Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

สมาธิ 40 วิธีและฌานสมาบัติ

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

สิ่งที่ใช้ในการยึดจิตในการทำสมาธิ ที่เรียกว่าอารมณ์ของสมาธินั้น ในทางพระพุทธศาสนา อาจารย์ในสมัยโบราณได้รวบรวมไว้ได้ถึง 40 อย่างนะครับ แยกเป็นกลุ่มได้ดังนี้คือ

กสิณ 10 ประกอบด้วย

  1. กสิณดิน คือการเพ่งดินที่นำมาปั้นเป็นวงกลม (แบน) เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ โดยทำความรู้สึกถึงความแข็งของดินนะครับ ไม่ใช่เพ่งที่สีของดินนั้น เพราะจะกลายเป็นกสิณสีต่างๆ แทน

  2. กสิณน้ำ คือการเพ่งน้ำที่บรรจุในภาชนะปากกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ

    ขนาดที่เหมาะสมของดวงกสิณสำหรับแต่ละคนนั้นจะไม่เท่ากันนะครับ ขึ้นกับจริตคือนิสัยใจคอของคนนั้นๆ โดยทั่วไปแล้วคนที่เป็นศรัทธาจริตเหมาะที่จะใช้ดวงกสิณขนาดใหญ่ถึงจะทำให้รู้สึกสบายไม่อึดอัด แต่คนที่เป็นวิตกจริตจิตจะซัดส่ายได้ง่ายเพราะมักคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ไปเรื่อยไม่หยุดหย่อนก็เหมาะที่จะใช้กสิณดวงเล็กๆ เพื่อจำกัดวงของความสนใจให้เล็กลงก็จะประคองจิตได้ง่ายขึ้นครับ

  3. กสิณไฟ คือการเพ่งเปลวไฟผ่านช่องที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับ ความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ โดยทำความรู้สึกถึงความร้อนของไฟ

  4. กสิณลม คือการเพ่งอาการเคลื่อนไหวของใบไม้ กิ่งไม้ที่ถูกลมพัด ทำความรู้สึกไปที่สภาวะของธาตุลมคือความเคลื่อนไหวนะครับ ไม่ใช่ที่ตัววัตถุโดยตรง

  5. กสิณสีเขียว คือการเพ่งวัตถุสีเขียว เช่น กระดาษสีเขียว ที่เป็นวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ โดยทำความรู้สึกถึงสีเขียวที่ปรากฏ

  6. กสิณสีเหลือง คือการเพ่งวัตถุสีเหลือง เช่น กระดาษสีเหลือง ที่เป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับ ความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ

  7. กสิณสีแดง คือการเพ่งวัตถุสีแดง เช่น กระดาษสีแดง ที่เป็นวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ

  8. กสิณสีขาว คือการเพ่งวัตถุสีขาว เช่น กระดาษสีขาว ที่เป็นวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ

  9. กสิณแสงสว่าง คือการเพ่งแสงสว่างที่ลอดช่องหลังคาลงมากระทบพื้นหรือฝาผนังเป็นวงกลม หรืออาจจะประยุกต์ใช้แสงอย่างอื่นก็ได้ครับ โดยทำความรู้สึกถึงความสว่างนะครับ ไม่ใช่เพ่งที่สีของแสงนั้น

  10. อากาสกสิณ (ช่องว่าง) คือการเพ่งช่องว่างต่างๆ เช่น ช่องว่างในกรอบหน้าต่าง ประตู เป็นต้น โดยทำความรู้สึกถึงความเป็นช่องว่างนะครับ

อสุภะ 10 คือการเพ่งซากศพชนิดต่างๆ


มีข้อดีคือ ภาพจะติดตาได้ง่ายมากครับ และจะได้เตือนใจถึงความตายที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาอีกด้วยครับ แยกประเภทตามสภาพของศพนะครับ ประกอบด้วย
  1. ศพขึ้นอืด
  2. ศพที่เปลี่ยนสภาพเป็นสีเขียวคล้ำปนกับสีอื่นๆ
  3. ศพที่มีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม
  4. ศพที่ขาดเป็น 2 ท่อน
  5. ศพที่ถูกสัตว์กัดกินแล้ว
  6. ศพที่ขาดกระจุยกระจาย มือ เท้า ศีรษะแยกขาดไปอยู่ข้างๆ
  7. ศพที่ถูกสับเป็นท่อนๆ กระจัดกระจาย
  8. ศพที่มีเลือดอาบ
  9. ศพที่ถูกหนอนชอนไชเต็มไปหมด
  10. ศพที่เหลือแต่กระดูก

อนุสติ 10 ประกอบด้วย

  1. พุทธานุสติ คือการระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าด้วยความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธา ไม่ใช่แค่ท่องพุทโธแต่ปากแล้วจะเป็นพุทธานุสตินะครับ สำคัญที่ความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธเจ้าเป็นหลักครับ อาจจะบริกรรมพุทโธ หรือ อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ (เพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ* เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความจำเริญจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้ - จรณะ = เครื่องดำเนิน ประดุจเท้า คือ ศีล และวัตรข้อปฏิบัติต่างๆ อันหมดจดงดงาม ไม่ด่างพร้อย ที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันนั่นเองครับ) หรืออะไรก็ได้ครับที่เป็นการระลึกถึงพระพุทธเจ้า

  2. ธัมมานุสติ คือการระลึกถึงคุณของพระธรรมด้วยความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธา

  3. สังฆานุสติ คือการระลึกถึงคุณของพระอริยสงฆ์ด้วยความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธา

  4. สีลานุสติ คือการระลึกถึงความบริสุทธิ์ของศีลของตนเองด้วยความอิ่มเอิบใจ พร้อมด้วยการพิจารณาถึงอานิสงส์ต่างๆ ที่จะได้รับจากความบริสุทธิ์ของศีลนั้น

  5. จาคานุสติ คือการระลึกถึงการให้ทานที่ตนได้ทำไปแล้ว ด้วยความอิ่มเอิบใจ พร้อมด้วยการพิจารณาถึงอานิสงส์ต่างๆ ที่จะได้รับจากการให้ทานนั้น

  6. เทวตานุสติ คือการพิจารณาถึงบุญกุศลต่างๆ ที่ทำให้เกิดเป็นเทวดา แล้วระลึกถึงบุญกุศลต่างๆ ที่ตนได้ทำไว้แล้วอันจะส่งผลให้ได้เกิดเป็นเทวดาเช่นกัน

    คืออนุสติ 6 อย่างแรกนี้จะใช้ปิติที่เกิดจากความศรัทธาในสิ่งต่างๆ มาใช้ประโยชน์ในการทำให้จิตสงบระงับและประณีตขึ้น เพื่อใช้เป็นฐานของสมาธินะครับ

  7. มรณานุสติ คือการระลึกถึงความตายที่ต้องมีขึ้นเป็นธรรมดาโดยไม่รู้ว่าจะช้าหรือเร็วเท่าใด จะได้ไม่ประมาทในการรีบทำบุญกุศลต่างๆ รวมทั้งมีความเพียรในการทำกรรมฐาน คือสมาธิและวิปัสสนา เพื่อให้พร้อมสำหรับความตายนะครับ และเมื่อนึกถึงความตายแล้วความโลภความโกรธต่างๆ ก็จะลดลงโดยอัตโนมัติเพราะเห็นความไม่ยั่งยืนของชีวิตก็ไม่รู้จะสะสมทรัพย์สมบัติและความขัดเคืองใจต่างๆ ไปทำไมมากมายเพราะอีกไม่นานก็ตายกันหมดแล้ว ซึ่งนั่นก็จะหมายถึงนิวรณ์ต่างๆ อันมีพื้นฐานมาจากความโลภความโกรธนั้นก็ย่อมจะอ่อนกำลังลงไปด้วยนะครับ (ดูเรื่องนิวรณ์ 5 และวิธีแก้ไขประกอบนะครับ) และเมื่อตัวขัดขวางสมาธิคือนิวรณ์อ่อนกำลังลงความสงบระงับของจิตก็ย่อมจะมีกำลังขึ้นมา สมาธิก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้โดยง่ายนะครับ

  8. กายคตาสติ คือการพิจารณาถึงร่างกายว่าประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ เช่น ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง, เนื้อ, เอ็น, กระดูก ฯลฯ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด น่าเกลียด ไม่สวยงาม เป็นที่เกิดของโรคนานาชนิด ไม่น่ารักน่าใคร่ เพื่อไม่ให้ลุ่มหลงมัวเมาในกาย

  9. อานาปานสติ เป็นการทำสมาธิอีกวิธีหนึ่ง โดยหลักการที่สำคัญก็คือการเพ่งลมหายใจเข้าออกนะครับ คือจะรวมจิตไว้ที่การรับรู้ลมหายใจเข้าออกเพื่อไม่ให้จิตซัดส่ายคิดไปในเรื่องต่างๆ โดยปรกติแล้วจะยึดจิตไว้ที่ปลายจมูกหรือริมฝีปากด้านบนตรงจุดที่รู้สึกถึงการกระทบของลมหายใจที่ชัดเจนที่สุดครับ (อาจารย์บางท่านแนะนำว่าผู้ชายให้ยึดจิตไว้ที่จุดกระทบของลมหายใจตรงรูจมูกข้างขวา ผู้หญิงให้ยึดจิตไว้ที่จุดกระทบของลมตรงรูจมูกข้างซ้าย) แล้วคอยสังเกตลักษณะของลมหายใจอยู่ที่จุดนั้น โดยไม่ต้องเลื่อนจิตตามลมหายใจไปนะครับ เหมือนเวลาเลื่อยไม้ ตาก็มองเฉพาะที่จุดที่เลื่อยสัมผัสกับไม้เพียงจุดเดียวไม่ต้องมองตามใบเลื่อย ก็จะรู้ได้ว่าตอนนี้กำลังเลื่อยเข้าหรือเลื่อยออก เมื่อจิตอยู่ที่จุดลมกระทบเพียงจุดเดียวก็จะรู้ทิศทางและลักษณะของลมได้เช่นกันนะครับ การสังเกตนั้นคือสังเกตว่ากำลังหายใจเข้าหรือออก ลมหายใจยาวหรือสั้น ลมหายใจเย็นหรือร้อน ลมหายใจหยาบหรือละเอียด (ดูเรื่องอานาปานสติสูตร ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบนะครับ) พร้อมกันนั้นก็มีคำบริกรรมประกอบไปด้วย เช่น หายใจเข้าบริกรรมว่าพุท หายใจออกบริกรรมว่าโธ หรืออาจจะบริกรรมตามลักษณะของลมหายใจในขณะนั้น เช่น เข้า-ออก หรือ ยาว-สั้น หรือ เย็น-ร้อน หรืออาจจะใช้วิธีการนับเลข 1 - 10 ก็ได้ครับ (ดูเรื่องนิวรณ์ 5 และวิธีแก้ไข ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) ประกอบนะครับ เกี่ยวกับวิธีแก้ไขอุทธัจจกุกกุจจะ จะมีคำอธิบายวิธีนับลมหายใจอธิบายเอาไว้อย่างละเอียดครับ)

  10. อุปสมานุสติ คือการระลึกถึงคุณของพระนิพพาน

อัปปมัญญา 4


คือการแผ่ความรู้สึกออกไปโดยไม่มีประมาณนะครับ ประกอบด้วย
  1. เมตตา คือความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข
  2. กรุณา คือความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์
  3. มุทิตา คือความยินดีที่ผู้อื่นมีความสุข
  4. อุเบกขา คือความรู้สึกที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในความสุขความทุกข์ของผู้อื่น เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม จึงทำลายความยินดียินร้าย ความชอบความชังลงได้ วางจิตให้เป็นกลาง ไม่ฟูไม่แฟบ ไม่กระเพื่อมหวั่นไหว สงบนิ่งอยู่

อื่นๆ อีก 2 อย่างคือ

  1. อาหาเรปฏิกูลสัญญา คือการพิจารณาถึงความเป็นปฏิกูล น่ารังเกียจ ของอาหารที่รับประทานเข้าไป พิจารณาถึงการแปรสภาพของอาหาร ตั้งแต่ถูกเคี้ยว คลุกเคล้ากับน้ำลายอยู่ในปาก ผ่านไปยังกระเพาะ ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ จนกระทั่งออกมาจากร่างกายอีกครั้ง ด้วยสภาพที่บูดเน่า น่ารังเกียจ เพื่อประโยชน์ในการไม่ติดในรสอาหาร รวมถึงป้องกันกิเลสตัวอื่นๆ ที่จะเกิดจากอาหารครับ

  2. จตุธาตุววัฏฐาน 4 คือการพิจารณาร่างกายของตนว่าเป็นเพียงธาตุ 4 คือ ดิน, น้ำ, ไฟ, ลม เท่านั้น ปราศจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เพื่อขจัดความยึดมั่นถือมั่นลงไป

อรูปสมาบัติ 4


คือการใช้สิ่งที่ไม่ใช่รูปธรรมเป็นเครื่องยึดจิต เป็นสมาธิขั้นสูงกว่าขั้นที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด (ซึ่งเป็นรูปสมาบัตินะครับ) ประกอบด้วย
  1. อากาสานัญจายตนะ คือการเพ่งช่องว่างที่กว้างใหญ่หาที่สุดไม่ได้ ซึ่งเกิดจากการเพิกรูปธรรม (เช่น นิมิตต่างๆ ที่ใช้ยึดจิตในรูปสมาบัติ) ออกไปนะครับ ในชั้นอรูปสมาบัตินี้จิตจะพ้นจากความยินดีพอใจในรูปธรรมทั้งปวง ยินดีพอใจเฉพาะในนามธรรมเท่านั้น จิตจะมีความประณีตเบาสบายอย่างมากเพราะพ้นจากความติดยึดในรูปธรรมทั้งปวง ถ้าตราบใดที่จิตยังยินดีพอใจในรูปธรรมอยู่ แม้เพียงการยินดีพอใจในการที่จะได้มีเพื่อนคบค้าสมาคมด้วย หรือยินดีในการมีร่างกาย ก็จะไม่สามารถเข้าอรูปสมาบัติได้ครับ ถึงแม้จะเข้าไปได้แว็บเดียวจิตก็จะตกวูบออกมาสู่รูปอีกเพราะแรงดึงดูดที่เกิดจากความยินดีในการมีรูปนั่นเองที่จะทำให้จิตไม่สามารถทรงอยู่ในอรูปสมาบัติได้ เหมือนคนที่พยายามยืนอยู่บนอากาศก็ย่อมจะตกลงสู่เบื่องล่างเพราะความถ่วงจำเพาะของร่างกายมากกว่าความถ่วงจำเพาะของอากาศฉันใด ความหยาบของจิตที่ยินดีในรูปก็จะไม่สามารถทรงตัวอยู่ในความประณีตของอรูปได้ฉันนั้นครับ การที่จะเข้าสู่อรูปสมาบัติได้นั้น เมื่อเข้าสู่รูปสมาบัติขั้นสูงสุดได้แล้ว (คือฌาน 4 ตามแนวพระสูตรหรือฌาน 5 ตามแนวอภิธรรมนะครับ) ก็จะต้องพิจารณาถึงโทษของรูปและการมีรูปเพื่อทำลายความยินดีพอใจในรูปก่อน เมื่อทำลายความยินดี ความอาลัยอาวรณ์ในรูปได้แล้วถึงจะเข้าสู่อรูปได้ครับ

  2. วิญญาณัญจายตนะ คือการเพ่งหรือทำความรู้สึกไปที่วิญญาณหรือจิตที่แผ่ออกไปรับรู้ความรู้สึกในช่องว่างที่กว้างใหญ่ไพศาลในขั้นอากาสานัญจายตนะนั้นนะครับ จิตจะละเอียดประณีตกว่าอากาสานัญจายตนะขึ้นไปอีก

    คือจากตอนแรกที่จิตยินดีในรูปในชั้นรูปสมาบัติ พอเอารูปนั้นออกไปจากใจเหลือเป็นช่องว่าง จิตก็จะประณีตขึ้นในขั้นของอากาสานัญจายตนะ ซึ่งในขั้นอากาสานัญจายตนะนั้นตรงจุดที่เพ่งจะประกอบด้วย 2 ส่วนนะครับ คือตัวช่องว่างและจิตที่แผ่ไปรับรู้ช่องว่างนั้น การเข้าสู่วิญญาณัญจายตนะก็คือการเลิกใส่ใจในช่องว่างนั้น แต่ใส่ใจที่จิตหรือวิญญาณที่เป็นตัวรับรู้สภาวะของช่องว่างนั้นแทน ซึ่งจิตหรือวิญญาณนั้นมีความประณีตกว่าตัวช่องว่าง ดังนั้นจิตในชั้นของวิญญาณัญจายตนะจึงประณีตกว่าจิตในชั้นอากาสานัญจายตนะเพราะสิ่งที่ใช้ยึดมีความประณีตกว่ากันนั่นเองครับ

  3. อากิญจัญญายตนะ คือการทำความรู้สึกถึงความไม่มีอะไรเลยหลังจากเพิกวิญญาณัญจายตนะออกไป จิตจึงละเอียดประณีตขึ้นไปอีกครับ คือในชั้นนี้จะไม่ใส่ใจแม้กระทั่งจิตในขั้นของวิญญาณัญจายตนะ แต่ใส่ใจความไม่มีอะไรเลยแทน ด้วยความรู้สึกว่านิดหนึ่งก็ไม่มี (นัตถิกิญจิปิ) ความรู้สึกในขั้นนี้จะเบาบางอย่างยิ่งเลยครับ รู้สึกเหมือนอนันตจักรวาลนี้ไม่มีอะไรอยู่เลยจริงๆ

  4. เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือความรู้สึกที่เหลืออยู่น้อยมาก จนแทบไม่รู้สึกตัวเลย หลังจากเพิกความรู้สึกในอากิญจัญญายตนะออกไป เป็นจิตที่ละเอียด ประณีตที่สุดที่ปุถุชน โสดาบัน และสกทาคามีบุคคลจะทำได้ครับ เพราะความยึดมั่นถือมั่นที่ยังมีอยู่ในจิตทำให้จิตไม่สามารถตัดความยินดีในการมีชีวิตได้ และไม่สามารถตัดความยินดีในการรับอารมณ์ได้ คือตัดรูปได้แต่ตัดจิตไม่ได้จึงไม่สามารถเข้าสู่กรรมฐานขั้นสูงสุดคือนิโรธสมาบัติได้ เพราะในชั้นนั้นจะตัดความรู้สึกต่างๆ ออกไปอย่างสิ้นเชิง ตัดแม้กระทั่งตัวจิตเองครับ
(อนาคามีบุคคล และพระอรหันต์จะทำได้ถึงขั้นหมดความรู้สึกตัวอย่างสิ้นเชิง ที่เรียกว่านิโรธสมาบัติ หรือสัญญาเวทยิตนิโรธครับ)

ฌาน 4 ฌาน 5 สมาบัติ 8


ขอสรุปให้เข้าใจถึงภาพรวมของการทำสมาธิขั้นที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนี้นะครับ

ในการทำสมาธิหรือเข้าฌานขั้นที่สูงขึ้นเรื่อยๆ นั้น ตรงนี้เป็นคนละแง่กับกรรมฐาน 40 หรือสมาธิ 40 วิธีนะครับ คือสมาธิ 40 วิธีก็เหมือนกับคนเรียนหนังสือ 40 สาขา เช่น สายสามัญ สายวิทย์ สายศิลป์ สายอาชีพ สายบัญชี สายเทคนิค เป็นต้น แต่ฌานขั้นต่างๆ นั้นเป็นความประณีตขึ้นของจิตที่เกิดจากสมาธิที่ทำนั้น ซึ่งแนวพระสูตรก็เรียกเป็นสมาบัติ 8 คือรูปฌาน 4 + อรูปฌาน 4 ซึ่งจิตก็จะประณีตขึ้นเรื่อยๆ เหมือนการเรียนหนังสือไม่ว่าสายใดก็จะมีชั้นที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จากอนุบาลไปปฐม มัธยมหรือ ปวช. ปวส. ขึ้นไปก็เป็นปริญญาตรี โท เอก สมาธิ 40 ก็เหมือนสาขาที่เรียนนะครับ (ยกเว้นอรูปสมาบัติ 4 นะครับที่เหมือนเป็นระดับมหาวิทยาลัย ต้องเรียนรูปสมาบัติ 36 อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งให้จบก่อนแล้วถึงต่อชั้นอรูปสมาบัติได้) ส่วนฌานขั้นต่างๆ ก็เหมือนชั้นอนุบาล ปฐม มัธยม มหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ว่าจะเรียนสายไหนก็จะต้องผ่านชั้นอนุบาล ปฐม มัธยม หรือ ปวช. ปวส. กันทั้งสิ้นนะครับ

แต่ว่าในสมาธิ 36 อย่างนั้น บางอย่างก็ไม่สามารถทำสมาธิได้สูงถึงขึ้นรูปฌานที่ 4 นะครับ เพราะไม่สามารถทำให้จิตแนบแน่นกับกรรมฐานได้มากพอ แต่ก็ใช้เป็นพื้นฐานเพื่อไปทำสมาธิที่มีความแนบแน่นมากๆ อย่างกสิณได้ครับ

ฌานตามแนวพระอภิธรรมจะละเอียดกว่าพระสูตร 1 ขั้นนะครับ คือในขั้นของรูปฌานที่ 2 ของพระสูตรนั้นจะถูกแบ่งเป็น 2 ขั้นในแนวพระอภิธรรม คือฌานที่ 2 ของพระสูตรจะเท่ากับฌานที่ 2 และ 3 ของอภิธรรม ฌานที่ 3 ของพระสูตรจึงเท่ากับฌานที่ 4 ของอภิธรรม ดังนี้ครับ

พระสูตร:พระอภิธรรม 1=1, 2=2กับ3, 3=4, 4=5 ทำให้แนวพระสูตรมีถึงรูปฌานที่ 4 แต่พระอภิธรรมมีถึงรูปฌานที่ 5 ส่วนอรูปฌานมี 4 เท่ากันครับ

ในการเข้าฌานที่สูงขึ้นนั้นก็คือการทำจิตให้ประณีตละเอียดอ่อนขึ้นนั่นเองครับ ซึ่งทำได้โดยการละความยินดี ความใส่ใจ ความพอใจในสิ่งที่หยาบออกไปทีละขั้น เริ่มจากขั้นที่ 1 คือฌานที่ 1 ก็จะเป็นการละสิ่งที่หยาบคือนิวรณ์ทั้ง 5 ออกไป (ดูเรื่องนิวรณ์ 5 และวิธีแก้ไขประกอบนะครับ) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการละเรื่องโลกๆ หรือเรื่องกาม เรื่องวัตถุ เรื่องความโกรธ ฯลฯ ออกไปนั่นเองครับ เมื่อละความยินดีในทางโลกได้แล้วจิตก็จะประณีตเบาสบายขึ้น และไม่ซัดส่ายเหมือนจิตแบบโลกๆ เพราะความโลภ ความโกรธ เป็นต้นนั้นไม่มารบกวนจิตใจ ในขั้นฌานที่ 1 หรือปฐมฌานนี้จิตจะประกอบด้วยองค์ฌาน 5 อย่าง คือ วิตก (การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ไม่ใช่วิตกกังวลแบบภาษาไทยนะครับ) วิจาร (การตรอง หรือการเคล้าคลึงอารมณ์ วิตกเหมือนการเอื้อมมือไปจับแก้วน้ำ วิจารเหมือนการประคับประคองแก้วน้ำนั้นไว้ไม่ให้หลุดมือไปนะครับ เช่น การเพ่งกสิณ วิตกคือการที่เราตั้งใจเพ่งอย่างแรงเพื่อให้กสิณนั้นติดตา วิจารจะเป็นการเพ่งที่แผ่วลงเพียงเพื่อประคองจิตไม่ให้กสิณนั้นเลือนหายไป) ปีติ (ความรู้สึกซาบซ่าน เย็น จากสมาธิ) สุข (ความรู้สึกเอิบอิ่มจากสมาธิ) เอกัคคตา (ความที่จิตแนบแน่นไม่ซัดส่าย คือตัวสมาธินั่นเองครับ)

การเข้าสู่ฌานที่ 2 หรือทุติยฌานก็คือการละความยินดีในองค์ฌานที่หยาบที่สุดออกไปคือวิตกนั่นเองครับ จิตจึงเหลือเพียงวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา คือการที่เราสามารถรักษาจิตให้แนบแน่นอยู่ได้ด้วยการเพ่งที่แผ่วเบาลงนั่นเองครับ จิตจึงประณีต ละเอียด เบาสบายขึ้น

การเข้าสู่ฌานที่ 3 หรือตติยฌานก็เป็นการละวิจารออกไป หรือการที่เราสามารถรักษาจิตให้แนบแน่นได้ด้วยการเพ่งที่แผ่วเบาขึ้นอีกขั้นครับ เมื่อจิตประณีตถึงขั้นนี้จะมีอาการที่เรียกว่าปีติเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติครับ ไม่ใช่เพราะความดีใจนะครับ แต่เป็นอาการที่เป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติของจิตที่ประณีตในระดับนี้เองครับ บางคนจะรู้สึกหนาวเย็นจนตัวสั่น บางคนเหมือนตัวพองออก บางคนเหมือนตัวเบาเหมือนจะลอยได้ บางคนน้ำตาไหล บางคนตัวโยกโคลง ฯลฯ ซึ่งไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่ต้องตกใจนะครับ เป็นอาการตามธรรมชาติของจิตที่ประณีตในระดับนี้เอง เมื่อจิตประณีตมากขึ้นหรือลดลงจนพ้นจากระดับนี้แล้ว อาการเหล่านี้ก็จะหายไปเองครับ ในขั้นฌานที่ 3 นี้จิตจะเหลือเพียงปีติ สุข เอกัคคตานะครับ

ในแนวพระสูตรนั้นจะละวิตกและวิจารในคราวเดียวกันเลย ทำให้ฌานที่ 2 ของพระสูตรเหลือเพียงปีติ สุข เอกัคคตาเท่ากับฌานที่ 3 ของอภิธรรมนะครับ

การเข้าสู่ฌานที่ 4 หรือจตุตถฌานจะเป็นการละส่วนที่หยาบที่สุดของฌานที่ 3 คือปีติออกไปนะครับ คือจะเพ่งด้วยความแผ่วเบาขึ้นอีกโดยที่ยังรักษาสมาธิไว้ได้ จิตจึงประณีตขึ้นมาอีกขั้นพ้นจากขั้นของปีติเหลือเพียงสุขกับเอกัคคตา อาการของปีติจะหายไปเกิดความรู้สึกอิ่มเอิบไปทั่วร่างกายมาแทนที่ ไม่หนาวเย็นเหมือนปีติ

การเข้าสู่ฌานที่ 5 หรือปัญจมฌานซึ่งเป็นขั้นสูงที่สุดของรูปฌานนั้นจะเป็นการเพ่งที่แผ่วเบาที่สุดที่มีรูปเป็นอารมณ์นะครับ (เช่นเพ่งดวงกสิณ) เมื่อเพ่งแผ่วเบาที่สุดจิตก็ประณีต ละเอียด เบาสบายที่สุดเช่นกันครับ เป็นการทิ้งความหยาบของสุขออกไป ในชั้นนี้ความรู้สึกอิ่มเอิบจะหายไปเปลี่ยนเป็นความรู้สึกเย็นสบายแบบสงบนิ่งขึ้นมาแทนที่ ไม่ซาบซ่านเหมือนปีติ ไม่อิ่มเอิบเหมือนสุข จิตจะประกอบด้วยอุเบกขาและเอกัคคตา มีความสงบระงับอยู่ในสมาธิ ไม่ใช่อุเบกขาแล้วจะรู้สึกเหมือนเฉยชานะครับ แต่เป็นจิตที่สงบนิ่งไม่กระเพื่อม มีความรู้สึกเป็นสุขแบบละเอียดอ่อนอยู่ลึกๆ ในใจ ไม่หวั่นไหวไปตามสิ่งต่างๆ ที่มากระทบ

การเข้าสู่อรูปฌานขั้นแรกคืออากาสานัญจายตนะก็จะเป็นการทิ้งส่วนที่หยาบคือความยินดี อาลัยอาวรณ์ในรูปฌานออกไป จากนั้นก็ทิ้งความยินดี อาลัยอาวรณ์ในชองว่าง ในวิญญาณ ... ลงไปตามลำดับตามที่กล่าวไปแล้วในอรูปสมาบัตินะครับ

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ

17 ความคิดเห็น :

  1. ดีมากครับอ่านเข้าใจง่ายดี

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ19 เมษายน 2564 เวลา 14:55

    ขอขอบพระคุณในธรรมทานนี้เป็นอย่างสูง อยากจะแนะนำให้ตัดคำว่า"นะครับ"ออกเพราะไม่ใช่ความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งมาจากพระไตรปิฎกจะได้เป็นกลางๆ ขออนุโมทนา

    ตอบลบ
  3. เข้าใจง่ายดี ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  4. ดีมากครับผม แต่อยากทราบ กรรมฐาน๔๐ อยู่เล่มที่เท่าไหร่ หน้าที่เท่าไหร่ครับผม

    ตอบลบ
    คำตอบ

    1. สวัสดีครับ

      ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ https://tripitaka-online.blogspot.com

      กรรมฐาน ๔๐ นั้นไม่มีรวมเอาไว้ในพระไตรปิฎกพระสูตรใดพระสูตรหนึ่งนะครับ พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาว่ากรรมฐานไหนเหมาะกับใคร ก็จะแสดงกรรมฐานนั้นแก่ผู้นั้นเลยครับ

      ดังนั้น ในพระสูตรเกี่ยวกับกรรมฐานส่วนใหญ่จึงมักแสดงเพียงกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวครับ พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงกรรมฐานหลายอย่าง อย่างกว้างขวาง ก็เช่น

      มหาสติปัฏฐานสูตร พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] อุทเทส พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๓๐๑ - ๓๔๐ ข้อ : ๓๗๒ - ๔๐๕

      (อ่านหน้า : ๓๓๑ - ๓๔๐ ที่ลิ้งค์นี้นะครับ)

      กรรมฐาน ๔๐ นั้นเป็นการรวบรวมโดยอาจารย์รุ่นหลังครับ สามารถหาอ่านได้ใน คัมภีร์วิสุทธิมรรค รวมถึงใน หนังสือวิมุตติมรรค ครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ
  5. สาธสาธสาธุ ขอบคุณพระคุณมากนะครับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแล

    ตอบลบ
  6. อนุโมทามิ แอดมินเพจทุกท่าน ที่สละเวลาเพื่อเป็นธรรมทาน ในบวรพระพุทธศาสนา เป็นอย่างยิ่ง

    ตอบลบ
  7. ไม่ระบุชื่อ14 กรกฎาคม 2565 เวลา 13:27

    ขอบพระคุณอย่างสูงในธรรมทานครับ

    ตอบลบ
  8. ไม่ระบุชื่อ21 มีนาคม 2566 เวลา 14:57

    อนุโมทนา

    ตอบลบ
  9. ไม่ระบุชื่อ3 กันยายน 2566 เวลา 06:14

    สาธุๆๆแด่ท่านที่มีความเพียรช่วยเผยแผคำสอนของพระพุทธองค์ ให้ยั่งยืนสืบต่อไป

    ตอบลบ
  10. ไม่ระบุชื่อ4 กันยายน 2566 เวลา 06:15

    สาธุๆๆ อนุโมทนาทุกๆบุญที่ช่วยเผยแผ่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ยั่งยืนสืบต่อไปครับ
    สุชิน ศรีพระราม

    ตอบลบ
  11. ไม่ระบุชื่อ20 มีนาคม 2567 เวลา 08:23

    ขอบพระคุณมากค่ะ แลอนุโมทนาบุญที่เผยแผ่ธรรมะค่ะสาธุๆๆ

    ตอบลบ
  12. ไม่ระบุชื่อ22 มีนาคม 2567 เวลา 03:49

    ขอบพระคุณมากคะ อธิบายได้ดีมากคะ ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นคะ

    ตอบลบ
  13. ไม่ระบุชื่อ13 เมษายน 2567 เวลา 09:52

    กราบขอบพระคุณท่านธัมมโชติและเว็บไซต์พระไตรปิฏกออนไลน์ ขออนุญาตปริ้นออกมาเพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรมของเป็นวิทยาทานนะครับ กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับสาธุสาธุสาธุอนุโมทามิ ครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ https://tripitaka-online.blogspot.com

      ลบ