ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่
จริต 6
คำว่าจริยา หมายถึงลักษณะอันเป็นพื้นฐานของจิต หรือนิสัยอันเป็นพื้นเพของบุคคลแต่ละคนนะครับ
คำว่าจริต ใช้เรียกบุคคลที่มีจริยาอย่างนั้นๆ เช่น คนมีโทสจริยา เรียกว่า โทสจริต
จริตนั้นแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 6 ประเภท หรือ 6 จริตนะครับ คือ
- ราคจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางราคะ รักสวยรักงาม ละมุนละไม ชอบสิ่งที่สวยๆ เสียงเพราะๆ กลิ่นหอมๆ รสอร่อยๆ สัมผัสที่นุ่มละมุน และจิตใจจะยึดเกาะกับสิ่งเหล่านั้นได้เป็นเวลานานๆ
- โทสจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางโทสะ ใจร้อน วู่วาม หงุดหงิดง่าย อารมณ์รุนแรง โผงผาง เจ้าอารมณ์
- โมหจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางโมหะ เขลา เซื่องซึม เชื่อคนง่าย งมงาย ขาดเหตุผล มองอะไรไม่ทะลุปรุโปร่ง
- วิตักกจริต
หรือวิตกจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางฟุ้งซ่าน
คิดเรื่องนี้ทีเรื่องนั้นที เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่สามารถยึดเกาะกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานๆ
วิตก แปลว่าการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์หรือการเพ่งจิตสู่ความคิดในเรื่องต่างๆ ไม่ได้หมายถึงความกังวลใจนะครับ วิตกจริตจึงหมายถึง ผู้ที่เดี๋ยวยกจิตสู่เรื่องโน้น เดื๋ยวยกจิตสู่เรื่องนี้ ไม่ตั้งมั่น ไม่มั่นคงนั่นเองครับ - ศรัทธาจริต
หรือสัทธาจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางศรัทธา
น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสได้ง่าย ซึ่งถ้าเลื่อมใสในสิ่งที่ถูกก็ย่อมเป็นคุณ แต่ถ้าไปเลื่อมใสในสิ่งที่ผิดก็ย่อมเป็นโทษนะครับ
ศรัทธาจริตต่างจากโมหจริตตรงที่โมหจริตนั้นเชื่อแบบเซื่องซึม ส่วนศรัทธาจริตนั้นเชื่อด้วยความเลื่อมใส เบิกบานใจครับ - ญาณจริต หรือพุทธิจริต หรือพุทธจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางชอบคิด พิจารณาด้วยเหตุผลอย่างลึกซึ้ง ชอบใช้ปัญญาพิจารณาตามความเป็นจริง ไม่เชื่ออะไรโดยไม่มีเหตุผลครับ
ซึ่งบุคคลแต่ละจริตก็เหมาะที่จะทำกรรมฐานแต่ละชนิดแตกต่างกันออกไปครับ
กรรมฐานสำหรับแต่ละจริต
ย่อความจากพระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก เล่ม 21 ขุททกนิกาย มหานิทเทส สาริปุตตสุตตนิทเทส
(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๔๕ ข้อ : ๑๙๑)
[๘๘๑] ...
[๘๘๙] ...... พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่า บุคคลนี้เป็นราคจริต บุคคลนี้เป็นโทสจริต บุคคลนี้เป็นโมหจริต บุคคลนี้เป็นวิตักกจริต บุคคลนี้เป็นศรัทธาจริต บุคคลนี้เป็นญาณจริต.
พระผู้มีพระภาคย่อมตรัสบอกอสุภกถาแก่บุคคลผู้เป็นราคจริต. ย่อมตรัสบอกเมตตาภาวนาแก่บุคคลผู้เป็นโทสจริต. ทรงแนะนำบุคคลผู้เป็นโมหจริตให้ตั้งอยู่ในการเรียน ในการไต่ถาม ในการฟังธรรมตามกาลอันควร ในการสนทนาธรรมตามกาลอันควร ในการอยู่ร่วมกับครู. ย่อมตรัสบอกอานาปานสติแก่บุคคลผู้เป็นวิตักกจริต. ย่อมตรัสบอกพระสูตรอันเป็นนิมิตดี ความตรัสรู้ดีแห่งพระพุทธเจ้า ความเป็นธรรมดีแห่งพระธรรม ความปฏิบัติดีแห่งพระสงฆ์ และศีลทั้งหลายของตน อันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส แก่บุคคลผู้เป็นศรัทธาจริต. ย่อมตรัสบอกธรรมอันเป็นนิมิตแห่งวิปัสสนา ซึ่งมีอาการไม่เที่ยง มีอาการเป็นทุกข์ มีอาการเป็นอนัตตา แก่บุคคลผู้เป็นญาณจริต.
วิเคราะห์/เพิ่มเติม
- การเจริญสมถกรรมฐานนั้นมีหลายวิธี ในพระพุทธศาสนานั้นได้รวบรวมเอาไว้ได้ถึง 40 วิธี (ขอให้ดูรายละเอียดในเรื่องสมาธิ 40 วิธีและฌานสมาบัติ ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) ประกอบนะครับ) ซึ่งกรรมฐานแต่ละชนิดนั้นก็เหมาะสมกับแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับจริต พื้นฐาน ประสบการณ์ สิ่งแวดล้อม เวลา โอกาส และบุญบารมีที่เคยสั่งสมมาของแต่ละคนนะครับ การเจริญกรรมฐานที่เหมาะสมกับตน ย่อมมีความเจริญก้าวหน้าได้รวดเร็วกว่ากรรมฐานชนิดอื่นครับ
- ผู้เป็นราคจริตนั้นเป็นผู้ที่มีกิเลสหนักไปทางด้านราคะ คือความเพลิดเพลินยินดีซึ่งเป็นโลภะชนิดหนึ่ง พระพุทธเจ้าจึงทรงให้กรรมฐานที่เป็นปฏิปักษ์กัน คืออสุภกรรมฐาน คือให้พิจารณาถึงความไม่สวยไม่งาม เป็นของเน่าเหม็น น่ารังเกียจของสิ่งต่างๆ ตลอดไปจนถึงซากศพซึ่งเป็นสภาพที่จะต้องเกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อลดกิเลสด้านนี้ลงไปนะครับ
- ผู้เป็นโทสจริตนั้นเป็นผู้ที่มีจิตใจเร่าร้อน มักโกรธ ขัดเคืองใจได้ง่าย พระพุทธเจ้าจึงทรงให้เจริญเมตตาภาวนา คือการแผ่เมตตาปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขออกไปในทิศต่างๆ อย่างไม่มีประมาณ ซึ่งเป็นสภาวจิตที่ตรงข้ามกับโทสะเพื่อปรับพื้นฐานจิตให้เย็นขึ้นครับ
- ผู้เป็นวิตักกจริตนั้นจิตใจมักซัดส่ายไปมาอยู่เสมอ จึงทรงให้อานาปานสติคือให้ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องยึดจิตเอาไว้ไม่ให้ซัดส่าย
- ที่กล่าวถึงในพระสูตรนี้ เป็นการให้กรรมฐานตามจริตนะครับ แต่ความเหมาะสมของกรรมฐานสำหรับแต่ละบุคคลนั้น นอกจากเรื่องของจริตแล้วก็ยังมีเหตุปัจจัยในด้านอื่นๆ อีก ดังที่กล่าวแล้วในข้อ 1. ดังนั้น ชนิดของกรรมฐานจึงมีมากกว่าที่กล่าวถึงในพระสูตรนี้ครับ
ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ
ธัมมโชติ
กราบสาธุ..ในธรรม
ตอบลบกราบ..สาธุในความเมตตาครับ
ตอบลบสาธุ🙏🙏🙏
ตอบลบรู้มากขึ้นครับ
ตอบลบสงสัยตรงประโยคที่ว่า เมื่อรวมจริตหลัก6 ทำไมได้บุคคล 14 ประเภท ไม่ใช่ 15 เหรอคะ นับได้15
ตอบลบ
ลบสวัสดีครับ
ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ https://tripitaka-online.blogspot.com
บุคคล 14 ประเภทคือ
จริตหลัก 6 ชนิด (ตามเนื้อความด้านบน)
จริตผสม 8 ชนิด ได้แก่
1. ราคโทสจริต
2. ราคโมหจริต
3. โทสโมหจริต
4. ราคโทสโมหจริต
5. สัทธาพุทธิจริต
6. สัทธาวิตกจริต
7. พุทธิวิตกจริต
8. สัทธาพุทธิวิตกจริต
ที่นับได้ 15 น่าจะเกิดจากการตัดคำขึ้นบรรทัดใหม่ ทำให้เข้าใจผิดนะครับ
ขอให้เจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไปนะครับ
ธัมมโชติ