Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

รวมคำถามคำตอบเรื่องสมาธิ

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้เป็นการรวมคำถามและคำตอบเรื่องเกี่ยวกับสมาธิที่ผู้สนใจสอบถามเข้ามานะครับ


นั่งแล้วตัวสั่นและขาขยับได้เอง


ผู้สนใจท่านหนึ่งได้ถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

Subject: ถามเรื่องการปฏิบัติสมาธิ

สวัสดีครับ

ผมชื่อ ..... ที่เคยเขียนมาถามเรื่องการปฏิบัติสมาธิ ครั้งนี้ก็เหมือนกันครับ เมื่อผมนั่งสมาธิมันจะมีอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกายแต่ละครั้งไม่เหมือนกันเลยครับ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร ครั้งงนี้ที่ผมทำมันมีอาการแปลกๆครับ คือขณะที่นั่งไปได้ไม่นานนักจะมีอาการสั่นของร่างกายเกิดขึ้น นานพอสมควรหลังจากนั้นจะเกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อขา (คล้ายกับเป็นตะคริว) หลังจากนั้นขาก็เหยียดออกและหดเข้า จากนั่งสมาธิขาขวาทับขาซ้าย เปลี่ยนไปเป็นนั่งสมาธิท่าอื่นๆ ซึ่งมันเกิดการเปลึ่ยนแปลงไปหลายท่า ซึ่งมันทำให้ผมเสียสมาธิพอสมควร แต่ผมก็พยายามกำหนดพุทโธไว้ ไม่ทราบว่าอาการเหล่านี้เกิดจากอะไร และมีวิธีแก้ไขอย่างไร

ส่งมาที่ ..... นะครับ

ขอบคุณครับ


ตอบ

สวัสดีครับ คุณ.....

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

ความจริงอาการที่เล่ามานั้น ก็คืออาการที่รูปนามกำลังแสดงธรรมชาติของมันให้เห็นนั่นแหละครับ คือแสดงให้เห็นถึงความไม่เที่ยง ความแปรปรวนไป ความไม่อยู่ในอำนาจของใคร ไม่เป็นไปตามที่ใจปรารถนา ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ฯลฯ (ดูเรื่องรวมคำถามคำตอบเรื่องวิปัสสนา หัวข้อรูปนามกำลังแสดงธรรมชาติให้เห็น ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบนะครับ)

สิ่งที่ควรทำต่อไปก็คือ *** อย่าตกใจ อย่ากลัว อย่ากังวลใดๆ ทั้งสิ้นครับ *** เพราะการทำสมาธิ หรือวิปัสสนาก็ตาม จะมีสิ่งแปลกๆ เกิดขึ้นได้เสมอ บางครั้งอาจจะแปลกอย่างไม่น่าเป็นไปได้เลยก็ได้ครับ ถ้าไม่หายกลัวจริงๆ ก็หยุดนั่งก่อน แล้วไหว้พระสวดมนต์ ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองเพื่อเป็นกำลังใจ เพราะถ้านั่งด้วยความกลัวอาจเสียสติได้ครับ (ถ้านั่งไม่ได้ก็ใช้วิธีเดินจงกรมไปก่อน อย่าฝืนนั่งด้วยความกลัว หรืออาจนั่งโดยมีเพื่อนอยู่ใกล้ๆ ด้วยนะครับ)

เมื่อหายกลัวแล้วจึงนั่งต่อไปนะครับ แล้วก็รับรู้ตามสภาพที่ปรากฏในขณะนั้น อาจใช้คำบริกรรมประกอบตามอาการที่กำลังเกิดขึ้นนั้นด้วยก็ได้ครับ (เช่น สั่น เหยียดขา ฯลฯ เพื่อเพิ่มความหนักแน่นของจิต และสติ) แล้วก็คอยดูคอยสังเกตมันต่อไปเรื่อยๆ มันก็จะแสดงธรรมชาติของมันออกมาเรื่อยๆ ต่อไปอีก

ที่สำคัญอีกอย่างคือต้องมีสติให้มั่นคง อย่าเผลอ ถ้ามีอาการทางกาย วาจา หรือทางใจอย่างไรเกิดขึ้น (ทั้งในขณะทำกรรมฐาน และเวลาอื่นๆ นะครับ) ก็ให้มีสติยั้งคิด พิจารณาว่าสิ่งนั้นสมควรหรือไม่ ถ้าสมควรทำก็ทำ ถ้าไม่สมควรก็อย่าเผลอปล่อยกาย ปล่อยใจไปตามนั้นนะครับ (เช่น ถ้าคิดว่ายังไม่ควรเหยียดขาก็อย่าเหยียดออกไป)

ถ้าห้ามไม่ได้จริงๆ ก็หยุดพักจากการนั่งสมาธิในครั้งนั้นก่อน แล้วเดินจงกรมแทน โดยมีสติอยู่ที่การเคลื่อนไหวของเท้า ซึ่งจะเรียกสติได้ง่ายกว่าการนั่งสมาธิครับ (ถ้าเผลอปล่อยให้เป็นไปโดยขาดสติ จะถูกจิตใต้สำนึก หรืออะไรก็แล้วแต่ครอบงำเอาได้ แล้วต่อไปจะแก้ได้ยาก อาจถึงขั้นเพี้ยนได้ง่ายๆ ครับ)

อาการสั่นของร่างกายนั้น เมื่อเกิดขึ้นก็ขอให้ทำความรู้สึกตัวไปทั่วร่างกาย (มีสัมปชัญญะ) โดยเฉพาะจุดที่สั่นนั้น พร้อมกับมีสติประกอบด้วย แล้วทำความรู้สึกผ่อนคลายที่กล้ามเนื้อส่วนที่สั่นนั้นอย่าให้กล้ามเนื้อเกร็ง แล้วประคองสติเอาไว้ให้ได้ตลอด อย่าเผลอปล่อยกายใจไปโดยไม่ได้พิจารณาว่าควรหรือไม่ควร อย่าปล่อยให้จิตใต้สำนึก หรือสิ่งใดมาครอบงำจิตได้ครับ

ถ้าไม่หายก็ลืมตาสักพัก หรืออาจต้องเดินจงกรมสลับเป็นช่วงๆ นะครับ (ก่อนนั่งทุกครั้งควรเดินจงกรมเพื่อฝึกสติก่อน) ถ้าอาการลักษณะนี้เกิดขึ้นอย่าได้เสียดายสมาธิครับ ต้องรีบเพิ่มกำลังของสติก่อน ก่อนที่จะมีปัญหาอื่นตามมาครับ

เพราะอาการเช่นนี้มักเกิดจากการที่สติมีกำลังอ่อนกว่าสมาธิ จนตามสมาธิไม่ทัน ต้องฝึกสติโดยเดินจงกรมให้มากๆ ครับ รวมทั้งในชีวิตประจำวันก็ควรกำหนดรู้ในทุกอิริยาบถที่กระทำ และมีสติยั้งคิดพิจารณาว่าควรหรือไม่ควรก่อนพูด ทำ คิดในสิ่งต่างๆ และคอยห้ามใจไม่ให้เผลอกระทำในสิ่งที่ไม่สมควร ก็จะเพิ่มกำลังของสติได้มากเพื่อปรับอินทรีย์ให้สมดุลกันครับ (อินทรีย์ 5 คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ถ้าสมดุลกันแล้วกรรมฐานก็จะเจริญก้าวหน้าได้ดี)

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ (ยินดีมากครับที่มีคนสนใจทำกรรมฐานกันมากๆ)

ธัมมโชติ


นั่งสมาธิแล้วเกิดปิติ


ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

นั่งสมาธิแล้วเกิดปิติ โยกนานมากเป็นสิบนาที สอบอารมณ์อาจารย์ท่านที่หนึ่งบอกว่า ให้กำหนด “โยกหนอ” ตามรู้ แล้วเขาก็จะหยุดเอง แต่ก็นานอยู่ดี อาจารย์ท่านที่สอง บอกว่าให้กำหนด “หยุดหนอ” เขาจะได้หยุด อันไหนถูกคะ (กำหนดหยุด เขาก็หยุด แต่พักสั้นๆก็โยกอีก)


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

ปิตินั้นเป็นอาการปกติของสมาธิ ไม่ต้องกังวลใจนะครับ คือเมื่อจิตประณีตถึงช่วงหนึ่งปิติก็จะเกิดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ ถ้าจิตประณีตมากหรือน้อยกว่านี้ปิติก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ถ้านั่งต่อไปแล้วปิติไม่เกิดขึ้นก็แสดงว่าจิตประณีตมากขึ้นหรือน้อยลง จนไม่อยู่ในช่วงของปิติแล้ว จิตในขั้นที่ประณีตขึ้นไปก็จะเป็นขั้นของสุข สูงขึ้นไปอีกก็เป็นขั้นของอุเบกขา

สิ่งที่ควรทำต่อไปก็คือ ตามดูตามรู้อาการที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า โดยไม่ควรจะยินดี ยินร้าย หรือกังวลใจในสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น เมื่อปิติเกิดขึ้นก็รู้ว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ก็รู้ว่าตั้งอยู่ ดับไปก็รู้ว่าดับไป รู้เหตุแห่งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของสิ่งเหล่านั้นตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือรับรู้แล้วปล่อยวาง อย่าปรุงแต่งให้มากนัก แล้วจิตก็จะสงบ ประณีตขึ้นตามเหตุปัจจัยเองครับ

ถ้าไปกังวลก็จะเป็นทุกข์ และทำให้สมาธิเคลื่อนไปเปล่าๆ

ปิติที่เกิดขึ้นนั้นอย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า สมาธิเกิดขึ้นตามสมควรแล้วครับ อย่าคิดอะไรมาก ถ้าไม่ไปติดยึดกับมันก็ไม่มีผลเสียอะไรครับ จะกำหนดอย่างไรก็ได้ ที่สำคัญคือการรับรู้ตามสภาพความเป็นจริงที่ปรากฏ แล้วอย่าไปยินดียินร้ายกับมัน พอจิตประณีตขึ้นอาการก็จะหายไปเองครับ

ที่ควรระวังก็คือ การนั่งสมาธิแล้วมีอาการโยกนี้ต้องดูให้ดีด้วยว่าเป็นอาการของปิติ หรือเป็นเพราะเผลอสติ ถ้าเป็นเพราะปิติก็ทำตามที่กล่าวไปแล้ว แต่ถ้าเป็นเพราะเผลอ นั่งแล้วเพลิน สติเลื่อนลอยลืมกำหนดรู้ก็ทำให้ตัวโยกได้เช่นกัน อย่างนั้นก็ต้องแก้ด้วยการกำหนดรู้ให้ต่อเนื่อง อย่าให้เผลอ ถ้าเผลอเมื่อไหร่ก็อาจจะโยกได้อีก ก็แก้ด้วยการกำหนดรู้ตามอาการที่เกิดขึ้นนั้น พอรู้ตัวแล้วก็จะหยุดโยกไปเอง ถ้าเผลอบ่อยก็เพิ่มกำลังของสติได้ ด้วยการเดินจงกรมแบบกำหนดรู้ตามการเคลื่อนไหวให้ละเอียดๆ ก็ช่วยได้ครับ

ไม่ต้องกังวลนะครับ สิ่งที่ไม่อยู่ในอำนาจก็เป็นอย่างนี้หละครับ (ทั้งปิติ และการเผลอสติ รวมทั้งรูปนามอื่นๆ ด้วย) ดูมันไปเรื่อยๆ อย่าเผลอแล้วดีเอง

เรื่องปิตินั้นก็ขอย้ำอีกนิดนะครับ คือถ้าความประณีตของจิตเปลี่ยนไป คือไม่อยู่ในช่วงของความประณีต (ความถี่ของจิต) ที่เป็นช่วงของปิติแล้ว อาการของปิติก็จะหายไปโดยอัตโนมัติครับ ทำนองเดียวกับที่พอความประณีตของจิตอยู่ในช่วงของปิติ อาการของปิติก็จะเกิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติครับ ห้ามไม่ได้เพราะธรรมชาติเป็นอย่างนั้น

เหมือนกับพอโกรธก็จะมีอาการที่เป็นลักษณะเฉพาะของความโกรธ ปรากฏขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เช่น ใจสั่น ร้อน ฯลฯ ถ้าตราบใดที่ยังโกรธอยู่ อาการนี้ก็จะยังอยู่ บังคับให้หายไม่ได้ แต่ถ้าหายโกรธเมื่อไหร่อาการก็จะหายไปเองโดยอัตโนมัติครับ

การที่ปิติเกิดขึ้นนานก็เพราะความประณีตของจิตอยู่ในช่วงนั้นนานครับ ซึ่งก็ไม่มีผลเสียอะไร เพราะก็เป็นสมาธิระดับหนึ่งเหมือนกัน ไม่ต้องกังวลนะครับ แค่ดูมันไปเรื่อยๆ แล้วดีเองครับ

ไม่ต้องพยายามไปหยุดมันหรอกครับ ถ้าจะหยุดก็ต้องเปลี่ยนระดับความประณีตของจิตให้พ้นช่วงปิติ (ผู้ที่ทำสมาธิจนชำนาญแล้วก็จะเปลี่ยนระดับความประณีตของจิตได้ตามต้องการ) ก็จะหยุดได้ครับ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


นั่งสมาธิแล้วอยากได้นู่นได้นี่


ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

ตอนนี้กุมบังเหียนใจตัวเองไม่ให้กระเพื่อมตามโลกธรรม 8 มากนักได้ดีขึ้น นั่งสมาธินิ่ง แต่เกิดกิเลส เวลานั่งแล้วไม่เอาแค่นิ่งแบบเดิม อยากได้นู่นนี่ เช่น อยากไปถึงสุข อุเบกขา ปฐมญาณ เข้าออกได้ตามใจ และเวลาเกิดอาการใดๆ ทั้งเก่าและใหม่ก็ดีใจชื่นชม (จริงๆนะคะ) ไม่เฉยๆ แบบเมื่อก่อน พยายามไม่ทำให้รู้สึก แต่ก็รู้สึกดีอยากทำ ความรู้สึกเหล่านี้ ดีหรือร้ายคะ ต้องแก้ไขหรือไม่ หากต้องแก้ ให้ทำอย่างไรคะ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ
  1. การควบคุมจิตได้ดีขึ้น และเข้าสมาธิได้เร็วขึ้นเป็นสิ่งดีครับ แต่การอยากได้นู่นได้นี่ จะทำให้จิตไม่อยู่กับปัจจุบัน คือไปอยู่ที่อนาคต คือสิ่งที่อยากได้ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น จะทำให้สมาธิไม่ก้าวหน้า และอาจถอยหลังได้ครับ

    ต้องตัดความรู้สึกอยากออกไป แล้วดึงจิตให้อยู่กับปัจจุบัน คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเฉพาะหน้า แล้วสมาธิถึงจะเกิดและก้าวหน้าไปได้ครับ ต้องคิดเอาไว้ว่าถ้ายิ่งอยากก็จะยิ่งไม่ได้ (สมาธิไม่เกิด) แต่ถ้าไม่อยากแล้วก็จะได้เองตามเหตุปัจจัยครับ (เพราะจิตจะรวมได้ง่าย)

    อาการลักษณะนี้เกิดจากวิริยินทรีย์ (วิริยะ + อินทรีย์ = สิ่งที่เป็นใหญ่ในความเพียร) คือวิริยะ หรือความเพียรมีกำลังมากเกินไปครับ จะต้องข่มจิตลง คือลดความมุ่งมั่น หรือความอยากลง สมาธิถึงจะเกิดได้ง่ายขึ้นครับ (ไม่ใช่ให้ลดการนั่งสมาธิลงนะครับ แต่ให้ลดความรู้สึกมุ่งมั่นลง ทำใจให้ผ่อนคลายขึ้น คิดว่าได้แค่ไหนก็แค่นั้น แล้วดูมันไปเรื่อยๆ )

  2. เรื่องการจะได้ฌานนั้น เวลาทำสมาธิต้องคอยสังเกตทางไปของสมาธิ หรือทางดำเนินของจิตให้ดีครับ คือสังเกตว่าเมื่อทำจิตแบบไหน แล้วผลที่ได้เป็นยังไง เมื่อฉลาดในทางดำเนินของจิต และมีความชำนาญในการสร้างเหตุปัจจัย ให้จิตเป็นไปในสภาวะที่ต้องการแล้ว โอกาสได้ฌานก็จะมากขึ้นตามลำดับครับ

  3. ความรู้สึกดีใจชื่นชมเป็นสิ่งที่เพิ่มกำลังของวิริยินทรีย์ครับ ถ้าน้อยเกินไปก็หดหู่ ท้อถอย ไม่มีความเพียร แต่ถ้ามากเกินไปก็จะส่งผลอย่างที่อธิบายแล้วในข้อ 1. ต้องประคับประคองให้สมดุลถึงจะส่งผลดีที่สุดครับ คือ ต้องยกจิตเมื่อควรยก ข่มจิตเมื่อควรข่ม ประคองจิตเมื่อควรประคอง

    การแก้ไข คือการข่มจิต อธิบายแล้วในข้อ 1. ครับ

  4. ขออธิบายเรื่องญาณ และฌานนิดนึงนะครับ

    ญาณ คือปัญญา ความรู้แจ้ง โดยมากใช้กับปัญญาที่เกิดจากการทำวิปัสสนา คือความรู้ความเข้าใจธรรมชาติของรูปนาม หรือร่างกายและจิตใจตามความเป็นจริง เรียกว่าวิปัสสนาญาณ

    ฌาน ตามศัพท์แปลว่าการเพ่ง ใช้กับการทำสมาธิ ผู้ที่ได้ฌาน จะต้องเข้าออกสมาธิในขั้นนั้นๆ ได้อย่างใจต้องการ และสามารถอยู่ในสมาธิขั้นนั้นได้นานตามต้องการด้วย เรียกว่าได้วสี คือความชำนาญครับ
ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


นั่งสมาธิแล้วฟุ้งซ่าน


ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

ช่วงนี้นั่งแล้วกลับมาฟุ้งแบบเดิมอีกแล้วค่ะ พยายามคิดว่าเป็นหนึ่งสภาพธรรม ไม่อยากหงุดหงิดกับมันหน่ะค่ะ (แต่ก็มีบ้าง)


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เช่น ฟุ้งซ่าน กังวล ตกใจ กลัว หงุดหงิด ฯลฯ ก็รับรู้และดูมันไปครับ เช่น กำลังฟุ้ง ก็รับรู้ว่ากำลังฟุ้ง แล้วดูจิตที่กำลังฟุ้งนั้นไปเรื่อยๆ ทำใจสบายๆ เป็นกลางๆ ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องตื่นเต้น

พอจิตอยู่กับปัจจุบันอย่างเป็นกลางๆ แล้ว (เช่น จิตอยู่กับการดูอาการที่กำลังฟุ้งในขณะปัจจุบันนั้น) แล้วสมาธิก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นเองครับ หรือถึงแม้ว่าสมาธิไม่เกิด ก็ดูมันไปเพื่อผลในทางวิปัสสนา คือการศึกษาธรรมชาติของจิตก็เป็นประโยชน์เช่นกันครับ (แต่ถ้าสมาธิเกิดด้วย ก็จะได้ประโยชน์ทั้งในแง่สมาธิ และวิปัสสนาพร้อมกัน)

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


การออกจากสมาธิกลางคัน


ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

ถ้าเจออะไรที่น่าตกใจ ควรลืมตาเลยหรือเปล่าคะ

มีอยู่วัน นั่งๆ อยู่ แผ่นดินไหว (ตอนนั้นมีปีติโยกอยู่แล้วนิดหน่อย) อยู่ๆ แผ่นดินก็ไหวมาก แบบเขย่าๆ แรงๆ สั้น แต่แรงมาก (ปกติที่นี่แผ่นดินไหวถึงจะแรง แต่ก็จะไม่ถึงขนาดเขย่าเฉพาะตัวแบบนั้น)

ดิฉันเลยลืมตาเฉยเลย พอลืมตาก็เลิกไหว คืนนั้นก็ไม่ไหวอีก

คือไม่อยากคิดว่าเป็นอะไรที่เกิดจากสมาธิหน่ะค่ะ แต่เหมือนเป็นแบบนั้น (อาจจะแผ่นดินไหวจริงๆ แรงจริงๆ สั้นจริงๆ บังเอิญมาหยุดตอนที่เราลืมตาก็ได้ สามบังเอิญ) แต่ตอนนั้นมันกลัวหน่อยๆ ใจดีสู้เสือเนี่ย แว๊บแรก ทำไม่ทันค่ะ กลัวไปเสียแล้ว โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เจอครั้งแรก พอสอง สาม สี่ แล้ว ไม่กลัวแล้ว ทุกทีค่ะ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

ขอตอบเป็นข้อๆ ก็แล้วกันนะครับ
  1. เวลาเจอสิ่งที่น่าตกใจ (ถ้าไม่ร้ายแรงจนรอไม่ได้นะครับ) ควรปฏิบัติตามขั้นตอน ดังนี้ครับ

    1. ตั้งสติให้ดี อย่าให้ความกลัว หรือความตกใจเข้าครอบงำจิต เพราะการทำสมาธินั้น มักจะมีเหตุการณ์แปลกๆ อย่างที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นได้เสมอ ถ้าไม่หายกลัวก็พยายามทำใจดีสู้เสือเอาไว้ อาจนึกถึงพระรัตนตรัย หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยคุ้มครอง เป็นกำลังใจด้วยก็ได้

      (เหตุการณ์ต่างๆ จากการทำสมาธินั้น ถ้าไม่ขาดสติ ไม่กลัว ไม่ตกใจ ก็จะไม่มีอันตรายอะไรอยู่แล้วครับ)

    2. หายใจเข้าออกลึกๆ สัก 3 รอบ พร้อมกับค่อยๆ ถอนจิตจากสมาธิ

    3. เมื่อจิตใจเป็นปรกติดีแล้ว (ไม่กลัว ไม่ตกใจ และไม่อยู่ในสมาธิที่ลึกมาก) ก็ค่อยๆ ลืมตาช้าๆ

      ถ้าออกจากสมาธิอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เวียนหัว เกิดอาการมึนงง รู้สึกเหมือนตัวหมุนติ้วได้นะครับ

  2. การที่ตกใจแล้วลืมตาทันที (กำหนดไม่ทัน) นั้น คิดว่าน่าจะเป็นสัญชาตญาณในการระวังภัย ของทุกคนนะครับ ต้องค่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ ใจเย็นๆ แล้วจะควบคุมจิตได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เองครับ
ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


นั่งสมาธิแล้วเหมือนแขนขาหายไป


ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

เรื่องความรู้สึกสบายๆ ไม่แน่ใจว่าเป็นอะไรแน่ค่ะ เริ่มจากขาและแขนซ้ายหายไปก่อน ก็กำหนดรู้ว่าหาย จากนั้นก็รู้สึกสบายๆ เบาๆ (จำแม่น ประทับใจ) ถ้าจำไม่ผิดไม่ซู่ซ่าใดๆ หรือเย็นจนหนาวนะคะ อาจเป็นแค่ปิติ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการที่จิตรวมเข้ามาครับ คือปรกติจิตจะกวาดรับความรู้สึกไปทั่วตัว (ความจริงแล้วจะรับความรู้สึกทีละจุดไม่พร้อมกัน แต่จิตเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก จนทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าเกิดขึ้นพร้อมๆ กันทั้งตัว) แต่พอทำสมาธิแล้วจิตรวมเข้ามาที่จุดเดียว คือสนใจอยู่ที่จุดเดียว เช่นที่ลมหายใจ หรือที่ท้อง ไม่ซัดส่ายไปที่จุดอื่นๆ ก็จะทำให้ไม่รู้สึกถึงจุดอื่นๆ เลยรู้สึกเหมือนกับว่าอวัยวะเหล่านั้นหายไปครับ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


สมาธิและกิเลส


ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

คนที่สามารถฝึกแล้วจิตตื่น ,รู้สึกเบิกบานตลอดเวลา และสามารถคุมกิริยาของร่างกาย ให้เคลื่อนไหวอย่างงดงามได้ และรู้ว่าเวลามีกิเลสเกิดขึ้นนั้น มันเหมือนมีอะไรมาเกาะใจให้เจ็บ เรียกว่าอยู่ในขั้นสมาธิขั้นใด

และหลังจากนั้นเมื่อไม่ได้บำเพ็ญภาวนาอีก ปรากฏว่าจิตหลับไป ไม่เบิกบานเหมือนเดิม และสามารถคุมกิริยาการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ และรู้สึกร้อนรุ่มเบื่อหน่ายต่อโลกเป็นประจำ แต่ในบางครั้งก็รู้สึกเป็นสุขเหมือนตัวลอยๆ และรู้สึกไม่อยากยึดติดกับอะไรนั้น เรียกว่ามีพลังสมาธิอยู่ในขั้นใด


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

ขอตอบคำถามเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ
  1. จากข้อมูลเท่าที่ให้มานี้ คงยากที่จะบอกได้นะครับว่าทำสมาธิได้ถึงขั้นใด เพราะสมาธิในทุกๆ ขั้น ก็ล้วนทำให้เกิดผลอย่างนี้ได้ทั้งนั้น เพียงแต่ความประณีต เบาสบายของจิต จะมากขึ้นเรื่อยๆ ตามขั้นที่สูงขึ้นไป แต่อย่างน้อยก็คงไม่ต่ำกว่าขณิกสมาธิ (สมาธิชั่วขณะ) ถ้าจะให้ทราบชัดเจนกว่านี้ ก็ต้องทราบข้อมูลอย่างละเอียดครับ เพราะสมาธิเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตที่มีความละเอียดอ่อนมาก ถ้าวิเคราะห์โดยไม่ทราบรายละเอียดมากพอ จะผิดพลาดได้ง่ายมากครับ

    อาการที่จิตตื่น, รู้สึกเบิกบานตลอดเวลา เป็นผลจากสมาธิครับ เมื่อสมาธิเกิดขึ้นแล้วจะทำให้นิวรณ์ทั้ง 5 สงบลงไป (ดูรายละเอียดได้ในเรื่องนิวรณ์ 5 และวิธีแก้ไข ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) ประกอบนะครับ) ในที่นี้ก็คือถีนมิทธะ แยกเป็นถีนะคือความหดหู่ท้อถอย และมิทธะคือความง่วงเหงาหาวนอนครับ

    อาการที่สามารถคุมกิริยาของร่างกาย ให้เคลื่อนไหวอย่างงดงามได้นั้น เกิดจากสติที่มีกำลังเพิ่มมากขึ้นครับ

    ส่วนการที่รู้ว่าเวลามีกิเลสเกิดขึ้นนั้น มันเหมือนมีอะไรมาเกาะใจให้เจ็บนั้น เกิดจากการที่ได้สัมผัสกับสภาวะจิตที่ประณีตขึ้นจากการทำสมาธิแล้ว (ดูเรื่องลำดับขั้นของจิต และเรื่องพุทธวิธีพัฒนาจิต ในหมวดบทวิเคราะห์ ประกอบนะครับ) เมื่อมีกิเลสเกิดขึ้น (จิตจะเร่าร้อน หยาบกระด้างขึ้น) จึงรู้สึกถึงความทุกข์จากกิเลสนั้นได้ชัดเจน เพราะเกิดจากการนำไปเปรียบเทียบกับจิตที่ประณีตในระดับสมาธิครับ

    เหมือนคนที่เพิ่งออกจากห้องแอร์ ย่อมจะรู้สึกถึงความร้อนจากบรรยากาศภายนอกห้องแอร์ได้ชัดเจนมากกว่าคนที่ไม่เคยอยู่ในที่เย็นๆ อย่างในห้องแอร์มาก่อน คือคนที่ไม่เคยอยู่ในที่เย็นๆ นั้นจะรู้สึกเคยชินกับบรรยากาศภายนอกห้องแอร์จนรู้สึกว่าเป็นเรื่องปรกติจึงไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์อะไรนัก

  2. เมื่อไม่ได้บำเพ็ญภาวนาอีก ปรากฏว่าจิตหลับไป ไม่เบิกบานเหมือนเดิมนั้น เกิดจากการที่จิตรับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมภายนอก (การกระทบกระทั่งกับสิ่งต่างๆ รอบตัว) และอิทธิพลจากภายใน คือกิเลสต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้จิตลดความประณีตลงเรื่อยๆ และนิวรณ์ต่างๆ ก็ค่อยๆ ครอบงำจิตได้มากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

    การที่รู้สึกร้อนรุ่ม เบื่อหน่ายต่อโลกเป็นประจำ เพราะเกิดจากการเอาสภาวะจิตปรกติของโลก ซึ่งเร่าร้อน ไปเปรียบเทียบกับจิตในระดับสมาธิ ซึ่งประณีต เบาสบายครับ

    การที่ในบางครั้งก็รู้สึกเป็นสุข เหมือนตัวลอยๆ และรู้สึกไม่อยากยึดติดกับอะไรนั้น เพราะได้สัมผัสกับสภาวะจิตทั้งในระดับโลกๆ และในระดับสมาธิมาแล้ว ทำให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจน และเห็นโทษของการยึดติดกับโลก จึงอยากจะพ้นจากโลกอันเร่าร้อนนั้น

    และในขณะใดที่จิตอยู่เหนือความยึดติดกับโลกได้ เมื่อนั้นจิตก็จะประณีตขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะไม่ถูกโลกครอบงำเอาไว้ เมื่อจิตประณีตขึ้น ก็จะรู้สึกเป็นสุข เบาสบายครับ

    ซึ่งในกรณีนี้ก็เหมือนข้อที่ 1. นะครับ ที่ยากที่จะบอกได้ว่าเป็นจิตขั้นใด จากข้อมูลที่ให้มานี้ ก็บอกได้แค่ว่าจิตประณีตกว่าระดับโลกๆ เป็นระยะๆ

    ขอแนะนำเพิ่มเติมนะครับ ว่าอย่าไปยึดติดกับระดับขั้นของสมาธิให้มากนัก ควรจะสังเกตสภาวะจิตที่กำลังเกิดขึ้น และพัฒนาการที่เป็นไปมากกว่า เพราะเรื่องของสภาวะจิตนั้น ต้องสัมผัสเองถึงจะรู้ ยากที่จะอธิบายให้คนอื่นรู้ถึงสภาวะจิตที่เราเป็นได้อย่างชัดเจนด้วยคำพูดหรือตัวหนังสือ นอกจากการกำหนดรู้ด้วยจิต (สำหรับคนที่รู้วาระจิตของผู้อื่นได้) เท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นการยากมาก ที่จะบอกลำดับขั้นของจิตของผู้อื่นได้ถูกต้อง ชัดเจน แน่นอน
ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ

5 ความคิดเห็น :

  1. หมอฉัตร เนติฯ11 พฤษภาคม 2562 เวลา 03:21

    เคยได้ยินมาว่า ภรรยาเศรษฐีท่านหนึ่ง จ้างนางโสเภณีมาเป็นเมียชั่วคราวเศรษฐี และตัวเองไปเตรียมภัตตาหารเพื่อนิมนต์พระพุทธเจ้ามาฉัน แต่เกิดเรื่องนางโสเภณีไม่พอใจนาง เอาน้ำมันร้อน ๆ สาดตัวนาง นางทำสมาธิเข้าฌาณได้รวดเร็วมากในขณะที่โดนสาดน้ำมัน น้ำมันไม่ระคายผิวนางเลย ภายหลังพระพุทธเจ้ายกยองนางเป็นเลิศทางเข้าฌาณ
    เรียนถามว่า
    ๑. การทำสมาธิจะปกป้องกายไม่ให้ได้รับอันตรายจากแผลไหม้น้ำมันร้อน ๆ ได้อย่างไร อธิบายทางการแพทย์ได้อย่างไร
    ๒. สมาธิระดับไหนถึงทำให้ร่างกายคงกระพันได้

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      เรื่องนี้เป็นเรื่องของนางอุตตราภรรยาของเศรษฐี ที่ได้ว่าจ้างหญิงโสเภณีชื่อสิริมา ด้วยเงิน 15,000 กหาปณะ เพื่อให้บำเรอเศรษฐีสามีของตนเป็นเวลาครึ่งเดือน เพื่อที่นางจะได้รักษาอุโบสถศีล

      ความตอนนี้มีปรากฎในอรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๗ ดังนี้

      ..... มีหญิงโสเภณีชื่อสิริมา อยู่ในนครนั้น จึงให้เรียกนางมาแล้วกล่าวว่า แม่สิริมาจ๋า ดิฉันจักอธิฐานองค์อุโบสถตลอดครึ่งเดือนนี้ ขอแม่นางจงรับกหาปณะ ๑๕,๐๐๐ กหาปณะเหล่านี้ไว้ แล้วบำเรอบุตรเศรษฐีตลอดครึ่งเดือนนี้.
      นางสิริมาก็รับปากว่า ดีละแม่เจ้า. ตั้งแต่นั้นมา บุตรเศรษฐีคิดว่า เราจักสำเริงสำราญกับนางสิริมา จึงอนุญาตให้นางอุตตรารับอุโบสถกรรมตลอดครึ่งเดือน.
      นางอุตตรารู้ว่าสามีรับปากยินยอมแล้ว มีหมู่ทาสีแวดล้อมจัดแจงของเคี้ยวของฉันด้วยมือเองแต่เช้าตรู่ทุกๆ วัน เมื่อพระศาสดาทรงทำภัตกิจเสร็จ เสด็จไปวิหารแล้ว ก็อธิษฐานองค์อุโบสถ ขึ้นปราสาทอันประเสริฐ นั่งระลึกถึงศีลของตน. ล่วงเวลาไปครึ่งเดือนด้วยอาการอย่างนี้ ในวันสละอุโบสถ นางจึงเที่ยวจัดแจงข้าวยาคูและของเคี้ยวเป็นต้นแต่เช้าตรู่.
      เวลานั้น บุตรเศรษฐีอยู่บนปราสาทอันประเสริฐกับนางสิริมา เปิดหน้าต่างกรุตาข่าย ยืนดูสิ่งของไปตามลำดับ นางอุตตราแหงนดูไปทางช่องหน้าต่าง. บุตรเศรษฐีมองดูนางอุตตราคิดว่า หญิงผู้นี้คงถือกำเนิดแต่สัตว์นรกหนอ ละสมบัติอย่างนี้แล้วเป็นผู้เปรอะเปื้อนด้วยเขม่าหม้อข้าว วุ่นวายอยู่ระหว่างทาสีทั้งหลายโดยหาควรแก่เหตุไม่ แล้วกระทำการยิ้มแย้ม.
      นางอุตตราทราบความที่บุตรเศรษฐีนั้นประมาท คิดว่า บุตรเศรษฐีนี้ชื่อว่าเป็นคนเขลา คงจักสำคัญว่าสมบัติของตนจะอยู่ถาวรทุกเวลา ดังนี้แล้ว แม้ตนเองก็ทำการยิ้มแย้มบ้าง.
      แต่นั้น นางสิริมาก็โกรธแล้วบริภาษว่า นางทาสีผู้นี้เมื่อเรายืนอยู่ก็ยังทำการยิ้มแย้มกับสามีของเราอย่างนี้ จึงรีบลงจากปราสาท.
      โดยอากัปกิริยาที่มาของนางสิริมานั้นนั่นแหละ นางอุตตราก็ทราบว่า หญิงโง่คนนี้อยู่ในเรือนหลังนี้เพียงครึ่งเดือน ก็เกิดสำคัญว่าเรือนหลังนี้เป็นของเราคนเดียวดังนี้ ทันใดนั้นนั่นเองก็ยืนเข้าฌานมีเมตตาเป็นอารมณ์. ฝ่ายนางสิริมาก็มาในระหว่างทาสีทั้งหลาย จับกระบวยเต็มด้วยน้ำมันที่เดือด ในกระทะทอดขนม ราดลงบนศีรษะนางอุตตรา. ด้วยการแผ่เมตตาฌาน น้ำมันเดือดที่นางสิริมาราดลงบนศีรษะนางอุตตรา ก็ไหลกลับไป เหมือนน้ำที่ราดลงบนใบบัวฉะนั้น.
      ขณะนั้น ทาสีทั้งหลายที่ยืนใกล้นางสิริมา เห็นเหตุนั้นแล้วก็บริภาษนางสิริมานั้นต่อหน้าว่า ไฮ้ แม่มหาจำเริญ เจ้ารับมูลค่าจากมือแม่นายของเรามาอยู่ในเรือนหลังนี้ ยังพยายามจะมาทำเทียมแม่นายของพวกข้าหรือ.
      ขณะนั้น นางสิริมารู้ว่าตัวเป็นอาคันตุกะมาอยู่ชั่วคราว ก็ไปจากที่นั้นแล้วหมอบลงแทบเท้านายอุตตรา กล่าวว่า แม่นาง ดิฉันไม่ทันใคร่ครวญก็ทำกรรมอย่างนี้ โปรดยกโทษให้ดิฉันเสียเถิด.
      นางอุตตรากล่าวว่า แม่สิริมาจ๋า ฉันยกโทษให้แม่ในฐานะนี้ไม่ได้ดอก ฉันเป็นธิดามีบิดา จะยกโทษให้ก็ต่อเมื่อพระทศพลทรงยกโทษให้แม่เท่านั้น.
      แม้พระศาสดามีภิกษุสงฆ์เป็นบริวาร ก็เสด็จมาประทับเหนืออาสนะที่จัดไว้ ณ นิเวศน์ของนางอุตตรา.
      นางสิริมาจึงไปหมอบแทบพระยุคลบาทพระศาสดา กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์กระทำความผิดอย่างหนึ่ง ในระหว่างแม่นางอุตตรา นางกล่าวว่า เมื่อพระองค์ทรงยกโทษประทาน เราก็จักยกโทษให้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์โปรดทรงยกโทษประทานแก่ข้าพระองค์ซึ่งขมาโทษอยู่ด้วยเถิด.
      พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สิริมา เรายกโทษให้เจ้า.
      เวลานั้น นางสิริมานั้นก็ไปขอให้นางอุตตรายกโทษให้ และในวันนั้น นางสิริมาฟังอนุโมทนาภัตทานของพระทศพลว่า
      อกฺโกเธน ชิเน โกธํ อสาธุ ํ สาธุนา ชิเน
      ชิเน กทริยํ ทาเนน สจฺเจนาลิกวาทินํ
      พึงชำนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ
      พึงชำนะคนไม่ดีด้วยความดี
      พึงชำนะคนตระหนี่ด้วยการให้
      พึงชำนะคนพูดเท็จด้วยคำจริง.
      เมื่อจบพระคาถา ก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล นิมนต์พระทศพลถวายมหาทาน ในวันรุ่งขึ้น.
      เรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างนี้.
      ภายหลัง พระศาสดาประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหารเมื่อทรงสถาปนาพวกอุบาสิกาไว้ในตำแหน่งต่างๆ จึงทรงสถาปนานางอุตตรานันทมารดา ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้เข้าฌาน แล.

      ลบ
    2. จากคำถาม :

      ๑. การทำสมาธิจะปกป้องกายไม่ให้ได้รับอันตรายจากแผลไหม้น้ำมันร้อน ๆ ได้อย่างไร อธิบายทางการแพทย์ได้อย่างไร

      > จากทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ ของไอน์สไตน์ เรื่องการสมมูลของมวลและพลังงาน, E=mc^2 : มวลและพลังงานสามารถแปลงกลับกันไปมา และมีบทบาทเทียบเท่ากัน

      นั่นคือถ้าใครสามารถควบคุมพลังงานให้เป็นตามที่ต้องการได้ก็จะสามารถควบคุมมวลสารได้นะครับ เพราะมวลสารกับพลังงานแท้จริงแล้วคือสิ่งเดียวกัน แต่ต่างสถานะกันเท่านั้น

      ทำนองเดียวกับการที่ไขมันและคาร์โบไฮเดรตต่างก็ประกอบด้วยธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจนเหมือนกัน แต่การเรียงตัวของอะตอมที่ต่างกันจึงทำให้กลายเป็นสารประกอบที่ต่างกัน คือ ไขมัน กับคาร์โบไฮเดรต ถ้าใครสามารถกำหนดการเรียงตัวของอะตอมได้ ก็ย่อมจะสามารถเล่นแร่แปรธาตุได้นะครับ และโดยความเป็นจริงแล้วธาตุทุกชนิดก็เกิดจากส่วนพื้นฐานอันเดียวกัน คือโปรตอน นิวตรอน และอิเล็กตรอน เพียงแต่มีจำนวนที่แตกต่างกันไปในแต่ละธาตุ ดังนั้น ถ้าใครสามารถกำหนดจำนวนของส่วนประกอบเหล่านี้ได้ ก็ย่อมสามารถสร้างธาตุใดๆ ขึ้นมาก็ได้ ตามต้องการ

      การทำสมาธิเป็นการควบคุมพลังงานของจิต ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายสภาวะ เช่น กสิณดินก็น้อมจิตไปที่ความแข็ง/อ่อน กสิณไฟก็น้อมจิตไปที่ความร้อน/เย็น เป็นต้น และยังมีความแตกต่างกันในแง่ของความประณีตของพลัง เช่น ปฐมฌาน ทุติยฌาณ ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาณ

      ผู้ที่มีความชำนาญในการทำสมาธิก็จะสามารถกำหนดพลังของจิตได้ตามต้องการครับ แต่ก็ต้องมีการพิสูจน์กันต่อไปว่าพลังงานของจิตนี้จะสามารถเหนี่ยวนำพลังงานที่รู้จักกันทั่วไปในปัจจุบันนี้ได้หรือไม่ ซึ่งถ้าเหนี่ยวนำได้ก็ย่อมจะสามารถเหนี่ยวนำสสารได้เช่นเดียวกัน เพราะสสารและพลังงานคือสิ่งเดียวกันในคนละรูปแบบเท่านั้น (ซึ่งก็จะสามารถทำให้อธิบายถึงที่มาของอภิญญาชนิดต่างๆ ได้นะครับ)

      เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วผมได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการทดลองเรื่องสมาธิ โดยมีการทดลองกับโยคี (จำได้ว่าเป็นโยคีที่อยู่บนเทือกเขาหิมาลัยนะครับ) ในหนังสือนั้นบอกว่าโยคีสามารถควบคุมอุณหภูมิที่ผิวหนังได้ โดยสามารถทำให้ผิวหนังที่แขนกำหนดขอบเขตเป็นวงกลมมีอุณหภูมิสูงต่ำได้ตามต้องการ เช่น ทำให้ร้อนจนผิวแดงขึ้นมาได้เลย แต่ตอนนี้ผมหาข้อมูลนี้ไม่เจอแล้วครับ

      ในกรณีตามเรื่องที่ถามนี้เป็นการเข้าฌานโดยมีเมตตาเป็นอารมณ์ ซึ่งเมตตาเป็นสภาวะที่มีความเย็นเป็นลักษณะครับ

      ๒. สมาธิระดับไหนถึงทำให้ร่างกายคงกระพันได้

      > โดยปกติแล้วอภิญญาจะเกิดได้เมื่อมีความชำนาญในสมาธิขั้นจตุตถฌาน (รูปฌานที่ 4) ตามแนวพระสูตร หรือปัญจมฌาน (รูปฌานที่ 5) ตามแนวพระอภิธรรม (คือสมาธิขั้นที่ประกอบด้วยอุเบกขา+เอกัคคตา) ครับ

      แต่สำหรับผู้ที่เคยได้อภิญญามาแล้วในชาติใกล้ๆ (ไม่เกิน 2-3 ชาติที่ผ่านมา) เมื่อชาตินี้ได้สมาธิในระดับหนึ่ง (ไม่ถึงจตุตถฌาน/ปัญจมฌาน) อภิญญาก็สามารถเกิดขึ้นได้อีกครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ
  2. สอบถามค่ะ ในการนั่งสมาธิ
    1. เวทนาเกิด แต่ไม่เห็นเวทนา จะออกจากสมาธิจึงเห็นเวทนา
    2. การกำหนดในสมาธิ ดูลมหายใจเข้าออก ด้วยความรู้สึกตัว หากหลงไปก็ดึงกลับมาใหม่ จนไม่ได้ไปจับเวทนาเลย
    การปฏิบัติแบบนี้ถูกหรือไม่ แก้อย่างไรคะ

    ตอบลบ
    คำตอบ

    1. สวัสดีครับ

      ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ https://tripitaka-online.blogspot.com

      1. เวทนาเกิด แต่ไม่เห็นเวทนา จะออกจากสมาธิจึงเห็นเวทนา

      >>> ถ้าคำว่า "เวทนา" ในที่นี้หมายถึงทุกขเวทนา เช่น ปวดขา เจ็บจุดที่กดทับ ฯลฯ ซึ่งอยู่ภายนอกจุดสนใจในการทำสมาธิ แต่มีสติรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการทำสมาธิ รับรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่ตลอด ก็เป็นสิ่งที่ดีแล้วครับ แสดงว่าจิตรวม ตั้งมั่น แนบแน่นอยู่กับลมหายใจ เป็นสมาธิดีแล้ว จิตจึงไม่ซัดส่ายไปภายนอก

      แต่ถ้าหมายถึงนั่งสมาธิแล้วความรู้สึกวูบหายไปเลย ไม่รู้สึกตัวเลย เหมือนหลับสนิทไปเลย (แต่ไม่ใช่นั่งหลับนะครับ) อย่างนี้คือขาดสติ เรียกว่าสมาธิหัวตอ คือนั่งเหมือนตอไม้ไร้ความรู้สึก อย่างนี้ต้องเพิ่มสติครับ โดยการเดินจงกรมให้มากๆ เวลานั่งสมาธิก็ตั้งสติให้ดีอย่าให้หลุดไป

      คือความรู้สึกสุข หรือวางเฉย ที่เกิดจากสมาธิ ก็เป็นเวทนาเหมือนกันนะครับ เรียกว่าสุขเวทนา อุเบกขาเวทนา ผมตอบแยกประเด็นเอาไว้เพื่อให้ไม่เข้าใจคลาดเคลื่อนนะครับ

      2. การกำหนดในสมาธิ ดูลมหายใจเข้าออก ด้วยความรู้สึกตัว หากหลงไปก็ดึงกลับมาใหม่ จนไม่ได้ไปจับเวทนาเลย
      การปฏิบัติแบบนี้ถูกหรือไม่ แก้อย่างไรคะ

      >>> คำว่า "จนไม่ได้ไปจับเวทนาเลย" ถ้าหมายถึงไม่ได้ไปรับรู้ความรู้สึกภายนอกจุดสนใจในการทำสมาธิเลย จิตแนบแน่นอยู่กับลมหายใจ มีสติรับรู้ลมหายใจเข้าออก รับรู้ความรู้สึกเป็นสุขหรืออุเบกขาที่เกิดขึ้นจากการทำสมาธิอยู่ แบบนี้ถูกต้องแล้วครับ ไม่ต้องแก้ไขอะไร

      สิ่งที่ควรทำก็คือฝึกให้มีความชำนาญในการทำสมาธิ สังเกตทางไปทางมาของสมาธิให้ดี ว่าทำอย่างไรสมาธิถึงเกิดขึ้น ทำอย่างไรสมาธิถึงตั้งมั่น จิตที่อยู่ในสมาธิมีสภาวะ ลักษณะ อาการ เป็นอย่างไร อะไรเป็นสาเหตุให้สมาธิหลุดไป เพื่อให้สามารถเข้าออกจากสมาธิได้ตามที่ปรารถนานะครับ

      เพื่อให้การปฏิบัติมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น อ่านเรื่อง อานาปานสติสูตร ประกอบนะครับ

      อนุโมทนาด้วยครับ
      ธัมมโชติ

      ลบ