Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๐๔-๓ หน้า ๘๙ - ๑๓๑

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๔-๓ วินัยปิฎกที่ ๐๔ มหาวรรค ภาค ๑



พระวินัยปิฎก
มหาวรรค ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๖. สัทธิวิหาริกวัตตกถา
ถ้าจีวรชุ่มเหงื่อ พึงผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้ที่แดด พึงพับจีวร เมื่อจะพับ
จีวร พึงพับจีวรให้เหลื่อมมุมกัน ๔ นิ้ว ตั้งใจว่า ตรงกลางจะได้ไม่มีรอยพับ พึงม้วน
ประคตเอวใส่ขนดจีวร
ถ้าบิณฑบาตมี และสัทธิวิหาริกต้องการจะฉัน พึงถวายน้ำแล้วนำบิณฑบาต
เข้าไปถวาย นำน้ำฉันมาถวาย เมื่อสัทธิวิหาริกฉันเสร็จแล้ว พึงถวายน้ำ รับบาตรมา
ถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้วเช็ดให้สะเด็ดน้ำผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่งทิ้ง
ไว้ที่แดด
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือ
ข้างหนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง
เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร
เมื่อสัทธิวิหาริกลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ พึงเก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า
กระเบื้องเช็ดเท้า ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด
ถ้าสัทธิวิหาริกต้องการจะสรงน้ำ พึงจัดน้ำสรงถวาย ถ้าเธอต้องการน้ำเย็น
พึงจัดน้ำเย็นให้ ถ้าเธอต้องการน้ำอุ่น พึงจัดน้ำอุ่นถวาย
ถ้าสัทธิวิหาริกต้องการจะเข้าเรือนไฟ พึงบดจุรณ พึงแช่ดิน ถือตั่งสำหรับ
เรือนไฟเดินไป ถวายตั่งสำหรับเรือนไฟแล้วรับจีวรมาวาง ณ ที่สมควร พึงถวาย
จุรณและดิน
ถ้าสามารถ พึงเข้าเรือนไฟ เมื่อจะเข้าเรือนไฟ พึงเอาดินทาหน้าปิดหน้า
และหลัง จึงเข้าเรือนไฟ ไม่พึงนั่งเบียดพระเถระ ไม่พึงกีดกันอาสนะพระนวกะ พึงทำ
บริกรรมแก่สัทธิวิหาริกในเรือนไฟ เมื่อจะออกจากเรือนไฟ พึงถือตั่งสำหรับเรือน
ไฟปิดหน้าและหลัง จึงออกจากเรือนไฟ
พึงทำบริกรรมแก่สัทธิวิหาริกแม้ในน้ำ ตนสรงเสร็จแล้ว พึงขึ้นก่อนเช็ดตัวให้
แห้งแล้วผลัดผ้า พึงเช็ดน้ำจากตัวสัทธิวิหาริก ถวายผ้านุ่ง สังฆาฏิ ถือตั่งสำหรับ
เรือนไฟมาก่อน ปูอาสนะ เตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ นำน้ำฉัน
มาถวายสัทธิวิหาริก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๘๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๖. สัทธิวิหาริกวัตตกถา
สัทธิวิหาริกอยู่ในวิหารใด ถ้าวิหารนั้นสกปรก ถ้าสามารถ พึงชำระให้สะอาด
เมื่อจะชำระวิหารให้สะอาด พึงขนบาตรและจีวรออกก่อน วางไว้ ณ ที่สมควร
พึงขนผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน ฟูก หมอน ออกมาวางไว้ ณ ที่สมควร
เตียง ตั่ง อุปัชฌาย์พึงยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบบาน
ประตูและกรอบประตู ขนออกไปตั้งไว้ ณ ที่สมควร เขียงรองเตียง กระโถน พนักพิง
พึงขนออกมาวางไว้ ณ ที่สมควร พรมปูพื้น พึงสังเกตที่ปูไว้เดิม ค่อยขนออก
มาวางไว้ ณ ที่สมควร
ถ้าในวิหารมีหยากเยื่อ พึงกวาดเพดานลงมาก่อน กรอบหน้าต่างและมุม
ห้องพึงเช็ด
ถ้าฝาที่ทาน้ำมันหรือพื้นทาสีดำขึ้นรา พึงใช้ผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ด
ถ้าเป็นพื้นไม่ได้ทา พึงใช้น้ำประพรมเช็ด อย่าให้วิหารคลาคล่ำด้วยฝุ่นละออง
พึงเก็บหยากเยื่อไปทิ้ง ณ ที่สมควร
พรมปูพื้น พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับปูไว้ตามเดิม เขียงรองเตียง พึง
ผึ่งแดด เช็ด ขนกลับวางไว้ตามเดิม
เตียง ตั่ง พึงผึ่งแดด ชำระ ปัด ยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบ
บานประตูและกรอบประตู ขนกลับตั้งไว้ตามเดิม ฟูก หมอน ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน
พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับวางปูไว้ตามเดิม กระโถน พนักพิง พึงผึ่งแดด
เช็ดถู ขนกลับวางไว้ตามเดิม
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือข้าง
หนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง
เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร
ถ้าลมเจือฝุ่นละอองพัดมาทางทิศตะวันออก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันออก
ถ้าพัดมาทางทิศตะวันตก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก
ถ้าพัดมาทางทิศเหนือ พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๖. สัทธิวิหาริกวัตตกถา
ถ้าพัดมาทางทิศใต้ พึงปิดหน้าต่างด้านใต้
ถ้าเป็นฤดูหนาว พึงเปิดหน้าต่างกลางวัน ปิดกลางคืน
ถ้าเป็นฤดูร้อน พึงปิดหน้าต่างกลางวัน เปิดกลางคืน
ถ้าบริเวณ ซุ้ม โรงฉัน โรงไฟ วัจกุฎีรก พึงปัดกวาด ถ้าน้ำฉันน้ำใช้ไม่มี
พึงจัดเตรียมไว้ ถ้าหม้อน้ำชำระไม่มีน้ำ พึงตักน้ำใส่หม้อชำระ
ถ้าสัทธิวิหาริกเกิดความไม่ยินดี อุปัชฌาย์พึงช่วยระงับ หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยระงับ หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่สัทธิวิหาริก
ถ้าสัทธิวิหาริกเกิดความรำคาญ อุปัชฌาย์พึงช่วยบรรเทา หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยบรรเทา หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่สัทธิวิหาริก
ถ้าสัทธิวิหาริกเกิดความเห็นผิด อุปัชฌาย์พึงให้สละเสีย หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยให้สละเสีย หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่สัทธิวิหาริก
ถ้าสัทธิวิหาริกต้องอาบัติหนัก ควรแก่ปริวาส อุปัชฌาย์พึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้ปริวาสแก่สัทธิวิหาริก”
ถ้าสัทธิวิหาริกควรแก่การชักเข้าหาอาบัติเดิม อุปัชฌาย์พึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงชักสัทธิวิหาริกเข้าหาอาบัติเดิม”
ถ้าสัทธิวิหาริกควรแก่มานัต อุปัชฌาย์พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย
อย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้มานัตแก่สัทธิวิหาริก”
ถ้าสัทธิวิหาริกควรแก่อัพภาน อุปัชฌาย์พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย
อย่างไรหนอ สงฆ์พึงอัพภานสัทธิวิหาริก”
ถ้าสงฆ์ต้องการจะทำกรรม คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนีย
กรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแก่สัทธิวิหาริก อุปัชฌาย์พึงทำการ
ขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์ไม่พึงทำกรรมแก่สัทธิวิหาริกหรือพึง
เปลี่ยนไปเป็นโทษเบา” หรือว่าสัทธิวิหาริกได้ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม นิยสกรรม
ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแล้ว อุปัชฌาย์พึงทำการ
ขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สัทธิวิหาริกพึงกลับประพฤติชอบ พึง
หายเย่อหยิ่ง พึงกลับตัวได้ สงฆ์พึงระงับกรรมนั้นเสีย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
ถ้าจีวรของสัทธิวิหาริกจะต้องซัก อุปัชฌาย์พึงบอกว่า “พึงซักอย่างนี้” หรือ
พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงซักจีวรของสัทธิวิหาริก”
ถ้าจีวรของสัทธิวิหาริกจะต้องตัดเย็บ อุปัชฌาย์พึงบอกว่า “พึงตัดเย็บอย่างนี้”
หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงตัดเย็บจีวรของ
สัทธิวิหาริก”
ถ้าน้ำย้อมของสัทธิวิหาริกจะต้องต้ม อุปัชฌาย์พึงบอกว่า “พึงต้มอย่างนี้”
หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงต้มน้ำย้อมของ
สัทธิวิหาริก”
ถ้าจีวรของสัทธิวิหาริกจะต้องย้อม อุปัชฌาย์พึงบอกว่า “พึงย้อมอย่างนี้” หรือ
พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงย้อมจีวรของสัทธิวิหาริก”
เมื่อจะย้อมจีวร พึงย้อมพลิกกลับไปกลับมาดี ๆ เมื่อหยาดน้ำย้อมยังหยด ไม่ขาด
สาย ไม่พึงหลีกไป
ถ้าสัทธิวิหาริกเป็นไข้ พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต พึงรอจนกว่าสัทธิวิหาริกนั้น
จะหาย
สัทธิวิหาริกวัตตกถา จบ
๑๗. ปณามิตกถา
ว่าด้วยการประณาม
[๖๘] สมัยนั้น พวกสัทธิวิหาริกไม่ประพฤติชอบในอุปัชฌาย์ทั้งหลาย
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกสัทธิวิหาริกจึงได้ไม่ประพฤติชอบในพระอุปัชฌาย์ทั้งหลายเล่า” แล้วจึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงสอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค รับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ
ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกสัทธิวิหาริกไม่ประพฤติ
ชอบในอุปัชฌาย์ทั้งหลาย จริงหรือ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ ไฉน พวกสัทธิวิหาริก
จึงไม่ประพฤติชอบในอุปัชฌาย์ทั้งหลายเล่า” ครั้นทรงตำหนิแล้ว ทรงแสดงธรรมีกถา
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกจะไม่ประพฤติชอบในอุปัชฌาย์
ไม่ได้ รูปใดไม่ประพฤติชอบ ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องทรงอนุญาตให้ประณาม
สัทธิวิหาริกทั้งหลายก็ยังไม่ประพฤติชอบอยู่เช่นเดิม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ประณามสัทธิวิหาริก
ผู้ไม่ประพฤติชอบ
วิธีประณาม
ภิกษุทั้งหลาย ก็อุปัชฌาย์พึงประณามสัทธิวิหาริกอย่างนี้ว่า “ฉันประณาม
เธอ” หรือ “เธออย่าเข้ามาที่นี้” “เธอจงขนบาตรและจีวรของเธอไป” หรือ “เธอไม่
ต้องอุปัฏฐากฉัน”
อุปัชฌาย์ให้สัทธิวิหาริกรู้ด้วยกาย ให้รู้ด้วยวาจา หรือให้รู้ด้วยกายและวาจา
เป็นอันได้ประณามสัทธิวิหาริกแล้ว อุปัชฌาย์ไม่ให้สัทธิวิหาริกรู้ด้วยกาย ไม่ให้รู้
ด้วยวาจา หรือไม่ให้รู้ด้วยกายและวาจา เป็นอันยังมิได้ประณามสัทธิวิหาริก
สัทธิวิหาริกไม่ขอขมา
สมัยนั้น สัทธิวิหาริกทั้งหลายถูกประณามแล้ว ก็ยังไม่ยอมขอขมาอุปัชฌาย์
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สัทธิวิหาริกขอขมา
อุปัชฌาย์”
สัทธิวิหาริกทั้งหลาย ก็ยังไม่ยอมขอขมาอุปัชฌาย์อยู่เช่นเดิม ภิกษุทั้งหลาย
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกถูกประณามแล้ว จะไม่
ขอขมาอุปัชฌาย์ไม่ได้ รูปใดไม่ขอขมา ต้องอาบัติทุกกฏ”
อุปัชฌาย์ไม่รับการขอขมา
สมัยนั้น อุปัชฌาย์ทั้งหลายถูกสัทธิวิหาริกขอขมา ก็ยังไม่ยอมให้ขมา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุปัชฌาย์รับการ
ขอขมา”
อุปัชฌาย์ทั้งหลายก็ยังไม่ยอมให้ขมาอยู่เช่นเดิม พวกสัทธิวิหาริกพากันหลีก
ไปเสียบ้าง สึกเสียบ้าง ไปเข้ารีตเดียรถีย์เสียบ้าง ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์ผู้ที่สัทธิวิหาริกขอขมา
จะไม่รับการขอขมาไม่ได้ รูปใดไม่รับการขอขมา ต้องอาบัติทุกกฏ”
ทรงปรับทุกกฏเมื่อประณามไม่ถูกต้อง
สมัยนั้น อุปัชฌาย์ทั้งหลายประณามสัทธิวิหาริกผู้ประพฤติชอบ ไม่ประณาม
สัทธิวิหาริกผู้ประพฤติมิชอบ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประพฤติชอบ
อุปัชฌาย์ไม่พึงประณาม รูปใดประณาม ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริก
ผู้ไม่ประพฤติชอบ อุปัชฌาย์จะไม่ประณามไม่ได้ รูปใดไม่ประณาม ต้องอาบัติทุกกฏ”
องค์แห่งการประณาม
ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์พึงประณามสัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๑. ไม่มีความรักอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๒. ไม่มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
๓. ไม่มีความละอายอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๔. ไม่มีความเคารพอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๕. ไม่มีความหวังดี๑อย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์พึงประณามสัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้
ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์ไม่พึงประณามสัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๑. มีความรักอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๒. มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๓. มีความละอายอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๔. มีความเคารพอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๕. มีความหวังดีอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์ไม่พึงประณามสัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ควรที่จะถูกประณาม คือ
๑. ไม่มีความรักอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๒. ไม่มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๓. ไม่มีความละอายอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๔. ไม่มีความเคารพอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๕. ไม่มีความหวังดีอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ ควรที่จะถูกประณาม
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ควรที่จะถูกประณาม คือ
๑. มีความรักอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๒. มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์

เชิงอรรถ :
๑ ภาวนา ความหวังดีในที่นี้หมายถึง เมตตาภาวนา (วิ.อ. ๓/๖๘/๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
๓. มีความละอายอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๔. มีความเคารพอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๕. มีความหวังดีอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ ไม่ควรที่
จะถูกประณาม
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เมื่ออุปัชฌาย์ไม่ประณาม
ย่อมมีโทษ เมื่อประณาม ย่อมไม่มีโทษ คือ
๑. ไม่มีความรักอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๒. ไม่มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๓. ไม่มีความละอายอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๔. ไม่มีความเคารพอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๕. ไม่มีความหวังดีอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ เมื่ออุปัชฌาย์ไม่
ประณาม ย่อมมีโทษ เมื่อประณาม ย่อมไม่มีโทษ
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เมื่ออุปัชฌาย์ประณาม
ย่อมมีโทษ เมื่อไม่ประณาม ย่อมไม่มีโทษ คือ
๑. มีความรักอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๒. มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๓. มีความละอายอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๔. มีความเคารพอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๕. มีความหวังดีอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ เมื่ออุปัชฌาย์
ประณาม ย่อมมีโทษ เมื่อไม่ประณาม ย่อมไม่มีโทษ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
มูลเหตุให้เกิดการอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม
เรื่องพราหมณ์ซูบผอมเพราะไม่ได้บวช
[๖๙] สมัยนั้น พราหมณ์คนหนึ่ง เข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอการบรรพชา
ภิกษุทั้งหลายไม่ประสงค์จะให้เขาบรรพชา
เขาเมื่อไม่ได้การบรรพชาในหมู่ภิกษุ จึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง
เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์นั้นซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง
เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง จึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทำไมพราหมณ์
ผู้นั้นจึงได้ซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่งเล่า”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “พราหมณ์นั่นได้เข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอการ
บรรพชา ภิกษุทั้งหลายไม่ประสงค์จะให้เขาบรรพชา เขาเมื่อไม่ได้การบรรพชาใน
หมู่ภิกษุ จึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ใคร
ระลึกความดีของพราหมณ์นั้นได้บ้าง”
เมื่อตรัสถามอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลพระผู้มีภาคดังนี้ว่า “ข้า
พระองค์ระลึกความดีของพราหมณ์นั้นได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร เธอระลึกความดีอะไรของพราหมณ์นั้นได้”
“พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์นี้ พราหมณ์
นั้นได้ถวายภิกษาทัพพีหนึ่ง ข้าพระองค์ระลึกความดีนี้ของพราหมณ์นั้นได้ พระ
พุทธเจ้าข้า”
“ดีละ ๆ สารีบุตร จริงอยู่ สัตบุรุษทั้งหลายเป็นผู้กตัญญูกตเวที สารีบุตร
ถ้าเช่นนั้น เธอจงให้พราหมณ์นั้นบรรพชาอุปสมบทเถิด”
“ข้าพระองค์จะให้พราหมณ์นั้นบรรพชาอุปสมบทอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้ว
รับสั่งภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย นับแต่วันนี้เป็นต้นไป เราห้ามการอุปสมบท
ด้วยไตรสรณคมน์ที่เราได้อนุญาตไว้ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุปสมบทด้วย
ญัตติจตุตถกรรม
วิธีให้อุปสมบทและกรรมวาจาให้อุปสมบท
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้อุปสมบทอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศ
ให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า
[๗๐] “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะ
(ผู้ขอบวชเป็นภิกษุ)ของท่านผู้มีชื่อนี้ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท
มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของ
ท่านผู้มีชื่อนี้ สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็น
ด้วยกับการให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใด
ไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้น พึงทักท้วง
แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าก็กล่าวความนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่าน
ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบทมีท่านผู้มีชื่อนี้
เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้น พึงทักท้วง
แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าก็กล่าวความนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบทมีท่าน
ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้
เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้น พึงทักท้วง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
ผู้มีชื่อนี้สงฆ์ให้อุปสมบทแล้ว มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ สงฆ์เห็นด้วย
เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”
เรื่องภิกษุประพฤติไม่สมควร
[๗๑] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งพออุปสมบทแล้วได้ประพฤติไม่สมควร ภิกษุ
ทั้งหลายพากันกล่าวห้ามปรามว่า “อาวุโส ท่านอย่าได้กระทำอย่างนั้น เพราะการ
กระทำอย่างนั้นไม่ควร”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “กระผมมิได้ขอร้องท่านผู้มีอายุทั้งหลายว่า ‘จงให้กระผม
อุปสมบท’ ท่านทั้งหลายมิได้รับการขอร้องจากกระผม ให้กระผมอุปสมบททำไม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมิได้รับการขอร้อง ไม่พึงให้
กุลบุตรอุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
ภิกษุผู้ได้รับการขอร้องให้กุลบุตรอุปสมบทได้
วิธีขอการอุปสมบท
ภิกษุทั้งหลาย ก็อุปสัมปทาเปกขะพึงขออย่างนี้
อุปสัมปทาเปกขะพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า
ภิกษุทั้งหลาย นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวคำขอการอุปสมบทอย่างนี้ว่า “ท่าน
ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอการอุปสมบทต่อสงฆ์ ขอสงฆ์โปรดอนุเคราะห์ยกข้าพเจ้า
ขึ้นเถิด๑ เจ้าข้า”
พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
พึงขอแม้ครั้งที่ ๓ ฯลฯ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า

เชิงอรรถ :
๑ ยกข้าพเจ้าขึ้นเถิด หมายถึงยกขึ้นจากอกุศล แล้วให้ตั้งอยู่ในกุศล ในที่นี้หมายถึงยกขึ้นจากความเป็น
สามเณร ให้ตั้งอยู่ในความเป็นภิกษุ (วิ.อ. ๓/๗๑/๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
กรรมวาจาให้อุปสมบท
[๗๒] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะ
ของท่านผู้มีชื่อนี้ ผู้มีชื่อนี้ขออุปสมบทต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงให้ผู้มีชื่อนี้
อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่าน
ผู้มีชื่อนี้ ผู้มีชื่อนี้ขออุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้
อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ผู้มีชื่อนี้
อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย
ท่านรูปนั้น พึงทักท้วง
แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ ฯลฯ
ผู้มีชื่อนี้สงฆ์ให้อุปสมบทแล้ว มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ สงฆ์เห็นด้วย
เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
เรื่องพราหมณ์บวชเพราะเห็นแก่ปากท้อง
[๗๓] สมัยนั้น ประชาชนในกรุงราชคฤห์ได้จัดลำดับภัตตาหารอันประณีตไว้
พราหมณ์คนหนึ่งมีความคิดว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้มีลักษณะ
นิสัยดี ประพฤติเรียบร้อย บริโภคอาหารดี นอนในห้องมิดชิด ถ้ากระไร เราพึง
บวชในพวกสมณะเชื้อสายศากยบุตร” ต่อมา จึงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอบรรพชา
ภิกษุทั้งหลายได้ให้บรรพชาอุปสมบท ครั้นเขาบวชแล้ว ลำดับภัตตาหารได้ล้มเลิกไป
ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า “ท่าน มาเถิด บัดนี้ พวกเราจักไปบิณฑบาตกัน”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ผมไม่ได้บวชเพราะเหตุนี้ว่า จักเที่ยวบิณฑบาต
ถ้าท่านทั้งหลายถวายผม ผมจักฉัน ถ้าไม่ถวายผม ผมจักสึก ขอรับ”
ภิกษุทั้งหลายจึงถามว่า “อาวุโส ก็ท่านบวชเพราะเหตุแห่งปากท้องหรือ”
ท่านตอบว่า “ใช่ ขอรับ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุจึงได้บวชในพระธรรมวินัยอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้ เพราะเหตุแห่ง
ปากท้องเล่า” แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่าเธอบวชเพราะเหตุ
แห่งปากท้อง จริงหรือ”
ภิกษุนั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้บวชใน
ธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ดีอย่างนี้ เพราะเหตุแห่งปากท้องเล่า โมฆบุรุษ การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้ว ทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลาย
ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ให้อุปสมบทบอกนิสสัย ๔ คือ
นิสสัย ๔
๑. บรรพชาอาศัยโภชนะคือคำข้าวที่พึงได้ด้วยปลีแข้งเธอพึงทำอุตสาหะ
ในโภชนะคือคำข้าวที่พึงได้ด้วยปลีแข้งนั้นจนตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ สังฆภัต
อุทเทสภัต นิมันตนภัต สลากภัต ปักขิกภัต อุโปสถิกภัต ปาฏิปทิกภัต๑
๒. บรรพชาอาศัยผ้าบังสุกุล เธอพึงทำอุตสาหะในผ้าบังสุกุลนั้นจน
ตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน
ผ้าเจือกัน

เชิงอรรถ :
๑ สังฆภัต คือ ภัตตาหารถวายสงฆ์ทั้งหมด
อุทเทสภัต คือ ภัตตาหารถวายภิกษุ ๒ - ๓ รูป
นิมันตนภัต คือ ภัตตาหารที่นิมนต์แล้วถวาย
สลากภัต คือ ภัตตาหารที่นิมนต์ให้จับสลากแล้วถวาย(ตามสลาก)
ปักขิกภัต คือ ภัตตาหารถวายปักษ์(๑๕ วัน)ละ ๑ ครั้ง
อุโปสถิกภัต คือ ภัตตาหารถวายในวันอุโบสถ
ปาฏิปทิกภัต คือ ภัตตาหารถวายในวันแรม ๑ ค่ำ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๗๑-๗๓/๒๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
๓. บรรพชาอาศัยเสนาสนะคือควงไม้ เธอพึงทำอุตสาหะในเสนาสนะ
คือ ควงไม้นั้นจนตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ วิหาร เรือนมุงแถบเดียว ปราสาท
เรือนโล้น ถ้ำ
๔. บรรพชาอาศัยยาคือน้ำมูตรเน่า เธอพึงทำอุตสาหะในยาคือน้ำมูตร
เน่านั้นจนตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
อุปัชฌายวัตตภาณวารที่ ๕ จบ
ปณามิตกถา จบ
๑๘. อาจริยวัตตกถา๑
ว่าด้วยอาจริยวัตร
เรื่องการบอกนิสสัยแก่มาณพก่อนบวช
[๗๔] สมัยนั้น มาณพคนหนึ่งเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอบรรพชา ภิกษุ
ทั้งหลายได้บอกนิสสัยแก่เขาก่อนบวช เขากล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านขอรับ ถ้า
บวชแล้ว ท่านทั้งหลายจะพึงบอกนิสสัยแก่กระผม กระผมก็จะยินดียิ่ง บัดนี้
กระผมจักไม่บวช ขอรับ เพราะว่านิสสัยเป็นสิ่งที่น่าชังน่าเกลียดสำหรับกระผม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลายไม่พึงบอกนิสสัยก่อนบวช รูปใดบอก
ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกนิสสัยพออุปสมบทเสร็จ”
เรื่องให้อุปสมบทด้วยคณะ
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายให้อุปสมบทด้วยคณะมีพวก ๒ บ้าง มีพวก ๓ บ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ วิ.จู. ๗/๓๗๙-๓๘๐/๑๘๔-๑๘๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงให้อุปสมบทด้วยคณะมีพวก
หย่อน ๑๐ ภิกษุรูปใด ให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
อุปสมบทด้วยคณะมีพวก ๑๐ หรือมีพวกเกิน ๑๐ ได้”
เรื่องอุปัชฌาย์มีพรรษาเดียวให้กุลบุตรบวช
[๗๕] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายมีพรรษา ๑ บ้าง มีพรรษา ๒ บ้าง ให้
สัทธิวิหาริกอุปสมบท แม้ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรมีพรรษาเดียว ก็ให้สัทธิวิหาริก
อุปสมบท ท่านออกพรรษาแล้ว มีพรรษา ๒ ได้พาสัทธิวิหาริกมีพรรษา ๑ เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
อันการที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย
นั่นเป็นพุทธประเพณี ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระอุปเสนวังคันต
บุตรว่า “ภิกษุ เธอยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ เธอเดินทางมาโดยไม่
ลำบากหรือ”
ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรกราบทูลว่า “ยังสบายดี พระพุทธเจ้าข้า ยังพอ
เป็นอยู่ได้ พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์เดินทางมาโดยไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า”
พุทธประเพณี
พระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงทราบเรื่องตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบ
กาลอันควร ตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ตรัสถามเรื่องที่เป็นประโยชน์ ไม่ตรัส
ถามเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ทรงขจัดเรื่องที่ไม่เป็น
ประโยชน์เสียด้วยอริยมรรคแล้ว
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย สอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยเหตุ ๒ ประการ
คือ จะทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จะทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกอย่างหนึ่ง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรว่า “เธอมี
พรรษาเท่าไร ภิกษุ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ได้ ๒ พรรษาแล้ว
พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุรูปนี้ มีพรรษาเท่าไร”
“มีพรรษาเดียว พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุรูปนี้ เป็นอะไรกับเธอ”
“เป็นสัทธิวิหาริกของข้าพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า”
ทรงตำหนิ
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั้น
ไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย โมฆบุรุษ
เธอยังเป็นผู้ที่ผู้อื่นจะต้องตักเตือนพร่ำสอน ไฉนจึงได้สำคัญตนเพื่อตักเตือนพร่ำสอน
ผู้อื่นเล่า เธอเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับหมู่เร็วยิ่งนัก
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
ให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถา รับสั่งกับภิกษุ
ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีพรรษาหย่อน ๑๐ ไม่พึงให้อุปสมบท รูปใดให้
อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุมีพรรษาครบ ๑๐
หรือมีพรรษาเกิน ๑๐ ให้อุปสมบทได้”
เรื่องอุปัชฌาย์โง่เขลา
[๗๖] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายคิดว่า “เรามีพรรษาครบ ๑๐ เรามีพรรษา
ครบ ๑๐” แต่เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ให้อุปสมบท ปรากฏว่า อุปัชฌาย์เป็น
ผู้โง่เขลา สัทธิวิหาริกเป็นบัณฑิตก็มี อุปัชฌาย์เป็นผู้ไม่ฉลาด สัทธิวิหาริกเป็น
ผู้ฉลาดก็มี อุปัชฌาย์มีสุตะน้อย สัทธิวิหาริกเป็นพหูสูตก็มี อุปัชฌาย์มีปัญญาทราม
สัทธิวิหาริกมีปัญญาดีก็มี
แม้ภิกษุรูปหนึ่งเคยเป็นอัญเดียรถีย์ ถูกอุปัชฌาย์ว่ากล่าวโดยชอบธรรม ก็โต้
เถียงอุปัชฌาย์ไปเข้าลัทธิเดียรถีย์นั้นดังเดิม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
บรรดาภิกษุที่มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุ
ทั้งหลายจึงได้อ้างว่า ‘เรามีพรรษาครบ ๑๐ เรามีพรรษาครบ ๑๐’ แต่เป็นผู้โง่เขลา
ไม่ฉลาด ให้อุปสมบท ปรากฏว่า อุปัชฌาย์เป็นผู้โง่เขลา สัทธิวิหาริกเป็นบัณฑิตก็มี
อุปัชฌาย์เป็นผู้ไม่ฉลาด สัทธิวิหาริกเป็นผู้ฉลาดก็มี อุปัชฌาย์มีสุตะน้อย สัทธิวิหาริก
เป็นพหูสูตก็มี อุปัชฌาย์มีปัญญาทราม สัทธิวิหาริกมีปัญญาดีก็มี” จึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวก
ภิกษุได้อ้างว่า เรามีพรรษาครบ ๑๐ เรามีพรรษาครบ ๑๐ แต่เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด
ให้อุปสมบท ปรากฏว่าอุปัชฌาย์เป็นผู้โง่เขลา สัทธิวิหาริกเป็นผู้ฉลาดก็มี อุปัชฌาย์
เป็นผู้ไม่ฉลาด สัทธิวิหาริกเป็นผู้ฉลาดก็มี อุปัชฌาย์มีสุตะน้อย สัทธิวิหาริกเป็น
พหูสูตก็มี อุปัชฌาย์มีปัญญาทราม สัทธิวิหาริกมีปัญญาดีก็มี จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษ
เหล่านั้นจึงได้อ้างว่า เรามีพรรษาครบ ๑๐ เรามีพรรษาครบ ๑๐ แต่เป็นผู้โง่เขลา
ไม่ฉลาด ให้อุปสมบทเล่า ปรากฏว่าอุปัชฌาย์เป็นผู้โง่เขลา สัทธิวิหาริกเป็นบัณฑิตก็มี
อุปัชฌาย์เป็นผู้ไม่ฉลาด สัทธิวิหาริกเป็นผู้ฉลาดก็มี อุปัชฌาย์มีสุตะน้อย สัทธิวิหาริก
เป็นพหูสูตก็มี อุปัชฌาย์มีปัญญาทราม สัทธิวิหาริกมีปัญญาดีก็มี ภิกษุทั้งหลาย
การกระทำของพวกโมฆบุรุษนั่น มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่พึงให้อุปสมบท รูปใด
ให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถ
มีพรรษาครบ ๑๐ หรือมีพรรษาเกิน ๑๐ ให้อุปสมบทได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
เรื่องอุปัชฌาย์หลีกไป
[๗๗] สมัยนั้น เมื่ออุปัชฌาย์หลีกไปบ้าง สึกเสียบ้าง มรณภาพบ้าง ไปเข้า
รีตเดียรถีย์บ้าง ภิกษุทั้งหลายไม่มีอาจารย์ ไม่มีผู้คอยตักเตือนพร่ำสอน จึงนุ่งห่มไม่
เรียบร้อย มีมารยาทไม่สมควร เที่ยวบิณฑบาต เมื่อคนทั้งหลายกำลังบริโภค
ก็ยื่นบาตรสำหรับเที่ยวบิณฑบาตเข้าไปบนของบริโภคบ้าง บนของเคี้ยวบ้าง บน
ของลิ้มบ้าง บนน้ำดื่มบ้าง ออกปากขอแกงบ้าง ข้าวสุกบ้าง ด้วยตนเองมาฉัน
ส่งเสียงดังในโรงฉันบ้าง
คนทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนสมณะเชื้อสายศากย
บุตรทั้งหลายจึงได้นุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมารยาทไม่สมควร เที่ยวบิณฑบาต เมื่อคน
ทั้งหลายกำลังบริโภค ก็ยื่นบาตรสำหรับเที่ยวบิณฑบาตเข้าไปบนของบริโภคบ้าง
บนของเคี้ยวบ้าง บนของลิ้มบ้าง บนน้ำดื่มบ้าง ออกปากขอแกงบ้าง ข้าวสุกบ้าง
ด้วยตนเองมาฉัน ส่งเสียงดังในโรงฉันบ้าง เหมือนพวกพราหมณ์ในสถานที่เลี้ยง
พราหมณ์ฉะนั้นเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนาอยู่ บรรดาภิกษุ
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุทั้งหลาย
จึงได้นุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมารยาทไม่สมควร ... ส่งเสียงดังในโรงฉันบ้างเล่า” จึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวก
ภิกษุนุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมารยาทไม่สมควร ... ส่งเสียงดังในโรงฉันบ้าง จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
เรื่องถือนิสสัยอยู่ ๑๐ พรรษา
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉน โมฆบุรุษ
เหล่านั้น ฯลฯ” ครั้นแล้วทรงแสดงธรรมีกถา รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตอาจารย์ อาจารย์จักเข้าไปตั้งจิตสนิทสนมในอันเตวาสิกฉันบุตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
อันเตวาสิกจักเข้าไปตั้งจิตสนิทสนมในอาจารย์ฉันบิดา เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจารย์และ
อันเตวาสิกจักมีความเคารพยำเกรง ประพฤติกลมเกลียวกัน จักถึงความเจริญ
งอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อาศัยภิกษุ
มีพรรษา ๑๐ อยู่ อนุญาตให้ภิกษุมีพรรษา ๑๐ ให้นิสสัยได้”
วิธีถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกพึงถืออาจารย์อย่างนี้
อันเตวาสิกนั้นพึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า นั่งกระโหย่ง
ประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้า
จักอาศัยท่านอยู่ ท่านผู้เจริญ ท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจักอาศัย
ท่านอยู่ ท่านผู้เจริญ ท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักอาศัยท่านอยู่”
อาจารย์ให้อันเตวาสิกรู้ด้วยกาย ให้รู้ด้วยวาจา หรือให้รู้ด้วยกายและวาจา
ว่า “ดีละ” ว่า “เบาใจละ” ว่า “ชอบแก่อุบายละ” ว่า “สมควรละ” หรือว่า
“จงประพฤติปฏิบัติให้น่าเลื่อมใส” อาจารย์ชื่อว่าเป็นผู้ที่อันเตวาสิกถือแล้ว
อาจารย์ไม่ให้อันเตวาสิกรู้ด้วยกาย ไม่ให้รู้ด้วยวาจา หรือไม่ให้รู้ด้วยกาย
และวาจา อาจารย์เป็นผู้ที่อันเตวาสิกยังมิได้ถือ
อาจริยวัตร
[๗๘] ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกพึงประพฤติชอบในอาจารย์ วิธีประพฤติ
ชอบในอาจารย์นั้นมีดังนี้
อันเตวาสิกพึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ถอดรองเท้า ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
ถวายไม้ชำระฟัน น้ำล้างหน้า ปูอาสนะ
ถ้าข้าวต้มมี พึงล้างภาชนะใส่ข้าวต้มเข้าไปถวาย เมื่ออาจารย์ฉันข้าวต้ม
เสร็จแล้ว พึงถวายน้ำรับภาชนะมา ถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้ว
เก็บงำไว้ เมื่ออาจารย์ลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
ถ้าอาจารย์ต้องการจะเข้าหมู่บ้าน พึงถวายผ้านุ่ง รับผ้านุ่งอาศัย ถวาย
ประคดเอว ถวายสังฆาฏิที่พับซ้อนกัน ล้างบาตรแล้วถวายพร้อมทั้งน้ำ
ถ้าอาจารย์หวังจะให้เป็นปัจฉาสมณะ พึงนุ่งให้เรียบร้อยปกปิดได้มณฑล ๓
คาดประคดเอว ห่มสังฆาฏิที่พับซ้อนกัน กลัดลูกดุม ล้างบาตรถือไป เป็นปัจฉา
สมณะของอาจารย์ พึงเดินไม่ให้ห่างนัก ไม่ให้ชิดนัก พึงรับบาตรที่มีของบรรจุอยู่
เมื่ออาจารย์กำลังกล่าว ไม่พึงกล่าวสอดขึ้นในระหว่าง อาจารย์กล่าวถ้อยคำ
ใกล้ต่ออาบัติ พึงห้ามเสีย
เมื่ออาจารย์จะกลับ พึงมาก่อนแล้วปูอาสนะไว้ พึงเตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรอง
เท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ พึงลุกขึ้นรับบาตรและจีวร พึงถวายผ้านุ่งอาศัย รับผ้านุ่งมา
ถ้าจีวรชุ่มเหงื่อ พึงผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้ที่แดด พึงพับจีวร เมื่อจะ
พับจีวร พึงพับจีวรให้เหลื่อมมุมกัน ๔ นิ้ว ตั้งใจว่า ตรงกลางจะได้ไม่มีรอยพับ
พึงม้วนประคดเอวใส่ขนดจีวร
ถ้าบิณฑบาตมี และอาจารย์ต้องการจะฉัน พึงถวายน้ำแล้วน้อมบิณฑบาต
เข้าไปถวาย นำน้ำฉันมาถวาย เมื่ออาจารย์ฉันเสร็จแล้ว พึงถวายน้ำ รับบาตรมา
ถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้วเช็ดให้สะเด็ดน้ำผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้
ที่แดด
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งจับบาตร ใช้มือข้าง
หนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง
เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร
เมื่ออาจารย์ลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ พึงเก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า
กระเบื้องเช็ดเท้า ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด
ถ้าอาจารย์ต้องการจะสรงน้ำ พึงจัดน้ำสรงถวาย ถ้าท่านต้องการน้ำเย็น
พึงจัดน้ำเย็นถวาย ถ้าท่านต้องการน้ำอุ่น พึงจัดน้ำอุ่นถวาย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
ถ้าอาจารย์ต้องการจะเข้าเรือนไฟ พึงบดจุรณ พึงแช่ดิน ถือตั่งสำหรับเรือน
ไฟเดินตามหลังอาจารย์ไป ถวายตั่งสำหรับเรือนไฟแล้วรับจีวรมาวาง ณ ที่สมควร
จึงถวายจุรณและดิน
ถ้าสามารถ พึงเข้าเรือนไฟ เมื่อจะเข้าเรือนไฟ พึงเอาดินทาหน้าปิดหน้า
และหลัง จึงเข้าเรือนไฟ ไม่พึงนั่งเบียดพระเถระ ไม่พึงกีดกันอาสนะพระนวกะ
พึงทำบริกรรมแก่อาจารย์ในเรือนไฟ เมื่อจะออกจากเรือนไฟ พึงถือตั่งสำหรับ
เรือนไฟปิดหน้าและหลัง จึงออกจากเรือนไฟ
พึงทำบริกรรมแก่อาจารย์แม้ในน้ำ ตนสรงน้ำเสร็จแล้ว พึงขึ้นก่อนเช็ดตัวให้
แห้งแล้วผลัดผ้า พึงเช็ดน้ำจากตัวอาจารย์ ถวายผ้านุ่ง สังฆาฏิ ถือตั่งสำหรับ
เรือนไฟมาก่อน ปูอาสนะ เตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ นำ
น้ำฉัน มาถวายอาจารย์
ถ้าอาจารย์ต้องการจะให้เรียน พึงเรียน
ถ้าอาจารย์ต้องการจะให้สอบถามอรรถ พึงสอบถาม
อาจารย์อยู่ในวิหารใด ถ้าวิหารนั้นสกปรก ถ้าสามารถ พึงชำระให้สะอาด
เมื่อจะชำระวิหารให้สะอาด พึงขนบาตรและจีวรออกก่อน วางไว้ ณ ที่สมควร
พึงขนผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน ฟูก หมอน ออกมาวาง ณ ที่สมควร
เตียง ตั่ง อันเตวาสิกพึงยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบบานประตู
และกรอบประตู ขนออกไปตั้งไว้ ณ ที่สมควร เขียงรองเตียง กระโถน พนักพิง
พึงขนออกมาวางไว้ ณ ที่สมควร พรมปูพื้น พึงสังเกตที่ปูไว้เดิม ค่อยขนออก
มาวาง ณ ที่สมควร
ถ้าในวิหารมีหยากเยื่อ พึงกวาดเพดานลงมาก่อน กรอบหน้าต่างและ
มุมห้องพึงเช็ด
ถ้าฝาที่เขาทาน้ำมันหรือพื้นทาสีดำขึ้นรา ควรใช้ผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ด
ถ้าเป็นพื้นไม่ได้ทา พึงใช้น้ำประพรมเช็ด อย่าให้วิหารคลาคล่ำด้วยฝุ่นละออง
พึงคัดหยากเยื่อไปทิ้ง ณ ที่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
พรมปูพื้น พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับปูไว้ตามเดิม เขียงรองเตียง พึง
ผึ่งแดด เช็ด ขนกลับวางไว้ตามเดิม
เตียง ตั่ง พึงผึ่งแดด ชำระ ปัด ยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบ
บานประตูและกรอบประตู ขนกลับตั้งไว้ตามเดิม ฟูก หมอน ผ้าปูนั่ง ผ้า
ปูนอน พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับวางปูไว้ตามเดิม กระโถน พนักพิง พึง
ผึ่งแดด เช็ดถู ขนกลับวางไว้ตามเดิม
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือ
ข้างหนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง
เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร
ถ้าลมเจือฝุ่นละอองพัดมาทางทิศตะวันออก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันออก
ถ้าพัดมาทางทิศตะวันตก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก
ถ้าพัดมาทางทิศเหนือ พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ
ถ้าพัดมาทางทิศใต้ พึงปิดหน้าต่างด้านใต้
ถ้าเป็นฤดูหนาว พึงเปิดหน้าต่างกลางวัน ปิดกลางคืน
ถ้าเป็นฤดูร้อน พึงปิดหน้าต่างกลางวัน เปิดกลางคืน
ถ้าบริเวณ ซุ้ม โรงฉัน โรงไฟ วัจกุฎี รก พึงปัดกวาด ถ้าน้ำฉันน้ำใช้ไม่มี
พึงจัดเตรียมไว้ ถ้าหม้อชำระไม่มีน้ำ พึงตักน้ำใส่หม้อชำระ
ถ้าอาจารย์เกิดความไม่ยินดี อันเตวาสิกพึงช่วยระงับ หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยระงับ หรือพึงแสดงธรรมีกถาแก่อาจารย์
ถ้าอาจารย์เกิดความรำคาญ อันเตวาสิกพึงช่วยบรรเทา หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยบรรเทา หรือพึงแสดงธรรมีกถาแก่อาจารย์
ถ้าอาจารย์เกิดความเห็นผิด อันเตวาสิกพึงให้สละเสีย หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยให้สละเสีย หรือพึงแสดงธรรมีกถาแก่อาจารย์
ถ้าอาจารย์ต้องอาบัติหนัก ควรแก่ปริวาส อันเตวาสิกพึงทำการขวนขวาย
ว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้ปริวาสแก่อาจารย์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
ถ้าอาจารย์ควรแก่การชักเข้าหาอาบัติเดิม อันเตวาสิกพึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงชักอาจารย์เข้าหาอาบัติเดิม”
ถ้าอาจารย์ควรแก่มานัต อันเตวาสิกพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไร
หนอ สงฆ์พึงให้มานัตแก่อาจารย์”
ถ้าอาจารย์ควรแก่อัพภาน อันเตวาสิกพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไร
หนอ สงฆ์พึงอัพภานอาจารย์”
ถ้าสงฆ์ต้องการจะทำกรรม คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม
ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแก่อาจารย์ อันเตวาสิกพึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์ไม่พึงทำกรรมแก่อาจารย์หรือพึงเปลี่ยนไปเป็นโทษเบา”
หรือว่าอาจารย์ ได้ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณีย
กรรม หรืออุกเขปนียกรรมแล้ว อันเตวาสิกพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไร
หนอ อาจารย์พึงกลับประพฤติชอบ พึงหายเย่อหยิ่ง พึงกลับตัวได้ สงฆ์พึงระงับ
กรรมนั้นเสีย”
ถ้าจีวรของอาจารย์จะต้องซัก อันเตวาสิกพึงซัก หรือพึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงซักจีวรของอาจารย์”
ถ้าจีวรของอาจารย์จะต้องตัดเย็บ อันเตวาสิกพึงตัดเย็บ หรือพึงทำการขวนขวาย
ว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงตัดเย็บจีวรของอาจารย์”
ถ้าน้ำย้อมของอาจารย์จะต้องต้ม อันเตวาสิกพึงต้ม หรือพึงทำการขวนขวาย
ว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงต้มน้ำย้อมของอาจารย์”
ถ้าจีวรของอาจารย์จะต้องย้อม อันเตวาสิกพึงย้อม หรือพึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงย้อมจีวรของอาจารย์” เมื่อจะย้อมจีวร พึงย้อม
พลิกกลับไปกลับมาดี ๆ เมื่อหยาดน้ำย้อมยังหยดไม่ขาดสาย ไม่พึงหลีกไป
อันเตวาสิกไม่บอกอาจารย์ ไม่พึงให้บาตรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบาตรของ
ภิกษุบางรูป ไม่พึงให้จีวรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับจีวรของภิกษุบางรูป ไม่พึงให้
บริขารแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบริขารของภิกษุบางรูป ไม่พึงโกนผมให้ภิกษุบางรูป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๙. อันเตวาสิกวัตตกถา
ไม่พึงให้ภิกษุบางรูปโกนผมให้ ไม่พึงทำบริกรรมแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงให้ภิกษุ
บางรูปทำบริกรรมให้ ไม่พึงทำการขวนขวายแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงสั่งภิกษุบาง
รูปให้ทำการขวนขวาย ไม่พึงเป็นปัจฉาสมณะของภิกษุบางรูป ไม่พึงพาภิกษุบาง
รูปไปเป็นปัจฉาสมณะ ไม่พึงนำบิณฑบาตไปถวายภิกษุบางรูป ไม่พึงสั่งภิกษุบาง
รูปให้นำบิณฑบาตไปถวาย
อันเตวาสิกไม่บอกลาอาจารย์ ไม่พึงเข้าหมู่บ้าน ไม่พึงไปป่าช้า ไม่พึงออก
ไปต่างถิ่น ถ้าอาจารย์เป็นไข้ พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต พึงรอจนกว่าอาจารย์นั้น
จะหาย
อาจริยวัตตกถา จบ
๑๙. อันเตวาสิกวัตตกถา๑
ว่าด้วยอันเตวาสิกวัตร
[๗๙] ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์พึงประพฤติชอบในอันเตวาสิก วิธีประพฤติชอบ
ในอันเตวาสิกนั้น มีดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์พึงสงเคราะห์อนุเคราะห์อันเตวาสิก ด้วยอุทเทส
ปริปุจฉา โอวาท และอนุศาสน์
ถ้าอาจารย์มีบาตร อันเตวาสิกไม่มีบาตร อาจารย์พึงถวายบาตรแก่อันเตวาสิก
หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ บาตรพึงเกิดขึ้นแก่อันเตวาสิก”
ถ้าอาจารย์มีจีวร อันเตวาสิกไม่มีจีวร อาจารย์พึงถวายจีวรแก่อันเตวาสิก หรือ
พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ จีวรพึงเกิดขึ้นแก่อันเตวาสิก”
ถ้าอาจารย์มีบริขาร อันเตวาสิกไม่มีบริขาร อาจารย์พึงถวายบริขารแก่
อันเตวาสิก หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ บริขารพึงเกิดขึ้น
แก่อันเตวาสิก”

เชิงอรรถ :
๑ วิ.จู. ๗/๓๘๑-๓๘๒/๑๘๙-๑๙๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๙. อันเตวาสิกวัตตกถา
ถ้าอันเตวาสิกเป็นไข้ อาจารย์พึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ถวายไม้ชำระฟัน น้ำล้างหน้า
ปูอาสนะ
ถ้าข้าวต้มมี พึงล้างภาชนะใส่ข้าวต้มเข้าไปถวาย เมื่ออันเตวาสิกฉันข้าวต้ม
เสร็จแล้ว พึงถวายน้ำ รับภาชนะมาถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้วเก็บงำไว้
เมื่ออันเตวาสิกลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด
ถ้าอันเตวาสิกต้องการจะเข้าหมู่บ้าน พึงถวายผ้านุ่ง รับผ้านุ่งอาศัย ถวาย
ประคดเอว ถวายสังฆาฏิที่พับซ้อนกัน ล้างบาตรแล้วถวายพร้อมทั้งน้ำ ปู
อาสนะไว้ โดยกำหนดว่า “เวลาเพียงเท่านี้ อันเตวาสิกจักกลับมา” พึงเตรียมน้ำ
ล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ พึงลุกขึ้นรับบาตรและจีวร พึงถวายผ้า
นุ่งอาศัย รับผ้านุ่งมา
ถ้าจีวรชุ่มเหงื่อ พึงผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้ที่แดด พึงพับจีวร เมื่อจะ
พับจีวร พึงพับจีวรให้เหลื่อมมุมกัน ๔ นิ้ว ตั้งใจว่า ตรงกลางจะได้ไม่มีรอยพับ
พึงม้วนประคดเอวใส่ขนดจีวร
ถ้าบิณฑบาตมี และอันเตวาสิกต้องการจะฉัน พึงถวายน้ำแล้วนำบิณฑบาต
เข้าไปถวาย นำน้ำฉันมาถวาย เมื่ออันเตวาสิกฉันเสร็จแล้ว พึงถวายน้ำรับบาตร
มา ถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้วเช็ดให้สะเด็ดน้ำผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึง
ผึ่งทิ้งไว้ที่แดด
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือ
ข้างหนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง
เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ในจึงเก็บจีวร
เมื่ออันเตวาสิกลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ พึงเก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า
กระเบื้องเช็ดเท้า ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด
ถ้าอันเตวาสิกต้องการจะสรงน้ำ พึงจัดน้ำสรงถวาย ถ้าเธอต้องการน้ำเย็น
พึงจัดน้ำเย็นถวาย ถ้าเธอต้องการน้ำอุ่น พึงจัดน้ำอุ่นถวาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๙. อันเตวาสิกวัตตกถา
ถ้าอันเตวาสิกต้องการจะเข้าเรือนไฟ พึงบดจุรณ พึงแช่ดิน ถือตั่งสำหรับ
เรือนไฟเดินไป ถวายตั่งสำหรับเรือนไฟ แล้วรับจีวรมาวาง ณ ที่สมควร พึงถวาย
จุรณและดิน
ถ้าสามารถ พึงเข้าเรือนไฟ เมื่อจะเข้าเรือนไฟ พึงเอาดินทาหน้าปิดหน้า
และหลัง จึงเข้าเรือนไฟ ไม่พึงนั่งเบียดพระเถระ ไม่พึงกีดกันอาสนะพระนวกะ
พึงทำบริกรรมแก่อันเตวาสิกในเรือนไฟ เมื่อจะออกจากเรือนไฟ พึงถือตั่งสำหรับ
เรือนไฟปิดหน้าและหลัง จึงออกจากเรือนไฟ
พึงทำบริกรรมแก่อันเตวาสิกแม้ในน้ำ ตนสรงเสร็จแล้ว พึงขึ้นก่อนเช็ดตัวให้
แห้งแล้วผลัดผ้า พึงเช็ดน้ำจากตัวอันเตวาสิก ถวายผ้านุ่ง สังฆาฏิ ถือตั่ง
สำหรับเรือนไฟมาก่อน ปูอาสนะ เตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้อง
เช็ดเท้าไว้ นำน้ำฉันมาถวายอันเตวาสิก
อันเตวาสิกอยู่ในวิหารใด ถ้าวิหารนั้นสกปรก ถ้าสามารถ พึงชำระให้สะอาด
เมื่อจะชำระวิหารให้สะอาด พึงขนบาตรและจีวรออกก่อน วางไว้ ณ ที่สมควร
พึงขนผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน ฟูก หมอน ออกมาวางไว้ ณ ที่สมควร
เตียง ตั่ง อาจารย์พึงยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบบานประตู
และกรอบประตู ขนออกไปตั้งไว้ ณ ที่สมควร เขียงรองเตียง กระโถน พนักพิง
พึงขน ออกมาวางไว้ ณ ที่สมควร พรมปูพื้น พึงสังเกตที่ปูไว้เดิม ค่อยขนออก
มาวางไว้ ณ ที่สมควร
ถ้าในวิหารมีหยากเยื่อ พึงกวาดเพดานลงมาก่อน กรอบหน้าต่างและมุมห้อง
พึงเช็ด
ถ้าฝาที่ทาน้ำมันหรือพื้นทาสีดำขึ้นรา พึงใช้ผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ด
ถ้าเป็นพื้นไม่ได้ทา พึงใช้น้ำประพรมเช็ด อย่าให้วิหารคลาคล่ำด้วยฝุ่นละออง
พึงเก็บหยากเยื่อไปทิ้ง ณ ที่สมควร
พรมปูพื้น พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับปูไว้ตามเดิม เขียงรองเตียง พึง
ผึ่งแดด เช็ด ขนกลับวางไว้ตามเดิม
เตียง ตั่ง พึงผึ่งแดด ชำระ ปัด ยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบ
บานประตูและกรอบหน้าต่าง ขนกลับตั้งไว้ตามเดิม ฟูก หมอน ผ้าปูนั่ง ผ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๙. อันเตวาสิกวัตตกถา
ปูนอน พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับวางปูไว้ตามเดิม กระโถน พนักพิง พึง
ผึ่งแดด เช็ดถู ขนกลับวางไว้ตามเดิม
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือ
ข้างหนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง
เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร
ถ้าลมเจือฝุ่นละอองพัดมาทางทิศตะวันออก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันออก
ถ้าพัดมาทางทิศตะวันตก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก
ถ้าพัดมาทางทิศเหนือ พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ
ถ้าพัดมาทางทิศใต้ พึงปิดหน้าต่างด้านใต้
ถ้าเป็นฤดูหนาว พึงเปิดหน้าต่างกลางวัน ปิดกลางคืน
ถ้าเป็นฤดูร้อน พึงปิดหน้าต่างกลางวัน เปิดกลางคืน
ถ้าบริเวณ ซุ้ม โรงฉัน โรงไฟ วัจกุฎีรก พึงปัดกวาด ถ้าน้ำฉันน้ำใช้ไม่มี
พึงจัดเตรียมไว้ ถ้าหม้อชำระไม่มีน้ำ พึงตักน้ำใส่หม้อชำระ
ถ้าอันเตวาสิกเกิดความไม่ยินดี อาจารย์พึงช่วยระงับ หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยระงับ หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อันเตวาสิก
ถ้าอันเตวาสิกเกิดความรำคาญ อาจารย์พึงช่วยบรรเทา หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ ช่วยบรรเทา หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อันเตวาสิก
ถ้าอันเตวาสิกเกิดความเห็นผิด อาจารย์พึงให้สละเสีย หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยสละเสีย หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อันเตวาสิก
ถ้าอันเตวาสิกต้องอาบัติหนัก ควรแก่ปริวาส อาจารย์พึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้ปริวาสแก่อันเตวาสิก”
ถ้าอันเตวาสิกควรแก่การชักเข้าหาอาบัติเดิม อาจารย์พึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงชักอันเตวาสิกเข้าหาอาบัติเดิม”
ถ้าอันเตวาสิกควรแก่มานัต อาจารย์พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย
อย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้มานัตแก่อันเตวาสิก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๙. อันเตวาสิกวัตตกถา
ถ้าอันเตวาสิกควรแก่อัพภาน อาจารย์พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย
อย่างไรหนอ สงฆ์พึงอัพภานอันเตวาสิก”
ถ้าสงฆ์ต้องการจะทำกรรม คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม
ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแก่อันเตวาสิก อาจารย์พึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์ไม่พึงทำกรรมแก่อันเตวาสิกหรือพึงเปลี่ยนไปเป็นโทษเบา”
หรือว่าอันเตวาสิกถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณีย
กรรม หรืออุเขปนียกรรมแล้ว อาจารย์พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไร
หนอ อันเตวาสิกพึงกลับประพฤติชอบ พึงหายเย่อหยิ่ง พึงกลับตัวได้ สงฆ์พึงระงับ
กรรมนั้นเสีย”
ถ้าจีวรของอันเตวาสิกจะต้องซัก อาจารย์พึงบอกว่า “พึงซักอย่างนี้” หรือ
พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงซักจีวรของอันเตวาสิก”
ถ้าจีวรของอันเตวาสิก จะต้องตัดเย็บ อาจารย์พึงบอกว่า “พึงตัดเย็บอย่างนี้”
หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงตัดเย็บจีวรของ
อันเตวาสิก”
ถ้าน้ำย้อมของอันเตวาสิกจะต้องต้ม อาจารย์พึงบอกว่า “พึงต้มอย่างนี้” หรือ
พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงต้มน้ำย้อมของ
อันเตวาสิก”
ถ้าจีวรของอันเตวาสิกจะต้องย้อม อาจารย์พึงบอกว่า “พึงย้อมอย่างนี้” หรือ
พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงย้อมจีวรของอันเตวาสิก”
เมื่อจะย้อมจีวร พึงย้อมพลิกกลับไปกลับมาดี ๆ เมื่อหยาดน้ำย้อมยังหยดไม่ขาดสาย
ไม่พึงหลีกไป
ถ้าอันเตวาสิกเป็นไข้ พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต พึงรอจนกว่าอันเตวาสิกนั้น
จะหาย
อันเตวาสิกวัตตกถา จบ
ภาณวารที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๐. ปฌามนาขมาปนา
๒๐. ปณามนาขมาปนา
ว่าด้วยการประณามและการขอขมา
เรื่องอันเตวาสิกไม่ประพฤติชอบ
[๘๐] สมัยนั้น พวกอันเตวาสิกไม่ประพฤติชอบในอาจารย์ทั้งหลาย ภิกษุ
ทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกจะไม่
ประพฤติชอบในอาจารย์ไม่ได้ รูปใดไม่ประพฤติชอบ ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องทรงอนุญาตให้ประณาม
อันเตวาสิกทั้งหลายก็ยังไม่ประพฤติชอบอยู่เช่นเดิม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ประณามอันเตวาสิก
ผู้ไม่ประพฤติชอบ”
วิธีประณาม
ภิกษุทั้งหลาย ก็อาจารย์พึงประณามอันเตวาสิกอย่างนี้ว่า “ฉันประณามเธอ”
หรือ “เธออย่าเข้ามาที่นี้” “เธอ จงขนบาตรและจีวรของเธอไป” หรือ “เธอไม่ต้อง
อุปัฏฐากฉัน”
อาจารย์ให้อันเตวาสิกรู้ด้วยกาย ให้รู้ด้วยวาจา หรือให้รู้ด้วยกายและวาจา
เป็นอันได้ประณามอันเตวาสิกแล้ว อาจารย์ไม่ให้อันเตวาสิกรู้ด้วยกาย ไม่ให้รู้ด้วย
วาจา หรือไม่ให้รู้ด้วยกายและวาจา เป็นอันยังมิได้ประณามอันเตวาสิก”
อันเตวาสิกไม่ขอขมา
สมัยนั้น อันเตวาสิกทั้งหลายถูกประณามแล้ว ก็ยังไม่ยอมขอขมาอาจารย์
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๐. ปฌามนาขมาปนา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อันเตวาสิกขอขมา
อาจารย์”
อันเตวาสิกทั้งหลายก็ยังไม่ยอมขอขมาอาจารย์อยู่เช่นเดิม ภิกษุทั้งหลายจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกถูกประณามแล้ว จะไม่ขอ
ขมาอาจารย์ไม่ได้ รูปใดไม่ขอขมา ต้องอาบัติทุกกฏ”
อาจารย์ไม่รับการขอขมา
สมัยนั้น อาจารย์ทั้งหลายถูกอันเตวาสิกขอขมา ก็ยังไม่ยอมให้ขมา ภิกษุ
ทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อาจารย์รับการขอขมา”
อาจารย์ทั้งหลายก็ยังไม่ยอมให้ขมาอยู่เช่นเดิม พวกอันเตวาสิกพากันหลีกไป
เสียบ้าง สึกเสียบ้าง ไปเข้ารีตเดียรถีย์เสียบ้าง ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์ผู้ที่อันเตวาสิกขอขมาจะไม่
รับการขอขมาไม่ได้ รูปใดไม่รับการขอขมา ต้องอาบัติทุกกฏ”
ทรงปรับทุกกฏเมื่อประณามไม่ถูกต้อง
สมัยนั้น อาจารย์ทั้งหลายประณามอันเตวาสิกผู้ประพฤติชอบ ไม่ประณาม
อันเตวาสิกผู้ประพฤติมิชอบ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประพฤติชอบ อาจารย์
ไม่พึงประณาม รูปใดประณาม ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ไม่
ประพฤติชอบ อาจารย์จะไม่ประณามไม่ได้ รูปใดไม่ประณาม ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๐. ปฌามนาขมาปนา
องค์แห่งการประณาม
[๘๑] ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์พึงประณามอันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๑. ไม่มีความรักอย่างยิ่งในอาจารย์
๒. ไม่มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอาจารย์
๓. ไม่มีความละอายอย่างยิ่งในอาจารย์
๔. ไม่มีความเคารพอย่างยิ่งในอาจารย์
๕. ไม่มีความหวังดีอย่างยิ่งในอาจารย์
ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์พึงประณามอันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้
ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์ไม่พึงประณามอันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๑. มีความรักอย่างยิ่งในอาจารย์
๒. มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอาจารย์
๓. มีความละอายอย่างยิ่งในอาจารย์
๔. มีความเคารพอย่างยิ่งในอาจารย์
๕. มีความหวังดีอย่างยิ่งในอาจารย์
ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์ไม่พึงประณามอันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ควรที่จะถูกประณาม คือ
๑. ไม่มีความรักอย่างยิ่งในอาจารย์
๒. ไม่มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอาจารย์
๓. ไม่มีความละอายอย่างยิ่งในอาจารย์
๔. ไม่มีความเคารพอย่างยิ่งในอาจารย์
๕. ไม่มีความหวังดีอย่างยิ่งในอาจารย์
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ ควรที่จะถูกประณาม
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ควรที่จะถูกประณาม คือ
๑. มีความรักอย่างยิ่งในอาจารย์
๒. มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอาจารย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๐. ปณามนาขมาปนา
๓. มีความละอายอย่างยิ่งในอาจารย์
๔. มีความเคารพอย่างยิ่งในอาจารย์
๕. มีความหวังดีอย่างยิ่งในอาจารย์
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ ไม่ควรที่จะถูก
ประณาม
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เมื่ออาจารย์ไม่ประณาม
ย่อมมีโทษ เมื่อประณามย่อมไม่มีโทษ คือ
๑. ไม่มีความรักอย่างยิ่งในอาจารย์
๒. ไม่มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอาจารย์
๓. ไม่มีความละอายอย่างยิ่งในอาจารย์
๔. ไม่มีความเคารพอย่างยิ่งในอาจารย์
๕. ไม่มีความหวังดีอย่างยิ่งในอาจารย์
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ เมื่ออาจารย์
ไม่ประณาม ย่อมมีโทษ เมื่อประณามย่อมไม่มีโทษ
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เมื่ออาจารย์ประณาม
ย่อมมีโทษ เมื่อไม่ประณาม ย่อมไม่มีโทษ คือ
๑. มีความรักอย่างยิ่งในอาจารย์
๒. มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอาจารย์
๓. มีความละอายอย่างยิ่งในอาจารย์
๔. มีความเคารพอย่างยิ่งในอาจารย์
๕. มีความหวังดีอย่างยิ่งในอาจารย์
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ เมื่ออาจารย์ประณาม
ย่อมมีโทษ เมื่อไม่ประณาม ย่อมไม่มีโทษ
ปณามนาขมาปนา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๑. พาลอัพยัตตวัตถุ
๒๑. พาลอัพยัตตวัตถุ
ว่าด้วยภิกษุโง่ไม่ฉลาด
เรื่องอาจารย์โง่เขลา
[๘๒] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายคิดว่า “เรามีพรรษาครบ ๑๐ เรามีพรรษา
ครบ ๑๐” แต่เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ให้นิสสัย ปรากฏว่า อาจารย์เป็นผู้โง่เขลา
อันเตวาสิกเป็นบัณฑิตก็มี อาจารย์เป็นผู้ไม่ฉลาด อันเตวาสิกเป็นผู้ฉลาดก็มี อาจารย์
มีสุตะน้อย อันเตวาสิกเป็นพหูสูตก็มี อาจารย์มีปัญญาทราม อันเตวาสิกมีปัญญาดีก็มี
บรรดาภิกษุผู้มีความมักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“ไฉน ภิกษุทั้งหลายจึงได้อ้างว่า ‘เรามีพรรษาครบ ๑๐ เรามีพรรษาครบ ๑๐’ แต่
เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ให้นิสสัยปรากฏว่า อาจารย์เป็นผู้โง่เขลา อันเตวาสิกเป็น
บัณฑิตก็มี อาจารย์เป็นผู้ไม่ฉลาด อันเตวาสิกเป็นผู้ฉลาดก็มี อาจารย์มีสุตะน้อย
อันเตวาสิกเป็นพหูสูตก็มี อาจารย์มีปัญญาทราม อันเตวาสิกมีปัญญาดีก็มี” จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวก
ภิกษุได้อ้างว่า ‘เรามีพรรษาครบ ๑๐ เรามีพรรษาครบ ๑๐’ แต่เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด
ให้นิสสัย ปรากฏว่า อาจารย์เป็นผู้โง่เขลา ... อันเตวาสิกมีปัญญาดีก็มี จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้โง่เขลา
ไม่ฉลาด ไม่พึงให้นิสสัย รูปใดให้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ภิกษุผู้ฉลาดสามารถ มีพรรษาครบ ๑๐ หรือมีพรรษาเกิน ๑๐ ให้นิสสัยได้”
พาลอัพยัตตวัตถุ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๒. นิสสยปฏิปัสสัทธิกถา
๒๒. นิสสยปฏิปัสสัทธิกถา
ว่าด้วยการระงับนิสสัย
เรื่องนิสสัยระงับจากอุปัชฌาย์และอาจารย์
[๘๓] สมัยนั้น เมื่ออุปัชฌาย์และอาจารย์หลีกไปก็ดี สึกเสียก็ดี มรณภาพ
ก็ดี ไปเข้ารีตเดียรถีย์ก็ดี ภิกษุทั้งหลายไม่รู้ว่านิสสัยระงับ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย นิสสัยระงับจากอุปัชฌาย์ ๕ ประการ
เหล่านี้ คือ

๑. อุปัชฌาย์หลีกไป ๒. อุปัชฌาย์สึก
๓. อุปัชฌาย์มรณภาพ ๔. อุปัชฌาย์ไปเข้ารีตเดียรถีย์
๕. อุปัชฌาย์สั่งบังคับ

ภิกษุทั้งหลาย นิสสัยระงับจากอุปัชฌาย์ ๕ ประการเหล่านี้
ภิกษุทั้งหลาย นิสสัยระงับจากอาจารย์ ๖ ประการเหล่านี้ คือ

๑. อาจารย์หลีกไป ๒. อาจารย์สึก
๓. อาจารย์มรณภาพ ๔. อาจารย์ไปเข้ารีตเดียรถีย์
๕. อาจารย์สั่งบังคับ ๖. สัทธิวิหาริก์ไปเข้าร่วมกับ
อุปัชฌาย์๑

ภิกษุทั้งหลาย นิสสัยระงับจากอาจารย์ ๖ ประการเหล่านี้
นิสสยปฏิปัสสัทธิกถา จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไปเข้าร่วมกับอุปัชฌาย์ คือเมื่อสัทธิวิหาริกได้พบเห็นอุปัชฌาย์เที่ยวบิณฑบาต ได้ยินอุปัชฌาย์แสดง
ธรรมจำเสียงอุปัชฌาย์ได้นิสสัยระงับจากอาจารย์ (วิ.อ. ๓/๘๓/๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๓. อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ
๒๓. อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ
ว่าด้วยองค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ควรให้อุปสมบท ๑๖ หมวด
เรื่องภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕
กัณหปักษ์ ฝ่ายดำ ๑
[๘๔] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่พึงให้อุปสมบท ไม่พึงให้
นิสสัย๑ ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ไม่ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. ไม่ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
๓. ไม่ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
๔. ไม่ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ
๕. ไม่ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑)
สุกกปักษ์ ฝ่ายขาว ๑
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
๓. ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
๔. ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่พึงให้อุปสมบท คือ ไม่พึงเป็นอุปัชฌาย์ให้ใคร ๆ อุปสมบท ไม่พึงให้นิสสัย คือ ไม่พึงเป็นอาจารย์ให้
นิสสัย (วิ.อ. ๓/๘๔/๔๘)
๒ สีลขันธ์อันเป็นอเสขะเป็นต้น หมายถึงสีล สมาธิ ปัญญา ผล และปัจจเวกขณญาณ ของพระอรหันต์
(วิ.อ. ๓/๘๔/๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๓. อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ
๕. ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๒)
กัณหปักษ์ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ตนเองไม่ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ และไม่ชักชวนผู้อื่นใน
สีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. ตนเองไม่ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ และไม่ชักชวนผู้อื่น
ในสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
๓. ตนเองไม่ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ และไม่ชักชวนผู้อื่น
ในปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
๔. ตนเองไม่ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ และไม่ชักชวนผู้อื่น
ในวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ
๕. ตนเองไม่ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ และไม่
ชักชวนผู้อื่นในวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๓)
สุกกปักษ์ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ตนเองประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ และชักชวนผู้อื่นในสีลขันธ์
อันเป็นอเสขะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๓. อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ
๒. ตนเองประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ และชักชวนผู้อื่นใน
สมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
๓. ตนเองประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ และชักชวนผู้อื่นใน
ปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
๔. ตนเองประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ และชักชวนผู้อื่นใน
วิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ
๕. ตนเองประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ และชักชวน
ผู้อื่นในวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๔)
กัณหปักษ์ ๓
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๒. เป็นผู้ไม่มีหิริ
๓. เป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ ๔. เป็นผู้เกียจคร้าน
๕. เป็นผู้มีสติฟั่นเฟือน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๕)
สุกกปักษ์ ๓
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. เป็นผู้มีศรัทธา ๒. เป็นผู้มีหิริ
๓. เป็นผู้มีโอตตัปปะ ๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร
๕. เป็นผู้มีสติตั้งมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๓. อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๖)
กัณหปักษ์ ๔
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. เป็นผู้มีสีลวิบัติในอธิสีล ๒. เป็นผู้มีอาจารวิบัติในอัชฌาจาร
๓. เป็นผู้มีทิฏฐิวิบัติในอติทิฏฐิ๑ ๔. เป็นผู้ได้ยินได้ฟังน้อย
๕. เป็นผู้มีปัญญาทราม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๗)
สุกกปักษ์ ๔
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. เป็นผู้ไม่มีสีลวิบัติในอธิสีล ๒. เป็นผู้ไม่มีอาจารวิบัติในอัชฌาจาร
๓. เป็นผู้ไม่มีทิฏฐิวิบัติในอติทิฏฐิ ๔. เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก
๕. เป็นผู้มีปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๘)

เชิงอรรถ :
๑ มีสีลวิบัติในอธิสีล หมายถึงเป็นผู้ต้องอาบัติปาราชิกและอาบัติสังฆาทิเสส
อาจารวิบัติในอัชฌาจาร หมายถึงเป็นผู้ต้องอาบัติ ๕ กองที่เหลือ (คืออาบัติถุลลัจจัย อาบัติปาจิตตีย์
อาบัติปาฎิเทสนียะ อาบัติทุกกฏ และอาบัติทุพพาสิต)และยังมิได้พ้นจากอาบัติ
ทิฏฐิวิบัติในอติทิฏฐิ หมายถึงเป็นผู้ละสัมมาทิฏฐิแล้วยึดถืออนัตคาหิกทิฏฐิ (วิ.อ. ๓/๘๔/๔๘๙, สารตฺถ.
ฏีกา ๓/๘๔/๒๙๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๓. อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ
กัณหปักษ์ ๕
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ไม่สามารถพยาบาลเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นพยาบาลอันเตวาสิกหรือ
สัทธิวิหาริกผู้เป็นไข้
๒. ไม่สามารถระงับเองหรือใช้ให้ผู้อื่นช่วยระงับความกระสัน
๓. ไม่สามารถบรรเทาเองหรือใช้ให้ผู้อื่นช่วยบรรเทาความเบื่อหน่าย
ที่เกิดขึ้นโดยธรรม
๔. ไม่รู้จักอาบัติ
๕. ไม่รู้จักวิธีออกจากอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๙)
สุกกปักษ์ ๕
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. สามารถพยาบาลเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นพยาบาลอันเตวาสิก หรือ
สัทธิวิหาริกผู้เป็นไข้
๒. สามารถระงับเองหรือใช้ให้ผู้อื่นช่วยระงับความกระสัน
๓. สามารถบรรเทาเองหรือใช้ให้ผู้อื่นช่วยบรรเทาความเบื่อหน่ายที่
เกิดขึ้นโดยธรรม
๔. รู้จักอาบัติ
๕. รู้จักวิธีออกจากอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก (๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๓. อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ
กัณหปักษ์ ๖
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ไม่สามารถฝึกปรืออันเตวาสิกหรือสัทธิวิหาริกในอภิสมาจาริกาสิกขา๑
๒. ไม่สามารถแนะนำในอาทิพรหมจริยกาสิกขา๒
๓. ไม่สามารถแนะนำในอภิธรรม๓
๔. ไม่สามารถแนะนำในอภิวินัย๔
๕. ไม่สามารถเปลื้องความเห็นผิดอันเกิดขึ้นได้โดยธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑๑)
สุกกปักษ์ ๖
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. สามารถฝึกปรืออันเตวาสิกหรือสัทธิวิหาริกในอภิสมาจาริกาสิกขา
๒. สามารถแนะนำในอาทิพรหมจริกาสิกขา
๓. สามารถแนะนำในอภิธรรม
๔. สามารถแนะนำในอภิวินัย
๕. สามารถเปลื้องความเห็นผิดอันเกิดขึ้นได้โดยธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑๒)

เชิงอรรถ :
๑ อภิมาจาริกาสิกขา คือ หลักการศึกษาเกี่ยวกับข้อวัตรปฏิบัติ ที่แสดงไว้ในหมวดขันธกวัตร (วิ.อ.
๓/๘๔/๔๙
๒ อาทิพรหมจริยกาสิกขา คือ หลักการศึกษาเกี่ยวกับบัญญัติเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ หมายถึง
สิกขาบทที่มาในภิกขุปาติโมกข์และภิกขุนีปาติโมกข์ เป็นเสกขบัญญัติที่สงฆ์ต้องยกขึ้นแสดงทุกครึ่งเดือน
(วิ.อ. ๓/๘๔/๔๙, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๘๔/๒๙๒)
๓ อภิธรรม คือ หลักการที่ว่าด้วยการกำหนดนามรูป (วิ.อ. ๓/๘๔/๔๙)
๔ อภิวินัย คือ หลักการในพระวินัยปิฎกทั้งสิ้น (วิ.อ. ๓/๔๘/๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๓. อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ
กัณหปักษ์ ๗
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ไม่รู้จักอาบัติ ๒. ไม่รู้จักอนาบัติ
๓. ไม่รู้จักอาบัติเบา ๔. ไม่รู้จักอาบัติหนัก
๕. จำปาติโมกข์ทั้งสองโดยพิสดารไม่ได้ดี จำแนกไม่ได้ดี ไม่คล่องแคล่วดี
วินิจฉัยโดยสุตตะโดยอนุพยัญชนะไม่ได้ดี
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑๓)
สุกกปักษ์ ๗
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. รู้จักอาบัติ ๒. รู้จักอนาบัติ
๓. รู้จักอาบัติเบา ๔. รู้จักอาบัติหนัก
๕. จำปาติโมกข์ทั้งสองโดยพิสดารได้ดี จำแนกได้ดี คล่องแคล่วดี วินิจฉัย
โดยสุตตะโดยอนุพยัญชนะได้ดี
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑๔)
กัณหปักษ์ ๘
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ไม่รู้จักอาบัติ ๒. ไม่รู้จักอนาบัติ
๓. ไม่รู้จักอาบัติเบา ๔. ไม่รู้จักอาบัติหนัก
๕. มีพรรษาหย่อน ๑๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๔. อุปสัมปาเทตัพพฉักกะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑๕)
สุกกปักษ์ ๘
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. รู้จักอาบัติ ๒. รู้จักอนาบัติ
๓. รู้จักอาบัติเบา ๔. รู้จักอาบัติหนัก
๕. มีพรรษาครบ ๑๐ หรือมีพรรษาเกิน ๑๐
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑๖)
อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ ๑๖ หมวด จบ

๒๔. อุปสัมปาเทตัพพฉักกะ
ว่าด้วยองค์ ๖ แห่งภิกษุผู้ควรให้อุปสมบท ๑๔ หมวด
เรื่องภิกษุประกอบด้วยองค์ ๖
กัณหปักษ์ ๑
[๘๕] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ ไม่พึงให้อุปสมบท ไม่พึงให้
นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ไม่ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. ไม่ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๓๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๔. อุปสัมปาเทตัพพฉักกะ
๓. ไม่ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
๔. ไม่ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ
๕. ไม่ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ
๖. มีพรรษาหย่อน ๑๐
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑)
สุกกปักษ์ ๑
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
๓. ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
๔. ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ
๕. ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ
๖. มีพรรษาครบ ๑๐ หรือมีพรรษาเกิน ๑๐
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๒)
กัณหปักษ์ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ตนเองไม่ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ และไม่ชักชวนผู้อื่นใน
สีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. ตนเองไม่ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ และไม่ชักชวนผู้อื่น
ในสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๓๑ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น