ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่
เหตุที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัย (ศีล)
ตามความในพระไตรปิฎก หมวดพระวินัย มหาวิภังค์ ปฐมภาค(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๑ หน้า : ๒๘)
....... ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย
อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
- เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ (เพื่อความยอมรับ/เห็นด้วยของสงฆ์หมู่มาก - ธัมมโชติ)
- เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ (เพื่อให้สังคมสงฆ์อยู่กันอย่างสงบสุข - ธัมมโชติ)
- เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ (เพื่อไม่ให้พวกอลัชชี/ผู้ไม่ละอาย ทำสิ่งที่ไม่ดีได้ตามใจ - ธัมมโชติ)
- เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ (เพื่อไม่ให้พวกอลัชชีมารบกวนความสงบของผู้มีศีล - ธัมมโชติ)
- เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑ (เพื่อป้องกันกิเลสในปัจจุบัน - ธัมมโชติ)
- เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ (เพื่อกำจัดกิเลสที่จะเกิดในอนาคต - ธัมมโชติ)
- เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑
- เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑
- เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ (เพื่อให้ศาสนาตั้งมั่นอยู่ได้นาน - ธัมมโชติ)
- เพื่อถือตามพระวินัย ๑ (เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายถือปฏิบัติ - ธัมมโชติ)
การถือศีล 5 ประเภท
พระพุทธเจ้าทรงจำแนกแจกแจงวัตถุประสงค์ หรือแรงจูงใจในการทำสิ่งต่างๆ เอาไว้เป็น 5 จำพวก ซึ่งในที่นี้ทรงเน้นที่การถือธุดงควัตร (ดูเรื่องธุดงค์คืออะไร ที่ด้านล่างประกอบนะครับ) แต่ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ หรือเป็นประโยชน์ในการเปรียบเทียบกับเรื่องอื่นๆ ได้เช่นกัน
รายละเอียดในพระไตรปิฎก หมวดอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-ปุคคลปัญญัติปกรณ์ (ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๓๖ หน้า : ๒๒๔ ข้อ : ๑๙๙) มีดังนี้ครับ
[๑๔๕] บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตร ๕ จำพวก เป็นไฉน
ภิกษุเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะเป็นผู้เขลา เป็นผู้งมงาย (๑)
ภิกษุเป็นผู้มีความปรารถนาลามก ถูกความอยากได้เข้าครอบงำ จึงถือบิณฑบาตเป็นวัตร (๒)
(เพื่อให้คนศรัทธา แล้วลาภสักการะต่างๆ จะได้ตามมา - ธัมมโชติ)
ภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะเป็นบ้า เพราะมีจิตฟุ้งซ่าน (๓)
ภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะคิดว่าองค์แห่งภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรนี้ เป็นข้อที่พระพุทธเจ้า พระสาวกแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายสรรเสริญ (๔)
อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะอาศัยความปรารถนาน้อยอย่างเดียว เพราะอาศัยความสันโดษอย่างเดียว เพราะอาศัยความขัดเกลากิเลสอย่างเดียว เพราะอาศัยความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามนี้ อย่างเดียว (๕)
บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุนี้ใดถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะอาศัยความปรารถนาน้อยอย่างเดียว เพราะอาศัยความสันโดษอย่างเดียว เพราะอาศัยความขัดเกลากิเลสอย่างเดียว เพราะอาศัยความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามนี้อย่างเดียว ภิกษุนี้เป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นประมุข เป็นผู้สูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าบรรดาภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ๕ จำพวกเหล่านี้
น้ำนมเกิดจากแม่โค นมส้มเกิดจากน้ำนม เนยข้นเกิดจากนมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น ก้อนเนยใสเกิดจากเนยใส บรรดาเภสัช ๕ นั้น ก้อนเนยใส ชาวโลกกล่าวว่าเลิศชื่อแม้ฉันใด ภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตรนี้ใด เป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรเพราะอาศัยความปรารถนาน้อยอย่างเดียว เพราะอาศัยความสันโดษอย่างเดียว เพราะอาศัยความขัดเกลากิเลสอย่างเดียว เพราะอาศัยความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอย่างเดียว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุนี้เป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐ เป็นประมุข เป็นผู้สูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ๕ จำพวกเหล่านี้ เหล่านี้ชื่อว่า ภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตร ๕ จำพวก
[๑๔๖] ภิกษุถือห้ามภัตรอันนำมาถวายต่อภายหลังเป็นวัตร ๕ จำพวก
ภิกษุถือนั่งฉันอาสนะเดียวเป็นวัตร ๕ จำพวก
ภิกษุถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ๕ จำพวก
ภิกษุถือไตรจีวรเป็นวัตร ๕ จำพวก
ภิกษุถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวก
ภิกษุถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร ๕ จำพวก
ภิกษุถืออยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร ๕ จำพวก
ภิกษุถือการนั่งเป็นวัตร ๕ จำพวก
ภิกษุถืออยู่ในเสนาสนะที่ท่านจัดไว้เป็นวัตร ๕ จำพวก
ภิกษุถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร ๕ จำพวก เป็นไฉน .......... (มีรายละเอียดอย่างเดียวกันนะครับ - ธัมมโชติ)
ธุดงค์คืออะไร
ธุดงควัตรมี 13 ข้อคือ
- การถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร คือการใช้แต่ผ้าเก่าที่คนเขาทิ้งเอาไว้ตามกองขยะบ้าง
ข้างถนนบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง นำผ้าเหล่านั้นมาซัก ย้อมสี เย็บต่อกันจนเป็นผืนใหญ่แล้วนำมาใช้
งดเว้นจากการใช้ผ้าใหม่ทุกชนิด (บังสุกุล = คลุกฝุ่น)
- การถือผ้า 3 ผืน (ไตรจีวร) เป็นวัตร คือการใช้ผ้าเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น
อันได้แก่ สบง(ผ้านุ่ง) จีวร(ผ้าห่ม) สังฆาฏิ(ผ้าสารพัดประโยชน์ เช่น คลุมกันหนาว
ปูนั่ง ปูนอน ปัดฝุ่น ใช้แทนสบง หรือจีวรเพื่อซักผ้าเหล่านั้น ปัจจุบันภิกษุไทยมักใช้พาดบ่าเมื่อประกอบพิธีกรรมครับ)
- การถือบิณฑบาตเป็นวัตร คือการบริโภคอาหารเฉพาะที่ได้มาจากการรับบิณฑบาตเท่านั้น
ไม่บริโภคอาหารที่คนเขานิมนต์ไปฉันตามบ้าน
- ถือการบิณฑบาตตามลำดับบ้านเป็นวัตร คือจะรับบิณฑบาตโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
ไม่เลือกว่าเป็นบ้านคนรวยคนจน ไม่เลือกว่าอาหารดีไม่ดี มีใครใส่บาตรก็รับไปตามลำดับ
ไม่ข้ามบ้านที่ไม่ถูกใจไปนะครับ
- ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร คือ ในแต่ละวันจะบริโภคอาหารเพียงครั้งเดียว
เมื่อนั่งแล้วก็ฉันจนเสร็จ หลังจากนั้นก็จะไม่บริโภคอาหารอะไรอีกเลย นอกจากน้ำดื่มครับ
- ถือการฉันในบาตรเป็นวัตร คือจะนำอาหารทุกชนิดที่จะบริโภคในมื้อนั้น
มารวมกันในบาตร แล้วจึงฉันอาหารนั้น เพื่อไม่ให้ติดในรสชาดของอาหารครับ
- ถือการห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร คือเมื่อรับอาหารมามากพอแล้ว
ตัดสินใจว่าจะไม่รับอะไรเพิ่มอีกแล้ว หลังจากนั้นถึงแม้มีใครนำอะไรมาถวายเพิ่มอีก
ก็จะไม่รับอะไรเพิ่มอีกเลย ถึงแม้อาหารนั้นจะถูกใจเพียงใดก็ตามครับ
- ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร คือจะอยู่อาศัยเฉพาะในป่าเท่านั้น
จะไม่อยู่ในหมู่บ้านเลย เพื่อไม่ให้ความพลุกพล่านวุ่นวายของเมืองรบกวนการปฏิบัติ
หรือเพื่อป้องกันการพอกพูนของกิเลส
- ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร คือจะพักอาศัยอยู่ใต้ต้นไม้เท่านั้น
งดเว้นจากการอยู่ในที่มีหลังคาที่สร้างขึ้นมามุงบังครับ
- ถือการอยู่กลางแจ้งเป็นวัตร คือจะอยู่แต่ในที่กลางแจ้งเท่านั้น
จะไม่เข้าสู่ที่มุงบังใดๆ เลย แม้แต่โคนต้นไม้ เพื่อไม่ให้ติดในที่อยู่อาศัยครับ
- ถือการอยู่ในป่าช้าเป็นวัตร คือจะงดเว้นจากที่พักอันสุขสบายทั้งหลาย
แล้วไปอาศัยอยู่ในป่าช้า เพื่อจะได้ระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ไม่ประมาท
- ถือการอยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดไว้ให้เป็นวัตร
คือเมื่อใครชี้ให้ไปพักที่ไหน หรือจัดที่พักอย่างใดไว้ให้ ก็พักอาศัยในที่นั้นๆ
โดยไม่เลือกว่าสะดวกสบาย หรือถูกใจหรือไม่ และเมื่อมีใครขอให้สละที่พักที่กำลังพักอาศัยอยู่นั้น
ก็พร้อมจะสละได้ทันทีครับ
- ถือการนั่งเป็นวัตร คือจะงดเว้นอิริยาบถนอน
จะอยู่ใน 3 อิริยาบทเท่านั้น คือ ยืน เดิน นั่ง จะไม่เอนตัวลงให้หลังสัมผัสพื้นเลยครับ ถ้าง่วงมากก็จะใช้การนั่งหลับเท่านั้น เพื่อไม่ให้เพลิดเพลินในการนอน
ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ
เรียน อาจารย์ธัมมโชติ
ตอบลบผมเข้าไปดูพระไตรปิฎกออนไลน์ พระไตรปิฎกเล่มที่ 36 อภิธรรมปิฎกที่ 03 ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ เล่มที่ 36-1 เผื่อจะได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถือศีล 5 ประเภทซึ่งอาจารย์นำเสนอในหน้านี้ แต่พบว่าข้อ 145 และ 146 ในพระไตรปิฎกเล่มดังกล่าวเป็นเรื่องของสภาวะธรรมที่ตรงและไม่ตรงกับจิตร มิใช่การถือบิณฑบาตรเป็นวัตร และการถือห้ามภัตร
จึงอยากเรียนถามอาจารย์ว่าผมสืบค้นผิดพลาดอย่างไร และการสืบค้นที่ถูกต้องจะต้องสืบค้นอย่างไรครับ
สวัสดีครับ
ลบเนื่องจากตอนที่ทำข้อมูลเรื่องนี้ยังไม่มีพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (แบ่งเป็น 45 เล่ม) ที่เป็นแบบดิจิตอลครับ แต่มีพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย (แบ่งเป็น 91 เล่ม) ที่เป็นแบบดิจิตอลแล้ว
เพื่อความสะดวกในการคัดลอกข้อมูลในขณะนั้นจึงได้ใช้ข้อมูลจากฉบับมหามกุฏฯ ครับ แต่เนื่องจากพระไตรปิฎกทั้ง 2 ฉบับ มีจำนวนเล่มที่แตกต่างกันและมีเลขที่ข้อธรรมที่ต่างกันด้วย การสืบค้นโดยอ้างอิงจากเลขที่ของข้อธรรมและเล่มที่จึงได้ข้อมูลที่ไม่ตรงกันครับ ต้องค้นจากเนื้อความเป็นหลัก และเนื่องจากทั้ง 2 ฉบับ แปลต่างสำนวนกันทำให้ข้อความไม่ตรงกันแบบคำต่อคำ และชื่อพระสูตรรวมถึงคำศัพท์บางคำก็เขียนต่างกันอีกด้วย การเลือกขัอความที่ใช้ค้นจึงต้องพิจารณาให้เป็นคำหลักของเรื่องและมีโอกาสที่จะใช้ตรงกันในทั้ง 2 ฉบับ ด้วยครับ
อย่างในกรณีนี้ถ้าค้นด้วยคำว่า "ปุคคลปัญญัติ ผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร" ก็จะเจอขึ้นมาเป็นรายการแรกเลยครับ ถึงแม้ในพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ จะใช้คำว่า "ปุคคลบัญญัติ" (บ แทน ป) แต่ระบบค้นข้อมูลของเว็บซึ่งใช้ระบบของกูเกิ้ลก็ค้นคำที่ใกล้เคียงมาให้คือ "ปุคคลบัญญัติ" จึงไม่มีปัญหาในการค้นครั้งนี้ครับ ขอขอบคุณกูเกิ้ลไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
สรุปว่าเรื่องที่ต้องการค้นจะอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๖-๖ อภิธรรมปิฎกที่ ๐๓ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ ข้อที่ [๑๙๙] หน้า ๒๒๔ นะครับ คลิกที่นี่ได้เลยครับ
เนื่องจากหลายท่านได้ปรารภว่าอ่านพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เข้าใจง่ายกว่าฉบับมหามกุฏฯ (เพราะสำนวนง่ายกว่า) ในเว็บนี้จึงได้นำพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ มาลงไว้ให้อ่านกันครับ
ขอบคุณอาจารย์ธัมมโชติครับ
ตอบลบผมขอเสนอความเห็นว่า เมื่อขณะนี้มีพระไตรปิฎกฉบับดิจิตอลของมหาจุฬาฯ แล้ว และยังเป็นฉบับที่ใช้เผยแพร่ใน website นี้ด้วย จึงควรปรับปรุงเล่มที่ ข้อที่ และหน้า ที่ใช้อ้างอิงจากฉบับมหามกุฎฯ ให้เป็นฉบับของมหาจุฬาฯ ทั้งหมด เพื่อป้องกันความสับสนครับ
สวัสดีครับ
ลบขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะนะครับ
ผมเห็นว่าถ้าจะปรับปรุงเล่มที่ ข้อที่ และหน้า ที่ใช้อ้างอิงจากฉบับมหามกุฎฯ ให้เป็นฉบับมหาจุฬาฯ โดยใช้เนื้อความเดิมซึ่งแปลต่างสำนวนกันนั้นจะยิ่งทำให้ผู้อ่านสับสนและใช้อ้างอิงอะไรไม่ได้เลยครับ เพราะเนื้อความกับเลขอ้างอิงเป็นของคนละฉบับกัน
แต่ถ้าจะปรับปรุงทั้งเลขอ้างอิงและเนื้อความให้เป็นฉบับของมหาจุฬาฯ ก็จะเป็นงานที่ใหญ่มากแทบจะเป็นการทำเว็บใหม่ขึ้นมาเลยครับ เพราะเมื่อสำนวนการแปลพระไตรปิฎกเปลี่ยนไป การอธิบายเพิ่มเติมต่างๆ ก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย จึงต้องทำทุกอย่างใหม่ทั้งหมด
ผมคิดว่าจุดที่เหมาะสมที่สุด น่าจะเป็นการใส่หมายเหตุเพิ่มเติมว่าเรื่องนี้ตรงกับพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่ม/ข้อ/หน้าใด โดยคงข้อมูลเดิมเอาไว้ทั้งหมด วิธีนี้นอกจากจะทำให้ผู้สนใจค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้ง่ายขึ้นจากหมายเหตุที่เพิ่มเข้าไปแล้ว ยังสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างของพระไตรปิฎกแต่ละฉบับได้อีกด้วยครับ เพราะไม่ได้ตัดข้อมูลเดิมซึ่งมาจากพระไตรปิฎกฉบับอื่นออกไป
เนื่องจากบทความมีเป็นจำนวนมากจึงต้องค่อยๆ ทยอยเพิ่มหมายเหตุเข้าไปนะครับ