธีแก้ความโกรธ

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้เป็นพระสูตรจากพระไตรปิฎกที่แสดงวิธีคิดเพื่อป้องกันหรือแก้ไขความโกรธนะครับ

เนื้อหาประกอบด้วย

พระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก เล่ม 6 มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์


ปุณโณวาทสูตร


(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๔๗ ข้อ : ๓๙๕)

[๗๕๖] ..... (หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสพระโอวาทโดยย่อโปรดพระปุณณะแล้ว ได้ตรัสถามพระปุณณะดังนี้ - ธัมมโชติ) .....

ดูกรปุณณะ ก็เธออันเรากล่าวสอนด้วยโอวาทย่อๆ นี้แล้ว จักอยู่ในชนบทไหน ฯ

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อันพระผู้มีพระภาคทรงสั่งสอนด้วยโอวาทย่อๆ นี้แล้ว มีชนบทชื่อสุนาปรันตะ เป็นที่ที่ข้าพระองค์จักไปอยู่ ฯ

[๗๕๗] พ. ดูกรปุณณะ พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทดุร้ายหยาบช้านัก ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักด่า จักบริภาษเธอ เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น ฯ

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักด่า จักบริภาษข้าพระองค์ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหาร (ทุบตี, ทำร้าย - ธัมมโชติ) เราด้วยฝ่ามือ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์มีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ

[๗๕๘] พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารเธอด้วยฝ่ามือ เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น ฯ

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยฝ่ามือ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยก้อนดิน ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ

[๗๕๙] พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารเธอด้วยก้อนดิน เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น ฯ

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยก้อนดิน ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ยังดีหนักหนา ที่ไม่ให้การประหารเราด้วยท่อนไม้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ

[๗๖๐] พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารเธอด้วยท่อนไม้ เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น ฯ

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยท่อนไม้ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ยังดีนักหนา ที่ไม่ให้การประหารเราด้วยศาตรา ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ

[๗๖๑] พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารเธอด้วยศาตรา เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น ฯ

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยศาตรา ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ยังดีนักหนา ที่ไม่ปลิดชีพเราเสียด้วยศาตราอันคม ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ

[๗๖๒] พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักปลิดชีพเธอเสียด้วยศาตราอันคม เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น ฯ

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักปลิดชีพข้าพระองค์ด้วยศาสตราอันคม ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า มีเหล่าสาวกของพระผู้มีพระภาค ที่อึดอัดเกลียดชังร่างกายและชีวิต***** (ของตนเอง - ธัมมโชติ) พากันแสวงหาศาตราสังหารชีพ (ของตน - ธัมมโชติ) อยู่แล เราไม่ต้องแสวงหาสิ่งดังนั้นเลย ก็ได้ศาตราสังหารชีพแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ

[๗๖๓] พ. ดีละๆ ปุณณะ เธอประกอบด้วยทมะ (การข่มใจ - ธัมมโชติ) และอุปสมะ (ความสงบใจ อุปสมะขั้นสูงสุดคือพระนิพพานนะครับ - ธัมมโชติ) ดังนี้แล้ว จักอาจเพื่อจะอยู่ในสุนาปรันตชนบทได้แล ดูกรปุณณะ เธอจงสำคัญกาลที่ควรในบัดนี้เถิด ฯ

ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะยินดีอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ แล้วเก็บเสนาสนะ ถือบาตรจีวรเดินทางจาริกไปยังที่ตั้งสุนาปรันตชนบท เมื่อจาริกไปโดยลำดับ ได้ลุถึงสุนาปรันตชนบทแล้ว ฯ

[๗๖๔] เป็นอันว่าท่านพระปุณณะอยู่ในสุนาปรันตชนบทนั้น ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะได้ให้พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทกลับใจ แสดงตนเป็นอุบาสกประมาณ ๕๐๐ คน ภายในพรรษานั้นเอง กลับใจแสดงตนเป็นอุบาสิกาประมาณ ๕๐๐ คน ภายในพรรษานั้นเอง และตัวท่านได้ทำให้แจ้งซึ่งวิชชา ๓***** (บรรลุเป็นพระอรหันต์ - ธัมมโชติ) ภายในพรรษานั้นเหมือนกัน ครั้นสมัยต่อมา ท่านได้ปรินิพพานแล้ว ฯ

อธิบายเพิ่มเติม

  1. สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงพรรณนาคุณแห่งอสุภสมาบัติเนืองๆ (การพิจารณาร่างกายของตน และผู้อื่น ว่ามีความไม่สวย ไม่งาม ไม่น่ารักน่าใคร่ เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์นานาประการ) โดยอเนกปริยายแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วเสด็จออกเร้นอยู่พระองค์เดียวเป็นเวลาครึ่งเดือน ภิกษุเหล่านั้นจึงพากันเจริญอสุภกัมมัฏฐาน จนรู้สึกอึดอัด ระอา เกลียดชังร่างกายของตน ฉะนั้นจึงปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง ให้ฆราวาสปลงชีวิตให้บ้าง

    เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกจากที่ประทับเร้นแล้ว ทรงทราบเรื่องนี้แล้วจึงทรงแสดงอานาปานสติสมาธิ (การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก) ประกอบกับสติปัฏฐาน เพื่อให้สามารถทำลายกิเลสได้โดยไม่เป็นทุกข์ทางใจเหมือนอสุภกัมมัฏฐานนะครับ

    จากนั้นทรงติเตียนการฆ่าตัวตายของภิกษุเหล่านั้น แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทมีใจความว่า ภิกษุใดจงใจฆ่ามนุษย์ หรือแสวงหาเครื่องมือสำหรับฆ่ามนุษย์ หรือแม้แต่การพรรณนาคุณของความตายเพื่อจูงใจให้คนฆ่าตัวตาย ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาราชิก (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในพระไตรปิฎก พระวินัยปิฎก เล่ม 1 มหาวิภังค์ ปฐมภาค เรื่องตติยปาราชิกสิกขาบทนะครับ - ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๑ หน้า : ๑๓๔ ข้อ : ๑๖๒)

  2. วิชชา 3 ได้แก่ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ระลึกชาติได้) จุตูปปาตญาณ (เห็นการตายและเกิดของสัตว์ทั้งหลาย และกรรมที่ทำให้เกิดในที่นั้นๆ) อาสวักขยญาณ (ความทำลายกิเลสให้สิ้นไป คือบรรลุเป็นพระอรหันต์)


เมื่อถูกด่าว่าด้วยคำไม่ดี


พระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก เล่ม 7 สังยุตตนิกาย สคาถวรรค


อักโกสกสูตร


(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๑๕ หน้า : ๒๖๕ ข้อ : ๑๘๘)

[๖๓๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ฯ

อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้สดับมาว่า ได้ยินว่าพราหมณ์ภารทวาชโคตรออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตในสำนักของพระสมณโคดมแล้ว ดังนี้ โกรธ ขัดใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ด่าบริภาษพระผู้มีพระภาคด้วยวาจาอันหยาบคาย มิใช่ของสัตบุรุษ ฯ

[๖๓๒] เมื่ออักโกสกภารทวาชพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะอักโกสกภารทวาชพราหมณ์ว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านย่อมสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน มิตรและอำมาตย์ ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกของท่าน ย่อมมาบ้างไหม ฯ

อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ตอบว่า พระโคดมผู้เจริญ มิตรและอำมาตย์ ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกของข้าพระองค์ย่อมมาเป็นบางคราว ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านย่อมสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านจัดของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่ม ต้อนรับมิตรและอำมาตย์ ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกเหล่านั้นบ้างหรือไม่ ฯ

อ. พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์จัดของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่ม ต้อนรับมิตรและอำมาตย์ ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นบ้าง ในบางคราว ฯ

พ. ดูกรพราหมณ์ ก็ถ้าว่ามิตรและอำมาตย์ ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้น ไม่รับของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่มนั้นจะเป็นของใคร ฯ

อ. พระโคดมผู้เจริญ ถ้าว่ามิตรและอำมาตย์ ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้น ไม่รับของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่มนั้น ก็เป็นของข้าพระองค์อย่างเดิม ฯ

พ. ดูกรพราหมณ์ ข้อนี้ก็อย่างเดียวกัน ท่านด่าเราผู้ไม่ด่าอยู่ ท่านโกรธเราผู้ไม่โกรธอยู่ ท่านหมายมั่นเราผู้ไม่หมายมั่นอยู่ เราไม่รับเรื่องมีการด่าเป็นต้น ของท่านนั้น ดูกรพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นก็เป็นของท่านผู้เดียว ดูกรพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นก็เป็นของท่านผู้เดียว (คำด่านั้นก็ย่อมย้อนกลับไปทำร้ายผู้ด่าเท่านั้น ไม่ได้ทำร้ายผู้ถูกด่าเลย คือด่าไปก็เหมือนด่าตนเองนะครับ - ธัมมโชติ)

แล้วตรัสต่อไปว่า ดูกรพราหมณ์ ผู้ใดด่าตอบบุคคลผู้ด่าอยู่ โกรธตอบบุคคลผู้โกรธอยู่ หมายมั่นตอบบุคคลผู้หมายมั่นอยู่ ดูกรพราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ย่อมบริโภคด้วยกัน ย่อมกระทำตอบกัน เรานั้นไม่บริโภคร่วม ไม่กระทำตอบด้วยท่านเป็นอันขาด ดูกรพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นเป็นของท่านผู้เดียว ดูกรพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นเป็นของท่านผู้เดียว ฯ

อ. บริษัทพร้อมด้วยพระราชา ย่อมทราบพระโคดมผู้เจริญอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมเป็นพระอรหันต์ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนพระโคดมผู้เจริญจึงยังโกรธอยู่เล่า ฯ

[๖๓๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ไม่โกรธ ฝึกฝนตนแล้ว มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้ชอบ สงบ คงที่อยู่ ความโกรธจักมีมาแต่ที่ไหน ผู้ใดโกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ผู้นั้นเป็นผู้ลามกกว่าบุคคลนั้นแหละ เพราะการโกรธตอบนั้น

บุคคลไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ชื่อว่าย่อมชนะสงครามอันบุคคลชนะได้โดยยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติ สงบเสียได้ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือแก่ตนและแก่บุคคลอื่น เมื่อผู้นั้นรักษาประโยชน์ อยู่ทั้งสองฝ่าย คือของตนและของบุคคลอื่น ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรมย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่า เป็นคนเขลา ดังนี้ ฯ

[๖๓๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศพระธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่าคนมีจักษุย่อมเห็นรูปได้ฉะนั้น

ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระโคดมผู้เจริญ ฯ

อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้บรรพชาได้อุปสมบทแล้ว ในสำนักของพระผู้มีพระภาค ก็ท่านอักโกสกภารทวาชอุปสมบทแล้วไม่นานแล หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปอยู่ ไม่นานเท่าไรนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษอันยอดเยี่ยม เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบมีความต้องการ ด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ยิ่งเองในปัจจุบันนี้เข้าถึงอยู่ ได้ทราบว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แหละท่านพระอักโกสกภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล ฯ

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น