Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๐๔-๕ หน้า ๑๗๖ - ๒๑๙

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๔-๕ วินัยปิฎกที่ ๐๔ มหาวรรค ภาค ๑



พระวินัยปิฎก
มหาวรรค ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔๙. ติรัจฉานคตวัตถุ
และพึงได้อัตภาพมนุษย์ฉับพลัน” คิดได้ว่า พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้เป็น
ผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าววาจาสัตย์ มีศีล
มีกัลยาณธรรม ถ้าเราจะพึงบรรพชาในพวกพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไซร้
ด้วยอุบายอย่างนี้ เราก็จะพึงพ้นจากกำเนิดนาค และได้อัตภาพมนุษย์ฉับพลัน
จึงแปลงกายเป็นชายหนุ่มเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอบรรพชา
ภิกษุทั้งหลาย ได้ให้บรรพชาให้อุปสมบท ต่อมา พระนาคอาศัยอยู่ในวิหาร
หลังสุดท้ายกับภิกษุรูปหนึ่ง ครั้นราตรีย่ำรุ่ง ภิกษุรูปนั้นตื่นขึ้นไปเดินจงกรมอยู่ในที่
แจ้ง เมื่อเธอออกไปแล้ว พระนาคก็วางใจก้าวลงสู่ความหลับ วิหารทั้งหลังเต็ม
ด้วยงู ขนดยื่นออกทางหน้าต่าง ครั้นภิกษุนั้นผลักบานประตูจะเข้าวิหาร ได้เห็น
วิหารทั้งหลังเต็มด้วยงู ขนดยื่นออกทางหน้าต่าง ก็ตกตะลึงร้องเสียงดัง
ภิกษุทั้งหลายวิ่งเข้าไปหาถามภิกษุนั้นว่า “อาวุโส ท่านร้องเสียงดังทำไม”
ภิกษุนั้นบอกว่า “ท่านทั้งหลาย วิหารทั้งหลังเต็มด้วยงู ขนดยื่นออกทาง
หน้าต่าง”
ทันใดนั้น พระนาคได้ตื่นขึ้นเพราะเสียงนั้น รีบนั่งบนอาสนะของตน
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “อาวุโส ท่านเป็นใคร”
พระนาคตอบว่า “ผมเป็นนาค ขอรับ”
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “อาวุโส ท่านได้ทำเช่นนี้เพื่ออะไร”
พระนาคได้บอกเรื่องนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ
ได้ตรัสกับพระนาคนั้นว่า “พวกเจ้าเป็นนาค ไม่มีความงอกงามในพระธรรมวินัยนี้
ไปเถิด นาค เจ้าจงเข้าจำอุโบสถในดิถีที่ ๑๔ ดิถีที่ ๑๕ และดิถีที่ ๘ แห่งปักษ์นั้น
แหละ ด้วยอุบายอย่างนี้ เจ้าจักพ้นจากกำเนิดนาค และได้อัตภาพมนุษย์ฉับพลัน”
นาคครั้นได้ทราบว่าตนไม่มีความงอกงามในพระธรรมวินัยนี้แน่นอน ก็มีทุกข์
เสียใจ หลั่งน้ำตาส่งเสียงดังหลีกไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๗๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๐. มาตุฆาตกวัตถุ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เหตุที่
ทำให้นาคปรากฏร่างเป็นนาค มี ๒ ประการเหล่านี้ คือ (๑) เวลาที่เสพเมถุนธรรม
กับนางนาคมีชาติเสมอกัน (๒) เวลาที่วางใจก้าวลงสู่ความหลับ ภิกษุทั้งหลาย
เหตุที่ทำให้นาคปรากฏร่างเป็นนาคมี ๒ ประการเหล่านี้
ภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบันผู้เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบท
แล้วพึงให้สึกเสีย” (๔)
๕๐. มาตุฆาตกวัตถุ
ว่าด้วยคนฆ่ามารดาขอบรรพชา
ห้ามคนฆ่ามารดาอุปสมบท
[๑๑๒] สมัยนั้น มาณพผู้หนึ่งได้ปลงชีวิตมารดา เขาอึดอัด ระอา รังเกียจ
บาปกรรมนั้น ต่อมา เขามีความดำริว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ เราจะพึงทำการ
สะสางบาปกรรมนี้ได้” คิดได้ว่า “พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้เป็นผู้
ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าววาจาสัตย์ มีศีล
มีกัลยาณธรรม ถ้าเราจะพึงบรรพชาในพวกพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร
ด้วยอุบายอย่างนี้ เราก็จะพึงทำการสะสางบาปกรรมนี้ได้” จึงเข้าไปหาภิกษุ
ทั้งหลายขอบรรพชา
ภิกษุทั้งหลายได้บอกเรื่องนี้แก่ท่านพระอุบาลีว่า “ท่านอุบาลี เมื่อก่อนนาคได้
แปลงกายเป็นชายหนุ่มเข้ามาบรรพชาในหมู่ภิกษุ ขอนิมนต์ท่านจงสอบสวนมาณพ
ผู้นี้ดูเถิด”
ครั้นมาณพนั้นถูกท่านพระอุบาลีสอบสวนจึงบอกเรื่องนั้นให้ทราบ ท่านพระ
อุบาลีได้บอกเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ พวกภิกษุจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้
มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบันผู้ฆ่ามารดา ไม่พึงให้
อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้ว พึงให้สึกเสีย” (๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๗๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๒. อรหันตฆาตกวัตถุ
๕๑. ปิตุฆาตกวัตถุ
ว่าด้วยคนฆ่าบิดาขอบรรพชา
ห้ามคนฆ่าบิดาอุปสมบท
[๑๑๓] สมัยนั้น มาณพผู้หนึ่งได้ปลงชีวิตบิดา เขาอึดอัด ระอา รังเกียจ
บาปกรรมนั้น ต่อมา เขามีความดำริว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ เราจะพึงทำการ
สะสางบาปกรรมได้” คิดได้ว่า “พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้เป็นผู้
ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าววาจาสัตย์ มีศีล
มีกัลยาณธรรม ถ้าเราจะพึงบรรพชาในพวกพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ด้วย
อุบายอย่างนี้ เราก็จะพึงทำการสะสางบาปกรรมนี้ได้” จึงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลาย
ขอบรรพชา
ภิกษุทั้งหลายได้บอกเรื่องนี้แก่ท่านพระอุบาลีว่า “ท่านอุบาลี เมื่อก่อนนาคได้
แปลงกายเป็นชายหนุ่มเข้ามาบรรพชาในหมู่ภิกษุ ขอนิมนต์ท่านสอบสวนมาณพ
ผู้นี้ดูเถิด”
ครั้นมาณพนั้นถูกท่านพระอุบาลีสอบสวนจึงบอกเรื่องนั้นให้ทราบ ท่านพระ
อุบาลีได้บอกเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ พวกภิกษุจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มี
พระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบันผู้ฆ่าบิดา ไม่พึงให้
อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้ว พึงให้สึกเสีย” (๖)
๕๒. อรหันตฆาตกวัตถุ
ว่าด้วยคนฆ่าพระอรหันต์บรรพชา
ห้ามคนฆ่าพระอรหันต์อุปสมบท
[๑๑๔] สมัยนั้น ภิกษุจำนวนหลายรูปได้เดินทางไกลจากเมืองสาเกตไป
กรุงสาวัตถี ระหว่างทาง โจรยกพวกออกมาปล้นภิกษุบางพวก ฆ่าภิกษุบางพวก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๗๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๓. ภิกขุนีทูสกวัตถุ
เจ้าหน้าที่ยกกำลังจากกรุงสาวัตถีไปจับโจรบางพวกได้ บางพวกหลบหนีไป พวกที่
หนีไปได้บรรพชาในหมู่ภิกษุ พวกที่ถูกจับกำลังถูกเจ้าหน้าที่นำไปฆ่า พวกโจรที่
หนีไปบรรพชา ได้เห็นโจรเหล่านั้นกำลังถูกนำไปฆ่า ก็กล่าวขึ้นว่า “ดีแล้วที่พวก
เราหนีรอดมาได้ ถ้าวันนั้นถูกจับก็จะต้องถูกฆ่าเช่นนั้นด้วย”
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “ท่านทั้งหลาย ก็พวกท่านได้ทำอะไร”
ภิกษุเหล่านั้นได้บอกเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ พวกภิกษุจึงกราบทูลให้
พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพวกนั้นที่ถูกฆ่าเป็นพระอรหันต์
ภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบันผู้ฆ่าพระอรหันต์ ไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้ว
พึงให้สึกเสีย” (๗)
๕๓. ภิกขุนีทูสกวัตถุ
ว่าด้วยคนประทุษร้ายภิกษุณีเป็นต้นบรรพชา
ห้ามคนประทุษร้ายภิกษุณีเป็นต้นอุปสมบท
[๑๑๕] สมัยนั้น ภิกษุณีหลายรูปได้เดินทางไกลจากเมืองสาเกตไปกรุงสาวัตถี
ระหว่างทาง โจรยกพวกออกมาปล้นภิกษุณีบางพวก ทำร้ายภิกษุณีบางพวก
เจ้าหน้าที่ยกกำลังออกจากกรุงสาวัตถีไปจับโจรบางพวกได้ บางพวกหลบหนีไป
พวกที่หนีไปได้บรรพชาในหมู่ภิกษุ พวกที่ถูกจับกำลังถูกเจ้าหน้าที่นำไปฆ่า พวก
โจรที่หนีไปบรรพชาได้เห็นโจรเหล่านั้นกำลังถูกนำไปฆ่า ก็กล่าวขึ้นว่า “ดีแล้วที่
พวกเราหนีรอดมาได้ ถ้าวันนั้นถูกจับ ก็จะต้องถูกฆ่าเช่นนั้นด้วย”
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “ท่านทั้งหลาย ก็พวกท่านได้ทำอะไร”
ภิกษุเหล่านั้นได้บอกเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ พวกภิกษุจึงกราบทูลให้
พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบันผู้ประทุษร้ายภิกษุณี
ไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้ว พึงให้สึกเสีย” (๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๗๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๕. อนุปัชฌายกาทิวัตถุ
เรื่องคนทำลายสงฆ์
ภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบันผู้ทำลายสงฆ์ ไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้ว
พึงให้สึกเสีย (๙)
เรื่องคนทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต
ภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบันผู้ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต ไม่พึงให้
อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้ว พึงให้สึกเสีย (๑๐)
๕๔. อุภโตพยัญชนก
ว่าด้วยอุภโตพยัญชนกบรรพชา
ห้ามอุภโตพยัญชนกอุปสมบท
[๑๑๖] สมัยนั้น อุภโตพยัญชนก๑บางคนได้บรรพชาในหมู่ภิกษุ เธอเสพ
เมถุนธรรมในสตรีทั้งหลายด้วยปุริสนิมิตของตนบ้าง ให้บุรุษอื่นเสพเมถุนธรรมใน
อิตถีนิมิตของตนบ้าง ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบันผู้เป็นอุภโตพยัญชนก
ไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้ว พึงให้สึกเสีย” (๑๑)
๕๕. อนุปัชฌายกาทิวัตถุ
ว่าด้วยคนไม่มีอุปัชฌาย์อุปสมบทเป็นต้น
[๑๑๗] สมัยนั้น พวกภิกษุให้กุลบุตรผู้ไม่มีอุปัชฌาย์อุปสมบท ภิกษุทั้งหลาย
จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ อุภโตพยัญชนก หมายถึงคนมี ๒ เพศ คือสัญลักษณ์เพศหญิง และสัญลักษณ์เพศชาย เพราะผลกรรม
ที่ทำไว้ (วิ.อ. ๓/๑๑๖/๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๘๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๕. อนุปัชฌายกาทิวัตถุ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้ไม่มีอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้
อุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ” (๑๒)
เรื่องคนมีสงฆ์เป็นอุปัชฌาย์
สมัยนั้น พวกภิกษุให้กุลบุตรมีสงฆ์เป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท ภิกษุทั้งหลาย
จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรมีสงฆ์เป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึง
ให้อุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ” (๑๓)
เรื่องคนมีคณะเป็นอุปัชฌาย์
สมัยนั้น พวกภิกษุให้กุลบุตรมีคณะเป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท ภิกษุทั้งหลาย
จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรมีคณะเป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้
อุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ” (๑๔)
เรื่องคนมีบัณเฑาะก์เป็นอุปัชฌาย์เป็นต้น
สมัยต่อมา พวกภิกษุให้กุลบุตรมีบัณเฑาะก์เป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท...
... ให้กุลบุตรมีคนลักเพศเป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท...
... ให้กุลบุตรมีภิกษุไปเข้ารีตเดียรถีย์เป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท...
... ให้กุลบุตรมีสัตว์ดิรัจฉานเป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท...
... ให้กุลบุตรมีคนฆ่ามารดาเป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท...
... ให้กุลบุตรมีคนฆ่าบิดาเป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท...
... ให้กุลบุตรมีคนฆ่าพระอรหันต์เป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท...
... ให้กุลบุตรมีคนประทุษร้ายภิกษุณีเป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท...
... ให้กุลบุตรมีคนทำลายสงฆ์เป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๘๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๖. อปัตตกาทิวัตถุ
... ให้กุลบุตรมีคนทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิตเป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท...
... ให้กุลบุตรมีอุภโตพยัญชนกเป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรมีบัณเฑาะก์
เป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้อุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ”
... กุลบุตรมีคนลักเพศเป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้อุปสมบท...
... กุลบุตรมีภิกษุไปเข้ารีตเดียรถีย์เป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้อุปสมบท...
... กุลบุตรมีสัตว์เดรัจฉานเป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้อุปสมบท...
... กุลบุตรมีคนฆ่ามารดาเป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้อุปสมบท...
... กุลบุตรมีคนฆ่าบิดาเป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้อุปสมบท...
... กุลบุตรมีคนฆ่าพระอรหันต์เป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้อุปสมบท...
... กุลบุตรมีคนประทุษร้ายภิกษุณีเป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้อุปสมบท...
... กุลบุตรมีคนทำลายสงฆ์เป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้อุปสมบท...
... กุลบุตรมีคนทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิตเป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้
อุปสมบท...
... กุลบุตรมีอุภโตพยัญชนกเป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้อุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท
ต้องอาบัติทุกกฏ (๑๕)
๕๖. อปัตตกาทิวัตถุ
ว่าด้วยคนไม่มีบาตรอุปสมบทเป็นต้น
ห้ามคนไม่มีบาตรอุปสมบท
[๑๑๘] สมัยนั้น พวกภิกษุให้กุลบุตรผู้ไม่มีบาตรอุปสมบท พวกเธออุปสมบท
แล้วก็เที่ยวบิณฑบาตด้วยมือ มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“เที่ยวบิณฑบาตเหมือนพวกเดียรถีย์”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๘๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๖. อปัตตกาทิวัตถุ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้ไม่มีบาตร ไม่พึงให้
อุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ” (๑๖)
เรื่องคนไม่มีจีวร
สมัยนั้น พวกภิกษุให้กุลบุตรผู้ไม่มีจีวรอุปสมบท พวกเธออุปสมบทแล้วก็เปลือย
กายเที่ยวบิณฑบาต มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนา ว่า “เที่ยว
บิณฑบาตเหมือนพวกเดียรถีย์”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้ไม่มีจีวร ไม่พึงให้อุปสมบท
รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ” (๑๗)
เรื่องคนไม่มีทั้งบาตรและจีวร
สมัยนั้น พวกภิกษุให้กุลบุตรผู้ไม่มีทั้งบาตรและจีวรอุปสมบท พวกเธอ
อุปสมบทแล้วก็เปลือยกายเที่ยวบิณฑบาตด้วยมือ มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “เที่ยวบิณฑบาตเหมือนพวกเดียรถีย์”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้ไม่มีทั้งบาตรและจีวร ไม่พึง
ให้อุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ” (๑๘)
เรื่องคนยืมบาตร
สมัยนั้น พวกภิกษุให้กุลบุตรผู้ยืมบาตรเขามาอุปสมบท เมื่ออุปสมบทแล้ว
เจ้าของก็ขอเอาบาตรคืน พวกเธอเที่ยวบิณฑบาตด้วยมือ มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “เที่ยวบิณฑบาตเหมือนพวกเดียรถีย์”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลายกุลบุตรผู้ยืมบาตรเขามา ไม่พึงให้
อุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ” (๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๘๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๗. ปัพพาเชตัพพทวัตติงสวาร
เรื่องคนยืมจีวร
สมัยนั้น พวกภิกษุให้กุลบุตรผู้ยืมจีวรเขามาอุปสมบท เมื่ออุปสมบทแล้ว
เจ้าของก็ขอเอาจีวรคืน พวกเธอเปลือยกายเที่ยวบิณฑบาตด้วยมือ มนุษย์ทั้งหลาย
พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เที่ยวบิณฑบาตเหมือนพวกเดียรถีย์”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้ยืมจีวรเขามา ไม่พึงให้
อุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ” (๒๐)
เรื่องคนยืมบาตรและจีวร
สมัยนั้น พวกภิกษุให้กุลบุตรผู้ยืมบาตรและจีวรเขามาอุปสมบท เมื่ออุปสมบท
แล้วเจ้าของก็ขอเอาบาตรและจีวรคืน พวกเธอเปลือยกายเที่ยวบิณฑบาตด้วยมือ
มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนานว่า “เที่ยวบิณฑบาตเหมือนพวก
เดียรถีย์”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้ยืมบาตรและจีวรเขามา
ไม่พึงให้อุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ” (๒๑)
นอุปสัมปาเทตัพพกวีสติวาร จบ
๕๗. ปัพพาเชตัพพทวัตติงสวาร
ว่าด้วยบุคคลไม่ควรให้บรรพชา ๓๒ จำพวก
[๑๑๙] สมัยนั้น พวกภิกษุให้คนมือด้วนบรรพชา ...
... ให้คนเท้าด้วนบรรพชา ...
... ให้คนทั้งมือทั้งเท้าด้วนบรรพชา ...
... ให้คนหูวิ่นบรรพชา ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๘๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๗. ปัพพาเชตัพพทวัตติงสวาร
... ให้คนจมูกแหว่งบรรพชา ...
... ให้คนทั้งหูวิ่นทั้งจมูกแหว่งบรรพชา ...
... ให้คนนิ้วมือนิ้วเท้าขาดบรรพชา ...
... ให้คนง่ามมือง่ามเท้าขาดบรรพชา ...
... ให้คนเอ็นขาดบรรพชา ...
... ให้คนมือเป็นแผ่นบรรพชา ...
... ให้คนค่อมบรรพชา ...
... ให้คนเตี้ยบรรพชา ...
... ให้คนคอพอกบรรพชา ...
... ให้คนถูกสักหมายโทษบรรพชา ...
... ให้คนมีรอยเฆี่ยนด้วยหวายบรรพชา ...
... ให้คนมีหมายจับบรรพชา ...
... ให้คนเท้าปุกบรรพชา ...
... ให้คนมีโรคเรื้อรังบรรพชา ...
... ให้คนมีรูปร่างไม่สมประกอบบรรพชา๑ ...
... ให้คนตาบอดข้างเดียวบรรพชา ...
... ให้คนง่อยบรรพชา ...
... ให้คนกระจอกบรรพชา ...
... ให้คนเป็นโรคอัมพาตบรรพชา ...
... ให้คนเคลื่อนไหวเองไม่ได้บรรพชา ...
... ให้คนชราทุพพลภาพบรรพชา ...
... ให้คนตาบอดสองข้างบรรพชา ...
... ให้คนใบ้บรรพชา ...
... ให้คนหูหนวกบรรพชา ...

เชิงอรรถ :
๑ คนมีรูปร่างไม่สมประกอบ เรียกว่า “คนประทุษร้ายบริษัท” คือ คนมีรูปร่างผิดปกติ เช่น สูงเกินไป
เตี้ยเกินไป ดำเกินไป ขาวเกินไป จมูกใหญ่เกินไป จมูกเล็กเกินไป (วิ.อ. ๓/๑๑๙/๙๖-๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๘๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๗. ปัพพาเชตัพพทวัตติงสวาร
... ให้คนทั้งบอดทั้งใบ้บรรพชา ...
... ให้คนทั้งบอดทั้งหนวกบรรพชา ...
... ให้คนทั้งใบ้ทั้งหนวกบรรพชา ...
... ให้คนทั้งบอดทั้งใบ้ทั้งหนวกบรรพชา ...
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
เรื่องทรงห้ามให้คนมือด้วนเป็นต้นบรรพชา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงให้คนมือด้วนบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนเท้าด้วนบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนทั้งมือทั้งเท้าด้วนบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนหูวิ่นบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนจมูกแหว่งบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนทั้งหูวิ่นทั้งจมูกแหว่งบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนนิ้วมือนิ้วเท้าขาดบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนง่ามมือง่ามเท้าขาดบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนเอ็นขาดบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนมือเป็นแผ่นบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนค่อมบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนเตี้ยบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนคอพอกบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนถูกสักหมายโทษบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนมีรอยเฆี่ยนด้วยหวายบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนมีหมายจับบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนเท้าปุกบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนมีโรคเรื้อรังบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนมีรูปร่างไม่สมประกอบบรรพชา ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๘๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๘. อลัชชีนิสสยวัตถุ
... ไม่พึงให้คนตาบอดข้างเดียวบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนง่อยบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนกระจอกบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนเป็นโรคอัมพาตบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนเคลื่อนไหวเองไม่ได้บรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนชราทุพพลภาพบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนตาบอดสองข้างบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนใบ้บรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนหูหนวกบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนทั้งบอดทั้งใบ้บรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนทั้งบอดทั้งหนวกบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนทั้งใบ้ทั้งหนวกบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนทั้งบอดทั้งใบ้ทั้งหนวกบรรพชา รูปใดให้บรรพชา ต้องอาบัติ
ทุกกฏ”
นปัพพาเชตัพพทวัตติงสวาร จบ
ทายัชชภาณวารที่ ๙ จบ
๕๘. อลัชชีนิสสยวัตถุ
ว่าด้วยการให้นิสสัยแก่ภิกษุอลัชชี
เรื่องทรงห้ามการให้นิสสัยแก่ภิกษุอลัชชี
[๑๒๐] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ให้นิสสัยแก่พวกภิกษุอลัชชี ภิกษุทั้งหลาย
จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงให้นิสสัยแก่พวกภิกษุอลัชชี
รูปใดให้ ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๘๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๙. คมิกาทินิสสยวัตถุ
เรื่องทรงห้ามการถือนิสสัยภิกษุอลัชชี
สมัยนั้น พวกภิกษุอยู่อาศัยพวกภิกษุอลัชชี ไม่นานนักแม้ภิกษุพวกนั้นก็กลาย
เป็นภิกษุอลัชชี เป็นภิกษุเลวทราม
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงอยู่อาศัยพวกภิกษุอลัชชี
รูปใดอยู่ ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายมีความดำริว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ‘ไม่พึง
ให้นิสสัยแก่พวกภิกษุอลัชชี ไม่พึงอยู่อาศัยพวกภิกษุอลัชชี’ ทำอย่างไรหนอ พวกเรา
จึงจะรู้ว่าภิกษุเป็นลัชชีหรืออลัชชี” จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รอ ๔-๕ วัน พอจะรู้
ว่าภิกษุผู้ให้นิสสัยเป็นสภาคกัน”
๕๙. คมิกาทินิสสยวัตถุ
ว่าด้วยการถือนิสสัยของภิกษุผู้เดินทางเป็นต้น
เรื่องภิกษุผู้เดินทางไกลไม่ต้องถือนิสสัย
[๑๒๑] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางไกลไปในแคว้นโกศล เธอมีความดำริว่า
“พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุจะอยู่โดยไม่ถือนิสสัยไม่ได้ ก็เราจำต้องถือ
นิสสัย แต่ต้องเดินทางไกล เราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เดินทางไกล
เมื่อไม่ได้ผู้ให้นิสสัย ให้อยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๘๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๙. คมิกาทินิสสยวัตถุ
เรื่องภิกษุไข้ไม่ต้องถือนิสัย
สมัยนั้น ภิกษุ ๒ รูป เดินทางไกลไปในแคว้นโกศล ท่านทั้ง ๒ เข้าพัก ณ
อาวาสแห่งหนึ่ง ในภิกษุ ๒ รูปนั้น รูปหนึ่งเป็นไข้ ท่านมีความดำริว่า “พระผู้มี
พระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ‘ภิกษุจะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัยไม่ได้’ ก็เราจำต้องถือ
นิสสัย แต่กำลังเป็นไข้ เราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เป็นไข้
เมื่อไม่ได้ผู้ให้นิสสัย พึงอยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัย”
ต่อมา ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้มีความดำริว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ
ไว้ว่า ‘ภิกษุจะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัยไม่ได้’ ก็เราจำต้องถือนิสสัย แต่ภิกษุนี้
กำลังเป็นไข้ เราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
เรื่องภิกษุผู้พยาบาลไข้ไม่ต้องถือนิสสัย
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้พยาบาล
ภิกษุไข้ เมื่อไม่ได้ผู้ให้นิสสัย ทั้งถูกภิกษุผู้เป็นไข้ขอร้อง พึงอยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัย”
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในป่า และเธอมีความผาสุกในเสนาสนะนั้น ต่อมา
ท่านมีความดำริว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ‘ภิกษุจะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัยไม่ได้’ ก็เราจำต้องถือนิสสัย แต่ยังอยู่ในป่าและมีความผาสุกในเสนาสนะนี้
เราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
เรื่องไม่ต้องถือนิสสัยเพราะหาผู้ให้นิสสัยไม่ได้
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่ป่า
เป็นวัตร กำหนดเอาความผาสุก เมื่อไม่ได้ผู้ให้นิสสัย พึงอยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัย
ด้วยผูกใจว่า เราจักถือนิสสัยอยู่ในเมื่อภิกษุผู้ให้นิสสัยผู้สมควรมาถึง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๘๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๑. เทฺวอุปสัมปทาเปกขาทิวัตถุ
๖๐. โคตเตนอนุสสาวนานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตอุปสมบทกรรมโดยสวดระบุโคตรของอุปัชฌาย์
เรื่องพระมหากัสสปะนิมนต์พระอานนท์มาสวดนาค
[๑๒๒] สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปะมีอุปสัมปทาเปกขะ ท่านจึงส่งทูตไปใน
สำนักพระอานนท์ให้นิมนต์ว่า “ท่านอานนท์จงมาสวดอุปสัมปทาเปกขะ๑นี้”
พระอานนท์ตอบไปว่า “กระผมไม่สามารถจะระบุนามของพระเถระ๒ได้ เพราะ
พระเถระเป็นที่เคารพของกระผม”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวดระบุโคตรได้”
๖๑. เทฺวอุปสัมปทาเปกขาทิวัตถุ
ว่าด้วยอุปสมบทอุปสัมปทาเปกขะ ๒ คนเป็นต้น
เรื่องแย่งกันอุปสมบทก่อน
[๑๒๓] สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปะมีอุปสัมปทาเปกขะ ๒ คน อุปสัมปทา
เปกขะทั้ง ๒ เถียงกันว่า “ผมจักอุปสมบทก่อน ผมจักอุปสมบทก่อน”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวดอุปสัมปทาเปกขะ
๒ คน ในอนุสาวนาเดียวกันได้”

เชิงอรรถ :
๑ อุปสัมปทาเปกขะ คือ ผู้มุ่งจะบวชเป็นภิกษุ ผู้ประสงค์จะบวช
๒ หมายถึงไม่สามารถระบุชื่อของพระมหากัสสปะ ที่จะปรากฏอยู่ในคำสวดว่า “อายสฺมโต ปิปฺผลิสฺส
อุปสมฺปทาเปกฺโข (อุปสัมปทาเปกขะของท่านปิปผลิ) (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๒๒/๓๒๓) เพราะการระบุชื่อและ
โคตรถือเป็นการแสดงความไม่เคารพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๙๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๒. คัพภวีสูปสัมปทานุชานนา
เรื่องอุปสมบทครั้งละ ๓ คน มีอุปัชฌาย์รูปเดียว
สมัยต่อมา พระเถระหลายรูปต่างก็มีอุปสัมปทาเปกขะหลายคน อุปสัมปทา
เปกขะ เหล่านั้นต่างเถียงกันว่า “ผมจักอุปสมบทก่อน ผมจักอุปสมบทก่อน”
พระเถระทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวดอุปสัมปทาเปกขะ
ในอนุสาวนาเดียวกันครั้งละ ๒ คน ๓ คนได้ แต่การสวดนั้น เราอนุญาตให้มี
อุปัชฌาย์รูปเดียวกัน ไม่อนุญาตให้มีอุปัชฌาย์ต่างรูปกัน”
๖๒. คัพภวีสูปสัมปทานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาต
อุปสมบทให้กุลบุตรโดยนับอายุ ๒๐ ปีทั้งอยู่ในครรภ์
เรื่องพระกุมารกัสสปะ
[๑๒๔] สมัยนั้น ท่านพระกุมารกัสสปะมีอายุครบ ๒๐ ปีนับทั้งอยู่ในครรภ์
ได้อุปสมบทแล้ว ต่อมา ท่านมีความดำริว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า
‘บุคคลมีอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี สงฆ์ไม่พึงให้อุปสมบท’ แต่เรามีอายุครบ ๒๐ ปี
นับทั้งอยู่ในครรภ์อุปสมบทแล้ว จะเป็นอันได้อุปสมบทหรือไม่หนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย สัตว์เกิดนับตั้งแต่จิตดวงแรก
วิญญาณดวงแรกเกิดปรากฏขึ้นในครรภ์ของมารดา ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
อุปสมบทให้กุลบุตรมีอายุครบ ๒๐ นับทั้งอยู่ในครรภ์ได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๙๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๓. อุปสัมปทาวิธิ
๖๓. อุปสัมปทาวิธิ
ว่าด้วยอุปสมบทวิธี
เรื่องอุปสัมบันถูกโรคเบียดเบียน
[๑๒๕] สมัยนั้น กุลบุตรทั้งหลายที่อุปสมบทแล้ว ปรากฏเป็นโรคเรื้อนก็มี
โรคฝีก็มี โรคกลากก็มี โรคมองคร่อก็มี โรคลมบ้าหมูก็มี
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สงฆ์ผู้จะให้อุปสมบท
ถามอันตรายิกธรรม ๑๓ ข้อได้”
เรื่องถามอันตรายิกธรรมกับอุปสัมปทาเปกขะ
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงถามอุปสัมปทาเปกขะอย่างนี้
อาพาธเช่นนี้ของเจ้ามีอยู่หรือ คือ โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ
โรคลมบ้าหมู เจ้าเป็นมนุษย์หรือ เจ้าเป็นชายหรือ เจ้าเป็นไทหรือ เจ้าไม่มีหนี้หรือ
เจ้าไม่ใช่ราชภัฏหรือ มารดาบิดาอนุญาตเจ้าแล้วหรือ เจ้ามีอายุครบ ๒๐ ปีหรือ
บาตรและจีวรของเจ้ามีครบแล้วหรือ เจ้าชื่ออะไร อุปัชฌาย์ของเจ้าชื่ออะไร
เรื่องสอนซ้อมก่อนถามอันตรายิกธรรม
สมัยนั้น พวกภิกษุถามอันตรายิกธรรมกับพวกอุปสัมปทาเปกขะผู้ยังมิได้สอน
ซ้อม พวกอุปสัมปทาเปกขะย่อมสะทกสะท้าน เก้อเขิน ไม่อาจตอบได้
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สอนซ้อมจึงถาม
อันตรายิกธรรมภายหลัง”
พวกภิกษุ ก็สอนซ้อมในท่ามกลางสงฆ์นั่นแหละ พวกอุปสัมปทาเปกขะก็สะทก
สะท้าน เก้อเขิน ไม่อาจตอบเช่นเดิม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๙๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๓. อุปสัมปทาวิธิ
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สอนซ้อม ณ ที่สมควร
จึงถามอันตรายิกธรรมในท่ามกลางสงฆ์”
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงสอนซ้อมอุปสัมปทาเปกขะอย่างนี้
คำบอกบาตรและจีวร
[๑๒๖] ในเบื้องต้น พึงให้อุปสัมปทาเปกขะถืออุปัชฌาย์ ครั้นให้ถืออุปัชฌาย์
แล้วพึงบอกบาตรและจีวรว่า “นี้บาตร นี้สังฆาฏิ นี้อุตตราสงค์ นี้อันตรวาสก
ของเจ้า เจ้าจงออกไปยืนที่โน้น”
เรื่องภิกษุโง่เขลาสอนซ้อม
พวกภิกษุผู้โง่เขลาไม่ฉลาด สอนซ้อม พวกอุปสัมปทาเปกขะถูกสอนซ้อมไม่ดี
ก็สะทกสะท้าน เก้อเขิน ไม่สามารถตอบได้
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้โง่เขลาไม่ฉลาด ไม่พึงสอนซ้อม
รูปใดสอนซ้อม ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาด
สามารถสอนซ้อม”
เรื่องภิกษุยังไม่ได้รับแต่งตั้งสอนซ้อม
พวกภิกษุผู้ยังไม่ได้รับแต่งตั้งสอนซ้อม ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระ
ผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังไม่ได้รับแต่งตั้งไม่พึงสอนซ้อม
รูปใดสอนซ้อม ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้ง
สอนซ้อม”
ภิกษุทั้งหลาย พึงแต่งตั้งอย่างนี้ ตนเองแต่งตั้งตนเองก็ได้ ภิกษุรูปหนึ่ง
แต่งตั้งภิกษุอีกรูปหนึ่งก็ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๙๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๓. อุปสัมปทาวิธิ
วิธีแต่งตั้งตนและกรรมวาจา
อย่างไรเล่า ชื่อว่าตนเองแต่งตั้งตนเอง คือ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้
สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มี
ชื่อนี้ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว ข้าพเจ้าชื่อนี้ จะสอนซ้อมผู้มีชื่อนี้
อย่างนี้ ชื่อว่าตนเองแต่งตั้งตนเอง
วิธีแต่งตั้งผู้อื่นและกรรมวาจา
อย่างไรเล่า ชื่อว่าภิกษุรูปหนึ่งแต่งตั้งภิกษุอีกรูปหนึ่ง คือ ภิกษุผู้ฉลาด
สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มี
ชื่อนี้ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว ท่านผู้มีชื่อนี้พึงสอนซ้อมผู้มีชื่อนี้
อย่างนี้ ชื่อว่าภิกษุรูปหนึ่งแต่งตั้งภิกษุอีกรูปหนึ่ง
ภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งนั้น พึงเข้าไปหาอุปสัมปทาเปกขะกล่าวแล้วอย่างนี้ว่า
แน่ะผู้มีชื่อนี้ เจ้าฟังนะ นี้เป็นกาลสัตย์ กาลจริงของเจ้า เมื่อภิกษุผู้สอนซ้อม
ถามในท่ามกลางสงฆ์ถึงสิ่งที่เกิด สิ่งที่มี พึงบอกว่า “มี” ไม่มีก็พึงบอกว่า “ไม่มี”
เจ้าอย่าสะทกสะท้าน อย่าเก้อเขิน ภิกษุผู้สอนซ้อมจักถามเจ้าอย่างนี้ว่า ‘อาพาธ
เช่นนี้ของเจ้ามีอยู่หรือ คือ โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู
เจ้าเป็นมนุษย์หรือ เจ้าเป็นชายหรือ เจ้าเป็นไทหรือ เจ้าไม่มีหนี้หรือ เจ้าไม่ใช่
ราชภัฏหรือ มารดาบิดาอนุญาตเจ้าแล้วหรือ เจ้ามีอายุครบ ๒๐ ปีแล้วหรือ
เจ้ามีบาตรและจีวรครบแล้วหรือ เจ้าชื่ออะไร อุปัชฌาย์ของเจ้าชื่ออะไร’
เรื่องห้ามผู้สอนซ้อมกับอุปสัมปทาเปกขะเดินมาพร้อมกัน
ภิกษุผู้สอนซ้อมกับอุปสัมปทาเปกขะเดินมาพร้อมกัน พระผู้มีพระภาครับ
สั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สอนซ้อมกับอุปสัมปทาเปกขะ ไม่พึงเดินมาพร้อมกัน
ภิกษุผู้สอนซ้อมพึงเดินมาก่อน แล้วประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๙๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๓. อุปสัมปทาวิธิ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มี
ชื่อนี้ ข้าพเจ้าสอนซ้อมเขาแล้ว ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว ผู้มีชื่อนี้พึงมาได้
พึงเรียกอุปสัมปทาเปกขะว่า “เจ้าจงเข้ามาเถิด”
คำขออุปสมบท
พึงให้อุปสัมปทาเปกขะห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย
นั่งกระโหย่ง ประนมมือ ขออุปสมบทว่า
ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขออุปสมบทต่อสงฆ์ สงฆ์โปรดช่วยอนุเคราะห์ยก
ข้าพเจ้าขึ้นเถิด
ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขออุปสมบทต่อสงฆ์ เป็นครั้งที่ ๒ สงฆ์โปรดช่วย
อนุเคราะห์ยกข้าพเจ้าขึ้นเถิด
ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขออุปสมบทต่อสงฆ์ เป็นครั้งที่ ๓ สงฆ์โปรดช่วย
อนุเคราะห์ยกข้าพเจ้าขึ้นเถิด
คำแต่งตั้งตนเพื่อถามอันตรายิกธรรม
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้
มีชื่อนี้ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว ข้าพเจ้าพึงถามอันตรายิกธรรมกับผู้มีชื่อนี้ ดังนี้
แน่ะผู้มีชื่อนี้ เจ้าฟังนะ นี้เป็นกาลสัตย์ กาลจริงของเจ้า เราจะถามสิ่งที่เกิด
สิ่งที่มี พึงบอกว่า “มี” ไม่มีก็พึงบอกว่า “ไม่มี” อาพาธเช่นนี้ของเจ้ามีอยู่หรือ
คือ โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู เจ้าเป็นมนุษย์หรือ
เจ้าเป็นชายหรือ เจ้าเป็นไทหรือ เจ้าไม่มีหนี้หรือ เจ้าไม่ใช่ราชภัฏหรือ มารดาบิดา
อนุญาตเจ้าแล้วหรือ เจ้ามีอายุครบ ๒๐ ปีหรือ บาตรและจีวรของเจ้ามีครบแล้วหรือ
เจ้าชื่ออะไร อุปัชฌาย์ของเจ้าชื่ออะไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๙๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๓. อุปสัมปทาวิธี
ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า
[๑๒๗] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของ
ท่านผู้มีชื่อนี้ บริสุทธิ์จากอันตรายิกธรรมทั้งหลาย เขามีบาตรและจีวรครบแล้ว
ผู้มีชื่อนี้ขออุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว
สงฆ์พึงให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มี
ชื่อนี้ บริสุทธิ์จากอันตรายิกธรรมทั้งหลาย เขามีบาตรและจีวรครบแล้ว ผู้มีชื่อนี้ขอ
อุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่าน
ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้
เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้
เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ บริสุทธิ์จากอันตรายิกธรรมทั้งหลาย เขามี
บาตรและจีวรครบแล้ว ผู้มีชื่อนี้ขออุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์
สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ผู้
มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย
ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้
เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ บริสุทธิ์จากอันตรายิกธรรมทั้งหลาย เขามี
บาตรและจีวรครบแล้ว ผู้มีชื่อนี้ขออุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์
สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ผู้
มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย
ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
ท่านผู้มีชื่อนี้ สงฆ์ให้อุปสมบทแล้ว มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ สงฆ์เห็นด้วย
เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้น เป็นมติอย่างนี้
อุปสัมปทาวิธิ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๙๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๕. จัตตาริอกรณียะ
๖๔. จัตตารินิสสยะ
ว่าด้วยนิสสัย ๔
เรื่องทรงอนุญาตให้บอกนิสสัย ๔
[๑๒๘] ขณะนั้นแหละ พึงวัดเงาแดด บอกประมาณแห่งฤดู บอกส่วนแห่งวัน
บอกสังคีติ๑ บอกนิสสัย ๔ ว่า
๑. บรรพชาอาศัยโภชนะคือคำข้าวที่พึงได้ด้วยปลีแข้ง เธอพึงทำอุตสาหะใน
โภชนะคือคำข้าวที่พึงได้ด้วยปลีแข้งจนตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ๒ สังฆภัต อุทเทสภัต
นิมันตนภัต สลากภัต ปักขิกภัต อุโปสถิกภัต ปาฏิปทิกภัต
๒. บรรพชาอาศัยผ้าบังสุกุล เธอพึงทำอุตสาหะในผ้าบังสุกุลนั้นจนตลอดชีวิต
อติเรกลาภ คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าเจือกัน
๓. บรรพชาอาศัยเสนาสนะคือควงไม้ เธอพึงทำอุตสาหะในเสนาสนะคือควงไม้
นั้นจนตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ วิหาร เรือนมุงแถบเดียว ปราสาท เรือนโล้น ถ้ำ
๔. บรรพชาอาศัยยาคือน้ำมูตรเน่า เธอพึงทำอุตสาหะในยาคือน้ำมูตรเน่านั้น
จนตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
จัตตารินิสสยะ จบ
๖๕. จัตตาริอกรณียะ
ว่าด้วยอกรณียกิจ ๔
เรื่องทิ้งภิกษุบวชใหม่ไว้ตามลำพัง
[๑๒๙] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ให้ภิกษุรูปหนึ่งอุปสมบทแล้ว ทิ้งไว้ตาม
ลำพังหลีกไป ภิกษุรูปนั้นเดินมาทีหลังเพียงรูปเดียว ได้พบภรรยาเก่าระหว่างทาง

เชิงอรรถ :
๑ วัดเงา คือวัดเงาคนว่า ๑ ชั่วคน หรือ ๒ ชั่วคน บอกประมาณแห่งฤดู คือบอกว่าเป็นฤดูฝน เป็นฤดูหนาว
เป็นฤดูร้อน บอกส่วนแห่งวัน คือบอกว่าเป็นเวลาเช้า หรือเป็นเวลาเย็น บอกสังคีติ คือ บอกทั้งหมด
พร้อมกันว่าถ้าท่านถูกถามว่าได้ฤดูอะไร ได้ฉายาอะไร ได้เวลาในช่วงไหนของวัน พึงบอกว่า ได้ฤดูนี้
ฉายานี้ เวลาในช่วงนี้ของวัน (วิ.อ. ๓/๑๒๘/๑๐๔)
๒ ดูข้อ ๗๓ หน้า ๑๐๑ ในเล่มนี้(เชิงอรรถ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๙๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๕. จัตตาริอกรณียะ
นางได้ถามว่า “เวลานี้ท่านบรรพชาแล้วหรือ”
ภิกษุรูปนั้นตอบว่า “จ้ะ ฉันบรรพชาแล้ว”
นางจึงพูดชวนว่า “เมถุนธรรมสำหรับพวกบรรพชิตหาได้ยาก ขอท่านมาเสพ
เมถุนธรรมกันเถิด”
ภิกษุรูปนั้นได้เสพเมถุนธรรมกับภรรยาเก่าแล้ว จึงมาถึงล่าช้า
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “ท่าน ทำไมท่านจึงมาถึงช้าเช่นนี้”
ภิกษุรูปนั้นได้บอกเรื่องนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
ทรงอนุญาตให้บอกอกรณียกิจ ๔
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ”ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุปสมบทแล้วให้มีภิกษุ
เป็นเพื่อน และให้บอกอกรณียกิจ ๔ ดังนี้
๑. ภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงเสพเมถุนธรรมโดยที่สุดแม้กับสัตว์ดิรัจฉาน
ตัวเมีย ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร
ภิกษุเสพเมถุนธรรมแล้ว ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือน
คนถูกตัดศีรษะ ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ โดยการต่อศีรษะเข้ากับร่างกายนั้น การเสพ
เมถุนธรรมนั้น อันเธอไม่พึงกระทำจนตลอดชีวิต
๒. ภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ โดยส่วนแห่งจิต
คิดจะลัก โดยที่สุดกระทั่งหญ้าเส้นเดียว ภิกษุใดถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้
โดยส่วนแห่งจิตคิดจะลัก ๑ บาทบ้าง ควรแก่ ๑ บาทบ้าง เกินกว่า ๑ บาทบ้าง
ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร ภิกษุถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้
โดยส่วนแห่งจิตคิดจะลัก ๑ บาทบ้าง ควรแก่ ๑ บาทบ้าง เกินกว่า ๑ บาทบ้าง
ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือน ใบไม้เหี่ยวเหลือง
หลุดจากขั้วแล้ว ไม่อาจเป็นของเขียวสดต่อไปได้ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้
นั้น อันเธอไม่พึงกระทำจนตลอดชีวิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๙๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๖. อาปัตติอทัสสนอุกขิตตวัตถุ
๓. ภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงจงใจพรากสัตว์เสียจากชีวิตโดยที่สุดกระทั่งมด
ดำ มดแดง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิตโดยที่สุดกระทั่งยังครรภ์ให้ตกไป
ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร ภิกษุจงใจพรากกายมนุษย์เสียจาก
ชีวิต ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือนแผ่นศิลาหนา
แตกออกเป็น ๒ เสี่ยง จะประสานให้สนิทเป็นแผ่นเดียวกันอีกไม่ได้ การจงใจพราก
กายมนุษย์เสียจากชีวิตนั้น อันเธอไม่พึงกระทำจนตลอดชีวิต
๔. ภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมโดยที่สุดพูดว่า
ข้าพเจ้ายินดีในเรือนว่าง ภิกษุใดมีความปรารถนาชั่ว ถูกความอยากครอบงำ
กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีอยู่ ไม่เป็นจริง คือ ฌานก็ดี วิโมกข์ก็ดี สมาธิก็ดี
สมาบัติก็ดี มรรคก็ดี ผลก็ดี ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร ภิกษุ
มีความปรารถนาชั่ว ถูกความอยากครอบงำ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีอยู่
ไม่เป็นจริง ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือนต้นตาล
ยอดด้วนที่ไม่อาจงอกได้ต่อไป การกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมนั้น อันเธอไม่พึง
กระทำจนตลอดชีวิต”
จัตตาริอกรณียะ จบ
๖๖. อาปัตติอทัสสนอุกขิตตวัตถุ
ว่าด้วยภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ
[๑๓๐] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ
ได้สึกไป เขากลับมาขออุปสมบทกับภิกษุทั้งหลายอีก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงวิธีปฏิบัติดังนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ก็ ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ
ได้สึกไป เขากลับมาขออุปสมบทกับภิกษุทั้งหลายอีก พึงถามเขาว่า ‘เจ้าเห็นอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๙๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๖. อาปัตติอทัสสนอุกขิตตวัตถุ
นั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมเห็น ขอรับ’ พึงให้บรรพชา ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผม
ไม่เห็น ขอรับ’ ไม่พึงให้บรรพชา ครั้นให้บรรพชาแล้วพึงถามว่า ‘เจ้าเห็นอาบัตินั้น
หรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมเห็น ขอรับ’ พึงให้อุปสมบท ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมไม่
เห็นขอรับ’ ไม่พึงให้อุปสมบท ครั้นให้อุปสมบทแล้วพึงถามว่า ‘ท่านเห็นอาบัตินั้น
หรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมเห็น ขอรับ’ พึงเรียกเข้าหมู่ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมไม่
เห็นขอรับ’ ไม่พึงเรียกเข้าหมู่ ครั้นเรียกเข้าหมู่แล้วพึงถามว่า ‘ท่านเห็นอาบัตินั้นหรือ’
ถ้าเขาเห็นเอง นั่นเป็นการดี ถ้าไม่เห็น เมื่อได้สามัคคี พึงลงอุกเขปนียกรรมอีก
เมื่อไม่ได้สามัคคี ไม่ต้องอาบัติเพราะกินร่วมและอยู่ร่วม
เรื่องภิกษุถูกลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืน
อาบัติ ได้สึกไป เขากลับมาขออุปสมบทกับภิกษุทั้งหลายอีก พึงถามเขาว่า
‘เจ้าจักทำคืนอาบัตินั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักทำคืน ขอรับ’ พึงให้บรรพชา
ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักไม่ทำคืน ขอรับ’ ไม่พึงให้บรรพชา ครั้นให้บรรพชาแล้ว
พึงถามว่า ‘เจ้าจักทำคืนอาบัตินั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักทำคืน ขอรับ’
พึงให้อุปสมบท ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจะไม่กระทำคืน’ ไม่พึงให้อุปสมบท ครั้นให้
อุปสมบทแล้วพึงถามว่า ‘ท่านจักทำคืนอาบัตินั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผม
จักทำคืน ขอรับ’ พึงเรียกเข้าหมู่ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจะไม่กระทำคืน’ ไม่พึง
เรียกเข้าหมู่ ครั้นเรียกเข้าหมู่แล้วพึงกล่าวว่า ‘จงทำคืนอาบัตินั้นเสีย’ ถ้าเขา
ทำคืน นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ทำคืน เมื่อได้สามัคคี พึงลงอุกเขปนียกรรมอีก
เมื่อไม่ได้สามัคคี ไม่ต้องอาบัติเพราะกินร่วมและอยู่ร่วม
เรื่องภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาป
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละ
ทิฏฐิบาปสึกไป เขากลับมาขออุปสมบทกับภิกษุทั้งหลายอีก พึงถามเขาว่า ‘เจ้าจัก
สละทิฏฐิบาปนั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักสละ ขอรับ’ พึงให้บรรพชา ถ้าเขา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๐๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๗. รวมเรื่องที่มีในมหาขันธกะ
ตอบว่า ‘กระผมจักไม่สละ ขอรับ’ ไม่พึงให้บรรพชา ครั้นให้บรรพชาแล้วพึงถามว่า
‘เจ้าจักสละทิฏฐิบาปนั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักสละ ขอรับ’ พึงให้
อุปสมบท ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักไม่สละ’ ไม่พึงให้อุปสมบท ครั้นให้อุปสมบท
แล้วพึงถามว่า ‘ท่านจักสละทิฏฐิบาปนั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักสละ
ขอรับ’ พึงเรียกเข้าหมู่ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักไม่สละ’ ไม่พึงเรียกเข้าหมู่
ครั้นเรียกเข้าหมู่แล้วพึงกล่าวว่า ‘จงสละทิฏฐิบาปนั้นเสีย’ ถ้าเขาสละ นั่นเป็นการดี
ถ้าไม่สละ เมื่อได้สามัคคี พึงลงอุกเขปนียกรรมอีก เมื่อไม่ได้สามัคคี ไม่ต้อง
อาบัติเพราะกินร่วมและอยู่ร่วม”
เรื่องภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ จบ
มหาขันธกะที่ ๑ จบ
๖๗. รวมเรื่องที่มีในมหาขันธกะ
[๑๓๑] เพราะภิกษุผู้ฉลาดในพระวินัย อันมีประโยชน์มาก
อันนำความสุขมาให้ภิกษุผู้มีศีลดีงาม ในการข่มภิกษุ
ผู้ปรารถนาต่ำทราม ในการยกย่องภิกษุผู้มีความละอาย
ในมหาวรรคขันธกะและจูฬวรรคขันธกะ ในภิกขุวิภังค์
และภิกขุนีวิภังค์ในคัมภีร์บริวาร ในภิกขุปาติโมกข์
และภิกขุนีปาติโมกข์ อันทรงไว้ซึ่งพระศาสนา
อันเป็นพุทธวิสัยแห่งพระสัพพัญญู
มิใช่วิสัยของบุคคลทั่วไป อันเกษม
ที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว และปราศจากข้อสงสัย
ย่อมปฏิบัติโดยแยบคาย นับว่าเป็นผู้กระทำประโยชน์
ผู้ใดไม่รู้จักโค ผู้นั้นย่อมรักษาฝูงโคไว้ไม่ได้ ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้น เมื่อไม่รู้จักศีล ไฉนจะพึงรักษาสังวรได้เล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๐๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๗. รวมเรื่องที่มีในมหาขันธกะ
เมื่อพระสูตรและพระอภิธรรมเลอะเลือนไปแล้ว
พระวินัยยังไม่เสื่อมสูญ พระศาสนาย่อมดำรงอยู่ได้
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจักกล่าวหัวข้อเหตุแห่งการสังคายนา
ตามความรู้โดยลำดับ ขอท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้ากล่าว
การที่จะแสดง วัตถุ นิทาน อาบัติ นัย และเปยยาล
ให้สิ้นเชิงนั้น ทำได้ยาก ท่านทั้งหลายจงทราบข้อนั้นโดยนัยเถิด
ในขันธกะมี ๑๗๒ เรื่องคือ
เรื่องเหตุการณ์แรกตรัสรู้ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์
เรื่องเหตุการณ์ขณะประทับอยู่ ณ ควงต้นอชปาลนิโครธ
เรื่องเหตุการณ์ขณะประทับอยู่ ณ ควงต้นมุจลินท์
เรื่องเหตุการณ์ขณะประทับอยู่ ณ ควงต้นราชายตนะ
เรื่องท้าวสหัมบดีพรหมอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม
เรื่องอาฬารดาบส กาลามโคตร
เรื่องอุททกดาบส รามบุตร เรื่องอุปกาชีวก
เรื่องทรงแสดงธรรมแก่พระปัญจวัคคีย์ คือ
โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ
เรื่องยสกุลบุตร เรื่องสหาย ๔ คนของพระยสะ
เรื่องสหาย ๕๐ คนของพระยสะ
เรื่องส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูปไปทุกทิศ
เรื่องมาร เรื่องทรงแสดงธรรมโปรดภัททวัคคีย์ ๓๐ คน
เรื่องปาฏิหาริย์ที่ตำบลอุรุเวลา เรื่องชฎิล ๓ พี่น้อง
เรื่องโรงบูชาไฟ เรื่องท้าวมหาราชทั้ง ๔ เรื่องท้าวสักกะ
เรื่องท้าวสหัมบดีพรหม เรื่องชาวอังคะและมคธ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๐๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๗. รวมเรื่องที่มีในมหาขันธกะ
เรื่องผ้าบังสุกุล เรื่องสระโบกขรณี เรื่องขยำผ้าบังสุกุลบนศิลา
เรื่องพาดผ้าบังสุกุลบนต้นกุ่ม เรื่องผึ่งผ้าบังสุกุลบนแผ่นศิลา
เรื่องต้นหว้า เรื่องต้นมะม่วง เรื่องต้นมะขามป้อม
เรื่องดอกปาริฉัตร
เรื่องพวกชฎิลผ่าฟืน เรื่องพวกชฎิลก่อไฟ
เรื่องพวกชฎิลดับไฟ เรื่องพวกชฎิลดำน้ำ เรื่องภาชนะใส่ไฟ
เรื่องฝนตกน้ำท่วม เรื่องทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรใกล้แม่น้ำคยา
เรื่องประทับ ณ สวนตาลหนุ่ม เรื่องพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
เรื่องสารีบุตรและโมคคัลลานะบรรพชา
เรื่องกุลบุตรมีชื่อเสียงบรรพชา
เรื่องภิกษุนุ่งห่มไม่เรียบร้อย เรื่องการประณาม
เรื่องพราหมณ์ซูบผอมเพราะไม่ได้บวช
เรื่องภิกษุประพฤติไม่สมควร
เรื่องพราหมณ์บวชเพราะเห็นแก่ท้อง
เรื่องการบอกนิสสัยแก่มาณพก่อนบวช เรื่องให้อุปสมบทด้วยคณะ
เรื่องอุปัชฌาย์มีพรรษาเดียวให้กุลบุตรอุปสมบท
เรื่องอุปัชฌาย์โง่เขลา เรื่องอุปัชฌาย์หลีกไป
เรื่องถือนิสสัยอยู่ ๑๐ พรรษา
เรื่องอันเตวาสิกไม่ประพฤติชอบ
เรื่องทรงอนุญาตให้ประณาม เรื่องอาจารย์โง่เขลา
เรื่องนิสสัยระงับจากอุปัชฌาย์และอาจารย์
เรื่องภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ เรื่องภิกษุประกอบด้วยองค์ ๖
เรื่องให้ผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์อุปสมบท
เรื่องผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์เปลือยกาย
เรื่องผู้เคยเป็นเดียรถีย์เปลือยกายไม่ปลงผม
เรื่องให้ชฎิลบูชาไฟอุปสมบท เรื่องอัญเดียรถีย์ศากยะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๐๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๗. รวมเรื่องที่มีในมหาขันธกะ
เรื่องอาพาธ ๕ ที่กรุงราชคฤห์ เรื่องราชภัฏบรรพชา
เรื่องโจรองคุลีมาลบรรพชา เรื่องพระเจ้าพิมพิสารทรงอนุญาต
เรื่องโจรแหกเรือนจำบรรพชา เรื่องโจรถูกออกหมายจับบรรพชา
เรื่องบุรุษถูกเฆี่ยนด้วยหวายบรรพชา
เรื่องบุรุษถูกสักหมายโทษบรรพชา เรื่องลูกหนี้บรรพชา
เรื่องทาสบรรพชา เรื่องบุตรช่างทองผมจุก ๕ แหยมบรรพชา
เรื่องเด็กชายอุบาลีบรรพชา
เรื่องให้เด็กอายุหย่อนกว่า ๑๕ ปีของตระกูลมีศรัทธาบรรพชา
เรื่องสามเณรกัณฏกะ เรื่องทิศทั้งหลายคับแคบ
เรื่องการอยู่ถือนิสสัย เรื่องราหุลกุมาร
เรื่องสิกขาบทของสามเณร เรื่องสามเณรอยู่อย่างไม่เคารพ
เรื่องการลงทัณฑกรรมสามเณร
เรื่องลงทัณฑกรรมห้ามสามเณรเข้าสังฆารามทุกแห่ง
เรื่องลงทัณฑกรรมห้ามฉันทางปาก
เรื่องการกักกันสามเณรโดยไม่บอกพระอุปัชฌาย์
เรื่องการเกลี้ยกล่อมสามเณร เรื่องนาสนะสามเณรกัณฏกะ
เรื่องบัณเฑาะก์บรรพชา เรื่องคนลักเพศบรรพชา
เรื่องคนเข้ารีตเดียรถีย์บรรพชา เรื่องนาคแปลงกายมาบวช
เรื่องคนฆ่ามารดามาขอบวช เรื่องคนฆ่าบิดามาขอบวช
เรื่องคนฆ่าพระอรหันต์มาขอบวช
เรื่องคนประทุษร้ายภิกษุณีมาขอบวช
เรื่องคนทำลายสงฆ์มาขอบวช
เรื่องคนทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิตมาขอบวช
เรื่องอุภโตพยัญชนกบรรพชา
เรื่องคนไม่มีอุปัชฌาย์บรรพชา
เรื่องให้คนมีสงฆ์เป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท
เรื่องให้คนมีคณะเป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๐๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๗. รวมเรื่องที่มีในมหาขันธกะ
เรื่องให้คนมีบัณเฑาะก์เป็นอุปัชฌาย์เป็นต้นอุปสมบท
เรื่องให้คนไม่มีบาตรอุปสมบท เรื่องให้คนไม่มีจีวรอุปสมบท
เรื่องให้คนไม่มีทั้งบาตรและจีวรอุปสมบท
เรื่องให้คนยืมบาตรเขามาอุปสมบท
เรื่องให้คนยืมจีวรเขามาอุปสมบท
เรื่องให้คนยืมบาตรและจีวรเขามาอุปสมบท
เรื่องให้คนมือด้วนบรรพชา เรื่องให้คนเท้าด้วนบรรพชา
เรื่องให้คนมือและเท้าด้วนบรรพชา เรื่องให้คนหูวิ่นบรรพชา
เรื่องให้คนจมูกแหว่งบรรพชา เรื่องให้คนหูวิ่นและจมูกแหว่งบรรพชา
เรื่องให้คนนิ้วมือนิ้วเท้าขาดบรรพชา
เรื่องให้คนง่ามมือง่ามเท้าขาดบรรพชา เรื่องให้คนเอ็นขาดบรรพชา
เรื่องให้คนมีมือเป็นแผ่นบรรพชา เรื่องให้คนค่อมบรรพชา
เรื่องให้คนเตี้ยบรรพชา
เรื่องให้คนคอพอกบรรพชา เรื่องให้คนถูกสักหมายโทษบรรพชา
เรื่องให้คนมีรอยเฆี่ยนด้วยหวายบรรพชา
เรื่องให้คนมีหมายจับบรรพชา เรื่องให้คนเท้าปุกบรรพชา
เรื่องให้คนมีโรคเรื้อรังบรรพชา
เรื่องให้คนมีรูปร่างไม่สมประกอบบรรพชา
เรื่องให้คนตาบอดข้างเดียวบรรพชา
เรื่องให้คนง่อยบรรพชา เรื่องให้คนกระจอกบรรพชา
เรื่องให้คนเป็นโรคอัมพาตบรรพชา
เรื่องให้คนเคลื่อนไหวไม่ได้บรรพชา
เรื่องให้คนชราทุพพลภาพบรรพชา
เรื่องให้คนตาบอด ๒ ข้างบรรพชา เรื่องให้คนใบ้บรรพชา
เรื่องให้คนหูหนวกบรรพชา เรื่องให้คนทั้งบอดทั้งใบ้บรรพชา
เรื่องให้คนทั้งบอดทั้งหนวกบรรพชา
เรื่องให้คนทั้งใบ้ทั้งหนวกบรรพชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๐๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๗. รวมเรื่องที่มีในมหาขันธกะ
เรื่องให้คนทั้งบอดทั้งใบทั้งหนวกบรรพชา
เรื่องให้นิสสัยแก่อลัชชี เรื่องถือนิสสัยอลัชชี
เรื่องภิกษุผู้เดินทางไกลไม่ต้องถือนิสสัย
เรื่องภิกษุไข้ไม่ต้องถือนิสสัย
เรื่องภิกษุอยู่ป่าไม่ต้องถือนิสสัยจนกว่าอาจารย์ผู้ให้นิสสัยจะมา
เรื่องพระมหากัสสปะนิมนต์พระอานนท์มาสวดอนุสาวนา
เรื่องแย่งกันอุปสมบทก่อน
เรื่องอุปสมบทครั้งละ ๓ คนโดยมีอุปัชฌาย์รูปเดียว
เรื่องพระกุมารกัสสปะอายุไม่ครบ ๒๐ ปีอุปสมบท
เรื่องผู้ถูกโรคเบียดเบียนอุปสมบท
เรื่องถามอันตรายิกธรรมกับอุปสัมปทาเปกขะ
เรื่องสอนซ้อมก่อนถามอันตรายิกธรรม
เรื่องสอนซ้อมในท่ามกลางสงฆ์ เรื่องภิกษุโง่เขลาสอนซ้อม
เรื่องภิกษุยังไม่ได้รับสมมติสอนซ้อม
เรื่องวิธีสมมติภิกษุเป็นผู้สอนซ้อม
เรื่องห้ามผู้สอนซ้อมกับอุปสัมปทาเปกขะเดินมาพร้อมกัน
เรื่องคำขออุปสมบทเพื่อยกขึ้นเป็นภิกษุ
เรื่องญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา เรื่องทรงอนุญาตให้บอกนิสสัย ๔
เรื่องทิ้งอุปสัมบันไว้ตามลำพัง
เรื่องภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ
เรื่องภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติ
เรื่องภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาป๑
มหาขันธกะ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ชื่อเรื่องเหล่านี้ พระสังคีติกาจารย์ได้เก็บข้อความมากกล่าวเป็นคาถารวม ๑๗๒ เรื่อง แต่ในข้อความนั้น ๆ
ในฉบับภาษาบาลีและฉบับภาษาไทยนี้ ไม่ได้ตั้งข้อไว้ทั้ง ๑๗๒ เรื่อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๐๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๖๘. สันนิปาตานุชานนา
๒. อุโปสถขันธกะ
๖๘. สันนิปาตานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตให้สงฆ์ประชุมกัน
เรื่องปริพาชกอัญเดียรถีย์
[๑๓๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พวกปริพาชกอัญเดียรถีย์๑ ประชุมกันกล่าวธรรม
ประชาชนพากันเข้าไปหาเพื่อฟังธรรม ประชาชนเหล่านั้นได้ความรักความเลื่อมใส
ในพวกปริพาชกอัญเดียรถีย์ พวกปริพาชกอัญเดียรถีย์ก็ได้พรรคพวก
เรื่องพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
สมัยนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐเสด็จหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงเกิด
ความคิดคำนึงขึ้นในพระทัยอย่างนี้ว่า “เดี๋ยวนี้ พวกปริพาชกอัญเดียรถีย์ ประชุม
กันกล่าวธรรมในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ มนุษย์ทั้งหลาย
พากันเข้าไปหาเพื่อฟังธรรม คนเหล่านั้นได้ความรักความเลื่อมใสในพวกปริพาชก
อัญเดียรถีย์ พวกปริพาชกอัญเดียรถีย์ก็ได้พรรคพวก ไฉนหนอแม้พระคุณเจ้า
ทั้งหลายจะพึงประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์บ้าง” จึง
เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐผู้ประทับนั่ง
ณ ที่สมควรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉัน
หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึงขึ้นในใจอย่างนี้ว่า ‘เดี๋ยวนี้พวกปริพาชก
อัญเดียรถีย์ ประชุมกันกล่าวธรรม ในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์

เชิงอรรถ :
๑ อัญเดียรถีย์ หมายถึงผู้เป็นเจ้าลัทธิอื่นนอกจากพระพุทธศาสนา (วิ.อ. ๓/๑๓๒/๑๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๐๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๖๘. สันนิปาตานุชานนา
ประชาชนพากันเข้าไปหาเพื่อฟังธรรม ประชาชนเหล่านั้นได้ความรักความเลื่อมใส
ในพวกปริพาชกอัญเดียรถีย์ พวกปริพาชกอัญเดียรถีย์ก็ได้พรรคพวก ไฉนหนอ
พระคุณเจ้าทั้งหลายจะพึงประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่ง
ปักษ์บ้าง’ หม่อมฉันขอประทานพระวโรกาส ขอให้พระคุณเจ้าทั้งหลายพึง
ประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ทรงแสดงธรรมีกถา
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐเห็นชัด
ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าพระทัยให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมพระทัยให้
สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ครั้นท้าวเธอผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด
ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าพระทัยให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมพระทัยให้สด
ชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ก็เสด็จลุกจากอาสนะถวายบังคม ทรงทำประทักษิณเสด็จหลีกไป
ทรงอนุญาตวันประชุม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ
๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์”
เรื่องภิกษุประชุมนั่งนิ่ง
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายคิดกันว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ประชุมกันใน
วัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์” จึงประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ
๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ แล้วนั่งนิ่ง
ประชาชนเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นเพื่อฟังธรรม ประชาชนเหล่านั้นพากันตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากบุตรทั้งหลายประชุมกันใน
วัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์แล้ว จึงนั่งนิ่งเหมือนสุกรใบ้เล่า๑
ธรรมดาว่าผู้ประชุมกันก็ควรกล่าวธรรมมิใช่หรือ”

เชิงอรรถ :
๑ เหมือนสุกรอ้วน (วิ.อ. ๓/๑๓๒/๑๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๐๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๖๙. ปาติโมกขุทเทสานุชานนา
ภิกษุทั้งหลายได้ยินประชาชนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนาอยู่ จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
เรื่องทรงอนุญาตให้กล่าวธรรมในวันประชุม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้วรับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ประชุมกันกล่าวธรรมในวัน ๑๔ ค่ำ
๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์”
๖๙. ปาติโมกขุทเทสานุชานนา
ว่าด้วยการทรงอนุญาตปาติโมกขุทเทส
เรื่องพระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด
[๑๓๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้ทรงเกิดความ
ดำริขึ้นในพระทัยอย่างนี้ว่า “ถ้ากระไร เราพึงอนุญาตสิกขาบทที่ได้บัญญัติไว้แก่ภิกษุ
ทั้งหลายให้เป็นปาติโมกขุทเทสของพวกเธอ ปาติโมกขุทเทสนั้นก็จักเป็นอุโบสถกรรม
ของพวกเธอ”
ครั้นเวลาเย็น พระองค์เสด็จออกจากที่เร้น ทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้
เป็นต้นเหตุ แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราหลีกเร้นอยู่ในที่
สงัด ณ ที่นี้ได้เกิดความคิดขึ้นในใจอย่างนี้ว่า ‘ถ้ากระไร เราพึงอนุญาตสิกขาบทที่ได้
บัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายให้เป็นปาติโมกขุทเทสของพวกเธอ ปาติโมกขุทเทสนั้นก็จัก
เป็นอุโบสถกรรมของพวกเธอ’ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง”
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกขึ้นแสดงอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
[๑๓๔] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์พึงทำ
อุโบสถพึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง อะไรเป็นบุพพกิจของสงฆ์ ท่านทั้งหลายพึงบอก
ปาริสุทธิ ข้าพเจ้าจักยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พวกเราบรรดาที่มีอยู่ทั้งหมดจงฟังให้ดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๐๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๖๙. ปาติโมกขุทเทสานุชานนา
จงใส่ใจปาติโมกข์นั้น ท่านรูปใดมีอาบัติ ท่านรูปนั้นพึงเปิดเผย เมื่อไม่มีอาบัติ
พึงนิ่ง ด้วยความเป็นผู้นิ่ง ข้าพเจ้าจักทราบว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็การ
สวดประกาศถึง ๓ ครั้ง ในบริษัทเช่นนี้เป็นเหมือนการเปิดเผยอาบัติของภิกษุแต่ละ
รูปที่ถูกถาม ก็เมื่อกำลังสวดประกาศถึงครั้งที่ ๓ ภิกษุใดระลึกได้ ยังไม่ยอมเปิดเผย
อาบัติที่มีอยู่ สัมปชานมุสาวาทย่อมมีแก่ภิกษุรูปนั้น ท่านทั้งหลาย ก็สัมปชาน
มุสาวาท๑ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมที่ทำอันตราย เพราะฉะนั้น ภิกษุ
ต้องอาบัติแล้วระลึกได้ หวังความบริสุทธิ์ ก็พึงเปิดเผยอาบัติที่มีอยู่ เพราะเปิด
เผยอาบัติแล้ว ความผาสุกย่อมมีแก่ภิกษุรูปนั้น
นิทานุทเทสวิภังค์
[๑๓๕] คำว่า ปาติโมกข์ นี้เป็นเบื้องต้น นี้เป็นประธาน นี้เป็นประมุขแห่ง
กุศลธรรมทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกว่า ปาติโมกข์
คำว่า ท่านทั้งหลาย นี้เป็นคำกล่าวด้วยความรัก นี้เป็นคำกล่าวด้วยความ
เคารพ นี้เป็นคำเรียกบุคคลผู้มีความเคารพและมีความยำเกรง เพราะเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ท่านทั้งหลาย
คำว่า จักยกขึ้นแสดง คือ จักบอก จักแสดง จักบัญญัติ จักเริ่มตั้ง จักเปิดเผย
จักจำแนก จักทำให้กระจ่าง จักประกาศ
คำว่า นั้น ตรัสหมายถึงปาติโมกข์
คำว่า บรรดาที่มีอยู่ทั้งหมด ความว่า ภิกษุในบริษัทนั้นเป็นเถระก็ตาม เป็น
นวกะก็ตาม เป็นมัชฌิมะก็ตาม มีจำนวนเท่าใด ภิกษุเหล่านั้น พระผู้มีพระภาค
ตรัสหมายถึงภิกษุที่มีอยู่ทั้งหมด
คำว่า จงฟังให้ดี ความว่า จงทำให้เป็นประโยชน์ ทำไว้ในใจ รวบรวมเรื่อง
ทั้งหมดด้วยใจ
คำว่า จงใส่ใจ ความว่า จงมีจิตแน่วแน่ มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตไม่ซัดส่าย ตั้งใจฟัง

เชิงอรรถ :
๑ สัมปชานมุสาวาท คือ กล่าวเท็จทั้งที่รู้ (ดู วิ.มหา. (แปล) ๒/๒-๓/๑๘๖-๑๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๑๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๖๙. ปาติโมกขุทเทสานุชานนา
คำว่า ท่านรูปใดมีอาบัติ ความว่า ภิกษุผู้เป็นเถระก็ตาม เป็นนวกะก็ตาม
เป็นมัชฌิมะก็ตาม มีอาบัติตัวใดตัวหนึ่ง บรรดาอาบัติ ๕ กอง หรือ มีอาบัติตัวใด
ตัวหนึ่ง บรรดาอาบัติ ๗ กอง
คำว่า ท่านรูปนั้นพึงเปิดเผย ความว่า ภิกษุรูปนั้นพึงแสดง ภิกษุรูปนั้นพึง
เปิดเผย ภิกษุรูปนั้นพึงทำให้กระจ่าง ภิกษุรูปนั้นพึงประกาศในท่ามกลางสงฆ์
ในท่ามกลางคณะ หรือในบุคคลผู้หนึ่ง
อาบัติที่ชื่อว่าไม่มี ได้แก่ อาบัติที่ภิกษุมิได้ล่วงละเมิด หรือว่าต้องแต่ออกแล้ว
คำว่า พึงนิ่ง คือ พึงอยู่เฉย ไม่พึงกล่าว
คำว่า ข้าพเจ้าจักทราบว่า....เป็นผู้บริสุทธิ์ คือ จักรู้ จักจำไว้
คำว่า เป็นเหมือนการเปิดเผยอาบัติของภิกษุแต่ละรูปที่ถูกถาม ความว่า
บริษัทนั้นพึงรู้ว่า จะถามเรา ดังนี้ เหมือนภิกษุรูปหนึ่งได้ถูกภิกษุอีกรูปหนึ่งถาม
ก็พึงตอบ
บริษัทเช่นนี้ ตรัสหมายถึงภิกษุบริษัท
คำว่า การสวดประกาศถึง ๓ ครั้ง ความว่า สวดประกาศแม้ครั้งที่ ๑ สวด
ประกาศแม้ครั้งที่ ๒ สวดประกาศแม้ครั้งที่ ๓
คำว่า ระลึกได้ คือ รู้อยู่ จำได้อยู่
อาบัติที่ชื่อว่ามีอยู่ ได้แก่ อาบัติที่ภิกษุล่วงละเมิดแล้ว หรือที่ต้องแล้ว
ยังมิได้ออก
คำว่า ยังไม่ยอมเปิดเผย ความว่า ไม่ยอมแสดง ไม่ยอมเปิดเผย ไม่ยอมทำ
ให้ตื้น ไม่ยอมประกาศในท่ามกลางสงฆ์ ในท่ามกลางคณะ หรือในบุคคลผู้หนึ่ง
คำว่า สัมปชานมุสาวาทย่อมมีแก่ภิกษุรูปนั้น คือ เป็นอาบัติอะไรเพราะ
สัมปชานมุสาวาท เป็นอาบัติทุกกฏ
คำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมที่ทำอันตราย ความว่า เป็นธรรมที่
ทำอันตรายต่ออะไร เป็นธรรมที่ทำอันตรายต่อการบรรลุปฐมฌาน เป็นธรรมที่ทำ
อันตรายต่อการบรรลุทุติยฌาน เป็นธรรมที่ทำอันตรายต่อการบรรลุตติยฌาน เป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๑๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๖๙. ปาติโมกขุทเทสานุชานนา
ธรรมที่ทำอันตรายต่อการบรรลุจตุตถฌาน เป็นธรรมที่ทำอันตรายต่อการบรรลุฌาน
วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ เนกขัมมะ นิสสรณะ ปวิเวก กุศลธรรม
คำว่า เพราะฉะนั้น คือ เพราะเหตุนั้น
คำว่า ระลึกได้ คือ รู้อยู่ จำได้อยู่
คำว่า หวังความบริสุทธิ์ คือ ประสงค์ออกจากอาบัติ ต้องการความหมดจด
อาบัติที่ชื่อว่ามีอยู่ ได้แก่ อาบัติที่ภิกษุล่วงละเมิด หรือที่ต้องแล้วยังมิได้ออก
คำว่า พึงเปิดเผย ความว่า พึงทำให้แจ้งในท่ามกลางสงฆ์ ในท่ามกลางคณะ
หรือในบุคคลผู้หนึ่ง
คำว่า เพราะเปิดเผยอาบัติแล้ว ความผาสุกย่อมมีแก่ภิกษุรูปนั้น ความว่า
ความผาสุกย่อมมีเพื่ออะไร ความผาสุกย่อมมีเพื่อบรรลุปฐมฌาน ความผาสุกย่อมมี
เพื่อบรรลุทุติยฌาน ความผาสุกย่อมมีเพื่อบรรลุตติยฌาน ความผาสุกย่อมมีเพื่อ
บรรลุจตุตถฌาน ความผาสุกย่อมมีเพื่อบรรลุฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ เนกขัมมะ
นิสสรณะ ปวิเวก กุศลธรรม
เรื่องภิกษุยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงทุกวัน
[๑๓๖] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงในวันอุโบสถแล้ว จึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงทุกวัน
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงทุกวัน
รูปใดยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยกปาติโมกข์ขึ้น
แสดงในวันอุโบสถ”
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการยกปาติโมกข์ขึ้น
แสดงในวันอุโบสถแล้ว จึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงปักษ์ละ ๓ ครั้ง คือ ในวัน ๑๔ ค่ำ
วัน ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๑๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๖๙. ปาติโมกขุทเทสานุชานนา
เรื่องทรงอนุญาตให้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงปักษ์ละครั้ง
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงปักษ์
ละ ๓ ครั้ง รูปใดยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงปักษ์ละ ๑ ครั้ง คือ ในวัน ๑๔ ค่ำ หรือวัน ๑๕ ค่ำ”๑
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่บริษัทเท่าที่มี
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่บริษัทเท่าที่มี คือเฉพาะ
บริษัทของตน ๆ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
เรื่องทรงอนุญาตให้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุผู้พร้อมเพรียง
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่บริษัท
เท่าที่มีคือเฉพาะบริษัทของตน ๆ รูปใดยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุบริษัททั้งหลายผู้พร้อมเพรียงกัน”
เรื่องทรงอนุญาตความพร้อมเพรียงกำหนดอาวาสเดียว
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายมีความคิดคำนึงว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติอุโบสถ
กรรมแก่ภิกษุทั้งหลายผู้พร้อมเพรียงกัน” แล้วดำริว่า “ความพร้อมเพรียงกันมี
กำหนดเพียงไรหนอ มีเพียงอาวาสหนึ่ง หรือมีทั้งแผ่นดิน” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตความพร้อมเพรียงมี
กำหนดเขตเพียงอาวาสเดียวเท่านั้น”

เชิงอรรถ :
๑ ปักษ์หนึ่งมี ๑๔ วันบ้าง ๑๕ วันบ้าง : ๑ ปีมี ๓ ฤดูคือ (๑) ฤดูร้อน ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๔
ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ (๒) ฤดูฝน ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒
(๓) ฤดูหนาว ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๒ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔
๑ ฤดูมี ๘ ปักษ์ ปักษ์ ๑๔ วัน มี ๒ ครั้ง คือปักษ์ที่ ๓ และปักษ์ที่ ๗ ปักษ์ ๑๕ วัน มี ๖ ครั้ง
(วิ.อ. ๓/๓๖/๑๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๑๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๐. มหากัปปินวัตถุ
๗๐. มหากัปปินวัตถุ
ว่าด้วยพระมหากัปปินเถระ
เรื่องมัททกุจฉิมฤคทายวัน
[๑๓๗] สมัยนั้น ท่านพระมหากัปปินะอยู่ ณ มัททกุจฉิมฤคทายวัน
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิดความคิดคำนึงขึ้นในใจอย่างนี้ว่า
“เราควรไปทำอุโบสถหรือไม่ ควรไปทำสังฆกรรมหรือไม่ ที่จริงเราเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วย
ความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดคำนึงในใจของท่านพระมหา
กัปปินะด้วยพระทัยของพระองค์ ทรงหายไป ณ ภูเขาคิชฌกูฏมาปรากฏตรงหน้า
ท่านพระมหากัปปินะที่มัททกุจฉิมฤคทายวัน เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขน
ออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น ประทับนั่งบนอาสนะที่ได้ปูลาดไว้
ฝ่ายท่านพระมหากัปปินะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระมหากัปปินะผู้นั่ง ณ ที่สมควรว่า “กัปปินะ
เธอหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิดความคิดคำนึงขึ้นในใจอย่างนี้ว่า เราควรไปทำอุโบสถ
หรือไม่ ควรไปทำสังฆกรรมหรือไม่ ที่จริงเราเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง
อย่างนี้มิใช่หรือ”
ท่านพระมหากัปปินะทูลรับว่า “ใช่ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ทั้งหลาย๑ พวกเธอไม่สักการะ ไม่เคารพ
ไม่นับถือ ไม่บูชาซึ่งอุโบสถ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
ซึ่งอุโบสถ พราหมณ์ เธอจงไปทำอุโบสถ จะไม่ไปไม่ได้ เธอจงไปทำสังฆกรรม จะไม่
ไปไม่ได้”
ท่านพระมหากัปปินะทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า “ไป พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ พราหมณ์ทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงภิกษุขีณาสพ (ดู วิ.อ. ๓/๑/๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๑๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๑. สีมานุชานนา
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ท่านพระมหากัปปินะเห็นชัด ชวนให้
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถา แล้วทรงหายไปตรงหน้าท่านพระมหากัปปินะ ณ มัททกุจฉิมฤค
ทายวัน มาปรากฏที่ภูเขาคิชฌกูฏ เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้
แขนเข้า ฉะนั้น
๗๑. สีมานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตสีมา
สมมติสีมาและนิมิตแห่งสีมา
[๑๓๘] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรง
บัญญัติไว้ว่า ความพร้อมเพรียงมีกำหนดเขตเพียงอาวาสเดียวเท่านั้น” แล้วดำริ
ว่า “อาวาสหนึ่งมีการกำหนดเขตเท่าไร” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติสีมา ภิกษุ
ทั้งหลาย พึงสมมติสีมาอย่างนี้
วิธีสมมติสีมา
ในเบื้องต้นพึงทักนิมิต คือ

ปัพพตนิมิต (นิมิตคือภูเขา) ปาสาณนิมิต (นิมิตคือแผ่นหิน)
วนนิมิต (นิมิตคือป่า) รุกขนิมิต (นิมิตคือต้นไม้)
มัคคนิมิต (นิมิตคือหนทาง) วัมมิกนิมิต (นิมิตคือจอมปลวก)
นทีนิมิต (นิมิตคือแม่น้ำ) อุทกนิมิต (นิมิตคือน้ำ)

ครั้นทักนิมิตแล้ว ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติ
ทุติยกรรมวาจาว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๑๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๑. สีมานุชานนา
กรรมวาจาสมมติสีมา
[๑๓๙] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า นิมิตได้ระบุไว้โดยรอบเพียงใด
ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงสมมติสมานสังวาสสีมา มีอุโบสถเดียวกัน๑ ด้วยนิมิต
เหล่านั้น นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า นิมิตได้ระบุไว้โดยรอบเพียงใด สงฆ์สมมติ
สมานสังวาสสีมา มีอุโบสถเดียวกัน ด้วยนิมิตเหล่านั้น ท่านรูปใดเห็นด้วยกับ
การสมมติสมานสังวาสสีมา มีอุโบสถเดียวกัน ด้วยนิมิตเหล่านั้น ท่านรูปนั้น
พึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สมานสังวาสสีมา มีอุโบสถเดียวกัน สงฆ์สมมติแล้ว ด้วยนิมิตเหล่านั้น
สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
เรื่องสมมติสีมาใหญ่เกินขนาด
[๑๔๐] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์คิดว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการ
สมมติสีมาแล้ว” จึงสมมติสีมาใหญ่เกินไป ๔ โยชน์บ้าง ๕ โยชน์บ้าง ๖ โยชน์บ้าง
ภิกษุทั้งหลายมาทำอุโบสถ มาถึงเมื่อกำลังยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงก็มี มาถึงเมื่อ
ยกขึ้นแสดงจบแล้วก็มี รอนแรมอยู่ระหว่างทางก็มี
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงสมมติสีมาใหญ่เกินไป ๔ โยชน์
บ้าง ๕ โยชน์บ้าง ๖ โยชน์บ้าง รูปใดสมมติ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้สมมติสีมาประมาณ ๓ โยชน์เป็นอย่างยิ่ง”
เรื่องสมมตินทีปารสีมา (สีมาคร่อมแม่น้ำ)
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สมมตินทีปารสีมา ภิกษุทั้งหลายมาทำอุโบสถ
ถูกน้ำพัดไปก็มี บาตรถูกน้ำพัดไปก็มี จีวรถูกน้ำพัดไปก็มี
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ สมานสังวาส หมายถึงเขตแดนที่สงฆ์สมมติเพื่อเข้าร่วมอุโบสถปวารณาและสังฆกรรมอื่นด้วยกัน (ดู วิ.อ.
๑/๕๕/๒๗๘, กงฺขา.ฏีกา ๑๕๒,๑๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๑๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๒. อุโปสถาคารกถา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงสมมตินทีปารสีมา รูปใด
สมมติ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมตินทีปารสีมาที่มีเรือจอด
ประจำหรือมีสะพานถาวร”
๗๒. อุโปสถาคารกถา
ว่าด้วยโรงอุโบสถ
เรื่องยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงตามบริเวณวิหาร
[๑๔๑] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงตามบริเวณวิหารโดยไม่
กำหนดที่ พระอาคันตุกะทั้งหลายไม่รู้ว่า “วันนี้สงฆ์จะทำอุโบสถ ณ ที่ไหน”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงตาม
บริเวณวิหารโดยไม่กำหนดที่ รูปใดยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้สมมติวิหาร เรือนมุงแถบเดียว ปราสาท เรือนโล้น หรือถ้ำ ที่สงฆ์
ต้องการให้เป็นโรงอุโบสถแล้วจึงทำอุโบสถ”
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงสมมติโรงอุโบสถอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
วิธีสมมติโรงอุโบสถและกรรมวาจาสมมติโรงอุโบสถ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์สมมติวิหารมีชื่อนี้
ให้เป็นโรงอุโบสถ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติวิหารมีชื่อนี้ให้เป็นโรงอุโบสถ
ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการสมมติวิหารมีชื่อนี้ให้เป็นโรงอุโบสถ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง
ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๑๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๒. อุโปสถาคารกถา
วิหารมีชื่อนี้สงฆ์สมมติให้เป็นโรงอุโบสถแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
เรื่องสมมติโรงอุโบสถ ๒ แห่งในอาวาสเดียวกัน
สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง สงฆ์สมมติโรงอุโบสถ ๒ แห่ง ภิกษุทั้งหลาย
ประชุมกันในโรงอุโบสถทั้ง ๒ แห่งด้วยตั้งใจว่า “สงฆ์จักทำอุโบสถ ณ ที่นี้ สงฆ์จัก
ทำอุโบสถ ณ ที่นี้”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสแห่งหนึ่ง สงฆ์ไม่พึงสมมติ
โรงอุโบสถ ๒ แห่ง ภิกษุสงฆ์หมู่ใดสมมติ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ถอนโรงอุโบสถแห่งหนึ่งแล้ว จึงทำอุโบสถในโรงอุโบสถอีกแห่งหนึ่ง”
วิธีถอนโรงอุโบสถและกรรมวาจาถอนโรงอุโบสถ
ภิกษุทั้งหลาย พึงถอนโรงอุโบสถอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์พึงถอนโรง
อุโบสถมีชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ถอนโรงอุโบสถมีชื่อนี้ ท่านรูปใดเห็นด้วย
กับการถอนโรงอุโบสถมีชื่อนี้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้น
พึงทักท้วง
โรงอุโบสถมีชื่อนี้สงฆ์ถอนแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือ
ความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๑๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๓. อุโปสถปมุขานุชานนา
๗๓. อุโปสถปมุขานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถ
เรื่องสมมติโรงอุโบสถเล็กเกินไป
[๑๔๒] สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง สงฆ์สมมติโรงอุโบสถเล็กเกินไป ถึงวัน
อุโบสถ ภิกษุสงฆ์ลงประชุมกันมาก ภิกษุทั้งหลายต้องนั่งฟังปาติโมกข์ ณ พื้นที่
ที่มิได้สมมติ
ภิกษุทั้งหลายจึงได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ‘พึง
สมมติโรงอุโบสถแล้วจึงทำอุโบสถ’ ก็พวกเรานั่งฟังปาติโมกข์ ณ พื้นที่ที่มิได้สมมติ
อุโบสถเป็นอันพวกเราทำแล้วหรือไม่หนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่ภิกษุนั่งในพื้นที่ที่สมมติ
แล้วก็ตาม ยังมิได้สมมติแล้วก็ตามฟังปาติโมกข์อยู่ อุโบสถย่อมเป็นอันเธอได้ทำแล้ว
ทีเดียว ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงสมมติพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถให้ใหญ่
เท่าที่จำนงเถิด”
วิธีสมมติและกรรมวาจาสมมติพื้นที่ด้านหน้าในโรงอุโบสถ
ภิกษุทั้งหลาย พึงสมมติพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถอย่างนี้
ในเบื้องต้นพึงทักนิมิต ครั้นทักนิมิตแล้ว ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้
สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า นิมิตระบุไว้โดยรอบเพียงใด ถ้าสงฆ์พร้อม
กันแล้ว สงฆ์พึงสมมติพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถด้วยนิมิตเหล่านั้น นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า นิมิตระบุไว้โดยรอบเพียงใด สงฆ์สมมติพื้นที่
ด้านหน้าโรงอุโบสถด้วยนิมิตเหล่านั้น ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการสมมติพื้นที่ด้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๑๙ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น