Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๐๒-๗ หน้า ๓๖๙ - ๔๒๙

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๒-๗ วินัยปิฎกที่ ๐๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒



พระวินัยปิฎก
มหาวิภังค์ ภาค ๒
___________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๑.อาวสถปิณฑสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๐๘] ๑. ภิกษุเป็นไข้
๒. ภิกษุไม่เป็นไข้ฉันมื้อเดียว
๓. ภิกษุเดินทางไปหรือมาแล้วแวะฉัน
๔. ภิกษุที่เจ้าของทานนิมนต์ให้ฉัน
๕. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาจัดไว้จำเพาะ
๖. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาไม่ได้จัดไว้อย่างเพียงพอ
๗. ภิกษุฉันภัตตาหารทุกชนิดยกเว้นโภชนะ ๕
๘. ภิกษุวิกลจริต
๙. ภิกษุต้นบัญญัติ
อาวสถปิณฑสิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๖๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๒.คณโภชนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๔. โภชนวรรค
๒. คณโภชนสิกขาบท
ว่าด้วยการฉันคณโภชนะ
เรื่องพระเทวทัต
[๒๐๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่
ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระเทวทัตพร้อมกับบริษัทเสื่อมลาภ
สักการะ จึงพากันออกปากขอภัตตาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉัน
พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะเชื้อ
สายศากยบุตรจึงเที่ยวออกปากขอภัตตาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉันเล่า ภัตตาหาร
ที่ดีใครจะไม่พอใจ ภัตตาหารอร่อยใครจะไม่ชอบเล่า”
พวกภิกษุได้ยินพวกชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระเทวทัตพร้อมกับ
บริษัทจึงเที่ยวออกปากขอภัตตาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉันเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้น
ตำหนิพระเทวทัตโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพระเทวทัตว่า “เทวทัต ทราบว่า เธอพร้อมกับบริษัทเที่ยวออกปากขอ
ภัตตาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉัน จริงหรือ” พระเทวทัตทูลรับว่า “จริง พระพุทธ
เจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ ไฉนเธอพร้อมกับบริษัท
จึงเที่ยวออกปากขอภัตตาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉันเล่า โมฆบุรุษ การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๗๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๒.คณโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
พระบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะ๑
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระเทวทัต จบ
เรื่องภิกษุเป็นไข้
[๒๑๐] สมัยนั้น พวกชาวบ้านนิมนต์พวกภิกษุเป็นไข้ฉันภัตตาหาร ภิกษุ
เหล่านั้นมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันคณโภชนะ” จึงไม่รับ
นิมนต์ ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่เป็นไข้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเป็นไข้ฉันคณโภชนะได้”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
ภิกษุ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อนั้น
คือ สมัยที่เป็นไข้ นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุเป็นไข้ จบ

เชิงอรรถ :
๑ การฉันคณโภชนะ มีได้ ๒ กรณี (๑) ทายกนิมนต์ไปฉัน (๒) ภิกษุออกปากขอภัตตาหารมาฉัน (วิ.ป.๘/
๓๒๒/๒๖๑) คือทายกนิมนต์ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปพร้อมกันไปฉันโดยออกชื่ออาหาร ภิกษุไปพร้อมกัน
รับประเคนพร้อมกัน ฉันพร้อมกัน แต่ถือการรับประเคนพร้อมกันเป็นประมาณ ถ้ารับประเคนแยกกัน
ไม่ต้องอาบัติ นี้จัดเป็นคณโภชนะโดยทายกนิมนต์ และอีกกรณีหนึ่ง ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ยืนหรือนั่ง
อยู่ด้วยกันเห็นอุบาสกแล้วออกปากขอว่า ท่านจงถวายภัตตาหารแก่อาตมาทั้ง ๔ รูป หรือเห็นต่างคราว
กัน แล้วต่างออกปากขอร่วมกัน หรือต่างคราวกันว่า ท่านจงถวายภัตตาหารแก่อาตมา ท่านจงถวาย
ภัตตาหารแก่อาตมา แล้วจะไปพร้อมกัน หรือไปแยกกัน จะรับประเคนภัตตาหารแล้วฉันพร้อมกัน หรือ
แยกกันฉันก็ตาม ต้องอาบัติเพราะถือการรับประเคนพร้อมกันเป็นประมาณ นี้จัดเป็นคณโภชนะโดยการ
ออกปากขอ (วิ.อ.๒/๒๑๗-๘/๓๔๖-๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๗๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๒.คณโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
ทรงอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่ถวายจีวร
[๒๑๑] สมัยนั้น พวกชาวบ้านตระเตรียมภัตตาหารพร้อมจีวรในสมัยที่จะ
ถวายจีวร แล้วนิมนต์ภิกษุทั้งหลายด้วยตั้งใจว่า “พวกเรานิมนต์ภิกษุทั้งหลายฉัน
แล้วจะให้ครองจีวร”
ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันคณโภชนะ”
ไม่รับนิมนต์ จึงได้จีวรเพียงเล็กน้อย ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่ถวาย
จีวร” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อนั้น คือ
สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่ทำจีวร
[๒๑๒] สมัยนั้น พวกชาวบ้านนิมนต์พวกภิกษุผู้ทำจีวรฉันภัตตาหาร ภิกษุ
ทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันคณโภชนะ” จึงไม่
รับนิมนต์ ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่ทำ
จีวร” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๗๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๒.คณโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
พระอนุบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อนั้น
คือ สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร สมัยที่ทำจีวร นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
ทรงอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่เดินทางไกล
[๒๑๓] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเดินทางไกลไปกับพวกชาวบ้าน ครั้งนั้น
ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวกับพวกชาวบ้านเหล่านั้นดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่าน
โปรดรอสักครู่ พวกอาตมาจะไปบิณฑบาต”
พวกชาวบ้านได้กล่าวกับภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย นิมนต์
พวกท่านฉันที่นี่แหละ”
ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันคณโภชนะ”
จึงไม่รับแล้วได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่เดินทาง
ไกล” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อนั้น
คือ สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร สมัยที่ทำจีวร สมัยที่เดินทางไกล นี้เป็น
สมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๗๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๒.คณโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่โดยสารเรือ
[๒๑๔] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายโดยสารเรือไปกับพวกชาวบ้านครั้งนั้นภิกษุ
เหล่านั้นได้กล่าวกับพวกชาวบ้านเหล่านั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่านโปรด
นำเรือเข้าเทียบที่ฝั่งสักครู่ พวกอาตมาจะไปบิณฑบาต”
พวกชาวบ้านเหล่านั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย นิมนต์พวก
ท่านฉันที่นี่แหละ”
ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันคณ โภชนะ”
จึงไม่รับ แล้วได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่โดยสาร
เรือ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อนั้น
คือ สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร สมัยที่ทำจีวร สมัยที่เดินทางไกล สมัยที่โดย
สารเรือ นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในมหาสมัย
[๒๑๕] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายในถิ่นต่าง ๆ ออกพรรษาแล้ว ได้เดินทางมา
เฝ้าพระผู้มีพระภาคที่กรุงราชคฤห์ พวกชาวบ้านเห็นภิกษุทั้งหลายผู้มาจากต่างถิ่น
จึงนิมนต์ฉันภัตตาหาร
ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันคณโภชนะ”
จึงไม่รับนิมนต์ แล้วได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๗๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๒.คณโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในมหาสมัย”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อนั้น คือ
สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร สมัยที่ทำจีวร สมัยที่เดินทางไกล สมัยที่โดย
สารเรือ มหาสมัย นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
ทรงอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่เป็นภัตตาหารของสมณะ
[๒๑๖] สมัยนั้น พระญาติร่วมสายโลหิตของพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธ
รัฐทรงผนวชในสำนักของอาชีวกทั้งหลาย ครั้งนั้น อาชีวกนั้นได้เข้าไปเฝ้าพระเจ้า
พิมพิสารถึงพระราชสำนัก ครั้นถึงแล้วได้ถวายพระพรพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธ
รัฐดังนี้ว่า “มหาบพิตร อาตมาปรารถนาจะจัดภัตตาหารถวายนักบวชผู้เป็นเจ้าลัทธิ
ทั้งหมด”
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธตรัสว่า “พระคุณเจ้า ถ้าท่านนิมนต์ภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าเป็นประมุขให้มาฉันก่อน โยมจึงจะจัดถวาย”
ครั้งนั้น อาชีวกนั้นส่งทูตไปหาภิกษุทั้งหลายให้อาราธนาว่า “ขอนิมนต์ภิกษุ
ทั้งหลายรับภัตตาหารของข้าพเจ้าเพื่อฉันในวันพรุ่งนี้”
ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันคณโภชนะ”
จึงไม่รับนิมนต์
ครั้งนั้น อาชีวกนั้นจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้
สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บรรเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วได้
ยืนอยู่ ณ ที่สมควร อาชีวกผู้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรนั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๗๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๒.คณโภชนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ดังนี้ว่า “ท่านพระโคดมก็เป็นบรรพชิต ข้าพเจ้าก็เป็นบรรพชิต บรรพชิตควรจะรับ
ภัตตาหารของบรรพชิต ขอท่านพระโคดมพร้อมกับภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของ
ข้าพเจ้าเพื่อฉันในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ครั้นอาชีวกทราบว่าพระผู้มี
พระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงถวายอภิวาทแล้วจากไป
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่เป็น
ภัตตาหารของสมณะ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๒๑๗] ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะนอกสมัย สมัยใน
ข้อนั้น คือ สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร สมัยที่ทำจีวร สมัยที่เดินทางไกล
สมัยที่โดยสารเรือ มหาสมัย สมัยที่เป็นภัตตาหารของสมณะ นี้เป็นสมัยใน
ข้อนั้น
สิกขาบทวิภังค์
[๒๑๘] ที่ชื่อว่า ฉันคณโภชนะ คือ ภิกษุ ๔ รูปที่เขานิมนต์ด้วยโภชนะ ๕
อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วไปฉัน นี้ชื่อว่าฉันคณโภชนะ๑
คำว่า นอกสมัย คือ ยกเว้นสมัย
ที่ชื่อว่า สมัยที่เป็นไข้ คือ ที่สุดแม้กระทั่งเท้าแตก ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่
เป็นไข้ พึงฉันได้
ที่ชื่อว่า สมัยที่ถวายจีวร คือ เมื่อยังไม่ได้กรานกฐิน กำหนดเอาเดือนสุดท้าย
แห่งฤดูฝน เมื่อกรานกฐินแล้วมีกำหนดเวลา ๕ เดือน ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่ถวาย
จีวร พึงฉันได้

เชิงอรรถ :
๑ คณโภชนํ ฉันคณโภชนะ คือ คณสฺส โภชเน ฉันโภชนะ(อาหาร)ของคณะ (วิ.อ. ๒/๒๑๗-๒๑๘/๓๔๖),
คเณน ลทฺธตฺตา คณสฺส สนฺตเก โภชเน ฉันโภชนะที่เป็นของคณะซึ่งคณะได้มา (กงฺขา.ฏีกา ๔๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๗๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๒.คณโภชนสิกขาบท บทภาชนีย์
ที่ชื่อว่า สมัยที่ทำจีวร คือ เมื่อภิกษุกำลังทำจีวร ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่ทำ
จีวร พึงฉันได้
ที่ชื่อว่า สมัยที่เดินทางไกล คือ ภิกษุคิดว่า เราจะเดินทางครึ่งโยชน์ พึงฉัน
ได้ เมื่อภิกษุนั้นไป พึงฉันได้ กลับมาถึงแล้ว พึงฉันได้
ที่ชื่อว่า สมัยที่โดยสารเรือ คือ ภิกษุคิดว่า เราจะโดยสารเรือ พึงฉันได้
เมื่อภิกษุนั้นโดยสารไป พึงฉันได้ ขากลับ พึงฉันได้
ที่ชื่อว่า มหาสมัย คือ คราวมีภิกษุ ๒-๓ รูปเที่ยวบิณฑบาตพอเลี้ยงกัน เมื่อ
มีภิกษุรูปที่ ๔ มารวมด้วย ไม่พอเลี้ยงกัน ภิกษุคิดว่า เป็นมหาสมัย พึงฉันได้
ที่ชื่อว่า สมัยที่เป็นภัตตาหารของสมณะ คือ ในคราวมีปริพาชกจัดภัตตาหาร
ถวาย ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่เป็นภัตตาหารของสมณะ พึงฉันได้
ภิกษุรับด้วยคิดว่า “จะฉัน” นอกสมัย ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ทุก ๆ คำกลืน
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๑๙] คณโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าคณโภชนะ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
คณโภชนะ ภิกษุไม่แน่ใจ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คณโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่คณโภชนะ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกทุกกฏ
ไม่ใช่คณโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าคณโภชนะ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่คณโภชนะ ภิกษุไม่แน่ใจ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่คณโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่คณโภชนะ ฉันนอกสมัย ไม่ต้อง
อาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๗๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๒.คณโภชนสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๒๐] ๑. ภิกษุฉันในสมัย
๒. ภิกษุ ๒-๓ รูปฉันร่วมกัน
๓. ภิกษุหลายรูปเที่ยวบิณฑบาตแล้วประชุมฉันร่วมกัน
๔. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายเป็นนิตย์
๕. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายตามสลาก
๖. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายในปักษ์
๗. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายในวันอุโบสถ
๘. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายในวันปาฏิบท๑
๙. ภิกษุฉันภัตตาหารทุกชนิด ยกเว้นโภชนะ ๕
๑๐. ภิกษุวิกลจริต
๑๑. ภิกษุต้นบัญญัติ
คณโภชนสิกขาบทที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ วันปาฏิบท คือวันแรม ๑ ค่ำ ทายกคิดว่าวันอุโบสถมีผู้ศรัทธาเลื่อมใสถวายภัตตาหารกันมาก ส่วนวันแรม
๑ ค่ำ ภิกษุทั้งหลายลำบากเรื่องภัตตาหาร ทานที่ถวายในวันปาฏิบท เป็นการถวายภิกษาหารที่หาได้ยาก
อีกประการหนึ่ง ภิกษุสงฆ์ลงปาติโมกข์แล้ววันรุ่งขึ้นจึงมีศีลบริสุทธิ์ การถวายทานแก่ท่านย่อมมีผลานิสงส์
มาก การถวายทานในวันปาฏิบท คือถวายถัดจากวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ไปหนึ่งวัน (วิ.อ.๓/๓๗๗-๓๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๗๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๓.ปรัมปรโภชนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๔. โภชนวรรค
๓. ปรัมปรโภชนสิกขาบท
ว่าด้วยการฉันปรัมปรโภชนะ
เรื่องชายกรรมกรผู้ยากจน
[๒๒๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่า
มหาวัน เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้น พวกชาวบ้านจัดลำดับวาระถวายภัตตาหารอย่าง
ประณีตไว้ใน กรุงเวสาลี ครั้งนั้น ชายกรรมกรยากจนคนหนึ่งได้มีความคิดดังนี้ว่า
ทานนี้ไม่ใช่เป็นของต่ำต้อย๑ เพราะพวกชาวบ้านเหล่านี้ได้ช่วยกันจัดภัตตาหารโดย
เคารพ เอาเถิด แม้ตัวเราก็พึงจัดภัตตาหารบ้าง
ครั้งนั้น ชายกรรมกรผู้ยากจนคนนั้นได้เข้าไปหานายจ้างชื่อกิรปติกะถึงที่อยู่
ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับนายกิรปติกะดังนี้ว่า “นายท่าน กระผมต้องการจัดภัตตาหาร
ถวายภิกษุสงฆ์ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ท่านกรุณาให้ค่าจ้างแก่กระผมด้วย”
นายกิรปติกะมีศรัทธาเลื่อมใสอยู่แล้วจึงได้ให้ค่าจ้างแก่เขามากกว่าปกติ
ครั้งนั้น ชายกรรมกรผู้ยากจนคนนั้นได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ชายกรรมกรผู้
ยากจนคนนั้นผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้วได้กราบอาราธนาพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอ
พระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้าเพื่อฉันใน
วันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาสก ภิกษุสงฆ์มีจำนวนมาก ท่านจงทราบ”
ชายกรรมกรผู้ยากจนกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ ถึงภิกษุสงฆ์มีจำนวนมาก
ก็ไม่เป็นไร ข้าพระพุทธเจ้าจัดเตรียมผลพุทราไว้มากมาย น้ำพุทรามีเพียงพอ”

เชิงอรรถ :
๑ อีกนัยหนึ่ง ศาสนานี้หรือการถวายทานพระสงฆ์ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขนี้ มิใช่เรื่องต่ำต้อย คือมิใช่
เรื่องเล็กน้อยเลวทราม (วิ.อ. ๒/๒๒๑/๓๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๗๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๓.ปรัมปรโภชนสิกขาบท นิทานวัตถุ
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้นชายกรรมกรผู้ยากจนทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้วจึงลุกขึ้น
จากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วจากไป
ภิกษุทั้งหลายได้ทราบข่าวว่า ชายกรรมกรผู้ยากจนนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระ
พุทธเจ้าเป็นประมุขเพื่อฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ น้ำพุทรามีเพียงพอ ภิกษุเหล่านั้น
ได้เที่ยวบิณฑบาตแล้วฉันแต่เช้าตรู่ทีเดียว
พวกชาวบ้านได้ทราบข่าวว่า ชายกรรมกรผู้ยากจนนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระ
พุทธเจ้าเป็นประมุข พวกชาวบ้านเหล่านั้นจึงได้นำขาทนียโภชนียาหารจำนวนมาก
ไปให้ชายกรรมกรผู้ยากจน
ครั้งนั้นแล ตลอดราตรีนั้น ชายกรรมกรผู้ยากจนได้จัดเตรียมขาทนีย
โภชนียาหารอย่างประณีต ให้คนไปกราบทูลภัตตกาลว่า “ได้เวลาแล้ว พระพุทธ
เจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเสด็จไป
ถึงที่อยู่ของชายกรรมกรผู้ยากจน ครั้นถึงแล้วได้ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย
พร้อมภิกษุสงฆ์ ทีนั้น ชายกรรมกรผู้ยากจนถวายภัตตาหารภิกษุทั้งหลายที่หอฉัน
ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวอย่างนี้ว่า “อุบาสก จงถวายแต่น้อยเถิด อุบาสก จงถวาย
แต่น้อยเถิด”
ชายกรรมกรผู้ยากจนกล่าวว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย พวกพระคุณเจ้าอย่า
เข้าใจว่าผู้นี้เป็นกรรมกรยากจน แล้วรับแต่น้อย ๆ เลย กระผมได้จัดเตรียมขาทนีย
โภชนียาหารไว้อย่างเพียงพอ พระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดรับให้พอแก่ความ
ต้องการเถิด”
ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า “พวกอาตมาขอรับแต่น้อย ไม่ใช่เพราะเหตุนั้น แต่
พวกอาตมาได้เที่ยวบิณฑบาตฉันมาแต่เช้าแล้วต่างหาก ดังนั้น พวกอาตมาจึงขอ
รับแต่น้อยๆ”
ลำดับนั้น ชายกรรมกรผู้ยากจนจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พระคุณเจ้าทั้งหลายที่เรานิมนต์ไว้แล้ว จึงได้ไปฉันในที่อีกแห่งหนึ่งเล่า เราไม่
สามารถจะถวายให้พอแก่ความต้องการหรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๘๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๓.ปรัมปรโภชนสิกขาบท พระบัญญัติ
ภิกษุทั้งหลายได้ยินชายกรรมกรผู้ยากจนตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดา
ภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุทั้งหลาย
รับนิมนต์ไว้ที่หนึ่งแล้วจึงไปฉันในที่อีกแห่งหนึ่งเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุ
เหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุทั้งหลายรับนิมนต์ไว้ที่หนึ่ง
แล้วไปฉันอีกในที่อีกแห่งหนึ่ง จริงหรือ” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงรับ
นิมนต์ไว้ที่หนึ่งแล้วไปฉันในที่อีกแห่งหนึ่งเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้
ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันปรัมปรโภชนะ๑
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องชายกรรมกรผู้ยากจน จบ
เรื่องภิกษุเป็นไข้
[๒๒๒] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้ ภิกษุอีกรูปหนึ่งนำบิณฑบาตไปถึงที่อยู่
ครั้นถึงแล้ว ได้กล่าวกับภิกษุรูปที่เป็นไข้นั้นดังนี้ว่า “นิมนต์ท่านฉันเถิด ขอรับ”
ภิกษุเป็นไข้ตอบว่า “ไม่ล่ะขอรับ กระผมมีภัตตาหารที่หวังว่าจะได้”

เชิงอรรถ :
๑ ฉันปรัมปรโภชนะ คือภิกษุรับนิมนต์ฉันภัตตาหารของทายกรายหนึ่งแล้ว ไปฉันภัตตาหารของทายกราย
อื่นก่อนแล้วกลับมาฉันรายแรกภายหลัง โดยมิได้ยกนิมนต์รายแรกให้ภิกษุรูปอื่น (กงฺขา.อ. ๒๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๘๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๓.ปรัมปรโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
ทายกนำบิณฑบาตมาถวายภิกษุเป็นไข้รูปนั้น ในเวลาสาย ภิกษุเป็นไข้รูป
นั้นฉันไม่ได้ตามที่คิดไว้ ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรง
ทราบ
ทรงอนุญาตให้ฉันปรัมปรโภชนะได้ในสมัยที่เป็นไข้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเป็นไข้ฉันปรัมปรโภชนะได้”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันปรัมปรโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อ
นั้น คือ สมัยที่เป็นไข้ นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุเป็นไข้ จบ
ทรงอนุญาตให้ฉันปรัมปรโภชนะได้ในสมัยที่ถวายจีวร
[๒๒๓] สมัยนั้น พวกชาวบ้านตระเตรียมภัตตาหารพร้อมจีวรในสมัยที่จะ
ถวายจีวร แล้วนิมนต์ภิกษุทั้งหลายด้วยตั้งใจว่า พวกเรานิมนต์ภิกษุทั้งหลายฉันแล้ว
จะให้ครองจีวร
ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉัน
ปรัมปรโภชนะ” ไม่รับนิมนต์ จึงได้จีวรเพียงเล็กน้อย ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันปรัมปรโภชนะได้ในสมัย
ที่ถวายจีวร” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๘๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๓.ปรัมปรโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
พระอนุบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันปรัมปรโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อ
นั้น คือ สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันปรัมปรโภชนะได้ในสมัยที่ทำจีวร
[๒๒๔] สมัยนั้น พวกชาวบ้านนิมนต์พวกภิกษุผู้ทำจีวรฉันภัตตาหาร ภิกษุ
ทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันปรัมปรโภชนะ” จึง
ไม่รับนิมนต์ ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันปรัมปรโภชนะได้ในสมัยที่ทำ
จีวร” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๒๒๕] ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันปรัมปรโภชนะนอกสมัย สมัย
ในข้อนั้น คือ สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร สมัยที่ทำจีวร นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องวิกัปอาหารที่หวังว่าจะได้
[๒๒๖] ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตร
และจีวร มีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะเสด็จเข้าไปตระกูลหนึ่ง ครั้นถึงแล้วได้
ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย
ลำดับนั้น พวกชาวบ้านได้ถวายโภชนาหารแด่พระผู้มีพระภาคและท่านพระ
อานนท์ ท่านพระอานนท์มีความยำเกรงอยู่จึงไม่รับประเคน
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “รับเถิด อานนท์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๘๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๓.ปรัมปรโภชนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “อย่าเลย พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้ามี
ภัตตาหารที่หวังว่าจะได้”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงวิกัปไว้แล้วรับ”๑
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้วิกัปภัตตาหารที่หวังว่าจะ
ได้แล้วฉันปรัมปรโภชนะ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายวิกัปภัตตาหารที่หวังว่าจะได้
อย่างนี้
คำวิกัปอาหาร
กระผมถวายภัตตาหารที่กระผมหวังว่าจะได้แก่ภิกษุชื่อนี้๒
เรื่องวิกัปอาหารที่หวังว่าจะได้ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๒๒๗] ที่ชื่อว่า ปรัมปรโภชนะ คือ ภิกษุที่ทายกนิมนต์ด้วยโภชนะ ๕ อย่าง
อย่างใดอย่างหนึ่งไว้ งดเว้นโภชนะนั้น ไปฉันโภชนะ ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง อื่น
จากที่ตนรับนิมนต์ไว้ อย่างนี้ชื่อว่าปรัมปรโภชนะ
คำว่า นอกสมัย คือ ยกเว้นสมัย
ที่ชื่อว่า สมัยที่เป็นไข้ คือ นั่ง ณ อาสนะแห่งเดียว ไม่อาจจะฉันให้พอแก่
ความต้องการได้ ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่เป็นไข้ พึงฉันได้
ที่ชื่อว่า สมัยที่ถวายจีวร คือ เมื่อยังไม่ได้กรานกฐิน กำหนดเอาเดือนสุดท้าย
แห่งฤดูฝน เมื่อกรานกฐินแล้ว มีกำหนดเวลา ๕ เดือน ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่
ถวายจีวร พึงฉันได้

เชิงอรรถ :
๑ วิกัปภัตตาหาร คือยกภัตตาหารที่รับนิมนต์ไว้ก่อนให้ภิกษุรูปอื่น
๒ ในคัมภีร์บริวารและคัมภีร์ฎีกานับการวิกัปภัตตาหารเป็นพระอนุบัญญัติ (วิ.ป. ๘/๘๖/๓๔, สารตฺถ.ฏีกา
๓/๒๒๖/๗๐, วิมติ. ฏีกา ๒/๒๒๑/๓๘, กงฺขา. ฏีกา ๔๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๘๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๓.ปรัมปรโภชนสิกขาบท อนาปัตติวาร
ที่ชื่อว่า สมัยที่ทำจีวร คือ เมื่อภิกษุกำลังทำจีวร ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่ทำ
จีวร พึงฉันได้
ภิกษุรับด้วยคิดว่า “จะฉัน” นอกสมัย ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ทุก ๆ คำกลืน
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๒๘] ปรัมปรโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าปรัมปรโภชนะ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ปรัมปรโภชนะ ภิกษุไม่แน่ใจ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ปรัมปรโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ปรัมปรโภชนะ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ทุกทุกกฏ
ไม่ใช่ปรัมปรโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าปรัมปรโภชนะ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ปรัมปรโภชนะ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ปรัมปรโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ปรัมปรโภชนะ ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๒๙] ๑. ภิกษุฉันในสมัย
๒. ภิกษุวิกัปแล้วฉัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๘๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๓.ปรัมปรโภชนสิกขาบท อนาปัตติวาร
๓. ภิกษุฉันบิณฑบาตที่รับนิมนต์ไว้ ๒-๓ แห่งรวมกัน
๔. ภิกษุฉันตามลำดับที่รับนิมนต์
๕. ภิกษุที่ชาวตำบลทั้งหมดนิมนต์แล้วฉันในที่แห่งหนึ่งในตำบลนั้น
๖. ภิกษุที่สมาคมทั้งหมดนิมนต์แล้วฉันในที่แห่งหนึ่งในสมาคมนั้น
๗. ภิกษุรับนิมนต์แต่บอกว่าจะรับภิกษา
๘. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายเป็นนิตย์
๙. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายตามสลาก
๑๐. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายในปักษ์
๑๑. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายในวันอุโบสถ
๑๒. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายในวันปาฏิบท
๑๓. ภิกษุฉันอาหารทุกชนิดยกเว้นโภชนะ ๕
๑๔. ภิกษุวิกลจริต
๑๕. ภิกษุต้นบัญญัติ
ปรัมปรโภชนสิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๘๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๔.กาณมาตุสิกขาบท นิทานวัตถุ
๔. โภชนวรรค
๔. กาณมาตุสิกขาบท
ว่าด้วยมารดาของนางกาณา
เรื่องอุบาสิกามารดาของนางกาณา
[๒๓๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น อุบาสิกามารดาของนางกาณา
เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใส นางได้ยกธิดาชื่อกาณาให้ชายหนุ่มผู้หนึ่งในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง
ต่อมา นางกาณาได้มาบ้านมารดาด้วยกรณียกิจบางอย่าง ฝ่ายสามีของนางกาณาส่ง
ข่าวมาถึงนางกาณาว่า “จงกลับมาเถิด กาณา ฉันต้องการให้กาณากลับ”
ครั้งนั้น มารดาของนางกาณาคิดว่า “การที่กาณากลับไปมือเปล่า ดูกระไรอยู่”
จึงทอดขนมให้ เมื่อขนมสุก ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งเข้ามาถึงบ้าน
มารดาของนางกาณา มารดาของนางกาณาจึงสั่งให้ถวายขนมแก่ภิกษุรูปนั้น ภิกษุ
รูปนั้นได้ออกไปบอกภิกษุรูปอื่น มารดาของนางกาณาก็สั่งให้ถวายขนมแก่ภิกษุรูป
นั้น ภิกษุรูปนั้นได้ออกไปบอกภิกษุรูปอื่น มารดาของนางกาณาก็สั่งให้ถวายขนมแก่
ภิกษุรูปนั้นจนกระทั่งขนมที่เตรียมไว้หมดสิ้นไป
แม้ครั้งที่ ๒ สามีของนางกาณาก็ได้ส่งข่าวมาถึงนางกาณาว่า “จงกลับมาเถิด
กาณา ฉันต้องการให้กาณากลับ”
แม้ครั้งที่ ๒ มารดาของนางกาณาคิดว่า “การที่กาณากลับไปมือเปล่า ดู
กระไรอยู่” จึงทอดขนมให้ เมื่อขนมสุก ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งเข้า
มาถึงบ้านมารดาของนางกาณา มารดาของนางกาณาจึงสั่งให้ถวายขนมแก่ภิกษุรูป
นั้น ภิกษุรูปนั้นได้ออกไปบอกภิกษุรูปอื่น มารดาของนางกาณาก็สั่งให้ถวายขนมแก่
ภิกษุรูปนั้น ภิกษุรูปนั้นได้ออกไปบอกภิกษุรูปอื่น มารดาของนางกาณาก็สั่งให้
ถวายขนมแก่ภิกษุรูปนั้นจนกระทั่งขนมที่เตรียมไว้หมดสิ้นไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๘๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๔.กาณมาตุสิกขาบท นิทานวัตถุ
แม้ครั้งที่ ๓ สามีของนางกาณาก็ได้ส่งข่าวมาถึงนางกาณาว่า “จงกลับมาเถิด
กาณา ฉันต้องการให้กาณากลับ หากกาณาไม่กลับ ฉันจะพาหญิงอื่นมาเป็นภรรยา”
แม้ครั้งที่ ๓ มารดาของนางกาณาคิดว่า “การที่กาณากลับไปมือเปล่า ดูกระไร
อยู่” จึงทอดขนมให้ เมื่อขนมสุก ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งเข้ามาถึง
บ้านมารดาของนางกาณา มารดาของนางกาณาจึงสั่งให้ถวายขนมแก่ภิกษุรูปนั้น
ภิกษุรูปนั้นได้ออกไปบอกภิกษุรูปอื่น มารดาของนางกาณาก็สั่งให้ถวายขนมแก่
ภิกษุรูปนั้น ภิกษุรูปนั้นได้ออกไปบอกภิกษุรูปอื่น มารดาของนางกาณาก็สั่งให้
ถวายขนมแก่ภิกษุรูปนั้นจนกระทั่งขนมที่เตรียมไว้หมดสิ้นไป
ครั้งนั้น สามีของนางกาณาได้พาหญิงอื่นมาเป็นภรรยา นางกาณาได้ทราบข่าว
ว่าสามีของตนได้พาหญิงอื่นมาเป็นภรรยา จึงได้ยืนร้องไห้
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร
เสด็จไปถึงบ้านของอุบาสิกามารดาของนางกาณา ครั้นถึงแล้วได้ประทับนั่งบน
อาสนะที่เขาจัดถวาย
ลำดับนั้น มารดาของนางกาณาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงอาสนะ ครั้น
ถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัส
กับมารดาของนางกาณาผู้นั่ง ณ ที่สมควรดังนี้ว่า “นางกาณาร้องไห้ทำไม” อุบาสิกา
มารดาของนางกาณาจึงกราบทูลเรื่องราวนั้นให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค
ทรง ชี้แจงให้มารดาของนางกาณาเห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้
อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจาก
อาสนะเสด็จไป
เรื่องอุบาสิกามารดาของนางกาณา จบ
เรื่องพ่อค้าเกวียน
[๒๓๑] สมัยนั้น พ่อค้าเกวียนกลุ่มหนึ่งต้องการจะเดินทางจากกรุงราชคฤห์
ไปถิ่นย้อนแสง๑ ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตรูปหนึ่งเข้าไปบิณฑบาตถึงหมู่เกวียน

เชิงอรรถ :
๑ ปฏิยาโลกํ ถิ่นย้อนแสง คือ สูริยาโลกสฺส ปฏิมุขํ ย้อนแสงตะวัน ได้แก่ ปจฺฉิมทิสํ ทิศตะวันตก (วิ.อ.
๒/๔๐๗/๔๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๘๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๔.กาณมาตุสิกขาบท นิทานวัตถุ
อุบาสกคนหนึ่งได้ให้ถวายข้าวตูแก่ภิกษุรูปนั้น ภิกษุรูปนั้นได้ออกไปบอกภิกษุรูปอื่น
อุบาสกได้ให้ถวายข้าวตูแก่ภิกษุรูปนั้น ภิกษุรูปนั้นได้ออกไปบอกภิกษุรูปอื่น อุบาสก
ก็ได้ให้ถวายข้าวตูแม้แก่ภิกษุรูปนั้นจนกระทั่งเสบียงที่จัดไว้หมดสิ้นไป
ครั้งนั้น อุบาสกนั้นได้กล่าวกับพวกพ่อค้าดังนี้ว่า “วันนี้ พวกท่านโปรดรอก่อน
เสบียงที่จัดเตรียมไว้กระผมถวายพระคุณเจ้าทั้งหลายไปแล้ว กระผมจะจัดเตรียมเสบียง”
พวกพ่อค้าเกวียนกล่าวว่า “ท่านครับ พวกเราไม่สามารถจะรอได้ พ่อค้า
เกวียนออกเดินทางแล้ว” ได้ไปแล้ว
เมื่ออุบาสกจัดเตรียมเสบียงเสร็จแล้วเดินทางไปภายหลังจึงถูกพวกโจรปล้น
พวกพ่อค้าพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายศากย
บุตรจึงรับโดยไม่รู้ประมาณ อุบาสกคนนี้ซึ่งเมื่อถวายเสบียงแก่พระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรเหล่านี้แล้วเดินทางไปภายหลังได้ถูกโจรปล้น”
พวกภิกษุได้ยินพวกพ่อค้าตำหนิ ประณาม โพนทะนา ครั้นแล้วภิกษุเหล่านั้น
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงบัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เราจะบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุ
ทั้งหลาย โดยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
๑. เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์
๒. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
ฯลฯ
๑๐. เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย๑
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ ดูความพิสดาร ข้อ ๕๖๖ หน้า ๙๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๘๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๔.กาณมาตุสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๒๓๒] ก็ ทายกนำขนมหรือข้าวตู๑ มาปวารณาภิกษุผู้เข้าไปถึงตระกูล
ภิกษุผู้ต้องการพึงรับได้เต็ม ๒-๓ บาตร ถ้ารับเกินกว่านั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ครั้นรับเต็ม ๒-๓ บาตรแล้ว เมื่อนำออกจากที่นั้นแล้วพึงแบ่งปันกับภิกษุ
ทั้งหลาย นี้เป็นการทำที่สมควรในเรื่องนั้น
เรื่องพ่อค้าเกวียน จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๒๓๓] คำว่า ก็...ภิกษุผู้เข้าไปถึงตระกูล ที่ชื่อว่าตระกูล ได้แก่ ตระกูล ๔
คือ ตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์ ตระกูลแพศย์ ตระกูลศูทร
คำว่า ผู้เข้าไปถึง คือ ผู้เข้าไปในตระกูลนั้น
ที่ชื่อว่า ขนม ได้แก่ ของกินอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขาจัดเตรียมเพื่อส่งไปเป็น
ของกำนัล
ที่ชื่อว่า ข้าวตู ได้แก่ ของกินอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขาจัดเตรียมเป็นเสบียงทาง
คำว่า ทายกนำมาปวารณา คือ เขานำมาปวารณาว่า “ท่านโปรดรับตาม
ต้องการ”
คำว่า ผู้ต้องการ คือ ผู้ปรารถนาได้

เชิงอรรถ :
๑ มนฺถ ข้าวตู หมายถึง อพทฺธสตฺตุนา จ ... พทฺธสตฺตุนา จ ข้าวตูก้อน ข้าวตูป่น (วิ.อ. ๓/๑๑) สตฺตุ
นาม สาลิวีหิยเวหิ กตสตฺตุ. กงฺคุวรกกุทฺรูสกสีสานิปิ ภชฺชิตฺวา อีสกํ โกฏฺเฏตฺวา ถุเส ปลาเปตฺวา
ปุน ทฬฺหํ โกฏฺเฏตฺวา จุณฺณํ กโรนฺติ. สเจปิ ตํ อลฺลตฺตา เอกาพทฺธํ โหติ สตฺตุสงฺคหเมว คจฺฉติ.
ขรปากภชฺชิตานํ วีหีนํ ตณฺฑุเล โกฏฺเฏตฺวา เทนฺติ, ตมฺปิ จุณฺณํ สตฺตุสงฺคหเมว คจฺฉติ. ข้าวตู หรือ
ข้าวสัตตุ ทำด้วยข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ที่เขาเด็ดรวงธัญชาติ ๓ อย่าง คือ ข้าวฟ่าง ลูกเดือย หญ้ากับแก้
มาตำนิดหน่อยแล้วฝัดแกลบออกแล้วตำอีกจนป่น ซึ่งถ้ายังชุ่มอยู่จะจับเป็นก้อน นี้ก็จัดเป็นข้าวตูเหมือน
กัน และที่เขาตำข้าวเปลือกแก่เป็นข้าวสารจนป่น นี้ก็จัดเป็นข้าวตูเช่นกัน (วิ.อ. ๒/๒๓๒/๓๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๙๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๔.กาณมาตุสิกขาบท บทภาชนีย์
คำว่า พึงรับได้เต็ม ๒-๓ บาตร ความว่า ภิกษุพึงรับได้เต็ม ๒-๓ บาตร
คำว่า ถ้ารับเกินกว่านั้น ความว่า รับเกินกำหนดนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ครั้นรับเต็ม ๒-๓ บาตร แล้วเมื่อออกจากที่นั้นไปพบภิกษุรูปอื่นพึงบอก
ว่า “กระผมรับเต็ม ๒-๓ บาตร ในที่โน้น ท่านอย่ารับในที่นั้น” ถ้าพบภิกษุรูป
อื่นแล้วไม่บอก ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อบอกแล้ว ภิกษุรูปนั้นยังไปรับ ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
คำว่า เมื่อนำออกจากที่นั้นแล้วพึงแบ่งปันกับภิกษุทั้งหลาย คือ ภิกษุพึง
นำกลับไปแล้วแบ่งกัน
คำว่า นี้เป็นการทำที่สมควรในเรื่องนั้น คือ นี้เป็นความถูกต้องในเรื่องนั้น
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๓๔] ของเต็มเกิน ๒-๓ บาตร ภิกษุสำคัญว่าเกิน รับ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ของเต็มเกิน ๒-๓ บาตร ภิกษุไม่แน่ใจ รับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ของเต็มเกิน ๒-๓ บาตร ภิกษุสำคัญว่ายังไม่เต็ม รับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกทุกกฏ
ของยังไม่เต็ม ๒-๓ บาตร ภิกษุสำคัญว่าเกิน ต้องอาบัติทุกกฏ
ของยังไม่เต็ม ๒-๓ บาตร ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ของยังไม่เต็ม ๒-๓ บาตร ภิกษุสำคัญว่ายังไม่เต็ม ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๙๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๔.กาณมาตุสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๓๕] ๑. ภิกษุรับเต็ม ๒-๓ บาตร
๒. ภิกษุรับไม่เต็ม ๒-๓ บาตร
๓. ภิกษุผู้รับของที่เขาไม่ได้จัดเตรียมไว้เพื่อส่งไปเป็นของกำนัล
๔. ภิกษุผู้รับของที่เขาไม่ได้จัดเตรียมเป็นเสบียงเดินทาง
๕. ภิกษุผู้รับของที่เหลือจากที่เขาจัดเตรียมไว้เพื่อส่งไปเป็นของ
กำนัลหรือเพื่อเป็นเสบียงเดินทาง
๖. ภิกษุผู้รับของที่ทายกถวายเมื่อเขาระงับการไปแล้ว
๗. ภิกษุรับของญาติ
๘. ภิกษุรับของคนปวารณา
๙. ภิกษุรับเพื่อภิกษุอื่น
๑๐. ภิกษุรับของที่จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน
๑๑. ภิกษุวิกลจริต
๑๒. ภิกษุต้นบัญญัติ
กาณมาตุสิกขาบทที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๙๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๕.ปฐมปวารณาสิกขาบท นิทานวัตถุ
๔. โภชนวรรค
๕. ปฐมปวารณาสิกขาบท
ว่าด้วยการบอกห้ามภัตตาหารข้อที่ ๑
เรื่องภิกษุหลายรูป
[๒๓๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่งนิมนต์ภิกษุ
ทั้งหลายให้ฉันภัตตาหาร ภิกษุฉันแล้ว บอกห้ามภัตตาหารแล้วพากันไปตระกูลญาติ
ภิกษุบางพวกยังฉันอีก บางพวกก็ยังรับบิณฑบาตกลับไป
ต่อมา พราหมณ์ได้กล่าวกับเพื่อนบ้านผู้คุ้นเคยดังนี้ว่า “นายทั้งหลาย เราเลี้ยง
ภิกษุทั้งหลายให้อิ่มหนำแล้ว เชิญมาเถิด เราจะเลี้ยงพวกท่านให้อิ่มหนำบ้าง”
เพื่อนบ้านผู้คุ้นเคยเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “นาย ท่านจะเลี้ยงพวกเราให้อิ่ม
หนำได้อย่างไร แม้พวกภิกษุที่ท่านนิมนต์แล้วก็ยังต้องไปที่เรือนพวกเรา บางพวกยัง
ฉันอีก บางพวกก็ยังรับบิณฑบาตกลับไป”
ครั้งนั้น พราหมณ์นั้นได้ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระคุณเจ้า
ทั้งหลายฉันที่เรือนเราแล้วจึงไปฉันที่อื่นอีกเล่า เราไม่สามารถจะถวายให้พอแก่
ความต้องการหรือ”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินพราหมณ์ตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย
ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุทั้งหลายฉันแล้ว บอกห้าม
ภัตตาหารแล้วไปฉันต่อที่อื่นอีกเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิภิกษุทั้งหลายโดย
ประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุฉันแล้ว บอก
ห้ามภัตตาหารแล้วไปฉันต่อที่อื่นอีก จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๙๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๕.ปฐมปวารณาสิกขาบท พระบัญญัติ
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉน
โมฆบุรุษเหล่านั้นฉันแล้ว บอกห้ามภัตตาหารแล้วไปฉันต่อที่อื่นอีกเล่า การ
กระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้
เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใดฉันแล้ว บอกห้ามภัตตาหารแล้ว เคี้ยวของเคี้ยวหรือฉันของฉัน
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุหลายรูป จบ
เรื่องภัตตาหารที่เป็นเดน
[๒๓๗] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายนำบิณฑบาตอย่างประณีตไปถวายพวกภิกษุ
ผู้เป็นไข้ พวกภิกษุเป็นไข้ฉันภัตตาหารไม่ได้สมใจ ภิกษุทั้งหลายจึงทิ้งบิณฑบาต
เหล่านั้น
พระผู้มีพระภาคทรงได้สดับนกกาส่งเสียงร้องดังเซ็งแซ่ ครั้นได้ทรงสดับแล้ว
จึงได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ ทำไมนกกาจึงส่งเสียงร้องดังเซ็งแซ่”
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ ภิกษุทั้งหลายได้ฉันภัตตาหารที่เป็น
เดนภิกษุไข้หรือ”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ไม่ได้ฉัน พระพุทธเจ้าข้า”
ทรงอนุญาตให้ฉันภัตตาหารที่เป็นเดนภิกษุเป็นไข้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันภัตตาหารที่เป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๙๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๕.ปฐมปวารณาสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
เดนภิกษุผู้เป็นไข้และภิกษุผู้ไม่เป็นไข้ ภิกษุทั้งหลายพึงทำภัตตาหารให้เป็นเดนด้วย
การกล่าวอย่างนี้ว่า “ทั้งหมดนั่นพอแล้ว” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๒๓๘] อนึ่ง ภิกษุใดฉันแล้ว บอกห้ามภัตตาหารแล้ว เคี้ยวของเคี้ยว
หรือฉันของฉันที่ไม่เป็นเดน๑ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภัตตาหารที่เป็นเดน จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๒๓๙] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ฉันแล้ว คือ ภิกษุฉันโภชนะ ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง โดย
ที่สุดแม้ฉันด้วยปลายหญ้าคาแตะ
ลักษณะการบอกห้ามภัตตาหาร
ที่ชื่อว่า บอกห้ามภัตตาหาร คือ (๑) ภิกษุกำลังฉัน (๒) ทายกนำโภชนะมา
ถวาย (๓) ทายกอยู่ในหัตถบาสน้อมถวาย (๔) ภิกษุบอกห้าม

เชิงอรรถ :
๑ อนติริตฺตํ โภชนะที่ไม่เป็นเดน, โภชนะที่ไม่เหลือเฟือ, โภชนะที่ยังมิได้ทำอติเรกวินัย คือพระวินัยธรยังมิ
ได้ทำให้เป็นเดนว่า “อลเมตํ สพฺพํ ทั้งหมดนั่นพอแล้ว” (วิ.อ. ๒/๓๖๖, วชิร.ฏีกา ๔๐๘), อติเรโก โหตีติ
อติริตฺโต โหติ อติริตฺต ที่เป็นเดน หมายถึงเหลือเฟือ (ปฏิสํ.อ. ๒/๓๐๗) อนติริตฺต ที่ไม่เป็นเดน จึง
หมายถึงไม่เหลือเฟือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๙๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๕.ปฐมปวารณาสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ของที่ไม่เป็นเดน
ที่ชื่อว่า ที่ไม่เป็นเดน คือ (๑) ของที่ภิกษุยังมิได้ทำให้เป็นกัปปิยะ (๒) ของ
ที่ภิกษุยังมิได้รับประเคน (๓) ของที่ภิกษุยังมิได้ยกขึ้นส่งให้ (๔) ของที่อยู่นอก
หัตถบาส (๕) ของที่ภิกษุยังมิได้ฉัน (๖) ของที่ภิกษุฉันแล้วบอกห้าม ลุกจาก
อาสนะแล้ว (๗) ของที่ภิกษุยังมิได้กล่าวว่า “ทั้งหมดนั่นพอแล้ว” (๘) ของไม่เป็น
เดนภิกษุเป็นไข้ นี้ชื่อว่าที่ไม่เป็นเดน
ของที่เป็นเดน
ที่ชื่อว่า ที่เป็นเดน คือ (๑) ของที่ภิกษุทำให้เป็นกัปปิยะแล้ว (๒) ของที่ภิกษุ
รับประเคนแล้ว (๓) ของที่ภิกษุยกขึ้นส่งให้แล้ว (๔) ของที่อยู่ในหัตถบาส (๕) ของ
ที่ภิกษุฉันแล้ว (๖) ของที่ภิกษุฉันแล้วบอกห้าม แต่ยังไม่ลุกจากอาสนะ (๗) ของที่
ภิกษุกล่าวว่า “ทั้งหมดนั่นพอแล้ว” (๘) ของเป็นเดนภิกษุเป็นไข้ นี้ชื่อว่าที่เป็นเดน
ของเคี้ยว
ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ ยกเว้นโภชนะ ๕ ๑ยามกาลิก สัตตาหกาลิก และ
ยาวชีวิก นอกนั้นชื่อว่าของเคี้ยว

เชิงอรรถ :
๑ ยามกาลิก ของที่ภิกษุรับประเคนไว้แล้วฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่งก่อนอรุณของวันใหม่ คือ นํ้าปานะ ได้แก่
นํ้าคั้นผลไม้ที่ทรงอนุญาต ๘ อย่าง คือ (๑) อัมพปานะ นํ้ามะม่วง (๒) ชัมพุปานะ นํ้าหว้า (๓) โจจปานะ
นํ้ากล้วยมีเมล็ด (๔) โมจปานะ นํ้ากล้วยไม่มีเมล็ด (๕) มธุกปานะ นํ้ามะทราง (๖) มุททิกปานะ นํ้าผล
จันทน์หรือนํ้าองุ่น (๗) สาลูกปานะ นํ้าเหง้าบัว (๘) ผารุสกปาน นํ้าผลมะปรางหรือนํ้าลิ้นจี่ และนํ้าผลไม้
ทุกชนิด เว้นนํ้าต้มเมล็ดข้าวเปลือก, นํ้าใบไม้ทุกชนิด เว้นนํ้าผักดอง, นํ้าดอกไม้ทุกชนิด เว้นนํ้าดอกมะทราง,
นํ้าอ้อยสด ฉันได้ (วิ.ม. ๕/๓๐๐/๘๔, วิ.อ. ๒/๒๕๕-๖/๓๗๘)
สัตตาหกาลิก ของที่ภิกษุรับประเคนไว้แล้วฉันได้ภายใน ๗ วัน คือ เภสัชทั้ง ๕ ได้แก่ (๑) สัปปิ เนยใส
(๒) นวนีตะ เนยข้น (๓) เตละ นํ้ามัน (๔) มธุ นํ้าผึ้ง (๕) ผาณิต นํ้าอ้อย (วิ.ม. ๕/๒๖๐/๒๗)
ยาวชีวิก ของที่ภิกษุรับประเคนไว้แล้ว ฉันได้ตลอดไป ไม่จำกัดเวลา คือ ของที่ใช้ปรุงเป็นยา ได้แก่
หลิททะ ขมิ้น, สิงคิเวระ ขิง, วจะ ว่านนํ้า, วจัตถะ ว่านเปราะ, อติวิสะ อุตพิด, กฏุกโรหิณี ข่า, อุสีระ
แฝก, ภัททมุตตกะ แห้วหมู เป็นต้น (วิ.ม. ๕/๒๖๓/๒๙) ดูเชิงอรรถ ข้อ ๒๕๖ หน้า ๔๐๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๙๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๕.ปฐมปวารณาสิกขาบท อนาปัตติวาร
ของฉัน
ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ขนมสด ข้าวตู ปลา เนื้อ
ภิกษุรับประเคนด้วยตั้งใจว่า “จะเคี้ยว จะฉัน” ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ คำกลืน
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๔๐] ของที่ไม่เป็นเดน ภิกษุสำคัญว่าเป็นของที่ไม่เป็นเดน เคี้ยวของเคี้ยว
หรือฉันของฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ของที่ไม่เป็นเดน ภิกษุไม่แน่ใจ เคี้ยวของเคี้ยว หรือฉันของฉัน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ของที่ไม่เป็นเดน ภิกษุสำคัญว่าเป็นของที่เป็นเดน เคี้ยวของเคี้ยว หรือฉัน
ของฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ติกทุกกฏ
ภิกษุรับประเคนยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก เพื่อเป็นอาหาร ต้อง
อาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ คำกลืน
ของที่เป็นเดน ภิกษุสำคัญว่าเป็นของที่ไม่เป็นเดน ต้องอาบัติทุกกฏ
ของที่เป็นเดน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ของที่เป็นเดน ภิกษุสำคัญว่าเป็นของที่เป็นเดน ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๔๑] ๑. ภิกษุให้ทำเป็นของที่เป็นเดนแล้วฉัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๙๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๕.ปฐมปวารณาสิกขาบท อนาปัตติวาร
๒. ภิกษุรับประเคนด้วยตั้งใจว่า จะให้ทำเป็นของที่เป็นเดนก่อนจึงฉัน
๓. ภิกษุรับไปเพื่อภิกษุอื่น
๔. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เหลือของภิกษุผู้เป็นไข้
๕. ภิกษุฉันของที่เป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก และยาวชีวิก เมื่อมี
เหตุผลที่สมควร
๖. ภิกษุวิกลจริต
๗. ภิกษุต้นบัญญัติ
ปฐมปวารณาสิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๙๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๖.ทุติยปวารณาสิกขาบท นิทานวัตถุ
๔. โภชนวรรค
๖. ทุติยปวารณาสิกขาบท
ว่าด้วยการบอกห้ามภัตตาหารข้อที่ ๒
เรื่องภิกษุ ๒ รูป
[๒๔๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุ ๒ รูปเดินทางไกลไปกรุง
สาวัตถี แคว้นโกศล ภิกษุรูปหนึ่งประพฤติอนาจาร ภิกษุผู้เป็นเพื่อนได้กล่าวกับ
ภิกษุรูปนั้นดังนี้ว่า “ท่านอย่าได้กระทำอย่างนี้ การกระทำอย่างนี้ไม่สมควร”
ภิกษุรูปนั้นแค้นเคืองภิกษุผู้เป็นเพื่อนนั้น ครั้นภิกษุเหล่านั้นถึงกรุงสาวัตถี ครั้ง
นั้น มีสังฆภัตของสมาคมหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นเพื่อนฉันแล้ว บอกห้ามภัตตาหารแล้ว
ภิกษุรูปที่แค้นเคืองไปตระกูลญาตินำบิณฑบาตมา แล้วเข้าไปหาภิกษุผู้เป็นเพื่อนถึง
ที่พัก ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับภิกษุนั้นดังนี้ว่า “เชิญท่านฉันเถิด ขอรับ”
ภิกษุผู้เป็นเพื่อนปฏิเสธว่า “ไม่ล่ะขอรับ กระผมบริบูรณ์แล้ว”
ภิกษุผู้แค้นเคืองนั้นรบเร้าว่า “บิณฑบาตอร่อย ฉันเถิด ขอรับ”
ครั้นภิกษุผู้เป็นเพื่อนถูกรบเร้าจึงฉันบิณฑบาตนั้น
ภิกษุผู้แค้นเคืองได้กล่าวกับภิกษุนั้นดังนี้ว่า “ท่านเข้าใจว่ากระผมเป็นผู้ที่ควร
ว่ากล่าว ท่านเองฉันแล้วบอกห้ามภัตตาหารแล้วก็ยังฉันโภชนะที่ไม่เป็นเดนอีก”
ภิกษุผู้เป็นเพื่อนกล่าวว่า “ท่านควรบอกเรื่องนี้มิใช่หรือ”
ภิกษุผู้แค้นเคืองกล่าวว่า “ท่านควรถามก่อนมิใช่หรือ”
ต่อมา ภิกษุนั้นได้แจ้งเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ
พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุจึงนำโภชนะที่ไม่เป็นเดนไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๙๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๖.ทุติยปวารณาสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ปวารณาภิกษุผู้ฉันแล้วบอกห้ามภัตตาหารแล้วเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุ
นั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่า เธอนำโภชนะที่ไม่เป็นเดนไปปวารณาภิกษุผู้
ฉันแล้วบอกห้ามภัตตาหารแล้ว จริงหรือ” ภิกษุนั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงนำโภชนะที่ไม่เป็น
เดนไปปวารณาภิกษุผู้ฉันแล้วบอกห้ามภัตตาหารแล้วเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่าง
นี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้
เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๒๔๓] ก็ ภิกษุใดรู้อยู่ แต่ต้องการจะจับผิด นำของเคี้ยวหรือของฉันที่
ไม่เป็นเดนไปปวารณา ภิกษุผู้ฉันแล้วบอกห้ามภัตตาหารแล้ว โดยกล่าว
รบเร้าว่า “นิมนต์เถิดขอรับ ท่านจงเคี้ยวหรือจงฉันก็ได้” เมื่อเธอฉันแล้ว ภิกษุ
นั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุ ๒ รูป จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๒๔๔] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๐๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๖.ทุติยปวารณาสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
คำว่า ภิกษุ หมายถึง ภิกษุรูปอื่น
ที่ชื่อว่า ฉันแล้ว คือ ภิกษุฉันโภชนะ ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งโดยที่สุดแม้
ฉันด้วยปลายหญ้าคาแตะ๑
ลักษณะห้ามภัตร
ที่ชื่อว่า บอกห้ามภัตตาหาร คือ (๑) ภิกษุกำลังฉัน (๒) ทายกนำโภชนะมา
ถวาย (๓) ทายกอยู่ในหัตถบาสน้อมถวาย (๔) ภิกษุบอกห้าม
ของที่ไม่เป็นเดน
ที่ชื่อว่า ที่ไม่เป็นเดน คือ (๑) ของที่ยังมิได้ทำให้เป็นกัปปิยะ (๒) ของที่ภิกษุ
ยังมิได้รับประเคน (๓) ของที่ภิกษุยังมิได้ยกขึ้นส่งให้ (๔) ของที่อยู่นอกหัตถบาส
(๕) ของที่ภิกษุยังมิได้ลงมือฉัน (๖) ของที่ภิกษุลงมือฉันแล้วบอกห้าม ลุกจาก
อาสนะแล้ว (๗) ของที่ภิกษุยังมิได้กล่าวว่า “ทั้งหมดนั่นพอแล้ว” (๘) ของไม่เป็น
เดนภิกษุเป็นไข้ นี้ชื่อว่าที่ไม่เป็นเดน
ของเคี้ยว
ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ ยกเว้นโภชนะ ๕ ยามกาลิก สัตตาหกาลิก และ
ยาวชีวิก นอกนั้นชื่อว่าของเคี้ยว
ของฉัน
ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ขนมสด ข้าวตู ปลา เนื้อ
คำว่า นำมาปวารณา คือ นำมาปวารณาว่า “ท่านโปรดรับตามต้องการ”
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ ภิกษุรู้เอง คนเหล่าอื่นบอกท่าน หรือคนนั้นบอก

เชิงอรรถ :
๑ ฉันด้วยปลายหญ้าคาแตะ คือเกลี่ยอาหารที่ได้มาในภาชนะใบเดียวกันคลุกเคล้าให้เข้ากันจนเป็นรส
เดียวกันแล้วเอาปลายหญ้าคาแตะเพียงหยดเดียวแล้ววางที่ปลายลิ้น กลืนกิน (วิ.อ. ๒/๒๖๐/๓๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๐๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๖.ทุติยปวารณาสิกขาบท บทภาชนีย์
ที่ชื่อว่า ต้องการจะจับผิด คือ ภิกษุเพ่งเล็งว่า เราจะท้วง เราจะเตือน
เราจะทักท้วง เราจะตักเตือน เราจะทำภิกษุนี้ให้เก้อเขินด้วยวิธีนี้ นำไป ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ภิกษุรับไว้ตามคำของภิกษุนั้นด้วยตั้งใจว่า จะฉัน ภิกษุผู้นำไป ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ภิกษุผู้รับฉัน ภิกษุผู้นำไป ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ คำกลืน
เมื่อภิกษุผู้รับนั้นฉันเสร็จ ภิกษุผู้นำไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
[๒๔๕] บอกห้ามภัตตาหารแล้วภิกษุสำคัญว่าบอกห้ามภัตตาหารแล้ว นำ
ของเคี้ยวหรือของฉันที่ไม่เป็นเดนไปปวารณา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บอกห้ามภัตตาหารแล้ว ภิกษุไม่แน่ใจ นำของเคี้ยวหรือของฉันที่ไม่เป็นเดนไป
ปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ
บอกห้ามภัตตาหารแล้ว ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ได้บอกห้ามภัตตาหารนำของ
เคี้ยวหรือของฉันที่ไม่เป็นเดนไปปวารณา ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุนำยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิกไปเป็นอาหาร ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุรับไว้ตามคำของภิกษุผู้นำไปนั้นด้วยตั้งใจว่า จะฉัน ภิกษุผู้นำไป ต้อง
อาบัติทุกกฏ
ภิกษุผู้รับฉัน ภิกษุผู้นำไป ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ คำกลืน
ยังมิได้บอกห้ามภัตตาหาร ภิกษุสำคัญว่าบอกห้ามภัตตาหารแล้ว ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ยังมิได้บอกห้ามภัตตาหาร ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ยังมิได้บอกห้ามภัตตาหาร ภิกษุสำคัญว่ายังมิได้บอกห้ามภัตตาหาร ไม่ต้อง
อาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๐๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๖.ทุติยปวารณาสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๔๖] ๑. ภิกษุให้ทำเป็นของที่เป็นเดนแล้วให้
๒. ภิกษุให้ด้วยกล่าวว่า ท่านจงให้ทำเป็นของที่เป็นเดนก่อนจึงฉัน
๓. ภิกษุให้ด้วยกล่าวว่า ท่านจงนำไปเพื่อภิกษุอื่น
๔. ภิกษุให้ภัตตาหารที่เหลือของภิกษุเป็นไข้
๕. ภิกษุให้ของที่เป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ด้วย
กล่าวว่า ท่านจงฉันเมื่อมีเหตุสมควร
๖. ภิกษุวิกลจริต
๗. ภิกษุต้นบัญญัติ
ทุติยปวารณาสิกขาบทที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๐๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๗.วิกาลโภชนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๔.โภชนวรรค
๗. วิกาลโภชนสิกขาบท
ว่าด้วยการฉันโภชนะในเวลาวิกาล
เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์
[๒๔๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่
ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ในกรุงราชคฤห์ มีมหรสพบนยอดเขา
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ได้ไปชมมหรสพ พวกชาวบ้านเห็นพวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์
แล้วจึงนิมนต์ให้สรงน้ำ ให้ลูบไล้ของหอม ให้ฉันภัตตาหารแล้วถวายของเคี้ยวพวก
ภิกษุสัตตรสวัคคีย์นำของเคี้ยวไปอาราม แล้วได้กล่าวกับพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ดังนี้ว่า
“ท่านทั้งหลาย นิมนต์พวกท่านรับแล้วจงฉันของเคี้ยวเถิด ขอรับ”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ถามว่า “พวกท่านได้ของเคี้ยวมาจากไหน”
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์จึงแจ้งเรื่องนั้นให้พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทราบ
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ถามว่า “พวกท่านฉันอาหารในเวลาวิกาลหรือ”
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ตอบว่า “ใช่ ขอรับ”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุ
สัตตรสวัคคีย์จึงฉันภัตตาหารในเวลาวิกาลเล่า” แล้วพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงแจ้งเรื่อง
นี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์จึงฉันภัตตาหารในเวลาวิกาลเล่า”ครั้น
ภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอฉันภัตตาหาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๐๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๗.วิกาลโภชนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ในเวลาวิกาล จริงหรือ” พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงฉัน
ภัตตาหารในเวลาวิกาลเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้ว
จึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๒๔๘] ก็ ภิกษุใดเคี้ยวของเคี้ยว หรือฉันของฉันในเวลาวิกาล ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๒๔๙] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า เวลาวิกาล หมายเอาเวลาเมื่อเที่ยงวันล่วงไปจนถึงอรุณขึ้น
ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ ยกเว้นโภชนะ ๕ ยามกาลิก สัตตาหกาลิก และ
ยาวชีวิก นอกนั้นชื่อว่าของเคี้ยว
ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ขนมกุมมาส ข้าวตู ปลา เนื้อ
ภิกษุรับประเคนด้วยตั้งใจว่า “จะเคี้ยว จะฉัน” ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ คำกลืน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๐๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๗.วิกาลโภชนสิกขาบท อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๕๐] เวลาวิกาล ภิกษุสำคัญว่าเป็นวิกาล เคี้ยวของเคี้ยวหรือฉันของฉัน
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เวลาวิกาล ภิกษุไม่แน่ใจ เคี้ยวของเคี้ยวหรือฉันของฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เวลาวิกาล ภิกษุสำคัญว่าเป็นกาล เคี้ยวของเคี้ยวหรือฉันของฉัน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ติกทุกกฏ
ภิกษุรับประเคนยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิกไว้เป็นอาหาร ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ คำกลืน
กาล ภิกษุสำคัญว่าเป็นวิกาล ต้องอาบัติทุกกฏ
กาล ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
กาล ภิกษุสำคัญว่าเป็นกาล ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๕๑] ๑. ภิกษุฉันของที่เป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก และยาวชีวิก เมื่อมี
เหตุผลที่สมควร
๒. ภิกษุวิกลจริต
๓. ภิกษุต้นบัญญัติ
วิกาลโภชนสิกขาบทที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๐๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๘.สันนิธิการกสิกขาบท นิทานวัตถุ
๔. โภชนวรรค
๘. สันนิธิการกสิกขาบท
ว่าด้วยการสะสมโภชนะ
เรื่องพระเวฬัฏฐสีสะ
[๒๕๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระเวฬัฏฐสีสะ พระอุปัชฌาย์
ของท่านพระอานนท์อยู่ในป่า ท่านเที่ยวบิณฑบาตได้มากมาย เอาข้าวสุกเปล่าไป
ตากแห้งเก็บไว้ที่อาราม คราวที่ต้องการภัตตาหารก็นำมาแช่น้ำแล้วฉัน นาน ๆ จึง
จะเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน
ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวกับท่านพระเวฬัฏฐสีสะดังนี้ว่า “ท่าน ทำไมนาน ๆ
ท่านจึงเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน” ลำดับนั้น ท่านพระเวฬัฏฐสีสะจึงแจ้งเรื่องนั้นให้
ภิกษุทั้งหลายทราบ
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “ท่าน ท่านฉันอาหารที่เก็บสะสมไว้หรือ”
ท่านตอบว่า “ใช่ ขอรับ”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า“ไฉนท่าน
พระเวฬัฏฐสีสะจึงฉันโภชนะที่เก็บสะสมไว้เล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิท่านพระ
เวฬัฏฐสีสะโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุทรง
สอบถามท่านพระเวฬัฏฐสีสะว่า “เวฬัฏฐสีสะ ทราบว่า เธอฉันโภชนะที่เก็บสะสมไว้
จริงหรือ” พระเถระทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ เวฬัฏฐสีสะ ไฉนเธอจึงฉันโภชนะที่เก็บสะสมไว้เล่า เวฬัฏฐสีสะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๐๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๘.สันนิธิการกสิกขาบท บทภาชนีย์
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้
เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๒๕๓] ก็ ภิกษุใดเคี้ยวของเคี้ยวหรือฉันของฉันที่เก็บสะสมไว้ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องพระเวฬัฏฐสีสะ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๒๕๔] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ของที่เก็บสะสมไว้ คือ ของที่ภิกษุรับประเคนในวันนี้แล้วฉันในวันอื่น
ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ ยกเว้นโภชนะ ๕ ยามกาลิก สัตตาหกาลิก และ
ยาวชีวิก นอกนั้นชื่อว่าของเคี้ยว
ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ขนมกุมมาส ข้าวตู ปลา เนื้อ
ภิกษุรับประเคนด้วยตั้งใจว่า “จะเคี้ยว จะฉัน” ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ คำกลืน
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๕๕] ของเก็บสะสมไว้ ภิกษุสำคัญว่าเป็นของเก็บสะสมไว้ เคี้ยวของเคี้ยว
หรือฉันของฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๐๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๘.สันนิธิการกสิกขาบท อนาปัตติวาร
ของเก็บสะสมไว้ ภิกษุไม่แน่ใจ เคี้ยวของเคี้ยวหรือฉันของฉัน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ของเก็บสะสมไว้ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ของเก็บสะสมไว้ เคี้ยวของเคี้ยวหรือฉัน
ของฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกกฏ
ภิกษุรับประเคนยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิกไว้เป็นอาหาร ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ คำกลืน
มิใช่ของเก็บสะสมไว้ ภิกษุสำคัญว่าเป็นของเก็บสะสมไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ
มิใช่ของเก็บสะสมไว้ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
มิใช่ของเก็บสะสมไว้ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่เป็นของเก็บสะสมไว้ ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๕๖] ๑. ภิกษุเก็บของที่เป็นยาวกาลิกไว้ฉันชั่วกาล
๒. ภิกษุเก็บของที่เป็นยามกาลิกไว้ฉันชั่วยาม๑
๓. ภิกษุเก็บของที่เป็นสัตตาหกาลิกไว้ฉันชั่วสัปดาห์
๔. ภิกษุฉันของที่เป็นยาวชีวิกเมื่อมีเหตุผลสมควร
๕. ภิกษุวิกลจริต
๖. ภิกษุต้นบัญญัติ
สันนิธิการกสิกขาบทที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ชั่วกาล คือชั่วเวลาเที่ยงวัน,ชั่วยาม คือชั่วปัจฉิมยาม (วิ.อ. ๒/๒๕๖/๓๗๘, ดูเชิงอรรถ ข้อ ๒๓๙ หน้า ๓๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๐๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๙.ปณีตโภชนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๔. โภชนวรรค
๙. ปณีตโภชนสิกขาบท
ว่าด้วยการออกปากขอโภชนะอันประณีต
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๒๕๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ออกปากขอ
โภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉัน พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนา
ว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรจึงออกปากขอโภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้ว
ฉันเล่า ภัตตาหารที่ดีใครจะไม่พอใจ ภัตตาหารอร่อยใครจะไม่ชอบเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้
มักน้อย ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึง
ออกปากขอโภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉันเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอออกปากขอ
โภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉันจริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย
ไฉนพวกเธอจึงออกปากขอโภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉันเล่า โมฆบุรุษ
ทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๑๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๙.ปณีตโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใดออกปากขอโภชนะอันประณีตเช่นนี้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน
น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม มาเพื่อตนแล้วฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ
เรื่องภิกษุเป็นไข้
[๒๕๘] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเป็นไข้ พวกภิกษุผู้มีหน้าที่สอบถามอาการ
ไข้ ได้กล่าวกับพวกภิกษุผู้เป็นไข้ดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลายสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้
หรือ”
พวกภิกษุเป็นไข้ตอบว่า “เมื่อก่อนพวกกระผมออกปากขอโภชนะอันประณีต
มาเพื่อตนแล้วฉัน ดังนั้นจึงมีความผาสุก แต่เดี๋ยวนี้พวกกระผมมีความยำเกรงอยู่ว่า
“พระผู้มีพระภาคทรงห้ามไว้” จึงไม่ออกปากขอ ดังนั้นจึงไม่มีความผาสุก”
ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงอนุญาตให้ภิกษุเป็นไข้ออกปากขอโภชนะอันประณีตได้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเป็นไข้ออกปากขอโภชนะ
อันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉันได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง
ดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๒๕๙] อนึ่ง ภิกษุใดไม่เป็นไข้ ออกปากขอโภชนะอันประณีตเช่นนี้
คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม มาเพื่อ
ตนแล้วฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุเป็นไข้ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๑๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๙.ปณีตโภชนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[๒๖๐] คำว่า โภชนะอันประณีต ความว่า ที่ชื่อว่า เนยใส ได้แก่ เนยใสที่
ทำจากน้ำนมโค เนยใสที่ทำจากน้ำนมแพะ เนยใสที่ทำจากน้ำนมกระบือ หรือเนยใส
ที่ทำจากน้ำนมสัตว์ที่มีเนื้อเป็นกัปปิยะ
ที่ชื่อว่า เนยข้น ได้แก่ เนยข้นที่ทำจากน้ำนมสัตว์เหล่านั้น
ที่ชื่อว่า น้ำมัน ได้แก่ น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดงา น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดพันธุ์
ผักกาด น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดมะซาง น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดละหุ่ง น้ำมันที่ทำจาก
เปลวสัตว์
ที่ชื่อว่า น้ำผึ้ง ได่แก่ น้ำหวานของแมลงผึ้ง
ที่ชื่อว่า น้ำอ้อย ได้แก่ น้ำหวานที่เกิดจากอ้อย
ที่ชื่อว่า ปลา ท่านกล่าวถึงสัตว์ที่เที่ยวไปในน้ำ
ที่ชื่อว่า เนื้อ ได้แก่ เนื้อของสัตว์บกที่มีเนื้อเป็นกัปปิยะ
ที่ชื่อว่า นมสด ได้แก่ น้ำนมโค น้ำนมแพะ น้ำนมกระบือหรือน้ำนมของสัตว์
ที่มีเนื้อเป็นกัปปิยะ
ที่ชื่อว่า นมส้ม ได้แก่ นมส้มที่ทำจากน้ำนมของสัตว์เหล่านั้น
คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค
ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า โภชนะอันประณีตเช่นนี้ ได้แก่ โภชนะอันประณีตดังกล่าว
ที่ชื่อว่า ไม่เป็นไข้ คือ ผู้ที่เว้นโภชนะอันประณีต ก็เป็นอยู่ผาสุก
ที่ชื่อว่า ผู้เป็นไข้ คือ ผู้ที่เว้นโภชนะอันประณีต จะไม่มีความผาสุก
ภิกษุไม่เป็นไข้ออกปากขอมาเพื่อตน ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ ครั้งที่พยายาม
ภิกษุรับไว้ด้วยตั้งใจว่า จะฉันของที่ได้ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ คำกลืน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๑๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๙.ปณีตโภชนสิกขาบท อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๖๑] ไม่เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ออกปากขอโภชนะอันประณีต
มาเพื่อตนแล้วฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ไม่เป็นไข้ ภิกษุไม่แน่ใจ ออกปากขอโภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉัน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
ไม่เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าเป็นไข้ ออกปากขอโภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้ว
ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าเป็นไข้ ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๖๒] ๑. ภิกษุเป็นไข้
๒. ภิกษุเป็นไข้ออกปากขอมาแล้วหายเป็นไข้จึงฉัน
๓. ภิกษุฉันโภชนะที่เหลือของภิกษุเป็นไข้
๔. ภิกษุออกปากขอจากญาติ
๕. ภิกษุออกปากขอจากคนปวารณา
๖. ภิกษุออกปากขอเพื่อภิกษุอื่น
๗. ภิกษุจ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน
๘. ภิกษุวิกลจริต
๙. ภิกษุต้นบัญญัติ
ปณีตโภชนสิกขาบทที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๑๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๑๐.ทันตโปนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๔. โภชนวรรค
๑๐. ทันตโปนสิกขาบท
ว่าด้วยการรับประเคนอาหารนอกจากน้ำและไม้ชำระฟัน
เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง
[๒๖๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่า
มหาวัน เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งผู้ถือว่าทุกอย่างเป็นของบังสุกุล พักอยู่
ในป่าช้า ท่านไม่ปรารถนารับภัตตาหารที่พวกชาวบ้านถวาย เที่ยวถือเอาเครื่องเซ่น
ตามป่าช้าโคนไม้หรือธรณีประตูมาฉัน
พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุนี้จึงถือเอาเครื่อง
เซ่นของพวกเราไปฉันเองเล่า ภิกษุนี้อ้วนล่ำเห็นทีจะฉันเนื้อมนุษย์กระมัง”
พวกภิกษุได้ยินพวกชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้
มักน้อย ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุจึงกลืนอาหารที่ยัง
ไม่มีผู้ถวายให้ล่วงลำคอเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุนั้นโดยประการต่าง ๆ
แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่า เธอฉันอาหารที่ยังไม่มีผู้ถวายให้ล่วงลำคอ
จริงหรือ” ภิกษุนั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรง
ตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงกลืนอาหารที่ยังไม่มีผู้ถวายให้ล่วงลำคอเล่า
โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๑๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๑๐.ทันตโปนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใดกลืนอาหารที่ยังไม่มีผู้ถวายให้ล่วงลำคอ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง จบ
ทรงอนุญาตน้ำและไม้ชำระฟัน
[๒๖๔] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรง ไม่ยอมหยิบน้ำและไม้ชำระ
ฟันใช้ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มี
พระภาคทรงอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถือเอาน้ำและไม้ชำระฟันมา
ใช้เองได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๒๖๕] อนึ่ง ภิกษุใดกลืนอาหารที่ยังไม่มีผู้ถวายให้ล่วงลำคอ นอกจาก
น้ำและไม้ชำระฟัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทวิภังค์
[๒๖๖] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ที่ยังไม่มีผู้ถวาย ท่านกล่าวถึงของที่ยังไม่ได้รับประเคน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๑๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๑๐.ทันตโปนสิกขาบท บทภาชนีย์
ลักษณะการรับประเคน
ที่ชื่อว่า มีผู้ถวาย คือ (๑) เขาถวายด้วยกาย ด้วยของเนื่องด้วยกาย หรือ
ด้วยโยนให้ (๒) เขาอยู่ในหัตถบาส (๓) ภิกษุรับประเคนด้วยกายหรือด้วยของ
เนื่องด้วยกาย นี้ชื่อว่ามีผู้ถวาย
ที่ชื่อว่า อาหาร ได้แก่ ของที่ฉันได้ ยกเว้นน้ำและไม้ชำระฟัน นี้ชื่อว่าอาหาร
คำว่า นอกจากน้ำและไม้ชำระฟัน คือ ยกเว้นน้ำและไม้ชำระฟัน
ภิกษุถือเอาด้วยตั้งใจว่า จะเคี้ยว จะฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ คำกลืน
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๖๗] อาหารที่ยังไม่ได้รับประเคน ภิกษุสำคัญว่ายังไม่รับประเคน ฉัน
อาหารที่ยังไม่มีผู้ถวายให้ล่วงลำคอ นอกจากน้ำและไม้ชำระฟัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อาหารที่ยังไม่ได้รับประเคน ภิกษุไม่แน่ใจ ฉันอาหารที่ไม่มีผู้ถวายให้ล่วง
ลำคอ นอกจากน้ำและไม้ชำระฟัน ต้องปาจิตตีย์
อาหารที่ยังไม่ได้รับประเคน ภิกษุสำคัญว่ารับประเคน ฉันอาหารที่ไม่มีผู้
ถวาย นอกจากน้ำและไม้ชำระฟัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกทุกกฏ
อาหารที่รับประเคน ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ได้รับประเคน ต้องอาบัติทุกกฏ
อาหารที่รับประเคน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อาหารที่รับประเคน ภิกษุสำคัญว่ารับประเคน ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๑๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค รวมสิกขาบทที่มีในโภชนวรรค
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๖๘] ๑. ภิกษุใช้น้ำและไม้ชำระฟัน
๒. ภิกษุหยิบยามหาวิกัติ ๔ ฉันเอง๑ เมื่อมีเหตุผลที่สมควร ในเมื่อ
ไม่มีกัปปิยการกถวาย
๓. ภิกษุวิกลจริต
๔. ภิกษุต้นบัญญัติ
ทันตโปนสิกขาบทที่ ๑๐ จบ
โภชนวรรคที่ ๔ จบ
รวมสิกขาบทที่มีในโภชนวรรค
โภชนวรรคมี ๑๐ สิกขาบท คือ

๑. อาวสถปิณฑสิกขาบท ว่าด้วยการฉันภัตตาหารในที่พักแรม
๒. คณโภชนสิกขาบท ว่าด้วยการฉันคณโภชนะ
๓. ปรัมปรโภชนสิกขาบท ว่าด้วยการฉันปรัมปรโภชนะ
๔. กาณมาตุสิกขาบท ว่าด้วยมารดาของนางกาณา
๕. ปฐมปวารณาสิกขาบท ว่าด้วยการบอกห้ามภัตตาหารข้อที่ ๑
๖. ทุติยปวารณาสิกขาบท ว่าด้วยการบอกห้ามภัตตาหารข้อที่ ๒
๗. วิกาลโภชนสิกขาบท ว่าด้วยการฉันโภชนะในเวลาวิกาล
๘. สันนิธิการกสิกขาบท ว่าด้วยการสะสมโภชนะ
๙. ปณีตโภชนสิกขาบท ว่าด้วยการออกปากขอโภชนะอันประณีต
๑๐. ทันตโปนสิกขาบท ว่าด้วยการรับประเคนอาหารนอกจากน้ำ
และไม้ชำระฟัน


เชิงอรรถ :
๑ ยามหาวิกัติ ๔ คือ คูถ มูตร เถ้า ดิน (วิ.ม. ๕/๒๖๘/๓๖) ภิกษุอาพาธหรือถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย หยิบฉัน
ได้โดยไม่ต้องรับประเคน ถ้าไม่อาพาธก็ควรจะรับประเคน (วิ.อ. ๓/๒๖๘/๑๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๑๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๑.อเจลกสิกขาบท นิทานวัตถุ
๕. อเจลกวรรค
หมวดว่าด้วยนักบวชเปลือย
๑. อเจลกสิกขาบท
ว่าด้วยนักบวชเปลือย
เรื่องพระอานนท์
[๒๖๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่า
มหาวัน เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้น พระสงฆ์มีของเคี้ยวเหลือเฟือ ทีนั้น ท่านพระ
อานนท์ได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่ง
ว่า “อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงแจกขนมเป็นทานแก่พวกคนกินเดน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค แล้วจัดพวกคนกิน
เดนให้นั่งตามลำดับ แจกขนมให้คนละชิ้น แจกขนมให้ปริพาชิกาคนหนึ่ง ๒ ชิ้นด้วย
สำคัญว่าเป็นชิ้นเดียว
พวกปริพาชิกาที่อยู่ใกล้ ๆ ได้กล่าวกับปริพาชิกานั้นดังนี้ว่า “สมณะรูปนั้นเป็น
คู่รักของเธอหรือ”
ปริพาชิกานั้นตอบว่า “สมณะรูปนั้นไม่ใช่คู่รักของดิฉัน ท่านแจกให้ ๒ ชิ้นด้วย
สำคัญว่าเป็นชิ้นเดียว”
แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระอานนท์ก็แจกขนมให้ปริพาชิกานั้น ๒ ชิ้นด้วยสำคัญว่า
เป็นชิ้นเดียว พวกปริพาชิกาที่อยู่ใกล้ ๆ ได้กล่าวกับปริพาชิกานั้น ดังนี้ว่า “สมณะ
รูปนั้นเป็นคู่รักของเธอหรือ”
ปริพาชิกานั้นตอบว่า “สมณะรูปนั้นไม่ใช่คู่รักของดิฉัน ท่านแจกให้ ๒ ชิ้นด้วย
สำคัญว่าเป็นชิ้นเดียว”
แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอานนท์ก็แจกขนมให้ปริพาชิกานั้น ๒ ชิ้นด้วยสำคัญว่า
เป็นชิ้นเดียว พวกปริพาชิกาที่อยู่ใกล้ ๆ ได้กล่าวกับปริพาชิกานั้นดังนี้ว่า “สมณะรูป
นั้นเป็นคู่รักของเธอหรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๑๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๑.อเจลกสิกขาบท นิทานวัตถุ
ปริพาชิกานั้นตอบว่า “สมณะรูปนั้นไม่ใช่คู่รักของดิฉัน ท่านแจกให้ ๒ ชิ้นด้วย
สำคัญว่าเป็นชิ้นเดียว”
พวกปริพาชิกาเหล่านั้นโต้เถียงกันว่า “เป็นคู่รัก ไม่ใช่คู่รัก”
อาชีวกอีกคนหนึ่งได้เข้าไปที่ที่เลี้ยงอาหาร ภิกษุรูปหนึ่งคลุกข้าวกับเนยใส
จำนวนมาก ได้แจกข้าวก้อนใหญ่แก่อาชีวกนั้น ครั้นแล้ว อาชีวกนั้นได้ถือก้อนข้าว
นั้นไป อาชีวกอีกคนหนึ่งได้กล่าวกับอาชีวกนั้นดังนี้ว่า “ท่านได้ก้อนข้าวมาจาก
ที่ไหน”
อาชีวกนั้นตอบว่า “ข้าพเจ้าได้มาจากที่เลี้ยงอาหารของคหบดีโล้นสมณโคดม”
พวกอุบาสกได้ยินอาชีวกเหล่านั้นสนทนากัน ลำดับนั้น อุบาสกเหล่านั้นได้
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร อุบาสกเหล่านั้นผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้วได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า พวกเดียรถีย์เหล่านี้ต้องการติเตียนพระพุทธ
ต้องการติเตียนพระธรรม ต้องการติเตียนพระสงฆ์ ขอประทานวโรกาสเถิด
พระพุทธเจ้าข้า พระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดอย่าให้สิ่งของแก่พวกเดียรถีย์ด้วยมือตน
เองเลย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจงให้อุบาสกเหล่านั้นเห็นชัด ชวนให้
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถา จากนั้น อุบาสกเหล่านั้นซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจงให้เห็นชัด
ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงธรรมีกถาแล้วได้ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณ
แล้วจากไป
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
แสดงธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลายให้สมควรให้เหมาะสมกับเรื่องนั้น แล้วรับสั่งกับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๑๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๑.อเจลกสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เราจะบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุ
ทั้งหลายโดยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
๑. เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์
๒. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
ฯลฯ
๑๐. เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย”๑
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๒๗๐] ก็ ภิกษุใดให้ของเคี้ยวหรือของฉันแก่อเจลก ปริพาชกหรือ
ปริพาชิกาด้วยมือตน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระอานนท์ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๒๗๑] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า อเจลก ได้แก่ ชีเปลือยคนใดคนหนึ่งอยู่ในลัทธิปริพาชก
ที่ชื่อว่า ปริพาชก ได้แก่ นักบวชคนใดคนหนึ่งอยู่ในลัทธิปริพาชก ยกเว้น
ภิกษุและสามเณร

เชิงอรรถ :
๑ ดูความพิสดาร ข้อ ๕๖๖ หน้า ๙๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๒๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๑.อเจลกสิกขาบท บทภาชนีย์
ที่ชื่อว่า ปริพาชิกา ได้แก่ นักบวชหญิงคนใดคนหนึ่งนับเนื่องในลัทธิปริพาชก
ยกเว้นภิกษุณี สิกขมานาและสามเณรี
ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ ยกเว้นโภชนะ ๕ อย่าง น้ำและไม้ชำระฟัน นอกนั้น
ชื่อว่าของเคี้ยว
ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะ ๕ อย่างคือ ข้าวสุก ขนมสด ข้าวตู ปลา
เนื้อ
คำว่า ให้ คือ ภิกษุให้ด้วยกาย ด้วยของเนื่องด้วยกาย หรือด้วยโยนให้
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๗๒] เดียรถีย์๑ ภิกษุสำคัญว่าเป็นเดียรถีย์ ให้ของเคี้ยวหรือของฉันด้วย
มือตน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เดียรถีย์ ภิกษุไม่แน่ใจ ให้ของเคี้ยวหรือของฉันด้วยมือตน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เดียรถีย์ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่เดียรถีย์ให้ของเคี้ยวหรือของฉันด้วยมือตน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
ติกทุกกฏ
ภิกษุให้น้ำและไม้ชำระฟัน ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่เดียรถีย์ ภิกษุสำคัญว่าเป็นเดียรถีย์ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่เดียรถีย์ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่เดียรถีย์ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่เดียรถีย์ ไม่ต้องอาบัติ

เชิงอรรถ :
๑ เดียรถีย์ คือผู้ถือลัทธินอกพระพุทธศาสนา เป็นนักบวชผู้ถือลัทธิอื่น (วิ.อ. ๓/๑๓๒/๑๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๒๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๑.อเจลกสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๗๓] ๑. ภิกษุใช้ให้ผู้อื่นให้ มิได้ให้เอง
๒. ภิกษุวางให้
๓. ภิกษุให้ของไล้ทาภายนอก
๔. ภิกษุวิกลจริต
๕. ภิกษุต้นบัญญัติ
อเจลกสิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๒๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๒.อุยโยชนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๕. อเจลกวรรค
๒. อุยโยชนสิกขาบท
ว่าด้วยการส่งกลับ
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๒๗๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้
กล่าวชักชวนสัทธิวิหาริกของพระพี่ชายว่า “ท่านจงมาเถิด พวกเราจะไปบิณฑบาต
ในหมู่บ้าน” แล้วไม่ได้ให้ทายกถวายอะไรแก่เธอ นิมนต์กลับด้วยกล่าวว่า “ท่านจง
กลับไปเถิด พูดหรือนั่งกับท่าน ไม่ทำให้เราสบาย เราพูดหรือนั่งคนเดียวสบายกว่า”
เมื่อใกล้เวลาฉันแล้ว ภิกษุนั้นไม่สามารถหาบิณฑบาตฉันได้ทัน แม้ไปรับ
ภัตตาหารที่เขาแจกในโรงฉันก็ไม่ทัน จึงไม่ได้ฉันภัตตาหาร ครั้นภิกษุนั้นไปถึงอาราม
จึงเล่าเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
พระอุปนันทศากยบุตรกล่าวชักชวนภิกษุว่า ‘ท่านจงมาเถิด พวกเราจะไปบิณฑบาต
ในหมู่บ้าน แล้วไม่ได้ให้ทายกถวายอะไรแก่เธอ แล้วนิมนต์กลับเล่า” ครั้นภิกษุ
ทั้งหลายตำหนิท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุทรง
สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เธอกล่าวชักชวนภิกษุ
ว่า ท่านจงมาเถิด พวกเราจะไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน แล้วไม่ได้ให้ทายกถวายอะไร
แก่เธอ แล้วนิมนต์กลับ จริงหรือ” ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๒๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๒.อุยโยชนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
กล่าวชักชวนภิกษุว่า ท่านจงมาเถิด พวกเราจะไปบิณฑบาตในหมู่บ้านแล้วไม่ได้ให้
ทายกถวายอะไรแก่เธอแล้วนิมนต์กลับเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่
ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๒๗๕] ก็ ภิกษุใดกล่าวชักชวนภิกษุว่า “ท่านจงมาเถิด พวกเราจะไป
บิณทบาตในหมู่บ้านหรือในนิคม” แล้วให้ทายกถวายหรือไม่ให้ทายกถวายแก่
เธอแล้วนิมนต์กลับด้วยกล่าวว่า “ท่านจงกลับไปเถิด พูดหรือนั่งกับท่านไม่
ทำให้เราสบาย เราพูดหรือนั่งคนเดียวสบายกว่า” มีเหตุผลเพียงเท่านี้ ไม่มี
อะไรอื่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๒๗๖] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า ภิกษุ หมายถึง ภิกษุรูปอื่น
คำว่า ท่านจงมาเถิด...ในหมู่บ้านหรือในนิคม คือ หมู่บ้านก็ดี นิคมก็ดี
เมืองก็ดี ชื่อว่าหมู่บ้านและนิคม
คำว่า ให้ทายกถวายแก่เธอ คือ ให้เขาถวายข้าวต้ม ข้าวสวย ของเคี้ยว
หรือของฉัน
คำว่า ไม่ให้ทายกถวาย คือ ไม่ให้ทายกถวายอะไร ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๒๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๒.อุยโยชนสิกขาบท บทภาชนีย์
คำว่า นิมนต์กลับ ความว่า ภิกษุปรารถนาจะกระซิกกระซี้ ปรารถนาจะ
หยอกเย้า ปรารถนาจะนั่งในที่ลับ หรือปรารถนาจะประพฤติอนาจารกับมาตุคาม
กล่าวนิมนต์กลับอย่างนี้ว่า “ท่านจงกลับไปเถิด พูดหรือนั่งกับท่าน ไม่ทำให้เรา
สบาย เราพูดหรือนั่งคนเดียวสบายกว่า” ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อเธอไปถึงระยะที่มอง
ไม่เห็นหรือไม่ได้ยินเสียง ภิกษุรูปที่นิมนต์กลับต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อเธอไปจนพ้น
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า มีเหตุผลเพียงเท่านี้ไม่มีอะไรอื่น ความว่า ไม่มีเหตุผลอย่างอื่นเพื่อ
ส่งกลับ
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๗๗] อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน นิมนต์กลับ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ นิมนต์กลับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน นิมนต์กลับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกกฏ
ภิกษุทำเป็นโกรธ นิมนต์กลับ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุนิมนต์อนุปสัมบันกลับ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทำเป็นโกรธ นิมนต์กลับ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๒๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๒.อุยโยชนสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๗๘] ๑. ภิกษุนิมนต์กลับด้วยคิดว่า เราสองรูปฉันด้วยกัน ภัตตาหาร
จะไม่พอ
๒. ภิกษุนิมนต์กลับด้วยคิดว่า รูปนั้นพบของมีค่าแล้วจะเกิดความ
โลภ
๓. ภิกษุนิมนต์กลับด้วยคิดว่า รูปนั้นเห็นมาตุคามแล้วจะเกิดความ
กำหนัด
๔. ภิกษุนิมนต์กลับด้วยสั่งว่า เธอจงนำข้าวต้ม ข้าวสวย หรือของ
เคี้ยวของฉันไปถวายภิกษุเป็นไข้ ภิกษุผู้ตกค้างอยู่ หรือภิกษุ
ผู้เฝ้าวิหาร
๕. ภิกษุไม่ประสงค์จะประพฤติอนาจารแต่มีธุระจำเป็นจึงส่งกลับ
๖. ภิกษุวิกลจริต
๗. ภิกษุต้นบัญญัติ
อุยโยชนสิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๒๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๓.สโภชนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๕. อเจลกวรรค
๓. สโภชนสิกขาบท
ว่าด้วยการเข้าไปแทรกแซงในที่ที่มีคน ๒ คน
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๒๗๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้ไป
เรือนของสหายแล้วได้นั่งในห้องนอนกับภรรยาของสหาย ทีนั้น สหายนั้นได้เข้าไปหา
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรถึงอาสนะ ครั้นถึงแล้วได้ไหว้ท่านพระอุปนันทศากยบุตร
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร สหายนั้นผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้วได้กล่าวกับภรรยาดังนี้ว่า “เธอ
จงถวายภิกษาหารแด่พระคุณเจ้า” ลำดับนั้น ภรรยาของสหายนั้นได้ถวายภิกษาหาร
แก่ท่านอุปนันทศากยบุตรแล้ว
ครั้งนั้น สหายนั้นได้กล่าวกับท่านพระอุปนันทศากยบุตรดังนี้ว่า “นิมนต์พระ
คุณเจ้ากลับไปเถิด ขอรับ เพราะได้ถวายภิกษาหารแด่พระคุณเจ้าแล้ว”
ภรรยาของสหายนั้นกำหนดรู้ว่าสามีถูกราคะกลุ้มรุมแล้ว จึงได้กล่าวกับท่าน
พระอุปนันทศากยบุตรดังนี้ว่า “พระคุณเจ้า นิมนต์ท่านนั่งอยู่เถิด อย่าเพิ่งกลับ”
แม้ครั้งที่ ๒ สหายนั้น ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ สหายนั้นได้กล่าวกับท่านพระอุปนันทศากยบุตรดังนี้ว่า “นิมนต์
พระคุณเจ้ากลับไปเถิด ขอรับ เพราะได้ถวายภิกษาหารแด่พระคุณเจ้าแล้ว”
แม้ครั้งที่ ๓ ภรรยาของสหายนั้น ก็ได้กล่าวกับท่านพระอุปนันทศากยบุตร
ดังนี้ว่า “พระคุณเจ้า นิมนต์ท่านนั่งอยู่เถิด อย่าเพิ่งกลับ”
ครั้งนั้น สหายของท่านพระอุปนันทศากยบุตร ได้ออกไปเที่ยวฟ้องภิกษุทั้งหลาย
ว่า “พระคุณเจ้าอุปนันทศากยบุตรรูปนี้นั่งในห้องนอนกับภรรยาของกระผม กระผม
นิมนต์ให้ท่านกลับ ก็ไม่ปรารถนาจะกลับ พวกกระผมมีกิจมาก มีงานที่ต้องทำมาก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๒๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๓.สโภชนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
พระอุปนันทศากยบุตรจึงเข้านั่งแทรกแซงในตระกูลที่มีคน ๒ คนเล่า” ครั้นภิกษุ
ทั้งหลายตำหนิท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เธอนั่งแทรกแซงใน
ตระกูลที่มีคน ๒ คน จริงหรือ” ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า “จริง พระ
พุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึง
เข้าไปนั่งแทรกแซงในตระกูลที่มีคน ๒ คนเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๒๘๐] ก็ ภิกษุใดเข้าไปนั่งแทรกแซงในตระกูลที่มีคน ๒ คน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๒๘๑] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
สกุลที่ชื่อว่า มีคน ๒ คน คือ สตรีกับบุรุษอยู่ด้วยกัน สตรีและบุรุษยังไม่
แยกออกจากกัน ทั้ง ๒ คนยังไม่ปราศจากราคะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๒๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๓.สโภชนสิกขาบท บทภาชนีย์
คำว่า เข้าไปแทรกแซง คือ เข้าไปข้างใน
คำว่า นั่ง ความว่า ในเรือนใหญ่ ภิกษุนั่งละหัตถบาสบานประตู๑ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ในเรือนเล็ก ภิกษุนั่งล้ำตรงกลางห้องนอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๘๒] ห้องนอน ภิกษุสำคัญว่าเป็นห้องนอน เข้าไปนั่งแทรกแซงในตระกูลที่
มีคน ๒ คน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ห้องนอน ภิกษุไม่แน่ใจ เข้าไปนั่งแทรกแซงในตระกูลที่มีคน ๒ คน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
ห้องนอน ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ห้องนอน เข้าไปนั่งแทรกแซงในตระกูลที่มีคน ๒
คน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกทุกกฏ
ไม่ใช่ห้องนอน ภิกษุสำคัญว่าเป็นห้องนอน ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ห้องนอน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ห้องนอน ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ห้องนอน ไม่ต้องอาบัติ

เชิงอรรถ :
๑ นั่งละหัตถบาสบานประตู หมายความว่า นั่งห่างชั่วระยะเหยียดแขนออกไปจับตัวคนที่นั่งใกล้ได้ เท่ากับ ๒
ศอกคืบ (วิ.อ. ๒/๔๗๗-๘/๑๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๒๙ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น