Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

ทุกขเวทนากับทุกข์ในไตรลักษณ์

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้เป็นพระสูตรในพระไตรปิฎกที่แสดงความแตกต่างระหว่างทุกขเวทนากับทุกข์ในไตรลักษณ์ รวมถึงอธิบายเรื่องกฎของไตรลักษณ์หรือสามัญลักษณะอย่างละเอียดนะครับ

พระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค


(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๑๘ หน้า : ๒๘๔ ข้อ : ๒๕๙)

รโหคตสูตร

[๓๙๑] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ความปริวิตกแห่งใจเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ ผู้หลีกเร้นอยู่ในที่ลับอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา (เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข - ธัมมโชติ) พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ๓ อย่างนี้ ก็พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ (หมายความว่าเวทนาแต่ละชนิดล้วนเป็นทุกขลักษณะในไตรลักษณ์ ดูเรื่องวิปัสสนา-หลักการพื้นฐาน หัวข้อทุกข์เกิดจากอะไร ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบนะครับ - ธัมมโชติ) ดังนี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ ทรงหมายเอาอะไรหนอ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถูกแล้ว ถูกแล้ว ภิกษุ ดูกรภิกษุ เรากล่าวเวทนา ๓ นี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา (อุเบกขาเวทนา - ธัมมโชติ) เรากล่าวเวทนา ๓ นี้ ดูกรภิกษุ เรากล่าวคำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ ดูกรภิกษุ ก็คำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ เรากล่าวหมายเอาความที่สังขารทั้งหลาย (สังขารธรรม คือสิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สิ่งที่แปรปรวนไปเพราะเหตุปัจจัย ได้แก่สิ่งทั้งปวงยกเว้นนิพพานนะครับ - ธัมมโชติ) นั่นเองไม่เที่ยง ดูกรภิกษุ ก็คำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ เรากล่าวหมายเอาความที่สังขารทั้งหลายนั่นแหละมีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ฯ

อธิบายเพิ่มเติม

สรุปก็คือทุกขัง หรือทุกขลักษณะ หรือทุกข์ในไตรลักษณ์* หมายถึงลักษณะที่มีความไม่เที่ยง มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป แปรปรวนไปเป็นธรรมดานั่นเองนะครับ ซึ่งสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา ก็ล้วนมีลักษณะเช่นนี้ด้วย คือ เวทนาทุกชนิดล้วนเป็นทุกข์ (ทุกขลักษณะ) ดูผังแสดงกฎไตรลักษณ์ (สามัญลักษณะ) ด้านล่างประกอบนะครับ

กฎไตรลักษณ์ หรือสามัญลักษณะ*

คือลักษณะ 3 อย่างที่เป็นธรรมชาติที่แท้จริงสรรพสิ่งนะครับ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือสังขารธรรมทั้งหลายล้วนไม่เที่ยง-อนิจจัง เป็นทุกข์-ทุกขัง ธรรมทั้งปวงล้วนเป็นอนัตตาคือเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา

คือทุกสิ่งในจักรวาลนั้นรวมเรียกว่าธรรมทั้งปวง คือทุกสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาตินั่งเองครับ ธรรมทั้งปวงแยกได้เป็น 2 ส่วนนะครับ คือสังขารธรรมและวิสังขารธรรมคือนิพพาน
  • สังขารธรรมคือสิ่งที่ถูกปัจจัยต่างๆ ปรุงแต่งได้ (สังขารแปลว่าปรุงแต่งนะครับ) คือมีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยทั้งหลายที่มากระทำนะครับ เช่น ไข่ไก่เมื่อนำไปต้มก็กลายเป็นไข่ต้ม เมื่อทิ้งไว้นานๆ ก็กลายเป็นไข่เน่า และในที่สุดก็ย่อยสลายกลายเป็นดิน หรือทารกเมื่อเวลาผ่านไปก็กลายเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น เป็นผู้ใหญ่ เป็นคนแก่ เป็นคนตาย แล้วก็ย่อยสลายกลายเป็นดิน เป็นต้น

    สรุปสังขารธรรมก็คือสิ่งทั้งหลายในธรรมชาติ (ยกเว้นนิพพาน) ที่คนทั่วไปรู้จักคุ้นเคยกันดีนั่นเองครับ เมื่อเป็นสิ่งที่ถูกปัจจัยต่างๆ ปรุงแต่งได้จึงมีความไม่เที่ยง (อนิจจัง) แปรปรวนไปเป็นธรรมดา (ทุกขัง) เป็นเรื่องปรกตินะครับ

  • วิสังขารธรรมคือสิ่งที่ปัจจัยทั้งหลายปรุงแต่งไม่ได้ คือพระนิพพานซึ่งเป็นสภาวะที่ปราศจากรูปนามทั้งปวงนั่นเองครับ

ซึ่งทั้งสังขารธรรมและวิสังขารธรรมก็ล้วนเป็นอนัตตาคือไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นเพียงผลของเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเหมือนกันนะครับ ไม่มีใครไปบังคับให้นิพพานเป็นไปอย่างที่ใครต้องการได้ รวมทั้งนิพพานเองก็ไม่สามารถบังคับให้นิพพานเป็นไปตามที่ต้องการได้เช่นกัน ธรรมชาติของพระนิพพานเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นนะครับ ไม่ได้เป็นไปตามความต้องการหรือการบังคับบัญชาของใคร

มนุษย์ทั้งหลายที่คิดว่าบังคับบัญชาตนเองได้นั้นแท้จริงแล้วเป็นเพียงการสร้างเหตุปัจจัยส่วนหนึ่งเท่านั้นนะครับ เช่นการยกแขนก็คือการสร้างเหตุปัจจัยโดยจิตสั่งการให้กล้ามเนื้อบางจุดหดตัวบางจุดคลายตัวแขนจึงถูกยกขึ้นมาได้ แต่เหตุปัจจัยที่สร้างนั้นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระแสเหตุปัจจัยที่กระทำกับแขนอยู่นะครับ ปัจจัยอื่นก็เช่น น้ำหนักของแขน พลังงานที่มีอยู่ที่จะใช้ยกแขนได้ ขนาดของกล้ามเนื้อแขน ระบบประสาทที่ส่งสัญญาณประสาทไปที่แขน ฯลฯ ซึ่งปัจจัยเหล่านั้นก็มีทั้งส่วนที่เป็นประโยชน์ในการยกแขน และส่วนที่เป็นตัวต้านการยกแขน การที่ยกแขนได้สำเร็จก็เพราะเหตุปัจจัยที่เป็นประโยชน์มีกำลังมากกว่านั่นเองครับ แต่ถ้าเมื่อใดที่เหตุปัจจัยที่เป็นตัวต้านมีกำลังมากกว่า เช่น ระบบประสาทมีปัญหาเป็นอัมพาต หรือน้ำหนักแขนมีมากกว่าแรงที่มี การยกแขนนั้นก็ทำไม่ได้นะครับ นอกจากจะมีการสร้างเหตุปัจจัยอื่นที่มีกำลังมากกว่ามาช่วย เช่น ให้ใครช่วยยก เป็นต้น

จึงกล่าวได้ว่าทุกสิ่งล้วนเป็นเพียงผลของเหตุปัจจัย ไม่มีอำนาจเฉพาะตนนะครับ ที่กล่าวว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา นั้นมีรากฐานมาจากเรื่องการปฏิเสธความมีอยู่ของอัตตา (ตัวตน) นะครับ คือถ้าจะกล่าวว่าสิ่งใดเป็นอัตตาแล้ว สิ่งนั้นก็ควรจะต้องบังคับบัญชาตนเองให้เป็นไปตามที่ใจปรารถนาได้ สิ่งที่ไม่เที่ยง มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครรวมทั้งตนเองด้วย เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่มากระทำไม่ได้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการให้เป็น สิ่งนั้นควรหรือที่จะเรียกว่าเป็นอัตตา (สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา) ถ้าสภาวะแห่งอัตตามีอยู่จริงแล้วก็คงจะไม่มีใครเลยที่เป็นทุกข์ แก่ เจ็บ ตาย เพราะทุกคนก็ย่อมจะบังคับให้ตนเองมีความสุขอยู่ตลอดเวลานะครับ แต่ที่โลกเป็นเช่นที่เห็นอยู่นี้ก็เพราะไม่มีใครบังคับบัญชาสิ่งใดได้นั่นเองครับ ทำได้แค่เพียงสร้างเหตุปัจจัยเล็กน้อยเพื่อต้านกระแสแห่งเหตุปัจจัยอันมากมายที่กระทำอยู่เท่านั้น

ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา คือไม่ใช่อัตตานั่นเองครับ


ผังแสดงกฎไตรลักษณ์ (สามัญลักษณะ)


ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ

1 ความคิดเห็น :