Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

สังฆทานที่แท้จริง

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

สังฆหรือสงฆ์นั้น ถ้าแปลตามตัวอักษรจะแปลว่าหมู่ ในทางพุทธศาสนาจะหมายถึงหมู่ของภิกษุ หรือภิกษุณี คำว่าสงฆ์นั้นจะมีความหมายในลักษณะรวมๆ ในรูปของกลุ่ม หมู่คณะ หรือสถาบันสงฆ์ คือจะไม่เฉพาะเจาะจงถึงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง หรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่งครับ

ซึ่งตามวินัยแล้ว ผู้จะดำเนินการใดๆ ในนามของสงฆ์ได้ จะต้องประกอบด้วยภิกษุ (หรือภิกษุณี) ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ถ้าน้อยกว่านี้จะถือว่าไม่ครบองค์สงฆ์นะครับ เว้นแต่ในบางกรณีที่จำเป็น พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาต ให้สงฆ์แต่งตั้งภิกษุ (หรือภิกษุณี) รูปใดรูปหนึ่งให้ทำการในนามของสงฆ์ได้เช่นกันครับ แต่ทั้งนี้ต้องทำการประชุมสงฆ์ก่อน เมื่อที่ประชุมสงฆ์เห็นพ้องต้องกัน ภิกษุ (หรือภิกษุณี) รูปนั้นก็มีสิทธิ์ดำเนินการในนามของสงฆ์ในวาระและโอกาสตามที่ที่ประชุมกำหนดนั้นได้ (ถ้าจะไปดำเนินการอย่างอื่นหรือเวลาอื่นในนามของสงฆ์ ก็ต้องประชุมสงฆ์เพื่อพิจารณาแต่งตั้งอีกครั้งครับ)

สงฆ์มี 2 ฝ่ายคือ
  1. ภิกษุสงฆ์
  2. ภิกษุณีสงฆ์
สงฆ์มี 2 ประเภทคือ
  1. อริยสงฆ์ คือสงฆ์ที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง คือเห็นแจ้งในธรรมอย่างแท้จริง ได้แก่อริยบุคคลทั้งหลาย ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคบุคคล จนถึงพระอรหันต์ (ดูเรื่องอริยบุคคล 8 ประเภทและการละกิเลส ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบนะครับ)
  2. สมมติสงฆ์ คือเป็นสงฆ์โดยสมมติ ไม่ได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เพราะยังไม่เห็นแจ้งในธรรม ได้แก่ภิกษุ (หรือภิกษุณี) ที่ยังเป็นปุถุชน ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป สมมติสงฆ์นี้พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้ทำการในนามของสงฆ์ได้เช่นกันครับ
คำว่าสังฆทานนั้น ก็หมายถึงการทำบุญให้ทานแก่สงฆ์นั่นเองครับ คือการให้ทานโดยไม่ได้เจาะจงตัวผู้รับด้วยใจที่แท้จริง ว่าจะต้องเป็นภิกษุรูปนั้นรูปนี้ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้รับ ก็มีความยินดี พอใจเสมอกันหมด

สำหรับของที่ใช้ทำสังฆทานนั้น จะเป็นอะไรก็ได้ที่ใช้ทำบุญโดยทั่วๆ ไป เช่น อาหาร ของใช้ จีวรเครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นของใช้จัดใส่ถังพลาสติกอย่างที่เห็นกันทั่วไป เพราะจุดสำคัญของสังฆทานคือการให้ทานแก่สงฆ์ โดยไม่เจาะจงตัวผู้รับนั่นเองครับ

การทำสังฆทานนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่าให้ผลบุญมากกว่าปาฏิปุคคลิกทานทุกประเภท (ปาฏิปุคคลิกทาน = การให้โดยเจาะจงตัวผู้รับ) แม้ว่าผู้รับจะเป็นพระพุทธเจ้าก็ตาม ทั้งนี้เพราะสังฆทานนั้นใจของผู้ให้จะเปิดกว้างกว่าปาฏิปุคคลิกทานนั่นเองครับ

ดังความในพระไตรปิฎก ทักขิณาวิภังคสูตร พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ (ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๒๔ ข้อ : ๓๗๖) ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี ที่ได้ทอผ้าด้วยมือตนเอง แล้วนำไปถวายพระพุทธเจ้าว่า

......... ดูกรโคตมี พระนางจงถวายสงฆ์เถิด เมื่อถวายสงฆ์แล้ว จักเป็นอันพระนาง ได้บูชาทั้งอาตมภาพและสงฆ์ ............

........ ก็ทักษิณาเป็นปาฏิปุคคลิกมี ๑๔ อย่าง คือ
ให้ทานในตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธ นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑
ให้ทานในพระปัจเจกสัมพุทธ นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๒
ให้ทานในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๓
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๔
ให้ทานแก่พระอนาคามี นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๕
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๖
ให้ทานแก่พระสกทาคามี นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๗
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๘
ให้ทานในพระโสดาบัน นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๙
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑๐
ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม (ปุถุชนที่ได้สมาธิขั้นฌาน - ธัมมโชติ) นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิก ประการที่ ๑๑
ให้ทานในบุคคลผู้มีศีล นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑๒
ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑๓
ให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑๔ ฯ ...........

........ ใน ๑๔ ประการนั้น
บุคคลให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า
ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลทักษิณา ได้พันเท่า
ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า
ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม (ปุถุชนที่ได้สมาธิขั้นฌาน - ธัมมโชติ) พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง (โสดาปัตติมรรคบุคคล - ธัมมโชติ) พึงหวังผลทักษิณาจนนับไม่ได้ จนประมาณไม่ได้
จะป่วยกล่าวไปไยในพระโสดาบัน ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ในพระสกทาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ในพระอนาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง ในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ในพระปัจเจกสัมพุทธ และในตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธ ฯ ....

........ ก็ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์มี ๗ อย่าง คือ
ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๑
ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่าย ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๒
ให้ทานในภิกษุสงฆ์ นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๓
ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์ นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๔
เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๕ (เป็นการระบุจำนวนว่าจะให้ทานสงฆ์กี่รูป ในขณะที่ลำดับก่อนหน้านี้ไม่ระบุจำนวน - ธัมมโชติ)
เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๖
เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุณีจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๗ ฯ

...... ก็ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภู มีผ้ากาสาวะ(ผ้าย้อมน้ำฝาด หรือผ้าเหลือง - ธัมมโชติ) พันคอ (คือไม่ห่มจีวรแล้ว แต่งกายอย่างคฤหัสถ์ แล้วใช้ผ้าเหลืองพันคอเพื่อให้เห็นว่าเป็นภิกษุ - ธัมมโชติ) เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น ........
...... ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้น เราก็กล่าวว่า มีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้
แต่ว่าเราไม่กล่าวปาฏิปุคคลิกทานว่ามีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์โดยปริยายไรๆ เลย ฯ ......

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น