Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

คุณและโทษของกาม

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้เป็นการรวมพระสูตรในพระไตรปิฎกที่แสดงเรื่องคุณและโทษของกามนะครับ

เนื้อหาประกอบด้วย



พระสูตรที่แสดงคุณของกาม


พระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์


(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๙๑ ข้อ : ๔๖๘)

สุภสูตร

[๗๒๓] ดูกรมาณพ กามคุณ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด เสียงอันจะพึงรู้แจ้งด้วยหู ... กลิ่นอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก ... รสอันจะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น ... โผฏฐัพพะอันจะพึงรู้แจ้งด้วยกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด กามคุณ ๕ ประการนี้แล

(คำว่ากามในทางธรรมนั้นไม่ได้มีความหมายแคบเฉพาะเรื่องทางเพศนะครับ แต่จะหมายถึงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย ที่รับรู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย รวมถึงความรู้สึกนึกคิดที่เกี่ยวกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกายนั้นด้วยครับ กามคุณหรือคุณของกามก็คือความสุขที่เกิดจากกามนั้น หรือบางที่ใช้คำว่าสุขโสมนัสใดอันเกิดจากกามได้ชื่อว่ากามคุณ พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนว่ากามมีแต่โทษอย่างเดียวนะครับ แต่ให้ชั่งน้ำหนักระหว่างคุณกับโทษของกามนั้นว่าคุ้มกันหรือไม่)

พระสูตรที่แสดงโทษของกาม


พระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์


(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๓ ข้อ : ๔๒)

โปตลิยสูตร


อุปมากาม ๗ ข้อ

[๔๗] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนสุนัข อันความเพลียเพราะความหิวเบียดเบียนแล้ว พึงเข้าไปยืนอยู่ใกล้เขียงของนายโคฆาต นายโคฆาต หรือลูกมือของนายโคฆาตผู้ฉลาด พึงโยนร่างกระดูกที่เชือดชำแหละออกจนหมดเนื้อแล้ว เปื้อนแต่เลือดไปยังสุนัข ฉันใด ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สุนัขนั้นแทะร่างกระดูกที่เชือดชำแหละออกจดหมดเนื้อ เปื้อนแต่เลือด จะพึงบำบัดความเพลียเพราะความหิวได้บ้างหรือ?

ไม่ได้เลยพระองค์ผู้เจริญ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเป็นร่างกระดูกที่เชือดชำแหละออกจนหมดเนื้อ เปื้อนแต่เลือด และสุนัขนั้นพึงมีแต่ส่วนแห่งความเหน็ดเหนื่อยคับแค้นเท่านั้น.

ดูกรคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยร่างกระดูก มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง (เหมือนกระดูกที่แทะกินเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักอิ่ม - ธัมมโชติ) ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาดซึ่งอุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขาที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัยความเป็นอารมณ์เดียว (อุเบกขาจากสมาธิ อุเบกขาที่จิตไม่ซัดส่ายไปตามกามคุณอารมณ์ต่างๆ - ธัมมโชติ) อันเป็นที่ดับความถือมั่นโลกามิสโดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือมิได้.

[๔๘] ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนแร้งก็ดี นกตะกรุมก็ดี เหยี่ยวก็ดี พาชิ้นเนื้อบินไป แร้งทั้งหลาย นกตะกรุมทั้งหลาย หรือ เหยี่ยวทั้งหลาย จะพึงโผเข้ารุมจิกแย่งชิ้นเนื้อนั้น ฉันใด ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าแร้ง นกตะกรุม หรือเหยี่ยวตัวนั้น ไม่รีบปล่อยชิ้นเนื้อนั้นเสีย มันจะถึงตายหรือทุกข์ปางตายเพราะชิ้นเนื้อนั้นเป็นเหตุ?

อย่างนั้น พระองค์ผู้เจริญ.

ดูกรคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยชิ้นเนื้อ มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง (เหมือนชิ้นเนื้อที่เป็นเหตุแห่งการแย่งชิง การทำร้าย การต้องคอยระวังรักษา ความห่วงกังวล - ธัมมโชติ) ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาดซึ่งอุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขาที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัยความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับความถือมั่นโลกามิสโดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือมิได้.

[๔๙] ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนบุรุษพึงถือคบเพลิงหญ้าอันไฟติดทั่ว แล้วเดินทวนลมไป ฉันใด ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าบุรุษนั้นไม่รีบปล่อยคบเพลิงหญ้าอันไฟติดทั่วนั้นเสีย คบเพลิงหญ้าอันไฟติดทั่วนั้น พึงไหม้มือ ไหม้แขน หรืออวัยวะน้อยใหญ่ แห่งใดแห่งหนึ่งของบุรุษนั้น บุรุษนั้นจะถึงตาย หรือถึงทุกข์ปางตาย เพราะคบเพลิงนั้นเป็นเหตุ?

อย่างนั้น พระองค์ผู้เจริญ.

ดูกรคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยคบเพลิงหญ้า มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง (ถ้ายึดมั่นถือมั่น ครอบครองเอาไว้ ก็จะทำให้เป็นทุกข์ เร่าร้อนใจ - ธัมมโชติ) ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาดซึ่งอุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขาที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัยความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับความถือมั่นโลกามิสโดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือมิได้.

[๕๐] ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ลึกกว่าชั่วบุรุษหนึ่ง เต็มด้วยถ่านเพลิงอันปราศจากเปลว ปราศจากควัน บุรุษผู้รักชีวิต ไม่อยากตาย รักสุขเกลียดทุกข์ พึงมา บุรุษมีกำลังสองคนช่วยกันจับแขนบุรุษนั้นข้างละคน ฉุดเข้าไปยังหลุมถ่านเพลิง ฉันใด ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะพึงน้อมกายเข้าไป ด้วยคิดเห็นว่าอย่างนี้ๆ บ้างหรือ?

ไม่เป็นเช่นนั้น พระองค์ผู้เจริญ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุรุษนั้นรู้ว่า เราจักตกลงยังหลุมถ่านเพลิงนี้ จักถึงตาย หรือถึงทุกข์ปางตาย เพราะการตกลงยังหลุมถ่านเพลิงเป็นเหตุ.

ดูกรคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง (มีความทุกข์ความเร่าร้อนมาก ใครหลงเข้าไปแล้วก็ยากที่จะหลุดออกมาได้ - ธัมมโชติ) ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาดซึ่งอุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขาที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัยความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับความถือมั่นโลกามิสโดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือมิได้.

[๕๑] ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนบุรุษพึงฝันเห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าอันน่ารื่นรมย์ ภาคพื้นอันน่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ บุรุษนั้นตื่นขึ้นแล้ว ไม่พึงเห็นอะไร ฉันใด ดูกรคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยความฝัน มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง (เป็นดังภาพมายา หาสาระแก่นสารมิได้ - ธัมมโชติ) ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาดซึ่งอุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขาที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัยความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับความถือมั่นโลกามิสโดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือมิได้.

[๕๒] ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนบุรุษพึงยืมโภคสมบัติ คือ แก้วมณี และกุณฑลอย่างดีบรรทุกยานไป เขาแวดล้อมด้วยทรัพย์สมบัติที่ตนยืมมา พึงเดินไปภายในตลาด คนเห็นเขาเข้าแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้เจริญ บุรุษผู้นี้มีโภคสมบัติหนอ ได้ยินว่าชนทั้งหลายผู้มีโภคสมบัติ ย่อมใช้สอยโภคสมบัติอย่างนี้ ดังนี้ พวกเจ้าของพึงพบบุรุษนั้น ณ ที่ใดๆ พึงนำเอาของของตนคืนไปในที่นั้นๆ ฉันใด ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จะสมควรหรือหนอ เพื่อความที่บุรุษนั้นจะเป็นอย่างอื่นไป? (กามทั้งหลายเหมือนของที่ขอยืมมาจะต้องคืนเจ้าของไปในที่สุด คือในที่สุดแล้วไม่ว่าใครก็จะต้องพลัดพรากจากทุกสิ่งไปทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ร่างกายของตนเองนะครับ ดังนั้นสมควรหรือที่เมื่อใครสูญเสียสิ่งใดไปแล้วจะมีร่างกายหรือจิตใจแปรปรวนไป เช่น เศร้าโศกเสียใจที่สูญเสียสิ่งของเหล่านั้นไป ในเมื่อของทุกอย่างก็เหมือนของที่ธรรมชาติให้ยืมมาใช้ชั่วคราวตั้งแต่ต้นนะครับ - ธัมมโชติ)

ไม่เป็นเช่นนั้น พระองค์ผู้เจริญ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเจ้าของย่อมจะนำเอาของของตนคืนไปได้.

ดูกรคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยของยืม มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง (มีความพลัดพราก สูญเสียเป็นธรรมดา - ธัมมโชติ) ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาดซึ่งอุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขาที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัยความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับความถือมั่นโลกามิสโดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือมิได้.

[๕๓] ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนราวป่าใหญ่ในที่ไม่ไกลบ้านหรือนิคม ต้นไม้ในราวป่านั้น พึงมีผลรสอร่อย ทั้งมีผลดก แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว บุรุษผู้ต้องการผลไม้ พึงเที่ยวมาเสาะแสวงหาผลไม้ เขาแวะยังราวป่านั้น เห็นต้นไม้อันมีผลรสอร่อย มีผลดกนั้น เขาพึงคิดอย่างนี้ว่า ต้นไม้นี้มีผลรสอร่อย มีผลดก แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว แต่เรารู้เพื่อขึ้นต้นไม้ ไฉนหนอ เราพึงขึ้นต้นไม้นี้แล้วกินพออิ่ม และห่อพกไปบ้าง เขาขึ้นต้นไม้นั้นแล้วกินจนอิ่ม และห่อพกไว้

ลำดับนั้น บุรุษคนที่สองต้องการผลไม้ ถือขวานอันคม เที่ยวมาเสาะแสวงหาผลไม้ เขาแวะยังราวป่านั้น แล้วเห็นต้นไม้มีผลรสอร่อย มีผลดกนั้น เขาพึงคิดอย่างนี้ว่า ต้นไม้นี้มีผลรสอร่อย มีผลดก แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว และเราก็ไม่รู้เพื่อขึ้นต้นไม้ ไฉนหนอ เราพึงตัดต้นไม้นี้แต่โคนต้น แล้วกินพออิ่ม และห่อพกไปบ้าง เขาพึงตัดต้นไม้นั้นแต่โคนต้น ฉันใด

ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษคนโน้นซึ่งขึ้นต้นไม้ก่อนนั้น ถ้าแลเขาไม่รีบลง ต้นไม้นั้นจะพึงล้มลง หักมือ หักเท้า หรือหักอวัยวะน้อยใหญ่แห่งใดแห่งหนึ่งของบุรุษนั้น บุรุษนั้นพึงถึงตาย หรือถึงทุกข์ปางตาย เพราะต้นไม้นั้นล้มเป็นเหตุ?

เป็นอย่างนั้น พระองค์ผู้เจริญ.

ดูกรคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยผลไม้ มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง (เป็นที่หมายปองของคนจำนวนมาก - ธัมมโชติ) ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาดซึ่งอุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขาที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัยความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับความถือมั่นโลกามิสโดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือมิได้.


ผลต่อเนื่องจากตัณหา

พระไตรปิฎก พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๒ วิภังคปกรณ์ ขุททกวัตถุวิภังค์


(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๓๕ หน้า : ๖๑๗ ข้อ : ๙๖๓)

นวกนิเทศ

[๑๐๒๓] ตัณหามูลกธรรม ๙ เป็นไฉน

ตัณหามูลกธรรม ๙ คือ
๑. เพราะอาศัยตัณหา จึงเกิดการแสวงหา (ตัณหา = ความทะยานอยากนะครับ - ธัมมโชติ)
๒. เพราะอาศัยการแสวงหา จึงเกิดการได้
๓. เพราะอาศัยการได้ จึงเกิดการวินิจฉัย
๔. เพราะอาศัยการวินิจฉัย จึงเกิดฉันทราคะ (ความยินดีพอใจ - ธัมมโชติ)
๕. เพราะอาศัยฉันทราคะ จึงเกิดความยึดถือ
๖. เพราะอาศัยความยึดถือ จึงเกิดการหวงแหน
๗. เพราะอาศัยการหวงแหน จึงเกิดความตระหนี่
๘. เพราะอาศัยความตระหนี่ จึงเกิดการรักษา
๙. เพราะอาศัยการรักษา จึงเกิดบาปอกุศลธรรมหลายประการ คือการจับท่อนไม้ การจับศาสตรา การทะเลาะ การเกี่ยงแย้ง การวิวาท การพูดขึ้นมึงกู การพูดส่อเสียด การพูดเท็จ

เหล่านี้เรียกว่า ตัณหามูลกธรรม ๙


ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น