Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

ผู้ได้ชื่อว่ามีปรกติอยู่ผู้เดียว

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้เป็นพระสูตรในพระไตรปิฎกที่แสดงถึงสภาวะจิตของผู้ที่ได้ชื่อว่ามีปรกติอยู่ผู้เดียวนะครับ

พระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค


มิคชาลสูตร


(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๑๘ หน้า : ๕๓ ข้อ : ๖๓)

[๖๖] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ครั้งนั้นแล ท่านพระมิคชาละเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ผู้มีปรกติอยู่ผู้เดียว ผู้มีปรกติอยู่ผู้เดียวฉะนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรพระเจ้าข้า ภิกษุจึงชื่อว่ามีปรกติอยู่ผู้เดียว และด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุจึงชื่อว่าอยู่ด้วยเพื่อน ๒

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมิคชาละ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ให้เกิดความรัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุยินดี กล่าวสรรเสริญ หมกมุ่นรูปนั้นอยู่ เมื่อเธอยินดี กล่าวสรรเสริญ หมกมุ่นรูปนั้นอยู่ ย่อมเกิดความเพลิดเพลิน เมื่อมีความเพลิดเพลิน ก็มีความกำหนัดกล้า เมื่อมีความกำหนัดกล้า ก็มีความเกี่ยวข้อง ดูกรมิคชาละ ภิกษุผู้ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความเกี่ยวข้อง เราเรียกว่าผู้มีปรกติอยู่ด้วยเพื่อน ๒ ฯลฯ

(เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ขยายความทำนองเดียวกันนะครับ - ธัมมโชติ)

ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ให้เกิดความรัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุยินดี กล่าวสรรเสริญ หมกมุ่นธรรมารมณ์นั้นอยู่ เมื่อเธอยินดี กล่าวสรรเสริญ หมกมุ่นธรรมารมณ์นั้นอยู่ ย่อมเกิดความเพลิดเพลิน เมื่อมีความเพลิดเพลิน ก็มีความกำหนัดกล้า เมื่อมีความกำหนัดกล้า ก็มีความเกี่ยวข้อง ดูกรมิคชาละ ภิกษุผู้ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความเกี่ยวข้อง เราเรียกว่ามีปรกติอยู่ด้วยเพื่อน ๒

ดูกรมิคชาละ ภิกษุผู้มีปรกติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ ถึงจะเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าหญ้า และป่าไม้ เงียบเสียง ไม่อื้ออึง ปราศจากลมแต่ชนเดินเข้าออก ควรเป็นที่ประกอบกิจของมนุษย์ผู้ต้องการสงัด สมควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ยังเรียกว่ามีปรกติอยู่ด้วยเพื่อน ๒ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้นั้นยังมีตัณหาเป็นเพื่อน ๒ เขายังละตัณหานั้นไม่ได้ ฉะนั้นจึงเรียกว่า มีปรกติอยู่ด้วยเพื่อน ๒

[๖๗] ดูกรมิคชาละ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ให้เกิดความรัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่หมกมุ่นรูปนั้น เมื่อเธอไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่หมกมุ่นรูปนั้นอยู่ ความเพลิดเพลินย่อมดับ เมื่อไม่มีความเพลิดเพลิน ก็ไม่มีความกำหนัด เมื่อไม่มีความกำหนัด ก็ไม่มีความเกี่ยวข้อง ดูกรมิคชาละ ภิกษุผู้ไม่ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความเกี่ยวข้อง เราเรียกว่ามีปรกติอยู่ผู้เดียว ฯลฯ

(เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็พึงขยายความทำนองเดียวกันนะครับ - ธัมมโชติ)

ธรรมารมณ์ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ให้เกิดความรัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่หมกมุ่นธรรมารมณ์นั้นอยู่ เมื่อเธอไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่หมกมุ่นธรรมารมณ์นั้น ความเพลิดเพลินก็ดับ เมื่อไม่มีความเพลิดเพลิน ก็ไม่มีความกำหนัดกล้า เมื่อไม่มีความกำหนัดกล้า ก็ไม่มีความเกี่ยวข้อง ดูกรมิคชาละ ภิกษุผู้ไม่ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความเกี่ยวข้อง เราเรียกว่ามีปรกติอยู่ผู้เดียว

ดูกรมิคชาละ ภิกษุผู้มีปรกติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ แม้จะอยู่ปะปนกับภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ ในที่สุดบ้านก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ยังเรียกว่ามีปรกติอยู่ผู้เดียว ดูกรมิคชาละ เราเรียกผู้มีปรกติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ว่า มีปรกติอยู่ผู้เดียว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตัณหาซึ่งเป็นเพื่อน ๒ เธอละได้แล้ว เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่า มีปรกติอยู่ผู้เดียว

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น