ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่
ศีล 5 นั้น มีประโยชน์โดยรวม 2 ด้านคือ
- เพื่อความสงบสุขของสังคม คือเพื่อป้องกันการล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น อันจะส่งผลให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ความหวาดระแวง และความวุ่นวายในสังคม
- เพื่อพัฒนาจิตใจของผู้ที่ถือศีลนั้นเอง เพราะศีล 5 นั้น ถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อควบคุม ไม่ให้มีการแสดงออกทางกาย หรือทางวาจา ไปในทางที่ตอบสนองอำนาจของกิเลสครับ
ดังนั้น การทำผิดศีลแต่ละครั้ง จึงทำให้จิตหยาบกระด้างขึ้น ตามลักษณะของกิเลสที่ครอบงำจิตอยู่นั้นนะครับ ถ้ายิ่งทำผิดศีลมากครั้ง และบ่อยครั้งมากขึ้นเท่าไหร่ จิตก็จะยิ่งหยาบกระด้างขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อจิตหยาบกระด้างขึ้น ก็ทำให้สามารถทำผิดได้รุนแรงมากขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งก็จะส่งผลให้จิตหยาบกระด้างหนักขึ้นไปอีก เป็นวังวนพอกพูนไม่รู้จบสิ้นครับ
ทั้งนี้เพราะโดยทั่วไปนั้น คนเราจะไม่สามารถทำผิดได้ในขั้นที่หนักกว่าระดับความหยาบกระด้าง หรือระดับความประณีตของจิตที่เป็นอยู่ในขณะนั้น (ดูเรื่องลำดับขั้นของจิต ในหมวดบทวิเคราะห์ ประกอบนะครับ) เว้นแต่จะมีเหตุปัจจัย/สิ่งแวดล้อม ที่รุนแรงมากๆ มาบีบคั้น
เช่นคนที่เคยตบยุงอยู่เป็นประจำ แต่ไม่เคยฆ่าสัตว์ที่ใหญ่กว่านั้นเลย จิตของเขาย่อมอยู่ในความประณีตระดับนั้น เขาย่อมสามารถตบยุงได้ ด้วยความรู้สึกที่ราบเรียบเป็นธรรมดา เพราะการกระทำนั้น อยู่ในขั้นที่ไม่หยาบเกินกว่าสภาพจิตปรกติของเขานะครับ
แต่ถ้าให้เขาไปฆ่าเป็ดฆ่าไก่ เขาย่อมจะรู้สึกว่าไม่อยากจะทำ และเมื่อถูกเหตุการณ์บีบบังคับ ทำให้เขาเลี่ยงไม่ได้ เขาย่อมจะทำไปด้วยความรู้สึกที่ต้องฝืนใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่หยาบกว่าสภาพจิตปรกติของเขานั่นเองครับ
และหลังจากนั้น เมื่อเขาต้องฆ่าเป็ดฆ่าไก่อีก เป็นครั้งที่ 2, 3, 4, ...... เขาย่อมจะสามารถทำได้ ด้วยความรู้สึกที่ฝืนใจน้อยลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็จะไม่ต้องฝืนใจเลยครับ เพราะจิตของเขาจะหยาบกระด้างขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนครั้งที่ทำลงไป ตั้งแต่ครั้งที่ 1, 2, 3, 4, ...... แล้วหลังจากนั้น เขาก็ย่อมที่จะฆ่าสัตว์ที่ใหญ่ขึ้นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ ตามวังวนเช่นเดียวกันนี้ครับ
ผู้เขียนเคยฟังคำให้สัมภาษณ์ของอดีตมือปืนรับจ้าง ได้ความว่ามือปืนโดยทั่วไปนั้น เมื่อต้องฆ่าคนครั้งแรก จะทำไปด้วยความรู้สึกที่ต้องฝืนใจ และทำใจได้ยากลำบากมาก และหลังจากทำงานครั้งแรกนั้นสำเร็จแล้ว ก็จะรู้สึกแย่อยู่หลายวันกว่าจะสงบลงได้ แต่พอทำครั้งที่ 2, 3, 4, 5 ก็จะทำได้โดยสะดวกใจขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งประมาณครั้งที่ 6 หรือ 7 ก็จะทำได้ด้วยความรู้สึกที่ราบเรียบเป็นปรกติเลยครับ
ไม่เฉพาะการทำผิดศีลข้อแรก คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเท่านั้นนะครับที่อยู่ในวังวนแบบนี้ การทำผิดศีลข้ออื่นๆ ก็หนีไม่พ้นวังวนนี้เช่นกัน ซึ่งส่งผลให้คนที่ผิดศีลนั้น มีจิตใจที่หยาบกระด้างขึ้นเรื่อยๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้นครับ ทำให้เขาต้องห่างไกลจากความสุขอันประณีต ละเอียดอ่อนออกไปทุกที ต้องอยู่กับสภาพจิตที่เร่าร้อน หยาบกระด้างขึ้นทุกขณะ
ครั้นพอได้มีโอกาสมารักษาศีล กิเลสทั้งหลายเหล่านั้นจึงครอบงำจิตใจได้น้อยลง เพราะถูกบังคับ ควบคุมไว้ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้แผลงฤทธิ์รุนแรงจนถึงขั้นแสดงตัวออกมาทางกาย หรือทางวาจา กิเลสจึงมีกำลังอ่อนลงเรื่อยๆ ส่งผลให้จิตประณีต ละเอียดอ่อนขึ้นไปเรื่อยๆ ครับ
เช่นคนที่เคยฆ่าเป็ดฆ่าไก่อยู่เป็นประจำนั้น ถ้าเขาว่างเว้นจากการฆ่าสัตว์เป็นเวลานานๆ ครั้นต่อมาเขาต้องกลับไปฆ่าเป็ดฆ่าไก่อีก เขาก็ย่อมจะทำได้ด้วยความรู้สึกที่ยากลำบาก ต้องฝืนใจมากกว่าในครั้งสุดท้ายที่เขาเคยทำมา ทั้งนี้ก็เพราะ จิตใจของเขาเริ่มประณีตขึ้นมาแล้วนั่นเองครับ
การถือศีลแต่ละข้อนั้น จะส่งผลให้เกิดการขัดเกลา การปรับปรุงพัฒนาจิต ในทิศทางที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกิเลสที่คอยบงการให้การกระทำผิดศีลข้อนั้นๆ เกิดขึ้น ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้ครับ
- การฆ่าสัตว์ กิเลสตัวหลักที่คอยบงการก็คือโทสะ
(ความโกรธ) คือความไม่พอใจในสัตว์ที่ถูกฆ่านั้น กิเลสตัวรองก็คือโลภะ
(ความโลภ) เพราะบางคนฆ่าสัตว์เนื่องจากความโลภเข้าครอบงำ เช่น อยากได้เงินค่าจ้าง
ต้องการสัตว์นั้นมาเป็นอาหาร ความหวงแหนในทรัพย์สมบัติของตนจึงฆ่าสัตว์เพื่อปกป้องทรัพย์นั้น
เพื่อให้คนยอมรับในความกล้าหาญ หรือเพื่อลาภยศที่จะตามมาจึงฆ่าสัตว์ให้คนเห็น
ฯลฯ
นอกจากนี้ก็ยังอาจมีสาเหตุมาจากกิเลสที่เป็นบริวาร ของโทสะหรือโลภะอีกเช่น ความพยาบาท ความอิจฉาริษยา ความแข่งดี ความตระหนี่ ฯลฯ
- การลักทรัพย์ กิเลสตัวหลักที่คอยบงการคือโลภะ
คือความอยากได้ในทรัพย์นั้น กิเลสตัวรองก็คือโทสะ
เช่น บางคนลักทรัพย์เพราะความโกรธในตัวเจ้าของทรัพย์นั้น ทั้งที่ความจริงแล้ว
ไม่ได้อยากได้ของสิ่งนั้นเลย ฯลฯ สาเหตุจากกิเลสที่เป็นบริวารก็เช่น
ความพยาบาท ความอิจฉาริษยา ความแข่งดี ฯลฯ
- การประพฤติผิดในกาม กิเลสตัวหลักที่คอยบงการคือโลภะ
คือความยินดี พอใจในหญิง หรือชายนั้น กิเลสตัวรองคือโทสะ
เช่น บางคนประพฤติผิดในกามเพราะความโกรธในคู่ของตน จึงทำเพื่อประชด หรือโกรธในผู้ที่หวงแหนคนที่เราประพฤติผิดด้วยนั้น
หรืออาจจะโกรธในตัวคนที่เราล่วงเกินนั้นเองเลยก็ได้ครับ จึงทำการล่วงเกินเพื่อให้คนคนนั้นเจ็บใจ
หรือเป็นเพราะอารมณ์ไม่ดี จึงประพฤติผิดในกามเพื่อระบายความเครียด ฯลฯ สาเหตุจากกิเลสที่เป็นบริวารก็เช่น
ความพยาบาท ความอิจฉาริษยา ทำไปเพื่อโอ้อวด ความแข่งดี ฯลฯ
- การพูดปด กิเลสตัวหลักที่คอยบงการนั้น อาจเป็นโลภะ
หรือโทสะก็ได้นะครับ เช่น บางคนโกหกหลอกลวง เพราะอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตน
บางคนโกหกเพราะความโกรธ เลยโกหกเพื่อให้คนที่ตนโกรธนั้นเดือดร้อน หรือได้รับความเสียหาย
บางคนโกหกเพราะกลัวความผิด หรือกลัวความเดือดร้อนที่จะตามมาหากพูดความจริงออกไป
ฯลฯ สาเหตุจากกิเลสที่เป็นบริวารก็เช่น ความพยาบาท
ความอิจฉาริษยา ความตระหนี่ ความโอ้อวด ความแข่งดี ฯลฯ
- การดื่มน้ำเมา รวมถึงของมึนเมาและสิ่งเสพติดทั้งหลาย
อันเป็นสาเหตุให้ขาดสติ ซึ่งจะทำให้เกิดการผิดศีลข้ออื่นๆ
ตามมานะครับ เพราะสติเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะคอยรักษาคุณความดีทั้งหลายไว้ และป้องกัน
รักษาจิตจากสิ่งเลวร้ายทั้งหลาย
กิเลสตัวหลักที่คอยบงการก็คือโลภะ คือความปรารถนาในความเพลิดเพลินยินดีอันเกิดจากการดื่ม หรือเสพนั้น กิเลสตัวรองคือโทสะ เช่น บางคนดื่มน้ำเมา หรือเสพสิ่งเสพติดเพราะความเครียด ความกังวลใจ ความทุกข์จากความผิดหวัง (สิ่งเหล่านี้จัดเป็นจิตในตระกูลโทสะ) ฯลฯ สาเหตุจากกิเลสที่เป็นบริวารก็เช่น ทำไปเพื่อโอ้อวด ความแข่งดี ฯลฯ
ธัมมโชติ
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น