Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

รวมคำถามคำตอบเรื่องศีล (2)

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้เป็นการรวมคำถามและคำตอบเรื่องเกี่ยวกับศีลที่ผู้สนใจสอบถามเข้ามาเป็นตอนที่ 2 นะครับ


ศีลและอกุศลกรรม


ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

ตามความเข้าใจเดิม ศีลคือข้อห้ามการละเมิดกายวาจา แต่เมื่อได้อ่านคัมภีร์วิสุทธิมรรค และจากผู้รู้ จะเน้นที่ใจ เจตนา เจตสิก การสังวรอินทรีย์ และนอกจากไม่ละเมิดแล้ว ยังให้เป็นที่ตั้งและรวมแห่งกุศลธรรม มีความสะอาดและหิริโอตตัปปะ ไม่เกิดบาปธรรม แต่เกิดสันโดษและขัดเกลากิเลส

เช่นนี้ฆราวาสก็คงครองศีลได้ ไม่ผ่องแผ้วนัก ต้องเป็นระดับโสดาบันขึ้น ใช่ไหมครับ

ขอบคุณมากครับ


ตอบ

เรียน คุณ .....

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

ขอตอบคำถามดังนี้นะครับ

ตามความเข้าใจของผมนะครับ ศีลโดยทั่วไปนั้นจะเน้นที่ใจและเจตนาที่มีความรุนแรง จนถึงขั้นทำให้เกิดการแสดงออกมาทางกาย หรือทางวาจา แต่ถ้ายังไม่ถึงขั้นแสดงออกมาทางกาย หรือทางวาจาก็จะยังไม่ถึงขั้นผิดศีล แต่จะเป็นอกุศลกรรมได้แม้เพียงแค่คิดก็ตามครับ

เช่น การลักทรัพย์นั้นก็จะมีขั้นตอนคร่าวๆ คือ
1. เห็นทรัพย์นั้น
2. อยากได้แบบไม่ชอบธรรม (อภิชฌา)
3. คิดจะลัก
4. เข้าไปใกล้ทรัพย์นั้น (เพื่อจะลัก)
5. จับทรัพย์นั้น (เพื่อจะลัก)
6. ทรัพย์นั้นเคลื่อนจากตำแหน่งเดิม (เพราะความพยายามที่จะลักทรัพย์นั้น)
7. เอาทรัพย์นั้นไป
ใน 7 ขั้นตอนนี้

ขั้นที่ 1. ยังไม่ผิดศีล และไม่เป็นอกุศลกรรม
ขั้นที่ 2. ยังไม่ผิดศีล แต่เป็นอกุศลกรรม
ขั้นที่ 3. เป็นอกุศลกรรม และเริ่มเข้าสู่องค์ของการผิดศีล แต่ยังไม่ผิดอย่างสมบูรณ์ (ถ้าเป็นภิกษุก็ยังไม่ปาราชิก)
ขั้นที่ 4 - 5. เป็นอกุศลกรรม และเริ่มเข้าสู่องค์ของการผิดศีลมากขึ้น แต่ยังไม่ผิดอย่างสมบูรณ์ (ถ้าเป็นภิกษุก็ยังไม่ปาราชิก)
ขั้นที่ 6. เป็นอกุศลกรรม และผิดศีลอย่างสมบูรณ์แล้ว (ถ้าเป็นภิกษุก็ปาราชิกในขั้นตอนนี้ - ตามหลักเกณฑ์ของพระวินัย)
ขั้นที่ 7. คงไม่ต้องพูดถึงนะครับ

"เช่นนี้ฆราวาสก็คงครองศีลได้ไม่ผ่องแผ้วนัก ต้องเป็นระดับโสดาบันขึ้น ใช่ไหมครับ"

ส่วนใหญ่ก็คงจะเป็นอย่างนั้นครับ แต่โดยหลักการแล้วแม้แต่โสดาบันก็ยังผิดศีลได้ครับ แต่จะเป็นศีลที่ไม่เป็นเหตุไปสู่อบายภูมิ คือจะรักษาศีล 5 ได้อย่างบริบูรณ์ แต่ยังอาจพูดเพ้อเจ้อ (เป็นอาบัติขั้นทุพพาสิตสำหรับภิกษุ) หรืออาจต้องอาบัติเล็กน้อยข้ออื่นๆ ได้

ในพระไตรปิฎกมักใช้คำว่า "ย่อมเห็นตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต"

คำว่าธุลีก็คือกิเลสเครื่องเศร้าหมองของจิตทั้งหลายนั่งเองครับ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


ศีล 5 กับการเกิดเป็นคน


ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

อ่านหนังสือที่ว่า เทพบุตรทั้งหลายมีนางอัปสรเป็นบริวาร และในสมัยก่อนผู้ใหญ่โตมีนางน้อยๆ มากมาย ตามบารมี อย่างนี้ไม่ผิดศีลห้าเหรอคะ (ข้อสาม)

แล้วที่ว่าศีลห้าไม่ครบไม่ได้เกิดเป็นคน อย่างนี้ที่เห็นๆ กันนี่ ก็ไม่มีโอกาสเป็นคนกันอีกซะส่วนมากหน่ะสิคะ แค่ข้อห้าก็กวาดไปแล้วมากมายเกือบหมดประเทศเข้าไปแล้ว


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

ขอตอบคำถามเป็นข้อๆ นะครับ
  1. เรื่องศีลข้อ 3 นั้น ไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องมีภรรยาคนเดียวเสมอไปนะครับ ถ้าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยินยอมพร้อมใจก็ไม่ผิดศีลข้อนี้ครับ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหมวดศีล เรื่องศีล 5 อย่างละเอียด นะครับ)

    อย่างกรณีที่กล่าวถึงนี้ ถ้าเป็นธรรมเนียมที่ถือเป็นเรื่องธรรมดาในที่นั้น โอกาสที่จะเป็นการผิดศีลก็น้อยลงไปด้วยครับ (ขึ้นกับรายละเอียดดังที่กล่าวเอาไว้ในเรื่องศีล 5 อย่างละเอียดด้วย)

    และว่ากันว่าไม่ใช่เทพบุตรเท่านั้นนะครับที่มีนางอัปสรเป็นบริวารมากๆ เทพธิดาบางองค์ที่มีบารมีมากๆ ก็อาจจะมีเทพบุตรเป็นบริวารจำนวนมากก็ได้นะครับ (เขาเล่าว่านะครับ ไม่ทราบความจริงเป็นอย่างไร)

  2. ที่ว่าศีล 5 ไม่ครบไม่ได้เกิดเป็นคนนั้น อาจจะคลาดเคลื่อนนะครับ คือศีล 5 นั้นถือเป็นศีลขั้นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ ถ้าศีล 5 ไม่สมบูรณ์ก็ถือว่าเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์

    การจะเกิดเป็นอะไรนั้นขึ้นกับสภาวะจิตตอนใกล้ตายเป็นสำคัญครับ คือถ้าตอนใกล้ตายจิตอยู่ในสภาวะไหน ก็จะไปเกิดใหม่ในภพภูมิที่มีลักษณะเช่นเดียวกับสภาวะจิตนั้นครับ

    เช่น ถ้าตอนใกล้ตายจิตประกอบด้วยอกุศล เมื่อตายไปก็จะไปเกิดใหม่ในอบายภูมิ ตามลำดับขั้นของความหยาบ/ประณีตของจิตนั้น

    ถ้าตอนใกล้ตายจิตเป็นกุศล และยังมีความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย ที่น่ารักน่ายินดีอยู่ (กามคุณ 5) ก็จะไปเกิดใหม่ในกามสุคติภูมิ เช่น มนุษย์ สวรรค์ (ตามขั้นของความประณีตของจิต)

    ถ้าตอนใกล้ตายจิตเป็นกุศล และไม่มีความยินดีในกามคุณ 5 (มีความยินดีในฌาน หรือเป็นอนาคามีบุคคล) แต่ยังยินดีในการมีรูป ก็จะเกิดใหม่ในรูปภูมิ

    ถ้าตอนใกล้ตายจิตเป็นกุศล และไม่มีความยินดีในกามคุณ 5 (มีความยินดีในฌาน หรือเป็นอนาคามีบุคคล) และไม่ยินดีในการมีรูป ก็จะเกิดใหม่ในอรูปภูมิ

    ถ้าตอนใกล้ตายจิตยินดีในพระนิพพาน ไม่มีความยึดมั่นสิ่งใดๆ เลย (พระอรหันต์) ก็จะพ้นจากการเกิดใหม่ครับ (ดูเรื่องภพภูมิในพระพุทธศาสนา ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบนะครับ)

    แต่ก็เป็นธรรมดาที่คนที่ถือศีล 5 ได้บริสุทธิ์ เมื่อใกล้ตายโอกาสจะนึกถึงสิ่งที่เป็นอกุศลก็ย่อมจะน้อยกว่าคนที่ผิดศีลอยู่เป็นประจำนะครับ

    ส่วนบุญ หรือบาปต่างๆ ที่ทำเอาไว้ ถ้าไม่ได้โอกาสในการเป็นกรรมนำเกิด (คือนำให้ไปเกิดในภพภูมิต่างๆ) ก็จะส่งผลในขณะที่เกิดแล้วต่อไป ไม่สูญหายไปไหน (จนกว่าจะปรินิพพานถึงจะตัดยอดกันไป)

    และอีกอย่างก็คือถ้าในชีวิตประจำวันตามปรกติ ผู้ที่ส่วนใหญ่จิตน้อมไปในทางกุศล เมื่อใกล้ตายโอกาสที่จิตจะน้อมไปในทางกุศลก็มีมากกว่าผู้ที่ปรกติจิตเป็นอกุศลนะครับ

  3. สำหรับผลของการผิดศีล 5 ในแต่ละข้อนั้นก็มีผล เช่น การฆ่าสัตว์จะทำให้อายุสั้น ร่างกายไม่แข็งแรง มีโรคมาก การลักทรัพย์จะทำให้ทรัพย์ที่มีอยู่ถึงความพินาศ สูญหายได้ง่าย การประพฤติผิดในกามจะทำให้เกิดเป็นกะเทย หรือถูกตอน การพูดปดทำให้ไม่มีใครเชื่อถือ การเสพของมึนเมาทำให้สติไม่ดี ฯลฯ
ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


ศีลข้อ 3 (เพิ่มเติม)


ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

(เป็นคำถามต่อเนื่องจากเรื่องศีล 5 กับการเกิดเป็นคนนะครับ - ธัมมโชติ)

อ่านในเวบฯๆ บอกว่า... (มากข้อ) แต่เจอข้อหนึ่งที่บอกว่าหญิงที่มารดาห้าม .. ก็เลยคิด (เอาเองอีกแล้ว) ว่ามารดาคงห้ามทุกคนแน่ๆ ดังนั้นผิดหมดแน่นอน ขอโทษค่ะ ไม่ค่อยเข้าใจ

แต่ถ้าเอาประเพณีเป็นที่ตั้ง ปัจจุบันนี้ก็ผิดหมดอยู่ดีสิคะ เพราะค่านิยม (อย่างน้อยก็ตามอรรถ) ให้มีภรรยาคนเดียว และภรรยาคนเดียวที่ว่าก็คงไม่มีใครไม่เจ็บช้ำแน่นอน ในกรณีที่สามีจะมีภรรยามากกว่าหนึ่งคน

ข้อสามเนี่ยดูยุ่งกว่าเพื่อน ข้ออื่นๆ ชัดเจนดีหมด มีเจตนา และลงมือกระทำ ก็จบ ผิดแล้ว


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

เรื่องศีลข้อ 3 นี้ ละเอียดอ่อนครับ ต้องพิจารณาตามยุคสมัย รวมถึงประเพณีในสถานที่นั้นประกอบด้วยครับ ขอแยกตอบเป็นกรณีนะครับ

  1. สำหรับโลกมนุษย์ในปัจจุบันนี้ ยกเว้นชาวมุสลิมที่มีภรรยาได้ 4 คนแล้ว ศาสนาอื่นๆ โดยทั่วไปแล้วถ้ามีภรรยามากกว่า 1 คน ก็มีโอกาสผิดศีลได้มากอยู่แล้วครับ (ขึ้นกับเงื่อนไขอื่นๆ ตามที่อธิบายไปแล้วด้วย)

  2. ที่ว่าคิดว่ามารดาคงห้ามทุกคนแน่ๆ นั้น ก็น่าจะเป็นอย่างนั้นครับ จะมียกเว้นบ้างก็บางคนเท่านั้น อย่างเช่น แม่บางคนขายลูกสาวตัวเองก็มีข่าวนะครับ หรืออาจจะมีแม่บางคนคิดว่าลูกสาวจะได้ดีมีสุขก็เลยยอมยกให้กับคนรวยๆ หรือคนมีอำนาจ ก็อาจจะมีนะครับ

  3. เรื่องที่ว่าภรรยาเก่าจะต้องเจ็บช้ำแน่นอนนั้น ผมเคยทราบว่ามีเรื่องเกิดขึ้นจริงๆ ดังนี้ครับ (เรื่องนี้มีภรรยา 2 คน แต่ไม่ผิดศีลข้อ 3) คือภรรยา (คนแรก) ไม่มีลูก อยากจะให้ครอบครัวมีลูกไว้สืบสกุล หรือสืบสมบัติก็ไม่ทราบนะครับ (เป็นคนฐานะดีครับ) เลยไปขอหลานสาวของตนเองมาให้สามี ซึ่งทุกฝ่ายก็ยินยอมพร้อมใจกัน แล้วก็อยู่ด้วยกันด้วยดี

    พอภรรยาคนที่ 2 มีลูก ภรรยาคนแรกก็รักลูกนั้น เหมือนเป็นลูกของตนเองจริงๆ ลูกก็เรียกทั้งแม่แท้ๆ และภรรยาคนแรกของพ่อว่าแม่ ทุกวันนี้ฝ่ายสามี และภรรยาคนแรกเสียชีวิตไปแล้วครับ เหลือแต่ภรรยาคนที่สอง และลูกๆ ผมรู้จักครอบครัวนี้ตั้งแต่ตอนที่ฝ่ายภรรยาคนแรกยังมีชีวิตอยู่ แต่สามีเสียชีวิตไปแล้ว ก็เห็นเขารักใคร่ และช่วยกันทำงานดีครับ
เรื่องนี้ละเอียดอ่อนมากๆ ครับ ต้องพิจารณาให้ดี (ผมอธิบายไปตามหลักการนะครับ ไม่ได้เข้าข้างใคร)

แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดก็มีคนเดียวสบายใจกว่าครับ ถ้าจะให้สบายใจที่สุดก็คือการอยู่คนเดียวนะครับ ไม่ต้องวุ่นวายใจเรื่องเหล่านี้เลย :)

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น