Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

วิปัสสนา-หลักการพื้นฐาน

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้จะเป็นการอธิบายความรู้พื้นฐาน ความหมาย เหตุผล ที่มาที่ไป กลไกการทำงาน และผลที่จะได้รับจากการทำวิปัสสนากรรมฐาน รวมถึงวิธีเจริญวิปัสสนากรรมฐาน และพุทธพจน์เกี่ยวกับวิปัสสนาเพื่อให้เข้าใจเรื่องวิปัสสนากรรมฐานได้อย่างถ่องแท้และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งในห้องกรรมฐานและในชีวิตประจำวันนะครับ

เนื้อหาจะเป็นการปูพื้นฐานไปตามลำดับขั้นเพื่อให้เข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง ขอให้อ่านไปตามลำดับนะครับเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน

ทุกข์เกิดจากอะไร

ทุกข์มี 2 ประเภทใหญ่ ๆ (ดูแผนผังด้านล่างประกอบนะครับ) คือ
  1. ทุกข์ในอริยสัจ 4
  2. ทุกข์ในไตรลักษณ์


แผนผังแสดงกฎไตรลักษณ์หรือสามัญลักษณะ


ทุกข์ในอริยสัจ 4

ทุกข์ในอริยสัจ 4 ก็คือทุกขเวทนาหรือความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ซึ่งก็คือความทุกข์ในความหมายของคนทั่ว ๆ ไปนั่นเองครับ ทุกขเวทนามี 2 ทางคือ ทุกข์ทางกาย กับทุกข์ทางใจ

ทุกข์ทางกายหมายถึงทุกข์ที่มีกายเป็นเหตุ ได้แก่ ทุกข์ที่เกิดจากความหนาว ความร้อน ความป่วยไข้ ความบาดเจ็บ ความหิวกระหาย ความเสื่อมสภาพของร่างกาย ทุกข์ที่เกิดจากการที่ต้องคอยประคบประหงม ดูแลบำรุงรักษาทำความสะอาดร่างกาย และความทุกข์อื่น ๆ อันมีกายเป็นต้นเหตุอีกเป็นจำนวนมากครับ ทุกข์ทางกายเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดมาคู่กับร่างกาย เป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก ตราบใดที่ยังมีร่างกายอยู่ก็ต้องทนกับทุกข์ทางกายนี้เรื่อยไปไม่มีวันพ้นไปได้นะครับ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ที่สร้างสมบุญบารมีมาอย่างมากมาย มากกว่ามนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ก็ยังต้องทนทุกข์ทางกายนี้จนกระทั่งถึงวันปรินิพพาน สมกับคำที่ว่า การเกิดทุกคราวเป็นทุกข์ร่ำไป

ทุกข์ทางใจหมายถึงทุกข์ที่เกิดจากการปรุงแต่งของใจ ทุกข์ทางใจนี้ส่วนหนึ่งมีทุกข์ทางกายเป็นสิ่งเร้าให้เกิดนะครับ เช่น เมื่อได้รับบาดเจ็บหรือป่วยไข้ขึ้นมาทำให้เกิดทุกข์ทางกายขึ้นแล้ว ต่อมาก็เกิดความกังวลใจ ความหวาดกลัวขึ้นมาอีกว่าอาจจะรักษาไม่หาย อาจจะต้องสูญเสียอวัยวะไป หรืออาจจะต้องถึงตาย ซึ่งความกังวลความหวาดกลัวเหล่านี้จะก่อให้เกิดทุกข์ทางใจขึ้นมาครับ ทุกข์ทางใจอีกส่วนหนึ่งเกิดขึ้นโดยไม่มีทุกข์ทางกายเป็นต้นเหตุ เช่น ความทุกข์จากการประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักที่พอใจ ความทุกข์จากการพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักที่พอใจ ทุกข์จากการไม่ได้ในสิ่งที่ปรารถนา ทุกข์จากความโกรธความขัดเคืองใจ ทุกข์จากความกลัว ทุกข์จากความกังวลใจ ความคับแค้นใจ ทุกข์จากความกลัวว่าความสุขที่มีอยู่จะต้องหมดไป ทุกข์จากความกลัวความทุกข์ยากลำบากที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต ทุกข์จากการกลัวความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ เสื่อมสรรเสริญ และทุกข์ทางใจอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วนครับ

กล่าวโดยสรุป ทุกข์ทางใจทั้งหมดล้วนมีต้นเหตุมาจากความโลภ ความโกรธ และความยึดมั่นถือมั่น

ทุกข์จากความโลภ ตามหลักอภิธรรมแล้วความโลภจะไม่ประกอบด้วยความทุกข์ เพราะความโลภจะเกิดขึ้นพร้อมกับความดีใจ หรือเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (อุเบกขา) เท่านั้นนะครับ ที่กล่าวว่าความทุกข์ที่มีต้นเหตุมาจากความโลภในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าความทุกข์นั้นเกิดพร้อมกับความโลภครับ แต่เป็นความทุกข์อันมีความโลภเป็นเบื้องต้น และมีความทุกข์เป็นเบื้องปลาย อันได้แก่ ความทุกข์ที่เกิดจากความกลัวจะไม่ได้ในสิ่งที่ตนอยากได้ ทุกข์จากการที่ต้องดิ้นรนขวนขวายเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนอยากได้ เป็นต้น

ทุกข์จากความโกรธ ความโกรธนั้นไม่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็นำทุกข์มาให้เมื่อนั้นครับ เพราะความโกรธจะทำให้จิตใจต้องเร่าร้อนดิ้นรน เกิดความกระทบกระทั่งภายในใจ ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ความโลภนั้นในเบื้องต้นยังพอจะนำความสุขมาให้ได้บ้างนะครับ (ในขณะที่เกิดความเพลิดเพลินยินดี) แต่ความโกรธนั้นนำมาแต่ความทุกข์เพียงอย่างเดียวเท่านั้นครับ ตัวอย่างของความทุกข์จากความโกรธเช่น ทุกข์จากความไม่พอใจ ขัดเคืองใจ คับแค้นใจ กังวลใจ ความกลัว ความหวาดระแวง ความมองโลกในแง่ร้าย ความไม่สบายใจ ความอิจฉาริษยา ความพยาบาทอาฆาตแค้น เป็นต้น

ทุกข์จากความยึดมั่นถือมั่น สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรูปธรรมหรือนามธรรม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายวัตถุหรือฝ่ายจิตใจก็ตาม ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นเข้าแล้วก็ล้วนนำทุกข์มาให้ทั้งนั้นนะครับ ไม่ว่าจะยึดว่าเป็นเรา เป็นของของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา ยึดว่าเป็นเขา เป็นของของเขา ยึดว่าเป็นสิ่งที่เราชอบใจ เป็นสิ่งที่เราไม่ชอบใจ ยึดว่าเป็นคนที่เคยทำร้ายเรา เคยด่าเรา ยึดว่าเป็นญาติพี่น้อง เป็นศัตรู เป็นครูอาจารย์ เป็นผู้ที่เราเคารพนับถือ ยึดว่าเป็นนาย เป็นบ่าว เป็นเพื่อน เป็นหน้าที่การงาน ฯลฯ ไม่มีสิ่งใดเลยครับที่ยึดมั่นถือมั่นแล้วจะไม่นำทุกข์มาให้ แม้แต่ยึดในบุญกุศล ความดี มรรค ผล นิพพาน ก็ตามที (อริยบุคคลนั้นไม่ยึดในรูปนามทั้งหลาย ไม่ยินดีในการเกิดก็จริง แต่ก็ไม่ได้ยึดมั่นในมรรค ผล นิพพานด้วยครับ)
เพราะการยึดในสิ่งที่เราไม่ชอบใจก็ย่อมจะทำให้เกิดความขัดเคืองใจ โกรธ ไม่พอใจ คับแค้นใจ กลัว ฯลฯ พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นต้นเหตุของความทุกข์จากความโกรธนั่นเองครับ ส่วนการยึดในสิ่งที่เราชอบใจก็จะทำให้เกิดทุกข์อันมีต้นเหตุมาจากความโลภนะครับ นอกจากนี้ยังจะทำให้เกิดทุกข์จากความกลัวการพลัดพรากสูญเสียสิ่งเหล่านั้นไป ทุกข์จากการต้องคอยทนุถนอม บำรุงรักษา เก็บรักษาไว้ ต้องคอยปกป้อง ห่วงใย ต้องคอยดูแลเอาใจใส่ไม่เป็นอิสระ และถ้าต้องสูญเสียสิ่งเหล่านั้นไปก็จะยิ่งเป็นทุกข์ขึ้นไปอีกมากมายนัก ส่วนการยึดในบุญนั้นก็ต้องเป็นทุกข์จากการรอคอยว่าเมื่อไรผลบุญถึงจะตอบสนอง ยึดในบาปก็เป็นทุกข์กลัวกรรมจะตามสนองครับ

กล่าวโดยสรุปก็คือ ยึดสิ่งไหนก็ทุกข์เพราะสิ่งนั้น ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดเลยความทุกข์ทางใจทั้งหลายก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นกับเราได้เลย

ทุกข์ในไตรลักษณ์

ไตรลักษณ์ก็คือสามัญลักษณะ 3 ประการคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คำว่าทุกข์ในไตรลักษณ์ก็หมายถึงทุกขังในไตรลักษณ์หรือที่เรียกว่าทุกขลักษณะนั่นเองครับ ซึ่งหมายถึงการที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงยกเว้นนิพพาน ล้วนอยู่ในสภาวะที่ถูกเหตุถูกปัจจัยทั้งหลายบีบคั้นให้แปรปรวนไปอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป (ดูเรื่องทุกขเวทนากับทุกข์ในไตรลักษณ์ ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบนะครับ)

ทุกข์ในไตรลักษณ์นี้เป็นลักษณะอันเป็นสามัญ คือเป็นเรื่องธรรมดาของสังขารธรรมทั้งหลายที่จะต้องเป็นไปอย่างนั้นครับ เป็นกฎอันเป็นพื้นฐานของธรรมชาติ เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นเพียงผลของเหตุของปัจจัยเท่านั้นเอง ไม่มีสิ่งใดเลยที่มีอำนาจเหนือตน ตราบใดที่ยังไม่เข้าสู่สภาวะแห่งนิพพานแล้ว ก็จะต้องเผชิญกับทุกข์ในไตรลักษณ์นี้ด้วยกันทั้งสิ้น

ทุกข์ในอริยสัจ 4 ก็อยู่ในสภาวะทุกข์ในไตรลักษณ์ด้วยครับ นอกจากนี้สุขเวทนาและอุเบกขาเวทนาก็ยังไม่พ้นจากทุกข์ในไตรลักษณ์ เพราะทั้งสุขและอุเบกขาก็ล้วนถูกเหตุปัจจัยต่าง ๆ บีบคั้นให้แปรปรวนไปอยู่ตลอดเวลาเช่นกันครับ

กิเลสเกิดจากอะไร

เมื่อพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่าทั้งความโลภและความโกรธล้วนมีสาเหตุมาจากความยึดมั่นถือมั่นด้วยกันทั้งสิ้นนะครับ กล่าวคือ ถ้ายึดมั่นพร้อมกับความรู้สึกยินดีพอใจก็จะทำให้เกิดแรงดูดคือความโลภ แต่ถ้ายึดมั่นพร้อมกับความรู้สึกยินร้ายไม่พอใจก็จะทำให้เกิดแรงผลักคือความโกรธ ความขัดเคืองใจ

แล้วความยึดมั่นถือมั่นมีสาเหตุมาจากอะไร

ความยึดมั่นถือมั่นนั้นเกิดจากการที่ไม่รู้ถึงธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง (โมหะ , อวิชชา , ความหลง , วิปัลลาส) คือไม่รู้ว่าสิ่งทั้งปวงล้วนไม่ควรค่าแก่การยึดมั่นถือมั่น เพราะสิ่งทั้งปวงล้วนเป็นเพียงผลของเหตุของปัจจัย เกิดจากการประชุมปรุงแต่งของเหตุปัจจัย ไม่มีสิ่งใดที่มีอำนาจเฉพาะตน ไม่มีสิ่งใดที่มีอำนาจเหนือตนหรือเหนือสิ่งที่อื่นจากตน สิ่งที่ทำได้ก็เพียงแค่การสร้างเหตุสร้างปัจจัยได้บ้างเท่านั้น ซึ่งเหตุปัจจัยที่สร้างได้นั้นก็เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยของเหตุปัจจัยอันมากมายที่คอยกลุ้มรุมห้อมล้อม คอยปรุงแต่งสิ่งต่าง ๆ ให้แปรปรวนไปตลอดเวลา ถ้าร่างกายหรือจิตใจนี้อยู่ในอำนาจของเราแล้ว ในโลกนี้ก็คงจะไม่มีใครเลยที่เป็นทุกข์นะครับ เพราะทุกชีวิตก็คงจะบังคับตนเองให้เป็นสุขตลอดเวลา แต่ที่โลกนี้เต็มไปด้วยทุกข์ ก็เพราะร่างกายและจิตใจนี้ ทั้งภายในและภายนอก ล้วนไม่อยู่ในอำนาจของใครทั้งสิ้น ถ้าใครขืนไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่อยู่ในอำนาจแล้ว ก็มีแต่ทุกข์เท่านั้นนะครับที่หวังได้

ถ้ามองอย่างผิวเผินแล้วจะเห็นว่าคนที่เป็นคนดีมีคุณธรรมก็เพราะจิตใจของเขานั้นดี คนที่เป็นคนไม่ดีขาดศีลธรรมก็เพราะจิตใจของเขาไม่ดี ความจริงแล้วนั่นเป็นเพียงปลายเหตุนะครับ เพราะแท้จริงแล้วคนที่เป็นคนดีนั้นไม่ใช่เพราะเขาอยากเป็นคนดี และคนที่ไม่ดีก็ไม่ใช่เพราะเขาอยากเป็นคนไม่ดี แต่เป็นเพราะจิตแต่ละดวงนั้นผ่านเหตุผ่านปัจจัยมาต่างกัน ทำให้จิตทั้งหลายมีสภาพมีความรู้สึกที่แตกต่างกัน และมีความจำได้หมายรู้ (สัญญา) ในสิ่งต่าง ๆ แตกต่างกันไป คือมีทัศนคติหรือโลกทัศน์ที่ต่างกันไป จึงทำให้มีการปรุงแต่ง คือมีความรู้สึกนึกคิดที่ต่างกันไป มีความต้องการที่แตกต่างกันไป จึงทำกรรมแตกต่างกันไป นั่นคือการที่คนเป็นคนดีหรือไม่ดีนั้น แท้จริงแล้วล้วนเป็นผลของเหตุของปัจจัยด้วยกันทั้งสิ้นนะครับ

ถ้าลองคนที่คนนิยมกันว่าเป็นคนดีนั้นไปผ่านเหตุผ่านปัจจัยที่ไม่ดีเข้าอย่างมากพอและต่อเนื่อง เขาก็จะกลายเป็นคนไม่ดี (ยกเว้นอริยบุคคลนะครับ เพราะเชื้อแห่งความไม่ดีได้ถูกทำลายไปอย่างสิ้นเชิงแล้วครับ) และคนที่ถูกมองว่าเป็นคนไม่ดีนั้น ถ้าได้ผ่านเหตุปัจจัยที่ดีอย่างมากพอและต่อเนื่อง เขาก็จะกลายเป็นคนดีเช่นกันครับ ตัวอย่างเช่นองคุลีมาลย์ เมื่อผ่านเหตุปัจจัยต่างๆ เข้าก็เป็นลูกศิษย์ที่ครูอาจารย์รักใคร่ เพราะความมีนิสัยดี ขยันหมั่นเพียร และเฉลียวฉลาด แต่พอผ่านเหตุปัจจัยที่ไม่ดีเข้าก็กลายเป็นมหาโจรที่น่ากลัว และเมื่อผ่านเหตุปัจจัยที่ดีอีกครั้ง ก็กลายเป็นพระอรหันต์ที่น่าเคารพนับถือ น่าบูชา ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นเพียงผลของเหตุของปัจจัยเท่านั้นเองครับ ถ้าจะโทษก็ควรโทษเหตุโทษปัจจัยถึงจะถูก จะไปโทษจิตซึ่งเป็นเพียงผลของเหตุของปัจจัยจะสมควรหรือ?

ดังนั้น เว้นนิพพานแล้วสิ่งทั้งหลายทั้งปวงจึงล้วนไม่เที่ยง (อนิจจัง) ถูกสิ่งต่าง ๆ บีบคั้นให้แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา จึงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้นาน ไม่มีสิ่งใดเลยที่ยึดมั่นถือมั่นแล้วจะไม่นำทุกข์มาให้ (ทุกขัง) เพราะสิ่งทั้งปวงรวมทั้งนิพพาน ล้วนไม่อยู่ในอำนาจของใครทั้งสิ้น เป็นเพียงผลของเหตุปัจจัย (อนัตตา) อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ รวมเรียกว่าไตรลักษณ์ หรือสามัญลักษณะ คือเป็นธรรมชาติที่แท้จริง และเป็นลักษณะอันเป็นพื้นฐานของสรรพสิ่งทั่วไปในอนันตจักรวาลครับ

เพราะความไม่รู้ในธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานี้ (โมหะ) นั่นเองครับ ความยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน) จึงเกิดขึ้น เมื่ออุปาทานเกิดขึ้นแล้วความโลภและความโกรธ (โทสะ) ก็เกิดขึ้น ความทุกข์ทั้งหลายจึงเกิดตามมาเป็นทอด ๆ ดังนี้

หมายเหตุ

ตามหลักอภิธรรมแล้ว อุปาทานก็คือตัณหา (ความทะยานอยาก, โลภะ) ที่มีกำลังมากนั่นเอง และตามหลักปฏิจจสมุปบาทแล้ว ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน คือเมื่อปล่อยให้ความทะยานอยากหรือความเพลิดเพลินยินดีเกิดขึ้นบ่อย ๆ แล้วอุปาทานย่อมเกิดตามมา

ส่วนในที่นี้กล่าวว่าอุปาทานเป็นสาเหตุของความโลภนั้น หมายความว่าตัณหาในเบื้องต้นเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทานในเบื้องกลาง และอุปาทานในเบื้องกลางเป็นปัจจัยให้เกิดความโลภในลำดับต่อไป และความโลภที่เกิดขึ้นนี้ก็จะทำให้เกิดอุปาทานต่อไปอีกในอนาคต ทับถมซับซ้อนกันต่อไปไม่รู้จักจบสิ้น ในที่นี้จึงไม่ขัดแย้งกับหลักอภิธรรมและปฏิจจสมุปบาทแต่อย่างใดนะครับ

กิเลสดับได้อย่างไร

เนื่องจากกิเลสทั้งหลายเกิดจากการไม่รู้ธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริง อันเป็นผลให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นนะครับ ดังนั้นกิเลสทั้งหลายจะหมดไปได้ก็ด้วยการรู้ธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริง อันเป็นผลให้คลายความยึดมั่นถือมั่นนั่นเองครับ การรู้นี้ไม่ใช่การจำได้หมายรู้ (สัญญา) แต่เป็นความรู้ที่เกิดจากความรู้สึกที่เกิดจากส่วนลึกที่สุดของจิตใจ เป็นความรู้ที่หยั่งลึกลงไปถึงจิตใต้สำนึกที่อยู่ลึกที่สุด โดยไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ ขึ้นมาขัดแย้งเลยแม้แต่น้อย ไม่มีแม้ความขัดแย้งในความรู้สึก เป็นความรู้อย่างชัดแจ้งด้วยปัญญาของตนเอง หรือไม่ก็ต้องอาศัยศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นเครื่องประกอบครับ (คือถ้าศรัทธาน้อยก็ต้องอาศัยปัญญามาก ดังเช่นพระสารีบุตร ถ้าศรัทธามากก็ใช้ปัญญาน้อยลงไป ดังเช่นพระวักกลิ และลูกศิษย์คนที่อายุมากที่สุดของพราหมณ์พาวรีในเรื่องโสฬสปัญหาในสมัยพุทธกาลโน้น ที่ชื่อว่า "ปิงคิยะ" ซึ่งมีอายุ 120 ปีในวันที่ฟังธรรม (ดูเรื่องปิงคิยมาณพ ในหมวดตัวอย่างการบรรลุธรรม และพระไตรปิฎก ปารายนวรรค ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ประกอบนะครับ))
ซึ่งความรู้ที่ว่านี้จะเกิดขึ้นมาได้ก็ด้วยการเจริญวิปัสสนาเท่านั้นครับ

หมายเหตุ

ในตำราและในพระไตรปิฎกมีการกล่าวถึงคนที่ฟังธรรมแล้วบรรลุมรรคผล โดยไม่ได้กล่าวถึงการเจริญวิปัสสนาของคนเหล่านั้นเลยนั้น ความจริงแล้วไม่ได้ขัดแย้งกับคำกล่าวนี้เลยครับ เพราะการที่คนเหล่านั้นบรรลุมรรคผลได้ก็เนื่องมาจากว่า เมื่อบุคคลเหล่านั้นฟังธรรมแล้วก็ตรองตาม แล้วน้อมธรรมนั้นเข้ามาใส่ตน คือพิจารณาเปรียบเทียบกับตน แล้วจึงเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าร่างกาย จิตใจของเราก็เป็นอย่างที่แสดงไว้ในธรรมนั้นด้วยเช่นกัน แล้วจึงเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายร่างกายและจิตใจ ทั้งภายในและภายนอกขึ้นมาอย่างแรงกล้า (เป็นความเบื่อหน่ายด้วยปัญญา คือหมดความยินดีและความเยื่อใยในสิ่งต่างๆ ลงไป ไม่ใช่ความเบื่อหน่ายด้วยกิเลส คือโทสะหรือความยินร้าย อย่างที่ปุถุชนทั้งหลายเป็นกันนะครับ) ความรู้สึกนั้นรุนแรงไปถึงจิตใต้สำนึกแล้วแผ่ซ่านไปทั่วตัว เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด (ความยึดมั่นถือมั่น ยินดีพอใจในรูปนามทั้งหลาย) เมื่อคลายกำหนัดก็ถึงความหลุดพ้น (จากความยึดมั่นถือมั่น รวมทั้งกิเลสทั้งหลาย) นั่นก็คือคนเหล่านั้นเจริญวิปัสสนาไปพร้อมกับการฟังธรรมนั่นเองครับ

วิปัสสนาคืออะไร

วิปัสสนาก็คือการเอาสติเข้าไปตามดูตามสังเกต เข้าไปจดจ่อ เข้าไปใส่ใจ ต่อสภาวะลักษณะที่ปรากฎในขณะนั้น และต่อความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปต่างๆ ทั้งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมไป ดับไปของรูปของนาม หรือของร่างกายของจิตใจ หรือของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สะสมข้อมูลที่สังเกตได้นั้นมากขึ้นเรื่อยๆ และนำข้อมูลที่ได้จากการตามดูตามสังเกตนั้นมาพินิจพิเคราะห์ พิจารณาโดยแยบคาย ให้เห็นว่ารูปนามนั้นเที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นสุขหรือทุกข์ หรือความสุขที่ได้มานั้นคุ้มกับความทุกข์ที่ต้องเผชิญหรือไม่ อยู่ในอำนาจหรือไม่ เป็นไปตามความปรารถนาหรือไม่ ควรค่าแก่การยึดมั่นหรือไม่ ควรหรือไม่ที่จะถือว่าเป็นเรา เป็นของของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา (ถ้าจะถือว่าสิ่งใดเป็นเราแล้วสิ่งนั้นก็ควรจะอยู่ในอำนาจ และเป็นไปตามความปรารถนาของเราอย่างแท้จริงนะครับ) ทั้งนี้ก็เพื่อทำการศึกษาให้เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของรูปนามทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรูปนามภายใน ภายนอก ในอดีต ปัจจุบัน อนาคต คือให้รู้แจ้งเห็นจริงอย่างชัดเจนด้วยปัญญาของตนเองอย่างทะลุปรุโปร่งโดยไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ และไม่ต้องอาศัยความเชื่อผู้อื่นอีกต่อไป (เพราะรู้ด้วยปัญญาของตนเองแล้วนะครับ) จนกระทั่งเห็นแจ้งว่าภายในเป็นอย่างไรภายนอกก็เป็นอย่างนั้น ปัจจุบันเป็นอย่างไรอดีตและอนาคตก็เป็นอย่างนั้น ไม่ว่ารูปนามใดๆ ในเวลาไหนๆ ก็เป็นอย่างนั้น

ทั้งนี้ควรทำประกอบกันทั้งการตามดูตามสังเกต และการพิจารณาโดยแยบคายนะครับ ไม่ใช่ทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะการตามดูตามสังเกตแล้วไม่นำข้อมูลที่ได้นั้นมาพิจารณาโดยแยบคายก็จะไม่ได้ประโยชน์จากข้อมูลนั้นอย่างเต็มที่ ส่วนการตั้งหน้าตั้งตาพิจารณาโดยแยบคายโดยไม่มีข้อมูลจากการตามดูตามสังเกตอย่างมากพอ การพิจารณานั้นก็อาจผิดพลาดได้ครับ ดังนั้นจึงควรตามดูตามสังเกตไปเรื่อยๆ แล้วนำข้อมูลนั้นมาพิจารณาโดยแยบคายเป็นระยะๆ สลับกันไป

เมื่อพิจารณาอะไรไม่ออกแล้ว ก็แสดงว่าข้อมูลที่สังเกตได้มานั้นยังไม่มากพอที่จะพิจารณาต่อไป ก็พักการพิจารณาเอาไว้ก่อนอย่าท้อใจครับ เพราะเป็นธรรมดาของการปฏิบัติ ใช้สติตามดูตามสังเกตรูปนามกันต่อไป เมื่อข้อมูลมากขึ้นก็จะพิจารณาต่อไปได้เองครับ หรือบางครั้งเมื่อข้อมูลมากพอแล้ว แม้จะไม่ได้ตั้งใจพิจารณาจิตก็จะแล่นไปได้เอง คือถึงไม่ได้ตั้งใจพิจารณาก็เหมือนพิจารณา เมื่อเห็นธรรมชาติที่แท้จริงชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ในที่สุดก็จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาจากส่วนลึกที่สุดของจิตใจของตนเอง เป็นความรู้สึกเบื่อหน่ายในรูปนามทั้งปวงอย่างแรงกล้า (เป็นความเบื่อหน่ายด้วยปัญญา คือหมดความยินดีและความเยื่อใยในสิ่งต่างๆ ลงไป ไม่ใช่ความเบื่อหน่ายด้วยกิเลส คือโทสะหรือความยินร้าย อย่างที่ปุถุชนทั้งหลายเป็นกันนะครับ) เมื่อเบื่อหน่ายก็จะเกิดความรู้สึกคลายความยึดมั่นถือมั่นในรูปนามทั้งปวงลงไป เมื่อคลายความยึดมั่นถือมั่นมากเท่าไร กิเลสทั้งหลายที่อยู่ในระดับความหยาบ/ความประณีตเดียวกันกับความยึดมั่นถือมั่นนั้นก็จะถูกทำลายลงไปพร้อมกันครับ ซึ่งเป็นการทำลายที่ต้นตอของกิเลสนั้นโดยตรง จึงไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นมาได้อีกเลยนะครับ และความรู้สึกนี้จะแผ่ซ่านไปทั่วทุกอณูของร่างกาย (คล้ายกับเวลาที่ประสบกับความตกใจ ความกลัว หรือความเสียใจอย่างสุดขีด จนกระทั่งความรู้สึกเหล่านั้นแผ่ซ่านไปทั่วทุกรูขุมขน ฉันนั้น) สำนวนในพระไตรปิฎกจะใช้คำว่า เมื่อเบื่อหน่ายก็จะคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดก็จะหลุดพ้น

ที่กล่าวมานี้เป็นการเกิดขึ้นของปัญญาขั้นมรรคผล ซึ่งเป็นปัญญาขั้นสูงสุด จนมีอิทธิพลไปถึงจิตใต้สำนึกที่อยู่ลึกที่สุดนะครับ แต่ถ้าเห็นธรรมชาติของรูปนามยังไม่ชัดเจนพอหรือยังไม่มากพอ ก็จะเกิดความรู้สึกคลายความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาได้เช่นเดียวกันครับ แต่ความรู้สึกนั้นจะอยู่แค่ระดับจิตสำนึกหรือลงไปถึงจิตใต้สำนึกบางส่วน จะทำให้เกิดการละกิเลสได้ชั่วคราวที่เรียกว่าตทังคประหารครับ ผู้ปฏิบัติบางคนเมื่อปฏิบัติมาถึงขั้นนี้แล้วก็อาจจะเข้าใจผิด คิดว่าตนเองบรรลุมรรคผลแล้วก็ได้ครับ ดังนั้นผู้ปฏิบัติทั้งหลายพึงระวังและพิจารณาให้ดี เพราะตทังคประหารนั้นนานวันไปก็จะเสื่อมลงไปได้ครับ เมื่อมีเหตุมีปัจจัยมากพอกิเลสก็จะฟูขึ้นมาได้อีก การทดสอบ/ตรวจสอบกิเลสที่เหลืออยู่ และคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวของมรรคผลแต่ละขั้น (เช่น ความบริบูรณ์ของศีล ความบริบูรณ์ของสมาธิ ความบริบูรณ์ของสติ) จะเป็นเครื่องตัดสินที่ดีที่สุดครับ ดูเรื่องอริยบุคคล 8 ประเภทและการละกิเลสประกอบนะครับ

สำหรับกิเลสที่ละได้แล้วนั้น จะต้องละได้เพราะความบริสุทธิ์ของจิตจริงๆ คือกิเลสนั้นจะต้องไม่เกิดขึ้นอีกอย่างสิ้นเชิงนะครับ ไม่ใช่ละได้ด้วยการข่มไว้ด้วยสติ ข่มไว้ด้วยสมาธิ หรือการคอยพิจารณาเพื่อข่มไว้ การทดสอบก็ควรทำในสิ่งแวดล้อมที่บีบคั้นและยาวนาน เพื่อกระตุ้นให้กิเลสข้อนั้นเกิดขึ้น (ควรใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือนในการทดสอบ แต่ถ้าให้ดีก็ควรใช้เวลาให้มากกว่านี้ครับ)

ฐานสำหรับเจริญวิปัสสนา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแบ่งฐานสำหรับเจริญวิปัสสนาไว้ 4 ฐานใหญ่ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับอินทรีย์ของแต่ละคน ที่เรียกว่าสติปัฏฐาน 4 ดังนี้ครับ
  1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การใช้สติจดจ่อต่อความเป็นไปของกาย
  2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การใช้สติจดจ่อต่อความเป็นไปของเวทนา
  3. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การใช้สติจดจ่อต่อความเป็นไปของจิต
  4. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การใช้สติจดจ่อต่อความเป็นไปของธรรม คือ ขันธ์ 5 , อายตนะ 12 , ธาตุ18 ฯลฯ
กล่าวโดยสรุปก็คือ ใช้สติตามดูตามศึกษาธรรมชาติของรูปนามนั่นเองครับ

ท่านที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระไตรปิฎกดังนี้ครับ
  1. มหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 2 ภาค 2
  2. อานาปานสติสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม 3 ภาค 1

การเจริญวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน

เมื่อทำความเข้าใจถึงหลักการพื้นฐานมาพอสมควรแล้ว ต่อไปก็ขอแสดงแนวทางปฏิบัติที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของท่านทั้งหลายเพื่อประโยชน์ในการคลายความทุกข์ออกไปจากจิตใจตามสมควรแก่การปฏิบัติของแต่ละท่านต่อไปนะครับ

ถ้าชาตินี้ยังไม่สามารถทำมรรคผลให้แจ้งได้ก็จะเป็นปัจจัยที่เรียกว่าอุปนิสสยปัจจัย ให้ชาติหน้าเกิดมาเป็นผู้มีปัญญามาก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าปรารถนาเช่นกันนะครับ จะเห็นได้ว่าถ้ามีความเพียรเจริญวิปัสสนาแล้วจะชื่อว่าสูญเปล่านั้นไม่มีเลยครับ และอย่าได้กลัวการเจริญวิปัสสนาเพราะกลัวว่าจะไม่ได้เกิดใหม่เลยนะครับ เพราะตราบใดที่ท่านยังยินดีในการเกิดอยู่ก็ไม่มีใครสามารถขัดขวางการเกิดของท่านได้ครับ และมรรคผลนั้นมีหลายขั้น ขั้นแรกๆ นั้นก็ยังต้องเกิดอีกนานครับ และเป็นการเกิดที่มีทุกข์น้อยกว่าคนทั่วไปด้วยนะครับ ความจริงแล้วการเจริญวิปัสสนาก็คือการมาดูให้เห็นและตัดสินด้วยตัวของท่านเองว่าควรจะเกิดอีกต่อไปหรือไม่ ไม่ใช่การบังคับไม่ให้เกิดอีกครับ

การเจริญวิปัสสนาในชีวิตประจำวันสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้ครับ
  1. เมื่อมีเวลาว่างให้พยายามทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิต ตั้งแต่จำความได้ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ทบทวนไปช้าๆ ไม่ต้องรีบร้อนนะครับ และพยายามทบทวนถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะที่เหตุการณ์นั้นๆ กำลังเกิดขึ้นให้ได้ เมื่อจำเหตุการณ์นั้นได้ชัดเจนดีแล้วก็ให้ทำใจให้เป็นกลางที่สุด ปราศจากอคติความลำเอียงใดๆ ทำตัวเป็นผู้พิพากษาที่เที่ยงธรรมที่สุด แล้วพิจารณาเหตุการณ์นั้นๆ ให้ลึกซึ้ง ละเอียดละออ มองในทุกแง่ทุกมุมนะครับ ให้เห็นว่าเหตุการณ์นั้นๆ ทำให้เราเป็นสุขอย่างไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน ทำให้เราเป็นทุกข์อย่างไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน และสุขที่ว่านั้นมีทุกข์เคลือบแฝงอยู่ด้วยหรือเปล่า หรือทุกข์ที่ว่านั้นมีสุขเคลือบแฝงอยู่ด้วยหรือเปล่า และเหตุการณ์นั้นๆ ส่งผลถึงชีวิตในเวลาต่อมาให้เป็นสุขหรือทุกข์บ้างหรือไม่ อย่างไร

    กล่าวโดยสรุปก็คือให้มองให้เห็นชัดเจนด้วยตัวเองว่าความสุขที่ได้รับมาจากเหตุการณ์นั้นๆ กับความทุกข์ที่ต้องเผชิญมันคุ้มกันหรือไม่ การกระทำของเราในขณะนั้นเป็นไปตามความปรารถนาของเราอย่างแท้จริง หรือว่าเราควบคุมมันไม่ได้ ความสุขความทุกข์นั้นอยู่กับเราได้นานเพียงใดครับ

    การพิจารณานั้น ในช่วงแรกก็พิจารณากว้างๆ โดยแบ่งช่วงพิจารณาเป็นวัยเด็ก ชีวิตการเรียน การทำงาน ความรัก การมีครอบครัว การมีลูก การทำสมาธิ ฯลฯ (โดยเฉพาะความรักและการมีครอบครัวนั้นให้พิจารณาให้ลึกซึ้งทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดนะครับ เพราะพระพุทธเจ้าเปรียบเทียบความสุขทางโลกว่า เหมือนการกินอ้อยจากโคนไปหาปลาย คือเริ่มต้นจะหอมหวาน แต่ยิ่งนานวันก็ยิ่งจืดชืด ดังนั้นถ้าพิจารณาเฉพาะตอนที่หอมหวาน ก็ย่อมจะไม่ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริงครับ)

    เมื่อพิจารณากว้างๆ แล้ว ก็ค่อยๆ พิจารณารายละเอียดในแต่ละเหตุการณ์ต่อไปนะครับ โดยพิจารณาเหตุการณ์ที่ประทับใจมากๆ ก่อน เมื่อพิจารณาได้มากพอสมควรแล้ว ก็จะเห็นได้ด้วยความรู้สึกของเราอย่างแท้จริงว่าชีวิตนี้เป็นสุขหรือทุกข์กันแน่ มีสาระมากน้อยเพียงไหน น่าปรารถนาน่ารักน่าใคร่เพียงใด

    ที่สำคัญคือต้องทำใจให้เป็นกลางนะครับ อย่าตัดสินไว้ล่วงหน้าก่อนว่าจะต้องเป็นสุขหรือทุกข์ หรือเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และต้องมองให้ลึกซึ้งทุกแง่ทุกมุม เช่น ความสำเร็จความภาคภูมิใจในอดีต ถ้าภายหลังทำไม่ได้ หรือมีใครมาพูดให้กระทบกระเทือนถึงความภาคภูมิใจอันนั้น ทำให้ต้องสูญเสียความภาคภูมิใจนั้นไป ก็อาจทำให้เราเป็นทุกข์อย่างมากมายก็ได้ครับ อย่ามองแง่เดียว เพราะสิ่งที่มีคุณอนันต์ก็มักจะมีโทษมหันต์เช่นกันครับ
  1. ก่อนนอนทุกคืนควรพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดวันนี้ทั้งวัน โดยพิจารณาทำนองเดียวกันกับการพิจารณาในข้อ 1.) นะครับ (ข้อ 1. และข้อ 2. นี้อาศัยหลักการของบุพเพนิวาสานุสติญาณ ในวิชชา 3 เพียงแต่เมื่อระลึกชาติในอดีตไม่ได้ ก็ต้องพิจารณาเฉพาะในชาติปัจจุบันเท่าที่จะระลึกได้เท่านั้นครับ)

  2. *** ในชีวิตประจำวันก็ขอให้คอยสังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นในปัจจุบันในขณะนั้นๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้นะครับ ถ้าเผลอไปก็ไม่เป็นไร พยายามสังเกตให้ได้มากที่สุดจนเคยชินเป็นนิสัย มีสติรู้ทันความรู้สึกตลอดเวลานะครับ

    ที่สำคัญคือ การสังเกตนั้นเพื่อศึกษาธรรมชาติของร่างกายของจิตใจของเราเองนะครับว่ามีสุขมีทุกข์มากน้อยเพียงใด แปรปรวนไปได้อย่างไรบ้าง บังคับได้หรือไม่ได้ อยู่ในอำนาจหรือไม่ ไม่ใช่สังเกตเพื่อจะบังคับหรือเพื่อจะข่มนะครับ หรือจะลองบังคับมันดูก็ได้ครับ แล้วก็จะรู้เองว่ามันอยู่ในอำนาจหรือเปล่า

    *** หรืออีกนัยหนึ่งก็คือพยายามหา "เรา" ให้เจอ (คือหาว่าสิ่งที่ท่านรู้สึกว่าเป็นเรานั้นอยู่ตรงไหน หรือคืออะไร เช่น อาจจะรู้สึกว่า สมอง หรือ หัวใจ กระดูก ร่างกายทั้งหมด จิต ความรู้สึก ความคิด ความจำ ฯลฯ คือเรา หรือ เป็นเรานะครับ) เมื่อเจอ "เรา" แล้ว ก็คอยดู คอยสังเกต "เรา" นั้นไปเรื่อยๆ ทั้งเวลาที่ทำกรรมฐาน และเวลาที่ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน จนกระทั่งหลับไปในที่สุดนะครับ คือรู้ตัวเมื่อไหร่ก็สังเกตเมื่อนั้น แล้วสิ่งที่ท่านคิดว่าคือ "เรา" นั้น ก็จะแสดงธรรมชาติที่แท้จริงให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

    แล้วท่านก็จะรู้ได้ด้วยตนเองนะครับว่าสิ่งนั้นสมควรจะถูกเรียกว่า "เรา" หรือ "ของๆ เรา" หรือ "ตัวตนของเรา" หรือไม่ สิ่งนั้นควรค่าแก่การยึดมั่นถือมั่นหรือไม่

    เมื่อสังเกตมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว บางครั้ง "เรา" ก็อาจจะย้ายจุดไปอยู่ที่อื่นได้ครับ (เช่น เดิมรู้สึกว่าจิตคือเรา ต่อมากลับรู้สึกว่าความจำต่างหากที่เป็นเรา ต่อมาก็อาจย้ายไปที่จุดอื่นอีก ฯลฯ) ถ้าความรู้สึกว่าเป็น "เรา" ย้ายไปอยู่ที่จุดอื่น ก็ย้ายจุดในการดู ในการสังเกต ตาม "เรา" นั้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหา "เรา" ไม่เจอในที่สุดนะครับ

    ลองคิดดูให้ดีนะครับว่า สิ่งที่ไม่เที่ยง แปรปรวนไปตลอดเวลา นำทุกข์มาให้สารพัดอย่าง ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามที่ใจปรารถนา เอาแน่อะไรไม่ได้ คาดหวังอะไรไม่ได้เลย ฯลฯ นั้นสมควรหรือที่จะเรียกว่าเป็น "เรา" หรือ "ของๆ เรา" หรือ "ตัวตนของเรา"

    ถ้าจะถือว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็น "เรา" แล้ว อย่างน้อยสิ่งนั้นก็ควรจะอยู่ในอำนาจ และเป็นไปตามที่ใจปรารถนาได้ตลอดเวลาไม่ใช่หรือ ไม่ใช่แค่บางครั้งก็บังเอิญได้เหตุปัจจัยที่เหมาะสมก็เป็นอย่างที่ต้องการ แต่ถ้าไม่บังเอิญอย่างนั้นก็กลับกลายเป็นอย่างอื่น เช่น เมื่อมีเหตุให้สุขก็สุข มีเหตุให้ทุกข์ก็ทุกข์ มีเหตุให้โกรธก็โกรธ มีเหตุให้ดีใจก็ดีใจ มีเหตุให้เสียใจก็เสียใจ มีเหตุให้ป่วยก็ป่วย ฯลฯ ทั้งที่ไม่ได้อยากจะให้ทุกข์ ให้โกรธ ให้เสียใจ ให้เจ็บป่วย ฯลฯ เลยสักนิดเดียวนะครับ

  3. ในเวลาทำกรรมฐาน ขณะทำสมาธิก็คอยสังเกตจิต หรือสังเกต "เรา" เป็นระยะๆ ทำนองเดียวกับข้อ 3.) นะครับ ซึ่งจะเป็นการเจริญสมถะควบคู่กับวิปัสสนาครับ และเมื่อคิดว่าทำสมาธิมากพอแล้ว ก็เปลี่ยนจุดยึดของจิตจากจุดที่ยึดไว้ในขณะทำสมาธิ มาเป็นการเพ่งจิตไปสำรวจตามจุดต่างๆ ของร่างกาย แล้วพิจารณาจุดนั้นให้ละเอียด ว่าจุดนั้นๆ นำความสุขอะไรมาให้เราบ้าง และจุดเดียวกันนั้นนำความทุกข์อะไรมาให้เราบ้าง ไม่ว่าจะเป็นในขณะปัจจุบันหรือในอดีตนะครับ

    ใหม่ๆ ก็แบ่งเป็นรูปกับนามและพิจารณาในปัจจุบันก่อนนะครับ จากนั้นจึงพิจารณาละเอียดขึ้นเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วพิจารณาละเอียดขึ้นอีกเป็นผม ตา ปาก จมูก แขน ขา มือ เล็บ เท้า กระเพาะ ลำไส้ ฯลฯ ต่อไปเรื่อยๆ ตามความชำนาญและความรู้แจ้งที่เกิดขึ้นครับ

    เมื่อพิจารณาปัจจุบันจนชำนาญหรือชัดเจนแล้ว ก็พิจารณาถึงอดีตต่อไปนะครับ ว่าอวัยวะนั้นๆ เคยนำสุขนำทุกข์อะไรมาให้บ้าง ยึดมั่นสิ่งใดมากก็พิจารณาสิ่งนั้นก่อนนะครับ พิจารณาอดีตบ้าง ปัจจุบันบ้างจนเห็นแจ้งทั้งในอดีตและปัจจุบัน ลองพิจารณาให้ดีนะครับว่ารูปนี้ นามนี้ อวัยวะเหล่านี้ มีสิ่งใดที่ไม่นำทุกข์มาให้เราบ้าง มีสิ่งใดที่อยู่ในอำนาจบ้าง มีสิ่งใดที่คงทนถาวร ไม่แปรปรวนไปตามเหตุตามปัจจัยบ้าง มีสิ่งใดที่ควรค่าแก่การยึดมั่นถือมั่นบ้าง สิ่งเหล่านี้ควรหรือที่จะคิดว่าเป็นเรา เป็นของของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา

  4. หลังจากปฏิบัติไปได้ตามสมควรแล้วสิ่งเหล่านี้จะตามมาเองครับ คือ
    • เมื่อเห็นทุกข์เห็นโทษของสิ่งใดแล้ว ความยินดีรักใคร่ ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น ๆ ก็จะลดลงไปเอง นั่นคือกามฉันทะก็จะมารบกวนเราน้อยลงไปเรื่อยๆ ครับ
    • เมือเห็นว่าสิ่งทั้งปวงไม่อยู่ในอำนาจของใคร ทั้งหมดล้วนเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย หรือเมื่อความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้นลดลงไปแล้ว ความขัดเคืองใจเพราะสิ่งนั้นๆ และความยินดีรักใคร่ในสิ่งนั้นๆ ก็จะลดลงไปเองครับ นั่นคือ ปฏิฆะ และกามฉันทะ ก็จะมารบกวนเราน้อยลงไปเรื่อย ๆ
    • เมื่อเห็นสิ่งต่างๆ ด้วยความรู้แจ้งของเราเองอย่างแท้จริงแล้ว ความเคลือบแคลงลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ย่อมจะหมดไป นั่นคือวิจิกิจฉาก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ ครับ
ถ้ามีความเพียรทำตามวิธีการเหล่านี้เรื่อยไปไม่ท้อถอยแล้ว ไม่ช้าก็จะเข้าถึงแก่นของศาสนาได้เองครับ และจะได้พบกับความสุขที่ไม่อาจหาได้จากทางโลก ไม่อาจหาได้จากสมาธิ ไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงิน เป็นความสุขที่เกิดจากการที่จิตคลายความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงลงไป เป็นความสุขที่ไม่มีทุกข์เจือปน ไม่ต้องอาศัยเครื่องล่อใดๆ ทั้งสิ้น เป็นความสุขที่เกิดจากการที่จิตไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบ สามารถสงบอยู่ได้แม้ท่ามกลางพายุร้ายครับ

หมายเหตุ

ในการเจริญวิปัสสนานั้น ข้อที่สำคัญและทำให้ปัญญาเกิดได้มากที่สุดก็คือข้อ 3.) นะครับ

ข้อควรจำสำหรับผู้ต้องการพ้นทุกข์

ผู้ที่ปรารถนาความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงควรเตือนใจตนเองอยู่เสมอ เพื่อให้มีสิ่งเหล่านี้นะครับ คือ
  • อาตาปี (ความเพียรเพื่อเผากิเลส) - มีความเพียรที่จะตามดูตามรู้ธรรมชาติของรูป/นามหรือกาย/ใจ เพื่อศึกษาให้เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของรูป/นาม เพื่อความคลายความยึดมั่นถือมั่นในรูป/นาม ซึ่งจะทำให้กิเลสทั้งหลายถูกทำลายลงไปในที่สุดครับ
  • สติมา (ความระลึกได้) - มีสติระลึกได้อยู่เสมอว่า ขณะนี้รูป/นามหรือกาย/ใจ โดยเฉพาะจิตใจอยู่ในสภาวะอย่างไรครับ
  • สัมปชาโน (สัมปชัญญะ - ความรู้ตัวทั่วพร้อม) - สังเกตให้เห็นอย่างชัดแจ้งถึงสภาวะที่แท้จริงของรูป/นาม หรือกาย/ใจที่ปรากฎในขณะนั้น (ที่สติระลึกรู้อยู่นั้นนะครับ) คือสังเกตรายละเอียดต่างๆ ของสภาวะนั้นๆ ให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เช่น สภาวะของจิตขณะโกรธมีความเร่าร้อนอย่างไร ทำให้เกิดความทุกข์อย่างไร ทำให้จิตเศร้าหมองอย่างไร มีความพลุ่งพล่านของจิตอย่างไร มีความกระทบกระทั่งภายในใจอย่างไรบ้าง เกิดขึ้นได้อย่างไร บังคับได้หรือไม่ ตั้งอยู่ได้นานหรือไม่ แปรปรวนไปเรื่อยๆ หรือไม่ ความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นที่บริเวณไหนของร่างกายหรือจิตใจ ฯลฯ 

เมื่อจิตอยู่ในสภาวะอื่นๆ ก็สังเกตทำนองเดียวกันนี้นะครับ

เรื่องสัมปชัญญะนี้ใหม่ ๆ ก็จะยังเห็นไม่ชัดเจนและเห็นรายละเอียดได้ไม่กี่อย่าง แต่เมื่อปฏิบัตินานขึ้น ก็จะเห็นรายละเอียดชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เองครับ และวันหนึ่งข้างหน้าก็จะสามารถเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมชาติของรูป/นามได้เอง ซึ่งหมายถึงความพ้นทุกข์ที่อยู่ไม่ไกลเลยครับ

พุทธพจน์เกี่ยวกับวิปัสสนา


ปัญญาวรรค วิปัสสนากถา พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค


(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๙๖ ข้อ : ๓๖)

[๗๓๑] ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นหนอ พิจารณาเห็นสังขารไร ๆ โดยความเป็นของเที่ยงอยู่ จักเป็นผู้ประกอบด้วยอนุโลมขันติ (วิปัสสนาปัญญาตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นที่กำลังจะบรรลุมรรคผล) ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
ผู้ไม่ประกอบด้วยอนุโลมขันติ จักย่างลงสู่สัมมัตตนิยาม (มรรคจิต - จิตในขณะทำลายกิเลสได้อย่างเด็ดขาด) ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
เมื่อไม่ย่างลงสู่สัมมัตตนิยาม จักทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตผล (เป็นพระอรหันต์ - ผู้ปราศจากกิเลส) ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นหนอ พิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงโดยความเป็นของไม่เที่ยงอยู่ จักเป็นผู้ประกอบด้วยอนุโลมขันติ ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้
ผู้ประกอบด้วยอนุโลมขันติ จักย่างลงสู่สัมมัตตนิยาม ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้
ผู้ย่างลงสู่สัมมัตตนิยาม จักทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตผล ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้

[๗๓๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นหนอ พิจารณาเห็นสังขารไร ๆ โดยความเป็นสุข จักเป็นผู้ประกอบด้วยอนุโลมขันติ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
ผู้ไม่ประกอบด้วยอนุโลมขันติ จักย่างลงสู่สัมมัตตนิยาม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
เมื่อไม่ย่างลงสู่สัมมัตตนิยาม จักทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตผล ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นหนอ พิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงโดยความเป็นทุกข์อยู่ จักเป็นผู้ประกอบด้วยอนุโลมขันติ ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้
ผู้ประกอบด้วยอนุโลมขันติ จักย่างลงสู่สัมมัตตนิยาม ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้
ผู้ย่างลงสู่สัมมัตตนิยาม จักทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตผล ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้

[๗๓๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นหนอ พิจารณาเห็นธรรมไร ๆ โดยความเป็นอัตตาอยู่ จักเป็นผู้ประกอบด้วยอนุโลมขันติ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
ผู้ไม่ประกอบด้วยอนุโลมขันติ จักย่างลงสู่สัมมัตตนิยาม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
เมื่อไม่ย่างลงสู่สัมมัตตนิยาม จักทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตผล ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นหนอ พิจารณาเห็นธรรมไร ๆโดยความเป็นอนัตตาอยู่ จักเป็นผู้ประกอบด้วยอนุโลมขันติ ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้
ผู้ประกอบด้วยอนุโลมขันติ จักย่างลงสู่สัมมัตตนิยาม ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้
ผู้ย่างลงสู่สัมมัตตนิยาม จักทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตผล ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้

[๗๓๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นหนอ พิจารณาเห็นนิพพานโดยความเป็นทุกข์อยู่ จักเป็นผู้ประกอบด้วยอนุโลมขันติ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
ผู้ไม่ประกอบด้วยอนุโลมขันติ จักย่างลงสู่สัมมัตตนิยาม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
เมื่อไม่ย่างลงสู่สัมมัตตนิยาม จักทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตผล ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นหนอ พิจารณาเห็นนิพพานโดยความเป็นสุขอยู่ จักเป็นผู้ประกอบด้วยอนุโลมขันติ ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้
ผู้ประกอบด้วยอนุโลมขันติ จักย่างลงสู่สัมมัตตนิยาม ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้
ผู้ย่างลงสู่สัมมัตตนิยาม จักทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตผล ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้


คาถาธรรมบท มรรควรรคที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย


(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๑๘ ข้อ : ๒๗๗)

[๓๐] ๒. เมื่อใด บัณฑิตย่อมเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ ความหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความหมดจด

เมื่อใด บัณฑิตย่อมเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ ความหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความหมดจด

เมื่อใด บัณฑิตย่อมเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ ความหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความหมดจด


ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ

1 ความคิดเห็น :