ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่
การทำบุญในที่นี้จะกล่าวถึงการให้ทานเท่านั้นนะครับ สำหรับการทำบุญประเภทอื่น สามารถอ่านได้ในหมวดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญประเภทนั้นๆ โดยตรง รวมทั้งในเรื่องเวลามสูตร : เปรียบเทียบผลบุญชนิดต่างๆ ในหมวดธรรมทั่วไป ซึ่งเป็นสูตรที่สรุปเปรียบเทียบผลบุญที่ได้รับจากการทำบุญแทบจะทุกประเภท ว่าประเภทไหนให้ผลบุญมาก/น้อยกว่ากันอย่างไร
การให้ทานในที่นี้ จะเน้นที่การสละวัตถุสิ่งของ หรือทรัพย์สมบัติให้แก่ผู้อื่นเป็นหลัก แต่ก็สามารถประยุกต์ใช้ได้กับการให้ทานอย่างอื่นๆ เช่น ธรรมทาน (การให้ธรรมเป็นทาน) อภัยทาน(การให้อภัยแก่ผู้อื่น) ได้เช่นกัน โดยการพิจารณาเปรียบเทียบกันนะครับ
การให้ทานแต่ละครั้งนั้น จะให้ผลบุญหรืออานิสงส์มากหรือน้อยอย่างไรนั้น ขึ้นกับปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกัน ทั้งปัจจัยจากตัวผู้ให้ วัตถุสิ่งของที่ให้ และผู้รับทานนั้นด้วย ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเอาไว้ในที่หลายๆ แห่ง ทางผู้ดำเนินการได้รวบรวมจากพระไตรปิฎกหลายๆ สูตร รวมทั้งแหล่งความรู้อื่นๆ สรุปได้ดังนี้คือ
การทำบุญให้ทานนั้น เปรียบเสมือนการทำนาปลูกข้าว โดยที่ผู้รับเป็นเหมือนนาข้าว ของที่ให้เหมือนเมล็ดพันธุ์ข้าว กิเลสของผู้รับและผู้ให้เหมือนเป็นวัชชพืชในนาข้าวนั้น ความตั้งใจของผู้ให้เหมือนความตั้งใจในการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ตกลงในนา ไม่ให้กระจัดกระจายออกนอกนา ศรัทธาของผู้ให้เปรียบเหมือนปุ๋ย ปิติที่เกิดขึ้นกับผู้ให้เปรียบเหมือนน้ำ ผลบุญที่ผู้ให้ได้รับเปรียบเสมือนผลผลิตจากการทำนานั้น ผู้รับจึงได้ชื่อว่าเป็นเนื้อนาบุญ
การทำนาปลูกข้าวนั้น ถ้าใช้ข้าวพันธุ์ดี ปลูกในนาข้าวที่มีดินดี ในขณะหว่านก็ตั้งใจหว่านให้ข้าวตกลงในท้องนาอย่างพอดี ไม่กระจัดกระจายสูญหายไปนอกนา มีน้ำบริบูรณ์ มีปุ๋ยอุดมสมบูรณ์ ไม่มีวัชชพืชมาคอยแย่งอาหารต้นข้าว ผลผลิตที่ได้ย่อมมากมาย เต็มเม็ดเต็มหน่วยฉันใด
การทำบุญด้วยวัตถุอันเลิศ ให้กับบุคคลอันเลิศ ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองใดๆ ทำไปด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่มั่นคง ประกอบด้วยศรัทธาอันดี ถึงพร้อมด้วยปิติเบิกบานใจ ผลบุญที่ได้ย่อมไพบูลย์ฉันนั้น
คุณสมบัติของผู้ให้ทานที่จะได้บุญมาก
การที่ผู้ให้ทานจะได้รับผลบุญมากนั้น ตัวผู้ให้เองต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังนี้ครับ- ให้ทานนั้นโดยเคารพ ทำความนอบน้อมให้ (มีความเคารพด้วยใจที่แท้จริง ไม่ใช่แค่เพียงร่างกาย)
- ให้ทานนั้นด้วยมือตนเอง (ถ้ายิ่งต้องใช้ความพยายามมากเท่าไร จิตก็จะยิ่งมีกำลังมากขึ้นเท่านั้น การทำบุญด้วยความรู้สึกที่หนักแน่นมากเท่าไร ก็จะส่งผลให้ได้บุญที่หนักแน่นมากเท่านั้นครับ)
- เชื่อในกรรมและผลของกรรม (ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่หนักแน่นเช่นกันครับ ไม่ใช่ว่าสักแต่ให้ๆ ไปเท่านั้น)
- มีความเลื่อมใส ศรัทธาในผู้รับทานนั้น (เหตุผลเช่นเดียวกับข้อก่อน)
- เมื่อให้แล้วเกิดปิติโสมนัส จิตใจผ่องใส เบิกบาน
- ให้ทานเหมาะสมกับกาลเวลา คือให้ในสิ่งที่ผู้รับต้องการในเวลานั้นๆ
- ให้ทานโดยสละวัตถุทานนั้นอย่างแท้จริง ไม่มีใจยึดเหนี่ยว ห่วงใยวัตถุนั้นอีก ไม่ว่าผู้รับจะเอาสิ่งนั้นๆ ไปใช้ทำอะไรหรือเมื่อไหร่
- เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน คือให้โดยหวังประโยชน์แก่ผู้รับจริงๆ ไม่ใช่หวังประโยชน์แก่ตัวผู้ให้เอง
- รู้สึกยินดีในการให้ทานครั้งนั้นทั้ง 3 กาล คือทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังจากให้ทานนั้นแล้วก็รู้สึกยินดี คือนึกถึงเมื่อใดก็ยินดีเมื่อนั้น ไม่ใช่ให้แล้วเสียใจในภายหลัง
- ให้ทานโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ไม่หวังแม้แต่บุญที่จะได้รับ คือให้เพื่อให้จริงๆ แล้วผลบุญก็จะตามมาเองครับ
ลักษณะของวัตถุสิ่งของที่ใช้ให้ทานแล้วได้บุญมาก
วัตถุทานที่ใช้ทำบุญให้ทาน แล้วจะส่งผลให้ผู้ให้ทานนั้นได้รับอานิสงส์ผลบุญมาก มีลักษณะดังนี้คือ- ให้ของที่ไม่ใช่ของเหลือเดน คือไม่ใช่เป็นของที่แม้ผู้ให้เองก็ไม่ต้องการแล้ว
- ให้ของที่สะอาด จัดเตรียมอย่างประณีต
- ให้ของที่ได้มาโดยชอบธรรม และผู้ให้มีสิทธิในการเป็นเจ้าของของนั้นจริงๆ
- ให้โดยไม่มีส่วนเหลือ คือให้ของนั้นทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะนั้น ไม่ใช่ให้อย่างขยักขย่อน
- ถ้าของที่ให้นั้นมีความสำคัญ มีความหมาย มีคุณค่าสำหรับตัวผู้ให้เองมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้บุญมากขึ้นเท่านั้น เพราะผู้ให้ต้องเสียสละมาก เช่น คนยากจนให้ทาน 10 บาท อาจได้บุญมากกว่าเศรษฐีให้ทาน 1,000 บาทก็ได้ เพราะเงิน 10 บาทนั้นมีค่ามากสำหรับคนยากจน ในขณะที่เงิน 1,000 บาทเป็นเพียงแค่เศษเงินของเศรษฐีนะครับ
- การให้อวัยวะของตนเป็นทาน ได้บุญมากกว่าการให้ทรัพย์ภายนอกเป็นทาน
- การให้ชีวิตของตนเป็นทาน ได้บุญมากกว่าการให้อวัยวะเป็นทาน
คุณสมบัติของผู้รับที่จะทำให้ผู้ให้ได้บุญมาก
ผู้รับทาน หรือเนื้อนาบุญที่ดี อันจะส่งผลให้ผู้ที่ทำบุญด้วยได้บุญมากนั้น มีคุณสมบัติดังนี้ครับ- เป็นผู้ที่มีศีลมาก และถือศีลนั้นได้อย่างบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่เป็นคนทุศีล หรือต่อหน้าเป็นอย่างหนึ่ง แต่พอลับหลังกลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง
- เป็นผู้ที่มีจิตเป็นสมาธิ สงบ ผ่องใส ไม่ถูกนิวรณ์ทั้ง 5 ครอบงำ (ดูเรื่องนิวรณ์ 5 และวิธีแก้ไข ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) ประกอบนะครับ)
- เป็นผู้ที่ปราศจากกิเลส หรือมีกิเลสเบาบาง หรืออย่างน้อยก็เป็นผู้ที่ปฏิบัติเพื่อให้หมดกิเลส ซึ่งจะทำให้ผู้ให้ได้บุญลดหลั่นกันไปตามขั้น
- การทำบุญกับสงฆ์ (สังฆทาน - การทำบุญโดยไม่เจาะจงผู้รับว่าต้องเป็นภิกษุรูปนั้นรูปนี้) จะทำให้ผู้ให้ได้บุญมากกว่าปุคคลิกทาน (การให้โดยเจาะจงผู้รับ) ทั้งนี้ต้องเป็นสังฆทานด้วยใจที่แท้จริง ดูเรื่องสังฆทานที่แท้จริงประกอบนะครับ
- ลำดับขั้นของผู้รับ ที่จะทำให้ผู้ให้ได้บุญมากหรือน้อยนั้น ขอให้ดูรายละเอียดในเรื่องเวลามสูตร : เปรียบเทียบผลบุญชนิดต่างๆ ในหมวดธรรมทั่วไป ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกแจกแจงไว้อย่างชัดเจนนะครับ
คุณสมบัติต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทั้งของผู้ให้ สิ่งของที่ให้ และผู้รับของนั้น ถ้ายิ่งมีมากและสมบูรณ์มากเท่าใด ผลบุญที่ได้รับก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้นครับ แต่ถ้าคุณสมบัติดังกล่าวลดน้อยลงไปมากเท่าใด ผลบุญที่ได้ก็จะน้อยลงตามไปด้วยเช่นกันครับ
หมายเหตุ
- ในส่วนของผู้รับทานนั้น ความปราศจากกิเลส หรือมีกิเลสเบาบาง (ผลจากการเจริญวิปัสสนา) มีผลให้ผู้รับได้บุญมาก มากกว่าสมาธิ
- สมาธิมีผลให้ผู้รับได้บุญมาก มากกว่าศีล
ทั้งนี้เพราะวิปัสสนาทำให้กิเลสหมดไปได้อย่างถาวร ทั้งกิเลสขั้นละเอียด (อนุสัยกิเลส - กิเลสที่นอนเนื่องในขันธสันดาน หรือกิเลสในระดับจิตใต้สำนึก) กิเลสขั้นกลาง (กิเลสในระดับจิตสำนึก) กิเลสขั้นหยาบ (กิเลสที่ทำให้เกิดการแสดงออกทางกาย วาจา)
ในขณะที่สมาธินั้นสามารถข่มกิเลสในส่วนของนิวรณ์ 5 ได้ในระดับของกิเลสขั้นกลาง และกิเลสขั้นหยาบเท่านั้น ส่วนกิเลสขั้นละเอียดยังคงอยู่เหมือนเดิม และเมื่อสมาธิเสื่อมไปเมื่อใด กิเลสทั้งหลายก็กลับมาได้เหมือนเดิม
ส่วนศีลนั้นเป็นแค่เพียงแต่ข่มกิเลสขั้นหยาบเอาไว้เท่านั้นเองครับ
ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ
ธัมมโชติ
ขอขอบคุณท่านธัมมโชติในธรรมทานนี้ครับ
ตอบลบอาจารย์ครับ ผมมีข้อสงสัยขอเรียนถามดังนี้ครับ
ตอบลบเมื่อการทำทานที่ผู้ให้จะได้รับบุญมาก ต้องพิจารณาทั้งผู้ให้ สิ่งที่เป็นทาน และผู้รับ
แล้วทำไม การทำสังฆทานโดยไม่เจาะจงตัวผู้รับ ถึงถือว่าเป็นการทำทานที่ได้บุญมากกว่าการทำทานโดยเจาะจงผู้รับเล่าครับ
หากเราไม่เจาะจงผู้รับ เกิดผู้รับเป็นผู้ทุศีล บุญที่ได้ก็ย่อมน้อบกว่าให้ทานแก่ผู้มีศีลไม่ใช่หรือครับ
รบกวนอาจารย์ช่วยชี้ทางสว่างให้ผมด้วยครับ
สวัสดีครับ
ลบขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ http://tripitaka-online.blogspot.com
การทำสังฆทานที่แท้จริงนั้นเราต้องน้อมใจเพื่อให้ทานนั้นแก่หมู่สงฆ์ คือสังฆรัตนะ ซึ่งเป็น 1 ในพระรัตนตรัยครับ ไม่ใช่น้อมใจเพื่อให้ผู้รับทานนั้น ภิกษุหรือหมู่ภิกษุผู้รับทานนั้นเป็นเพียงตัวแทนของสังฆรัตนะเพื่อรับทานนั้นไปเท่านั้น ซึ่งโดยหลักการแล้วภิกษุผู้ที่ทำหน้าที่รับทานนั้นไป ไม่ได้มีสิทธิ์ในทานนั้นในฐานะผู้รับทานนะครับ แต่ต้องนำไปเข้าเป็นส่วนกลางของสงฆ์แล้วถึงแจกจ่ายให้ภิกษุรูปใดๆ ที่มีความเหมาะสมและต้องการใช้วัตถุทานนั้นตามส่วนอันควรต่อไป
และถึงแม้ว่าผู้รับทานนั้นไปใช้จริงจะเป็นผู้ทุศีลก็ไม่ได้ทำให้ผลบุญของเราลดลงไปนะครับ เพราะเราน้อมใจถวายสงฆ์ก็เป็นอันจบที่สงฆ์ ส่วนหลังจากนั้นสงฆ์จะจัดการอย่างไรก็ไม่เกี่ยวกับเราแล้ว เปรียบเหมือนเราถวายอาหารพระพุทธเจ้า แล้วพระพุทธเจ้าเอาอาหารนั้นไปเลี้ยงแมว บุญที่เราได้ก็คือบุญจากการถวายอาหารพระพุทธเจ้าครับ ไม่ใช่บุญจากการเลี้ยงแมว
หรือในทางกลับกัน เราถวายอาหารแก่ภิกษุรูปหนึ่งแล้วภิกษุรูปนั้นนำอาหารนั้นไปถวายพระพุทธเจ้า บุญที่เราได้ก็คือบุญจากการถวายอาหารภิกษุรูปนั้น ส่วนภิกษุรูปนั้นก็จะได้บุญจากการถวายอาหารพระพุทธเจ้าครับ แต่ถ้าเราฝากอาหารนั้นกับภิกษุรูปนั้นเพื่อให้ท่านนำไปถวายพระพุทธเจ้า กรณีนี้เราก็จะได้บุญจากการถวายอาหารพระพุทธเจ้าครับ ภิกษุรูปนั้นก็จะได้บุญในแง่ไวยาวัจมัยคือเป็นผู้ขวนขวายทำการแทนผู้อื่น ไม่ใช่ในฐานะเจ้าของทานครับ
เหมือนเวลาเราเสียภาษีเงินได้ จริงอยู่ว่าเราจ่ายให้เจ้าหน้าที่สรรพากร แต่โดยความเป็นจริงแล้วเราจ่ายภาษีนั้นให้กับประเทศชาติเพื่อพัฒนาประเทศต่างหากครับ โดยมอบหมายให้รัฐบาลเป็นผู้ทำหน้าที่จัดสรรเงินภาษีนั้นเพื่อใช้พัฒนาประเทศอย่างเหมาะสมต่อไป
ด้วยความที่เราตั้งจิตน้อมใจในการถวายทานนั้นแก่สังฆรัตนะ บุญที่ได้ในแง่ของผู้รับก็คือสังฆรัตนะเป็นผู้รับ ส่วนตัวแทนของสงฆ์ที่รับทานนั้นถ้าเป็นผู้ทุศีล นั่นก็เป็นโทษที่ผู้รับนั้นเองจะเป็นผู้รับไป ไม่ใช่โทษของผู้ให้ครับ เหมือนเราเสียภาษีแล้วเจ้าหน้าที่สรรพากรเป็นคนทุจริต ความผิดก็ตกอยู่กับเจ้าหน้าที่คนนั้น ทางรัฐเมื่อจะดำเนินคดีก็ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่คนนั้น ไม่ได้ดำเนินคดีกับเราผู้เสียภาษีครับ เงินภาษีที่เราจ่ายไปก็เป็นอันจ่ายไปโดยสมบูรณ์แก่ประเทศชาติแล้ว
แต่แน่นอนว่าถ้าตัวแทนสงฆ์ผู้ทำหน้าที่รับทานนั้นเป็นผู้ทุศีลแล้วเราวางใจไม่ดี คือทำใจไม่ได้ว่าเราถวายสงฆ์ไม่ใช่ถวายผู้ทุศีลนั้น ก็ย่อมจะทำให้เรารู้สึกร้อนใจในภายหลังได้ครับ ซึ่งความร้อนใจนั้นจะเป็นการลดทอนผลบุญในแง่ของผู้ให้ ที่ไม่รู้สึกยินดีในการให้ทานนั้นทั้ง 3 กาล คือทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังจากให้ทาน
แต่ถ้าเราเลือกผู้รับทานก็มีข้อเสียคือ จะเป็นการยากขึ้นในการน้อมใจให้ทานนั้นแก่สังฆรัตนะอย่างแท้จริง เพราะมีโอกาสสูงขึ้นที่ใจเราจะน้อมให้ทานนั้นแก่ผู้รับทานท่านนั้นๆ ซึ่งจะกลายเป็นการให้โดยเจาะจงผู้รับแทน
ดังนั้น การถวายสังฆทานจึงต้องวางใจให้ดีๆ ถึงจะเป็นสังฆทานที่แท้จริง และได้ผลบุญอย่างเต็มที่ครับ
ขอขอบคุณท่านอาจารย์ธัมมโชติมากครับ
ตอบลบชัดแจ้งเหมือนจุดประทีปในที่มืดให้แก่ผมอย่างแท้จริง
ขอเรียนถามว่า
ตอบลบ๑. ถ้าเราอุทิศส่วนกุศลแผ่ส่วนบุญให้สัตว์ทั้งปวง สัตว์เหล่าใดไม่สามารถอนุโมทนาบุญกับเราได้
กรณีดังกล่าว สัตว์ที่ไม่สามารถอนุโมทนาบุญกับเราได้ ไม่สามารถรับผลบุญโดยอัติโนมัติ ใช่ไหมครับ
๒. ถ้าเราอุทิศส่วนกุศลให้สัตว์ที่เรากิน พวกเขาไม่สามารถอนุโมทนาบุญได้เพราะเหตุตอนมีชีวิตเป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่ถ้าเขาไปเกิดในภพภูมิที่อนุโมทนาบุญได้ เขาจะได้รับผลบุญที่อุทิศไปในฐานะที่เคยเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานส่วนนี้หรือไม่
๓. มีข้อยกเว้นไหมที่สัตว์เดรัจฉานบางตัวจะนุโมทนาบุญกับเราได้ เช่นสุนัขแสนรู้ที่เราสอนให้ไหว้พระสงฆ์ ตามเราไปใส่บาตร ถ้าเขารู้สำนึกในบาปบุญ ผมว่าเขาน่าจะอนุโมทนาบุญได้ ไม่ทราบเข้าใจผิดหรือไม่
สวัสดีครับ
ลบขออธิบายพื้นฐานก่อนนะครับ
การอนุโมทนาบุญนั้นประกอบด้วยสิ่งสำคัญ 3 อย่าง คือ
1. รู้ว่ามีผู้ทำบุญ
2. รู้ว่าการทำบุญที่ว่านั้นเป็นการทำบุญ หรือเป็นการทำความดี
3. รู้สึกพลอยยินดี พอใจ ชื่นชม เอิบอิ่มใจในการทำบุญนั้น
เมื่อครบ 3 อย่างนี้การอนุโมทนาก็จะสำเร็จประโยชน์ คือ เกิดกุศลจิตขึ้นมา ทำให้จิตผ่องใส ซึ่งก็คือเกิดบุญแก่ผู้ที่อนุโมทนานั้นครับ (บุญคือการชำระจิตให้ผ่องใส ไม่เศร้าหมองด้วยกิเลส)
ถ้าผู้อนุโมทนานั้นเป็นโอปปาติกะ การอนุโมทนานั้นนอกจากจะได้รับบุญนั้นแล้ว (คือการที่จิตผ่องใสนะครับ) ยังอาจเป็นการกระตุ้นให้นึกถึงบุญเก่าที่ตนเคยทำไว้ ทำให้บุญเก่านั้นส่งผลในทันที (บุญที่ทำด้วยตนเองย่อมมีกำลังมากกว่าบุญที่เกิดจากการอนุโมทนาผู้อื่นนะครับ) เช่น ทำให้ได้รับอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย หรืออาจทำให้เปลี่ยนภพภูมิไปเลยก็ได้ครับ เพราะธรรมดาของพวกโอปปาติกะนั้นรูปธรรมทั้งหลาย รวมถึงร่างกาย เกิดจากจิต เมื่อจิตผ่องใสก็ย่อมจะสร้างรูปธรรมที่ผ่องใสตามไปด้วย
๑. ถ้าเราอุทิศส่วนกุศลแผ่ส่วนบุญให้สัตว์ทั้งปวง สัตว์เหล่าใดไม่สามารถอนุโมทนาบุญกับเราได้
กรณีดังกล่าว สัตว์ที่ไม่สามารถอนุโมทนาบุญกับเราได้ ไม่สามารถรับผลบุญโดยอัติโนมัติ ใช่ไหมครับ
>>> บุญนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวนะครับ ทำแทนกันไม่ได้ ผู้ที่ไม่ได้สร้างเหตุให้จิตของตนผ่องใส ผู้อื่นจะไปยัดเยียดความผ่องใสให้คงยากครับ ไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าคงทำให้ทุกชีวิตบรรลุธรรมไปหมดแล้ว พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าพระองค์เป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น ใครจะเลือกเดินทางไหน รวมถึงผลของการปฏิบัติก็เป็นเรื่องของผู้นั้นเอง
ซึ่งการอนุโมทนาบุญ คือการที่จิตผ่องใสจากการยินดีในการทำบุญของผู้อื่น ก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดบุญครับ
ถ้าเราอุทิศส่วนกุศลให้ ถึงแม้ผู้นั้นจะรับรู้แต่ไม่ยินดีด้วย ก็ย่อมไม่ได้รับบุญครับ เพราะจิตของเขาจะไม่ผ่องใสขึ้นมา คือลำพังแค่เราให้ ไม่ได้หมายความว่าผู้รับจะได้รับนะครับ ผู้รับต้องทำด้วย ซึ่งการทำในกรณีนี้คือการยินดีพอใจในการทำบุญของเรานั่นเองครับ ถ้าไม่ยินดีก็คือไม่ทำ ก็ย่อมไม่ได้รับผลบุญนั้น
ดังนั้น ผู้ที่ไม่สามารถอนุโมทนาบุญกับเราได้ ก็ย่อมไม่ได้รับผลบุญโดยอัตโนมัติครับ เพราะผู้นั้นไม่ได้รู้สึกยินดีในการทำบุญของเรา (ความรู้สึกยินดีพอใจในการทำบุญ เป็นปัจจัยสำคัญของบุญคือความผ่องใสของจิตที่เกิดขึ้นครับ)
ผู้ที่ไม่สามารถอนุโมทนาบุญกับเราได้ ก็คือผู้ที่ไม่สามารถรับรู้การทำบุญของเราได้ (ไม่ว่าจะรับรู้จากเราโดยตรงหรือจากสื่ออื่นใดก็ตาม) ไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นบุญเป็นความดี หรือไม่รู้สึกยินดีในการทำบุญของเราครับ
๒. ถ้าเราอุทิศส่วนกุศลให้สัตว์ที่เรากิน พวกเขาไม่สามารถอนุโมทนาบุญได้เพราะเหตุตอนมีชีวิตเป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่ถ้าเขาไปเกิดในภพภูมิที่อนุโมทนาบุญได้ เขาจะได้รับผลบุญที่อุทิศไปในฐานะที่เคยเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานส่วนนี้หรือไม่
>>> ถ้าเขายินดีพอใจในการทำบุญของเราเมื่อไหร่ก็ได้รับบุญนั้นเมื่อนั้นครับ คือถ้าเขาไปเกิดในภพภูมิที่อนุโมทนาบุญได้แล้ว แล้วเขารับรู้ว่าเราอุทิศส่วนกุศลให้เขา และเขามีความยินดีในบุญนั้น เขาก็ได้รับบุญนั้นครับ ประเด็นอยู่ที่ว่าจะเกิดองค์ประกอบครบทั้ง 3 อย่างของการอนุโมทนาหรือไม่
ถ้าคำถามหมายถึงเราอุทิศให้ในขณะที่เขายังเป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่ หลังจากนั้นเมื่อเขาไปเกิดในภพภูมิที่อนุโมทนาบุญได้แล้วแต่เราไม่ได้อุทิศให้อีก อันนี้ก็จะเป็นปัญหาว่าเขาจะรับรู้การทำบุญของเราและอุทิศให้เขาได้อย่างไรครับ
๓. มีข้อยกเว้นไหมที่สัตว์เดรัจฉานบางตัวจะอนุโมทนาบุญกับเราได้ เช่นสุนัขแสนรู้ที่เราสอนให้ไหว้พระสงฆ์ ตามเราไปใส่บาตร ถ้าเขารู้สำนึกในบาปบุญ ผมว่าเขาน่าจะอนุโมทนาบุญได้ ไม่ทราบเข้าใจผิดหรือไม่
>>> ถ้าเขารู้ว่าเราทำบุญและเขายินดีพอใจ อิ่มเอิบใจในการทำบุญของเรานั้น เขาก็อนุโมทนาบุญกับเราได้ครับ (ไม่ใช่แค่รู้สึกสนุกไปกับการกระทำของเรานะครับ สนุกกับอิ่มเอิบใจต่างกันนะครับ)
หลังทำบุญ การกรวดน้ำกับแผ่ส่วนบุญโดยไม่ได้กรวดน้ำ อันไหนผลบุญถึงผู้ที่รับส่วนบุญมากกว่ากัน
ตอบลบสวัสดีครับ
ลบสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการส่งผลบุญให้ผู้รับ ก็คือการบอกให้ผู้รับได้รับรู้ว่าเราได้ทำบุญและอุทิศผลบุญให้นะครับ ซึ่งถ้าผู้รับอยู่ในภพภูมิที่ไม่สามารถพูดคุยกันอย่างธรรมดาได้ การบอกนั้นก็ต้องอาศัยการสื่อสารทางจิต
ความสัมฤทธิ์ผลของการสื่อสารทางจิตก็ขึ้นกับกำลังของจิตและสมาธินะครับ เนื่องจากการกรวดน้ำนั้นต้องมีการเตรียมการจัดหาน้ำและภาชนะซึ่งจะเป็นการเพิ่มความมุ่งมั่นและกำลังของจิตไปในตัว และในขณะกรวดน้ำนั้นก็ต้องประคองให้น้ำไหลเป็นสายเล็กๆ และไม่ขาดสาย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มสมาธิ ความมุ่งมั่น และกำลังของจิตอีกเช่นกันครับ
ดังนั้น สำหรับคนทั่วไปแล้วการกรวดน้ำย่อมจะส่งผลให้ผลบุญถึงผู้ที่รับส่วนบุญมากกว่า ยกเว้นผู้อุทิศส่วนกุศลนั้นมีสมาธิและกำลังจิตมากพอที่จะติดต่อกับผู้รับได้เป็นปกติอยู่แล้ว การกรวดน้ำก็จะลดความสำคัญลงไปครับ
ขอเรียนถามดังนี้ครับ
ตอบลบ๑. มีวัดหนึ่งรับกฐินโดยมีพระครบ 5 รูปรับกฐิน แต่เป็นพระจำพรรษาที่วัดนี้แค่ 4 รูปและไปเอาพระที่สังกัดวัดนี้แต่ท่านไปเป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดอื่นมารับกฐินด้วย คิดว่าที่ทำไปไม่น่าจะเป็นกฐิน เพราะผิดกฏที่พระพุทธเจ้าวางไว้ ไม่ทราบคิดผิดหรือไม่
๒. กฐิน จะมีอานุสงค์ของกฐินอย่างไรทางด้านของพระ ของคนทำกฐิน และอานิสงค์ต่าง ๆ
๓. อานิสงค์กฐินต่างจากผ้าป่าอย่างไร
๔. ตามข้อ ๑. ถ้าไม่เป็นกฐิน จะเป็นได้แค่ผ้าป่าหรือไม่ และพระที่รับกฐินแบบนี้จะอาบัติหรือไม่
ขอบพระคุณครับ
สวัสดีครับ
ลบ๑. มีวัดหนึ่งรับกฐินโดยมีพระครบ 5 รูปรับกฐิน แต่เป็นพระจำพรรษาที่วัดนี้แค่ 4 รูปและไปเอาพระที่สังกัดวัดนี้แต่ท่านไปเป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดอื่นมารับกฐินด้วย คิดว่าที่ทำไปไม่น่าจะเป็นกฐิน เพราะผิดกฏที่พระพุทธเจ้าวางไว้ ไม่ทราบคิดผิดหรือไม่
>>> เรื่องนี้เป็นไปได้ 2 กรณีนะครับคือ
1.1 ถ้าพระรูปดังกล่าวท่านอธิษฐานจำพรรษาที่วัดนี้ แล้วไปปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสอยู่วัดอื่นโดยวิธีสัตตาหกรณียะ คือขออนุญาตจากสงฆ์เพื่อไปค้างคืนที่อื่นครั้งละไม่เกิน 7 วัน ด้วยเหตุผลคือเพื่อบำรุงศรัทธาของญาติโยม ซึ่งเป็นเหตุผลข้อหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตเอาไว้ให้ไปได้โดยไม่ขาดพรรษา ในที่นี้คือไปปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาส อย่างนี้ก็ถือว่าท่านจำพรรษาที่วัดนี้ครับ โดยท่านจะไปกี่รอบก็ได้แต่ต้องกลับมาวัดนี้ภายใน 7 วัน แล้วทำสัตตาหกรณียะใหม่เพื่อออกไปในครั้งต่อไป แต่ทั้งนี้ท่านต้องรับกฐินที่วัดนี้เท่านั้นนะครับ รับ 2 วัดไม่ได้ เพราะถือว่าท่านจำพรรษาที่วัดนี้ ไม่ได้จำพรรษาที่วัดที่ท่านไปเป็นเจ้าอาวาส ถึงแม้ท่านจะอยู่วัดนั้นมากกว่าก็ตาม เช่น อยู่วัดนี้ 1 วัน อยู่วัดนั้น 7 วัน สลับกันไปเรื่อยๆ
1.2 ถ้าพระรูปดังกล่าวท่านอธิษฐานจำพรรษาที่วัดที่ท่านไปเป็นเจ้าอาวาส อย่างนี้ก็ไม่สามารถรับกฐินที่วัดนี้ได้ครับ ถึงแม้ท่านจะสังกัดวัดนี้ก็ตาม เมื่อกฐินไม่ครบองค์ก็ไม่เป็นอันกราน กฐินนี้ก็ตกไป ไม่ถือว่าเป็นกฐินครับ
๒. กฐิน จะมีอานุสงค์ของกฐินอย่างไรทางด้านของพระ ของคนทำกฐิน และอานิสงค์ต่าง ๆ
>>> ขอแยกเป็นข้อนะครับ
2.1 ในด้านของพระ
ความจริงแล้วคำว่า "อานิสงส์กฐิน" ตามพระธรรมวินัยนั้นไม่ได้หมายถึงผลบุญที่พระจะได้รับนะครับ แต่หมายถึงภิกษุนั้นจะได้รับข้อลดหย่อน 5 ประการ เพื่อความสะดวกในการเดินทางแสวงหาจีวร และการตัดเย็บจีวร ได้แก่
(1) เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา คือออกนอกวัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือบอกใคร
(2) ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ คือไม่ต้องมีผ้าครบ 3 ผืน (สบง จีวร สังฆาฏิ) อยู่ใกล้ตัวตลอดเวลา
(3) ฉันคณโภชนะได้ คือเมื่อมีผู้นิมนต์ฉันโดยไม่ระบุจำนวน สามารถไปฉันพร้อมกันหลายรูปได้
(4) ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ตามต้องการ คือสามารถเป็นเจ้าของผ้าส่วนที่เกินจากไตรจีวรได้ เช่น มีจีวร 2 สำรับ เป็นต้น
(5) พวกเธอจะได้จีวรที่เกิดขึ้นในที่นั้น คือภิกษุหมู่นั้นมีสิทธิ์เป็นเจ้าของจีวรที่ได้มา
คือผ้ากฐินในสมัยพุทธกาลนั้น ไม่ได้ได้มาเป็นผ้าไตรจีวรพร้อมใช้แบบในสมัยปัจจุบันครับ ภิกษุต้องแยกย้ายกันออกไปหาเศษผ้าตามที่ต่างๆ เช่น ผ้าที่ถูกทิ้งอยู่ตามข้างทาง กองหยากเยื่อ (กองขยะ) หรือแม้แต่ผ้าห่อศพตามป่าช้าที่มีผู้ทิ้งเอาไว้ แล้วนำเศษผ้าเหล่านั้นมารวมกัน ซัก ย้อม ตัด เย็บ จนได้เป็นไตรจีวรขึ้นมา ซึ่งกว่าจะได้ไตรจีวรขึ้นมานั้น ภิกษุต้องทุ่มเท ร่วมแรงร่วมใจกันไม่น้อย และบางครั้งต้องเลื่อนเวลาการทำกิจวัตรปกติออกไป เพื่อให้เหมาะสมกับการทำจีวร พระพุทธเจ้าจึงทรงผ่อนผันพระวินัยให้ภารกิจเสริจสิ้นไปได้โดยสะดวก
ที่กล่าวมาข้างต้นคืออานิสงส์ตามพระธรรมวินัยนะครับ ถ้าจะหมายถึงอานิสงส์คือผลประโยชน์ที่พระภิกษุจะได้รับจากกฐินในสมัยนี้นั้น เนื่องจากภิกษุเป็นผู้รับจึงไม่ได้เป็นผู้ได้บุญจากการให้ทาน บุญที่จะได้จึงเป็นบุญจากการอนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นทำ รวมถึงเป็นผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้น เป็นผู้เตรียมงาน เตรียมสถานที่ สิ่งที่ภิกษุจะได้อย่างชัดเจนก็คือการได้ไตรจีวรผืนใหม่ รวมถึงบริวารกฐินต่างๆ นั่นเองครับ
2.2 ในด้านของคนทำกฐิน
การทอดกฐินจัดเป็นสังฆทานชนิดหนึ่งครับ ถึงแม้จะเป็นการถวายทานจำเพาะเจาะจงแก่สงฆ์ (หมู่ของภิกษุ) ที่จำพรรษาในวัดนั้น แต่ก็ไม่ได้เจาะจงว่าถวายแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะ เป็นหน้าที่ของสงฆ์หมู่นั้นจะพิจารณาว่าจีวรผืนนั้นสมควรแก่ภิกษุรูปใดในหมู่ของตน
ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า "เราไม่กล่าวปาฏิปุคคลิกทานว่ามีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์โดยปริยายไรๆ เลย ฯ" นั่นหมายความว่า การทำบุญด้วยการทอดกฐินนั้นให้ผลบุญสูงกว่าการทำบุญเจาะจงเฉพาะกับพระพุทธเจ้าด้วยครับ (ไม่ใช่ถวายสงฆ์ที่พระพุทธเจ้านั่งเป็นประมุขอยู่นะครับ) ไม่ต้องกล่าวถึงการที่บางท่านขวนขวายไปทำบุญกับพระอรหันต์หรืออริยบุคคลรูปนั้นรูปนี้เลย อันนั้นให้ผลบุญน้อยกว่าการถวายทานแก่พระพุทธเจ้าอยู่แล้วครับ
ข้อพิเศษของบุญกฐินคือ แต่ละวัดจะรับได้เพียงปีละหนึ่งครั้งในช่วงเวลาที่จำกัด คือภายใน 1 เดือนหลังออกพรรษาเท่านั้น จึงจัดเป็นกาลทานที่่่่หาโอกาสทำได้ยากกว่าทานทั่วๆ ไปครับ
2.3 อานิสงส์ด้านอื่นๆ
การที่บุญกฐินจะสำเร็จได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ อาศัยความร่วมแรงร่วมใจของคนเป็นจำนวนมาก จึงเป็นการรวมพลัง สร้างความสามัคคีของชาวพุทธได้เป็นอย่างดี และยังเป็นการสืบทอดประเพณีและพระธรรมวินัยที่เกี่ยวข้องกับทั้งภิกษุสงฆ์และฆราวาส นับเป็นการเพิ่มความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดีครับ
๓. อานิสงค์กฐินต่างจากผ้าป่าอย่างไร
ลบ>>> ผ้าป่าที่แท้จริงในสมัยพุทธกาลนั้นไม่เหมือนในสมัยนี้นะครับ คือในสมัยพุทธกาลนั้นภิกษุที่ได้รับคหบดีจีวร (จีวรที่มีผู้ถวายให้) มีไม่มากนัก ภิกษุจำนวนมากต้องใช้บังสุกุลจีวร (ผ้าคลุกฝุ่น) คือการไปเก็บเอาเศษผ้าที่มีคนทิ้งเอาไว้ตามที่ต่างๆ เช่น ริมทาง กองขยะ หรือผ้าห่อศพในป่าช้า นำมาซัก ย้อม ตัด เย็บเป็นจีวรขึ้นมาใช้
การถวายผ้าป่าในสมัยนั้นก็คือ การนำผ้าไปแขวนไว้ตามต้นไม้เพื่อไม่ให้ผ้าเปื้อน แล้วอธิษฐานว่าภิกษุรูปใดที่มีความต้องการใช้ผ้านี้ก็จงนำไปใช้เถิด
ซึ่งเป็นการถวายทานอย่างไม่เฉพาะเจาะจงผู้รับอย่างแท้จริง ในแง่นี้จึงให้ผลบุญสูงกว่าการถวายผ้ากฐินซึ่งเป็นการเจาะจงสงฆ์เฉพาะที่จำพรรษาในวัดนั้นเท่านั้นครับ
สำหรับในส่วนของกฐินนั้น เนื่องจากต้องอาศัยความทุ่มเทร่วมแรงร่วมใจมากกว่า ทำให้จิตของผู้ที่มีส่วนร่วมในความทุ่มเทนั้นได้เสพอารมณ์ของการทำบุญอย่างหนักแน่น ต่อเนื่องและยาวนานกว่าการถวายผ้าป่า ในแง่นี้จึงให้ผลบุญสูงกว่าผ้าป่าครับ
ซึ่งผลบุญโดยรวมอย่างไหนจะมากกว่าก็ขึ้นกับแต่ละบุคคลนะครับ เพราะปัจจัยในการให้ผลบุญมากน้อยต่างกันนั้นมีมากมาย และแต่ละคนก็มีสภาวะที่แตกต่างกันไป
สำหรับผ้าป่าในปัจจุบันนั้นทำกันแต่ในนาม โดยนำผ้าไปแขวนไว้บนพุ่มไม้เล็กๆ แล้วยกทั้งพุ่มนั้นไปถวายสงฆ์แบบเจาะจง และสิ่งที่ต้องการถวายจริงๆ นั้นกลับไม่ใช่ตัวผ้า แต่เป็นบริวารของผ้าป่าเสียมากกว่า กรณีนี้ก็ชัดเจนนะครับว่าแก่นแท้ของคำว่าผ้าป่ามีอยู่หรือไม่ อานิสงส์ที่แท้จริงของความเป็นผ้าป่าจึงไม่มีอยู่ในที่นี้ แต่ก็ได้บุญในฐานะที่เป็นสังฆทานซึ่งมากกว่าปาฏิปุคคลิกทาน (ทานที่เฉพาะเจาะจงตัวผู้รับ) ครับ
๔. ตามข้อ ๑. ถ้าไม่เป็นกฐิน จะเป็นได้แค่ผ้าป่าหรือไม่ และพระที่รับกฐินแบบนี้จะอาบัติหรือไม่
>>> ถ้าเข้าข่ายข้อ 1.2 ที่ตอบไปข้างต้น ก็คงประมาณผ้าป่าแบบสมัยปัจจุบันครับ ไม่ใช่ผ้าป่าแบบสมัยพุทธกาลนะครับ
การทำให้กฐินตกไป ไม่เป็นอันกราน คือหมดสภาพของการเป็นกฐินนั้นไม่เป็นอาบัติครับ
สาเหตุของการทำให้กฐินตกไปมีหลายอย่างมาก เช่น ทำผ้าไม่เสร็จตามกำหนดเวลา ผ้าเสียหาย รวมถึงกรณีที่ไม่ครบองค์สงฆ์ด้วยครับ (ต้องมีภิกษุ 1 รูป เป็นผู้ประกาศญัตติทุติยกรรมวาจากฐิน และอีกอย่างน้อย 4 รูป เป็นสงฆ์ผู้อนุโมทนา)
ถ้าภิกษุทั้งหลายในวัดนั้นทราบแต่แรกแล้วว่าไม่ครบองค์กฐิน เพราะมีพระจำพรรษาไม่ครบ 5 รูป ผลคือภิกษุทั้งหมดในวัดนั้นจะไม่ได้รับอานิสงส์กฐิน 5 ข้อ ตามข้อ 2.1 อาบัติจะเกิดขึ้นเมื่อภิกษุเหล่านั้นใช้สิทธิ์ของอานิสงส์กฐินโดยที่ไม่มีสิทธ์ เพราะกฐินตกไปแต่แรกอยู่แล้ว เช่น หากทรงอติเรกจีวร คือครอบครองจีวรมากกว่า 1 สำรับ (3 ผืน) เกิน 10 วัน ก็จะต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ต้องสละจีวรส่วนเกินนั้นจึงจะพ้นอาบัติครับ
ดังความในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๑.ปฐมกฐินสิกขาบท พระอนุบัญญัติ (พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓ = เล่มที่ ๐๒-๑ หน้า ๑ - ๖๑ ในเว็บนี้)
[๔๖๒] เมื่อจีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว เมื่อกฐินเดาะแล้ว ภิกษุพึงทรง
อติเรกจีวรไว้ได้ ๑๐ วันเป็นอย่างมาก ให้เกินกำหนดนั้นไป ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์
และถ้าภิกษุเหล่านั้นทราบว่ากฐินไม่เป็นอันกราน แต่มีเจตนาหลอกญาติโยมว่าเป็นกฐิน ก็จะต้องอาบัติเพราะการหลอกลวงนั้นครับ ไม่ใช่เพราะทำให้กฐินตกไป
สาธุครับ ได้ความรู้ที่ลึกและสมบูรณ์จากการถามท่านทุกครั้งครับ
ตอบลบเกรงว่าพระในวัดจะลืมว่าจะอาบัติจากผลที่ไม่เป็นกฐินตามข้อ 4 ที่ท่านให้ข้อสังเกต
ไม่อยากให้ท่านอาบัติเลยครับ
แต่ก็ไม่กล้าไปปรึกษาท่าน เพราะเราเป็นผู้น้อย
เรียนถามเพิ่มว่า
ตอบลบถ้าวัดที่รับกฐินมีพระที่รับกฐินไม่ได้อยู่รวมเวลารับกฐินด้วย (เช่น มีพระเจ้าอาวาสตามข้อ 1.1 ที่ไปรับกฐินที่วัดเดิมที่ท่านสังกัดอยู่มาแล้ว แต่ท่านมารับกฐินอีกครั้งในวัดที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ ) กรณีเช่นนี้
๑. ถ้าวัดที่รับกฐินภายหลังนี้มีพระ 5 รูปพอดี ก็ไม่เป็นกฐินใช่ไหมครับ เพราะเจ้าอาวาสไปรับกฐินวัดอื่นมาแล้ว
๒. ถ้าวัดที่รับกฐินมีพระเกิน 5 รูป และรูปอื่นรับกฐินได้ยกเว้นเจ้าอาวส อย่างนี้ถือเป็นกฐินได้ หรือกฐินอย่างไรก็เป็นอันตกไปครับ
สวัสดีครับ
ลบขอแยกตอบเป็นข้อๆ นะครับ
ถ้าวัดที่รับกฐินมีพระที่รับกฐินไม่ได้อยู่รวมเวลารับกฐินด้วย (เช่น มีพระเจ้าอาวาสตามข้อ 1.1 ที่ไปรับกฐินที่วัดเดิมที่ท่านสังกัดอยู่มาแล้ว แต่ท่านมารับกฐินอีกครั้งในวัดที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ )
กรณีเช่นนี้
๑. ถ้าวัดที่รับกฐินภายหลังนี้มีพระ 5 รูปพอดี ก็ไม่เป็นกฐินใช่ไหมครับ เพราะเจ้าอาวาสไปรับกฐินวัดอื่นมาแล้ว
>>> ขอขยายความคำตอบในคำถามที่แล้ว ข้อ 1.1 ก่อนนะครับ ที่กล่าวว่า
"แต่ทั้งนี้ท่านต้องรับกฐินที่วัดนี้เท่านั้นนะครับ รับ 2 วัดไม่ได้ เพราะถือว่าท่านจำพรรษาที่วัดนี้ ไม่ได้จำพรรษาที่วัดที่ท่านไปเป็นเจ้าอาวาส"
คำว่า "รับ 2 วัดไม่ได้" ในที่นี้ หมายถึงว่าตามพระวินัยแล้วท่านจำพรรษาได้เพียง 1 วัด ต่อ 1 พรรษา เท่านั้น ท่านจึงมีสิทธิ์รับกฐินได้เพียงวัดที่ท่านจำพรรษาเพียงวัดเดียว ไม่มีสิทธิ์ไปรับกฐินที่วัดอื่น แต่ไม่ได้หมายความกว้างออกไปถึงขั้นที่ว่าถ้าท่านไปรับกฐินในวัดที่ท่านไม่มีสิทธิ์รับก่อนแล้ว จะทำให้ท่านเสียสิทธิ์ในวัดที่ท่านมีสิทธิ์รับไปนะครับ คือการรับโดยไม่มีสิทธิ์ก็ย่อมเป็นโมฆะ ก็เหมือนไม่มีการรับเกิดขึ้นครับ ไม่ได้เป็นการโอนสิทธิ์ไปรับที่วัดอื่น (ซึ่งโอนไม่ได้นะครับ) อันจะทำให้สิทธิ์เดิมถูกถอนออกไป
ประเด็นที่จะใช้เป็นหลักในการพิจารณาว่าท่านมีสิทธิ์รับกฐินที่วัดที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่หรือไม่ ก็คือตามวินัยแล้วท่านจำพรรษาที่วัดไหนกันแน่ ตามคำตอบของคำถามที่แล้ว ข้อ 1.1 และ 1.2 นะครับ ไม่ใช่ท่านหมดสิทธิ์รับเพราะไปรับที่วัดอื่นมาแล้ว
ดังนั้น การพิจารณาถึงกฐินของวัดที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่นี้ จึงขึ้นกับว่า ตามวินัยแล้วท่านจำพรรษาที่วัดนี้หรือไม่ ถ้าท่านจำพรรษาที่วัดนี้กฐินก็ครบองค์ในแง่ของจำนวนพระครับ แต่ถ้าท่านไม่ได้จำพรรษาที่วัดนี้กฐินก็ตกไปแต่แรกอยู่แล้วครับ เพราะพระจำพรรษาไม่ถึง 5 รูป
๒. ถ้าวัดที่รับกฐินมีพระเกิน 5 รูป และรูปอื่นรับกฐินได้ยกเว้นเจ้าอาวส อย่างนี้ถือเป็นกฐินได้ หรือกฐินอย่างไรก็เป็นอันตกไปครับ
>>> สำหรับการรับกฐินโดยมีพระที่ไม่มีสิทธิ์รับร่วมอยู่ในพิธีกรรมด้วยนั้น ต้องตีความพระวินัยข้อนี้ครับ ซึ่งเป็นเพียงข้อเดียวที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้
พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๔๕
พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๘๗. กฐินานุชานนา
๗. กฐินขันธกะ
...
เรื่องกฐินไม่เป็นอันกราน
[๓๐๘] ภิกษุทั้งหลาย กฐินย่อมเป็นอันกรานอย่างนี้ ไม่เป็นอันกรานอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ก็กฐินย่อมไม่เป็นอันกรานอย่างไร กฐินย่อมไม่เป็นอันกราน
อย่างนี้ คือ
...
๒๔. กฐินไม่เป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้อยู่นอกสีมาอนุโมทนากฐินนั้น
ภิกษุทั้งหลาย กฐินชื่อว่าไม่เป็นอันภิกษุกรานอย่างนี้แล
ต้องตีความคำว่า "ถ้าภิกษุผู้อยู่นอกสีมาอนุโมทนากฐินนั้น" ว่าคำว่าภิกษุผู้อยู่นอกสีมาหมายความว่าอย่างไร ซึ่งอาจตีความได้ 2 ทาง คือ
(1) หมายถึงภิกษุที่ไม่ได้จำพรรษาในวัดนั้น คือเป็นภิกษุที่อยู่นอกขอบเขตของผู้มีสิทธิ์ในกฐินกองนั้น เพราะไม่ได้จำพรรษาที่วัดนั้น
(2) หมายถึงภิกษุที่จำพรรษาที่วัดนั้น แต่ไม่ได้ร่วมอยู่ในพิธีกรรมด้วยเพราะขณะนั้นอยู่นอกสีมา จึงได้อนุโมทนาทั้งที่อยู่นอกสีมา เช่น เขียนหนังสืออนุโมทนาเอาไว้ก่อน หรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นอนุโมทนาแทน หรืออนุโมทนาล่วงหน้าหรือภายหลัง เป็นต้น
ถ้าตีความตามข้อ (1) ก็จะส่งผลให้การที่มีภิกษุที่ไม่ได้จำพรรษาที่วัดนั้นร่วมอยู่ในพิธีกรรมด้วยจะทำให้กฐินนั้นตกไป ไม่เป็นอันกรานครับ
แต่ถ้าตีความตามข้อ (2) การที่มีภิกษุที่ไม่ได้จำพรรษาที่วัดนั้นร่วมอยู่ในพิธีกรรมด้วย จะไม่ส่งผลให้กฐินนั้นตกไปถ้ามีภิกษุที่จำพรรษาที่วัดนั้นไม่ต่ำกว่า 5 รูป ร่วมพิธีกรรมครับ เพราะนอกจากข้อนี้แล้วก็ไม่มีข้ออื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แล้วครับ จึงทำให้ไม่มีบทบัญญัติห้ามเอาไว้
*** เรื่องนี้ผมไม่มีข้อมูลอื่นประกอบแล้วครับ จึงไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ ขึ้นกับการตีความครับ
มีพระรูปหนึ่งกล่าวโดยสอนในยูทูบว่า ห้ามพระให้พรตอนบิณฑบาตจะอาบัติ เพราะพระวินัยห้ามพระยืนแสดงธรรมขณะที่คนฟังธรรมนั่งอยู่
ตอบลบท่านให้เหตุผลว่า พระมักจะให้พรโดยแสดงธรรมที่บอกว่า จัตตาโรธรรมา วัฒันติ อายุ วรรณโณ ... และคนที่มาใส่บาตรมักจะนั่งยอง ๆ รอรับพร
เรื่องนี้อาบัติจริงหรือครับ
สวัสดีครับ
ลบในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๗๒๘ ข้อ : ๖๔๘ มีเนื้อความดังนี้ครับ
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๗.เสขิยกัณฑ์] ๗.ปาทุกาวรรค
สิกขาบทที่ ๑๐
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๖๔๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ยืนแสดงธรรมแก่คนผู้นั่งอยู่ ฯลฯ
พระบัญญัติ
๑๐. พึงทำความสำเหนียกว่า เรายืนอยู่จักไม่แสดงธรรมแก่คนที่ไม่เป็น
ไข้ผู้นั่งอยู่
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ
สิกขาบทวิภังค์
ภิกษุยืนอยู่ ไม่พึงแสดงธรรมแก่คนที่ไม่เป็นไข้ผู้นั่งอยู่
ภิกษุใดไม่เอื้อเฟื้อ (หมายถึงไม่เอื้อเฟื้อในพระวินัย คือไม่ใส่ใจในสิกขาบทข้อนี้นะครับ - ธัมมโชติ) ยืนอยู่แสดงธรรมแก่คนที่ไม่เป็นไข้ผู้นั่งอยู่ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
๑. ภิกษุไม่จงใจ ๒. ภิกษุไม่มีสติ
๓. ภิกษุผู้ไม่รู้ ๔. ภิกษุผู้เป็นไข้
๕. ภิกษุผู้มีเหตุขัดข้อง ๖. ภิกษุวิกลจริต
๗. ภิกษุต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑๐ จบ
สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนี้เพราะตามธรรมเนียมในสมัยพุทธกาลนั้น การที่ผู้ฟังธรรมนั่งอยู่สบายๆ ในขณะที่ผู้แสดงธรรมยืนอยู่นั้นถือว่าเป็นการฟังธรรมโดยไม่เคารพในธรรมครับ
แต่ถ้าจะพิจารณาถึงบริบทในสมัยปัจจุบันแล้ว ก็ต้องตีความกันพอสมควรนะครับ เพราะค่านิยมต่างๆ นั้นไม่เหมือนกันแล้ว ขอตั้งข้อสังเกตดังนี้นะครับ
1. การให้พรถือเป็นการแสดงธรรมหรือไม่ เจตนาของการแสดงธรรมก็คือเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจในหลักธรรมที่แสดงนั้นนะครับ ในขณะที่การให้พรก็เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความปิติยินดี ร่าเริงใจ เบิกบานใจจากการทำบุญนั้นมากขึ้น อันจะส่งผลให้จิตที่เป็นบุญเป็นกุศลของผู้ที่ทำบุญนั้นมีกำลังแรงขึ้น และเสพสภาวะแห่งกุศลจิตนั้นยาวนานขึ้น ผลก็คือจะทำให้ผู้รับได้รับบุญมากขึ้นนั่นเองครับ หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือเพื่อให้บุญนั้นประทับตราตรึงอยู่ในใจมากขึ้นครับ
แต่ทั้งการให้พรและการแสดงธรรมนั้น ผู้ฟังก็ควรฟังด้วยความเคารพเช่นเดียวกันนะครับ เพราะถ้ารับพรโดยไม่เคารพแล้วจะเกิดปิติขึ้นมาได้อย่างไร ในขณะที่การฟังธรรมโดยไม่เคารพในธรรม แล้วจะมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ได้อย่างไร ในเมื่อไม่เห็นคุณค่าในธรรมนั้น
2. ในปัจจุบันนี้นั้นการที่คนที่มาใส่บาตรนั่งยองๆ เพื่อรับพร เป็นการแสดงความเคารพหรือเป็นการแสดงความไม่เคารพกันแน่ครับ
3. เราควรจะตีความพระวินัยตามตัวอักษร หรือตามเจตนารมณ์ของการบัญญัติพระวินัยข้อนั้นครับ ในเมื่อค่านิยมต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
4. การยืนให้พรตามคำถามข้อนี้ เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ ทั้งแก่ผู้ฟัง ผู้แสดง รวมทั้งแก่พระศาสนาครับ
เรื่องนี้ก็แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละท่านนะครับ
อาจารย์ครับ สืบเนื่องจากคำตอบของท่านต่อ ดร.ปิยนันท์ เกี่ยวกับเรื่องสังฆทานนะครับ
ตอบลบคือมีข้อสงสัยว่า เราตั้งใจจะถวายสังฆทานต่อสงฆ์เพื่อให้ภิกษุผู้รับนำไปใช้ในกิจการสงฆ์ แต่ภิกษุผู้รับ รับแล้วนำไปใช้ส่วนตัว ในความเป็นจริงภิกษุที่ได้รับนิมนต์ก็จะปฏิบัติกันอย่างนี้ จึงขอถามว่า
1.ในฐานะผู้ให้ รู้อยู่แก่ใจว่าในการปฏิบัติจริงภิกษุนั้นก็จะต้องเอาไว้เป็นของตน จะยังถือว่าเป็นสังฆทานหรือไม่?
2.ในฐานะผู้รับ มีความผิดความเสียอะไรหรือไม่ เพราะใครเขาก็ปฏิบัติกันแบบนี้
กรณีนี้ถ้าเป็นการเผดียงสงฆ์เพื่อให้จัดภิกษุไม่เจาะจง ไปฉันภัตตาหารเป็นการถวายสังฆทานอาหาร จะชัดเจนมากจะนำภัตตาหารนั้นกลับมาเป็นของสงฆ์อย่างไรย่อมต้องฉันเลย
ขอขอบคุณล่วงหน้าในคำแนะนำครับ
สวัสดีครับ
ลบขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ http://tripitaka-online.blogspot.com
เรื่องของกรรม (ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรม อกุศลกรรม หรือการทำบุญ ทำบาป) นั้นสำคัญที่เจตนาของผู้ทำครับ เจตนาเป็นเช่นไรก็เป็นกรรมเช่นนั้น
เมื่อเราตั้งใจจะถวายสังฆทานต่อสงฆ์เพื่อให้ภิกษุผู้รับนำไปใช้ในกิจการสงฆ์ ก็ย่อมเป็นการถวายสังฆทานแน่นอนครับ เมื่อภิกษุผู้รับนั้นรับแล้วจะทำอย่างไรต่อไปก็เป็นการทำกรรมของภิกษุรูปนั้น ไม่ใช่การทำกรรมของผู้ให้ครับ เป็นคนละส่วนกันครับ
เป็นธรรมดาที่ถ้าของที่ผู้รับรับไปแล้ว ถูกนำไปใช้ตรงตามเจตนาของผู้ให้ ผู้ให้ย่อมมีความรู้สึกยินดีพอใจ ซึ่งจะเป็นการพอกพูนกำลังของบุญให้มากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะความยินดีหลังให้ทานเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของการทำบุญ
แต่ถ้าของนั้นไม่ถูกนำไปใช้ตามเจตนาของผู้ให้ ถ้าผู้ให้เข้าใจหลักการของเรื่องกรรม วางใจได้ถูกว่าการกระทำในส่วนนั้นไม่เกี่ยวกับตัวผู้ให้ แต่เป็นการทำกรรมของผู้รับ การกระทำของผู้รับนั้นก็จะไม่ลดทอนผลบุญของผู้ให้แต่อย่างใดครับ
ในทางกลับกัน ถ้าผู้ให้ไม่เข้าใจหลักการ เกิดอกุศลจิตขึ้นมา เช่น ไม่ยินดี ขัดเคืองใจ เสียใจ ฯลฯ อกุศลจิตนั้นก็จะมาลดทอนกำลังบุญของผู้ให้ได้ครับ
ดังนั้น ผู้ให้ต้องวางใจให้ดี เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการทำบุญให้มากที่สุดครับ
ในส่วนของภิกษุผู้รับ (ขอเรียกแทนว่าภิกษุ ก. นะครับ) โดยหลักการแล้ว ถ้าผู้ให้เจตนาถวายสงฆ์ ภิกษุ ก. ก็ควรจะนำของนั้นเข้าส่วนกลางของสงฆ์ หลังจากนั้นถ้าที่ประชุมสงฆ์หรือผู้มีหน้าที่แจกจ่ายของสงฆ์ได้แจกจ่ายของนั้นแก่ใครเพื่อประโยชน์ใด ผู้นั้นก็ย่อมมีสิทธิ์ใช้สอยของนั้นได้ตามประโยชน์นั้น ซึ่งผู้ที่ได้รับการแจกจ่ายนั้นอาจเป็นภิกษุ ก. เอง หรือใครก็ได้นะครับ
แต่ถ้าไม่ทำตามขั้นตอนที่กล่าวมานี้ ก็แยกพิจารณาได้หลายทางครับ เช่น
1. ถ้าสงฆ์หมู่นั้น (เช่น วัดนั้น อำเภอนั้น) ตกลงกันเอาไว้ (อย่างเป็นทางการ หรือปฏิบัติกันมาจนกลายเป็นบรรทัดฐานของกลุ่ม) ว่าของที่ได้มาในลักษณะนี้ ให้ผู้รับนำไปใช้ได้เลย อย่างนี้ถ้าภิกษุ ก. นั้นนำไปใช้ส่วนตัวเลย โดยไม่ผ่านสงฆ์ ก็ย่อมทำได้ตามข้อตกลงนั้น แต่ก็อาจทำให้ผู้ให้รู้สึกไม่ยินดีได้นะครับ
2. ถ้าไม่มีข้อตกลงเช่นในข้อ 1. แต่ภิกษุ ก. นำไปใช้ส่วนตัวโดยวิสาสะ คือคิดว่าหมู่สงฆ์คงยินดี ไม่ว่าอะไร โดยเฉพาะถ้าเป็นของที่ต้องรีบใช้ เช่น อาหาร ถ้าภิกษุ ก. รับมาแล้วไม่เห็นภิกษุอื่นที่ควรแบ่งปันอยู่บริเวณนั้น การที่ภิกษุ ก. จะบริโภคเองย่อมสมควรนะครับ ไม่เช่นนั้นของนั้นอาจเน่าเสียได้ หรืออาจเลยเวลาอาหารไปก่อน
3. ถ้าไม่มีข้อตกลงเช่นในข้อ 1. แต่ภิกษุ ก. นำไปใช้ส่วนตัวโดยความรู้สึกหรือเจตนาที่เป็นการเบียดบังของสงฆ์มาใช้เพื่อตน อย่างนี้ย่อมเป็นโทษ เป็นบาปกรรมแก่ภิกษุ ก. นั้นเองครับ
คำถามตอนท้ายที่ว่า "กรณีนี้ถ้าเป็นการเผดียงสงฆ์เพื่อให้จัดภิกษุไม่เจาะจง ไปฉันภัตตาหารเป็นการถวายสังฆทานอาหาร จะชัดเจนมากจะนำภัตตาหารนั้นกลับมาเป็นของสงฆ์อย่างไรย่อมต้องฉันเลย"
ข้อนี้เป็นเจตนาของผู้ให้อยู่แล้วครับ ว่าต้องการให้ภิกษุเหล่านั้นฉันในนามของสงฆ์ ณ ที่นั้นเลย ภิกษุเหล่านั้นย่อมสมควรที่จะฉันได้เลย โดยไม่ต้องนำไปให้ใครอีก
ธัมมโชติ
สาธุ สาธุ สาธุ
ตอบลบผมสงสัยเรื่องการทำบุญอุทิศให้พระเทวทัตครับ
ตอบลบคือผมมักทำบุญแล้วก็จะอุทิศส่วนกุศลให้พระเทวทัตในนรก เพราะผมคิดว่าหลังจากพ้นกัปปนี้แล้วพระเทวทัตก็ต้องมาเป็นปัจเจคพุทธเจ้า ตามพุทธพยากรณ์
แต่การอุทิศให้ผู้ที่อยู่ในนรกนี่เค้าจะไม่ได้รับใช่ไหมครับ ? ถ้าตามคำสอนของพระพุทธเจ้าการทำแบบนี้ คืออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่อยู่ในนรกจะมีประโยชน์อะไรหรือเปล่าครับ? และถ้าประโยชน์ไม่เกิดในกัปปนี้ ส่วนบุญจะไปส่งผลในกัปปหน้าได้ไหมครับ หากผมยังต้องเวียนตายเวียนเกิดไปในกัปปหน้า
ผมพยายามหาคำตอบใน google ก็ไม่มีคำตอบที่ตรงเลยครับ เลยอยากให้อาจารย์ช่วยวิเคราะห์ให้มีครับ
ขอบคุณมากครับ
สวัสดีครับ
ลบประโยชน์จากการอุทิศส่วนบุญให้ผู้อื่นนั้นมี 2 ทางนะครับ
1. ประโยชน์แก่ตัวผู้ให้
2. ประโยชน์แก่ตัวผู้รับ
สำหรับตัวผู้ให้คือตัวผู้อุทิศส่วนบุญเองนั้น ขณะตั้งจิตอุทิศนั้นจิตย่อมเป็นมหากุศล เป็นจิตที่ประกอบด้วยอโลภะ (ทาน คือความรู้สึกแบ่งปันให้ผู้รับนั้น) ประกอบด้วยความเมตตา ความกรุณา ด้วยเหตุนี้ผู้ให้จึงได้รับบุญกุศลเพิ่มเติมขึ้นมาจากการอุทิศส่วนบุญด้วยครับ แทนที่จะได้รับเฉพาะผลบุญจากการทำบุญก่อนหน้า (คือบุญที่ใช้สำหรับอุทิศนั้น) เพียงอย่างเดียว (บุญคือธรรมชาติที่ชำระจิตให้ผ่องใส ปลอดโปร่งจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง)
ผู้ให้จึงได้ประโยชน์อย่างแน่นอนครับ ไม่ว่าผู้รับจะได้รับหรือไม่ก็ตาม ไม่มีเหตุที่ควรจะต้องคิดมากในการอุทิศส่วนบุญให้กับใครใดๆ เลย
ในส่วนของผู้รับนั้น ภพภูมิที่จะได้รับผลบุญโดยตรงก็จะเป็นพวกเปรตเป็นหลักนะครับ คือพอผู้รับรับรู้ถึงการอุทิศนั้นแล้วอนุโมทนา ก็จะปรากฎเป็นวัตถุสิ่งของขึ้นมาให้กับผู้รับนั้นทันทีเลย
ส่วนในภพภูมิอื่นๆ ทั้งหมด เช่น มนุษย์ เทวดา รวมถึงนรกด้วย ถ้าเขารับรู้แล้วอนุโมทนา คือมีความยินดี พอใจ ในการทำบุญนั้นอย่างจริงใจ ในขณะนั้นจิตของผู้อนุโมทนานั้นย่อมเป็นมหากุศลด้วยเช่นกันครับ เป็นจิตที่ประกอบด้วยมุทิตา ดังนั้นในกรณีนี้ผู้รับก็ย่อมได้รับบุญด้วย (คือการที่จิตเกิดมหากุศลขึ้นมา) ถึงแม้จะไม่ได้รับโดยตรงเหมือนกรณีของเปรตก็ตาม
ในกรณีที่ผู้รับไม่รู้ว่าเราอุทิศบุญให้ แต่ถ้าจิตของผู้ให้มีกำลังเพียงพอที่จะส่งกระแสจิตถึงผู้รับได้ กระแสจิตอันเป็นมหากุศลนั้นย่อมเหนี่ยวนำจิตของผู้รับ (ดลใจ) ให้มีความเป็นมหากุศลตามได้ไม่มากก็น้อยครับ ขึ้นกับกำลังจิตของผู้ให้ และความไวของจิตของผู้รับเองด้วยครับ
แต่ถ้าผู้รับไม่รับรู้ด้วย และจิตของผู้ให้ก็ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะส่งถึงผู้รับด้วย อย่างน้อยผู้ให้ก็ได้ประโยชน์ตามที่กล่าวไปแล้วครับ มีแต่ส่วนดี ไม่มีส่วนเสียให้ต้องกังวลเลย
สำหรับในกรณีที่ผู้รับไม่ได้รับผลบุญในตอนนี้ แล้วส่วนบุญจะไปส่งผลแก่ผู้รับในกัปปหน้าได้หรือไม่นั้น อันนี้ไม่ทราบครับ ไม่มีข้อมูล
ขอให้มีความสุขความเจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไปนะครับ
ธัมมโชติ
เรียนถามท่านอาจารย์ครับ...ผมได้เตรียมของ(เช่นผ้าขนหนู,อังสะ,เทียน เป็นต้น)ไปถวายพระเนื่องในวันวิสาขบูชา ผมวางของถวายพระไว้ตรงที่นั่งของโยม(มีคนนั่งอยู่มากมาย)ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับที่นั่งของพระที่นิมนต์มาจากวัดต่าง ๆ ผมออกไปทำธุระนอกห้อง พอกลับเข้ามาจะเอาของถวายพระ ปรากฏว่าของที่จะถวายพระหายไป เดินหาไม่พบ(เข้าใจว่าคงมีใครเอาของนั้นไปถวายพระเสียแล้ว) กรณีอย่างนี้ผมผมจะได้บุญหรือไม่ครับ แล้วคนที่เอาของที่เราไม่ได้ให้ไปถวายพระ เขาจะได้บูญหรือไม่ครับ
ตอบลบกราบเรียนถามท่านอาจารย์ครับ ผมนำของมาถวายพระ วางของเอาไว้ ตัวผมเองไปทำธุระ พอกลับมาของที่จะถวายพระหายไป (เข้าใจว่าคงมีคนเอาของดังกล่าวไปถวายพระ)พระที่นิมนต์มามีหลายรูป โยมมาทำบุญก็มาก อยากทราบว่าผมจะได้บุญไหมครับ แล้วคนที่เอาของที่ผมได้ให้ไปถวายพระจะได้บูญไหมครับ
ตอบลบสวัสดีครับ
ลบขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ http://tripitaka-online.blogspot.com
กรณีที่เกิดขึ้นนี้ตัวท่านผู้ถามย่อมได้บุญแน่นอนครับ อย่ากังวลใจไปเลยครับ
บุญที่จะได้ในกรณีนี้มีประกอบกันหลายส่วนครับ เช่น
1. บุญจากการสละทรัพย์ คือของที่นำไปถวายพระ ซึ่งเป็นบุญหลักในกรณีนี้ บุญในส่วนนี้ท่านผู้ถามได้รับไปเต็มๆ อย่างไม่มีข้อน่าสงสัยอยู่แล้วครับ
2. บุญจากการขวนขวายเพื่อนำของนั้นไปถวายพระ ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยเพิ่มกำลังของจิตในการทำบุญครั้งนี้ อันจะช่วยเพิ่มกำลังของบุญให้ประทับในจิตให้หนักแน่นขึ้น จริงอยู่ว่างานในส่วนนี้ไม่สมบูรณ์ 100% แต่ก็ขาดในขั้นตอนสุดท้ายคือการถวายพระเท่านั้น และที่ขาดไปก็เพราะเหตุไม่คาดฝันอันเป็นเหตุสุดวิสัย และท่านผู้ถามเองก็มีเจตนาที่จะถวายด้วยมือตนเองอยู่แล้ว ดังนั้น ผลบุญที่ลดน้อยลงไปในส่วนนี้จึงเล็กน้อยมากครับ
ลองพิจารณาดูนะครับว่าความพยายามในการทำบุญครั้งนี้ ตั้งแต่คิดที่จะทำ วางแผน จัดเตรียม จนเดินทางไปถึงวัดนั้นใช้ความพยายามขนาดไหน เป็นสัดส่วนเท่าใดเมื่อเทียบกับการยกของนั้นไปถวายพระ
ส่วนสำคัญที่จะมาลดทอนผลบุญในครั้งนี้ก็คือความไม่สบายใจ ความกังวลใจที่เกิดขึ้นนั่นเองครับ ความไม่สบายใจ ความกังวลใจนั้นเป็นอกุศลจิต เป็นจิตในตระกูลโทสะ (ความโกรธ ความกระทบกระทั่งในใจ) ถึงแม้จะมีกำลังอ่อนกว่าความโกรธแต่ก็ไม่ควรให้เกิดขึ้นครับ
คนที่เอาของนั้นไปถวายพระก็น่าจะทำไปด้วยเจตนาดี เป็นกุศลเจตนา คือคิดว่าได้เวลาถวายพระแล้วแต่เจ้าของไม่อยู่ กลัวว่าเจ้าของจะถวายไม่ทันก็เลยถวายแทนให้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้คนที่ถวายนั้นก็ย่อมได้บุญด้วยในแง่เวยยาวจมัย คือขวนขวายทำการแทนผู้อื่นครับ
สิ่งที่ควรทำหลังจากนี้ก็คือ
1. ทำใจให้สบาย นึกถึงบุญที่ได้ทำไปแล้วนั้นด้วยความยินดี
2. ทำความรู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสทำให้ผู้ที่ถวายของแทนเรานั้นได้รับบุญไปด้วย ซึ่งความรู้สึกเช่นนี้เป็นกุศลจิต เป็นการละความตระหนี่ในบุญ ซึ่งก็เป็นบุญด้วยเช่นกันครับ และผลบุญในส่วนนี้ก็จะมาชดเชยผลบุญที่ลดลงไปจากการที่ไม่ได้ถวายของด้วยมือตนเองครับ
วางใจให้ดีแล้วก็จะได้ผลบุญครบสมบูรณ์ในทั้ง 3 กาล คือก่อนทำ ขณะทำ และหลังทำครับ
ขอให้มีความสุขความเจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไปนะครับ
ธัมมโชติ
ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ ขอให้ได้บุญมากๆนะครับผู้เผยแพร่สิ่งดีๆ
ตอบลบการที่เราเอาถ้วยน้ำที่เราใช้แล้วแต่สภาพดี ไปไว้ในโรงครัววัดให้ทางวัดได้ใช้ (ซึ่งพระก็อาจจะได้เอาไปใช้ด้วย) จะเป็นการบาปไหมครับ จะถือว่าเป็นการบริจาคทานให้วัดที่เป็นเดนไหมครับ
ตอบลบ
ลบสวัสดีครับ
การให้ด้วยจิตที่เป็นกุศลย่อมเป็นบุญอยู่แล้วครับ จะเป็นบาปได้อย่างไร
กรณีเช่นนี้จะเป็นบาปได้ เช่น ให้ด้วยความรู้สึกลบหลู่, ให้ด้วยความโกรธ, ให้แบบประชด เพราะเป็นการให้ด้วยจิตที่เป็นอกุศล (ซึ่งความจริงขณะที่สละของนั้นออกไปก็เป็นบุญอยู่ดีครับ เป็นการทำลายความโลภ เพียงแต่มีอกุศลมาบั่นทอนผลบุญนั้นอีกที จึงมีทั้งบุญและบาปเกิดสลับกัน)
การบริจาคทานด้วยของใช้แล้ว แต่ให้ด้วยจิตที่เป็นกุศล เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้รับ ถึงแม้จะได้บุญไม่มากเท่าการบริจาคของใหม่ที่เตรียมมาอย่างดีเพื่อการบริจาคนั้นโดยเฉพาะ แต่ย่อมได้ผลเป็นบวก คือได้บุญแน่นอนครับ
อย่าให้ความกังวลใจ ความลังเลสงสัย (ซึ่งเป็นอกุศลจิต) มาบั่นทอนบุญที่จะได้รับลงไปเลยครับ
ธัมมโชติ
ข้าวเปลือกที่ยังไม่ได้หุงก็สามารถถวายให้แก่พระสงฆ์ได้ด้วยใช่ไหมครับ ตามลิงค์นี้ https://www.facebook.com/groups/1535103073407358/permalink/3411795985738048/?mibextid=Nif5oz
ตอบลบและพระสงฆ์สามารถนำไปหุงฉันได้เอง ไม่ผิดพระวินัยใช่ไหมครับ
ลบสวัสดีครับ
ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ https://tripitaka-online.blogspot.com
ขอตอบรวมกันกับคำถามข้างล่างนะครับ
ธัมมโชติ
เราสามารถทำบุญกับพระด้วยข้าวสารได้ใช่ไหมครับ ตามลิงค์นี้ https://www.facebook.com/groups/1535103073407358/permalink/3411795985738048/?mibextid=Nif5oz
ตอบลบและการที่พระรับข้าวสาร แล้วไปหุงฉันเอง สามารถทำได้โดยไม่ผิดวินัยใช่ไหมครับ
ลบจากลิ้งค์ที่ส่งมา เป็นเหตุการณ์ในสมัยพระพุทธเจ้าในอดีต พระนามว่าปทุมุตระ นะครับ ซึ่งผมไม่ทราบว่าเรื่องราวแวดล้อมในขณะนั้นเป็นอย่างไร และรายละเอียดที่พระสุจินติตเถระได้เล่านั้นสมบูรณ์ขนาดไหน ข้าวที่นำไปถวายนั้นเป็นข้าวอะไรกันแน่ คือ ข้าวเปลือก ข้าวสาร หรือข้าวหุงสุก โดยอาจจะละไว้ในฐานที่เข้าใจก็ได้
ผมขอกล่าวถึงพระวินัยที่บัญญัติโดยพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันนะครับ
อ้างอิง 1 : พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๔. อันโตวุฏฐาทิปฏิกเขปกถา พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ (เล่มที่ ๐๕-๒)
หน้า ๗๐ - ๗๒
อ้างอิง 2 : พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๙. กัปปิยภูมิอนุชานนา พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ (เล่มที่ ๐๕-๓)
หน้า ๑๑๖ - ๑๒๐
จากอ้างอิง 1 และ อ้างอิง 2 ขอสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้ครับ
ในเวลาปกติพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับอาหารที่ยังไม่พร้อมบริโภคมาหุงต้มเองนะครับ (อ้างอิง 1 : หน้า ๗๐ - ๗๑) ยกเว้นการนำอาหารที่หุงต้มสุกแล้วมาอุ่น (อ้างอิง 1 : หน้า ๗๒)
สำหรับในกรณีพิเศษ คือเกิดข้าวยากหมากแพง หาอาหารได้ยาก คนทั่วไปไม่สามารถถวายอาหารที่ปรุงแล้วได้เพียงพอแก่ภิกษุ จึงต้องถวายอาหารดิบ เครื่องปรุง เป็นอย่างๆ เท่านั้น กรณีเช่นนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับอาหารดิบ เครื่องปรุง เก็บเอาไว้หุงต้มเองได้ครับ (อ้างอิง 1 : หน้า ๗๒)
แต่เมื่อเหตุการณ์ข้าวยากหมากแพงได้ผ่านพ้นไปแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงยกเลิกการอนุญาตพิเศษนั้น คือทรงห้ามภิกษุรับอาหารที่ยังไม่พร้อมบริโภคมาหุงต้มเองตามเดิมนะครับ (อ้างอิง 2 : หน้า ๑๑๖ - ๑๑๘)
ภายหลังเพื่อความสะดวกและปลอดภัยแก่คฤหัสถ์จากแดนไกล ที่จะมาทำอาหารถวายแก่พระภิกษุ พระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตให้คฤหัสถ์เหล่านั้นใช้อาคารที่อยู่สุดเขตวัดเป็นที่เก็บอาหาร และให้คฤหัสถ์หุงต้มอาหารบริเวณนั้นได้ครับ (อ้างอิง 2 : หน้า ๑๑๘ - ๑๑๙)
และพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุเก็บยา (เภสัช) เอาไว้ในวัดได้ด้วยครับ โดยเก็บในบริเวณที่สงฆ์กำหนดไว้ให้เก็บได้ (อ้างอิง 2 : หน้า ๑๑๙ - ๑๒๐)
ธัมมโชติ