Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๐๔-๖ หน้า ๒๒๐ - ๒๖๒

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๔-๖ วินัยปิฎกที่ ๐๔ มหาวรรค ภาค ๑



พระวินัยปิฎก
มหาวรรค ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๓. อุโปสถปมุขานุชานนา
หน้าโรงอุโบสถด้วยนิมิตเหล่านั้น ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้น
พึงทักท้วง
พื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถสงฆ์ได้สมมติด้วยนิมิตเหล่านั้นแล้ว สงฆ์เห็นด้วย
เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
เรื่องภิกษุนวกะลงประชุมก่อน
สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ ภิกษุผู้นวกะทั้งหลายลงประชุมกัน
ก่อนแล้วหลีกไปด้วยคิดว่า “ภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายยังไม่มาเลย”
อุโบสถมีในเวลาวิกาล ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถ เราอนุญาตให้ภิกษุ
ผู้เถระทั้งหลายลงประชุมก่อน”
ทรงอนุญาตให้ภิกษุหลายวัดทำอุโบสถร่วมกัน
สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ อาวาสหลายแห่งมีสีมาร่วมกัน ภิกษุทั้งหลาย
ในอาวาสเหล่านั้น กล่าวแย้งกันว่า “ขอสงฆ์จงทำอุโบสถในอาวาสของพวกเรา ขอสงฆ์
จงทำอุโบสถในอาวาสของพวกเรา”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในกรุงราชคฤห์นี้ อาวาสหลายแห่ง
มีสีมาร่วมกัน ภิกษุทั้งหลายในอาวาสเหล่านั้น กล่าวแย้งกันว่า ‘ขอสงฆ์จงทำอุโบสถ
ในอาวาสของพวกเรา ขอสงฆ์จงทำอุโบสถในอาวาสของพวกเรา’ ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้นทุกรูปต้องประชุมทำอุโบสถในที่แห่งเดียวเท่านั้น หรือภิกษุผู้เถระอยู่
ในอาวาสใดก็ต้องประชุมทำอุโบสถในอาวาสนั้น สงฆ์ไม่พึงแบ่งพวกกันทำอุโบสถ
ภิกษุสงฆ์หมู่ใดพึงทำ ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๒๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๔. อวิปปวาสสีมานุชานนา
๗๔. อวิปปวาสสีมานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร
เรื่องกรุงราชคฤห์
[๑๔๓] สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปะเดินทางจากอันธกวินทวิหารมายัง
กรุงราชคฤห์เพื่อทำอุโบสถ ระหว่างทางขณะข้ามแม่น้ำ ถูกน้ำพัดไปหน่อยหนึ่ง
จีวรของท่านเปียก ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวกับท่านพระมหากัสสปะดังนี้ว่า “อาวุโส
ทำไม จีวรของท่านจึงเปียกเล่า”
ท่านพระมหากัสสปะกล่าวตอบว่า “ท่านทั้งหลาย ผมเดินทางจากอันธกวินท
วิหารมายังกรุงราชคฤห์เพื่อทำอุโบสถ ณ ที่นี้ ระหว่างทางขณะข้ามแม่น้ำ ถูกน้ำพัด
ไปหน่อยหนึ่ง เพราะฉะนั้น จีวรของผมจึงเปียก”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย สมานสังวาสสีมา๑ มีอุโบสถเดียวกัน
แห่งใดที่สงฆ์สมมติแล้ว สงฆ์ก็จงสมมติสีมานั้นให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร”๒
วิธีสมมติและกรรมวาจาสมมติแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร
ภิกษุทั้งหลาย พึงสมมติแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สมานสังวาสสีมา มีอุโบสถเดียวกันแห่งใด
สงฆ์สมมติแล้ว สงฆ์พึงสมมติสมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกันนั้นให้เป็นแดน
ไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร นี่เป็นญัตติ

เชิงอรรถ :
๑ สมานสังวาสสีมา ดู ข้อ ๑๓๙ หน้า ๒๑๕ (เชิงอรรถ)
๒ แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร แปลมาจากภาษาบาลีว่า “ติจีวราวิปปวาส” หมายถึงสถานที่ที่สงฆ์กำหนด
เป็นเขตอยู่ปราศจากไตรจีวรโดยไม่ต้องอาบัติ (ดู วิ.มหา. (แปล) ๒/๔๗๓-๔๗/๑๐-๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๒๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๔. อวิปปวาสสีมานุชานนา
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สมานสังวาสสีมา มีอุโบสถเดียวกันแห่งใด
ที่สงฆ์สมมติแล้ว สงฆ์พึงสมมติสมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกันนั้นให้เป็นแดน
ไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการสมมติสมานสังวาสสีมามีอุโบสถ
เดียวกันนั้นให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย
ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกันนั้นสงฆ์ได้สมมติให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจาก
ไตรจีวรแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้น จึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการสมมติแดนไม่
อยู่ปราศจากไตรจีวรแล้ว จึงเก็บจีวรทั้งหลายไว้ในละแวกหมู่บ้าน
จีวรเหล่านั้นสูญหายบ้าง ถูกไฟไหม้บ้าง ถูกหนูกัดบ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงมีผ้าที่ไม่ดี มีแต่จีวรเก่า ๆ ภิกษุทั้งหลาย กล่าวอย่างนี้ว่า
“ท่านทั้งหลาย เหตุใด พวกท่านจึงมีแต่ผ้าไม่ดี มีแต่จีวรเก่า ๆ”
ภิกษุทั้งหลายจึงตอบว่า “ท่านทั้งหลาย พวกผมทราบว่า ‘พระผู้มีพระภาค
ทรงอนุญาตการสมมติแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรแล้ว’ จึงเก็บจีวรทั้งหลายไว้ใน
ละแวกหมู่บ้านอย่างนี้ จีวรเหล่านั้นเสียหายบ้าง ถูกไฟไหม้บ้าง ถูกหนูกัดบ้าง
เพราะเหตุนั้น พวกผมจึงมีผ้าไม่ดี มีแต่จีวรเก่า ๆ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
เรื่องสมมติแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร
(ติจีวราวิปปวาส)
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย สมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกัน
แห่งใดที่สงฆ์สมมติแล้ว สงฆ์จงสมมติสีมานั้นให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร
เว้นหมู่บ้านและอุปจารแห่งหมู่บ้าน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๒๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๕. สีมาสมูหนนา
วิธีสมมติและกรรมวาจาสมมติ
ติจีวราวิปปวาสสีมาเว้นบ้านและอุปจารบ้าน
ภิกษุทั้งหลาย พึงสมมติแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร เว้นหมู่บ้านและอุปจาร
หมู่บ้านอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[๑๔๔] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกัน
แห่งใดที่สงฆ์สมมติแล้ว ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงสมมติสีมานั้นให้เป็นแดนไม่อยู่
ปราศจากไตรจีวร เว้นหมู่บ้านและอุปจารหมู่บ้าน นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกันแห่งใด
ที่สงฆ์สมมติแล้ว สงฆ์สมมติสีมานั้นให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร เว้นหมู่บ้าน
และอุปจารหมู่บ้าน ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการสมมติสีมานั้นให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศ
จากไตรจีวร ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สีมานั้นสงฆ์ได้สมมติให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร เว้นหมู่บ้านและอุปจาร
หมู่บ้านแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
๗๕. สีมาสมูหนนา
ว่าด้วยการถอนสีมา
เรื่องสมมติสมานสังวาสสีมาก่อน
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะสมมติสีมา พึงสมมติ
สมานสังวาสสีมาก่อน พึงสมมติแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรในภายหลัง ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อจะถอนสีมา พึงถอนแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรก่อน พึงถอนสมานสังวาสสีมา
ในภายหลัง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๒๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๕. สีมาสมูหนนา
วิธีถอนและกรรมวาจาถอนแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร
ภิกษุทั้งหลายพึงถอนแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[๑๔๕] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรแห่งใด
ที่สงฆ์สมมติไว้แล้ว ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์พึงถอนแดนไม่อยู่ปราศจากไตร
จีวรนั้น นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรแห่งใดที่
สงฆ์สมมติไว้แล้ว สงฆ์ถอนแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรแห่งนั้น ท่านรูปใดเห็นด้วย
กับการถอนแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรนั้น ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย
ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรแห่งนั้นสงฆ์ถอนแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้น
จึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
เรื่องถอนสมานสังวาสสีมาภายหลัง
วิธีถอนและกรรมวาจาถอนสมานสังวาสสีมา
ภิกษุทั้งหลายพึงถอนสมานสังวาสสีมาอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[๑๔๖] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกัน
แห่งใดที่สงฆ์สมมติแล้ว ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงถอนสมานสังวาสสีมามีอุโบสถ
เดียวกันนั้น นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกันแห่งใดที่
สงฆ์สมมติแล้ว สงฆ์ถอนสมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกันนั้น ท่านรูปใดเห็นด้วย
กับการถอนสมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกันนั้น ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่
เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๒๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๖. คามสีมาทิ
สมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกันนั้น สงฆ์ถอนแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
๗๖. คามสีมาทิ
ว่าด้วยคามสีมาเป็นต้น
อพัทธสีมา
[๑๔๗] พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อสีมาที่สงฆ์ยังไม่ได้
สมมติ ยังไม่ได้กำหนดสีมา ภิกษุสงฆ์อยู่อาศัยหมู่บ้านหรือนิคมใด เขตของหมู่บ้าน
นั้นเป็นคามสีมาบ้าง เขตของนิคมนั้นเป็นนิคมสีมาบ้าง สีมานี้ในหมู่บ้านหรือนิคม
ทั้งสองนั้นเป็นสมานสังวาส มีอุโบสถเดียวกัน
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าในป่าไม่มีหมู่บ้านชั่ว ๗ อัพภันดรโดยรอบ สีมานี้ในป่านั้น
เป็นสมานสังวาส มีอุโบสถเดียวกัน
เรื่องอุทกุกเขปสีมาในแม่น้ำเป็นต้น
ภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำทั้งหมดไม่จัดเป็นสีมา สมุทรทั้งหมดไม่จัดเป็นสีมา
ชาตสระ๑ทั้งหมดไม่จัดเป็นสีมา
ภิกษุทั้งหลาย ในแม่น้ำ ในสมุทร หรือในชาตสระ ชั่วระยะชายมีสัณฐาน
ปานกลาง วักน้ำสาดไปโดยรอบเป็นอุทกุกเขปสีมา สีมานี้ในน่านน้ำเหล่านั้น เป็น
สมานสังวาส มีอุโบสถเดียวกัน
เรื่องสีมาคาบเกี่ยว
[๑๔๘] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สมมติสีมาคาบเกี่ยวสีมา ภิกษุทั้งหลาย
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ ชาตสระ หมายถึงสระที่เกิดเอง ไม่มีใครขุดไว้ น้ำไหลมาจากรอบข้างขังอยู่จนเต็ม (วิ.อ. ๓/๑๔๗/๑๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๒๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๗. อุโปสถาเภทาทิ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย สีมาที่ภิกษุเหล่าใดสมมติไว้ก่อนแล้ว
กรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นเป็นกรรมที่ถูกต้อง ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ สีมาที่ภิกษุ
เหล่าใดสมมติในภายหลัง กรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นไม่ถูกต้อง กำเริบได้ ไม่ควร
แก่ฐานะ ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงสมมติสีมาคาบเกี่ยวสีมา ภิกษุสงฆ์หมู่ใดสมมติ
คาบเกี่ยวกัน ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมมติสีมาทับสีมา
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สมมติสีมาทับสีมา ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย สีมาที่ภิกษุเหล่าใดสมมติไว้ก่อนแล้ว
กรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นเป็นกรรมที่ถูกต้อง ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ สีมาที่ภิกษุ
เหล่าใดสมมติในภายหลัง กรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นไม่ถูกต้อง กำเริบได้ ไม่ควร
แก่ฐานะ ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงสมมติสีมาทับสีมา ภิกษุสงฆ์หมู่ใดสมมติทับ
ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์จะสมมติสีมา เว้นช่องว่าง
ในระหว่างสีมาแล้วจึงสมมติสีมา”
๗๗. อุโปสถเภทาทิ
ว่าด้วยประเภทแห่งวันอุโบสถเป็นต้น
เรื่องประเภทแห่งวันอุโบสถ
[๑๔๙] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีการสนทนากันดังนี้ว่า “วันอุโบสถมี
เท่าไร” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย วันอุโบสถนี้มี ๒ วัน คือ วัน
๑๔ ค่ำ และวัน ๑๕ ค่ำ ภิกษุทั้งหลาย วันอุโบสถมี ๒ วันเหล่านี้แล”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๒๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๗. อุโปสถาเภทาทิ
เรื่องอาการที่ทำอุโบสถ
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีการสนทนากันดังนี้ว่า “การทำอุโบสถมีเท่าไรหนอ”
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย การทำอุโบสถนี้มี ๔ อย่าง๑ คือ
๑. การทำอุโบสถแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม
๒. การทำอุโบสถพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม
๓. การทำอุโบสถแบ่งพวกโดยชอบธรรม
๔. การทำอุโบสถพร้อมเพรียงกันโดยชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ในการทำอุโบสถ ๔ อย่างนั้น การทำอุโบสถใดแบ่งพวกโดย
ไม่ชอบธรรม การทำอุโบสถเช่นนั้น ไม่พึงทำและเราไม่อนุญาตการทำอุโบสถเช่นนั้น
การทำอุโบสถใดพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม การทำอุโบสถเช่นนั้น ไม่พึง
ทำและเราไม่อนุญาตการทำอุโบสถเช่นนั้น
การทำอุโบสถใดแบ่งพวกโดยชอบธรรม การทำอุโบสถเช่นนั้น ไม่พึงทำและเรา
ไม่อนุญาตการทำอุโบสถเช่นนั้น
การทำอุโบสถใดพร้อมเพรียงกัน โดยชอบธรรม การทำอุโบสถเช่นนั้น พึงทำ
และเราอนุญาตการทำอุโบสถเช่นนั้น

เชิงอรรถ :
๑ เช่น ถ้าในวัดหนึ่ง มีภิกษุ ๔ รูป ภิกษุ ๓ รูปนำฉันทะและปาริสุทธิของภิกษุรูปหนึ่งมาทำปาริสุทธิอุโบสถ
หรือมีภิกษุอยู่ ๓ รูป ภิกษุ ๒ รูปนำฉันทะและปาริสุทธิของภิกษุรูปหนึ่งมายกปาติโมกข์ขึ้นแสดง นี้ชื่อ
ว่า การทำอุโบสถแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม
ภิกษุ ๔ รูป ประชุมกันทำปาริสุทธิอุโบสถ ภิกษุ ๓ หรือ ๒ รูป ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง นี้ชื่อว่า
การทำอุโบสถพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม
มีภิกษุ ๔ รูป ภิกษุ ๓ รูปนำปาริสุทธิของภิกษุรูปหนึ่งมายกปาติโมกข์ขึ้นแสดง หรือมีภิกษุ
๓ รูป ภิกษุ ๒ รูปนำปาริสุทธิของภิกษุรูปหนึ่งมา ทำปาริสุทธิอุโบสถ นี้ชื่อว่า การทำอุโบสถแบ่ง
พวกโดยชอบธรรม
ภิกษุ ๔ รูป อยู่ในวัดหนึ่ง ทั้งหมดประชุมกันยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ภิกษุ ๓ รูปทำปาริสุทธิอุโบสถ
ภิกษุ ๒ รูปทำปาริสุทธิอุโบสถต่อกันและกัน นี้ชื่อว่า การทำอุโบสถพร้อมเพรียงกันโดยชอบธรรม
(วิ.อ. ๓/๑๔๙/๑๓๐-๑๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๒๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๘. สังขิตตปาติโมกขุทเทสาทิ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล พวกเธอพึงสำเหนียกไว้ว่า จักทำอุโบสถ
กรรมชนิดที่พร้อมเพรียงกันโดยชอบธรรม ดังนี้ พวกเธอพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้แล
๗๘. สังขิตตปาติโมกขุทเทสาทิ
ว่าด้วยการยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงโดยย่อเป็นต้น
เรื่องประเภทแห่งปาติโมกขุทเทส
[๑๕๐] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความสงสัยว่า “การยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
มีเท่าไรหนอ” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย การยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงนี้มี
๕ แบบ คือ
๑. ภิกษุยกนิทานขึ้นแสดงจบแล้ว พึงสวดอุทเทสที่เหลือด้วยสุตบท๑นี้
เป็นการยกปาติโมกข์แบบที่ ๑
๒. ยกนิทานขึ้นแสดง ยกปาราชิก ๔ ขึ้นแสดงจบแล้ว พึงสวดอุทเทส
ที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็นการยกปาติโมกข์แบบที่ ๒
๓. ยกนิทานขึ้นแสดง ยกปาราชิก ๔ ขึ้นแสดง ยกสังฆาทิเสส ๑๓ ขึ้น
แสดงจบแล้ว พึงสวดอุทเทสที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็นการยก
ปาติโมกข์แบบที่ ๓

เชิงอรรถ :
๑ การประกาศ สุตบท คือ การยกนิทานขึ้นแสดงสอบถามย้ำถึงความบริสุทธิ์ของแต่ละท่าน ในธรรม
เหล่านั้น ๆ แล้วประกาศอุทเทสที่เหลือโดยสุตบทอย่างนั้นว่า “ธรรม คือ ปาราชิก ๔ ธรรมคือสังฆาทิเสส
๑๓ ธรรมคืออนิยต ๒ ธรรมคือนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ ธรรมคือปาจิตตีย์ ๙๒ ธรรมคือปาฏิเทสนียะ
๔ ธรรมคือเสขิยะ ๗๕ ธรรมคืออธิกรณสมถะ ๗ ท่านทั้งหลายได้ฟังแล้ว สิกขาบทของพระผู้มีพระภาค
นั้นมีเท่านี้ มาในสูตร นับเนื่องในสูตร มาสู่วาระที่จะยกขึ้นแสดงเป็นข้อ ๆ ตามลำดับทุกกึ่งเดือน
พวกเราทั้งหมด พึงพร้อมเพรียงกันร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาในพระสูตรนั้นเทอญ” (วิ.อ. ๓/๑๕๐/๑๓๑)
สุตบทในอีก ๔ วิธีที่เหลือ มีนัยเหมือนกับวิธีที่ ๑ เพียงแต่ยกขึ้นแสดงจบตอนใดแล้ว ก็ไม่ต้องประกาศ
ตอนนั้นไว้ในสุตบทอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๒๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๘. สังขิตตปาติโมกขุทเทสาทิ
๔. ยกนิทานขึ้นแสดง ยกปาราชิก ๔ ขึ้นแสดง ยกสังฆาทิเสส ๑๓
ขึ้นแสดง ยกอนิยต ๒ ขึ้นแสดงจบแล้ว พึงสวดอุทเทสที่เหลือ
ด้วยสุตบท นี้เป็นการยกปาติโมกข์แบบที่ ๔
๕. ยกขึ้นแสดงโดยพิสดารทั้งหมด นี้เป็นการยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
แบบที่ ๕
ภิกษุทั้งหลาย การยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงมี ๕ แบบเหล่านี้แล”๑
ทรงห้ามยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงโดยย่อ
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดงโดยย่อ” จึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงโดยย่อทุกครั้ง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงโดยย่อ
ภิกษุสงฆ์หมู่ใดยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องทรงอนุญาตให้ยกปกติโมกข์ขึ้นแสดงโดยย่อ
เมื่อชาวป่ามาพลุกพล่าน
สมัยนั้น ณ อาวาสแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล ในวันอุโบสถนั้น มีชาวป่ามาพลุกพล่าน
ภิกษุทั้งหลายไม่อาจยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงโดยพิสดาร จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ การยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงทั้ง ๕ แบบนี้ สรุปเรียกชื่อเป็นภาษาเฉพาะว่า
๑. แบบที่ ๑ เรียกว่า นิทานุทเทส
๒. แบบที่ ๒ เรียกว่า ปาราชิกุทเทส
๓. แบบที่ ๓ เรียกว่า สังฆาทิเสสุทเทส
๔. แบบที่ ๔ เรียกว่า อนิยตุทเทส
๕. แบบที่ ๕ เรียกว่า วิตถารุทเทส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๒๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๘. สังขิตตปาติโมกขุทเทสาทิ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
โดยย่อเมื่อมีอันตราย”
เรื่องอันตราย ๑๐ ประการ
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงโดยย่อเมื่อไม่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อไม่มีอันตราย ไม่พึงยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดงโดยย่อ ภิกษุสงฆ์หมู่ใดยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมี
อันตราย เราอนุญาตให้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงโดยย่อ”
ในเรื่องยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงโดยย่อนั้น อันตรายทั้งหลาย มีดังต่อไปนี้

๑. พระราชาเสด็จมา ๒. โจรมาปล้น
๓. ไฟไหม้ ๔. น้ำหลากมา
๕. คนมามาก ๖. ผีเข้าสิงภิกษุ
๗. สัตว์ร้ายเข้ามา ๘. งูเลื้อยเข้ามา
๙. ภิกษุจะถึงแก่ชีวิต๑ ๑๐. มีอันตรายแก่พรหมจรรย์๒

ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงโดยย่อในเมื่อมีอันตรายอย่างนี้
เมื่อไม่มีอันตราย ให้ยกขึ้นแสดงโดยพิสดาร”
เรื่องทรงอนุญาตภิกษุเถระแสดงธรรมโดยไม่ต้องได้รับอาราธนา
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ไม่ได้รับอาราธนาก็แสดงธรรมในท่ามกลางสงฆ์
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ได้รับอาราธนาไม่พึงแสดงธรรม
ในท่ามกลางสงฆ์ รูปใดแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้
เถระแสดงธรรมเองหรือให้อาราธนาภิกษุอื่นแสดง”

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุเป็นไข้ หรือ จะมรณภาพ หรือคนมีเวรกัน ประสงค์จะฆ่า จึงจับภิกษุนั้น (วิ.อ. ๓/๑๕๐/๑๓๑)
๒ มนุษย์ทั้งหลาย ประสงค์จะให้ภิกษุรูปเดียว หรือหลายรูป เคลื่อนจากพรหมจรรย์ (จะให้สึก) จึงจับภิกษุ
เหล่านั้นไว้ (วิ.อ. ๓/๑๕๐/๑๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๓๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๙. วินยปุจฉนกถา
๗๙. วินยปุจฉนกถา
ว่าด้วยการถามพระวินัย
เรื่องถามพระวินัยท่ามกลางสงฆ์ต้องได้รับแต่งตั้งก่อน
[๑๕๑] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ยังไม่ได้รับแต่งตั้งก็ถามพระวินัยในท่ามกลาง
สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังไม่ได้รับแต่งตั้งไม่พึงถาม
วินัยในท่ามกลางสงฆ์ รูปใดถาม ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
ภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งถามวินัยในท่ามกลางสงฆ์ได้”
วิธีแต่งตั้งเป็นผู้ถาม
ภิกษุทั้งหลาย พึงแต่งตั้งอย่างนี้
ตนเองแต่งตั้งตนเองก็ได้ ภิกษุรูปหนึ่งแต่งตั้งภิกษุอีกรูปหนึ่งก็ได้
อย่างไรเล่า ชื่อว่าตนเองแต่งตั้งตนเอง
คือ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
กรรมวาจาแต่งตั้งตนเอง
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว ข้าพเจ้าขอถาม
พระวินัยกับท่านผู้มีชื่อนี้ อย่างนี้ชื่อว่าตนเองแต่งตั้งตนเอง
อย่างไรเล่า ชื่อว่าภิกษุรูปหนึ่งแต่งตั้งภิกษุอีกรูปหนึ่ง
คือ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
กรรมวาจาแต่งตั้งผู้อื่น
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว ขอผู้มีชื่อนี้ถาม
พระวินัยกับท่านผู้มีชื่อนี้ อย่างนี้ชื่อว่าภิกษุรูปหนึ่งแต่งตั้งภิกษุอีกรูปหนึ่ง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๓๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๐. วินยวิสัชชนกถา
เรื่องคุกคามจะฆ่า
สมัยนั้น พวกภิกษุผู้มีศีลดีงาม ได้รับแต่งตั้งแล้ว จึงถามพระวินัยใน
ท่ามกลางสงฆ์ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้อาฆาต แค้นเคือง คุกคามจะฆ่า ภิกษุ
ทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุแม้ได้รับ
แต่งตั้งแล้ว ตรวจดูบริษัท พิจารณาบุคคลแล้วจึงถามพระวินัยในท่ามกลางสงฆ์”
๘๐. วินยวิสัชชนกถา
ว่าด้วยการวิสัชนาพระวินัย
เรื่องพวกภิกษุฉัพพัคคีย์วิสัชนาพระวินัย
[๑๕๒] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ยังไม่ได้รับแต่งตั้ง ก็วิสัชนาพระวินัย
ในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่ได้รับแต่งตั้ง ไม่พึง
วิสัชนาพระวินัยในท่ามกลางสงฆ์ รูปใดวิสัชนา ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้ง วิสัชนาพระวินัยในท่ามกลางสงฆ์ได้”
วิธีแต่งตั้งเป็นผู้วิสัชนา
ภิกษุทั้งหลาย พึงแต่งตั้งอย่างนี้
ตนเองแต่งตั้งตนเองก็ได้ ภิกษุรูปหนึ่งแต่งตั้งภิกษุอีกรูปหนึ่งก็ได้
อย่างไรเล่า ชื่อว่าตนเองแต่งตั้งตนเอง
คือ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
กรรมวาจาแต่งตั้งตน
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว ข้าพเจ้าอันผู้มีชื่อนี้
ถามพระวินัยแล้วขอวิสัชนา อย่างนี้ชื่อว่าตนเองแต่งตั้งตนเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๓๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๑. โจทนากถา
อย่างไรเล่า ชื่อว่าภิกษุรูปหนึ่งแต่งตั้งภิกษุอีกรูปหนึ่ง
คือ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
กรรมวาจาแต่งตั้งผู้อื่น
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว ผู้มีชื่อนี้อันผู้มีชื่อนี้
ถามพระวินัยพึงวิสัชนา อย่างนี้ชื่อว่าภิกษุรูปหนึ่งแต่งตั้งภิกษุอีกรูปหนึ่ง
เรื่องคุกคามจะฆ่าเรื่องที่ ๒
สมัยนั้น พวกภิกษุผู้มีศีลดีงามได้รับแต่งตั้งแล้ว วิสัชนาพระวินัยในท่ามกลาง
สงฆ์ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้อาฆาต แค้นเคือง คุกคามจะฆ่า ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุแม้ได้รับแต่งตั้ง
แล้วตรวจดูบริษัท พิจารณาบุคคลแล้วจึงวิสัชนาพระวินัยในท่ามกลางสงฆ์”
๘๑. โจทนากถา
ว่าด้วยการฟ้องร้อง
เรื่องโจทด้วยอาบัติ
[๑๕๓] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์โจทภิกษุผู้ยังไม่ให้โอกาสด้วยอาบัติ ภิกษุ
ทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงโจทภิกษุผู้ยังไม่ได้ให้โอกาสด้วย
อาบัติ รูปใดโจท ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้โจทก์ขอโอกาส
ด้วยคำว่า ขอท่านจงให้โอกาส ผมใคร่จะพูดกับท่าน ดังนี้แล้วจึงโจทด้วยอาบัติ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๓๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๒. อธัมมกัมมปฏิกโกสนาทิ
เรื่องขอโอกาสก่อนโจท
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลดีงาม ได้ขอให้พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ให้โอกาสแล้ว
โจทด้วยอาบัติ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้อาฆาต แค้นเคือง คุกคามจะฆ่า
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้โจทก์แม้เมื่อขอโอกาส
แล้ว พิจารณาดูบุคคลก่อน จึงโจทด้วยอาบัติ”
ก่อนขอโอกาสต้องพิจารณาดูบุคคล
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์คิดว่า “ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลดีงาม ขอให้พวกเรา
ให้โอกาสก่อน” แล้วรีบขอโอกาสในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ไม่มีเหตุอันควร ต่อภิกษุ
ทั้งหลายผู้บริสุทธิ์ไม่มีอาบัติ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงขอโอกาสในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง
ไม่มีเหตุอันควร ต่อภิกษุทั้งหลายผู้บริสุทธิ์ไม่มีอาบัติ รูปใดขอ ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้พิจารณาดูบุคคลก่อนจึงขอโอกาส”
๘๒. อธัมมกัมมปฏิกโกสนาทิ
ว่าด้วยการคัดค้านทำกรรมที่ไม่ชอบด้วยธรรมเป็นต้น
เรื่องทรงอนุญาตคัดค้านกรรมที่ไม่ชอบด้วยธรรม
[๑๕๔] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทำสังฆกรรมที่ไม่ชอบด้วยธรรมใน
ท่ามกลางสงฆ์
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงทำกรรมที่ไม่ชอบด้วยธรรมใน
ท่ามกลางสงฆ์ รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๓๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๒. ธัมมกัมมปฏิกโกสนาทิ
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ยังทำกรรมที่ไม่ชอบด้วยธรรมอยู่เช่นเดิม ภิกษุทั้งหลายจึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คัดค้านในเมื่อภิกษุ
ทำกรรมที่ไม่ชอบด้วยธรรม”
สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลดีงาม พากันคัดค้านในเมื่อพวกภิกษุฉัพพัคคีย์
ทำกรรมที่ไม่ชอบด้วยธรรม พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้อาฆาต แค้นเคือง คุกคามจะฆ่า
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
เรื่องภิกษุ ๔-๕ รูปแสดงความเห็น
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แสดงความเห็นได้”
ภิกษุทั้งหลายแสดงความเห็นในสำนักของพวกภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านั้นแหละ
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้อาฆาต แค้นเคือง คุกคามจะฆ่า ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๔-๕ รูป
คัดค้าน ให้ภิกษุ ๒-๓ รูปแสดงความเห็น ให้ภิกษุรูปเดียวอธิษฐานใจเสียว่า
เราไม่เห็นด้วยกับกรรมนั้น”
เรื่องจงใจยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงไม่ให้ได้ยิน
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เมื่อยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจงใจไม่สวดให้ได้ยินในท่าม
กลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เมื่อจะยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
ไม่พึงจงใจสวดไม่ให้ได้ยิน รูปใดสวดไม่ให้ได้ยิน ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยต่อมา ท่านพระอุทายีเป็นผู้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในท่ามกลางสงฆ์ มีเสียง
เครือดุจเสียงกา จึงมีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุผู้ยก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๓๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๒. อธัมมกัมมปฏิกโกสนาทิ
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงต้องสวดให้ได้ยินทั่วกัน ส่วนเรามีเสียงเครือดุจเสียงกา เราจะพึง
ปฏิบัติอย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
เรื่องพยายามยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดงพยายามด้วยตั้งใจว่า ‘จะสวดให้ได้ยินชัดถ้อยชัดคำ’ เมื่อพยายาม ไม่ต้อง
อาบัติ”
เรื่องยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในบริษัทที่มีคฤหัสถ์
สมัยนั้น พระเทวทัตยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในบริษัทที่มีคฤหัสถ์อยู่ด้วย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในบริษัท
ที่มีคฤหัสถ์อยู่ด้วย รูปใดยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงโดยไม่ได้รับอาราธนา
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ไม่ได้รับอาราธนา ก็ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงใน
ท่ามกลางสงฆ์
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ได้รับอาราธนา ไม่พึงยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงในท่ามกลางสงฆ์ รูปใดยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตปาติโมกข์ให้เป็นหน้าที่ของพระเถระ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๓๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๓. ปาติโมกขุทเทสกอัชเฌสนาทิ
๘๓. ปาติโมกขุทเทสกอัชเฌสนาทิ
ว่าด้วยการอาราธนาผู้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงเป็นต้น
เรื่องภิกษุชาวเมืองโจทนาวัตถุไม่รู้จักอุโบสถ
[๑๕๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระประสงค์
แล้วได้เสด็จจาริกไปทางเมืองโจทนาวัตถุ เสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงเมืองโจทนาวัตถุ
สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง มีภิกษุอยู่หลายรูป บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้
เถระเป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้จักอุโบสถ หรือวิธีทำอุโบสถ หรือปาติโมกข์ หรือ
วิธีการยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
สมัยนั้น ภิกษุเหล่านั้น มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติไว้ว่า
‘ปาติโมกข์เป็นหน้าที่ของพระเถระ’ ก็พระเถระของพวกเรารูปนี้เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด
ไม่รู้จักอุโบสถ หรือวิธีทำอุโบสถ หรือปาติโมกข์ หรือวิธียกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
พวกเราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุรูปใดเป็น
ผู้ฉลาดสามารถ เราอนุญาตปาติโมกข์ให้เป็นหน้าที่ของภิกษุรูปนั้น”
เรื่องภิกษุมากรูปไม่รู้จักอุโบสถ
สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุอยู่ด้วยกันหลายรูป
ล้วนเป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้จักอุโบสถ หรือวิธีทำอุโบสถ หรือ
ปาติโมกข์ หรือวิธียกปาติโมกข์ขึ้นแสดง จึงอาราธนาพระเถระว่า “นิมนต์พระเถระ
ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงเถิด ขอรับ”
พระเถระนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย เรายกปาติโมกข์ขึ้นแสดงไม่ได้”
ภิกษุเหล่านั้นจึงอาราธนาพระเถระรูปที่ ๒ ว่า “นิมนต์พระเถระยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดงเถิด ขอรับ” แม้ท่านก็ตอบอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย เรายกปาติโมกข์ขึ้น
แสดงไม่ได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๓๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๓. ปาติโมกขุทเทสกอัชเณสนาทิ
ภิกษุเหล่านั้นจึงอาราธนาพระเถระรูปที่ ๓ ว่า “นิมนต์ท่านยกปาติโมกข์ขึ้น
แสดงเถิด ขอรับ” แม้ท่านก็ตอบอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย เรายกปาติโมกข์ขึ้น
แสดงไม่ได้”
ภิกษุเหล่านั้นได้อาราธนาจนถึงพระผู้เป็นนวกะในสงฆ์โดยอุบายนั้นแหละว่า
“ท่านจงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงเถิด” แม้พระนวกะนั้นก็ตอบอย่างนี้ว่า “กระผมยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงไม่ได้ ขอรับ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวัน
อุโบสถนั้น มีภิกษุอยู่ด้วยกันหลายรูป ล้วนเป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ภิกษุเหล่านั้นไม่
รู้จักอุโบสถ หรือวิธีทำอุโบสถ หรือปาติโมกข์ หรือวิธียกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
จึงอาราธนาพระเถระว่า นิมนต์พระเถระยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงเถิด ขอรับ พระเถระ
นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย เรายกปาติโมกข์ขึ้นแสดงไม่ได้ ภิกษุเหล่านั้นจึง
อาราธนาพระเถระรูปที่ ๒ ว่า นิมนต์พระเถระยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงเถิด ขอรับ
แม้พระเถระรูปที่ ๒ นั้นก็กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย เรายกปาติโมกข์ขึ้น
แสดงไม่ได้ ภิกษุเหล่านั้นจึงอาราธนาพระเถระรูปที่ ๓ ว่า นิมนต์พระเถระยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงเถิด ขอรับ แม้พระเถระรูปที่ ๓ ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย
เรายกปาติโมกข์ขึ้นแสดงไม่ได้ ภิกษุเหล่านั้นได้อาราธนาจนถึงพระผู้เป็นนวกะ
ในสงฆ์โดยอุบายนั้นแหละว่า ท่านจงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงเถิด แม้พระนวกะนั้น
ก็ตอบอย่างนี้ว่า กระผมยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงไม่ได้ ขอรับ
เรื่องส่งภิกษุไปเรียนปาติโมกข์พอจะกลับมาทันในวันนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นพึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปยังอาวาสใกล้เคียง พอจะ
กลับมาทันในวันนั้น ด้วยสั่งว่า “ท่าน ท่านจงไปเรียนปาติโมกข์โดยย่อหรือโดย
พิสดารมาเถิด”
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “จะส่งภิกษุรูปไหนไปหนอ” จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๓๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๔. ปักขคณนาทิอุคคหณานุชานนา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เถระบัญชา
ภิกษุผู้นวกะไป”
ภิกษุนวกะทั้งหลายถูกภิกษุเถระบัญชาแล้วไม่ยอมไป
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่เป็นไข้ถูกพระเถระบัญชาแล้ว
จะไม่ไปไม่ได้ รูปใดไม่ไป ต้องอาบัติทุกกฏ”
๘๔. ปักขคณนาทิอุคคหณานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตให้เรียนวิธีนับปักษ์เป็นต้น
เรื่องวิธีการนับปักษ์
[๑๕๖] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองโจทนาวัตถุตามพระอัธยาศัยแล้ว
ก็เสด็จกลับมายังกรุงราชคฤห์อีกเช่นเดิม
สมัยนั้น พวกชาวบ้านถามภิกษุทั้งหลายที่กำลังเที่ยวบิณฑบาตว่า “พระคุณเจ้า
วันนี้กี่ค่ำ”
ภิกษุทั้งหลายตอบอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกอาตมาไม่รู้”
พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “แม้เพียงการนับปักษ์
พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ยังไม่รู้ ไฉนจะรู้ความดีอะไร ๆ อย่างอื่นเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เรียนวิธีการนับปักษ์”
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “ภิกษุรูปไหนหนอ ควรเรียนวิธีการ
นับปักษ์ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทุก ๆ รูป เรียนวิธี
การนับปักษ์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๓๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๔. ปักขคณนาทิอุคคหณานุชานนา
เรื่องทรงอนุญาตให้นับภิกษุในวันอุโบสถ
[๑๕๗] สมัยนั้น พวกชาวบ้านถามภิกษุทั้งหลายที่กำลังเที่ยวบิณฑบาตว่า
“ภิกษุมีจำนวนเท่าไร เจ้าข้า”
ภิกษุทั้งหลายตอบอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกอาตมาไม่รู้”
พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “แม้พวกกันเอง พระสมณะ
เชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ยังไม่รู้ ไฉนจะรู้ความดีอะไร ๆ อย่างอื่นเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นับภิกษุ”
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “เมื่อไรหนอ เราควรนับภิกษุ” จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถ เราอนุญาตให้นับภิกษุ
ด้วยการเรียกชื่อหรือให้จับสลาก”
เรื่องไปบิณฑบาตยังหมู่บ้านไกล
[๑๕๘] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่ทราบว่า “วันนี้เป็นวันอุโบสถ” ไปบิณฑบาต
ยังหมู่บ้านไกล มาถึงเมื่อสงฆ์กำลังยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงบ้าง เมื่อใกล้จะยกขึ้นแสดง
จบบ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกว่า วันนี้เป็นวัน
อุโบสถ”
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “ภิกษุรูปไหนหนอควรบอก” จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เถระบอกแต่
เช้าตรู่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๔๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๕. ปุพพกรณานุชานนา
เรื่องนึกไม่ได้
สมัยต่อมา พระเถระรูปหนึ่ง เวลาเช้าตรู่ ก็นึกไม่ได้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกแม้ในเวลาภัตกาล”
แม้ในเวลาภัตกาล พระเถระก็นึกไม่ได้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกในเวลาที่นึกขึ้นได้”
๘๕. ปุพพกรณานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตบุพพกรณ์
เรื่องบุพพกรณ์และบุพพกิจในโรงอุโบสถ๑
[๑๕๙] สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในโรงอุโบสถ พวกภิกษุอาคันตุกะพากัน
ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ทำไมภิกษุทั้งหลายจึงไม่กวาดโรงอุโบสถกันเล่า”

เชิงอรรถ :
๑ บุพพกรณ์ หมายถึงการเตรียมการก่อนที่จะมีการประชุมสงฆ์
บุพพกรณ์ของการทำอุโบสถ คือ
๑. กวาดโรงอุโบสถ ๒. จุดประทีปเตรียมแสงสว่าง
๓. จัดเตรียมน้ำฉันน้ำใช้ไว้ ๔. ปูอาสนะ
บุพพกิจ หมายถึง กิจเบื้องต้น
บุพพกิจของการทำอุโบสถ คือ
๑. นำฉันทะและปาริสุทธิของภิกษุผู้เป็นไข้ คือ ถ้ามีภิกษุผู้เป็นไข้อยู่ในสีมาเดียวกัน ต้องนำความ
ยินยอมและคำปฏิญญาว่าตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์จากอาบัติของภิกษุผู้เป็นไข้นั้นมาแจ้งให้สงฆ์ทราบ
๒. บอกฤดู
๓. บอกจำนวนภิกษุที่เข้าร่วมประชุม
๔. แจ้งการให้โอวาทภิกษุณี (วิ.อ. ๓/๑๖๘/๑๓๙, กงฺขา.อ. ๑๑๘-๑๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๔๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๕. ปุพพกรณานุชานนา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้กวาดโรงอุโบสถ”
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “ภิกษุรูปไหนหนอ ควรกวาดโรงอุโบสถ”
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเถระใช้ภิกษุ
นวกะ”
ภิกษุนวกะทั้งหลายถูกภิกษุเถระใช้แล้ว ก็ไม่ยอมกวาด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่เป็นไข้ถูกภิกษุเถระใช้แล้ว
จะไม่กวาดไม่ได้ รูปใดไม่กวาด ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องปูอาสนะและตามประทีปเป็นต้น
[๑๖๐] สมัยนั้น ในโรงอุโบสถ ไม่มีใครปูอาสนะไว้ ภิกษุทั้งหลายพากันนั่งที่พื้น
ทั้งตัวทั้งจีวรเปื้อนฝุ่น
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ปูอาสนะในโรงอุโบสถ”
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า ภิกษุรูปไหนหนอ ควรปูอาสนะใน
โรงอุโบสถ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเถระใช้ภิกษุ
นวกะ”
ภิกษุนวกะทั้งหลายถูกภิกษุเถระใช้แล้ว ก็ไม่ยอมปู
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่เป็นไข้ถูกภิกษุเถระใช้แล้ว
จะไม่ปูไม่ได้ รูปใดไม่ปู ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๔๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๕. ปุพพกรณานุชานนา
[๑๖๑] สมัยนั้น ในโรงอุโบสถ ไม่ตามประทีปไว้ ภิกษุทั้งหลายเหยียบกายกัน
บ้าง จีวรบ้าง ในที่มืด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้ตามประทีปในโรงอุโบสถ”
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “ภิกษุรูปไหนหนอ พึงตามประทีป
ในโรงอุโบสถ” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเถระใช้ภิกษุ
นวกะ”
ภิกษุนวกะทั้งหลายถูกภิกษุเถระใช้แล้ว ก็ไม่ยอมตามประทีป
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่เป็นไข้ถูกภิกษุเถระใช้แล้ว
จะไม่ตามประทีปไม่ได้ รูปใดไม่ตามประทีป ต้องอาบัติทุกกฏ”
[๑๖๒] สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสไม่จัดน้ำฉัน
น้ำใช้ไว้ พระอาคันตุกะพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุที่อยู่ใน
อาวาสจึงไม่จัดน้ำฉันน้ำใช้ไว้เล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จัดน้ำฉันน้ำใช้ไว้”
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “ภิกษุรูปไหนหนอ พึงจัดน้ำฉัน
น้ำใช้ไว้” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเถระใช้ภิกษุ
นวกะ”
ภิกษุนวกะทั้งหลายถูกภิกษุเถระใช้แล้ว ไม่ยอมจัดน้ำฉันน้ำใช้ไว้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่เป็นไข้ถูกภิกษุเถระใช้แล้ว
จะไม่จัดไม่ได้ รูปใดไม่จัด ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๔๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๖. ทิสังคมิกาทิวัตถุ
๘๖. ทิสังคมิกาทิวัตถุ
ว่าด้วยภิกษุไปสู่ทิศเป็นต้น
เรื่องภิกษุจะไปไหนต้องบอกลาก่อน
[๑๖๓] สมัยนั้น พวกภิกษุหลายรูปด้วยกันเป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไปสู่ทิศ
บอกลาพระอุปัชฌาย์อาจารย์
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ภิกษุหลายรูปเป็นผู้โง่
เขลา ไม่ฉลาด ไปสู่ทิศ ย่อมบอกลาอุปัชฌาย์อาจารย์ ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์
อาจารย์ พึงถามภิกษุเหล่านั้นว่า พวกท่านจะไปไหนกัน ไปกับใคร”
ถ้าภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด อ้างถึงภิกษุเหล่าอื่นที่โง่เขลาไม่ฉลาด
เช่นกัน พระอุปัชฌาย์อาจารย์ไม่พึงอนุญาต ถ้าอนุญาต ต้องอาบัติทุกกฏ
อนึ่ง ถ้าพวกเธอเป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด พระอุปัชฌาย์อาจารย์ยังไม่อนุญาต
ถ้ายังขืนไป ต้องอาบัติทุกกฏ
เรื่องควรสงเคราะห์ภิกษุผู้เป็นพหูสูต
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ในอาวาสแห่งหนึ่ง ภิกษุหลายรูปเป็นผู้โง่เขลา
ไม่ฉลาด ไม่รู้จักอุโบสถ หรือวิธีทำอุโบสถ หรือปาติโมกข์หรือวิธียกปาติโมกข์
ขึ้นแสดง ภิกษุรูปอื่นเป็นพหูสูต เชี่ยวชาญปริยัติ(อาคตาคม) ทรงธรรม ทรงวินัย
ทรงมาติกา เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา มีความละอาย มีความระมัดระวัง
ใฝ่การศึกษา มาในอาวาสนั้น ภิกษุพหูสูตรนั้นอันภิกษุเหล่านั้นพึงสงเคราะห์
อนุเคราะห์ โอภาปราศรัย บำรุงด้วยจุรณ ดินเหนียว ไม้ชำระฟัน น้ำบ้วนปาก
ถ้าไม่สงเคราะห์ อนุเคราะห์ โอภาปราศรัย บำรุงด้วยจุรณ ดินเหนียว ไม้ชำระฟัน
น้ำบ้วนปาก ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๔๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๗. ปาริสุทธิทานกถา
เรื่องส่งภิกษุไปพอจะกลับมาทันในวันนั้น
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น ภิกษุอยู่
ด้วยกันหลายรูป เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้จักอุโบสถหรือวิธีทำอุโบสถ หรือปาติโมกข์
หรือวิธียกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ภิกษุเหล่านั้นพึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปยังอาวาสใกล้เคียง
พอจะกลับมาทันในวันนั้น ด้วยสั่งว่า ‘ท่าน ท่านจงไปเรียนปาติโมกข์โดยย่อหรือโดย
พิสดารมาเถิด’ ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุเหล่านั้นทุกรูป
พึงไปสู่อาวาสที่มีภิกษุรู้อุโบสถหรือวิธีทำอุโบสถ หรือปาติโมกข์หรือวิธีขึ้นแสดงปาติโมกข์
ถ้าไม่ไป ต้องอาบัติทุกกฏ
เรื่องจำพรรษาในอาวาสที่มีผู้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงได้
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ภิกษุอยู่จำพรรษาหลายรูป
เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้จักอุโบสถหรือวิธีทำอุโบสถ หรือปาติโมกข์หรือวิธียก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดง ภิกษุเหล่านั้นพึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปยังอาวาสใกล้เคียง พอจะกลับ
มาทันในวันนั้น ด้วยสั่งว่า “ท่าน ท่านจงไปเรียนปาติโมกข์โดยย่อหรือโดยพิสดาร
มาเถิด” ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ พึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปชั่วเวลา
๗ วัน ด้วยสั่งว่า “ท่าน ท่านจงไปเรียนปาติโมกข์โดยย่อหรือโดยพิสดารมาเถิด”
ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุเหล่านั้น ไม่พึงจำพรรษาอยู่ใน
อาวาสนั้น ถ้าจำพรรษาอยู่ ต้องอาบัติทุกกฏ
๘๗. ปาริสุทธิทานกถา
ว่าด้วยการมอบปาริสุทธิ
เรื่องภิกษุไข้มอบปาริสุทธิ
[๑๖๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอจงประชุมกัน สงฆ์จักทำอุโบสถ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๔๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๗. ปาริสุทธิทานกถา
เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า
“มีภิกษุเป็นไข้อยู่ พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุไข้นั้นมาไม่ได้”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุไข้มอบปาริสุทธิ”
ภิกษุทั้งหลาย ก็แล ภิกษุไข้พึงมอบปาริสุทธิอย่างนี้
ภิกษุไข้นั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง
กระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าขอมอบปาริสุทธิ ท่านจงนำ
ปาริสุทธิของข้าพเจ้าไป จงบอกปาริสุทธิของข้าพเจ้า”
ภิกษุผู้มอบปาริสุทธิให้ภิกษุผู้นำปาริสุทธิรู้ด้วยกาย ให้รู้ด้วยวาจา หรือให้รู้
ด้วยกายและวาจา ปาริสุทธิเป็นอันมอบให้แล้ว ภิกษุผู้มอบปาริสุทธิไม่ให้ภิกษุผู้นำ
ปาริสุทธิรู้ด้วยกาย ไม่ให้รู้ด้วยวาจา หรือไม่ให้รู้ด้วยกายและวาจา ปาริสุทธิ
เป็นอันยังมิได้มอบ ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายพึงใช้
เตียงหรือตั่งหามภิกษุไข้มาในท่ามกลางสงฆ์แล้วทำอุโบสถ
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ได้ปรึกษากัน ดังนี้ว่า ถ้าพวก
เราจักย้ายภิกษุไข้ อาการไข้จักกำเริบหนักขึ้นหรือภิกษุไข้จักถึงแก่มรณภาพ ไม่พึง
ย้ายภิกษุไข้ สงฆ์พึงไปทำอุโบสถในสำนักภิกษุไข้นั้น แต่สงฆ์ไม่พึงแบ่งพวกกันทำ
อุโบสถ ถ้าแบ่งพวกกันทำ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิหลบไป
เสียจากที่นั้น ภิกษุไข้พึงมอบปาริสุทธิแก่ภิกษุรูปอื่น
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิสึกเสีย
ณ ที่นั้นแหละ ... มรณภาพ ... ปฏิญญาเป็นสามเณร ... ปฏิญญาเป็นผู้บอก
คืนสิกขา ... ปฏิญญาเป็นผู้ต้องอันติมวัตถุ๑ ... ปฏิญญาเป็นผู้วิกลจริต ... ปฏิญญา
เป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่าน ... ปฏิญญาเป็นผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ... ปฏิญญาเป็นผู้
ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ ... ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลง

เชิงอรรถ :
๑ อันติมวัตถุ หมายถึงอาบัติปาราชิก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๔๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๗. ปาริสุทธิทานกถา
อุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติ ... ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม
เพราะไม่สละทิฏฐิบาป ... ปฏิญญาเป็นบัณเฑาะก์ ... ปฏิญญาเป็นไถยสังวาส๑ ...
ปฏิญญาเป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์ ... ปฏิญญาเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ... ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่า
มารดา ... ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าบิดา ... ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าพระอรหันต์ ... ปฏิญญา
เป็นผู้ประทุษร้ายภิกษุณี ... ปฏิญญาเป็นผู้ทำลายสงฆ์ ... ปฏิญญาเป็นผู้ทำร้ายพระ
ศาสดาจนห้อพระโลหิต ... ปฏิญญาเป็นอุภโตพยัญชนก๒ ภิกษุไข้พึงมอบปาริสุทธิแก่
ภิกษุรูปอื่น
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิหลบไป
เสียในระหว่างทาง ปาริสุทธิเป็นอันยังมิได้นำมา
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิสึกเสียใน
ระหว่างทาง ฯลฯ ปฏิญาณเป็นอุภโตพยัญชนก ปาริสุทธิเป็นอันยังมิได้นำมา
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิเข้าที่
ประชุมสงฆ์แล้วหลบไป ปาริสุทธิเป็นอันนำมาแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิเข้าที่
ประชุมสงฆ์แล้วสึกเสีย ฯลฯ ปฏิญาณเป็นอุภโตพยัญชนก ปาริสุทธิเป็นอันนำมาแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิเข้า
ที่ประชุมสงฆ์แล้วหลับเสียไม่ได้บอก เผลอไปไม่ได้บอก เข้าสมาบัติไม่ได้บอก
ปาริสุทธิเป็นอันนำมาแล้ว ภิกษุผู้นำปาริสุทธิไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิเข้าที่
ประชุมสงฆ์แล้ว จงใจไม่บอก ปาริสุทธิเป็นอันนำมาแล้ว แต่ภิกษุผู้นำปาริสุทธิต้อง
อาบัติทุกกฏ”

เชิงอรรถ :
๑ ไถยสังวาส แปลว่า คนลักเพศ คือ ไม่ใช่ภิกษุ แต่ปลอมบวชเป็นภิกษุ (วิ.อ. ๓/๑๑๐/๘๒ ดูรายละเอียดใน
เล่มนี้ข้อ ๑๑๐ หน้า ๑๗๔-๑๗๕)
๒ อุภโตพยัญชนก แปลว่า คน ๒ เพศ คือ มีสัญลักษณ์เพศชาย และเพศหญิง (วิ.อ. ๒/๒๘๕/๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๔๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๘. ฉันททานกถา
๘๘. ฉันททานกถา
ว่าด้วยการมอบฉันทะ
เรื่องทำกรรมที่จะต้องทำ
[๑๖๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอจงประชุมกัน สงฆ์จักทำกรรม”
เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า
“มีภิกษุเป็นไข้อยู่ พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุไข้นั้นมาไม่ได้”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุไข้มอบฉันทะ
วิธีมอบฉันทะ
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุไข้พึงมอบฉันทะอย่างนี้
ภิกษุไข้นั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง
กระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าขอมอบฉันทะ ท่านจงนำฉันทะของ
ข้าพเจ้าไป จงบอกฉันทะของข้าพเจ้า
ภิกษุผู้มอบฉันทะให้ภิกษุผู้นำฉันทะรู้ด้วยกาย ให้รู้ด้วยวาจา หรือให้รู้ด้วย
กายและวาจา ฉันทะเป็นอันมอบให้แล้ว ภิกษุผู้มอบฉันทะไม่ให้ภิกษุผู้นำฉันทะ
รู้ด้วยกาย ไม่ให้รู้ด้วยวาจา หรือไม่ให้รู้ด้วยกายและวาจา ฉันทะเป็นอันยัง
มิได้มอบ ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายพึงใช้เตียงหรือ
ตั่งหามภิกษุไข้มาในท่ามกลางสงฆ์แล้วทำกรรม
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ได้ปรึกษากัน ดังนี้ว่า ถ้าพวก
เราจักย้ายภิกษุไข้ อาการไข้จักกำเริบหนักขึ้นหรือภิกษุไข้จักถึงแก่มรณภาพ ไม่พึง
ย้ายภิกษุไข้ สงฆ์พึงไปทำกรรมในสำนักภิกษุไข้นั้น แต่สงฆ์ไม่พึงแบ่งพวกกันทำ
กรรม ถ้าแบ่งพวกกันทำ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะหลบไปเสีย
จากที่นั้น ภิกษุไข้พึงมอบฉันทะแก่ภิกษุรูปอื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๔๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๘. ฉันททานกถา
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะสึกเสีย ณ
ที่นั้นแหละ ... มรณภาพ ... ปฏิญญาเป็นสามเณร ... ปฏิญญาเป็นผู้บอกลาสิกขา
... ปฏิญญาเป็นผู้ต้องอันติมวัตถุ ... ปฏิญญาเป็นผู้วิกลจริต ... ปฏิญญาเป็นผู้มี
จิตฟุ้งซ่าน ... ปฏิญญาเป็นผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ... ปฏิญญาเป็นผู้ถูก
สงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ ... ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม
เพราะไม่ทำคืนอาบัติ ... ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละ
ทิฏฐิบาป ... ปฏิญญาเป็นบัณเฑาะก์ ... ปฏิญญาเป็นไถยสังวาส ... ปฏิญญาเป็น
ผู้เข้ารีตเดียรถีย์ ... ปฏิญญาเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ... ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่ามารดา ...
ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าบิดา ... ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าพระอรหันต์ ... ปฏิญญาเป็นผู้ประทุษ
ร้ายภิกษุณี ... ปฏิญญาเป็นผู้ทำลายสงฆ์ ... ปฏิญญาเป็นผู้ทำร้ายพระศาสดาจน
ห้อพระโลหิต ... ปฏิญญาเป็นอุภโตพยัญชนก ภิกษุไข้พึงมอบฉันทะแก่ภิกษุรูปอื่น
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะหลบไปเสียใน
ระหว่างทาง ฉันทะเป็นอันยังมิได้นำมา
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะสึกเสียใน
ระหว่างทาง ฯลฯ ปฏิญาณเป็นอุภโตพยัญชนก ฉันทะเป็นอันยังมิได้นำมา
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะเข้าที่ประชุม
สงฆ์แล้วหลบไป ฉันทะเป็นอันนำมาแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะเข้าที่ประชุม
สงฆ์แล้วสึกเสีย ฯลฯ ปฏิญาณเป็นอุภโตพยัญชนก ฉันทะเป็นอันนำมาแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะเข้าที่ประชุม
สงฆ์แล้วหลับเสียไม่ได้บอก เผลอไปไม่ได้บอก เข้าสมาบัติไม่ได้บอก ฉันทะเป็น
อันนำมาแล้ว ภิกษุผู้นำฉันทะไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะเข้าที่ประชุม
สงฆ์แล้ว จงใจไม่บอก ฉันทะเป็นอันนำมาแล้ว แต่ภิกษุผู้นำฉันทะต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถ เราอนุญาตให้ภิกษุผู้มอบปาริสุทธิให้มอบฉันทะ
ด้วย เรื่องเหล่านี้เป็นกิจที่สงฆ์ต้องทำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๔๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๙. ญาตกาทิคหณกถา
๘๙. ญาตกาทิคหณกถา
ว่าด้วยพวกญาติเป็นต้นจับภิกษุ
เรื่องภิกษุถูกพวกญาติเป็นต้นจับไว้
[๑๖๖] สมัยนั้น ในวันอุโบสถนั้น หมู่ญาติได้จับภิกษุรูปหนึ่งไว้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในวันอุโบสถนั้น
หมู่ญาติ ได้จับภิกษุไว้ ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวกับหมู่ญาตินั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่าน
ทั้งหลาย กรุณาปล่อยภิกษุนี้ไว้สักครู่ จนกว่าภิกษุนี้จะทำอุโบสถเสร็จเถิด’ ถ้าได้
อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวกับญาติเหล่านั้นอย่างนี้ว่า
‘ท่านทั้งหลาย กรุณารอ ณ ที่สมควรสักครู่จนกว่าภิกษุนี้จะมอบปาริสุทธิ
เสร็จเถิด’ ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวกับญาติ
เหล่านั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย กรุณานำภิกษุนี้ไปไว้นอกสีมาสักครู่จนกว่า
สงฆ์จะทำอุโบสถเสร็จเถิด’ ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้อย่างนั้น
สงฆ์ไม่พึงแบ่งพวกกันทำอุโบสถ ถ้าแบ่งพวกกันทำ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในวันอุโบสถนั้น พระราชาทั้งหลายทรงจับ
ภิกษุไว้ ... พวกโจรจับไว้ ... พวกนักเลงจับไว้ ... พวกภิกษุที่เป็นศัตรูกันจับไว้
ภิกษุทั้งหลาย พึงกล่าวกับพวกภิกษุที่เป็นศัตรูกันนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย
กรุณาปล่อยภิกษุนี้ไว้สักครู่จนกว่าภิกษุนี้จะทำอุโบสถเสร็จเถิด ถ้าได้อย่างนั้น
นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวกับพวกภิกษุที่เป็นศัตรูกันนั้น
อย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย กรุณารอ ณ ที่สมควรสักครู่จนกว่าภิกษุนี้จะมอบ
ปาริสุทธิเสร็จเถิด’ ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าว
กับพวกภิกษุที่เป็นศัตรูกันนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย กรุณานำภิกษุนี้ไปไว้นอกสี
มาสักครู่จนกว่าสงฆ์จะทำอุโบสถเสร็จเถิด’ ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้
อย่างนั้น สงฆ์ไม่พึงแบ่งพวกกันทำอุโบสถ ถ้าแบ่งพวกกันทำ ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๕๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๐. อุมมัตตกสมมติ
๙๐. อุมมัตตกสมมติ
ว่าด้วยการสมมติภิกษุวิกลจริต
[๑๖๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอจงประชุมกัน สงฆ์มีกิจต้องทำ”
เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า
“มีภิกษุวิกลจริตชื่อว่าคัคคะอยู่ พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุคัคคะนั้นมาไม่ได้”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุวิกลจริตนี้มี ๒ ประเภท คือ
๑. ภิกษุวิกลจริต ระลึกอุโบสถได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกสังฆกรรม
ได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกไม่ได้เลยบ้าง
๒. ภิกษุวิกลจริตมาอุโบสถบ้าง ไม่มาบ้าง มาสังฆกรรมบ้าง ไม่มาบ้าง
ไม่มาเลยบ้าง
ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุวิกลจริต ๒ ประเภทนั้น รูปใดที่ยังระลึก
อุโบสถได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกสังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง มาอุโบสถบ้าง
ไม่มาบ้าง มาสังฆกรรมบ้าง ไม่มาบ้าง ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุมมัตตก
สมมติแก่ภิกษุวิกลจริตเห็นปานนั้น
วิธีให้อุมมัตตกสมมติและกรรมวาจาให้อุมมัตตกสมมติ
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงให้อุมมัตตกสมมติอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุคัคคะเป็นผู้วิกลจริต ระลึกอุโบสถได้บ้าง
ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกสังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง มาอุโบสถบ้าง ไม่มาบ้าง
มาสังฆกรรมบ้าง ไม่มาบ้าง ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์พึงให้อุมมัตตกสมมติแก่
ภิกษุคัคคะ ผู้วิกลจริต คือ ภิกษุคัคคะระลึกอุโบสถได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึก
สังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง มาอุโบสถบ้าง ไม่มาบ้าง มาสังฆกรรมบ้าง
ไม่มาบ้าง สงฆ์พร้อมภิกษุคัคคะหรือเว้นภิกษุคัคคะ ทำอุโบสถก็ได้ ทำสังฆกรรม
ก็ได้ นี้เป็นญัตติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๕๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๑. สังฆุโปสถาทิปเภท
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุคัคคะเป็นผู้วิกลจริต ระลึกอุโบสถ
ได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกสังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง มาอุโบสถบ้าง ไม่มา
บ้าง มาสังฆกรรมบ้าง ไม่มาบ้าง ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์พึงให้อุมมัตตก
สมมติแก่ภิกษุคัคคะผู้วิกลจริต คือ ภิกษุคัคคะระลึกอุโบสถได้บ้าง ระลึกไม่ได้
บ้าง ระลึกสังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง มาอุโบสถบ้าง ไม่มาบ้าง มาสังฆ
กรรมบ้าง ไม่มาบ้าง สงฆ์พร้อมภิกษุคัคคะหรือเว้นภิกษุคัคคะ ทำอุโบสถก็ได้
ทำสังฆกรรมก็ได้ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้อุมมัตตกสมมติแก่ภิกษุคัคคะ
ผู้วิกลจริต ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
อุมมัตตกสมมติสงฆ์ได้ให้แล้วแก่ภิกษุคัคคะผู้วิกลจริต คือ ภิกษุคัคคะระลึก
อุโบสถได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกสังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง มาอุโบสถบ้าง
ไม่มาบ้าง มาสังฆกรรมบ้าง ไม่มาบ้าง สงฆ์พร้อมภิกษุคัคคะหรือเว้นภิกษุคัคคะ
ทำอุโบสถก็ได้ ทำสังฆกรรมก็ได้ สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือ
ความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
๙๑. สังฆุโปสถาทิปเภท
ว่าด้วยประเภทแห่งอุโบสถมีอุโบสถเป็นการสงฆ์เป็นต้น
เรื่องภิกษุ ๔ รูป ๓ รูป ๒ รูป และ ๑ รูป
ทำอุโบสถ ๓ อย่าง ตามลำดับ
เรื่องภิกษุ ๔ รูป ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
[๑๖๘] สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๔ รูป
ภิกษุเหล่านั้นได้มีการสนทนากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ‘ภิกษุพึง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๕๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๑. สังฆุโปสถาทิปเภท
ทำอุโบสถ’ ดังนี้ ก็พวกเรามีเพียง ๔ รูป จะพึงทำอุโบสถอย่างไรหนอ” จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๔ รูป ยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดง”
เรื่องภิกษุ ๓ รูป ทำปาริสุทธิอุโบสถ
สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๓ รูป
ภิกษุเหล่านั้นได้มีการสนทนากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุ
๔ รูป ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ก็พวกเรามีเพียง ๓ รูป จะพึงทำอุโบสถอย่างไรหนอ”
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๓ รูป ทำ
ปาริสุทธิอุโบสถ
วิธีทำปาริสุทธิอุโบสถสำหรับภิกษุ ๓ รูปและกรรมวาจา
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงทำปาริสุทธิอุโบสถอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้ภิกษุทั้งหลายทราบว่า
ท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า วันนี้เป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ถ้าท่านทั้งหลายพร้อม
กันแล้ว เราทั้งหลายพึงทำปาริสุทธิอุโบสถแก่กันและกัน
ภิกษุผู้เถระพึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่งกระโหย่ง ประนมมือ บอก
ภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า
คำบอกปาริสุทธิสำหรับภิกษุมีพรรษาแก่กว่า
ท่านทั้งหลาย ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอท่านทั้งหลายจงจำผมว่า เป็นผู้บริสุทธิ์
ท่านทั้งหลาย ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอท่านทั้งหลายจงจำผมว่า เป็นผู้บริสุทธิ์
ท่านทั้งหลาย ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอท่านทั้งหลายจงจำผมว่า เป็นผู้บริสุทธิ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๕๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๑. สังฆุโปสถาทิปเภท
ภิกษุผู้นวกะพึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่งกระโหย่ง ประนมมือ
บอกภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า
คำบอกปาริสุทธิสำหรับภิกษุมีพรรษาอ่อนกว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอรับ ขอท่านทั้งหลายจงจำผมว่า
เป็นผู้บริสุทธิ์
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอรับ ขอท่านทั้งหลายจงจำผมว่า
เป็นผู้บริสุทธิ์
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอรับ ขอท่านทั้งหลายจงจำผมว่า
เป็นผู้บริสุทธิ์”
สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๒ รูป ภิกษุ
เหล่านั้นได้มีการสนทนากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุ ๔ รูป
ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ให้ภิกษุ ๓ รูปทำปาริสุทธิอุโบสถ ก็พวกเรามีเพียง ๒ รูป
จะพึงทำอุโบสถ อย่างไรหนอ” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๒ รูป ทำปาริสุทธิ
อุโบสถ”
วิธีทำปาริสุทธิอุโบสถสำหรับภิกษุ ๒ รูป
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงทำปาริสุทธิอุโบสถอย่างนี้
ภิกษุผู้เถระพึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่งกระโหย่ง ประนมมือ
บอกภิกษุผู้นวกะอย่างนี้ว่า
คำบอกปาริสุทธิสำหรับภิกษุมีพรรษาแก่กว่า
ท่าน ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอท่านจงจำผมว่า เป็นผู้บริสุทธิ์
ท่าน ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอท่านจงจำผมว่า เป็นผู้บริสุทธิ์
ท่าน ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอท่านจงจำผมว่า เป็นผู้บริสุทธิ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๕๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๑. สังฆุโปสถาทิปเภท
ภิกษุผู้นวกะพึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่งกระโหย่ง ประนมมือ
บอกภิกษุผู้เถระอย่างนี้ว่า
คำบอกปาริสุทธิสำหรับภิกษุมีพรรษาอ่อนกว่า
ท่านผู้เจริญ ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอท่านจงจำผมว่า เป็นผู้บริสุทธิ์
ท่านผู้เจริญ ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอท่านจงจำผมว่า เป็นผู้บริสุทธิ์
ท่านผู้เจริญ ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอท่านจงจำผมว่า เป็นผู้บริสุทธิ์”
เรื่องภิกษุรูปเดียวอธิษฐานอุโบสถ
สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุอยู่รูปเดียว ภิกษุนั้นมี
ความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุ ๔ รูป ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
ให้ภิกษุ ๓ รูปทำปาริสุทธิอุโบสถ ให้ภิกษุ ๒ รูปทำปาริสุทธิอุโบสถ ก็เราอยู่เพียง
รูปเดียว จะพึงทำอุโบสถอย่างไรหนอ”
ภิกษุนั้นจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น
มีภิกษุอยู่รูปเดียว ภิกษุนั้นพึงกวาดสถานที่ที่ภิกษุทั้งหลายต้องกลับมา คือโรงฉัน
หรือมณฑป หรือโคนไม้ก็ตาม แล้วตั้งน้ำฉันน้ำใช้ ปูอาสนะ ตามประทีป แล้วนั่งอยู่
ถ้ามีภิกษุเหล่าอื่นมา พึงทำอุโบสถกับภิกษุเหล่านั้น ถ้าไม่มีมา พึงอธิษฐานว่า วันนี้
เป็นวันอุโบสถของเรา ถ้าไม่อธิษฐาน ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสที่มีภิกษุอยู่ ๔ รูป ไม่พึงนำปาริสุทธิของภิกษุรูปหนึ่ง
มาแล้ว อีก ๓ รูปยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ถ้ายกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสที่มีภิกษุอยู่ ๓ รูป ไม่พึงนำปาริสุทธิของภิกษุรูปหนึ่ง
มาแล้ว อีก ๒ รูปทำปาริสุทธิอุโบสถ ถ้าทำ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสที่มีภิกษุอยู่ ๒ รูป ไม่พึงนำปาริสุทธิของภิกษุรูปหนึ่ง
มาแล้ว อีกรูปหนึ่งอธิษฐาน ถ้าอธิษฐาน ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๕๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๒. อาปัตติปฏิกัมมวิธี
๙๒. อาปัตติปฏิกัมมวิธิ
ว่าด้วยวิธีแก้ไขอาบัติ
เรื่องภิกษุต้องอาบัติในวันอุโบสถ
[๑๖๙] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งต้องอาบัติในวันอุโบสถนั้น ภิกษุนั้นได้มี
ความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุมีอาบัติติดตัวไม่พึงทำ
อุโบสถ ดังนี้ ก็เราต้องอาบัติแล้ว จะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในวันอุโบสถนั้น ภิกษุ
ต้องอาบัติ ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง
กระโหย่ง ประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า ผมต้องอาบัติชื่อนี้ ขอแสดงคืนอาบัตินั้น ขอรับ
ภิกษุผู้รับพึงถามว่า “ท่านเห็นหรือ”
ภิกษุผู้แสดงพึงตอบว่า “ขอรับ ผมเห็น”
ภิกษุผู้รับพึงถามว่า “ท่านพึงสำรวมต่อไป”
ไม่แน่ใจในอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในวันอุโบสถนั้น ภิกษุมีความไม่แน่ใจ
ในอาบัติ ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง
กระโหย่งประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า “ผมมีความไม่แน่ใจในอาบัติมีชื่อนี้ ขอรับ
เมื่อผมหมดความไม่แน่ใจ จักทำคืนอาบัตินั้น” แล้วทำอุโบสถ ฟังปาติโมกข์
แต่ต้องไม่ทำอันตรายต่ออุโบสถ เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย
เรื่องแสดงสภาคาบัติ
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์แสดงสภาคาบัติ๑
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ สภาคาบัติ แปลว่า อาบัติที่มีวัตถุเสมอกัน เช่นภิกษุ ๒ รูปต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันโภชนาหารในเวลา
วิกาลเหมือนกัน อาบัติที่ภิกษุต้องเพราะความผิดเดียวกันอย่างนี้ เรียกว่า สภาคาบัติ (วิ.อ. ๓/๑๖๙/๑๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๕๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๓. อาปัตติอาวิกรณวิธิ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงแสดงสภาคาบัติ รูปใดแสดง
ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยต่อมา พวกภิกษุฉัพพัคคีย์รับการแสดงสภาคาบัติ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงรับการแสดงสภาคาบัติ รูปใด
รับ ต้องอาบัติทุกกฏ”
๙๓. อาปัตติอาวิกรณวิธิ
ว่าด้วยวิธีเปิดเผยอาบัติ
เรื่องระลึกอาบัติได้เมื่อจะยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
[๑๗๐] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งระลึกอาบัติได้ เมื่อกำลังยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
ภิกษุนั้นมีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุมีอาบัติติดตัวไม่
พึงทำอุโบสถ ดังนี้ ก็เราต้องอาบัติแล้ว จะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ เมื่อกำลังยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดง ภิกษุระลึกอาบัติได้ ภิกษุนั้นพึงบอกภิกษุใกล้เคียงอย่างนี้ว่า ผมต้อง
อาบัติชื่อนี้ ขอรับ ผมลุกจากที่นี้แล้วจักทำคืนอาบัตินั้น แล้วทำอุโบสถ ฟัง
ปาติโมกข์ แต่ต้องไม่ทำอันตรายต่ออุโบสถ เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย
เมื่อกำลังยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงไม่แน่ใจในอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุมีความไม่แน่ใจในอาบัติ เมื่อกำลังยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดง ภิกษุนั้นพึงบอกภิกษุใกล้เคียง๑อย่างนี้ว่า “ผมมีความไม่แน่ใจใน
อาบัติมีชื่อนี้ ขอรับ เมื่อผมหมดความไม่แน่ใจจักทำคืนอาบัตินั้น” แล้วทำอุโบสถ
ฟังปาติโมกข์ แต่ต้องไม่ทำอันตรายต่ออุโบสถ เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุใกล้เคียง หมายถึงภิกษุที่ชอบพอกัน (วิ.อ. ๓/๑๗๐/๑๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๕๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๔. สภาคาปัตติปฏิกัมมวิธิ
๙๔. สภาคาปัตติปฏิกัมมวิธิ
ว่าด้วยวิธีแก้ไขสภาคาบัติ
เรื่องสงฆ์ทั้งหมดต้องสภาคาบัติ
[๑๗๑] สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น สงฆ์ทั้งหมดต้อง
สภาคาบัติ ภิกษุเหล่านั้นปรึกษากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า
ภิกษุไม่พึงแสดงสภาคาบัติ ไม่พึงรับการแสดงสภาคาบัติ ก็สงฆ์ทั้งหมดนี้ต้อง
สภาคาบัติแล้ว พวกเราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง
ในวันอุโบสถนั้น สงฆ์ทั้งหมดต้องสภาคาบัติ ภิกษุเหล่านั้นพึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปยัง
อาวาสใกล้เคียงพอจะกลับมาทันในวันนั้น ด้วยสั่งว่า ท่าน ท่านจงไปทำคืนอาบัติ
นั้นมาเถิด พวกเราจักทำคืนอาบัติในสำนักของท่าน” ถ้าได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี
ถ้าไม่ได้ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
ญัตติกรรมวาจา
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ทั้งหมดนี้ต้องสภาคาบัติแล้ว เมื่อพบ
ภิกษุรูปอื่นผู้บริสุทธิ์ไม่มีอาบัติ ก็จักทำคืนอาบัตินั้นในสำนักของภิกษุรูปนั้นดังนี้
แล้วทำอุโบสถ ยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดง แต่ต้องไม่ทำอันตรายต่ออุโบสถ เพราะ
ข้อนั้นเป็นปัจจัย
สงฆ์ทั้งหมดไม่แน่ใจในสภาคาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น สงฆ์
ทั้งหมดไม่แน่ใจในสภาคาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๕๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๔. สภาคาปัตติปฏิกัมมวิธิ
ญัตติกรรมวาจา
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ทั้งหมดนี้มีความไม่แน่ใจในสภาคาบัติ
เมื่อหมดความไม่แน่ใจ ก็จักทำคืนอาบัตินั้น ดังนี้ แล้วทำอุโบสถ ยกพระปาติโมกข์
ขึ้นแสดง แต่ต้องไม่ทำอันตรายต่ออุโบสถ เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ สงฆ์เข้าจำพรรษาในอาวาสแห่งหนึ่งต้อง
สภาคาบัติ ภิกษุเหล่านั้นพึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปยังอาวาสใกล้เคียงพอจะกลับมาทัน
ในวันนั้น ด้วยสั่งว่า ท่าน ท่านจงไปทำคืนอาบัตินั้นมาเถิด พวกเราจักทำคืนอาบัติ
นั้นในสำนักของท่าน ถ้าได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ พึงส่งภิกษุรูปหนึ่ง ไปชั่ว
เวลา ๗ วัน ด้วยสั่งว่า ท่าน ท่านจงไปทำคืนอาบัตินั้นมาเถิด พวกเรา จักทำคืน
อาบัตินั้นในสำนักของท่าน”
เรื่องไม่รู้จักชื่อและโคตรอาบัติ
สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง สงฆ์ทั้งหมดต้องสภาคาบัติ สงฆ์หมู่นั้นไม่รู้จัก
ชื่อและโคตร๑ของอาบัตินั้น ภิกษุรูปอื่นเป็นพหูสูต ชำนาญปริยัติ ทรงธรรม
ทรงวินัย ทรงมาติกา เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา มีความละอาย มีความระมัด
ระวัง ใฝ่การศึกษา มาในอาวาสนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปหาภิกษุพหูสูตรูปนั้นเรียน
ถามว่า “ภิกษุรูปใดทำอย่างนี้และอย่างนี้ ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติชื่ออะไร ขอรับ”
ภิกษุพหูสูตตอบว่า “ท่าน ภิกษุรูปใดทำอย่างนี้และอย่างนี้ ภิกษุรูปนั้นต้อง
อาบัติชื่อนี้ ท่านต้องอาบัติชื่อนี้แล้ว จงทำคืนอาบัตินั้นเสีย”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “มิใช่แต่ผมรูปเดียวเท่านั้นที่ต้องอาบัตินี้ ขอรับ
สงฆ์หมู่นี้ทั้งหมดต้องอาบัตินี้”
ภิกษุพหูสูตนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน ภิกษุรูปอื่นต้องอาบัติก็ตาม ไม่ต้อง
อาบัติก็ตาม จะช่วยอะไรท่านได้ ท่านจงออกจากอาบัติของตนเถิด”

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงกลุ่มหรือหมวดของอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๕๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๔. สภาคาปัตติปฏิกัมมวิธี
ต่อมา ภิกษุนั้นก็ได้ทำคืนอาบัตินั้นตามคำของภิกษุพหูสูตรูปนั้น แล้วเข้าไป
หาภิกษุเหล่านั้นเรียนชี้แจงว่า “ท่านทั้งหลาย ทราบมาว่า ภิกษุรูปใดทำอย่างนี้
และอย่างนี้ ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติชื่อนี้ ท่านทั้งหลายต้องอาบัติชื่อนี้แล้ว ขอรับ
จงทำคืนอาบัตินั้นเสีย”
ภิกษุเหล่านั้นไม่ปรารถนาจะทำคืนอาบัตินั้นตามคำของภิกษุรูปนั้น
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง
สงฆ์ทั้งหมดต้องสภาคาบัติ สงฆ์หมู่นั้นไม่รู้จักชื่อและโคตรของอาบัตินั้น ภิกษุรูป
อื่นเป็นพหูสูต ชำนาญในปริยัติ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เป็นบัณฑิต ฉลาด
มีปัญญา มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษา มาในอาวาสนั้น
ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปหาภิกษุพหูสูตรูปนั้นเรียนถามว่า ภิกษุรูปใดทำอย่างนี้และอย่างนี้
ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติชื่ออะไร ขอรับ”
ภิกษุพหูสูตกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน ภิกษุรูปใดทำอย่างนี้และอย่างนี้ ภิกษุรูป
นั้นต้องอาบัติชื่อนี้ ท่านต้องอาบัติชื่อนี้แล้ว จงทำคืนอาบัตินั้นเสีย”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “มิใช่แต่ผมรูปเดียวเท่านั้นที่ต้องอาบัตินี้ ขอรับ สงฆ์หมู่นี้
ทั้งหมดต้องอาบัตินี้”
ภิกษุพหูสูตนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน ภิกษุรูปอื่นต้องอาบัติก็ตาม ไม่ต้อง
อาบัติก็ตาม จะช่วยอะไรท่านได้ ท่านจงออกจากอาบัติของตนเถิด”
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรูปนั้นได้ทำคืนอาบัตินั้นตามคำของภิกษุพหูสูตรูปนั้น
แล้วเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นเรียนชี้แจงว่า “ท่านทั้งหลาย ทราบมาว่า ภิกษุรูปใด
ทำอย่างนี้และอย่างนี้ ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติชื่อนี้ ท่านทั้งหลายต้องอาบัติชื่อนี้แล้ว
ขอรับ จงทำคืนอาบัตินั้นเสีย”
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเหล่านั้นจะพึงทำคืนอาบัตินั้นตามคำของภิกษุรูปนั้น
อย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ทำคืน ภิกษุรูปนั้น ไม่พึงว่ากล่าวภิกษุเหล่านั้นผู้ไม่
ปรารถนาจะทำคืน
โจทนาวัตถุภาณวาร จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๖๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๕. อนาปัตติปัณณรสกะ
๙๕. อนาปัตติปัณณรสกะ
ว่าด้วยการทำอุโบสถโดยไม่ต้องอาบัติ ๑๕ กรณี
[๑๗๒] สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุที่อยู่ในอาวาส
หลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า “ยังมีภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ได้ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลัง
ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า
ภิกษุเหล่านั้นจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวัน
อุโบสถนั้น มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง
ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลัง
ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า
ภิกษุเหล่านั้นพึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงใหม่ พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ไม่ต้องอาบัติ (๑)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลัง
ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน
ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มา
ทีหลังพึงฟังอุทเทสที่เหลือ พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ไม่ต้องอาบัติ (๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๖๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๕. อนาปัตติปัณณรสกะ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียงทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดง ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า
ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มา
ทีหลังพึงฟังอุทเทสที่เหลือ พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ไม่ต้องอาบัติ (๓)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุที่
อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า
ภิกษุเหล่านั้นพึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงใหม่ พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ไม่ต้องอาบัติ (๔)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุที่
อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยก
ปาติโมกข์ ขึ้นแสดงจบ ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน
ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มา
ทีหลังพึงบอกปาริสุทธิในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดงไม่ต้อง
อาบัติ (๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๖๒ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น